ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

เหตุ
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=35803
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 16 ธ.ค. 2010, 20:09 ]
หัวข้อกระทู้:  เหตุ

เหตุ คือ ธรรมที่เป็นรากเง่าเค้ามูลที่ให้จิตเป็นอกุสล เป็นกุสล หรือเป็น อพยากตะ เหตุสังคหะ เป็นการรวบรวมแสดงเรื่องเหตุ มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็น อกุสลเหตุ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นกุสลเหตุ และอพยากตเหตุ

เหตุ มี ๖ เหตุ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ

- โลภเหตุ องค์ธรรม ได้แก่ โลภเจตสิก

- โทสเหตุ องค์ธรรม ได้แก่ โทสเจตสิก

- โมหเหตุ องค์ธรรม ได้แก่ โมหเจตสิก

- อโลภเหตุ องค์ธรรม ได้แก่ อโลภเจตสิก

- อโทสเหตุ องค์ธรรม ได้แก่ อโทสเจตสิก

- อโมหเหตุ องค์ธรรม ได้แก่ ปัญญาเจตสิก

โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ เป็นเจตสิก ๓ ดวง เป็น อกุสลเจตสิก เมื่อ เจตสิกทั้ง ๓ คือเหตุทั้ง ๓ นี้ประกอบกับจิต ก็เป็นมูลฐานให้จิตเป็นอกุสล อันเป็น จิตที่ชั่วที่บาป เป็นจิตที่มีโทษและจักให้ผลเป็นทุกข์ ดังนั้น โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ จึงได้ชื่อว่าเป็น อกุสลเหตุ อกุสลเหตุประกอบกับจิตใด จิตนั้นก็เป็น อกุสลจิต

อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เป็นโสภณเจตสิกทั้ง ๓ ดวง เมื่อเจตสิกทั้ง ๓ คือเหตุทั้ง ๓ นี้ประกอบกับจิต ก็เป็นมูลฐานให้จิตเป็นโสภณ เป็นจิตที่ดีงาม เรียกว่า โสภณจิต

อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ประกอบกับโสภณจิตประเภทกุสล เป็นจิตที่ดี งาม ฉลาด เป็นจิตที่ปราศจากโทษ และจักให้ผลเป็นสุขด้วย ดังนั้น อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ที่ประกอบกับกุสลจิตทั้งปวง จึงได้ชื่อว่าเป็น กุสลเหตุ

อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ประกอบกับโสภณจิตประเภทวิบากและกิริยา อันรวมเรียกว่า อพยากตจิต เป็นจิตที่ดี งาม ฉลาด ปราศจากโทษเหมือนกัน แต่ ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป เพราะไม่สามารถให้เกิดผลอย่างใดขึ้นมาได้ ดังนั้นอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ที่ประกอบกับวิบากจิตหรือกิริยาจิตทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่าเป็น อพยากตเหตุ

รวมได้ความว่า เมื่อกล่าวถึงจำนวนเหตุโดยประเภทที่ประกอบกับจิตก็มี ๙ เหตุ คือ อกุสลเหตุ มี ๓ ได้แก่ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ กุสลเหตุ มี ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ อพยากตเหตุ มี ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ

ถ้ากล่าวถึง จำนวนเหตุโดยประเภทแห่งองค์ธรรมแล้ว ก็มี ๖ เหตุ คือ โลภ เหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 16 ธ.ค. 2010, 20:13 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เหตุ

เหตุ กับ จิต

เหตุที่ประกอบกับจิต จิตทั้งหมดมี ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ จิตที่มีเหตุประกอบ กับ จิตที่ไม่มีเหตุประกอบ

ก. อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุประกอบ (ไม่มีสัมปยุตตเหตุ) คือ ไม่มี เหตุ ๖ ประกอบเลยแม้แต่เหตุเดียว

ข. สเหตุกจิต เป็นจิตที่มีสัมปยุตตเหตุ คือ มีเหตุ ๖ ประกอบอย่างน้อย ที่สุด ก็ ๑ เหตุ และอย่างมากไม่เกิน ๓ เหตุ

๑. อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีสัมปยุตตเหตุ คือ ไม่มีเหตุ ๖ ประกอบเลยแม้แต่ เหตุเดียว อเหตุกจิต มี ๑๘ ดวง ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ หสิตุปปาทจิต ๑

๒. เอกเหตุกจิต จิตที่มีเหตุประกอบเพียงเหตุเดียว เป็นจิตที่มีสัมปยุตตเหตุ เป็นสเหตุกจิต เอกเหตุกจิต มี ๒ ดวง ได้แก่ โมหมูลจิต ๒ ซึ่งเป็นจิตที่มีเหตุประกอบเพียงเหตุเดียว คือ โมหเหตุ

๓. ทวิเหตุกจิต จิตที่มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ เป็นจิตที่มีสัมปยุตตเหตุ เป็น สเหตุกจิต ทวิเหตุกจิต มี ๒๒ ดวง ได้แก่
- โลภมูลจิต ๘ มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ โลภเหตุ โมหเหตุ
- โทสมูลจิต ๒ มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ โทสเหตุ โมหเหตุ
- มหากุสลญาณวิปปยุตต ๔ มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ
- มหาวิบากญาณวิปปยุตต ๔ มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ
- มหากิริยาญาณวิปปยุตต ๔ มีเหตุประกอบ ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ

๔. ติเหตุกจิต จิตที่มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ เป็นจิตที่มีสัมปยุตตเหตุ เป็น สเหตุกจิต ติเหตุกจิต มี ๔๗ หรือ ๗๙ ดวง ได้แก่
- มหากุสล ญาณสัมปยุตตจิต ๔
- มหาวิบาก ญาณสัมปยุตตจิต ๔
- มหากิริยา ญาณสัมปยุตตจิต ๔
- มหัคคตจิต ๒๗
- โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐

มีเหตุประกอบ ๓ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ

ข้อสังเกต

อเหตุกจิต ไม่มีเหตุประกอบเลย
อกุสลจิต มีเหตุประกอบอย่างน้อย ๑ เหตุ อย่างมาก ๒ เหตุ
โสภณจิต มีเหตุประกอบอย่างน้อย ๒ เหตุ อย่างมาก ๓ เหตุ

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 16 ธ.ค. 2010, 20:18 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เหตุ

นับจำนวนเหตุ

อกุสลเหตุ ๓

โลภเหตุ ประกอบในโลภมูลจิต ๘ เป็น ๘ เหตุ
โทสเหตุ ประกอบในโทสมูลจิต ๒ เป็น ๒ เหตุ รวมอกุสลเหตุ ๒๒ เหตุ
โมหเหตุ ประกอบในโลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ เป็น ๑๒ เหตุ โมหมูลจิต ๒

กุสลเหตุ ๓

อโลภเหตุ ประกอบในมหากุสล ๘ เป็น ๘ เหตุ ประกอบในมหัคคตกุสล ๙ เป็น ๙ เหตุ รวมอโลภเหตุ ๒๑ เหตุ ประกอบในมัคคจิต ๔ เป็น ๔ เหตุ (อย่างพิสดาร ๓๗ เหตุ มัคคจิตอย่างพิสดาร ๒๐ ก็เป็น ๒๐ เหตุ)

อโทสเหตุ ประกอบในมหากุสล ๘ เป็น ๘ เหตุ ประกอบในมหัคคตกุสล ๙ เป็น ๙ เหตุ รวมอโทสเหตุ ๒๑ เหตุ ประกอบในมัคคจิต ๔ เป็น ๔ เหตุ (อย่างพิสดาร ๓๗ เหตุ มัคคจิตอย่างพิสดาร ๒๐ ก็เป็น ๒๐ เหตุ)

อโมหเหตุ ประกอบในมหากุสลญาณสัมปยุตต ๔ เป็น ๔ เหตุ ประกอบใน มหัคคตกุสล ๙ เป็น ๙ เหตุ รวมอโมหเหตุ ๑๗ เหตุ ประกอบใน มัคคจิต ๔ เป็น ๔ เหตุ (อย่างพิสดาร ๓๓เหตุ มัคคจิตอย่างพิสดาร ๒๐ ก็เป็น ๒๐ เหตุ)

รวมกุสลเหตุ คืออโลภเหตุ ๒๑ อโทสเหตุ ๒๑ อโมหเหตุ ๑๗ เป็น ๕๙ เหตุ

อย่างพิสดาร คือ อโลภเหตุ ๓๗ อโทสเหตุ ๓๗ อโมหเหตุ ๓๓ เป็น ๑๐๗ เหตุ


อพยากตเหตุ ๓

อโลภเหตุ ประกอบในมหาวิบาก ๘ เป็น ๘ เหตุ ประกอบในมหากิริยา ๘ เป็น ๘ เหตุ ประกอบใน มหัคคตวิบาก ๙ เป็น ๙ เหตุ รวมอโลภเหตุ ๓๘ เหตุ ประกอบในมหัคคตกิริยา ๙ เป็น ๙ เหตุ (อย่างพิสดาร ๕๔ เหตุ) ประกอบใน ผลจิต ๔ เป็น ๔ เหตุ (ผลจิตอย่างพิสดาร ๒๐ ก็เป็น ๒๐ เหตุ)

อโทสเหตุ ประกอบในมหาวิบาก ๘ เป็น ๘ เหตุ ประกอบในมหากิริยา ๘ เป็น ๘ เหตุ ประกอบใน มหัคคตวิบาก ๙ เป็น ๙ เหตุ รวมอโทสเหตุ ๓๘ เหตุ ประกอบในมหัคคตกิริยา ๙ เป็น ๙ เหตุ (อย่างพิสดาร ๕๔ เหตุ) ประกอบในผลจิต ๔ เป็น ๔ เหตุ (ผลจิตอย่างพิสดาร ๒๐ ก็เป็น ๒๐ เหตุ)

อโมหเหตุ ประกอบในมหาวิบากญาณสัมปยุตต ๔ เป็น ๔ เหตุ ประกอบในมหากิริยาญาณสัมปยุตต ๔ เป็น ๔ เหตุ ประกอบในมหัคคตวิบาก ๙ เป็น ๙ เหตุ รวมอโมหเหตุ ๓๐ เหตุ ประกอบในมหัคคตกิริยา ๙ เป็น ๙ เหตุ (อย่างพิสดาร ๔๖ เหตุ) ประกอบในผลจิต ๔ เป็น ๔ เหตุ (ผลจิตอย่างพิสดาร ๒๐ ก็เป็น ๒๐ เหตุ)

รวมอพยากตเหตุคืออโลภเหตุ ๓๘ อโทสเหตุ ๓๘ อโมหเหตุ ๓๐ เป็น ๑๐๖ เหตุ

อย่างพิสดารคืออโลภเหตุ ๕๔ อโทสเหตุ ๕๔ อโมหเหตุ ๔๖ เป็น ๑๕๔ เหตุ

รวม อกุสลเหตุ ๒๒ เหตุ อย่างพิสดารก็ ๒๒ เหตุ กุสลเหตุ ๕๙ เหตุ อย่างพิสดารก็ ๑๐๗ เหตุ อพยากตเหตุ ๑๐๖ เหตุ อย่างพิสดารก็ ๑๕๔ เหตุ รวมเหตุทั้งหมดเป็น ๑๘๗ เหตุ อย่างพิสดารก็ ๒๘๓ เหตุ

คิดจำนวนเหตุอย่างง่าย

โลภมูลจิต ๘ ดวง x ๒ เหตุ เป็น ๑๖ เหตุ
โทสมูลจิต ๒ ดวง x ๒ เหตุ เป็น ๔ เหตุ รวม ๒๒ เหตุ
โมหมูลจิต ๒ ดวง x ๑ เหตุ เป็น ๒ เหตุ
กามโสภณ ญาณวิปปยุตต ๑๒ ดวง x ๒ เหตุ เป็น ๒๔ เหตุ
รวม ๖๐ เหตุ

กามโสภณ ญาณสัมปยุตต ๑๒ ดวง x ๓ เหตุ เป็น ๓๖ เหตุ
มหัคคตจิต ๒๗ ดวง x ๓ เหตุ เป็น ๘๑ เหตุ
รวม ๑๐๕ เหตุ

โลกุตตรจิต ๘ ดวง x ๓ เหตุ เป็น ๒๔ เหตุ

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 16 ธ.ค. 2010, 20:26 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เหตุ

เหตุกับเจตสิก

เหตุกับเจตสิกนี้ เป็นการแสดงว่า เจตสิกใดมีเหตุอะไรบ้าง หรือว่า เจตสิกใด เกิดพร้อมกับเหตุอะไรได้บ้าง มีแสดงเป็น ๒ นัย มีชื่อว่า อคหิตัคคหณนัย และ คหิตัคคหณนัย

อคหิตัคคหณนัย คือ นับแล้วไม่นับอีก หมายความว่า ธรรมใดเจตสิกใดที่ได้ ยกเป็นหัวข้อขึ้นแสดงแล้ว ยกมากล่าวแล้ว จะไม่นำมาแสดง ไม่นำมากล่าวอ้าง ไม่นำมานับซ้ำอีก

คหิตัคคหณนัย คือ นับแล้วนับอีก หมายความว่า ธรรมใดเจตสิกใดที่ได้ยก เป็นหัวข้อขึ้นแสดงแล้ว ยกมากล่าวอ้างแล้ว ก็ยังจะต้องนำมาแสดง ยกมากล่าวอ้าง นำมานับซ้ำอีก

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 16 ธ.ค. 2010, 20:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เหตุ

อคหิตัคคหณนัย

๑. เจตสิกที่มี เหตุเดียว มี ๓ ดวง ได้แก่ โลภะ โทสะ วิจิกิจฉา

๒. เจตสิกที่มี ๒ เหตุ มี ๙ ดวง ได้แก่ โมหะ ทิฏฐิ มานะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ อโลภะ อโทสะ ปัญญา

๓. เจตสิกที่มี ๓ เหตุ มี ๒๗ ดวง ได้แก่ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ ถีนะ มิทธะ และ โสภณเจตสิก ๒๒ (เว้น อโลภะ อโทสะ ปัญญา)

๔. เจตสิกที่มี ๕ เหตุ มี ๑ ดวง ได้แก่ ปิติ

๕ เจตสิกที่มี ๖ เหตุ มี ๑๒ ดวง ได้แก่ อัญญสมานาเจตสิก ๑๒ (เว้นปิติ)

อธิบาย

ในข้อ ๑ โลภเจตสิก จะต้องเกิดพร้อมกับโมหะอย่างแน่นอน จะเกิดแต่ลำพัง โดยไม่มีโมหะไม่ได้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า โลภเจตสิก มีเหตุเดียว คือ โมหเหตุ

โทสเจตสิกก็ดี วิจิกิจฉาเจตสิกก็ดี ก็จะต้องเกิดกับโมหะเช่นเดียวกัน ดังนั้น โทสเจตสิก จึงมีเหตุเดียว คือ โมหเหตุ และวิจิกิจฉาเจตสิก ก็มีเหตุเดียว คือ โมหเหตุ

ในข้อ ๒ โมหเจตสิก เป็นเจตสิกที่มี ๒ เหตุ เพราะว่าโมหเจตสิกที่เกิดพร้อม กับโลภะก็มีโลภเหตุเป็นเหตุ เมื่อโมหเจตสิกเกิดพร้อมกับโทสะ ก็มีโทสะเหตุเป็น เหตุ รวมความว่า โมหเจตสิก มีโลภเหตุเป็นเหตุก็ได้ มีโทสเหตุเป็นเหตุก็ได้ ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า โมหเจตสิก มี ๒ เหตุ

ทิฏฐิเจตสิก กับ มานเจตสิก รวม ๒ ดวงนี้จะต้องเกิดพร้อมกับโลภะ โลภะ ก็ต้องเกิดพร้อมกับโมหะ เป็นอันว่าทิฏฐิเจตสิกก็ดี มานเจตสิกก็ดี แต่ละดวงต่างก็ จะต้องเกิดพร้อมกับโลภะและโมหะ ดังนั้น ทิฏฐิ มานะ เป็นเจตสิกที่มี ๒ เหตุ คือ มีโลภเหตุ โมหเหตุเป็นเหตุร่วมพร้อมกัน

อิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก กุกกุจจเจตสิก รวม ๓ ดวงนี้ แต่ละดวงที่เกิด จะต้องเกิดร่วมกับโทสะและโมหะด้วยพร้อมกัน ดังนั้น เจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้ แต่ละ ดวงมี ๒ เหตุ คือ โทสเหตุ โมหเหตุ เป็นเหตุร่วมพร้อมกัน

อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบพร้อมกันในจิตดวง ใด เจตสิก ๓ ดวงนี้ต่างก็เป็นเหตุซึ่งกันและกัน คือ

- อโลภเจตสิก ก็มี อโทสเหตุ และ อโมหเหตุ รวมมี ๒ เหตุ
- อโทสเจตสิก ก็มี อโลภเหตุ และ อโมหเหตุ รวมมี ๒ เหตุ
- ปัญญาเจตสิก ก็มี อโลภเหตุ และ อโทสเหตุ รวมมี ๒ เหตุ

ในข้อ ๓ อหิริกเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก อุทธัจจเจตสิก รวมเจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้อยู่ในประเภทโมจตุกเจตสิก ซึ่งประกอบกับอกุสลจิตได้ทุก ๆ ดวงทั้ง ๑๒ ดวง อกุสลจิตทั้งหมดนั้นมี ๓ เหตุ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ ดังนั้นเจตสิก ทั้ง ๓ ดวงที่กล่าวนี้จึงสามารถเกิดกับเหตุทั้ง ๓ นั้นได้ จึงได้ชื่อว่าเป็นเจตสิกที่มี ๓ เหตุ

ถีนเจตสิก มิทธเจตสิก ๒ ดวงนี้ ประกอบกับโลภมูลจิตก็ได้ ประกอบกับ โทสมูลจิตก็ได้ โลภมูลจิตมีโลภเหตุกับโมหเหตุ โทสมูลจิตมีโทสเหตุกับโมหเหตุ รวมจิต ๒ ประเภทนี้มี ๓ เหตุ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ ดังนั้น ถีนะ มิทธะ ซึ่งประกอบกับจิต ๒ ประเภทนี้ได้ จึงได้ชื่อว่า เป็นเจตสิกที่มี ๓ เหตุ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ

โสภณเจตสิก ๒๒ (เว้นอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิก ซึ่งเป็น ต้นเหตุ และได้กล่าวในข้อ ๒ แล้ว) เป็นเจตสิกที่สามารถเกิดพร้อมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิกได้ จึงกล่าวว่า โสภณเจตสิก ๒๒ ดวงนี้มี ๓ เหตุ

ในข้อ ๔ ปีติเจตสิก ดวงเดียว เป็นเจตสิกที่มี ๕ เหตุ คือ เมื่อเกิดพร้อมกับ โลภโสมนัสก็มี โลภเหตุ โมหเหตุ เมื่อเกิดกับโสมนัสญาณสัมปยุตต ก็มี อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ จึงรวมเป็น ๕ เหตุ เว้นโทสเหตุอย่างเดียว เพราะโทสมูลจิต นั้นไม่มีปิติ มีแต่โทมนัส

ในข้อ ๕ อัญญสมานาเจตสิก ๑๒ (เว้นปีติเจตสิก) เป็นเจตสิกที่มีเหตุทั้ง ๖ ครบบริบูรณ์ เพราะอัญญสมานาเจตสิก ๑๒ ดวงนี้ เกิดพร้อมกับเหตุใด ๆ ได้ทั้ง ๖ เหตุ

ที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นการแสดงตามนัยที่ นับแล้วไม่นับอีก ที่ชื่อ อคหิตัคคหณ นัย และคงจะเห็นแล้วว่า เจตสิก ดวงใดที่ได้ยกเป็นหัวข้อขึ้นกล่าวอ้างแล้ว เช่น โลภ เจตสิก โทสเจตสิก วิจิกิจฉาเจตสิก หรือเจตสิกดวงอื่น ๆ ก็ดี เมื่อได้ยกเป็น หัวข้อขึ้นกล่าวอ้างในข้อใดที่ใดแล้ว ก็ไม่ได้ยกมากล่าวอ้าง หรือยกมาแสดงซ้ำในข้อ อื่น ๆ อีกเลย ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า นับแล้วไม่นับอีก

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 16 ธ.ค. 2010, 20:31 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เหตุ

คหิตัคคหณนัย

๑. อเหตุกเจตสิก คือ เจตสิกที่ไม่มีเหตุ มี ๑๓ ดวง ได้แก่

    ก. อัญญสมานาเจตสิก ๑๒ (เว้นฉันทเจตสิก) ที่ประกอบกับอเหตุกจิต ๑๘

    ข. โมหเจตสิก ๑ เฉพาะที่ประกอบกับโมหมูลจิต ๒

๒. เอกเหตุกเจตสิก คือ เจตสิกที่มีเหตุเดียว มี ๒๐ ดวง ได้แก่

    ก. เจตสิก ๑๕ ดวง ที่ประกอบกับโมหมูลจิต ๒ (เว้นโมหเจตสิก)

    ข. เจตสิก ๓ ดวง คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก (สำหรับโมห เจตสิกนี้ หมายถึง ประกอบกับโลภมูลจิตโดยเฉพาะ และที่ประกอบ กับ โทสมูลจิตโดยเฉพาะ)

    ค. เจตสิก ๒ ดวง คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ที่ประกอบกับ ญาณวิปปยุตตจิต ๑๒

๓. ทวิเหตุกเจตสิก คือ เจตสิกที่มี ๒ เหตุ มี ๔๘ ดวง ได้แก่

    ก. เจตสิก ๔๕ ดวง (เว้นโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ ที่เป็น ตัวเหตุ) ที่ ประกอบกับทวิเหตุกจิต ๒๒

    ข. เจตสิก ๓ ดวง คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิก ที่ ประกอบกับติเหตุกจิต ๔๗ หรือ ๗๙

๔. ติเหตุกเจตสิก คือ เจตสิกที่มี ๓ เหตุ มี ๓๕ ดวง ได้แก่

    ก. อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง

    ข. โสภณเจตสิก ๒๒ ดวง (เว้นอโลภะ อโทสะ ปัญญา อันเป็นตัวเหตุ) ที่ประกอบกับติเหตุกจิต ๔๗ หรือ ๗๙

อธิบาย

๑. อเหตุกจิต ๑๘ ดวง มีเจตสิกประกอบได้อย่างมากที่สุด ๑๒ ดวง คืออัญญสมานาเจตสิก ๑๒ (เว้นฉันทเจตสิก) อันได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย มนสิการ วิตก วิจาร อธิโมกข วิริยะ และปิติ ใน บรรดาเจตสิกทั้ง ๑๒ ดวงนี้ ไม่มี โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก อันเป็นตัวเหตุทั้ง ๖ ประกอบร่วมอยู่ด้วยเลยแม้แต่ เหตุเดียว ดังนั้นเจตสิกทั้ง ๑๒ ดวงนี้ จึงได้ชื่อว่าเจตสิกที่ไม่มีเหตุตรงตามข้อ ๑ ก.

๒. โมหมูลจิต ๒ ดวง มีเจตสิกประกอบได้ คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๑ (เว้นปีติเจตสิก ฉันทเจตสิก)โมจตุกเจตสิก ๔ วิจิกิจฉาเจตสิก ๑ รวมเป็น ๑๖ ดวง ได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย มนสิการ วิตก วิจาร อธิโมกข วิริยะ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ และวิจิกิจฉา ในบรรดา เจตสิกทั้ง ๑๖ ดวงนี้ มีโมหเจตสิก อันเป็นตัวเหตุอยู่เพียง ๑ เหตุเท่านั้น เจตสิกอีก ๑๕ ดวง นั้น ไม่มีเจตสิกอันเป็นตัวเหตุอีกเลย ดังนั้นจึงไได้ชื่อว่า โมหเจตสิก ที่ใน โมหมูลจิต ๒ ดวงนี้ เป็นเจตสิกที่ไม่มีเหตุ ตรงตามข้อ ๑ ข. เพราะโมหเจตสิก ในที่นี้ แม้ตัวเองจะเป็นตัวเหตุก็จริง แต่ไม่มีเหตุอื่นมาประกอบร่วมอีกด้วยเลย

๓. โมหมูลจิต ๒ ดวง มี เจตสิกประกอบได้ ๑๖ ดวง ดังที่ได้กล่าวแล้วใน ข้อ ๒ ข้างบนนี้นั้น ในจำนวนเจตสิก ๑๖ ดวง มีโมหเจตสิกอันเป็นตัวโมหเหตุ ๑ และเจตสิกอื่น ๆ อีก ๑๕ ดวง เฉพาะเจตสิก ๑๕ ดวงนี้ เกิดร่วมกับโมหเจตสิกอัน เป็นโมหเหตุ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเจตสิก ๑๕ ดวงนี้เป็นเจตสิกที่มีเหตุ คือ โมหเหตุ เหตุเดียวตรงตามข้อ ๒ก.เพราะเจตสิก ๑๕ดวงนี้มีโมหเหตุเกิดมาร่วมประกอบด้วย

๔. โลภมูลจิต ๘ ดวง มีเจตสิกที่ประกอบได้ คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ โมจตุกเจตสิก ๔ โลติกเจตสิก ๓ และถีทุกเจตสิก ๒ รวม ๒๒ ดวง อันได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย มนสิการ วิตก วิจาร อธิโมกข วิริยะ ปีติ ฉันทะ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ โลภะ ทิฏฐิ มานะ ถีนะ และมิทธะ ในบรรดาเจตสิกทั้ง ๒๒ ดวงนี้ มีโลภเจตสิก อันเป็นโลภเหตุ ๑ มีโมห เจตสิกอันเป็นโมหเหตุ ๑ ร่วมอยู่ด้วยกัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า โลภเจตสิกมีเหตุ ๑ คือมีโมหเหตุเกิดร่วมด้วย และโดยทำนองเดียวกัน โมหเจตสิกในที่นี้ก็มีเหตุ ๑ คือมี โลภเหตุเกิดร่วมด้วย

โทสมูลจิต ๒ ดวง มีเจตสิกที่ประกอบได้ คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๒ (เว้น ปีติเจตสิก) โมจตุกเจตสิก ๔ โทจตุกเจตสิก ๔ และถีทุกเจตสิก ๒ รวม ๒๒ ดวง อันได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย มนสิการ วิตก วิจาร อธิโมกข วิริยะ ฉันทะ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ถีนะ และ มิทธะ ในบรรดาเจตสิกทั้ง ๒๒ ดวงนี้ มีโทสเจตสิกอันเป็น โทสเหตุ ๑ มีโมหเจตสิกอันเป็นโมหเหตุ ๑ เกิดร่วมอยู่ด้วยกัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า โทสเจตสิกมีเหตุ ๑ คือมีโมหเหตุเกิดร่วมด้วย และโดยทำนองเดียวกัน โมหเจตสิก ในที่นี้ (คือในโทสมูลจิตนี้) ก็มีเหตุ ๑ คือมีโทสเหตุเกิดร่วมด้วย

รวมความในข้อ ๔ นี้คงได้ความว่า โลภเจตสิกก็ดี โทสเจตสิกก็ดี โมหเจตสิก ที่ในโลภมูลจิตก็ดี และโมหเจตสิกที่ในโทสมูลจิตก็ดี ต่างก็มีเหตุเดียวเท่านั้น ตรง ตามข้อ ๒ ข.

๕. กามาวจรโสภณจิตญาณวิปปยุตต ๑๒ มีเจตสิก ประกอบ ๓๗ ดวง คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ โสภณเจตสิก ๒๔ (เว้นปัญญาเจตสิก) ในจำนวนเจตสิก ๓๗ ดวงนี้ มี อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ และเจตสิกอื่น ๆ อีก ๓๕ ดวง เพราะว่า อโลภเจตสิกเกิดร่วมกับอโทสเจตสิกซึ่งต่างก็เป็นตัวเหตุด้วยกันทั้งคู่ และ ต่างก็เป็นเหตุให้แก่กันและกัน ดังนั้นในที่นี้ อโลภเจตสิก ก็มีเหตุ ๑ คือ อโทสเหตุ และ อโทสเจตสิก ก็มีเหตุ ๑ คือ อโลภเหตุ ตรงตามข้อ ๒ ค.

๖. ทวิเหตุกจิต ๒๒ นั้นได้แก่ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ กามาวจรโสภณ ญาณวิปปยุตตจิต ๑๒

โลภมูลจิต ๘ มีเจตสิกประกอบ ๒๒ ดวง คือ โลภเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ และเจตสิกอื่น ๆ อีก ๒๐ ดวง เจตสิกอื่น ๆ (เว้นโลภะ โมหะ) ๒๐ ดวงนี้เกิด ร่วมกับโลภเจตสิก โมหเจตสิก ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า เจตสิก ๒๐ ดวงนี้ มี ๒ เหตุ คือ โลภเหตุกับโมหเหตุ

โทสมูลจิต ๒ มีเจตสิกประกอบ ๒๒ ดวง คือ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ และเจตสิกอื่น ๆ อีก ๒๐ ดวง เจตสิกอื่น ๆ (เว้นโทสะ โมหะ) ๒๐ ดวงนี้เกิด ร่วมกับโทสเจตสิก โมหเจตสิก ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า เจตสิก ๒๐ ดวงนี้มี ๒ เหตุ คือ โทสเหตุกับโมหเหตุ

กามาวจรโสภณญาณวิปปยุตตจิต ๑๒ มีเจตสิกประกอบ ๓๗ ดวง คือ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ และเจตสิกอื่น ๆ อีก ๓๕ ดวง เจตสิกอื่น ๆ (ที่ เว้น อโลภะ อโทสะ แล้ว) ๓๕ ดวงนี้ เกิดร่วมกับ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า เจตสิก ๓๕ ดวงนี้มี ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ และอโทสเหตุ

เมื่อรวมเจตสิกที่ประกอบกับทวิเหตุกจิต ๒๒ ดวง ที่กล่าวในข้อ ๖ นี้เข้าด้วย กันทั้งหมดแล้วหัก โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ เจตสิกที่เป็นตัวเหตุออก และหักเจตสิกที่ซ้ำกันออกเสียอีกด้วยแล้ว จะได้เจตสิก ๔๕ ดวง ในเจตสิก ๔๕ ดวงนี้แหละที่ได้ชื่อว่า มี ๒ เหตุ คือ

เจตสิกที่ไม่ใช่เหตุ ซึ่งประกอบกับโลภมูลจิตนั้น มี ๒ เหตุ คือ โลภเหตุกับโมหเหตุ

เจตสิกที่ไม่ใช่เหตุ ซึ่งประกอบกับโทสมูลจิตนั้น มี ๒ เหตุ คือ โทสเหตุกับโมหเหตุ

เจตสิกที่ไม่ใช่เหตุซึ่งประกอบกับกามจิตวิปปยุตตนั้น มี ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุกับอโทสเหตุ เป็นอันว่าตรงกับข้อ ๓ ก.

๗. จิตที่เป็นญาณสัมปยุตต ๔๗ หรือ ๗๙ ดวง จะต้องมี อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิก ประกอบ เจตสิก ๓ ดวงนี้ ก็คือเหตุทั้ง ๓ นั่นเอง เหตุทั้ง ๓ ที่เกิดร่วมกัน เกิดพร้อมกันนี้ ต่างก็เป็นเหตุให้แก่กันและกัน คือ

อโลภเจตสิก ก็มี อโทสเหตุ กับ อโมหเหตุ เป็นเหตุรวม ๒ เหตุ

อโทสเจตสิก ก็มี อโลภเหตุ กับ อโมหเหตุ เป็นเหตุรวม ๒ เหตุ

ปัญญาเจตสิก ก็มี อโลภเหตุ กับ อโทสเหตุ เป็นเหตุรวม ๒ เหตุ

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิก รวมเจตสิก ๓ ดวงนี้ แต่ละดวงก็เป็นเจตสิกที่มี ๒ เหตุ ตรงตามข้อ ๓ ข.

๘. จิตที่เป็นไตรเหตุ หรือ ติเหตุกจิต ๔๗ หรือ ๗๙ ดวง มีเจตสิกประกอบ ๓๘ ดวง คือ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ ปัญญาเจตสิก ๑ และเจตสิกอื่น ๆ อีก ๓๕ ดวง เพราะเจตสิก ๓๕ ดวงนี้เกิดร่วมพร้อมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญาเจตสิก อันเป็นตัวเหตุทั้ง ๓ นั่นเอง จึงได้ชื่อว่า เจตสิก ๓๕ (เว้น อโลภะ อโทสะ ปัญญา) ประกอบกับติเหตุกจิตนั้นเป็นเจตสิกที่มี ๓ เหตุ ตรงตามข้อ ๔

ที่กล่าวมาตอนนี้ เป็นการแสดงตามนัย นับแล้วนับอีก ที่ชื่อ คหิตัคคหณนัย ซึ่งคงจะเห็นแล้วว่า เจตสิก ดวงใดที่ได้ยกเป็นหัวข้อขึ้นกล่าวแล้ว อ้างแล้วเช่น อัญญสมานาเจตสิก โมหเจตสิก เป็นต้น ในข้อต่อมาก็ยังยกมาแสดง ยกมากล่าว อ้างซ้ำอีก ดังนี้ จึงได้ชื่อว่า นับแล้วนับอีก

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 18 ธ.ค. 2010, 19:29 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: เหตุ

เหตุ ๖

ผลย่อมเกิดเพราะธรรมเหล่านี้ ดังนั้นธรรมเหล่านี้จึงได้ชื่อว่า เหตุ ธรรมทั้ง หลายที่ได้รับอุปการะจากเหตุ ย่อมมีสภาพมั่นคงในอารมณ์ เหมือนต้นไม้ที่มีราก งอกงามแผ่ไปฉะนั้น

มีความหมายว่า ผลย่อมเกิดมาจากธรรมเหล่าใด ธรรมเหล่านั้นแหละชื่อว่า เหตุ

กล่าวอีกนัยหนึ่งอย่างสั้น ๆ ก็ว่า เหตุคือสิ่งที่ทำให้เกิดผล

เหตุมี ๖ ประการ คือ

    โลภะเหตุ องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก ที่ใน โลภมูลจิต ๘

    โทสเหตุ องค์ธรรมได้แก่ โทสเจตสิก ที่ใน โทสมูลจิต ๒

    โมหเหตุ องค์ธรรมได้แก่ โมหเจตสิก ที่ใน อกุสลจิต ๑๒

    อโลภเหตุ องค์ธรรมได้แก่ อโลภเจตสิก ที่ใน โสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

    อโทสเหตุ องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก ที่ใน โสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑

    อโมหเหตุ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ใน ญาณสัมปยุตตจิต๔๗หรือ๗๙

    โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ เหตุทั้ง ๓ นี้เป็นเหตุของอกุสลจิตและอกุสล เจตสิก จึงได้ชื่อว่า อกุสลเหตุ

    อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เหตุทั้ง ๓ นี้ เป็นเหตุของโสภณจิต และ โสภณเจตสิก

ถ้าอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ประกอบกับโสภณจิตประเภทที่เป็นกุสล จิต ก็เรียกเหตุทั้ง ๓ นี้ว่าเป็น กุสลเหตุ

เมื่อ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ประกอบกับโสภณจิตที่เป็นวิบากจิต และ กิริยาจิต ก็เรียกเหตุทั้ง ๓ นี้ว่าเป็น อพยากตเหตุ เพราะวิบากจิตและกิริยาจิต รวมจิต ๒ ประเภทนี้มีชื่อรวมว่า อพยากตจิต

ดังนี้ จึงได้รวมเหตุ ๖ ไว้ในมิสสกสังคหะนี้

เหตุ ๖ ประการ นี้ได้กล่าวแล้วโดยละเอียดในปริจเฉทที่ ๓ ตอนที่ว่าด้วยเหตุ สังคหะ

ขอกล่าวเพิ่มเติมในที่นี้อีกเล็กน้อย คือ

เมื่อกล่าวโดยบุคคลแล้ว อรหันตบุคคล ไม่มีอกุสลเหตุ ๓ และกุสลเหตุ ๓ เลยแม้แต่เหตุเดียว คงมีแต่อพยากตเหตุ ๓ เหตุ เท่านั้น

อนาคามิบุคคล รูปบุคคล(เว้นอสัญญสัตต) และ อรูปบุคคล ไม่มีโทสเหตุเลย ส่วนอกุสลเหตุอีก ๒ คือ โลภเหตุ โมหเหตุ และกุสลเหตุทั้ง ๓ นั้นยังคงมีอยู่ สำหรับอพยากตเหตุอีก ๓ ก็คงมีเฉพาะอพยากตเหตุที่ประกอบกับวิบากจิตเท่านั้น อพยากตเหตุที่ประกอบกับกิริยาจิตนั้นไม่มี เพราะอนาคามิบุคคลและรูปบุคคล อรูป บุคคลที่เป็นปุถุชน มีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวง ซึ่งก็เป็นอเหตุกกิริยาทั้งคู่

เฉพาะอสัญญสัตตบุคคล ไม่มีเหตุใด ๆ เลยแม้แต่สักเหตุเดียว

บุคคลอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วนี้ อกุลเหตุ ๓, กุสลเหตุ ๓ นั้นสามารถมีได้ โดยครบถ้วน อพยากตเหตุที่ประกอบกับวิบากจิตก็มีได้ แต่อพยากตเหตุที่ประกอบ กับกิริยาจิตก็ไม่มีเหมือนกัน

เมื่อกล่าวโดยภูมิแล้ว ในกามภูมินั้นมี อกุสลเหตุ กุสลเหตุ และอพยากตเหตุ ได้โดยครบถ้วน

ส่วนในรูปภูมิ(เว้นอสัญญสัตตภูมิ) และอรูปภูมินั้น โทสเหตุไม่มี เหตุอื่น นอกนั้นก็มีได้ทั้งนั้น

ในอสัญญสัตตภูมินั้น ไม่มีเหตุใด ๆ ทั้งสิ้น

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/