วันเวลาปัจจุบัน 16 เม.ย. 2024, 17:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 17:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


หัวข้อเรื่อง ๒๑๙ เป็นของนิกายไหน

ก่อนที่จะระบุว่า ในหัวข้อเรื่องที่กล่าวไว้รวม ๒๑๙ หัวข้อนั้น ข้อไหนเนื่องมาจากความเห็นผิดของนิกาย ไหน จะรวบรวมกล่าวสรูปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกล่าวถึงรายละเอียดของแต่ละหัวข้อจบแล้ว ในชั้นนี้จึงเพียง ขอชี้แจงให้ทราบว่า คัมภีร์กถาวัตถุ แต่งขึ้นเพื่อแก้ความเข้าใจผิด หรือความคิดเห็นที่แตกแยกออกไปจากเถรวาท คือพระพุทธศาสนาแบบที่ไทยนับ ถือกันอยู่ในปัจจุบัน อันแสดงว่าผู้เรียบเรียงคือพระโมคคลีบุตร ติสสเถระ จะต้องศึกษาลัทธิอื่นจนเข้าใจอย่างถี่ถ้วนแล้วยืนหลัก ของฝ่ายเถรวาทไว้ โดยชี้แจงโต้แย้งอย่างดีที่สุด.

๑. เรื่องบุคคล
( ปุคคลกถา )

ถาม : เราย่อมได้ " บุคคล " โดยอรรถอันประจักษ์ ( สัจฉิกัตถะ ) และอรรถอย่างยิ่ง ( ปรมัตถะ ) หรือ ?

ตอบ : ใช่ ( โปรดทราบว่า เป็นคำตอบของผู้เห็นผิด )

ถาม : เราย่อมได้อรรถอันประจักษ์ และอรรถอย่างยิ่งจากหลักการที่ว่า " เราย่อมได้บุคคลโดย อรรถอันประจักษ์ และอรรถอย่างยิ่ง " หรือ ?

ตอบ : อย่าพูดอย่างนั้น

ถาม : ท่านจงรู้ความผิดเถิด ถ้าเราย่อมได้บุคคลโดยอรรถอันประจักษ์ และอรรถอย่างยิ่ง ก็ควร กล่าวได้ว่า เราย่อมได้อรรถอันประจักษ์ และอรรถอย่างยิ่งจากหลักการนั้นได้ เนื่องจากท่านรับหลักการเฉพาะข้อแรก ปฏิเสธ หลักการข้อหลังคำกล่าวของท่านจึงผิด ถ้าไม่รับหลักการข้อแรกก็ต้องไม่รับหลักการข้อหลังด้วย ถ้ารับหลักการข้อแรกก็ต้อง รับหลักการข้อหลังด้วย เมื่อรับหลักการข้อแรก แต่ไม่รับหลักการข้อหลัง คำกล่าวของท่านจึงผิด

( หมายเหตุ : หัวข้อเรื่องบุคคลนี้ ยังแจกเป็นคำถามคำตอบยอกย้อนต่าง ๆ อีกนับจำนวนร้อย แต่ ที่ตั้งไว้ข้างต้นนี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่เป็นหลัก เรียกว่า " อนุโลมปัญจกะ " คือคำถามคำตอบตามลำดับรวม ๕ ข้อ คำถามคำ ตอบนี้ใช้สำหรับไล่เลียงเอากับพวกที่ยึดถือในเรื่อง " บุคคล " ได้แก่ นิกายวัชชีปุตตกะ, นิกายสมิติยะ และเดียรถีย์อื่น ๆ นอกศาสนา หลัก การสำคัญมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเทศนาสอน ๒ อย่าง คือสอนตามสมติ คือตามที่โลกนัดหมายกันเรียก ร้อง กับสอนตามปรมัตถ์ คือสอนตามความจริงอย่างยิ่ง เพื่อให้เห็นแก่นแท้ของสิ่งทั้งหลายว่า มีจริงแค่ไหน ขอยกตัวอย่างใน เรื่องบุคคล ถ้ากล่าวตามความจริงโดยสมติก็มีอยู่ เวลาสอนเพื่อให้คนทั่วไปรู้และเข้าใจ ก็ต้องใช้สำนวนสมมติในทางโลก เรียก ว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา แต่เมื่อสอนให้รู้ซึ้งถึงสภาพความจริง เพื่อจะได้ไม่ติดไม่ยึดถือในเรื่องสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ก็สอนความจริงโดยปรมัตถ์ คือสอนให้เห็นว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นเพียงสิ่งสมมติตามโวหารโลก ประกอบขึ้นจากส่วนย่อย ต่าง ๆ ไม่ควรยึดถือเป็นจริงเป็นจัง การสอนความจริงโดยสมมติและโดยปรมัตถ์ไม่ขัดกัน เหมือนหนึ่งการชี้ให้ดูภาพถ่ายว่าผู้นั้น ผู้นี้เป็นความจริงขั้นสมมติ และการชี้ให้รู้ความจริงอีกขั้นหนึ่งว่า เป็นเพียงกระดาษ และ กระดาษก็เป็นส่วนผสมของสิ่งต่าง ๆ

แต่มีเจ้าลัทธิบางพวกตามที่กล่าวไว้ ถือว่าบุคคลมีอยู่จริง โดยความจริงขั้นปรมัตถ์ ซึ่งผิดไปจากหลักทาง พระพุทธศาสนา จึงต้องย้อนถามว่า ถ้าอย่างนั้นความจริงขั้นปรมัตถ์ ก็อาจหาได้จาก " บุคคล " ใช่หรือไม่ ซึ่งฝ่ายเห็นผิดต้อง ยอมรับว่าไม่ใช่ )

๒. เรื่องความเสื่อม
( ปริหานิกถา )

ถาม : พระอรหันต์ย่อมเสื่อมจากความเป็นพระอรหันต์ได้ใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่ ( โปรดทราบว่าเป็นคำตอบของผู้เห็นผิด )

ถาม : พระอรหันต์ย่อมเสื่อมจากความเป็นพระอรหันต์ในที่ทั้งปวงใช่ไหม ?

ตอบ : อย่าพูดอย่างนั้น

( ต่อจากนั้นได้มีคำถามคำตอบปลีกย่อยจากหลักใหญ่นี้นับจำนวนร้อย และในที่สุดเป็นการอ้างหลักถามให้

จำนนต่อหลักการที่ว่า พระอรหันต์ไม่เสื่อมจากความเป็นพระอรหันต์ ความเห็นผิดข้อนี้เป็นของ

นิกายสมิติยะ, วัชชีปุตตกะ สัพพัตถิกวาทะ และมหาสังฆิกะบางพวก )

๓. เรื่องพรหมจรรย์
( พรหมจริยกถา )

ถาม : การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในเทพทั้งหลายไม่มีใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่ ( โปรดทราบว่า คำว่า พรหมจรรย์ มีอยู่ ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่ง ได้แก่การปฏิบัติตาม

มรรคาหรือข้อปฏิบัติที่เรียกว่ามัคคภาวนา อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่การบวช การบวชของเทพไม่มี แต่การเจริญ

มรรคมีอยู่ การตอบว่า ใช่ จึงนับว่าผิดครึ่งถูกครึ่ง )

( ต่อจากนั้นเป็นการถามให้จำนนต่อหลักการที่ว่า เทพที่ประพฤติในทางดีงามมีอยู่ อันชื่อได้ว่าบำเพ็ญ

มัคคภาวนา จึงไม่ควรปฏิเสธว่า ไม่มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในรูปของมัคคภาวนาในหมู่เทพ

ความเห็นผิดนี้เป็นของนิกายสมิติยะ )

๔. เรื่องบางส่วน
( โอธิโสกถา )

ถาม : พระอริยบุคคลย่อมละกิเลสได้บางส่วนใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่ ( ผู้ตอบหมายความว่า กิเลสแต่ละชนิดที่ละได้ ไม่ใช่ละได้ทั้งหมด หากละได้เพียง

บางส่วน เหลืออยู่บางส่วน )

( ต่อจากนั้นเป็นการถามให้จำนนต่อหลักการที่ว่า ถ้าละอันไหนได้ก็ละได้เด็จขาดในเรื่องนั้น โดยยกพระ

พุทธภาษิตมาอ้าง ให้ผู้ตอบยอมจำนนว่า พระอริยสาวกที่เห็นธรรมย่อมละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ

สีลัพพตปรามาส๑ ได้ ไม่ใช่ละสักกายทิฏฐิได้เพียงนิดหน่อย

และวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสอีกอย่างละนิดหน่อย มติที่เห็นผิดเรื่องละได้เพียงบางส่วนนี้เป็นของนิกาย

สมิติยะ)

๕. เรื่องละกิเลส
( ชหติกถา )๒

ถาม : บุถุชนย่อมละกามราคะ( ความกำหนัดในกาม ) และพยาบาท ( ความปองร้าย ) ได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่ ( เป็นการตอบด้วยความเห็นผิด เพราะบุถุชนที่ได้ฌาน แม้จะไม่มีกามราคะและพยาบาท

แต่ก็อาจกลับมีได้อีกเมื่อเสื่อมจากฌาน )

( ต่อจากนั้นได้มีการถามตอบอีกมากมาย โดยยกพระพุทธภาษิตมาตั้ง ให้ฝ่ายตอบซึ่งสมมติว่าเป็นผู้เห็นผิด

ต้องยอมจำนนต่อเหตุผลว่า บุถุชนและกามราคะและพยาบาทไม่ได้ )

๖. เรื่องทุกอย่างมี
( สัพพมัตถิกถา )

ถาม : ทุกอย่างมีอยู่ใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่ ( พึงทราบว่าเป็นคำตอบของฝ่ายเห็นผิด )

ถาม : ทุกอย่างมีในที่ทั้งปวงใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

ถาม : ทุกอย่างมีในกาลทั้งปวงใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

ถาม : ทุกอย่างมีโดยประการทั้งปวงใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

ถาม : ทุกอย่างมีในสิ่งทั้งปวงใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

ถาม : ความเห็นที่ว่า ความเห็นสิ่งทั้งปวงมี เป็นความเห็นผิดดังนี้ จัดว่าเป็นความเห็นชอบ ก็มี

ใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

ถาม : อดีตมีอยู่ใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อดีต ดับแล้ว พ้นไปแล้ว แปรไปแล้ว มิได้ตั้งอยู่แล้ว ตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า อดีตมีอยู่

( หมายเหตุ : ความเห็นผิดว่า ทุกสิ่งมีอยู่นี้เป็นของ ; นิกายสัพพัตถิกวาทะ โดยตรงในที่

นี้ได้แสดงให้เห็นการถามต้อน เพื่อให้จนแก่เหตุผลเพียงเล็กน้อย แต่ก็ชัดเจนพอจะแสดงว่า ได้มีการใช้เหตุ

ผลหักล้างกันอย่างไรบ้าง การโต้ตอบยังมีอีกมากนักนับด้วยจำนวนร้อย ๆ ได้แสดงไว้ในที่นี้เพียงสังเขป )

๗. เรื่องขันธ์ที่เป็นอดีต เป็นต้น
( อดีตขันธาติกถา )๓

ถาม : ขันธ์ทั้งหลายเป็นอดีตได้ไหม ?

ตอบ : ได้

ถาม : อายตนะ, ธาตุ เป็นอดีตได้ไหม ?

ตอบ : ได้

ถาม : อดีตมีอยู่ใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( ต่อจากนั้นเป็นการถามตอบต่อไปอีกมากมายจนกว่าจะจบภายในหัวข้อนี้ มีข้อที่พึงสังเกตุเป็นพิเศษ

ก็คือที่แล้ว ๆ มา ฝ่ายเห็นถูกเป็นฝ่ายตั้งคำถามรุกฝ่ายเห็นผิด แต่คราวนี้เมื่อถึงข้อที่ ๗ อันมีประเด็นตอเนื่อง

มาจากข้อที่ ๖ ฝ่ายเห็นผิดกลับเป็นฝ่ายถามรุกฝ่ายเห็นถูก คือฝ่ายเห็นถูกถือว่า ขันธ์ อายตะ ธาตุ เป็นได้ทั้ง

อดีต อนาคต ปัจจุบัน แต่จะใช้คำว่า " อตฺถิ " ที่แปลว่า " มีอยู่ " ได้ เฉพาะปัจจุบันเท่านั้น ข้อนี้

เป็นความจริงเพราะที่เป็นอดีตก็ " มีแล้ว " หรือที่เป็นอนาคตก็ " จักมี " แต่ฝ่ายเห็นผิดซึ่งเป็นผู้ซักพยายาม

ต้อนให้อดีตกับอนาคต " มีอยู่ " ให้ได้ ด้วยอ้างพระพุทธพจน์ต่าง ๆ แต่พระพุทธพจน์นั้น ๆ ที่นำมาอ้าง ก็

เพียงแสดงว่า ขันธ์ เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันเท่านั้น มิได้มีตอนไหนที่แสดงว่า ขันธ์เป็นอดีต อนาคต

" มีอยู่ " เลย )

๘. เรื่องบางอย่างมี
( เอกัจจมัตถีติกถา )

ถาม : อดีตมีอยู่ใช่ไหม ?

ตอบ : บางอย่างมี บางอย่างไม่มี

ถาม : หมายความว่า บางอย่างดับ บางอย่างไม่ดับ, บางอย่างพ้นไป บางอย่างไม่พ้นไป, บางอย่าง

แปรไป บางอย่างไม่แปรไป, บางอย่างมิได้ตั้งอยู่ บางอย่างตั้งอยู่, บางอย่างตั้งอยู่ไม่ได้ บางอย่างตั้งอยู่ได้

ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นอกจากนั้นยังมีคำถามคำตอบอีกมากหลาย แต่คราวนี้กลับรูปเก่า คือฝ่ายถามเป็นฝ่ายเห็นถูก ฝ่ายตอบเป็น

ฝ่ายเห็นผิด ฝ่ายถามเป็นฝ่ายรุกให้ฝ่ายตอบจน ในข้อที่ถือผิดว่า อดีตบางอย่างมี บางอย่างไม่มี ซึ่งเป็นมติของ

นิกายกัสสปิกะ คำถามคำตอบได้กล่าวถึงเรื่องอนาคตกับปัจจุบันด้วย )

๙. เรื่องการตั้งสติ
( สติปัฏฐานกถา )

ถาม : ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่ ( พึงทราบว่าเป็นคำตอบของฝ่ายเห็นผิด )

ถาม : หมายความว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติ, เป็นอินทรีย์คือสติ, เป็นกำลังคือสติ, เป็นความระลึก

ชอบ, เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือสติ, เป็นเอกายนมรรค ( ทางเป็นที่ไปอันเอก ), เป็นธรรมให้ถึงความสิ้นไป

แห่งกิเลส, เป็นธรรมให้ถึงความตรัสรู้, เป็นธรรมให้ถึงความไม่สั่งสมกิเลส, เป็นธรรมไม่มีอาสวะ, ไม่เป็นที่

ตั้งแห่งสัญโญชน์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นพุทธานุสสติ จนถึงอุปสมานุสสติใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( ฝ่ายถามเป็นฝ่ายไล่เลียงเอาแก่ฝ่ายตอบซึ่งเป็นพวกเห็นผิด จับประเด็นผิดในธรรมบางข้อ เลยเข้าใจผิดว่า

ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน ความเห็นผิดนี้เป็นของ นิกายอันธกะ ซึ่งภายหลังแตกออกเป็น ๔ นิกาย

คือ ปุพพเสลิยะ, อปรเสลิยะ, ราชคิริยะ, สิทธัตถิภะ, คำว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐานนั้น ว่าโดยเหตุ

ผลทั่วไปก็ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะคำว่า ธรรมทั้งปวง ย่อมหมายทั้งกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม

แต่สติปัฏฐานเป็กุศลธรรม จึงไม่ควรกล่าวว่า ธรรมทั้งปวงเป็นสติปัฏฐาน )

๑๐. เรื่อง " มีอย่างนี้ " เป็นต้น
( เหวัตถิกถา )

ถาม : อดีต, อนาคต, ปัจจุบัน มีอยู่ใช่ไหม๔ ?

ตอบ : มีอย่างนี้ ไม่มีอย่างนี้

ถาม : อันนั้นแหละมี อันนั้นแหละไม่มีใช่ไหม ? ( ทั้งสิ่งที่มีและไม่มี เป็นอันเดียวกันใช่หรือไม่ )

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

นิกายอันธกะเป็นฝ่ายมีความเห็นผิดข้อนี้ คือเห็นว่าธรรมทั้งปวงชื่อว่ามีอยู่ โดยฐานะเป็นรูป เป็นต้น;

ชื่อว่าไม่มี คือเมื่อกล่าวถึงอดีต ก็ไม่มีอนาคตและปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงปัจจุบันและอนาคต ก็ไม่มีอดีต ฝ่าย

ถามเป็นฝ่ายซักให้จำนนต่อเหตุผล โดยซักตล่อมว่า ทั้งมีและไม่มี เป็นสิ่งเดียวกัน มีอรรถอันเดียวกันหรือ

เมื่อฝ่ายตอบ ( คือฝ่ายเห็นผิด ) ปฏิเสธว่า ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น จึงสับทับต่อไปว่า ถ้ามีและไม่มี มิได้หมาย

ความอย่างเดียวกัน ท่านก็ไม่ควรจะแสดงทิฏฐิอย่างนี้ )

'๑' . ดูคำอธิบายในเชิงอรรถหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ หน้า ๔ สีลัพพตปรามาส

'๒' . อรรถกถาเรียกว่า ปชหติกถา

'๓' . อรรถกถาเรียกชื่อว่า อดีตขันธาติอาทิกถา

'๔' . ความจริงถามทีละข้อ แต่ในที่นี้เพื่อให้ได้ความ จึงรวมทั้งอดีต, อนาคต, และปัจจุบันมาไว้ในคำถาม เดียวกัน


๑๑. เรื่องผู้อื่นนำเข้าไปให้
( ปรูปหารกถา )

ถาม : พระอรหันต์มีการปล่อยน้ำอสุจิหรือ ?

ตอบ : ใช่ ( พึงทราบว่าเป็นคำตอบของฝ่ายเห็นผิด )

ถาม : พระอรหันต์มีกามราคะ มีกามฉันทนีวรณ์หรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

ถาม : พระอรหันต์ไม่มีกามราคะ ไม่มีกามฉันทนีวรณ์ใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าพระอรหันต์ไม่มีกามราคะ ไม่มีกามฉันทนีวรณ์ ท่านก็ไม่พึงกล่าวว่า พระอรหันต์มีการ

ปล่อยน้ำอสุจิ

( นิกายปุพพเสลิยะ กับ อปรเสลิยะ มีความเห็นผิดว่า พระอรหันต์มีการปล่อยน้ำอสุจิให้

เคลื่อน ฝ่ายซักจึงซักถามถึงกามราคะของพระอรหันต์ ซึ่งฝ่ายเห็นผิดยอมรับว่าไม่มี แต่ได้บ่ายเบี่ยงว่าท่าน

ไม่ได้ทำเอง แต่เทวดาที่เป็นพวกมารนำเข้าไปให้ทางขุมขน เพื่อจะดูพระอรหันต์สงสัยเล่น ฝ่ายซักจึงซักอีก

มากหลายเพื่อให้ฝ่ายตอบยอมจำนน เช่น ถามว่า จะมีใครนำโสดาปัตติผล, สกทาคามิผล, อนาคามิผล และ

อรหัตตผลเข้าไปให้พระอรหันต์ได้หรือไม่ )

๑๒. เรื่องความไม่รู้
( อัญญาณกถา )

ถาม : พระอรหันต์มีความไม่รู้ ( อัญญาณ ) ใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่ ( พึงทราบว่าเป็นคำตอบของฝ่ายเห็นผิด )

ถาม : พระอรหันต์มีอวิชชาใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

ถาม : พระอรหันต์ไม่มีอวิชชาใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระอรหันต์ไม่มีอวิชชา ท่านไม่ควรกล่าวว่า พระอรหันต์มีอัญญาณ ( ความไม่รู้ )

( นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดว่า พระอรหันต์มีอัญญาณคือความไม่รู้ เพราะการที่ไม่รู้ชื่อของ

คนทั้งหลายก็นับเป็นอัญญาณอย่างหนึ่ง ทางพระพุทธศาสนาไม่ถือว่า การไม่รู้จักชื่อของคน จะทำให้ดีขึ้น

หรือเลวลงอย่างไร เพราะไม่ใช่กิเลส จึงไม่จัดเป็นอัญญาณ หรืออวิชชา. อัญญาณ หรืออวิชชา ตามหลักพระ

พุทธศาสนาหมายถึงไม่รู้จักทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ถ้าไม่รู้

ความจริงทั้งสี่ประการนี้ ก็ไม่สามารถพ้นไปจากทุกข์ได้ แต่ นิกายปุพพเสลิยะ ไม่เข้าใจอย่างนั้น

ฝ่ายซักจึงไล่เลียงดั่งกล่าวแล้ว )

๑๓. เรื่องความสงสัย
( กังขากถา )

๑๔. เรื่องการบอกของผู้อื่น
( ปรวิตารณกถา )

อีก ๒ เรื่องนี้ ก็มีเค้าความทำนองเดียวกับข้อที่ ๑๒ คือ นิกายปุพพเสลิยะ เข้าใจว่าพระอรหันต์ยังมี

ความไม่รู้ ยังมีความสงสัย ยังต้องอาศัยผู้อื่นบอกเล่า จึงมีการซักไซ้ให้เห็นจริงว่า พระอรหันต์ไม่มีอวิชชา,

ไม่มีความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฯ ล ฯ ไม่ต้องมีผู้อื่นบอกกล่าวในธรรมที่ท่านรู้แจ้งเห็นจริง

อรรถกถารวมเป็นเรื่องเดียวกัน

๑๕. เรื่องการเปล่งวาจา
( วจีเภทกถา )

ถาม : ผู้เข้าฌานที่ ๑ ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค มีการเปล่งวาจาใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่ ( พึงทราบว่าเป็นคำตอบของผู้มีความเห็นผิด )

ถาม : ผู้เข้าโลกิยสมาบัติในที่ทั้งปวง, ในกาลทั้งปวง, ทุกประเภท มีการเปล่งวาจาใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ เป็นต้น เข้าใจว่า ท่านผู้เข้าฌานที่ ๑ ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค มีการเปล่ง

วาจาว่า " ทุกข์ " คือเห็นจริงในเรื่องทุกข์ ถึงกับเปล่งวาจาออกมา แต่ตามความเป็นจริง ไม่มีการเปล่งวาจา

เช่นนั้น )

๑๖. เรื่องการนำมาซึ่งความรู้ในทุกข์
( ทุกขาหารกถา )

ถาม : การนำมาซึ่งความรู้ในทุกข์ เป็นองค์มรรค นับเนื่องในมรรคใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าววาจาว่า " ทุกข์ " ผู้นั้นทุกผู้ชื่อว่าเจริญมรรคใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ( ถ้าตอบว่า ใช่ ก็จะซักต่อไปอีกว่า )

ถาม : บุถุชน ( คนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส ) ซึ่งเป็นคนเขลาก็ดี, ผู้ฆ่ามารดาบิดาก็ดี, ผู้ฆ่าพระ

อรหันต์ก็ดี, มีทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงยังพระโลหิตให้ห้อก็ดี, ผู้ทำสงฆ์ให้แตกกันก็ดี กล่าววาจาว่า " ทุกข์ "

ดังนี้จะชื่อว่าเจริญมรรคหรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดว่า ผู้เปล่งวาจาว่า " ทุกข์ ทุกข์ " ย่อมนำมาซึ่งความรู้ในทุกข์

และการนำมาซึ่งความรู้ในทุกข์นั้น เป็นองค์มรรค นับเนื่องในมรรค จึงมีการซักให้เห็นว่า คนเลว ๆ ที่เปล่ง

วาจาว่า ทุกข์ ทุกข์ได้ )

๑๗. เรื่องความตั้งอยู่แห่งจิต
( จิตตฐิติกถา )

ถาม : จิตดวงหนึ่งย่อมตั้งอยู่ตลอดวันใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่ ( พึงทราบว่าเป็นการตอบด้วยความเห็นผิด )

ถาม : ครึ่งวันเป็นขณะเกิด อีกครึ่งวันเป็นขณะดับใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิด เพราะเห็นจิตในสมาบัติ กับภวังคจิต เป็นไปต่อเนื่องกัน จึงเข้าใจว่า

จิตดวงเดียวกันนั้น ตั้งอยู่ยั่งยืน วันหนึ่ง สองวัน หรือตลอดเดือนปี ตลอดกัปป์ ถึง แปดหมื่นสี่พันกัปป์

ฝ่ายซักได้ซักให้คำนึงถึงระยะดับระยะเกิด และพระพุทธภาษิตที่ว่า ในคืนหนึ่งวันหนึ่ง จิตเป็นอันมากเกิดขึ้น

และดับไป )

๑๘. เรื่องถ่านไฟร้อน
( กุกกุฬกถา )

ถาม : สังขารทั้งปวง ไม่ยกเว้น เป็นเหมือนถ่านไฟร้อนใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่ ( พึงทราบว่าเป็นการตอบด้วยความเห็นผิด )

ถาม : สุขเวทนา, สุขทางกาย, สุขทางจิต, สุขอันเป็นทิพย์, สุขอันเป็นของมนุษย์, ฯ ล ฯ สุขอัน

ประกอบด้วยอาสวะ, สุขอันไม่ประกอบด้วยอาสวะ ฯ ล ฯ สุขอันเกิดจากความสงบ, สุขอันเกิดจากการตรัสรู้

มีอยู่มิใช่หรือ ?

ตอบ : มีอยู่

ถาม : ถ้าสุขเช่นนั้นมีอยู่ ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า สังขารทั้งปวง ไม่ยกเว้น เป็นเหมือนถ่านไฟร้อน

( นิกายโคกุสิกะ เป็นเจ้าของความเห็นผิดข้อนี้ มีผู้สันนิษฐานว่า ชื่อของนิกายนี้มาจากคำว่า

กุกกุฬะ คือถือว่าสังขารมีลักษณะเหมือนถ่านไฟร้อน ฝ่ายค้านจึงซักให้ยอมรับว่า ความสุขต่าง ๆ

ชนิด ยังมีอยู่ เหตุไฉน จึงกล่าวยืนยันแต่แง่เดียวโดยไม่มีข้อยกเว้น )

๑๙. เรื่องการตรัสรู้โดยลำดับ
( อนุปุพพาภิสมยกถา )

ถาม : การตรัสรู้โดยลำดับ ( ตรัสรู้ไปทีละเล็กทีละน้อย ) มีอยู่ใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลย่อมเจริญโสดาปัตติมรรคทีละเล็กทีละน้อยใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

ถาม : บุคคลย่อมทำให้แจ้งโสดาปัตติผลทีละเล็กทีละน้อยใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( มีการถามตอบไล่เลียงไปจนถึงมรรคผลชั้นสูง ความเห็นผิดข้อนี้ เป็นของ นิกายอันธกะ, สัพพัตถิก-

วาทะ, สมิติยะ, ภัทรยานิกะ เพราะเข้าใจผิดในพระพุทธภาษิตที่ว่า " ผู้มีปัญญาพึงชำระมลทิลของตน

ไปทีละน้อย ทีละขณะโดยลำดับ เหมือนช่างทองชำระมลทิลของเงินฉะนั้น " โดยเข้าใจว่า ผู้ปฏิบัติเพื่อทำ

ให้เแจ้งโสดาปัตติผล เมื่อเห็นพระอริยสัจจ์ข้อที่ ๑ ก็ละกิเลสได้บางส่วน เมื่อเห็นข้อที่ ๒ จนถึงข้อที่ ๔ ก็

ละได้อีกบางส่วน เมื่อบรรลุมรรคผลครบ ๔ ชั้น จึงละกิเลสได้ ๑๖ ส่วน ( คือใช้หลักอริยสัจจ์ ๔ เป็นตัว

คูณมรรคผล ๔ ชั้น ) ซึ่งขัดกับพระพุทธภาษิต๑ที่ว่า เมื่อตรัสรู้ อริยสัจจ์นั้น มิใช่เห็นทีละข้อ แต่เห็นพร้อมกันหมดทุกข้อ และพระพุทธภาษิตที่ว่า ในสมัยใดอริยสาวกเกิดดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา ในสมัยนั้นอริยสาวกนั้นย่อมละได้ซึ่งสัญโญชน์ ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส๒ อันแสดงว่าละได้พร้อมกัน หมดทั้งสามอย่าง )

๒๐. เรื่องโวหาร
( โวหารกถา )

ถาม : โวหาร ( คือถ้อยคำที่กล่าวเรียกขานสิ่งต่าง ๆ ) ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเป็นโลกุตตระ

( คือพ้นจากโลก ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่ ( พึงทราบว่าเป็นการตอบด้วยความเห็นผิด )

ถาม : โวหารนั้น ย่อมกระทบในหูที่เป็นโลกุตตระ ไม่กระทบในหูที่เป็นโลกิยะ ; บุคคลย่อมรู้

โวหารนั้นด้วย วิญญาณอันเป็นโลกุตตระ มิใช่ด้วยวิญญาณอันเป็นโลกิยะ ; สาวกเท่านั้นย่อมรู้ บุถุชนไม่รู้

ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( ความเห็นผิดเรื่องที่ว่า โวหารของพระพุทธเจ้าเป็นโลกุตตระนี้ เป็นของ นิกายอันธกะ ฝ่ายซักจึง

ต้องซักต้อนให้จำนนว่า ถ้าโวหารหรือถ้อยคำเป็นโลกุตตระแล้ว มิต้องใช้หูโลกุตตระฟังจึงรู้เรื่องหรือ นอก

จากนั้น วิญญาณคือความรู้แจ้งอารมณ์ทางหูมิต้องเป็นโลกุตตระด้วยหรือ ? เมื่อฝ่ายเห็นผิดตอบปฏิเสธจึง

สำทับว่า เพราะเหตุนี้ จึงไม่ควรกล่าวว่า โวหารของพระพุทธเจ้าเป็นโลกุตตระ )

'๑' . ดูคำอธิบายในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่๑๑ ) สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค

'๒' . ดูคำอธิบายศัพท์ในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่๑๒ หน้า ๔ ) ในข้อ ๒ สัญโญชน์ ๓


๒๑. เรื่องนิโรธความดับทุกข์
( นิโรธกถา )

ถาม : นิโรธ ( ความดับ ) มีสองใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ทุกขนิโรธ ( ความดับทุกข์ ) มีสองใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหิสาสกะ กับ นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า นิโรธสองอย่าง คือ อัปปฏิสังขา-

นิโรธ ( ความดับมิใช่ด้วยโลกุตตรญาณ ) กับ ปฏิสังขารนิโรธ ( ความดับด้วยโลกุตตรญาณ ) รวมเป็นนิโรธ

สัจจ์ด้วยกัน ฝ่ายกามจึงซักให้จนด้วยถามว่า ทุกขนิโรธ ( ความดับทุกข์ ) ทุกขนิโรธสัจจ์ ( ความจริงคือ

ความดับทุกข์ ) ทุกขสัจจ์ ( ความจริงคือทุกข์ ) สมุทยสัจจ์ ( ความจริงคือเหตุให้เกิดทุกข์ ) และมัคคสัจจ์

( ความจริงคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ) เป็นต้น มิพลอยมีอย่างละสองไปด้วยหรือ ? คือตามความจริง

การดับที่เป็นโลกิยะจะจัดเข้าในนิโรธสัจจะไม่ได้ เพราะยังเกิดขึ้นได้อีก นิโรธที่แท้จริงจึงมีอย่างเดียวเท่านั้น

คือที่เป็นโลกุตตระ )

๒๒. เรื่องกำลัง
( พลกถา )

ถาม : กำลังแห่งพระตถาคต เป็นของทั่วไปแก่พระสาวกใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : กำลังแห่งพระตถาคต ก็คือกำลังแห่งพระสาวก ; กำลังแห่งพระสาวก ก็คือกำลังแห่งพระ

ตถาคตอย่างนั้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิด เพราะจับความในพระสูตร ในอนุรุทธสังยุตที่ว่า เพราะเจริญทำให้

มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ ก็ย่อมรู้ฐานะ อฐานะ ตามความจริง. เป็นเหตุให้เข้าใจผิดว่า กำลังแห่งพระตถาคตเป็น

ของสาธารณะแก่พระสาวก ฝ่ายค้านจึงซักต้อนให้เห็นว่า ไม่เสมอกัน )

๒๓. เรื่องญาณเป็นอริยะ
( อริยันติกถา )

ถาม : ความรู้ตามความเป็นจริงในฐานะและอฐานะ เป็นกำลังแห่งพระตถาคต เป็นอริยะใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ญาณนั้น เป็นมรรค, ผล, นิพพาน, โสดาปัตติมรรค, โสดาปัตติผล, เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิด ญาณ ๑๐ นั้น เป็นอริยะทั้งหมด คือมิใช่อาสวักขยญาณ ( ญาณอัน

เป็นเหตุสิ้นอาสวะ ) เท่านั้น ที่เป็นอริยะ แม้ญาณ ๙ ข้อข้างต้นก็เป็นอริยะด้วย ฝ่ายถามจึงซักว่า ญาณข้อใด

ข้อหนึ่งใน ๙ ข้อนั้น เป็นมรรค เป็นผล หรือว่าเป็นนิพพาน ท่านจึงกล่าวว่า เป็นอริยะ ถ้ามิใช่มรรคผลหรือ

นิพพาน ก็ไม่ควรกล่าวว่า เป็นอริยะ )

๒๔. เรื่องจิตหลุดพ้น
( วิมุจจติกถา )

ถาม : จิตมีราคะ ย่อมหลุดพ้นใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : จิตที่ประกอบด้วยราคะ, เกิดพร้อมกับราคะ, ระคนด้วยราคะ ฯ ล ฯ เป็นจิตเศร้าหมอง ย่อม

หลุดพ้นใช่ไหม?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า จิตหลุดพ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นจิตของผู้ปราศจากราคะ แม้จิตที่

ประกอบด้วยราคะก็หลุดพ้นได้ เปรียบเหมือนผ้าที่จะพ้นจากมลทิล ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผ้าที่สะอาดแล้วเท่า

นั้น แม้ผ้าที่สกปรกเมื่อซักเข้าก็พ้นจากมลทินได้ ปัญหาเรื่องนี้เป็นเพียงโวหาร ประเด็นสำคัญอยู่ที่ขณะหลุด

พ้น เดิมจิตจะเป็นอย่างไรมาก็ตามที แต่ขณะหลุดพ้นจะต้องปราศจากราคะ เพราะฉะนั้น ฝ่ายซักจึงซักว่า

จิตที่หลุดพ้นเป็นจิตที่มีราคะ มีความเศร้าหมองเช่นนั้นหรือ )

๒๕. เรื่องจิตกำลังหลุดพ้น
( วิมุจจมานกถา )

ถาม : จิตหลุดพ้นแล้ว กำลังหลุดพ้นใช่หรือไม่ ? ( ทั้งหลุดพ้นแล้ว ทั้งกำลังหลุดพ้น )

ตอบ : ใช่

ถาม : จิตหลุดพ้นแล้วบางส่วน ยังไม่หลุดพ้นบางส่วนใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( ความเห็นผิดข้อนี้เนื่องกันกับข้อ ๒๔ คือมีความเห็นว่า จิตที่หลุดพ้นด้วยฌานอันเป็นวิกขัมภนวิมุติ คือหลุด

พ้นด้วยการข่มไว้ ชื่อว่ากำลังหลุดพ้นด้วยสมุจเฉทวิมุติ คือหลุดพ้นด้วยการตัดขาด ในขณะแห่งมรรค ฝ่าย

ซักจึงไล่เลียงว่า บางส่วนหลุดพ้น บางส่วนยังไม่หลุดพ้นใช่หรือไม่ )

๒๖. เรื่องบุคคลที่ ๘
( อัฏฐมกกถา )

ถาม : บุคคลที่ ๘ ( ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ) ละเครื่องรึงรัดคือทิฏฐิ ( ความเห็น ) ได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลที่ ๘ เป็นพระโสดาบัน หรือท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ฯ ล ฯ ใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( ความเห็นผิดข้อนี้ เป็นของ นิกายอันธกะ และ นิกายสมิติยะ ซึ่งเห็นว่า บุคคลที่ ๘ คือผู้

ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ละกิเลสที่รึงรัดจิตได้ ๒ อย่าง๑เพราะไม่

มีกิเลสฟุ้งขึ้นในขณะแห่งอนุโลมโครตภูและมรรค ฝ่ายถามจึงซักว่า บุคคลที่ ๘ เป็นพระโสดาบันหรือ

ซึ่งฝ่ายเห็นผิดต้องยอมรับว่าไม่ใช่ เพราะผู้จะละได้ต้องเป็นพระโสดาบัน หรือผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว

เท่านั้น )

๒๗. เรื่องอินทรีย์ของบุคคลที่ ๘
( อัฏฐมกัสส อินทริยกถา )

ถาม : บุคคลที่ ๘ ( ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ) ไม่มีอินทรีย์๒

คือศรัทธาใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลที่ ๘ ไม่มีศรัทธาหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า บุคคลที่ ๘ คือท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค กำลังได้อินทรีย์

ในขณะแห่งมรรค ไม่ใช่ได้เสร็จแล้ว ผู้ซักจึงซักให้จำนนด้วยเหตุผลหลายข้อ พร้อมทั้งพระพุทธภาษิตใน

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ ที่ว่าพระอริยบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งใน

โสดาปัตติผล ( คือท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ) ก็มีอินทรีย์ ๕ มีศรัทธา เป็นต้น มีปัญญาเป็นที่สุด )

๒๘. เรื่องตาทิพย์
( ทิพพจักขุกถา )

ถาม : ตาเนื้อ ( มังสจักษุ ) อันธรรมะอุปถัมภ์แล้ว ย่อมเป็นตาทิพย์ ( ทิพยจักษุ ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ตาเนื้อคือตาทิพย์ ตาทิพย์คือตาเนื้อหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ และ นิกายสมิติยะ มีความเห็นผิดว่า ตาเนื้อ ซึ่งได้ธรรมะคือฌานที่ ๔ สนับ

สนุนแล้วย่อมชื่อว่าเป็นตาทิพย์ ฝ่ายถามจึงซักให้จำนนด้วยคำถามมากมาย รวมทั้งการอ้างพระพุทธภาษิตใน

อิติวุตตกะ ซึ่งว่าด้วยจักษุ ๓ ประการ คือ มังสจักษุ ( ตาเนื้อ ) ทิพยจักษุ ( ตาทิพย์ ) ปัญญาจักษุ ( ตา

ปัญญา ) มิได้รวมตาเนื้อกับตาทิพย์เข้าด้วยกัน )

๒๙. เรื่องหูทิพย์
( ทิพพโสตกถา )

ข้อนี้มีคติอันเดียวกับเรื่องตาทิพย์ เป็นแต่เปลี่ยนเรื่องมาเป็นหูทิพย์เท่านั้น เป็นแต่พระพุทธภาษิตที่อ้างแสดงว่า

หูมี ๒ อย่าง คือมังสโสต ( หูเนื้อ ) และทิพยโสต ( หูทิพย์ )

๓๐. เรื่องญาณรู้ถึงสัตว์ผู้เกิดตามกรรม
( ยถากัมมูปคตญาณกถา )

ถาม : ญาณรู้ถึงสัตว์ที่เกิดตามกรรม คือตาทิพย์ใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่

ถาม : คือทำในใจถึงสัตว์ผู้เกิดตามกรรมด้วย เห็นรูปด้วย ตาทิพย์ด้วย อย่างนั้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( ข้อนี้เกี่ยวโยงมาจากข้อที่ ๒๘ คือเกิดความเห็นผิดขึ้นว่า ญาณที่รู้ถึงสัตว์ผู้เกิดตามกรรม คือทิพยจักษุ หรือ

ตาทิพย์ ฝ่ายซักค้านได้ซักให้ยอมรับว่า บุคคลบางคนไม่มีทิพย์จักษุ แต่ก็มีปัญญาชนิดนี้ได้ จึงไม่ควรกล่าว

ว่า ญาณชนิดนี้กับทิพยจักษุเป็นอันเดียวกัน )

'๑' . คือทิฏฐิ ความเห็นผิด และวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

'๒' . อินทรีย์ คือธรรมอันเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 17:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


๓๑. เรื่องความสำรวม
( สังวรกถา )

ถาม : ความสำรวมมีในเทพทั้งหลายใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความไม่สำรวมมีในเทพทั้งหลายใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( อรรถกถาไม่ได้บอกว่าเป็นของนิกายใด แต่ก็พอสันนิษฐานได้ว่า สืบเนื่องมาจากข้อที่ ๒๘ ซึ่งเป็นมติของ

นิกายอันธกะ และ นิกายสมิติยะ ความเห็นผิดนั้นเกิดขึ้น เพราะเห็นว่าเทพชั้นดาวดึงส์

ขึ้นไปย่อมไม่ก่อเวร ( ไม่ละเมิดศีล ๕ ) เพราฉะนั้น จึงชื่อว่ามีความสำรวม ตามความจริงปัญหาเรื่องการ

ละเมิดศีล ๕ ไม่มี จึงไม่ควรกล่าวว่ามีหรือไม่มีความสำรวม เพราะเทพเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ละเมิดศีล ๕ โดย

ปกติธรรมดาอยู่แล้ว )

๓๒. เรื่องไม่มีสัญญา คือความจำได้หมายรู้
( อสัญญกถา )

ถาม : สัญญามีอยู่ในพวกอสัญญสัตว์ (สัตว์พวกไม่มีสัญญา หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อสัญญีสัตว์)

ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่ ( พึงทราบว่าเป็นการเห็นผิดแท้ )

ถาม : สัตว์เหล่านั้นมีภพของผู้มีสัญญา ( สัญญภพ ) เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นว่า เพราะมีพระพุทธภาษิตว่า " วิญญาณย่อมมีเพราะสังขารเป็นปัจจัย "

และเพราะมีพระพุทธภาษิตว่า " ชื่อว่าปฏิสนธิ ( การกำเนิด ) เว้นจากวิญญาณย่อมมีไม่ได้ ก็แลเทพเหล่านั้น

ย่อมเคลื่อนจากกายนั้น เพราะสัญญาเกิดขึ้น " ฉะนั้น อสัญญีสัตว์จึงมีสัญญาทั้งในขณะจุติและปฏิสนธิ ฝ่าย

ซักจึงซักค้านว่า ถ้าอย่างนั้น อสัญญีสัตว์ ก็เป็นอสัญญีสัตว์เฉพาะตอนตั้งอยู่ แต่ตอนเคลื่อนตอนเกิดเป็น

มีสัญญภพ ; มีขันธ์ ๑ เฉพาะตอนตั้งอยู่ แต่ตอนเคลื่อนตอนเกิด มีขันธ์ ๖ อย่างนั้นหรือ ซึ่งฝ่ายเห็นผิดจำ ต้องปฏิเสธ )

๓๓. เรื่องเนวสัญญานาสัญญายตนะ
( เนวสัญญานาสัญญายตนกถา )

ถาม : ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ( อายตนะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ) ไม่ควรกล่าว

ว่ามีสัญญา ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : เทพพวกเนวสัญญานาสัญญายตนะ มีอสัญญภพ (ภพของผู้ไม่มีสัญญา) เป็นต้น เช่นนั้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า คำว่า อายตนะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ทำให้ไม่ควร

กล่าวว่ามีสัญญาในภพนั้น ฝ่ายค้านจึงซักว่า ถ้าอย่างนั้น ก็มีอสัญญภพ คือมีความเป็นอยู่แบบอสัญญีสัตว์

ใช่ไหม ซึ่งฝ่ายเห็นผิดจำต้องปฏิเสธ )

๓๔. เรื่องพระอรหันต์พึงเป็นคฤหัสถ์ได้
( คิหิสส อรหาติกถา )

ถาม : พระอรหันต์พึงเป็นคฤหัสถ์ได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระอรหันต์ยังมีเครื่องร้อยรัดของคฤหัสถ์หรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( ความจริงเรื่องนี้เป็นเพียงโวหาร คือ นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นว่า มีคฤหัสถ์หลายคนที่เป็น

พระอรหันต์ เช่น ยศกุลบุตร, สันตติมหาอำมาตย์ จึงกล่าวอย่างนั้น แต่ฝ่ายค้านซักว่า ถ้าอย่างนั้น

พระอรหันต์ก็มีกิเลสของคฤหัสถ์ใช่หรือไม่ ตามข้อเท็จจริง มีคฤหัสถ์หลายคนได้บรรลุอรหัตตผล แต่เมื่อ

บรรลุเป็นพระอรหันต์ ความเป็นอยู่ทุกอย่างก็ต่างไปจากคฤหัสถ์ คือ ไม่ครองเรือน ไม่เสพกาม ไม่ดำรงชีวิต

แบบชาวโลก เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรกล่าวว่า พระอรหันต์เป็นคฤหัสถ์ )

๓๕. เรื่องความเกิด
( อุปปัตติกถา๑ )

ถาม : บุคคลย่อมเป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ได้ (พึงทราบว่าเห็นผิดแท้ )

ถาม : บุคคลย่อมเป็นพระโสดาบันพร้อมกับการเกิดได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดว่า พระบาลีว่า " ย่อมเป็นอุปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น "

จึงหมายความว่า บุคคลที่เกิดในชั้นสุทธาวาส ย่อมเป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิด ซึ่งตามความจริงมิใช่

เช่นนั้น หากหมายความว่า ต้องเกิดเสียก่อน แล้วจึงจะเป็นพระอรหันต์ในภายหลัง )

๓๖. เรื่องไม่มีอาสวะ
( อนาสวกถา )

ถาม : ธรรมทั้งปวงของพระอรหันต์ไม่มีอาสวะ คือกิเลสที่ดองสันดานใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ธรรมทั้งปวงเป็นมรรคผลหรือนิพพาน เป็นต้น ใช่ไหม ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ ความเห็นว่า ผิด ธรรมทั้งปวงของพระอรหันต์ย่อมไม่มีอาสวะทั้งสิ้น คำว่า

ธรรมทั้งปวง ทำให้เกิดความหมายยุ่งยาก เพราะถ้าพระอรหันต์มีจีวร จีวรก็เป็นของไม่มีอาสวะ เมื่อให้จีวร

นั้นไป จะว่าจีวรนั้นไม่มีอาสวะหรือ ? ความจริงจึงไม่ควรกล่าวว่า ธรรมทั้งปวงของพระอรหันต์ไม่มีอาสวะ

เพราะจะมีความหมายคลุมไปถึงร่างกาย เครื่องใช้ )

๓๗. เรื่องพระอรหันต์ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
( สมันนาคตกถา )

ถาม : พระอรหันต์ประกอบด้วยผล ๔ หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระอรหันต์ประกอบด้วยผัสสะ ๔, เวทนา ๔, สัญญา ๔, เจตนา ๔, จิต ๔, ศรัทธา ๔

จนถึงปัญญา ๔ อย่างนั้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นว่า พระอรหันต์ประกอบด้วยผล ๔ คล้ายกับที่คนปัจจุบันพูดว่า

ผู้สำเร็จมัธยม ๘ เป็นผู้ประกอบด้วยมัธยม ๑, ๒, ๓ ถึง ๘ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องกล่าวอย่างนั้น เวลาแสดง

ความรู้ ก็แสดงแต่ชั้นสูงสุด เพราะในชั้นต่ำกว่านั้นตนผ่านพ้นมาแล้ว ถ้าจะนำมากล่าวด้วยก็จะเหมือนพูด

เล่น เช่น ถามว่า มีความสำเร็จชั้นไหน ? ก็จะต้องตอบว่า สำเร็จชั้นประถม ๑, ๒, ๓, ๔ มัธยม ๑, ๒, ๓,

๔, ๕, ๖, ๗, ๘ ซึ่งไม่จำเป็น )

๓๘. เรื่องพระอรหันต์ประกอบด้วยอุเบกขา
( อุเปกขาสมันนาคตกถา )

ถาม : พระอรหันต์ประกอบด้วยอุเบกขา ( ความวางเฉย ) ๖ อย่างใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระอรหันต์ประกอบด้วยผัสสะ ๖ เวทนา ๖ เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องโวหารเช่นเดียวกัน พระอรหันต์เป็นผู้มีความวางเฉยในทวารทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น

กาย ใจ ได้ แต่จะใช้ความวางเฉยนั้นทางไหน ก็ทำทีละทาง ไม่ใช่ทำพร้อมกันทั้งหกทาง ในขณะเดียวกัน )

๓๙. เรื่องเป็นพระพุทธเจ้าเพราะโพธิ
( โพธิยา พุทโธติกถา )

ถาม : บุคคลย่อมเป็นพระพุทธเจ้าเพราะโพธิ ( ความตรัสรู้ หรือคุณเครื่องให้ตรัสรู้ ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : เมื่อโพธิดับแล้ว ก็ไม่เป็นพระพุทธเจ้าอย่างนั้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

(เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของโวหารเช่นกัน คือ นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นอย่างนั้น คำว่า โพธิหมาย

ถึงมัคคญาณ ๔ และสัพพัญญุตญาณ การกล่าวอย่างนั้นก็เป็นการถูกต้องในสำนวนธรรมดา แต่ถ้าวิเคราะห์

อย่างลึกซึ้ง ก็ไม่ควรกล่าว เพราะโพธิเป็นได้ทั้งอดีต, อนาคต, และปัจจุบัน ในขณะที่โพธิเป็นอดีต ความ

เป็นพระพุทธเจ้าจะมิพลอยหมดไปด้วยหรือ ถ้าตั้งเงื่อนไขให้ขึ้นอยู่แก่โพธิเท่านั้น )

๔๐. เรื่องลักษณะ
( ลักขณากถา )

ถาม : ผู้ประกอบด้วยลักษณะ เป็นพระโพธิสัตว์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้ที่ประกอบด้วยลักษณะบางส่วน ก็เป็นพระโพธิสัตว์บางส่วนหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นอย่างนี้ แต่ก็มีปัญหาว่า พระเจ้าจักรพรรดิ์ก็ประกอบด้วยลักษณะ

เหมือนกัน พระเจ้าจักรพรรดิ์มิเป็นพระโพธิสัตว์ไปด้วยหรือ ? การกล่าวอย่างนี้จึงชื่อว่าผิดหลักตรรกศาสตร์

เช่น กล่าวว่า คนพูดภาษาไทยเป็นคนไทย คนชาติอื่นพูดภาษาไทยมิเป็นคนไทยไปด้วยหรือ ? )

'๑' . คำนี้อ่านว่า อุปะปัตติ แปลตามศัพท์ว่า การเข้าถึง คือเกิด เป็นคำใกล้กับคำว่า อฺปตฺติ ซึ่งแปลว่า เกิดขึ้น จึงหมายเหตุไว้เป็นที่สังเกต


หัวข้อเรื่อง ๒๑๙ เป็นของนิกายไหน

๔๑. เรื่องกำหนดลงมาเกิด
( นิยาโมกกันติกถา )

ถาม : พระโพธิสัตว์มีกำหนดลงมาเกิดประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาค

พระนามว่า กัสสปะ ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระโพธิสัตว์เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า กัสสปะ หรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า พระโพธิสัตว์จะต้องมีกำหนด หรือมีธรรมดาที่จะต้องลงมาเกิด

ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธเจ้าบางพระองค์ เช่น พระกัสสปะ เพราะจับความในฆฏิการสูตรผิด

๑ ฝ่ายซักจึงซักว่า พระโพธิสัตว์มาเป็นสาวก และพระสาวกกลายเป็น

พระพุทธเจ้าหรือ ? ตามความจริงพระโพธิสัตว์ในระหว่างที่บำเพ็ญบารมี อาจจะเกิดในสมัยของพระพุทธเจ้า

พระองค์ใดก็ได้ จะออกบวชหรือไม่ก็ได้ ข้อสำคัญ คือไม่ได้ตรัสรู้บรรลุมรรคผลในสมัยที่กำลังบำเพ็ญบารมี

นั้น ต่อมาในชาติสุดท้ายจึงได้ตรัสรู้ด้วยความสามารถในการค้นคว้าและประพฤติปฏิบัติของพระองค์เอง )

๔๒. เรื่อง " ประกอบด้วยคุณธรรม " อีกข้อหนึ่ง
( อปราปิสมันนาคตกถา )

ถาม : บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล ( ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ) ประกอบด้วยผลทั้งสาม

( โสดาปัตติผล, สกทาคามิผล, อนาคามิผล ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งหัตตผล ประกอบด้วยผัสสะ ๔ เวทนา ๔ เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดทำนองเดียวกับข้อที่ ๓๗ ซึ่งกล่าวมาแล้ว เหตุผลในการซักให้จำนน

ก็อย่างเดียวกัน ต่างแต่ในข้อนั้นกล่าวถึงพระอรหันต์ ในข้อนี้กล่าวถึงท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค )

๔๓. เรื่องการละสัญโญชน์ทั้งหมด
( สัพพสัญโญชนปหานกถา )

ถาม : การละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัดหรือผูกมัด ) ทั้งปวง เป็นความเป็นพระอรหันต์หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : สัญโญชน์ทั้งปวง อันอรหัตตมรรคย่อมละใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า คำว่า การละสัญโญชน์ทั้งปวงได้เป็นความเป็นพระอรหัต์ ความ

จริงพูดอีกอย่างหนึ่งก็ไม่ผิด แต่ที่ถูกคัดค้านก็เพราะในสัญโญชน์ทั้งสิบนั้น โสดาปัตติมรรคละมาแล้ว ๓

อนาคามิมรรคละมาแล้วอีก ๒ รวมเป็น ๕ อรหัตตมรรคละอีก ๕ จึงไม่ควรกล่าวว่า อรหัตตมรรคและ

สัญโญชน์หมดทุกข้อ เพราะความจริงข้อต้น ๆ มรรคอื่นละมาเสร็จแล้ว เรื่องนี้ดูเป็นปัญหาทางสำนวนโวหาร

มากกว่า )

๔๔. เรื่องหลุดพ้น
( วิมุตตกถา๒ )

ถาม : วิมุตติญาณเป็นตัวหลุดพ้นหรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : วิมุตติญาณทุกอย่างเป็นตัวหลุดพ้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( คำว่า วิมุตติญาณ หมายความถึงญาณ ๔ ประการ คือ วิปัสสนาญาณ, มัคคญาณ, ผลญาณ, และ ปัจจเวก-

ขณญาณ เพราะเป็นตทังควิมุติ, สมุจเฉทวิมุติ, และปฏิปัสสัทธิวิมุติโดยลำดับ ส่วนปัจจเวกขณญาณ ชื่อว่า

วิมุตติญาณด้วย เพราะรู้จักวิมุติ กล่าวตามหลักวิชา ผลญาณเหล่านั้น ควรกล่าวได้ว่าเป็นตัวหลุดพ้นโดยตรง

แต่เมื่อกล่าวคลุม ๆว่า วิมุตติญาณเป็นตัวหลุดพ้น จึงทำให้เกิดการซักไซ้ไล่เลียงขึ้น นิกายอันธกะ

เป็นเจ้าของความคิดนี้ )

๔๕. เรื่องพระอเสกขะ คือผู้ไม่ต้องศึกษา
( อเสกขกถา )

ถาม : พระเสกขะ ( ผู้ยังศึกษา ) มีอเสกขญาณ ( ญาณที่เป็นของพระอเสกขะ ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระเสกขะย่อมรู้เห็นธรรมที่เป็นของพระอเสกขะ, เข้าถึงอยู่, ถูกต้องด้วยนามกายอยู่

ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดว่า พระเสขะ คือพระอริยบุคคลที่ต่ำกว่าพระอรหันต์บางท่าน

เช่น พระอานนท์ย่อมรู้ถึงพระอเสขะ คือพระอรหันต์ จึงชื่อว่ามีอเสขญาณ ฝ่ายค้านจึงต้องซักให้ยอมจำนน

คำว่า เสขะ, เสกขะ, และอเสขะ, อเสกขะ ใช้ได้ทั้งสองแบบ มีความหมายอย่างเดียวกัน )

๔๖. เรื่องวิปริต
( วิปรีตกถา )

ถาม : ท่านผู้เข้าสมาบัติมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ( กสินกำหนดหัวข้อเพ่งที่ดิน ) ชื่อว่ามีญาณในสิ่งที่

ผิด ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : มีความเห็นผิดในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง, ในทุกข์ ว่าเป็นสุข, ในสิ่งมิใช่ตน ว่าตน, ในสิ่งที่ไม่

งาม ว่างามเช่นนั้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ ความเห็นผิดว่า ผู้เข้าสมาบัติมีปฐวีกสินเป็นอารมณ์ ชื่อว่ามีความรู้ผิด เพราะเท่ากับ

หลงยึดถือดิน แต่ตามความจริงเป็นการกำหนด สิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติเพื่อให้ใจสงบเท่านั้น มิได้ติดหรือเห็น

ว่า ว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน เป็นสิ่งที่งาม ฝ่ายค้านจึงซักค้านดังกล่าวข้างต้น )

๔๗. เรื่องทำนองธรรม
( นิยามกถา )

ถาม : บุคคลผู้เป็นอนิยต ( คือยังเป็นบุถุชน ยังไม่แน่นอน ) มีญาณเพื่อไปสู่ทำนองธรรม ( มีญาณ

เพื่อบรรลุมรรค ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลผู้เป็นนิยต ( พระอริยบุคคล ) มีญาณเพื่อไปสู่สิ่งที่มิใช่ทำนองธรรมใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้ว่า " บุคคลที่จักก้าวลงสู่ทำนองธรรม

ที่ถูกต้อง จึงเป็นผู้ควรตรัสรู้ธรรมนั้นได้ " คือถือเอาประเด็นที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงรู้ว่า คนคนนี้จะบรรลุธรรม

ที่ถูกต้องได้ คือบรรลุมรรค จึงชื่อว่าบุถุชนก็มีญาณที่จะบรรลุมรรค แต่ตามความจริงในขณะที่เป็นบุถุชนยัง

ไม่มีญาณเช่นนั้น เวลาซักค้านจึงค้านในทางตรงกันข้ามว่า พระอริยบุคคลมีญาณย้อนกลับไปเป็นบุถุชนได้

ทำนองเดียวกับที่บุถุชนมีญาณตรงกันข้ามกับสภาพของตนได้เช่นนั้นหรือ ? )

๔๘. เรื่องความแตกฉาน
( ปฏิสัมภิทากถา )

ถาม : ญาณทุกอย่างเป็นปฏิสัมภิทาใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความรู้สมมติ ( รู้สิ่งที่คนนัดหมายเรียกร้องกัน เช่น รู้จักชื่อ ) เป็นปฏิสัมภิทาใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า ญาณทุกชนิดเป็นปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) เป็นโลกุตตระทั้ง

สิ้น ฝ่ายซักจึงนำเอาความรู้สมมติ ( สมมติญาณ ) มาถามว่า เป็นโลกุตตระด้วยหรือ ? )

๔๙. เรื่องความรู้สมมติ
( สัมมติญาณกถา )

ถาม : ไม่ควรกล่าวว่า สมมติญาณ ( ความรู้สมมติ ) มีสัจจะเป็นอารมณ์อย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่นเป็น

อารมณ์เลย ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้ที่เข้าสมาบัติมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ย่อมมีญาณ และปฐวีกสิณ ย่อมจัดเข้าในสมมติสัจจะ

( ความจริงโดยสมมติ ) มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : หากเป็นเช่นนั้น ท่านก็ควรกล่าวว่า สมมติญาณมีสัจจะเป็นอารมณ์อย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่น

เป็นอารมณ์เลย

( นิกายอันธกะ ไม่รู้จักแยกสัจจะว่า ความจริงมีอยู่ ๒ ประการ คือ ๑. จริงตามที่นัดหมายรู้กัน

เรียกสมมติสัจจะ ๒. จริงอย่างเนื้อหาแท้ ๆ เรียกปรมัตถสัจจะ เมื่อไม่รู้จักแยกความจริงอย่างนี้จึงกล่าวว่าไม่

ควรกล่าวว่า ญาณที่รู้สมมติสัจจะเป็นอารมณ์ ไม่มีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ ความจริงกล่าวได้ เพราะสัจจะที่เป็น

อารมณ์ของสมมติญาณ เป็นสมมติสัจจะ ฝ่ายค้านจึงต้อนให้เห็นจริงในข้อนี้ )

๕๐. เรื่องญาณมีจิตเป็นอารมณ์
( จิตตารัมมณกถา )

ถาม : ญาณที่รู้จิตใจของผู้อื่น ( เจโตปริยญาณ ) มีจิตเป็นอารมณ์อย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่นเป็นอารมณ์

เลย ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : มีบุคคลบางคนที่รู้ว่า จิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า ญาณที่รู้จิตใจของผู้อื่น มีจิตเป็นอารมณ์อย่างเดียว ไม่มี

อย่างอื่นเป็นอารมณ์เลย

( นิกายอันธกะ มีความเห็นไม่รอบคอบในข้อนี้ จึงถูกซักให้เห็นว่า ญาณชนิดนี้มิใช่รู้แต่จิตอย่างเดียว

แต่รู้ถึงราคะ โทสะ โมหะ ที่ประกอบด้วยจิตด้วย )

'๑' . ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ ) ๓๑. ฆฏิการสูตร..สูตรว่าด้วยช่างหม้อชื่อฆฏิการะ

'๒' . อรรถกถาใช้คำว่า วิมุตติกถา


๕๑. เรื่องญาณรู้อนาคต
( อนาคตญาณกถา )

ถาม : ญาณรู้อนาคตมีอยู่มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลย่อมรู้อนาคตโดยมูล โดยเหตุ โคยต้นเหตุ โดยกำเนิด โดยต้นกำนิด เป็นต้น ใช่

หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดในข้อนี้ ปัญหาที่โต้แย้งมีเพียงว่า อนาคตญาณมีอยู่ แต่มิได้มีในทุก

กรณี ฝ่ายค้านจึงซักค้านต่าง ๆ ดังข้อความข้างต้น รวมทั้งซักว่า บุคคลที่อยู่ในมรรคผลต่ำกว่า ย่อมมีญาณ

ในมรรคผลที่สูงกว่าด้วยอย่างนั้นหรือ ซึ่งฝ่ายเห็นผิดจำเป็นต้องปฏิเสธ )

๕๒. เรื่องญาณรู้ปัจจุบัน
( ปัจจุปปันนญาณกถา )

ถาม : ญาณรู้ปัจจุบันมีอยู่ใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลย่อมรู้ญาณนั้น ด้วยญาณนั้นใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า ญาณรู้สิ่งที่เป็นปัจจุบันทุกชนิดมีอยู่ ฝ่ายค้านจึงซักค้านว่า บุคคล

ย่อมใช้ญาณนั้นรู้ตัวญาณเองด้วยหรือ )

๕๓. เรื่องญาณรู้ผล
( ผลญาณกถา )

ถาม : พระสาวกมีญาณรู้ผลใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระสาวกย่อมบัญญัติความที่บุคคลมีผลเป็นของตน ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า พระสาวกมีญาณรู้ผลเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า จึงถูกฝ่ายค้านซัก

ว่า รู้อย่างบัญญัติได้ว่า ในผลชั้นเดียวกันนี้ เป็นประเภทนั้นประเภทนี้ เช่น เอกพีชี โกลังโกละ สัตตักขัต-

ตุปรมะ อย่างนั้นหรือ ซึ่งฝ่ายเห็นผิดจำต้องปฏิเสธ )

๕๔. เรื่องทำนองธรรม
( นิยามกถา๑ )

ถาม : นิยามะ ( ทำนองธรรม ) เป็นอสังขตะ ( ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ทำนองธรรมนั้นเป็นปรินิพพาน ฯ ล ฯ เป็นอมตะหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า นิยามะ ( ทำนองธรรมหรือทำนองคลองธรรม ) เป็นอสังขตะ

ความจริงนิยามะเป็นเพียงอริยมรรค จึงไม่จัดเป็นอสังขตะ )

๕๕. เรื่องปฏิจจสมุปบาท
( ปฏิจจสมุปปาทกถา )

ถาม : ปฏิจจสมุปบาท ( การเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัยเกี่ยวโยงกัน ) เป็นอสังขตะ ( ไม่มีปัจจัย

แต่ง ) หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ปฏิจจสมุปบาทเป็นนิพพาน ฯ ล ฯ เป็นอมตะหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ และ มหิสาสกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักให้จำนนด้วยคำถามที่ว่า

ปฏิจจสมุปบาทเป็นนิพพานหรือ จึงเป็นอสังขตะ )

๕๖. เรื่องความจริง
( สัจจกถา )

ถาม : อริยสัจจ์ ๔ เป็นอสังขตะ ( ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อริยสัจจ์ ๔ เป็นเครื่องต้านทาน ฯ ล ฯ เป็นอมตะ, เป็นปรินิพพาน ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดว่า อริยสัจจ์ ๔ เป็นอสังขตะ จึงถูกซักว่า อริยสัจจ์ ๔ เป็น

นิพพานหรือ )

๕๗. เรื่องอรูป ( สิ่งที่ไม่มีรูป )
( อารุปปกถา )

ถาม : อากาสานัญจายตนะ ( อายตนะที่มีอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ ) เป็นอสังขตะใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อากาสานัญจายตนะเป็นนิพพาน ฯ ล ฯ เป็นอมตะหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดต่อไปว่า อรูปทั้งสี่มีอากาสานัญจายตนะ เป็นต้น เป็นอสังขตะ

เพราะบางแห่งมีคำว่า อเนญชา คือไม่หวั่นไหว ฝ่ายซักจึงซักค้านให้ยอมจำนนว่า อากาสานัญจายตะเป็นต้น

มิใช่นิพพาน )

๕๘. เรื่องนิโรธสมาบัติ
( นิโรธสามปัตติกถา )

ถาม : นิโรธสมาบัติเป็นอสังขตะใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : นิโรธสมาบัติเป็นนิพพาน ฯ ล ฯ เป็นอมตะหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิโรธสมาบัติเป็นสมาบัติชั้นสูงสุดที่ดับสัญญาและเวทนาก็จริง แต่ก็ไม่ควรกล่าวว่าเป็นสังขตะ หรือสังขตะ

ทั้งสองอย่าง เพราะไม่มีลักษณะของสังขตะหรืออสังขตะ นี้เป็นคำอธิบายตามอรรถกถา แต่ นิกาย

อันธกะ และ อุตตราปถกะ มีความเห็นว่า นิโรธสมาบัติเป็นอสังขตะ ฝ่ายค้านจึงซักว่า เป็น

นิพพานหรือ ? ในที่นี้ดูเหมือนทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายเห็นผิดต่างก็เห็นร่วมกันว่า นิโรธสมาบัติมิใช่นิพพาน แต่ผู้

จัดทำหนังสือนี้เห็นว่า เป็นปัญหาที่น่าพิจารณา เพราะมีพระบาลีระบุไว้ชัดเจนว่า การที่ภิกษุเข้าสัญญาเวทยิต-

นิโรธ เป็นนิพพาน โดยนิปปริยาย คือโดยตรง ขอให้โปรดดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ ) ๕. พระอานนท์แสดงธรรมแก่พระอุทายี

๕๙. เรื่องอากาศ
( อากาสกถา )

ถาม : อากาศเป็นอสังขตะใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อากาศเป็นนิพพาน ฯ ล ฯ เป็นอมตะหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ และ นิกายมหิสาสกะ มีความเห็นผิดดั่งกล่าว จึงถูกซักให้ยอมรับว่า

อากาศมิใช่นิพพาน )

๖๐. เรื่องอากาศเป็นของเห็นได้
( อากาโส สนิทัสสโนติกถา )

ถาม : อากาศเป็นของเห็นได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อากาศเป็นรูปที่มาสู่คลองแห่งจักษุหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า อชฎากาศเป็นของเห็นได้ โดยยกตัวอย่างว่า เวลาอยู่ในห้องมืดมอง

ออกมาทางช่องดาลประตู จะแลเห็นอากาศ ฝ่ายค้านจึงซักให้ยอมจำนนว่า อากาศไม่ใช่รูป ถ้าพูดแบบวิทยา-

ศาสตร์ ก็อาจกล่าวได้ว่า ที่อ้างว่าเห็นอากาศนั้น ที่จริงเห็นแสงหรือคลื่นแสงที่สะท้อนมาจากฝุ่นละอองใน

อากาศต่างหาก ถ้าอยู่ในที่ซึ่งไม่มีฝุ่นละอองเลย เช่น ในอวกาศชั้นสูง จะมองเห็นมืดไปหมด )

'๑' . ตั้งชื่อพ้องกับข้อ ๔๗


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 17:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


๖๑. เรื่องธาตุดินเห็นได้ เป็นต้น
( ปฐวีธาตุ สนิทัสสนาตยาทิกถา )

ถาม : ธาตุดินเป็นของเห็นได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ธาตุดินเป็นรูปที่มาสู่คลองจักษุหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะตามหลักวิชาถือว่า ธาตุดินนั้นเรามองไม่เห็น แต่สิ่งที่เรา

มองเห็นคือสี ( วัณณะ ) เพราะลักษณะที่แท้ของธาตุดินคือความแข้นแข็ง อีกอย่างหนึ่ง การพูดว่า ธาตุดิน

เป็นของมองเห็นได้นั้น ถ้าจะนับว่าถูกก็ถูกในสำนวนโลก แต่ในสำนวนธรรมะ สิ่งที่จะเห็นได้มีอย่างเดียวคือ

รูป และรูปที่เห็นได้ก็คือสี การค้านในที่นี้ ไม่ใช่ค้านในทางโลก แต่เป็นการค้านในสำนวนธรรม )๑

๖๒. เรื่องอินทรีย์ คือตาเห็นได้
( จุกขุนทริยัง สนิทัสสนันติกถา )

๖๓. เรื่องการกระทำทางกายเห็นได้
( กายกัมมัง สนิทัสสนันติกถา )

( ทั้งสองข้อนี้ เป็นความเห็นต่อเนื่องมาจากข้อที่ ๖๑ อรรถกถาจึงมิได้อธิบายอะไรไว้เลย แต่เหตุผล ที่ใช้

โต้ตอบก็คงแบบเดียวกัน )

๖๔. เรื่องธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้
( สังคหิตกถา )

ถาม : ธรรมบางอย่างที่สงเคราะห์เข้ากันได้กับธรรมบางอย่างไม่มีใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ธรรมบางอย่างย่อมนับเนื่องเข้ากับธรรมบางอย่างใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า ธรรมบางอย่างที่สงเคราะห์เข้ากันได้กับธรรมบางอย่าง

ไม่มี

( นิกายราชคิริกะ และ สิทธัตถิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ฝ่ายค้านจึงค้านให้ยอมรับว่า ธรรม

ที่เข้ากันได้มีอยู่ เช่น อยาตนะคือตา นับเนื่องเข้าในรูปขันธ์ เป็นต้น )

๖๕. เรื่องธรรมที่ประกอบกัน
( สัมปยุตตกถา )

ถาม : ธรรมบางอย่างที่สัมปยุต ๒ กับธรรมบางอย่างไม่

มี ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ธรรมบางอย่างที่ไปด้วยกัน เกิดร่วมกัน ระคนกัน เกิดขึ้นพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีวัตถุ

เดียวกัน มีอารมณ์เดียวกันกับธรรมบางอย่างมีอยู่มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า ธรรมบางอย่างที่สัมปยุตกับธรรมบางอย่างไม่มี

( นิกายราชคิริยะ และ สิทธัตถิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ข้อโต้แย้งชัดเจนอยู่แล้ว )

๖๖. เรื่องเจตสิก คือธรรมที่เป็นไปทางจิต
( เจตสิกกถา )

ถาม : ธรรมที่เป็นเจตสิก ( เป็นไปทางจิต ) ไม่มีใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ธรรมบางอย่าง ที่ไปด้วยกัน เกิดร่วมกัน ระคนกัน เกิดขึ้นพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีวัตถุเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกันกับจิตมีอยู่มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า ธรรมที่เป็นเจตสิกไม่มี

( นิกายราชคิริยะ และ สิทธัตถิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ และข้อโต้แย้งก็ชัดเจนอยู่แล้ว

เช่นกัน )

๖๗. เรื่องทาน
( ทานกถา )

ถาม : เจตสิกธรรม ( ธรรมที่เป็นไปทางจิต ) เป็นทานใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : เจตสิกธรรมอาจที่จะให้แก่คนอื่นได้หรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายราชคิริยะ และ สิทธัตถิกะ มีความเห็นผิดว่า เจตสิกธรรม คือ ธรรมที่เป็นไป

ทางจิตเท่านั้น จัดเป็นทาน แต่ตามหลักวิชา ทานมี ๓ อย่าง คือ ๑. เจตนาบริจาค ๒. เจตนางดเว้นจาก

ความชั่ว ( อภัยทาน ) และ ๓. วัตถุสำหรับให้ ที่เรียกว่าเทยยธัมมะ หรือไทยธรรม โดยนัยนี้เมื่อวิเคราะห์

แล้ว ทาน จึงได้แก่เจตนาบริจาก และเจตนางดเว้นความชั่ว ซึ่งเป็นเจตสิกธรรมอย่างหนึ่ง ได้แก่วัตถุ

สำหรับให้ ซึ่งเป็นวัตถุไม่เกี่ยวกับจิตอีกอย่างหนึ่ง เมื่อมีความเห็นว่าเจตสิกธรรมเท่านั้นเป็นทาน จึงถูกเพียง

ครึ่งเดียว เวลาซักค้านจึงเอาวัตถุมาค้านว่า เจตสิกธรรมใช้สำหรับให้แก่คนอื่นได้อย่างวัตถุหรือไม่ )

๖๘. เรื่องบุญสำเร็จด้วยการใช้สอย
( ปริโภคมยปุญญกถา )

ถาม : บุญที่สำเร็จด้วยการใช้สอย ย่อมเจริญใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผัสสะ, เวทนา, สัญญา, เจตนา, จิต เป็นต้น ที่สำเร็จด้วยการใช้สอย ย่อมเจริญใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายราชคิริกะ, สิทธัตถิกะ, สมิติยะ จับประเด็นผิดจากข้อความในพระสูตรบางแห่ง มีใจความ

ว่า ภิกษุ ( ที่ประพฤติดีงาม ) ใช้สอยจีวรของผู้ใด บุญย่อมเจริญแก่ผู้นั้นทั้งกลางวันกลางคืน ในกาลทุกเมื่อ

แล้วลงความเห็นว่า บุญเกิดจากการใช้สอย แต่ตามความจริงบุญย่อมเจริญเนื่องมาจากเหตุอื่นก็มี เช่น เจตนา

ดีของผู้ทำบุญ ในการซักค้านจึงซักหลายอย่าง รวมทั้งตอนท้ายได้ซักว่า ถ้าผู้รับรับแล้วมิได้ใช้สอยก็มี มีใคร

ชิงไป หรือวัตถุนั้นพินาศไปด้วยน้ำ ด้วยไฟก็ดี จะชื่อว่าได้บุญ หรือบุญยังเจริญหรือไม่ ถ้าตอบว่าได้บุญ ก็

ไม่ควรกล่าวว่า บุญเกิดจากการใช้สอยของผู้รับเท่านั้น )

๖๙. เรื่องสิ่งที่ให้ไปจากโลกนี้
( อิโต ทินนกถา )

ถาม : ผู้ล่วงลับไปแล้ว ย่อมยังชีวิตด้วยสิ่งที่ให้ไปจากโลกนี้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้ล่วงลับไปแล้ว ใช้สอยบริโภคเครื่องนุ่งห่ม, อาหาร, ที่อยู่อาศัย, ยารักษาโรค, ของเคี้ยว,

ของบริโภค, น้ำดื่มที่ให้ไปจากโลกนี้หรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายราชคิริกะ และ สิทธัตถิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะจับความในพระสูตรบาง

แห่งผิด ฝ่ายค้านจึงซักค้านหลายอย่าง เช่น ซักว่า ผู้ล่วงลับไปแล้วก็ใช้สิ่งต่าง ๆ ที่ให้หรืออุทิศไปให้จากโลก

นี้จริง ๆ หรือความสุข ความทุกข์ คนอื่นทำให้กันได้หรือ คนอื่นทำ แต่อีกคนหนึ่งได้เสวยหรือ ซึ่งผู้เห็นผิด

จำต้องปฏิเสธทั้งนี้พราะตามหลักวิชา แม้จะมีผู้อุทิศอะไรไปให้ ผู้ล่วงลับไปจะต้องอนุโมทนาก่อน การอนุโม-

ทนาหรือพลอยยินดีนั้น ถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง คือทำให้ใจสูง ยินดีในคุณความดีที่ผู้อื่นทำแล้ว ผลจึง

ปรากฏ คือเกิดเป็นสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้รับต้องการ ไม่ใช่วัตถุดั้งเดิมไปถึงผู้รับ )

๗๐. เรื่องแผ่นดินเป็นผลของกรรม
( ปฐวี กัมมวิปาโกติกถา )

ถาม : แผ่นดินเป็นผลแห่งกรรมใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : แผ่นดินเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกเป็นสุข, เป็นทุกข์, ไม่ทุกข์ไม่สุข ; ประกอบด้วยความรู้สึก

เป็นสุข, เป็นทุกข์, ไม่ทุกข์ไม่สุข ; ประกอบด้วยผัสสะ ; ประกอบด้วยเวทนา ; ประกอบด้วยสัญญา ; ประ

กอบด้วยเจตนา ; ประกอบด้วยจิต ; มีอารมณ์ เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า แผ่นดินเป็นผลของกรรม คือเห็นว่า มีกรรมที่เป็นไปเพื่อความเป็น

ใหญ่ในแผ่นดิน ฝ่ายค้านจึงซักว่า แผ่นดินเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา เป็นต้น และซักต้อนในเรื่องพระเจ้า

จักรพรรดิ์เป็นใหญ่ในแผ่นดิน สัตว์อื่น ๆ ที่อาศัยแผ่นดินจะมิชื่อว่าบริโภคผลแห่งกรรมของพระเจ้าจักรพรรดิ์

หรือ )

'๑' . คำอธิบายนี้ อรรถกถามิได้กล่าวไว้ ผู้เขียนอธิบายเอง

'๒' . คำว่า สัมปยุต ที่แปลว่า ประกอบกัน นั้น หมายความว่า เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน


๗๑. เรื่องความแก่ความตายเป็นผล
( ชรามรณัง กัมมวิปาโกติกถา )

ถาม : ความแก่ความตายเป็นผลใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความแก่ความตายเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกเป็นสุข, เป็นทุกข์, ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข, เป็นต้น

ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ฝ่ายค้านจึงซักค้านหลายข้อดั่งตัวอย่างข้างต้น รวมทั้งซักว่า

ความแก่และความตายเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมกันแน่ ฝ่ายเห็นผิดเห็นว่า ความแก่และความตาย

เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา จึงเป็นผลของกุศลกรรม แต่ตามหลักวิชาไม่จัดว่า ความแก่ความตายเป็นผลของ

กรรมดี กรรมชั่ว และตามหลักวิชาคำว่า วิบากหรือผลของกรรม จะต้องเกี่ยวกับเวทนา, ผัสสะ, สัญญา,

เจตนา, จิต แต่เมื่อฝ่ายเห็นผิดยอมรับว่า ความแก่ความตายไม่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ จึงชื่อว่ายอมรับว่า มิได้เป็น

วิบาก )

๗๒. เรื่องผลของอริยธรรม
( อริยธัมมวิปากกถา )

ถาม : ผลของอริยธรรมไม่มีใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความเป็นสมณะ ความเป็นพรหม ( พรหมจรรย์ ) มีผลมากมิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าเช่นนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า ผลของอริยธรรมไม่มี

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า ผลของความเป็นสมณะ ก็คือการละกิเลสเท่านั้น มิใช่ธรรมที่เป็น

จิตหรือเจตสิก ฝ่ายค้านจึงซักค้านหลายข้อดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๗๓. เรื่องผลมีธรรมซึ่งเป็นผลเป็นธรรมดา
( วิปาโก วิปากธัมมธัมโมติกถา )

ถาม : ผลมีธรรมซึ่งเป็นผลเป็นธรรมดา ( ผลเป็นปัจจัยให้เกิดผล ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผลของผลนั้น มีธรรมซึ่งเป็นผลเป็นธรรมดา(ผลของผลนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดผลอีก)ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า ผลเป็นปัจจัยให้เกิดผล จึงถูกซักดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๗๔. เรื่องคติ ๖
( ฉคติกถา )

ถาม : คติมี ๖ ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระผู้มีพระภาคตรัสคติไว้ ๕ อย่าง คือ นรก, กำเนิดดิรัจฉาน, เปรตวิสัย, มนุษย์และเทพ

มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า คติมี ๖

( นิกายอันธกะ และ อุตตราปถกะ มีความเห็นว่า คติมี ๖ คือเพิ่มอสุรกายเข้าด้วย แต่เมื่อ

ถูกย้อนถามถึงคติ ๕ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในโลมหังสสูตร ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า มหาสีหนาทสูตร

๑ ก็จำเป็นต้องยอมรับ เพื่อมิให้เป็นการปฏิเสธพระพุทธภาษิต แต่ก็ยังยืน

ยันในเรื่องคติ ๖ เพราะถือว่าพระพุทธภาษิตแห่งอื่นมีตรัสไว้ถึงอสุรกาย ฝ่ายค้านจึงค้านต่อไปว่า อสุรกายสง-

เคราะห์เข้าในพวกเปรตมิใช่หรือ ฝ่ายเห็นผิดยอมรับแต่ก็แย้งต่อไปอีกว่า บริษัทของท้าวเวปจิตติ ที่เรียกว่า

ยักษ์ จะว่าอย่างไร ฝ่ายค้านซักค้านให้ยอมรับอีกว่า บริษัทของท้าวเวปจิตติสงเคราะห์เข้าในเทพ )

๗๕. เรื่องภพที่คั่นในระหว่าง
( อันตราภวกถา )

ถาม : ภพที่คั่นในระหว่างมีอยู่ ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : เป็นกามภพ, หรือเป็นรูปภพ, หรือเป็นอรูปภพ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ และ สมิติยะ เข้าใจผิดว่า มีอันตราภพ คือภพที่คั่นในระหว่าง เพราะตี

ความ คำว่า อันตราปรินิพพายี ที่แปลว่า ปรินิพพานในระหว่าง ความจริงในที่นั้น หมายความว่า อายุยังไม่

เต็มตามกำหนดอายุขัยก็ปรินิพพานก่อน นอกจากนั้นผู้เข้าใจผิดเชื่อว่า ระหว่างเวลาที่รอถือปฏิสนธิ ๗ วัน

หรือเกินกว่า ๗ วันนั้น ชื่อว่ามีอันตราภพ ฝ่ายค้านจึงซักค้านให้ตอบว่า อันตราภพเป็นภพอะไรในภพทั้งสาม

ซึ่งก็ตอบปฏิเสธ )

๗๖. เรื่องกามคุณ
( กามคุณกถา )

ถาม : กามคุณ ๕ เท่านั้น เป็นกามธาตุใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ฉันทะ ( ความพอใจ ) ที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕ นั้น มีอยู่มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า กามคุณ ๕ เท่านั้นเป็นกามธาตุ

(กามคุณ ๕ คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ นิกายปุพพเสลิยะมี

ความเห็นยืนยันว่า กามธาตุนั้น คือกามคุณ ๕ เท่านั้น แต่ตามคติทางพระพุทธศาสนา กามธาตุ ย่อมหมาย

รวมทั้ง วัตถุกาม คือกามคุณ ๕ และ กิเลสกาม คือกิเลสเป็นเหตุใคร่ เช่น ฉันทะ ความพอ

ใจ ราคะ ความกำหนัดยินดี และ กามภพ คือความมีความเป็นที่เนื่องด้วยกาม ฝ่ายค้านจึงเอากิเลส

กามมาถามว่า มิได้เกี่ยวข้องกันดอกหรือ )

๗๗. เรื่องกาม
( กามกถา )

ถาม : อายตนะ ๕ เท่านั้นเป็นกามมิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ฉันทะ ( ความพอใจ ) ที่ประกอบด้วยอายตนะ ๕ นั้น มีอยู่มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า อายตนะ ๕ เท่านั้นเป็นกาม

(อายตนะ ๕ คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ประเด็น

สำคัญที่ถูกโต้แย้งเหมือนข้อ ๗๖ )

๗๘. เรื่องธาตุที่เป็นรูป
( รูปธาตุกถา )

ถาม : ธรรมที่มีรูปเป็นรูปธาตุใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : รูปเป็นภพ เป็นคติ เป็นที่อยู่แห่งสัตว์ เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า รูปธรรมเท่านั้นเป็นรูปธาตุ แต่ความจริง รูปภพก็เป็นรูปธาตุด้วย

ฝ่ายค้านจึงซักว่า รูปนั้น หมายความไปถึงภพด้วยหรือไม่ เป็นการเตือนให้เห็นว่า คำว่า รูป มีความหมายไม่

คลุมไปถึงคำว่า รูปภพ เพราะฉะนั้น ฝ่ายเห็นผิดจึงยอมรับว่า รูปมิใช่ภพ อันเป็นการยอมรับว่า คำจำกัดความ

ของตนยังไม่รัดกุมพอ )

๗๙. เรื่องธาตุที่เป็นอรูป
( อรูปธาตุกถา )

ถาม : ธรรมที่ไม่มีรูปเป็นอรูปธาตุใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่

ถาม : เวทนาเป็นภพ เป็นคติ เป็นที่อยู่แห่งสัตว์ เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

(ข้อนี้ก็เช่นเดียวกับข้อ ๗๘ อรูปธาตุ มิได้หมายเพียงธรรมที่ไม่มีรูป แต่หมายถึงอรูปด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อ

นิกายอันธกะ เห็นผิด จึงถูกซักว่า เวทนาซึ่งเป็นอรูปมีความหมายคลุมไปถึงอรูปภพหรือไม่ ซึ่ง

ฝ่ายเห็นผิดจำต้องปฏิเสธ )

๘๐. เรื่องอายตนะของรูปธาตุ
( รูปธาตุยา อายตนกถา )

ถาม : อัตตภาพของรูปธาตุที่มีอายตนะ ๖ มีอยู่ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ในรูปธาตุนั้น มีอายตนะคือจมูกใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ในรูปธาตุนั้น มีอายตนะคือกลิ่นหรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ และ สมิติยะ มีความเห็นว่า พวกพรหมมีอัตตภาพ มีอายตนะครบ ๖ ฝ่าย

ค้านจึงซักค้านดังตัวอย่างข้างต้น )

'๑' . ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ ) ๑๒ . มหาสีหนาทสูตร


๘๑. เรื่องรูปในอรูป
( อรูเป รูปกถา )

ถาม : ในอรูปมีรูปใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ในอรูปมีรูปภพ เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

ถาม : ในอรูปมีรูปภพ เป็นต้น มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าเป็นอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า ในอรูปมีรูป

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักค้านดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๘๒. เรื่องรูปเป็นการกระทำ
( รูปัง กัมมันติกถา )

ถาม : การกระทำทางกายที่เกิดขึ้นจากกุศลจิต จัดเป็นรูปอันเป็นกุศลใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : การกระทำทางกายนั้น มีอารมณ์ มีการระลึก มีการคำนึง เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น

ถาม : การงานนั้น ไม่มีอารมณ์ ไม่มีการระลึก ไม่มีการคำนึง มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า การกระทำทางกายที่เกิดขึ้นจากกุศลจิต จัดเป็นรูปอัน

เป็นกุศล

( นิกายมหิสาสกะและ สมิติยะ มีความเห็นว่า รูป กล่าวคือการไหวทางกายและวาจา (กาย

วิญญัติและวจีวิญญัติ ) ชื่อว่ากายกรรมและวจีกรรม ; กายกรรมและวจีกรรมนั้น ที่มีกุศลเป็นสมุฏฐาน ย่อม

เป็นกุศล ที่มีกุศลเป็นสมุฏฐาน ย่อมเป็นอกุศล ฝ่ายค้านจึงซักว่า มีอารมณ์หรือไม่ เมื่อไม่มีอารมณ์ ก็ไม่ควร

กล่าวอย่างนั้น )

๘๓. เรื่องชีวิตินทรีย์
( ชีวิตินทริยกถา )

ถาม : ชีวิตินทรีย์คือรูป ไม่มีใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อายุ ความตั้งอยู่ ความเป็นไป เป็นต้น ของธรรมที่มีรูป ไม่มีใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

ถาม : อายุ เป็นต้น ของธรรมที่มีรูปมีอยู่ ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า ชีวิตินทรีย์คือรูปไม่มี

( นิกายปุพพเสลิยะ และ สมิติยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะเข้าใจว่า ชื่อว่าชีวิตินทรีย์เป็น

ของไม่ประกอบกับจิต เป็นธรรมไม่มีรูป เพราะฉะนั้น ชีวิตินทรีย์ที่เป็นรูปจึงไม่มี ฝ่ายค้านจึงค้านถึงอายุ

ความเป็นไป เครื่องสืบต่อ เป็นต้น )

๘๔. เรื่องกรรมเป็นเหตุ
( กัมมเหตุกถา )

ถาม : พระอรหันต์ย่อมเสื่อมจากความเป็นพระอรหันต์เพราะกรรมเป็นเหตุใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระโสดาบันก็เสื่อมจากโสดาปัตติผลเพราะกรรมเป็นเหตุใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ และ สมิติยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักถึงผลอื่น ๆ ซึ่งต่ำกว่าลงมา

แต่ก็ตอบปฏิเสธ )

๘๕. เรื่องอานิสงส์

ถาม : ผู้เห็นอานิสงส์ ( คือเห็นพระนิพพานโดยความเป็นอานิสงส์ ) ย่อมละสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่อง

ผูกมัด ) ได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้พิจารณาสังขารโดยความเป็นของไม่เที่ยง ก็ละสัญโญชน์ได้มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า ผู้เห็นอานิสงส์ ( เท่านั้น ) ละสัญโญชน์ได้

( นิกายอันธกะ มีความเห็นเพียงแง่เดียวในเรื่องละสัญโญชน์. ตามหลักวิชา ผู้ละสัญโญชน์ได้ มี ๒

ประเภท คือ ๑. เห็นสังขาร คือสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งโดยความเป็นโทษ ๒. เห็นพระนิพพานโดยความเป็น

อานิสงส์ เมื่อเห็นเพียงแง่ใดแง่หนึ่งว่าเป็นหลักการสำคัญในเรื่องนี้ จึงถูกซักค้านให้เห็นความสำคัญของหลัก

การอีกอันหนึ่งที่ยังขาดอยู่ด้วย )

๘๖. เรื่องสัญโญชน์มีอมตะเป็นอารมณ์
(อมตารัมมณกถา )

ถาม : สัญโญชน์คือกิเลสเครื่องผูกมัด มีอมตะคือพระนิพพานเป็นอารมณ์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อมตะเป็นที่ตั้งแห่งเครื่องผูกมัด ฯ ล ฯ เป็นเครื่องเศร้าหมองหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

ถาม : ถ้าอมตะไม่เป็นที่ตั้งแห่งเครื่องผูกมัด ฯ ล ฯ ไม่เป็นเครื่องเศร้าหมอง ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า

สัญโญชน์ มีอมตะเป็นอารมณ์

( นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะเห็นว่า ราคะ โทสะ โมหะ อาจเกิดขึ้นได้เพราะปรารภ

พระนิพพาน จึงถูกซักว่า พระนิพพานเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสหรือ ? ตามข้อเท็จจริงพระนิพพานตามความนึกคิด

มิใช่ข้อที่จะพึงอ้างเอาว่าเป็นอารมณ์ของกิเลสได้ )

๘๗. เรื่องรูปมีอารมณ์
(รูปัง สารัมมณันติกถา )

ถาม : รูปมีอารมณ์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : รูปมีการคำนึง เป็นต้น ได้หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักว่า รูปคิดนึกได้หรือ จึงกล่าวว่า รูปมีอารมณ์ )

๘๘. เรื่องอนุสัยไม่มีอารมณ์
( อนุสยา อนารัมมณาติกถา )

ถาม : อนุสัย ( กิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน คือกิเลสที่แฝงตัว ) ไม่มีอารมณ์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อนุสัยเป็นรูป, เป็นนิพพาน, เป็นอายตนะคือตา จนถึงเป็นอายตนะคือสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วย

กายหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ และ อุตตราปถกะ มีความเห็นผิดว่า กิเลสประเภทแฝงตัว เป็นจิตตวิปปยุต

คือไม่ประกอบกับจิต เป็นอเหตุกะ และเป็นอัพยากฤต ฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่มีอารมณ์ ในการซักให้รู้สึกเห็นผิด

ได้มีการซักให้เห็นว่า อนุสัยเนื่องด้วยสังขาร คือความคิดหรือเจตนา๑

เหตุไฉนจึงจะว่าไม่มีอารมณ์ ในเมื่อเป็นกิเลสประเภทกามราคะ ฝ่ายเห็นผิดยอมรับว่า มีอารมณ์ )

๘๙. เรื่องญาณไม่มีอารมณ์
( ญาณัง อนารัมมณันติกถา )

ถาม : ญาณ ( ความรู้ ) ไม่มีอารมณ์ใช่หรือไหม ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ญาณเป็นรูป เป็นนิพพาน เป็นอายตนะคือตา เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า ญาณคือความรู้ไม่มีอารมณ์ จึงถูกซักตามหลักวิชาที่จัดประเภท

ธรรมะไม่มีอารมณ์ว่า ญาณเป็นรูป, เป็นนิพพาน เป็นต้นหรือ )

๙๐. เรื่องจิตที่มีอดีตเป็นอารมณ์
( อดีตารัมมณกถา )

ถาม : จิตที่มีอดีตเป็นอารมณ์ ชื่อว่าไม่มีอารมณ์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อดีตก็เป็นอารมณ์มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอดีตเป็นอารมณ์ได้ ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า จิตที่มีอดีตเป็นอารมณ์ ชื่อว่าไม่มีอารมณ์

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักค้านให้จำนน )

'๑' . คำว่า สังขาร หมายถึงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งทุกชนิด คือโดยทั่วไป สัตว์ บุคคล ต้นไม้ ภูเขา จัดเป็น สังขารทั้งสิ้น แต่ในที่นี้ สังขารในขันธ์ ๕ หมายเพียงเจตนาต่าง ๆ ที่เป็นบุญ บาป เป็นต้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 17:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


๙๑. เรื่องจิตมีอนาคตเป็นอารมณ์
( อนาคาตารัมมณกถา )

ข้อนี้ก็เหมือนข้อที่ ๙๐ ต่างแต่ใช้คำว่า อนาคต แทนอดีตเท่านั้น

๙๒. เรื่องจิตมีความตรึกติดตาม
( วิตักกานุปติตกถา )

ถาม : จิตทุกอย่างถูกความตรึกติดตามใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : วิจาร, ปีติ, สุข, ทุกข์, โสมนัส, โทมนัส เป็นต้น ถูกความตรึกติดตามด้วยหรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักถึงธรรมประเภทเดียวกับวิตกอื่น ๆ ด้วย )

๙๓. เรื่องการแผ่ออกแห่งความตรึกเป็นเสียง
( วิตักกวิปผารกถา )

ถาม : การแผ่ออกแห่งความตรึกของผู้ตรึก ผู้ตรองด้วยประการทั้งปวง จัดว่าเป็นเสียงใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : การแผ่ออกแห่งสัมผัสของผู้ถูกต้องด้วยประการทั้งปวง จัดเป็นเสียง การแผ่ออกแห่งเวทนา,

สัญญา, เจตนา เป็นต้น ของผู้รู้สึกอารมณ์, ผู้รู้ตัว, ผู้เจตนา เป็นต้น ด้วยประการทั้งปวง จัดเป็นเสียงด้วย

หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะถือหลักว่า วิตก ความตรึก วิจาร ความตรอง เป็น

วจีสังขาร คือเครื่องปรุงวาจา ฉะนั้น เสียงจึงเป็นการแผ่ออกมาแห่งความตรึก ฝ่ายค้านจึงหาคำถามต่าง ๆ มา

ซักค้านมากมายดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๙๔. เรื่องวาจาไม่เป็นไปตามจิต
( น ยถาจิตตัสส วาจาติกถา )

ถาม : วาจาไม่เป็นไปตามจิตใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : วาจาเป็นของผู้ไม่มีผัสสะ, ไม่มีเวทนา, ไม่มีสัญญา, ไม่มีเจตนา, ไม่มีความตรึกใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นว่า คนบางคนคิดจะพูดอย่างหนึ่ง แต่พูดไปอย่างอื่น จึงแสดงว่า วาจา

มิได้เป็นไปตามจิต หรือตามที่คิด ฝ่ายค้านจึงค้านในหลักใหญ่ว่า ถ้าอย่างนั้น วาจาก็เป็นของผู้ที่ไม่รู้สึกตัว

ใช่หรือไม่ )

๙๕. เรื่องการกระทำทางกายไม่เป็นไปตามจิต
( น ยถาจิตตัสส กายกัมมันติกถา )

( ข้อนี้ก็เหมือนข้อ ๙๔ เปลี่ยนเพียงการกระทำทางกาย แทนวาจา )

๙๖. เรื่องอดีต อนาคต ปัจจุบัน
(อดีตานาคตปัจจุปปันนกถา )

ถาม : บุคคลประกอบด้วยอดีต อนาคตใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อดีตก็ดับไปแล้ว อนาคตก็ยังไม่เกิดขึ้นมิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า บุคคลประกอบด้วยอดีต อนาคต

( นิกายอันธกะ มีความเห็นว่า บุคคลผู้ได้สมาบัติ ๗ ย่อมมีสมาบัติ ๘ อันมิได้เป็นไปในขณะเดียว

กันเช่น เข้าสมาบัติที่ ๒ สมาบัตินั้นย่อมเป็นปัจจุบัน สมาบัติที่ ๓ ย่อมเป็นอดีต และที่เหลือย่อมเป็นอนาคต

กล่าวตามหลักวิชา อาการเช่นนี้ ควรใช้คำว่า ได้สมาบัติ ๘ ไม่ใช่ ประกอบด้วยสมาบัติ ๘

จึงเห็นได้ว่าเป็น เรื่องของสำนวนโวหารมากกว่าอย่างอื่น )

๙๗. เรื่องความดับ
(นิโรธกถา )

ถาม : เมื่อขันธ์ ๕ อันแสวงหาความเกิด ยังไม่ดับ ขันธ์ ๕ ที่เป็นกริยาย่อมเกิดขึ้นใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ขันธ์ ๑๐ ชื่อว่ารวมกัน คือขันธ์ ๑๐ มาพับกันหรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า ในขณะที่ขันธ์ ๕ ที่แสวงหา " อุปบัติ " หรือความเกิด ยังไม่ดับ

ขันธ์ ๕ ที่เป็นกริยาก็เกิดขึ้น ฝ่ายค้านจึงซักว่า กลายเป็นขันธ์ ๑๐ มาพบกัยใช่หรือไม่ )

๙๘. เรื่องรูปเป็นมรรค
( รูปัง มัคโคติกถา )

ถาม : รูปของผู้ประกอบพร้อมด้วยมรรค จัดเป็นมรรคใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : รูปมีอารมณ์ มีการคิดคำนึง เป็นต้นได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหิสาสกะ, สมิติยะ, และ มหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดว่า สัมมาวาจา เจรจาชอบ,

สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ, และสัมมาอาชิวะ เลี้ยงชีพชอบ เป็นรูป จึงกล่าวว่า รูปเป็นมรรค ฝ่ายค้านจึง

ซักค้านดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๙๙. เรื่องผู้ประกอบพร้อมด้วยวิญญาณ ๕ มีการเจริญมรรค
( ปัญจวิญญาณสมัคคิสส มัคคภาวนากถา )

ถาม : ผู้ประกอบด้วยวิญญาณ ๕ มีการเจริญมรรคใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : วิญญาณ ๕ มีวัตถุอันเกิดขึ้นแล้ว มีอารมณ์อันเกิดขึ้นแล้วมิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า ผู้ประกอบด้วยวิญญาณ ๕ มีการเจริญมรรค

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดว่า ผู้ประกอบด้วยวิญญาณ ๕ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น จนถึง

กายวิญญาณ ชื่อว่ามีการเจริญมรรค ฝ่ายค้านจึงซักค้านดั่งตัวอย่างข้างต้น กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็คือมรรค

ประกอบด้วยมโนวิญญาณ ฉะนั้น จึงไม่ควรกล่าวว่า เกี่ยวกับวิญญาณ ๕ )

๑๐๐. เรื่องวิญญาณ ๕ เป็นกุศลก็มี
( ปัญจวิญญาณา กุสลาปีติกถา )

ถาม : วิญญาณ ๕ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : วิญญาณ ๕ มีวัตถุเกิดขึ้นแล้ว มีอารมณ์เกิดขึ้นแล้วมิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า วิญญาณ ๕ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ตามหลักวิชาไม่ควรจัดว่าเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะเป็น

เพียงความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายเท่านั้น )


๑๐๑. เรื่องวิญญาณ ๕ คิดคำนึงได้
( ปัญจวิญาณา สาโภคาติกถา )

ถาม : วิญญาณ ๕ มีการคิดคำนึงได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : วิญญาณ ๕ มีวัตถุอันเกิดขึ้นแล้ว มีอารมณ์อันเกิดขึ้นแล้วมิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า วิญญาณ ๕ มีการคิดคำนึงได้

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะจับประเด็นผิดในพระพุทธสุภาษิตที่ว่า " เห็นรูปด้วย

ตาแล้วถือเอาโดยนิมิต- -ไม่ถือเอาโดยนิมิต " เหตุผลที่นำมาซักคงเป็นเช่นเดียวกับข้อก่อน ๆ )

๑๐๒. เรื่องบุคคลประกอบด้วยศีล ๒ อย่าง
( ทวีหิ สีเลหิ สมันนาคโตติกถา )

ถาม : ผู้ประกอบพร้อมด้วยมรรค ชื่อว่าประกอบด้วยศีล ๒ อย่างใช่ไหม ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้ประกอบพร้อมด้วยมรรค ชื่อว่าประกอบด้วยผัสสะ ๒ อย่าง สัญญา ๒ อย่าง เป็นต้น จน

ถึงปัญญา ๒ อย่างใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดว่า ผู้ประกอบพร้อมด้วยมรรค ชื่อว่าประกอบด้วยโลกิยศีลซึ่งมี

อยู่เดิม กับโลกุตตรศีลในขณะแห่งมรรค จึงถูกซักดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๑๐๓. เรื่องศีลไม่เป็นเจตสิก
( สีลัง อเจตสิกันติกถา )

ถาม : ศีลไม่เป็นเจตสิกใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ศีลเป็นรูป เป็นนิพพาน เป็นอายตนะคือตา เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ เห็นว่า ศีลมีการสมาทาน คือการรับศีลเป็นเหตุ ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเป็น

เจตสิก หรือธรรมที่เป็นไปทางจิต ซึ่งได้ถูกซักให้บอกมาว่า ถ้าศีลมิใช่เจตสิกแล้ว เป็นรูป เป็นนิพพาน หรือ

อายตนะต่าง ๆ หรือเปล่า )

๑๐๔. เรื่องศีลไม่เป็นไปตามจิต
( สีลัง น จิตตานุปริวัตตีติกถา )

ถาม : ศีลไม่เป็นไปตามจิตใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ศีลเป็นรูป เป็นนิพพาน เป็นอายตนะคือตา เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เหตุผลนี้ซักอย่างเดียวกับข้อ ๑๐๓ )

๑๐๕. เรื่องศีลมีการสมาทานเป็นเหตุ
( สมาทานเหตุกกถา )

ถาม : ศีลที่มีการสมาทาน ( การรับศีล ) เป็นเหตุ ย่อมเจริญใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผัสสะ, เวทนา, สัญญา, เจตนา, จิต จนถึงปัญญาที่มีการสมาทานเป็นเหตุ ย่อมเจริญ

ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นว่า ศีลไม่เกี่ยวกับจิตใจ เกี่ยวเพียงกิริยาที่สมาทานก็เจริญได้ จึงถูก

ซักถึงเรื่องที่เกี่ยวกับจิตใจ )

๑๐๖. เรื่องวิญญัติเป็นศีล
( วิญญัตติ สีลันติกถา )

ถาม : วิญัติ ( การทำให้ผู้อื่นรู้ความหมายด้วยกายหรือวาจา ) จัดเป็นศีลใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : วิญญัติเป็นเจตนา เว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ และ สมิติยะ เห็นผิดว่า กิริยาที่ไหวกาย ไหววาจา ทำให้ผู้อื่นรู้ความ

ประสงค์ ที่เรียกว่าวิญญัติ จัดเป็นศีล ข้อสำคัญที่จะทำให้ตีความผิด คือเข้าใจว่า กายวิญญัติเป็นกายกรรม คือ

การกระทำทางกาย, วจีวิญญัติเป็นวจีกรรม คือการกระทำทางวาจา, เมื่อผสมกับความคิดที่ว่า ศีล คือการไม่

ทำชั่วทางกาย วาจา จึงเข้าใจว่า วิญญัติคือศีล แต่ตามหลักวิชา วิญญัติเป็นรูปอาศัย คืออุปาทายรูป จะเป็น

ศีลไม่ได้ เพราะศีลเป็นเรื่องของเจตนาอันเป็นไปทางจิต ฝ่ายค้านจึงซักดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๑๐๗. เรื่องอวิญญัติเป็นทุศีล
(อวิญญัตติ ทุสสยันติกถา )

ถาม : อวิญญัติ ( การไม่ทำให้ผู้อื่นรู้ความหมายด้วยกายหรือวาจา ) จัดเป็นการทุศีลใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อวิญญัติเป็นการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ขนานกับข้อ ๑๐๖ คือเมื่อถือว่า วิญญัติเป็นศีล อวิญญัติซึ่ง

ตรงกันข้าม ก็ควรจะเป็นทุศีล )

๑๐๘. เรื่องแม้ธรรม ๓ อย่างก็เป็นอนุสัย
( ติสโสปิ อนุสยกถา )

ถาม : อนุสัยเป็นอัพยากฤต ( เป็นกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ) เป็นอเหตุกะ ( ไม่มีเหตุ ) เป็นจิตตวิปปยุต

( ไม่เกิด ดับพร้อม ไม่เกี่ยวข้องกับจิต ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อนุสัยเป็นอัพยากฤตฝ่ายวิบาก, เป็นอัพยากฤตฝ่ายกิริยา, เป็นรูป, เป็นนิพพาน จนถึงเป็น

อายตนะคือโผฏฐัพพะใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( ความจริงคำถามนั้นแยกถามทีละข้อ แต่ในที่นี้ได้นำมารวมไว้เป็นคำถามเดียว เพราะข้อซักในประเด็นทั้ง

สามเป็นอย่างเดียวกัน นิกายมหาสังฆิกะ และ สมิติยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๐๙. เรื่องญาณความรู้
( ญาณกถา )

ถาม : เมื่ออัญญาณ ( ความไม่รู้ ) หมดไป จิตที่เป็นญาณวิปปยุต ( ปราศจากญาณ ) กำลังเป็นๆไป

อยู่ ไม่ควรกล่าวว่า บุคคลมีญาณใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : เมื่อราคะหมดไป ก็ไม่ควรกล่าวว่า บุคคลปราศจากราคะใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะตีความคำว่า จิตที่เป็นญาณวิปปยุตผิดไป คือใน

ขณะเช่นนั้น จิตที่เป็นญาณวิปปยุต ในฐานะเป็นจักขุวิญญาณ เป็นต้น หาได้หมายความว่าถูกความโง่

ครอบงำไม่ )

๑๑๐. เรื่องญาณเป็นจิตตวิปปยุต
( ญาณัง จิตตวิปปยุตตันติกถา )

ถาม : ญาณ ( ความรู้ ) ไม่ประกอบกับจิต ( ไม่เกิดดับพร้อมกับจิต ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : จิตเป็นรูป, เป็นนิพพาน, เป็นอายตนะคือตา จนเป็นอายตนะคือโผฏฐัพพะใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกาปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักว่า ถ้าญาณเป็นจิตตวิปปยุต ญาณก็คงเป็นอย่างใด

อย่างหนึ่ง คือเป็นรูปหรือนิพพาน เป็นต้น ใช่หรือไม่ )


๑๑๑. เรื่องการเปล่งวาจาว่า นี้ทุกข์
( อิทัง ทุกขันติกถา )

ถาม : เมื่อบุคคลกล่าวว่า นี้คือทุกข์ ดังนี้ ญาณ ( ความรู้ ) ว่า นี้คือทุกข์ ย่อมเป็นไปใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : เมื่อบุคคลกล่าวว่า นี้คือเหตุให้ทุกข์เกิด, นี้คือความดับทุกข์, นี้คือหนทาง ( มรรค ) ดังนี้

ญาณ ( ความรู้ว่า ) นี้คือเหตุให้ทุกข์เกิด, นี้คือความดับทุกข์, นี้คือหนทาง ( มรรค ) ย่อมเป็นไปใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกาอันธกะ มีความเห็นผิดว่า เฉพาะข้อที่กล่าววาจาว่า นี้คือทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดญาณความรู้จัก

ตัวทุกข์ จึงถูกซักถึงข้ออื่น ๆ ด้วย ซึ่งก็ตอบปฏิเสธ )

๑๑๒. เรื่องกำลังฤทธิ์
( อิทธิพลกถา )

ถาม : บุคคลผู้ประกอบด้วยกำลังฤทธิ์ พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัปป์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อายุนั้น คตินั้น การได้อัตตภาพนั้น แต่ละอย่างเป็นของสำเร็จด้วยฤทธิ์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ ตีความหมายของเรื่องอิทธิบาทภาวนา (การเจริญคุณธรรมที่ให้บรรลุความสำเร็จ )

ผิดว่า กำลังฤทธิ์ทำให้บุคคลมีอายุยืน จึงถูกซักว่า อายุนั้นสำเร็จด้วยฤทธิ์หรือ ? )

๑๑๓. เรื่องสมาธิ
( สมาธิกถา )

ถาม : ความสืบต่อแห่งจิตเป็นสมาธิใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความสืบต่อแห่งจิตอันเป็นอดีต เป็นสมาธิใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายสัพพัตถิกวาทะ และ อุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักค้านหลายข้อ รวม

ทั้งข้อที่ว่า ถ้าเป็นความสืบต่อแห่งจิตอันเป็นอกุศลเล่า จะเป็นสมาธิด้วยหรือเปล่า )

๑๑๔. เรื่องความตั้งอยู่แห่งธรรม
( ธัมมัฏฐิตตากถา )

ถาม : ธัมมัฏฐิตตา ( ความตั้งอยู่แห่งธรรม ) เป็นของสำเร็จรูปแล้วใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความตั้งอยู่ ( อย่างอื่น ) ก็เป็นของสำเร็จรูปแล้ว เพราะธัมมัฏฐิตตานั้นใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๑๑๕. เรื่องความเป็นของไม่เที่ยง
( อนิจจตากถา )

ถาม : อนิจจตา ( ความเป็นของไม่เที่ยง ) เป็นของสำเร็จรูปแล้วใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความเป็นของไม่เที่ยง ( อย่าอื่น ) ก็สำเร็จรูปแล้ว เพราะความไม่เที่ยงนั้นใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดต่อเนื่องมาจากข้อ ๑๑๔ )

๑๑๖. เรื่องความสำรวมเป็นการกระทำ
( สังวโร กัมมันติกถา )

ถาม : ความสำรวมเป็นการกระทำใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความสำรวมเป็นการกระทำทางตาใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ คำซักชัดเจนอยู่แล้ว )

๑๑๗. เรื่องการกระทำ
( กัมมกถา )

ถาม : กรรมทุกอย่าง ต้องมีผลใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : เจตนาทุกอย่าง ต้องมีผลใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( กรรมตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา หมายถึงเจตนา เมื่อ นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดว่า กรรม

ทุกอย่าง ต้องมีผล จึงเท่ากับเห็นว่า เจตนาที่เป็นอัพยากฤตฝ่ายวิบาก คือที่ไม่ดีไม่ชั่ว ก็ต้องมีผลด้วย )

๑๑๘. เรื่องเสียงเป็นผล
( สัทโท วิปาโกติกถา )

ถาม : เสียงเป็นผล ( วิบาก ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : เสียงเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา, ทุกขเวทนา, หรืออทุกขมสุขเวทนา ; สัมปยุตด้วยสุขเวทนา

เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักให้รู้จักคำว่า วิบาก ชัดเจนขึ้น )

๑๑๙. เรื่องอายตนะ ๖
( สฬายตนกถา )

ถาม : อายตนะ ๖ มีอายตนะคือตา เป็นต้น เป็นผล ( วิบาก ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อายตนะ ๖ เป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นี้เป็นความเห็นผิดสืบเนื่องมาจากข้อ ๑๑๘ คำซักเป็นไปในทำนองเดียวกัน )

๑๒๐. เรื่องบุคคลผู้เกิด ๗ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง
( สัตตักขัตตุปรมกถา )

ถาม : บุคคล ( พระโสดาบัน ) ผู้เกิดอีก ๗ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง ชื่อว่าเป็นผู้เที่ยงแท้ เพราะความเป็นผู้

มีการเกิดอีก ๗ ครั้งเป็นอย่างยิ่งใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้นั้นฆ่ามารดา, ฆ่าบิดา, ฆ่าพระอรหันต์, ทำพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อด้วยจิตคิด

ประทุษร้าย, ทำสงฆ์ให้แตกกันใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( คำว่า เที่ยงแท้ มี ๒ นัย คือเที่ยงแท้ในทางที่ถูก กับเที่ยงแท้ในทางที่ผิด นิกายอุตตราปถกะ

มีความเห็นเพียงแง่เดียวว่า เที่ยงแท้ เพราะจะเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ ซึ่งกินความหมายคลุมไปไม่ถึงผู้เที่ยง

แท้ในทางที่ผิด จึงมีการซักให้นึกถึงแง่ที่ผิดด้วย )


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 17:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๒๑. เรื่องผู้จะไปเกิดอีก ๒-๓ ครั้ง กับผู้เกิดอีกเพียงครั้งเดียว
( โกลังโกลเอกพีชีกถา )

ถาม : ไม่ควรกล่าวว่า บุคคลผู้จะเกิดอีก ๒-๓ ครั้ง กับผู้จะเกิดอีกเพียงครั้งเดียว เป็นผู้เที่ยงแท้

ด้วยความเป็นผู้เช่นนั้นใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้นั้นเป็นผู้จะเกิดอีก ๒-๓ ครั้ง กับผู้จะเกิดอีกเพียงครั้งเดียวมิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวดั่งข้างต้น

( เป็นเรื่องของ นิกายอุตตราปถกะ เช่นเดียวกัน )

๑๒๒. เรื่องการปลงชีวิต
( ชีวิตา โวโรปนกถา )

ถาม : บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ( ทิฏฐิสัมปันนะโดยตรง หมายถึงพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน )

พึงปลงชีวิตสัตว์ได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ทำอนันตริยกรรมได้ใช่หรือไม่ ( คือฆ่ามารดา บิดา เป็นต้น )

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักให้เกิดความรู้สึกว่า ความเห็นของตนยังบกพร่อง

อย่างไรบ้าง )

๑๒๓. เรื่องทุคคติ
( ทุคคติกถา )

ถาม : บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ( พระโสดาบัน ) ละคติที่ชั่วได้แล้วใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ พึงกำหนัดในรูปที่เป็นไปในอบายใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิละคติที่ชั่วได้แล้ว

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ความจริงก็น่าจะไม่เรียกว่าเห็นผิด แต่คำว่า ทุคคติ

มิใช่หมายเพียงคติที่ชั่วของผู้ตกต่ำลงในทุคคติเท่านั้น แต่หมายคลุมถึงตัณหาซึ่งมีรูป เป็นต้น เป็นอารมณ์ด้วย

เพราะพระโสดาบันยังละราคะ โทสะ โมหะ ไม่ได้เด็จขาด อาจพอใจในรูปชั้นต่ำได้ )

๑๒๔. เรื่องบุคคลที่เกิดในภพที่ ๗
( สัตตมภวิกกถา )

( เรื่องนี้ก็เหมือนข้อที่ ๑๒๓ เป็นแต่กล่าวถึงบุคคลผู้เกิดในภพที่ ๗ แทนผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ข้อโต้แย้งเรื่อง

ละทุคคติได้ก็อย่างเดียวกัน บุคคลที่เกิดในภพที่ ๗ หมายถึงพระโสดาบันบุคคล ซึ่งจะไม่เกิดอีกเป็นครั้งที่ ๘ )

๑๒๕. เรื่องผู้ตั้งอยู่ตลอดกัปป์
( กัปปัฏฐกถา )

ถาม : " ผู้ตั้งอยู่ตลอดกัปป์ ( เป็นชื่อของผู้ทำชั่วอย่างรุนแรง เช่น ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ) " ย่อมตั้ง

อยู่ตลอดกัปป์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : กัปป์ก็ยังดำรงค์อยู่ พระพุทธเจ้าก็เกิดขึ้นในโลกใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายราชคิริกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ความจริงเป็นเรื่องของโวหาร คือกัปป์จริง ๆ นั้นยาวนานมาก

กัปป์ในคำว่า ตั้งอยู่ตลอดกัปป์ นั้น เป็นชื่อของอายุขัย ของผู้ทำชั่วอย่างรุนแรง จะตกนรกตลอดกาลนาน

แต่ก็นานไม่เต็มกัปป์จริง ๆ เพียงประมาณ ๑ ใน ๘๐ ก็หมดอายุแล้ว เพราะฉะนั้น คำว่า กัปป์ ถ้าใช้กับ

บุคคลก็หมายความว่า อายุของตน เช่น ๑๐๐ ปี แต่กัปป์ของกาลเวลายาวนานมาก )

๑๒๖. เรื่องการได้กุศลจิต
( กุสลจิตตปฏิลาภกถา )

ถาม : " ผู้ตั้งอยู่ตลอดกัปป์ " ไม่พึงได้กุศลจิตใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : " ผู้ตั้งอยู่ตลอดกัปป์ " พึงให้ทานได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่พึงกล่าวว่า " ผู้ตั้งอยู่ตลอดกัปป์ " ไม่พึงได้กุศลจิต

(ตามหลักพระพุทธศาสนา ผู้เช่นนั้นยังอาจจะมีกุศลจิตชั้นต่ำที่เรียกว่า กามาวจร แต่ไม่ได้กุศลจิต

ชั้นสูงที่เป็น โลกุตตระ เมื่อ นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นคลุมไปหมด จึงมีการซักใน

ข้อนี้ )

๑๒๗. เรื่องผู้ประกอบด้วยกรรมอันให้ผลไม่มีระหว่างคั่น
( อนันตราปยุตตกถา )

ถาม : บุคคลผู้ประกอบด้วยกรรมอันให้ผลไม่มีระหว่างคั่น ( ผู้ทำอนันตริยกรรม มีการฆ่ามารดา,

บิดา เป็นต้น ) พึงก้าวลงสู่ทำนองที่ถูกต้อง ( บรรลุธรรมะได้ ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้นั้นพึงก้าวลงสู่ทำนองธรรมทั้งสองอย่าง คือทั้งที่ถูกต้องทั้งที่ผิดใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

(อรรถกถาอธิบายเป็นพิเศษสำหรับข้อนี้ว่า กล่าวตามสกสมัย คือคติแห่งพระพุทธศาสนา บุคคลถูกบังคับให้

ประกอบอนันตริยกรรม โดยเจาะจงทำไปโดยมีเจตนาสมบูรณ์ จึงเป็นผู้ไม่ควรบรรลุธรรมที่ถูกต้องได้ แต่

นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดว่า เจตนาจะสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ก็ไม่ควรบรรลุธรรมที่ถูกต้อง

ทั้งสิ้น อรรถกถาให้ข้อสังเกตุว่า เฉพาะข้อนี้ผิดกว่าที่เคยถามตอบมาแล้ว คือในที่นี้ฝ่ายถามเป็นฝ่ายเห็นผิด

ฝ่ายตอบเป็นฝ่ายเห็นถูก )

๑๒๘. เรื่องทำนองธรรมของผู้แน่นอน
( นิยตัสส นิยามกถา )

ถาม : บุคคลผู้แน่นอน ( ผู้ทำอนันตริยกรรม ชื่อว่าเป็นผู้แน่นอนฝ่ายชั่ว บุคคลผู้บรรลุอริยมรรค

ชื่อว่า เป็นผู้แน่นอนฝ่ายดี ) ย่อมก้าวลงสู่ทำนองธรรม ( บรรลุธรรมะได้ ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่ ( ฝ่ายตอบเข้าใจเพียงแง่เดียวว่า ฝ่ายดีบรรลุธรรมได้ มิได้เฉลียวใจว่า คำว่า ผู้แน่นอน

กินความถึงฝ่ายชั่วด้วย จึงตอบอย่างนั้น )

ถาม : ผู้แน่นอนในทางที่ผิด ย่อมก้าวลงสู่ทำนองธรรมที่ถูก ; ผู้แน่นอนในทางที่ถูก ย่อมก้าวลงสู่

ทำนองธรรมในทางที่ผิดใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ และ อปรเสลิยะ มีความเห็นผิดในถ้อยคำว่า คำว่า นิยโต ผู้แน่

นอนหมายเฉพาะในทางดี จึงถูกซักให้เข้าใจว่า หมายถึงในทางชั่วด้วย ฉะนั้น จึงไม่ควรกล่าวคลุม ๆ ว่า ผู้

แน่นอนบรรลุทำนองธรรมได้ )

๑๒๙. เรื่องผู้มีนิวณ์
( นีวุตกถา )

ถาม : ผู้ถูกนีวรณ์ห่อหุ้ม ย่อมละนีวรณ์ได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้กำหนัดย่อมละความกำหนัดได้ ผู้คิดประทุษร้ายย่อมละโทสะได้ ผู้หลงย่อมละโมหะได้ ผู้

เศร้าหมอง ย่อมละกิเลสได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะมีเหตุผลว่า ถ้าผู้ละกิเลสได้ หมายถึงผู้บริสุทธิ์แล้ว

ก็ไม่จำเป็นต้องละกิเลส เพราะบริสุทธิ์อยู่แล้ว แต่ตามข้อเท็จจริง ผู้บริสุทธิ์ที่จะละนีวรณ์คือกิเลสชั้นกลาง

นั้นหมายความว่า บริสุทธิ์ด้วยอำนาจฌาน อันอาจกลับมีกิเลสได้อีก ไม่ใช่บริสุทธิ์ชนิดไม่กลับกำเริบอีก )

๑๓๐. เรื่องผู้พร้อมหน้ากิเลส
( สัมมุขีภูตกถา )

ถาม : ผู้พร้อมหน้า ( ผู้มีกิเลส ) ย่อมละกิเลสที่ผูกมัดได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้กำหนัดย่อมละความกำหนัดได้ ฯ ล ฯ มิใช่หรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( ข้อนี้ก็เหมือนกับข้อว่าด้วยนีวรณ์ข้างต้น เป็นแต่เปลี่ยนสำนวนว่า ผู้พร้อมหน้ากิเลส คือมีกิเลสอยู่บริบูรณ์ )


๑๓๑. เรื่องผู้เข้าฌานย่อมพอใจ
( สมาปันโน อัสสาเทติกถา )

ถาม : ผู้เข้าฌานย่อมพอใจ มีความใคร่ในฌาน มีฌานเป็นอารมณ์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ฌานนั้นเป็นอารมณ์ของฌานนั้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักตามตัวอย่างข้างต้น )

๑๓๒. เรื่องความกำหนัดในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ
( อสาตราคกถา )

ถาม : ความกำหนัดในสิ่งที่ไม่น่าพอใจมีอยู่ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : สัตว์ทั้งหลายที่ยินดีทุกข์ ปรารถนาทุกข์ กระหยิ่มยินดีแสวงหาทุกข์ ดำรงค์อยู่เพื่อบรรลุ

ความทุกข์มีหรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ ตีความหมายแห่งพระพุทธภาษิตบางข้อผิด จึงเข้าใจว่า มีความกำหนัดในสิ่งที่

ไม่น่าพอใจของผู้กำหนัดนั้นเอง )

๑๓๓. เรื่องความทะยานอยากในธรรมเป็นอัพยากฤต
( ธัมมตัณหา อัพยากตาติกถา )

ถาม : ความทะยานอยากในธรรมเป็นอัพยากฤต คือไม่ดีไม่ชั่วใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความทะยานอยากในธรรมเป็นอัพยากฤตฝ่ายวิบาก หรือฝ่ายกริยา หรือว่าเป็นรูป เป็น

นิพพานหรือเป็นอายตนะคือตา เป็นต้น จนถึงอายตนะคือโผฏฐัพพะ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักถึงสภาพของอัพยากฤต ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ความ

ทะยานอยากในธรรมไม่อยู่ในสภาพของอัพยากฤตเลย )

๑๓๔. เรื่องธัมมตัณหามิใช่เหตุให้เกิดทุกข์
( ธัมมตัณหา น ทุกขสมุทโยติกถา )

ถาม : ความทะยานอยากในธรรมมิใช่เหตุให้ทุกข์เกิดใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความทะยานอยากในรูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ มิใช่เหตุให้ทุกข์เกิด?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

(คำว่า ธรรมะ ใน ธัมมตัณหา หมายถึงอารมณ์ที่รู้ได้ด้วยใจ อันมาเป็นหมวดเดียวกับรูป,

เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ ถือว่าธัมมตัณหามิใช่เหตุให้เกิดทุกข์ ก็จะต้องกล่าวว่า ความทะยานอยากในรูป

เสียง เป็นต้น มิใช่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ด้วย นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๓๕. เรื่องความต่อเนื่องแห่งกุศลและอกุศล
( กุสลากุสลปฏิสันทหนกถา )

ถาม : อกุศลย่อมต่อเนื่องกับกุศลใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความคิดเพื่อให้อกุศลเกิดขึ้น ย่อมเป็นความคิดเพื่อให้กุศลเกิดขึ้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดว่า กุศล กับ อกุศล เกิดต่อเนื่องกัน จึงถูกซัก

ดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๑๓๖. เรื่องความเกิดขึ้นแห่งอายตนะ ๖

ถาม : อายตนะ ๖ ( ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ) ย่อมตั้งอยู่ในครรภ์มารดา ไม่ก่อนไม่หลัง (พร้อม

กับปฏิสนธิจิต ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : สัตว์มีอวัยวะพร้อม ไม่มีอินทรีย์บกพร่อง ก้าวลงสู่ครรภ์มารดาใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ และ อปรเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ อรรถกถาอธิบายว่า ในขณะเกิด

มีอายตนะคือใจ กับกายเท่านั้น อีก ๔ อย่าง เกิดต่อเมื่อล่วง ๗ ราตรีแล้ว )

๑๓๗. เรื่องปัจจัยที่ไม่มีระหว่างคั่น
( อนันตรปัจจยกถา )

ถาม : โสตวิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู ) ย่อมเกิดขึ้นในลำดับติดต่อกันแห่งจักขุวิญญาณ

( ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา ) มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความคิดเพื่อให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ย่อมเป็นอันเดียวกับโสตวิญญาณมิใช่หรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๓๘. เรื่องรูปของพระอริยะ
( อริยรูปกถา )

ถาม : รูปของพระอริยะอาศัยมหาภูตรูป ( ธาตุทั้งสี่ ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : รูปของพระอริยะเป็นกุศลใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : มหาภูตรูป ( ธาตุทั้งสี่ ) เป็นกุศลหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะมีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักให้เข้าใจว่า ถ้ารูปของพระอริยะเป็นกุศล มหาภูตรูป

ก็เป็นกุศลด้วย ความจริงเป็นกลาง ๆ )

๑๓๙. เรื่องอนุสัยเป็นอย่างอื่น
( อัญโญ อนุสโยติกถา )

ถาม : อนุสัย ( กิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน ) คือกามราคะเป็นอย่างหนึ่ง กิเลสเครื่องรึงรัด คือกาม

ราคะเป็นอีกอย่างหนึ่ง (กิเลสอย่างละเอียด กับอย่างกลาง แม้ประเภทเดียวกัน ก็เป็นคนละอย่าง)ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : กามราคะเป็นอย่างหนึ่ง กิเลสเครื่องรึงรัดคือกามราคะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ( กิเลสอย่างหยาบ

กับกิเลสอย่างกลาง แม้ประเภทเดียวกัน ก็เป็นคนละอย่าง ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ คำซักชัดเจนอยู่แล้ว )

๑๔๐. เรื่องกิเลสเครื่องรึงรัดไม่ประกอบกับจิต
( ปริยุฏฐานัง จิตตวิปปยุตตันติกถา )

ถาม : กิเลสเครื่องรึงรัด ( ปริยุฏฐานะ ) ไม่ประกอบกับจิตใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : กิเลสนั้นเป็นรูป, เป็นนิพพาน, เป็นอายตนะคือตา จนถึงอายตนะคือโผฏฐัพพะใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )


๑๔๑. เรื่องสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน
( ปริยาปันนกถา )

ถาม : ความกำหนัดในรูป ( รูปราคะ ) ย่อมแฝงตัวตามธาตุคือรูป ( รูปธาตุ ) จึงจัดว่าเกี่ยวเนื่องด้วย

ธาตุคือรูปใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

( นิกายอันธกะ และ สมิติยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ความจริงความกำหนัดในรูป ย่อมแฝง

ตัวตามทั้งรูปธาตุและอรูปธาตุ )

๑๔๒. เรื่องอัพยากฤต
( อัพยากตกถา )

ถาม : ความเห็น ( ทิฏฐิคตะ ) เป็นอัพยากฤต ( กลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความเห็นเป็นรูป, เป็นนิพพาน เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ และ อุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๔๓. เรื่องโลกุตตระ
( อปริยาปันนกถา )

ถาม : ความเห็นเป็นโลกุตตระใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความเห็นเป็นมรรค หรือผล หรือนิพพาน ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( คำว่า อปริยาปันนะ หมายถึงโลกุตตระ นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๔๔. เรื่องความเป็นปัจจัย
( ปัจจยตากถา )

ถาม : ความเป็นปัจจัยเป็นของกำหนดไว้ ( ตายตัว ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : การพิจารณา ( วีมังสา ) เป็นเหตุด้วย เป็นใหญ่ ( อธิบดี ) ด้วย มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุปัจจัย ย่อมเป็นปัจจัยโดยความ

เป็นอธิปติปัจจัยด้วย

( นิกายมหาสังฆิกะ เห็นผิดว่า ธรรมะที่เป็นปัจจัยข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมไม่เป็นปัจจัยข้ออื่น จึงถูก

ซักให้เห็นว่า ในขณะเดียวกันเป็นได้ ๒ ข้อก็มี )

๑๔๕. เรื่องปัจจัยของกันและกัน
( อัญญมัญญปัจจยกถา )

ถาม : สังขารมีอวิชชาเป็นปัจจัยเท่านั้น ไม่ควรกล่าวว่า อวิชชามีสังขารเป็นปัจจัยใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อวิชชาเกิดพร้อมกับสังขารมิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอวิชชาเกิดพร้อมกับสังขาร ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า สังขารมีอวิชชาเป็นปัจจัยด้วย อวิชชาก็

มีสังขารเป็นปัจจัยด้วย

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงซักให้ยอมรับเรื่องความเป็นปัจจัยของกันและกันระหว่าง

อวิชชากับสังขาร )

๑๔๖. เรื่องกาลยืดยาว
( อัทธากถา )

ถาม : กาลยืดยาวเป็นของสำเร็จรูปใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : กาลยืดยาวเป็นรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( ข้อนี้อรรถกถาไม่ได้บอกว่าเป็นของนิกายไหน แต่ก็สันนิษฐานได้ว่า สืบมาจากข้อ ๑๔๕. ตามหลักวิชา

สิ่งที่นับว่าสำเร็จรูปก็เฉพาะขันธ์ ๕ กาลยืดยาวเป็นแต่สักว่าบัญญัติว่า กาล จึงไม่จัดเข้าในคำว่าสำเร็จรูป

หรือ ปรินิปผันนะ )

๑๔๗. เรื่องขณะ, ประเดี๋ยว, ครู่
( ขณลยมุหุตตกถา )

( ข้อนี้เหมือนข้อ ๑๔๖ คือถือผิดว่า ขณะ เป็นต้น สำเร็จรูป จึงถูกถามว่า เป็นขันธ์ ๕ หรือ )

๑๔๘. เรื่องกิเลสที่ดองสันดาน
( อาสวกถา )

( นิกายเหตุวาทะ เห็นว่า อาสวะ ๔ คือ กาม, ภพ, ทิฏฐิ, อวิชชา มิใช่อาสวะ จึงถูกซักว่าเป็น

มรรค, ผล, นิพพาน เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ )

๑๔๙. เรื่องความแก่และความตาย
( ชรามรณกถา )

ถาม : ความแก่ความตายของธรรมะที่เป็นโลกุตตระ จัดว่าเป็นโลกุตตระใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ความแก่ความตายเป็นมรรค, ผล, นิพพาน เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ คำซักชัดเจนอยู่แล้ว )

๑๕๐. เรื่องสัญญาและเวทนา
( สัญญาเวทยิตกถา )

ถาม : สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ( สมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา ) เป็นโลกุตตระใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : สมาบัติเป็นมรรค, ผล, นิพพาน เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายเหตุวาทะ มีความเห็นผิดข้อนี้ คำซักค้านเอาหลักโลกุตตรธรรมมาซัก แต่เนื่องจากมีหลักฐาน

บางแห่งกล่าวว่า สมาบัตินี้เป็นนิพพาน จึงน่าสังเกตในการตีความธรรมะข้อนี้อยู่เหมือนกัน ได้เคยบันทึกไว้

ในข้อที่ ๕๘ เรื่องนิโรธสมาบัติครั้งหนึ่งแล้ว )


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 17:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๕๑. เรื่องสัญญาและเวทนาเรื่องที่ ๒
( ทุติยสัญญาเวทยิตกถา )

ถาม : สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติเป็นโลกิยะใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : สมาบัติเป็นรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ, กามาวจร, รูปาวจร, อรูปาวจร ( อย่าง

ใดอย่างหนึ่ง ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายเหตุวาทะ เห็นว่า เมื่อสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มิใช่โลกุตตระ ก็ควรเป็นโลกิยะ จึงถูก

ซักอีกว่า เป็นขันธ์ ๕ หรือเป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร เป็นอันสรูปมติของผู้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุนี้

ว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มิใช่ทั้งโลกิยะทั้งโลกุตตระ )

๑๕๒. เรื่องสัญญาและเวทนาเรื่องที่ ๓
( ตติยสัญญเวทยิตกถา )

ถาม : ผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ พึงทำกาละได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มีผัสสะ, เวทนา, สัญญา, เจตนา, จิต อันมีความตายเป็นที่สุด ใช่

หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายราชคิริกะ มีความเห็นว่า เมื่อไม่มีข้อกำหนดว่า ผู้นั้นต้องตาย ผู้นี้จึงไม่ตาย เพราะฉะนั้น ผู้

เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ก็ควรตายได้ เช่น บุคคลธรรมดา แต่ตามหลักวิชา ไม่มีการตายในระหว่างที่เข้า

สัญญาเวทยิตนิโรธ )

๑๕๓. เรื่องสมาบัติที่ให้เข้าถึงอสัญญสัตว์
( อสัญญสัตตุปิกากถา )

ถาม : การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ทำให้เข้าถึงอสัญญสัตว์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ อันเป็นกุศลมูลหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

ถาม : ถ้าเป็นอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ทำให้เข้าถึงอสัญญสัตว์

( นิกายเหตุวาทะ มีความเห็นเป็นเหตุถูกค้านในข้อนี้ อรรถกถาอธิบายว่า ภาวนาที่เป็นไปด้วย

อำนาจแห่งความคลายความกำหนัดในสัญญา จัดเป็น อสัญญสมาบัติ บ้าง นิโรธสมาบัติ

บ้าง ชื่อว่าสัญญาเวทยิตนิโรธ ๆ จึงมี ๒ อย่าง คือเป็น โลกิยะ และ โลกุตตระ ที่เป็น

โลกิยะเป็นของบุถุชน ทำให้เข้าถึงอสัญญสัตว์ ที่เป็นโลกุตตระเป็นของพระอริยะ ไม่ทำให้เข้าถึงอสัญญสัตว์ เมื่อ

นิกายเหตุวาทะ เห็นแง่เดียว จึงถูกซักค้านให้เห็นแง่อื่นอีก. คำอธิบายของอรรถกถาข้อนี้ จึงเป็น

คำตอบในข้อ ๕๘, ๑๕๐, และ ๑๕๑ ด้วย )

๑๕๔. เรื่องการสะสมกรรม
( กัมมูปจยกถา )

ถาม : กรรมเป็นอย่างหนึ่ง การสะสมกรรมเป็นอีกอย่างหนึ่งใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผัสสะ, เวทนา เป็นต้น เป็นอย่างหนึ่ง การสะสมผัสสะ, การสะสมเวทนา เป็นต้น เป็นอีก

อย่างหนึ่งใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ และ สมิติยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะเข้าใจว่า กัมมูปจยะ หรือ

การสะสมกรรม ไม่สัมปยุตกับจิต )

๑๕๕. เรื่องการข่ม
( นิคคหกถา )

ถาม : ผู้อื่นย่อมข่มจิตของผู้อื่นได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้อื่นย่อมข่มหรือบังคับได้ว่า จิตของผู้อื่นอย่ากำหนัด, อย่าคิดประทุษร้าย, อย่าหลง, อย่าเศร้า

หมอง ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๕๖. เรื่องการประคอง
( ปัคคหกถา )

( ข้อนี้เหมือนข้อ ๑๕๕ ต่างแต่เป็นเรื่องของการประคองจิตแทนข่มจิต ข้อโต้แย้งก็อย่างเดียวกัน )

๑๕๗. เรื่องการเพิ่มให้ความสุข
( สุขานุปปทานกถา )

ถาม : ผู้อื่นย่อมเพิ่มให้ความสุขแก่ผู้อื่นได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้อื่นย่อมเพิ่มให้ทุกข์แก่ผู้อื่นได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายเหตุวาทะ มีความเห็นผิดว่า ความรู้สึกเป็นสุขนั้น เป็นของที่เพิ่มให้แก่กันได้ จึงถูกย้อนถาม

ถึงความรู้สึกทุกข์ด้วย )

๑๕๘. เรื่องการรวบรวมพิจารณา
( อธิคคัยหมนสิการกถา )

ถาม : บุคคลย่อมรวบรวม๑ พิจารณาได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลย่อมรู้จิตนั้น ด้วยจิตนั้นใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดว่า บุคคลอาจรวบรวมสังขารทั้งหมดมาพิจราณารวมกันได้ จึงถูก

ซักว่า ใช้จิตขณะนั้น รู้จิตขณะนั้นได้หรือ )

๑๕๙. เรื่องรูปเป็นเหตุ
( รูปัง เหตูติกถา )

ถาม : รูปเป็นเหตุใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : รูปเป็นเหตุ คือความไม่โลภ เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๖๐. เรื่องรูปมีเหตุ
( รูปัง สเหตุกันติกถา )

ถาม : รูปมีเหตุใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : รูปประกอบด้วยเหตุ คือความไม่โลภ เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

'๑' . อธิคฺคยฺห อรรถกถาแก้ว่า สงฺคณฺหิตฺวา อนึ่งคำว่า มนสิการ เคยแปลว่า ใส่ใจ หรือทำไว้ในใจ แต่ในที่ นี้ใช้ว่า พิจารณาเพื่อให้ความชัดขึ้น


๑๖๑. เรื่องรูปเป็นกุศลและอกุศล
( รูปัง กุสลากุสลันติกถา )

ถาม : รูปเป็นกุศลและอกุศลได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : รูปมีอารมณ์ มีการคำนึงคิดถึงได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหิสาสกะ และ สมิติยะ มีความเห็นผิดว่า กายวิญญัติ การไหวกาย

วจีวิญญัติ การไหววาจา ซึ่งเป็นอุปาทายรูปนั้น ก็ได้แก่กายกรรมและวจีกรรม เพราะฉะนั้น จึง

เป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล แต่ตามหลักวิชาต้องถือว่า กุศลอกุศลมีความสำคัญอยู่ที่จิต จึงถูกถามว่า รูปนั้นมี

อารมณ์และคิดนึกได้หรือไม่ ? )

๑๖๒. เรื่องรูปเป็นผล
( รูปัง วิปาโกติกถา )

( ข้อว่า รูปเป็นผล หรือวิบากนี้ เป็นความเห็นของ นิกายอันธกะ และ สมิติยะ ข้อแย้งก็

อย่างเดียวกับข้อ ๑๑๘ เรื่องเสียงเป็นผล )

๑๖๓. เรื่องรูปเป็นรูปาวจรและอรูปาวจร
( รูปัง รูปาวจรารูปาวจรันติกถา )

ถาม : รูปเป็นรูปาวจรและอรูปาวจรได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะเข้าใจว่า รูปชื่อว่าเป็นกามาวจร, รูปาวจร หรืออรูปาวจร

ก็เพราะทำกรรมอันเป็นกามาวจร, รูปาวจร, หรืออรูปาวจรไว้ จึงถูกซักว่า รูปเป็นการแสวงหาสมาบัติ การ

แสวงหาการเกิดและเป็นการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เป็นสัมปยุตตธรรม คือเกิดพร้อม ดับพร้อม และมีอารมณ์

เป็นอันเดียวกับจิตที่แสวงหาสมาบัติ แสวงหาการเกิดใช่หรือไม่ ? )

๑๖๔. เรื่องรูปราคะเนื่องด้วยรูปธาตุ
( รูปราโค รูปธาตุปริยาปันโนติกถา )

ถาม : ความกำหนัดในรูป ( รูปาราคะ ) เนื่องด้วยธาตุคือรูปใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ข้อซักถามพ้องกับข้อ ๑๖๓ )

๑๖๕. เรื่องพระอรหันต์มีการสังสมบุญ
( อัตถิ อรหโต ปุญญูปจโยติกถา )

ถาม : พระอรหันต์มีการสั่งสมบุญใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระอรหันต์มีการสั่งสมที่มิใช่บุญ ( คือบาป ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักให้นึกถึงคำที่ว่า พระอรหันต์ละบุญละบาปได้แล้ว ถ้า

สั่งสมบุญได้ก็สั่งสมบาปได้ด้วย ข้อควรทราบก็คือ การทำความดีของพระอรหันต์เป็นกิริยาเท่านั้น มิใช่เพื่อ

เป็นบุญ คือเพื่อล้างหรือชำระความชั่ว )

๑๖๖. เรื่องพระอรหันต์ไม่มีการตายเมื่อยังไม่ถึงคราว
( นัตถิ อรหโต อกาลมัจจูติกถา )

ถาม : พระอรหันต์ไม่มีการตายเมื่อยังไม่ถึงคราวใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้ฆ่าพระอรหันต์ไม่มีใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายราชคิริกะ และ สิทธัตถิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักให้นึกถึงเรื่องที่อาจมีผู้ฆ่า

พระอรหันต์ได้ ในกรณีเช่นนั้น ก็ชื่อว่าตายในเมื่อยังไม่ถึงคราว )

๑๖๗. เรื่องทุกอย่างมาจากกรรม
( สัพพมิทัง กัมมโตติกถา )

ถาม : ทุกอย่างนี้มาจากกรรมใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : กรรมก็มาจากกรรมใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายราชคิริกะ และ สมิติยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะตีความในพระพุทธภาษิตบางข้อ

จึงถูกซักดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๑๖๘. เรื่องสิ่งที่เนื่องด้วยอินทรีย์
( อินทริยพัทธกถา )

ถาม : สิ่งที่เนื่องด้วยอินทรีย์เท่านั้น เป็นทุกข์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : สิ่งที่เนื่องด้วยอินทรีย์เท่านั้น ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายเหตุวาทะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ความจริงทั้งสิ่งที่เนื่องด้วยอินทรีย์และไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ก็เป็น

ทุกข์ทั้งสิ้น )

๑๖๙. เรื่องเว้นแต่อริยมรรค
( ฐเปตวา อริยมัคคันติกถา )

ถาม : สังขารที่เหลือ เว้นแต่อริยมรรค เป็นทุกข์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : แม้เหตุให้เกิดทุกข์ ก็เป็นทุกข์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายเหตุวาทะ มีความเห็นว่า อริยมรรคเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงยกเว้นให้ นอกนั้น

นั้นเห็นว่าเป็นทุกข์หมด ฝ่ายค้านจึงซักค้านถึงข้ออื่น ๆ คือทุกขสมุทัย )

๑๗๐. เรื่องไม่ควรกล่าวว่า สงฆ์รับทักษิณา
( น วัตตัพพัง สังโฆ ทักขิณัง ปฏิคคัณหาตีติกถา )

ถาม : ไม่ควรกล่าวว่า สงฆ์รับทักษิณา ( ของทำบุญ ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : สงฆ์เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา เป็นต้น มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่น่าจะกล่าวว่า ไม่ควรกล่าวว่า สงฆ์รับทักษิณา

( นิกายเวตุลลกะ พวกมหาสุญญตาวาทะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะเข้าใจว่ามรรคและผลเป็น

พระสงฆ์ )


๑๗๑. เรื่องไม่ควรกล่าวว่า สงฆ์ทำทักษิณาให้บริสุทธิ์
( น วัตตัพพัง สังโฆ ทักขิณัง วิโสเธตีติกถา )

๑๗๒. เรื่องไม่ควรกล่าวว่า สงฆ์ฉัน ( อาหาร )
( น วัตตัพพัง สังโฆ ภุญชตีติกถา )

๑๗๓. เรื่องไม่ควรกล่าวว่า ทานที่ถวายแด่สงฆ์มีผลมาก
( น วัตตัพพัง สังฆัสส ทินนัง มหัปผลันติกถา )

( รวม ๔ ข้อนี้ เป็นหัวข้อที่ทำให้มีความเห็นผิดแบบเดียวกับข้อ ๑๗๐ จึงรวมไว้แต่หัวข้อ ไม่ต้องอธิบาย )

๑๗๔. เรื่องไม่ควรกล่าวว่า ทานที่ถวายแก่พระพุทธเจ้ามีผลมาก
( น วัตตัพพัง พุทธัสส ทินนัง มหัปผลันติกถา )

( นิกายเวตุลลกะ พวกมหาสุญญตาวาทะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะเห็นว่าพระผู้มีพระภาคไม่ฉัน

สิ่งใด ๆ คือมีความเห็นว่า พระสงฆ์ที่แท้จริงก็คือมรรคผล พระพุทธเจ้าที่แท้จริงก็คือปัญญาที่ตรัสรู้ เป็นการ

เห็นแบบปรมัตถ์แล้วเอามาค้านสมมติบัญญัติ )

๑๗๕. เรื่องความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา
( ทักขิณาวิสุทธิกถา )

ถาม : ทานย่อมบริสุทธิ์ทางฝ่ายผู้ให้เท่านั้น มิใช่ฝ่ายผู้รับใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้รับบางคนที่เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ( ของทำบุญ ) มี

อยู่มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า ทานย่อมบริสุทธิ์ทางฝ่ายผู้ให้เท่านั้น มิใช่ฝ่ายผู้รับ

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๗๖. เรื่องมนุษยโลก
( มนุสสโลกกถา )

ถาม : ไม่ควรกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ในมนุษยโลกใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : เจดีย์, อาราม, วิหาร, คาม, นิคม, นคร, แว่นแคว้น, ชนบทที่พระพุทธเจ้าเคยอยู่มาแล้วมีอยู่

มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่น่าจะกล่าวว่า ไม่ควรกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ใน

มนุษยโลก

( นิกายเวตุลลกะ มีความเห็นผิดว่า รูปกายของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในโลกนี้เป็นเพียงรูปนิรมิต ไม่

ใช่พระองค์จริง พระองค์จริงประทับอยู่ในดุสิตภพ จึงถูกซักดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๑๗๗. เรื่องพระธรรมเทศนา
( ธัมมเทสนากถา )

ถาม : ไม่ควรกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ใครเล่าแสดงธรรม ?

ตอบ : รูปที่นิรมิตขึ้นแสดงธรรม

ถาม : พระชินศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ถูกนิรมิตขึ้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายเวตุลลกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ พึงสังเกตว่า นิกายนี้ มีความเห็นในรูปปรมัตถ์เสมอ )

๑๗๘. เรื่องกรุณา
( กรุณากถา )

ถาม : พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าไม่มีพระกรุณาใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าไม่มีพระเมตตาใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะเข้าใจว่า กรุณามีลักษณะใกล้เคียงกับ ราคะ

ความกำหนัดยินดี ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด )

๑๗๙. เรื่องของหอม
( คันธชาติกถา )

ถาม : อุจจาระ ปัสสาวะของพระพุทธเจ้า ย่อมเหนือคันธชาติอื่น ๆ อย่างยิ่งใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระผู้มีพระภาคเสวยของหอมหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ และ อุตตราปถกะ มีความเห็นว่า อุจาร ปัสสาวะของพระผู้มีพระภาคหอม

ยิ่งกว่าของหอมอื่น ๆ ความจริงเป็นอย่างปกติของมนุษย์ธรรมดา )

๑๘๐. เรื่องมรรคอันเดียว
( เอกมัคคกถา )

ถาม : พระอริยบุคคลย่อมทำให้แจ้งผลทั้งสี่ด้วยมรรคอันเดียวใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผัสสะ ๔ จนถึงปัญญา ๔ ย่อมรวมกันใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ และ อุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2010, 17:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


๑๘๑. เรื่องการก้าวข้ามฌาน
( ฌานสังกันติกถา )

ถาม : บุคคลย่อมก้าวข้ามจากฌานไปสู่ฌานใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ก้าวข้ามจากฌานที่ ๑ ไปสู่ฌานที่ ๓ อย่างนั้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหิสาสกะ และ อันธกะบางส่วน มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๘๒. เรื่องช่องว่างของฌาน
( ฌานังตริกากถา )

ถาม : ช่องว่างของฌานมีอยู่ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ช่องว่างของผัสสะ จนถึงช่องว่างของปัญญาก็มีใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายสมิติยะ และ อันธกะบางส่วน มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๘๓. เรื่องผู้เข้าฌานย่อมได้ยินเสียง
( สมาปันโน สัททัง สุณาตีติกถา )

ถาม : ผู้เข้าฌานย่อมได้ยินเสียงใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้เข้าฌานย่อมเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๘๔. เรื่องเห็นรูปด้วยตา
( จักขุนา รูปัง ปัสสตีติกถา )

ถาม : บุคคลย่อมเห็นรูปด้วยตาใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลย่อมเห็นรูปด้วยรูป ( คือตาก็เป็นรูปอย่างหนึ่ง ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เพราะเข้าใจในถ้อยคำผิด ความจริงคำว่า เห็นรูปด้วยตานั้น

หมายถึงเห็นด้วยจักขุวิญญาณ คือความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา )

๑๘๕. เรื่องการละกิเลส
( กิเลสชหนกถา )

ถาม : บุคคลย่อมละกิเลสที่เป็นอดีตใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลย่อมดับสิ่งที่ดับแล้ว ปราศจากสิ่งที่หมดไปแล้ว ทำให้สิ่งที่สิ้นไปแล้ว สิ้นไปอย่างนั้น

หรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะบางส่วน เห็นว่ากิเลสมีทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน บุคคลย่อมละกิเลสทั้งสาม

ประเภทนั้น ความจริงไม่ควรกล่าวอย่างนั้น เพราะเมื่ออริยมรรคมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นไปแล้ว กิเลส

ที่ไม่เกิดขึ้นก็ไม่เกิดขึ้น จึงชื่อว่าละกิเลสได้ )

๑๘๖. เรื่องความสูญ
( สุญญตากถา )

ถาม : ความสูญ เนื่องด้วยสังขารและขันธ์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : สิ่งที่ไม่มีนิมิต ก็เนื่องด้วยสังขารและขันธ์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ความจริงความสูญมี ๒ อย่าง คือที่เป็นลักษณะซึ่งไม่ใช่ตนแห่ง

ขันธ์ และที่เป็นนิพพาน เมื่อเห็นแง่เดียว จึงถูกซักให้รู้ถึงข้ออื่น ๆ ด้วย )

๑๘๗. เรื่องผลแห่งความเป็นสมณะ
( สามัญญผลกถา )

ถาม : ผลแห่งความเป็นสมณะเป็นอสังขตะ ( ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผลแห่งความเป็นสมณะเป็นนิพพานหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๘๘. เรื่องการบรรลุ
( ปัตติกถา )

๑๘๙. เรื่องความจริง
( คถตา )

( ทั้งสองข้อนี้ก็เหมือนข้อ ๑๘๗ คือ นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นว่า ข้อ ๑๘๗-๑๘๘ และ

นิกายอันธกะ บางส่วน มีความเห็นว่า ข้อ ๑๘๙ เป็นอสังขตะ จึงถูกซักให้เข้าใจว่า เมื่อมิใช่

นิพพานจึงมิใช่อสังขตะ )

๑๙๐. เรื่องกุศล
( กุสลกถา )

ถาม : นิพพานธาตุเป็นกุศลใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : นิพานธาตุมีอารมณ์ มีการนึกคิดได้เช่นนั้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )


๑๙๑. เรื่องข้อกำหนดเด็ดขาด
( อัจจันตนิยามกถา )

ถาม : บุถุชนมีข้อกำหนดเด็ดขาดใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา เป็นต้น ก็ชื่อว่ามีข้อกำหนดเด็ดขาดใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะบางส่วน มีความเห็นผิดข้อนี้ โดยเข้าใจว่า บุคคลที่เป็นบุถุชนบางคน อาจได้

บรรลุมรรคผลอย่างแน่นอน โดยมิได้เฉลี่ยว่า คำว่า ข้อกำหนดเด็ดขาด หมายถึงทางที่ชั่วด้วย )

๑๙๒. เรื่องธรรมะที่เป็นใหญ่
( อินทริยกถา )

ถาม : ไม่มีธรรมะที่เป็นใหญ่ คือความเชื่อ ( สัทธินทรีย์ ) ที่เป็นโลกิยะใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ไม่มีความเชื่อที่เป็นโลกิยะใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายเหตุวาทะ และ มหิสาสกะ เห็นผิดว่า ความเชื่อที่เป็นโลกิยะเป็นความเชื่อธรรมดา

ไม่เป็นสัทธินทรีย์ แต่ความจริงเป็นสัทธินทรีย์ด้วย ในฐานะที่เป็นใหญ่ แม้ความเพียร, สติ, สมาธิ และ

ปัญญา ก็เป็นเช่นเดียวกัน )

๑๙๓. เรื่องไม่จงใจ
( อสัญจิจจกถา )

ถาม : บุคคลไม่จงใจ ทำมารดาของตนให้สิ้นชีวิต ชื่อว่าทำอนันตริยกรรมใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลไม่จงใจฆ่าสัตว์ ก็ชื่อว่าทำปาณาติบาตใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( ความจริงถ้าไม่จงใจหรือไม่มีเจตนา เช่น ทำของตกถูกถึงแก่ความตายก็ไม่เป็นอนันตริยกรรม แต่

นิกายอุตตราปถกะบางส่วน มีความเห็นผิดว่า เป็นอนันตริยกรรม จึงถูกซักถึงการฆ่าสัตว์โดยไม่

เจตนา )

๑๙๔. เรื่องญาณ
( ญาณกถา )

ถาม : บุถุชนไม่มีญาณ ( ความรู้ ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุถุชนไม่มีปัญญา ไม่มีการพิจารณาหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายเหตุวาทะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักให้เห็นว่า บุถุชนก็มีญาณ )

๑๙๕. เรื่องนายนิรยบาล
( นิรยปาลกถา )

ถาม : ไม่มีนายนิรยบาล ( ผู้ปกครองนรก ) ในนรกใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ไม่มีการลงโทษในนรกใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นว่า ไม่มีนายนิรยบาลในนรก ฝ่ายค้านจึงซักค้านในทางให้เห็นว่า มี )

๑๙๖. เรื่องสัตว์ดิรัจฉาน
( ติรัจฉานกถา )

ถาม : มีสัตว์ดิรัจฉานในหมู่เทพใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : มีเทพในหมู่สัตว์ดิรัจฉานใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นว่า มีสัตว์ในหมู่เทพ เช่น ช้างเอราวัณ ฝ่ายค้านเห็นว่า มิใช่ช้างจริง แต่

เป็นเทพจำแลง จึงซักค้าน )

๑๙๗. เรื่องมรรค
( มัคคกถา )

ถาม : มรรคมีองค์ ๕ ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระผู้มีพระภาคตรัสถึงมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า มรรคมีองค์ ๕

( นิกายมหิสาสกะ มีความเห็นผิดว่า โดยตรงมรรคมีเพียงองค์ ๕ ส่วนอีก ๓ คือ สัมมาวาจา,

สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ ไม่ประกอบกับจิต จึงไม่ต้องนับเป็นองค์ก็ได้ ฝ่ายค้านจึงซักค้านถึงหลักฐาน

ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ )

๑๙๘. เรื่องญาณ
( ญาณกถา )

ถาม : ญาณที่มีวัตถุ ๑๒ ( ญาณมีอาการ ๑๒ ตามนัยแห่งธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ) เป็นโลกุตตระ

ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : โลกุตตรญาณมี ๑๒ ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ และ อปรเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๑๙๙. เรื่องคำสอน
( สาสนกถา )

ถาม : คำสอนเป็นของทำขึ้นใหม่ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : สติปัฏฐานเป็นของทำขึ้นใหม่ ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น.

( นิกายอุตตราปถกะบางส่วน เห็นว่า เมื่อทำสังคายนา ๓ คราว ก็เป็นการแต่งคำสอนขึ้นใหม่ จึงถูก

ซักให้ตอบว่า เป็นการแต่งหลักธรรม เช่น สติปัฏฐานขึ้นใหม่ด้วยหรือ ซึ่งฝ่ายเห็นผิดปฏิเสธ )

๒๐๐. เรื่องผู้ไม่สงัด
( อวิวิตตกถา )

ถาม : บุถุชนไม่สงัดจากธรรมที่มีธาตุ ๓ ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุถุชนไม่สงัดจากผัสสะ, เวทนา, สัญญา เป็นต้น อันมีธาตุ ๓ หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ แต่ตามหลักจะชื่อว่าไม่สงัดจากธรรมใด ก็เฉพาะธรรมนั้น

เป็นปัจจุบันเท่านั้น ฝ่ายเห็นผิดเห็นคลุมไปหมด จึงถูกซักถึงข้ออื่น ๆ ด้วย )


๒๐๑. เรื่องกิเลสที่ผูกมัด
( สัญโญชนกถา )

ถาม : มีการบรรลุอรหัตตผลโดยไม่ต้องละสัญโญชน์ ( กิเลสที่ผูกมัด ) บางอย่างใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : มีการบรรลุอรหัตตผลโดยไม่ต้องละสักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, ราคะ, โทสะ,

โมหะ เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายมหาสังฆิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักค้าน )

๒๐๒. เรื่องฤทธิ์
( อิทธิกถา )

ถาม : พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกมีฤทธิ์ที่เป็นไปตามประสงค์ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกมีฤทธิ์ที่เป็นไปตามประสงค์ เช่น ให้ต้นไม้มีใบ, มีดอก, มีผลอยู่

เสมอ ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ตามหลักถือว่า ฤทธิ์จะสำเร็จในกรณีที่ไม่ฝืนธรรมดาเกินไป เช่น

ไม่ให้แก่ ไม่ให้ตายไม่ได้ แต่ให้ตายช้าออกไปพอจะทำได้ )

๒๐๓. เรื่องพระพุทธเจ้า
( พุทธกถา )

ถาม : พระพุทธเจ้ามีเลวมีดีกันกว่ากันในระหว่างพระพุทธเจ้าใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ดีเลวกว่ากันโดยสติปัฏฐาน (การตั้งสติ) สัมมัปปธาน (ความเพียรชอบ) เป็นต้นใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักถึงคุณธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งฝ่ายเห็นผิดปฏิเสธว่า

ไม่มีดีเลวกว่ากันโดยคุณธรรม อันที่จริงความต่างกันแห่งอายุ แห่งสรีระ เป็นต้น มีอยู่ แต่ความดีเลวกว่ากัน

ในทางธรรมไม่มีเลย )

๒๐๔. เรื่องทิศทั้งปวง
(สัพพทิสากถา )

ถาม : พระพุทธเจ้าทรงดำรงอยู่ทุกทิศใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระพุทธเจ้าทรงดำรงอยู่ในทิศตะวันออกใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายสังฆิกะ มีความเห็นว่า มีพระพุทธเจ้าในโลกธาตุต่าง ๆ ทุกทิศ ฝ่ายค้านจึงซักตามทิศและซัก

ถึงพระนาม รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในทิศนั้น ๆ )

๒๐๕. เรื่องธรรม
( ธัมมกถา )

ถาม : ธรรมทั้งปวงเป็นของเที่ยงแท้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : เที่ยงแท้ในทางที่ผิดหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ และ อุตตราแถกะบางส่วน เห็นว่า รูปธรรมก็เที่ยงแท้โดยความเป็นรูปธรรม

ฝ่ายค้าน จึงซักค้านทั้งเที่ยงแท้ในทางที่ผิดและที่ถูก ว่าเป็นในทางไหนกันแน่ )

๒๐๖. เรื่องกรรม
( กัมมกถา )

ถาม : กรรมทั้งปวงเป็นของเที่ยงแท้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : เที่ยงแท้ในทางที่ผิดหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( เรื่องนี้ต่อเนื่องมาจากข้อ ๒๐๕ ข้อซักก็อย่างเดียวกัน )

๒๐๗. เรื่องปรินิพพาน

ถาม : มีปรินิพพานโดยไม่ต้องละกิเลสเครื่องผูกมัดบางอย่างใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ไม่ต้องละสักกายทิฏฐิ เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ เค้าเรื่องพ้องกับข้อ ๒๐๑ )

๒๐๘. เรื่องกุศลจิต
( กุสลจิตตกถา )

ถาม : พระอรหันต์มีจิตเป็นกุศล ย่อมปรินิพพานใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระอรหันต์ปรุงแต่งปุญญาภิสังขาร ( เจตนาที่เป็นบุญ ) ปรุงแต่งอเนญชาภิสังขาร ( เจตนา

ในอรูปฌาน ) ทำกรรมอันเป็นไปเพื่อคติ เพื่อมี เพื่อเป็นใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( ข้อนี้เป็นปัญหาเรื่องหลักวิชา นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดในเรื่องนี้ จึงถูกซักให้เข้าใจหลักวิชา )

๒๐๙. เรื่องอาเนญชะ
( อาเนญชกถา )

ถาม : พระอรหันต์ตั้งอยู่ในอาเนญชะ ( จิตอันประกอบด้วยอรูปฌาน ) ย่อมปรินิพพานใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระอรหันต์ตั้งอยู่ในปกติจิต ปรินิพพานใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า พระอรหันต์ตั้งอยู่ในอาเนญชะ ปรินิพพาน

( นิกายอุตตราปถกะบางพวก มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๒๑๐. เรื่องการตรัสรู้ธรรม
( ธัมมาภิสมยกถา )

ถาม : สัตว์ผู้นอนในครรภ์ มีการตรัสรู้ธรรมใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : สัตว์นอนในครรภ์ มีการแสดงธรรม, ฟังธรรม, สนทนาธรรม เป็นต้นหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะบางส่วน มีความเห็นว่า ผู้ที่เป็นพระโสดาบันในอดีตภพ พอเกิดใหม่ก็ได้ตรัสรู้

ธรรมตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ฝ่ายค้านจึงซักค้านให้รู้ว่าเห็นผิด )


๒๑๑. เรื่อง ๓ ประเภท
( ติสโสปิกถา )

ถาม : สัตว์ผู้นอนในครรภ์, ผู้ที่กำลังฝันตรัสรู้ธรรมได้ ผู้ที่กำลังฝันบรรลุอรหัตตผลได้ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ผู้นอนหลับ ประมาท หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะตรัสรู้ธรรมได้, บรรลุอรหัตตผลได้ใช่หรือ

ไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะบางส่วน มีความเห็นผิดข้อนี้ จึงถูกซักให้เห็นว่า บุคคลทั้งสามประเภทนั้น

ตรัสรู้ไม่ได้ บรรรลุอรหัตตผลไม่ได้ )

๒๑๒. เรื่องอัพยากฤต
( อัพยาหตกถา )

ถาม : จิตของผู้ฝันเป็นอัพยากฤต ( ไม่ดีไม่ชั่ว เป็นกลาง ๆ ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : บุคคลฝันว่า ฆ่าสัตว์ได้หรือไม่ ?

ตอบ : ได้

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า จิตของผู้ฝันเป็นอัพยากฤต

( นิกายอุตตราปถกะบางส่วน มีความเห็นผิดข้อนี้ คำซักชัดเจนอยู่แล้ว )

๒๑๓. เรื่องความเป็นปัจจัยเพราะส้องเสพ
( อาเสวนปัจจยตากถา )

ถาม : ไม่มีความเป็นปัจจัยเพราะการส้องเสพใด ๆ ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ปาณาติบาต ( การทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ) อันบุคคลต้อง

ส้องเสพ เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก กำเนิดดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต เป็นต้น มิใช่หรือ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า ไม่มีความเป็นปัจจัยเพราะการส้องเสพใด ๆ

( นิกายอุตตราปถกะบางส่วน มีความเห็นผิดข้อนี้ คำซักชัดอยู่แล้ว )

๒๑๔. เรื่องชั่วขณะ
(ขณิกกถา )

ถาม : ธรรมทั้งปวงเป็นไปชั่วขณะจิตเดียวใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : แผ่นดิน มหาสมุทร ภูเขาสิเนรุ เป็นต้น ตั้งอยู่ในจิตหรือ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายปุพพเสลิยะ และ อปรเสลิยะ มีความเห็นข้อนี้ เพราะใช้ถ้อยคำคลุมมากไป จึงถูก

ซักถึงธรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับจิต )

๒๑๕. เรื่องความประสงค์อันเดียวกัน
( เอกาธิปปายกถา )

ถาม : ควรเสพเมถุนธรรม ( ธรรมของคนคู่ ) ด้วยความประสงค์อันเดียวกันใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : ควรเป็นผู้มิใช่สมณะ มิใช่ภิกษุ เป็นต้น ด้วยความประสงค์อันเดียวกันใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ และ เวตุลลกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๒๑๖. เรื่องเพศของพระอรหันต์
( อรหันตวัณณกถา )

ถาม : อมนุษย์ปลอมเพศเป็นพระอรหันต์ เสพเมถุนธรรมก็มี ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : อมนุษย์ปลอมเพศเป็นพระอรหันต์ ฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็มี ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะบางส่วน มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๒๑๗. เรื่องการบันดาลตามความใคร่ของผู้เป็นใหญ่
( อิสสริยกามการิกากถา )

ถาม : พระโพธิสัตว์ถึงวินิบาต ( สภาพที่ตกต่ำ ) เพราะเหตุคือการบันดาลตามความใคร่ของผู้เป็น

ใหญ่ ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : พระโพธิสัตว์ย่อมตกนรกต่าง ๆ เพราะเหตุคือการบันดาลตามความใคร่ของผู้เป็นใหญ่ ใช่

หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

๒๑๘. เรื่องสิ่งที่เป็นราคะเทียม เป็นต้น
( ราคปฏิรูปกาทิกถา )

ถาม : สิ่งที่มิใช่ ราคะ แต่เป็น ราคะ เทียมหรือปลอม ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : มีสิ่งที่มิใช่ ผัสสะ เวทนา เป็นต้น แต่เป็น ผัสสะ เทียม เวทนา

เทียมใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอันธกะ มีความเห็นว่า เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นต้น ไม่ใช่ราคะ แต่เป็นราคะเทียม

จึงถูกซักถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย )

๒๑๙. เรื่องสิ่งที่ไม่สำเร็จรูป
( อปรินิปผันนกถา )

ถาม : รูปเป็น อปรินิปผันนะ ( สิ่งที่ไม่สำเร็จรูป ) ใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ใช่

ถาม : รูปมิใช่ของไม่เที่ยง, มิใช่สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง, มิใช่สิ่งที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เป็นต้นใช่หรือไม่ ?

ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

( นิกายอุตตราปถกะบางส่วน และ เหตุวาทะ มีความเห็นผิดข้อนี้ )

( หมายเหตุ : คำถามคำตอบที่นำมาแสดงไว้ทั้ง ๒๑๙ ข้อนี้เป็นเพียงตัวอย่างย่อ ๆ ของคำถามคำ

ตอบมากหลาย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นำมาแสดงเพียง ๑ ใน ๑๐๐ แม้เช่นนั้นก็ยังนับว่า

พิศดาร นอกจากนั้นบางข้อพอเห็นเค้าอยู่บ้าง จึงมิได้อธิบายความประกอบ เรื่องนี้มี

ประโยชน์อยู่บ้างที่ได้พิจารณาข้อคิดเห็น ของนิกายต่าง ๆ ซึ่งมีความเห็นผิดไปจากมติ

ของเถรวาท และนิกายเหล่านั้นในปัจจุบันก็ไม่มีเหลืออยู่แล้ว จะนับว่าเหลืออยู่โดยอ้อม

ก็คือมหายาน ซึ่งจะถือว่ามีต้นกำเนิดไปจาก นิกายมหาสังฆิยะ ก็ได้ ความเห็น

ผิดทั้ง ๒๑๙ ข้อนั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องของการขัดแย้งกันทางสำนวนโวหาร บางครั้ง

ก็ทางหลักอภิธรรม บางครั้งก็ทางหลักพระสูตร บางเรื่องก็เป็นเรื่องเล็กน้อยเกินไป จน

ไม่น่าจะมีปัญหา อนึ่งในข้อที่ ๑๗๐-๑๗๔ ในเล่มนี้คำว่านิกาเวตุลลกะ มหาสุญญ-

ตาวาทะ นั้น ในอรรถกถาฉบับไทยเป็น เวตุลลกะ มหาปุญญวาทะ ซึ่ง

ทำให้น่าฉงนว่า นิกายที่มีความเห็นดั่งกล่าวนั้น ควรจะเรียก มหาปุญญวาทะ

ได้อย่างไร แต่เมื่อสอบดูต้นฉบับต่างประเทศแล้วเห็นว่า คำว่า มหาสุญญตาวาทะ

ถูกต้องกว่า จึงใช้ตามที่เห็นว่าถูกต้อง ต่อไปนี้จะแสดงว่านิกายไหน มีความเห็น

ผิดในข้อไหน เป็นการสรูปอีกครั้งหนึ่ง

๑. มหาสังฆิกะ มีความเห็นผิดในข้อ ๙๘ ถึง ๑๐๙, ๑๑๒, ๑๑๖ ถึง ๑๑๙, ๑๓๕, ๑๔๔ ถึง ๑๔๗, ๑๔๙, ๑๕๕, ๑๕๖, ๑๘๔, ๒๐๑, ๒๐๔.

๒. วัชชีปุตตกะ มีความเห็นผิดในข้อ ๑, ๒.

๓. มหิสาสกะ มีความเห็นผิดในข้อ ๒๑, ๕๕, ๕๙, ๘๒, ๙๘, ๑๖๑, ๑๘๑, ๑๙๒, ๑๙๗.

๔. โคกุลิกะ มีความเห็นผิดในข้อ ๑๘.

๕. สัพพัตถิกวาทะ มีความเห็นผิดในข้อ ๒, ๖, ๗, ๑๙, ๑๑๓.

๖. สมิติยะ มีความเห็นผิดในข้อ ๑ ถึง ๕, ๑๙, ๒๖, ๒๘, ๒๙, ๖๘, ๗๕, ๘๐, ๘๒ ถึง ๘๔, ๙๘, ๑๐๖, ๑๔๑, ๑๕๔, ๑๖๑, ๑๖๗, ๑๘๒.

๗. ภัทรยานิกะ มีความเห็นผิดในข้อ ๑๙.

๘. กัสสปิกะ มีความเห็นผิดในข้อ ๘.

๙. เหตุวาทะ มีความเห็นผิดในข้อ ๑๔๘, ๑๕๐, ๑๕๑, ๑๕๓, ๑๕๗, ๑๖๘, ๑๖๙, ๑๙๒, ๑๙๔, ๒๑๙.

๑๐. อุตตราปถกะ มีความเห็นผิดในข้อ ๓๔ ถึง ๔๐, ๔๕, ๔๗, ๕๘, ๕๙, ๗๔, ๘๗, ๘๘, ๙๐ ถึง ๙๒, ๑๑๓, ๑๒๐, ๑๒๑, ๑๒๓, ๑๒๔, ๑๒๖, ๑๒๗, ๑๒๙, ๑๓๐, ๑๓๒, ๑๓๗, ๑๓๘, ๑๔๒, ๑๕๙, ๑๖๐, ๑๗๕, ๑๗๘ ถึง ๑๘๐, ๑๘๕, ๑๙๑, ๑๙๓, ๑๙๙, ๒๐๐, ๒๐๕, ๒๐๖, ๒๐๙ ถึง ๒๑๓, ๒๑๖, ๒๑๙.

๑๑. อันธกะ มี ความเห็นผิดในข้อ ๙, ๑๐, ๑๗, ๑๙ ถึง ๓๓, ๔๑ ถึง ๔๔, ๔๖, ๔๘ ถึง ๕๔, ๕๘, ๖๓, ๗๐ ถึง ๗๔, ๗๘ ถึง ๘๑, ๘๕, ๘๘, ๘๙, ๙๖, ๙๗, ๑๑๑, ๑๑๔, ๑๑๕, ๑๓๑, ๑๓๙ ถึง ๑๔๒, ๑๕๔, ๑๖๓ ถึง ๑๖๕, ๑๗๙, ๑๘๑, ๑๘๒, ๑๘๖, ๑๙๐, ๑๙๕, ๑๙๖, ๒๐๒, ๒๐๓, ๒๐๕, ถึง ๒๐๘, ๒๑๕, ๒๑๗, ๒๑๘.

๑๒. ปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดในข้อ ๑๑ ถึง ๑๖, ๕๕ ถึง ๕๗, ๗๕ ถึง ๗๗, ๘๓, ๘๔, ๘๖, ๙๓ ถึง ๙๕, ๑๑๐, ๑๒๒, ๑๒๘, ๑๓๓, ๑๓๔, ๑๓๖, ๑๔๓, ๑๔๔, ๑๕๘, ๑๘๓, ๑๘๗, ๑๘๘, ๑๙๘, ๒๑๔.

๑๓. อปรเสลิยะ มีความเห็นผิดในข้อ ๑๑, ๑๒๘, ๑๓๖, ๑๙๘, ๒๑๔.

๑๔. ราชคิริกะ มีความเห็นผิดในข้อ ๖๔ ถึง ๖๙, ๑๒๕, ๑๕๒, ๑๖๖, ๑๖๗.

๑๕. สิทธัตถิกะ มีความเห็นผิดในข้อ ๖๔ ถึง ๖๙, ๑๖๖.

๑๖. เวตุลลกะ มีความเห็นผิดในข้อ ๑๗๖, ๑๗๗.

๑๗. เวตุลลกะ มหาสุญญตาวาทะ มีความเห็นผิดในข้อ ๑๗๐ ถึง ๑๗๔๑).

จบเล่มที่ ๓๗ กถาวัตถุ

'๑' . การนับข้อของหนังสือ Guide Through The Abhighamma-Pitaka ไม่ตรงกับหนังสือนี้ สงสัยว่าจะนับ ตามอรรถกถาซึ่งขาดหายไปบางข้อ หนังสือนี้นับตามอภิธัมมปิฎก ครบทุกข้อ


ที่มา : http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/p ... m/4.1.html


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร