วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:06  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9 ... 12  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ย. 2013, 13:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


อธิบาย

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงแสดงวิปัสสนากัมมัฏฐานญาณอันสูง
สุด รู้เห็นตามทัสสนะที่เป็นจริง ประดุจดวงอาทิตย์อุทัย ยังโลกให้สว่างฉะนั้น บรรดาสาวกของพระ
พุทธองค์ได้น้อมรับฐานที่ตั้งของการงานที่ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยประการต่างๆ มาศึกษาปฏิบัติ
จนประทับใจมนุษย์และเทวดาทั้งหลายเป็นอันมาก ยากที่จะหาสิ่งใดมาเปรียบปานได้ สิ่งนั้น คือ
วิปัสสนากัมมัฏฐาน อันเป็นไปเพื่อความบริสุทธิหมดจดโดยส่วนเดียว ซึ่งเรียกว่า วิสุทธิมัคค คือทางบริ
สุทธิ ผู้ใดเดินทางนี้จนถึงที่สุดแล้ว ย่อมบรรลุจุด
หมายปลายทาง อมตะมหานิพพาน อันเป็นที่บริสุทธิ สิ้นกิเลสและพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง

อันคำว่า มัคค หรือ ทาง มีความหมาย ๒ อย่าง คือ ปกติมคฺโค ทางปกติ ได้แก่ ทางน้ำ ทางบก เป็นต้น สำหรับคนและสัตว์เดิน และ ปฏิปทามคฺโค ทางปฏิบัติ ได้แก่ บาปบุญที่บุคคลทำ อันเป็นทางสำหรับ กาย วาจา ใจ เดิน
ปฏิปทามัคค คือทางปฏิบัตินั้น จำแนกได้เป็นหลายนัย แต่ในที่นี้ขอจำแนกว่ามี ๕ สาย คือ

๑. ทางสายไปอบายภูมิ ได้แก่ ความทุสีล หรืออกุสลกรรมบถ ๑๐ มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูล
๒. ทางสายไปมนุษยภูมิ ได้แก่ มนุษย์ธรรม คือ รักษาสีล ๕ สีล ๘ หรือ กุสลกรรมบถ ๑๐
๓. ทางสายไปกามาวจรสวรรค์ ได้แก่ มหากุสลจิต ๘ ดวง ที่มีหิริและโอตตัปปะ เป็นหัวหน้า เช่น ให้ทาน ฟังธรรม แสดงธรรม เป็นต้น
๔. ทางสายไปพรหมโลก ได้แก่ การเจริญสมถภาวนาจนเกิดฌาน
๕. ทางสายไปพระนิพพาน ได้แก่ การเจริญวิปัสสนาภาวนา จนบรรลุ มัคค ผล นิพพาน

ในทาง ๕ สายนี้ สายที่ ๕ เป็นทางแห่งสันติ เป็นทางที่ให้ถึงซึ่งความ บริสุทธิหมดจด อันเรียกว่า วิสุทธิมัคค ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ทางสายที่ ๕ นี้เรียกอีกนัยหนึ่งว่า เอกายนมัคค เพราะอรรถว่า

ก. เป็นทางสายเดียว ที่จะให้ถึงความหมดจดได้ ไม่มีทางสายอื่นใดอีกเลย
ข. เป็นทางไปคนเดียว คือ ต้องละจากหมู่ไปสู่ที่สงัด ปฏิบัติแต่ผู้เดียว ใครจะมาช่วยทำให้ไม่ได้ และบรรลุแต่ผู้เดียว จะขอใครให้บรรลุตามไปด้วยไม่ได้
ค. เป็นทางที่ผู้เดียวค้นพบ คือ เป็นทางที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบด้วยพระองค์เองแต่ผู้เดียว ไม่ใช่มีใครมาช่วยค้นหาด้วยจึงได้พบ
ง. เป็นทางแห่งเดียว คือ มีอยู่ในพระพุทธศาสนาแต่แห่งเดียวเท่านั้น มิได้มีในศาสนาอื่นใดอีกเลย
จ. เป็นทางไปสู่จุดหมายเดียว คือ ไปสู่พระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น ไม่ไปสู่จุดอื่นใดอีกเลย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ย. 2013, 06:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




1237182_388547634608207_2042446965_n.jpg
1237182_388547634608207_2042446965_n.jpg [ 23.8 KiB | เปิดดู 3091 ครั้ง ]
วิสุทธิ ๗

วิสุทธิมัคค คือ ทางบริสุทธิ ที่นำไปสู่ความหมดจดจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง ซึ่งจัดเป็น ๗ ระยะ หรือ ๗ ขั้น อันเรียกว่า วิสุทธิ ๗ ประการนั้นเปรียบเหมือนรถ ๗ ผลัด หรือบรรได ๗ ขั้น จึงจะถึงซึ่งความบริสุทธิ วิสุทธิ ๗ ได้แก่

๑. สีลวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งสีล บุคคลที่สมบูรณ์ด้วย จาตุปาริสุทธิสีลนั้นชื่อว่า ถึงพร้อมด้วยสีล เป็นสีลวิสุทธิ จาตุปาริสุทธิสีล ได้แก่ ปาฏิโมกขสังวรสีล อินทรียสังวรสีล อาชีวปาริสุทธิสีล และปัจจยนิสสิตสีล

๒. จิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งจิต คือ จิตที่บริสุทธิจากนิวรณ์ทั้งหลาย ขณะใดที่จิตเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือ อัปปนาสมาธิ ขณะนั้นเป็นจิตที่ปราศจากนิวรณ์ จึงได้ชื่อว่า เป็นจิตตวิสุทธิ

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งทิฏฐิ ปัญญาที่รู้แจ้ง รูปนามตามความเป็นจริง ได้ชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ กล่าวโดย โสฬสญาณ คือ ญาณ ๑๖ ก็เห็นแจ้งญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณแล้ว (โสฬสญาณจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งการข้ามพ้นจากความสงสัย เพราะเกิดปัญญาที่รู้แจ้งปัจจัยที่ให้เกิดรูปนาม คือ รูปเกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร, นามเกิดจาก อารมณ์ วัตถุ มนสิการ กล่าวโดยโสฬสญาณ ก็เห็นแจ้งญาณที่ ๒ ที่ชื่อว่า ปัจจยปริคคหญาณแล้ว

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งญาณที่รู้ว่าทาง หรือ มิใช่ทาง กล่าวโดยโสฬสญาณ ก็เห็นแจ้งญาณที่ ๓ ที่ชื่อว่า สัมมสนญาณแล้ว และถึงญาณที่ ๔ ที่ชื่อว่า อุทยัพพยญาณ เพียง ตรุณะ คือ เพียงอย่างอ่อนเท่านั้น ยังไม่ถึง อุทยัพพยญาณ ที่เรียกว่า พลวะ คือ อย่างกล้า(ตรุณอุทยัพพยญาณ นี่แหละที่จะเกิด วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งญาณที่รู้เห็นว่า นี่แหละเป็นทางที่ชอบแล้ว กล่าวโดยโสฬสญาณก็เห็นแล้ว พลวอุทยัพพยญาณ (อย่างกล้า)นั้นแล้ว เป็นต้นไปถึง อนุโลมญาณ และนับโคตรภูญาณ รวมด้วยโดยปริยายโดยอ้อม

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งญาณที่รู้เห็น พระนิพพาน คือ มัคคญาณ และนับผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ รวมด้วยโดยอนุโลม

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ย. 2013, 06:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




ลุงหมานออกแบบ.gif
ลุงหมานออกแบบ.gif [ 102.78 KiB | เปิดดู 3089 ครั้ง ]
อานุภาพแห่งญาณทัสสนวิสุทธิ ๕ ประการ

๑. ปริปุณฺณโพธิปกฺขิยภาว บริบูรณ์ด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
๒. วุฏฺฐาน พ้นจากสังขารนิมิตอารมณ์
๓. ผลสมาโยค ประกอบด้วยสมาธิพละ และปัญญาพละ
๔. เตสํปหาน ละสังโยชน์เป็นต้นได้
๕. ปริญฺญาทีนิ บรรลุซึ่งกิจอันมีปริญญากิจเป็นต้น

ปริญญากิจ ๓ ประการ

๑. ญาตปริญฺญา รู้ซึ่งรูปนาม คือ นามรูปปริจเฉทญาณ, ปัจจยปริคคหญาณ และสัมมสนญาณ
๒. ตีรณปริญฺญา รู้ไตรลักษณ์ หมายถึง อุทยัพพยญาณ ญาณเดียวเท่านั้น
๓. ปหานปริญฺญา รู้ละกิเลส นับตั้งแต่ ภังคญาณถึงมัคคญาณ

ปหานกิจ ๓ ประการ

๑. วิกฺขมฺภนปหาน ละนิวรณ์ด้วยโลกียฌาน อุปมา หินทับหญ้า
๒. ตทงฺคปหาน ละกิเลสด้วยวิปัสสนาญาณ อุปมา ฟ้าแลบ
(เป็นโลกียปัญญา)
๓. สมุจฺเฉทปหาน ละกิเลสด้วยมัคคญาณ อุปมา ฟ้าผ่า
(เป็นโลกุตตรปัญญา)

ภาวนากิจ ๒ ประการ

โลกียภาวนา
สีล สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สมาธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ปัญญา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
(อารมณ์ต่างๆกัน)

โลกุตตรภาวนา
สีล สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สมาธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ปัญญา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
(มีนิพพานเป็น อารมณ์แต่อย่าง เดียวเท่านั้น)

สัจฉิกิริยกิจ ๓ ประการ

๑. โลกียสจฺฉิกิริยกิจฺจ น้อมเข้าหาโลกียฌาน (ฌานในวิปัสสนาภาวนา)
๒. ทสฺสนสจฺฉิกิริยกิจฺจ น้อมเข้าหาพระนิพพาน ด้วยโสดาปัตติมัคคญาณ
๓. ภาวนาสจฺฉิกิริยกิจฺจ น้อมเข้าหาพระนิพพาน ด้วยมัคคญาณเบื้องบน ๓

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ย. 2013, 07:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




ลุงหมานออกแบบ.gif
ลุงหมานออกแบบ.gif [ 12.23 KiB | เปิดดู 3092 ครั้ง ]
โสฬสญาณ

เพื่อให้สะดวกแก่การศึกษา จึงขอกล่าวถึงโสฬสญาณ คือ ญาณ ๑๖ พร้อมทั้งความหมายโดยย่อ เสียในที่นี้เลยทีเดียว

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นรูปเห็นนามว่าเป็นคนละสิ่งคนละส่วน ซึ่งไม่ได้ระคนปนกันจนแยกกันไม่ได้

๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นถึงปัจจัยที่ให้เกิดรูป เกิดนาม คือ รูปเกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร ส่วนนามเกิดจาก อารมณ์ วัตถุ มนสิการ

๓. สัมมสนญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นไตรลักษณ์ คือ ความเกิดดับของรูปนาม แต่ที่รู้ว่ารูปนามดับไปก็เพราะ เห็นรูปนามใหม่เกิดสืบต่อแทนขึ้นมาแล้ว เห็นอย่างนี้เรียกว่า สันตติยังไม่ขาดและยังอาศัยจินตามยปัญญาอยู่ อีกนัยหนึ่งว่า สัมมสนญาณ เป็นญาณที่ยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์

๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจน โดยสันตติขาด คือ เห็นรูปนามดับไปในทันทีที่ดับ และเห็นรูปนามเกิดขึ้นในขณะที่เกิด หมายความว่า เห็นทันทั้งในขณะที่เกิดและขณะที่ดับ อุทยัพพยญาณนี้ยังจำแนกได้เป็น ๒ คือ ตรุณอุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่ยังอ่อนอยู่ และพลวอุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่แก่กล้าแล้ว

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ย. 2013, 08:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๕. ภังคญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นความดับแต่อย่างเดียว เพราะความดับของรูปนามเป็นสิ่งที่ตื่นเต้นกว่าความเกิด

๖. ภยญาณ บ้างก็เรียกว่า ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่ารูปนามนี้เป็นภัย เป็นที่น่ากลัว เหมือนคนกลัวสัตว์ร้าย เช่น เสือ เป็นต้น

๗. อาทีนวญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่ารูปนามนี้เป็นโทษ เหมือนผู้ที่เห็นไฟกำลังไหม้เรือนตนอยู่ จึงคิดหนีจากเรือนนั้น

๘. นิพพิทาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่า เกิดเบื่อหน่ายในรูปนาม เบื่อหน่ายในปัญจขันธ์

๙. มุญจิตุกมยตาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่าใคร่จะหนีจากรูปนาม ใคร่จะพ้นจากปัญจขันธ์ เปรียบดังปลาเป็น ๆ ที่ใคร่จะพ้นจากที่ดอนที่แห้ง

๑๐. ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นเพื่อหาทางที่จะหนี หาอุบายที่จะเปลื้องตนให้พ้นจากปัญจขันธ์

๑๑. สังขารุเบกขาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่า จะหนีไม่พ้นจึงเฉยอยู่ไม่ยินดียินร้าย ดุจบุรุษอันเพิกเฉยในภริยาที่ทิ้งขว้างหย่าร้างกันแล้ว

๑๒. อนุโลมญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นให้คล้อยไปตามอริยสัจจญาณนี้เรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ ก็ได้

๑๓. โคตรภูญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเป็นโคตรอริยชน

๑๔. มัคคญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน และตัดขาดจากกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาณ

๑๕. ผลญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพานโดยเสวยผลแห่งสันติสุข

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นใน มัคคจิต,ผลจิต,นิพพาน, กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังคงเหลืออยู่

ตั้งแต่ญาณที่ ๓ สัมมสนญาณ จนถึงญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ รวม ๑๐ ญาณ นี้เรียกว่า วิปัสสนาญาณ เพราะสัมมสนญาณนั้น เริ่มเห็นไตรลักษณ์แล้ว

บางแห่งก็จัดว่า วิปัสสนาญาณ มีเพียง ๙ คือ นับตั้งแต่ญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ จนถึงญาณที่
๑๒ อนุโลมญาณ เพราะอุทยัพพยญาณเป็นญาณแรกที่รู้เห็นไตรลักษณ์ ด้วยปัญญาชนิดที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา โดยตรงโดยไม่ต้องอาศัย จินตามยปัญญาเข้ามาช่วย

วิปัสสนาญาณ หมายถึง ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ
เห็นประจักษ์แจ้งซึ่ง ไตรลักษณ์ แห่งรูปนาม

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ย. 2013, 08:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ คือลักษณะ ๓ ประการที่บรรดารูปธรรมนามธรรมที่เป็นสังขารทั้งหลาย จะต้องมี ต้องเป็นไปเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น เหตุนี้จึงเรียกว่า สามัญญ ลักษณะก็ได้ เพราะเป็นลักษณะที่เป็นธรรมดาตามธรรมชาติแห่งสังขารทั้งหลายที่จะต้องมีอันเป็นไปอย่างนี้ มีอาการอย่างนี้ มีคาถาที่ ๑๕ แสดงว่า

๑๕. อนิจฺจลกฺขณํ ทุกข ลกฺขณํ กมโต ฐิตํ
อนตฺตลกฺขณญฺเจติ ตีเณว ลกฺขณานิ จ ฯ

ก็อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ พึงตั้งอยู่แล้วโดยลำดับแห่งลักษณะ ๓ ดังที่กล่าวนี้นั่นเทียว

มีความหมายว่า อนิจจลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน ไม่ตั้งอยู่ได้ตลอดกาล โดยมีความเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปในที่สุด (อุปฺปาทวย ปวตฺตน), โดยความแปรปรวน (วิปริณาม), โดยเป็นของชั่วคราว (ตาวกาลิก), โดยต้านกับความเที่ยง (นิจฺจปฏิกฺเขป)

ทุกขลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ทนอยู่ไม่ได้ จำต้องเสื่อมสลายสิ้นไป, โดยความบีบคั้นอยู่เสมอ (อภิญฺหสมฺปฏิปฬน), โดยความทนได้ยาก (ทุกฺขม), โดยเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ (ทุกฺขวตฺถุ), โดยต้านกับความสุข (สุขปฏิกฺเขป)

อนัตตลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ว่างเปล่าจากตัวตน ที่ไม่ใช่ตัวตน จึงบังคับบัญชาไม่ได้ จะให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาก็ไม่ได้ โดยความเป็นของสูญ (ว่างเปล่า สุญฺญต), โดยความไม่มีเจ้าของ (อสฺสามิก), โดยไม่มีสิ่งอะไรที่จะพึงทำตาม (อวสวตฺตน), โดยค้านกับอัตตา (อตฺตปฏิกฺเขป)

ไตรลักษณ์นี้เป็นลักษณะสามัญตามธรรมดาที่ธรรมชาติแห่งรูปนามที่เป็นสังขารทั้งหลายจะต้องเป็นไปอย่างนี้นั่นเทียว ถ้ากล่าวโดยพิสดารแล้ว อนิจจะมีลักษณะ ๑๐ ประการ ทุกขะมีลักษณะ ๒๕ ประการ อนัตตะ
มีลักษณะ ๕ ประการ รวมเป็น ๔๐ ประการ เมื่อปรับเข้ากับขันธ์ ๕ ก็เป็นไตรลักษณ์ ถึง ๒๐๐ ประการ คือ รูปขันธ์ ๔๐ ประการ เวทนาขันธ์ ๔๐ ประการ สัญญาขันธ์ ๔๐ ประการ สังขารขันธ์ ๔๐ ประการ และวิญญาณขันธ์ ๔๐ ประการ รวมเป็น ๒๐๐ ประการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ย. 2013, 09:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


อนิจจลักษณะ ๑๐

๑. อนิจฺจโต ไม่เที่ยง
๒. อทฺธุวโต ไม่ยั่งยืน
๓. อสารกโต ไม่เป็นแก่นสาร
๔. จลโต เป็นของหวั่นไหว ยุ่งยาก
๕. ปโลกโต แตกดับ
๖. วิปริณามธมฺมโต เปลี่ยนแปลง กลับกลอก
๗. มรณธมฺมโต เป็นธรรมเพื่อความตาย
๘. วิภวโต เป็นของฉิบหาย
๙. สงฺขตโต เป็นของที่ต้องปรุงแต่งเนือง ๆ
๑๐. ปภงฺคุโต ต้องทำลาย ผุพัง แตกกระจัดกระจายไป

รวม ๑๐ ประการ ๕ ขันธ์ ก็เป็น ๕๐ ทุกขลักษณะ ๒๕ :b24:

๑. ทุกฺขมโต เป็นทุกข์
๒. ภยโต เป็นของน่ากลัว
๓. อีติโต เป็นเสนียดจัญไร
๔. อุปทฺทวโต เป็นอันตราย ระทมทุกข์ อุบาทว์
๕. อุปสคฺคโต เป็นความขัดข้อง
๖. โรคโต เป็นสิ่งเสียดแทง
๗. อาพาธโต เป็นสภาพที่ป่วยไข้
๘. คณฺฑโต เป็นประดุจหัวฝี
๙. สลฺลโต เป็นประดุจศรปักอก
๑๐. อฆโต เป็นสิ่งหาคุณมิได้
๑๑. อตาณโต เป็นสิ่งที่พ้นจากการต้านทาน
๑๒. อเลณโต เป็นสิ่งที่พ้นจากการป้องกัน
๑๓. อสรณโต เป็นสิ่งที่พึ่งไม่ได้
๑๔. อาทีนวโต เป็นสิ่งที่มีแต่โทษ
๑๕. อฆมูลโต เป็นมูลแห่งความทุกข์
๑๖. วธกโต เป็นประดุจเพชฌฆาต
๑๗. สาสวโต เป็นไปเพื่ออาสวะ
๑๘. มารามิสโต เป็นเหยื่อแห่งมาร
๑๙. ชาติธมฺมโต เป็นสิ่งที่ให้เกิด
๒๐. ชราธมฺมโต เป็นสิ่งที่ทำให้แก่
๒๑. พยาธิธมฺมโต เป็นสิ่งที่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย
๒๒. โสกธมฺมโต เป็นสิ่งที่ทำให้เศร้าโศก
๒๓. ปริเทวธมฺมโต เป็นสิ่งที่ทำให้บ่นพร่ำรำพัน
๒๔. อุปายาสธมฺมโต เป็นสิ่งที่ทำให้คับแค้นใจ
๒๕. สงฺกิเลสิกธมฺมโต เป็นสิ่งที่เศร้าหมอง
รวม ๒๕ ประการ ๕ ขันธ์ ก็เป็น ๑๒๕

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ย. 2013, 13:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


อนัตตลักษณะ ๕

๑. อนตฺตโต ไม่ใช่ตัวตน
๒. ปรโต ไม่ใช่เรา เป็นสิ่งอื่น
๓. ริตฺตโต ว่างเปล่าจากตัวเรา
๔. ตุจฺฉโต ว่างเปล่าจากแก่นสาร
๕. สุญฺญโต ว่างเปล่าจากสัตว์จากบุคคล
รวม ๕ ประการ ๕ ขันธ์ ก็เป็น ๒๕

รวมทั้งหมดเป็น ๔๐ ประการ ๕ ขันธ์ ก็เป็น ๒๐๐

ไตรลักษณ์นี้เป็นลักษณะสามัญหรืออาการตามปกติตามธรรมดาของรูปนามที่เป็นสังขาร ดังนั้นก่อนที่จะเห็นไตรลักษณ์ จะต้องรู้จักรูปธรรมและนามธรรมเสียก่อน เพราะรูปธรรมนามธรรมนี่แหละเป็นสิ่งเริ่มต้นแห่งการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน รูปนามที่เป็นกัมมัฏฐานในการเจริญวิปัสสนานั้น เมื่อกล่าวโดยพิสดารแล้วเรียกว่า วิปัสสนาภูมิ คือ พื้นเพในการเจริญวิปัสสนาภาวนา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ย. 2013, 13:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


วิปัสสนาภูมิ

วิปัสสนาภูมิ คือ พื้นเพในการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น มี ๖ ได้แก่

๑.ขันธ์ ๕
๒.อายตนะ ๑๒
๓.ธาตุ ๑๘
๔.อินทรีย ๒๒
๕.ปฏิจจสมุปปาท ๑๒
๖.อริยสัจจ ๔

แต่ข้อ๑ ถึงข้อ ๔ และข้อ ๖ รวม ๕ ข้อนี้ ได้แสดงไว้แล้วในคู่มือปริจเฉทที่ ๗ ส่วนข้อ ๕ ปฏิจจสมุปปาทนั้น ก็ได้กล่าวไว้ในคู่มือปริจเฉทที่ ๘ แล้ว จึงไม่ต้องกล่าวซ้ำในที่นี้อีก

วิปัสสนาภูมิ ๖ นี้ เมื่อย่อลงก็ได้แก่ รูปนาม เท่านี้เอง ชั้นต้นต้องพิจารณาให้เห็นรูปนามก่อน แล้วกำหนดดูจนเห็นปัจจัยที่ให้เกิดรูปนาม ต่อจากนั้นจึงเพ่งให้เห็นแจ้งไตรลักษณ์ว่า รูปนามมีลักษณะที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาว่ากล่าวให้เป็นไปตามใจชอบก็ไม่ได้ เมื่อเพ่งจนเห็นไตรลักษณ์ ก็จะได้ละความเห็นผิด เข้าใจผิด จำผิด ว่ารูปนามเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน ที่พึงบังคับบัญชาได้ ตลอดจนว่าเป็นสิ่งที่สวยงาม การเห็นผิด เข้าใจผิด จำผิดนี้เรียกว่า วิปัลลาสธรรม คือเป็นสิ่งที่วิปลาสคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

วิปัลลาสธรรม

วิปัลลาสธรรม หรือ วิปลาสธรรม คือ เห็นวิปลาสคลาดเคลื่อนไปจากสภาพแห่งความเป็นจริง ซึ่งสภาพแห่งความเป็นจริงนั้น สิ่งทั้งหลาย เป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม เป็นทุกขะ ไม่สุขไม่สบาย เป็นอนิจจะ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่จะพึงบังคับบัญชาว่ากล่าวให้เป็นไปตามใจชอบได้แต่ที่ทำให้เกิดวิปลาสไปโดย

ทิฏฐิวิปลาส วิปลาสไปเพราะเห็นผิด
จิตตวิปลาส วิปลาสไปเพราะเข้าใจผิด
สัญญาวิปลาส วิปลาสเพราะจำผิด
ทิฏฐิวิปลาส วิปลาสไปเพราะเห็นผิด ๔ ประการ คือ เห็นผิดว่าเป็นของสวยของงาม ว่าเป็นสุขสบาย ว่าเป็นของเที่ยงยั่งยืน ว่าเป็นตัวเป็นตน
จิตตวิปลาส วิปลาสไปเพราะเข้าใจผิด ๔ ประการ คือ เข้าใจผิดว่าสวยว่างาม ว่าสุขสบาย ว่าเที่ยงยั่งยืน ว่าเป็นตัวเป็นตน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ย. 2013, 13:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สัญญาวิปลาส วิปลาสไปเพราะจำผิด ๔ ประการ คือ จำผิดว่าสวยว่างาม ว่าสุขสบาย ว่าเที่ยงยั่งยืน ว่าเป็นตัวเป็นตน

ดังนั้น จึงเป็นวิปลาสธรรม ๑๒ ประการด้วยกัน

ความกระทำในใจโดยแยบคายว่า สิ่งทั้งหลาย เป็นอสุภะ ล้วนแต่ไม่สวยไม่งาม สิ่งทั้งหลาย เป็นทุกข์ ล้วนแต่ไม่สุขไม่สบาย สิ่งทั้งหลาย เป็นอนิจจัง ล้วนแต่ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน สิ่งทั้งหลาย เป็นอนัตตา ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวตนที่จะพึงบังคับบัญชาว่ากล่าวให้เป็นไปตามใจชอบได้ การทำใจโดยแยบคาย เช่นนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ

โยนิโสมนสิการ ๔ อย่างนี้ เป็นธรรมที่ตัด ทิฏฐิวิปัลลาส จิตตวิปัลลาส และสัญญาวิปัลลาส เมื่อตัด วิปัลลาสธรรมเหล่านี้ได้ ก็เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เป็นไปเพื่อพระนิพพาน เหตุนี้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า โยนิโสมนสิกาโร ภิกฺขเว มหโต อตฺถาย สํวตฺตติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความกระทำในใจโดยแยบคาย ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันใหญ่หลวง

และทรงแสดงว่า เป็นไปเพื่อปราบวิจิกิจฉา ความสงสัยที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมอันตรธานไป

ว่าเป็นธรรมที่สกัดกั้นอกุสลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ส่วนที่เกิดแล้วก็ย่อมอันตรธานไป

ว่าเป็นธรรมที่ยังกุสลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้ได้เกิดขึ้น กุสลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ให้ตั้งมั่นและเจริญยิ่งขึ้น

ว่าเป็นไปเพื่อทำ สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ให้เจริญมั่นคงยิ่งขึ้น ว่าเป็นธรรมที่ยังโพชฌงค์ อันเป็นองค์เครื่องตรัสรู้ ที่ยังไม่เกิดขึ้นให้ได้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ให้ได้ถึงซึ่งความบริบูรณ์

ว่าเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม เพื่อความไม่ลืมเลือน เพื่อความไม่เสื่อมสูญอันตรธานไป

ถ้าหากมีความประมาท ขาดโยนิโสมนสิการ เป็นอโยนิโสมนสิการ ก็ยังให้ วิปัลลาสธรรม ๑๒ ประการนี้เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ไม่รู้ความจริงของรูปของนามว่า เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ๓ อย่างนี้แหละที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ แต่บุคคลทั่ว ๆ ไปไม่ใคร่แจ้งในไตรลักษณ์ เพราะว่า มีสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์อยู่ มัวแต่เพลิดเพลินในสิ่งที่ปิดบังนั้นเสีย จึงทำให้ไม่ได้มองและมองไม่เห็นไตรลักษณ์

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ย. 2013, 13:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์

ที่เกิดวิปลาส คือ มีความเห็นผิด เข้าใจผิด จำผิดขึ้นก็เพราะไม่แจ้งในไตรลักษณ์ ที่ไม่แจ้งในไตรลักษณ์ ก็เพราะมีสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์อยู่ สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ คือ

๑. สันตติ ปิดบัง อนิจจัง สันตติ คือ ความสืบต่อของรูปนามที่เกิดขึ้นติดต่อกันอย่างรวดเร็วเหลือเกิน จึงทำให้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของนามและของรูป ทำนองเดียวกับที่เห็นแสงไฟที่ธูป ซึ่งแกว่งหมุนเป็นวงกลมอย่างเร็ว ๆ ในที่มืด ๆ จึงทำให้เห็นไปว่าแสงไฟนั้นติดกันเป็นพืด เป็นวงกลมไปเลย ฉะนั้น เมื่อไม่เห็นความเกิดดับ ก็ทำให้เข้าใจผิดไปว่ารูปนามนี้ไม่มีการเกิดดับ เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนเราเขา เป็นของสวยงามน่าชื่นชมยินดี ต่อเมื่อได้กำหนดจนเกิดปัญญาเห็นความดับไปของนามของรูปอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว จึงจะทำลายความวิปลาสที่เห็นว่าเที่ยงว่ายั่งยืน และประหาณ มานะได้

๒. อิริยาบถ ปิดบังทุกข์ อันความทุกขเวทนาทั้งหลาย ตามปกติเป็นส่วนมากนั้นเกิดจากอิริยาบถ เช่น นั่งมากก็เมื่อยเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาแล้วทนอยู่ไม่ได้ เดินมากก็เมื่อยทนไม่ได้ ยืนมากก็ทนไม่ไหว แม้แต่นอนมากก็ลำบากทนอยู่ไม่ได้นานเหมือนกัน อิริยาบถเก่าเป็นทุกข์นั้นย่อมรู้เห็นกันทั่วไปได้โดยง่าย เมื่อนั่งนานก็เมื่อยทนไม่ได้จึงลุกเดิน ก็นึกว่าการเดินนั้นเป็นสุขสบายเพราะหายเมื่อย เดินนานหน่อยก็เหนื่อยทนไม่ได้อีก จึงนอน ก็นึกว่าการนอนนั้นเป็นสุขสบายเพราะหายเหนื่อย คือเห็นว่าอิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่นั้นเป็นสุข เพราะขณะที่เปลี่ยนใหม่ ๆ นี้ ทุกขเวทนายังไม่ทันเกิด แท้จริงอิริยาบถเก่าเป็นทุกข์ อิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่ก็จะเป็นทุกข์อีกเหมือนกัน รวมความว่า หนีทุกข์เก่าไปสู่ทุกข์ใหม่นั้นเอง อิริยาบถเก่านั้นเห็นทุกข์ได้ง่าย เพราะ
ทุกขเวทนากำลังมีอยู่ แต่อิริยาบถใหม่ก็ไม่สามารถพ้นทุกข์ไปได้ จะต้องสำแดงให้ทุกข์ปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอนไม่เร็วก็ช้า

อิริยาบถเก่าที่กำลังมีทุกข์เวทนาอยู่ เป็นที่ตั้งแห่ง โทมนัส อิริยาบถใหม่ที่นึกว่าเป็นสุขนั้นก็เป็นที่ตั้งแห่งตัณหา คือ อภิชฌา แต่ว่าการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เพื่อกำจัดอภิชฌา และโทมนัส ทั้งสองอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นการกล่าวถึงการเห็นทุกขเวทนา ซึ่งผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานย่อมจะเห็นทุกขเวทนาก่อนเป็นเบื้องต้น เพราะทุกขเวทนาเป็นของหยาบ เห็นได้ง่าย ขั้นที่สอง จึงจะเห็นสังขารทุกข์ที่จะต้องถูกเบียดเบียนโดยความเกิดดับอยู่เป็นนิจ ต่อไปก็เห็น ทุกขลักษณะ คือ ความเกิดดับเป็นขั้นที่สาม และจะปรากฏทุกขสัจจเป็นขั้นสุดท้าย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ย. 2013, 13:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ทุกขเวทนา เห็นได้ในอิริยาบถเก่า เห็นสังขารทุกขได้ในอิริยาบถใหม่ เห็นทุกขลักษณะได้เมื่อกำหนดนามรูปจนสันตติขาด และจะเห็นทุกขสัจจ ได้ในสังขารุ เบกขาญาณที่แก่กล้า มีกำลังพอที่จะอนุโลมให้เห็น อริยสัจจ ทั้ง ๔ ได้ เมื่อเห็นทุกข์ ก็ทำลายวิปัลลาสธรรมที่เห็นว่าสุขว่าสบายนั้นได้ และประหาณตัณหาลงได้

๓. ฆนสัญญา ปิดบังอนัตตา ฆนสัญญา คือ ความสำคัญว่าเป็นก้อน เป็นแท่ง ความสำคัญว่าเป็นก้อนเป็นแท่งนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นคนเป็นสัตว์ ที่ว่าเป็นคนก็สำคัญเอาหมดทั้งก้อนหมดทั้งแท่งนี้ว่าเป็นคน ถ้าย่อยก้อนนี้แท่งนี้ออกไปแล้ว ก็จะมีแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้นเอง หาสิ่งที่เป็นคนเป็นตนเป็นตัวนั้นไม่มีเลย ถ้ายังถือทั้งก้อนทั้งแท่งว่าเป็นคนอยู่ ก็ย่อมจะเข้าใจผิดไปว่าเป็นของเที่ยง เพราะยั่งยืนอยู่นับสิบ ๆ ปี เป็นสุข เป็นสาระ สวยงามน่ารักน่าใคร่ เมื่อเห็นอนัตตา ก็ทำลายวิปลาสว่า เป็นตัวเป็นตนบังคับบัญชานั้นได้ และประหาณทิฏฐิลงได้

การทำลายสิ่งที่ปกปิดไตรลักษณ์ เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์นั้น มีวิธีเดียว คือ การกำหนดเพ่งรูปนามตามวิธีที่เรียกว่า เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่กำลังศึกษาอยู่บัดนี้

อนุปัสสนา

อนุปัสสนา แปลว่า ตามเห็น ตามดูให้เห็นแจ้ง หรือดูบ่อย ๆ ซึ่งก็มี ๓ อย่างเหมือนกัน ดังมีคาถาที่ ๑๖ แสดงว่า

๑๖. อนิจฺจานุปสฺสนา จ ตโต ทุกฺขานุปสฺสนา
อนตฺตานุปสฺสนา ติ ติสฺโส อนุปสฺสนา ฯ

แต่นั้นพึงทราบ อนุปัสสนา ๓ คือ อนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนา อนัตตานุปัสสนา

มีความหมายว่า พระโยคาวจร ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีความเพียร หมั่นตั้งสติ มีสมาธิมั่นคง ไม่เผลอ บังเกิดปัญญา เห็นแจ้งรูปธรรม นามธรรม มีความเกิดดับเป็นลักษณะ ปรากฏให้เห็นตามความเป็นจริงแห่งสภาวธรรมว่า

เป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง จึงต้องดับไป ๆ
เป็น ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ จึงต้องดับไป ๆ
เป็น อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ จึงต้องดับไป ๆ
อยู่ทุกขณะ ต่อแต่นี้ไปพระโยคาวจรพึงพิจารณาด้วยปัญญา ตามเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่าง คือ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ย. 2013, 13:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


๑. อนิจจานุปัสสนา ตามเห็นรูปธรรมนามธรรมที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ ว่าไม่เที่ยง เหมาะใจในการดูอนิจจัง เพราะบุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วย สีล

๒. ทุกขานุปัสสนา ตามเห็นรูปธรรมนามธรรม ที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ ว่าทนอยู่ไม่ได้ เหมาะใจในการดูทุกขัง เพราะบุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วย สมาธิ

๓. อนัตตานุปัสสนา ตามเห็นรูปธรรมนามธรรม ที่เกิดดับอยู่ทุกขณะว่า บังคับบัญชาไม่ได้ เหมาะใจในการดูอนัตตา เพราะบุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วย ปัญญา

การกำหนดจนเห็นไตรลักษณ์นี้ ย่อมเห็นแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะเห็นทั้ง ๓ อย่าง เมื่อเห็นอย่างใดก็ได้ชื่อว่า เห็นแจ้งทั้ง ๓ อย่าง เพราะทั้ง ๓ อย่างนี้มีลักษณะที่สมคล้อยกัน กล่าวคือ

เพราะไม่เที่ยง จึงทนอยู่ไม่ได้ ที่ทนอยู่ไม่ได้ก็เพราะไม่เที่ยง ถ้าเที่ยงก็ทนอยู่ได้ ถ้าทนอยู่ได้ก็ถือว่าเที่ยงได้ ที่ไม่เที่ยงทนอยู่ไม่ได้ ก็เพราะบังคับบัญชาว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าบังคับบัญชาว่ากล่าวได้ ก็จะบังคับบัญชาให้เที่ยงให้ทนอยู่ได้

เมื่อเห็นลักษณะใด ก็ตามดูลักษณะนั้นเรื่อยไป และนับตั้งแต่ได้เห็น ไตรลักษณ์ แห่งรูปนามเป็นต้นไป ได้ชื่อว่ามีปัญญาถึงขั้น วิปัสสนาญาณ แล้ว

วิปัสสนาญาณ

วิปัสสนาญาณ คือ ปัญญาที่กำหนดดูจนรู้แจ้ง ไตรลักษณ์ มีจำนวน ๑๐ ญาณ (ในจำนวนญาณทั้งหมด ๑๖ ญาณ) ดังมีคาถาที่ ๑๗ ที่ ๑๘ แสดงว่า

๑๗. กลาปโต สมฺมสน อุทยพฺพยทสฺสนํ
ภงฺคญฺญาณํ ภยญฺญาณํ ตถาทีน วนิพฺพิทา ฯ

๑๘. มุญฺจิตุกมฺยตาญาณํ ปฏิสงฺขา นุปสฺสนา
สงฺขารุเปกฺขานุโลม มิจฺจานุกฺกมโต ฐิตา
ทเสมานิ วิปสฺสนา ญาณานีติ ปเวทิยา ฯ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ย. 2013, 13:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเบกขาญาณ และ อนุโลมญาณ ตั้งอยู่แล้วโดยลำดับกันดังนี้ พึงทราบว่าทั้ง ๑๐ ญาณนี้ชื่อว่า วิปัสสนาญาณ

มีความหมายว่า พระโยคีผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนมีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ย่อมเป็นไปตามลำดับแห่งวิปัสสนาญาณ มีจำนวน ๑๐ ญาณ มีรายชื่อของแต่ละญาณดังที่กล่าวข้างบนนี้

แต่อีกนัยหนึ่ง ก็แสดงว่า วิปัสสนาญาณ มีเพียง ๙ โดยไม่นับสัมมสนญาณด้วย หากนับตั้งแต่อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไป จนถึงอนุโลมญาณ ดังจะเห็นได้ในคาถาที่ ๒๗ ต่อไปข้างหน้า

วิโมกข และวิโมกขมุข

วิโมกข มีวิเคราะห์ศัพท์ว่า ปฏิปกฺขโต วิมุจฺจตีติ วิโมกฺโข ได้รอดพ้นจากกิเลส ซึ่งเป็นปฏิปักษ์
ฉะนั้นจึงเรียกว่า วิโมกข เลยแปลกันให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า หลุดพ้น ขาดจากความพัวพันแห่งโลก วิโมกข ก็มี ๓ เช่นเดียวกัน ดังมีคาถาที่ ๑๙ แสดงว่า

๑๙. สุญฺญโต อนิมิตฺโต จ ตถาปฺปณิหิโตปิ จ
ตโย เม วิโมกฺเข วตฺตา ติสฺโส จ อนุปสฺสนา
วิโมกฺขตฺตยวิโมกฺข มุกฺขตฺเตย หิ สญฺฐิตา ฯ

วิโมกข ๓ ประการเหล่านี้ คือ สุญญตวิโมกข อนิมิตตวิโมกข อัปปณิหิตวิโมกข อันพระพุทธองค์ทรงตรัสแล้ว ส่วนอนุปัสสนา ๓ อย่างนั้น ตั้งอยู่แล้วใน วิโมกขมุข ๓ คือ วิโมกข ๓ นั้นแล

มีความหมายว่า เมื่อกำหนดจนเกิดปัญญารู้เห็นว่า รูปนามนี้เป็น อนิจจัง ก็ให้ตามเห็นอนิจจัง นั้น การตามเห็น อนิจจัง นี้เรียกว่า อนิจจานุปัสสนา อนิจจานุปัสสนานี้แหละ ที่ได้ชื่อว่า วิโมกขมุข คือ บ่ายโฉมหน้าในการหลุดพ้นด้วยการตามเห็น อนิจจัง และเพราะว่าได้บ่ายโฉมหน้า เพื่อให้หลุดพ้นด้วยการตามเห็น อนิจจัง อันไม่มีนิมิตเครื่องหมาย จึงได้ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกขมุข เมื่อบ่ายโฉมหน้าตามเห็น อนิจจัง จนถึงซึ่งความหลุดพ้นก็ได้ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข คือ พ้นด้วยการดับอนิจจัง ปราศจากนิมิตเครื่องหมายใด ๆ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ย. 2013, 13:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อกำหนดจนเกิดปัญญา รู้เห็นว่ารูปนามนี้เป็นทุกขัง ก็ให้ตามเห็นทุกขังนั้น การตามเห็นทุกขังนี้เรียกว่า ทุกขานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนานี้แหละที่ได้ชื่อว่า วิโมกขมุข คือบ่ายโฉมหน้าในการหลุดพ้นด้วยการตามเห็นทุกขัง และเพราะว่าได้บ่ายโฉมหน้าเพื่อให้หลุดพ้นด้วยการตามเห็น ทุกขัง อันหาเป็นปณิธิที่ตั้งแห่งตัณหาไม่ได้ จึงได้ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกขมุข ครั้นถึงซึ่งความหลุดพ้นก็ได้ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข คือพ้นด้วยการดับทุกข์ ว่างจากกิเลส

ในทำนองเดียวกัน เมื่อกำหนดจนเกิดปัญญารู้เห็นว่า รูปนามนี้เป็น อนัตตา ก็ให้ตามเห็นอนัตตานั้น การตามเห็น อนัตตา นี้เรียกว่า อนัตตานุปัสสนา อนัตตานุปัสสนานี่แหละที่ได้ชื่อว่าวิโมกขมุข คือ บ่ายโฉมหน้าในการหลุดพ้น ด้วยการตามเห็น อนัตตา การบ่ายโฉมหน้าเพื่อให้หลุดพ้น ด้วยการตามเห็น อนัตตา อันเป็นความว่างเปล่าจากตัวตน จึงได้ชื่อว่า สุญญตวิโมกขมุข ครั้นถึงซึ่งความหลุดพ้น ก็ได้ชื่อว่า สุญญตวิโมกข เป็นการพ้นด้วยการดับสูญแห่งอัตตา

การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ได้กล่าวความที่ควรทราบเป็นเบื้องต้น สำหรับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือการเจริญวิปัสสนาภาวนามาพอควรแล้ว บัดนี้จะได้ กล่าวถึงหลักการ ในการเจริญวิปัสสนา อย่างกว้างๆ แต่โดยย่อ ตามนัยแห่งปริยัติ ไม่ใช่เป็นการกล่าวโดยละเอียด เหมือนกับการ กล่าวถึงวิธีการ อย่างถ้วนถี่ ตามนัยแห่งการปฏิบัติ โดยตรง ผู้ประสงค์จะทราบวิธีการปฏิบัติอย่างพิสดาร จะต้องหาความรู้เป็นพิเศษอีกต่างหาก จากคู่มือเล่มนี้ เพราะหนังสือคู่มือเล่มนี้จะกล่าวถึงหลักการแต่โดยย่อเท่านั้น การเจริญวิปัสสนาภาวนา ต้องเริ่มต้นตั้งแต่
สีลวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิมัคค ลำดับที่ ๑ เป็นต้นไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 168 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9 ... 12  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร