วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:38  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6 ... 12  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2013, 05:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สัปปายะ

สัปปายะ แผลงมาเป็น สปายะ คือ สบาย นั่นเอง หมายถึงธรรมอันเป็นที่สบายที่เหมาะสมแก่การเจริญกัมมัฏฐาน อันเป็นส่วนหนึ่งซึ่งอุปการะให้มีความสงบระงับ ทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย สปายธรรมมีหลายประการ
จำแนกเป็น ๔ บ้าง เป็น ๕ บ้าง ในที่นี้ขอกล่าวว่ามี ๗ ประการ คือ

๑. ที่อยู่อันเป็นที่สบาย ไม่ใกล้ทางสัญจรไปมา ไม่ใกล้บ่อน้ำ อันจะเกิดความรำคาญจากผู้คน
ไปมาจอแจพูดจากันจ้อกแจ้กไม่ขาดสาย แต่ควรเป็นสถานที่ที่วิเวก สงัดจากสิ่งที่รบกวนความสงบ และมีรั้วรอบขอบชิด ไม่ต้องห่วงเรื่องคนร้าย

๒. ทางเดินอันเป็นที่สบาย หมายถึงทางที่จะเดินจงกรม ก็สะดวกสบาย ไม่ถูกแดดมากนัก ทางไปบิณฑบาตทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ก็ไม่ต้องเดินทวนตะวันให้แดดส่องหน้าแสงเข้าตา เพราะการถูกแดดมาก ก็จะทำให้เกิดทุกขเวทนา อันเป็นปฏิปักษ์กับสมาธิ

๓. การฟังการพูดอันเป็นที่สบาย หมายความว่า ควรฟังหรือควรพูดในเรื่องที่จะโน้มน้าวจิตใจให้เกิด สัทธา วิริยะ และความสงบระงับ อันจะเป็นคุณแก่การเจริญกัมมัฏฐาน ให้เว้นการฟังการพูดที่ไม่เป็นสปายะนั้นเสีย

๔. บุคคลเป็นผู้ที่สบาย หมายถึงบุคคลที่จะติดต่อคบหา ควรเป็นผู้ที่มั่นในสีลธรรมชักจูงแนะนำไปในทางที่ให้เกิดความมักน้อย ความเพียร ความสงบระงับ ยิ่งเป็นผู้ที่เคยเจริญกัมมัฏฐานมาแล้ว ก็ยิ่งจะเป็นคุณมาก ให้เว้นจากบุคคลที่ฟุ้งซ่านและมากไปในทางกามารมณ์ ในทางโลกียสุข

๕. ฤดูอันเป็นที่สบาย หมายถึง ความร้อนความเย็นของอากาศตามฤดูกาล เช่น บางฤดูก็ร้อนจัดมาก บางฤดูก็หนาวเสียเหลือเกิน หรือ กลางวันร้อนจัด แต่กลางคืนก็เย็นมากจนถึงกับหนาว อย่างนี้คงไม่สบายแน่ อาจเกิดเจ็บป่วยได้ง่าย จำต้องเลือกให้เหมาะสมแก่ความเคยชินของตนที่พอจะทนได้

๖. อาหารอันเป็นที่สบาย หมายถึงว่า ควรบริโภคแต่อาหารที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ร่างกายเป็นประมาณโดยไม่ต้องคำนึงถึงรสของอาหาร แม้รสจะดีแต่ว่าเสาะท้องหรือทำให้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ ก็ควรงดเสีย เฉพาะภิกษุควรพิจารณาด้วยว่าตำบลนั้น อัตคัดขาดแคลนจนถึงกับบิณฑบาตได้ไม่พอขบฉันหรือไม่ด้วย ส่วนผู้ที่มีผู้ส่งเสียอาหาร ก็ให้ทำความเข้าใจว่าอาหาร ที่เป็นชิ้นใหญ่ก็ให้หั่นให้เล็กพอควร ที่เป็นผักก็ตัดหรือม้วนให้พอดีคำที่มีกระดูกหรือก้างก็ให้จัดการเอาออกเสียให้หมดด้วย

๗. อิริยาบถอันเป็นที่สบาย หมายถึง อิริยาบถ ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน อิริยาบถใดทำให้จิตคิดพล่านไป ไม่สงบ ก็แสดงว่าอิริยาบถนั้นไม่เป็นที่สบาย จึงไม่ควรใช้อิริยาบถนั้น แต่เมื่อจำเป็นก็ให้ใช้แต่น้อย มีข้อที่ควรระวังในอิริยาบถนอนอยู่ว่า นอนเพื่อกำหนด หรือเพราะร่างกายต้องการพักผ่อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่นอนด้วยอำนาจแห่งโกสัชชะ เพราะหน่ายจากความเพียร

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2013, 05:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


กัลยาณมิตร

กัลยาณมิตร ในที่นี้หมายถึง อาจาริยบุคคล ผู้เจริญกัมมัฏฐานไม่ว่าจะเป็นทาง สมถะ หรือ วิปัสสนา
ควรมีอาจารย์เป็นผู้แนะนำชี้ทางผิดและทางถูกให้ เพราะอาจารย์ก็นับเป็นจำนวน ๑ ใน ๓ ที่โยคีบุคคล
จะละเสียมิได้ คือ

อุปนิสฺสย อยู่ในสำนักอาจารย์ผู้สามารถ

อารกฺข รักษาอินทรียให้สมบูรณ์

อุปนิพทฺธ ผูกจิตไว้ในอารมณ์กัมมัฏฐาน

เหตุนี้จึงนับว่า อาจารย์เป็นบุคคลที่สำคัญยิ่ง ผู้ที่จะเข้าเป็นศิษย์ต้องพินิจพิจารณาให้จงหนัก แต่ไม่ควร
วิพากย์วิจารณ์ไปในทางที่เป็นโทษ เพราะอาจารย์ทุกท่านย่อมพากเพียรเกื้อกูล ให้เป็นคุณแก่ศิษย์ด้วย
ความเมตตากรุณา ในวิสุทธิมัคค แสดงองค์คุณของอาจารย์ไว้ว่า

๑. ปิโย เป็นผู้มีสีล เป็นที่รัก น่าเลื่อมใส เป็นที่รักใคร่ของสรรพสัตว์ เพราะความสมบูรณ์แห่งสีล

๒. ครุ เป็นผู้มีใจคอหนักแน่น น่าเคารพยำเกรง

๓. ภาวนีโย เป็นผู้ได้ฝึกฝนอบรมตนมาแล้วด้วยดีทั้งการเรียนและการปฏิบัติ มีสีลาจารวัตรอันดีงาม
ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ

๔. วตฺตา เป็นผู้ที่สามารถแนะนำ ชี้แจงแสดงแนวทางแห่งการปฏิบัติได้ดี และถูกต้องด้วย

๕. วจนกฺขโม เป็นผู้ที่มีขันติอดทนพร่ำสอนศิษย์ไม่เข้าใจก็พยายามให้เข้าใจตามแนวทางแห่ง
การปฏิบัติ และอดทนต่อการกล่าวล่วงเกินของศิษย์และผู้อื่น ไม่หวั่นไหวต่ออิฏฐารมณ์
และอนิฏฐารมณ์นั้น ๆ

๖. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา สามารถแสดงวิปัสสนาภูมิให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้ด้วยวิธีการที่ สอนน้อยแต่ให้ทำมาก

๗. โน ฐฏฺฐาเน นิโยชเย บอกทางที่ถูกให้

นอกจากนี้แล้วในมหาฏีกา ยังแสดงคุณสมบัติของผู้ที่ควรเป็นอาจารย์ไว้อีกดังนี้ คือ

๑. สทฺธาสมฺปนฺโน โหติ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัทธา เชื่อต่อพระปัญญาตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ
เจ้า เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์ต่อสรรพสัตว์

๒. สีลสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยสีล คือมีมารยาทอันดีงาม

๓. สุตสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยการศึกษา สามารถแสดงแนวทางแห่งการปฏิบัติได้ดี

๔. จาคสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ยอมเสียสละ มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ

๕. วิริยสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ได้เคยเจริญกัมมัฏฐานมาแล้ว

๖. สติสมฺปนฺโน ถึงพร้อมแล้วด้วยสติ ไม่เผลอ ไม่ประมาท

๗. สมาธิสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยสมาธิ มีจิตตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระสับ กระส่าย

๘. ปญฺญาสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยปัญญา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2013, 05:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อที่ควรเว้นในการเจริญกัมมัฏฐาน

๑. กมฺมารามตา ประกอบกิจอื่นเสีย เช่น เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ สวดมนต์ เป็นต้น อันไม่ใช่กิจในการเจริญกัมมัฏฐาน

๒. ภสฺสรามตา มัวแต่คุยกันเสีย ไม่ตั้งใจกำหนด

๓. นิทฺทารามตา มัวแต่เห็นแก่นอน นอนมากทำความเพียรน้อย โยคีบุคคลนอนแต่น้อยเพียงคืนละ ๔ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๒ นาฬิกา ถึง ๖ นาฬิกาก็พอ กลางวันห้ามนอน จงนึกถึงคำเก่าที่กล่าวไว้ว่า
คชาพี ฤาษีผอม นั้นเป็นเครื่องเตือนใจ

๔. สงฺคาณิการามตา พอใจคลุกคลีอยู่กับหมู่คณะ ไม่ชอบอยู่ตามลำพังโดยเฉพาะ

๕. อคุตฺตทฺวารตา ไม่สำรวมทวารทั้ง ๖ ด้วยดี

๖. โภชเน อมตฺตตญฺญุตา ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค คือกินอิ่มเกินไป คะเนว่าอีก ๕ คำจะอิ่ม ให้หยุด เป็นพอดี

๗. ยถาวิมุตฺตํ จิตฺตํ น ปจฺจเวกฺขติ จิตจับอารมณ์ใด ไม่กำหนดอารมณ์นั้น หรือจิตตกไปโดยอาการใด ไม่กำหนดรู้โดยอาการนั้น

ข้อที่ควรปฏิบัติในการเจริญกัมมัฏฐาน

นอกจากต้องปฏิบัติตามนัยที่ตรงกันข้ามกับข้อที่ควรเว้น เช่น ประกอบแต่กิจที่เพ่งกัมมัฏฐานโดยไม่ประกอบกิจอื่น ตั้งใจกำหนดโดยไม่คุยกับผู้อื่น เป็นต้น ทั้ง ๗ ข้อนั้นแล้ว ยังมีข้อที่ควรปฏิบัติอยู่อีกมากมายหลายประการ ที่สำคัญอันควรยกขึ้นมากล่าวในที่นี้นั้น ได้แก่

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2013, 05:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๑. ต้องมีขันติ มีความอดทนพร้อมทั้ง ๓ ประการ คือ

ก. อดทนต่อความยากลำบาก

ข. อดทนต่อทุกขเวทนา

ค. อดทนต่อความเย้ายวนของกิเลส

๒. เพื่อให้ขันติธรรมนั้นสมบูรณ์ จะต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการเจริญกัมมัฏฐานว่า แม้เนื้อจะเหือด เลือดจะแห้ง คงเหลือแต่ หนัง เอ็น กระดูก ก็จะไม่ท้อถอยละเลิกไป จนกว่าจะบรรลุถึงธรรมที่กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่นี้

๓. เพื่อให้สมประสงค์ตามข้อ ๒ จะต้องกระทำอินทรียให้เสมอกัน คือ สัทธากับปัญญาจะต้องเสมอกันคู่หนึ่ง วิริยะกับสมาธิอีกคู่หนึ่งนี้ก็จะต้องให้เสมอกันด้วย ทั้งนี้เพราะ

ถ้าสัทธา กล้า ก็ทำให้เชื่ออย่างงมงาย ไม่คำนึงถึงเหตุผล

สัทธา อ่อน ก็ทำให้ความเลื่อมใสน้อยเกินควร ชวนจะให้เลิกปฏิบัติ

ปัญญา กล้า ทำให้คิดออกนอกลู่นอกทาง

ปัญญา อ่อน ทำให้ไม่เข้าถึงเหตุผลตามความเป็นจริง

วิริยะ กล้า ทำให้คิดพล่าน ฟุ้งซ่านไป

วิริยะ อ่อน ทำให้เกียจคร้าน

สมาธิ กล้า ทำให้ติดในความสุขนั้นเสีย

สมาธิ อ่อน ทำให้ไม่ถึงอุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา

ส่วน สติไม่มีเกิน มีแต่ขาดอยู่ร่ำไป

เมื่อได้กล่าวมาถึงเพียงนี้ นับว่ามีพื้นพอที่จะลงมือเริ่มปฏิบัติได้แล้ว ในชั้นต้นนี้ จะกล่าวถึง วิธีเจริญสมถกัมมัฏฐาน แต่โดยย่อพอเป็นสังเขปต่อไป

การเจริญกสิณกัมมัฏฐาน

จะได้กล่าวถึง การเจริญปฐวีกสิณพอเป็นตัวอย่างโดยย่อ ๆ แต่อย่างเดียว กสิณที่เหลืออื่น ๆ อีก ๙ กสิณ ก็เจริญในทำนองเดียวกัน

๑. เมื่อทำดวงปฐวีกสิณเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำมาตั้งเฉพาะหน้า ให้ห่างสัก ๒ ศอก พอมองเห็นได้ถนัด แล้วจงนั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรง จึงจะนั่งได้ทน นั่งได้นาน แล้วลืมตาดูดวงกสิณ ให้ใจจดจ่ออยู่ที่อารมณ์ คือ ที่ดวงกสิณที่เพ่งนั้น อาการเช่นนี้เรียกว่า วิตก คือ ยกจิต ขึ้นสู่อารมณ์
และจง ประคองจิต ไว้ไม่ให้แส่คิดไปอย่างอื่น ให้คงคิดและเพ่งอยู่แต่ในอารมณ์ คือ ดวงกสิณนั้นแต่อย่างเดียว อาการเช่นนี้เรียกว่า วิจาร ดวงกสิณที่เพ่งนั้นเรียกว่า บริกรรมนิมิต จิตที่เพ่งบริกรรมนิมิตนี้เรียกว่า บริกรรมภาวนา บริกรรมภาวนานี้เป็นไปได้ด้วยอำนาจ บริกรรมสมาธิ

ข้อนี้เป็นการเห็นด้วยนัยน์ตา เป็นการเห็นทางจักขุทวาร

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2013, 06:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๒. ลืมตาเพ่งดวงกสิณให้ทั่วทั้งดวงกสิณ ให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งทุกกระเบียดนิ้ว ว่าตรงไหนเป็นอย่างไร เช่นว่ามีเศษผงนิดหนึ่งติดอยู่ตรงนี้ มีรอยบุ๋มตรงนั้น เป็นรอยขีดตรงโน้น ให้จิตแน่วแน่ในดวงกสิณนั้น ในอารมณ์นั้น ประคองไว้ไม่ให้จิตตกไปจากอารมณ์นั้น

๓. ลืมตาเพ่งจนเห็นว่าจำได้ทั่วทุกส่วนในดวงกสิณนั้นแล้ว ก็ให้ลองหลับตาดู จะติดตา คือ เห็นดวงกสิณเหมือนดังลืมตาเห็นนั้นหรือไม่ ถ้ายังเห็นไม่ชัดก็ให้ลืมตาดูใหม่ ทำเช่นนี้แล้วเช่นนี้อีก จนเมื่อหลับตาก็เห็นดวงกสิณนั้นชัดเจนทุกส่วนทั่วทั้งดวงกสิณ แม้จนกระทั่งเศษผง รอยบุ๋ม รอยขีดอยู่ตรงไหนบ้าง ก็เห็นชัดหมดทุกสิ่งทุกอย่าง นิมิตที่เห็นติดตาเช่นนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต จิตที่นึกเห็นอุคคหนิมิตนี้ยังคงเรียกว่า บริกรรมภาวนา บริกรรมภาวนานี้เป็นไปได้ด้วยอำนาจแห่งบริกรรมสมาธิ ตอนนี้เป็นการเห็นโดยทางมโนทวาร คือ ทางใจ

๔. หลับตาเพ่งเช่นนั้น หรือลืมตาโดยไม่ได้มองดวงกสิณ ก็ติดตาเห็นดวงกสิณชัดเจนอยู่อย่างนั้น นิมิตก็ไม่คลาดคลายหายไป เพ่งหนักเข้า อุคคหนิมิตนั้นจะชัดเจนจนกระทั่งใส สะอาดประดุจดวงแก้วมณี เศษผง รอยบุ๋ม รอยขีด ที่เคยเห็นก็ค่อยจางหายไป ดวงกสิณจึงใสบริสุทธิ์ยิ่งนัก นิมิตที่เห็นเช่นนี้เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต และปฏิภาคนิมิตนี้อาจขยายให้ใหญ่ หรือย่อให้เล็กลงได้ตามความปรารถนาด้วย จิตที่นึกเห็นปฏิภาคนิมิต
นี้เรียกว่า อุปจารภาวนา เป็นไปด้วยอำนาจแห่งอุปจารสมาธิ คือใกล้จะได้ฌานแล้วละ เป็นการเห็นทางใจ ทางมโนทวารเช่นเดียวกับข้อ ๓

ถึงขั้นนี้ก็สามารถประหาณนิวรณ์ทั้ง ๕ ที่เป็นปฏิปักษ์กับสมาธินั้นได้แล้ว แต่ยังเป็นแค่กามาวจรสมาธิ มีกำลังยังไม่มาก ยังไม่แน่นอน ยังไม่แนบแน่นมั่นคงถึงอัปปนาสมาธิ

๕. เพ่งปฏิภาคนิมิต ด้วยอุปจารภาวนาเช่นนั้น ให้เป็นไปโดยสมบูรณ์จนอารมณ์ คือ ปฏิภาคนิมิตนั้นไม่หายไป แต่แนบแน่นในจิตประทับติดอยู่ในใจยิ่งนัก รูปาวจรปฐมฌาน ก็ย่อมเกิดขึ้น ที่รูปาวจรปฐมฌานเกิดขึ้นนี้โดยอาศัยปฏิภาคนิมิต ด้วยอำนาจแห่ง อัปปนาภาวนา อันเรียกตามอำนาจแห่งสมาธิว่าเป็น อัปปนาสมาธิ ฌานจิตนี้สามารถข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ไว้ได้นานตราบเท่าที่ฌานยังไม่เสื่อม การข่มนิวรณ์ได้ด้วยอำนาจแห่งฌานนี้แหละที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน

๖. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ และองค์ฌานทั้ง ๕ ที่ทำหน้าที่ข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ องค์ฌานใด ข่มนิวรณ์อะไร อย่างไรนั้น ได้กล่าวแล้วในปริจเฉทที่ ๑ ตอนรูปาวจรจิต ตรงนิวรณ์ของฌานและการเผานิวรณ์ (วิตก เผา ถีนมิทธนิวรณ์, วิจาร เผาวิจิกิจฉานิวรณ์, ปีติ เผาพยาปาทนิวรณ์, สุข เผาอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์, เอกัคคตา เผา กามฉันทนิวรณ์)

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2013, 06:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


วสิตา หรือ วสีภาวะ

๗. วสี คือความชำนาญ ความแคล่วคล่องว่องไว

ผู้ที่ได้รูปาวจรฌานดังที่ได้กล่าวแล้ว จะเข้าฌานสมาบัติก็ดีจะเจริญสมถภาวนาต่อเพื่อให้ได้ทุติยฌานก็ดี จะต้องมี วสี ในปฐมฌานนั้นเสียก่อน คือต้องหมั่นเข้าปฐมฌานจนชำนาญ มีความแคล่วคล่องว่องไวถึง ๕ ประการ ได้แก่

(๑) อาวชฺชนวสิตา ชำนาญในการนึกเข้าฌาน อีกนัยหนึ่งว่า ชำนาญในการกำหนดพิจารณาองค์ฌานแต่ละองค์ โดยวิถีจิตที่ติดต่อกันไปตามลำดับ โดยมีภวังคจิตคั่นไม่มากนัก

(๒) สมาปชฺชนวสิตา ชำนาญในการเข้าฌานได้โดยรวดเร็ว

(๓) อธิฏฺฐานวสิตา ชำนาญในการหยุดอยู่ในฌานเป็นเวลาช้าเร็วกี่ชั่วโมง กี่วัน ก็จะอยู่ในฌานสมาบัติได้ตามกำหนดที่ได้ตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้าไว้นั้น

(๔) วุฏฺฐานวสิตา ชำนาญในการออกจากฌานได้โดยว่องไว ไม่ให้เกินเวลาที่ตนได้อธิษฐานไว้

(๕) ปจฺจเวกฺขณวสิตาชำนาญในการพิจารณาองค์ฌานด้วยชวนจิตอันเกิดในลำดับแห่งมโนทวาราวัชชนะ ติดต่อกันเป็นลำดับไป โดยมีภวังคคั่นไม่มากนัก

อาวัชชนวสี กับปัจจเวกขณวสี ทั้ง ๒ อย่างนี้ ต้องเกิดด้วยกันเสมอ เพราะที่เรียกว่า อาวัชชนวสีนั้นยกเอามโนทวาราวัชชนจิตเป็นประธาน ส่วนปัจจเวกขณวสีนั้น ยกเอาชวนจิตเป็นประธาน ซึ่งก็อยู่ในวิถีจิตเดียวกันนั่นเอง

เมื่อปฐมฌานลาภีบุคคล มีวสีในปฐมฌานแคล่วคล่องว่องไวเป็นอย่างดีแล้ว ก็สามารถจะเข้าฌานสมาบัติ หรือเจริญภาวนาต่อไปเพื่อให้ถึงทุติยฌานได้

๘. ปฐมฌานลาภีบุคคล จะต้องเข้าปฐมฌานบ่อย ๆ จนชำนาญในวสีภาวะทั้ง ๕ ก็จะเห็นโทษของวิตก จึงประสงค์จะละวิตกอันเป็นสิ่งที่หยาบนั้นเสีย เพื่อให้ถึงทุติยฌานซึ่งประณีตกว่า ต้อง เริ่มเพ่งปฏิภาคนิมิต ที่ตนเคยได้นั้นแล้ว กระทำให้เป็นอารมณ์อย่างแนบแน่นแน่วแน่ในดวงใจ จนกระทั่งทุติยฌานจิตเกิดขึ้น

๙. ฌานลาภีบุคคล ปรารถนาจะเจริญให้ถึง ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ก็จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ ตามลำดับแห่งฌาน จะข้ามไปลัดไม่ได้

๑๐. กสิณ ๑๐ นี้ใช้เป็นกัมมัฏฐานในการเจริญสมถภาวนาได้ตั้งแต่ ปฐมฌาน ตลอดไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌาน คือถึงรูปฌานได้ทั้ง ๕ ฌาน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2013, 07:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


การเจริญอสุภกัมมัฏฐาน

การเจริญอสุภกัมมัฏฐาน มีรายละเอียดในวิธีการอยู่ไม่น้อย เช่น เบื้องต้นจะต้องรู้ว่า ศพอยู่ที่ไหน ทิศใด
ตายเมื่อไร เพราะถ้าตายใหม่ ๆ ก็ไม่ให้พิจารณา ด้วยว่าอาจเกิดราคะขึ้นมาได้ ก่อนไปก็ให้บอกเล่าเก้า
สิบกับสหธัมมิกด้วยกันเพื่อเป็นหลักฐาน ให้ไปคนเดียว จดจำทางและเครื่องหมายระหว่างทางให้แม่น
ยำ ไปถึงก็ให้สังเกตว่า ศพอยู่ตรงไหน ใกล้อะไรที่พอเป็นที่สังเกตได้ ให้ไปยืนที่เหนือลม ประมาณกึ่ง
กลางศพ อย่าใกล้นัก แล้วพิจารณากำหนดโดยสี(เป็นศพคนขาว คนดำ), โดยวัย(แก่ หนุ่ม), โดย
สัณฐาน(ให้รู้ว่านี่ศีรษะ นี่ท้อง นี่เท้า), โดยทิศ(แต่สะดือขึ้นมาเป็นทิศเบื้องบน แต่สะดือลงไป เป็นทิศ
เบื้องล่าง), โดยที่ตั้ง(เราอยู่ตรงไหน ศพอยู่ตรงไหน),

โดยส่วนต่าง ๆ (ศีรษะ แขน ขา ลำตัว), โดยที่ต่อ(ต่อที่แขน ขา เอว), โดยช่อง(ช่องปาก จมูก หู),
โดยที่ลุ่ม (บ่อตา บ่อคอ บ่อท้อง), โดยที่ดอน(หน้าผาก หน้าอก ตะโพก), โดยรอบ ๆ ด้าน (ทั่วตัว),
จนนิมิตเกิดขึ้น, นิมิตกลับเสื่อมหายไป และจำแนกอสุภะที่ควรแก่จริต เหล่านี้เป็นต้น

เนื่องจากสภาพของบ้านเมืองและสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย แตกต่างจากความเป็นอยู่ในสมัยก่อนโน้นมาก
มาย แม้แต่ในชนบทก็เห็นจะหาอสุภะสำหรับเพ่งได้ยากเต็มที ดังนั้นจึงของดไม่อธิบายรายละเอียดและ
วิธีการตามที่กล่าวไว้ข้างบนนั้น ถ้าต้อง การทราบรายละเอียด ขอให้ดูในหนังสือวิสุทธิมัคค ตอนสมาธินิเทส

ในที่นี้จึงขอรวบรัดกล่าวว่า การเจริญอสุภกัมมัฏฐานก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับกสิณกัมมัฏฐานนั่นแหละ

อสุภกัมมัฏฐานนี้เจริญภาวนาได้เพียง ปฐมฌาน เท่านั้นเอง เพราะเหตุว่า อสุภะเป็นอารมณ์ที่ไม่สวย ไม่
งาม น่าเกลียด น่ากลัว และเป็นอารมณ์ที่หยาบอีกด้วย ภาวนาจิตของผู้เจริญกัมมัฏฐานเช่นนี้จะตั้งมั่นอยู่
ได้ ก็ต้องอาศัยวิตกเป็นหลัก ซึ่งเป็นของธรรมดาเหลือเกินที่สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว เช่น ศพคนเช่นนี้
ใคร ๆ ก็ไม่อยากคิดอยากนึกอยากเห็น ถ้าไม่มีวิตกเป็นหลักคอยค้ำจุนยกจิตขึ้นสู่อารมณ์อสุภะแล้ว
ภาวนาจิตนั้น ก็ไม่สามารถตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้นได้ เหตุนี้อสุภะจึงเป็นกัมมัฏฐานให้ได้เพียงปฐมฌานที่
มีวิตกประกอบอยู่ด้วย แต่ไม่สามารถที่จะให้ได้ถึงทุติยฌานขึ้นไป เพราะฌานเหล่านั้นเป็นฌานที่
ปราศจากวิตก

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2013, 07:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


การเจริญอนุสสติกัมมัฏฐาน

อนุสสติ ๑๐ เจริญให้ถึงฌานได้เพียง ๒ คือ กายคตาสติ ๑ และ อานาปาณสติ ๑ ดังได้กล่าวแต่ตอนต้นมาครั้งหนึ่งแล้ว

๑. การเจริญ กายคตาสติ เป็นการกำหนดพิจารณากาย ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ประชุมกันด้วยโกฏฐาส ๓๒ หรือ อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น

โกฏฐาสะ ๓๒ คือ อาการ ๓๒ นั้น แบ่งเป็น ๖ หมวด แต่ละหมวดได้แก่อะไรบ้าง มีรายละเอียดแจ้งใน คู่มือปริจเฉทที่ ๖ ตอนมหาภูตรูป ตรงปฐวีธาตุ มี ๔ หมวดเป็นอาการ ๒๐, ตรงอาโปธาตุ มี ๒ หมวด เป็น อาการ ๑๒ นั้นแล้ว ขอให้ดูที่นั่นด้วย (อาการ ๒๐ มี ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, เยื่อในกระดูก, ม้าม, หัวใจ, ตับ, พังผืด, ไต, ปอด, ใส้ใหญ่, ใส้น้อย, อาหารใหม่, อาหารเก่า, มันสมอง
อาการ ๑๒ มี ดี, เสมหะ, หนอง, เลือด, เหงื่อ, มันข้น, น้ำตา, มันเหลว, น้ำลาย, น้ำมูก, ไขข้อ, น้ำมูตร)

๒. โกฏฐาสะ ๓๒ นี้ ถ้าพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ก็เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิปัสสนาภาวนา แต่ถ้าพิจารณาโดยความเป็นบัญญัติ โดยความเป็นสิ่งปฏิกูล ก็เป็นสมถกัมมัฏฐาน สมถภาวนา ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะสมถภาวนาเท่านั้น

๓. ในชั้นต้นให้พึงท่องจำโกฏฐาสะ ๓๒ นี้เป็นหมวด ๆ ไป และแต่ละหมวดก็ให้คล่องทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม กลับไปกลับมาจนขึ้นใจ แล้วจึงพิจารณาในอาการ ๓๒ นั้นเป็น ๕ นัย คือ

ก. พิจารณาโดย สี ว่าเป็นของปฏิกูล

ข. พิจารณาโดย สัณฐาน ว่าเป็นของปฏิกูล

ค. พิจารณาโดย ทิศ ว่าตั้งอยู่เบื้องสูงหรือเบื้องต่ำ

ง. พิจารณาโดย โอกาส ว่าตั้งอยู่ตรงไหน

จ. พิจารณาโดย ปริจเฉท ว่าไม่ปะปนกับส่วนอื่น

๔. พิจารณาอาการ ๓๒ แต่ละอาการโดยนัยทั้ง ๕ นั้น ตามลำดับไปทุกอาการ บางอาการก็จะเห็นได้ชัด บางอาการก็จะเห็นไม่ชัด ที่ไม่ชัดก็ให้ละไป จนเหลืออาการที่ชัดที่สุดแต่อาการเดียว ให้กำหนดอาการที่ชัดนี้ เป็นบริกรรมนิมิต บริกรรมภาวนาไปจนกว่า อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตจะปรากฏขึ้น ซึ่งเป็น อุปจารภาวนา และอัปปนาภาวนา คือถึง ปฐมฌาน

๕. กายคตาสตินี้ เป็นกัมมัฏฐานในการเจริญสมถภาวนาได้เพียงปฐมฌานเท่านั้นเพราะโกฏฐาสต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ ล้วนแต่เป็นสิ่งปฏิกูล น่าเกลียด จึงต้องอาศัยวิตกเป็นหลักคอยค้ำจุนหนุนจิตให้ยกขึ้นสู่อารมณ์นั้น ๆ ทำนองเดียวกับ อสุภกัมมัฏฐานที่กล่าวแล้วข้างต้น ขอให้ทบทวนดูที่นั่นด้วย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2013, 07:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๖. การเจริญอานาปาณสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ซึ่งดู ๆ ก็ไม่น่าจะยากเย็นอะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้สะดวกสบายนัก เพราะอาจเผลอตัว ไม่มีความรู้สึกตัว คือขาดสติสัมปชัญญะได้ง่าย จริงอยู่การเจริญภาวนาไม่ว่าจะอาศัยกัมมัฏฐานใดๆ จะต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ขาดสติสัมปชัญญะ คือ เผลอตัวเมื่อใดเมื่อนั้นก็ขาดจากการเจริญภาวนา จะเรียกว่าเป็นการเจริญภาวนาหาได้ไม่ โดยเฉพาะการกำหนดลมหายใจนี้ ลมหายใจยิ่งละเอียดสุขุมมากเท่าใด ก็ยิ่งเผลอตัวได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น เผลอตัวได้ง่ายกว่ากัมมัฏฐาน
อย่างอื่น เหตุนี้ในวิสุทธิมัคคจึงกล่าวว่า การเจริญอานาปาณสตินี้ เหมาะสมแก่ผู้ที่มีปัญญากล้า และเฉียบแหลม หาควรแก่ผู้ที่มีปัญญาน้อยไม่


๗. สถานที่ที่จะเจริญอานาปาณสติกัมมัฏฐานนั้น ถ้าเลือกได้สถานที่ดังจะกล่าวต่อไปนี้ก็จะเป็นที่สะดวกดีมาก คือ

ก. เสนาสนะในป่าที่สงัด เหมาะแก่ฤดูร้อน เหมาะแก่ผู้ที่มีโมหจริต เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวแก่ เสมหะ

ข. เสนาสนะที่อยู่โคนต้นไม้ หมายถึงใต้ร่มไม้ใหญ่ที่เงียบเชียบ เหมาะแก่ฤดูหนาว เหมาะแก่ผู้ที่มีโทสจริต เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวแก่น้ำดี

ค. เสนาสนะที่เป็นเรือนว่าง ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย อยู่ในที่วิเวก เหมาะแก่ฤดูฝน เหมาะแก่ผู้ที่มีราคจริต เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวแก่ธาตุ

๘. การกำหนดลมหายใจนี้ จำแนกไว้เป็น ๔ หมวด แต่ละหมวดก็มี ๔ นัย จึงรวมเป็น ๑๖ นัยด้วยกั
หมวดที่ ๑

ก. กำหนดให้รู้ว่าขณะนั้น หายใจออกยาวและเข้ายาว

ข. กำหนดให้รู้ว่าขณะนั้น หายใจออกสั้นและเข้าสั้น

ค. กำหนดให้รู้ในกองลมทั้งปวงในเวลาหายใจออกและเข้า คือให้รู้ว่าเบื้องต้น ของลมหายใจออกนั้นอยู่เหนือสะดือ เบื้องกลางอยู่ที่หน้าอก เบื้องปลายอยู่ที่ช่องจมูก และเบื้องต้นของลมหายใจเข้านั้นอยู่ที่ช่องจมูก เบื้องกลางอยู่ที่หน้าอก เบื้องปลายอยู่ที่เหนือสะดือ จะรู้ได้ต่อเมื่อตั้งใจกำหนดอย่างแน่แน่ว ( การระลึกรู้ ต้นลมหายใจ กลางลมหายใจ ปลายลมหายใจ ใน พระไตรปิฎก ปฏิสัมภิทามรรค ท่านให้ใช้สติระลึกรู้ที่ปลายจมูกตรงจุดที่ลมกระทบเพียง แห่งเดียวเท่านั้น ก็จะสามารถระลึกรู้ทั้ง ต้นลมหายใจ กลางลมหายใจ และปลายลมหายใจ ได้ทั้งหมดอยู่แล้ว ใน พระไตรปิฎก ปฏิสัมภิทามรรค ท่านห้ามการระลึกรู้ตามลมหายใจ จากจมูกไปยังหน้าอก และไปถึงสะดือหรือท้อง เพราะจะทำให้จิตแกว่งไม่ตั้งมั่น ในอารมณ์เดียว จิตจะฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ )

ง. ให้รู้ในกายสังขาร คือ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าที่สงบ คือการหายใจนั้นแผ่ว เบา ละเอียด
ยิ่งขึ้นทุกที ถ้าไม่ตั้งใจกำหนดอย่างจริงจังก็จะเผลอไม่รู้สึกตัว

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2013, 07:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


หมวดที่ ๒

ก. กำหนดให้รู้แจ้ง ปีติในเวลาหายใจออกและเข้า หมายความว่า กำหนดตามหมวดที่ ๑ จนได้ฌานแล้ว มีวสีภาวะทั้ง ๕ แล้ว ก็ให้ยกองค์ฌาน คือ ปีตินั้นเพ่งโดยวิปัสสนาภาวนาจนเห็นปีติในลักษณะ ๓ คือ ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ที่ให้เพ่ง ปีติ เพราะผู้ที่ได้ฌานต้น ๆ นั้น ปีติ มักจะปรากฏเด่นชัดกว่าองค์ฌานอื่น

ข. กำหนดให้รู้แจ้ง สุขเวทนา ในเวลาหายใจออกและเข้า มีความหมายว่า ผู้ที่ได้ทุติยฌาน ตติยฌาน หรือ จตุตถฌานนั้น ความสุขในองค์ฌานย่อมปรากฏชัด จึงกำหนดให้รู้แจ้ง สุขเวทนา ในเวลาหายใจออกและเข้าได้สะดวก

ค. กำหนดให้แจ้งใน จิตตสังขาร คือ เวทนา สัญญา ในเวลาหายใจออกและเข้า

ง. กำหนดให้แจ้งในการยังจิตตสังขารให้สงบ ในเวลาหายใจออกและเข้า ซึ่งผู้ที่ได้ฌานใด ๆ ก็สามารถกำหนดรู้ได้

หมวดที่ ๓

ก. กำหนดให้แจ้งในจิต ในเวลาหายใจออกและเข้า คือให้รู้จิตที่เป็นไปด้วยรูปฌานทั้ง ๕

ข. กำหนดให้แจ้งในความบันเทิงของจิต ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึง ปีติ ที่ประกอบด้วยฌานนั้น ๆ

ค. กำหนดให้แจ้งในจิตที่เป็นสมาธิ ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายทั้ง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

ง. กำหนดให้แจ้งในความพ้นของจิต ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึงความพ้นทั้ง ๒ อย่าง คือพ้นด้วยสมาธิ ก็พ้นจากนิวรณ์ ๕ หรือพ้นจาก วิตก วิจาร ปีติตามลำดับขององค์ฌาน ถ้าพ้นด้วยวิปัสสนาก็พ้นจากวิปัลลาสธรรม มีนิจจสัญญา เป็นต้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2013, 07:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


หมวดที่ ๔

ก. กำหนดตามเห็นอนิจจัง ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึงตามเห็นความไม่เที่ยงในรูปขันธ์
ในเวทนาขันธ์ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ และในวิญญาณขันธ์

ข. กำหนดตามเห็นวิราคะ ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึงพ้นจากราคะด้วยอำนาจของวิปัสสนา หรือด้วยมัคคจิต ๔ ความพ้นทั้ง ๒ นี้เรียกว่า วิราคานุปัสสนา

ค. กำหนดตามเห็นความดับ ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึงความดับของทุกข์ สมุทัย หรือความดับของ วยะ ขยะ คือ ความดับสิ้นไปของสังขารนั้น

ง. กำหนดตามเห็น ความสละในการยึดมั่น ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึง ละการยึดถือด้วยอุปาทาน มีอัตตวาทุปาทาน เป็นต้น ด้วยอำนาจของวิปัสสนา

ในอานาปาณสติ ๑๖ นัยนี้ตั้งแต่หมวดที่ ๑ ถึง ๓ รวม ๑๒ นัยนั้นกล่าวรวมทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย
ส่วนในหมวดที่ ๔ นั้น กล่าวเฉพาะวิปัสสนาอย่างเดียว

หมวดที่ ๑ สงเคราะห์ด้วยปฐมฌาน และสงเคราะห์ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๒ สงเคราะห์ด้วยปฐมฌานถึงจตุตถฌาน และสงเคราะห์ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๓ สงเคราะห์ด้วยฌานทั้ง ๕ และสงเคราะห์ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๔ กล่าวเฉพาะ วิปัสสนา

๙. อานาปาณสตินี้ เป็นกัมมัฏฐานที่สามารถเจริญสมถภาวนา ให้ถึงได้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌาน

๑๐. อนุสสติ ๑๐ นั้นได้กล่าวมาแล้ว ๒ เพราะที่สามารถเข้าถึงฌานได้ คือ กายคตาสติ ๑ และอานาปาณสติ ๑ ส่วนที่เหลืออีก ๘ ไม่สามารถเข้าถึงฌานได้

ก. พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ และอุปสมานุสสติ รวมอนุสสติ ๗ นี้ไม่สามารถเข้าถึงฌานได้ เพราะเหตุว่า เป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งมาก และเป็นอารมณ์ที่กว้างขวางมาก

ข. มรณานุสสติอีก ๑ นั้น นอกจากเป็นอารมณ์ที่ลึกซึ้งมากแล้ว ยังเป็นอารมณ์ปรมัตถอีกด้วย สมถภาวนาไม่สามารถจับอารมณ์ปรมัตถได้ เว้นแต่อากาสานัญจายตนกุสล ๑ กิริยา ๑ และอากิญจัญญายตนกุสล ๑ กิริยา ๑
รวมจิต ๔ ดวงนี้เท่านั้น จึงจะเป็นอารมณ์ที่สามารถให้ถึงฌานได้ นอกจากนี้ต้องเป็นอารมณ์บัญญัติจึงจะถึงฌาน

อนึ่ง มรณานุสสติ การระลึกถึงความตายที่จะพึงมาถึงตนนั้น ก็เพื่อให้เกิดความสลดใจ แต่ว่าถ้าไม่มีความแยบคายในการระลึกแล้วอาจเป็นโทษ เช่นนึกถึงความตายของผู้ที่เรารักใคร่ ย่อมเกิดความโศกเศร้า นึกถึงความตายของผู้ที่เราเกลียด ย่อมเกิดความชอบใจ ครั้นมานึกถึงความตายของตนเอง ก็จะเกิดความกลัว ทำให้จิตใจหวาดหวั่นไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2013, 07:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


เหตุนี้จึงมีข้อแสดงว่า การระลึกถึงความตาย ต้องนึกด้วยความแยบคาย โดยอาการ ๘ นัย คือ

(๑) ความตายนี้เปรียบดังเพชฌฆาตที่จ้องจะประหารอยู่เป็นนิจ แม้ตัวเราก็ถูกจ้อง อยู่ตลอดเวลา

(๒) ความตายนี้ย่อมเข้าถึง ความฉิบหาย วิบัติ พลัดพราก จากทรัพย์สมบัติ ลาภยศ ญาติพี่น้อง ซึ่งเราก็จะเป็นเช่นนี้เข้าสักวันหนึ่ง

(๓) ความตายนี้ไม่เห็นแก่หน้าไม่เลือกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นผู้มีบุญ มีอำนาจ มีทรัพย์ มียศ มีปัญญา ก็ตายไปแล้วมากกว่ามาก เราเองก็จะต้องตายแน่

(๔) ความตายมีอยู่ทั่วกายในอวัยวะทุกส่วน แม้หมู่สัตว์ที่อยู่ภายนอก และที่อาศัยเบียดเบียนอยู่ภายในร่างกาย ก็สามารถทำให้ตายได้ทุกเมื่อ เราก็ไม่พ้นอย่างนี้ไปได้

(๕) อายุนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถาวรแข็งแรง เป็นของทุพพลภาพ ที่ยังคงดำรงอยู่ได้ ก็อาศัยอยู่ได้ด้วยธรรมทั้ง ๔ คือ ลมหายใจ, อิริยาบถทั้ง ๔, ความร้อนความเย็น และอาหาร หากธรรมทั้ง ๔ นี้แม้แต่เพียงอย่างเดียวไม่เป็นไปตามปกติ เราก็จะตายเป็นแน่นอน

(๖) ระลึกว่า ความตายนี้ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมายแต่อย่างใดเลย นิมิตนั้นมี ๕ อย่าง คือ

ก. ชีวิตํ ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า ชีวิตนี้จะอยู่นานสักปานใดจึงจะตาย

ข. พยาธิ ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า จะตายด้วยโรคอะไร

ค. กาโล ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า จะตายเวลาไหน

ง. เทหนิกฺเขปนํ ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า จะตายที่ตรงไหน

จ. คติ ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า เมื่อตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไรที่ไหน

(๗) ระลึกว่าอายุของมนุษย์นี้น้อยนัก อย่างมากไม่ใคร่ถึง ๑๐๐ ปี ก็จะต้องตายไปแล้ว จึงควรทำความดีประกอบการกุสล ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะความตายจักมาถึงเราในบัดนี้ก็ได้

(๘) ระลึกว่า ชีวิตนี้ เป็นอยู่ มีอยู่ คงอยู่ ชั่วขณะนิดเดียว กล่าวโดยทางปรมัตถ ก็ปรากฏอยู่ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ได้ชื่อว่า สัตว์เกิดแล้ว จิตตั้งอยู่ ก็ได้ชื่อว่าสัตว์นั้นเป็นอยู่ และเมื่อจิตดับไป จิตไม่เกิดสืบต่อไปอีกในภพนี้ ก็ได้ชื่อว่า สัตว์นั้นตายเสียแล้ว

พึงระลึกถึงความตาย โดยความแยบคายตามนัยแห่งอาการ ๘ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ก็จะเป็นที่ตั้งแห่งความสลด เป็นเหตุให้เบื่อหน่าย ไม่ยินดีในภพ ปราศจากความตระหนี่ เบิกบานในการบริจาคทาน มีการขวนขวายน้อย มีความเป็นอยู่โดยความไม่ประมาทตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรในกุสลกรรม ไม่หวาดหวั่นต่อความตาย และไม่งมงายในเวลาตายด้วย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2013, 07:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


การเจริญอัปปมัญญากัมมัฏฐาน

อัปปมัญญากัมมัฏฐาน ซึ่งมีจำนวน ๔ นั้น แต่ละกัมมัฏฐาน มีอารมณ์ มีองค์ธรรม และสิ่งที่ประหาณ ดังนี้

๑. เมตตา มี ปิยมนาปสัตตบัญญัติ คือ สัตว์อันเป็นที่รักเป็นอารมณ์ในการแผ่เมตตาจิต องค์ธรรมของเมตตาได้แก่ อโทสเจตสิก ซึ่งประหาณโทสะ ความโกรธ ความพยาบาท ความมุ่งร้าย ความทำลาย

๒. กรุณา มี ทุกขิตสัตตบัญญัติ คือสัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์เป็นอารมณ์ในการแผ่ความกรุณา องค์ธรรมของกรุณา ได้แก่ กรุณาเจตสิก ซึ่งประหาณวิหิงสา ความเบียดเบียน ความซ้ำเติม

๓. มุทิตา มี สุขิตสัตตบัญญัติ คือสัตว์ที่กำลังมีความสุขความสบายอยู่นั้น เป็นอารมณ์ในการที่พลอยชื่นชมยินดีไปด้วย องค์ธรรมของมุทิตา ได้แก่ มุทิตาเจตสิก ซึ่งประหาณอิสสา ความริษยา เห็นเขาได้ดีก็ทนอยู่ไม่ได้ อรติความไม่ยินดีด้วย

๔. อุเบกขา มี มัชฌัตตสัตตบัญญัติ คือสัตว์ที่ไม่มีทุกข์ แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นสุขนั้น เป็นอารมณ์ในการที่วางเฉยต่อสัตว์นั้น ๆ องค์ธรรมของอุเบกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งประหาณอคติ ความลำเอียงเพราะชอบกัน(ฉันทาคติ), เพราะชังกัน(โทสาคติ), เพราะลุ่มหลงเมามัว(โมหาคติ), หรือเพราะกลัว (ภยาคติ)

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2013, 07:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


เมตตากัมมัฏฐาน

หิตาการปฺปวตฺติลกฺขณา

มีความเป็นไปแห่งกาย วาจา ใจในอันที่จะเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ

หิตูปสํหารรสา

มีการทำประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย อย่างใกล้ชิด เป็นกิจ

อาฆาตวิยนปจฺจุปฏฺฐานา

มีการบำบัดความแค้น เป็นอาการปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณาเมตตา

มนาปภาวทสฺสนปทฏฺฐานา

การพิจารณาแต่ความดีที่น่าพึงพอใจของสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่มีการนึกถึงสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม เป็นเหตุใกล้

พฺยาปาทูปสโม สมฺปตฺติ

สงบความพยาบาทลงได้เป็นเวลานาน เป็นความสมบูรณ์ของเมตตา

สิเนหสมฺภโว วิปตฺติ

การเกิดขึ้นแห่งตัณหาที่เหนียวแน่น เป็นความเสื่อมเสียของเมตตา

ราโค อาสนฺนปจฺจตฺถิโก

ราคะ เป็นข้าศึกใกล้ของเมตตา

พยฺาปาโท ทูรปจฺจตฺถิโก

พยาบาท เป็นข้าศึกไกลของเมตตา

๑. เมตตามีอานิสงส์ ถึง ๑๑ ประการ คือ

(๑) สุขํ สุปฺปติ สบายในเวลาหลับ

(๒) สุขํ ปฏิพุชฺฌติ สบายในเวลาตื่น

(๓) น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ ไม่ฝันเห็นเรื่องที่ลามก

(๔) มนุสฺสานํ ปิ โย โหติ เป็นที่รักของมนุษย์ทั่วไป

(๕) อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ เป็นที่รักของอมนุษย์

(๖) เทวตา รกฺขนฺติ เทวดาย่อมคุ้มกันรักษา

(๗) นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมติ ไฟ ยาพิษ ศัสตรา ก็ดีย่อมไม่กล้ำกรายต่อผู้นั้น

(๘) ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ จิตผู้นั้นย่อมเป็นสมาธิ คือตั้งมั่นได้เร็ว

(๙) มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ สีหน้าผู้นั้นย่อมผ่องใส

(๑๐) อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ ในเวลาใกล้มรณะ ย่อมเป็นผู้มีสติ

(๑๑) อุตฺตริ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต เมื่อมรณะ ย่อมเป็นผู้เข้าถึงสุคติอย่างสูงสุด ถึงพรหมโลกได้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2013, 07:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๒. เมตตา ที่ว่าองค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก นั้น พึงเข้าใจว่า อโทสเจตสิกทั้งหมดจะเป็นเมตตาไปทุก
ครั้งก็หาไม่ อโทสะเป็นเจตสิกที่ประกอบกับโสภณจิตทั่วไปได้อยู่แล้ว เพียงแต่สวดมนต์ ไหว้พระ ใส่
บาตร รักษาสีล อ่านหนังสือธรรม เหล่านี้อันเป็นจิตมหากุสล อโทสเจตสิกก็เข้าประกอบอยู่ทุกขณะ แต่
ว่าขณะนั้น เมตตาไม่มีไม่ประกอบ เพราะเมตตานั้น นอกจากไม่โกรธ ไม่เกลียดชังแล้ว ยังประสงค์ให้
สัตว์ทั้งหลายมีความสุขอีกด้วย
ยกตัวอย่าง เช่น มีผู้ลอบตีนาย ก. เมื่อนาย ก. ถูกตีแล้ว อาจไม่โกรธ เพราะคิดว่าเป็นกรรมของตัวจึงได้
ถูกตี แค่นี้เป็น อโทสะ แต่ถ้านาย ก. ไม่โกรธแล้วยังแผ่เมตตาให้แก่ผู้ที่ลอบตีว่า จงหมดเวรหมดกรรมกัน
เสียที ขออย่าให้ถูกจับและได้รับโทษเลย จงปลอดภัยและมีความสุขต่อไปเถิด คิดได้ดังนี้เป็นเมตตา มี
อานิสงส์สูงกว่าอโทสะมากนัก แต่ว่าผู้ที่จะถึงขั้นนี้ก็หาได้ยากมาก นอกจากจะได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดีแล้ว

๓. ก่อนฝึกแผ่เมตตา พึงทราบว่า เมตตานี้ทำลาย โทสะ และเมตตานี้เป็นที่ตั้งมั่นแห่งขันติ

โทษของโทสะ ทำให้ใจขุ่นมัว กลัดกลุ้ม เร่าร้อน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ถ้าไม่มีความยับยั้งใจแล้ว
ก็ถึงขั้นทำลาย ทำลายผู้อื่น ตลอดจนทำลายตนเอง ทำลายทั้งทรัพย์สมบัติ ชีวิตและคุณงามความดีคุณ
ของขันติ ทำให้มีความอดทน อดทนต่อความยากลำบากตรากตรำ อดทนต่อความเจ็บใจ อดทนต่อ
ความทุกข์เวทนา อดทนต่อความยั่วเย้าของกิเลส

เมื่อเห็นโทษของโทสะ และเห็นคุณของขันติแล้ว ก็ฝึกแผ่เมตตาโดยมี ข้อที่พึงกำหนดดังต่อไปนี้ จะ
เป็นข้อหนึ่งข้อใดแต่เพียงข้อเดียวก็ได้ คือ

ก. อเวรา จงเป็นผู้ไม่มีเวรแก่กันและกัน

ข. อพฺยาปชฺชา จงเป็นผู้ไม่พยาบาทต่อกัน

ค. อนีฆา จงเป็นผู้ที่ปราศจากทุกข์

ง. สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ จงมีแต่ความสุข รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง

๔. ผู้ที่มีเมตตาและแผ่เมตตาได้อย่างสะดวกใจนั้น จะต้องหมั่นฝึกอยู่เสมอ ในขั้นต้นต้องฝึกแผ่เมตตา
ให้แก่ตนเองก่อน เพื่อจะได้เป็นสักขีพยานว่าตนเองปรารถนาสุข เกลียดทุกข์ ต้องการมีอายุยืน กลัวตาย
ฉันใด ผู้อื่นก็ฉันนั้น ฝึกดังนี้บ่อย ๆ หนักเข้า เมตตาจิตก็จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6 ... 12  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 16 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร