วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 03:09  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ต.ค. 2010, 10:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก

รูปภาพ



พระไตรปิฎกคืออะไร ?

ศาสนาทุกศาสนา มีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน แม้เดิมจะมิได้ขีดเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อมนุษย์รู้จักใช้ตัวหนังสือ ก็ได้มีการเขียน การจารึกคำสอนในศาสนานั้น ๆ ไว้ เมื่อโลกเจริญขึ้นถึงกับมีการพิมพ์หนังสือเป็นเล่ม ๆ ได้ คัมภีร์ศาสนาเหล่านั้นก็มีผู้พิมพ์เป็นเล่มขึ้นโดยลำดับ

พระไตรปิฎก หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า ติปิฎกหรือเตปิฎกนั้น เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับไตรเวท เป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ใบเบิ้ลของศาสนาคริสต์ อัล กุรอานของศาสนาอิสลาม

กล่าวโดยรูปศัพท์ คำว่า "พระไตรปิฎก" แปลว่า ๓ คัมภีร์ เมื่อแยกเป็นคำ ๆ ว่า พระ+ไตร+ปิฎก คำว่า พระ เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง คำว่า ไตร แปลว่า ๓ คำว่า ปิฎก แปลได้ ๒ อย่าง คือแปลว่า คัมภีร์หรือตำราอย่างหนึ่ง แปลว่า กระจาดหรือตะกร้าอย่างหนึ่ง ที่แปลว่ากระจาดหรือตะกร้า หมายความว่า เป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหวดหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของฉะนั้น

พระไตรปิฎกแบ่งออกเป็นอะไรบ้าง ?

เมื่อทราบแล้วว่า คำว่า พระไตรปิฎก แปลว่า ๓ คัมภีร์ หรือ ๓ ปิฎก จึงควรทราบต่อไปว่า ๓ ปิฎก นั้นมีอะไรบ้าง และแต่ละปิฎกนั้น มีความหมายหรือใจความอย่างไร ปิฎก ๓ นั้นแบ่งออกดังนี้
๑. วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี
๒. สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่ว ๆ ไป
๓. อภิธัมมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วน ๆ หรือธรรมะที่สำคัญ


ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

การกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก จำเป็นต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ยังมิได้จดจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งหลักฐานเรื่องการท่องจำ และข้อความที่กระจัดกระจายยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่ จนถึงมีการสังคายนา คือจัดระเบียบหมวดหมู่ การจารึกเป็นตัวหนังสือการพิมพ์เป็นเล่ม

ในเบื้องแรกเห็นควรกล่าวถึงพระสาวก ๔ รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ
๑. พระอานนท์ ผู้เป็นพระอนุชา (ลูกผู้พี่ผู้น้อง) และเป็นผู้อุปฐากรับใช้ใกล้ชิดของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก
๒. พระอุบาลี ผู้เชี่ยวชาญทางวินัย ในฐานะที่ทรงจำวินัยปิฎก
๓. พระโสณกุฏิกัณณะ ผู้เคยท่องจำบางส่วนแห่งพระสุตตันตปิฎก และกล่าวข้อความนั้นปากเปล่าในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ได้รับสรรเสริญว่าทรงจำได้ดีมาก ทั้งสำเนียงที่กล่าวข้อความออกมาก็ชัดเจนแจ่มใส เป็นตัวอย่างแห่งการท่องจำในสมัยที่ยังไมมีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นตัว หนังสือ
๔. พระมหากัสสป ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มให้มีการสังคายนา จัดระเบียบพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่ ในข้อนี้ย่อมเกี่ยวโยงไปถึงพระพุทธเจ้า พระสาริบุตร และพระจุนทะ น้องชายพระสาริบุตร ซึ่งเคยเสนอให้เห็นความสำคัญของการทำสังคายนา คือจัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ดังจะกล่าวต่อไป

พระอานนท์เกี่ยวกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้แล้วแสดงธรรมโปรดเจ้าลัทธิกับทั้งพระราชาและมหาชนในแว่นแคว้น ต่าง ๆ ในปลายปีแรกที่ตรัสรู้นั้นเอง พระพุทธบิดาก็ทรงส่งทูตไปเชิญเสด็จพระศาสดาให้ไปแสดงธรรมโปรด ณ กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์แสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระ ประยูรญาติแล้ว พระประยูรญาติต่างพากันเลื่อมใสให้โอรสของตนออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า เป็นอันมาก

พระอานนท์เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนศกายะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา เมื่อนับโดยเชื้อสายจึงนับเป็นพระอนุชาหรือลูกผู้น้องของพระพุทธเจ้า ท่านออกบวชพร้อมกับราชกุมารอื่น ๆ อีก คือ ๑. อนุรุทธะ ๒. ภัคคุ ๓. กิมพิละ ๔. ภัททิยะ รวมเป็น ๕ ท่านในฝ่ายศากยวงศ์ เมื่อรวมกับเทวทัตซึ่งเป็นราชกุมารในโกลิยวงศ์ ๑ กับอุบาลี ซึ่งเป็นพนักงานภูษามาลา มีหน้าที่เป็นช่างกัลบกอีก ๑ จึงรวมเป็น ๗ ท่านด้วยกัน ใน ๗ ท่านนี้เมื่ออกบวชแล้วก็มีชื่อเสียงมากอยู่ ๔ ท่าน คือ พระอานนท์ เป็นพุทธอุปฐาก ทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก พระอนุรุทธ์ ชำนาญในทิพยจักษุ พระอุบาลี ทรงจำและชำนิชำนาญในทางพระวินัย กับพระเทวทัต มีชื่อเสียงในทางก่อเรื่องยุ่งยากในสังฆมณฑล จะขอปกครองคณะสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า

กล่าวเฉพาะพระอานนท์ เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะรับหน้าที่นี้ ท่านได้ขอพรหรือนัยหนึ่งเงื่อนไข ๘ ประการจากพระพุทธเจ้า เป็นเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ ๔ ข้อ เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ข้อ คือ

เงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ
๑. ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
๒. ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ประทานบิณฑบาต (คืออาหาร) อันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์
๓. ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
๔. ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์

เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง
๕. ถ้าพระองค์จัดเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้
๖. ถ้าข้าพระองค์จักนำบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ที่ไกล ให้เข้าเฝ้าได้ในขณะที่มาแล้ว
๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น และ
๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงข้อความอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ ครั้นเสด็จมาแล้วจักตรัสบอกข้อความอันนั้นแก่ข้าพระองค์

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ที่ขอเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธนั้นเพื่ออะไร พระอานนท์กราบทูลว่า เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่าท่านอุปฐากพระพุทธเจ้าเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ ส่วนเงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ข้อนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถาม ท่านก็กราบทูลว่า ๓ ข้อต้น เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่า พระอานนท์จะอุปฐากพระพุทธเจ้าทำไมในเมื่อพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ ด้วยเรื่องเพียงเท่านี้ ส่วนเงื่อนไขข้อสุดท้ายก็เพื่อว่าถ้ามีใครถามท่านในที่ลับหลังพระพุทธเจ้า ว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในที่ไหน ถ้าพระอานนท์ตอบไม่ได้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า พระอานนท์ตามเสด็จพระศาสนาไปดุจเงาตามตัว แม้เรื่องเพียงเท่านี้ก็ไม่รู้ เมื่อพระอานนท์กราบทูลชี้แจงดังนั้นแล้ว พระศาสดาก็ทรงตกลงประทานพรหรือเงื่อนไขทั้งแปดข้อ

เฉพาะพรข้อที่ ๘ เป็นอุปการะแก่การที่จะรวบรวมพระพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่อย่างยิ่ง เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม (พระอุบาลี วินัย) เพื่อจัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งกระทำภายหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน

ในสมัยที่วิชาหนังสือยังไม่เจริญพอที่จะใช้บันทึกเรื่องราวได้ดั่งใน ปัจจุบัน อันเป็นสมัยที่ไม่มีการจด มนุษย์ก็ต้องอาศัยความจำเป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึกเรื่องราวนั้น ๆ ไว้ แล้วบอกเล่าต่อ ๆ กันมา การทรงจำและบอกกันด้วยปากต่อ ๆ กันมานี้ เรียกในภาษาบาลีว่า มุขปาฐะ

พระอานนท์เป็นผู้ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่ามีความทรงจำดี สดับตรับฟังมาก นับว่าท่านได้มีส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ สืบมาจนทุกวันนี้

พระอุบาลีเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?

เรื่องของพระอุบาลี ผู้เคยเป็นพนักงานภูษามาลาอยู่ในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ก็น่าสนใจอยู่ ไม่น้อย ท่านออกบวชพร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่น ๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้น และในฐานที่ท่านเป็นคนรับใช้มาเดิมก็ควรจะเป็นผู้บวชคนสุดท้าย แต่เจ้าชายเหล่านั้นตกลงกันว่าควรให้อุบาลีบวชก่อน ตนจะได้กราบไหว้อุบาลีตามพรรษาอายุ เป็นการแก้ทิฏฐิมานะตั้งแต่เริ่มแรกในการออกบวช แต่ท่านก็มีความสามารถสมกับเกียรติที่ได้รับจากราชกุมารเหล่านั้น คือเมื่อบวชแล้วท่านมีความสนใจกำหนดจดจำทางพระวินัยเป็นพิเศษ มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฎก (เล่มที่ ๗) ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวินัยแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วทรงสรรเสริญวินัย กับสรรเสริญท่านพระอุบาลีเป็นอันมาก ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเรียนวินัยจากพระอุบาลี นอกจากนั้น ในวินัยปิฎก (เล่มที่ ๙) มีพระพุทธภาษิตโต้ตอบกับพระอุบาลีในข้อปัญหาทางพระวินัยมากมาย เป็นการเฉลยข้อถามของพระเถระ เรียกชื่อหมวดนี้ว่า อุปาลิปัญจกะ มีหัวข้อสำคัญถึง ๑๔ เรื่อง ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ท่านพระอุบาลีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวินัยปิฎก จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการช่วยรวบรวมข้อพระวินัยต่าง ๆ ทั้งของภิกษุและภิกษุณีให้เป็นหมวดหมู่หลักฐานมาจนทุกวันนี้

พระโสณกุฏิกัณณะเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?

ความจริงท่านผู้นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็นหลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก อันช่วยให้เกิดความเข้าใจดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก จึงได้นำเรื่องของท่านมากล่าวไว้ในที่นี้ด้วย เรื่องของท่านผู้นี้ปรากฎในพระสุตตันตปิฎกเล่ม ๒๕ มีใจความว่า เดิมท่านเป็นอุบาสก เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดของพระมหากัจจานเถระ พำนักอยู่ใกล้ภูเขาอันทอดเชื่อมเข้าไปในนคร ชื่อ กุรุรฆระ ในแคว้นอวันตี ท่านเลื่อมใสในพระกัจจานเถระและเลื่อมใสที่จะบรรพชาอุปสมบท พระเถระกล่าวว่าเป็นการยากที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ท่านจึงแนะนำให้เป็นคฤหัสถ์ ประพฤติตนแบบอนาคาริกะ คือผู้ไม่ครองเรือนไปก่อน แต่อุบาสกโสณกุฏิกัณณะรบเร้าบ่อย ๆ ท่านจึงบรรพชาให้ ต่อมาอีก ๓ ปี จึงรวบรวมพระได้ครบ ๑๐ รูป จัดการอุปสมบทให้ หมายความว่าพระโสณะต้องบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ

ต่อมาท่านลาพระมหากัจจานเถระเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ เชตวนาราม กรุงสาวัตถี เมื่อไปถึงและพระพุทธเจ้าตรัสถาม ทราบความว่า เดินทางไกลมาจากอวันตีทักขิณบถ คืออินเดียภาคใต้ จึงตรัสสั่งพระอานนท์ให้จัดที่พักให้ พระอานนท์พิจารณาว่า พระองค์คงปรารถนาจะสอบถามอะไรกับภิกษุรูปนี้เป็นแน่แท้ จึงจัดที่พักให้ในวิหารเดียวกันกับพระพุทธเจ้า

ในคืนวันนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่กลางแจ้งจนดึกจึงเสด็จเข้าสู่วิหาร แม้พระโสณกุฏกัณณะก็นั่งอยู่กลางแจ้งจนดึกจึงเข้าสู่วิหาร ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสเชิญให้พระโสณะกล่าวธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง ๑๖ สูตร อันปรากฏให้อัฏฐกวัคค์ (สุตตนิบาต พระสุตตันติปิฎก เล่มที่ ๒๕) จนจบ เมื่อจบแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำ และท่วงทำนองในการกล่าว ว่าไพเราะสละสลวย แล้วตรัสถามเรื่องส่วนตัวอย่างอื่นอีก เช่นว่ามีพรรษาเท่าไร ออกบวชด้วยมีเหตุผลอย่างไร

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก ว่าได้มีการท่องจำกันตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ใครสามารถหรือพอใจจะท่องจำส่วนไหน ก็ท่องจำส่วนนั้น ถึงกับมีครูอาจารย์กันเป็นสาย ๆ เช่น สายวินัยดังจะกล่าวข้างหน้า

พระมหากัสสปเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?

พระมหากัสสป เป็นผู้บวชเมื่อสูงอายุ ท่านพยายามปฏิบัติตนในทางเคร่งครัด แม้จะลำบากบ้างก็แสดงความพอใจว่าจะได้เป็นตัวอย่างแก่ภิกษุรุ่นหลัง พระศาสดาทรงสรรเสริญท่านว่าเป็นตัวอย่างในการเข้าสู่สกุลชักกายและใจห่าง ประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คะนองกายวาจาใจในตระกูล นอกจากนั้นยังทรงสรรเสริญในเรื่องความสามารถในการเข้าฌานสมาบัติ

ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ แม้ไม่ใคร่สั่งสอนใครมาก แต่ก็สั่งสอนคนในทางปฏิบัติคือทำตัวเป็นแบบอย่าง เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนาคือร้อยกรอง หรือจัดระเบียบพระธรรมวินัย นับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทำให้เกิดพระไตรปิฎก อนึ่ง ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งท่านชักชวนให้ทำขึ้นนั้น ท่านเองเป็นผู้ถามทั้งพระวินัยและพระธรรม ท่านพระอุบาลีเป็นผู้ตอบเกี่ยวกับพระวินัย ท่านพระอานท์เป็นผู้ตอบเกี่ยวกับพระธรรม ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในตอนที่ว่าด้วยสังคายนา

ได้กล่าวไว้แล้วว่า ในการปรารภนามของพระเถระ ๔ รูป ประกอบความรู้เรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกคือ พระอานนท์ พระอุบาลี พระโสณกุฏิกัณณะ และพระมหากัสสปนั้น ทำให้ความเกี่ยวโยงไปถึงพระพุทธเจ้า พระสาริบุตร และพระจุนทะ (น้องชายพระสาริบุตร) คือ

พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย

สมัยเมื่อนครนถนาฏบุตร ผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ สาวกเกิดแตกกัน พระจุนทเถระผู้เป็นน้องชายพระสาริบุตร เกรงเหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดแก่พระพุทธศาสนา จึงเข้าไปหาพระอานนท์เล่าความให้ฟัง พระอานนท์จึงชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อกราบทูลแล้วพระองค์ได้ตรัสตอบด้วยข้อความเป็นอันมาก แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญยิ่ง (ปาสาทิกสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ หน้า ๑๒๘ ถึงหน้า ๑๕๖) คือ ในหน้า ๑๓๙ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกพระจุนทะ แนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์ และทำสังคายนา คือจัดระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะเพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นยื่งยืนสืบไป

พระพุทธภาษิตที่แนะนำให้รวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่นี้ ถือได้ว่าเป็นเริ่มต้นแห่งการแนะนำ เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกดั่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

พระสาริบุตรแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย

ในสมัยเดียวกันนั้น และปรารภเรื่องเดียวกัน คือเรื่องสาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน ภายหลังที่อาจารย์สิ้นชีวิต ค่ำวันหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบแล้ว เห็นว่าภิกษุทั้งหลายยังใคร่จะฟังต่อไปอีก จึงมอบหมายให้พระสาริบุตรแสดงธรรมแทน ซึ่งท่านได้แนะนำให้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยแสดงตัวอย่างการจัดหมวดหมู่ธรรมะเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐ ว่ามีธรรมอะไรบ้างอยู่ในหมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ จนถึงหมวด ๑๐ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงรับรองว่าข้อคิดและธรรมะที่แสดงนี้ถูกต้อง (สังคีติสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ หน้า ๒๒๒ ถึงหน้า ๒๘๗) หลักฐานในพระไตรปิฎกตอนนี้มิได้แสดงว่าพระสาริบุตรเสนอขึ้นก่อน หรือพระพุทธเจ้าตรัสแก่พระจุนทะก่อน แต่รวมความแล้วก็ต้องถือว่า ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสาริบุตรได้เห็นความสำคัญของการรวบรวมพระพุทธวจนะร้อย กรองให้เป็นหมวดเป็นหมู่มาแล้ว ตั้งแต่ยังไม่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑

พระจุนทะเถระผู้ปรารถนาดี

เมื่อกล่าวถึงเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะให้ทำสังคายนาก็ดี ถ้าไม่กล่าวถึงพระจุนทะเถระ ก็ดูเหมือนจะมองไม่เห็นความริเริ่ม เอาใจใส่ และความปรารถนาดีของท่าน ในเมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน เพราะจากข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ท่านได้เข้าพบพระอานนท์ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกพระอานนท์ชวนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ครั้งหลังเมื่อสาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันยิ่งขึ้น ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีก ขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์ทำนองนั้นเกิดขึ้นในพระ พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมแก่พระอานนท์ โดยแสดงโพธิปัขิยธรรมอันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท ๖ ประการ อธิกรณ์ ๔ ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ กับประการสุดท้ายได้ทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ๖ ประการ ที่เรียกว่าสาราณิยธรรม อันเป็นไปในทางสงเคราะห์ อนุเคราะห์และมีเมตตาต่อกัน มีความประพฤติและความเห็นในทางที่ดีงามร่วมกัน เรื่องนี้ปรากฏในสามคามสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ หน้า ๔๙ ซึ่งควรบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อบูชาคุณ คือความปรารถนาดีของพระจุนทะเถระ ผู้แสดงความห่วงใยในความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ต.ค. 2010, 10:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


การทำสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก

แม้ในตอนต้น จะได้ระบุนามของพระเถระหลายท่าน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก แต่พระไตรปิฎกก็เกิดขึ้นภายหลังที่ท่านพระเถระทั้งหลายได้ร่วมกันร้อยกรอง จัดระเบียบพระพุทธวจนะแล้ว ในสมัยของพระพุทธเจ้าเองยังไม่มีการจัดระเบียบหมวดหมู่ ยังไม่มีการจัดเป็นวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก นอกจากมีตัวอย่างการจัดระเบียบวินัยในการสวดปาฏิโมกข์ลำดับสิกขาบททุกกึ่ง เดือน ตามพระพุทธบัญญัติและการจัดระเบียบธรรมในสังคีติสูตรและทสุตตรสูตรที่พระสา ริบุตรเสนอไว้ กับตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงวิธีจัดระเบียบพระธรรมแก่พระจุนทะเถระ และพระอานนท์ในปาสาทิกสูตร และสามคามสูตร ดังได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น

พระพุทธเจ้าประทานพระพุทธโอวาทไว้มากหลายต่างกาลเวลา ต่างสถานที่กัน การที่พระสาวกซึ่งท่องจำกันไว้ได้ และจัดระเบียบหมวดหมู่เป็นปิฎกต่าง ๆ ในเมื่อพระศาสดานิพพานแล้ว พอเทียบได้ดังนี้ พระพุทธเจ้าเท่ากับทรงเป็นเจ้าของสวนผลไม้ เช่น ส้มหรือองุ่น พระเถระผู้จัดระเบียบหมวดหมู่คำสอน เท่ากับผู้ที่จัดผลไม้เหล่านั้นห่อกระดาษบรรจุลังไม้ เป็นประเภท ๆ บางอย่างก็ใช้ผงไม้กันกระเทือนใส่แทนห่อกระดาษ ปัญหาเรื่องของภาชนะที่ใส่ผลไม้เช่นลังหรือห่อก็เกิดขึ้น คือในชั้นแรก คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น รวมเรียกว่าพระธรรมพระวินัย เช่น ในสมัยเมื่อใกล้จะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป

จึงเป็นอันกำหนดลงเป็นหลักฐานได้อย่างหนึ่งว่า ในสมัยของพระพุทธเจ้ายังไม่มีคำว่า พระไตรปิฎก มีแต่คำว่า ธรรมวินัย คำว่า พระไตรปิฎก หรือ ติปิฎก ในภาษาบาลีนั้น มาเกิดขึ้นภายหลังที่ทำสังคายนาแล้ว แต่จะภายหลังสังคายนาครั้งที่เท่าไร จะได้กล่าวต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้คำว่า พระไตรปิฎก จะเกิดขึ้นในสมัยหลังพุทธปรินิพพาน ก็ไม่ทำให้สิ่งที่บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น คลายความสำคัญลงเลย เพราะคำว่า พระไตรปิฎก เป็นเพียงภาชนะ กระจาดหรือลังสำหรับใส่ผลไม้ ส่วนตัวผลไม้หรือนัยหนึ่งพุทธวจนะ ก็มีมาแล้วในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระศาสนา

การสวดปาฏิโมกข์ต่างจากการสังคายนาอย่างไร ?

การสวดปาฏิโมกข์ คือการ "ว่าปากเปล่า" หรือการสวดข้อบัญญัติทางพระวินัย ๑๕๐ ข้อ ในเบื้องแรก และ ๒๒๗ ข้อในกาลต่อมาทุก ๆ กึ่งเดือนหรือ ๑๕ วัน เป็นข้อบัญญัติทางพระวินัย ที่ให้พระภิกษุทั้งหลายต้องลงฟังการกล่าวทบทวนข้อบัญญัติทางพระวินัยนี้ทุก ๑๕ วัน ถ้าขาดโดยไม่มีเหตุสมควรต้องปรับอาบัติ การสวดปาฏิโมกข์นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการบังคับให้ท่องจำ ซึ่งข้อบัญญัติทางพระวินัย แต่ไม่ใช่ทุกท่านสวดพร้อมกัน คงมีผู้สวดรูปเดียว รูปที่เหลือคอยตั้งใจฟัง และช่วยทักท้วงเมื่อผิด

ส่วนการสังคายนานั้น แปลตามรูปศัพท์ว่า ร้อยกรอง คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำนำสืบต่อ ๆ มา ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อ ๆ มาปรากฏว่ามีการถือผิด ตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิด ตีความหมายผิดนั้น ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไร แล้วก็ทำการสังคายนา โดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่อันเป็นทำนอง บันทึกเหตุการณ์บ้าง จัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง ในชั้นหลัง ๆ เพียงการจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลาน ก็เรียกกันว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิด เข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่ความจริงเมื่อพิจารณารูปศัพท์แล้ว การสังคายนาก็เท่ากับการจัดระเบียบ การปัดกวาดให้สะอาด ทำขึ้นครั้งหนึ่งก็มีประโยชน์ครั้งหนึ่ง เหมือนการทำความสะอาด การจัดระเบียบที่อยู่อาศัย

การสังคายนาจึงต่างการสวดปาฏิโมกข์ ในสาระสำคัญที่ว่าการสวดปาฏิโมกข์เป็นการทบทวนความจำของที่ประชุมสงฆ์ทุก กึ่งเดือน เกี่ยวกับข้อปฏิบัติทางพระวินัย ส่วนการสังคายนาไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าไม่มีการถือเข้าใจผิด แต่เห็นสมควรตรวจสอบชำระพระไตรปิฎก แก้ตัวอักษร หรือข้อความที่วิปลาสคลาดเคลื่อน ก็ถือกันว่าเป็นการสังคายนา ดังจะกล่าวต่อไป



ปัญหาเรื่องการนับครั้งในการทำสังคายนา

ในปัจจุบันนี้ ทางประเทศพม่าถือว่า ตั้งแต่เริ่มแรกมามีการทำสังคายนารวม ๖ ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ ๖ พม่าจัดทำเป็นการใหญ่ ในโอกาสใกล้เคียงกับงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ แล้วฉลองพร้อมกันทีเดียว ทั้งการสังคายนาครั้งที่ ๖ และงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ แต่ตามหลักฐานของพระเถระฝ่ายไทย ผู้รจนาหนังสือเรื่องสังคีติยวงศ์ หรือประวัติศาสตร์การสังคายนา กล่าวว่า สังคายนามี ๙ ครั้ง รวมทั้งครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงกระทำในรัชสมัยของ พระองค์ คือการสอบทานแก้ไขพระไตรปิฎก แล้วจารลงในใบลานเป็นหลักฐาน

โดยเหตุที่ความรู้เรื่องการสังคายนา ย่อมเป็นเรื่องสำคัญในความรู้เรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น จะได้รวบรวมมติของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำสังคายนา และปัญหาเรื่องการนับครั้งมารวมเป็นหลักฐานไว้ในที่นี้ รวมเป็น ๕ หัวข้อ คือ
๑. การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป
๒. การนับครั้งสังคายนาของลังกา
๓. การนับครั้งสังคายนาของพม่า
๔. การนับครั้งสังคายนาของไทย
๕. การสังคายนาของฝ่ายมหายาน

ในการรวบรวมเรื่องนี้ ผู้เขียนได้อาศัยหลักฐานจากวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ พร้อมทั้งอรรถกถาม, จากหนังสือมหาวงศ์, สังคีติยวงศ์ และบทความของท่าน B. Jinananda ในหนังสือ 2500 Years of Buddhism ซึ่งพิมพ์ในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในอินเดียและหนังสืออื่น ๆ

การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป

การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไปก็คือ สังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งทำในอินเดียอันเป็นของฝ่ายเถรวาท กับอีกครั้งหนึ่งในอินเดียภาคเหนือ ซึ่งพระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภ์ อันเป็นสังคายนาผสม รวมเป็น ๔ ครั้ง แต่ฝ่ายเถรวาทมิได้รับรู้ในการสังคายนาครั้ง ๔ นั้น เพราะการสืบสายศาสนาแยกกันคนละทาง ตลอดจนภาษาที่รองรับคัมภีร์ทางศาสนาก็ใช้ต่างกัน คือของเถรวาทหรือศาสนาพุทธแบบที่ไทย พม่า ลังกา เขมร ลาวนับถือ ใช้ภาษาบาลี ส่วนของฝ่ายมหายานหรือศาสนาพุทธแบบที่ญี่ปุ่น จีน ธิเบต ญวน และเกาหลีนับถือ ใช้ภาษาสันสกฤต ในสมัยที่ตำราภาษาสันสกฤตสาบสูญก็มีเฉพาะคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาจีนและภาษาธิ เบตเป็นหลัก แล้วมีผู้แปลสู่ภาษาอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่นอีกต่อหนึ่ง

สังคายนาครั้งที่ ๑

กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย พระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นผู้สอบถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางวินัย พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางธรรม มีพระอรหันต์ประชุมกัน ๕๐๐ รูป กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ ในการนี้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ สังคายนาครั้งนี้กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๓ เดือน ข้อปรารภในการสังคายนา คือพระมหากัสสปปรารภถ้อยคำของภิกษุชื่อสุภัททะ ผู้บวชเมื่อแก่ เมื่อรู้ข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ภิกษุทั้งหลายร้องไห้เศร้าโศก สุภัททภิกษุก็ห้ามภิกษุเหล่านั้นมิให้เสียใจร้องไห้ เพราะต่อไปนี้จะทำอะไรได้ตามใจแล้ว ไม่ต้องมีใครคอยมาชี้ว่า นี่ผิด นี่ถูก นี่ควร นี่ไม่ควร ต่อไปอีก พระมหากัสสปสลดใจในถ้อยคำของสุภัททภิกษุ จึงนำเรื่องเสนอที่ประชุมสงฆ์ แล้วเสนอชวนให้ทำสังคายนาร้อยกรองจัดระเบียบพระธรรมวินัย ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบ

มีข้อน่าสังเกตว่า ประวัติการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ จุลลวัคค์ หน้า ๒๗๙ ถึง ๔๒๓ อันแสดงว่าประวัติเรื่องนี้คงเพิ่มเข้ามาในวินัยปิฎก ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ นอกจากนั้น ในครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ แห่งการทำสังคายนานี้ ไม่มีคำกล่าวถึงปิฎกเลย ใช้คำว่า วินัยวิสัชนา (ตอบเรื่องพระวินัย) และธัมมวิสัชนา (ตอบเรื่องพระธรรม) สำหรับครั้งที่ ๑ และใช้คำว่า ทสวัตถุปุจฉาวิสัชนา (ถามตอบเรื่องวัตถุ ๑๐) สำหรับครั้งที่ ๒ จึงน่าจะเห็นได้ว่า สังคายนาครั้งแรกและครั้งที่ ๒ ยังไม่ได้แยกเป็น ๓ ปิฎก แต่เรียกว่าธรรมวินัยรวม ๆ ไป โดยรวมสุตตันตปิฎกกับอภิธัมมปิฎกอยู่ในคำว่า ธรรม

แต่ในหนังสือชั้นอรรถกถา ซึ่งแต่งขึ้นอธิบายพระไตรปิฎก ภายหลังพุทธปรินิพพานเกือบพันปี อธิบายเป็นเชิงว่า สุดแต่จะจัดประเภท จะว่าพุทธวจนะมี ๑ ก็ได้ คือมีความหลุดพ้น เป็นรสเหมือนทะเล แม้จะมีน้ำมากก็มีรสเดียว คือรสเค็ม จะว่ามี ๒ ก็ได้ คือเป็นพระธรรมกับพระวินัย จะว่าเป็น ๓ ก็ได้ คือไตรปิฎก อันแยกออกเป็นวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก จะว่าเป็น ๕ ก็ได้ โดยแบ่งออกเป็น ๕ นิกาย หรือ ๕ หมวด คือ

๑. ทีฆนิกาย (หมวดยาว)
๒. มัชฉิมนิกาย (หมวดปานกลาง)
๓. สังยุตตนิกาย (หมวดประมวลเรื่องเป็นพวก ๆ)
๔. อังคุตตรนิกาย (หมวดยิ่งด้วยองค์ คือจัดข้อธรรมเป็นหมวด ๑ หมวด ๒ เป็นต้น)
๕. ขุททกนิกาย (หมวดเล็กน้อยหรือหมวดเบ็ดเตล็ด)

การจัดอย่างนี้ จัดตามหลักสุตตันตปิฎก แล้วเอาวินัยปิฎกและอภิธัมมปิฎกมาย่อรวมในขุททกนิกาย คือหมวดเบ็ดเตล็ด นอกนั้นยังอธิบายถึงการแบ่งพระพุทธวจนะเป็น ๙ ส่วน เป็น ๘๔,๐๐๐ ส่วน ซึ่งของดไว้ไม่นำมากล่าวในที่นี้

สังคายนาครั้งที่ ๒

กระทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย พระยสะ กากัณฑบุตร เป็นผู้ชักชวน พระเถระที่เป็นผู้ใหญ่ร่วมมือในการนี้ ที่ปรากฏชื่อมี ๘ รูป คือ ๑. พระสัพพกามี ๒. พระสาฬหะ ๓. พระขุชชโสภิตะ ๔. พระวาสภคามิกะ ทั้งสี่รูปนี้ เป็นชาวปาจีนกะ (มีสำนักอยู่ทางทิศตะวันออก) ๕. พระเรวตะ ๖. พระสัมภูตะ สาณวาสี ๗. พระยสะ กากัณฑกบุตร และ ๘. พระสุมนะ ทั้งสี่รูปนี้เป็นชาวเมืองปาฐาในการนี้พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบปัญหาทางวินัยที่เกิดขึ้น มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๗๐๐ รูป กระทำอยู่ ๘ เดือนจึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้ กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ ๑๐๐ ปี ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้ก็คือ พระยสะ กากัณฑกบุตร ปรารภข้อปฏิบัติย่อหย่อน ๑๐ ประการทางพระวินัยของพวกภิกษุวัชชีบุตร เช่น ถือว่าควรเก็บเกลือไว้ในแขนง (เขาสัตว์) เพื่อเอาไว้ฉันได้ตะวันชายเกินเที่ยงไปแล้ว ๒ นิ้ว ควรฉันอาหารได้ ควรรับเงินทองได้ เป็นต้น พระยสะ กากัณฑกบุตร จึงชักชวนพระเถระต่าง ๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัย แก้ความถือผิดครั้งนี้

รายละเอียดแห่งการสังคายนาครั้งนี้ ปรากฏในวินัยปิฎก เล่ม ๗ หน้า ๓๙๖ เป็นต้นไป แต่ไม่ได้กล่าวถึงการจัดระเบียบพระไตรปิฎก คงกล่าวเฉพาะการชำระข้อถือผิด ๑๐ ประการของภิกษุพวกวัชชีบุตร ทั้งไม่ได้บอกว่าทำสังคายนาอยู่นานเท่าไร ในอรรถกถา๑ กล่าวว่า ทำอยู่ ๘ เดือนจึงสำเร็จ

ข้าพเจ้าได้กล่าวเป็นข้อสังเกตไว้ท้ายเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ แล้วว่า หลักฐานในวินัยปิฎก ที่กล่าวถึงสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ไม่มีกล่าวถึงคำว่า ไตรปิฎกเลย แต่ถ้ากล่าวตามหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือสมันตัปปสาทิกา ซึ่งแต่งขึ้นอธิบายวินัยปิฎกเมื่อพุทธปรินิพพานล่วงแล้วเกือบพันปี ท่านได้กล่าวไว้ชัดเจน (ในหน้า ๒๘,๒๙ และ ๓๓) ว่าการทำสังคายนาจัดประเภทพระพุทธวจนะ เป็นรูปพระไตรปิฎกได้มีมาแล้วตั้งแต่สังคายนาครั้งที่ ๑ แม้ครั้งที่ ๒ ก็ทำซ้ำอีก

เพราะฉะนั้น ถ้าถือตามหลักฐานของอรรถกถา การสังคายนาจัดระเบียบเป็นรูปพระไตรปิฎก ก็มีมาแล้วตั้งแต่การสังคายนาครั้งที่ ๑ เป็นต้นมา

สังคายนาครั้งที่ ๓

ได้กล่าวแล้วว่า เรื่องสังคายนาที่ปรากฏในวินัยปิฎกมีเพียงครั้งที่ ๑ กับครั้งที่ ๒ ส่วนเรื่องการสังคายนาครั้งที่ ๓ มีปรากฏในชั้นอรรถกถาอันพอเก็บใจความได้ดังนี้

สังคายนาครั้งที่ ๓ กระทำที่อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย พระโมคคลีบุตร ติสสเถระเป็นหัวหน้า มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป ทำอยู่ ๙ เดือนจึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้ กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๒๓๔ หรือ ๒๓๕ ปี๒ ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้ คือพวกเดียรถีย์ หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวช แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระโมคคลีบุตร ติสสเถระ ได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวนกำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นจากพระธรรมวินัยได้แล้ว จึงสังคายนาพระธรรมวินัย

มีข้อน่าสังเกตว่า ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคลีบุตรได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์ในอภิธัมมปิฎกเพิ่มขึ้นด้วย ตามประวัติว่าบทตั้งมีอยู่เดิมแล้ว แต่ได้แต่งขยายให้พิสดารออกไป เรื่องกถาวัตถุเป็นเรื่องคำถามคำตอบเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีคำถาม ๕๐๐ คำตอบ ๕๐๐ และเมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว ก็ได้ส่งคณะทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งพระมหินทเถระ ผู้เป็นโอรสพระเจ้าอโศก ได้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกาเป็นครั้งแรก การส่งสมณทูตไปทิศต่าง ๆ ครั้งนั้น ถือหลักว่าให้ไปครบ ๕ รูป เพื่อจะได้ให้การอุปสมบทแก่ผู้เลื่อมใสได้ แต่คงไม่ได้ระบุชื่อหมดทั้งห้า โดยมากออกนามเฉพาะท่านผู้เป็นหัวหน้า

สังคายนาครั้งที่ ๔

การสังคายนาครั้งนี้ผสมกับฝ่ายมหายาน กระทำกันในอินเดียภาคเหนือ ด้วยความอุปถัมภ์ของพระเจ้ากนิษกะ ได้กล่าวแล้วว่า สังคายนาครั้งนี้ ทางฝ่ายเถรวาท คือฝ่ายที่ถือพระพุทธศาสนาแบบที่ไทย ลาว เขมร พม่า ลังกานับถือ มิได้รับรองเข้าอันดับเป็นครั้งที่ ๔ เพราะเป็นการสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท ซึ่งแยกออกไปจากเถรวาททำผสมกับฝ่ายมหายาน และเพราะมีสายแห่งการสืบต่อสั่งสอนอบรมไม่ติดต่อเกี่ยวข้องกัน จึงไม่มีบันทึกหลักฐานเรื่องนี้ทางเถรวาท ทั้งภาษาที่ใช้สำหรับพระไตรปิฎกก็ไม่เหมือนกัน คือฝ่ายมหายานใช้ภาษาสันสกฤต (บางครั้งก็ปนปรากฤต) ฝ่ายเถรวาทใช้ภาษาบาลี

แม้สังคายนาครั้งที่ ๓ ในอินเดีย ซึ่งกล่าวมาแล้วข้างต้น ทางฝ่ายจีนและธิเบตก็ไม่มีบันทึกรับรองไว้ เพราะเป็นคนละสายเช่นเดียวกัน

แต่เนื่องจากการสังคายนาครั้งนี้ เป็นที่รู้กันทั่วไปในวงการของผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา จึงนับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ควรนำมากล่าวไว้ด้วย และเมื่อคิดติดตามลำดับเวลาแล้ว ก็นับเป็นสังคายนาครั้งที่ ๔ ที่ทำในอินเดีย เมื่อประมาณ ค.ศ. ๑๐๐ หรือ พ.ศ. ๖๔๓ เรื่องปีที่ทำสังคายนานี้ หนังสือบางเล่มก็กล่าวต่างออกไป สังคายนาครั้งนี้กระทำ ณ เมืองชาลันธร แต่บางหลักฐานก็ว่าทำที่กาษมีระหรือแคชเมียร์ รายละเอียดบางประการจะได้กล่าวถึงตอนที่ว่าด้วยการสังคายนาของนิกายสัพพัต ถิกวาท

มีข้อน่าสังเกต คือหนังสือประวัติศาสตร์ของอินเดียบางเล่ม๓ กล่าวว่า ใน ค.ศ. ๖๓๔ (พ.ศ. ๑๑๗๗) พระเจ้าศีลาทิตย์ ได้จัดให้มีมหาสังคายนาขึ้นในอินเดียภาคเหนือ มีกษัตริย์ประเทศราชมาร่วมด้วยถึง ๒๑ พระองค์ ในพิธีนี้มีพระสงฆ์ผู้คงแก่เรียน และพราหมณ์ผู้ทรงความรู้มาประชุมกัน ในวันแรกตั้งพระพุทธรูปบูชาในพิธี ในวันที่ ๒ ตั้งรูปสุริยเทพ ในวันที่ ๓ ตั้งรูปพระศิวะ การสังคายนาครั้งนี้จึงมีลักษณะผสม คือ ทั้งพุทธ ทั้งพราหมณ์ ภิกษุที่เข้าประชุมก็มีทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน แต่เมื่อสอบดูหนังสือประวัติของภิกษุเฮี่ยนจัง๔ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ด้วย กลายเป็นการประชุมเพื่อให้มาโต้แย้งกับภิกษุเฮี่ยนจังผู้แต่งตำรา ยกย่องพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานไป หาใช่การสังคายนาอย่างไรไม่ ที่บันทึกไว้ในที่นี้ด้วยก็เพื่อให้หมดปัญหาประวัติการสังคายนาในประเทศ อินเดีย

๑. คือคำอธิบายวินัยปิฎก มีชื่อว่าสมันตัปปาสาทิกา
๒. เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน คือพระเจ้าอโศกมหาราชเสวยราชย์ ๒๑๘ ปี หลังพุทธปรินิพพาน ต่อมาอีก ๑๖ ปี (บางฉบับว่า ๑๗ ปี) จึงได้ทำสังคายนา เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องนับ ๑ ตั้งแต่ปีเสวยราชย์
๓. Brief History of the Indian Peoples ของ Sir W.W. Hunter หน้า ๘๑
๔. ในภาษาไทยมีหนังสือชื่อประวัติพระถังซัมจั๋ง นางเคงเหลียน สีบุญเรือง แปลจากภาษาจีน มีข้อความตอนนี้ หน้า ๒๓๘


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ต.ค. 2010, 10:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


การนับสังคายนาของลังกา

ลังกาซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเช่นเดียวกับไทย คงรับรองการสังคายนาทั้งสามครั้งแรกในอินเดีย แต่ไม่รับรองสังคายนาครั้งที่ ๔ ซึ่งเป็นของนิกายสัพพัตถิกวาทผสมกับฝ่ายมหายาน

หนังสือสมันตัปปาสาทิกา ซึ่งแต่งอธิบายวินัยปิฎกกล่าวว่า เมื่อทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เสร็จแล้ว พระมหินทเถระผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศก พร้อมด้วยพระเถระอื่น ๆ รวมกันครบ ๕ รูป ได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา ได้พบกับพระเจ้าเทวานัมปิย ติสสะ แสดงธรรมให้พระราชาเลื่อมใส และประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้แล้ว ก็มีการประชุมสงฆ์ ให้พระอริฏฐะผู้เป็นศิษย์ของพระมหินทเถระ สวดพระวินัยเป็นการสังคายนาวินัยปิฎก ส่วนหนังสืออื่น ๆ เช่น สังคีติยวงศ์ กล่าวว่า มีการสังคายนาทั้งสามปิฎก สังคายนาครั้งนี้ กระทำที่ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ มีพระมหินทเถระเป็นประธาน

การสังคายนาครั้งนี้ ต่อจากสังคายนาครั้งที่ ๓ ในอินเดียไม่กี่ปี คือการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ กระทำใน พ.ศ. ๒๓๕ พอทำสังคายนาเสร็จแล้วไม่นาน (พ.ศ. ๒๓๖) พระมหินทเถระก็เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา และในปี พ.ศ. ๒๓๘ ก็ได้ทำสังคายนาในลังกา เหตุผลที่อ้างในการทำสังคายนาครั้งนี้ก็คือ เพื่อให้พระศาสนาตั้งมั่น เพราะเหตุที่สังคายนาครั้งนี้ห่างจากครั้งแรกประมาณ ๓-๔ ปี บางมติจึงไม่ยอมรับเป็นสังคายนา เช่น มติของฝ่ายพม่าดังจะกล่าวข้างหน้า ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สังคายนาครั้งนี้ อาจเป็นการวางรากฐานให้ชาวลังกาท่องจำพระพุทธวจนะ จึงต้องประชุมชี้แจงหรือแสดงรูปแห่งพุทธวจนะตามแนวที่ได้จัดระเบียบไว้ในการ สังคายนาครั้งที่ ๓ ในอินเดีย ฉะนั้น จึงนับได้ว่าเป็นสังคายนาครั้งแรกในลังกา

สังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกา กระทำเมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๓๓๑ ในรัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เรื่องที่ปรากฏเป็นเหตุทำสังคายนาครั้งนี้ คือเห็นกันว่า ถ้าจะใช้วิธีท่องจำพระพุทธวจนะต่อไป ก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย เพราะปัญญาในการท่องจำของกุลบุตรเสื่อมถอยลง จึงตกลงจารึกพระพุทธวจนะลงในใบลาน มีคำกล่าวว่า ได้จารึกอรรถกถาลงไว้ด้วย สังคายนาครั้งนี้กระทำที่อาโลกเลณสถาน ณ มตเลชนบท ซึ่งไทยเราเรียกว่ามลัยชนบท ประเทศลังกา มีพระริกขิตมหาเถระเป็นประธาน ได้กล่าวแล้วว่า บางมติไม่รับรองการสังคายนาของพระมหินท์ ว่าเป็นครั้งที่ ๔ ต่อจากอินเดีย แต่สังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกานี้ ได้รับการรับรองเข้าลำดับโดยทั่วไป บางมติก็จัดเข้าเป็นลำดับที่ ๕ บางมติที่ไม่รับรองสังคายนาของพระมหินท์ (ครั้งแรกในลังกา) ก็จัดสังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกานี้ว่าเป็นครั้งที่ ๔ ต่อมาจากอินเดีย

สังคายนาครั้งที่ ๓ ในลังกา กระทำเมื่อไม่ถึง ๑๐๐ ปีมานี้เอง คือใน พ.ศ. ๒๔๐๘๒ (ค.ศ. ๑๘๖๕) ที่รัตนปุระในลังกา พระเถระชื่อหิกขทุเว สิริสุมัคละ เป็นหัวหน้า กระทำอยู่ ๕ เดือน การสังคายนาครั้งนี้ น่าจะไม่มีใครรู้กันมากนัก นอกจากเป็นบันทึกของชาวลังกาเอง การโฆษณาก็คงไม่มากมายเหมือนสังคายนาครั้งที่ ๖ ของพม่า

การนับสังคายนาของพม่า

ได้กล่าวแล้วว่า พม่าไม่รับรองสังคายนาครั้งแรกในลังกา คงรับรองเฉพาะสังคายนาครั้งที่ ๒ ของลังกาว่าเป็นครั้งที่ ๔ ต่อจากนั้นก็นับสังคายนาครั้งที่ ๕ และที่ ๖ ซึ่งกระทำในประเทศพม่า

สังคายนาครั้งแรกในพม่า หรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ ๕ ต่อจากครั้งจารึกลงในใบลานของลังกา สังคายนาครั้งนี้ มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน ๔๒๙ แผ่น ณ เมืองมันดเล ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ใน พ.ศ. ๒๔๑๔ (ค.ศ. ๑๘๗๑) พระมหาเถระ ๓ รูป คือ พระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานโดยลำดับ มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม ๒,๔๐๐ ท่าน กระทำอยู่ ๕ เดือนจึงสำเร็จ

สังคายนาครั้งที่ ๒ ในพม่า หรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ ๖ ที่เรียกว่าฉัฏฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ จนถึงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นอันปิดงาน ในการปิดงานได้กระทำร่วมกับการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ (การนับปีของพม่าเร็วกว่าไทย ๑ ปี จึงเท่ากับเริ่ม พ.ศ. ๒๔๙๘ ปิด พ.ศ. ๒๕๐๐ ตามที่พม่านับ) พม่าทำสังคายนาครั้งนี้ มุ่งพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรก แล้วจะจัดพิมพ์อรรถกถา (คำอธิบายพระไตรปิฎก) และคำแปลเป็นภาษาพม่าโดยลำดับ มีการโฆษณาและเชิญชวนพุทธศาสนิกชนหลายประเทศไปร่วมพิธีด้วย โดยเฉพาะประเทศเถรวาท คือ พม่า ลังกา ไทย ลาว เขมร ทั้งห้าประเทศนี้ ถือว่าสำคัญสำหรับการสังคายนาครั้งนี้มาก เพราะใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีอย่างเดียวกัน จึงได้มีสมัยประชุม ซึ่งประมุขหรือผู้แทนประมุขของทั้งห้าประเทศนี้เป็นหัวหน้า เป็นสมัยของไทยสมัยของลังกา เป็นต้น ได้มีการก่อสร้างคูหาจำลอง ทำด้วยคอนกรีต จุคนได้หลายพันคน มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ ที่ บริเวณที่ก่อสร้างประมาณ ๒๐๐ ไร่เศษ เมื่อเสร็จแล้วได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

การนับสังคายนาของไทย

ตามหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมของไทยเรายอมรับรองสังคายนาครั้งที่ ๑-๒-๓ ในอินเดีย และครั้งที่ ๑-๒ ในลังกา รวมกัน ๕ ครั้ง ถือว่าเป็นประวัติที่ควรรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวิรญาณวโรรส ทรงถือว่าสังคายนาในลังกาทั้งสองครั้งเป็นเพียงสังคายนาเฉพาะประเทศ ไม่ควรจัดเป็นสังคายนาทั่วไป จึงทรงบันทึกพระมติไว้ในท้ายหนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๓
แต่ตามหนังสือสังคีติยวงศ์ หรือประวัติแห่งการสังคายนา ซึ่งสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนรจนาเป็นภาษาบาลีในรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่ครั้งเป็นพระพิมลธรรม ได้ลำดับความเป็นมาแห่งสังคายนาไว้ ๙ ครั้ง ดังต่อไปนี้
สังคายนาครั้งที่ ๑-๒-๓ ทำในประเทศอินเดียตรงกับที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น
สังคายนาครั้งที่ ๔-๕ ทำในลังกา คือครั้งที่ ๑ ที่ ๒ ที่ทำในลังกา ดังได้กล่าวแล้วในประวัติการสังคายนาของลังกา
สังคายนาครั้งที่ ๖ ทำในลังกาเมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ พระพุทธโฆสะได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถา คือคำอธิบายพระไตรปิฎก จากภาษาลังกาเป็นภาษาบาลี ในรัชสมัยของพระเจ้ามหานาม เนื่องจากการแปลอรรถกถาเป็นภาษาบาลีครั้งนี้ มิใช่การสังคายนาพระไตรปิฎก ทางลังกาเองจึงไม่ถือว่าเป็นการสังคายนา ตามแบบแผนที่นิยมกันว่า จะต้องมีการชำระพระไตรปิฎก
สังคายนาครั้งที่ ๗ ทำในลังกาเมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗ พระกัสสปเถระได้เป็นประธาน มีพระเถระร่วมด้วยกว่า ๑,๐๐๐ รูป ได้รจนาคำอธิบายอรรถกถาพระไตรปิฎก เป็นภาษาบาลี กล่าวคือแต่งตำราอธิบายคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งพระพุทธโฆสะได้ทำเป็นภาษาบาลีไว้ในการสังคายนาครั้งที่ ๖ คำอธิบายอรรถกถานี้ว่าตามสำนวนนักศึกษาก็คือ คัมภีร์ฎีกา ตัวพระไตรปิฎก เรียกว่าบาลี คำอธิบายพระไตรปิฎก เรียกว่า อรรถกถา คำอธิบายอรรถกถา เรียกว่า ฎีกา การทำสังคายนาครั้งนี้ เนื่องจากมิใช่สังคายนาพระไตรปิฎก แม้ทางลังกาเองก็ไม่รับรองว่าเป็นสังคายนา
อย่างไรก็ตาม ข้อความที่กล่าวได้ในหนังสือสังคีติยวงศ์ ก็นับว่าได้ประโยชน์ในการรู้ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา อย่างดียิ่ง
สังคายนาครั้งที่ ๘ ทำในประเทศไทย ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงไตรปิฎกหลายร้อยรูป ให้ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎก ในวัดโพธาราม เป็นเวลา ๑ ปี จึงสำเร็จสังคายนา ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ ๑ ในประเทศไทย
สังคายนาครั้งที่ ๙ ทำในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก ในครั้งนี้มีพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก ๓๒ คน ช่วยกันชำระพระไตรปิฎก แล้วจัดให้มีการจารึกลงในใบลาน สังคายนาครั้งนี้สำเร็จภายใน ๕ เดือน จัดว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย

ประวัติการสังคายนา ๙ ครั้งตามที่ปรากฏในหนังสือสังคีติยวงศ์ ซึ่งสมเด็จพระวันรัตรจนาไว้นี้ ภิกษุชินานันทะ ศาสตราจารย์ภาษาบาลี และพุทธศาสตร์แห่งสถาบันภาษาบาลีที่นาลันทาได้นำไปเล่าไว้เป็นภาษาอังกฤษ ในหนังสือ ๒๕๐๐ ปี แห่งพระพุทธศาสนาในอินเดีย ซึ่งพิมพ์ขึ้นในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในอินเดียด้วย

ความรู้เรื่องการชำระและการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวไทยโดยเฉพาะ ข้าพเจ้าจึงจะกล่าวถึงเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้กล่าวถึงเรื่องอื่น ๆ เสร็จแล้ว

การสังคายนาของฝ่ายมหายาน

การที่กล่าวถึงสังคายนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเป็นคนละสายกับฝ่ายเถรวาทไว้ในที่นี้ด้วย ก็เพื่อเป็นแนวศึกษาและประดับความรู้ เพราะพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท โดยเฉพาะสุตตันตปิฎก ได้มีคำแปลในภาษาจีน ซึ่งแสดงว่าฝ่ายมหายานได้มีเอกสารของฝ่ายเถรวาทอยู่ด้วย จึงควรจะได้สอบสวนดูว่า ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกนั้น ทางฝ่ายมหายานได้กล่าวถึงไว้อย่างไร

เมื่อกล่าวตามหนังสือพุทธประวัติ และประวัติสังฆมณฑลสมัยแรกตามฉบับของธิเบต ซึ่งชาวต่างประเทศได้แปลไว้เป็นภาษาอังกฤษ๓ ได้กล่าวถึงการสังคายนา ๒ ครั้ง คือครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ในอินเดีย ดังที่รู้กันอยู่ทั่วไป แต่จะเล่าไว้ในที่นี้ เฉพาะข้อที่น่าสังเกตคือ

ในสังคายนาครั้งที่ ๑ หลักฐานฝ่ายเถรวาท ว่าสังคายนาพระธรรมกับพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม จึงหมายถึงว่า พระอานนท์ได้วิสัชนาทั้งสุตตันตปิฎกและอภิธัมมปิฎก แต่ในฉบับของธิเบตกล่าวว่า พระมหากัสสปเป็นผู้วิสัชนาอภิธัมมปิฎก ส่วนพระอานนท์วิสัชนาสุตตันตปิฎก และพระอุบาลีวิสัชนาวินัยปิฎก กับได้กล่าวพิสดารออกไปอีกว่า สังคายนาสุตตันตปิฎกก่อน พอพระอานนท์เล่าเรื่องปฐมเทศนาจบ พระอัญญาโกณฑัญญะได้ยืนยันว่าถูกต้องแล้ว เป็นพระสูตรที่ท่านได้สดับมาเอง แม้เมื่อกล่าวสูตรที่ ๒ (อนัตตลักขณสูตร) จบ พระอัญญาโกณฑัญญะก็ให้คำรับรองเช่นกัน รายละเอียดอย่างอื่นที่เห็นว่าฟั่นเฝือ ได้งดไม่นำมากล่าวในที่นี้ มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในหนังสือที่อ้างถึงนี้ใช้คำว่า มาติกา(มาตฺริกา) แทนคำว่า อภิธัมมปิฎก

ในสังคายนาครั้งที่ ๒ ฉบับมหายานของธิเบตได้กล่าวคล้ายคลึงกับหลักฐานของฝ่ายเถรวาทมาก ทั้งได้ลงท้ายว่า ที่ประชุมได้ลงมติ ตำหนิข้อถือผิด ๑๐ ประการของภิกษุชาววัชชี อันแสดงว่าหลักฐานของฝ่ายมหายานกลับรับรองเรื่องนี้ ผู้แปล (คือ Rockhill) อ้างว่าได้สอบสวนฉบับของจีน ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ากล่าวถึงอะไร นอกจากขบลงด้วยการตำหนิข้อถือผิด ๑๐ ประการนั้น

ดร. นลินักษะ แห่งมหาวิทยาลัยกัลกัตตา อินเดีย ได้พยายามรวบรวมหลักฐานฝ่ายมหายานเกี่ยวด้วยสังคายนาครั้งที่ ๒ ไว้อย่างละเอียดเป็น ๓ รุ่น คือรุ่นแรก รุ่นกลางและรุ่นหลัง แม้รายละเอียดปลีกย่อยในหลักฐานนั้น ๆ จะมีต่างกันออกไปก็ตาม แต่ก็เป็นอันตกลงว่า ฝ่ายมหายานได้รับรองการสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ร่วมกัน๔

โดยเหตุที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมักจะมีอะไรต่ออะไรต่างออกไปจากของ เถรวาท เมื่อเกิดปัญหาว่า คัมภีร์เหล่านั้นมีมาอย่างไร ก็มักจะมีคำตอบว่า มีการสังคายนาของฝ่ายมหายาน คัมภีร์เหล่านั้นเกิดขึ้นจากผู้ที่สังคายนา ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้รู้ได้ฟังมาคนละสายกับฝ่ายเถรวาท

เมื่อตรวจสอบจากหนังสือของฝ่ายมหายาน แม้จะพบว่าสังคายนาผสมกับฝ่ายมหายานนั้น เกิดเมื่อสมัยพระเจ้ากนิษกะ ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓ ก็จริง แต่ข้ออ้างต่าง ๆ มักจะพาดพิงไปถึงสังคายนาครั้งที่ ๑ และที่ ๒ คือมีคณะสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่ง ทำสังคายนาแข่งขันอีกส่วนหนึ่ง คือ

๑. สังคายนาครั้งแรกที่พระมหากัสสปเป็นประธานนั้น กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ มีคำกล่าวของฝ่ายมหายานว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มิได้รับเลือกเป็นการกสงฆ์ (คือสงฆ์ผู้กระทำหน้าที่) ในปฐมสังคายนาซึ่งมีพระมหากัสสปเป็นประธาน ได้ประชุมกันทำสังคายนาขึ้นอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่าสังคายนานอกถ้ำ และโดยเหตุที่ภิกษุผู้ทำสังคายนานอกถ้ำมีจำนวนมาก จึงเรียกอีกอยางหนึ่งว่า สังคายนามหาสังฆิกะ คือของสงฆ์หมู่ใหญ่ เรื่องนี้ปรากฏในประวัติของหลวงจีนเฮี่ยนจัง ผู้เดินทางไปดูการพระพุทธศาสนาในอินเดีย ที่นางเคงเหลียน สีบุญเรือง แปลเป็นภาษาไทย หน้า ๑๖๙ และกล่าวด้วยว่า ในการสังคายนาครั้งนี้ แบ่งออกเป็น ๕ ปิฎก คือ พระสูตร, วินัย, อภิธรรม, ปกิณณกะ และธารณี

แต่หลักฐานของการสังคายนา "นอกถ้ำ" ครั้งที่ ๑ นี้น่าจะเป็นการกล่าวสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขนานกับการสังคายนาครั้งที่ ๒๕ หรือนัยหนึ่งเอาเหตุการณ์ในสังคายนาครั้งที่ ๒ ไปเป็นครั้งที่ ๑ คือ

๒. การสังคายนาของมหาสังฆิกะ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อภิกษุวัชชีบุตร ถือวินัยย่อหย่อน ๑๐ ประการ และพระยสะ กากัณฑกบุตร ได้ชักชวนคณะสงฆ์ในภาคต่าง ๆ มาร่วมกันทำสังคายนา ชำระมลทินโทษแห่งพระศาสนาวินิจฉัยชี้ว่า ข้อถือผิด ๑๐ ประการนั้น มีห้ามไว้ในพระวินัยอย่างไร แล้วได้ทำสังคายนา ในขณะเดียวกัน พวกภิกษุวัชชีบุตรซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ได้เรียกประชุมสงฆ์ถึง ๑๐,๐๐๐ รูป ทำสังคายนาของตนเองที่เมืองกุสุมปุระ (ปาตลีบุตร) ให้ชื่อว่ามหาสังคีติ คือมหาสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดนิกายมหาสังฆิกะ ซึ่งแม้จะยังไม่นับว่าเป็นมหายานโดยตรง แต่ก็นับได้ว่าเป็นเบื้องต้นแห่งการแตกแยกจากฝ่ายเถรวาท มาเป็นมหายานในกาลต่อมา การสังคายนาครั้งนี้ ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงของเดิมไปไม่น้อย หลักฐานของฝ่ายมหายานบางเล่มได้กล่าวถึงกำเนิดของนิกายมหาสังฆิกะ โดยไม่กล่าวถึงวัตถุ ๑๐ ประการก็มี แต่กล่าวว่า ข้อเสนอ ๕ ประการ ของมหาเทวะเกี่ยวกับพระอรหันต์ว่า ยังมิได้ดับกิเลสโดยสมบูรณ์ เป็นต้น เป็นเหตุให้เกิดการสังคายนาครั้งที่ ๒ แล้วพวกมหาสังฆิกะก็แยกออกมาทำสังคายนาของตน

การสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท

กายสังคายนาของพระเจ้ากนิษกะ ประมาณในปีพุทธศักราช ๖๔๓ (ค.ศ. ๑๐๐) พระเจ้ากนิษกะผู้มีอำนาจอยู่ในอินเดียภาคเหนือได้สนับสนุนให้มีการสังคายนา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นสังคายนาแบบผสม ณ เมืองชาลันธร หรือบางแห่งกล่าวว่า เมืองกาษมีระ

ในหนังสือจดหมายเหตุของหลวงจีนเฮี่ยนจัง เล่าว่า พระเจ้ากนิษกะหันมาสนใจพระพุทธศาสนา และตำรับตำราแห่งศาสนานี้ จึงให้อาราธนาพระภิกษุ ๑ รูปไปสอนทุก ๆ วัน และเนื่องจากภิกษุแต่ละรูปที่ไปสอนก็สอนต่าง ๆ กันออกไป บางครั้งก็ถึงกับขัดกัน พระเจ้ากนิษกะทรงลังเลไม่รู้จะฟังว่าองค์ไหนถูกต้อง จึงปรึกษาข้อความนี้กับพระเถระผู้มีนามว่า ปารสวะ ถามว่า คำสอนที่ถูกต้องนั้นคืออันใดกันแน่ พระเถระแนะนำให้แล้ว พระเจ้ากนิษกะจึงตกลงพระทัยจัดให้มีการสังคายนา ซึ่งมีภิกษุสงฆ์นิกายต่าง ๆ ได้รับอาราธนาให้มาเข้าประชุม พระเจ้ากนิษกะโปรดให้สร้างวัด เป็นที่พักพระสงฆ์ได้ ๕๐๐ รูป ผู้จะพึงเขียนคำอธิบายพระไตรปิฎก คำอธิบายหรืออรรถกถาสุตตันตปิฎก มี ๑๐๐,๐๐๐ โศลก, อรรถกถาวินัยปิฎก ๑๐๐,๐๐๐ โศลก และอรรถกถาอภิธรรมอันมีนามว่า อภิธรรมวิภาษา มีจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ โศลก ก็ได้แต่งขึ้นในสังคายนาครั้งนี้ด้วย เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว ก็ได้จารึกลงในแผ่นทองแดง เก็บไว้ในหีบศิลา แล้วบรรจุไว้ในเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะเพื่อการนี้อีกต่อหนึ่ง มีข้อสังเกต คือกำหนดกาลของสังคายนาครั้งนี้ ที่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายธิเบต กล่าวว่า กระทำในยุคหลังกว่าที่หลวงจีนเฮี่ยนจังกล่าวไว้ แต่เรื่อง พ.ศ. ที่เกี่ยวกับ เหตุการณ์ในพระพุทธศาสนา ก็มีข้อโต้แย้งผิดเพี้ยนกันอยู่มิใช่แห่งเดียว จึงเป็นข้อที่ควรจะได้พิจารณาสอบสวนในทางที่ควรต่อไป

การสังคายนาครั้งนี้ เป็นของนิกายสัพพัตถิกวาท ซึ่งแยกสาขาออกไปจากเถรวาท แต่ก็มีพระของฝ่ายมหายานร่วมอยู่ด้วย จึงเท่ากับเป็นสังคายนาผสม

สังคายนานอกประวัติศาสตร์

ยังมีสังคายนาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ และไม่ได้การรับรองทางวิชาการจากผู้ศึกษาค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา อาจถือได้ว่าเป็นความเชื่อถือปรัมปราของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานในจีนและ ญี่ปุ่น คือสังคายนาของพระโพธิสัตว์มัญชุศรี กับพระโพธิสัตว์ ไมเตรยะ (พระศรีอารย์) ทั้งนี้ ปรากฏตามหลักฐาน ในหนังสือประวัติศาสตร์ย่อแห่งพระพุทธศาสนา ๑๒ นิกาย ของ๖ ญี่ปุ่น หน้า ๕๑ ซึ่งไม่ได้บอกกาลเวลา สถานที่ และรายละเอียดไว้ ที่นำมากล่าวไว้ในที่นี้ พอเป็นเครื่องประดับความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกในที่มาต่าง ๆ เท่าที่จะค้นหามาได้

เป็นอันว่าได้กล่าวถึงการสังคายนา ทั้งของฝ่ายเถรวาทและของมหายานไว้ พอเป็นแนวทางให้ทราบความเป็นมาแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนา และโดยเฉพาะคัมภีร์พระไตรปิฎก ทั้งได้พยายามรวบรัดกล่าว เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นต้องแต่งประวัติศาสตร์ความเป็นมาแห่งพระพุทธ ศาสนาขนาดใหญ่ไว้ในที่นี้

๑. หลักฐานบางแห่งว่า พ.ศ. ๔๕๐
๒. ลังกานับเป็น ๒๔๐๙
๓. The Life of the Buddha and the Early History of His Order translated by W.W. Rodckhill from Tibetan Works In the BKAH-HGYUR and BSTANHGYUR.
๔. ผู้ต้องการหลักฐานละเอียดโปรดดู หนังสือ Early Monastic Buddhism เล่ม ๒ หน้า ๓๑ ถึง ๔๖
๕. หนังสือประวัติของหลวงจีนเฮี่ยนจัง เป็นนิพนธ์ของภิกษุฮุยลิบศิษย์ของท่าน ส่วนบันทึกเดินทางของหลวงจีนเฮี่ยนจังเอง มีอีกเล่มหนึ่งต่างหาก ซึ่งฉบับหลังนี้ ฝรั่งให้เกียรตินำไปอ้างอิงไว้ในหนังสือของตนมากมายด้วยกัน
๖. A Shory History of Twelve Japanese Buddhist Sicts by Bunyiu Bantio.


ลำดับอาจารย์ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก

ได้กล่าวไว้แล้วในสมัยที่ยังมิได้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลานนั้นใช้วิธี ท่องจำ และการท่องจำก็แบ่งหน้าที่กัน ตามใครจะสมัครเป็นผู้เชี่ยวชาญในส่วนไหนตอนไหนของพระไตรปิฎก เช่น คำว่า ทีฆภาณกะ แปลว่า ผู้สวดคัมภีร์ทีฆนิกาย (พระธรรมเทศนาหมวดยาว) มัชฉิมภาณกะ ผู้สวดคัมภีร์ มัชฌิมนิกาย (พระธรรมเทศนาขนาดปานกลาง) โดยนัยนี้จึงเป็นการแบ่งงานกันทำในการท่องจำพระไตรปิฎก และมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา มีศิษย์ของแต่ละสำนักท่องจำตามที่อาจารย์สั่งสอน เป็นทางให้เห็นความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก ด้วยประการฉะนี้

ในหนังสืออธิบายพระไตรปิฎก หรือที่เรียกว่าอรรถกถา ได้แสดงการสืบสายของอาจารย์ในแต่ละทาง คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก ที่เรียกว่าอาจริยปรัมปรา สายแห่งพระอาจารย์ ดังนี้

สายวินัยปิฎก๑

๑. พระอุบาลี ๒. พระทาสกะ

๓. พระโสณกะ ๔. พระสิคควะ

๕. พระโมคคลีบุตร ติสสะ

สายสุตตันตปิฎก

ไม่ได้มีระบุไว้ในอรรถกถา เป็นแต่ได้กล่าวถึงการมอบหน้าที่ในการท่องจำนำสืบ ๆ กันต่อไป ดังนี้๒

๑. มอบให้พระอานนท์ท่องจำสั่งสอนทีฆนิกาย

๒. มอบให้นิสิตทั้งหลายของพระสาริบุตรท่องจำมัชฉิมนิกาย

๓. มอบให้พระมหากัสสปท่องจำสังยุตตนิกาย

๔. มอบให้พระอานุรุทธ์ท่องจำอังคุตตรนิกาย ส่วนขุททกนิกายไม่ได้กล่าวไว้ว่ามอบเป็นหน้าที่ของใคร

สายอภิธัมมปิฎก๓

๑. พระสาริบุตร ๒. พระภัททชิ

๓. พระโสภิตะ ๔. พระปิยชาลี

๕. พระปิยปาละ ๖. พระปิยทัสสี

๗. พระโกสิยปุตตะ ๘. พระสิคควะ

๙. พระสันเทหะ ๑๐. พระโมคคลีบุตร

๑๑. พระติสสทัตตะ ๑๒. พระธัมมิยะ

๑๓. พระทาสกะ ๑๔. พระโสณกะ

๑๕. พระเรวตะ

ตามรายนามนี้ สืบต่อมาเพียงชั่ว ๒๓๕ ปีเท่านั้น ต่อจากนั้นยังมีรายนามอีกมาก ซึ่งนับแต่แผ่ศาสนาไปในลังกาแล้ว

๑. สมันตัปปาสาทิกา ภาค ๑ หน้า ๖๑ ครั้นแล้วได้กล่าวถึงชื่ออาจารย์ในรุ่นหลัง ตอนที่แผ่ศาสนาไปในลังกาแล้ว อีกเกือบ ๑๐๐ รูป
๒. สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๘
๓. อัฏฐสาลินี หน้า ๔๓


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ต.ค. 2010, 10:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย

ได้กล่าวไว้แล้วว่า ควรจะได้กล่าวเป็นพิเศษถึงการชำระการเขียน การพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย ให้ค่อนข้างละเอียดสักเล็กน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ ในการรู้เรื่องความเกี่ยวข้องของประเทศไทยที่มีต่อพระไตรปิฎก ซึ่งในที่นี้จะได้แบ่งเป็น ๔ สมัย ดังนี้

สมัยที่ ๑ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่เมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐

สมัยที่ ๒ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๓๑

สมัยที่ ๓ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖

สมัยที่ ๔ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๓

สมัยที่ ๑ พระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่

ความจริงสมัยนั้น เมืองเชียงใหม่เป็นอิสระ และถือได้ว่าภูมิภาคแถบนั้นเป็นประเทศลานนาไทย แต่เมื่อรวมกันเป็นประเทศไทยในภายหลัง ก็ควรจะได้กล่าวถึงการชำระพระ ไตรปิฎก และการจารลงในใบลาน

พระเจ้าติโลกราชผู้นี้ มีเรื่องกล่าวถึงไว้ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์สั้น ๆ ว่า สร้างพระพุทธรูป ในจุลศักราช ๘๔๕ ในหนังสือสังคีติยวงศ์เล่าเรื่องสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตรงกับหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ แต่มีเล่า เรื่องสังคายนาพระไตรปิฎกด้วย พระเจ้าติโลกราชได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูป มีพระธรรมทินเถระเป็นประธาน ให้ชำระอักษรพระไตรปิฎกในวัดโพธาราม ๑ ปีจึงสำเร็จ เมื่อทำการฉลองสมโภชแล้ว ก็ได้ให้สร้างมณเฑียรในวัดโพธาราม เพื่อประดิษฐาน พระไตรปิฎก

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ตัวอักษรที่ใช้ในการจารึกพระไตรปิฎกในครั้งนั้น คงเป็นอักษรแบบไทยลานนา คล้ายอักษรพม่า มีผิดเพี้ยนกันบ้าง และพอเดาออกเป็นบางตัว

สมัยที่ ๒ รัชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ

เรื่องสังคายนาพระไตรปิฎกโดยพิสดาร ในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีปรากฏในหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และคำประกาศเทวดาครั้งสังคายนาปีวอก สัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๓๑ รัชกาลที่ ๑ (หนังสือประกาศการพระราชพิธี) ซึ่งเก็บใจความได้ดังนี้

ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสละพระราชทรัพย์จ้างช่างจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน และให้ชำระและแปลฉบับอักษรลาว อักษรรามัญ เป็นอักษรขอม สร้างใส่ตู้ไว้ในหอมนเทียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ไว้ทุกพระอาราม หลวง มีผู้กราบทูลว่า ฉบับพระไตรปิฎก และอรรถกถาฎีกาที่มีอยู่ ผิดเพี้ยนวิปลาสเป็นอันมาก ผู้ที่รู้พระไตรปิฎกก็มีน้อยท่าน ควรจะได้หาทางชำระให้ถูกต้องจึงทรงอาราธนาพระสังฆราช พระราชาคณะ ฐานานุกรมเปรียญ ๑๐๐ รูปมาฉัน ตรัสถามว่า พระไตรปิฎกผิดพลาดมากน้อยเพียงไร สมเด็จพระสังฆราชพร้อมด้วยพระราชาคณะถวายพระให้ทรงทราบว่า มีผิดพลาดมาก แล้วเล่าประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก ๘ ครั้งที่ล่วงมาแล้ว เมื่อทรงทราบดั่งนี้ จึงอาราธนาให้พระสงฆ์ดำเนินการสังคายนาชำระพระไตรปิฎก ซึ่งเลือกได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป ราชบัณฑิตอุบาสก ๓๒ คน (แต่ตามประกาศเทวดาว่า พระสงฆ์ ๒๑๙ รูป ราชบัณฑิตอุบาสก ๓๐ คน) กระทำ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (คือวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษดิ์ในปัจจุบัน) แบ่งงานออกเป็น ๔ กอง สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระสุตตันตปิฎก พระวันรัตเป็นแม่กองชำระวินัยปิฎก พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระอภิธัมมปิฎก พระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระสัททาวิเศษ (ตำราไวยากรณ์และอธิบายศัพท์ต่าง ๆ) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาเสด็จไป ณ พระอารามทุกวัน ๆ ละ ๒ ครั้ง เวลา เช้าทรงประเคนสำรับอาหาร เวลาเย็นทรงถวายน้ำอัฐบาน (น้ำผลไม้คั้น) และเทียนทุกวัน เป็นอยางนี้สิ้นเวลา ๕ เดือนจึงเสร็จ แล้วได้จ้างช่างจารจารึกลงในใบลาน ให้ปิดทองแท่งทับทั้งใบปกหน้าหลัง และกรอบทั้งสิ้น เรียกว่าฉบับทองห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหม แพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก และฉลากทอเป็นตัวอักษร บอกชื่อพระคัมภีร์ทุกคัมภีร์

เมื่อพิจารณาจากการที่พระมหากษัตริย์ทรงอุตสาหะ เสด็จพระราชดำเนินไปให้กำลังใจแก่พระเถระและราชบัณฑิตผู้ชำระพระไตรปิฎก ถึงวันละ ๒ เวลาแล้ว ก็ควรจะถือได้ว่าเป็นพระราชจริยาอันดียิ่ง มีคุณค่าในการถนอมรักษาตำราทางพระพุทธศาสนาไว้ด้วยดี

แต่การสังคายนาครั้งนี้ ผู้ทรงความรู้รุ่นหลัง มักจะพูดล้อว่าเป็นการสังคายนา แต้มหัวตะ เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงไว้ในพระราชวิจารณ์เทียบลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายหีนยาน (เถรวาท) กับมหายาน หน้า ๑๓ โดยเล็งไปถึงว่าไม่ได้ทำอะไรมาก นอกจากแก้ไขตัวหนังสือที่ผิด คำว่า แต้มหัวตะ หมายความว่า อักษร ค กับอักษร ต เมื่อเขียนด้วยอักษรขอม มีลักษณะใกล้เคียงกัน ถ้าจะให้ชัดเจนเวลาเขียนตัว ต จะต้องมีขมวดหัว การสอบทานเห็นตัวไหนไม่ชัดก็เติมขมวดหัวเสียให้ชัด

แต่ข้าพเจ้าเองมิได้เห็นว่า การชำระพระไตรปิฎกในรัชกาลที่ ๑ เป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะมิได้ติดใจถ้อยคำที่ว่า สังคายนา จะต้องเป็นเรื่องปราบเสี้ยนหนามทุกครั้งไป สังคายนาครั้งที่ ๑ ก็ไม่ใช่มีเสี้ยนหนามอะไรมาก เพียงภิกษุสูงอายุรูปหนึ่งพูดไม่ดีเท่านั้น ข้อสำคัญอยู่ที่การจัดระเบียบหรือถนอมรักษาพระพุทธวจนะ ให้ดำรงอยู่ก็พอแล้ว ข้อปรารภของรัชกาลที่ ๑ ที่ว่า พระไตรปิฎกมีอักษรผิดพลาดตกหล่นมาก จึงควรชำระให้ดี นี้เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะดำเนินงานได้ เพราะถ้าไม่ได้พระบรมราชูปถัมภ์งานนี้ก็คงสำเร็จได้โดยยาก จะเรียกว่า สังคายนาหรือไม่ ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ได้แก้ไขฉบับพระไตรปิฎกให้ดีขึ้นก็เป็นที่พอใจแล้ว เพราะแม้การสังคายนาครั้งที่ ๑-๒-๓ ถ้าจะถือว่า มีการสังคายนาคนเกี่ยวข้องด้วยทุกครั้ง แต่ในที่สุดก็ไม่พ้นสังคายนาพระธรรมวินัย จัดระเบียบพระพุทธวจนะ โดยเฉพาะการสังคายนาครั้งแรกก็เพียงปรารภถ้อยคำของสุภัททภิกษุเท่านั้น มิใช่สังคายนาคนหรือต้องชำระสะสางความผิดของใคร ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอบันทึกพระคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ในที่ด้วยคารวะอย่างยิ่ง

สมัยที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพ ฯ

หลักฐานเรื่องการพิมพ์พระไตรปิฎก ซึ่งเดิมเขียนเป็นตัวอักษรขอมอยู่ในคัมภีร์ใบลาน ให้เป็นเล่มหนังสือขึ้นนี้ มีในหนังสือชุมนุมกฏหมายในรัชกาลที่ ๕ (หลวงรัตนาญัปติ์เป็นผู้รวบรวมพิมพ์) หน้า ๘๓๙ ว่าด้วยลักษณะบำรุงพระพุทธศาสนาในหัวข้อว่า การศาสนูปถัมภ์ คือการพิมพ์พระไตรปิฎก ประกาศการสังคายนา และพระราชดำรัสแก่พระสงฆ์โดยพระองค์ ซึ่งได้พิมพ์ไว้ ส่วนหนึ่งในภาคผนวกแล้ว

สาระสำคัญที่ได้กระทำ คือคัดลอกตัวขอมในคัมภีร์ใบลานเป็นตัวไทยแล้วชำระแก้ไข และพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือรวม ๓๙ เล่ม (เดิมกะว่าจะถึง ๔๐ เล่ม) มีการประกาศการสังคายนา แต่เพราะเหตุที่ถือกันว่า การสังคายนาควรจะต้องมีการชำระสะสางหรือทำลายเสี้ยนหนามพระศาสนา เพียงพิมพ์หนังสือเฉย ๆ คนจึงไม่นิยมถือว่าเป็นการสังคายนา แต่ได้กล่าวไว้แล้วว่า จะเรียกว่า สังคายนา หรือไม่ ไม่สำคัญ ขอให้ได้มีการตรวจสอบ จารึกหรือจัดพิมพ์พระไตรปิฎกให้เป็นเล่มรักษาไว้เป็นหลักฐาน ก็นับว่าเป็นกิจอันควรสรรเสริญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำให้พระพุทธวจนะดำรงอยู่เป็นหลักแห่งการศึกษาและปฏิบัติตลอดไป

มีข้อน่าสังเกตในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งแรกในประเทศไทย ครั้งนี้ที่ขอเสนอไว้เป็นข้อ ๆ คือ

๑. การชำระ และจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๓๑ สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มด้วยอักษรไทย เป็นการฉลองการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติมาครบ ๒๕ ปี

๒. เป็นการสละพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เทียบกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นการสละพระราชทรัพย์ และทรัพย์ร่วมกันของพระมหากษัตริย์กับประชาชน)

๓. ในการพิมพ์ครั้งแรกนี้ พิมพ์ได้ ๓๙ เล่มชุด ยังขาดหายไปมิได้พิมพ์อีก ๖ เล่ม และได้พิมพ์เพิ่มเติมในรัชกาลที่ ๗ จนครบ ฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๗ รวม ๔๕ เล่ม จึงนับว่าสมบูรณ์ เป็นการช่วยเพิ่มเติมเล่มที่ขาดหายไปคือ (๑) เล่ม ๒๖ วิมานวุตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา (๒) เล่ม ๒๗ ชาดาก (๓) เล่ม ๒๘ ชาดก (๔) เล่ม ๓๒ อปทาน (๕) เล่ม ๓๓ อปทาน พุทธวงศ์ จริยาปิฎก (๖) เล่ม ๔๑ อนุโลมติกปัฏฐานภาค ๒ และ (๗) ปัจจนียปัฏฐาน อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน นอกจากนั้นยังได้เพิ่มเติมท้ายเล่ม ๔๔ ที่ขาดหายไป ครึ่งหนึ่ง คือ นุโลมติกติกปัฏฐานและอนุโลมทุกทุกปัฏฐานให้สมบูรณ์ด้วย ตามจำนวนดังกล่าวนี้ เมื่อคิดเป็นเล่มจึงมีหนังสือขาดหายไป ต้องพิมพ์เพิ่มเติมใหม่ถึง ๗ เล่ม แต่เพราะเหตุที่ฉบับพิมพ์ในครั้งรัชกาลที่ ๕ แยกคัมภีร์ยมกแห่งอภิธัมมปิฎกออกเป็น ๓ เล่ม ส่วนในการพิมพ์ครั้งหลัง รวมเป็นเพียง ๒ เล่ม จำนวนเล่มที่ขาดหายจึงเป็นเพียง ๖ เล่ม คือ ฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ มี ๓๙ เล่ม ฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๗ มี ๔๕ เล่ม ด้วยประการฉะนี้

อย่างไรก็ดี การพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือนี้ แม้ในขั้นแรกจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าทางพระพุทธศาสนาสะดวกยิ่งขึ้น เป็นการวางรากฐานอย่างสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เป็นพระราชกรณียกิจอันควรสรรเสริญยิ่งแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว

สมัยที่ ๔ รัชกาลที่ ๗ กรุงเทพ ฯ

หลักฐานเรื่องนี้ในหนังสือรายงานการสร้างพระไตรปิฎกสยามรัฐ ซึ่งพิมพ์ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แสดงรายละเอียดการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๓

มีข้อที่พึงกล่าวเกี่ยวกับการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้ คือ

๑. ได้ใช้เครื่องหมายและอักขรวิธีตามแบบของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงคิดขึ้นใหม่ แม้การจัดพิมพ์จะกระทำในสมัยที่พระองค์ท่านสิ้นพระชนม์แล้ว

๒. พิมพ์ ๑,๕๐๐ จบ พระราชทานในพระราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ พระราชทานในนานาประเทศ ๔๕๐ จบ เหลืออีก ๘๕๐ จบ พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก

๓. การพิมพ์พระไตรปิฎกในครั้งนี้ นับว่าได้เพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ให้สมบูรณ์ โดยใช้ฉบับลานของหลวง (เข้าใจว่าฉบับนี้สืบเนื่องมาจากรัชกาลที่ ๑) คัดลอกแล้วพิมพ์เพิ่มเติมจากส่วนที่ยังขาดอยู่

๔. ผลของการที่ส่งพระไตรปิฎกไปต่างประเทศ ทำให้มีผู้พยายามอ่านอักษรไทย เพื่อสามารถอ่านพระไตรปิฎกฉบับไทยได้ และได้มีผู้บันทึกสดุดีไว้ เช่น พระนยานติโลกเถระ ชาวเยอรมัน ผู้อุปสมบทประจำอยู่ ณ ประเทศลังกา ได้ชมเชยไว้ในหนังสือ Guide through the Abhidhamma-Pitaka ว่า ฉบับพระไตรปิฎกของไทยสมบูรณ์กว่าฉบับพิมพ์ด้วยอักษรโรมันของสมาคมบาลีปกรณ์ ในอังกฤษเป็นอันมาก

๕. ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้ทำอนุกรมต่าง ๆ ไว้ท้ายเล่มเพื่อสะดวกในการค้น แม้จะไม่สมบูรณ์ แต่ก็มีประโยชน์มาก และเป็นแนวทางให้ชำระเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ต่อไป

เป็นอันว่าท่านผู้อ่านได้ทราบความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกตั้งแต่ต้นจนถึงพิมพ์ เป็นเล่มแล้ว ต่อไปจะได้กล่าวถึงวิธีจัดระเบียบและการจัดประเภทในแต่ละปิฎกเพื่อสะดวกใน การกำหนดจดจำ ซึ่งได้มีการริเริ่มมาแต่การสังคายนาครั้งที่ ๑ และได้เพิ่มเติมในการจัดระเบียบในสมัยต่อ ๆ มา


ลักษณะการจัดหมวดหมู่ของแต่ละปิฎก

ได้กล่าวแล้วว่า พระไตรปิฎกนั้น แบ่งออกเป็นวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก โดยลำดับ พระโบราณาจารย์ฝ่ายไทยได้ใช้วิธีย่อหัวข้อสำคัญในแต่ละปิฎก เพื่อจำง่ายเป็นอักษรย่อ ในการใช้อักษรย่อนั้น วินัยปิฎกมี ๕ คำ สุตตันตปิฎก ๕ คำ อภิธัมมปิฎก ๗ ดังต่อไปนี้

วินัยปิฎก

อักษรย่อในปิฎกอื่น ๆ ไม่มีปัญหา คงมีปัญหาเฉพาะวินัยปิฎก คือ อา, ปา, ม, จุ, ป อา = อาทิกัมม์ ( การกระทำที่เป็นต้นบัญญัติ ) หมายเฉพาะรายการพระวินัย ตั้งแต่อาบัติปาราชิกลงมาถึงสังฆาทิเสส, ปา = ปาจิตตีย์ เป็นชื่อของอาบัติในปาฏิโมกข์ เฉพาะตั้งแต่ถัด สังฆาทิเสสลงมา ทั้งสองหัวข้อนี้เป็นการย่ออย่างจับความมากกว่าย่อตามชื่อหมวดหมู่ จึงไม่ตรงกับชื่อที่ใช้เป็นทางการในวินัยปิฎก ส่วนอีก ๓ ข้อท้ายตรงตามชื่อหมวดหมู่ ฉะนั้น ถ้าจะจัดตามชื่อ จึงควรเป็นดังนี้

๑. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยศีลของภิกษุที่มาในปาฏิโมกข์ ( คำว่า ปาฏิโมกข์ คือศีลที่เป็นใหญ่เป็นสำคัญอันจะต้องสวดทบทวนในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน)

๒. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยศีลของภิกษุณี

๓. ม = มหาวัคค์ แปลว่า วรรคใหญ่ แบ่งออกเป็นขันธกะ คือหมวดต่าง ๆ ๑๐ หมวด

๔. จุ = จุลลวัคค์ แปลว่า วรรคเล็ก แบ่งออกเป็นขันธกะ คือหมวดต่าง ๆ ๑๒ หมวด

๕. ป = ปริวาร หมายถึงหัวข้อเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เป็นการย่อหัวข้อสรุปเนื้อความ วินัยฉัยปัญญาใน ๔ เรื่องข้างต้น

แต่ความเข้าใจของชาวอังกฤษที่ตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ขึ้นพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศอังกฤษเขาแบ่งวินัยปิฎกออกเป็น ๓ ส่วน คือ

๑ . สุตตวิภังค์ หมายรวมทั้งศีลของภิกษุและภิกษุณี

๒. ขันธกะ หมายรวมทั้งมหาวัคค์และจุลลวัคค์

๓. ปริวาร คือหัวข้อเบ็ดเตล็ด

ปัญหาเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้เกิดการผิดพลาดหรือบกพร่องในวินัยปิฎกแต่ละประการใด ต้นฉบับก็ตรงกัน เป็นแต่การเรียกชื่อหัวข้อ หรือวิธีแบ่งหัวข้อต่างกันออกไปเท่านั้น

ในหนังสืออรรถกถาวินัย ( สมันตัปปาสาทิกาภาค ๑ หน้า ๑๗ ) พระอรรถกถาจารย์จัดหัวข้อย่อวินัยปิฎกไว้ว่า ชื่อวินัยปิฎก คือ “ ปาฏิโมกข์ ๒ ( ภิกขุปาฏิโมกข์ ภิกขุนีปาฏิโมกข์ ) วิภังค์ ๒ ( มหาวิภังค์หรือภิกขุวิภังค์กับภิกขุนีวิภังค์) ขันธกะ ๒๒ ( รวมทั้งในมหาวัคค์และจุลลวัคค์ ) และบริวาร ๑๖ ” เรื่องเหล่านี้คงเป็น ปัญหาในการเรียกชื่อหมวดหมู่ตามเคย ถ้ารู้ความหมายแล้วจะท่องจำหัวข้อย่อ ๆ แบบไทยว่า อา, ปา, ม, จุ, ป ก็คงได้ประโยชน์เท่ากัน อนึ่ง ท่านผู้อ่านจะเข้าใจยิ่งขึ้นเมื่ออ่านถึงภาค ๓ อันว่าด้วยความย่อแห่งพระไตรปิฎก เพราะจะได้เห็นหัวข้อที่แบ่งออกไปเป็นหมวดหมู่รอง ๆ ลงไปหมวดใหญ่อย่างชัดเจน

สุตตันตปิฎก

หัวข้อย่อแห่งสุตตันตปิฎกมี คือ ที , ม, สัง, อัง, ขุ ดังต่อไปนี้

๑ . ที = ทีฆนิกาย แปลว่า หมวดยาว หมายถึงหมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดยาวไว้ส่วนหนึ่งไม่ปนกับพระสูตรประเภทอื่น ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๓๔ สูตร

๒. ม = มัชฌิมนิกาย แปลว่า หมวดปานกลาง หมายถึงหมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดกลางไม่สั้นเกินไป ไม่ยาวเกินไปไว้ส่วนหนึ่ง ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๑๕๒ สูตร

๓. สัง= สังยุตตนิกาย แปลว่า หมวดประมวล คือประมวลเรื่องประเภทเดียวกันไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น เรื่องพระมหากัสสป เรียกกัสสปสังยุต เรื่องอินทรีย์ ( ธรรมะที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน) เรียกอินทริยสังยุต เรื่องมรรค ( ข้อปฏิบัติ ) เรียกมัคคสังยุต ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๗,๗๖๒ สูตร ๑

๔. อัง = อังคุตตรนิกาย แปลว่า หมวดยิ่งด้วยองค์ คือจัดลำดับธรรมะไว้เป็นหมวด ๆ ตามลำดับตัวเลข เช่น หมวดธรรมะข้อเดียว เรียกเอกนิบาต หมวดธรรมะ ๒ ข้อ เรียกทุกนิบาต หมวดธรรมะ ๓ ข้อ เรียกติกนิบาต ดังนี้เป็นต้น จนถึงหมวดธรรมะ ๑๐ ข้อ เรียกทสกนิบาต หมวดธรรมะเกิน ๑๐ ข้อ เรียก อติเรกทสกนิบาต ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น ๙,๕๕๗ สูตร ๑

๕. ขุ = ขุททกนิกาย แปลว่า หมวดเล็กน้อย รวบรวมข้อธรรมที่ไม่จัดเข้าใน ๔ หมวดข้างต้นมารวมไว้ในหมวดนี้ทั้งหมด เมื่อจะแบ่งโดยหัวใหญ่ก็มี ๑๕ เรื่อง คือ

๑. ขุททกปาฐะ แปลว่า บทสวดเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยมากเป็นบทสวดสั้น ๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

๒. ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม คือธรรมภาษิตสั้น ๆ ประมาณ ๓๐๐ หัวข้อ ( ส่วนเรื่องพิสดารมีท้องเรื่องประกอบปรากฏในอรรถกถา)

๓. อุทาน แปลว่า คำที่เปล่งออกมา หมายถึงคำอุทานที่เป็นธรรมภาศิต มีท้องเรื่องประกอบเป็นเหตุปรารภในการเปล่งอุทานของพระพุทธเจ้า

๔. อิติวุตตกะ แปลว่า “ ข้อความที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้” เป็นการอ้างอิงว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสข้อความไว้อย่างนี้ ไม่มีเรื่องประกอบ มีแต่ที่ขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้ยินมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ตรัสไว้อย่างนี้

๕. สุตตนิบาต แปลว่า รวมพระสูตร คือรวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน มีชื่อสูตรบอกกำกับไว้

๖. วิมานวัตถุ แปล่า เรื่องของผู้ได้วิมาน แสดงเหตุดีที่ให้ได้ผลดีตามคำบอกเล่าของผู้ได้ผลดีนั้น ๆ

๗. เปตวัตถุ แปลว่า เรื่องของเปรตหรือผู้ล่วงลับไป ที่ทำกรรมชั่วไว้

๘. เถรคาถา ภาษิตต่าง ๆ ของพระเถระผู้เป็นอรหันตสาวก

๙. เถรีคาถา ภาษิตต่าง ๆ ของพระเถรีผู้เป็นอรหันตสาวิกา

๑๐. ชาดก แสดงภาษิตต่าง ๆ เกี่ยวโยงกับคำสอนประเภทเล่านิทาน ( ท้องเรื่องพิสดารมีในอรรถกถา เช่นเดียวกับธรรมบท)

๑๑. นิทเทส แบ่งออกเป็นมหานิทเทสกับจูฬนิทเทส คือมหานิทเทสเป็นคำอธิบายพระพุทธภาษิตในสุตตนิบาต ( หมายเลข ๕ ) รวม ๑๖ สูตร ส่วนจูฬนิทเทส เป็นคำอธิบายพระพุทธภาษิตในสุตตนิบาต ( หมายเลข ๕ ) ว่าด้วยปัญหาของมาณพ ๑๖ คน กับ ขุคควิสาณสูตร กล่าวกันว่าเป็นภาษิตของพระสารีบุตรเถรเจ้า

๑๒. ปฏิสัมภิทามัคค์ แปลว่า ทางแห่งปัญญาอันแตกฉาน เป็นคำอธิบายหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งกล่าวกันว่าพระสารีบุตรเถระเจ้าได้กล่าวไว้

๑๓. อปทาน แปลว่า คำอ้างอิง เป็นประวัติส่วนตัวที่แต่ละท่านเล่าไว้ ซึ่งอาจแบ่งได้ คือเป็นอดีตประวัติของพระพุทธเจ้า ของพระเถระอรหันตสาวก ของพระเถรีอรหันตสาวิกา ส่วนที่เป็นประวัติการทำความดีของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น มีคำอธิบายว่า เป็นพุทธภาษิตตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟัง

๑๔. พุทธวังส แปลว่า วงศ์ของพระพุทธเจ้า หลักการใหญ่เป็นการแสดงประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ องค์ รวมทั้งของพระโคตมพุทธเจ้าด้วยจึงเป็น ๒๕ องค์ นอกจากนั้นมีเรื่องเบ็ดเตล็ดแทรกเล็กน้อย

๑๕. จริยาปิฎก แปลว่า คัมภีร์แสดงจริยา คือการบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งแบ่งหลักใหญ่ออกเป็นทาน ( การให้) ศีล ( การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย) และเนกขัมมะ ( การออกบวช )

ข้อสังเกตท้ายสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎกซึ่งเเบ่งออกเป็น ๕ นิกายดังกล่าวมาแล้ว คือทีฆนิกายจนถึงขุททกนิกายนั้น บางครั้งพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า ๕ นิกายนี้แหละ จะเรียกว่าประมวลได้ครบทั้งสามปิฎกก็ได้ คือถือว่านอกจากพระพุทธวจนะที่อยู่ใน ๔ นิกายข้างต้นแล้ว พระพุทธวจนะที่เหลือจัดเข้าในขุททกนิกาย คือหมวดเบ็ดเตล็ดทั้งหมด คือทั้งวินัยปิฎกและอภิธรรมปิฎก จัดเข้าในขุททกนิกายทั้งสิ้น คำว่า นิกายนี้ ในที่บางแห่งใช้คำว่า อาคม แทนพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทที่ปรากฏแปลในฉบับจีน ชาวจีนใช้คำว่า อาคม หมายรวมแทนพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท

อภิธัมมปิฎก

หัวข้อย่อแห่งอภิธัมมปิฎกมี ๗ คือ สัง, วิ, ธา, ปุ, ก, ย, ป, ดังต่อไปนี้

๑. สัง = สังคณี ว่าด้วยการรวมหมู่ธรรมะ คือธรรมะแม้จะมีมากเท่าไร ก็อาจรวมหรือจัดเป็นประเภท ๆ ได้เพียงไม่เกิน ๓ อย่าง

๒. วิ = วิภังค์ ว่า ด้วยการแยกธรรมะออกเป็นข้อ ๆ เช่น เป็นขันธ์ ๕ เป็น เป็นต้น ทั้งสังคณีและวิภังค์นี้ เทียบด้วยคำว่าสังเคราะห์ ( Synthesis ) และวิเคราะห์ ( Analysis ) ในวิทยาศาสตร์ เป็นแต่เนื้อหาในทางศาสนากับทางวิทยาศาสตร์ มุ่งไปคนละทาง คงลงกันได้ในหลักการว่า ควรเรียนรู้ทั้งในทางรวมกลุ่มและแยกกลุ่ม เช่น รถคันหนึ่งควรรู้ทั้งการประกอบเข้าเป็นคันรถ และแยกส่วนต่าง ๆ ออกฉะนั้น

๓. ธา = ธาตุถกา ว่าด้วยธาตุ คือธรรมะทุกอย่าง อาจจัดเป็นประเภทได้โดย ธาตุ อย่างไร

๔. ปุ = ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ประการ เช่น บัญญัติขันธ์ บัญญัติอายตนะ จนถึงบัญญัติเรื่องบุคคล พร้อมทั้งแจกรายละเอียดเรื่องบัญญัติบุคคลต่าง ๆ ออกไป

๕. ก = กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถาม คำตอบ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา (เพราะอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เป็นคำถาม ๕๐๐ คำตอบ ๕๐๐ แต่ตัวเลข ๕๐๐ นี้ อาจหมายเพียงว่าหลายร้อย เพราะเท่าที่นับกันดูแล้ว ได้คำถาม คำตอบ อย่างละ ๒๑๙ ช้อ)

๖. ย = ยมก ว่าด้วยธรรมเป็นคู่ ๆ บางทีจัดคู่ก็มีลักษณะเป็นตรรกวิทยา ซึ่งจะได้กล่าวถึงใน ๓ ภาค ย่อความแห่งพระไตรปิฎก

๗. ป = ปัฏฐาน ว่าด้วยปัจจัย คือสนับสนุน ๒๔ ประการ

เป็นอันว่า หัวใจย่อแห่งพระไตรปิฎก คือ อา ปา ม จุ ป ที ม สัง อัง ขุ สัง วิ ธา ปุ ก ย ป มีรายละเอียดดังกล่าวมานี้

ลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

แม้ว่าพระไตรปิฎกจะนับว่าเป็นคัมภีร์สำคัญ และเป็นหลักฐานทางพระพุทธศาสนา แต่ก็มีคัมภีร์อื่นอีกที่เกี่ยวข้องด้วย จึงควรทราบลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไว้ดังต่อไปนี้

๑. พระไตรปิฎก เป็นหลักฐานขั้น ๑ เรียกว่าบาลี

๒. คำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานขั้น ๒ เรียกว่าอรรถกถา หรือวัณณนา

๓. คำอธิบายอรรกถา เป็นหลักชั้น ๓ เรียกว่าฎีกา

๔. คำอธิบายฎีกา เป็นหลักฐานชั้น ๔ เรียกว่าอนุฎีกา

นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ที่แต่งขึ้น ว่าด้วยไวยกรณ์ภาษาบาลีฉบับต่าง ๆ และอธิบายศัพย์ต่าง ๆ เรียกรวมกันว่า สัททาวิเสส เป็นสำนวนที่เรียกกันในวงการนักศึกษาฝ่ายไทย ปรากฏในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อทำการสังคายนา ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๓๑ เพื่อชำระพระไตรปิฎกนั้น ได้มีการชำระคัมภีร์สัททวิเสสต่าง ๆ ด้วย โดยมีพระพุฒาจารย์เป็นแม่กอง

การจัดชั้นของบาลีอรรถกถา ก็เนื่องด้วยกาลเวลานั้นเอง พระไตรปิฎกเป็นของมีมาก่อน ก็จัดเป็นหลักฐานชั้น ๑ คำอธิบายพระไตรปิฎกแต่งขึ้นประมาณ ๙๕๖ ปีภายหลังพุทธปรินิพพาน จึงจัดเป็นชั้น ๒ ส่วนฎีกานั้น แต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๘๗ จึงนับเป็นหลักฐานชั้น ๓ อนึ่ง คัมภีร์อนุฎีกานั้น แต่งขึ้นภายหลังฎีกาในยุคต่อ ๆ มา เป็นคำอธิบายฎีกาอีกต่อหนึ่ง จึงนับเป็นหลักฐานชั้น ๔

อย่างไรก็ตาม แม้พระไตรปิฎกจะเป็นหลักฐานชั้น ๑ เมื่อพิจารณาตามหลักพระพุทธภาษิตในกาลามสูตร ท่านก็ไม่ให้ติดจนเกินไป ดังคำว่า มา ปิฎกสมฺปทาเนน อย่าถือโดยอ้างตำรา เพราะอาจมีผิดพลาดตกหล่นหรือบางตอนอาจเพิ่มเติมขึ้น แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล สอบสวนดูให้ประจักษ์แก่ใจตนเอง เป็นการสอนอย่างมีน้ำใจกว้างขวางและให้เสรีภาพแก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังเป็นการยืนยันให้นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อได้ประจักษ์ผลนั้น ๆ ด้วยตนเอง แม้จะมีพระพุทธภาษิตเตือนไว้มิให้ติดตำราจนเกินไป แต่ก็จำเป็นต้องรักษาตำราไว้ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา เพราะถ้าไม่มีตำราเลยจะยิ่งซ้ำร้าย เพราะจะไม่มีแนวทางให้รู้จักพระพุทธศาสนาเลย ฉะนั้น การศึกษาให้รู้และเข้าใจในพระไตรปิฎก จึงเป็นลำดับแรก เรียกว่า ปริยัติ การลงมือกระทำตามโดยควรแก่จริตอัธยาศัยเรียกว่า ปฏิบัติ การได้รับผลแห่งการปฏิบัตินั้น ๆ เรียกว่า ปฎิเวธ

คำอธิบายพระไตรปิฎกอย่างย่อ ๆ ของอรรถกถาจารย์

ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วว่า คำอธิบายพระไตรปิฎก เรียกว่า อรรถกถา จึงควรทราบต่อไปว่า ท่านผู้แต่งตำราอรรถกถานั้น เรียกว่า พระอรรถกถาจารย์ เฉพาะคำว่า พระไตรปิฎกนี้ มีคำอธิบายย่อ ๆ ของพระอรรถกถาจารย์ไว้ ดังจะนำมากล่าวต่อไปนี้ ๒ :-

๑.

๑. วินัยปิฎก เป็น อาณาเทศนา คือการแสดงธรรมในลักษณะตั้งเป็นข้อบังคับโดยส่วนใหญ่
๒ . สุตตันตปิฎก เป็น โวหารเทศนา คือการแสดงธรรมยักย้ายสำนวนให้เหมาะสมแก่จริตอัธยาศัยของผู้ฟัง
๓. อภิธัมมปิฎก เป็น ปรมัตตถเทศนา คือการแสดงธรรมเจาะจงเฉพาะประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งเป็นธรรมะชั้นสูงไม่เกี่ยวด้วยท้องเรื่องหรือโวหาร

๒.

๑. วินัยปิฎก เป็น ยถาปราธสาสนะ คือการสอนตามความผิด หรือโทษชนิดต่าง ๆ ที่พึงเว้น
๒. สุตตันตปิฎก เป็น ยถานุโลมสาสนะ คือการสอนโดยอนุโลมแก่จริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ซึ่งมีต่าง ๆ กัน
๓. อภิธัมมปิฎก เป็น ยถาธัมมสาสนะ คือการสอนตามเนื้อหาแท้ ๆ ของธรรมะ

๓.

๑. วินัยปิฎก เป็น สังวราสังวรกถา คือถ้อยคำที่ว่าด้วยความสำรวมและไม่สำรวม
๒. สุตตันตปปิฎก เป็น ทิฎฐิวินิเวฐนกถา คือถ้อยคำที่สอนให้ผ่อนคลาย ทิฎฐิ คือความเห็นผิด
๓. อภิธัมมปิฎก เป็น นามรูปปริจเฉทกถา คือถ้อยคำที่สอนให้กำหนดนามแลรูป คือร่างกายจิตใจ

๔.

๑. วินัยปิฎก เป็น อธิศีลสิกขา คือข้อศึกษาเกี่ยวกับอธิศีล คือศีลชั้นสูง
๒. สุตตันตปิฎก เป็น อธิจิตตสิกขา คือข้อศึกษาเกี่ยวกับสมาธิชั้นสูง
๓. อภิธัมมปิฎก เป็น อธิปัญญาสิกขา คือข้อศึกษาเกี่ยวกับปัญญาชั้นสูง

๕.

๑.วินัยปิฎก เป็น วีติกกมปหาน คือเครื่องละกิเลสอย่างหยาบ ที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดศีล
๒. สุตตันตปิฎก เป็น ปริยุฏฐานปหาน คือเครื่องละกิเลสอย่างกลางอันรัดรึงจิต ได้แก่นิวรณ์คือกิเลส อันกั้นจิตมิให้เป็นสมาธิ
๓. อภิธัมมปิฎก เป็น อนุสยปหาน คือเครื่องละกิเลสอย่างละเอียด อันได้แก่ที่นอนอยู่ในสันดาน เหมือนตะกอนนอนก้นตุ่ม ไม่มีอะไรมากวนก็ไม่แสดงตัวออกมา นอกจากนั้นยังได้อธิบายโดยใช้ศัพท์ ปหาน ในรูปอื่นอีก ซึ่งเห็นว่าเท่าที่นำมากล่าวนี้พอแล้ว จึงนำมากล่าวทั้งหมด

ข้าพเจ้าได้นำมาคำอธิบายย่อ ๆ ของพระอรรถกถาจารย์มากล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อเป็นแนวพิจารณาของท่านผู้อ่าน ต่อไปนี้ขอท่านได้โปรดอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการชำระ , การจารึกและการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย กับทั้งข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎกในประเทศไทย กับข้อความรู้จากพระไตรปิฎกและ ย่อแห่งพระไตรปิฎก อันปรากฏในภาค ๒ ภาค ๓ และ ภาค ๔ โดยลำดับ

๑. การนับจำนวนสูตรนี้กล่าวตามหลักฐานของอรรถกถา เพราะในสังยุตตนิกายและอังคุตตรนิกาย บางแห่งก็บอกชื่อสูตร บางแห่งก็บอกชื่อ ส่วนใหญ่ไม่บอกชื่อสูตร
๒. สมันตัปปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค ๑ หน้า ๒๑


ที่มาhttp://www.larnbuddhism.com/tripitaka/abouttripitaka/group.html


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 27 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร