วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ย. 2011, 16:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ที่ว่า จิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นปรมัตถธรรม
มีปรากฎในพระอภิธรรมตั้งแต่ต้นหรือบัญญัติขึ้นภายหลังโดยอรรถกถาจารย์ครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ย. 2011, 18:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ปรมัตถธรรม ความหมายและเกร็ดความรู้ทางประวัติคัมภีร์
พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์
ชำระ-เพิ่มเติม พิมพ์เมื่อ ก.ค.2551

โดย พระพรหมคุณาภรณ์


ปรมัตถธรรม ธรรมที่เป็นปรมัตถ์, ธรรมที่เป็นประโยชน์สูงสุด, สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์, สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด, สภาวธรรม, นิยมพูดกันมาเป็นหลักทางพระอภิธรรมว่ามี ปรมัตธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน


พึงสังเกตเค้าความที่เป็นมาว่า คำว่า “ปรมัตถธรรม” (บาลี: ปรมตฺถธมฺม) นี้ ไม่พบที่ใช้ในพระไตรปิฎกแต่เดิม (ในพระไตรปิฎก ใช้เพียงว่า “ปรมตฺถ” หรือรวมกับคำอื่น, ส่วนในพระไตรปิฎกแปลภาษาไทย มีคำว่าปรมัตถธรรม ซึ่งท่านผู้แปลใส่หรือเติมเข้ามาตามคำอธิบายของอรรถกถาบ้าง ตามที่เห็นเหมาะบ้าง) ต่อมาในชั้นอรรถกถา “ปรมัตถธรรม” จึงปรากฏบ้าง ๒-๓ แห่ง แต่หมายถึงเฉพาะนิพพาน หรือไม่ก็ใช้อย่างกว้างๆ ทำนองว่าเป็นธรรมอันให้ลุถึงนิพพาน ดังเช่นสติปัฏฐานก็เป็นตัวอย่างของปรมัตถธรรม ทั้งนี้ เห็นได้ว่าท่านมุ่งความหมายในแง่ว่าประโยชน์สูงสุด


ต่อมา ในคัมภีร์ชั้นฎีกาลงมา มีการใช้คำว่าปรมัตถธรรมบ่อยครั้งขึ้นบ้าง (ไม่บ่อยมาก) และใช้ในความหมายว่าเป็นธรรมตามความหมายอย่างสูงสุด คือในความหมายที่แท้จริง มีจริง เป็นจริง ซึ่งตรงกับคำว่าสภาวธรรม ยิ่งเมื่อมีคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะเกิดขึ้นแล้ว และมีการศึกษาพระอภิธรรมตามแนวของอภิธัมมัตถสังคหะนั้น ก็มีการพูดกันทั่วไปถึงหลักปรมัตถธรรม ๔ จนกล่าวได้ว่าอภิธัมมัตถสังคหะเป็นแหล่งเริ่มต้นหรือเป็นที่มาของเรื่องปรมัตถธรรม ๔


อย่างไรก็ดี ถ้าพูดอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะนั้นเอง ท่านไม่ใช้คำว่า “ปรมัตถธรรม” เลย แม้แต่ในคาถาสำคัญเริ่มปกรณ์หรือต้นคัมภีร์ ซึ่งเป็นบทตั้งหลักที่ถือว่าจัดประมวลปรมัตถธรรม ๔ ขึ้นมาให้ศึกษานั้น แท้จริงก็ไม่มีคำว่า “ปรมตถธมฺม” แต่อย่างใด ดังคำของท่านเองว่า

ตตฺถ วุตตาภิธมฺมตฺถา จตุธา ปรมตฺถโต
จิตฺตํ เจตสิกํ รูปํ นิพฺพานมิติ สพฺพถา

แปล: “อรรถแห่งอภิธรรม ที่ตรัสไว้ในพระอภิธรรมนั้น ทั้งหมดทั้งสิ้น โดยปรมัตถ์ มี ๔ อย่าง คือ จิต ๑ เจตสิก๑ รูป๑ นิพพาน๑”

(นี่เป็นการแปลกันตามคำอธิบายของคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี แต่มีอีกฎีกาหนึ่งในยุคหลังค้านว่าอภิธัมมัตถวิภาวินีบอกผิด ที่ถูก ต้องแปลว่า “อภิธัมมัตถะที่ข้าพเจ้าคือพระอนุรุทธาจารย์กล่าวในคำว่าอภิธัมมัตถสังคหะนั้น ...”)


ท้ายปริเฉทที่ ๖ คือรูปสังคหวิภาคซึ่งเป็นบทที่แสดงปรมัตถ์มาครบ ๔ ถึงนิพพาน ก็มีคาถาคล้ายกัน ดังนี้

อิติ จิตฺตํ เจตสิกํ รูปํ นิพฺพานมิจฺจปิ
ปรมตฺถํ ปกาเสนฺติ จตุธาว ตถาคตา

แปล: “พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมทรงประกาศปรมัตถ์ไว้เพียง ๔ อย่าง คือ จิต ๑ เจตสิก๑ รูป๑ นิพพาน๑ ด้วยประการฉะนี้”


เมื่อพินิจดูก็จะเห็นได้ที่นี่ว่า คำว่า “ปรมัตถธรรม” เกิดขึ้นจาก

ประการแรก ผู้จัดรูปคัมภีร์ (อย่างที่ปัจจุบันเรียกว่าบรรณกร) จับใจความตอนนั้นๆ ตั้งขึ้นเป็นหัวข้อ เหมือนอย่างในกรณีนี้ ในคัมภีร์บางฉบับ ตั้งเป็นหัวข้อขึ้นเหนือคาถานั้นว่า “จตุปรมตฺถธมฺโม” (มีในฉบับอักษรพม่า, ฉบับไทยไม่มี) และ

ประการที่สอง ผู้แปลเติมหรือใส่เพิ่มเข้ามา เช่นคำบาลีว่า “ปรมตฺถ” ก็แปลเป็นไทยว่าปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นกรณีที่เป็นกันทั่วไป


ในคัมภีร์รุ่นต่อมาที่อธิบายอภิธัมมัตถสังคหะ เช่น อภิธัมมัตถวิภาวินี มีการใช้คำบาลีเป็น “ ปรมตฺถธมฺม” บ้างแม้จะไม่มาก แต่ก็ไม่มีที่ใดระบุจำนวนว่าปรมัตถธรรมสี่ จนกระทั่งในสมัยหลังมาก มีคัมภีร์บาลีแต่งในพม่าบอกจำนวนก็บอกเพียงว่า “ปรมัตถ์ ๔” (จตฺตาโร ปรมตฺเถ, [ปรมตฺถทีปนี สงฺคหมหาฎีกาปาฐ, ๓๓๑]) แล้วก็มีอีกคัมภีร์หนึ่งแต่งในพม่ายุคไม่นานนี้ ใช้คำว่าปรมัตถธรรมโดยระบุว่าสังขารและนิพพาน เป็นปรมัตถธรรม (นมกฺการฎีกา, ๔๕) ยิ่งกว่านั้น ย้อนกลับไปยุคเก่า อาจจะก่อนพระอนุรุทธาจารย์แต่งอภิธัมมัตถสังคหะเสียอีก คัมภีร์ฎีกาแห่งอรรถกถาแห่งสังยุตตนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก ซึ่งถือว่ารจนาโดยพระธรรมปาละ ผู้เป็นอรรถกถาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่ง ใช้คำว่าปรมัตถธรรมในข้อความที่ระบุว่า “ปรมัตถธรรมอันแยกประเภทเป็น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ อินทรีย์ และปฏิจจสมุปบาท” (สํ.ฏี ๒/๓๓๐๓/๖๕๑) นี่ก็คือบอกว่า ปรมัตถธรรมได้แก่ประดาธรรม ชุดที่เรียกกันว่าปัญญาภูมิ หรือวิปัสสนาภูมิ นั่นเอง


ตามข้อสังเกตและความที่กล่าวมา พึงทราบว่า

๑. การแปลขยายศัพท์อย่างที่แปลปรมัตถะว่าปรมัตถธรรมนี้ มิใช่เป็นความผิดพลาดเสียหาย แต่เป็นเรื่องทั่วไปที่ควรรู้เท่าทันไว้ อันจะเป็นประโยชน์ในบางแง่บางโอกาส (เหมือนในการอ่านพระไตรปิฎกฉบับแปลภาษาไทย ผู้อ่านก็ควรทราบเป็นพื้นไว้ว่า คำแปลอาจจะไม่ตรงตามพระบาลีเดิมก็ได้ เช่น ในพระไตรปิฎกบาลีเดิมว่า พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากพระวิหาร [คือที่ประทับ] แต่ในฉบับแปล บางทีท่านแปลผ่านคำอธิบายของอรรถกถาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฎี)


๒. การประมวลอรรถแห่งอภิธรรม (โดยทั่วไปก็ถือว่าเป็นการประมวลธรรมทั้งหมดทั้งปวงนั่นเอง) จัดเป็นปรมัตถ์ ๔ (ที่เรียกกันว่าปรมัตถธรรม ๔) ตามนัยของอภิธัมมัตถสังคหะนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นระบบอันเยี่ยม ซึ่งเกื้อกูลต่อการศึกษาธรรมอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าเป็นแนวอภิธรรม แต่ถ้าพบการจัดอย่างอื่น ดังที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง [เป็นสังขารและนิพพาน บ้าง เป็นอย่างที่เรียกว่าปัญญาภูมิ บ้าง] ก็ไม่ควรแปลกใจ พึงทราบว่าต่างกันโดยวิธีจัดเท่านั้น ส่วนสาระก็ลงเป็นอันเดียวกัน เหมือนจะว่าเบญจขันธ์ หรือว่านามรูป ก็อันเดียวกัน ก็ดูแค่ว่าวิธีจัดแบบไหนจะง่ายต่อการศึกษาหรือเอื้อประโยชน์ที่มุ่งหมายมากกว่ากัน


๓. ในคาถาเริ่มปกรณ์ (ในฉบับอักษรไทย ผู้ชำระ คือผู้จัดรูปคัมภีร์ ตั้งชื่อให้ว่า “ปกรณารมฺภคาถา” แต่ฉบับอักษรพม่าตั้งชื่อว่า “คนฺถารมฺภกถา”) มีข้อความที่เป็นบทตั้ง ซึ่งบอกใจความทั้งหมดของคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ คาถานี้จึงสำคัญมาก ควรตั้งอยู่ในความเข้าใจที่ชัดเจนประจำใจของผู้ศึกษาเลยทีเดียว ในกรณีนี้ การแปลโดยรักษารูปศัพท์ อาจช่วยให้ชัดขึ้น เช่นอาจแปลว่า “อภิธัมมัตถะ ที่กล่าวในคำว่า ‘อภิธัมมัตถสังคหะ’ นั้น ทั้งหมดทั้งสิ้นโดยปรมัตถ์ มี ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน” (พึงสังเกตว่า ถ้าถือเคร่งตามตัวอักษร ในคาถาเริ่มปกรณ์นี้ ท่านว่ามีอภิธัมมัตถะ ๔ ส่วนในคาถาท้ายปริเฉทที่หก ท่านกล่าวถึงปรมัตถะ ๔ แต่โดยอรรถ ทั้งสองอย่างนั้นก็เป็นอย่างเดียวกัน” โดยเฉพาะคำว่าอภิธัมมัตถะ จะช่วยโยงพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมดเข้าสู่เรื่องที่ศึกษา เพราะท่านมุ่งว่าสาระในอภิธรรมปิฎกทั้งหมดนั้นเอง ประมวลเข้ามาเป็น ๔ อย่างนี้ ดังจะเห็นชัดตั้งแต่พระอภิธรรมปิฎกคัมภีร์แรก คือธัมมสังคณีตลอดหมดทั้ง ๒๕๘ หน้า ที่แจงกุสลัตติกะ อันเป็นปฐมอภิธัมมมาติกา ก็ปรากฏออกมาชัดเจนว่าเป็นการแจงเรื่อง จิต เจตสิก รูป และนิพพาน นี้เอง

http://detectivejojo.blogspot.com/2009/ ... _9112.html


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron