วันเวลาปัจจุบัน 27 มี.ค. 2024, 12:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 30 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ธ.ค. 2012, 12:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




Rup28.gif
Rup28.gif [ 25.63 KiB | เปิดดู 12899 ครั้ง ]
รูปปรมัตถ์
รูปปรมัตถ์เป็นสภาวะธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ [ธรรมสังคณีปกรณ์ รูปกัณฑ์ ข้อ ๕๐๓] มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงเกิดขึ้นและดับไปเช่นเดียวกันกับจิตและเจตสิก
รูปปรมัตถ์มี ๒๘ รูป หรือ ๒๘ ประเภท และมีความหมายไม่มีเหมือนที่เข้าใจกันว่า โต๊ะเป็นรูปหนึ่ง เก้าอี้เป็นรูปหนึ่ง หนังสือเป็นรูปหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น ในรูปปรมัตถ์ ๒๘ ประเภทนั้น มีรูปที่จิตรู้ได้ทางตา คือ มองเห็นได้เพียงรูปเดียว คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วนอีก ๒๗ รูปนั้น จิตเห็นไม่ได้ แต่รู้ได้ทางอื่นตามประเภทของรูปนั้นๆ เช่น เสียงรู้ได้ทางหู เป็นต้น
ถึงแม้ว่าจะเห็นจิตและเจตสิกด้วยตาไม่ได้ เช่นเดียวกับรูป ๒๗ รูปที่มองไม่เห็น แต่จิตและเจตสิกก็ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ เพราะจิตและเจตสิกเป็นปรมัตถธรรมที่รู้อารมณ์ ส่วนรูปเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ รูปปรมัตถธรรมเป็นสังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น รูปๆ หนึ่งอาศัยรูปอื่นเกิดขึ้น ฉะนั้น จะมีรูปเกิดขึ้นเพียงรูปเดียวไม่ได้ ต้องมีรูปที่เกิดพร้อมกัน และอาศัยกันเกิดขึ้นหลายรูปรวมกันเป็น ๑ กลุ่มเล็กๆ ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้เลย ภาษาบาลีเรียกว่า ๑ กลาป
รูปเป็นสภาพธรรมที่เล็กละเอียดมาก เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา รูปกลาปหนึ่งเกิดขึ้น จะดับไปเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะจิตที่เห็น และจิตที่ได้ยินขณะนี้ ซึ่งปรากฏเสมือนว่าพร้อมกันนั้น ก็เกิดดับห่างไกลกันเกินกว่า ๑๗ ขณะจิต ฉะนั้น รูปที่เกิดพร้อมกับจิตที่เห็น ก็ดับไปก่อนที่จิตได้ยินจะเกิดขึ้น
รูปแต่ละรูปเล็กละเอียดมาก ซึ่งเมื่อแตกย่อยรูปที่เกิดดับรวมกันอยู่ออกจนละเอียดยิบ จนแยกต่อไปไม่ได้อีกแล้วนั้น ในกลุ่มของรูป (กลาปหนึ่ง) ที่เล็กที่สุดที่แยกอีกไม่ได้เลยนั้น ก็มีรูปรวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป เรียกว่า อวินิพโภครูป ๘ คือ
มหาภูตรูป (รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน) ๔ ได้แก่

ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) เป็นรูปที่อ่อนหรือแข็ง ๑ รูป
อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เป็นรูปที่เอิบอาบ หรือเกาะกุม ๑ รูป
เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) เป็นรูปที่ร้อน หรือเย็น ๑ รูป
วาโยธาตุ (ธาตุลม) เป็นรูปที่ไหวหรือตึง ๑ รูป
มหาภูตรูป ๔ นี้ต่างอาศัยกันเกิดขึ้น จึงแยกกันไม่ได้เลย และมหาภูตรูป ๔ นี้เป็นปัจจัย โดยเป็นที่อาศัยเกิดของรูปอีก ๔ รูปที่เกิดร่วมกับมหาภูตรูปในกลาปเดียวกัน คือ

วัณโณ (แสงสี) เป็นรูปที่ปรากฏทางตา ๑ รูป
คันโธ (กลิ่น) เป็นรูปที่ปรากฏทางจมูก ๑ รูป
รโส (รส) เป็นรูปที่ปรากฏทางลิ้น ๑ รูป
โอชา (อาหาร) เป็นรูปที่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป ๑ รูป
รูป ๘ รูปนี้แยกกันไม่ได้เลย เป็นกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุด ที่เกิดพร้อมกันและดับพร้อมกันอย่างรวดเร็ว จะมีแต่มหาภูตรูป ๔ โดยไม่มี อุปาทายรูป (รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิด) ๔ รูปนี้ไม่ได้เลย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แก้ไขล่าสุดโดย ลุงหมาน เมื่อ 11 ธ.ค. 2012, 12:32, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ธ.ค. 2012, 12:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




ลุงหมานออกแบบ.gif
ลุงหมานออกแบบ.gif [ 27.08 KiB | เปิดดู 12489 ครั้ง ]
มหาภูตรูป ๔
มหาภูตรูป มี ๔ ได้แก่ ปฐวี. อาโป. เตโช. วาโย. มีสภาวลักษณะประจำตัวของตนโดยลำดั ดังนี้ :-
๑. ปฐวี เป็นรูปธรรม หรือรูปธาตุชนิดหนึ่งที่เรียกว่าธาตุดิน มีคุณลักษณะดังนี้


กกฺขฬ ลกฺขณา มีความแข็ง เป็นลักษณะ
ปติฏฐาน รสา มีการรับรูปทั้งหลาย เป็นกิจ
สมฺปฏิจฉน ปจฺจุปฏฺฐานา มีการรับซึ่งรูปธาตุทั้งปวง เป็นผล
อวเสสาธาตุตฺตย ปทฏฺฐานา มีธาตุที่เหลือ เป็นเหตุใกล้


ปฐวีธาตุ มีความแข็งเป็นลักษณะนั้น คือ เมื่อเปรียบเทียบกับมหาภูตรูปที่เหลืออีก ๓ รูปแล้ว ปฐวีธาตุมีสภาพแข็งกว่ารูปอื่นๆ ในวัตถุสิ่งของอันใดอันหนึ่ง ถ้ามีปฐวีธาตุอยู่มากวัตถุนั้นๆ ก็จะปรากฎแข็งมาก เช่นไม้ หิน เหล็ก เป็นต้น แต่ถ้าวัตถุอื่นอันใด มีปฐวีธาตุจำนวนน้อย ลักษณะแข็งก็ปรากฏไม่มาก เช่น สำลี ยาง ฟองน้ำ เป็นต้น เมื่อสัมผัสจะมีลักษณะอ่อนหรือแข็งก็ตาม ธรรมชาตินั้นจัดเป็นปฐวีธาตุทั้งสิ้น ธาตุอื่นๆ นอกจากปฐวีธาตุแล้ว รูปธาตุอื่นๆ ไม่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกแข็งหรืออ่อนปรากฏขึ้นได้โดยกายสัมผัส
ฉะนั้น ปฐวีธาตุนี้ จึงเป็นที่อาศัยของรูปอื่นๆ เหมือนพื้นแผ่นดินย่อมเป็นที่อาศัยของสิ่งต่างๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต หมายความว่า สิ่งต่างๆทั้งหลายที่ปรากฎรูปร่าง สัณฐาน สีสัน วรรณะ ตลอดจนอารมณ์ต่างๆ ที่มีรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันทารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ เหล่านี้ ถ้าปราศจากปฐวีธาตุเสียแล้ว ก็จะปรากฏขึ้นไม่ได้ มีวจนัตถะว่า สหชาตรูปานิ ปถนฺติ ปติฏฺฐหนฺติ เอตฺถาติ = ปฐวี แปลความว่า รูปที่เกิดร่วมกันทั้งหลาย ย่อมตั้งอยู่ในธรรมชาตินั้น ฉะนั้นธรรมชาติอันเป็นที่ตั้งอาศัยของรูปที่เกิดร่วมกันเหล่านั้นชื่อว่า ปฐวี
ปฐวีธาตุ หรือธาตุดินนี้ มี ๔ อย่าง คือ
๑. ปรมัตถปฐวี หรือลักขณปฐวี ได้แก่ ปฐวีธาตุที่แสดงลักษณะแข็งและอ่อนให้พิสูจน์ได้ด้วยการถูกต้องสัมผัส โดยความรู้สึกทางกายมี ๒ ลักษณะ คือ
๑) กกฺขฬ ลกฺขณ หรือ ขรภาว มีสภาวลักษณะที่แข็ง
๒) อถทฺธ ลกฺขณ มีสภาวลักษณะที่อ่อน
ปฐวีธาตุตามความหมายในข้อนี้จึงมุ่งหมายถึงธรรมชาติที่ทรงไว้ความแข็งและอ่อนเป็นลักษณะตามความเป็นจริงจึงเรียกว่าปรมัตถปฐวีธาตุ หรือลักขณปถวี
๒. สสมฺภารปฐวี หมายถึง ปฐวีธาตุอันเป็นส่วนประกอบของธาตุดินในสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ที่แสดงไว้ตามนัยแห่งพระสูตรหรือที่เรียกว่า สุตฺตนฺตปฐวี ซึ่งยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก
๑) อชฺฌตฺติกปฐวี ได้แก่ ธาตุดินภายใน หมายถึง ธาตุดินอันเป็นส่วนประกอบที่มีอญู่ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ในธาตวิภังคบาลี แสดงว่า มีอยู่รวม ๒๐ ได้แก่ เกสา-ผม / โลมา-ขน / นขา-เล็บ / ทนฺตา-ฟัน / ตโจ-หนัง / มํสํ-เนื้อ / มหารู-เอ็น / อฏฐิ-กระดูก / อฏฺฐิมิญฺชํ-เยื่อในกระดูก / วกฺกํ-ม้าม / หทยํ-หัวใจ / ยกนํ-ตับ / กิโลมกํ-พังพืด / ปิหกํ-ไต / ปปฺผาสํ-ปอด / อนฺตํ-ใส้ใหญ่ / อนฺตคุณํ-ใส้น้อย / อุทฺริยํ-อาหารใหม่ / กรีสํ-อาหารเก่า / มตฺถลุงฺคํ-มันสมอง
๒) พาหิรปฐวี เป็นธาตุดินภายนอก หมายถึงธาตุดินที่มิได้อยู่ในสัตว์ หรือสิ่งมีชีวิต ในธาตุวิภังคบาลี มีตัวอย่างโดยสังเขป ๖ ชนิด คือ
อโย-เหล็ก / โลห-ทองแดง / รชต-เงิน / ชาตรูป-ทอง / ภูมิ-ดิน / ปาสาณ-ศิลา
๓) กสิณปฐวี หรือ อารมฺณปฐวี ไดแก่ ดินที่ใช้เป็นนิมิตรเครื่องหมายในการเจริญสมถภาวนา โดยการกำหนดปฐวี คือธาตุดินที่ใช้สมมติเรียกว่าอารมณ์กรรมฐาน
๔) สมฺมติปฐวี หรือปกติปกติปฐวี ได้แก่ ธาตุดินที่สมมติเรียกกันตามปกติว่า ที่ดิน แผ่นดิน หรือพื้นดินธรรมดาที่ใช้ทำเรือกสวนไร่นา เหล่านี้เป็นต้น
ฉะนั้น ความหมายของธาตุทั้ง ๔ อย่างนี้ จึงมีความแตกต่างกันโดย ความเป็น ปรมัตถปฐวี/สสมฺภารปฐวี / กสิณปฐวี/ สมมติปฐวี ตามนัยดังกล่าวนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ธ.ค. 2012, 12:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




ลุงหมานออกแบบ.jpg
ลุงหมานออกแบบ.jpg [ 89.49 KiB | เปิดดู 12489 ครั้ง ]
อ่านๆซะ เรื่องน้ำ เดี๋ยวมีเวลาจะมาย่อยให้ง่ายขึ้นทีละอย่าง พูดแบบพวกเราพูดกันดูมันจะง่ายดี แต่ตอนนี้ต้องเข้าใจตามนี้ไปก่อน มันต้องทำความลึกซึ้งกันหลายๆ รอบ

๒. อาโป เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง เรียกว่า ธาตุน้ำ มีลักษณะดังนี้
ปคฺฆรณ ลกฺขณา (วา) มีการไหล เป็นลักษณะ
อาพนฺธน ลกฺขณา (หรือ) มีการเกาะกุม เป็นลักษณะ
พฺยูหน รสา มีการทำให้เต็มหรือให้อิ่มชุ่ม เป็นกิจ
สงฺคห ปจฺจุปฏฺฐานา มีการเชื่อมยึดให้ติดต่อกัน เป็นผล
อวเสสธาตุตฺตย ปทฏฐานา มีธาตุที่เหลือ เป็นเหตุใกล้
อาโปธาตุ คือธาตุน้ำ ถ้าน้ำมีอยู่เป็นจำนวนมากในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมทำให้สิ่งนั้นเหลวและไหลไปได้ ถ้ามีอยู่จำนวนน้อยก็ทำให้สิ่งนั้นๆ
เกาะกุมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน อุปมาเหมือนกาวและยางเหนียว ที่สามารถเชื่อมสิ่งของต่างๆ ให้ติดกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ ฉันใด อาโปธาตุ
ก็สามารถเชื่อมปรมาณูแห่ง ปฐวีธาตุให้เกาะกุมเป็นรูปร่างสันฐานได้ ฉันนั้น
ในวัตถุใดที่มีจำนวนอาโปมากกว่าปฐวีธาตแล้ว ด้วยอำนาจของอาโปธาตุนั้นเอง ทำให้ปฐวีธาตมีอำนาจลดน้อยลง จึงเป็นเหตุให้วัตถุนั้น
มีความอ่อนเหลวและสามารถไหลไปได้ เช่นน้ำในแม่น้ำลำคลอง ที่เราเห็น ไหลไปมาได้ก็เพราะอาโปธาตุมีมากกว่าปฐวีธาตุ เมื่อปฐวีธาตุ
น้อยแล้ว ปฐวีธาตุนั้นแหละเป็นผู้ไหลไปด้วยอำนาจของอาโปธาตุ หาใช่อาโปธาตุไหลดังที่เราเข้าใจกัน เพราะอาโปธาตุ ที่เห็นด้วยตา
หรือสัมผัสทางกายไม่ได้ เพียงแต่รู้ได้ด้วยใจเท่านั้น
ส่วนในวัตถุใดที่มีจำนวนอาโปธาตุน้อยกว่าปฐวีธาตุแล้ว อำนาจของอาโปธาตุเพียงแต่ทำให้ปรมาณูของปฐวีธาตุ
เกาะกุมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเท่านั้น ไม่อาจทำให้ทำให้ไหลไปได้ อาโปธาตุ มี ๒ อย่างคือ
ก) อาโปธาตุ ที่มีปกติเป็นอาพันธนลักขณะ คือ ลักษณะเกาะกุมเมื่อถูกต้องกับอุณหเตโช คือความร้อนแล้ว ปัคฆรณลักษณะ คือ อาการไหล
ก็ปรากฎขึ้น ได้แก่ อาโปธาตุที่อยู่ในโลหะต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง เงิน หรือ ขี้ผึ้ง เป็นต้น หมายความว่า อาโปธาตุที่อยู่ในสิ่งเหล่านี้
เมื่อถูกไฟเผาไหม้แล้วก็กลายเป็นของเหลว และสามารถละลายไปได้ แต่การไหลไปของวัตถุเหล่านั้น หาใช่ อาโปธาตุเป็นตัวไหลไม่ ปฐวีธาตุ
ที่เกิดร่วมกับอาโปธาตุนั้นเองเป็นตัวไหล ในวัตถุสิ่งเดียวกันนั้นเองโดยกลับกัน ถ้าเอาไปใส่ในน้ำ เมื่อถูกความเย็นเข้า วัตถุเหล่านั้น ก็หาใช่เป็น
การแข็งตัวของอาโปธาตุไม่ แต่เป็นการแข็งตัวของปฐวีธาตุนั่นเอง
ข) อาโปธาตุ ที่มีปกติเป็นปัคฆรณลักษณะ คือ ลักษณะที่ไหลไป ถ้าถูกต้องกับสีหเตโช คือความเย็นแล้ว อาพันธนลักษณะ คือการไหลเกาะกุม
ก็จะปรากฎขึ้น ได้แก่ อาโปธาตุที่อยู่ในน้ำ เพราะธรรมดาน้ำเป็นของเหลวอยู่แล้ว ถ้านำน้ำไปใส่ในที่มีความเย็นสูง น้ำก็จะแข็งตัวเป็นก้อน
และเมื่อเอาน้ำแข็งออกจากที่นั้นแล้ว น้ำแข็งถูกอากาศภายนอก ที่มีอุณหเตโชสูงกว่าก้อนน้ำแข็งนั้นก็จะกลายกลับเป็นของเหลวตามเดิม
อาโปธาตุ หรือธาตุน้ำนี้ มีความหมาย ๔ อย่าง คือ
๑) ปรมตฺถอาโป หรือลักขณอาโป ได้แก่ ธาตุน้ำที่แสดงถึงสภาวะลักษณะไหล หรือเกาะกุมอันรู้ได้ด้วยใจ ไม่ใช่ด้วยการเห็น หรือการสัมผัส
๒) สสมฺภารอาโป หรือ สุตฺตนฺตอาโป คือธาตุน้ำที่ใช้ความหมายเป็นส่วนประกอบภายในร่างกาย หรือเป็นส่วนประกอบที่มีในพืชผลต่างๆ
อันมีมาในพระสูตร จึงเรียกว่า สุตฺตนฺอาโป อาโปธาตุตามความมุ่งหมายนี้มี ๒ จำพวก คือ
ก) อตฺฌตฺติกอาโป ได้แก่ ธาตุน้ำ ภายใน หมายถึง ธาตุน้ำที่มีอยู่ทั่วไปภายในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ในธาตุวิภังคบาลี มีแสดงไว้ ๑๒ ประการ
ได้แก่ ปิตฺตํ-ดี / เสมฺหํ-เสมหะ / ปุพฺโพ-หนอง / โลหิตํ-เลือด / เสโท-เหงือ / เมโท-มันข้น / อสฺสุ-น้ำตา / วสา-มันเหลว / เขโฬ-น้ำลาย / สิงฺ
ฆาณิกา-น้ำมูก / ลสิกา-ไขข้อ / มุตฺตํ-น้ำมูต(น้ำปัสสวะ)
ข) พาหิรอาโป ได้แก่ธาตุน้ำภายนอก หมายถึง ธาตุน้ำที่มีอยู่ในสิ่งอื่นๆภายนอกร่างกายของสัตว์ ในธาตุวิภังคบาลีมีแสดงไว้มากมาย
แต่ขอยกตัวอย่างพอเป็นสังเขป น้ำที่มีอยู่ในพืชผลไม้ต่างๆ เพียง ๖ ชนิด คือ มูลรโส=น้ำจากรากของต้ไม้ / ขนฺธรโส=น้ำจากลำต้นของต้นไม้ /
ตจรโส=น้ำจากเปลือกไม้ / ปตฺตรโส=น้ำจากใบไม้ / ปุปฺผรโส=น้ำจากดอกไม้ / ผลรโส=น้ำจากผลไม้ / นอกจากนี้ยังมีธาตุอื่นๆ เช่นน้ำค้าง น้ำฝน เป็นต้น
๓) กสิณอาโป หรือ อารมฺมณอาโป คือ น้ำที่ใช้เป็นนิมิตหรืออารมณ์ของพระโยคาวจรที่ใช้ในการเจริญสมถกัมมัฎฐาน ได้แก่ น้ำนอ่าง ในขัน
หรือในบ่อ ที่ใช้เพ่งเป็นอารมณ์เพื่อให้เกิดนิมิตต่างๆ
๔) สมฺมติอาโป หรือปกติอาโป ได้แก่ น้ำสมมติเรียกกันตามปกติ เช่น น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง หรือในภาชนะที่ใช้ดื่ม ใช้อาบ ใช้ซักเสื้อผ้าเหล่านี้
เราเรียกว่า น้ำ ตามปกติสมมติ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ธ.ค. 2012, 13:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




ลุงหมานออกแบบ.gif
ลุงหมานออกแบบ.gif [ 27.01 KiB | เปิดดู 12489 ครั้ง ]
๓. เตโช เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เรียกว่าธาตุไฟ มีลักษณะร้อนหรือเย็น ลักษณะร้อนเรียกว่า อุณหเตโช ลักษณะเย็นเรียกว่า สีตเตโช
เมื่อว่าคุณลักษณะพิเศษแล้ว มีดังนี้
อุณฺหตฺตลกฺขณา....................................... มีไอร้อน .......... เป็นลักษณะ
ปริปาจนรสา............................................. มีการทำให้สุก ... เป็นกิจ
มทฺทวานุปฺปาทนปจฺจุปฏฐนา............ ......... มีอาการอ่อนนิ่ม .. เป็นผล
อวเสสธาตุตฺตยปทฏฺฐานา ............ ............. มีธาตุที่เหลือ.......เป็นเหตุใกล้

ในวิสุทธิมรรคแสดงว่า โย ปริปาจนภาโว วา อุณฺหวาโว วา อยํ เตโชธาตุ แปลว่า ธรรมชาติที่ทรงภาวะการสุกงอมก็ดี
ความอบอุ่นในกายนั้นก็ดี เรียกว่า เตโชธาตุ

อธิบาย เตโชธาตุ คือธาตุไฟ ที่มีลักษณะร้อน เรียกว่า อุณหเตโช ที่มี ลักษณะเย็น เรียกว่า สีหเตโช เตโชทั้งสองชนิดนี้ มีสภาพเป็นไอ
เป็นลักษณะ (อุณฺหตฺตลกฺขณา) หมายความว่า อุณหเตโช มีไอร้อน เป็นลักษณะ สีตเตโช มีไอเย็น เป็นลักษณะ เตโชทั้งสองนี้ ต่างก็มี
หน้าที่ทำให้ต่างๆ สุกและทำให้ละเอียดนุ่มนวล เช่นอาหารต่างๆ เป็นต้น สุกด้วยความร้อน หรือบางอย่างสุกด้วยความเย็น ดังวจนัตถะ
แสดงว่า เตเชติ ปริปาเจตีติ = เตโช แปลว่าความว่า ธรรมชาติที่ทำให้สุก ธรรมชาตินั้นชื่อว่าเตโช

เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟนี้ มีความหมายแบ่งออกเป็น ๔ อย่างคือ

๑) ปรมตฺถเตโช หรือ ลกฺขณเตโช ได้แก่ ไฟธาตุที่มีสภาวะลักษณะให้พิสูจน์ได้จากการสัมผัสถูกต้องได้ด้วยกายโดยแสดงลักษณะร้อนหรือลักษณะเย็น
๒) สสมฺภารเตโช หรือ สุตฺตนฺตเตโช ได้แก่ ไฟธาตุอันเป็นส่วนประกอบที่มีอยู่ในร่างกาย หรือที่แสดงไว้ตามนัยแห่งพระสูตร แบ่งออกเป็น ๒ จำพวกคือ
ก. อชฺฌตฺติกเตโช ได้แก่ ธาตุไฟภายใน หมายถึงธาตุอันเป็นส่วนประกอบที่มีอยู่ภายในของสัตว์ที่มีชีวิต ในธาตุวิภังคบาลี แสดงธาตุไฟจำพวกนี้ไว้ ๔ ประการ
๑. อุสฺมาเตโช คือ ไฟธาตุที่มีประจำอยู่ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายที่ เรียกว่า ไออุ่นภายในร่างกาย
๒. ปาจกเตโช คือ ไฟธาตุที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร
๓. ชิรณเตโช คือ ไฟธาตุ ที่ทำให้ร่างกายแก่ชราทรุดโทรม เช่น ทำให้ ผมหงอก ฟันหัก หนังเหียว เป็นต้น
๔. สนฺตาปนเตโช คือ ไฟธาตุที่มีความร้อนมาก ได้แก่ไฟธาตุที่ทำให้ร้อนถึงเป็นไข้
ข. พาหิรเตโช ได้แก่ธาตุไฟภายนอก หมายถึง ธาตุไฟที่มีอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่มีชีวิต ในธาตุวิภังคบาลีกล่าวไว้มากมาย แต่นำมาแสดงเพียงสังเขป ๕ อย่าง คือ
กฏฺฐคฺคิ = ไฟฟืน. ติณคฺคิ = ไฟหญ้า. โคมยคฺคิ = ไฟขี้วัวแห้ง. ถูสคฺคิ = ไฟแกลบ. สงฺการคฺคิ = ไฟขยะ
๓) กสิณเตโช หรือ อารมฺมณเตโช ได้แก่ อารมฺมณเตโช ได้แก่ ไฟที่ใช้เป็นนิมิตอารมณ์เพื่อการเพ่งกสิณ จึงเรียกว่า กสิณเตโช หรือ อารมฺมณเตโช
๔) สมฺมติเตโช หรือ ปกติเตโช ไดแก่ ไฟตามธรรมดาที่สมมติโวหารของชาวโลกที่ใช้เรียกขานกันตามปกติ เช่นไฟฟ้า ไฟถ่าน ไฟฟืน หรือไฟแก๊ส เป็นต้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ธ.ค. 2012, 15:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




ลุงหมานออกแบบ.gif
ลุงหมานออกแบบ.gif [ 27.01 KiB | เปิดดู 12488 ครั้ง ]
๔. วาโย เป็นธาตุชนิดหนึ่งเรียกว่า ธาตุลม มีคุณลักษณะเฉพาะตัวดังนี้
วิตฺถมฺภน ลกฺขณา .................มีการเคร่งตึง................... เป็นลักษณะ
สมุทีรณ รสา ............. .....มีการเคลื่อนไหว................ เป็นกิจ
อภินิหาร ปจฺจุปฏฺฐานา . .มีการน้อมไป หรือเคลื่อนย้ายไป เป็นผล
อวเสสธาตุตฺตย ปทฏฺฐานา ..มีธาตุที่เหลือ.....................เป็นเหตุใกล้
ในวิสุทธิมรรค แสดงว่า โย วิตฺถมฺภน วาสมุทีรณภาโว วา อยํ วาโยธาตุ แปลความว่า ธรรมชาติใดที่ทรงภาวะเคร่งตึง
หรือภาวะเคลื่อนไหวที่มีอยู่ภายในร่างกายนั้น เรียกว่า วาโยธาตุ
วาโยธาตุ คือ ธาตุลม มี ๔ อย่าง คือ
๑) ปรมตฺถวาโย หรือ ลกขณวาโย ได้แก่ ธาตุลมที่มีลักษณะให้พิสูจน์รู้อาการเคร่งตึง หรือการเคลื่อนไหวได้
มีลักษณะประจำตัวอยู่ ๒ ประการ
วิตฺถมฺภนลกฺขณา ได้แก่ มีลักขณะเคร่งตึง หรือ
สมุทีรณลกฺขณา ได้แก่ มีลักษณะเคลื่อนไหว
๒) สสมฺภารวาโย หรือ สุตฺตนฺตวาโย ได้แก่ ธาตุลมอันเป็นส่วนประกอบที่มีอยู่ภายในร่างกายของสัตว์ที่มีชีวิต
หรือธาตุลมที่แสดงไว้ตามนัยพระสูตรแบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ
ก. อชฺฌตฺติกวาโย ได้แก่ ธาตุลมภายใน หมายถึง ธาตุลมอันเป็นส่วนประกอบ
ภายในร่างกายของสัตว์ที่มีชีวิต ซึ่งในธาตุวิภังคบาลี แสดงว่ามีอยู่ ๖ อย่าง คือ
๑) อุทฺธงฺคมวาโย ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน เช่นการเรอ การหาว การไอ การจาม เป็นต้น
๒) อโธคมวาโย ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ เช่น การผายลม การเบ่ง (ลมเบ่ง)เป็นต้น
๓) กุจฺฉิสยวาโย หรือ กุ๗ฉิฏฺฐวาโย ลมที่อยู่ในช่องท้อง ทำให้ปวดท้อง เสียดท้อง เป็นต้น
๔) โกฎฺฐาสยวาโย ลมที่อยู่ในลำไส้ เช่นท้องลั่น ท้องร้อง เป็นต้น
๕) องฺคมงฺคานุสาริวาโย ลมที่พัดอยู่ในร่างกาย ทำให้ไหวร่างกายได้
๖) อสฺสาสปสฺสาสวาโย ลมหายใจเข้า-หายใจออก
ข. พาหิรวาโย ได้แก่ ธาตุลมภายนอก หมายถึง ธาตุลมที่อยู่ภายนอกสิ่งที่มีชีวิต ในธาตุวิภังคบาลียกเป็นตัวอย่างสังเขป ๖ ชนิด คือ
ปุรตฺถิมวาตา = ลมทิศตะวันออก
ปจฺฉิมวาตา = ลมทิศตะวันตก
อุตฺตรวาตา = ลมทิศเหนือ
ทกฺขิณวาตา = ลมทิศใต้
สีตวาตา = ลมเย็น(ลมหนาว)
อุณหวาตา = ลมร้อน
๓) กสิณวาโย หรือ อารมฺมณวาโย ได้แก่ ลมที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งกสิณของผู้ทำฌาน โดยกำหนดเอาธาตุลมที่ทำให้ก้อนเมฆลอยไป
ใบไม้ไหว หรือเส้นผมปลิว เป็นนิมิตในการพิจารณาว่า เป็นไปด้วยอาการของธาตุลมพร้อมทั้งบริกรรมว่า วาโย ๆ
๔) สมฺมติวาโย หรือ ปกติวาโย ได้แก่ลมตามธรรมชาติที่พัดไปมาอยู่เป็นปกติ
อธิบาย วาโยธาตุ คือธาตุลมนี้ ถ้ามีลักษณะเคร่งตึงก็ เรียกว่า วิตถัมภนวาโย เป็นลมที่ทำให้รูปที่เกิดพร้อมกับตนนั้นตั้งมั่นไม่เคลื่อนไหว
ภายในร่างกายของเรานี้ ถ้าวิตถัมภนวาโยมีมากทำให้ผู้นั้นรู้สึกตึงปวดเมื่อยไปทั่วร่างกายหรือมิฉะนั้นเกิดขึ้นในขณะที่มีอาการเก็งแขน ขา
หรือขณะที่เพ่งตาดูอะไรไม่กระพริบ ถ้าเกิดภายนอกร่างกาย คือ เกิดในวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็ทำให้สิ่งนั้นตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง หรือทำให้ตึง
ด้วยอำนาจของวิตถัมภนาวาโย เช่น ในยางรถที่สูบลมแล้ว หรือในลูกบอลที่อัดลมเข้าไปภายในก็จะตึงขึ้น เพราะมีวิตถัมภนวาโย
วายติ สหชาตธมฺเม อปตมาเน กตฺวา วหตีติ = วาโย
แปลความว่า ธรรมชาติใด ย่อมนำให้รูปที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับตนตั้งมั่นไม่เคลื่อนไหว ธรรมชาตินั้นหรือธาตุนั้น ชื่อว่า วาโย
ธาตุลมอีกลักษณะหนึ่งมีลักษณะเคลื่อนไหว เรียกว่า สมุทีรณวาโย หรือ บางทีเรียกว่า สมีรณวาโย เป็นธาตุลมที่ทำให้รูปอันเกิดพร้อมกัน
กับตนนั้นเคลื่อนไหวไปมาได้ เช่นอาการเคลื่อนไหวของสัตว์ทั้งหลายที่มีการเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ หรือมีการกระพริบตา กระดิกนิ้ว
กระดิกเท้า หรือขับถ่ายสิ่งโสโครกออกจากร่างกายตลอดจนการคลอดบุตรเหล่านี้เป็นไปด้วยอำนาจของสมีรณวาโยทั้งสิ้น ส่วนลมที่เคลื่อนไหวอยู่ภายนอกสัตว์ที่มีชีวิตนั้น ย่อมทำให้วัตถุสิ่งของต่างๆเคลื่อนไหวไปจากที่เดิม ดังวจนนัตถะว่า
วายติ เทสนฺตรุปฺปตฺติ เหตุภาเวน ภูตสงฺฆาติ ปาเปตีติ = วาโย
แปลความว่าธรรมชาติหรือธาตุใดย่อมทำให้มหาภูตรูปที่เกิดพร้อมกันกับตน เคลื่อนไปที่อื่นโดยความเป็นเหตุให้เกิดความเคลื่อนไหว
จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งธรรมชาติหรือธาตุนั้นชื่อว่า วาโย
ตามที่กล่าวมาถึง ปฐวี อาโป เตโช วาโย อันเป็นธาตุทั้ง ๔ เหล่านี้ชื่อว่า เป็นมหาภูตรูป เพราะเป็นรูปใหญ่ที่เป็นประธานแก่รูปอื่นๆ
และปรากฎชัดเจน เช่น ในวัตถุสิ่งของต่างๆ จะใหญ่หรือเล็กก็ตามที่ปรากฎเป็นรูปร่างสัณฐานขึ้นมาได้นั้น ก็เพราะมหาภูตรูปที่รวมกัน
มากบ้างน้อยบ้างนั่นเอง ฉะนั้นมหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้เมื่อว่าโดยสัณฐานแล้วก็ใหญ่กว่ารูปอื่นๆเมื่อว่าโดยสภาวะก็ปรากฎชัดเจนกว่ารูปอื่นๆ
สมดังวจนัตถะที่แสดงว่า
มหนฺตานิ หุตฺวา ภูตานิ ปาตภูตานีติ = มหาภูตานิ
แปลความว่า รูปเหล่าใดเมื่อว่าโดยสัณฐานและว่าโดยสภาพแล้วเป็นใหญ่และปรากฎชัด รูปเหล่านั้น ชื่อว่า มหาภูตรูป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ธ.ค. 2012, 07:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปธาตุที่เป็นสหาย และศัตรู
ในมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น ธาตุบางอย่างเป็นสหายกัน คือเข้ากันได้ และบางอย่างเป็นศัตรูกัน คือ เข้ากันไม่ได้ มีแสดงไว้ดังนี้:-
ธาตุดิน กับ ธาตุน้ำ เป็นสหายกัน โดยมากจะต้องอยู่ด้วยกันเสมอ ถ้าที่ใดมีธาตุดินมาก ที่นั้นต้องมีน้ำมากด้วย เพราะเป็นธาตุหนักเหมือนกัน
ธาตุไฟ กับ ธาตุลม เป็นสหายกัน ถ้าที่ใดมีไฟมากที่นั้นก็ต้องมีลมมากด้วย เพราะเป็นธาตุเบาเหมือนกัน
ธาตุดิน กับ ธาตุลม เป็นศัตรูกันเพราะเหตุว่าสภาวะหนักเบาไม่เหมือนกัน
ธาตุน้ำ กับ ธาตุไฟ เป็นศัตรูกัน เพราะมีลักษณะตรงข้ามกัน คือเย็น กับ ร้อน และหนักเบา

ในธาตุทั้ง ๔ ของมหาภูตรูปนี้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า มีลักษณะของตนเอง เป็นศัตรูกันในตัว ประเภทละ ๒ อย่าง คือ :-
ปฐวีธาตุ มีลักษณะ ทั้ง แข็ง หรือ อ่อน
อาโปธาตุ มีลักษณะ ทั้ง ไหล หรือ เกาะกุม
เตโชธาตุ มีลักษณะ ทั้ง เย็น หรือ ร้อน
วาโยธาตุ มีลักษณะ ทั้ง เคลื่อนไหว และ เคร่งตึง
ลักษณะทั้ง ๒ อย่างของมหาภูตรูป หรือธาตุทั้ง ๔ ย่อมมีลักษณะที่ทำลายตนเองด้วยกันทุกๆธาตุ แต่ธาตุทั้ง ๔ นี้ ต้องเกิดร่วมกันเสมอ
จะอยู่อย่างเอกเทศเฉพาะธาตุหนึ่งธาตุใดไม่ได้เลย และลักษณะของธาตุ ดินที่แข็งย่อมอยู่กับน้ำ ที่เกาะกุมอยู่กับไฟที่เย็น และอยู่กับลมที่เคร่งตึง
ส่วนลักษณะของดินที่อ่อนย่อมอยู่กับน้ำที่ไหลอยู่กับไฟที่ร้อนและอยู่กับลมที่เคลื่อนไหว
ธาตุทั้ง ๔ ย่อมเป็นสหายกันและเป็นศัตรูกันที่ทำลายกันอย่างนี้ตลอดเวลา

ปฐวีธาตุ มีลักษณะ ทั้ง แข็ง หรือ อ่อน (สัมผัสได้ทางกาย)
อาโปธาตุ มีลักษณะ ทั้ง ไหล หรือ เกาะกุม (สัมผัสได้ทางใจ)
เตโชธาตุ มีลักษณะ ทั้ง เย็น หรือ ร้อน (สัมผัสได้ทางกาย)
วาโยธาตุ มีลักษณะ ทั้ง เคลื่อนไหว และ เคร่งตึง (สัมผัสได้ทางกาย)

ธาตุทั้ง ๔ สัมผัสได้ทางกายกับทางใจ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ธ.ค. 2012, 07:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 30.93 KiB | เปิดดู 10711 ครั้ง ]
ปสาทรูป ๕
อุปาทายรูป หมายถึง รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิดมี ๒๔ รูป ได้แก่ :-
ประเภทที่ ๒ ปสาทรูป ๕
ปสาทรูป คำว่า ปสาท แปลว่าความใส ปสาทรูป หมายถึง รูปที่มีความใสสามารถในการรับรู้อารมณ์ได้ คล้ายกระจกเงาที่มีความใส
ย่อมสามารถรับภาพต่างๆภายนอกได้ ถ้ากระจกเลาขุ่นมัวเสียแล้ว ก็ไม่สามารถรับภาพเหล่านั้นได้เลย
ปสาทรูป คือรูปที่มีความใสนี้มีอยู่ ๕ อย่างต่างๆกัน ได้แก่
จักขุปสาทรูป. โสตปสาทรูป. ฆานะปสาทรูป. ชิวหาปสาทรูป. กายปสาทรูป.
ดังจะแสดงปสาทรูปทั้ง ๕ โดยลำดับในวันต่อไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ธ.ค. 2012, 15:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 21.13 KiB | เปิดดู 10711 ครั้ง ]
๑. จักขุปสาทรูป
จักขุปสาทรูป เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากกรรม มีความใสดุจกระจกเงา และสามารถรับรูปารมณ์ คือสีต่างๆได้ ตั้งอยู่ในระหว่างกลางตาดำ
มีเยื่อตา ๗ ชั้น มีสัณฐานโตประมาณเท่าหัวเหา มีหน้าที่สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งจักขุวิญญาณจิตประเภทหนึ่ง
และเป็นทวารอันประตูเกิดแห่งจักขุทวารวิถีอีกประเภทหนึ่ง

จักขุปสาทรูปนี้ มีคุณลักษณะพิเศษอยู่ ๔ ประการ
๑. มีความใสของมหาภูตรูป ที่กระทบรูปารมณ์ เป็นลักษณะ
๒. มีการชักนำมาซึ่งรูปารมณ์ เป็นกิจ
๓. มีการเป็นที่ตั้งรองรับ จักขุวิญญาณจิต เป็นผล
๔. มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรม อันประสงค์ที่จะเห็น เป็นเหตุใกล้

จักขุปสาทรูปนี้จึงไม่ได้หมายถึงตาหรือลูกตาทั้งลูก แต่มุ่งหมายเอาเฉพาะจักขุปสาทรูปที่ตั้งอยู่กลางตาดำโดยเฉาะเท่านั้น
ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา แสดงความหมายของจักขุไว้เป็น ๒ ประการ คือ มังสจักขุ และ ปัญญาจักขุ

มังสจักขุ ได้แก่ นัยน์ตาเนื้อที่ใช้มองสิ่งต่างๆได้ เช่นนัยน์ตาของสัตว์ ทั้งหลาย ว่าโดยสภาวธรรมแล้วก็ได้แก่ จักขุปสาทรูปนั่นเอง
ปัญญาจักขุ ได้แก่ ความสามารถในการรู้เรื่องต่างๆ ด้วยปัญญาคือ เป็นการรู้ได้ทางใจ ไม่ใช่รู้ได้ด้วยตาเนื้อ
ปัญญาจักขุนี้พระพุทธองค์ยังแสดงไว้เป็น ๕ ชนิด คือ

๑. พุทธจักขุ หมายถึง ญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่หยั่งรู้ในอัธยาศัยของสัตว์โลกทั้งปวงได้ เรียกว่า อาสยานุสยญาณ
และญาณปัญญาที่สามารถรู้นามอินทรีย์(สัทธินทรีย์. วิริยินทรีย์. สตินทรีย์. สมาธินทรีย์.ปัญญินทรีย์.) ของสัตว์ทั้งหลายว่า
ยิ่งหรือหย่อนเพียงใด ที่เรียกว่าอินทริยปโรปริยัติญาณ องค์ธรรม ได้แก่ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต ๔ ดวง
๒. สมันตจักขุ หมายถึง ญาณปัญญาที่สามารถรอบรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งบัญญัติและปรมัตถธรรม ที่เรียกว่า
สัพพัญญุตญาณ องค์ธรรม ได้แก่ มหากิริยาญาณสัมปยุตตจิตดวงที่ ๑
๓. ญาณจักขุ หมายถึง ญาณปัญญาที่ทำให้สิ้นอาสวะกิเลสที่เรียก อรหันตมัคคญาณ หรืออาสวักขยญาณ องค์ธรรม ได้แก่
ปัญญาเจตสิกในอรหันตตมัคคจิต
๔. ธรรมจักขุ หมายถึง ญาณปัญญาของพระอริยะบุคคลเบื้องต่ำทั้งสาม คือ พระโสดาบัน. พระสกทาคามี. พระอนาคามี.
อแงค์ธรรม ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่มัคจิตเบื้องต่ำ ๓
๕. ทิพพจักขุ หมายถึง ญาณปัญญาที่สามารถรู้เห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ไกลแสนไกลได้อย่างละเอียดด้วยอำนาจสมาธิ ที่เรียกว่า
อภิญญาสมาธิ องค์ธรรม ได้แก่ อภิญญาจิต ๒ ดวง

ปัญญาจักขุทั้ง ๕ ประการนี้ พุทธจักขุ และ สมันตจักขุ ย่อมมีได้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
ส่วนปัญญาที่เหลือ ๓ ย่อมเกิดแก่พระอริยะบุคคลอื่นๆ หรือฌานลาภีบุคคลที่ได้ทิพพจักขุญาณตามสมควรแก่ญาณและบุคคล

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ธ.ค. 2012, 06:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 21.16 KiB | เปิดดู 10711 ครั้ง ]
๒. โสตปสาทรูป
โสตปสาทรูป หมายถึง รูปประสาทหูที่มีความใสสามารถรับสัททารมณ์ได้ เป็นเหตุให้ได้ยินเสียงและเป็นที่ตั้งของโสตวิญญาณจิต
มีวจนัตถะว่า โสตวิญญาณ ธิฏฺฐิตํ หุตฺวา สทฺทํ สุณาถิติ = โสตํ แปลความว่ารูปใดเป็นที่ตั้งแห่งโสตวิญญาณจิตและย่อมได้ยินเสียง
ฉะนั้น รูปนั้นชื่อว่าโสตะ ได้แก่ โสตปสาท
อีกนัยหนึ่ง สทฺทํ สุณนฺติ เอเตนาติ = โสตํ (วา) สทฺเท สุยฺยนฺติ เอเตนาติ = โสตํ
แปลความว่า จิต เจตสิกเหล่าใดย่อมได้ยินเสียง โดยอาศัยรูปนั้น ฉะนั้นรูปที่เป็นเหตุแห่งการได้ยินของจิตและเจตสิกเหล่านั้น
ชื่อว่า โสตะ ได้แก่ โสตปสาท หรือ สัตว์ทั้งหลายที่ได้ยินเสียงโดยอาศัยรูปนั้น รูปที่เป็นเหตุแห่งการได้ยินของสัตว์เหล่านั้น
ชื่อว่า โสตะ ได้แก่โสตปสาท

โสตะ มีความหมายเป็น ๓ ประการ คือ
๑. ทิพพโสต หมายถึง หูทิพย์ คืออำนาจแห่งการกระทำอภิญญาที่เกี่ยวกับทิพพโสตอภิญญา คือ หูทิพย์ ย่อมสามารถให้ได้ยินสรรพสำเสียงใดๆ
แม้ที่ไกลล่วงเกินมนุษย์ธรรมดาจะสามารถได้ยินได้ โดยองค์ธรรมแล้ว ได้แก่ อภิญญาจิต ๒ ดวง
๒. ตัณหาโสต คือ กระแสของตัณหา คำว่า โสตะ ในที่นี้หมายถึงกระแสตัณหา โสต จึงหมายความว่า สภาพของตัณหานั้นเป็นกระแสที่พาให้ไหลไป
ในกามอารมณ์ทั้ง ๖ และย่อมนำไหลไปสู่กามภูมิ เป็นต้น
๓. ปสาทโสต คือ โสตปสาทรูป โสตปสาทรูปนี้เป็นธรรมชาติของรูปธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นภาวะที่มีความใส
และเป็นเครื่องรับเสียงต่างๆ ตั้งอยู่ในช่องหูส่วนลึก มีสัณฐาณเหมือนวงแหวนและมีขนสีแดงเส้นละเอียดอยู่โดยรอบ มีความสามารถที่ทำให้
สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือ เป็นที่ตั้งแห่งโสตวิญญาณจิต และเป็นทวารอันเป็นที่เกิดแห่งโสตวิญญาณวิถีจิต มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ๔ ประการ

สทฺทาภิฆาตรหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ..... .....มีความใสของมหาภูตรูปที่กระทบสัททารมณ์........ เป็นลักษณะ
สทฺเทสุ อาวิญฺฉน รสํ............. ..... . ...... . มีการชักมาซึ่งสัททารมณ์........ ..... ..... .......... เป็นกิจ
โสตวิญญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ... มีการเป็นที่ตั้งรองรับของโสตวิญญาณ.... ........... เป็นผล
โสตุกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ..... .. มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรมอันประสงค์ที่จะฟัง . ...เป็นเหตุใกล้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ธ.ค. 2012, 08:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 20.46 KiB | เปิดดู 10711 ครั้ง ]
๓. ฆานปสาทรูป
......ฆานปสาทรูป เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีความสามารถรับคัณธารมณ์ คือ กลิ่นต่างๆ ดังมีวจนัตถะว่า ฆานตีติ = ฆานํ
แปลว่ารูปใดย่อมสูดดมกลิ่นได้ รูปนั้นชื่อว่า ฆาน ได้แก่ฆานปสาท วจนัตถะนี้ เป็นการแสดงโดยอ้อม
เพราะฆานปสาทไม่สามารถดมกลิ่นได้ ฆานวิญญานจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยฆานปสาทต่างหากเป็นผู้ดมกลิ่นได้
......อีกนัยหนึ่ง ฆายนฺติ เอเตนาติ = ฆานํ (วา) ฆายียนฺติ เอเตนาติ = ฆานํ แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมสูดดมกลิ่นด้วยรูปใด
ฉะนั้น รูปที่เป็นเหตุแห่งการสูดดมกลิ่นของสัตว์ทั้งหลายนั้น ชื่อว่า ฆาน (หรือ)สัตว์ทั้งหลายพึงดมกลิ่นด้วยรูปนั้น
ฉะนั้น รูปที่เป็นเหตุแห่งการดมกลิ่นของสัตว์ทั้งหลาย จึงชื่อว่าฆาน วจนัตถะนี้ เป็นการแสดงโดยมุขยนัย (คือนัยโดยตรง)
ฆานปสาทรูป เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานโดยตรงเฉพาะมีความใส สามารถรับคันธารมณ์ คือ กลิ่นต่างๆได้
ตั้งอยู่ภายในช่องจมูกมีสันฐานคล้ายกีบเท้าแพะ มีหน้าที่สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งฆานวิญญานจิตประการหนึ่ง
และเป็นทวารอันเป็นที่เกิดแห่งฆานทวารวิถี อีกประการหนึ่ง มีคุณลักษณะพิเศษดังนี้ คือ

คนฺธาภิฆาตารหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ......... มีความใสของมหาภูตรูปที่กระทบคันธารมณ์........... เป็นลักษณะ
คนฺเธสุ อาวิญฺฉน รสํ .............................เป็นการชักนำมาซึ่งคันธารมณ์.............................. เป็นกิจ
ฆานวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการเป็นที่ตั้งรองรับของฆานวิญญาณ....................เป็นผล
ฆายิตุกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ .....มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรมอันประสงค์ที่จะดม........เป็นเหตุใกล้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2012, 06:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 19.77 KiB | เปิดดู 10711 ครั้ง ]
๔. ชิวหาปสาทรูป
ชิวหาปสาทรูป เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีความสดใส สามารถรับรสต่างๆได้ และเป็นเหตุให้อายุยืน ดังวจนัตถะว่า ชีวิตํ อวฺหายตีติ = ชิวฺหา
แปลว่ารูปใดมีสภาพคล้ายกับว่าเรียกร้องรส เป็นเหตุให้อายุยืน รูปนั้น ชื่อว่า ชิวหา
.....คำว่า ชิวหา นี้แยกศัพท์ได้ ๒ ศัพท์ คือ ชีวิต+อวฺหา = =ชิวหา
.....คำว่า ชีวิต แปลว่า อายุ แต่ในที่นี้แปลว่า รส เพราะอายุจะตั้งอยูได้นั้นต้องอาศัย รสเปรี้ยว หวาน เผ็ด เค็ม ที่ได้จากการกินอาหารต่างๆ เป็นต้น
อายุจึงจะตั้งอยู่ได้นาน ด้วยเหตุนี้จึงยกเอาคำว่าชีวิตเป็นชื่อของอายุ เพราะเป็นผลของรสนั้นขึ้นตั้งไว้ โดยอาศัยเหตุ คือ รส แล้วเรียกรสต่างๆ นั้นว่า
ชีวิต ซึ่งเป็นการเรียกโดยอ้อม
.....คำว่า อวฺหา แปลว่าเรียก มารวมกับคำว่าชีวิตแล้วก็หมายถึง เรียกรสต่างๆนั้นเอง เพราะธรรมดาชิวหาปสาทย่อมน้อมอยู่ในรสชาติต่างๆ
อันเป็นที่พอใจของชิวหาวิญญาณให้มาสู่ตน เมื่อรวมบทว่า ชีวิต กับ อวฺหา เข้าด้วยกัน ก็เป็น ชิวหา
.....ชิวหาปสาทรูปนี้ เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเป็นรูปที่มีความใสเป็นเครื่องรับรสต่างๆได้ ตั้งอยู่ท่ามกลางลิ้น
มีสัณฐานเหมือนปลายกลีบดอกอุบล มีหน้าที่สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือเป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งชิวหาวิญญาณประการหนึ่ง กับเป็นทวารอัน
เป็นที่เกิดแห่งชิวหาทวารวิถีอีกประการหนึ่ง ชิวหาปสาทนี้ มีคุณลักษณะพิเศษดังนี คือ
รสาภิฆาตารหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ.......................... มีความใสของมหาภูตรูปที่กระทบอารมณ์........... เป็นลักษณะ
รเสสุ อาวิญฺฉน รสํ ..............................................มีการชักมาซึ่งการแสวงหารสารมณ์ ..................เป็นิกจ
เป็นกิจชิวหาวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฎฺฐานํ ....มีการเป็นที่ตั้งของชิวหาวิญญาณ .....................เป็นผล
สายิตุกามตานิทานกมฺมชภูต ปทฎฺฐานํ ...................มีมหาภูตรูปที่เกิดจากกรรมอันประสงค์จะลิ้มรส....เป็นเหตุใกล้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2012, 06:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




cats.jpg
cats.jpg [ 21.1 KiB | เปิดดู 10711 ครั้ง ]
๕.กายปสาท
กายปสาทรูป เป็นรูปที่มีความใสสามารถรับโผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง หย่อน-ตึง ได้
คำว่ากายนี้ มีความหมายหลายประการ คือ หมายถึงรูปอันเป็นที่ประชุมแห่งส่วนต่างๆ มี ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น
บางที่ก็ใช้ความหมายของร่างกายทั้งหมด และบางทีก็ใช้ในความหมายของนามธรรม เช่น จิตและเจตสิก
และบางทีก็ใช้ความหมายของความเป็นกลุ่ม เป็นกอง เมื่อรวมความแล้ว อาจจำแนกความหมายของคำว่า กาย ได้เป็น ๔ ประการ
๑. ปสาทกาย หมายถึง กายปสาทรูป
๒. รูปกาย หมายถึง รูปธรรมทั้งปวง
๓. นามกาย หมายถึง นาม จิตและเจตสิก
๔. บัญญัติกาย หมายถึง สมูหบัญญัติ คือ บัญญัติหมวดหมู่ กลุ่ม กองต่างๆ มีกองช้างเรียกว่าหัตถกาย กองม้าเรียกว่า อัสสกาย เป็นต้น มีวจนัตถะว่า กุจฺฉิตานํเกสาทีนํปาปธมฺมานญฺจ อาโยติ = กาโย แปลความว่า รูปใดเป็นที่ประชุมแห่งส่วนต่างๆ มีผม ขน เล็บ เป็นต้น และเป็น ที่ประชุมแห่งอกุศลธรรม รูปนั้น ชื่อว่ากาย หมายถึงร่างกายทั้งหมด
สำหรับกายปสาทที่เรียกว่ากายนั้น เป็นการแสดงโดยอ้อม คือยกเอาคำว่ากาย อันเป็นชื่อของร่างกายทั้งหมดนั้นมาตั้งในกายปสาทที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายนั้น
อีกนัยหนึ่ง กายปสาทที่ชื่อ กายะ นั้นนับเป็นการแสดงโดยอ้อม คือยกเอาคำว่า กายะ ที่เป็นชื่อของร่างกาย อันเป็นที่เกิดแห่งกายปสาทมาตั้งในกายปสาทที่เป็นผู้อาศัยเกิด
กายปสาทนี้เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน มีสภาพเป็นความใส และเป็นเครื่องรับสิ่งสัมผัสต่างๆ มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึงได้ กายปสาทนี้เกิดอยู่ทั่วร่างกาย เว้นไว้ที่ปลายผม ปลายขน ปลายเล็บ หนังที่หนา และที่รวมแห่งอาหารใหม่ใต้ลำใส้ใหญ่อันเป็นสถานที่ของปาจกเตโช มีหน้าที่ให้สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งกายวิญญาณประการหนึ่ง และเป็นทวารอันเป็นที่เกิดแห่งกายทวารวิถีอีกประการหนึ่ง
กายปสาทรูป มีคุณลักษณะพิเศษ คือ
โผฏฺฐพฺพภิฆาตรหภูตปฺปสาท ลกฺขณํ ..... มีความใสของมหาภูตรูปที่มากระทบโผฏฐัพพารมณ์ เป็นลักษณะ
โผฏฐพฺเพสุ อาวิญฺฉน รสํ...................... มีการแสวงหาโผฏฐัพพารมณ์ ................................เป็นกิจ
กายวิญฺญาณสฺส อาธารภาว ปจฺจุปฏฐานํ มีการทรงอยู่ของกายวิญญาณ.................................เป็นผล
ผุสิตากามตานิทานกมฺมชภูต ปทฏฺฐานํ.....มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรมอันประสงค์ที่จะถูกต้อง เป็นเหตุใกล้
จักขุ โสต ฆาน ชิวหา กาย รูปทั้ง ๕ รูปนี้ชื่อว่าปสาทรูปเพราะมีสภาพใสสามารถรับอารมณ์ที่มากระทบได้ มีวจนัตถะว่า ปสีทตีติ = ปสาโท แปลความว่า รูปใดมีความใส รูปนั้นชื่อว่า ปสาท ปสาทรูปทั้ง ๕ นี้เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานประการเดียว

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ธ.ค. 2012, 05:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




ลุงหมานออกแบบ.gif
ลุงหมานออกแบบ.gif [ 26.92 KiB | เปิดดู 12454 ครั้ง ]
ประเภทที่ ๓ วิสยรูป ๗ หรือ โคจรรูป ๔
วิสยรูป หรือ โคจรรูป หมายถึง รูปที่เป็นอารมณ์ของจิต และเจตสิก
เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย โดยตรงมีจำนวน ๗ รูป หรือ ๔ รูปดังต่อไปนี้
สี
๑. รูปารมณ์ ได้แก่ รูปร่าสัณฐาน หรือสีต่างๆที่แสดงให้ปรากฎแก่จิตและเจตสิกทางตา ย่อมแสดงถึงความรู้สึก
ทางใจให้ปรากฏรู้วัตถุสิ่งของนั้นๆ มีรูปร่างสัณฐานอย่างไร ดังมีวจนัตถะว่า รูปยติ หทยํคตภวํ ปกาเสตีติ = รูปํ แปลความว่า
รูปใดแสดงถึงความรู้สึกของจิตใจให้ปรากฎ ฉะนั้น รูปนั้นชื่อว่า รูปารมณ์ หรือ รูปยติ ทพฺพํ ปกาเสตีติ = รูปํ แปลความว่า
รูปใดย่อมแสดงวัตถุของรูปร่างสัณฐานให้ปรากฎ รูปนั้นชื่อว่า รูปารมณ์
จากวจนัตถะแรกหมายความว่า คนที่กำลังดีใจอยู่ก็ตาม เสียใจอยู่ก็ตาม กลุ้มใจ กลัว อาย อยู่ก็ตาม
เมื่อผู้อื่นเห็นหน้าตา ท่าทางอันเป็นอาการแสดงออกของผู้นั้น แล้วก็รู้ได้ว่าผู้นั้นกำลังดีใจ เสียใจ กลุ้มใจ กลัว หรืออายอยู่
การที่ผู้อื่นรู้ได้นั้น ก็เพราะรูปารมณ์นั้นแสดงออกถึงความรู้สึกผู้นั้นให้ปรากฏออกมา หรือในวจนัตถะหลังมีความหมายว่า
บรรดาวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็ดีรูปร่างสัณฐานของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตก็ดี ที่ปรากฏออกมาได้นั้น ก็เพราะอาศัยรูปารมณ์
เป็นผู้กระทำให้ปรากฏ รูปารมณ์ที่เป็นผู้กระทำสิ่งต่างๆ ให้ผู้อื่นรู้ได้นั้นก็ได้แก่สีต่างๆ นั่นเอง
รูปารมณ์มีคุณสมบัติพิเศษที่จะพิจารณาได้ดังนี้
จกฺขุปฏิหนน ลกฺณํ.......................มีการกระทบกับจักขุปสาท ........... เป็นลักษณะ
จกฺขุวิญฺญาณสฺส วิสยภาว รสํ........มีการเป็นอารมณ์ให้จักขุวิญญาณ... เป็นกิจ
ตสฺเสว โคจร ปจฺจุปทฏฺฐานํ..........มีการรู้เห็นของจักขุวิญญาณ.......... เป็นผล
จตุมหาภูต ปทฏฺฐานํ ...................มีมหาภูตรูปทั้ง ๔......................... เป็นเหตุใกล้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แก้ไขล่าสุดโดย ลุงหมาน เมื่อ 18 ธ.ค. 2012, 09:25, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ธ.ค. 2012, 09:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




altavoz.png
altavoz.png [ 18.17 KiB | เปิดดู 7088 ครั้ง ]
เสียง
๒. สัททารมณ์
สัททารมณ์ ได้แก่ สัททะ คือ เสียงที่กระทบปสาทหู ทำให้เกิดโสตวิญญาณ คือการได้ยิน สัททะ ได้แก่เสียงที่ปรากฎเป็นอารมณ์
ให้แก่โสตวิญญาณนี้ ชื่อว่า สัททารมณ์ มีวจนัตถะวา สทฺทียติ อุจฺจารียตีติ = สทฺท แปลความว่า รูปใดที่เปล่งออกมาได้ ฉะนั้น
รูปนั้นชื่อว่า สัททะ ได้แก่ เสียงที่สัตว์ทั้งหลายเปล่งออกมา อีกนัยหนึ่ง สปฺปติ โสตวิญเญยฺยภาวํ คจฺฉตีติ = สทฺโท แปลว่า รูปใด
ย่อมถึงสภาพที่ทำให้โ สตวิญญาณรู้ได้ ฉะนั้น รูปนั้นชื่อว่า สัททะ

วจนัตถะแรกมุ่งหมายเอาเสียงของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ที่ต้องเปล่งออกมา เช่น เสียงคนพูด เสียงที่สัตว์ต่างๆ ร้อง
ส่วนวจนัตถะอีกนัยหนึ่ง หมายถึง สิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหมด เพราะเสียงเหล่านั้น ปรากฏเป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณ
ได้แก่ การได้ยินทั้งสิ้น

สัททารมณ์ มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะดังนี้
โสตปฏิหนน ลกฺขณํ............... มีการกระทบโสตปสาท.......................เป็นลักษณะ
โสตวิญฺญาณสฺส วิสยภาว รสํ....มีการเป็นอารมณ์ให้โสตวิญญาณ........ เป็นกิจ
ตสฺเสว โคจร ปจฺจุปฏฐานํ.........มีการรู้ ได้ยิน ของโสตวิญญาณ ......... เป็นผล
จตุมหาภูต ปทฏฺฐานํ ...............มีมหาภูตรูปทั้ง ๔................................เป็นเหตุใกล้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2013, 06:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




Editorial-thumbnail-Power-of-smell630-155118-1.png
Editorial-thumbnail-Power-of-smell630-155118-1.png [ 20.76 KiB | เปิดดู 7002 ครั้ง ]
กลิ่น
๓. คันธารมณ์
คันธารมณ์ ได้แก่ คันธะ คือ กลิ่นต่างๆ หมายถึง ไอระเหยของรูปกลิ่นต่างๆ ที่กระทบฆานประสาท
โดยอาศัยลมเป็นผู้นำไป และทำให้เกิดฆานวิญญาณ คือการรู้กลิ่นขึ้น คันธะที่ปรากฏเป็นอารมณ์ให้
แก่วิญญาณจิตนี้ชื่อคันธารมณ์ มีวจนัตถะว่า คนฺธยติ อตฺตโน วตฺถุง สูเจตีติ = คนฺโธ แปลความว่า
รูปใดย่อมแสดงที่อยู่ที่อาศัยของตนปรากฎ รูปนั้นชื่อว่าคันธะ

กลิ่นต่างๆ ที่ได้ชื่อว่า คันธารมณ์นั้น เพราะเป็นรูปที่แสดงวัตถุที่ตนอาศัยอยู่ให้ปรากฏรู้ได้ เช่น ดอกไม้
ที่มีกลิ่นหอม หรือน้ำหอมที่อยู่ในขวด สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในที่ใดก็ตาม เมื่อคันธารมณ์ คือรูปกลิ่น ได้มีโอกาสแผ่ตัวระเหยออกไปแล้ว ย่อมทำให้คนทั้งหลายรู้ได้ทันที่ว่า นี่เป็นกลิ่นดอกไม้ หรือกลิ่นน้ำหอม
และยิ่งกว่านั้นยังรู้ด้วยว่า ดอกไม้หรือน้ำหอมอยู่ที่ใด คล้ายๆกับว่าคันธารมณ์นี้ เมื่อได้อาศัยวาโยธาตุ
แล้วก็จะกระจายข่าวประกาศให้คนทั้งหลายรู้ว่า ดอกไม้อยู่ที่นั่น น้ำหอมอยู่ที่นี่
ด้วยเหตุนี้ ท่านฎีกาจารย์จึงไขคำ สูเจติ ว่า " อิทเมตฺถ อตฺถีติ เปสุญฺญํ กโรนฺตํ วิยโหติ" แปลความว่า
คันธารมณ์นี้มีสถาพคล้ายกับส่อเสียดว่า วัตถุสิ่งของนั้นๆ อยู่ที่นี่

คันธารมณ์ มีคุณสมบัติดังนี้ คือ
ฆานปฏิหนน ลกฺขณํ.................มีการกระทบฆานปสาท ...............เป็นลักษณะ
ฆานวิญฺญาณสฺส วิสยภาว รสํ .......มีการเป็นอารมณ์ให้ฆานวิญญาณ.....เป็นกิจ
ตสฺเสว โคจร ปจฺจุปฏฐานํ............มีการรู้กลิ่นของฆานวิญญาณ.........เป็นผล
จตุมหาภูต ปทฏฺฐานํ ................มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ .....................เป็นเหตุใกล้

อนึ่ง คำว่า คันธ ยังใช้เรียกในความหมายอื่นอีก ๔ ประการ คือ
๑) สีลคนฺธ หมายถึง สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
๒) สมาธิคนฺธ หมายถึง สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
๓) ปญฺญาคนฺธ หมายถึง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
คันธ ตามความหมายนี้ หมายถึง อาการฟุ้งกระจายแผ่ไปของศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งย่อมเป็นไป
ได้ ทั้งตามลมและทวนลม
ไม่มีขอบเขตจำกัด
๔) อายตนคนฺธ หมายถึง คัฯธารมณ์ คือกลิ่นต่างๆ ทั้งดีและไม่ดี

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 30 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร