วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 04:30  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 14:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


๔. จีวรขันธกะ (หมวดว่าด้วยจีวร)

คณะผู้มั่งมีชาวกรุงราชคฤห์ไปเที่ยวเมืองไพศาลี เห็นบ้านเมืองเจริญ และมีหญิงนครโสเภณี นามว่า อัมพปาลี เมื่อกลับไปกรุงราชคฤห์ จึงไปแนะนำพระเจ้าพิมพิสารทรงอนุญาตให้มีหญิงนครโสเภณีบ้าง เมื่อทรงอนุญาต จึงหาหญิงสาวร่างงามชื่อนางสาลวตีมาเป็นหญิงนครโสเภณีประจำกรุงราชคฤห์. นางตั้งครรภ์คลอดบุตรเป็นชาย จึงให้นำไปทิ้งยังกองขยะ. อภัยราชกุมารไปพบจึงให้รับไปเลี้ยงไว้ในวัง. เด็กนั้นจึงมีชื่อว่า ชีวก (รอดตาย) โกมารภัจจ์ (พระราชกุมารเลี้ยงไว้). เมื่อชีวกโกมารภัจจ์เติบโต จึงเดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์ ณ เมืองตักกสิลา อยู่ ๗ ปี เมื่อสำเร็จแล้วในระหว่างเดินทางกลับก็ได้รักษาภริยาเศรษฐีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ด้วยใช้ยาน้ำมันให้นัตถุ์ทางจมูก ได้ลาภสักการะมาก ก็ตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณที่อยู่ของอภัยราชกุมาร

ต่อมาได้รักษาโรคริดสีดวงทวารของพระเจ้าพิมพิสารหายด้วยให้ทายาเพียงครั้ง เดียว จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำราชสำนัก และประจำพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์.

ต่อมาได้รักษาโรคปวดศีรษะของเศรษฐีผู้หนึ่งแห่งกรุงราชคฤห์ด้วยการผ่าตัด, รักษาโรคลำไส้ใหญ่ของบุตรเศรษฐีผู้หนึ่งแห่งกรุงพาราณสีด้วยการผ่าตัด, รักษาโรคผอมเหลืองของพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนีด้วยการถวายยาให้ทรง ดื่ม ได้ผลดีทุกราย. ครั้งหลังถวายยาถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคโดยไม่ต้องให้เสวย เพียงอบยาใส่ดอกอุบล ๓ กำ แล้วให้ใช้พระหัตถ์ขยี้ทีละกำก็ได้ผลดี. ในที่สุดได้กราบทูลขอร้องต่อพระผู้มีพระภาค เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายรับคฤหบดีจีวรได้ (คือจีวรที่ผู้ศรัทธาถวายให้ใช้ สมัยก่อนอนุญาตแต่จีวรที่เก็บเศษผ้ามาปะติดปะต่อใช้). ทรงปรารภคำขอของหมอชีวก จึงทรงอนุญาตให้รับคฤหบดีจีวรได้ แต่ถ้าใครจะยังถือจะใช้จีวรที่เก็บมาปะติดปะต่อ ที่เรียกบังสุกุลจีวร ก็ให้ถือต่อไปตามอัธยาศัย.

ทรงอนุญาตเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับจีวร

เมื่อมนุษย์ทั้งหลายทราบว่าทรงอนุญาตให้ถวายจีวรได้ก็พากันนำมาถวายมากหลาย. เมื่อจีวรมีมากก็ทรงอนุญาตให้สวดประกาศแต่งตั้งภิกษุผู้รับจีวร (ในนามของสงฆ์), ภิกษุผู้เก็บจีวร, ภิกษุผู้รักษาเรือนคลัง (สำหรับเก็บจีวร), ภิกษุผู้แจกจีวร และทรงกำหนดคุณสมบัติของภิกษุเหล่านั้นด้วย.

ทรงอนุญาตสีย้อมและวิธีการเกี่ยวกับจีวร

ทรงอนุญาตสีย้อมจีวร ๖ ชนิด คือที่ทำจากรากไม้, ลำต้นไม้, เปลือกไม้, ใบไม้, ดอกไม้และผลไม้ และทรงอนุญาตวิธีการต่าง ๆ ในการย้อม

ทรงอนุญาตวิธีตัดจีวร

เมื่อเสด็จไปยังทักขิณาคิรี (ภูเขาภาคใต้) ทอดพระเนตรเห็นนาชาวมคธมีขอบคันและกะทงนา จึงตรัสให้พระอานนท์ลองตัดจีวรเป็นรูปนั้นดู. เมื่อพระอานนท์ทำเสร็จ ทรงสรรเสริญว่าฉลาด. ต่อมาทรงอนุญาตจีวร ๓ ผืน (ไตรจีวร) คือผ้าสังฆาฏิ (ผ้าซ้อนนอก) ๒ ชั้น ผ้าห่ม ๑ ชั้น ผ้านุ่ง ๑ ชั้น. แล้วทรงอนุญาตให้เก็บจีวรที่เกินจำนวน ๓ ผืนไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน ถ้าจะเก็บเกินว่านั้นให้วิกัป (คือทำให้เป็นสองเจ้าของ) ต่อมาทรงอนุญาตว่า ถ้าเป็นผ้าเก่าให้ใช้สังฆาฏิ ๔ ชั้น ผ้าห่ม ๒ ชั้น (เพื่อไม่ให้เห็นช่องขาดปุปะ)

ทรงอนุญาตคำขอ ๘ ประการของนางวิสาขา

นางวิสาขาปรารถนาจะถวายความสะดวกแก่พระภิกษุสงฆ์ จึงกราบทูลขอพร ๘ ประการ เพื่อถวายสิ่งต่าง ๆ แก่ภิกษุ อ้างเหตุผลที่เคยประสบมาต่าง ๆ อันควรจะทรงอนุญาต ก็ทรงอนุญาตตามที่ขอร้อง คือ ๑. ผ้าอาบน้ำฝน ๒. อาคันตุกภัต (อาหารสำหรับภิกษุผู้มา) ๓. คมิกภัต (อาหารสำหรับภิกษุผู้ไป) ๔. คลานภัต (อาหารสำหรับภิกษุผู้ป่วยไข้) ๕. คิลานุปัฏฐากภัต (อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลไข้) ๖. ยาสำหรับภิกษุผู้ป่วยไข้ ๗. ข้าวยาคูที่ถวายเป็นประจำ และ ๘. ผ้าอาบน้ำสำหรับนางภิกษุณี.

ทรงอนุญาตผ้าอื่น ๆ

ต่อมาทรงอนุญาตผ้าปูลาด หรือผ้าปูนอน (เพื่อป้องกันเสนาสนะเปรอะเปื้อน) ทรงอนุญาตผ้าปิดฝี เมื่อเป็นฝีเป็นต่อม, ทรงอนุญาตผ้าเช็ดหน้า และผ้าอื่น ๆ ที่ใช้เป็นบริขาร เช่น ผ้ากรองน้ำ, ถุงใส่ของ, แล้วตรัสสรุปว่า ไตรจีวร ให้อธิษฐาน ไม่ให้วิกัป,๑ ผ้าอาบน้ำฝนให้อธิษฐานใช้ตลอด ๔ เดือนฤดูฝน ต่อจากนั้นให้วิกัป, ผ้าปูนั่ง, ผ้าปูนอน ให้อธิษฐาน ไม่ให้วิกัป, ผ้าปิดฝีให้อธิษฐานไว้ใช้ตลอดเวลาที่อาพาธ หายแล้วให้วิกัป, ผ้าเช็ดหน้าและผ้าที่ใช้เป็นบริขารอื่น ๆ ให้อธิษฐาน ไม่ให้วิกัป.

ทรงอนุญาตและห้ามเกี่ยวกับจีวรอีก

ต่อมาทรงอนุญาตว่า (ในไตรจีวรนั้น) ให้ใช้ผ้าที่ไม่ต้องตัด (เย็บเป็นกระทง) ได้เพียง ๒ ผืน ต้องเป็นผ้าที่ตัด ๑ ผืน ถ้าจะตัดผ้าไม่พอให้ใช้ผ้าเพลาะ (นำชิ้นผ้าอื่นมาผสม) ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้นุ่งห่มผ้าที่มิได้ตัด (เย็บให้เป็นกะทง) เลย. อนึ่ง ทรงอนุญาตให้ให้ผ้าแก่มารดาบิดาได้ แต่ไม่ให้นำของที่เขาให้ด้วยศรัทธาให้ตก (คำว่า ทำศรัทธาไทยให้ตก คือเอาของที่เขาถวายไปให้แก่คนอื่นที่เป็นคฤกหัสถ์ และไม่ใช่มารดาบิดา)

มีปัญหาเรื่องการนำจีวรไปไม่ครบสำรับ จีวรที่เก็บไว้ถูกโจรลักไป จึงทรงกำหนดเงื่อนไขว่าจะเข้าบ้านโดยเก็บจีวรไว้ ไม่นำไปครบสำรับได้ เช่น วิหารมีกลอนป้องกันได้ดี เป็นต้น และมีปัญหาเรื่องมีผู้ถวายจีวรแก่สงฆ์ จะแบ่งอย่างไร รวมทั้งปัญหาเรื่องภิกษุจำพรรษาในวัดหนึ่ง แต่ละโมภ ไปรับจีวรในวัดอื่น เป็นส่วนแบ่งหรือทำเป็นว่าอยู่ ๒ แห่ง จะตัดสินอย่างไร.

พระพุทธเจ้าทรงพยาบาลภิกษุอาพาธ

เรื่องตอนนี้ได้นำไปแปลไว้แล้วโดยละเอียดในหน้า ๘๗ และหน้า ๖๒ ที่ว่าด้วยคนไข้ที่ดีและไม่ดี ผู้พยาบาลไข้ที่ดีและไม่ดี. นอกจากนั้นได้ทรงแสดงวิธีสวดประกาศของสงฆ์ เพื่อมอบบริขาร (เครื่องใช้) ของผู้เป็นไข้ที่สิ้นชีวิตแก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ แต่ถ้าเป็นครุภัณฑ์ ครุบริขาร (คือของใช้ขนาดใหญ่) ห้ามแบ่งและแจกให้เก็บไว้เป็นของสงฆ์.

การเปลือยกายและการใช้ผ้า

ทรงห้ามเปลือยกายแบบเดียรถีย์ และปรับอาบัติถุลลัจจัยแก่ผู้ล่วงละเมิด. อนึ่ง ทรงห้ามใช้ผ้าคากรอง, เปลือกต้นไม้กรอง, ผลไม้กรอง, ผ้ากัมพล ทำด้วยผมคน, ผ้ากัมพล ทำด้วยขนหางสัตว์ ปีกนกเค้า หรือหนังเสือ, ซึ่งเป็นของพวกเดียรถีย์ ใช้นุ่งห่ม ต้องอาบัติถุลลัจจัย ผ้าทำด้วยปอ นุ่งห่ม ต้องอาบัติทุกกฏ (ความหมายในที่นี้ คือไม่ให้นุ่งห่มเลียนแบบเดียรถีย์).

ทรงห้ามใช้จีวรที่มีสีไม่ควร และห้ามใช้เสื้อ หมวก ผ้าโพก

ทรงห้ามใช้จีวรมีสีไม่สมควรต่าง ๆ คือ เขียวล้วน, เหลืองล้วน, แดงล้วน, เลื่อมล้วน๒, ดำลัวน, แดงเข้ม, แดงกลาย ๆ (ชมพู). อนึ่ง ทรงห้ามจีวรที่ไม่ตัดชาย, จีวรมีชายยาว, จีวรมีชายเป็นดอกไม้, จีวรมีชายเป็นแผ่น และทรงห้ามใช้เสื้อ หมวก, ผ้าโพก ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ใช้.

ทรงวางหลักเกี่ยวกับจีวรอีก

เมื่อภิกษุจำพรรษาแล้ว จีวรยังไม่ทันเกิดขึ้น ไปเสีย ภายหลังมีจีวรเกิดขึ้น ถ้ามีผู้รับแทนเธอที่สมควรก็ให้ให้ไป แต่ถ้าเธอสึกเสีย เป็นต้น สงฆ์ย่อมเป็นใหญ่ ถ้าสงฆ์แตกกัน ให้แจกผ้าตามความประสงค์ของผู้ถวายว่าจะถวายแก่ฝ่ายไหน ถ้าเขาไม่เจาะจง ให้แบ่งฝ่ายละเท่ากัน

อนึ่ง ทรงวางหลักการถือเอาจีวรของภิกษุอื่นด้วยถือวิสสาสะ คือคุ้นเคยกันว่าต้องมีเหตุผลสมควร.

แล้วทรงแสดงกติกา (ข้อกำหนดหรือแม่บท) ๘ ประการที่จีวรจะเกิดขึ้น คือ ๑. เขาถวายกำหนดเขตภิกษุที่อยู่ในสีมา ๒. เขาถวายกำหนดกติกา ๓. เขาถวายกำหนดเฉพาะเจตหรือวัดที่เขาทำบุญประจำ ๔. เขาถวายแก่สงฆ์ ๕. เขาถวายแก่สงฆ์ ๒ ฝ่าย (คือภิกษุ ภิกษุณี) ๖. เขาถวายแก่สงฆ์ที่จำพรรษาแล้ว ๗. เขาถวายโดยเจาะจง (ให้เกี่ยวเนื่องกับการถวายข้าวยาคู หรืออาหารอื่น ๆ เป็นต้น) ๘. เขาถวายจำเพาะบุคคล (คือแก่ภิกษุรูปนั้นรูปนี้).

๑. อธิษฐาน คือตั้งใจเอาไว้ใช้ วิกัป คือทำให้เป็นสองเจ้าของ เมื่อจะใช้ก็ของอนุญาตก่อน
๒. สีเลื่อมนั้น อรรถกถาอธิบายว่า คล้ายฝาง หนึ่ง เนื่องจากทรงห้ามสีเหลืองล้วน พระภิกษุบางรูปจึงนิยมย้อมกรัก คือสีจากแก่นขนุนทับอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เป็นสีน้ำฝาดผสม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 14:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


๕. จัมเปยยขันธกะ (หมวดว่าด้วยเหตุการณ์ในกรุงจัมปา)๑
การทำกรรมที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม

ภิกษุชื่อกัสสปโคตร เป็นผู้เอื้อเฟื้อดีต่อภิกษุที่เป็นอาคันตุกะ เมื่อมีภิกษุอาคันตุกะมาก็ต้อนรับถวายความสะดวกด้วยประการต่าง ๆ ภิกษุที่มาติดใจพักอยู่ด้วย แต่เมื่อพักอยู่นานไป ภิกษุชื่อกัสสปโคตรก็ไม่ขวนขวายอาหารให้ เพราะถือว่ารู้ทำเลบิณฑบาตแล้ว ถ้าขืนขวนขวายมาก ก็จะต้องรบกวนชาวบ้านเป็นการประจำ. ภิกษุอาคันตุกะไม่พอใจ สวดประกาศยกเธอเสียจากหมู่ (ลงอุปเขปนียกรรมอย่างผิด ๆ). เธอจึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถาม. พระองค์ตรัสสั่งให้เธอกลับไปอยู่ที่เดิม ทรงชี้แจงว่า ภิกษุที่ลงโทษเธอนั้น ทำไปโดยไม่เป็นธรรม เธอไม่มีอาบัติอะไร. ฝ่ายภิกษุพวกที่ลงโทษ ร้อนตัว จึงมาขอขมาต่อสมเด็จพระบรมศาสดา พระองค์ประทานอภัยแล้ว จึงทรงแสดงการทำสังฆกรรมที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรมหลายอย่างหลายประการ พร้อมทั้งทรงกำหนดจำนวนสงฆ์ที่ทำกรรมดังนี้

๑. สงฆ์ ๔ รูป ทำกรรมทั้งปวงได้ เว้นแต่การอุปสมบท, การปวารณา, และสวดถอนจากอาบัติ สังฆาทิเสส. (แสดงว่ากฐินก็ใช้สงฆ์ ๔ รูปได้ แต่อรรถกถาแก้ว่า กฐินต้อง ๕ รูป ซึ่งปรากฏในอรรถกถา เล่ม ๓ เมื่ออรรถกถาแย้งกับบาลี จึงต้องฟังทางบาลี)

๒. สงฆ์ ๕ รูป ทำกรรมทั้งปวงได้ เว้นไว้แต่การอุปสมบทกุลบุตรในมัธยมประเทศ และการสวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสส

๓. สงฆ์ ๑๐ รูป ทำกรรมทั้งปวงได้ เว้นแต่การสวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสส

๔. สงฆ์ ๒๐ รูป ทำกรรมทั้งปวงได้

๕. สงฆ์เกิน ๒๐ รูปขึ้นไป ทำกรรมทั้งปวงได้

แต่ทุกข้อนี้ ต้องประชุมพร้อมเพรียงกันโดยธรรม ถูกต้องตามพระวินัย. ครั้นแล้วทรงอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับสงฆ์ ๔ รูป ๕ รูป ๑๐ รูป ๒๐ รูป ซึ่งทำกรรมต่าง ๆ กันโดยพิสดาร.

อุกเขปนียกรรม (ยกจากหมู่)

ครั้นแล้วทรงแสดงหลักการลงอุปเขปนียกรรม คือการสวดประกาศยกเสียจากหมู่ ไม่ให้ใครร่วมกินร่วมนอน หรือคบหาด้วย ว่าจะทำได้ในกรณีที่ไม่เห็นอาบัติ, ไม่ทำคืนอาบัติ, ไม่สละความเห็นที่ชั่ว. ต่อจากนั้นทรงอธิบายการทำกรรมที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรมแก่พระอุบาลี.

ตัชชนียกรรม (ข่มขู่)

ทรงแสดงหลักการลงตัชชนียกรรม คือการสวดประกาศลงโทษเป็นการตำหนิภิกษุผู้ชอบหาเรื่อก่อการทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์.

นิยสกรรม (ถอดยศหรือตัดสิทธิ)

ทรงแสดงหลักการลงนิยสกรรม คือการถอดยศ หรือตัดสิทธิแก่ภิกษุผู้มากด้วยอาบัติ คลุกคลีกับคฤหัสถ์ในลักษณะที่ไม่สมควร.

ปัพพาชนียกรรม (ขับไล่)

ทรงแสดงหลักการลงปัพพาชนียกรรม คือการไล่เสียจากวัดแก่ภิกษุผู้ประจบคฤหัสถ์ (ยอมตัวให้เขาใช้) มีความประพฤติชั่ว

ปฏิสารณียกรรม (ขอโทษคฤหัสถ์)

ทรงแสดงหลักการลงปฏิสารณียกรรม คือการให้ไปขอโทษคฤหัสถ์แก่ภิกษุผู้ด่า บริภาษคฤหัสถ์

ครั้นแล้วทรงแสดงวิธีระงับการลงโทษทั้งห้าประการนั้น (รายการพิสดารเรื่องนี้ ยังจะมีในพระไตรปิฎก เล่ม ๖ ตอนกัมขันธกะ ว่าด้วยสังฆกรรม เกี่ยวด้วยการลงโทษ).

๖. โกสัมพิขันธกะ (หมวดว่าด้วยเหตุการณ์ในกรุงโกสัมพี)๒

เริ่มต้นด้วยเล่าเรื่องภิกษุ ๒ รูป ทะเลาะกัน คือรูปหนึ่งหาว่าอีกรูปหนึ่งต้องอาบัติ แล้วไม่เห็นอาบัติ จีงพาพวกมาประชุมสวดประกาศลงอุกเขปนียกรรมแก่ภิกษุรูปนั้น ต่างก็มีเพื่อนฝูงมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย และต่างหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำไม่ถูก ถึงกับสงฆ์แตกกันเป็นสองฝ่าย และแยกทำอุโบสถ แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแนะนำตักเตือนให้ประนีประนอมกันก็ไม่ฟัง ในที่สุดถึงกับทะเลาะวิวาทและแสดงอาการกายวาจาที่ไม่สมควรต่อกัน.

พระผู้มีพระภาคทรงตักเตือนอีก ภิกษุเหล่านั้นก็กลับพูดขอให้พระภาคอย่าทรงเกี่ยวข้อง ขอให้ทรงหาความสุขส่วนพระองค์ไป ตนจะดำเนินการกันเองต่อไป. พระผู้มีพระภาคจึงทรงสั่งสอนให้ดูตัวอย่างทีฆาวุกุมารแห่งแคว้นโกศล ผู้คิดแก้แค้นพระเจ้าพรหมทัตแห่งแคว้นกาสี ในการที่จับพระราชบิดาของพระองค์ คือพระเจ้าทีฆีติ ไปทรมานประจานและประหารชีวิต เมื่อมีโอกาสจะแก้แค้นได้ ก็ยังระลึกถึงโอวาทของบิดา ที่ไม่ให้เห็นแก่ยาว (คือไม่ให้ผูกเวร จองเวรไว้นาน) ไม่ให้เห็นแก่สั้น (คือไม่ให้ตัดไมตรี) และให้สำนึกว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร จึงไว้ชีวิตแก่พระเจ้าพรหมทัต แล้วกลับได้ราชสมบัติที่เสียไปคืน พร้อมทั้งได้พระราชธิดาของพระเจ้าพรหมทัตด้วย. ทรงสรุปว่า พระราชาที่จับสัตราอาวุธยังทรงมีขันติ (ความอดทน) และโสรัจจะ (ความสงบเสงี่ยม) ได้ จึงควรที่ภิกษุทั้งหลายผู้บวชในพระธรรมวินัยนี้จะมีความอดทนและความสงบ เสงี่ยม. แต่ภิกษุเหล่านั้นก็มิได้เชื่อฟัง จึงเสด็จไปจากที่นั้น สู่พาลกโลณการกคาม, สู่ป่าชื่อปาจีนวังสะโดยลำดับ ได้ทรงพบปะกับพระเถระต่าง ๆ ในที่ที่ เสด็จไปนั้น ในที่สุดได้เสด็จไปพำนักอยู่ ณ โคนไม้สาละอันร่มรื่น ณ ป่าชื่อปาริเลยยกะ. ในตอนนี้ได้เล่าเรื่องแทรกว่า มีพญาช้างชื่อปาริเลยยกะ มาอุปฐากดูแลพระผู้มีพระภาค. ต่อจากนั้นจึงได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี.

อุบาสกอุบาสิกาชาวโกสัมพี ไม่พอใจภิกษุแตกกันเหล่านั้น จึงนัดกัน ไม่แสดงความเคารพ ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต ภิกษุเหล่านั้นได้รับความลำบากก็รู้สึกผิดชอบ จึงพากันเดินทางไปกรุงสาวัตถี และยอมตกลงระงับข้อวิวาทแตกแยกกัน โดยภิกษุรูปที่เป็นต้นเหตุยอมแสดงอาบัติ ภิกษุฝ่ายที่สวดประกาศลงโทษยอมถอนประกาศ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ประชุมสงฆ์สวดประกาศระงับเรื่องนั้น เป็นสังฆสามัคคี เสร็จแล้วให้สวดปาฏิโมกข์.

อนึ่ง ทรงแสดงเรื่องสังฆสามัคคีย คือความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม โดยแสดงว่า การสามัคคียกันภายหลังที่แตกกันแล้วจะต้องแก้ที่ต้นเหตุ วินิจฉัยเรื่องราว เข้าหาเรื่องเดิมให้เสร็จสิ้นไป ไม่ใช่ปล่อยคลุม ๆ ไว้แล้วสามัคคีกันอย่างคลุม ๆ.

(เห็นได้ว่าตอนนี้แสดงเป็นประวัติไว้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนข้อวินัยเกี่ยวกับสงฆ์แตกกันในตอนนี้ มีซ้ำกับที่จะกล่าวข้างหน้า ในเล่ม ๗ สังฆเภทขันธกะ คือหมวดว่าด้วยสงฆ์แตกกัน).

๑. กรุงจัมปา เป็นนครหลวงของแคว้นอังคะ
๒. กรุงโกสัมพีเป็นนครหลวงของแคว้นวังสะ


เล่มที่ ๖ ชื่อจุลลวัคค์ (วรรคเล็ก) เป็นวินัยปิฎก

ได้กล่าวแล้วว่า มหาวัคค์ (วรรคใหญ่) ซึ่งเป็นวินัยปิฎกนั้น ได้แก่พระไตรปิฎก เล่ม ๔ และ เล่ม ๕ ซึ่งได้ย่อความมาแล้ว. ในเล่ม ๔ มี ๔ ข้นธกะ หรือ ๔ หมวด ในเล่ม ๕ มี ๖ ขันธกะ หรือ ๖ หมวด รวมมหาวัคค์มี ๑๐ ขันธกะ. บัดนี้มาถึงย่อความแห่งจุลลวัคค์ (วรรคเล็ก) จึงควรทราบว่า จุลลวัคค์ ได้แก่พระไตรปิฎก เล่มที่ ๖ และเล่มที่ ๗ ซึ่งยังเป็นวินัยปิฎก. เล่มที่ ๖ มี ๔ ขันธกะ เล่มที่ ๗ มี ๘ ขันธกะ ทั้งสองเล่มจึงมี ๑๒ ขันธกะ (รวมทั้งมหาวัคค์และจุลลวัคค์มี ๒๒ ขันธกะ หรือ ๒๒ หมวด).

เฉพาะเล่มที่ ๖ นี้ ที่ว่ามี ๔ ขันธกะ นั้น ดังนี้

๑. กัมมขันธกะ (หมวดว่าด้วยสังฆกรรม) ในหมวดนี้ได้นำเรื่องวิธีลงโทษ ซึ่งเคยกล่าวไว้แล้วในเล่ม ๕ มาขยายความเป็นข้อ ๆ คือ ดัชชนียกรรม (ข่มขู่) นิยสกรรม (ถอดยศหรือตัดสิทธิ) ปัพพาชนียกรรม (ขับไล่) ปฏิสารณียกรรม (ขอขมาคฤหัสถ์) และอุกเขปนียกรรม (ยกจากหมู่) พร้อมด้วยวิธีระงับการลงโทษนั้น ๆ

๒. ปาริวาสิกขันธกะ (หมวดว่าด้วยภิกษุผู้อยู่ปริวาสเพื่อออกจากอาบัติสังฆาทิเสส) กล่าวถึง วัตรหรือข้อปฏิบัติของภิกษุผู้อยู่ปริวาส รวม ๙๔ ข้อ และกระบวนการอันเกี่ยวกับการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส เช่น ข้อกำหนดในการอยู่ปริวาส การชักเข้าหาอาบัติเดิม การประพฤติมานัตต์ และการสวดถอนจากอาบัติ

๓. สมุจจยขันธกะ (หมวดว่าด้วยการรวบรวม คือประมวลเรื่องที่เกี่ยวกับการออกาจากอาบัติสังฆาทิเสส ที่เหลือจากปริวาสิกขันธกะ) มีเรื่องการขอมานัตต์ การให้มานัตต์ การขออัพภาน (สวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสส) เป็นต้น

๔. สมถขันธกะ (หมวดว่าด้วยวิธีระงับอธิกรณ์) วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ อย่างมีอะไรบ้าง ได้กล่าวไว้แล้วในท้ายพระไตรปิฎก เล่ม ๒ ตอนนี้เป็นการอธิบายโดยละเอียดทั้งเจ็ดข้อ คือ ๑. สัมมุขาวินัย การระงับแบบพร้อมหน้า ๒. สติวินัย การระงับด้วยยกให้พระอรหันต์ว่าเป็นผู้มีสติ ๓. อมูฬหวินัย การระงับด้วยยกประโยชน์ให้ในขณะเป็นบ้า ๔. ปฏิญญาตกรณะ การระงับด้วยถือตามคำรับของจำเลย ๕. เยภุยยสิกา การระงับด้วยถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ ๖. ตัสสปาปิยสิกา การะงับด้วยการลงโทษแก่ผู้ผิด ๗. ติณวัตถารกะ การระงับด้วยให้ประนีประนอมหรือเลิกแล้วกันไป.


ขยายความ

๑. กัมมขันธกะ (หมวดว่าด้วยสังฆกรรม)

ภิกษุ ๒ รูป ชื่อปัณฑุกะ กับ โลหิตกะ ชอบก่อการทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ สนับสนุนภิกษุผู้ชอบก่อทะเลาะวิวาท มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ทรงไต่สวนได้ความเป็นสัตย์ จึงทรงโปรดให้สงฆ์ลงดัชชนียกรรม (การข่มขู่) แก่เธอทั้งสองโดยให้โจทอาบัติ ให้ระลึกว่าได้ทำผิดจริงหรือไม่ แล้วให้ยกอาบัติขึ้นเป็นเหตุ สวดประกาศขอมติสงฆ์ลงดัชชนียกรรมแก่เธอ. (สวดเสนอญัตติ ๑ ครั้ง สวดประกาศย้ำขอมติ ๓ ครั้ง).

ครั้นแล้วทรงแสดงลักษณะการทำดัชชียกรรม ว่าอย่างไรไม่เป็นธรรม อย่างไรเป็นธรรม. การทำที่ไม่เป็นธรรม เช่น ไม่ทำต่อหน้า, ไม่ซักถาม (คือลงโทษโดยไม่ฟังคำให้การ), ไม่ฟังปฏิญญา (คือการับผิดของจำเลย) ส่วนที่เป็นธรรม คือทำในที่ต่อหน้า มีการซักถาม มีการฟังปฏิญญาของจำเลย เป็นต้น.

ลักษณะของผู้ที่ควรลงตัชชนียกรรม

ภิกษุที่สงฆ์ปรารถนาจะลงตัชชนียกรรม (ข่มขู่) ก็ลงได้ คือ ๑. เป็นผู้ชอบก่อการทะเลาะวิวาทก่ออธิกรณ์ในสงฆ์ ๒. เป็นผู้มากด้วยอาบัติ มีความประพฤติไม่เรียบร้อย ๓. เป็นผู้คลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร

หรือเป็นผู้ ๑. มีศีลวิบัติ คือเสียหายทางศีล ๒. มีอาจารวิบัติ คือเสียหายทางความประพฤติ หรือมารยาท ๓. มีความเห็นวิบัติ

หรือเป็นผู้ ๑. ติเตียนพระพุทธ ๒. ติเตียนพระธรรม ๓. ติเตียนพระสงฆ์

หรือภิกษุ ๓ รูป แต่ละรูปทำการที่ผิดอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวมาข้างต้น (การลงโทษไม่นิยมให้ทำแก่ภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป เพราะจะกลายเป็นสงฆ์ลงโทษสงฆ์ ถ้ามีเรื่องเกิดขึ้น จะต้องหาทางออกให้สงฆ์ลงโทษแก่บุคคลไม่เกิน ๓ รูป).

การถูกลงโทษเป็นเหตุให้เสียสิทธิต่าง ๆ

ภิกษุผู้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม จะต้องประพฤติวัตต์หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถูกตัดสิทธิต่าง ๆ รวม ๑๘ อย่าง คือ ๑. ไม่พึงให้อุปสมบท (ห้ามเป็นอุปัชฌายะ) ๒. ไม่พึงให้นิสสัย (ห้ามรับบุคคลไว้ในปกครอง) ๓. ไม่พึงมีสามเณรไว้รับใช้ ๔. ไม่พึงรับแต่งตั้งให้สั่งสอนนางภิกษุณี ๕. ได้รับแต่งตั้งแล้วก็ไม่พึงสั่งสอนนางภิกษุณี ๖. ถูกสงฆ์ลงโทษด้วยอาบัติใด ไม่พึงต้องอาบัตินั้นซ้ำอีก ๗. ไม่พึงต้องอาบัติประเภทเดียวกันนั้น ๘. ไม่พึงต้องอาบัติที่เลวกว่านั้น ๙. ไม่พึงตำหนิกรรมนั้น ๑๐. ไม่พึงตำหนิสงฆ์ผู้ทำกรรมนั้น ๑๑. ไม่พึงห้ามอุโบสถแก่ภิกษุปกติ ๑๒. ไม่พึงห้ามปวารณาแก่ภิกษุปกติ ๑๓. ไม่พึงไต่สวนภิกษุอื่น ๑๔. ไม่พึงเริ่มตั้งอนุวาทาธิกรณ์ (การโจทอาบัติ). ๑๕. ไม่พึงขอให้ภิกษุอื่นทำโอกาส (เพื่อจะโจทอาบัติ) ๑๖. ไม่พึงโจทอาบัติภิกษุอื่น ๑๗. ไม่พึงทำภิกษุอื่นให้ระลึก (ว่าทำความผิดข้อนั้นข้อนี้หรือไม่) ๑๘. ไม่พึงช่วยภิกษุทั้งหลายให้สู้กันในอธิกรณ์.

การไม่ระงับและระงับโทษ

ภิกษุที่ถูกสงฆ์ลงดัชชนียกรรม เสียสิทธิต่าง ๆ แล้วฝืนทำในข้อที่ถูกตัดสิทธินั้น ไม่ควรระงับการลงโทษ ต่อเมื่อปฏิบัติตามในการยอมเสียสิทธิต่าง ๆ จึงควรสวดประกาศระงับโทษ.

พระเสยยสกะกับนิยสกรรม (การถอดยศ)๑

ภิกษุชื่อเสยยสกะ เป็นผู้มากด้วยอาบัติ มีมารยาทไม่เรียบร้อย คลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร. ภิกษุปกติทั้งหลายก็ยังให้ปริวาส เป็นต้น คือช่วยทำพิธีออกจากบัติสังฆาทิเสสให้เธอ. มีผู้ติเตียนพระผู้มีพระภาคจึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ ได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงโปรดให้สงฆ์ลงนิยสกรรม (คือการถอดยศหรือตัดสิทธิ) แก่เธอโดยวิธีเดียวกับที่ลงดัชชนียกรรม.

นอกจากนั้น ทรงแสดงลักษณะการทำนิยสกรรมว่าอย่างไรไม่เป็นธรรม อย่างไรเป็นธรรม ซึ่งมีข้อกำหนดเหมือนตัชชนียกรรม.

แล้วทรงแสดงลักษณะของภิกษุผู้ควรลงนิยสกรรม เหมือนกับลักษณะของผู้ถูกลงตัชชนียกรรมทุกประการ.

การเสียสิทธิ การระงับการลงโทษ การไม่ระงับการลงโทษ ก็เป็นแบบเดียวกับดัชชนียกรรม (แต่พึงสังเกตว่า ตัชชนียกรรมเน้นในเรื่องก่อวิวาท แต่นิยสกรรมเน้นในเรื่องต้องอาบัติมาก มีมารยาทไม่ดี และคลุกคลีกับคฤหัสถ์).

การลงโทษขับไล่ (ปัพพาชนียกรรม)

ภิกษุที่เป็นพวกของพระอัสสชิ๑ และพระปุนัพพสุกะซึ่งอยู่ ณ ชนบท ชื่อกิฏาคิรี เป็นพระอลัชชีประพฤติสิ่งที่ไม่สมควร เช่น ปลูกต้นไม้เอง ใช้ให้ปลูกต้นไม้ให้คฤหัสถ์ ร้อยดอกไม้ให้คฤหัสถ์ บริโภคอาหาร ในเวลาวิกาล ดื่มน้ำเมา ทัดทรงดอกไม้ ฟ้อนรำขับร้อง และเล่นซนอื่น ๆ

พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงส่งพระสาริบุตร พระโมคคัลลานะให้ไปจัดการลงปัพพาชนียกรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น ทรงแนะวิธีทำ วิธีสวดประกาศ มิให้ภิกษุพวกของพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะ อยู่ในชนบทชื่อกิฏาคิรีต่อไป.

ทรงแสดงลักษณะการทำปัพพาชนียกรรมว่าอย่างไรไม่เป็นธรรม อย่างไรเป็นธรรม ซึ่งมีข้อกำหนดเหมือนตัชชนียกรรมซึ่งกล่าวมาแล้ว.

แล้วทรงแสดงลักษณะของภิกษุผู้ควรลงปัพพาชนียกรรม (ขับไล่) หลายประการ มีทั้งความไม่ดี ไม่งาม แบบที่กล่าวไว้ในตัชชนียกรรม และนิยสกรรม มีทั้งความไม่ดีไม่งาม อันเนื่องด้วยความประพฤติ ไม่สมควรทางกายวาจา และการเลี้ยงชีพในทางที่ผิด เป็นต้น.

การเสียสิทธิของภิกษุผู้ถูกลงปัพพาชนียกรรม คงมี ๑๘ อย่างเช่นเดียวกับตัชชนียกรรม (แต่ที่พิเศษออกไปก็คือ การถูกขับไล่ไม่ให้อยู่ในที่อยู่ของตน).

แล้วทรงแสดงลักษณะที่ไม่ควรระงับการลงโทษ และควรระงับการลงโทษเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว.

การลงโทษให้ขอขมาคฤหัสถ์ (ปฏิสารณียกรรม)

พระสุธัมมะอาศัยอยู่ในวัดของจิตตะคฤหบดี ณ ราวป่าชื่อมัจฉิกา โกรธว่า คฤหบดีนิมนต์พระเถระรูปอื่นไปฉัน โดยไม่บอกเล่า หรือปรึกษาหารือตนก่อน จึงแกล้งพูดให้กระทบถึงการสืบสกุลของคฤหบดี ผู้นั้นในที่ซึ่งพระเถระอื่นอยู่ด้วยว่า ของเคี้ยวของฉันของท่านสมบูรณ์หมด ไม่มีอยู่ก็แต่ขนมคลุกงา (ติลสังคุลิกา)๒ และได้แสดงอาหารอย่างอื่นในทางที่ไม่สมควร.

พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงแนะให้สงฆ์สวดประกาศลงปฏิสารณียกรรม คือให้ไปขอโทษคฤหัสถ์ที่ตนรุกรานล่วงเกิน.

แล้วทรงแสดงลักษณะของการทำปฏิสารณียกรรมที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม ในทำนองเดียวกับตัชชนียกรรมที่กล่าวมาแล้ว.

ส่วนลักษณะของภิกษุผู้ควรลงโทษแบบนี้ ท่านแสดงไว้ ๔ หมวด หมวดละ ๕ ข้อ คือ

๑.

๑. ขวนขวายเพื่อเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์
๒. ขวนขวายเพื่อความเสียหาย (อนัตถะ) แก่คฤหัสถ์
๓. ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แก่คฤหัสถ์
๔. ด่าหรือบริภาษคฤหัสถ์ (บริภาษคือด่าโดยอ้อม)
๕. ทำคฤหัสถ์ให้แตกกับคฤหัสถ์.

๒.

๑. ติเตียนพระพุทธเจ้าให้คฤหัสถ์ฟัง
๒. ติเตียนพระธรรมให้คฤหัสถ์ฟัง
๓. ติเตียนพระสงฆ์ให้คฤหัสถ์ฟัง
๔. ด่าหรือพูดข่มคฤหัสถ์ด้วยถ้อยคำอันเลว
๕. รับปากอันเป็นธรรมแก่คฤหัสถ์ไว้แล้ว ทำให้คลาดเคลื่อน คือไม่ทำตามนั้น.

๓.

ภิกษุ ๕ รูป แต่ละรูปทำความไม่ดีดั่งที่กล่าวไว้ในหมวด ๑ รูปละอย่าง.

๔.

ภิกษุ ๕ รูป แต่ละรูปทำความไม่ดีดั่งที่กล่าวไว้ในหมวด ๒ รูปละอย่าง.
ทั้งสี่หมวด หมวดละ ๕ ข้อนี้ เพียงหมวดใดหมวดหนึ่งที่ภิกษุได้กระทำลงไป ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะลงโทษ ให้ขอขมาคฤหัสถ์ (ปฏิสารณียกรรม) ก็ทำได้.
ต่อจากนั้นทรงแสดงการเสียสิทธิ หรือการประพฤติวัตร ๑๘ อย่างเหมือนที่กล่าวไว้ในตัชชนียกรรม.
แล้วทรงแสดงวิธีที่จะปฏิบัติในการขอขมาคฤหัสถ์ ซึ่งจะต้องมีการสวดประกาศสงฆ์ ส่งภิกษุเป็นพูตไปด้วยรูปหนึ่งร่วมกับภิกษุที่ถูกลงโทษ เพื่อช่วยเจรจาให้เขายกโทษให้ เมื่อทำได้ดังนี้ สงฆ์จึงสวดประกาศเพิกถอนการลงโทษนั้น.
ต่อจากนั้น จึงทรงแสดงลักษณะของภิกษุที่ไม่ควรและควรเพิกถอนการลงโทษแบนี้ ฝ่ายละ ๑๘ ข้อ เช่นเดียวกับตัชชนียกรรม.

พระฉันนะกับการยกเสียจากหมู่ (อุกเขปนียกรรม)

พระฉันนะต้องอาบัติแล้ว ไม่เห็นอาบัติ ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงแนะให้สงฆ์ลงโทษยกเสียจากหมู่ คือไม่คบค้าด้วย ทรงแสดงลักษณะการลงโทษที่ไม่ถูกธรรมและถูกธรรม เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในเรื่องตัชชนียกรรม แต่มีการเน้นว่า การลงโทษยกเสียจากหมู่นี้ เพราะภิกษุไม่เห็นอาบัติ, ไม่ทำคืนอาบัติ, ไม่เลิกละความเห็นที่ชั่ว. และยังมีความไม่ดีข้ออื่นอีกที่ซ้ำกับตัชชนียกรรม.
แล้วทรงแสดงการเสียสิทธิ เป็นต้น เหมือนกับที่กล่าวไว้ในตัชชนียกรรม. (อนึ่ง พึงสังเกตุว่า คำว่า การเสียสิทธินั้น เป็นการพูดให้เข้าใจง่าย ในภาษาบาลีใช้คำว่า วัตร หรือข้อปฏิบัติ ๑๘ ข้อ).

๑. พระอัสสชิรูปนี้ มิใช่รูปเดียวกับทีเป็นอาจารย์พระสาริบุตร
๒. ต้นสกุลของคฤหบดีผู้นี้ มีอาชีพทำขนมคลุกงาขาย. อนึ่ง คฤหบดีผู้นี้เป็นพระอนาคามี



๒. ปริวาสิกขันธกะ (หมวดว่าด้วยผู้อยู่ปริวาส)

(เมื่อมาถึงวินัยกรรมเกี่ยวกับการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งกล่าวไว้ในหมวดนี้ ควรจะได้ทราบความหมายเกี่ยวกับศัพท์ และลำดับการปฏิบัติซึ่งกล่าวถึงในหมวดนี้ก่อน ซึ่งมีดังนี้

๑.การอยู่ปริวาส คือการลงโทษให้ต้องอบรมตัวเอง เท่ากำหนดเวลาที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส แล้วปิดไว้ ถ้าปิดไว้กี่วันกี่เดือน ก็จะต้องอยู่ปริวาสเท่านั้นวันเท่านั้นเดือน.

๒. การชักเข้าหาอาบัติเดิมหรือมูลายปฏิกัสสนา คือในขณะที่อยู่ปริวาสก็ตาม ประพฤติมานัตต์ (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) ก็ตาม เธอไปต้องอาบัติสังฆาทิเสสซ้ำกับที่ต้องไว้เดิมเข้าอีก ก็จะต้องเริ่มตั้งต้นถูกลงโทษไปใหม่ คือต้องขอกลับเริ่มต้นถูกลงโทษในลำดับแรกอีก.

๓. การประพฤติมานัตต์ เมื่ออยู่ปริวาสครบกำหนดที่ปิดไว้แล้ว หรือถ้าไม่ได้ปิดไว้เลย ก็ไม่ต้องอยู่ปริวาส คงประพฤติมานัตต์ทีเดียว การประพฤติมานัตต์ คือการถูกลงโทษให้ต้องประจานความผิดของตนแบบปริวาส แต่มีกำหนด ๖ ราตรี ไม่ว่าจะปิดไว้หรือไม่ปิดอาบัติสังฆาทิเสส ต้องประพฤติมานัตต์ ๖ ราตรี เหมือนกันหมด.

๔. การสวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเสสหรืออัพภาน เมื่อภิกษุถูกลงโทษให้อยู่ปริวาส (ถ้าปิดอาบัติไว้) และให้ประพฤติมานัตต์ถูกต้องแล้ว ก็เป็นผู้ควรแก่การสวดถอนจากอาบัตินั้น การสวดถอนจากอาบัตินี้ เรียกว่าอัพภาน ต้องใช้ภิกษุประชุมกันไม่น้อยกว่า ๒๐ รูป.

ในระหว่างที่ถูกลงโทษเหล่านี้ ภิกษุถูกตัดสิทธิมากหลาย ทั้งยังต้องคอยบอกความผิดของตนแก่ภิกษุผู้ผ่านไปมาและบอกในที่ประชุมสงฆ์ เมื่อทำอุโบสถสังฆกรรมด้วย รวมความว่า เป็นการลงโทษที่ทำให้ผู้ถูกลงโทษรู้สึกว่าหนักมาก ต้องเกี่ยวข้องกับสงฆ์ส่วนมาก โดยการประจานตัวและการสวดประกาศหลายขั้นหลายตอน).

ตัดสิทธิภิกษุผู้อยู่ปริวาส

สมัยนั้น ภิกษุผู้อยู่ปริวาส ยินดีการกราบไหว้ เป็นต้น ของภิกษุปกติ (คือผู้ไม่ต้องอาบัติ) พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงวางข้อกำหนด มิให้ภิกษุผู้อยู่ปริวาสยินดีการกราบไหว้, การนำที่นอนมาให้, การล้างเท้า, การตั้งตั่งรองเท้า, การตั้งกระเบื้องเช็ดเท้า, การรับบาตรจีวร, การถูหลังในเวลาอาบน้ำ. ถ้าขืนยินดีให้ผู้อื่นทำให้แก่ตนเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ. ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ปริวาสด้วยกันปฏิบัติแสดงความเคารพเอื้อเฟื้อต่อ กันดังกล่าวข้างต้นได้ตามลำดับพรรษา และทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่ปริวาสด้วยกันทำอุโบสถ, ปวารณา, รับแจกผ้าอาบน้ำฝน, รับโอนอาหาร, รับแจกอาหารได้ตามลำดับพรรษา.

วัตร ๙๔ ข้อของผู้อยู่ปริวาส

ทรงแสดงวัตร ๙๔ ข้อของภิกษุผู้อยู่ปริวาส หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตัดสิทธิต่าง ๆ ห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ รวมทั้งสิ้น ๙๔ ข้อ (แต่ในที่นี้ จะเก็บใจความมากล่าวพอให้เห็นเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้)

๑. ไม่ให้ทำการในหน้าที่พระเถระ แม้เป็นเถระมีหน้าที่อย่างนั้นอยู่ก็เป็นอันระงับชั่วคราว เช่น ห้ามบวชให้ผู้อื่น, ห้ามให้นิสสัย (รับผู้อื่นไว้ในปกครอง) เป็นต้น.

๒. กำลังถูกลงโทษเพราะอาบัติใด ห้ามต้องอาบัตินั้นซ้ำ หรือต้องอาบัติอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน หรือที่เลวทรามกว่านั้น.

๓. ห้ามถือสิทธิแห่งภิกษุปกติ เช่น ไม่ให้มีสิทธิ ห้ามอุโบสถ หรือปวารณาแก่ภิกษุปกติ ห้ามโจทท้วงภิกษุอื่น ๆ เป็นต้น.

๔. ห้ามถือสิทธิอันจะพึงได้ตามลำดับพรรษา เช่น ไม่ให้เดินนำหน้า ไม่ให้นั่งข้างหน้าภิกษุปกติ เมื่อมีการแจกของ พึงยินดีของเลวที่แจกทีหลัง ทั้งนี้หมายรวมทั้งที่นั่ง ที่นอน และที่อยู่อาศัย

๕. ห้ามทำอาการของผู้มีเกียรติหรือเด่น เช่น มีภิกษุปกติเดินนำหน้า หรือเดินตามหลัง หรือให้เขาเอาอาหารมาส่ง ด้วยไม่ต้องการจะให้ใครรู้ว่ากำลังถูกลงโทษ.

๖. ให้ประจานตัว เช่น ไปสู่วัดอื่น ก็ต้องบอกอาบัติของตนแก่ภิกษุในวัดนั้น เมื่อภิกษุอื่นมาก็ต้องบอกอาบัติของตนนั้นแก่ภิกษุผู้มา จะต้องบอกอาบัติของตนในเวลาทำอุโบสถ เวลาทำปวารณา ถ้าป่วยไข้ต้องส่งทูตไปบอก.

๗. ห้ามอยู่ในวัดที่ไม่มีสงฆ์อยู่ (เพื่อป้องกันการเลี่ยงไปอยู่วัดร้าง ซึ่งไม่มีพระ จะได้ไม่ต้องประจานตัวแก่ใคร ๆ).

๘. ห้ามอยู่ร่วมในที่มุงอันเดียวกับภิกษุปกตินี้ เพื่อเป็นการตัดสิทธิทางการอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นชั่วคราว.

๙. เห็นภิกษุปกติ ต้องลุกขึ้นจากอาสนะ ให้เชิญนั่งบนอาสนะ ไม่ให้นั่ง หรือยืนเดินในที่ หรือในอาการที่สูงกว่าภิกษุปกติ.

๑๐. แม้ในภิกษุผู้ถูกลงโทษด้วยกันเอง ก็ไม่ให้อยู่ร่วมในที่มุงเดียวกัน รวมทั้งไม่ให้ตีเสมอกันและกัน (ทางที่ดีไม่ให้มารวมกัน ให้ต่างคนต่างอยู่).

ตั้งแต่ข้อ ๖ ถึงข้อ ๑๐ ถ้าภิกษุฝ่าฝ้น การประพฤติตัวของเธอเพื่อออกจากอาบัติ ย่อมเป็นโมฆะ มีศัพท์เรียกว่าวัตตเภท (เสียวัตร) และรัตติเฉท (เสียราตรี) วันที่ล่วงละเมิดนั้น มิให้นับเป็นวันสมบูรณ์ในการเปลื้องโทษ จะต้องทำใหม่และนับวันใหม่ในการรับโทษแก้ไขตัวเอง.

๑๑. ในการทำสังฆกรรมเกี่ยวกับการให้ปริวาส, การชักเข้าหาอาบัติเดิม ซึ่งต้องการสงฆ์ ๔ รูป ห้ามภิกษุที่ถูกลงโทษเข้าร่วมกรรมเป็นองค์ที่ ๔ ถ้ามีภิกษุปกติ ๔ รูป แล้วภิกษุที่ถูกลงโทษเข้าร่วมได้ ไม่เสียกรรม และในการสวดถอนอาบัติสังฆาทิเสสของภิกษุอื่น ซึ่งต้องการสงฆ์ ๒๐ รูป ภิกษุที่ถูกลงโทษจะเข้าร่วมเป็นองค์ที่ ๒๐ ไม่ได้ ต้องมีภิกษุปกติครบ ๒๐ รูป จึงใช้ได้.

ต่อจากนี้ไป ได้แสดงถึง ภิกษุที่ถูกลงโทษในลำดับต่าง ๆ กันว่า จะต้องประพฤติวัตรเหมือนภิกษุผู้อยู่ปริวาส คือ

๑. ภิกษุที่ควรชักเข้าอาบัติเดิม (เพราะต้องอาบัติทำนองเดียวกันเข้าอีก ในระหว่างประพฤติตนเพื่ออกจากอาบัตินั้น).

๒. ภิกษุผู้ควรแก่มานัตต์ (พราะอยู่ปริวาสเสร็จแล้วหรือเพราะไม่ได้ปิดอาบัติไว้).

๓. ภิกษุผู้ประพฤติมานัตต์ (คือกำลังประพฤติมานัตต์อยู่).

๔. ภิกษุผู้ควรแก่อัพภาน คือควรจะสวดถอนจากอาบัติได้แล้ว (เพราะอยู่ปริวาส และประพฤติมานัตต์เสร็จแล้ว).

การเสียราตรี (รัตติเฉท)

พระอุบาลีได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องการเสียราตรี (รัตติเฉท) ของภิกษุผู้อยู่ปริวาส หรือประพฤติมานัตต์แล้วล่วงละเมิดข้อห้ามว่าจะมีต่างกันอย่างไร พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า การเสียราตรีของภิกษุผู้อยู่ปริวาส มีเพราะเหตุอยู่ ๓ อย่าง คือ ๑. อยู่รวมในชายคาเดียวกับภิกษุอื่น ๒. อยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุ ๓. ไม่บอกหรือประจานตัวเองเกี่ยวกับอาบัตินั้นแก่ภิกษุ หรือแก่สงฆ์ แล้วแต่กรณี. ส่วนการเสียราตรีของภิกษุผู้ประพฤติมานัตต์มี ๔ อย่าง คือ ๓ ข้อแรกเหมือนกับของภิกษุผู้อยู่ปริวาส เฉพาะในข้อ๔ คือประพฤติมานัตต์ในสงฆ์ที่ไม่เต็มคณะ (คือระหว่างประพฤติมานัตต์ สงฆ์ในวัดนั้นลดจำนวนลงน้อยกว่า ๔ ไม่ได้).

การเก็บปริวาสและเก็บมานัตต์๑

ในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น อันทำให้ไม่สามารถอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์ได้สะดวก เช่น สงฆ์มาประชุมกันมากมาย จะเที่ยวบอกประจานตัวเองให้หมดสิ้นทั่วถึงไม่ไหว ก็ทรงอนุญาตให้เก็บปริวาส หรือมานัตต์ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นปกติแล้ว จึงสมาทาน คือถือการอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์ต่อไปใหม่.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 14:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


๓. สมุจจยขันธกะ
(หมวดว่าด้วยการรวบรวมเรื่องการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส)

ในหมวดนี้แสดงวิธีออกจากอาบัติสังฆาทิเสส โดยเล่าเรื่องพระอุทายีปรึกษาสงฆ์ว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วจะควรปฏิบัติ อย่างไร (คล้ายเป็นการตั้งตุ๊กตาให้เห็นวิธีปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนจบ) มีการแสดงรายละเอียด ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสแนะดังต่อไปนี้

๑. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อเดียว ไม่ได้ปกปิด ให้ขอมานัตต์ ให้สวดประกาศให้มานัตต์ เมื่อประพฤติมานัตต์เสร็จแล้ว ให้ขออัพภาน (ขอให้สงฆ์สวดถอนจากอาบัติ) ให้สวดประกาศถอนจากอาบัติให้.

๒. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อเดียว ปิดไว้วันเดียว ให้ขอปริวาส ๑ วัน เสร็จแล้วจึงขอมานัตต์ แล้วดำเนินการต่อไปตามลำดับเหมือนข้อ ๑.

๓. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อเดียว แต่ปิดไว้ ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ๔ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ให้ขอปริวาส ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน ตามควรแก่เหตุ แล้วขอมานัตต์ และดำเนินการต่อไปตามลำดับเหมือนข้อ ๑.

๔. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ ๕ วัน ขอปริวาส ๕ วัน ระหว่างอยู่ปริวาส ต้องอาบัติข้อนั้นอีก ให้ชักเข้าหาอาบัติเดิม โดยขอต่อสงฆ์ ให้ชักเข้าหาอาบัตเดิมแล้วขอปริวาสใหม่ อยู่ปริวาสอีก๕ วัน แล้วจึงทำต่อไปตามลำดับเหมือนข้อ ๑.

๕. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ ๑ ปักษ์ (๑๕ วัน) ให้ขอปริวาส ๑ ปักษ์ ระหว่างที่อยู่ปริวาสต้องอาบัติเดิมอีก ปิดไว้ ๕ วัน ให้ขอต่อสงฆ์ เพื่อชักเข้าหาอาบัติเดิม เริ่มต้นขอปริวาสใหม่ โดยรวมกับอาบัติที่ปิดไว้เดิม (เมื่อรวมกันก็นับข้างมากเพียงฝ่ายเดียว คือ ๑๕ วัน). ต่อมาเมื่อเธออยู่ปริวาสเสร็จแล้วขอประพฤติมานัตต์ ระหว่างที่ประพฤติมานัตต์ ต้องอาบัติข้อเดิมซ้ำอีก ให้สงฆ์ชักเข้าหาอาบัติเดิม คือต้องเริ่มต้นอยู่ปริวาสใหม่ (อีก ๑๕ วัน) แล้วจึงขอมานัตต์ ประพฤติมานัตต์ใหม่ จนสวดถอนในที่สุด.

นอกจากนี้ได้แสดงตัวอย่างอื่นอีกหลายข้อที่เกิดปัญหาสลับซับซ้อนในระหว่าง ประพฤติมานัตต์บ้าง ในกรณีอื่น ๆ บ้าง. (ถ้าภิกษุรูปใดประพฤติยุ่งยากแบบนี้ คือขณะออกจากอาบัติก็ออกไม่ได้สักที กลับทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในทางปฏิบัติ ก็อาจขับไล่ คือลงปัพพาชนียกรรมได้ เพราะศีลวิบัติ แต่ในที่นี้พระผู้มีพระภาคทรงแนะให้แก้ปัญหาเฉพาะในทางวิธีการออกจากอาบัติ คล้ายเป็นการเฉลยข้อกฎหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะมิได้ยกเอาข้ออื่น มาตัดบท. อย่างไรก็ตาม เรื่องราวในสมุจจยขันธกะนี้เท่ากับ เป็นประมวลแบบปฏิบัติในเรื่องออกจากอาบัติสังฆาทิเสสที่มีปัญหาสลับซับซ้อน แสดงคำบาลีสำหรับสวดประกาศไว้อย่างพิสดาร).




๔. สมถขันธกะ (หมวดว่าด้วยวิธีระงับอธิกรณ์)๑

ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวก ๖) ทำกรรมประเภทลงโทษแก่ภิกษุทั้งหลายที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้า (เป็นการทำลับหลัง) คือตัชชนียกรรม (ข่มขู่) บ้าง, นิยสกรรม (ถอดยศหรือตัดสิทธิ) บ้าง, ปัพพาชนียกรรม (ขับไล่) บ้าง, ปฏิสารณียกรรม (ให้ขอขมาคฤหัสถ์) บ้าง, อุกเขปนียกรรม (ยกเสียจากหมู่ไม่ให้ใครคบ) บ้าง. มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามทำการลับหลังผู้ถูกลงโทษ ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ทำเช่นนั้น.

๑. สัมมุขาวินัย (การระงับต่อหน้า)

ทรงแสดงภิกษุที่เป็นบุคคลฝ่ายไม่ดี ๓ ประเภท คือ ๑. บุคคล (คนเดียว) ๒. บุคคลหลายคน ๓. สงฆ์ (๔ รูปขึ้นไป) ที่พูดไม่เป็นธรรม ฝ่ายหนึ่ง กับทรงแสดงภิกษุที่เป็นบุคคลฝ่ายดี ๓ ประเภท คือ ๑. บุคคล (คนเดียว) ๒. บุคคลหลายคน ๓. สงฆ์ (๔ รูปขึ้นไป) ที่พูดเป็นธรรมอีกฝ่ายหนึ่ง.

ฝ่ายที่พูดไม่เป็นธรรม แม้จะระงับเรื่องที่เกิดขึ้นในที่พร้อมหน้า ก็เรียกว่าสัมมุขาวินัยเทียมและระงับอย่างไม่เป็นธรรม. ฝ่ายที่พูดเป็นธรรม ระงับเรื่องที่เกิดขึ้น เรียกว่าสัมมุขาวินัย และระงับอย่างเป็นธรรม.

พระทัพพมัลลบุตรทำงานให้สงฆ์

พระทัพพมัลลบุตรได้บรรลุอรหัตตผลตั้งแต่อายุยังน้อย ท่านปรารถนาจะทำประโยชน์แก่สงฆ์ จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอรับทำหน้าที่เป็นผู้จัดเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) และแสดงภัตต์ (จัดภิกษุไปฉันในที่นิมนต์). พระผู้มีพระภาคทรงเห็นชอบด้วย จึงตรัสให้เรียกประชุมสงฆ์ ขอมติสวดประกาศแต่งตั้งพระทัพพมัลลบุตรเป็นผู้จัดเสนาสนะ (เสนาสนคาหาปกะ) และผู้แสดงภัตต์ (ภัตตุทเทสกะ) เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงเป็นอันประกาศแต่งตั้ง. เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้วปรากฏว่าได้จัดเสนาสนะได้ดีและเรียบร้อย ถึงกับมีภิกษุมาแกล้งให้จัดในที่ต่าง ๆ กัน ซึ่งอยู่ห่างไกลกันทีละหลาย ๆ รูป เพื่อจะดูความสามารถ แต่ท่านก็จัดได้เรียบร้อยอย่างน่าอัศจรรย์.

ส่วนการจัดแบ่งภิกษุไปรับอาหารก็ทำได้เรียบร้อย แต่มีภิกษุพวกหนึ่งซึ่งเป็นพวกภิกษุเมตติยะ และภุมมชกะไม่พอใจว่าตนไม่ค่อยได้รับอาหารดี ๆ (ความจริง เพราะเป็นผู้บวชใหม่ คนจึงไม่สนใจถวายอาหารดี ๆ เหมือนภิกษุอื่น). ภิกษุพวกนั้นเข้าใจผิดว่า พระทัพพมัลลบุตรกลั่นแกล้งจึงหาเรื่องให้นางเมตติยาภิกษุณีแกล้งใส่ความหา ว่าข่มขืนนาง. เมื่อไต่สวนได้ความสัตย์แล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงจัดการให้สึกนางเมตติยาภิกษุณี แม้ภิกษุที่ก่อเรื่องจะขอรับผิดแทนว่าตนเป็นผู้ต้นคิด ก็ไม่มีการผ่อนผัน.

๒. สติวินัย (การระงับด้วยยกให้ว่าเป็นผู้มีสติ)

พระผู้มีพระภาคจึงทรงแนะวิธีระงับอธิกรณ์ชนิดนี้ซึ่งเกิดขึ้นแก่พระอรหันต์ ให้สงฆ์สวดประกาศ ให้สติวินัยแก่พระทัพพมัลลบุตร แล้วทรงแสดงเงื่อนไข ๕ ประการ ในการให้สติวินัย คือ ๑. ภิกษุผู้ถูกโจทฟ้อง เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีอาบัติ ๒. มีผู้กล่าวฟ้องเธอ ๓. เธอขอสติวินัย ๔. สงฆ์ให้สติวินัยแก่เธอ ๕. สงฆ์พร้อมเพรียงกันให้โดยธรรม อย่างนี้ จึงเรียกว่าการให้สติวินัยอันเป็นธรรม.

๓. อมูฬหวินัย

ภิกษุชื่อคุคคะ เป็นบ้า ได้ทำความผิดหลายประการ มีผู้โจทฟ้อง พระผู้มีพระภาคจึงทรงแนะให้ระงับด้วยอมูฬวินัย โดยให้ผู้ถูกฟ้อง (ซึ่งหายแล้ว) ขออมูฬหวินัย และให้สงฆ์สวดประกาศให้อมูฬหวินัย เป็นอันระงับด้วยยกให้เป็นบ้าในขณะทำความผิด. แต่ก็ทรงวางเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าทำความผิดขณะที่รู้สึกตนและไม่เป็นบ้า แต่แก้ตัวว่าไม่รู้สึกตน หรือรู้สึกเหมือนฝัน หรือแก้ตัวอ้างความเป็นบ้าสงฆ์ให้อมูฬหวินัยแก่เธอ ดังนี้ เรียกว่าไม่เป็นธรรม ถ้าตรงกันข้าม คือทำไปในขณะเป็นบ้าไม่รู้สึกตัวจริง ๆ การให้อมูฬหวินัยจึงเป็นธรรม.

๔. ปฏิญญาตกรณะ (การระงับด้วยคำสารภาพของผู้ถูกฟ้อง)

ภิกษุฉัพพัคคีย์ลงกรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยไม่ฟังคำสารภาพของภิกษุเหล่านั้น มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามทำเช่นนั้น ถ้าฝ่าฝืน ต้องอาบัติทุกกฏ.

จึงทรงแสดงวิธีระงับอธิกรณ์ด้วยการรับสารภาพของจำเลยที่ไม่เป็นธรรมและที่ เป็นธรรม. ที่ไม่เป็นธรรม คือสารภาพผิดจากที่ทำลงไปจริง เช่น ต้องอาบัติหนัก สารภาพว่าต้องอาบัติรองลงมา หรือต้องอาบัติเบา สารภาพว่าต้องอาบัติหนัก. ส่วนที่เป็นธรรม คือต้องอาบัติอะไร ก็สารภาพถูกตรงตามนั้น.

๕. เยภุยยสิกา (การระงับด้วยถือเสียงข้างมาก)

ภิกษุทั้งหลายทะเลาะวิวาทกัน พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ระงับอธิกรณ์ชนิดนี้ด้วยถือเอาเสียงข้ามาก ให้สมมติภิกษุผู้ให้จับสลาก (คำว่า สลาก แปลว่า ซี่ไม้สำหรับใช้ลงคะแนน) ภิกษุผู้ให้จับสลาก จะต้องประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ไม่ลำเอียงเพราะรัก, เพราะเกลียด, เพราะหลง, เพราะกลัว และรู้ว่าอย่างไรเป็นอันจับ อย่างไม่เป็นอันจับ (คุมการลงคะแนนได้ดี). แล้วให้สวดประกาศแต่งตั้ง ภิกษุผู้ให้จับสลากเป็นการสงฆ์.

แล้วทรงแสดงการจับสลาก (ลงคะแนน) ที่ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม อย่างละ ๑๐ ประการ คือ ๑. เป็นเรื่องเล็กน้อย ๒. ไม่ลุกลามไปสู่วัดอื่น ๓. ไม่ต้องคิดแล้วคิดเล่า ๔. รู้ว่าผู้กล่าวไม่เป็นธรรมมีมากกว่า ๕. รู้ว่าผู้กล่าวไม่เป็นธรรมอาจมีมากกว่า ๖. รู้ว่าสงฆ์จะแตกกัน (ถ้าขืนลงมติ) ๗. รู้ว่าสงฆ์อาจแตกกัน ๘. จับสลากโดยไม่เป็นธรรม ๙. จับสลากเป็นพวก ๆ (ไม่เรียงทีละคน) ๑๐. มิได้จับสลากตามความเห็นของตน อย่างนี้เรียกว่าไม่เป็นธรรม. ส่วนที่เป็นธรรมคือที่ตรงกันข้าม.

๖. ตัสสปาปิยสิกา (การระงับด้วยการลงโทษ)

ภิกษุชื่ออุปวาฬะ ถูกฟ้องด้วยเรื่องต้องอาบัติในที่ประชุมสงฆ์ ปฏิเสธแล้วกลับรับ รับแล้วกลับปฏิเสธ ให้การกลับกลอก กล่าวเท็จทั้ง ๆ รู้. พระผู้มีพระภาคทรงทราบจึงทรงแนะให้สงฆ์ใช้วิธีตัสสปาปิยสิกา คือให้สวดประกาศเป็นการสงฆ์ลงโทษจำเลย (ตามควรแก่อาบัติ).

ทรงแสดงการทำตัสสปาปิยสิกากรรม ที่เป็นธรรมว่า ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ๑. ภิกษุเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ ๒. เป็นผู้ไม่มียางอาย ๓. มีผู้โจทฟ้อง ๔. สงฆ์ทำตัสสปาปิยสิกากรรม (ลงโทษ) แก่เธอ ๕. สงฆ์พร้อมเพรียงกันลงโท ษโดยธรรม.

อนึ่ง ทรงแสดงลักษณะการทำกรรมชนิดนี้ไม่เป็นธรรมและที่เป็นธรรม ตามแบบที่ทรงแสดงไว้ ในเรื่องดัชชนียกรรม, ทรงแสดงลักษณะที่สงฆ์ควรลงโทษชนิดนี้ และการเสียสิทธิของภิกษุผู้ต้องโทษชนิดนี้ เช่นเดียวกับดัชชนียกรรม.

๗. ติณวัตถารกะ (การระงับด้วยให้เลิกแล้วกันไป)

ภิกษุทั้งหลายทะเลาะวิวาทกัน และเห็นว่าถ้าขืนทะเลาะวิวาทกันต่อไป เรื่องก็จะลุกลามเลวร้าย ถึงกับแตกแยกกัน พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ระงับอธิกรณ์ชนิดนี้ ด้วยให้เลิกแล้วกันไป (ติณวัตถารกะ).

ทรงแสดงวิธีสวดประกาศขอมติในที่ประชุมสงฆ์ให้เป็นอันพ้นอาบัติด้วยกันทั้ง สองฝ่าย โดยมีภิกษุรูปหนึ่งแต่ละฝ่ายที่เสนอญัตตินั้นเป็นผู้แสดงแทน เว้นอาบัติหนัก, เว้นอาบัติที่เนื่องด้วยคฤหัสถ์, เว้นผู้แสดงความเห็นแย้ง, เว้นผู้ไม่ได้ประชุมอยู่ในที่นั้น (คือมีผู้ขาดประชุม).

อธิกรณ์ ๔

อธิกรณ์มี ๔ คือ ๑. วิวาทาธิกรณ์ การวิวาทกันในเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ๒. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทฟ้องกันด้วยศีลวิบัติ เป็นต้น ๓. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ และ ๔. กิจจาธิกรณ์ เรื่องที่สงฆ์จะต้องจัดต้องทำที่เป็นสังฆกรรม.

ครั้นแล้วทรงแสดงลักษณะของอธิกรณ์แต่ละอย่าง พร้อมทั้งมูลเหตุโดยพิสดาร ในที่สุดตรัสสรุปว่า อธิกรณ์แต่ละอย่างจะระงับได้ด้วยสมถะ (วิธีระงับ) อะไรบ้าง ดังนี้

๑. วิวาทาธิกรณ์ การวิวาทกันในเรื่องเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ย่อมระงับด้วยวิธีระงับ ๒ ประการ คือ ๑. ระงับในที่พร้อมหน้า (สัมมุขาวินัย) ๒. ระงับโดยถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ (เยภุยยสิกา).

๒. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทฟ้องกันด้วยศีลวิบัติ (ความเสียหายเกี่ยวกับศีล) อาจารวิบัติ (ความเสียหายเกี่ยวกับความประพฤติ) ทิฏฐิวิบัติ (ความเสียหายเกี่ยวกับความเห็น) และอาชีววิบัติ (ความเสียหายเกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ) ระงับด้วยวิธีระงับ ๔ ประการ คือ ๑. ระงับในที่พร้อมหน้า (สัมมุขาวินัย) ๒. ระงับด้วยยกให้ว่ามีสติ (สติวินัย) ๓. ระงับด้วยยกให้ว่าเป็นบ้า (อมูฬหวินัย) ๔. ระงับด้วยการลงโทษ (ตัสสปาปิยสิกา).

๓. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติต่าง ๆ ระงับด้วยวิธีระงับ ๓ ประการ คือ ๑. ระงับในที่พร้อมหน้า (สัมมุขาวินัย) ๒. ระงับด้วยถือคำสารภาพ (ปฏิญญาตกรณะ) ๓. ระงับด้วยให้เลิกแล้วกัน (ติณวัตถารกะ).

๔. กิจาธิกรณ์ เรื่องที่สงฆ์จะต้องจัดต้องทำที่เป็นสังฆกรรม ระงับด้วยวิธีระงับประการเดียว คือระงับในที่พร้อมหน้า (สัมมุขาวินัย).

ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้รื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ชำระเสร็จไปแล้ว และปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุ ผู้ให้ฉันทะแล้วบ่นว่าในภายหลัง (เว้นแต่อธิกรณ์นั้นชำระไม่เป็นธรรม).๒

๑. อธิกรณ์ คือเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว จะต้องจัดต้องทำ แบ่งออกเป็น ๔ อย่าง ดังจะกล่าวในหมวดนี้ ซึ่งมีพระพุทธภาษิตอธิบายไว้ด้วย
๒. ดูหน้า ๑๗๔ สิกขาบทที่ ๓ และหน้า ๑๗๗ สิกขาบทที่ ๙


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 15:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๗ ชื่อจุลลวัคค์ ( เป็นพระวินัยปิฏก )
หน้า ๑

ได้กล่าวแล้วว่า จุลวัคค์มี ๒ เล่ม คือเล่ม ๖ กับเล่ม ๗ เล่ม ๖ ที่ย่อมาแล้วมี ๔ หมวด หรือ ๔ ขันธกะ ในเล่ม ๗ มี ๘ หมวด หรือ ๘ ขันธกะ ดังต่อไปนี้ :-

๑. ขุททกวัตถุขันธกะ (หมวดว่าด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ) เรื่องที่กล่าวในหมวดนี้เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด เช่น ข้อปฏิบัติในเวลาอาบน้ำ , การดูมหรสพ, ข้อห้ามและอนุญาตที่เกี่ยวกับบาตร เป็นต้น จนถึงเรื่องเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ, ทำด้วยไม้และทำด้วยดินเหนียว,

๒. เสนาสนขันธกะ ( หมวดว่าด้วยที่อยู่อาศัย ) ในหมวดนี้กล่าวถึงเรื่องสถานที่อยู่อาศัย, เครื่องใช้ เช่น เตียงตั่ง , ผ้าปูนั่งปูนอน, เครื่องใช้ประจำในที่อยู่ ตลอดจนการก่อสร้าง เป็นต้น.

๓. สังฑเภทขันธกะ (หมวดว่าด้วยสงฆ์แตกกัน) เล่าเรื่องพระเทวทัตคิดประทุษร้ายพระพุทธเจ้าแต่ไม่สำเร็จ จนถึงเหตุการณ์ที่ทำให้พระเทวทัตอาเจียนเป็นโลหิต และเรื่องการสงฆ์ให้แตกกัน พร้อมทั้งข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับการที่สงฆ์แตกกัน.

๔. วัตตขันธกะ (หมวดว่าด้วยวัตรหรือข้อปฏิบัติ) ว่าด้วยวัตรหรือข้อปฏิบัติต่าง ๆ ๑๓ เรื่องข้อปฏิบัติของภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะ, ข้อปฏิบัตของภิกษุผู้เป็นเจ้าของถิ่น, ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้จะเดินทางจากไป, ข้อปฏิบัติในโรงอาหาร, ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้บิณฑบาต, ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้อยู่ป่า, ข้อปฏิบัติเนื่องด้วยที่อยู่อาศัย, ข้อปฏิบัติในเรือนไฟ, ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวัจจกุฏิ (ส้วม), ข้อปฏิบัติต่ออุปชฌายะ, ข้อปฏิบัติต่อสัทธิวิหาริก, ข้อปฏิบัติต่ออาจาย์ , ข้อปฏิบัติต่ออันเตวาสิก,

๕. ปาฏิโมกขฐปนขันธกะ (หมวดว่าด้วยการงดหรือหยุดสวดปาฏิโมกข์) กล่าวถึงการหยุดสวดปาฏิโมกข์ เพราะมีภิกษุผู้ไม่บริสุทธิ์ปนอยู่ด้วย พร้อมทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ เป็นอันมาก.

๖ ภิกขุณีขันธกะ (หมวดว่าด้วยนางภิกษุณี) กล่าวถึงความเป็นมาของนางภิกษุณี และข้อปฏิบัติ ข้อห้าม ข้ออนุญาตต่าง ๆ เกี่ยวกับนางภิกษุณี

๗ ปัญจสติขันธกะ (หมวดว่าด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ ซึ่งทำสังคายนาครั้งที่ ๑) พรรณนาเหตุการณ์ภายหลังพุทธปรินิพพานถึงการทำสังคายนาครั้งที่ ๑

๘ สัตตสติกขัธกะ (หมวดว่าด้วยพระอรหันต์ ๗๐๐ ซึ่งทำสังคายนาครั้งที่ ๒) พรรณามูลเหตุและการดำเนินในการทำสังคายนาครั้งที่ ๒


ขยายความ

๑ ขุททกวัตถุขันธกะ
(หมวดว่าด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ)

เรื่องเกี่ยวกับการอาบน้ำ

ทรงปรารภการกระทำของภิกษุฉัพพัคคีย์ ซึ่งมีผู้ติเตียน จึงตรัสห้ามมิให้ภิกษุเอากายสีกับต้นไม้, สีกับเสา , สีกับข้างฝา ในขณะอาบน้ำ ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ล่วงละเมิด (เพราะชาวบ้านติว่าทำเหมือนนักมวยปล้ำ)

ทรงห้ามอาบน้ำเอากายสีที่แผ่นกระดาน ( ที่เขาทำเป็นตาหมากรุก แล้วเอาจุณโรยไว้ใช้สีกาย). อนึ่ง ทรงห้ามใช้เครื่องสีกายด้วยของไม่ควร เช่น ไม้ทำเป็นรูปมือ หรือจักเป็นฟันมังกร และกลียวเชือกที่คมเอาหลังต่อหลังสีกันก็ห้าม ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ล่วงละเมิด (เพราะมีผู้ติเตียนว่าทำเหมือนอย่างคฤหัสถ์ผู้ปริโภคกาม). ทรงอนุญาตไม้ไม่จักเป็นซี่และให้ใช้เกลียวผ้า หรือฝ่ามือถูตัวได้.


ห้ามใช้เครื่องประดับแบบคฤหัสถ์

ทรงห้ามประดับกายด้วยตุ้มหู, สายสร้อย, สร้อยคอ, สร้อยเอว, เข็มขัด, บานพับ (สำหรับรัดแขน) , กำไลมือและแหวน. ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ทำเช่นนั้น.


ข้อห้ามเกี่ยวกับผม

ทรงห้ามไว้ผมเกิน ๒ เดือน หรือไว้ผมเกิน ๒ นิ้ว. อนึ่ง ทรงห้ามใช้แปรง, ใช้หวี, ใช้มือต่างหวี, ใช้น้ำมันเจือน้ำใส่ผม ซึ่งเป็นอย่างคฤหัสถ์ผู้ปริโภคกาม ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ทำเช่นนั้น.


ข้อห้ามเกี่ยวกับการส่องกระจกหรือแว่น

ทรงห้ามมองดูเงาหน้าในแว่น (โลหะขัดเงา) หรือในภาชนะน้ำ ( เพราะชาวบ้านติเตียนว่าทำเหมือนคฤหัสถ์ผู้ปริโภคกาม) มีเหตุสมควร เช่น เป็นแผลที่หน้า ทรงอนุญาตให้ดูได้.


ข้อห้ามทาหน้าทาตัว

ทรงห้ามผัดหน้า, ไล้หน้า ( ใช้ฝุ่นละลายน้ำ ทาแห้งแล้วลูบให้เสมอ), ทาหน้า ( เช่น ทาแป้ง), เจิมหน้า, ย้อมตัว, ย้อมทั้งตัวทั้งหน้า, ทรงปรับอาบัติแก่กฏแก่ผู้ทำเช่นนั้น. ใช้ฝุ่นผัดหน้า เพื่อรักษาโรคได้. ( ในเรื่องกล่าวว่า รักษาโรคตา ฝุ่นนั้นคงผสมยาบางอย่าง).


ห้ามดูฟ้อนรำและห้ามขับด้วยเสียงอันยาว

ทรงห้ามไปดูฟ้อนรำขับร้อง ทรงห้ามขับธรรมด้วยเสียงขับอันยาว ทรงแสดงโทษ ๕ ประการ ( ดูหน้า ๖๙ หมายเลข ๖๕ ) แต่ทรงอนุญาตให้สวดสรภัญญะ (สวดใช้เสียงที่ไม่เสียสมณสารูป).


ห้ามใช้ผ้าขนเเกะ

ทรงห้ามใช้ผ้าขนแกะที่มีขนอยู่ภายนอก ซึ่งคฤหัสถ์ใช้กัน ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ล่วงละเมิด.


ข้อห้ามและอนุญาตเกี่ยวกับผลไม้

ทรงห้ามฉันมะม่วง เพราะภิกษุฉัพพัคคีย์ให้คนสอยมะม่วงในพระราชอุทยานของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งอนุญาตให้ฉันผลไม้ได้ จนพระเจ้าพิมพิสารจะเสวยเองก็ไม่ได้เสวย. ฝานเปลือกมะม่วงใส่แกง อนุญาตให้ฉันได้. ในที่สุดทรงอนุญาตให้ฉันผลไม้ได้ทุกชนิด ถ้าเป็นของควรแก่สมณะ ๕ อย่าง คือเอาไฟจี้, เอามีดกรีด, เอาเล็บจิก (หมายถึงคนที่คนอื่นทำให้) , ผลไม้ที่ไม่มีเมล็ด, ผลไม้ที่ปล้อนเปลือกออกแล้ว ( การฉันผลไม้ในครั้งพุทธกาล คงใช้ขบเคี้ยว เพื่อรักษาประเพณีที่ว่า นักบวชไม่ควรทำลายพืชตามความนิยมของคนในครั้งนั้น จึงต้องมีข้อกำหนดให้ทำให้ควรก่อน).


ตรัสสอนให้แผ่เมตตา

ภิกษุถูกงูกัด ถึงแก่มรณภาพ จึงตรัสสอนให้แผ่เมตตาในสกุลพญางูทั้งสี่ รวมทั้งหมู่สัตว์ทั้งหลายไม่เลือกว่า ๒ เท้า ๔ เท้า มีเท้ามากหรือไม่มีเท้า ขอให้สัตว์เหล่านั้นจงพบเห็นแต่สิ่งที่ดีงาม.


ห้ามตัดองคชาต

ภิกษุรูปหนึ่งเกิดความกำหนัด จึงตัดองคชาตทิ้ง พระผู้มีพระภาคทรงติเตียน และทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามตัดองคชาต ถ้าตัด ต้องอาบัติถุลลัจจัย.


ข้อห้ามและอนุญาตเกี่ยวกับบาตร

ทรงปรารภพระปิณโฑล ภารัทวาชะ ผู้ได้บาตรไม้จันทน์มา เพราะแสดงอำนาจจิต เหนือเจ้าลัทธิทั้งหก พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามแสดงอิทธิปฏิหาริย์แก่คฤหัสถ์ ถ้าแสดงต้องอาบัติทุกกฏ. อนึ่ง ทรงสั่งให้ทำลายบาตรไม้จันทน์นั้น เพื่อใช้การอย่างอื่น เช่น บดเป็นยาหยอดตา แล้วตรัสห้ามใช้บาตรไม้ และปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ใช้.

อนึ่ง ทรงห้ามใช้บาตรที่ทำด้วยทอง, เงิน, แก้วมณี, แก้วไพฑูรย์, แก้วผลึก, สำริด, แก้วหุง, ดีบุก, สังกะสี, ทองแดง, รวมเป็น ๑๑ ทั้งบาตรไม้) ทรงอนุญาตบาตรสองชนิด คือบาตรเหล็กและบาตรดิน.

ทรงอนุญาตให้ใช้เชิงบาตร (เพื่อกันก้นบาตรเสียดสี) แต่ไม่อนุญาตเชิงบาตร ที่ทำด้วยทอง เงิน หรือวิจิตรงดงาม ทรงอนุญาตที่ทำด้วยดีบุกหรือสังกะสี.

ทรงห้ามเก็บบาตรทั้งที่ยังเปียกน้ำ ทรงอนุญาตให้ตากแดดหรือเช็ดให้หมดน้ำ ตากแล้วจึงเก็บบาตร ทรงห้ามเก็บบาตรไว้กลางแดด ทรงอนุญาตให้ตากไว้กลางแดดครู่หนึ่งแล้วจึงเก็บ.

ทรงอนุญาตที่รองบาตร เพื่อกันบาตรถูกลมพัดกลิ้งไปแตก, ทรงห้ามเก็บบาตรบนพนัก บนพรึง ( ชานนอกพนัก) . ทรงอนุญาตเครื่องรองบาตรเวลาคว่ำบาตร (ไม่ให้ปากบาตรครูดกับพื้น) เป็นเครื่องรองหญ้าหรือผ้าก็ได้.

ทรงอนุญาตชั้นเก็บบาตร (เพื่อกันปลวกขึ้นผ้าหรือเสื่อที่รองบาตร) , ทรงอนุญาตภาชนะปากกว้าง สำหรับวางบาตร ( เพื่อกันบาตรกลิ้งลงมาจากชั้น) , ทรงอนุญาตถุงบาตร ( เพื่อกันมิให้ก้นบาตรครูดกับภาชนะสำหรับเก็บ), ทรงห้ามแขวนบาตร ( ไว้กับสิ่งที่ยื่นออกมาจากข้างผา เช่น ลูกประสัก), ทรงห้ามเก็บบาตรไว้บนเตียง, บนตั่ง, บนตัก, บนร่ม ( เพื่อกันแตก), อนึ่ง ทรงห้ามผลักบานประตูเมื่อยังถือบาตรอยู่ และห้ามใช้กะทะดิน, กะโหลกน้ำเต้า, กะโหลกหัวผีต่างบาตร นอกจากนั้นยังทรงห้ามทิ้งเศษอาหาร, ก้างปลา, กระดูกเนื้อ และน้ำเป็นเดน เช่น น้ำบ้วนปากลงในบาตร.


ทรงอนุญาตมีดและเข็ม

ต่อจากนั้น เล่าเรื่องทรงอนุญาตมีดสำหรับตัดผ้า พร้อมทั้งอนุญาตปลอกมีด และทรงอนุญาตด้ามมีดแต่ไม่อนุญาตด้ามที่ทำด้วยทอง เงิน วิจิตรงดงาม ทรงอนุญาตด้ามมีดที่ทำด้วยกระดูก, งา, เขาสัตว์, ไม้อ้อ, ไม้ไผ่, ไม้, ยางไม้, ผลไม้, โลหะและขนดสังข์.

ภิกษุสมัยนั้นใช้ขนไก่บ้าง ซี่ไม้ไผ่บ้างเย็บจีวร ปรากฏว่าไม่เรียบร้อย จึงทรงอนุญาตเข็ม และเพื่อป้องกันเข็มเป็นสนิม ทรงอนุญาตกล่องเข็ม และผงที่ใส่ลงไปกับสนิม รวมทั้งอนุญาตให้สอดเข็มไว้ในขี้ผึ้ง.


ทรงอนุญาตและห้ามเกี่ยวกับไม้แบบหรือสดึง

ทรงอนุญาตไม้แบบหรือไม้สดึง และเชือกขึงรัดจีวรเข้ากับไม้สะดึงแล้วเย็บ ตลอดจนวิธีการต่าง ๆ เพื่อเย็บให้การเย็บผ้าเป็นไปโดยเรียบร้อย.

ทรงห้ามเหยียบไม้แบบ ทั้งที่ยังมิได้ล้างเท้า แม้เท้ายังเปียกอยู่ก็ห้ามเหยียบ รวมทั้งห้ามเหยียบไม้แบบทั้งที่ใส่รองเท้า.

ทรงอนุญาตสนับนิ้ว (เพื่อกันเข็มตำนิ้วในขณะเย็บผ้า) แต่ไม่อนุญาตสนับนิ้วที่ทำด้วยทอง เงิน ทรงอนุญาตเช่นเดียวกับด้ามมีด คือที่ทำด้วยกระดูก เป็นต้น . ทรงอนุญาตที่ใส่เข็มขัด มีด และสนับนิ้ว และถุงใส่สนับนิ้ว ด้ายสำหรับคล้องบ่า ( เวลานำเครื่องใช้เหล่านั้นติดตัวไป).

ทรงอนุญาตโรงไม้แบบ (กฐินศาลา) และมณฑปไม้แบบ และทรงอนุญาตให้ยกพื้นกันน้ำท้วม ทรงอนุญาตให้ก่อยกพื้นด้วยอิฐ, ศิลา หรือไม้ ทรงอนุญาตให้มีบันไดและราวบันได ( เพื่อขึ้นสู่ยกพื้น).

ผงหญ้าในโรงไม้แบบตกลงมา (จากหลังคา) จึงทรงอนุญาตให้ใช้ไม้ระแนงถี่ และฉาบปูน และทาสีเป็นต้น ตลอดจนทรงอนุญาตให้มีห่วงแขวนจีวรและราวจีวร. อนึ่ง เมื่อเสร็จกฐินแล้ว ทรงอนุญาตให้เก็บไม้แบบให้ดี เช่น ให้มีไผ่หรือด้ามไม้ประกบข้างในเพื่อป้องกันไม้แบบแตก, ให้มีเชือกรัด , ให้แขวนไม้แบบไว้กับประสักหรือขอ ( เพื่อกันตก หรือดีกว่าพิงไว้ซึ่งอาจจะล้มลงมาแตก ).


ทรงอนุญาตถุงใส่ของ สายคล้องบ่า ผ้ากรองน้ำ และมุ้ง

ทรงอุนญาตถุงใส่ยา ถุงใส่รองเท้า และสายสำหรับคล้องบ่า, ทรงอนุญาตให้ใช้ผ้ากรองน้ำ, ผ้ากรองมีด้ามและกระบอกกรองน้ำ เมื่อภิกษุอื่นขอใช้ผ้ากรองน้ำ ภิกษุที่ถูกขอไม่ให้ ต้องอาบัติทุกกฏ, ภิกษุเดินทางไกล ไม่มีผ้ากรองน้ำ ต้องอาบัติทุกกฏ ถ้าไม่มีผ้ากรองน้ำหรือกระบอกกรองน้ำ ให้อธิษฐานชายผ้าสังฆาฏิเป็นผ้ากรอง . ในการก่อสร้างทรงอนุญาตเครื่องกรองน้ำขนาดใหญ่ ๒ ชนิด, และทรงอนุญาตมุ้งสำหรับกันยุง.


ทรงอนุญาตการจงกรมและเรือนไฟ เป็นต้น

ทรงปรารภคำแนะนำของหมอชีวก โกมารภัจจ์ จึงทรงอนุญาตการจงกรม (เดินไปมาอบรมจิตใจเป็นการออกกำลัง) และเรือนไฟสำหรับอบกาย ( ให้เหงื่อออกแบบอาบน้ำด้วยไอน้ำ) ต่อจากนั้นทรงอนุญาตให้ปรับปรุงที่จงกรมให้ดีขึ้น มีโรงจงกรมยกพื้นกันน้ำท้วม , บันได, รวมบันได. ส่วนเรื่อนไฟ ทรงอนุญาตส่วนประกอบและเครื่องปรับปรุงต่าง ๆ เช่น ปล่องไฟ , รางระบายน้ำเพื่อกันน้ำเฉอะแฉะ . ทรงห้ามภิกษุเปลือยกายไหว้กัน หรือถูหลังให้กัน ตลอดจนห้ามเปลือยกายให้ของ , รับของ, เคี้ยวอาหาร, ฉันอาหาร, ลิ้มรส, ดื่มน้ำ, ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้ทำเช่นนั้น.

ทรงปรารภน้ำดื่ม จึงอนุญาตให้มีน้ำดื่ม และทรงเครืองประกอบต่าง ๆ ในการนั้น เช่น ขันน้ำทำด้วยโลหะ ทำด้วยไม้ หรือหนังสัตว์ รวมทั้งโรงเก็บน้ำดื่ม ฝาปิดที่เก็บน้ำ รางน้ำ ตุ่มน้ำ.

ทรงอนุญาตที่อาบน้ำที่มีรางระบายน้ำ มีฝากั้น และทรงอนุญาตผ้าเช็ดตัว ๑. อนึ่ง ทรงอนุญาตสระน้ำและก่อขอบสระได้ด้วยอิฐ, ศิลา หรือไม้, ทรงอนุญาตให้มีบันได ราวบันได และทรงอนุญาตให้มี เหมืองน้ำท่อน้ำ (เพื่อระบายน้ำในสระ) ในที่สุด ทรงอนุญาตเรือนไฟมุงหลังคาเป็นรูปวงกลม๒.


เรื่องที่นั่ง ที่นอน และที่ใส่อาหาร

ทรงห้ามอยู่ปราศจากผ้าปูนั่งตลอด ๔ เดือน ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุล่วงละเมิด ๓. ทรงห้ามนอนบนที่นอนที่เกลี่ยด้วยดอกไม้ ทรงอนุญาตให้รับของหอมได้ โดยให้เจิม ๕ นิ้วไว้ที่บานประตู ทรงอนุญาตให้รับดอกไม้ได้ แต่ให้เก็บไว้ข้างในวิหาร. ทรงอนุญาตผ้าปูนั่งที่ทอด้วยขนสัตว์ และไม่ต้องอธิษฐาน (คือตั้งใจเอาไว้ใช้) หรือวิกัป ( ทำให้เป็นสองเจ้าของ).

ทรงห้ามฉันอาหารในลุ้ง (ภาชนะใส่อาหาร ที่ทำด้วยทองแดง หรือเงิน ฝรั่งสันนิษฐานว่าเป็นเก้าอี้นวมที่ประดับงดงาม ซึ่งไกลไปจากคำอธิบายของอรรถกถา). ภิกษุเป็นไข้ ไม่สามารถถือบาตรไว้ในมือขณะฉันได้ จึงทรงอนุญาตที่รองที่ทำด้วยไม้.


ห้ามฉันอาหาร ดื่มน้ำในภาชนะเดียวกัน เป็นต้น

ทรงห้ามฉันอาหารในภาชนะเดียวกัน, ห้ามดื่มน้ำในถ้วยเดียวกัน , ห้ามนอนร่วมกันบนเตียงเดียวกัน, บนผ้าปูนอนเดียวกัน. ในโปงเดียวกัน ( ใช้ผ้าห่มร่วมกัน ) เหมือนอย่างคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ล่วงละเมิด.


การลงโทษคว่ำบาตรแก่วัฑฒะลิจฉวี

วัฑฒะลิจฉวี เป็นพวกของพระเมตติยะและภุมมชกะ รู้ว่าพระพวกนั้นไม่ชอบพระทัพพมัลลบุตร ( ผู้เป็นพระอรหันต์ ) จึงวางอุบายกำจัดพระทัพพมัลลบุตร โดยไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่า พระทัพพลมัลลบุตรทำชู้ด้วยภริยาตน. พระผู้มีพระภาคทรงประชุมมสงฆ์ ไต่สวนได้ความเป็นสัตย์ว่า เป็นการแกล้งใส่ความกัน จึงทรงแนะสงฆ์ให้ลงโทษคว่ำบาตรแก่วัฑฒะลิจฉวี.

ทรงกำหนดองค์ ๘. สำหรับอุบาสกที่ควรคว่ำบาตร คือ ๑. ขวนขวายเพื่อเลื่อมลาภแก่ภิกษุ ๒. ขวนขวายเพื่อความเสียหายแก่ภิกษุ ๓. ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แก่ภิกษุ ๔. ด่า หรือบริภาษภิกษุ ๕. ทำภิกษุให้แตกกับภิกษุด้วยกัน ๖. ติเตียนพระพุทธ ๗ . ติเตียนพระธรรม และ ๘. ติเตียนพระสงฆ์.

ต่อจากนั้น ทรงแสดงวิธีสวดประกาศคว่ำบาตรโดยละเอียด . เมื่อพระอานนท์ไปแจ้งให้วัฑฒะลิจฉวีทราบว่า บัดนี้สงฆ์ได้คว่ำบาตร ไม่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว วัฑฒะลัจฉวีเสียใจถึงสลบ ๑. มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต จึงแนะนำให้ไปกราบทูล ขอขมาพระผู้มีพระภาค ซึ่งวิฑฒะลิจฉวีได้ปฏิบัติตาม . เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเห็นว่าวัฑฒะลิจฉวีสำนึกตนยอมรับผิด จึงตรัสแนะให้สงฆ์ประกาศหงายบาตร โดยให้วัฑฒะลิจฉวีเข้าไปกราบสงฆ์ขอให้หงายบาตร แล้วให้สงฆ์ประกาศหงายบาตร.

๑. อรรถกถาหมายถึงเมื่อขึ้นจากน้ำควรมีมี่รองเหยียบกันน้ำเลอะเทอะ ต่อไม่มีจึงให้ใช้ผ้า

๒. นลฺลเลขํ ชนฺตาฆรํ ในโบราณแปลกันว่า เรือนไฟไม่มีรอยมุง

๓. จากข้อนี้แสดงว่าผ้าปูนั่งเป็นบริขารจำเป็นสำหรับพระ เวลานั่งบนพื้นจีวรจะได้ไม่สกปรก ยิ่งอยู่ป่ายิ่งจำเป็นมาก

๑. การคว่ำบาตร คือไม่ยอมรับอาหารจากผู้นั้น ไม่ติดต่อเกี่ยวข้องด้วย ดูไม่น่ากระทบกระเทือนอะไร แต่เหตุไฉนจึงเสียใจสลบ? เห็นได้ว่า เป็นการเสื่อมเสียทางสังคมอย่างร้ายแรง วัฑฒะลิจฉวีจึงรีบแก้ไขอย่างไม่มีทิฏธิมานะต่อไปอีก


เล่มที่ ๗ ชื่อจุลลวัคค์ ( เป็นพระวินัยปิฏก )
หน้า ๒

เรื่องผ้าขาวที่ไม่ให้เหยียบและเหยียบได้

โพธิราชกุมารฉลองปราสาท นิมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉัน ทรงให้ปูผ้าขาวไว้ตลอดจนถึงชานบันได พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเหยียบ ( มีเกล็ดเล่าว่า โพธิราชกุมารอธิษฐานว่า ถ้าจะได้บุตรขอให้ทรงเหยียบ ) ต่อมาทรงปรารภเรื่องนั้น จึงตรัสห้ามมิให้เหยียบผ้าขาว ถ้าเหยียบ ต้องอาบัติทุกกฏ .

ถ้าเจ้าของงานขอให้เหยียบเพื่อเป็นมงคล ทรงอนุญาตให้เหยียบได้ แม้ผ้าเช็ดเท้า ก็ทรงอนุญาตให้เหยียบได้ .

นางวิสาขาถวายของใช้

นางวิสาขานำหม้อน้ำ , ที่เช็ดเท้าทำเป็นรูปฝักบัว , ไม้กวาดไปถวาย พระผู้มีพระภาคทรงรับหม้อน้ำและไม้กวาด และตรัสสอนให้ภิกษุใช้ได้ ตรัสห้ามใช้ที่เช็ดเท้าที่ทำเป็นรูปฝักบัว . ส่วนเครื่องเช็ดเท้าที่ทำด้วยหินกระเบื้อง และหินฟองน้ำ ทรงอนุญาตให้ใช้ได้ .

นางวิสาขานำพัด และพัดใบตาลไปถวาย ทรงรับและทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้ได้. ทรงอนุญาตให้ใช้พัดสำหรับไล่ตัวแมลง, แต่ไม่ทรงอนุญาตพัดที่ทำด้วยขนจามรี , ทรงอนุญาตพัด ๓ อย่าง คือที่ทำด้วยเปลือกไม้ , ทำด้วยใบเป้ง และที่ทำด้วยขนปีกนกยูง .

ทรงอนุญาตและห้ามใช้ร่ม

ครั้งแรกทรงอนุญาตให้ใช้ร่ม ภายหลังภิกษุฉัพพัคคีย์กางร่มเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ มีผู้ติเตียนว่าทำอย่างมหาอำมาตย์ จึงทรงห้ามใช้ร่ม แต่ทรงผ่อนผันให้ใช้ร่มได้เมื่อไม่สบาย เมื่อใช้ภายในวัด หรือบริเวณวัด ( ถือเอาความว่า ถ้าใช้ร่มเพื่อป้องกันแดดฝนธรรมดา ก็อนุญาตให้ใช้ได้ ในข้อว่า ถ้าไม่ใช้ไม่สบาย . แต่ถ้าใช้ร่มเพื่อแสดงเกียรติ เช่น มหาอำมาตย์ หรือพระราชา ทรงห้าม ).

ทรงห้ามและอนุญาตไม้คาน สาแหรก

ครั้งแรกทรงห้ามภิกษุมิให้ใช้ไม้คาน สาแหรก นำของไปในที่ต่าง ๆ ต่อมามีภิกษุป่วยไข้ ต้องการใช้ไม้คานคอนของไป ก็ทรงอนุญาต โดยให้สงฆ์สวดประกาศสมมติให้เป็นพิเศษ ต่อมามีความจำเป็นที่ภิกษุป่วยไข้จะใช้ทั้งไม้คานทั้งสาแหรก ก็ทรงอนุญาต และให้สงฆ์สวดสมมติเช่นเคย.

เรื่องอาเจียนและเมล็ดข้าว

ภิกษุรูปหนึ่งเป็นโรคอาเจียน อาเจียนออกมาแล้วก็กลืนเข้าไป ถูกกล่าวหาว่าฉันอาหารในเวลาวิกาล พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตพิเศษสำหรับภิกษุผู้เป็นโรคนี้ แต่ห้ามว่า ถ้าอาเจียนออกจากปากไปแล้วไม่ให้กลืนกินข้าวไปอีก.

ในโรงฉันมีเมล็ดข้าวเกลื่อนกล่น มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตว่า ของที่เขาถวายที่ตก ให้เก็บขึ้นฉันเองได้ เพราะทายกบริจากสิ่งของนั้นแล้ว ( ในข้อนี้เพ่งเล็งเฉพาะไม่เป็นอาบัติ เมื่อฉันของไม่ได้รับประเคน แต่ถ้าเพ่งว่าของนั้นจะสกปรกก็จะต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป ในเรื่องนี้ไม่บังคับให้ฉันของตก แต่อนุญาตว่า ของตกเมื่อเขาถวายแล้ว ให้หยิบขึ้นมาฉันเองได้ จึงจะน่าเลือกดูว่า ในกรณีที่ของนั้นไม่สกปรก ก็ควรฉันได้. เรื่องนี้ผู้เขียนได้เคยแปลกใจมาแล้ว เมื่อเคยรับประทานร่วมกับชาวยุโรปบ่อย ๆ เศษขนมปัง เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ตกอยู่ข้างจาน เห็นเขาเอานิ้วจิ้มให้ติด แล้วเอาเข้าปาก).

ทรงอนุญาตมีดตัดเล็บ เป็นต้น

ทรงห้ามไว้เล็บยาว ภิกษุผู้ไว้เล็บยาว ต้องอาบัติทุกกฏ และทรงอนุญาตมีดตัดเล็บ ให้ตัดพอเสมอเนื้อ ทรงห้ามขัดเล็บให้เกลี้ยงเกลาทั้ง ๒๐ นิ้ว ( เพื่อสวยงาม) ทรงปรับอาบัติทุกกฏ . การนำมูลเล็บออกทรงอนุญาต.

เรื่องผมและหนวดเครา

ทรงถามว่า จะสามารถโกนศีรษะกันเองได้หรือไม่ เมื่อภิกษุทั้งหลายรับว่าได้ จึงทรงอนุญาตมีดโกน , หินลับมีด , ฝักมีดโกน, เครื่องสำบัดมีดโกน และเครื่องใช้เกี่ยวกับมีดทุกชนิด. ( เฉพาะภิกษุผู้เคยเป็นช่างตัดผม มีห้ามไว้ในที่อื่น มิให้มีเครื่องมีดโกนไว้ใช้ ด้วยเกรงจะอยากไปประกอบอาชีพนั้นอีก).

ภิกษุฉัพพัคคีย์แต่งหนวดด้วยการไตร และไว้หนวดไว้เคราเป็นรูปร่างต่าง ๆ รวมทั้งให้นำขนในที่แคบออก ทรงห้ามและปรับอาบัติทุกกฏ. ในกรณีที่ป่วยไข้ ทรงอนุญาตให้นำขนในที่แคบออกได้ เช่นเมื่อเป็นเเผลหรือต้องการทายา.

ทรงห้ามตัดผมด้วยกรรไตร ทรงอนุญาตให้ใช้มีดโกน แต่ถ้าป่วยไข้ ทรงอนุญาตให้ตัดผมด้วยกรรไตรได้.

ทรงห้ามไว้ขนจมูกยาว เพราะมีผู้ติเตียน ทรงอนุญาตให้ถอนด้วยแหนบ ทรงห้ามถอนผมหงอกและปรับอาบัติทุกกฏเมื่อล่วงละเมิด.

เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด

ทรงอนุญาตเครื่องแคะหู แต่ไม่อนุญาตที่ทำด้วยทอง เงิน ทรงอนุญาตเครื่องแคะหูที่ทำด้วยกระดูกงา เขาสัตว์ เป็นต้น.

ทรงห้ามสะสมเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะและสำริด และปรับอาบัติทุกกฏเมื่อล่วงละเมิด ทรงอนุญาตปลอกหรือฝักยาตา, ไม้ป้ายยาตา, ไม้แคะหู.

เครื่องใช้ที่เป็นผ้า

ทรงห้ามรัดเข่าด้วยใช้ผ้าสังฆาฏิรัด และปรับอาบัติทุกกฏเมื่อล่วงละเมิด แต่ภิกษุบางรูปป่วยไข้ไม่มีเครืองรัดเข่าก็ไม่สบาย จึงทรงอนุญาตเครื่องรัดเข่า ทรงอนุญาตเครื่องมือของช่างหูกทุกชนิด เพื่อให้ทำเชือกรัดเข่า ( การรัดเข่าของคนในครั้งนั้น มี ๓ ชนิด คือรัดด้วยเครื่องวัด ( อาโยคปัลลัตถิกา), รัดด้วยมือ ( หัตถปัลลัตถิกา) และรัดด้วยผ้า ( ทุสสปัลลัตถิกา) เป็นความเคยชินที่ถ้าไม่ได้ทำก็ไม่สบาย โดยปกติเครื่องรัดนั้น ก็รัดโอบหลัง ตะโพกและเข่า เมื่อคล้องลงไปแล้วก็นั่งอย่างสบาย อนึ่ง ในเรื่องนี้ถึงกับทรงอนุญาตให้พระทอเครื่องรัดเข่าเองได้ แสดงว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ต้องเสียเวลามากเหมือนทอผ้า เพราะไม่เช่นนั้นพระจะกังวลด้วยการงานชนิดนี้ จนไม่เป็นอันศึกษา หรืออบรมจิตใจ).

ทรงห้ามเข้าบ้านโดยไม่มีประคดเอว ( เพราะปรากฏว่าภิกษุรูปหนึ่งผ้านุ่งหลุดในบ้าน ) ทรงห้ามประคดเอวที่ถักสวยงาม มีทีทรวดทรงต่าง ๆ ซึ่งคฤหัสถ์สมัยนั้นนิยมใช้กัน . ทรงอนุญาตประคดเอวที่ทอตามปกติ ที่เรียกว่าประคดแผ่น และชนิดไส้สุกร ทรงอนุมัติวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้ประคดมั่นคง เช่น การทอและเย็บชายให้มั่นคง ในที่สุดทรงอนุญาต ลูกถวิน คือห่วงสำหรับร้อยประคดเอว ทรงห้ามใช้ ลูกถวินที่ทำด้วยทอง เงิน ทรงอนุญาตลูกถวินที่ทำด้วยกระดูก, งา, เขาสัตว์, ไม้อ้อ, ไม้ไผ่, ไม้แก่น, ยางไม้, ผลไม้ ( เช่น ) กะลามะพร้าว ), โลหะ , ขนดสังข์และด้ายถัก.

ทรงอนุญาตลูกดุมและรังดุมสำหรับสังฆาฏิ ( เวลาห่มเข้าบ้านลมจะได้ไม่พัดให้สังฆาฏิเปิด) และทรงอนุญาตและทรงห้ามลูกดุมอย่างเดียวกับลูกถวิน.

ทรงอนุญาตให้ติดแผ่นผ้าสำหรับติดลูกดุม และรังดุม ( เพื่อกันจีวรชำรุด) เมื่อติดแล้ว มุมจีวรยังเปิด ก็ทรงอนุญาตให้ติดลูกดุมที่ชายจีวร ส่วนรังดุมให้ติดลึกเข้าไป ๗ หรือ ๘ นิ้ว.

ทรงห้ามนุ่งห่มแบบคฤหัสถ์ เช่น นุ่งแบบงวงช้าง , นุ่งแบบหางปลา , นุ่งแบบปล่อย ๔ ชาย , นุ่งแบบก้านตาล และนุ่งยกกลีบ. อนึ่ง ทรงห้ามห่มผ้าแบบคฤหัสถ์ และห้ามนุ่งผ้าหยักรั้ง แบบนักมวยปล่ำและกรรมกร.

เรื่องหาบหาม

ทรงห้ามหาบของโดยมีของอยู่ ๒ ด้าน ( คนหาบอยู่กลาง) เพราะมีผู้กล่าวว่าทำเหมือนคนหาบของพระราชา. ทรงอนุญาตการคอน ( มีของด้านเดียว), การหาม ( ของอยู่กลาง คนอยู่ ๒ ข้าง), การแบกบนศีรษะ, การแบกบ่า, การแบกบนบ่า, การกระเดียด ( ที่สะเอว) และการสะพาย ( ห้อย หรือแขวน ).

การเคี้ยวไม้สีฟัน

ทรงแสดงโทษในการไม่เคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ และแสดงอานิสงส์ ( ผลดี ) ในการเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ มีแปลไว้ในข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก .. หมายเลข ๖๓ , ๖๔ ทรงห้ามเคี้ยวไม้สีฟัน ยาวเกิน ๘ นิ้ว และห้ามเอาไม้สีฟันตีสามเณร ทรงห้ามเคี้ยวไม้สีฟันสั้นเกิน ๔ นิ้ว และปรับอาบัติทุกกฏเมื่อล่วงละเมิด.

ห้ามจุดป่าและขึ้นไม้

ทรงห้ามเผาป่าและปรับอาบัติทุกกฏ. เมื่อไฟไหม้ป่าลามมา ทรงอนุญาตให้จุดไฟรับได้. ทรงห้ามขึ้นต้นไม้ เมื่อมีเหตุจำเป็นอนุญาตให้ขึ้นได้แค่ตัวคน แต่ถ้ามีอันตราย ทรงอนุญาตให้ขึ้นสูงได้ตามต้องการ.

ห้ามยกพุทธวจนะขึ้นโดยฉันท์

ทรงห้ามยกพุทธวจนะขึ้นโดยฉันท์ ทรงอนุญาตให้เรียนพุทธวจนะด้วยภาษาของตนได้ ( อรรถกถาแก้ว่า ห้ามยกพุทธวจนะขึ้นสู่ภาษาสันสกฤต ทำนองพระเวทของพราหมณ์ แต่มีสันนิษฐานว่า ห้ามแต่งถ้อยคำของพระพุทธเจ้าเป็นคำฉันท์ เพราะอาจทำให้ความหมายเดิมผิดเพี้ยน หรือบิดผันไปตามบังคับหนักเบาของคำฉันท์ ยิ่งถ้าผู้แต่งไม่แตกภาษาเพียงพอ ก็จะเป็นการทำร้ายพุทธวจนะ มำให้เนื้อความแปรปรวนไป แต่การแต่งห้ามทั้งนี้น่าจะหมายความว่า การแต่งเพื่อใช้เป็นตำรับตำรา ซึ่งจะต้องท่องจำเล่าเรียนศึกษาส่วนการแต่งสดุดีตามปกติอันเป็นของส่วนบุคคล ไม่อยู่ในข้อนี้. ในเรื่องเดิมเล่าถึง ภิกษุผู้เกิดในสกุลพราหมณ์ ๒ รูป ไปขออาสาต่อพระผู้มีพระภาค เพื่อจะยกพุทธวจนะขึ้นโดยฉันท์ แต่ทรงปฏเสธและบัญญัติข้อห้ามไว้ด้วย. )

ห้องเรียนห้ามสอนโลกายตะและติรัจฉานวิชชา

ทรงห้ามเรียนห้ามสอนโลกายตะ ( ได้แก่คติที่ถือว่า ควรความสูขไปวัน ๆ หนึ่งดีกว่า จะไปคำนึงถึงบุญปาบทำไม ควรร่าเริงกินเหล้า เป็นหนี้เป็นสินตามชอบใจ ซึ่งหนักไปทางวัตถุนิยม แต่ในอรรถกถาแก้ว่า เป็นคัมภีร์ หรือตำราของพวกนอกศาสนา เช่น ว่าด้วยกาเผือก นกยางดำ ในที่บางแห่งแก้ว่า เป็น วิตัณฑาศาสตร์ ซึ่งเป็นเเขนงหนึ่งในการศึกษาของพราหมณ์) รวมทั้งห้ามเรียน ห้ามสอนติรัจฉานวิชชา ( วิชาภายนอกที่ไม่มีประโยชน์ ) ทรงปรับอาบัติแก่ผู้ล่วงละเมิด.

ห้ามถือโชคลาง แต่ไม่ขัดใจคนอื่น

ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคกำลังแสดงธรรม ทรงจามขึ้น. ภิกษุทั้งหลายก็ส่งเสียงร้องดังขึ้นว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงเจริญพระชนม์ จนเป็นอุปสัคแก่การแสดงธรรม . พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า เมื่อพูดเช่นนั้น จะทำให้มีชีวิตหรือให้ตายไปได้จริง ๆ หรือ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่เป็นไปได้ จึงตรัสห้ามพูดแก้ลางแบบนั้นเมื่อมีการจาม และปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ล่วงละเมิด.

แต่เป็นธรรมเนียมของคนในครั้งนั้น ถ้าพระภิกษุจามและชาวบ้านพูดว่า ขอให้ท่านมีชีวิตอยู่ พระจะต้องกล่าวตอบ ( โดยอาศัยไมตรี) ว่า ขอให้ท่านมีชีวิตอยู่เช่นกัน. ภิกษุทั้งหลายไม่กล้ากล่าวตอบเกรงจะผิดพระพุทธบัญญัติ พระผู้มีพระภาคจึงทรงผ่อนผันให้กล่าวตอบเขาได้. ( แต่ไม่ให้ใช้กันเองในหมู่ภิกษุ ).

ห้ามฉันกระเทียม

ภิกษุรูปหนึ่งฉันกระเทียม เกรงภิกษุอื่นจะเหม็นเวลานั่งฟังธรรม เลยนั่งห่างจากภิกษุอื่น ๆ ไม่เข้าใกล้ใคร. พระผู้มีพระภาคจึงทรงห้ามฉันกระเทียม และปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ล่วงละเมิด ภายหลังทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธฉันได้. ( คงหมายถึงฉันกระเทียมเปล่า ๆ ถ้าฉันปนกับของอื่น หรือเขาปรุงเสร็จแล้ว ไม่น่าจะอยู่ในข้อห้ามนี้. ถ้าจะพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในการห้าม ก็จะเห็นได้ว่าเพื่อไม่ให้เข้าหมู่ไม่ได้ หรือทำความรำคราญแก่หมู่ หรือเป็นเหตุให้เสียการฟังธรรม เพราะฉะนั้น ปัญหาเรื่องกลิ่นแรงของกระเทียม จึงเป็นประเด็นสำคัญในที่นี้ ).

ทรงอนุญาตที่ถ่ายปัสสาวะอุจจระ

ในเรื่องปัสสาวะ ทรงอนุญาตให้ถ่ายในที่จัดไว้ ทรงอนุญาตหม้อปัสสาวะ ที่รองเหยียบเวลานั่งถ่าย ฝาหรือกำแพงสำหรับกั้นที่ทำด้วยอิฐ, ศิลาหรือไม้ รวมทั้งฝาปิดหม้อปัสสาวะ ( เพื่อกันกลิ่นเหม็น)

ในเรื่องอุจจาระทรงอนุญาตให้ถ่ายในที่ที่จัดไว้ ให้มีหลุมอุจจาระ และให้ก่อยกพื้นให้สูง เพื่อกันน้ำท้วม ให้มีบันไดและราวบันได ให้ลาดพื้น เจาะช่องตรงกลาง ให้มีเขียงรองเหยียบ ให้มีรางปัสสาวะให้ใช้ไม้ชำระ ที่ใส่ไม้ชำระ และฝาปิดหลุ่มอุจจาระ และให้มีโรงถ่ายโดยเฉพาะ ที่เรียกว่าวัจจกุฏิ มีฝาหรือกำแพง พร้อมทั้งเครื่องประกอบ เช่น ดาล กลอน เชือกชัก ราวพาดจีวร เป็นต้น. อนึ่ง ได้ทรงอนุญาตให้มีซุ้มสำหรับชำระ เมื่อเสร็จจากอุจจาระแล้ว ให้มีรางระบายน้ำ ให้มีหม้อน้ำชำระ ขันตักน้ำชำระ และเขียงรองขณะชำระ ตลอดจนฝาหรือกำแพง.

ทรงห้ามประพฤติอนาจาร

ภิกษุฉัพพัคคีย์ประพฤติอนาจารมีประการต่าง ๆ เช่น ประจบคฤหัสถ์ เกี่ยวข้องกับสตรีมากไป เล่นฟ้อนรำขับร้อง เล่นกีฬาสนุกต่าง ๆ ทรงห้ามทำเช่นนั้น และให้ปรับอาบัติตามควรแก่ความผิด.

ทรงอนุญาตเครื่องใช้

พระอรุเวลกัสสปบวชแล้ว ก็มีผู้ถวายเครื่องใช้ทำด้วยโลหะ , ทำด้วยไม้, ทำด้วยดินเหนียว, ท่านสงสัยว่าทรงอนุญาตไว้หรือเปล่า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอนุญาตให้ใช้ได้.


๒ . เสนาสนขันธกะ
( หมวดว่าด้วยที่อยู่อาศัย) ทรงอนุญาตที่อยู่ ๕ ชนิด

เศรษฐีกรุงราชคฤห์เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลายที่อยู่กับพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวนาราม ใคร่จะสร้างวิหารถวาย จึงขอให้ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลพระผู้มีพระภาค. พระองค์ทรงอนุญาตที่อยู่ ๕ ชนิด คือ ๑. วิหาร ( กุฏิปกติ) ๒. เพิง ( อัฑฒโยคะ) ๓. เรื่อนเป็นชั้น ๆ ( ปราสาท) ๔ . เรือนโล้น หรือหลังคาตัด ( หัมมิยะ) และ ๕ ถ้ำ ( คูหา).

ภายหลังเมื่อมีคนทราบว่าทรงอนุญาตวิหาร หรือที่อยู่แก่สงฆ์ จึงสร้างที่อยู่ถวายเป็นอันมาก พระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติม ให้ที่อยู่นั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น ประตู , กลอน, ลิ่มสลัก, หน้าต่าง, หน้าต่างมีลูกกรง เป็นต้น.

ทรงอนุญาตที่ถ่ายปัสสาวะอุจจระ

ในเรื่องปัสสาวะ ทรงอนุญาตให้ถ่ายในที่จัดไว้ ทรงอนุญาตหม้อปัสสาวะ ที่รองเหยียบเวลานั่งถ่าย ฝาหรือกำแพงสำหรับกั้นที่ทำด้วยอิฐ, ศิลาหรือไม้ รวมทั้งฝาปิดหม้อปัสสาวะ ( เพื่อกันกลิ่นเหม็น)

ในเรื่องอุจจาระทรงอนุญาตให้ถ่ายในที่ที่จัดไว้ ให้มีหลุมอุจจาระ และให้ก่อยกพื้นให้สูง เพื่อกันน้ำท้วม ให้มีบันไดและราวบันได ให้ลาดพื้น เจาะช่องตรงกลาง ให้มีเขียงรองเหยียบ ให้มีรางปัสสาวะให้ใช้ไม้ชำระ ที่ใส่ไม้ชำระ และฝาปิดหลุ่มอุจจาระ และให้มีโรงถ่ายโดยเฉพาะ ที่เรียกว่าวัจจกุฏิ มีฝาหรือกำแพง พร้อมทั้งเครื่องประกอบ เช่น ดาล กลอน เชือกชัก ราวพาดจีวร เป็นต้น. อนึ่ง ได้ทรงอนุญาตให้มีซุ้มสำหรับชำระ เมื่อเสร็จจากอุจจาระแล้ว ให้มีรางระบายน้ำ ให้มีหม้อน้ำชำระ ขันตักน้ำชำระ และเขียงรองขณะชำระ ตลอดจนฝาหรือกำแพง.

ทรงห้ามประพฤติอนาจาร

ภิกษุฉัพพัคคีย์ประพฤติอนาจารมีประการต่าง ๆ เช่น ประจบคฤหัสถ์ เกี่ยวข้องกับสตรีมากไป เล่นฟ้อนรำขับร้อง เล่นกีฬาสนุกต่าง ๆ ทรงห้ามทำเช่นนั้น และให้ปรับอาบัติตามควรแก่ความผิด.

ทรงอนุญาตเครื่องใช้

พระอรุเวลกัสสปบวชแล้ว ก็มีผู้ถวายเครื่องใช้ทำด้วยโลหะ , ทำด้วยไม้, ทำด้วยดินเหนียว, ท่านสงสัยว่าทรงอนุญาตไว้หรือเปล่า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอนุญาตให้ใช้ได้.

๒ . เสนาสนขันธกะ ( หมวดว่าด้วยที่อยู่อาศัย) ทรงอนุญาตที่อยู่ ๕ ชนิด

เศรษฐีกรุงราชคฤห์เลื่อมใสในภิกษุทั้งหลายที่อยู่กับพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวนาราม ใคร่จะสร้างวิหารถวาย จึงขอให้ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลพระผู้มีพระภาค. พระองค์ทรงอนุญาตที่อยู่ ๕ ชนิด คือ ๑. วิหาร ( กุฏิปกติ) ๒. เพิง ( อัฑฒโยคะ) ๓. เรื่อนเป็นชั้น ๆ ( ปราสาท) ๔ . เรือนโล้น หรือหลังคาตัด ( หัมมิยะ) และ ๕ ถ้ำ ( คูหา).

ภายหลังเมื่อมีคนทราบว่าทรงอนุญาตวิหาร หรือที่อยู่แก่สงฆ์ จึงสร้างที่อยู่ถวายเป็นอันมาก พระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติม ให้ที่อยู่นั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น ประตู , กลอน, ลิ่มสลัก, หน้าต่าง, หน้าต่างมีลูกกรง เป็นต้น.

เครื่องนั่งเครื่องนอน

ทรงอนุญาตเตียงนอน ( เพื่อไม่ต้องนอนบนพื้นดิน) และตั่งสำหรับนั่งหลายชนิด ทรงอนุญาตอาสันทิกะ ( ม้าสี่เหลี่ยม) ทั่งชนิดที่สูง และชนิดที่มีส่วน ๗ (ที่เท้าแขน ๒ ที่พิง ๑ และที่เท้า ๔ มีลักษณะตรงกับเก้าอี้เท้าแขนหรืออาร์มแชร์) และเตียงตั่งอีกหลายชนิด ทรงห้ามใช้เตียงสูง แต่ให้มีที่รองเตียงได้ ที่รองเตียงมิให้สูงเกิน ๘ นิ้ว และทรงอนุญาตส่วนประกอบอื่น ๆ . ทรงอนุญาตหมอนยัดนุ่น ๓ ชนิด คือนุ่นต้นไม้, ไม้เลื้อยและหญ้า ( โปฏกี). ทรงห้ามใช้หมอนยาวครึ่งตัว โดยใช้หมอนขนาดพอกันกับศีรษะ. ทรงอนุญาตฟูกยัดด้วยของ ๕ ชนิด คือ ขนสัตว์, เศษผ้า , เปลือกไม้, หญ้าและใบไม้.

ต่อจากนั้นเป็นการอนุญาตการห้ามเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยเบ็ดเตล็ดอีกเป็นอัน มาก เช่น ห้ามเขียนรูปผู้หญิง ชายในวิหาร ลงท้ายด้วยทรงอนุญาตหลังคา ๕ ชนิด คือที่ทำด้วยอิฐ, ศิลา, ปูนขาว, หญ้าใบไม้.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 15:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๗ ชื่อจุลลวัคค์ ( เป็นพระวินัยปิฏก )
หน้า ๓

อนาถปิณฑิกคฤหบดีนับถือพระพุทธศาสนา

อนาถปิณฑิกคฤหบดี (เศรษฐีชาวกรุงสาวัตถี) ผู้เป็นสามีของน้องสาวแห่งเศรษฐีกรุงราชคฤห์ เดินทางไปกรุงราชคฤห์ ทราบว่าพระพุทธเจ้าเกินขึ้นในโลกแล้ว และเศรษฐีกรุงราชคฤห์กำลังเตรียมถวายอาหารบิณฑบาต จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้สดับพระธรรมเทศนา ได้ดวงตาเห็นธรรม ( เป็นพระโสดาบัน) เมื่อได้ถวายภัตตาหารในวันต่อมาแล้ว จึงอาราธนาพระผู้มีพระภาคไปจะพรรษา ณ กรุงสาวัตถี และได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อน เมื่อไปถึงกรุงสาวัตถีแล้ว ก็ได้ซื้อสวนนอกเมืองแปลงหนึ่งจากราชกุมาร ชื่อเชตะ สร้างเชตวนารามขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา.

ตั้งภิกษุผู้ควบคุมการก่อสร้าง

พระผู้มีพระภาคเสด็จจากกรุงราชคฤห์ มาทางกรุงไพศาลี ประทับ ณ กูฎาคารศาลา ป่ามหาวันตรัสอนุญาตให้สงฆ์ให้สงฆ์สวดประกาศแต่งตั้งภิกษุผู้ควบคุมการก่อ สร้างวิหาร ซึ่งคฤหบดีผู้หนึ่งสละทรัพย์สร้าง.

ลำดับอาวุโส

ในการเสด็จสู่กรุงสาวัตถี ( จากกรุงไพศาลี) ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของภิกษุฉัพพัคคีย์ มักจะเดินทางล่วงหน้าเที่ยวจองที่พักไว้มากมาย เพื่ออุปัชฌายะ เพื่ออาจารย์และเพื่อตัวเอง เป็นเหตุให้พระอื่น ๆ เช่น พระสารีบุตรหาที่พักไม่ได้ ต้องไปพักที่โคนไม้. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงตรัสให้เรียกประชุมสงฆ์กำหนดให้ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติชอบต่อกัน และให้สิทธิต่าง ๆ เช่น ได้รับการกราบไหว้ ลุกขึ้นต้อนรับการทำอัญชลี การแสดงความเคารพ การได้อาสนะที่ดี ได้น้ำที่ดี ได้อาหารที่ดี ตามลำดับอาวุโส ( แก่พรรษากว่า) ผู้ใดปฏิเสธการถือเอาตามลำดับอาวุโสเกี่ยวกับสงฆ์ ผู้นั้นต้องอาบัติทุกกฏ.

บุคคลผู้ไม่ควรไหว้ ๑๐ ประเภท๑.

ทรงแสดงถึงบุคคลที่ ( ภิกษุ) ไม่ควรไหว้ ๑๐ ประเภท คือ ๑ . ผู้บวชภายหลัง ไม่ควรที่ผู้บวชก่อนจะไหว้ ๒. ผู้ไม่ได้บวช ไม่ควรที่ผู้บวชจะไหว้ ๓. ภิกษุที่เป็นนานาสังวาส ( ต่างนิกายกัน) แก่กว่า ถ้าพูดไม่เป็นธรรมก็ไม่ควรไหว้ ๔. มาตุคาม ( ผู้หญิง ) อันภิกษุไม่ควรไว้ ๕. กะเทย ๖. ภิกษุที่อยู่ปริวาส ๗. ภิกษุผู้ควรสวดถอนจากอาบัติสังฆาทิเทส ทั้งหมดนี้ ไม่ควรที่ภิกษุจะพึงไหว้.

บุคคลผู้ควรไหว้ ๓ ประเภท

๑. ผู้บวชก่อน ควรที่ผู้บวชทีหลังจะไหว้ ๒. ภิกษุที่เป็นนานาสังวาส ( ต่างนิกายกัน ) แก่กว่าถ้าพูดเป็นธรรมก็ไหว้ ๓. พระตถาคตหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ควรไหว้.

มณฑปที่สร้างอุทิศสงฆ์

ศิษย์ของภิกษุฉัพพัคคีย์ถือโอกาสเลี้ยงข้อบัญญัติที่ให้ถือเอาตามลำดับ อาวุโสเกี่ยวกับสงฆ์ เมื่อมีผู้สร้างมณฑปอุทิศแก่สงฆ์ ก็เที่ยวจับจองแย่งที่ให้อุปัชฌายะ ให้อาจารย์ และเพื่อตนเอง โดยอ้างว่า ที่ห้ามนั้น ห้ามเฉพาะของสงฆ์ ไม่ได้ห้ามเกี่ยวกับที่อยู่ที่มีผู้สร้างขึ้นอุทิศสงฆ์ ( เป็นการอ้างเกี่ยวถ้อยคำที่ห้าม) พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ก็ทรงห้ามเช่นนั้นอีก และปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ล่วงละเมิด.

ที่นั่งต่างชนิดของคฤหัสถ์

เมื่อคนทั้งหลายนิมนต์พระไปฉันในโรงฉันในละเเวกบ้าน ก็จัดที่นั่งต่างชนิดหลายอย่าง ( ดี ๆ ตามคฤหัสถ์ใช้) ครั้งแรกทรงห้ามกำหนดอาสันทิ บัลลังก์ และของยัดนุ่น ภายหลังทรงอนุญาตให้นั่งทับเครื่องนั่งของคฤหัสถ์ (ทุกชนิด) แต่ไม่ให้นอนทับ.

การถวายเชตวนาราม

เมื่อเสด็จถึงกรุงสาวัตถีแล้ว อนาถฑิกคฤหบดีนิมนต์ฉันในวันรุ่งขึ้น. เมื่อถวายภัตตาหารเสร็จกราบทูลถามว่า จะปฏิบัติอย่างไรเกี่ยวกับเชตวนาราม. ตรัสให้ถวายแก่สงฆ์ ๔ ทิศ ทั้งที่มาแล้ว และยังไม่มาสู่เชตวนาราม.

ปัญหาลำดับอาวุโสเพิ่มเติม

ทรงห้ามภิกษุผู้แก่พรรษากว่า ไล่ภิกษุอ่อนกว่าที่กำลังฉันค้างอยู่ เพื่อเข้านั่งแทน ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ทำเช่นนั้น ( พระอุปนนทะมาช้า ไล่ภิกษุอื่น เกิดโกลาหลในขณะฉัน). แต่ก็ทรงยืนยันสิทธิในที่นั่งตามลำดับอาวุโส ซึ่งภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าจะปฏิเสธไม่ได้.

ตรัสห้ามไล่ที่ภิกษุไข้ เพื่อถือเอาที่อยู่ตามลำดับอาวุโส ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไล่ . ภิกษุฉัพพัคคีย์ถือโอกาสที่ตนเป็นไข้ เลือกเสนาสนะดี ๆ ด้วยคิดว่า ใครไล่ตนไม่ได้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้จัดที่นอนตามสมควรแก่ภิกษุไข้ ( ไม่ใช้เลือกเองตามชอบใจ).

ภิกษุฉัพพัคคีย์อ้างเลศ กีดกันเสนาสนะ และถือสิทธิฉุดคร่าภิกษุพวก ๑๗ รูปออกจากที่อยู่ ทรงห้ามทำเช่นนั้น และปรับอาบัติทุกกฏในกรณีกีดกันเสนาสนะโดยอ้างเลศ และปรับอาบัติปาจิตตีย์ ในกรณีฉุดคร่า ..มีในพระวินัย เล่ม ๒ สิกขาบทที่ ๗. เพราะปรารภเหตุเหล่านี้ จึงตรัสให้จัดสรรภิกษุถือเสนาสนะ คือเข้าอยู่อาศัย โดยแต่งตั้งภิกษุผู้จัดสรร.

การจัดสรรที่อยู่อาศัย

ทรงกำหนดคุณสมบัติของภิกษุผู้จัดสรรที่อยู่อาศัย ( เสนาสนคาหาปกะ) ๕ ประการ คือ ๑ . ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง ๓. ไม่ลำเอียงเพราะหลง ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว และ ๕. รู้จักเสนาสนะ ที่จัดสรรแล้วยังมิได้จัดสรร.

ทรงแนะวิธีสวดประกาศแต่งตั้งภิกษุผู้จัดสรรที่อยู่อาศัยเป็นการสงฆ์ แล้วตรัสแนะวิธีจัดสรร โดยให้นับภิกษุก่อนแล้วให้นับที่นอน นับแล้วให้จัดสรรที่อยู่ตามที่นอน. เมื่อจัดสรรแล้ว ยังมีที่นอนเหลือ ให้จัดสรรตามจะนวนวิหาร ( กุฏิ) ถ้ากุฏิยังเหลือก็ให้จัดตามจำนวนบริเวณ ถ้าบริเวณยังเหลือก็ให้แบ่งส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้อีก. เมื่อได้รับส่วนรับส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้ว ถ้ามีภิกษุอื่นมา แม้ไม่อยากให้ก็ต้องให้. ทรงห้ามจัดสรรที่อยู่อาศัยแก่ภิกษุผู้อยู่นอกสีมา และทรงห้ามยึดครองที่อยู่อาศัยตลอดกาล, อนุญาตเพียง ๓ เดือน ต่อจากนั้นจะหวงห้ามไม่ได้.

ทรงแสดงการจัดสรรที่อยู่อาศัย ( เสนาสนคาหะ) ว่ามี ๓ อย่าง คือ ๑. การจัดสรร ตอนต้น คือ ในวันใกล้เข้าพรรษาแรก ๒ . การจัดสรร ตอนหลัง คือในวันใกล้เข้าพรรษาหลัง และ ๓. การจัดสรร ที่นอกจากระหว่างพรรษา คือเมื่อใกล้จะถึงวันปวารณา จัดเพื่อให้จำพรรษาคราวต่อไป.

ทรงห้ามภิกษุรูปเดียวหวงห้ามที่อยู่อาศัยไว้ถึง ๒ แห่ง ถ้าทำเช่นนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ.

การนั่งต่ำนั่งสูง

ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้สอนที่บวชใหม่นั่งอาสนะเสมอหรือสูงกว่าได้ และให้ภิกษุผู้เป็นเถระ ( แก่กว่า) ที่เรียนนั่งอาสนะเสมอหรือต่ำกว่าได้ ด้วยความเคารพในธรรม ( ในปัจจุบันนี้ ภิกษุที่แสดงธรรมแม้พรรษาน้อยก็ขึ้นนั่งบนธรรมมาสน์สูงกว่าภิกษุทั้งปวง).

ทรงอนุญาตให้ภิกษุที่มีสิทธิในการนั่งเสมอกัน นั่งรวมกันได้ คือภิกษุที่มีพรรษาไล่เลี่ยกันภายใน ๓ ปี . ภิกษุที่มีสิทธิในการนั่งเสมอกัน นั่งเตียงตั่งเดียวกัน เตียงตั่งพังลงมา จึงทรงจำกัดจำนวนให้นั่งไม่เกิน ๓ รูป เตียงตั่งก็ยังพังอีก จึงให้นั่งได้เพียง ๒ รูป. ส่วนที่นั่งยาว แม้ภิกษุจะมีสิทธิในการนั่งไม่เสมอกันก็ให้นั่งรวมกันได้ เว้นแต่กระเทย , ผู้หญิง, ผู้มีอวัยวะเพศทั้งสองเพศ . มีปัญหาว่า อย่างไรจึงจัดว่าเป็นที่นั่งยาวจึงกำหนดว่า ถ้านั่งได้ถึง ๓ คน ก็จัดเป็นที่นั่งยาวอย่างต่ำที่สุด ( มากกว่านั่นไม่มีปัญหา).

ปราสาทและเครื่องนั่งนอนต่าง ๆ

ทรงอนุญาตให้ใช้ปราสาทได้ทุกชนิด ( ปราสาท คือเรือนเป็นชั้น ๆ ) ส่วนเครื่องนั่งนอน เป็นต้น ของคฤหัสถ์รวมหลายอย่าง ซึ่งถวายแก่สงฆ์ เมื่อคราวพระอัยยิกา ( ยาย) ของพระเจ้าปเสนทิโกศลสิ้นพระชนม์นั้น ทรงอนุญาตให้ตัดเท้าอาสันทิ ( ตั่งสี่เหลี่ยม) แล้วใช้ได้ ส่วนบัลลังก์ ( เก้าอี้นวม) ให้รื้อขนสัตว์ออกใช้ได้, เครื่องใช้ยัดนุ่น ให้รื้อนุ่นมายัดหมอน ส่วนเครื่องใช้ที่เหลือ ให้ใช้เป็นเครื่องปูพื้น.

ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นอีก

ภิกษุที่อยู่ประจำในวัดใกล้หมู่บ้าน มีภิกษุอื่นผ่านไปมาเสมอ ลำบากด้วยการจัดที่อยู่อาศัย เพื่อแก้ข้อขัดข้องนี้ สงฆ์จึงประชุมกันมอบหน้าที่อยู่อาศัยให้ภิกษุรูปหนึ่งเสีย ทุกรูปจึงได้อยู่อาศัยด้วยการให้ของภิกษุรูปนั้น เมื่อมีภิกษุผ่านไปมาจะขอพักอาศัย ก็อ้างว่า ได้ยกให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งไปแล้ว ไม่มีที่จะให้พัก พระผู้มีพระภาคจึงทรงวางหลักเกณฑ์เพิ่มเติม คือ  :-

สิ่งที่จะสละ ( ให้ใคร ๆ ) ไม่ได้ ๕ หมวด

ของ ๕ อย่าง ที่สงฆ์ หรือคณะ หรือบุคคล จะสละให้ใคร ๆ ไม่ได้ แม้สละแล้วก็ไม่เป็นอันสละ ผู้สละ ( หรือยกให้) ต้องอาบัติถุลลัจจัย คือ ๑. วัดและที่ตั้งวัด ๒. วิหารและที่ตั้งวิหาร (หมายถึงกฏิที่อยู่ทั่วไป) ๓. เตียง, ตั่ง , ฟูก, หมอน, ๔ . เครื่องใช้โลหะ, คือหม้อโลหะ , อ่างโลหะ, กระถางโลหะ, กะทะโลหะ, มีดใหญ่ หรือพร้าโต้, ขวาน, ผึ่งสำหรับถากไม้, จอบ หรือเสียม , สว่านสำหรับเจาะไม้ ( สิ่วก็อยู่ในข้อนี้) ๕ . เถาวัลย์ เช่น หวาย, ไม้ไฝ่ , หญ้ามุงกระต่าย, หญ้าปล้อง, หญ้าสามัญ,

ดินเหนียว, ของทำด้วยไม้, ของทำด้วยดินเผา ( ที่ห้ามนี้ คือไม่ให้เอาของสงฆ์ไปเป็นของบุคคล).

ภายหลังทรงเพื่มข้อความให้มากขึ้น จากคำว่า ไม่ให้สละ เป็นไม่ให้แบ่ง ไม่ให้แจก ของ ๕ หมวดดังที่กล่าวแล้ว ผู้ใดแบ่ง หรือแจก ต้องอาบัติถุลลัจจัย.

การควบคุมการก่อสร้าง

ห้ามมอบหมายการควบคุมการก่อสร้างในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ติดประตู , ทาสี , มุงหลังคา และห้ามมอบหมายการควบคุมการก่อสร้างนานเกินไป เช่น ๒๐- ๓๐ ปี หรือตลอดชีวิต หรือจนถึงเวลาเผาศพผู้รับมอบหมาย.

ห้ามมอบหมายการก่อสร้างวิหารหมดทุกอย่าง, ห้ามมอบการก่อสร้าง ๒ อย่างแก่ภิกษุรูปเดียว. ภิกษุผู้รับมอบการก่อสร้าง จะถือสิทธิหวงห้ามที่อยู่ของสงฆ์ไม่ได้. ภิกษุอยู่นอกสีมา ห้ามมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง. ภิกษุผู้ควบคุมการก่อสร้าง จะครอบครองที่อยู่อาศัยได้เพียง ๓ เดือน ห้ามครอบครองตลอดไป เมื่อพ้น ๓ เดือน ต้องยินยอมให้จัดสรรใหม่.

ภิกษุผู้ควบคุมการก่อสร้างพอรับมอบหรือทำค้างไว้ สึกไปหรือเดินทางไปที่อื่น เป็นต้น ให้มอบให้ผู้อื่นทำการแทน . ต่อจากนั้นเป็นการแสดงสิทธิในสิ่งก่อสร้างว่าในกรณีเช่นไรเป็นของสงฆ์ เป็นของบุคคล.

การขนย้ายของใช้และรักษาที่อยู่อาศัย

ห้ามย้ายของใช้ประจำที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่งไปที่อื่น ( ผิดความประสงค์ของผู้ถวาย), ขอยืมไปชั่วคราวได้, นำไปเพื่อรักษาไม่ให้เสียหายได้, แลกเปลี่ยน ( ผาติกรรม) ได้ ในกรณีที่ของนั้นราคาแพงเกินไป ( ไม่เหมาะแก่สงฆ์จะใช้สอยเอง). ต่อจากนั้นเป็นการอนุญาตเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เช่น เครื่องเช็ดเท้า และให้รักษาที่อยู่อาศัย ไม่ให้เหยียบทั้งที่เท้าเปื้อนเท้าเปียก หรือเหยียบทั้งรองเท้า. ทรงอนุญาตกระโถนเพื่อไม่ให้บ้วนน้ำลายลงบนพื้น ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้บ้วนน้ำลายลงบนพื้น. ทรงอนุญาตให้ใช้ผ้าพันเท้าเตียงตั่ง เพื่อไม่ให้พื้นที่อยู่เสียหาย. ทรงห้ามพิงผนังที่ทาสี และอนุญาตให้มีแผ่นกระดานสำหรับพิง และให้เอาผ้าพันแผ่นกระดานนั้นเพื่อกันครูดผนัง รวมทั้งอนุญาตให้นอนโดยปูผ้าก่อน.

เจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์อื่น ๆ

ทรงแนะนำให้มีการแต่งตั้งภิกษุผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นเจ้าหน้าที่ทำการ สงฆ์อื่น ๆ โดยการสวดประกาศ คือภิกษุผู้ปูลาดเสนาสนะ, ผู้ดูแลเรือนคลัง, ผู้รับจีวร, ผู้แจกจีวร, ผู้แจกข้าวยาคู, ผู้แจกผลไม้, ผู้แจกของเคี้ยว , ผู้แจกของเล็ก ๆ น้อย ๆ ( เช่น เข็ม, มีด, รองเท้า) , ผู้แจกผ้า ( อาบน้ำฝน ? ) ผู้แจกบาตร, ผู้ใช้คนทำงานวัด, ผู้ใช้สามเณร.

๓ สังฆเภทขันธกะ )
( หมวดว่าด้วยสงฆ์แตกกัน)

เล่าเรื่องราชกุมารในศากยสกุล คือ ภัททิยาราชา, อนุรุทธ์ , อานนท์, ภัคคุ, กิมพิละ และราชกุมารในโกลิยสกุล คือเทวทัต รวมเป็น ๗ ทั้งอุบาลีผู้เป็นช่างกัลบกออกบวช ต่างเห็นพร้อมกันว่า ควรให้อุบาลีบวชก่อน ตนจะได้กราบไหว้ คลายทิฏฐิมานะ.

เมื่อบวชแล้ว พระภัททิยะได้วิชชา ๓ , พระอนุรุทธ์ได้ทิพจักษุ, พระอานนท์ได้เป็นโสดาบัน ส่วนพระเทวทัตได้ฤทธิ์ของปุถุชน.

พระเทวทัตคิดการใหญ่

พระเทวทัตคิดหวังลาภสักการะ จึงแปลงการเป็นเด็กน้อยไปนั่งอยู่บนตักของราชกุมารชื่ออชาติศัตรู ( ผู้เป็นโอรสพระเจ้าพิมพิสารแคว้นมคธ) เพื่อทำให้ราชกุมารเลื่อมใส ทีลาภสักการะเกิดขึ้นแล้ว ก็คิดการจะปกครองคณะสงฆ์เสียเองแทนพระพุทธเจ้า.

ความทราบถึงพระโมคคัลลานเถระ จึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาค ตรัสแสดงศาสดา ๕ ประเภทที่ต้องอาศัยหรือหวังความคุ้มครองจากสาวก คือศาสดาผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์, มีการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์, มีการแสดงธรรมไม่บริสุทธิ์, มีการตอบคำถามไม่บริสุทธิ์, มีญาณทัสสนะไม่บริสุทธิ์ แต่แสดงตนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ใน ๕ ทางนั้น. ส่วนพระองค์มิต้องหวังความคุ้มครองของสาวก เพราะมิได้เป็นดังนั้น.

พระเทวทัตขอปกครองคณะสงฆ์

เมื่อได้โอกาส พระเทวทัตจึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค อ้างว่า พระองค์มีอายุมากแล้ว ขอให้ทรงขวนขวายน้อย และให้สละภิกษุสงฆ์ให้แก่ตน ตนจะบริหารเอง พระผู้มีพระภาคทรงปฏิเสธถึง ๓ ครั้ง และในครั้งที่ ๓ ทรงกล่าวว่า แม้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พระองค์ยังมิได้มอบภิกษุสงฆ์ให้ไฉนจะทรงมอบแก่พระเทวทัต ซึ่งได้ยังความอาฆาตให้เกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเป็นครั้งแรก.

ตรัสให้ขออนุมัติสงฆ์ประกาศเรื่องพระเทวทัต

ตรัสสั่งให้ประชุมสงฆ์ เพื่อขออนุมัติให้ประกาศไม่รับรองการกระทำใด ๆ ทางกายวาจาของพระเทวทัต ถือไม่เกี่ยวกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และให้สงฆ์สวดประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นผู้ชี้แจงแก่ชาวกรุงราชคฤห์.

พระเทวทัตยุให้ขบท

พระเทวทัตจึงยุราชกุมารชื่ออชาตศัตรู ให้คิดฆ่าพระราชบิดา เพื่อชิงราชสมบัติ ส่วนตนเองจะฆ่าพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง. แต่ราชกุมารทำการหละหลวมถูกจับได้ ขณะพวกอาวุธเข้าวังมหาอำมาตย์จึงถวายความเห็นให้ฆ่าเสียทั้งพระเทวทัตและราช กุมาร รวมทั้งภิกษุทั้งหลาย ( ที่เป็นพวก) ด้วย. บางพวกก็ให้ฆ่าแต่พระเทวทัตกับราชกุมาร, บางพวกเห็นว่าไม่ควรฆ่าทั้งหมด.

การประทุษร้ายพระพุทธเจ้าครั้งแรก

พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่าราชกุมารอยากได้ราชสมบัติ ก็ทรงมอบราชสมบัติให้ พระเทวทัตก็มีอำนาจยิ่งขึ้น จึงขอกำลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูส่งคนไปคอยฆ่าพระพุทธเจ้า แล้วสั่งว่า ถ้าฆ่าแล้วให้ไปทางนั้น ๆ แล้วส่งคน ๒ คนไปคอยดักฆ่าคนที่ฆ่าพระพุทธเจ้า ส่งคน ๔ คนไปคอยดักฆ่าพวก ๒ คนนั้น ส่งคน ๘ คนไปคอยดักฆ่าพวก ๔ คนนั้น และส่งคน ๑๖ คนไปคอยดักฆ่าพวก ๘ คนนั้น ( เพื่อปิดปาก) แต่คนเหล่านั้นกลับเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกหมดสิ้น พระผู้มีพระภาคทรงส่งคนเหล่านั้นกลับไปให้สับทางกับที่พระเทวทัตสั่ง จึงไม่มีการฆ่ากันเกิดขึ้น และเมื่อพวกที่คอยอยู่เห็นนานไป นึงสงสัยมาถามพระพุทธเจ้า ก็ทรงแสดงธรรมให้ฟัง ต่างแสดงตนเป็นอุบาสกหมดทุกชุด.

การประทุษร้ายครั้งที่ ๒

เมื่อใช้คนไปฆ่าไม่สำเร็จ พระเทวทัตจึงเตรียมลงมือเอง คือขึ้นไปอยู่บนเขาคิชฌกูฏ คอยกลิ้งก้อนหินใหญ่ให้ลงมาทับพระพุทธเจ้า แต่ไม่สมประสงค์ เพียงสะเก็ดหินที่แตกมากระทบพระบาทห้อพระโลหิตเท่านั้น. ภิกษุทั้งหลายพากันเป็นห่วง จึงมาอยู่ยามเฝ้าแหนพระพุทธเจ้า ท่องบ่นด้วยเสียงอันดัง ( ด้วยเกรงว่าพระเทวทัตจะส่งคนมาทำร้ายพระพุทธเจ้า เพราะได้กำลังจากพระเจ้าอชาตศัตรู) แต่พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นกลับไป ไม่ต้องมีใครมาคอยคุ้มครองให้ แล้วตรัสว่า เป็นธรรมดาที่พระตถาคตจะไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น แล้วตรัสเรื่องศาสดา ๕ ประเภทที่ต้องหวังอารักขาจากสาวก ดั่งที่ตรัสกับพระโมคคัลลานะ.

การประทุษร้ายครั้งที่ ๓

พระเทวทัตไปหาคนเลี้ยงช้างของพระราชา อ้างตนเป็นญาติของพระราชา แล้วอ้างว่า สามารถเลื่อนตำแหน่ง เพิ่มค่าจ้างได้ แล้วสั่งให้ปล่อยช้างนาฬาคิรีซึ่งดุร้ายฆ่ามนุษย์ไปทำร้ายพระพุทธเจ้า ถ้าเห็นพระองค์เสด็จมาทางตรอกนั้น. คนเลี้ยงช้างยอมทำตาม เมื่อเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาก็ปล่อยช้างไป ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น ก็กราบทูลให้เสด็จหนี แต่ทรงปฏิเสธ และตรัสว่า ตถาคตจะไม่ปรินิพพานด้วยความยายามของผู้อื่น . ในการนี้มีผู้เห็นเหตุการณ์คอยดูบนที่สูง พระผู้มีพระภาคแผ่เมตตาจิต ช้างก็เอางวงจับฝุ่นที่พระบาทขึ้นโรยบนกระพองและกลับสู่โรงช้างตามเดิม.

พระเทวทัตเสนอข้อปฏิบัติ ๕ ข้อ

พระเทวทัตคิดฆ่าพระพระพุทธเจ้าไม่สมประสงค์ จึงชวนพรรคพวกมีพระโกกาลิกะ เป็นต้น คิดเสนอข้อปฏิบัติ ๕ ประการ เพื่อให้เห็นว่าตนเคร่งครัด คือ ๑. ให้ภิกษุทั้งหลายอยุ่ป่าตลอดชีวิต เข้าสู่บ้านมีโทษ ๒. ให้ถือบิณฑบาตตลอดชีวิต รับนิมนต์มีโทษ ๓. ให้ถือผ้าบังสกุลตลอดชีวิต รับคฤหบดีจีวร ( ผ้าที่เขาถวาย) มีโทษ. ๔. ให้อยู่โคนต้นไม้ตลอดชีวิต เข้าสู่ที่มุงบังมีโทษ ๕. ห้ามฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ฉันเข้ามีโทษ เมื่อได้โอกาสจึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเสนอข้อทั้งห้านั้น. พระผู้มีพระภาคทรงปฏิเสธ คือใน ๔ ข้อข้างต้น ให้ภิกษุปฏิบัติตามความสมัครใจ ไม่บังคับ โดยเฉพาะข้อที่ ๔ ทรงอนุญาตให้อยู่โคนไม้เพียง ๘ เดือน ( ฤดูฝนไม่ให้อยู่โคนไม้) และข้อ ๕ การฉันเนื้อสัตว์ ทรงอนุญาตเนื้อที่บริสุทธ์โดยเงื่อนไข ๓ ประการ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้นึกรังเกียจว่าเขาฆ่าเพื่อตน.

พระเทวทัตก็ดีใจที่จะได้ประกาศว่า ตนเคร่งกว่าพระพุทธเจ้า จึงเที่ยวประกาศทั่วกรุงราชคฤห์ถึงเรื่องข้อเสนอนั้น.

ทำสงฆ์ให้แตกกัน

ครั้นถึงวันอุโบสถ พระเทวทัตก็ชวนภิกษุเป็นพวกได้มาก ( เป็นพระบวชใหม่โดยมาก) แล้วพาภิกษุเหล่านั้นแยกไปทำอุโบสถ ณ ตำบลคยาสีสะ.

พระเทวทัตอาเจียนเป็นโลหิต

พระผู้มีพระภาคจึงส่งพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะไปชี้แจงให้ภิกษุที่ เข้าเป็นพวกพระเทวทัตหายเข้าใจผิด. พระเทวทัตเข้าใจว่าพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะมาเข้าพวกด้วย ก็มอบให้พระสารีบุตรสั่งสอนพระเหล่านั้นตนเองนอนพักผ่อน พระสารีบุตรแสดงธรรมให้พระเหล่านั้นฟัง ได้ดวงตาเห็นธรรม ( เป็นพระโสดาบัน) แล้วก็กลับ มีภิกษุเหล่านั้นประมาณ ๕๐๐ รูปตามมา พระโกกาลิกะรีบปลุกพระเทวทัต แจ้งข้อความให้ฟัง. พระเทวทัตถึงกับอาเจียนเป็นโลหิต.

พระผู้มีพระภาคจึงให้พระภิกษุเหล่านั้นแสดงอาบัติถุลลัจจัย เพราะประพฤติตามภิกษุผู้ทำสงฆ์ให้แตกกัน และตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรว่ามีลักษณะสมเป็นทูต เพราะประกอบด้วยองค์ ๘ คือ ๑. ฟังคนอื่น ๒ . ทำให้คนอื่นฟังตน ๓. คงแก่เรียน ๔. ทรงจำดี ๕. รู้คำพูดของคนอื่น ๖. ทำให้คนอื่นรู้คำพูดของตน ๗. ฉลาดในประโยชน์และมิใช้ประโยชน์ และ ๘. ไม่ชวนทะเลาะ ครั้นแล้วได้ทรงแสดงธรรมอีกหลายเรื่อง.

ความร้าวและความแตกกันของสงฆ์

ทรงแสดงเรื่อง “ สังฆราชิ” ความร้าวรานแห่งสงฆ์ว่า ถ้าภิกษุสองฝ่าย ยังไม่ครบฝ่ายละ ๔ รูป ก็ยังเป็นเพียงความร้าวรานแห่งสงฆ์เท่านั้น ยังไม่เป็น “ สังฑเภท” ความแตกแห่งสงฆ์ ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายมีตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป มีรูปที่ ๙ สวดประกาศ จึงเป็นทั้งความร้าวรานและความแตกแยกกันแห่งสงฆ์.

ใครทำให้สงฆ์แตกกันได้และได้

๑ . ภิกษุณี ๒. นางสิกขมานา ๓. สามเณร ๔. สามเณรี ๕. อุบาสก ๖. อุบาสิกา บุคคล ๖ ประเภทนี้ ทำให้สงฆ์แตกกันไม่ได้ ทำได้แต่เพียงพยายามให้สงฆ์แตกกัน.

ภิกษุปกติ มีสังวาสเสมอกัน อยู่ในสีมาเดียวกัน จึงทำลายสงฆ์ให้แตกกันได้.

เหตุเป็นเครื่องทำให้สงฆ์แตกกันและสามัคคีกัน

มี ๑๘ ข้อ คือ ๑. แสดงอธรรมว่าเป็นธรรม ๒ . แสดงธรรมว่าเป็นอธรรม ๓. แสดงอวินัยว่าเป็นวินัย ๔. แสดงวินัยว่าเป็นอวินัย ๕. แสดงข้อที่พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสไว้ว่าตรัสไว้ ๖. แสดงข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามิได้ตรัสไว้ ๗. แสดงข้อที่พระพุทธเจ้ามิได้ประพฤติว่าได้ประพฤติ ๘. แสดงข้อที่พระพุทธเจ้าประพฤติว่ามิได้ประพฤติ ๙. แสดงข้อที่พระพุทธเจ้ามิได้บัญญัติว่าบัญญัติ ๑๐. แสดงข้อที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติว่ามิได้บัญญัติ ๑๑. แสดงสิ่งมิใช่อาบัติว่าเป็นอาบัติ ๑๒. แสดงอาบัติว่ามิใช้อาบัติ ๑๓. แสดงว่าอาบัติเบาว่าหนัก ๑๔. แสดงอาบัติหนักว่าเบา ๑๕ . แสดงอาบัติไม่มีส่วนเหลือว่ามีส่วนเหลือ ๑๖. แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่าไม่มีส่วนเหลือ ๑๗. แสดงอาบัติชั่วหยาบว่าไม่ชั่วหยาบ ๑๘. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่าชั่วหยาบ แล้วทำอุโบสถทำปวารณา และทำสังฆกรรมแยกกัน ส่วนเหตุเป็นเครื่องทำให้สงฆ์สามัคคีกันก็มี ๑๘ อย่าง แต่ที่ตรงกันข้าม คือแสดงถูกตรงตามความจริงแล้ว ไม่ทำอุโบสถแยกกัน ไม่ทำปวารณาแยกกัน และไม่ทำสังฆกรรมแยกกัน.

การทำสงฆ์ให้แตกกันที่ทำให้ไปอบายและไม่ไปอบาย

ทรงแสดงหลังการทำสงฆ์ให้แตกกันที่มีโทษเป็นเหตุให้ไปอบาย และไม่เป็นเหตุให้ไปอบาย โดยชี้ไปที่ความบริสุทธิ์ใจ และเจตนา คือฝ่ายที่จะไปอบายนั้น รู้ว่าผิดธรรมวินัย แต่ยังเเกล้งแสดงว่าถูกธรรมวินัย ส่วนฝ่ายที่ไม่ไปอบายนั้น คือทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ และด้วยเข้าใจว่าเรื่องที่โต้เถียงกันนั้น เหตุผลของตนถูกต้องตามธรรมวินัย.

๑. ควรดูที่แปลไว้แล้ว ..ในข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก.. เทียบเคียงด้วย


เล่มที่ ๗ ชื่อจุลลวัคค์ ( เป็นพระวินัยปิฏก )
จบเล่ม

๔. วัตตขันธกะ
( หมวดว่าวัตรหรือข้อปฎิบัติ)
(๑) อาคันตุกวัตร ( ข้อปฎิบัติของผู้มา)

ภิกษุอาคันตุกะ ( ผู้เป็นแขกมาสู่วัดอื่น) ปฏิบัติไม่ชอบด้วยมารยาทของอาคันตุกะ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติวัตรหรือข้อปฏิบัติไว้ ดัง ( จะย่อกล่าว ) ต่อไปนี้ :-

ภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะ เมื่อจะเข้าวัด ( ที่ตนขอพักอาศัย) พึงถอดรองเท้า เคาะ ( ฝุ่น) ในที่ต่ำลดร่ม เปิดศีรษะเอาจีวรที่คลุมศีรษะลดลงมาบนบ่า ค่อย ๆ เดินเข้าไปหาภิกษุผู้อยู่ในวัด วางบาตรจีวร นั่งในที่สมควร แล้วถามถึงน้ำดื่ม น้ำใช้ ถ้าต้องการน้ำดื่มก็พึงดื่ม ถ้าต้องการน้ำใช้ก็พึงใช้ล้างเท้า วิธีล้างเท้าพึงเอามือข้างหนึ่งรดน้ำ เอามืออีกข้างหนึ่งล้าง แล้วพึงถามถึงผ้าเช็ดรองเท้า วิธีเช็ดรองเท้า คือเอาผ้าแห้งเช็ดก่อน แล้วเอาผ้าเช็ดเท้าทีหลัง แล้วซักผ้าเช็ดรองเท้าบิดให้แห้งแล้วตากไว้ส่วนหนึ่ง ถ้าภิกษุผู้อยู่ในวัดแก่กว่า พึงกราบไหว้ ถ้าอ่อนกว่า ก็เปิดโอกาสให้เธอกราบไหว้ แล้วพึงถามถึงเสนาสนะ ( ที่อยู่อาศัย) ถามถึงที่ควรไปและไม่ควรไป ถามถึงสกุลที่สงฆ์สมมติว่าเป็นเสขะ ถามถึงที่ถ่ายอุจจาระ, ปัสสวะ, น้ำดื่ม, น้ำบริโภค, ไม้เท้า, กติกาของสงฆ์, กาลที่ควรเข้าควรออกจากจากวัด. เมื่อที่อยู่ไม่มีผู้ครอบครอง พึงเคาะประตู รอครู่หนึ่งแล้วยกลิ้มสลักผลักขึ้นผลักบานประตู ยืนดูอยู่ภายนอก ถ้าสามารถก็พึงทำความสอาดที่อยู่ ( วิธีความสะอาดที่อยู่ แปลไว้แล้ว .ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๑๗๐)

(๒) อาวาสิกวัตร ( ข้อปฏิบัติของภิกษุเจ้าถิ่น )

ภิกษุเจ้าถิ่น ( ผู้อยู่ประจำในวัด) ไม่ค่อยเอื้อเฟื้อในภิกษุอาคันตุกะ พระผู้มีพระภาคจึงบัญญัติวัตรไว้ ดัง ( จะย่อกล่าว) ต่อไปนี้:-

เมื่อเห็นภิกษุผู้พรรษากว่า พึงปูอาสนะ ตั้งน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ลุกขึ้นต้อนรับ รับบาตรและจีวร ถามถึง ( ความต้องการ ) น้ำดื่ม น้ำใช้ ถ้าสามารถก็พึงเช็ดเท้ารองเท้าให้ แล้วกราบไหว้ และบอกให้ทราบเรื่องต่าง ๆ ที่ควรทราบ เช่น ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ กติกาของสงฆ์ เป็นต้น.

ถ้าภิกษุอาคันตุกะอ่อนพรรษากว่า พึงนั่งบอก ชี้ที่วางบาตรจีวร ชี้ที่นั่ง บอกน้ำดื่ม, น้ำใช้, บอกผ้าเช็ดรองเท้า เปิดโอกาสให้กราบไหว้ และบอกเรื่องต่าง ๆ ที่ควรทราบ.

(๓) คมิกวัตร ( ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้จะเดินทางจากไป)
( เรื่องนี้แปลไว้ละเอียดแล้ว ..ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๑๖๙

(๔) ภัตตัคควัตร ( วัตรในโรงฉัน)

ก่อนจะทรงบัญญัติเรื่องข้อปฏิบัติในโรงฉัน ได้ทรงอนุญาตให้กล่าวอนุโมทนาในโรงฉัน, และให้มีภิกษุผู้เป็นเถระ และพระผู้น้อย ( เถระนุเถระ) ๔- ๕ รูป อยู่เป็นเพื่อนพระเถระในการกล่าวอนุโมทนา ( สมัยก่อนพูดรูปเดียวเฉพาะหัวหน้า ), เมื่อมีธุระจำเป็น ให้พระเถระกลับก่อน ได้แล้วให้รูปรองลงมากล่าว อนุโมทนาแทน แล้วทรงปรารถภิกษุฉัพพัคคีย์ผู้ปฏิบัติไม่เรียบร้อย จึงทรงบัญญัติวัตรในโรงฉัน คือ:-

เมื่อมีผู้บอกเวลาอาหารในวัดแล้ว ให้นุ่งห่มให้เป็นปริมณฑล คาดประคดเอว ถือบาตรเข้าบ้านด้วยดีไม่รีบด่วน ไม่พึงเดินออกหน้าพระเถระ และปฏิบัติตามเสขิยวัตร อันว่าด้วยการเข้าไป และการนั่งในบ้านทุกข้อ ไม่พึงนั่งเบียดเสียดพระเถระ ไม่ถึงนั่งกันที่นั่งของพระที่อ่อนพรรษากว่า ไม่พึงนั่งทับสังฑฏิในบ้าน เมื่อเขาถวายน้ำ พึงจับทั้งสองรับน้ำ แล้วล้างบาตร ถ้ามีที่รับน้ำสำหรับเท พึงเทที่ต่ำไมให้น้ำกระเซ็นเปียกภิกษุอื่นหรือเปียกสังฆฏิ. เมื่อเขาถวายข้าวก็จับบาตรด้วยมือทั้งสองรับข้าว. ถ้ามีเนยใส น้ำมัน หรือแกงอ่อม ให้พระเถระสั่งให้เขาใส่ให้สมส่วนกัน พึงปฏิบัติตามเสขิวัตร ว่าด้วยการรับบิณฑบาตและการฉันอาหารทุกข้อ. ถ้าพระเถระไม่พึงรับน้ำจนกว่าภิกษุทั้งปวงจะฉันเสร็จ เมื่อเข้าถวายน้ำ พึงเอามือทั้งสองจับบาตรรับน้ำ ถ้ามีที่รับน้ำสำหรับเท พึงเทต่ำ ๆ ไม่ให้น้ำกระเซ็นเปียกภิกษุอื่นหรือเปียกสังฆาฏิ ฯลฯ เมื่อกลับให้ภิกษุอ่อนพรรษากว่ากลับบ้านก่อน ด้วยอาการอันดีงามตามเสขิยวัตรที่เกี่ยวกันการเข้าบ้าน.

(๕) ปิณฑจาริกวัตร ( วัตรของภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต)

ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต เมื่อจะเข้าบ้าน พึงนุ่งห่มให้เรียบร้อย และปฏิบัติขณะเข้าบ้าน ( เหมือนภิกษุผู้เข้าไปฉันในบ้าน) ตามเสขิยวัตร เมื่อจะเข้าสู่ที่อยู่ พึงสังเกตทางเข้าออก ไม่พึงเข้าออกโดยรีบด่วน ไม่พึงยืนไกลเกินไปหรือใกล้เกินไป ไม่พึงยืนนานเกินไปหรือเร็วเกินไป พึงสังเกตว่า เขาใคร่จะถวายอาหารหรือไม่ ถ้าเขาแสดงอาการจะถวาย พึงยืนอยู่ เมื่อเขาถวายอาหาร ( ใสบาตร) พึงยกสังฆาฏิด้วยมือข้างซ้าย ส่งบาตรออกด้วยมือขวา จับบาตรด้วยมือทั้งสองรับอาหาร. ไม่พึงมองหน้าของผู้ถวายอาหาร พึงสังเกตดูว่า เขาทำอาการจะถวายแกงหรือไม่ ถ้าเขาแสดงอาการ พึงยืน ( รอ) อยู่ เมื่อเขาถวายเสร็จแล้วพึงปิดบาตรด้วยสังฆาฏิ กลับไปด้วยดี ไม่รีบด่วน . ( ต่อจากนั้นทรงแสดงเสขิยวัตรเนื่องในการเข้าบ้านทุกข้อที่ภิกษุผู้เที่ยว บิณฑบาตจะพึงปฏิบัติ) เมื่อเสร็จการบิณฑบาตแล้ว รูปใดกลับก่อน พึงปูอาสนะ (ที่นั่ง) ตั้งน้ำ ล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงล้างภาชนะใส่เศษอาหารตั้งไว้ พึงตั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ ผู้ใดกลับจากบิณฑบาตในภายหลัง ถ้ามีของฉันเหลือ ถเาปรารถนาก็พึงฉัน ถ้าไม่ปรารถนาก็พึงเททิ้งเสียในที่ไม่มีของเขียวสด หรือเทลงในน้ำที่มีตัวสัตว์ พึงเก็บอาสนะ เก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้า ล้างภาชนะใส่เศษอาหารเก็บไว้ เก็บน้ำดื่ม น้ำใช้ กราดโรงฉัน ผู้ใดเห็นหม้อน้ำดื่ม น้ำใช้ หม้อน้ำชำระว่างเปล่า พึงตักน้ำใส ถ้าไม่สามารถ ก็พึงเรียกภิกษุรูปที่ ๒ มา ด้วยใช้มือแสดงให้ทราบว่าควรตักน้ำใส่ ไม่พึงเปล่งวาจาในเรื่องนั้น.

(๖) อรัญญกวัตร ( วัตรของภิกษุผู้อยู่ป่า)

ภิกษุผู้อยู่ป่า พึงลุกขึ้นแต่เช้า เอาบาตรใส่ถุงแล้วคล้องบ่า เอาจีวรพาดที่คอ ใส่รองเท้า เก็บเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้และดินเผา ปิดประตูหน้าต่างแล้วลงจากที่อยู่อาศัย ( สนาสนะ) เมื่อจะเข้าบ้าน พึงถอดรองเท้าเคาะในที่ต่ำ

ใส่ไว้ในถุงแล้วคล้องบ่า นุ่งให้เรียบร้อย คาดประคดเอว ซ้อนผ้า ( จีวรกับสังฆาฏิ) แล้วห่มผ้าซ้อนนั้น ติดลูกดุม ล้างบาตรแล้วถือเข้าไปด้วยดี ไม่รีบด้วน ( ต่อจากนั้นพึงปฏิบัติตามเสขิยวัตรเนื้องในการเข้าบ้านทุกข้อ) ๑ เมื่อเสร็จจากการรับบิณฑบาตออกจากบ้านแล้ว ใส่บาตรไว้ในถุงคล้องบ่า ม้วนจีวรวางไว้บนศีรษะ ใส่รองเท้าเดินไป. ภิกษุอยู่ป่าพึงตั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ และจุดไฟไว้ วางไม้สีไฟไว้ ตั้งไม้เท้าไว้ เรียนนักษัตรบท ( ทางเดินของดาวฤกษ์) ทั้งหมด หรือบางส่วน และเป็นผู้ฉลาดในทิศ.

(๗) เสนาสนวัตร ( วัตรเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย)
( แปลไว้แล้ว .ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๑๗๐)

(๘) ชั้นตาฆรวัตร ( วัตรในเรือนไฟ)

ภิกษุเข้าไปในเรือนไฟก่อน ถ้ามูลเถ้ามีมาก ก็พึงน้ำไปทิ้งเสีย. ถ้าเรือนไฟรกก็พึงกวาด. ถ้าชานภายนอกรก หรือบริเวณรก หรือซุ้มรก หรือโรงแห่งเรือนไฟ ( โรงโถงที่มีเรือนไฟตั้งอยู่) รก ก็พึงกวาดพึงนำผง ( สำหรับถูตัว) ไปไว้ให้พร้อม ทำดินเหนียวให้เปียก รดน้ำลงในรางน้ำเมื่อเข้าสู่เรือนไฟ พึงเอาดินเหนียวทาหน้า ปิดด้านหน้าปิดด้านหลัง ( คงหมายถึงปิดเรือนไฟ) แล้วพึงเข้าไป. ไม่พึงนั่งเบียดเสียดภิกษุผู้เป็นเถระ ไม่พึงนั่งกันที่ภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่า ถ้าสามารถก็พึงถูหลังให้ภิกษุผู้เป็นเถระ. เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงนำตั่งประจำเรือนไฟออกด้วย พึงปิดด้านหน้าด้านหลังแล้วออกจากเรือนไฟ. ถ้าสามารถก็พึงถูหลังให้ภิกษุผู้เป็นเถระ แม้ในน้ำ ไม่พึงอาบน้ำเบื้องหน้าภิกษุผู้เป็นเถระ ไม่พึงอาบน้ำในกระแสน้ำด้านเหนือพระเถระ

เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วจะขึ้น ก็พึงให้ทางแก่ภิกษุทั้งหลายผู้กำลังจะขึ้น ( จากน้ำ) . ส่วนภิกษุผู้ออกจากเรือนไฟทีหลัง ถ้าเรือนไฟลื่น พึงล้างเสีย พึงล้างรางใส่ดินเหนียวแล้วเก็บตั่งประจำเรือนไฟเสีย ดับไฟปิดประตูแล้วออกไป. ( แสดงว่าเมื่อเข้าไปอบในเรือนไฟให้เหงื่อออกแล้วก็อาบน้ำในที่ใกล้ ๆ กันนั้นเอง).

(๙) วัจจกุฏิวัตร ( วัตรเกี่ยวกับส้วม)

ก่อนที่จะทรงบัญญัติข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวัจจกุฏิ ทรงบัญญัติให้ภิกษุผู้ถ่ายอุจจาระเสร็จแล้วใช้น้ำชำระ ถ้าไม่ชำระ ต้องอาบัติทุกกฏ และทรงอนุญาตให้เข้าสู่วัจจกุฏิตามลำดับที่ไปก่อนหลัง ( ไม่ต้องคอยตามลำดับ พรรษา ซึ่งภิกษุผู้มีพรรษาอ่อนกว่าเดือดร้อน) และทรงปรารภความไม่เรียบร้อยในการเข้า การใช้วัจจกุฏิของภิกษุเบญจวัคคีย์ จึงทรงบัญญัติข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวัจจกุฏิ ดังต่อไปนี้:-

ภิกษุผู้ไปสู่วัจจกุฏิ พึงยืนอยู่ข้างนอก ทำเสียงกระแอม ถ้ามีภิกษุอยู่ข้างใน พึงกระแอมรับ จึงพาดจีวรไว้ที่ห่วงสำหรับแขวนหรือราวสำหรับพาด พึงเข้าไปด้วยดี ไม่รีบด่วน ไม่พึงเลิกผ้าเข้าไป ต่อเมื่อยืนบนเขียงรองเหยียบแล้วจึงเลิกผ้า, ไม่พึงเบ่งถ่าย , ไม่พึงเคี้ยวไม้สีฟันขณะถ่าย, ไม่พึงถ่ายนอกหลุมอุจจาระนอกรางปัสสาวะ ไม่พึงบ้วนน้ำลายลงในรางปัสสาวะ ไม่พึงใช้ไม้ชำระที่หยาบ ( คมแข็ง) ไม่พึงทิ้งไม้ชำระลงในหลุมถ่าย เมื่อยืนบนเขียงรองเหยียบแล้ว พึงปกปิด ( ดึงผ้านุ่งลงไปปกปิด) ไม่ถึงออกโดยรีบร้อน ไม่พึงเลิกผ้าออกมา

( เมื่อจะชำระ) ยืนอยู่บนเขียงรองเหยียบสำหรับชำระแล้วจึงเลิกผ้า ไม่พึงชำระให้มีเสียงดัง

ไม่พึงเหลือน้ำไว้ในขันชำระ เมื่อยืนบนเขียงสำหรับเหยียบแล้ว ถึงปกปิด.

( แสดงว่าที่ถ่ายกับที่ชำระอยู่แยกกันแต่ใกล้กัน). ถ้าวัจจกุฏิเปื้อน พึงล้างเสีย ถ้าไม่ทิ้งไม้ชำระเต็ม พึงนำไม้ชำระไปทิ้ง. ถ้าวัจจกุฏิรก พึงปัดกวาด ถ้าชานภายนอก, บริเวณ, ซุ้ม รก ก็พึงปัดกวาด ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มี ก็พึงตักน้ำใส่.

(๑๐) อุปัชฌาวัตร ( วัตรเกี่ยวกับอุปัชฌายะ)

สัทธิวิหาริก ( ผู้ที่อุปัชฌายะบวชให้ ) พึงลุกขึ้นแต่เช้า ถอดรองเท้า ทำผ้าห่มเฉวียงบ่า ถวายไม้สีฟันน้ำล้างหน้า ปูอาสนะ ถ้ามีอาสนะ ถ้ามีข้าวยาคู พึงล้างภาชนะแล้วน้อมข้าวยาคูเข้าไปถวาย แล้วถวายน้ำ รับภาชนะมาล้างเก็บ เมื่ออุปัชฌายะลุกขึ้นให้ลุกขึ้นยกอาสนะขึ้น ถ้าสถานที่รก พึงปัดกวาด ถ้าอุปัชฌายะใคร่จะเข้าสู่หมู่บ้านพึงถวายผ้านุ่ง รับผ้าที่ท่านผลัด ถวายประคดเอว เอาผ้า ( จีวรกับสังฆาฏิ) ซ้อนกันแล้วถวาย ล้างบาตรแล้วถวายทั้งที่มีน้ำ ถ้าอุปัชฌายะต้องการพระไปด้วย พึงนุ่งให้เรียบร้อย ซ้อนผ้า ห่มผ้าซ้อนติดรังดุมตามท่านไป . ไม่พึงเดินไกลหรือใกล้เกินไป. พึงรับอาหารแต่พอเหมอะแก่บาตร. เมื่ออุปัชฌากำลังพูด ไม่พึงพูดซ้อน. นอกจากนั้นยังมีข้อปฏิบัติอีกมากมาย ซึ่งพอจะย่อกล่าวไว้คือ:-

หวังความศึกษาในท่าน , ขวนขวายป้องกัน หรือระงับความเสื่อมเสียอันจักมี หรือได้มีแล้ว เช่น ระงับความกระสัน, ความเบื่อหน่าย ช่วยปลดเปลี้ยงความเห็นผิดของท่าน ขวนขวายเพื่อสงฆ์งดโทษที่จะลงแก่ท่าน หรือเพื่อผ่อนเบาลงมา, รักษาน้ำใจท่าน ไม่คบคนนอกให้เป็นเหตุแหนงใจ เช่น จะรับจะให้ เป็นต้น กับคนเช่นนั้น บอกท่านก่อน ไม่ทำตามลำพัง, ไม่เที่ยวแตร่ตามลำพัง จะไปข้างไหนลาท่านก่อน , เมื่อท่านอาพาธ เอาใจใส่พยาบาล ไม่ไปข้างไหนเสีย จนกว่าท่านจะหายเจ็บหรือมรณภาพ.

(๑๑) สัทธิวิหาริกวัตร ( ข้อปฏิบัติต่อสัทธิวิหาริก)

ภิกษุผู้เป็นอุปัชฌายะ ( ผู้บวชให้) พึงปฏิบัติชอบในสัทธิวิหาริก ( ผู้ที่ตนบวชให้) ดังต่อไปนี้ :-

เอาธุระในการศึกษาของสัทธิวิหาริก, สงเคราะห์ด้วยบาตรจีวร และบริขารอย่างอื่น ถ้าตนไม่มีก็ต้องขวนขวายหาให้, ขวนขวายป้องกัน หรือระงับความเสื่อมเสียอันจักมี หรือได้มีแล้วแก่สัทธิวิหาริก ( เช่นเดียวกับข้อปฏิบัติต่ออุปัชฌายะ), เมื่อสัทธิวิหาริกอาพาธ เอาใจใส่พยาบาล.

(๑๒) อาจริยวัตร ( ข้อปฏิบัติต่ออาจารย์)
(๑๓) อันเตวาสิกวัตร ( ข้อปฏิบัติต่ออันเตวาสิก)

ทั้งสองอย่างนี้เหมือนกับข้อปฏิบัติ ระหว่าง อุปัชฌายะกับสัทธิวิหาริก.
๕. ปาฏิโมกขฐปนขันธกะ
( หมวดว่าด้วยการแสดงปาฏิโมกข์)

ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ วันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทที่นางวิสาขาสร้างถวาย ในบุพพาราม พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จนกระทั้งดึกล่วงปฐมยามแห่งราตรี พระอานนท์จึงกราบทูลขอให้แสดงปาฏิโมกข์ แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงนั่งนิ่ง. เมื่อมัชฌิมยามแห่งราตรีล่วงไป พระอานนท์ก็กราบทูลเตือนเป็นครั้งที่ ๒ แต่ก็ทรงนั่งนิ่ง ครั้นปัจฉิมยามแห่งราตรีล่วงแล้ว อรุณกำลังจะขึ้น พระอานนท์ก็กราบทูลเตือนอีกเป็นครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า บริษัท ( ผู้ที่ประชุมกันอยู่) ไม่บริสุทธิ์. พระโมคคัลลานะพิจจารณาก็รู้ว่ามีภิกษุที่ขาดจากความเป็นภิกษุ แต่ปฏิญญาตนว่าเป็นภิกษุ นั่งปนอยู่ในบริษัทนั้น จึงพูดกับภิกษุนั้นให้ออกไป แม้พูดถึง ๓ ครั้ง ภิกษุนั้นก็ยังนั่งนิ่ง ท่านจึงจับแขนพาออกไปนอกซุ้มประตู แล้วลงกลอนข้างในเสีย.

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถึงความอัศจรรย์ ๘ ประการของมหาสมุทร เปรียบด้วยพระธรรมวินัยของพระองค์ และมีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อยู่ข้อหนึ่ง คือมหาสมุทรย่อมซัดซากศพให้ขึ้นสู่ฝั่งหมด เปรียบเหมือนการที่สงฆ์ไม่ยอมคบหากับผู้ประพฤติผิด และยกเสียจากหมู่.

ต่อจากนั้นไม่ทรงแสดงปาฏิโมกข์อีก

เนื่องจากด้วยเหตุการณ์นั้น จึงตรัสว่า ต่อไปจะไม่ทรงแสดงปาฏิโมกข์อีก ทรงมอบให้สงฆ์ทำอุโบสถสวดปาฏิโมกข์ ทรงอ้างเหตุผลว่า พระตถาคตไม่แสดงปาฏิโมกข์ในบริษัทที่ไม่บริสุทธิ์ แล้วทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามภิกษุที่ยังมีอาบัติติดตัวอยู่ฟังปาฏิโมกข์ ถ้าขืนฟัง ต้องอาบัติทุกกฏ. ทรงอนุญาตให้งดสวดปาฏิโมกข์เพราะเหตุที่ภิกษุยังมีอาบัติฟังปาฏิโมกข์ได้. พร้อมทั้งทรงแสดงวิธีสวดประกาศระงับการสวดปาฏิโมกข์ด้วย. แต่ก็ทรงห้ามมิให้งดสวดปาฏิโมกข์แก่ภิกษุบริสุทธิ์ไม่มีอาบัติ โดยไม่มีเหตุผล แล้วทรงแสดงการระงับการสวดปาฏิโมกข์ที่ไม่เป็นธรรม และที่เป็นธรรมหลายประการ รวมทั้งอันตรายหรือเหตุที่ทรงอนุญาตให้หยุดสวดปาฏิโมกข์ได้ ๑๐ ประการ คือ ๑. พระราชาเสด็จมา, ๒. โจรปล้น, ๓. ไฟไหม้, ๔. น้ำท้วม, ๕. คนมามาก ( เลิกสวดเพื่อทราบเรื่องหรือเพื่อต้อนรับ), ๖. อมนุษย์เบียดเบียน, ๗. สัตว์ร้าย เช่น เสือเข้ามา, ๘ งูร้ายเลื้อยเข้ามา , ๙. ภิกษุเกิดอาพาธอันจะถึงแก่ชีวิต, ๑๐. มีอันตรายแก่พรหมจรรย์.

การโจทฟ้อง

ทรงตอบคำถามของพระอุบาลีเกี่ยวกันการโจทฟ้อง ( ภิกษุผู้ไม่สมควรจะฟังปาฏิโมกข์) เริ่มตั้งแต่การตัดสินใจนำตนเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อธรรม เพื่อวินัย และการโจทฟ้องกันเป็นธรรมและไม่เป็นธรรมซึ่งมีลักษณะต่าง ๆ หลายประการ.


๖. ภิกขุนีขันธกะ
( หมวดว่าด้วยนางภิกษุณี)

เรื่องต้นคือประวัติความเป็นมาของนางภิกษุณี ได้แปลไว้แล้ว (ความน่ารู้พระไตรปิฎก ) หมายเลข ๘๓ พระนางมหาปชาบดีโคตมี ( ผู้เป็นพระน้านาง พระมารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้า) ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา. ในชั้นแรกซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงปฏิเสธ แต่ในที่สุดทรงอนุญาต โดยทรงวางเงื่อนไขไว้ถึง ๘ ประการ ที่เรียกว่าครุธรรมซึ่งพระนางมหาปชาบดี โคตมี ก็ทรงยอมรับ พระอานนท์จึงนำความไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค. พระองค์ตรัสว่า การที่มีสตรีมาบวชในพระพุทธศาสนา จะทำให้พระธรรมวินัยตั้งอยู่ไม่ได้นานนักเท่าที่ควร. ( แต่การทรงวางเงื่อนไขมิให้สตรีบวชได้ง่าย ๆ ก็ได้ผล คือภายหลังพุทธปรินิพพานแล้วไม่นานนัก ก็หมดเชื้อสายของนางภิกษุณี).


ทรงอนุญาตการบวชภิกษุณี

ทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ภิกษุณี ( และในภายหลังทรงอนุญาตให้ภิกษุณีบวชในสงฆ์ ๒ ฝ่าย คือบวชในภิกษุณีสงฆ์ก่อน แล้วจึงบวชในภิกษุสงฆ์ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น มีนักเลงคอยดักประทุษร้ายนางภิกษุณีที่บวชในภิกษุสงฆ์แล้ว จะเดินทางมาบวชในฝ่ายภิกษุสงฆ์ จึงทรงอนุญาตให้บวชโดยทูตได้ คือเมื่อบวชในภิกษุณีสงฆ์เสร็จ ให้นางภิกษุณีผู้ฉลาดรูปหนึ่งเข้าไปหาภิกษุสงฆ์สวดขออนุมัติสงฆ์ เพื่อให้อุปสมบทแก่นางภิกษุณีที่มาไม่ได้ รวม ๓ ครั้ง แล้วให้ภิกษุผู้ฉลาดสามารถสวดประกาศการอุปสมบท ในที่ประชุมสงฆ์ด้วยญัตติจตุถกรรม คือเสนอญัตติ ๑ ครั้ง สวดประกาศ ๓ ครั้ง). อนึ่ง ทรงชี้แจงด้วยว่า พระนางมหาปชาบดี โคตมี เป็นอันบวชแล้วดี ด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการ.

การศึกษาสิกขาบท

ทรงอนุญาตให้นางภิกษุณีศึกษาในสิกขาบทที่เป็นสาธารณะ คือใช้ได้ด้วยกันระหว่างภิกษุกับนางภิกษุณี. ส่วนสิกขาบทที่เป็นอสาธารณะ คือบัญญัติไว้เฉพาะแก่นางภิกษุณี ก็ทรงอนุญาตให่ศึกษา.

ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ

ทรงแสดงลักษณะตัดสินธรรมวินัย คือ ๑. ถ้าเป็นไปเพื่อความกำหนัดยินดี มิใช่เพื่อปราศจากความกำหนัดยินดี ๒. เป็นไปเพื่อผูกมัดไว้ในภพ มิใช่คลายการผูกมัด ๓. เป็นไปเพื่อสะสมกิเลสมิใช่เพื่อรื้อถอนกิเลส ๔. เป็นไปเพื่อความปรารถนาใหญ่ มิใช่เพื่อความปรารถนาน้อย ๕. เป็นไปเพื่อไม่ยินดีด้วยของตน มิใช่เพื่อยินดีด้วยของของตน ( สันโดษ) ๖. เป็นไปเพื่อคลุกคลีด้วยหมู่ มิใช่เพื่อสงัดจากหมู่ ๗. เป็นไปเพื่อความรังเกียจคร้าน มิใช่เพื่อปรารถนาความเพียร ๘. เป็นไปเพื่อเลี้ยงยาก มิใช่เพื่อเลี้ยงง่าย พึงทราบว่าธรรมเหล่านั้นมิใช่ธรรมมิใช่วินัย มิใช่สัตถุศาสนา ถ้าตรงกันข้ามจึงเป็นธรรมวินัย เป็นสัตถุศาสนา.

เรื่องเกี่ยวกับปาฏิโมกข์และสังฆกรรม

ครั้งแรกทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายสวดปาฏิโมกข์ให้นางภิกษุณีฟัง ต่อมาทรงห้ามและให้นางภิกษุณีสวดเอง โดยให้ภิกษุทั้งหลายสอนให้ ครั้งแรกทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายรับการแสดงอาบัติของนางภิกษุณีได้ ภายหลังทรงห้าม และให้นางภิกษุณีรับการแสดงอาบัติของนางภิกษุณีด้วยกัน โดยให้ภิกษุทั้งหลายสอนวิธีการให้ ครั้งแรกอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายทำกรรมแก่นางภิกษุณีได้ ( สวดประกาศลงโทษ) ภายหลังทรงห้าม และให้นางภิกษุณีทำกรรมแก่นางภิกษุณีด้วยกัน โดยให้ภิกษุทั้งหลายสอนวิธีการให้. ทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายระงับอธิกรณ์ของนางภิกษุณีได้ แต่เกี่ยวกับการทำกรรม ทรงอนุญาตให้ภิกษุยกกรรมยกอาบัติของภิกษุณีได้ แล้วให้มอบให้นางภิกษุณีด้วยกันทำกรรมและรับการแสดงอาบัติต่อไป. และทรงอนุญาตให้ภิกษุสอนวินัยแก่นางภิกษุณีได้.

การลงโทษภิกษุด้วยการไม่ไหว้

ภิกษุฉัพพัคคีย์เอาน้ำโคลนรดนางภิกษุณีบ้าง แสดงอาการต่าง ๆ ที่ไม่ดีไม่งาม เพื่อจะให้นางภิกษุณีกำหนัดในตน ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ผู้ทำเช่นนั้น และให้ลงโทษ ( ทัญฑกรรม) แก่ภิกษุนั้น โดยให้ภิกษุณีสงฆ์นัดกันไม่ไหว้ภิกษุนั้น.

การลงโทษนางภิกษุณี

นางภิกษุณีฉัพพัคคีย์ ( พวก ๖ ) พระพฤติไม่ดีไม่งามเพื่อให้ภิกษุกำหนัดในตน ทรงปรับอาบัติทุกกฏและอนุญาตให้ลงโทษนางภิกษุณีนั้นโดยให้กักบริเวณ และถ้ายังไม่ละเลิกก็ให้งดให้โอวาท . นางภิกษุณีที่ถูกงดโอวาทจะทำอุโบสถร่วมกับภิกษุอื่น ๆ ไม่ได้ จนกว่าอธิกรณ์จะสงบ.

การให้โอวาทนางภิกษุณี

ภิกษุณีให้โอวาทนางภิกษุณี จะงดเสียแล้วเที่ยวจาริกไปก็ตาม งดโอวาทเพราะเขลาก็ตาม งดโอวาทโดยไม่มีเหตุผลสมควรก็ตาม งดโอวาทแล้วไม่วินิจฉัย ( คือเมื่อลงโทษงดโอวาท ก็จะต้องมีการตัดสินให้เห็นผิด) ก็ตาม ต้องอาบัติทุกกฏ . ครั้งแรกทรงอนุญาตให้นางภิกษุณีไปฟังโอวาทของภิกษุ ภายหลังอนุญาตให้สมมติ คือแต่งตั้งภิกษุรูปใดรูปหนึ่งให้ไปสอนนางภิกษุณี เป็นต้น รวมทั้งระเบียบเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการให้โอวาท.

ข้อห้ามเบ็ดเตล็ด

ต่อจากนั้นทรงบัญญัติพระวินัยเบ็ดเตล็ดเกี่ยวด้วยนางภิกษุณี เช่น ห้ามใช้ประคดเอวยาวเกินไป ให้รัดประคดรอบเดียว ห้ามใช้ผ้ารัดดัดซี่โครง ( เพื่อรัดรูป ดั่งสตรีผู้เป็นคฤหัสถ์) นอกจากนั้นยังห้ามทำการแบบสตรีผู้ครองเรือนอีกหลายอย่าง เช่น ผัดหน้า เจิมหน้า ย้อมหน้า ตลอดจนห้ามมีทาส ทาสี กรรมกร หญิงชาย เป็นต้น ไว้รับใช้ และห้ามใช้จีวรย้อมสีไม่ถูกต้องเช่นเดียวกับที่ห้ามสำหรับภิกษุ และห้ามใช้เสื้อใช้หมวก เป็นต้น. นางภิกษุณีถึงมรณภาพ ทรงบัญญัติให้เครื่องใช้ของเธอเป็นของภิกษุณีสงฆ์ ต่อจากนั้นมีข้อห้ามเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องการอุปสมบท การทำอุโบสถ และปวารณา.


๗. ปัญจสติกขัรธกะ
( หมวดว่าด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป
ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑) 

เล่าเรื่องพระผู้มีพระภาคนิพพานแล้ว ภิกษุทั้งหลายเศร้าโศก แต่มีภิกษุผู้บวชเมื่อแก่รูปหนึ่งชื่อ สุภัททะ กล่าวห้ามไม่ให้เศร้าโศก ควรจะดีใจว่า ต่อไปจะได้ไม่มีใครคอยห้ามทำนั้นทำนี่ อยากทำอะไรก็ทำก็จะทำได้ พระมหากัสสปปรารภถ้อยคำนั้น จึงเสนอให้ทำสังคายนา คือร้อยกรองหรือจัดระเบียบพระธรรมวินัยและเลือกพระอรหันต์ ๔๙๙ รูป ( เว้นไว้ ๑ รูป สำหรับพระอานนท์ ซึ่งยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ) แล้วเดินทางไปยังกรุงราชคฤห์ สวดประกาศมิให้สงฆ์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสังคายนาอยู่ในกรุงราชคฤห์ และใช้เวลา ๑ เดือนแรกในการปฏิสังขรณ์สิ่งปรักหักพัง. รุ่งขึ้นจะมีการประชุม พระอานนท์ก้ได้บรรลุอรหัตตผล.

การสังคายนาครั้งที่ ๑
พระมหากัสสปสวดขอให้สงฆ์สมมติ คือแต่งตั้งตัวแทนเองเป็นผู้ถามวินัย พระอุบาลีเป็นผู้ตอบวินัย เมื่อถามตอบเสร็จแล้ว จึงขอสมมติตัวท่านเองเป็นผู้ถามธรรมะ พระอานนท์เป็นผู้ตอบธรรมะ แล้วได้ถามตอบนิกาย ๕.

( หมายเหตุ : หลักฐานสั้น ๆ นี้แสดงว่า คำว่า ธรรม นั้น รวมทั้งพระสูตรและอภิธรรม ตามที่อรรถกถาอธิบายว่า อภิธรรมนั้นรวมอยู่ในขุททกนิกาย อันเป็นนิกายที่ ๕. ฝ่ายที่ค้านไม่เชื่อว่าอภิธรรมมีมาในสมัยพระพุทธเจ้า แต่มาแต่งขึ้นภายหลัง ก็อ้างเหตุผลตอนนี้ บอกว่าเป็นหลักฐานที่แสดงว่าไม่มีการสังคายนาอภิธรรมเลย เพราะนิกาย ๕ เป็นเรื่องของพระสูตรล้วน ๆ ).

การถอนสิกขาบทเล็กน้อย

ต่อจากนั้นพระอานนท์ได้เสนอให้ที่ประชุมทราบถึงพระพุทธานุญาตที่ให้สงฆ์ ถ้าปรารถนา ก็ถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียได้ ที่ประชุมไม่ตกลงกันได้ว่า แค่ไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย พระมหากัสสปจึงสวดเสนอญัตติให้สงฆ์งดถอนสิกขาบทเล็กน้อย เพื่อป้องกันมิให้มีผู้กล่าวได้ว่า สิกขาบทที่พระสมณโคดมทรงบัญญัตินั้น อยู่ได้ตราบเท่าที่ยังมีศาสดาเท่านั้น จึงมีระยะกาลเหมือนควันไฟ ( ซึ่งจางหายไปง่าย). ในที่สุดเมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็เป็นอันใช้อำนาจสงฆ์ห้ามถอนสิกขาบทเล็กน้อย.

พระอานนท์ถูกปรับอาบัติ

พระเถระทั้งหลายได้ปรับอาบัติทุกกฏแก่พระอานนท์หลายข้อ คือ ๑. ไม่ถามให้ทรงแสดงว่าสิกขาบทเล็กน้อยคืออะไรบ้าง ๒. เมื่อเย็บผ้าอาบน้ำฝนถวายพระผู้มีพระภาคได้เหยียบผ้านั้น ๓. ตอนที่นำสตรีเข้าถวายบังคมพระศพ คนเหล่านั้นร้องไห้ น้ำตาเปื้อนพระสรีระของพระผู้มีพระภาค ๔. ไม่อาราธราให้พระผู้มีพระภาคทรงพระชนม์อยู่ ทั้งที่ทรงทำนิมิตโอภาสให้ปรากฏ ๕. ขวนขวายให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา. พระอานนท์มีข้อชี้แจงทุกข้อ แต่ยอมแสดงอาบัติด้วยศรัทธาในพระเถระเหล่านั้น.

พระปุราณะไม่ค้าน แต่ถือตามที่ฟังมาเอง

พระปราณะพร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ ท่องเที่ยวไปในทักษิณาคิรี ( ภูเขาแถบภาคใต้ของอินเดีย ) พอสมควรแล้ว ก็เดินทางไปพัก ณ เวฬวนาราม กรุงราชคฤห์ เมื่อเข้าไปหาพระเถระได้รับบอกเล่าว่าพระเถระทั้งหลายได้สังคายนาพระธรรม วินัยแล้ว และแนะให้รับรองข้อที่สังคายนาแล้วนั้น. พระปุราณะตอบว่า ธรรมและวินัยเป็นอันพระเถระทั้งหลายสังคายนาดีแล้ว แต่ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคอย่างไร ข้าพเจ้าจักทรงจำไว้อย่างนั้น. ( เรื่องนี้เป็นจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่แสดงว่าความคิดเห็นไม่ตรงกันเริ่มขึ้นบ้างแล้ว).

ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ

พระอานนท์จึงแจ้งให้สงฆ์ทราบถึงพระพุทธดำรัสที่ให้ลงพรหมทัณฑ์ ( การลงโทษแบบผู้ใหญ่ หรือผู้ดี ) คือพระฉันนะอยากทำอะไรก็ปล่อยให้ทำตามชอบใจ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอน. สงฆ์จึงมอบให้พระอานนท์เป็นผู้จัดการลงพรหมทัณฑ์ โดยให้นำภิกษุไปด้วยเป็นอันมากเดินทางไปกรุงโกสัมพีโดยทางเรือ ได้พบพระเจ้าอุเทน พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสในคำชี้แจงเรื่องการใช้ผ้าให้เป็นประโยชน์ แม้เมื่อเก่าแล้วก็ยังเอามาทำผ้าเช็ดเท้า ผ้าถูพื้น และนำมาขยำกับดินเหลวโบกชานภายนอกกุฏิ. ต่องจากนั้นพระอานนท์ก็เดินทางไปยังโฆสิตารามลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ ทำให้พระฉันนะเสียใจถึงสลบ และพยายามบำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุอรหัตตผล จึงมาขอให้ถอนพรหมทัณฑ์ แต่พระอานนท์ตอบว่า พรหมทัณฑ์เป็นอันระงับไปแล้ว ตั้งแต่พระฉันนะได้บรรลุอรหัตตผล.


๘. สัตตสิกขันธกะ
( หมวดว่าด้วยพระอรหันต์ ๗๐๐ รูป
ในการสังคายนาครั้งที่ ๒ )
วัตถุ ๑๐ ประการ

เมื่อพุทธปรินิพพานล่วงแล้ว ๑๐๐ ปี ภิกษุพวกวัชชีบุตร ชาวเมืองไพศาลี แสดงวัตถุ ๑๐ ประการ ( ซึ่งผิดธรรมวินัย) ว่า เป็นของควรหรือถูกต้องตามธรรมวินัย คือ ๑ . เก็บเกลือในเขาสัตว์ ( เขนง) เอาไว้ฉันกับอาหารได้ ( ความจริง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะเมื่อเก็บค้างคืนแล้วนำมาบนกับอาหาร อาหารนั้นก็เหมือนค้างคืนด้วย). ๒. ตะวันชายไปแล้ว ๒ นิ้ว ฉันอาหารได้ ( ความจริง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงไปแล้ว) ๓. ภิกษุฉันอาหารในนิมนต์จนบอกพอ ไม่รับอาหารที่เขาเพิ่มเติมแล้วคิดว่าจะเข้าบ้าน ฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนได้ ( ความจริงไม่ได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ดูหน้าพระวินัยปิฎก เล่ม ๒ ) ๔. ภิกษุอยู่ในสีมาเดียวกัน ทำอุโบสถแยกกันได้ ( ความจริงไม่ได้ ต้องอาบัติทุกกฏ) ๕. สงฆ์ยังมาประชุมไม่พร้อมกันแต่ครบจำนวนพอจะทำกรรมได้ ก็ควรทำไปก่อนได้ แล้วขออนุมัติหรือความเห็นชอบจากภิกษุผู้มามาทีหลัง ( ความจริงไม่ควร) ๖. เรื่องที่อุปัชฌายะอาจารย์เคยประพฤติมาแล้วใช้ได้ ( ความจริงถ้าถูกก็ใช้ได้ ถ้าผิดก็ใช้ไม่ได้ ) ๗. นมสดที่แปรแล้ว แต่ยังไม่เป็นนมส้ม ภิกษุฉันในที่นิมนต์ จนบอกไม่รับอาหารที่เขาถวายเพิ่มให้แล้วคงดื่มนมนั้นได้ ( ความจริงไม่ได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะยังไม่เข้าลักษณะเภสัช ๕) ๘. น้ำเมาอย่างอ่อนที่มีรสเมาเจืออยู่น้อย ไม่ถึงกับจะทำให้เมา ควรดื่มได้ ( ความจริงไม่ควร) ๙. ผ้าปูนั่งที่ไม่มีชาย ควรใช้ได้ ( ความจริงไม่ควร) ๑๐. ทองเงิน ควรรับได้ ( ความจริงไม่ควร ถ้ารับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์).

พระยสะ กากัณฏกบุตร คัดค้าน

ภิกษุพวกวัชชีบุตรเอาถาดใส่น้ำ เที่ยวเรี่ยไรเงินพวกอุบาสกที่มาในวันอุโบสถ เพื่อเป็นค่าบริขารของพระสงฆ์. พระยสะ กากัณฏกบุตร ( ซึ่งเป็นพระมาจากที่อื่น) กล่าวห้ามอุบาสกเหล่านั้นว่าไม่ควรให้แต่เพราะไม่รู้วินัย เขาจึงให้ไปตามที่เคยให้มา. ตกลางคืนภิกษุเหล่านั้นแบ่งเงินกันแล้วเฉลี่ยมาให้ พระยสะกากัณฏกบุตร ท่านปฏิเสธ ก็โกรธเคือง หาว่าท่านด่าอุบาสกเหล่านั้น จึงประชุมกันลงปฏิสารณียกรรม ( ให้ไปขอขมาชาวบ้าน). พระยสะ กากัณฏกบุตร จึงอ้างวินัยว่า จะต้องมีพระเป็นทูตไปด้วย ๑ รูป. เมื่อภิกษุวัชชีบุตรสวดประกาศแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่งมอบหน้าให้ไปด้วยแล้ว พระยสะก็เข้าไปหาอุบาสกเหล่านั้น ชี้แจงข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้หลายแห่ง ห้ามรับทองเงิน. อุบาสกเหล่านั้น ได้ทราบข้อวินัยก็เลื่อมใสพระยสะและกล่าวประณามภิกษุวัชชีบุตร. เมื่อกลับจากที่นั้น ภิกษุที่เป็นทูตร่วมไปด้วยก็ชี้แจงให้ภิกษุวัชชีบุตรทราบต่างพากันโกรธเคือง พระยสะ อ้างว่า การที่พระยสะไปพูดกับคนเหล่านั้นเป็นการไปแจ้งความแก่คฤหัสถ์โดยมิได้รับ แต่งตั้งจากสงฆ์ จึงควรอุกเขปนียกรรม ( ยกเสียจากหมู่ ไม่ให้ใครคบด้วย).


การสังคายนาครั้งที่ ๒

พระยสะ กากัณฏกบุตร จึงหนีไป ชวนพระเถระที่เห็นแก่ธรรมวินัยหลายรูป ซึ่งเป็นประมุขสงฆ์อยู่ในที่ต่าง ๆ เช่น พระสัพพกามี , พระสาฬหะ , พระอุชชโสภิตะ ( บางแห่งว่า ขุชชโสภิตะ) พระวาสภะคามิกะ ๔ รูปนี้ เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ฝ่ายตะวันออก พระเรวต. พระสัมภูตะ สาณวสี, พระยสะ กากัณฏกบุตร, พระสุมนะ ๔ รูปนี้เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ฝ่ายตะวันตก ( ชาวเมืองปาฐา) รวมทั้งพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถึง ๗๐๐ รูป ประชุมกัน ณ วาลิการาม โดยมีพระอชิตะผู้มีพรรษา ๑๐ เป็นผู้ปูอาสนะ วินิจฉัยวัตถุ ๑๐ ประการ แสดงที่มาที่ทรงห้ามไว้ ปรับอาบัติไว้อย่างชัดเจน ชี้ขาดด้วยมติของสงฆ์ ให้วัตถุ ๑๐ นั้นผิดธรรมผิดวินัย มิใช่สัตถุศาสนา.

( ประวัติการทำสังคายนาทั้งสองคราว คือครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ นี้ มีมาในพระไตรปิฎกด้วยเห็นได้ว่าเป็นการเพิ่มไว้เมื่อสังคายนาครั้งที่ ๓ เพื่อให้เป็นหลักฐานความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย).

๑. มีแปลไว้แล้วในข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 15:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่มที่ ๘ ชื่อปริวาร ( เป็นพระวินัยปิฏก)

พระไตรปิฎกเล่มนี้ ๘ นี้ เป็นเล่มสุดท้ายของวินัยปิฎก และมีข้อความที่พึงนำมาย่อไว้เพียงเล็กน้อยเพราะข้อความในเล่มนี้เป็นการ ย้อนไปกล่าวถึงพระไตรปิฎก ตั้งแต่เล่มที่ ๑ ถึงเล่มที่ ๗ ที่กล่าวมาแล้วนั้นเอง เป็นแต่การย้อนกล่าวในครั้งนี้ เท่ากับประมวลความสำคัญที่น่ารู้ต่าง ๆ มากล่าว ไว้ มีหัวข้อใหญ่ ๆ อยู่ ๒๑ ข้อด้วยกัน คือ  :-

๑. มหาวิภังค์โสฬสมหาวาร เป็นการย้อนกล่าวถึงศีลของภิกษุ ๒๒๗ ข้อ ทีละข้อ อันปรากฏในวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ และ ๒ ซึ่งมีชื่อว่ามหาวิภังค์ โดยตั้งประเด็นไว้ ๒ ส่วน ส่วนละ ๘ ประเด็น รวมเป็น ๑๖ ประเด็น ( โสฬสมหาวาร). ส่วนแรกกับส่วนหลัง ความจริงก็พ้องกันทั้งแปดประเด็น เป็นแต่ว่าส่วนแรกพิจารณาถึงการทำผิดโดยตรง ส่วนหลังพิจารณาถึงผลอันเนื่องมาจากเหตุ คือการทำความผิด หรือกล่าวตาม ศัพท์ที่ปรากฏก็คือ ส่วนหลังพิจารณาปัจจัย คือการทำความผิดนั้น ๆ เป็นปัจจัยหรือเป็นเหตุให้เกิดอะไรขึ้น. ประเด็น ๘ ประเด็นซึ่งมีอยู่ใน ๒ ส่วนนั้น คือ
๑. กัตถปัญญัติติวาร ประเด็นที่ว่า บัญญัติไว้ ณ ที่ไหนหมายถึงสถานที่ ซึ่งทรงบัญญัติสิกขาบท รวมทั้งบุคคลผู้เป็นต้นเหตุให้บัญญัติสิกขาบท, เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นต้น
๒. กตาปัตติวาร ประเด็นที่ว่า เมื่อทำความผิดนั้น ๆ ลงไปแล้ว จะต้องอาบัติอะไรบ้าง เช่น ภิกษุลักทรัพย์ในกรณีเช่นไร ต้องอาบัติปาราชิก อาบัติถุลลัจจัยและอาบัติทุกกฏ
๓. วิปัตติวาร ประเด็นที่ว่าการทำความผิดนั้น ๆ จะเป็นศีลวิบัติ ความบกพร่องทางศีล หรือาจารวิบัติ ความบกพร่องทางความประพฤติ เป็นต้น
๔. สังคหิตวาร ประเด็นที่ว่า การทำความผิดนั้น ๆ สงเคราะห์หรือจัดเข้ากับกองอาบัติอะไร
๕. สมุฏฐาน ประเด็นที่ว่า การทำความผิดนั้นเกิดขึ้น หรือมาสมุฏฐานทางกาย, วาจา, หรือใจ
๖. อธิกรณวาร ประเด็นที่ว่า การทำความผิดนั้น ๆ เป็นอธิกรณ์ประเภทไหน ใน ๔ ประเภท
๗. สมถวาร ประเด็นที่ว่า การทำความผิดที่เป็นอธิกรณ์นั้น ๆ จะระงับด้วยวิธีระงับ ๗ อย่าง ข้อไหนบ้าง
๘. สมุจจยวาร คือกล่าวซ้ำ ๗ ข้อแรกอีกครั้งหนึ่ง. ในส่วนที่ ๒ อีก ๘ ประเด็น ก็ทำนองเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนหลักการเล็กน้อยว่า เพราะปัจจัยแห่งการทำความผิดนั้นจะมีผลเป็นอย่างไรบ้าง.

๒. ภิกขุนีวิภังค์โสฬสมหาวาร เป็นการย้อนกล่าวถึงศีลของนางภิกษุณีแต่ละข้อ อันปรากฏในวินัยปิฎก เล่มที่ ๓ ซึ่งมีชื่อว่าภิกขุนีวิภังค์ โดยตั้งปนะเด็นไว้เป็น ๒ ส่วน ส่วนละ ๘ ประเด็น เช่นเดียวกับของภิกษุ.

๓. สมุฏฐานสีสสังเขป เป็นการรวบรวมสิกขาบททั้งหมดมากล่าวเฉพาะเรื่องสมุฏฐาน คือทางกาย, ทางวาจา , หรือทางจิต โดยจัดเป็นหมวดหมู่ว่า พวกใดบ้างเกิดจากสมุฏฐาน ๑ หรือสมุฏฐาน ๒ หรือสมุฏฐาน ๓ หรือสมุฏฐานผสมอื่น ๆ ในข้อ ๓ ข้อนั้น.

๔. กติปุจฉาวาร เป็นการตั้งคำถามว่า เรื่องนั้น ๆ ทีเท่าไร เช่น อาบัติมีเท่าไร แล้วตอบเป็นประเด็น ๆ ไป เป็นต้น.

๕. วีสติวาร ( แปลตามศัพท์ว่า ๒๐ วาระ ถอดความว่า ตั้งประเด็นในการวินิจฉัยไว้ ๑๐ ประเด็น) เป็นการตั้งคำถาม แล้วตอบในเรื่องเกี่ยวกับอาบัติ, ที่เกิดแห่งอาบัติ, อธิกรณ์ , วิธีระงับอธิกรณ์ เป็นต้น รวม ๒๐ ประเด็น.

๖. ขันธกปุจฉา คำถาม คำตอบ เกี่ยวกับขันธกะ คือหมวดต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ ถึงเล่มที่ ๗ คือทั้งมหาวัคค์และจุลลวัคค์ รวมทั้งสิ้น ๒๒ หมวด หรือ ๒๒ ขันธกะ ว่าในแต่ละหมวดนั้น ๆ กล่าวถึงอาบัติไว้กี่ประเภท.

๗. เอกุตตริกะ เป็นการชี้แจงเรื่องเกี่ยวกับพระวินัยด้วยตัวเลข คือ หมวด ๑ มีอะไรบ้างที่เป็นข้อเดียว หมวด ๒ มีอะไรบ้างที่เป็น ๒ ข้อ หมวด ๓ มีอะไรบ้างที่เป็น ๓ ข้อ ดังนี้เรื่อยไปจนถึงหมวด ๑๑ มีอะไรบ้าง ที่เป็น ๑๑ ข้อ เช่น อุโบสถ ๒ คือ ๑๔ ค่ำ กับ ๑๕ ค่ำ, ปวารณา ๒ คือ ๑๔ ค่ำ กับ ๑๕ ค่ำ , เป็นต้น กรรม ๒ คือ อปโลกนกรรม ( การบอกกล่าว) ญัตติกรรม ( การเสนอญัตติ) เหล่านี้เป็นต้น ก็อยู่ในหมวด ๒ รองเท้า ๑๑ ชนิดที่เป็นของไม่ควรมีอะไรบ้าง บุคคล ๑๑ ประเภทไม่ควรไหว้มีอะไรบ้าง เหล่านี้เป็นต้น ก็อยู่ในหมวด ๑๑.

๘. อุโปสถาทิ ปุจฉาวิสัชชนา คำถาม คำตอบเรื่องอุโบสถ เป็นต้น เช่น ถามว่า อะไรเป็นเบื้องต้นเป็นท่ามกลาง เป็นที่สุดแห่งการทำอุโบสถ แล้วตอบว่า ความสามัคคีเป็นเบื้องต้น การกระทำเป็นท่ามกลาง และการจบเป็นที่สุดแห่งการทำอุโบสถ. ถามว่า อะไรเป็นเบื้องต้น เป็นท่ามกลาง เป็นที่สุดแห่งการบวช ตอบว่า บุคคลเป็นเบื้องตน การเสนอญัตติ ( ขอทาบทามสงฆ์) เป็นท่ามกลาง กัมมวาจา ( การสวดประกาศข้อความตกลงใจ หรือขออนุมัติสงฆ์) เป็นที่สุด.

๙. อัตถวเสปกรณ์ กล่าวถึงการที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ ๑. เพื่อความดีงามแห่งสงฆ์ ๒ . เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ ๓. เพื่อข่มคนที่เก้อยาก ( หน้าด้าน) ๔. เพื่ออยู่สบายของภิกษุผุ้มีศีลเป็นที่รัก ๕. เพื่อป้องกันอาสวะ ( กิเลสที่หมักหมมในจิต) ปัจจุบัน ๖. เพื่อป้องกันอาสวะในอนาคต ๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ๘ . เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้เลื่อมใสแล้ว ๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑๐. เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย.

๑๐. คาถาสังคณิกะ หมวดหรือชุมนุมแห่งคาถาคือคำฉันท์ ที่แสดงคำถาม คำตอบของพระอาจารย์ ผู้สังคายนาพระวินัยว่า สิกขาบทเท่าไรที่ยกขึ้นสวด ( ปาฏิโมกข์) และพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ในกี่นคร มีนครอะไรบ้าง และในนครไหนบัญญัติไว้กี่สิกขาบท. ( คำประพันธ์นี้มีประโยชน์ช่วยความจำได้ดียิ่ง. ทั้งส่วนวินัยของภิกษุและภิกษุณี).

๑๑. อธิกรณเภท ว่าด้วยประเภทแห่งอธิกรณ์ การรื้อฟื้นอธิกรณ์ มูลแห่งอธิกรณ์ อาบัติที่เนื่องในอธิกรณ์ทั้งสี่ประเภท วิธีระงับอธิกรณ์ ( ซึ่งเคยกล่าวมาแล้วทั้งสิ้น เป็นแต่นำจัดเป็นหมวดหมู่ขึ้นใหม่).

๑๒. อปคคาถาสังคณิกะ หมวดหรือชุมนุมคาถาหรือบทประพันธ์อื่นอีก เป็นการประพันธ์คำอธิบายเป็นคำฉันท์ เพื่อช่วยความจำ เกี่ยวกับการโจทฟ้อง การถามให้ระลึก เป็นต้น รวมทั้งลักษณะที่จะนับว่าเป็นอลัชชี.

๑๓. โจทนากัณฑ์ ว่าด้วยวิธีโจทฟ้องว่าจะทำอย่างไร ภิกษุผู้โจท ผู้ถูกโจทและสงฆ์จะควรทำอย่างไร.

๑๔. จูฬสงความ ว่าด้วยปฎิบัติของภิกษุผู้ถูกฟ้อง เท่ากับเป็นผู้สู่สงความ ความเจียมตนปฏิบัติอย่างไร ตลอดถึงการฟ้อง การวินิจฉัย.

๑๕. มหาสงความ ว่าด้วยข้อปฏิบัติหรือหน้าที่ที่ควรรู้อื่นอีกของภิกษุฟ้อง ซึ่งเท่ากับเป็นผู้เข้าสู่สงคราม มีรายละเอียดมากขึ้นกว่าที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๑๔.

๑๖. กฐินเภท ประเภท แห่งกฐิน ใครกราลไม่ได้ ใครกราลได้ กฐินไม่เป็นอันกราลอย่างไร เป็นอันกราลอย่างไร รวมทั้งหัวข้อควรจำต่าง ๆ เกี่ยวกับกฐิน ( ความจริงกล่าวไว้แล้วในพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี เล่ม ๔ แต่นำมาตั้งเป็นหมวดเป็นหมู่ให้จำง่ายอีก).

๑๗. อุปาลิปัญจกะ ว่าด้วยคำกราบทูลถามของพระอุบาลี พระดำรัสตอบของพระผู้มีพระภาคซึ้งเป็นข้อกำหนด ๕ ข้อตลอด รวมทั้งสิ้น ๑๔ หมวด หรือ ๑๔ วรรค คือหมวด ๑ ว่าด้วยภิกษุที่ไม่ควรให้นิสสัย คือไม่ควรรับไว้ในปกครอง หมวด ๒ ว่าด้วยภิกษุที่ถูกลงโทษแล้ว ไม่ควรระงับการลงโทษ หมวดที่ ๓ ว่าด้วยภิกษุผู้ไม่ควรว่าคดีในสงฆ์ หมวดที่ ๔ ว่าด้วยการแสดงความเห็นแย้ง ( ทิฏฐาวิกัมม์) อย่างไรไม่เป็นธรรม อย่างไรเป็นธรรม หมวดที่ ๕ ว่าด้วยภิกษุผู้โจทฟ้องภิกษุอื่น หมวดที่ ๖ ว่าด้วยการประพฤติธุดงค์ ๑๓ ข้อ ( ขัดเกลากิเลส) มีการอยู่ป่า เป็นต้น หมวดที่ ๗ ว่าด้วยการพูดปด หมวดที่ ๘ ว่าด้วยการให้โอวาทแก่นางภิกษุณี หมวดที่ ๙ ว่าด้วยอุพพาหิกา คือการมอบหมายให้แยกออกไปทำการแทนสงฆ์ หรือการตั้งผู้แทนสงฆ์ไปวินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในเมื่อที่ประชุมใหญ่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ เพราะมีเสียงอื้ออึง เป็นต้น ( เทียบด้วยการตั้งกรรมาธการหรืออนุกรรมการ ) ภิกษุผู้ควรได้รับมอบหมายงานนี้ ควรประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่างมีอะไรบ้าง. หมวดที่ ๑๐ ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์ หมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยสงฆ์แตกกัน ตอนที่ ๑ หมวดที่ ๑๒ ว่าด้วยสงฆ์แตกกัน ตอนที่ ๒ หมวดที่ ๑๓ ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นเจ้าถิ่นหรือประจำอยู่ในวัด หมวดที่ ๑๔ ว่าด้วยการกราลกฐิน .

๑๘. สมุฏฐาน ว่าด้วยสมุฏฐานแห่งอาบัติและการออกจากอาบัติ.

๑๙. ทุติคาถาสังคณิกะ หมวดหรือชุมนุมคาถาหรือคำฉันท์ที่ ๒ เป็นการประพันธ์หัวข้อ และคำอธิบายเกี่ยวกับพระวินัย เพื่อจำง่ายอีกหลายอีกประเด็น ยากกว่าที่เคยมีมาแล้วในตอนต้น ( ความจริงน่าจะเรียกว่าตอน ๓ เพราะข้างต้นมี ๒ ตอนอยู่แล้ว ได้แก่หมายเลข ๑๐ กับเลข ๑๒ แต่อาจจะถือว่า ๒ ตอนแรกรวมเป็น ๑ ตอนก็ได้).

๒๐ . เสทโมจนคาถา คาถาเหงื่อแตก คือคำประพันธ์ตั้งปัญหาวินัยให้คิดชนิดยาก ๆ ( แบบกลเถรอดเพล คือคิดไม่ออกจนอดข้าวกลางวัน ) รวม ๔๓ ข้อ และมิได้เฉลยไว้ (คำอธิบายมีอยู่ในอารรถกา).

๒๑. ปัญจวัคค์ ว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ รวม ๕ หมวด หรือ ๕ วรรค คือวรรคที่ ๑ ว่าด้วยกรรม คืการทำกรรมของสงฆ์ชนิดต่าง ๆ วรรคที่ ๒ ว่าด้วยความมุ่งหมายในการบัญญัติสิกขาบท วรรคที่ ๓ ว่าด้วยการบัญญัติให้ทำสิ่งนี้ในทางพระวินัย วรรคที่ ๔ ว่าด้วยสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แล้วว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร วรรคที่ ๕ ว่าด้วยการสงเคราะห์หรือการรวม ( SYNTHESIS ) เรื่องต่าง ๆ รวม ๙ ประเภท.

( ได้กล่าวไว้แล้วว่า พระไตรปิฎก เล่ม ๘ อันมีชื่อว่าปริวารนั้น ไม่มีอะไรใหม่ เป็นแต่นำเรื่องที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เล่ม ๑ ถึงเล่ม ๗ นั้นเอง มากล่าวใหม่ โดยจัดหมวดหมู่ หรือตั้งประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งให้จำง่ายเข้าใจง่าย ในที่นี้จึงได้ขยายความให้พิสดารอย่างเล่มอื่น ๆ คงย่อรวบรัด พอให้เห็นหมวดหมู่และหน้าตาของพระไตรปิฎกเล่มนี้).

ที่มา : http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prawinai/8.html


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 60 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร