วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 14:24  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ม.ค. 2014, 13:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
:b8: นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
:b44: :b44: :b44:


คำบรรยาย
ปฏิบัติธรรมะตามพระไตรปิฎก
อบรมการเจริญสติปัฏฐาน


อาจารย์พรชัย เจริญดำรงเกียรติ
วันที่ ๑๒-๑๖ เมษายน พ.ศ๒๕๕๖
ณ บ้านไรวา บางพระ ศรีราชา


:b47: :b47: :b47: :b47: :b47: :b47:

ฌานวิภังค์
มาติกา


ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมแล้วด้วยอาจาระและโคจรอยู่ เห็นภัยในโทษทั้งหลายอันมีประมาณน้อย สมาทานแล้วประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย สำรวมในอินทรีย์๖ รู้ประมาณในโภชนะประกอบความเพียรตลอดปฐมยามและปัจฉิมยาม ประกอบความเพียรอันเป็นไปติดต่อ ประกอบปัญญาอันรักษาไว้ซึ่งตน เจริญโพธิปักขิยธัมม์

ภิกษุนั้น เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการก้าวไปข้างหน้าและถอยกลับมาข้างหลัง เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการดูแลดูข้างหน้าและเหลียวดูข้างซ้ายข้างขวา เป็นผู้รู้ชัดโดยปกติในการคู้อวัยวะเข้าและเหยียดอวัยวะออก เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร เป็นผู้รู้ชัดอยู่โดยปกติในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และนิ่ง

ภิกษุนั้น อาศัยเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำในภูเขา ป่าช้า ดง ที่แจ้ง กองฟาง สถานที่ไม่มีเสียงอื้ออึง สถานที่ไม่ใคร่มีคนสัญจรไปมา สถานที่ไม่มีคนพลุกพล่าน สถานที่อันสมควรเป็นที่หลีกเร้น

ภิกษุนั้น ไปสู่ป่าก็ตาม ไปสู่โคนไม้ก็ตาม ไปสู่เรือนว่างก็ตาม นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ตั้งสติมุ่งหน้าต่อกรรมฐาน

ภิกษุนั้น ละอภิชฌาในโลกได้แล้ว อยู่ด้วยจิตปราศจากอภิชฌา ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความพยาบาทและความประทุษร้ายได้แล้ว เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาทอยู่ มีความอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความพยาบาทและความประทุษร้าย ละถีนมิทธะได้แล้วเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะอยู่ มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านอยู่ มีจิตสงบภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาได้แล้ว เป็นผู้ข้ามเสียได้ซึ่งวิจิกิจฉาอยู่ ไม่มีความสงสัยในกุศลธัมม์ทั้งหลาย ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ม.ค. 2014, 14:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ ๑
บรรยาย วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๖


สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ พระเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังสาระนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ เหมือนดังว่าบุรุษตัดทอนหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้วพึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ แล้วสมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเรา โดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่าหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดไป สิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะว่าสังสาระนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เหมือนดังว่าบุรุษปั้นปฐพีนี้ให้เป็นก้อน ก้อนละเท่าเม็ดกระเบาแล้ววางไว้ สมมติว่านี้เป็นบิดาของเรา นี้เป็นบิดาของบิดาของเราโดยลำดับ บิดาของบิดาแห่งบุรุษนั้นไม่ถึงสิ้นสุด ส่วนมหาปฐพีนี้ พึงถึงการหมดไปสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่า สังสาระนี้พึงกำหนดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังสาระนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำตาที่หลั่งไหลของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน?

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ย่อมทราบธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงแล้วว่า น้ำตาของพวกข้าพระองค์ ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะการประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ และเพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้แหละมากกว่าส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถูกแล้วๆ พวกเธอทราบธรรมเราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดา ตลอดกาลนาน น้ำตาของเธอเหล่านั้้น ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดา ของพี่ชาย น้องชาย ของพี่สาว น้องสาว ของบุตร ของธิดา พวกเธอได้ประสบความเสื่อมแห่งญาติ ความเสื่อมแห่งโภคะ ได้ประสบความเสื่อมเพราะโรค ตลอดกาลนาน น้ำตาของพวกเธอที่ร้องไห้คร่ำครวญอยู่นั้น เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย น้ำนมมารดาที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนานนี้ดื่มแล้ว กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ อย่างไหนมากกว่ากัน?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วว่า น้ำนมมารดาที่พวกข้าพระองค์ ผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนานนี้ดื่มแล้วนั่นแหละ มากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถูกแล้วๆ พวกเธอทราบธรรมตามที่เราแสดงแล้วอย่างนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่งนานเพียงใดหนอแล?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัปหนึ่งนานแล มิใช่ง่ายที่จะนับว่ากัปนั้น เท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี พันปี หรือแสนปี

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระองค์อาจอุปมาได้ไหมพระเจ้าข้า

อาจอุปมาได้ภิกษุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่าภูเขาหินลูกใหญ่ ยาวหนึ่งโยชน์ กว้างหนึ่งโยชน์ กว้างหนึ่งโยชน์ สูงหนึ่งโยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีมาแล้วปัดภูเขานั้น หนึ่งร้อยปีต่อครั้ง ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น ถึงถึงการหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่า ส่วนกัปหนึ่ง ยังไม่ถึงการหมดไป สิ้นไป กัปนานอย่างนี้แล บรรดากัปที่นานอย่างนี้ พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้ว มิใช่หนึ่งกัป มิใช่ร้อยกัป มิใช่พันกัป มิใช่แสนกัป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่านครที่ทำด้วยเหล็กยาวหนึ่งโยชน์ กว้างหนึ่งโยชน์ สูงหนึ่งโยชน์ เต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด บุรุษพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาด เมล็ดหนึ่งๆ ออกจากนครนั้น โดยล่วงไปร้อยปีต่อหนึ่งเมล็ด เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้นพึงถึงความหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่า ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงความสิ้นไป หมดไป

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้วล่วงไปแล้ว มากเท่าใดหนอ พระเจ้าข้า?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัปที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มีมาก มิใช่ง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ร้อยกัป พันกัป หรือแสนกัป

ก็พระองค์อาจอุปมาได้ไหมพระเจ้าข้า

ดูก่อนภิกษุ อาจอุปมาได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีสาวก ๔ รูปในศาสนานี้ เป็นผู้มีอาย ๑๐๐ ปี หากว่าท่านเหล่านั้น พึงระลึกถอยหลังไปได้วันละแสนกัป กัปที่ท่านเหล่านั้น ระลึกไม่ถึง ยังมีอยู่อีก สาวก ๔ รูปของเรา ผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี พึงทำกาละโดยล่วงไป ๑๐๐ ปี กัปที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มีจำนวนมากอย่างนี้แล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ร้อยกัป พันกัป หรือแสนกัป

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ม.ค. 2014, 17:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้ย่อมเกิดแต่ที่ใดและย่อมถึงมหาสมุทร ณ ที่ใด เมล็ดทรายในระยะนี้ ไม่ใช่เป็นของง่าย ที่จะกำหนดได้ว่าเท่านี้เมล็ด เท่านี้ร้อยเมล็ด พันเมล็ด หรือแสนเมล็ด กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มากกว่าเมล็ดทรายเหล่านั้น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นไปบนอากาศ บางคราวก็ตกลงทางโคน บางคราวก็ตกลงทางขวาง บางคราวก็ตกลงทางปลาย แม้ฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น บางคราวก็จากโลกนี้ไปสู่ปรโลก บางคราวก็จากปรโลกมาสู่โลกนี้ เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดกัปหนึ่ง พึงมีโครงกระดูก ร่างกระดูก กองกระดูก ใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละนี้ ถ้ากองกระดูกนั้นพึงเป็นของที่จะขนมารวมกันได้ และกระดูกที่สั่งสมไว้แล้ว ไม่พึงหมดไป

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นทุคตบุรุษ ผู้มีมือและเท้าไม่สมประกอบ เธอพึงลงสันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า แม้เราก็เคยเสวยทุกข์เห็นปานนี้มาแล้ว โดยกาลนานนี้

เธอทั้งหลายเห็นบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยความสุข มีบริวารคอยรับใช้ เธอพึงลงสันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า แม้เราก็เคยเสวยสุขเห็นปานนี้มาแล้วโดยกาลนานนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดาโดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย สัตว์ที่ไม่เคยเป็นบิดาโดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย สัตว์ที่ไม่เคยเป็นพี่ชาย น้องชาย โดยกาลนานนี้ ไม่เคยเป็นพี่สาว น้องสาวโดยกาลนานนี้ ไม่เคยเป็นบุตร เป็นธิดาโดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่ายเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะว่าสังสาระนี้ กำหนดที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้

การมาอยู่ในเส้นทางนี้ จะมีคำว่าภพชาติอย่างหนึ่งคำว่ากัปอย่างหนึ่ง ภพชาติก็คือตั้งแต่เกิดขึ้นมาจนถึงตายนี้เป็นอย่างหนึ่ง ส่วนกัป คือ ตั้งแต่โลกอุบัติขึ้นมาจนถูกทำลายไป ด้วยไฟบ้าง ด้วยน้ำบ้าง ด้วยลมบ้าง โดยส่วนมากด้วยไฟ คือดวงอาทิตย์ ๗ ดวง คือต่อไปโดยกาลนานนี้ มีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏขึ้น จะไม่มีกลางวันกลางคืน จะมีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๓ ดวงที่ ๔ ดวงที่ ๕ ดวงที่ ๖ ดวงที่ ๗ ปรากฏขึ้น โลกนี้จะถูกทำลายไป ไฟไหม้ไปจนถึงพรหมโลก หมื่นจักรวาลพินาศไปด้วยดวงอาทิตย์ ๗ ดวง แล้วโลกก็จะอุบัติขึ้นมาใหม่ ธาตุทั้ง ๔ ปรากฏขึ้นมาใหม่ รวมตัวกันใหม่เป็นโลกอีกครั้ง จนกว่าจะถูกทำลายไปอีกครั้งหนึ่ง หนึ่งครั้งเรียกว่า กัป

ในหนึ่งกัปนี้ บุคคลเกิดได้กี่ชาติ? ตามที่ทรงอุปมาว่า เฉพาะชาติที่มีกระดูกนี่แหละ เป็นมนุษย์บ้าง เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง ตั้งแต่ต้นกัป จนถึงกัปถูกทำลายไป กระดูกของคนคนเดียว ถ้าขนกระดูกมารวมกัน แล้วกระดูกไม่สลายไป นับปริมาณของกระดูกนี้ ใหญ่เท่ากับภูเขาเวปุลละในเมืองราชคฤห์ แล้วกัปมีจำนวนกี่กัป? ตามที่ทรงอุปมาว่า ถ้าภิกษุอายุ ๑๐๐ ปี ระลึกชาติได้วันละแสนกัป ตลอด ๑๐๐ ปี ระลึกได้ทุกวันๆ วันละ แสนกัป ยังระลึกไปไม่ถึง คือกับปที่เหลือยังมีอยู่ หรือทรงอุปมายิ่งกว่านั้นอีกคือ เมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา แม่น้ำคงคานี่เริ่มจากไหน? หิมาลัย ไปสิ้นสุดที่ไหน? มหาสมุทรอินเดีย มีเมล็ดทรายกี่เมล็ด? ไม่สามารถประมาณได้ใช่ไหม กัปมากกว่าเมล็ดทรายนั้น นี่ไม่ใช่ภพชาติมากกว่านั้นนะ กัปมากกว่านั้น เพราะ ๑ กัปก็นับภพชาติไม่ถ้วนแล้ว

นี่คือเราอยู่ในเส้นทางนี้ อดีตที่ผ่านมาเป็นอย่างนี้มาแล้ว ถ้ายังคงเกิดในสังสารวัฏอยู่ ก็ยังต้องเจออย่างนี้อีก คือเป็นแต่ละภพ แต่ละชาติ แต่ละภพ แต่ละชาติ แล้วก็จะไปเป็นกัป แล้วก็หลายๆ กัป จนนับไม่ถ้วน ในระหว่างนี้ เกิดที่ไหนบ้าง?

ก็ทรงอุปมาอีกว่าสัตว์ที่ตายแล้วเกิดในอบายนี่ มากดั่งมหาปฐพี ที่เกิดในสุคติเท่าฝุ่นปลายเล็บ

ที่นี้เข้าใจหรือยังว่าทำไมเราต้องปฏิบัติธรรม?

เพราะเรากำลังผจญกับภัยในสังสารวัฏ ถ้าตายเมื่อไหร่ จะบอกได้ไหมว่าเราจะไปเกิดที่ไหน? เหมือนคนโยนไม้ขึ้นไปกลางอากาศ จะกะได้ไหมว่า ขอให้โคนลงกระทบดินก่อน หรือปลายลงกระทบดินก่อน หรือตรงกลางกระทบดินก่อน? หวังอย่างนั้นไม่ได้ ผู้ยังมีกิเลสอยู่ เมื่อตายไปแล้ว จะเกิดในภพไหน ก็ต้องตามกรรมที่นำให้ไปเกิด จะไปหวังว่าเราจะไปเกิดในภพโน้น ภพนี้ ไม่ได้ การเกิดในภพชาติก็หาความแน่นอนไม่ได้ แม้บุคคลที่เป็นเจ้าของกรรมนั้น ก็ไม่รูว่าตัวเองจะเกิดที่ไหน บุคคลที่เกิดมาจะมีความยึคมั่นถือมั่นว่านี่ตัวเรา นี่ตัวเรา ถามว่า ตัวเรานี่ของเราไหม? ถ้าเราเป็นเจ้าของจริง เราจะต้องสั่งได้ใช่ไหมว่าขอให้กายเราเป็นอย่างนี้ อย่าเป็นอย่างโน้นเลย แต่กายไม่เป็นอย่างที่บุคคลปรารถนาหรอก กายก็จะเป็นไปตามเหตุปัจจัย บุคคลจึงอาศัยกายนี้อยู่ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าละกายนี้แล้วก้ต้องมีกายอื่นอีก คือเกิดในภพใหม่

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2014, 10:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


การเกิดในภพใหม่ บุคคลก็จะไปหวังไม่ได้ว่าเราจะไปเกิดในที่ไหน ที่ไหน อยากเกิดในที่ไหนที่ไหน คิดเอาได้แต่จะสมหวังหรือไม่ เป็นไปตามเหตุ ที่นี้เมื่องบุคคลรู้กรรมรู้ผลของกรรม รู้ความเป็นไปของสังสารวัฏ คือกิเลสกรรมวิบาก เพราะมีกิเลสจึงทำกรรม เมื่อทำกรรมแล้ว จึงได้เสวยวิบาก คือการเกิดในภพ การมีสุขทุกข์ในภพนั้นๆ พอเกิดในภพนั้นๆ อันเป็นวิบาก แล้วก็มีกิเลส แล้วก็ทำกรรมต่อ พอทำกรรม กรรมในภพนั้นก็ตาม กรรมในอดีตก็ตามก็ส่งผลให้เกิดในภพใหม่

ที่นี้คนที่เกิดน่ะรู้ไหมว่ากรรมเป็นอย่างไร? ผลของกรรมเป็นอย่างไร?

ถ้าไม่มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องกรรมและผลของกรรมแล้ว บุคคลนั้นก็ไม่รู้ว่าเรามาจากไหน เราทำกรรมอะไร เรียกว่าเป็นกรรมชนิดไหน แล้วเราจะไปเกิดในที่ไหน อย่างนี้เรียกว่าอวิชชา คือ ความไม่รู้ในกรรม ไม่รู้ในผลของกรรม ไม่รู้ในสังสารวัฏ ภพชาติ

แต่เมื่อเกิดแล้วก็มีตัณหาคือ ยินดี ติดใจ อยากได้แสวงหา อวิชชาก็เป็นเครื่องกั้นไว้ ตัณหาก็ประกอบไว้ ทำให้บุคคลนั้นติด แล้วก็กระทำกรรม ภพชาติจึงมีความไม่แน่นอน ดังนั้นบุคคลที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ จะยังไม่พ้นภัย โดยเฉพาะอบายภัยที่ยังจะต้องเจออยู่เสมอ ถ้าบุคคลไปเกิดในอบายสักครั้งหนึ่งแล้่ว โอกาสที่จะเกิดเป็นมนุษย์อีกนั้นทรงอุปมาด้วยเต่าตาบอดอยู่ในมหาสมุทร ๑๐๐ ปีโผล่ขึ้นมาครั้งหนึ่ง คนก็โยนบ่วงที่ใหญ่พอที่ศีรษะ หรือคอเต่าจะลอดได้ ลงไปในมหาสมุทร ๑๐๐ ปีใด ที่เต่าโผล่ขึ้นมา แล้วคอคล้องอยู่ที่บ่วงนี้พอดี ยังง่ายกว่าการที่บุคคลที่ไปเกิดในอบายภูมิครั้งหนึ่งแล้วจะขึ้นมาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะมาเบียดเบียน ทำบาป ทำอกุศล เพราะว่าติดอัธยาศัยที่เคยเกิดในอบายมา ตรงตามโวหารที่ว่า "อบายมาเกิด"คือ หาความดีไม่ได้เลย ทำความดีไม่เป็น มีแต่ความเบียดเบียน หรือ "นรกมาเกิด" หนักกว่าอบายมาเกิด แสดงว่ามาเกิดแล้วจะลงนรกต่อ เราเองยังไม่พ้นสิ่งนั้นนะ เราเองยังไม่พ้น

ดังนั้นการเห็นนี่ บางครั้งเราเห็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าสามารถคำนึงได้ว่า ผู้นี้ก็เคยเกิดเป็นมนุษย์ แต่มากด้วยโมหะ ปล่อยปละเวลาให้หมดไปด้วยโมหะความหลงโดยส่วนมาก ปล่อยปละเวลาให้หมดไปด้วยโมหะความหลงโดยส่วนมาก จึงเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน บุคคลใดมากด้วยความโกรธ มีความโกรธ ขัดเคืองใจ เที่ยวเบียดเบียน อันนี้จะเป็นเหตุแห่งการเกิดในนิรยภูมิ เป็นสัตว์นรก บางคนมากด้วยความละโมบ มีภพเปรตเป็นที่ไป ส่วนบุคคลผู้มีศีล ไม่เบียดเบียนบุคคลทั้งหลายสัตว์ทั้งหลาย จะมีสุคติมนุสสภูมิเป็นที่ไป

บุคคลที่บำเพ็ญกุศลยิ่งกว่าศีล ที่ทรงแสดงไว้ในธรรม ๒ หมวด คือ
- สัทธรรม ๗
- กับ อริยทรัพย์ ๗

สัทธรรม ๗ คือ ผู้มีศรัทธา มีสติ มีหิริ โอตตัปปะ มีพาหุสัจจะ(คือ หมั่นสดับตรับฟัง ศึกษาธรรมะ)
เป็นผู้มีวิริยะ(ความเพียร) และปัญญา สัทธรรม ๗ นี่แหละจะเป็นเหตุแห่งสุคติเทวโลก

หรือ อริยทรัพย์ ๗ คือ ศรัทธาธนัง ศีลธนัง สุตตธนัง จาคธนัง ปัญญาธนัง หิริธนัง โอตตัปปธนัง ความเป็นผู้มีทรัพย์ คือกุศลทั้งหลายเหล่านี้ จะเป็นเหตุแห่งสุคติเทวโลก

นี่คือมูลเหตุ คือถ้าบุคคลได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระสัทธรรมแล้ว ก็จะรู้กรรม และผลของกรรม การรู้ในลักษณะที่ฟัง หมายความว่า ขณะฟัง รู้โดยการได้ยิน คนที่ได้ยินเรื่องกรรม เรื่องภพชาติ ได้ยินแล้วเชื่อไหม? เชื่อก็มี ไม่เชื่อก็มี คนอ่านเรื่องกรรมนี่ไม่ใช่เชื่อทุกคน อ่านประดับความรู้ก็มี อ่านแล้ววิพากษ์วิจารณ์ก็ีมี อ่านเพื่อนำไปแสดงความเห็น เห็นด้วยบ้าง ขัดแย้งบ้างก็มี ไม่ใช่อ่านแบบศรัทธาทุกคนไป แต่อ่านแบบสัญญา คือจำ ถ้าจำแบบมีทิฐิ ก็คือจะต้องมีความเห็นของตนเอง เห็นด้วยก็ตาม โต้แย้งก็ตาม แม้เห็นด้วยก็ไม่ใช่ศรัทธา แต่เข้ากับความคิดของตน

ส่วนคนที่อ่านแบบศรัทธา เวลาอ่านก็จะมีความเคารพมีความเชื่อ ถ้าเชื่อก็จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ตนทำได้ ทำได้นี้ข้อไหนล่ะ? ถ้าฟังเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่ทำได้ คือ ต้องมีศีล บำเพ็ญบุญ คือ ทาน ศีล ภาวนา อันนี้ระดับความเชื่อเรื่องกรรม ความเชื่อเรื่องกรรมที่นำไปสู่การบำเพ็ญบุญคือ ทาน ศีล ภาวนา นี่เลยไปถึงขั้นเชื่อในระดับที่ปฏิบัติหรือเปล่า? อย่างฟังเรื่องสังสารวัฎนี้ ฟังแล้วกลัวไหม ไม่อยากเกิดอีกต่อไปไหม? หรือ ฟังแล้วกลัวจริง แต่ไปบำเพ็ญทาน เพราะอะไร? เพราะเราจะเกิดอีกเยอะ เราก็ต้องเตรียมเสบียงไว้เยอะๆ ใช่ไหม? อย่างนี้ผิดวัตถุประสงค์แล้ว คือ พระพุทธเจ้าตรัสให้ปฏิบัติเพื่อพ้น แต่พอฟังแล้วกลัว กลัวแต่ไปทำทานเพื่อจะได้มีเสบียงกินในภพชาติต่อไปอย่างนี้ ผิดวัตถุประสงค์ ก็ทำให้บางคน แม้ฟังธรรมะ แต่ไม่ปฏิบัติ แต่ไปบำเพ็ญบุญ อย่างนั้นก็ผิดวัตถุประสงค์อย่างนั้นไม่ใช่สัมมาสังกัปปะอย่างแท้จริง ไม่ได้กลัวภัยในสังสารวัฏอย่างแท้จริง แต่ผู้ที่ได้ฟังเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม เรื่องภพชาติ แล้วกลัว จะต้องปฏิบัติ

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2014, 13:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


การปฏิบัติก็ควบคู่กับบุญกิริยาวัตถุ คือเราจะพ้นจากสังสารวัฏได้ โดยตรงคือการปฏิบัติ ระหว่างทางต้องมีเสบียง เสบียงเพื่อเดินทาง แต่ถ้าสร้างเสบียงอย่างเดียวแต่ไม่ได้เดิน คือให้ทานแต่ไม่ปฏิบัติ จะไปถึงไหน? ไม่ถึงเสบียงหมดไหม? หมด เพราะเดินอ้อมไปอ้อมมา กินทุกวันเสบียงจะไม่หมดก็ต่อเมื่อเดินทางตรง ดังนั้นผู้ปฏิบัติต้องเดินทางตรง เสบียง คือ ทาน ศีล ภาวนา เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปโดยสะดวก อย่างนี้จึงจะถูกวิธี ก็จะต้องเน้นการปฏิบัตินำหน้า คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ส่วนบุญกิริยาวัตถุนั้นเป็นไปตามสมควร คือมีความขวนขวาย แต่ไม่ได้กลบศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้กลบการปฏิบัติ อย่างบางคนมีเวลา ก็ปฏิบัติ แล้วมีการบำเพ็ญบุญ คือ ทาน เป็นต้น เป็นระยะๆ แต่บางคนพอมีเวลาก็จัดแจงไปทำบุญให้ทานอย่างนี้ต่างกัน คือถ้ามุ่งเอาการเก็บเสบียงสำคัญที่สุด ก็จะหาเวลาไปทำบุญในที่ต่างๆ อย่างนี้แสดงว่าสัมมาทิฏฐิยังไม่มากพอที่จะเห็นภัย เห็นโทษของสังสารวัฏ อยู่ในระดับเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม แต่ไม่มากพอที่จะปฏิบัติ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้คติที่ไปของสัตว์ทั้งหลายตามความเป็นจริงว่า ปฏิปทา การประพฤติปฏิบัติใด กรรมใดเป็นเหตุแห่งนิรยคติ การเกิดเป็นสัตว์นรก เปตตนิสสยคติ เกิดในภูมิเปรต เดรัจฉานคติ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มนุสสคติ เกิดเป็นมนุษย์ในหมู่มนุษย์ เทวคติ ไปสู่เทวโลก รวมถึงพรหมโลกทั้งหลาย และปฏิปทาใด เป็นเหตุแห่งการพ้นจากคติ ๕ เหล่านั้น

ในที่นี้จะแสดงปฏิปทาเพื่อพ้นจากคติ ๕ เหล่านั้น โดยอาศัยจิตที่เป็นกามาวจรกุศล หมายความว่า เมื่อจิตเป็นกุศล อาศัยจิตที่เป็นกุศล สืบต่อให้เข้าถึงโลกุตตรกุศล ในการที่จะเป็นเหตุให้พ้นจากนิรยคติ เปตตนิสสยคติ เดรัจฉานคติ ถ้าเข้าถึงโลกุตตระแล้ว ก็จะมีแต่ความพ้นไป คือแม้แต่สุคติภพก็เหลือน้อยลง แต่ถ้าไม่พ้นไป คือแม้แต่สุคติภพก็เหลือน้อยลง แต่ถ้าไม่พ้นเมื่อจิตเป็นกุศลก็ต้องเกิดในสุคติ คือมนุสสโลกบ้าง เทวโลกบ้าง อันนี้เป็นไปตามสภาวะ ส่วนเจตนานั้นต้องการให้เป็นวิวัฏฏะ คือมุ่งสลัดกิเลส แม้จิตเป็นกุศล แต่ก็มุ่งสละกรรม ไม่ได้มีเจตนามุ่งก่อกรรม โดยมีองค์ของมรรคปฏิปทา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่บุคคลนั้นกำลังปฏิบัติอยู่นั่นเอง กระทำองค์แห่งมรรคปฏิปทา คือ มรรคมีองค์ ๘ บ้าง หรือ กล่าวโดยย่อว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้น ณ ภายในจิต อย่างนี้คือ การปฏิบัติเพื่อพ้นจากคติทั้งหลาย พ้นจากภพภูมิทั้งหลาย กล่าวอีกโวหารว่า เป็นกุศลวิวัฏฏะ ก็ต่างจากกุศลวัฏฏะ คือการทำบุญบางอย่าง เป็นเหตุให้ไปสู่ มนุสสภูมิ เทวโลกภูมิ แต่กุศลเหล่านี้เป็นเหตุให้พ้นออกไปจากสังสารวัฏทั้งหมด จึงเรียกว่า กุศลวิวัฏฏะ การปฏิบัติธรรม ถ้าถูกสภาวะ ก็จะเป็นกุศลวิวัฏฏะ อย่างนี้เรียกว่าการเดินทางตรง

ในการปฏิบัติธรรม ทรงแสดงลำดับของการปฏิบัติอย่างที่ทรงเปรียบเทียบได้ว่า ถ้าตถาคตได้พบบุคคลผู้ฝึกได้ ตถาคตก็จะแนะนำก่อนในเบื้องต้น คือ สีลสังวร ถ้ากระทำได้ตถาคตก็จะแนะนำให้ยิ่งขึ้นไป คือ อินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค และ สติปัฏฐานคือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน และสมาธิอันเป็นสมาธิที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐานโดยตรงก็ตาม หรือ สมาธิอันเป็นสมถกรรมฐานควบคู่กับวิปัสสนากรรมฐานก็ตาม จะเป็นเหตุให้เข้าถึงญาณ วิปัสสนาญาณวิมุตติ คือ อริยมรรค อริยผล ตามลำดับๆ ของการปฏิบัติของสภาวะของบุคคลนั้นนที่เข้าถึงได้ โดยเส้นทางเหล่านี้ ถ้าบุคคลเข้าถึงโดยถูกต้องแล้ว จะมีสภาวะเหมือนกัน

หรือตามที่ทรงแสดงว่า การเจริญมรรคปฏิปทา บุคคลบางคนเริ่มต้นด้วยสติปัฏฐาน ๔ ก่อน บางคนเริ่มต้นด้วยสัมมัปปธาน ๔ ก่อน บางคนเริ่มด้วยอิทธิบาท ๔ ก่อน บางคนเริ่มด้วยอินทรีย์ ๕ บางคนเริ่มด้วยพละ ๕ บางคนเริ่มต้นด้วยโพชฌงค์ ๗ บางคนเริ่มต้นด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ล้วนเป็นเส้นทางเดียวกันทั้งสิ้น เพียงแต่ แต่ละบุคคลจะได้ฟังธรรมบางหมวดก่อน บางหมวดหลัง ซึ่งบางคนได้ฟังหมวดเดียวก็สำเร็จโลกุตตระได้ แต่บางคนก็ต้องฟังหลายหมวด โดยหลายหมวดนี้ หมวดใดก่อนหมวดใดหลังก็ได้ แต่ทรงแสดงตามลำดับคือ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ และอริยมรรค

เราก็จะเริ่มด้วยสีลสังวรก่อน

บูชาพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา
พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สังฆัง นะมามิ (กราบ)

นมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

ไตรสรณคมน์
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

สมาทานศีล ๘
สมาทานอาชีวัฏฐมกศีล ๘ ข้อ

นี่คือ สีลสังวร

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2014, 17:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


สีลสังวร
อินทรียสังวร
โภชเนมัตตัญญุตา
ชาคริยานุโยค


อินทรียสังวร คืออะไร? สติที่มีความสำรวมในอินทรีย์ ๖ คือ จักขุนทรีย์(ตา) โสตินทรีย์(หู) ฆานินทรีย์(จมูก)
ชิวหินทรีย์(ลิ้น) กายินทรีย์(กาย) มนินทรีย์(ใจ) อันเป็นอินทรียสังวรที่บุคคลพอมองเห็นได้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรม เป็นผู้มีความสงบด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นต้น พอสมควร

:b49: การมีอินทรียสังวรทางกาย อย่างหนึ่ง
:b50: การมีอินทรียสังวรทางใจ อย่างหนึ่ง

อินทรียสังวรทางใจ หมายความว่า ขณะที่มีสติขึ้น ในการหยุดระงับกิเลสทั้งหลาย อย่างคล้ายๆกับเราที่พอจะนึกออกได้ว่า บางครั้ง บางคราว โกรธแล้วหยุด นึกออกไหม? ตอนโกรธนั้นคือมีความโกรธ ตอนที่หยุดนั้นคือ สติ พอมีสติหยุดแล้ว โกรธต่อหรือเปล่า? อาจจะโกรธต่อก็มี คือหาเหตุผลเพื่อจะโกรธต่อ หรือไม่โกรธต่อก็มี คือรู้สึกว่านี่คือความโกรธ ความโกรธนี่ไม่ดี ดังนั้น ถ้ามีสัมปชัญญะ มาช่วยตัดสินว่า นี่เป็นกิเลสความเศร้าหมอง นี่เป็นอกุศลความเป็นโทษ ก็จะไม่ย้อนกลับไปโกรธ แต่ถ้าไม่มีสัมปชัญญะ ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นอกุศล ก็อาจจะกลับไปโกรธก็ได้ ขณะมีสตินั่นแหละหยุด แต่จะหยุดได้นานเพียงใด ถ้ายังคงมีสติอยู่ ก็จะไม่กลับไปโกรธ ที่นี้การที่บุคคลมีสติแล้วก็จะรู้สึกว่า เราได้หยุดแล้ว ได้ทำแล้ว ระงับแล้ว จะคล้ายๆ กับว่าเราทำงานเสร็จแล้ว คือหยุดโกรธแล้ว เป็นเหตุให้หยุดโกรธแล้ว แม้จะไม่ย้อนกลับไปโกรธ ก็จะนึกคิดเรื่องอื่นต่อ จิตก็ฟุ้งไปเป็นส่วนมาก กุศลก็เกิดเพียงระยะที่มีสติเท่านั้น ดังนั้นอินทรียสังวรก็เป็นกุศล ระงับกิเลสได้ระดับหนึ่ง เป็นขณะๆ ไป

ทีนี้ลองขั้นอินทรียสังวรดูนะ (ให้ผู้ปฏิบัติออกมาเดินเป็นตัวอย่าง) ลองเดิน ทางกายก่อน รู้ว่าคนนี้มีความสงบ เิดินแบบมีสติ เดินตรง มองตรง ตาทอดลงเล็กน้อย ไม่เหลียวซัดส่ายไปทางโน้น ทางนี้ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น นี่คือมีสติ ไม่คะนองกาย เป็นต้น ไม่คะนองวาจา เป็นต้นนี้คือมีสติ

เรามองแล้วรู้สึกไหมว่าเขามีสติ? มีหรือไม่มี? น่าจะมีเพราะเดินไม่เหมือนคนอื่น เพราะไม่ได้มองเรื่องโน้น เรื่องนี้ คล้ายๆ กับว่าข้างในต้องมีสติจึงอยู่ได้ แต่ถ้าข้างในไม่มีสติ ก็จะอยากรู้อยากเห็น มองเหลียวทางโน้นทางนี้ อยากจะไปคุยกับคนโน้นคนนี้ เดินไปเดินกลับ ณ สถานที่จำกัดได้แสดงว่าต้องอยู่ได้ มีอะไรที่ทำให้เขาอยู่ได้ อย่างนี้คือสติ แต่พอมองเห็นด้วยตา ส่วนทางใจเขาจะมีหรือเปล่า เรารู้ไหม? ไม่รู้ เดินไปไม่คิดถึงใคร คิดถึงเรื่องอะไร ดังนั้นทางใจผู้ปฏิบัติเท่านั้นที่จะต้องฝึก แล้วรู้ว่าเรามีหรือไม่มี ทางใจเป็นอย่างไร? ถ้าเผลอไป มีความโลภ อยากได้สิ่งโน้นสิ่งนี้ มีความโกรธเคืองคนโน้นคนนี้ เผลอไป หลงไป ฟุ้งไป แล้วมีสติหยุดได้ นั่นคือสติ นั่นคือทางใจ

ศีล ลำดับต่อไปคือ โภชเนมัตตัญญุตา รู้ประมาณในโภชนะ คล้ายๆ กับความรู้สึกว่า เราไม่วิพากษ์วิจารณ์รสชาติของอาหาร ว่าถูกใจเราหรือเปล่า มีสัมปชัญญะในการบริโภค คือสิ่งใดเป็นอัตถประโยชน์ บริโภคสิ่งนั้น โดยไม่นำความรู้สึกว่าเป็นรสชาติอาหารอะไร เข้ามาอยู่เหนืออัตถประโยชน์ของอาหารนั้นๆ อย่างนี้คือฆราวาส แต่ส่วนภิกษุ แม้แต่ประโยชน์ของอาหารก็ไม่ต้องพิจารณา เพราะรับเท่าไหร่ บริโภคเท่านั้น จะไปเลือกว่าอย่างนี้มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ เหมาะ ไม่เหมาะ ไม่ได้ เพราะเป็นผู้รับ ไม่ใช่ผู้ทำ แต่ส่วนฆราวาสที่เป็นผู้ทำ คำนึงถึงอัตถประโยชน์คืออาหารใดมีประโยชน์ ทำอย่างนั้น อย่างใดเหมาะ ทำอย่างนั้น ถ้าทำอย่างนั้น ก็บริโภคอย่างนั้น รวมถึงการรับสิ่งทั้งหลายที่มีบุคคลให้แก่ตน กล่าวโดยรวมว่าปัจจัย ๔ รู้ประมาณในการรับ ไม่มีความละโมบในการรับ คำนึงถึงความเหมาะสมในการรับ ส่วนภิกษุต้องคำนึงยิ่งกว่านี้คือ ถูกต้องตามพระธรรมวินัยด้วย จึงรับ ถ้าไม่ถูก ไม่รับ อันนี้เป็นคราวที่ต้องอาศัยปัจจัย ๔ ในการบริโภค ในการใช้สอย

แต่ส่วนคราวที่ยังไม่ต้องอาศัยปัจจัย ๔ ในการบริโภค ในการใช้สอย โดยส่วนมาก คือการปฏิบััติธรรม จะต้องอาศัยสติ อีกข้อหนึ่ง คือ ชาคริยานุโยค มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งกรรมฐาน

ถ้าเรามองไป เห็นคนนี้เดิน ก็เดินอยู่เรื่อยๆ เขาขยันใช่ไหม รู้จักแยกออกจากหมู่คณะ มาบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรมบ่อยๆ อันนี้คือความเพียรทางกายที่พอมองเห็นได้ด้วยตา แต่ทางใจ เขามีไหม? เราไม่รู้ ไม่รู้เดินคิดอะไรไปหรือเปล่า ดังนั้น ความเพียรทางใจ คือการทำฉันทะให้เกิดคล้ายๆ กับว่าเราปลีกตัวออกมาแล้ว ดีใจไหมว่าเราแยกออกมาจากหมู่ได้ หรือว่าเหงา ปฏิบัติแล้วกลับไปอยู่ต่อต้องมีความดีใจใช่ไหม ว่าเราชนะกิเลสได้ เราแยกตนได้ ธรรมดาเราต้องคลุกคลี อยากเจอบุคคลทั้งวัน อย่างนั้นน่ะเวลาเราก็หมดไป ภพชาติที่ยังไม่แน่นอนก็รอเราอยู่

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2014, 08:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


ดังนั้น คนที่มีปัญญา จะมีความเพียร ใคร(บ้างที่)เรียกว่าเป็นคนมีปัญญา? คนที่หมั่นศึกษาว่า เรามาจากไหน แล้วเราจะไปไหน อย่างนี้คือคนมีปัญญา แต่บางคนไม่ได้อยากรู้สิ่งเหล่านี้ อยู่ที่ไหนก็ตาม อยากใฝ่หาความสุขความสบายอย่างนี้เรียก ราคะจริต บางคนไปที่ไหนก็ตาม อยากทะเลาะเบาะแว้ง คนแบบนี้มีไหม? ไปไหนวุ่นถึงที่นั่น คนแบบี้ก็มี เรียกว่ามีโทสะจริต บางคนก็ไม่รู้ไม่เห็น ปล่อยปละ วันเวลาผ่านไป เรียกว่าโมหะจริต บางพอประสบเหตุ ก็พัวพัน คิิดนึกไปทั้งวัน เรื่องโน้นเรื่องนี้ เหตุการณ์โน้นเหตุการณ์นี้ คนโน้นคนนี้ อย่างนี้วิตกจริต บางคนไปไหนก็มักที่อยากจะช่วยผู้อื่น มีความนอบน้อม มีความศรัทธา คือศรัทธาจริต แต่บางคนเป็นผู้มีปัญญา หมั่นศึกษาว่า เรามาจากไหน เราจะไปไหน อะไรคือกรรม อะไรคือผลของกรรม อย่างนี้เป็นต้น นี่คือพุทธิจริต ผู้มีปัญญา ดังนั้นผู้มีปัญญา ก็จะเป็นเหตุแห่งการเป็นผู้บำเพ็ญเพียร ปฏิบัติธรรม

ความเพียรทางใจ คืออะไร? ทำฉันทะให้เกิด ทำความเพียร ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ เพื่อรักษากุศลธรรม คือกุศลจิตก็ตาม คือสติก็ตาม ที่เกิดมาในครั้งแรกให้ดำรงอยู่ ถ้า ๒ ระดับนี้ เชื่อมโยงกันคือ ขณะเดินถ้าเผลอ แล้วมีสติขึ้น นี่คือสติที่เรียกว่า อินทรียสังวร ถ้ามีสติแล้วประคองสติต่อ รักษาสติต่อ นี้คือ ชาคริยานุโยค อันนี้เป็นทางใจทั้ง ๒ กรณี ต้องอาศัยการฝึก ทางกายกรรมไปไม่ถึง ทางวจีกรรมไปไม่ถึง หมายความว่า แม้ว่าเราจะอยู่ในสถานที่เงียบสงัด เดินคนเดียว ไม่พูดกับใคร ก็ยังวัดไม่ได้ว่ามีอินทรียสังวร กับ ชาคริยานุโยคทางใจหรือเปล่า นี่คือองค์แห่งการปฏิบัติ

ถ้าเผลอไปแล้วมีสติ ถ้ามีสติแล้วประคองสติต่อก็ตาม ประคองจิตอันเป็นกุศลต่อก็ตาม หรือแม้ยังไม่เผลอ ต้องให้เผลอไหม? ไม่ต้องรอ ไม่เผลอนี่ดีแล้ว ก็ประคองจิตที่ทรงแสดงโดยละเอียดว่า สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ เป็นต้น

การทำความเพียร ประคองศรัทธา เรานึกออกไหมว่า ศรัทธาเป็นอย่างไร? เราเคยมีไหม? เราเคยถวายสังฆทานไหม? เคยถวายฟ้าไตรจีวรไหม? ตอนนึกถึงผ้าไตร เป็นภาพผ้าไตรใช่ไหม? ตอนศรัทธาใช่ผ้าไตรไหม?....ไม่ใช่นะ บางคนถือผ้าไตรแล้วอึดอัดนะ มาให้เราถือทำไม เราก็ไม่เกี่ยวอะไรนี่ ดังนั้น ศรัทธาก็คือศรัทธา วัตถุก็คือวัตถุ คนละอย่างกัน เคยถือสังฆทานไหม? หนักไหม? ตอนหนักนี้ศรัทธาไหม? ไม่ศรัทธานะตอนหนัก คิดแต่หนักๆ ๆ แต่ตอนศรัทธาจะไม่คิดถึงความหนัก คนละตอนกัน เคยหิ้วไปไกลๆ ไหม? เคยหิ้วไป แล้วบ่นไปไหมว่า เมื่อไหร่จะถึง เมื่อไหร่จะถึง ไม่ได้ศรัทธานะ แต่ถ้าหิ้วไปแล้วมีความสุข ตรงมีความสุขเป็นผลจากศรัทธา ดังนั้น ถ้าเรามีศรัทธาบ่อยๆ เราจะมีความสุข ทำไมคนชอบทำบุญ? เพราะมีความสุข ความสุขเพราะรู้ว่า เราทำแล้วต่อไปเราจะได้

แต่ตอนมีศรัทธา จะมีความสุข รู้ว่านี่คือความดี จะนึกถึงผลก็ตาม ไม่นึกถึงผลก็ตามเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่รู้สึกว่านี่คือความดี เราก็จะมีความสุข ตอนให้ทาน ส่วนมากคนถึงมีความสุข เพราะรู้ว่านี่คือความดี ตอนปฏิบิัติธรรมมีความสุขไหม? รู้สึกว่าอยากให้ หรืออยากได้ ตอนปฏิบัติธรรมน่ะ อยู่ที่จิตใช่ไหม? บางคนตอนให้ทานมีความสุข ตอนปฏิบัติธรรมไม่มีความสุข คิดว่าเมื่อไหร่จะได้ซักที ตอนให้ทานคืออยากให้ ตอนปฏิบัติคืออยากได้ จิตไม่เหมือนกัน ใช้ไม่ได้ไม่ใช่กุศล

ลักษณะนี้ก็คล้ายๆ กับคนประคองจิต ถ้าประคองจิตไปๆ แล้วมีโลภะ มีความอยากได้เข้ามาแถม เมื่อไหร่จะได้เมื่อไหร่จะเห็น เมื่อไหร่จะมี แบบนี้กิเลสก็ครอบงำจิต แต่ถ้าประคองจิตแบบทำบุญ จิตคือธรรมะ ธรรมะเป็นของสูงกว่าวัตถุทานอีก ก็ประคองจิตแบบศรัทธานี่แหละ ลักษณะเดียวกัน ก็จะมีความสุขทันที ในความรู้สึกว่านี่คือบุญ นี่คือความดี ดังนั้นนี่ดีกว่าวัตถุทานอีก เพราะวัตถุทาน จะเป็นเหตุแห่งสุคติภพ แต่ธรรมะจะเป็นเหตุแห่งการพ้นไปจากอบาย อย่างนี้สูงกว่า

ให้ลองเดินประคองจิตแบบมีความสุข นึกว่าเราประคองสังฆทาน ผ้าไตร มีความสุขใช่ไหม? แต่ตอนสุขไม่ใช่นึกถึงผ้าไตร ตอนสุขน่ะ ศรัทธาจึงสุข ประคองจิตก็เหมือนกันไม่ต้องนึกถึงจิตหรอก ประคองแบบรู้สึกว่านี่คือความไม่ต้องเจออะไร ไม่ต้องมีอะไรใหม่หรอก ตรงนี้ดีที่สุดแล้วของเรา ถ้าหวังว่าเราจะเจออะไรใหม่ ตรงนี้จะแห้งแล้ง รอว่าเมื่อไหร่จะได้ จะไม่มีทางได้ เพราะจิตตอนนี้ยังไม่สามารถจะรักษาได้ด้วยตนเองเลย ยังทรงอยู่ในสภาพนี้ไม่ได้เลย ดังนั้น ความเป็นศีล หมายความว่า ทรงอยู่ในความเป็นกุศลได้ ถ้ามุ่งหวังว่าอยากมีสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ไม่ใช่ทรงอยู่ได้ อย่างนั้น คือขาด คือพร่อง อยู่ได้พอได้คือ รู้สึกว่าไม่ต้องมีอะไร เราก็พอแล้ว ตรงนี้ดีที่สุดแล้ว ถ้าไม่พอก็แปลว่าเราตั้งความหวังไว้สูง จึงไม่ได้ เพราะเราขาดไปเรื่อยใช่ไหม?

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.พ. 2014, 07:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
:b44: :b44: :b44:

การปฏิบัติ คือ เต็ม ๑ แก้ว ...พอเต็ม ๑ แก้ว ซ้ำๆ บ่อยๆ เลยแก้วหนึ่ง
จึงต้องเอาแก้วที่ ๒ มารองรับ พอรองบ่อยๆ ซ้ำบ่อยๆ เกิน ๒ แก้ว
ต้องมีแก้วที่ ๓ มารอง แต่ถ้าเดินไปเมื่อไหร่จะได้ เมื่อไหร่จะได้ (ทั้งที่)แก้วแรกยังไม่เต็มเลย ยังขาด
จะได้เพิ่มไหม?...ไม่เพิ่มแล้ว เพราะจะเพิ่มได้ เมื่อ(แก้ว ๑) เต็ม ๑ แก้ว
แต่นี่เดินไป ขาดไป เมื่อไหร่จะได้ เมื่อไหร่จะมี เมื่อไหร่จะเห็น จะเป็นอย่างนี้ร่ำไป คือ ขาดตลอด
แต่ถ้ารู้สึกว่า นี่คือความดี นี่พอแล้ว ไม่ต้องดีกว่านี้หรอก แค่นี้ดีของเราแล้ว
ถ้าดีแบบนี้บ่อยๆ จะมีสิ่งที่ดีกว่านี้มาเกิดสืบต่อ

รวมถึงการที่จิตเปลี่ยนประธาน คือ ตอนเดินประคอง เรียกว่า ชาคริยานุโยค ถ้าเผลอ ตอนเผลอ ประคองหรือเปล่า? ไม่ได้ประคอง... พอมีสติ รู้ว่าเผลอ ตอนรู้ว่าเผลอ เผลอหรือเปล่า? ไม่เผลอ... ถ้าเผลอตลอด จะไม่รู้ มีสติจึงรู้ว่าเผลอ พอรู้นี่คือมีสติแล้ว ไม่ต้องย้อนกลับไปคิดว่าเผลอเรื่องอะไรแล้ว ประคองต่อทันที ประคองอะไร? ก็รักษาความที่ไม่เผลอนั้นแหละ ไม่ใช่หวังว่าเราจะกำหนดอะไรนะ หาอะไรนะ ทำอะไรนะ อย่างนั้นไปนึกถึงสิ่งที่เราไม่เคยเจอ เอาสิ่งที่เราบอกว่าตรงนี้ดี รักษาตรงนี้ไว้ก่อน ประคองดีไหม? ดี...ประคอง ถ้าเผลอล่ะ? เผลอก็เผลอไป ...แต่ตอนมีสตินั่นคือ เปลี่ยนจากการประคอง มาเป็นสติเป็นประธาน... พอสติเป็นประธาน เปลี่ยนจากกิเลส จากความเผลอ มามีสติและรักษาสติด้วยความเพียร คือ ประคองสติก็ตาม ประคองจิตก็ตาม อย่างนี้เรียกว่า อินทรียสังวร กับ ชาคริยานุโยค สืบต่อกันดี

*ถ้า ๒ ขั้นนี้สืบต่อกันดี พอมีสติ รู้ว่าเผลอ แล้วจะมีสติต่อ สติจะเป็นประธานทั้ง ๒ ระดับ คล้ายๆ กับรู้สึกว่าประคองง่ายจนไม่ต้องประคองก็อยู่ได้ อย่างนี้ คือ สติปัฏฐาน มีสติ รู้ว่าเผลอ ถ้าว่าด้วยจิต คือ รู้ว่าจิตมีราคะก็ตาม รู้ว่าจิตมีโทสะก็ตาม รู้ว่าจิตมีโมหะก็ตาม... พอมีสติ ก็จะหยุด กระแสความเศร้าหมองของจิตเหล่านั้นได้ จิตก็จะสงบ ก็สงบจากกิเลสนั่นแหละ แล้วผู้ปฏิบัติ ยังคงมีสติต่อไม่เผลอต่อจิต จึงรู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตปราศจากโทสะ จิตปราศจากโมหะ ...นี่คือขั้นสติปัฏฐานเรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ดังนั้น ขั้นสติปัฏฐานนี้ จะเกิดสืบต่อจากขั้นอธิศีล คือ อินทรียสังวร กับ ชาคริยานุโยค
เดิมสติหยุดกิเลส แล้วก็วิริยะประคองจิต ประคองสติ ต่อมาสติหยุดกิเลสด้วยสติรู้จิตต่อด้วย ดังนั้นสติจะมาทำงานแทนวิริยะ... ถ้าสติทำงานแทนวิริยะบ่อยๆ จะเริ่มมีความตั้งมั่น คือ ความฟุ้งความซัดส่ายลดไป อันนี้คือขั้นสมาธิมาสนับสนุนสติ ถ้าเป็นอย่างนี้บ่อยๆ จะถึงขั้นปัญญา ที่รู้ว่านี่เป็นสภาวะจริง ไม่ใช่สิ่งสมมติ คิดนึกในเรื่องต่างๆ จะแยกสมมติสัจจะ และสภาวสัจจะ ออกจากกันได้ว่า สิ่งใดจริงอย่างแท้จริง สิ่งใดจริงโดยสมมติ เปรียบเทียบนึกคิด กระทำการงาน อย่างนี้คือการเข้าถึง ทิฏฐิวิสุทธิ ความเห็นต่อธรรมอันบริสุทธิ์ด้วยการปฏิบัติ

ถ้าจัดเรียงตามลำดับของมรรคปฏิปทา คือ
ตอนที่รู้กรรม รู้ผลของกรรม ได้ฟังเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม เรื่องภพชาติ เรื่องสังสารวัฏ เรื่องกัป แล้วเกิดความเข้าใจเห็นภัย เห็นโทษของสังสารวัฏ นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

ความดำริที่อยากจะพ้นออกไปจากสังสารวัฏ รอดตัวในสังสารวัฏเรียก สัมมาสังกัปปะ

ศีลที่สมาทานไป เรียกว่า สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ

ความเพียรประคองจิต เรียกว่า สัมมาวายามะ

การมีสติปัฏฐาน เรียกว่า สัมมาสติ

ความตั้งมั่นจากการเจริญสติ เรียกว่า สัมมาสมาธิ

จนถึงภาวนามยปัญญา ญาณ วิปัสสนาญาณ คือ สัมมาญาณ สัมมาวิมุตติ นี่คือเส้นทางของมรรคมีองค์ ๘

ดังนั้นการปฏิบัติ จะเริ่มที่สัมมาวายามะ ความพยายามอันชอบ หรือ ถ้ากล่าวถึงองค์ของการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงการปฏิบัติ ตามลำดับคือ สีลสังวร อินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค ...๔ ประการนี้ สีลสังวร คือที่สมาทานไป... อินทรียสังวร คือมีสติ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เดินจงกรม นั่งปฏิบัติธรรม... ชาคริยานุโยค คือ ทำความเพียร ประคองจิต ถ้าขณะปฏิบัติ มีองค์แห่งอินทรียสังวร สลับกับ ชาคริยานุโยค ลำดับต่อไปจะเป็นขั้นของสติเป็นประธาน ถ้าวิริยะเป็นประธาน เรียกว่าสัมมาวายามะก็ตาม เรียกชาคริยานุโยคก็ตาม อยู่ในระดับอธิศีล ถ้าสติเป็นประธาน เรียกว่าสติปัฏฐานหรือสัมมาสติ ถ้ามีขั้นสติบ่อยๆ จะมีขั้นสมาธิมาอุดหนุน สมาธิเรียก
อธิจิตตสิกขา หรือเรียกว่าสัมมาสมาธิ จะเป็นเหตุแห่งขั้นอธิปัญญาสิกขา หรือ การรู้ การประจักษ์การเห็นในสภาวะธรรม นี่คือลำดับขั้นของการปฏิบัติธรรมโดยคร่าวๆ ก่อน

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.พ. 2014, 17:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
:b44: :b44: :b44:

การปฏิบัติให้เลือกที่ที่สามารถเดินได้จะ ๕ เมตรก็ตาม, ๖ เมตรก็ตาม, ๗ เมตรก็ตามก่อน กำหนดหมายว่า เราจะเดินจากที่นี้ไปถึงที่โน้น แล้วเดินกลับเป็นแนวตรง ไม่ระแวงว่าจะเหยียบอะไรหรือเปล่า คือพื้นเรียบ เดินเป็นแนวตรง กำหนดหมายว่าจะเดินจากที่นี้ มาถึงที่นี้ เดินไปแล้วเดินกลับ อันนี้เป็นบัญญัติที่กำหนดหมาย แล้วก็เริ่มด้วยอินทรียสังวร เดินสำรวมตา จะมีกี่คนเดินก็ตาม ให้สำคัญหมายในใจว่า เราเดินคนเดียว ไม่เหลียวไปมองคนโน้นคนนี้ เขาจะทำอย่างไรก็ตาม เราก็เดินจงกรม นั่งปฏิบัติ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา ต่อไปชาคริยานุโยค ทำความเพียรในการเดินจงกรม ในการปฏิบัิติ การทำความเพียร ไม่วัดว่าาเดินมากๆ หรือนั่งนานๆ ทำความเพียร คือ อยู่ในอิริยาบถของการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเดิน จะยืน จะนั่ง เหมาะสม เมื่อเหมาะสมก็ต่อเนื่องกันไปได้ ถ้าไม่เหมาะสมก็ต่อเนื่องไม่ไ้ด้ อย่างคล้ายๆ กับว่า เดินมาก็เมื่อย พอเมื่อยไปนั่ง ยังไม่ทันหายเมื่อยต้องมาเดินใหม่ก็เดินไม่ได้ หรือนั่งนาน ก็ซบเซา ง่วง พอง่วงก็หลับ อย่างนี้คืออิริยาบถไม่เหมาะสม

ระยะแรกๆ เหมาะสมอย่างไรเรายังไม่รู้หรอก
กำหนดหมายว่า เดินสักครึ่งชั่วโมง นั่ง ๑๐ นาทีก่อน ไม่เจริญสมาธินะไม่หลับตา เจริญสติ
เดินครึ่งชั่วโมง นั่ง ๑๐ นาทีสลับกันไปก่อนระยะแรกนี้ ถ้าต่อไป พอเดินได้ค่อนข้างชัดเจน ค่อนข้างรู้วิธีแล้ว จะมีความมั่นคงขึ้นมาก แม้เดินครึ่งวันก็ไม่เมื่อย ยิ่งเดินก็ยิ่งมีความสุข แต่เบื้องต้นกำหนดแต่คร่าวๆ ก่อน แต่น้อยก่อน เดินครึ่งชั่วโมง นั่ง ๑๐ นาที ตอนเดิน ประคองจิตไม่ให้เผลอ ถ้าไม่เผลอประคองจิตไว้ก่อน ถ้าประคองจิต แล้วมีช่วงที่เผลอไป แล้วมีสติขึ้น อันนี้คือ สติหยุดความเผลอ หยุดกิเลส ถ้ามีสติแล้ว ก็ประคองจิตต่อ ไม่ต้องไปย้อนคิดว่า เมื่อครู่นี่เราเผลอถึงเรื่องอะไร ไม่ต้องหงุดหงิดรำคาญกับความเผลอคล้ายๆ กับว่า เรามองงานเราเท่านั้น ที่ไม่ใช่งานเรา เราอย่าไปมอง งานเราคือสติ งานเราคือประคองจิต ที่เผลอไม่ใช่งานเรา ง่ายยากไม่เกี่ยว ไ่ม่ต้องคำนึง

รวมถึงทำงานด้วยการมีความสุข มีความสุขอย่างไร?
ถามตัวเองว่า สติเกิดบ่อยไหม? เผลอบ่อยไหม? เรามีความสุขไหม?
เช่น ถ้างานของเราคือ การจับฝาครอบแ้ก้วน้ำทรงกลมให้ตั้งอยู่ได้ ถ้าล้มก็จับตั้งใหม่ ล้มเรื่องของเขา ตั้งเรื่องของเรา เราทำงานของเราด้วยความสุข ตอนตั้งมีความสุขไหม? มีความสุข ได้ทำงานบ่อยๆ ใช่ไหม? นี่คือคุณค่าของเรา แต่พอไปมองว่า ล้มอีกแล้ว ล้มอีกแล้ว ก็ไม่สุขแล้ว เราไปมองงานเขา ยิ่งมองยิ่งมีความทุกข์ หรือมองว่าเมื่อไหร่จะอยู่สักที? ไม่มีทางเลยที่จะอยู่ เพราะเราไม่ทำงานของเราเลย เรามัวแต่ติคนอื่น ไม่ยอมทำงานเรา เราเคยเกี่ยงคนอื่นไหมว่าเมื่อไหร่เขาจะทำสักที ถ้าเราทำบ่อยๆ เราดี เราไม่ได้เกี่ยงคนอื่น เราทำงานของเรา คนรู้เขาจะทำตามเราเอง

ลองเดินประคองจิต ด้วยศรัทธา มีความสุข สบาย ถ้าเผลอไป พอมีสติ มีความสุข พอประคอง สิ่งนี้จะทำให้เรารอด เราจะพ้นจากอบายภัย อบายทุกข์ ไม่เกิดในอบายด้วยการปฏิบัติแบบนี้

นี่คือ ธรรมะที่จะทำให้เรารอด แบบนี้มีความสุขไหม? ประคองแบบมีความสุข ก็จะทำให้มีสติรู้สึกดีต่อสติ ไม่ไปติว่าเมื่อครู่นี้ทำไมไม่มีสติ พอประคองก็จะรู้สึกดีต่อการมีวิริยะคือการประคอง ก็จะไม่ต้องหวังว่าเมื่อไหร่จะได้ นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าประคอง ก็จะรู้สึกดีต่อการประคอง ก็จะประคองได้ง่ายขึ้น เพราะไม่มีสิ่งมากดดันว่าเมื่อไหร่จะได้ เมื่อไหร่จะเกิด จะตั้งมั่นอยู่นานๆ พอรู้สึกว่าดี ก็จะไม่ฟุ้งออกไป คล้ายๆ กับว่าคนมีความสุข ถ้าคนชวนไปเที่ยว เราจะไปไหม? ถ้าไป ก็แสดงว่าการไปเที่ยวมีความสุขมากกว่าอยู่ แสดงว่าอยู่ไม่มีความสุข ถ้าอยู่มีความสุข เราไม่ไปหรอก ลำบากเพราะเราอยู่ เราสบายแล้ว ดังนั้น คนมีความสุขในใจ จะฟุ้งไหม? ไม่ฟุ้ง ที่ฟุ้งเพราะอะไร เพราะอยากนึกถึงเรื่องใหม่ๆ เปลี่ยนเรื่องเรื่อยๆ เผื่อว่านึกถึงเรื่องใด เราจะมีความสุข ก็เลยวาดให้เกิดความสุขขึ้นในใจ แต่งเรื่องในใจ ให้เราไปอยู่เป็นตัวละครอยู่ในนั้น หรือคำนึงถึงความหลัง อาลัยอาวรณ์ ก็เลยนึกคำนึง คาดหวังอนาคต แต่เรื่องต่างๆ หรือนึกถึงคนโน้น คนนี้ เหตุการณ์โน้น เหตุการณ์นี้ เพื่อที่ว่านึกแล้วเราจะได้มีความสุข แต่คนมีความสุข ไม่ต้องนึกอย่างนั้น เพราะกำลังมีความสุข

ดังนั้น ความฟุ้งจะลดลงไป เมื่อมีความสุขเกิดจาก ศรัทธา วิริยะ สติ

ผู้มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ จะมีความสุข ณ ภายในจิต จิตจะไม่ดิ้นรน จึงเป็นเหตุแห่งสมาธิ ถ้ามีสมาธิ ก็มีความสุข มีความสุข จิตก็ตั้งมั่น อันนี้จะเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่า ความฟุ้ง ความซัดส่ายลดลงไปจากจิต ด้วยวิธีปฏิบัตินี้

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.พ. 2014, 07:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
:b44: :b44: :b44:

ให้ลองเดิน หาสถานที่ประมาณ ๖ เมตร ๗ เมตร ประมาณนี้ ถ้าไกลไปนัก จิตก็ซัดส่ายไม่มีกำลัง
ถ้าใกล้นัก ๓, ๔ เมตร ใกล้ก็อึดอัด เดินแล้วกลับตัวๆ ก็หงุดหงิดได้ง่าย

เดินสำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชาคริยานุโยค เดินบ้าง นั่งบ้าง ต่อเนื่องกันไป คล้ายๆ กับเราสร้างความเพียรข้างใน โดยที่ไม่มีความกดดัน ไม่มีความมุ่งหวัง ตัวสติที่เป็นสภาวะจริงๆ คือ ถ้าตอนประคองจิตอยู่นั่นแหละ เรียกว่า ชาคริยานุโยค คือความเพียร ถ้าเผลอ คือไม่ได้มีความเพียร ตอนจะมีความเพียรใหม่ต้องมีสติก่อน รู้ว่าเผลอ ตอนรู้คือสติ พอรู้แล้ว มาประคองจิตต่อ อย่างนี้เป็นองค์ของอินทรียสังวร กับ ชาคริยานุโยค ถ้าทำบ่อยๆ จะรู้สึกว่ามีสติแล้วก็มีสติต่อทันที โดยที่ประคองง่ายขึ้น จนแทบรู้สึกว่าไม่ต้องประคองก็อยู่ได้นั่นคือขั้นสติปัฏฐาน ดังนั้น การประคองจิต จะเปลี่ยนเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเมื่อถึงสภาวะ

ถ้าอีกแบบก็คือ บางครั้งการประคองจิต บุคคลทำได้แล้ว มีสติบ่อยๆ แล้วประคองได้นานขึ้น ก็จะรู้สึกว่า จิตเราอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องนึกถึงเรื่องต่างๆ ทรงตัวอยู่ได้ รักษากุศลอยู่ได้ ทำให้ไม่ต้องวิ่งไปสู่สถานที่ใดๆ ก็ได้

ลองยกมือขึ้นมาขยับดูความรู้สึก ขณะเดินอยู่ก็มีความรู้สึก ไม่ต้องวิ่งไปที่ร่างกายว่ารู้สึกตรงไหน แต่ถ้ายังรู้สึกว่่่่ารู้สึกตรงไหน ถ้ายังรู้สึกว่า รู้สึกที่มืออยู่ อย่างนี้แปลว่า ยังต้องพึ่งสถานที่อยู่ เพราะการประคองจิตยังไม่ดีพอ จึงอยากที่จะมีสถานที่มารองรับ

ลองประคองจิตไว้ แล้วขยับมือดู ถ้ามือที่เหยียดออกไปตรงๆ กับ ที่คู้เข้ามาเป็นภาพที่ต้องนึก แต่ความรู้สึกของการขยับ ไม่ต้องนึก รับมาก่อนเลย ก็ทำให้รับรู้ความรู้สึก ไม่ต้องคิดถึงภาพตามหลังก็ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็พร้อมที่จะเจริญกายานุปัสสนา

ลองเดินประคองจิตก่อน ถ้าเผลอไป มีสติกลับมาประคองใหม่ พอทำบ่อยๆ ไม่นึกถึงภาพร่างกายได้เพราะรักษาจิตไว้ได้ ไม่ต้องประคองก็อยู่ ไม่ต้องคิดว่าจิตอยู่ตรงไหนของร่างกายเลย เพราะพร้อมที่จะน้อมไปสู่ภาวะทางกาย เราำม่ต้องคิดถึงเท้าเลย แต่สังเกตความรู้สึกได้ ตรงนี้ใช้คำบัญญัติว่า วาโยธาตุ คือความรู้สึกตึงหย่อน อันนี้เป็นกายแบบสภาวะ ถ้าผู้ปฏิบัติมีความพร้อม คือ ประคองความรู้สึกแบบนี้ ขณะเดิน ผู้ทำงานคือ การประคองเหมือนกันแต่เปลี่ยนจากการประคองจิต มาเป็นการประคองความรู้สึกขณะเดิน

ถ้าประคองได้ง่ายเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ถ้ายังยากอยู่ แสดงว่าขั้นที่ประคองจิตยังไม่ดีพอ พอจะกำหนดอะไร จึงต้องไปคิดถึงว่าตรงนั้นอยู่ในสถานที่ไหน แสดงว่าจิตยังไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ด้วยกำลังของอธิศีล คือ ชาคริยานุโยค กับประคองจิต ดังนั้น การปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะไปเร่งรัดไม่ได้ ว่าเราทำอย่างนี้ วิธีการนี้ ในขั้นนี้ ถ้าไปเร่งรัดเอา ก็คือคิดเอา แต่ตัวจิตไม่ได้เข้าถึงคุณเหล่านั้น

ตามที่ทรงแสดงว่า สมาธิอันศีลอบรมดีแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เป็นสมาธิที่เกิดมาจากศีล
ศีลก็คือ อินทรียสังวร ชาคริยานุโยค นี่เอง


การประคองจิต การมีสติเหนือกิเลส พอทำบ่อยๆ แล้วจะมีสติ เมื่อมีสติบ่อยๆ จะทำให้ตั้งมั่น นั่นคือสมาธิ
ดังนั้นสมาธิเกิดจากสติ สติเกิดจากวิริยะ ปัญญาอันสมาธิอบรมดีแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือ พอมีสติ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็จะเกิดปัญญา เข้าถึงการเป็นธรรมนั้นๆ จิตอันปัญญาอบรมดีแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง จิตของผู้นั้นย่อมมีความบริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลาย อันนี้เป็นเส้นทางของ ศีล สมาธิ ปัญญา ตามลำดับการปฏิบัติ ซึ่งเป็นสภาวะ แต่ละช่วงแต่ละตอนว่า ณ ขณะนั้น สภาวะใดเป็นประธาน

:b49: แรกสุดคือ วิริยะเป็นประธานบ้าง แล้วมีสติสลับเป็นบางครั้งบางคราว แล้วกลับมาเป็นวิริยะใหม่

:b49: ขั้นต่อไปคือ สติ เป็นประธานแทนวิริยะ จะรู้สึกว่ามีสติ ไม่ต้องประคองก็รู้้อย่างนั้น รู้ง่าย ชัดขึ้น

:b49: ขั้นต่อไปคือ สมาธิอุดหนุนสติ จนรู้สึกว่ามีสติตลอด ไม่ฟุ้ง ไม่เตลิด

:b49: และขั้นต่อไปคือ ปัญญาเกิดขึ้นเป็นประธานแทนสติ และเห็นธรรมนั้นๆ ด้วยปัญญา

แต่ขั้นที่สติเป็นประธานก็ยังคงต้องมีความเพียร มีสัมปชัญญะ และมีสติ
ขั้นที่มีปัญญานำ ก็ต้องมีสติ มีวิริยะ เป็นฝ่ายสนับสนุน องค์เหล่านี้เกิดพร้อมกัน เรียกว่า มรรคมีองค์ ๕
ปัญญา เป็นสัมมาทิฏฐิ ...ความสละกิเลส ไม่มีกิเลสเข้ามาพัวพันในการปฏิบัติเป็นสัมมาสังกัปปะ...ความพยายาม ความเพียรโดยชอบ เป็นสัมมาวายามะ...ความไม่มีสติ ไม่เผลอ เป็นสัมมาสติ...ความตั้งมั่น ไม่ซัดส่ายไป เป็นสัมมาสมาธิ

ในแต่ละช่วงแต่ละตอน มรรคบางองค์เป็นประธาน ถ้าเป็นการปฏิบัติเบื้องต้น วิริยะเป็นประธาน ต่อมาสติเป็นประธาน ต่อมาจะมีสมาธิเป็นประธานชัดกว่าสติ แต่ยังคงต้องเกิดตามสติอยู่ แล้วต่อไป ปัญญาเป็นประธานแทน...เส้นทางของการปฏิบัติธรรมจะเป็นอย่างนี้ ถ้าผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติถูก ณ สภาวะนั้นๆ คือ จาก๑ ไปเป็น๒... จาก๒ ไปเป็น๓... แต่ถ้าผิดขั้น ไปเป็นขั้นที่๓ เลยได้ไหม? ไม่ได้ กลายเป็นคิดเอา
ขั้นที่๑ ขั้นที่๒ ก็เลยไม่ได้ทำ ทำให้ไม่ได้ทำงานจริงตามที่ตนเองจะต้องทำ

ดังนั้น ผลใดๆ จะไม่มีเลย นอกจากความคิดไปเองเท่านั้น ถ้าทำถูกแล้ว จะเข้าถึงธรรมเหล่านี้ได้ นี่เป็นเส้นทางที่เรียกว่าเป็น สัจธรรม ไม่ใช่ว่าใครๆ มาบอกว่าต้องทำอย่างนี้ๆ แต่เป็นสภาวะที่เป็นอย่างนี้เอง แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า มรรคมีองค์๘ พระองค์ก็ไม่ใช่ผู้ที่มากำหนดเอาเอง แต่พระองค์ทรงบอกทางตามที่่ทางนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนทรงบอกทาง มีผู้เข้าถึง แล้วทางนั้นก็เสื่อมสูญไป พระองค์มาตรัสรู้แล้วบอกทางนั้นอีก ก็มีผู้เดิน มีผู้เข้าถึง...ต่อมาทางเหล่านี้ก็จะเสื่อมสูญไป จนกว่าจะมีพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่มาตรัสรู้ แล้วบอกทางนี้อีก ทางเหล่านี้เป็นธรรมะ คือเป็นสัจธรรม เป็นจริงด้วยสภาวะ ไม่ใช่ใครๆ สร้าง แต่เป็นสภาวะที่มีจริง ก็ทำให้การศึกษาก็ตาม การปฏิบัติก็ตาม เราจะไปนึกเอง บอกเอง ทำเองไม่ได้ จะต้องศึกษาให้ถูกวิธีแล้วทำตาม จะได้ผลตามนั้น ตามที่ถูกต้อง ตามที่เป็นจริง

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 มี.ค. 2014, 06:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ก.พ. 2011, 08:23
โพสต์: 1328


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
:b44: :b44: :b44:

ชาคริยานุโยค ประคองจิต ค่อยๆ ประคองไปๆ พอเผลอ กลับมาประคองใหม่ เป็นไปพร้อมด้วยศรัทธา รู้สึกดีรู้สึกศรัทธาต่อ ทั้งวิริยะ คือการประคอง ศรัทธาต่อสติ ถ้าเป็นอย่างนี้ จิตเราจะไม่ดิ้นรน ไม่ซัดส่าย ประคองด้วยความมีศรัทธา ไม่วัดผล ไม่คำนึงถึงผล ว่าเมื่อครู่นี้ เราทำได้หรือไม่ได้ ดีหรือไม่ดี ไม่คาดหวังผลว่าเราอยากได้อะไร ขอให้มีอะไร ขอให้เกิดอะำไร ในจิตของเรา มีแต่งาน ณ ปัจจุบันคือ รักษาจิตด้วยวิริยะ ด้วยความมีศรัทธา ประคองจิตด้วยศรัทธา มีสติ ก็ศรัทธาต่อสติ แล้วกลับมาประคองจิตใหม่ ถ้าทำอย่างนี้ เป็นภาวะที่ถูก

บางครั้ง บางคนจะสงสัยว่า ปฏิบัติธรรมอย่างนี้เมื่อไหร่จะได้ผล? ๑๐ นาที จิตเราดีขึ้น ๑ ชั่วโมง ชััดว่าเราดีขึ้น ๑ วันล่ะ, ๓ วันล่ะ, ๕ วันล่ะ เราจะเข้าใจธรรมะ ไม่ต้องใช้เวลามากเลย แต่สิ่งเหล่านี้เราคิดไปเองไม่ได้ คิดล่วงหน้าไม่ได้ จะรู้เมื่อมีประสบการณ์ มองได้จากอดีต ว่าจิตเราดีขึ้นกว่าเดิม เราจะมองได้ เฉพาะสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราทำบ่อยๆ แล้วจะวินิจฉัยได้ แม้แต่ปัจจุบัน ถูกหรือผิดเรายังไม่รู้เลย แต่ถ้าปัจจุบันเราทำไม่ถูก จะไม่มีวันตัดสินได้ว่าถูก

แต่ถ้าปัจจุบันเราทำถูก จะมีช่วงที่ตัดสินได้ว่า จิตเราดีขึ้น และเห็นความถูกต้องได้เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เป็นอนาคตอะไรใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด เราจะไม่รู้ ถ้าปัจจุบันถูก ปัจจุบันก็เป็นอดีตจิตที่ถูก จะมีปัจจุบันใหม่มารู้ว่าอดีตที่เราทำนั้นถูก แล้วจะเห็นทางที่เป็นปัจจุบันชัดขึ้น และอนาคตชัดขึ้น

การปฏิบัติธรรมจะเป็นอย่างนี้ คิดล่วงหน้าเอาไม่ได้ คาดคะเนเอาไม่ได้ บางครั้งผู้ปฏิบัติอาจสงสัยว่า ที่ปฏิบัติธรรมนี้ จะวัดได้อย่างไรว่าถูก วัดได้ไหม ว่าวันนี้เราทำถูก? พรุ่งนี้เราจะรู้ว่าเราทำถูกหรือเปล่า? แต่บางครั้งไม่ต้องถึงพรุ่งนี้หรอก วันนี้แหละ เราจะรู้ว่าเราทำถูกหรือเปล่า ด้วยสภาวะอย่างนี้ สภาวะจะเป็นสิ่งที่รองรับการปฏิบัติและภาวะของจิตจะเป็นผลจากการปฏิบัติ อย่างนี้เป็นการปฏิบัติถึงความรู้สึก แต่ไม่ใช่การเข้าถึง การเข้าถึงต้องมาจากการปฏิบัติบ่้อยๆ แล้วภาวะนั้นเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงเห็นความแตกต่างกัน ระหว่างการปฏิบัติ กับไม่ปฏิบัติว่า จิตต่างกันอย่างไร

:b53: ขอเชิญเข้าไปฟังวีดีโอ 34 ตอน
หลักสูตรมัชฌิมอาภิธรรมิกะโท วิปัสสนากรรมฐาน
อาจารย์พรชัย เจริญดำรงเกียรติ์
by putthapun 34 videos

https://www.youtube.com/watch?v=xaq8hGM ... 7Q3D1kspIk

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
พระพุทธศาสนามี ๒ นัย ดังนี้...นัยที่ ๑ คือคำสอนของพระพุทธองค์มี ๓ ประการ...เพื่อประโยชน์ในภพนี้ ในภพหน้า เพื่อเข้าถึงความสุขโดยส่วนเดียวคือพระนิพพาน...นัยที่ ๒ คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจจ ๔ ซึ่งเป็นสภาวะธรรมที่ทำให้ผู้เห็นแจ้ง พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ การศึกษาพระอภิธรรมว่าด้วยสภาวะธรรมทั้งสิ้น ผู้เห็นประโยชน์ย่อมได้รับประโยชน์ค่ะ
(เกิดมาไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็จงเป็นผู้ที่รักษา แต่จงอย่าเป็นผู้ที่ทำลาย)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ม.ค. 2024, 09:43 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2024, 10:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร