ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

กรรม
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=35837
หน้า 1 จากทั้งหมด 3

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 17:55 ]
หัวข้อกระทู้:  กรรม

กรรม คือ อะไรนั้น มีพุทธพจน์ดังปรากฏในอัฏฐสาลินีอรรถกถาว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจาย มนสา แปลเป็น ใจความว่า ภิกษุทั้งหลาย เรา(ตถาคต)กล่าวว่า เจตนานั่นแหละเป็นกรรม เมื่อมี เจตนาแล้ว บุคคลย่อมทำกรรมโดย ทางกาย ทางวาจา และทางใจ

หมายความว่า เจตนา คือ ความตั้งใจกระทำที่เกี่ยวด้วย กาย วาจา ใจ ทั้ง ทางดีและทางชั่ว นั่นแหละเป็นตัวกรรม และเจตนาที่เป็นกรรม ก็หมายเฉพาะแต่ กรรมในวัฏฏะ อันได้แก่ เจตนาในอกุสลจิต ๑๒ และในโลกียกุสลจิต ๑๗ รวม เจตนา ๒๙ จัดเป็นกรรม ๒๙ เท่านั้นเอง เว้นเจตนาในโลกุตตรกุสล ๔ คือ เจตนา ในมัคคจิต ๔

ที่เว้น เพราะเจตนาในมัคคกรรม ๔ เป็นกรรมที่ตัดวัฏฏะ ตัดความเวียนว่ายตายเกิดจึงเหลือกรรมในวัฏฏะ อันทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดเพียง ๒๙ เท่านั้น

ส่วนเจตนาในวิบากจิต ๓๖ ก็จัดเป็นกรรมไม่ได้ เพราะเจตนาในวิบากจิต เป็นผลของกรรม ไม่ใช่ตัวกรรม และเจตนาในกิริยาจิต ๒๐ ก็ไม่จัดเป็นกรรมในที่นี้ เพราะเจตนาในกิริยาจิตนั้นเป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำ ไม่เป็นบุญเป็นบาป จึงไม่อาจ ก่อให้เกิดผลอย่างใดขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงไม่จัดเป็นกรรมในที่นี้อีกเหมือนกัน

กรรมจตุกะนี้ ท่านจัดเป็น ๔ พวก คือ

    ก. ชนกาทิกิจจ กิจการงานของกรรม มีชนกกรรม เป็นต้น

    ข. ปากทาน ลำดับการให้ผลของกรรม

    ค. ปากกาล กำหนดเวลาให้ผลของกรรม

    ง. ปากฐาน ฐานที่ให้เกิดผลของกรรม

ชนกาทิกิจจก็ดี ปากทานก็ดี และปากกาลก็ดี รวม ๓ จำพวกนี้ เป็นการ แสดงตาม“สุตตันตนัย” คือตามนัยแห่งพระสูตร อันเป็นการแสดงว่าโดยส่วนมาก เป็นไปอย่างนั้น ไม่จำกัดลงไปแน่นอนว่า จะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป ส่วนจำพวก ที่ ๔ คือ ปากฐาน เป็นการแสดงตามอภิธัมมนัย คือตามนัยแห่งพระอภิธรรม อันเป็นการแสดงว่า จะต้องเป็นไปตามหลักนั้น ๆ เสมอไปอย่างแน่นอน

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 17:56 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

ก. ชนกาทิกิจจ

กิจการงานของกรรม หรือหน้าที่ของกรรมที่จะต้องกระทำอันเรียกว่า ชนกาทิ กิจจนั้น มี ๔ อย่าง คือ

(๑) ชนกกรรม กรรมที่ทำให้เกิด

(๒) อุปถัมภกกรรม กรรมอุดหนุน หรือส่งเสริม

(๓) อุปปีฬกกรรม กรรมที่เบียดเบียน

(๔) อุปฆาตกกรรม กรรมที่ตัดรอน

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 17:57 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

๑. ชนกกรรม

ชนกกรรม เป็นกรรมที่มีหน้าที่ทำให้เกิดซึ่งวิบากจิต และกัมมชรูป ทั้งใน ปฏิสนธิกาล และปวัตติกาล

ก. ทำให้วิบากเกิด และกัมมชรูปเกิดในปฏิสนธิกาล ก็ได้แก่ ทำให้เกิดเป็น สัตว์ดิรัจฉาน เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นต้น ชนกกรรมที่นำปฏิสนธินี้ ส่วนมาก ต้องเป็นกรรมที่ครบองค์ กล่าวคือ ถ้าเป็นอกุสลกรรมก็ต้องครบองค์แห่งกัมมบถ ถ้าเป็นกุสลกรรมก็ต้องครบองค์ของเจตนา

ข. ทำให้วิบากจิต และกัมมชรูปเกิดในปวัตติกาล ก็ได้แก่ ทำให้เกิดตา หู จมูก และอวัยวะน้อยใหญ่ ตลอดจนการให้เห็น การได้ยิน เป็นต้น กรรมที่นำให้ เกิดในปวัตติกาลนี้ จะเป็นกรรมที่ครบองค์แห่งกัมมบถหรือไม่ก็ตาม ย่อมให้ผลได้ ทั้งนั้น

วิมาน อันเป็นที่อยู่ของเทวดา ของพรหม หรือไฟและเครื่องทรมานพวก สัตว์นรก ก็จัดเป็นกัมมปัจจยอุตุชรูป ที่เกิดจากชนกกรรมด้วยเหมือนกัน

ชนกกรรมที่ทำให้เกิดวิบากจิต และกัมมชรูปนี้ ได้แก่ อกุสลกรรม ๑๒ และ โลกียกุสลกรรม ๑๗

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 17:57 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

๒. อุปถัมภกกรรม

อุปถัมภกกรรม คำบาลีว่า อุปัตถัมภกกัมม เป็นกรรมที่มีหน้าที่อุดหนุน หรือ ส่งเสริมกุสลกรรม และอกุสลกรรม

การอุดหนุน ส่งเสริมนั้น อุดหนุนส่งเสริมทั้งในทางดี และทางชั่ว กล่าวคือ ในทางดีก็ส่งเสริมให้กุสลกรรมส่งผลให้ดียิ่งขึ้น ในทางชั่วก็ส่งเสริมให้อกุสลกรรม ส่งผลให้เลวร้ายต่ำทรามมากลง

อุปถัมภกกรรมนี้ มีอัตถาธิบายอย่างพิศดารมากมาย แต่พอสรุปได้เป็น ๓ ประการ คือ

(ก) ช่วยอุดหนุนส่งเสริมชนกกรรมที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสส่งผล

(ข) ช่วยอุดหนุนส่งเสริมชนกกรรมที่กำลังให้ผลอยู่นั้น ให้มีกำลังในการให้ ผลนั้นยิ่งขึ้น

(ค) ช่วยอุดหนุนรูปนามที่เป็นวิบากของชนกกรรมให้เจริญ และตั้งอยู่ได้นาน

อุปถัมภกกรรมที่มีหน้าที่อุดหนุนส่งเสริมนี้ ได้แก่ อกุสลกรรม ๑๒ และ มหากุสลกรรม ๘ เท่านั้น

สำหรับมหัคคตกุสลกรรม ๙ นั้น มีหน้าที่เป็นชนกกรรมนำให้ปฏิสนธิเป็น พรหม บุคคลในพรหมภูมิแต่อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีหน้าที่อุปถัมภ์ คือ อุดหนุน ส่งเสริมกรรมอื่น ๆ แต่อย่างใดเลย เมื่อมหัคคตกุสลกรรม ๙ ไม่มีโอกาสได้ส่งผล ให้ปฏิสนธิแล้ว ก็เป็นอโหสิกรรมไป ไม่มีฐานะที่จะเป็นอุปถัมภกกรรมได้

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 17:58 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

๓. อุปปีฬกกรรม

อุปปีฬกกรรม เป็นกรรมที่มีหน้าที่เบียดเบียนกรรมอื่น ๆ และรูปนามที่เกิด จากกรรมอื่น ๆ นั้น มีความหมายเป็น ๒ นัย คือ

๑. เป็นกรรมที่เบียดเบียนชนกกรรมอื่น ๆ ที่มีสภาพตรงข้ามกับตน มีชื่อ เรียกว่า กัมมันตรอุปปีฬก

๒. เป็นกรรมที่เบียดเบียนรูปนามที่เกิดจากชนกกรรมนั้น ๆ มีชื่อเรียกว่า กัมมนิพพัตตขันธสันตานอุปปีฬก

การเบียดเบียนนี้ เมื่อสรุปแล้ว ก็มี ๓ ประการ คือ

(ก) เบียดเบียน ขัดขวางชนกกรรม เพื่อไม่ให้มีโอกาสได้ส่งผล

(ข) เบียดเบียนชนกกรรมที่มีโอกาสส่งผลอยู่แล้ว ให้มีกำลังลดน้อยถอยลง ได้ผลไม่เต็มที่

(ค) เบียดเบียน ผลที่ได้รับอยู่ คือ รูปนามที่เกิดจากชนกกรรมนั้นให้เสื่อม ถอย ไม่ให้เจริญต่อไป หรือไม่ให้ตั้งอยู่ได้นาน

อุปปีฬกกรรมนี้ก็ได้แก่อุปถัมภกกรรมนั่นเอง คืออกุสลกรรมอุดหนุนส่งเสริม อกุสลกรรมให้มีกำลังกล้าแข็งขึ้นเพียงใด ก็ย่อมเป็นการเบียดเบียนกุสลกรรม (อัน มีสภาพตรงกันข้ามกับอกุสลกรรม) นั้น ให้กุสลกรรมมีกำลังลดน้อยถอยลงเพียงนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อกุสลกรรมอุปถัมภ์อกุสลกรรมให้ได้ส่งผล ก็เป็นการเบียด เบียนขัดขวางไม่ให้กุสลกรรมได้โอกาสส่งผลไปในตัว ดังนั้น องค์ธรรมของอุปปีฬก กรรม จึงได้แก่ อกุสลกรรม ๑๒ และ มหากุสลกรรม ๘ เหมือนกับของอุปถัมภก กรรม

สำหรับมหัคคตกุสลกรรม ๙ เป็นกรรมที่ไม่นับว่าเป็นอุปปีฬกกรรม ไม่นับว่า เป็นกรรมที่เบียดเบียนขัดขวางอกุสลกรรม แต่จัดเป็นกรรมตัดรอนอกุสลกรรม คือ จัดเป็นอุปฆาตกกรรมเลยทีเดียว ไม่เพียงแต่เบียดเบียนกีดกัน แต่ข่มไว้จนอยู่มือ

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 17:58 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

๔. อุปฆาตกกรรม

อุปฆาตกกรรม เป็นกรรมที่มีหน้าที่ตัดรอนกรรมอื่น ๆ และวิบากของกรรม อื่นนั้นให้สิ้นลง เป็นการตัดให้ขาดสะบั้นไปเลย

การตัดรอนของอุปฆาตกกรรม เมื่อสรุปแล้วก็มี ๔ ประการ คือ

(ก) กุสลอุปฆาตกกรรม ตัดรอนกุสลชนกกรรม และรูปนามที่เป็นกุสลวิบาก เช่น ผู้เจริญสมถภาวนาจนถึงรูปาวจรปัญจมฌานกุสล เมื่อตายไปก็ไปบังเกิดเป็น จตุตถฌานพรหมตัดรอนไม่ให้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มีโอกาสให้ ผล เป็นต้น

(ข) กุสลอุปฆาตกกรรม ตัดรอนอกุสลชนกกรรม และรูปนามที่เป็นอกุสล วิบาก เช่น พระองคุลิมาล ฆ่าคนเป็นจำนวนมากมาย น่าที่จะต้องตกนรกแน่นอน แต่เมื่อได้กลับใจมาเจริญภาวนาจนถึงอรหัตตมัคค อรหัตตผล ด้วยอำนาจเพียงโสดา ปัตติมัคคจิต ก็เป็นกุสลอุปฆาตกกรรม ตัดรอนอกุสลชนกกรรมเหล่านั้นได้หมดสิ้น ไม่ให้มีโอกาสได้ส่งผลให้ไปตกนรกได้ตลอดไปเลย เป็นต้น

(ค) อกุสลอุปฆาตกกรรม ตัดรอนอกุสลกรรมชนกกรรม และรูปนามที่เป็น อกุสลวิบาก ตัวอย่างเช่น เกิดเป็นสุนัข ซึ่งเป็นอกุสลวิบากแล้วยังกลับมาถูกรถทับ ตายอีก การถูกรถทับก็เป็นอกุสลกรรมที่ตามมาทัน โดยทำหน้าที่เป็นอุปฆาตกกรรม ทำให้รูปนามขาดสะบั้นไปเลย

(ง) อกุสลอุปฆาตกกรรม ตัดรอนกุสลชนกกรรม และรูปนามที่เป็นกุสล วิบาก เช่น พระเทวทัตเป็นผู้ที่ได้ฌานอภิญญา แต่ต่อมาได้กระทำโลหิตุปปาท และ สังฆเภทกกรรมอีกด้วยอันเป็นอนันตริยกรรม ดังนั้นอนันตริยกรรมจึงเป็นอุปฆาตก กรรมตัดรอนมหัคคตกุสลกรรมเสียสิ้นเชิง จนต้องไปเกิดในนรก ดังนี้เป็นต้น

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 17:59 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

ลำดับการให้ผลของกรรม เรียกว่า ปากทาน อันมาจาก คำเต็มว่า ปากทาน ปริยาย ปาก(ปฏิสนธิ) + ทาน(การให้) + ปริยาย(ลำดับหรือวาระ) มีความหมาย ว่า กรรมที่ให้ผลปฏิสนธิตามลำดับ กล่าวเฉพาะการให้ผลในชาติที่ ๒ คือ ชาติที่ต่อ จากปัจจุบันชาตินี้ เพียงชาติเดียวเท่านั้น

ปากทาน คือ ลำดับการให้ผลของกรรมนั้น มี ๔ อย่าง ได้แก่

(๑) ครุกรรม กรรมหนัก

(๒) อาสันนกรรม กรรมที่กระทำใกล้ตาย

(๓) อาจิณณกรรม กรรมที่กระทำเสมอเป็นเนืองนิจ

(๔) กฏัตตากรรม กรรมเล็กน้อย

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 18:00 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

๑. ครุกรรม

ครุกรรม คือ กรรมที่หนัก มีความหมายว่า เป็นกรรมที่แรง เป็นกรรมที่มี กำลังมาก ต้องส่งให้ได้รับผลก่อนกรรมอื่น ๆ ทั้งนั้น กล่าวคือ ถ้าเป็นฝ่ายกุสล ก็มี ผลานิสงส์(ผลดี) ให้คุณหนักมาก เป็นฝ่ายอกุสลก็มีอาทีนพะ (ผลชั่ว) ให้โทษหนัก มาก ถึงกับกรรมอื่น ๆ ไม่สามารถที่จะตัดขัดขวาง หรือยับยั้งได้ ครุกรรมเป็นต้อง ให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ และให้ผลในชาติที่ ๒ แน่นอน

กรรมที่จัดเป็นครุกรรมนี้ มีทั้งที่เป็นอกุสลครุกรรม และกุสลครุกรรม คือ

(ก) ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจ นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม อันมีอยู่ ๓ คือนัตถิกทิฏฐิ เห็นว่าทำอะไรก็ตาม ผลที่ได้รับย่อมไม่มี(ไม่เชื่อผล) ๑, อเหตุกทิฏฐิ เห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่กำลังเป็นไปอยู่นั้น ไม่ได้อาสัยเนื่องกันมาจาก เหตุอย่างใด (ไม่เชื่อเหตุ) ๑, และ อกริยทิฏฐิ เห็นว่าการกระทำต่าง ๆ ของสัตว์ ทั้งหลายนั้น ไม่เป็นบุญเป็นบาปอย่างใดเลย (ไม่เชื่อทั้งเหตุทั้งผล) อีก ๑

(ข) โทสมูลจิต ๒ ที่เป็นปัญจานันตริยกรรม คือฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่า พระอรหันต์ ทำให้พระพุทธเจ้าถึงกับห้อพระโลหิตและสังฆเภท สังฆเภทกกรรม หนักกว่าเพื่อน สมมุติว่ามีผู้ทำปัญจานันตริยกรรมครบ ๕ อย่าง สังฆเภทกกรรม จะเป็นผู้ส่งผลแก่ผู้นั้น ส่วนกรรมที่เหลืออีก ๔ ก็ทำหน้าที่สนับสนุนในการให้ผล ของสังฆเภทกกรรม

(ค) มหัคคตกุสลกรรม ๙ ฌานที่สูงมีคุณธรรมมากกว่าฌานต่ำ ฌานสูงจึงให้ ผล เมื่อฌานสูงให้ผลแล้ว ฌานที่ต่ำก็หมดโอกาสที่จะให้ผล กลายเป็นอโหสิกรรมไป ไม่มีหน้าที่แม้แต่จะอุดหนุนส่งเสริมฌานที่สูงกว่าให้ผลนั้น ดังที่ได้กล่าวแล้วในตอน อุปถัมภกกรรม

อนึ่ง โลกุตตรกุสลกรรม ๔ นั้น ก็เป็นครุกรรมเหมือนกัน แต่ไม่กล่าวในที่นี้ ด้วย เพราะว่าในที่นี้กล่าวเฉพาะกรรมที่ส่งผลให้เกิดในชาติที่ ๒ เท่านั้น โลกุตตร กุสลกรรมไม่มีหน้าที่ให้เกิด มีหน้าที่แต่จะทำลายการเกิดตามควรแก่กำลังของตน

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 18:01 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

๒. อาสันนกรรม

อาสันนกรรม คือ กรรมที่ได้กระทำในเวลาใกล้จะตาย กระชั้นชิดกับเวลาตาย หมายความว่า ในเวลาใกล้ตายได้กระทำสิ่งที่ดีสิ่งที่ชั่ว หรือแม้แต่ระลึกถึงสิ่งที่ดี สิ่งที่ชั่ว ก็เรียกว่า เป็นอาสันนกรรม มีอำนาจส่งให้ได้รับผลได้ทั้งนั้น

กุสลอาสันนกรรม มีอำนาจส่งให้ได้รับผลที่เป็นสุคติ อกุสลอาสันนกรรมก็มี อำนาจส่งให้ได้รับผลที่เป็นทุคคติ

อาสันนกรรมนี้ จะส่งให้ได้รับผลก่อนตายก็ต่อเมื่อไม่มีครุกรรม หมายความว่า บุคคลใดไม่เคยได้กระทำครุกรรม มีแต่อาสันนกรรมนี้ อาสันนกรรมก็ให้ผลก่อน อาจิณณกรรม และกฏัตตากรรม

อาสันนกรรม ก็ได้แก่ อกุสลกรรม ๑๒ (เว้นนิยตมิจฉาทิฏฐิ และปัญจา นันตริยกรรม) และ มหากุสลกรรม ๘

สำหรับมหัคคตกุสลกรรม ๙ ไม่จัดเข้าเป็นอาสันนกรรม เพราะเป็นครุกรรม แต่ฝ่ายเดียว

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 18:01 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

๓. อาจิณณกรรม

อาจิณณกรรม คือ กรรมที่กระทำเสมอเป็นเนืองนิจ เป็นการสั่งสมไว้บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่ครุ่นคิดทางใจ ทั้งทางที่เป็น กุสล และอกุสล ตลอดจนการกระทำเหล่านั้นจะเป็นอาชีพหรือไม่ก็ตาม ถ้าได้ทำอยู่ เนือง ๆ แล้ว ก็นับว่าเป็นอาจิณณกรรมทั้งนั้น

อาจิณณกรรมนี้ ตามปกติก็ให้ผลในปวัตติกาล เว้นแต่เมื่อบุคคลผู้ใกล้จะตาย ไม่เคยได้กระทำครุกรรม และไม่มีอาสันนกรรมแล้วอาจิณณกรรมนี้จึงจะส่งให้ได้รับ ผลในชาติที่ ๒ ไปเกิดเป็นเทวดา มนุษย์ หรืออบายสัตว์ ตามควรแก่กรรมของตน

กรรมที่ทำเสมอ ๆ คืออาจิณณกรรมนี้ ก็ได้แก่อกุสลกรรม ๑๒ และมหากุสล กรรม ๘ เท่านั้น

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 18:02 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

๔. กฏัตตากรรม

กฏัตตากรรม คือ กรรมเล็กน้อย มีความหมายถึงกรรม ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ หมายถึง กรรมที่กระทำในภพนี้ แต่ว่าการกระทำอกุสลกรรม นั้นไม่ครบองค์แห่งกัมมบถ หรือกุสลกรรมนั้นไม่ครบองค์แห่งเจตนา จึงไม่เข้าถึงซึ่ง ความเป็นครุกรรม อาสันนกรรม หรืออาจิณณกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด

ประการที่ ๒ หมายถึง กรรมที่ได้กระทำมาแล้วในภพก่อน ๆ ซึ่งได้แก่ อปราปริยเวทนียกรรม อันคอยติดตามจะส่งให้ผลเกิดอยู่

เมื่อกรรมทั้ง ๓ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ ครุกรรม อาสันนกรรม อาจิณณ กรรมไม่มีที่จะให้ผลแล้ว ก็กฏัตตากรรมนี้แหละจึงจะเป็นผู้ให้ผลปฏิสนธิเป็นเทวดา มนุษย์ หรืออบายสัตว์ ตามกรรมของตน

สัตว์ทั้งหลายที่จะไม่มีกฏัตตากรรมนั้นหาไม่ได้เลย อย่างไรเสียก็จะต้องมีเป็น แน่ กฏัตตากรรมก็ได้แก่ อกุสลกรรม ๑๒ มหากุสลกรรม ๘

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 18:02 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

ปากกาล กำหนดเวลาให้ผลของกรรม หมายความว่ากรรมต่าง ๆ ที่ได้กระทำ นั้นจะสนองผลให้เมื่อใด จะเป็นในชาตินี้ ชาติหน้า หรือชาติต่อ ๆ ไป คราวหรือ วาระที่กรรมจะให้ผลนั้น จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ

(๑) ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม สนองผลในชาติปัจจุบัน

(๒) อุปปัชชเวทนียกรรม สนองผลในชาติที่ ๒

(๓) อปราปริยเวทนียกรรม สนองผลในชาติที่ ๓ เป็นต้นไป

(๔) อโหสิกรรม เป็นกรรมที่ไม่สนองผล

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 18:04 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เป็นกรรมที่สนองผลในปัจจุบันชาติ คำว่า ทิฏฐธรรม หมายความว่า ผลที่ได้ประจักษ์แก่ตน เวทนีย แปลว่า การเสวยต่อผลนั้น รวม หมายความว่า ได้เสวยผลที่ประจักษ์แก่ตนในภพนี้ชาตินี้

การได้เสวยผลของกรรมประจักษ์แก่ตนในภพนี้ในชาติปัจจุบันนี้ ก็คือ กรรม ที่ได้กระทำในภพนี้นั่นแหละให้ผลในปวัตติกาลในชาตินี้นั่นเอง ไม่ติดตามข้ามภพ ข้ามชาติไปให้ผลในชาติที่ ๒ หรือชาติต่อ ๆ ไปได้อีก

เมื่อได้กระทำกรรมลงไปแล้ว และได้ผลภายใน ๗ วัน เรียกว่า ปริปักกทิฏฐ ธรรมเวทนียกรรม แต่ถ้าได้ผลภายหลัง ๗ วันไปแล้วเรียกว่า อปริปักกทิฏฐธรรม เวทนียกรรม

ตัวอย่างเช่น มหาทุคคตะได้ถวายภัตตาหารแก่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า และ นายปุณณะกับภริยาซึ่งเป็นคนยากจน ได้ถวายภัตตาหารแก่พระสารีบุตร ต่างก็ ร่ำรวย เป็นเศรษฐีภายใน ๗ วัน

พระเทวทัตที่กระทำโลหิตุปบาท กระทำสังฆเภทกกรรมก็ดี นันทมานพที่ ทำลายพระอุบลวัณณาเถรีผู้เป็นพระอรหันต์ก็ดี โกกาลิกพราหมณ์ที่บริภาษพระอัคร สาวกทั้ง ๒ ก็ดีต่างก็ถูกธรณีสูบ เหล่านี้ล้วนแต่เป็น ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ทั้งนั้น

ส่วนอปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมนั้นทางกุสลก็ได้รับผลคือ เกียรติคุณแพร่ หลายมีบุญญาภินิหารและได้รับความยกย่องสรรเสริญ ในทางอกุสลก็ตรงกันข้าม

อนึ่ง ในธรรมบทอรรถกถาแสดงว่า ที่จะได้รับผลสนองเป็นปริปักกทิฏฐธรรม เวทนียกรรมนั้น ต้องถึงพร้อมด้วยสัมปทาทั้ง ๔ คือ

    ๑. เจตนาสัมปทา มีเจตนาอันแรงกล้ายิ่งในการทำกุสลนั้น

    ๒. ปัจจยสัมปทา ปัจจัยที่ทำกุสลนั้นได้มาด้วยความบริสุทธิ์

    ๓. วัตถุสัมปทา บุคคลที่รับทานนั้นเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์

    ๔. คุณติเรกสัมปทา พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ที่รับทานนั้น ถึงพร้อม ด้วยคุณอันพิเศษ คือ เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ

การได้รับผลในชาตินี้ ที่เรียกว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมนี้ ด้วยอำนาจของ เจตนาในกุสลชวนกรรม หรือกุสลชวนกรรมดวงที่ ๑ ในชวนะ ๗ ดวง ของแต่ละ วิถี แต่ว่าถ้าเจตนากรรมในชวนะดวงที่ ๑ ไม่มีโอกาสให้ผลแล้ว ก็เป็นอโหสิกรรม แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของเจตนากรรมในชวนะ ดวงที่ ๗ จะให้ผลในชาติที่ ๒ หรือ เป็นหน้าที่ของเจตนากรรมในชวนะดวงที่ ๒ ถึงดวงที่ ๖ จะให้ผลในชาติที่ ๓ เป็นต้นไป ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างอื่น ดังจะกล่าวต่อไป

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 18:04 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

๒. อุปปัชชเวทนียกรรม

อุปปัชชเวทนียกรรม เป็นกรรมที่สนองผลในชาติที่ ๒ คำว่า อุปปัชช หมายความว่า ในชาติที่ ๒ เวทนีย แปลว่า การเสวยต่อผลนั้น รวมมีความหมาย ว่า ได้เสวยต่อผลนั้นในชาติที่ ๒ (นับจากปัจจุบันชาตินี้เป็นชาติที่ ๑)

เมื่อชาตินี้ได้กระทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกุสลกรรม หรืออกุสล กรรมลงไปแล้ว และเจตนากรรมในชวนะดวงที่ ๑ ก็ไม่มีโอกาสที่จะให้ผลใน ปวัตติกาลในชาตินี้ด้วย จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของเจตนากรรมในชวนะดวงที่ ๗ ที่จะ ส่งผลให้ได้รับในชาติที่ ๒ ทั้งในปฏิสนธิกาล และในปวัตติกาลด้วย ในปฏิสนธิกาล ก็ให้ไปเกิดเป็นสุคติบุคคล หรือทุคคติบุคคลในปวัตติกาล (ในชาติที่ ๒ นั้น) ก็ได้ ให้เสวยสุข หรือทุกข์ ตามควรแก่กรรมที่ได้กระทำนั้น

เจ้าของ:  Supareak Mulpong [ 17 ธ.ค. 2010, 18:04 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: กรรม

๓. อปราปริยเวทนียกรรม

อปราปริยเวทนียกรรมเป็นกรรมที่สนองผลในชาติที่ ๓ เป็นต้นไปคำว่า อปราปริย หมายความว่าภพอื่นชาติอื่น เวทนีย แปลว่า การเสวยต่อผลนั้น รวมความว่า ได้เสวยต่อผลนั้นในภพอื่น ๆ ชาติอื่น ๆ คือไม่ใช่ชาตินี้ และไม่ใช่ ชาติที่ ๒

เมื่อชาตินี้ได้กระทำกุสลกรรม หรืออกุสลกรรมลงไปแล้ว อำนาจของเจตนา กรรมนั้น ในชวนะดวงที่ ๑ ไม่มีโอกาสให้ผลในปวัตติกาลในชาตินี้ทั้งเจตนากรรม ในชวนะดวงที่ ๗ ก็ไม่มีโอกาสให้ผลในชาติที่ ๒ ด้วย แล้วเจตนากรรมในชวนะ ดวงที่ ๒ ถึงดวงที่ ๖ ย่อมมีอำนาจติดตามจ้องคอยหาโอกาสให้ผลในชาติที่ ๓ และ ชาติต่อ ๆ ไป จนกว่าผู้นั้นจะเข้าสู่พระนิพพาน

ชวนะดวงที่ ๒ ถึงดวงที่ ๖ รวมชวนะ ๕ ดวง แต่ละวิถีนี้ ถ้าดวงใด ดวงหนึ่งให้ผลปฏิสนธิไปแล้ว เหลือชวนะอีก ๔ ดวงในวิถีเดียวกันนั้น จะให้ ปฏิสนธิอีก ๔ ภพ ๔ ชาตินั้นไม่ได้ แต่ว่ามีอำนาจให้ผลในปวัตติกาลในชาตินั้นได้ กล่าวคือ ในชวนะ ๕ ดวง ในวิถีหนึ่งนั้นให้ผลเป็นปฏิสนธิได้ดวงเดียว จะเป็น ดวงหนึ่งดวงใดก็ตาม ที่เหลืออีก ๔ ดวง ให้ผลในทางสนับสนุนเบียดเบียน หรือตัด รอนปฏิสนธิสัตว์นั้นได้

หน้า 1 จากทั้งหมด 3 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/