ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

การเกิดของสัญญา
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=35435
หน้า 4 จากทั้งหมด 4

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 14 ธ.ค. 2010, 16:24 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเกิดของสัญญา

พระพุทธองค์ให้อริยสาวกละศีลและพรต และให้ปฏิบัติวิปัสสนาไป ตามครรลองคลองธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หรือปฏิบัติตามเหตุปัจจัย

สะสมความจริง คือ เห็นสิ่งทั้งปวง ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิด ว่ามันไม่เที่ยง ณ อารมณ์ปัจจุบัน ทำให้เกิด วิชชา หรือ ความจริงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาที่ดับทุกข์ได้

วิชชา จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิที่เป็นอนาสวะนับเนื่องเป็นองค์แห่งมรรค เมื่อมีสัมมาทิฏฐิแล้ว องค์ธรรมอื่นๆ ในมรรคจะเกิดตามกันมา ตามกฏของเหตุปัจจัย

เมื่อวิชชาบริบูรณ์ มรรค ๘ ก็บริบูรณ์ตามมา จากนั้น สติปัฏฐาน ๔ ก็จะเกิดบริบูรณ์ตามมา องค์ธรรมอื่นๆ ในโพธิปักฯ ๓๗ ประการ ก็จะเกิดตามมา ตามกฏของเหตุปัจจัย

แสดงง่ายๆ ว่า เมื่อเราฝึกมองธรรมชาติตามความเป็นจริง เราก็จะมีสัญญาความจำที่ทำได้ว่า สิ่งทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง คือ เกิดเป็นความเห็นความจริง เห็นตรงต่อความเป็นจริงของโลกและชีวิต คือ เห็นว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฯ อย่างมั่นคง สิ่งที่เราสะสมในสัญญาจะกลายมาเป็นวิบาก คือ สั่งให้เราเห็นสิ่งรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็น กาย เวทนา จิต ธรรม ว่า ที่จริงแล้วมันไม่เที่ยง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ฯ

เพราะฉะนั้น ฝึกวิปัสสนาอย่างเดียว ได้ทั้ง มรรค ๘ สติปัฏฐาน และองค์ธรรมที่จะทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานทั้งหมด

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 14 ธ.ค. 2010, 21:24 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเกิดของสัญญา

เมื่อเราวิปัสสนา จะมีปัญญาเกิดขึ้นประกบชวนะจิต ผลก็คือ เวทนาจะไม่เกิด แปลว่า ไม่มีการปรุงแต่งอารมณ์นั้น ไม่เกิดความหลงในอารมณ์นั้น เรียกว่า เกิดอุปธิวิเวก คือ ไม่มีการปรุงแต่ง ทำให้ไม่ยึดมั่นถือมั่น

เมื่อเกิออุปธิวิเวก จิตก็สงบ เป็นสมาธิ พระพุทธองค์แสดงการเกิดสมาธิของพระอริยะให้พระอานนท์ฟังว่า เพราะอุปธิวิเวกจึงทำให้เกิดปฐมฌาน ฯ เพราะฉะนั้น สมาธิ เป็นเรื่องสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในการปฏิบัติธรรม สมาธิตั้งแต่ปฐมฌานถึงเนวสัญญาฯ ที่แสดงในพระไตรปิฏกจึงเป็นสมาธิของพระอริยะ หรือ ของผู้บรรลุธรรมอย่างน้อยโสดาปัตติผลเป็นต้นไป ไม่ใช่สมาธิของปุถุชน หรือ ต้องสำเร็จเป็นอริยบุคคลก่อนจึงได้เกิดสมาธิแบบนี้ได้

ปุถุชนปฏิบัติธรรม ให้วิปัสสนาอย่างเดียว ก็บรรลุธรรมได้ทั้ง ๒ ส่วน คือ ปัญญาวิมุติ และ เจโตวิมุตติ

ฌานลาภีบุคคลปฏิบัติธรรม ไม่เหมือนกับปุถุชนปฏิบัติธรรม พวกนี้คือพวกนักบวชนอกศาสนา เป็นพวกฤาษีพราหมณ์ ได้ฌานอภิญญามาก่อน พระพุทธองค์จะให้พิจารณาการเกิดดับในองค์ฌาน เพราะความเคยชินในการเข้าออกฌานทำให้วิปัสสนาตามปกติไม่ได้ และจะต้องปริวาสก่อนถึง ๔ เดือนถึงจะได้เริ่มปฏิบัติธรรม

การฝึกวิปัสสนา จะทำให้เกิดความคิดเห็นที่ตรงตามความเป็นจริง (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ) คือ เห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงฯ ความคิดเห็นเช่นนี้ จะทำให้เกิดศีลที่มั่นคง (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ) เพราะเมื่อเราไม่เกิดเวทนาในอารมณ์ ความพอใจไม่พอใจ ที่จะทำให้เกิดความอยากได้อยากมีอยากเป็นฯ ก็จะไม่มี หรือดับไปด้วย ความคิดเห็นเช่นนี้ ทำให้เราไม่ผิดศีลเลยสักข้อ เพราะไม่โกรธ ก็ไม่คิดจะฆ่า ไม่พอใจก็ไม่อยากได้ ก็จะไม่คิดจะลัก ฯ สุดท้าย จิตก็สงบเกิดเป็นสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)

เพราะฉะนั้น พุทธจึงเอาปัญญานำหน้า เมื่อเกิดปัญญารู้เห็นธรรมชาติตามความเป็นจริง ก็คือ มีปัญญาที่ดับทุกข์ได้ ศีลก็จะเกิดอย่างมั่นคง เพราะไม่มีเวทนาเกิดพร้อมอารมณ์ที่รับรู้ จิตก็สงบเป็นสมาธิ เป็นปัญญาชั้นโลกุตตระ

หรือพูดง่ายๆ ว่า ปัญญาเป็นพ่อ ศีลเป็นลูก สมาธิเป็นหลาน ...

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 15 ธ.ค. 2010, 13:49 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเกิดของสัญญา

พระพุทธองค์สอนว่า ทุกข์เกิดที่ใหน ให้ดับที่นั่น ดับทันทีที่มันเกิด อย่าให้มันได้เจริญงอกงาม และสอนต่อว่า การเกิดเวทนาก็คือการเกิดของทุกข์ ทุกข์เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นอกนั้น ไม่มีทุกข์เกิด จะดับทุกข์ ก็ต้องดับที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติที่ดับเวทนาไม่ได้ หรือ ดับทุกข์ทันทีไม่ได้ จึงไม่ใช่คำสอนที่ถูกต้องครบถ้วนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และท่านได้สอนว่า ให้พิจารณา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิด ว่า มันไม่เที่ยง ฯ เป็นประจำ วิชชาจึงเกิด จึงละอวิชชาได้ จึงละสังโยชน์ได้

ถ้าใครประมาท ไม่วิปัสสนา สัญญาที่เป็นอกุศล หรือ บาป ก็ยังสามารถเกิดขึ้นมาได้ ถ้าไม่ประมาท คือ รู้เห็นอะไรก็วิปัสสนาว่า มันไม่เที่ยง ฯ อกุศลสัญญาก็จะไม่เกิด จิตที่ประมาท ก็ืคือ ประมาทต่ออกุศล

ในบรรดาอกุศลจิต ๑๒ ดวง เสขบุคคลตั้งแต่โสดาบันถึงสกิทาคามีดับได้เพียง ๕ ดวงเท่านั้น คือ อกุศลที่ประกอบด้วยทิฏฐิ ๔ ดวง และวิจิกิจฉา ๑ ดวง นอกจากนั้น อีก ๗ ดวง ยังเกิดขึ้นมาได้ตามปกติ พอได้อนาคามีดับอีก ๒ ดวงคืออกุศลที่ประกอบด้วยโทสะ ที่เหลือดับหมดเมื่อบรรลุอรหันตผล

สติ เป็นเจตสิกธรรม ที่ทำใหน้าที่ดึงสัญญาความทรงจำมาให้จิต การเจริญสติปัญญา จึงหมายถึง การสะสมปัญญาไว้ในสัญญามากๆ ให้สติดึงความจริงหรือปัญญามาให้ใจรับทราบ การที่คนจะเกิดสติปัญญาได้ ในสัญญาจะต้องมีปัญญาก่อน สติปัญญาจึงจะเกิด

สติสัมปัญชัญญะ คือ การระลึกรู้อริยาบท (นั่ง เดิน ยืน นอน) เป็นการสอนพระอริยะก่อนที่จะฝึกวิปัสสนาเพื่ออรหันตผล หรือเป็นการเตรียมตัวก่อนฝึกวิปัสสนาในมรรคเบื้องสูง เพื่อให้สามารถวิปัสสนาได้ทุกอริยาบท พระพทธองค์ก็ไม่ได้สอนให้ตามดูเฉยๆ ดูแล้วก็ให้พิจารณา เพื่อให้เกิด อนิจสัญญา ทุขสัญญา อนันตสัญญา ตามไปด้วย ถ้าตามดูเฉยๆ ก็ไม่มีปัญญาประกอบ เป็นเพียงมิจฉาสมาธิเท่านั้น ในพระสูตร พระพุทธองค์สอนให้พระอริยะ หรือ ผู้ที่มี ปัญญินทรีย์แล้ว เจริญสติสัมปัญชัญญะ ไม่ได้มีการสอนให้ปุถุชนนำไปปฏิบัติ

การเจริญสติ ไม่มีในศาสนาพุทธ มีการเจริญ สติปัญญา และ สติสัมปัญชัญญะ เพราะสติ เป็นเจตสิกที่เจริญไม่ได้ เป็นเพียงสภาวะที่ทำหน้าที่ลากเอาความทรงจำมารายงานให้จิต ทำงานเป็นอัตโนมัติ

พระพุทธงค์ตรัสว่า สาวกคือผูิรู้ผู้เห็นอยู่ สิ่งที่สาวกรู้เห็น เกิดจากการได้สดับ คือ ได้ฟังมาว่า สิ่งทั้งปวง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส ความคิด กาย เวทนา จิต ธรรม มันไม่เที่ยง ฯ ไม่น่ายึดถือ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ฯ หรือ รู้เห็นกฏธรรมชาติ ๒ กฏ คือ ไตรลักษณ์ และอิทัปปัจจยตา ผู้ที่ได้ยินได้ฟังอย่างนี้ รู้เห็นอย่างนี้ จึงเรียกว่า สาวกผู้รู้ผู้เห็นอยู่ วิชชาจึงจะเกิดกับผู้มีความรู้แบบนี้ เพราะความรู้นี้ คือ ความจริงของโลกและชีวิต เป็นความรู้ที่เอามาดับทุกข์ได้

เมื่อรู้เห็นอย่างนี้แล้ว ก็เอามาพิจารณาอามณ์ และวัตถุรอบๆ ตัวว่า มันไม่เที่ยง ฯ เพมื่อพิจารณาไปอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ก็จะประหารกิเลสได้ เรียกว่า ได้ปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหารปริญญา

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 15 ธ.ค. 2010, 20:31 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเกิดของสัญญา

การปฏิบัติธรรม ในสัมยพุทธกาล เริ่มจาก ปุถุชนได้ฟังสัทธรรม คือ สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง ฯ เห็นตามนั้น ก็ึคือ มีดวงตาเห็นธรรม ผู้ที่ยังไม่บวชก็เป็นอุบาสกอุบาสิกา ปฏิบัติ ทาน ศีล ภวานา อยู่แบบปกติ ดูแลพระพุทธศาสนา ก็มีบ้างที่บรรลุอรหันต์ หรืออนาคามีก่อนตาย

ทาน คือ ให้ตัวเอง ให้ผู้อื่น อย่าไปทำไม่ดี (เพราะเสขบุคคลยังมีอกุศลจิตเกิดได้ ๗ ดวง ปุถุชนเกิดได้ ๑๒ ดวง) และวิปัสสนาภาวนาไป สร้างวิชชาทั้ง ๖ คือ วิชชาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

การมีดวงตาเห็นธรรม ถือว่า ก้าวข้ามภูมิปุถุชนไปแล้ว เป็นสัทรานุสารี ธัมมานุสารี เป็นโสดาบัน ถือเป็นอริยสาวก พระพุทธองค์จะชักชวนให้บวช ท่านตรัสไว้ว่า ฆราวาสจะฝึกจนบรรลุอรหันตผลเพียงส่วนเดียวนั้นยากเหมือนหอยสังข์ที่เขาเอามาขัดให้เรียบ (อรหันต์มีบรรลุ ๒ ส่วน) หลังจากบวชแล้ว จึงจะเริ่มปฏิบัติธรรมในฐานะพระอริยสงฆ์ ซึ่งมีบันทึกอย่างละเอียดในพระไตรปิฏก

หลักสูตรการปฏิบัติในพระไตรปิฏก จึงเป็นการสอนพระอริยะสงฆ์เสียส่วนมาก มีการเรียนการสอนเป็นขั้นตอน เริ่มจากศึกษาศีล ๒๒๗ ข้อให้ได้ก่อน ไม่มีการกระโดดข้าม มีแสดงละเอียดในทัณตภูมิสูตรเรื่องหลักสูตรของพระอริยะ

เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนในพระไตรปิฏก ให้ดูให้ดีๆ ว่า ท่านสอนบุคคลระดับใหน คนธรรมดา หรืออริยะ ถ้าเป็นอริยะ เป็นเสขะบุคคล หรืออเสขะบุคคล เพราะถ้าปฏิบัติธรรมไม่ถูกบุคคลแล้ว ก็คือ ปฏิบัติไม่ถูกธรรมทันที

เจ้าของ:  student [ 17 ธ.ค. 2010, 03:36 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเกิดของสัญญา

อ่านแล้วดีครับ ได้ความรู้เพิ่มขึ้น การนั่งวิปัสสนา นำประโยชน์ให้กับคนที่ตั้งใจนั่งจริงๆ แล้วความละเอียดของจิต เกี่ยวพันกับร่างกายอย่างไรครับ เช่น เรานั่งภาวนาทุกๆวัน จนหน้าอกที่แต่ก่อนร้อนวูบวาบ รู้สึกว่าหัวใจเต้นแรงตุบๆ เวลาโกรธหรือทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานมั่ง มาตอนนี้เหมือนว่านุ่มไปหมด ความขุ่นเคืองเบาลงไปแม้ว่าหัวใจเหมือนเต้นเบาลงมาก เป็นผลจากการนั่งสมาธิทำให้เราสงบลงอย่างนี้หรือปล่าวครับ ตอนนี้ถือปฏิบัติวันละ2ครั้ง ประมาณ1 ชม.ต่อครั้ง นั่งแล้วใช้วิธีอะไรนั้นก็หลัก สัญญา มาก่อนหากเวทนาเกิดก็จะพิจารณาไปเรื่อยๆ หากไม่สงบก็จะไม่หยุด มาสงสัยว่าตอนไหนที่เราควรถอนจากสมาธิ มารู้ว่าตอนเช้านั่งพิจารณาได้ดีกว่าตอนดึกก่อนนอน บางครั้งก็จะนั่ง3ครั้ง ส่วนขั้นตอนก็ถือเอาสติมาเป็นตัวหลัก การเก้าย่าง การทำงาน ระลึกได้บ้าง บางครั้งก็เผลอลืมไปนานเป็นชั่งโมงเพราะเวทนาเกิดเช่นไม่โมโห แต่อาจจะหัวเราะ แต่จะสร้างกรอบไว้ไม่หัวเราะบนความทุกข์ของคนอื่น แต่จะพยายามระลึกว่าถึงเรามีความสุขจากความสงบของวันนี้เราก็อย่าเผลอไปมากกว่านี้เพราะตามภาษาพระความประมาทจะบังเกิดขึ้นกับเรา แล้วคุณมีความคิดเห็นอย่างไรครับ
ก็ขออภัยที่อาจจะไม่เกี่ยวกับอภิธรรม

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 10:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: การเกิดของสัญญา

เอาสมาธิทิ้งไปก่อน สมาธิจะเกิดเองถ้าวิปัสสนาต่อเนื่อง พระพุทธองค์ไม่ให้ปุถุชนไปนั่งสมาธิ เพราะถ้าไปนั่งตอนเป็นปุถุชน จะไม่มีปัญญาประกอบ ถือเป็นมิจฉาสมาธิ

วิปัสสนา ไม่ใช่นั่งเฉยๆ ทำได้ตลอดทั้งวัน ยกตัวอย่าง หูได้ยินเสียงด่า ก็พิจารณาเสียงนั้นว่า ไม่เที่ยง ฯ พิจารณาต่อว่า คนด่าก็ไม่เที่ยง หนุ่ม แก่ เจ็บ ตาย ตัวเราคนฟังก็ไม่เที่ยง ฯ เหมือนกัน ปัญญาจะเกิดขึ้นมาประกอบชวนะจิต เวทนา คือ ความพอใจ ไม่พอใจ ในเสียง จะไม่มี ผลก็คือ ไม่โกรธ ไม่หลง จิตก็นิ่งเป็นสมาธิได้เอง แบบนี้ คือ การปฏิบัติวิปัสสนาภวนาที่ถูกต้อง ... คือ สร้างความเห็นจริง เห็นตรง กับปัจจุบันอารมณ์ ชวนะจิตจึงจะเสพความจริง

ถ้าเอาสมาธิไปดับเวทนา ชวนะจิตจะเสพอุเบกขาเวทนา เรียกว่า เอาหินไปทับหญ้า ไม่ได้เกิดปัญญา จะทำให้เฉยๆ ตอบสนองต่ออารมณ์ที่ได้รับกระทบสัมผัส ดูภายนอก จะเหมือนว่าดับทุกข์ได้ จริงๆ เป็นเพียงการหลบทุกข์ชั่วคราว ไม่มีผลถึงมรรคผลนิพพาน บางคนทำจนเชี่ยวชาญ จะคิดว่าบรรลุอริยะแล้ว

การติดตามอริยาบท ก้าว เดิน นั่ง ฯ เป็นการฝึกสำหรับอริยบุคคล ไม่ใช่การฝึกของปุถุชน เพราะอริยบุคคล โดยเฉพาะพระอริยะ มีปัญญาอยู่แล้ว การกระทำของท่านจะประกอบด้วยปัญญาเสมอ เป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐานเพื่อหรันตผล ถือเป็นมรรคเบื้องสูง ไม่ใช่มรรคเบื้องล่าง

ในพระไตรปิฏก ส่วนมาก เป็นการสอนพระอริยะ ไม่ได้สอนฆราวาส พระที่บวชใหม่ เป็นสมมุติสงฆ์ ไปอ่านพระไตรปิฏก เห็นว่า ท่านกล่าวว่า ดูกรภิกษุ ท่านเห็นว่า ฉันก็บวชเป็นภิกษุ น่าจะเอามาปฏิบัติได้นะ แต่ท่านไม่ได้ดูตัวเองว่า ท่านเป็นสมมุตติสงฆ์ไม่ได้เป็นอริยสงฆ์ ท่านก็เอาหลักสูตรของพระอริยะมาปฏิบัติ ยังไม่พอ ท่านก็ดันเอามาสอนฆราวาสอีก ท่านอ่านเพียงสูตรเดียวตอนเดียว แล้วก็ยืนยันว่า มีในพระไตรปิฏก แลัวก็เอามาตั้งเป็นสำนักวิปัสสนามากมายในโลก ... ถ้ามองอย่างละเอียด คือ พวกท่านกำลังพากันทำลายพุทธศาสนาอย่างย่อยยับ

หน้า 4 จากทั้งหมด 4 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/