ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=46862
หน้า 8 จากทั้งหมด 17

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 10 มิ.ย. 2014, 05:01 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่องมาร

มาร แปลว่า ผู้ฆ่า ผู้ทำให้ตาย หมายถึงผู้ขัดขวาง
มิให้กระทำความดีโดยสะดวก ผู้ขจัดความดีที่มีอยู่ในตัวบุคคลตลอดไป
ในพระพุทธศาสนามารแบ่งได้ ๕ ประเภท คือ

๑. ขันธมาร คือ ร่างกายและจิตใจของเรา ซึ่งบกพร่องแล้วเป็นมารผลาญตัวเอง
ในแง่ของมารหมายถึง ขันธ์ที่คอยกีดขวางการทำความดี เช่น ต้องการฟังธรรมะ แต่หูหนวก
ไม่สามารถฟังธรรมได้ เป็นต้น
๒. กิเลสมาร คือ กิเลสซึ่งทำให้เรามีความประพฤติ และนิสัยไม่ดีต่างๆ ในแง่ของมารหมายถึง
กิเลสที่คอยขัดขวางไม่ให้เราทำความดี
๓. อภิสังขารมาร อภิสังขารคือความคิดนึกอันประกอบกับอารมณ์
เป็นมารเพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม ทำให้เกิดชาติชรา เป็นต้น
ขัดขวางไม่ให้หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ
๔. มัจจุมาร คือ ความตายที่ตัดโอกาสการทำความดีของเรา
๕. เทวบุตรมาร เทวดาที่เป็นมาร เช่น ท้าววสวัตตี
จอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เป็นต้น

ไฟล์แนป:
1801.jpg
1801.jpg [ 82.39 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 10 มิ.ย. 2014, 05:29 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่องมิจฉาทิฎฐิ

มิจฉาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง
เมื่อแยกบทแล้ว ได้ ๒ บท คือ

มิจฉา แปลว่า วิปริต
ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น

เมื่อรวมกันแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ แปลว่าความเห็นที่วิปริต
หมายถึง ความเห็นที่ผิดแผกไปจากความเป็นจริง ดังวจนัตถะแสดงว่า

มิจฺฉาปสฺสตีติ - มิจฺฉาทิฏฐิ

แปลความว่า "ธรรมชาติใด ย่อมมีความเห็นที่วิปริตผิดไปจากความเป็นจริง
ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า มิจฺฉาทิฏฐิ"
เรื่องมิจฉาทิฏฐินี้ พระพุทธองค์แสดงไว้อย่างกว้างขวาง มีสักกายทิฏฐิ
ความเห็นผิดที่ยึดมั่นในขันธ์ ๕ ว่า เป็นเรา.
สำหรับมิจฉาทิฏฐิในมโนทุจริตนี้ มุ่งหมายเอา"นิยตมิจฉาทิฏฐิ" ๓ ประการ
อันเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหยาบ ที่ให้สำเร็จเป็นอกุศลกรรมบทได้
ส่วนมิจฉาทิฏฐิอย่างอื่นนั้น เป็นเพียงทิฏฐิสามัญเท่านั้น

นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ประการ คือ

๑. นัตถิกทิฏฐฺ มีความเห็นว่า ทำอะไรก็ตาม ผลที่พึงได้รับนั้น
ย่อมไม่มีความเห็นผิดชนิดนี้ จัดเป็นอุจเฉททิฏฐิด้วย คือ เห็นว่า สัตว์ทั้งหลาย
ตายแล้วก็สูญไป ไม่มีการเกิดอีก ในสามัญผลสูตร แสดงความเห็นผิด
ชนิดที่เป็น นัตถิกทิฏฐินี้ว่า ได้มาจากความเห็นผิด ๑๐ อย่าง คือ

๑. เห็นว่า การให้ทานไม่ได้รับผลแต่อย่างใด
๒. เห็นว่า การบูชาต่างๆ ไม่ได้รับผล
๓. เห็นว่า การต้อนรับเชื้อเชิญไม่ได้รับผล
๔. เห็นว่า การทำดี ทำชั่วไม่ได้รับผลแต่อย่างใด
๕. เห็นว่า ผู้มาเกิดในภพนี้ไม่มี
๖. เห็นว่า ผู้ไปเกิดในภพหน้าไม่มี
๗. เห็นว่า คุณมารดาไม่มี
๘. เห็นว่า คุณบิดาไม่มี
๙. เห้นว่า สัตว์ที่ผุดเกิดเติบโตในทันที คือ สัตว์นรก เปรต เทวดา พรหม ไม่มี
๑๐. เห็นว่า สมณะพราหมณ์ ที่รู้แจ้งโลกนี้ และโลกหน้าด้วยตนเอง และสามารถแนะนำชี้แจง
สมณะพราหมณ์ ที่ถึงพร้อมความสามัคคี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ นั้นไม่มี

ผู้มีนัตถิกะทิฏฐินี้ มีความเห็น"ปฏิเสธผล" ซึ่งเท่ากับปฏิเสธอำนาจกุศล
อกุศลเจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดผลต่างๆด้วย

๒. อเหตุกทิฏฐิ คือผู้ที่มีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่กำลังได้รับความลำบาก
หรือความสบายก็ตาม ไม่ได้อาศัยเหตุใดๆ ให้เกิดขึ้นเลย เป็นไปเองทั้งนั้น ในสามัญผลสูตร
แสดงว่า ชนกเหตุ คือเหตุให้เกิด และอุปถัมภกเหตุ คือ เหตุช่วยอุปถัมภ์ ให้สัตว์ทั้งหลาย
มีความเศร้าหมอง ลำบากกาย ลำบากใจนั้นไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่กำลังเศร้าหมอง
และลำบากอยู่นั้น ก็ไม่มีชนกเหตุ และอุปถัมภกเหตุแต่อย่างใด เหตุที่ทำให้สัตว์ทั้งหลาย
มีความบริสุทธิ์ หลุดพ้นจากความลำบากกาย ลำบากใจนั้นไม่มี และสัตว์ทั้งหลายที่มีความบริสุทธิ์
พ้นจากความลำบากกายใจได้นั้น ไม่เกี่ยวกับชนกเหตุ และอุปถัมภกเหตุแต่อย่างใด

ผู้มีอเหตุกทิฏฐินี้ มีความเห็น"ปฏิเสธเหตุ"ไม่เชื่อว่ากรรมดี หรือกรรมชั่วที่สัตว์ทั้งหลาย
ได้กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลได้ ผู้ที่ปฏืเสธเหตุ เท่ากับเป็นการปฏิเสธเหตุ
และผล ดังสามัญผลสูตร อรรถกถาว่า "ผู้ที่เห็นว่า ความสุขทุกข์ ของสัตว์ทั้งหลายนั้น
ไม่เกี่ยวเนื่องมาจากเหตุ ก็เท่ากับว่า เป็นการปฏิเสธเหตุ และผล ไปพร้อมกันด้วย"

๓. อกิริยทิฏฐิ มีความเห็นว่า การกระทำต่างๆของสัตว์ทั้งหลายนั้น ไม่สำเร็จเป็นบาป
บุญแต่ประการใด ในสามัญผลสูตรแสดงว่า

ผู้ที่มีความเห็นผิดชนิดอกิริยทิฏฐิ เห็นว่า การทำดี ทำชั่วของสัตว์ทั้งหลาย
จะทำเองก็ตาม ใช้ให้ผู้อื่นทำก็ตาม ไม่ได้ชื่อว่าเป็นบุญ บาป หรือฆ่สัตว์ด้วยตนเอง
หรือใช้ให้ผู้อื่นทำก็ตาม ลักทรัพย์ด้วยตนเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นลักทรัพย์ก็ตาม ไม่ได้ชื่อว่าเป็นบุญ บาป

ความเห็นผิดชนิดอกิริยทิฏฐินี้ เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกรรม อันเป็นตัวเหตุ
ฉะนั้นจึงเท่ากับว่า ปฏิเสธผลของกรรมด้วย ดังในสามัญผลสูตร อรรถกถาแสดงว่า

"เมื่อปฏิเสธการการทำบาป บุญที่เป็นตัวเหตุแล้ว ก็เท่ากับปฏิเสธผลของการทำบาป บุญนั้นด้วย"

นิยตมิจฉาทิฏฐินี้ เป็นความเห็นผิดชนิดที่สามารถส่งผล ให้เกิดใน"นิรยภูมิ"อย่างแน่นอน
แม้พระพุทธองค์ก็โปรดไม่สำเร็จ (นิรยภูมิ - สัตว์นรก)

(คัดจากหนังสือ พระอภิธรรมมัตถสังคหะ)

ไฟล์แนป:
6131-2.gif
6131-2.gif [ 26.65 KiB | เปิดดู 4244 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 10 มิ.ย. 2014, 05:47 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่องมุฑิตา

มุทิตา แปลว่า ความยินดี, ความเป็นผู้มีความยินดี

มุทิตา หมายถึงความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คือเมื่อผู้อื่นได้รับความสำเร็จ
มีความสุขความเจริญก้าวหน้า ก็พลอยชื่นชมยินดีในสิ่งที่เขาได้รับ ไม่มีความอิจฉาริษยา
ในความสำเร็จของเขา ด้วยการพูดแสดงความยินดีบ้าง ส่งบัตรอวยพรไปแสดงความยินดีบ้าง
มอบของขวัญมอบกระเช้าดอกไม้แสดงความยินดีบ้างเป็นต้น

ลักษณะของผู้มีมุทิตา คือเป็นคนไม่ริษยา ยอมรับในความดีและความสำเร็จของคนอื่น
แสดงความชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของคนอื่นได้ด้วยความเต็มใจ

มุทิตา เป็นคุณธรรมของผู้ใหญ่และเป็นหลักที่ผู้ใหญ่พึงประพฤติ
มุฑิตา เป็นธรรมข้อที่ ๓ ในพรหมวิหาร ๔ เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่งเรียกว่าอัปปมัญญา
จะเป็นจะกำจัด อรติ ความไม่ยินดี ความขึ้งเคียด ความอิจฉาริษยาลงได้

ไฟล์แนป:
segment_regular_21p9FARCUVQ.png
segment_regular_21p9FARCUVQ.png [ 280.99 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 11 มิ.ย. 2014, 06:53 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่องมุสาวาท

มุสาวาท แปลว่า การพูดเท็จ หมายถึง การพูดโกหก พูดหลอกลวงให้หลงเชื่อ
รวมถึงการพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดคำเพ้อเจ้อไว้สาระด้วย

การกระทำที่จะเป็นมุสาวาทจะต้องครบองค์ ๔ คือ

๑. เรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง
๒. มีจิตคิดพูดให้เคลื่อนจากความเป็นจริง
๓. พยายามพูดเรื่องนั้น
๔. ผู้ถูกโกหกเข้าใจเรื่องตามที่พูดนั้น

การกระทำมุสาวาทถือว่าเป็นการละเมิดศีล แสดงถึงความเป็นคนไร้สัจจะ
ไม่รับผิดชอบคำพูด เป็นเหตุให้ผู้กระทำมัวหมอง เป็นเหตุก่อเวรภัย มีโทษถึงตกนรก
และส่งผลทำให้เกิดเป็นใบ้ หาคนที่จริงใจด้วยได้ยากในทุกภพทุกชาติ

มุสาวาท ที่ครบองค์แห่งกรรมบท ทั้ง ๔ ประการนี้ แม้ไม่ทำความเสียหาย ให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น
ที่หลงเชื่อก็ล่วงกรรมบท ฉะนั้น มุสาวาทที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๔ จึงมี ๒ ชนิดคือ

๑. มุสาวาท ชนิดไม่นำไปสู่อบาย ได้แก่ มุสาวาทที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๔
แต่มิได้ทำความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ผู้หลงเชื่อ มุสาวาทชนิดนี้
ถือว่า ล่วงกรรมบท เหมือนกัน เพราะมีองค์ประกอบครบถ้วน
แต่ไม่มีผลเสียหายร้ายแรง แก่ผู้ใด จึงไม่นำไปสู่อบายภูมิได้

๒. มุสาวาท ชนิดที่นำไปสู่อบายได้ ได้แก่ มุสาวาทชนิดที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๔
และทำความเสียหายให้แก่ผู้หลงเชื่อ ย่อมเป็นมุสาวาทที่ล่วงกรรมบท นำไปสู่อบายภูมิได้

ปโยคะ ของมุสาวาทมี ๔ ประการ คือ

๑. สาหัตถิกะ พยายามมุสาวาทด้วยตนเอง
๒. อาณัตติกะ ใช้ให้ผู้อื่นมุสา
๓. นิสสัคคิยะ เขียนเรื่องราวที่ไม่จริง ส่งให้ผู้อื่น เช่น ส่งจดหมาย บัตรสนเท่ห์ หรือประกาศทางวิทยุ
๔. ถาวระ เขียนเรื่องที่ไม่จริงประกาศไว้ พิมพ์เป็นหนังสือ หรืออัดเสียงไว้ เป็นต้น

แสดงมุสาวาทที่เป็นศีลวิบัติ กับมุสาวาทที่ล่วงกรรมบท
ถ้ามุสาวาทไม่ครบองค์ประกอบทั้ง ๔ แต่มีองค์ประกอบเพียง ๒ ประการคือ

มีจิตคิดจะมุสา และปโยคะ พยายามมุสาด้วยกาย หรือวาจาแล้ว จะเป็นคฤหัสถ์
หรือบรรพชิตก็ตาม ย่อมสำเร็จเป็น "ศีลวิบัติ" เท่านั้น ไม่เป็นการก้าวล่วงถึงกรรมบท
แต่ถ้าครบองค์ทั้ง ๔ ก็เป็นอันสำเร็จกรรมบท

มุสาวาทที่ทำให้ผู้หลงเชื่อเกิดความเสียหายนั้น ถ้าได้รับความเสียหายมาก มุสาวาทนั้น
ก็มีโทษมาก ถ้าเสียหายน้อยก็มีโทษน้อย เช่น...

ผู้ที่เป็นพยานเท็จ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับโทษ ประหารชีวิต จำคุก
หรือได้รับความเสียหายในทรัพย์สิน จัดเป็นมหาสาวัชชะ คือ มีโทษมาก

ผู้ได้รับแจกเงิน ถูกผู้อื่นถามถึงจำนวนเงินที่ได้รับ แกล้งตอบว่า ได้รับมา ๒๐๐ บาท
ซึ่งความจริงได้รับแจกมาเพียง ๑๒๐ บาทเท่านั้น เช่นนี้จัดเป็น อัปปสาวัชชะ คือมีโทษน้อย

(คัดจาก หนังสือพระอภิธรรมมัตถะสังคหะ)

ไฟล์แนป:
aluminum-ladders-687x1030.png
aluminum-ladders-687x1030.png [ 53.38 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 12 มิ.ย. 2014, 17:07 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่องโมหะ

โมหะ แปลว่า ความหลง ความเขลา ความโง่
หมายถึง ความไม่รู้ตามที่เป็นจริง เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง
ในบรรดากิเลสใหญ่ 3 อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งได้แก่อวิชชา นั่นเอง

โมหะ เป็นอกุศลมูล เป็นต้นเหตุของความชั่ว

โมหะ เกิดจากความคิดเห็นที่ผิด จากการไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้ประจักษ์ในเรื่องนั้นๆ
ให้ถ่องแท้ถี่ถ้วนก่อน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุให้ไม่รู้บุญไม่รู้บาป ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาป
ชักนำให้ไปทำความชั่วความไม่ดีต่างๆ เช่น ประมาท ทะเลาะวิวาท แก่งแย่งชิงดี อวดดี
เกียจคร้าน บ้ากาม อกตัญญู เชื่อง่าย หูเบา โมหะ กำจัดได้ด้วยปัญญา
คือใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นประจักษ์ในสิ่งนั้นๆ

ธรรมที่อยู่กลุ่มเดียวกับโมหะมีอีก 3 อย่าง
เมื่อนับรวมกับโมหะจึงเรียกว่า โมจตุกะ ได้แก่

โมหะ เป็นความหลง หรือธรรมชาติที่ปิดความจริงของอารมณ์
อหิริกะ เป็นธรรมชาติที่ไม่ละอายในการทำผิดทางกาย วาจา ใจ
อโนตตัปปะ เป็นธรรมชาติที่ไม่กลัวเกรงต่อผลของบาป
อุทธัจจะ เป็นความฟุ้งซ่านหรือธรรมชาติที่จับอารมณ์ไม่มั่น

ไฟล์แนป:
216-2163509_chinese-dragon-free-png-transparent-chinese-dragon-png.png
216-2163509_chinese-dragon-free-png-transparent-chinese-dragon-png.png [ 709.54 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 15 มิ.ย. 2014, 06:16 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง โยนิ

โยนิ แปลว่า กำเนิด หมายถึงที่เกิด ที่ให้กำเนิดสัตว์
โยนิ มี ๔ ประเภท คือ

๑.ชลาพุชะ ประเภทเกิดในครรภ์ ได้แก่สัตว์ที่เกิดอยู่ในครรภ์ก่อนแล้วคลอดออกมาเป็นตัว
เช่นมนุษย์ สัตว์บางประเภท เป็นต้นว่า โค กระบือ ม้า เสือ ปลาวาฬ ปลาโลมา
๒.อัณฑชะ ประเภทเกิดในไข่ ได้แก่สัตว์ดิรัจฉานบางประเภทที่เกิดในฟองไข่ก่อนแล้ว
ฟักออกมาเป็นตัว เช่น ไก่ เป็ด นก มด เต่า กบ เป็นต้น
๓.สังเสทชะ ประเภทเกิดในเถ้าไคล ได้แก่สัตว์ที่เกิดในของสกปรกโสมม
เช่น หนอน ยุง แมลงบางชนิด
๔.โอปปาติกะ ประเภทผุดขึ้น ได้แก่พวกที่เกิดเป็นตัวตนเลย คือ เทวดา สัตว์นรก


โยนิ (แก้ความกำกวม)
โยนิ หรือ โยนี อาจหมายถึง
โยนิ สัญญลักษณ์ของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงตามความชื่อฮินดูโบราณ
โยนิ (ศาสนาพุทธ) กำเนิดทั้งสี่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายตามความเชื่อของพุทธศาสนา
โยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคายในพุทธศาสนา

ไฟล์แนป:
Carriage-Transparent-Image-png.png
Carriage-Transparent-Image-png.png [ 232.02 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 16 มิ.ย. 2014, 06:23 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่องโยนิโสมนสิการ

โยนิโส มาจาก "โยนิ" แปลว่า เหตุ ต้นเค้า แหล่งเกิด ปัญญา อุบาย วิธี ทาง
มนสิการ หมายถึง การทำในใจ การคิด คำนึง นึกถึง ใส่ใจ พิจารณา

ดังนั้น "โยนิโสมนสิการ" จึงหมายถึง การทำในใจให้แยบคาย หรือ การพิจารณาโดยแยบคาย
กล่าวคือ ความเป็นผู้ฉลาดในการคิด คิดอย่างถูกวิธีถูกระบบ พิจารณา ไตร่ตรองสาวไปจนถึงสาเหตุ
หรือต้นตอของเรื่องที่กำลังคิด คือคิดถึงรากถึงโคนนั่นเอง แล้วประมวลความคิดรอบด้าน
จนกระทั่งสรุปออกมาได้ว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควร ดีหรือไม่ดี

โยนิโสมนสิการ เป็นวิถีทางแห่งปัญญา เป็นธรรมสำหรับกลั่นกรองแยกแยะข้อมูล
หรือแหล่งข่าวหรือที่เรียก "ปรโตโฆสะ" อีกชั้นหนึ่ง กับทั้งเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดชอบ
หรือ "สัมมาทิฐิ" ทำให้มีเหตุผล และไม่งมงาย

ไฟล์แนป:
wagon-5206946_1280.png
wagon-5206946_1280.png [ 195.86 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 16 มิ.ย. 2014, 06:58 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง ราคะ - ราคจริต

ราคะ แปลว่า ความกำหนัดยินดี, ความพอใจ, ความติดใจ
จริต แปลว่า ความประพฤติ, พฤติกรรมปกติ หมายถึง ความประพฤติ
ที่ติดต่อสืบเนื่องมานานจนเป็นเรื่องปกติของผู้นั้น ใช้ว่า จริยา ก็ได้

ราคจริต หมายถึงพฤติกรรมของคนที่มีราคะเป็นปกติ คือรักสวยรักงาม
มีกิริยาคือ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้นที่เรียบร้อย นิ่มนวล ชอบสะอาด ทำกิจต่างๆ
ไม่รีบร้อน ชอบกินของที่บรรจงจัด ชอบของหวาน มีอารมณ์สุนทรีย์ ดูอะไรก็ดูนาน
ละเอียดพิเคราะห์ อุปนิสัยเป็นคนเจ้าเล่ห์ ถือตัว แง่งอน ชอบอวด ชอบยอ
อยากได้หน้า ราคจิตแก้ได้ด้วยการพิจารณากายคตาสติ หรือ อสุภกรรมฐาน

ไฟล์แนป:
75731436-businessman-standing-on-rock-in-the-middle-of-the-ocean-covering-head-with-umbrella-risk-and-safety-.jpg
75731436-businessman-standing-on-rock-in-the-middle-of-the-ocean-covering-head-with-umbrella-risk-and-safety-.jpg [ 65.91 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 16 มิ.ย. 2014, 07:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง รูป

รูป แปลว่า สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม สิ่งที่แตกสลาย
ทนในสภาพเดิมไม่ได้สิ่งที่แปลผันได้ หมายถึง รูปที่เห็นได้ด้วยตา
สัมผัสด้วยร่างกาย หรือตัวตนของคน สัตว์ สิ่งของ ต่างๆ

รูป แบ่งได้ ๒ ส่วน ตามหลักพระอภิธรรม คือ
๑. ส่วนที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เรียกว่ามหาภูตรูป ๔
๒. ส่วนที่อาศัยของร่างกาย เช่น ประสาทสัมผัส ชีวิต อาหาร ความเป็นหญิง ชาย
เรียกว่า อุปาทายรูป ๒๔ (รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔)

รูป ทั้งหมดรวม ๒๘ รูป ได้ขันธ์ ๑ ในจำนวนขันธ์ ๕ (ดูเรื่องขันธ์)
รูปที่กล่าวถึงนี้มิได้หมายถึงภาพถ่าย ภาพเขียน ดังที่ตามความหมายของชาวโลกทั่วๆไป

ไฟล์แนป:
collection-หีบพระธรรม.jpg
collection-หีบพระธรรม.jpg [ 80.36 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ปลีกวิเวก [ 17 มิ.ย. 2014, 08:53 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

:b8: อนุโมทนาค่ะคุณลุง..เข้ามาอ่านอยู่เรื่อยๆ คุณลุงลงภาพประกอบเข้ากับเนื้อหาและสวยงามดีค่ะ

ไฟล์แนป:
9MNAmX-sky-and-clouds-transparent-image.png
9MNAmX-sky-and-clouds-transparent-image.png [ 112.78 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 18 มิ.ย. 2014, 06:20 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

ปลีกวิเวก เขียน:
:b8: อนุโมทนาค่ะคุณลุง..เข้ามาอ่านอยู่เรื่อยๆ คุณลุงลงภาพประกอบเข้ากับเนื้อหาและสวยงามดีค่ะ


ไฟล์แนป:
tqjl2.png
tqjl2.png [ 89.19 KiB | เปิดดู 4108 ครั้ง ]
air-atmosphere-background-beautiful.jpg
air-atmosphere-background-beautiful.jpg [ 101.75 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 18 มิ.ย. 2014, 06:51 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่องโลกขธรรม

โลกธรรม แปลว่า เรื่องของโลก ธรรมดาของโลก
เป็นธรรมชาติของโลกที่ครอบงำสัตว์โลก เป็นธรรมประจำตัวของสัตว์โลก
เมื่อเกิดแล้วต้องมี ไม่มีใครหลีกพ้นจะว่าจะต้องการหรือไม่ต้องการก็ตาม

โลกขธรรมมี ๘ อย่าง หรือ ๔ คู่
มีลาภ เสื่อมลาภ, มียศ เสื่อมยศ, มีสรรเสริญ มีนินทา, มีสุข มีทุกข์,

แบ่งเป็นประเภทได้ ๒ ประเภท

โลกธรรมฝ่ายอิฏฐารมณ์ คือ เป็นที่รักเป็นที่ปรารถนา
๑. ลาภ หมายความว่า ได้ผลประโยชน์ ได้มาซึ่งทรัพย์
๒. ยศ หมายความว่า ได้รับฐานันดรสูงขึ้น ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต
๓. สรรเสริญ คือ ได้ยิน ได้ฟัง คำสรรเสริญคำชมเชย คำยกยอ เป็นที่น่าพอใจ
๔. สุข คือ ได้ความสบายกาย สบายใจ ความเบิกบาน บันเทิงใจเริงใจ

โลกธรรมฝ่ายอนิฏฐารมณ์ คือ ความไม่พอใจ ไม่เป็นที่ปรารถนา
๑. เสื่อมลาภ หมายความว่า เสียลาภไป ไม่อาจดำรงอยู่ได้
๒. เสื่อมยศ หมายถึง ถูกลดอำนาจความเป็นใหญ่
๓. นินทาว่าร้าย หมายถึง ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่ดี ถูกติฉินนินทา หรือถูกกล่าวร้ายให้เสียหาย
๔. ทุกข์ คือ ได้รับความทุกขเวทนา ทรมานกาย ทรมานใจ

หลักปฏิบัติต่อโลกขธรรม ๘ ในเมื่อเราจะต้องสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่ง
คือ ต้องรู้เท่าทันเพราะเมื่อสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นต้องดับ ทำใจให้หนักแน่นเป็นกลางๆ
ไม่ดีใจจนเกินไปเมื่อรับอิฏฐารมณ์ ไม่เสียใจจนเกินไปต่อเมื่อได้รับอิฏฐารมณ์

ไฟล์แนป:
7381320c2e125e5e6303735d6bc6c729.jpg
7381320c2e125e5e6303735d6bc6c729.jpg [ 152.91 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 19 มิ.ย. 2014, 06:05 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง โลภะ

โลภะ แปลว่า ความโลภ ความอยากได้ เป็นเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง
ในบรรดากิเลสใหญ่ 3 อย่างคือ โลภะ โทสะ โมหะ

โลภะ เกิดจากอกุศลมูล คือ ตัณหาความทะยานอยากได้
เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตหิวโหยอยากได้ เกิดความดิ้นรน อยู่ไม่เป็นสุข
หากหยุดยั้งไม่ได้ก็จะเป็นต้นเหตุให้ดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่อยากได้มาสนองความต้องการ
หรือเมื่อไม่ได้โดยวิธีชอบธรรมก็นำให้ไปทำความชั่วความไม่ดีงามต่างๆ
เช่น ลักขโมย ทุจริต คอรัปชั่น โกง ปล้น จนถึงฆ่าคนตาย

โลภะ เป็นอันตรายแก่ธรรมทั้งปวง คือเป็นตัวทำลายศีลธรรม
มโนธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม สามัคคีธรรม ยุติธรรมและธรรมชาติ

โลภะ ละได้ด้วยการให้ทาน การเสียสละ เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในทางที่ชอบ
กลุ่มโลภะ ธรรมฝ่ายชั่วนี้มี ๓ อย่าง คือ

โลภะ เป็นความอยากได้ ยินดี ติดใจ ในอารมณ์ต่างๆ ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์
ทิฏฐิ เป็นธรรมชาติที่เห็นผิด
มานะ เป็นความอวดดื้อถือตัว

ไฟล์แนป:
computer-generated-d-illustration-raft-open-sea-raft-open-sea-171537071.jpg
computer-generated-d-illustration-raft-open-sea-raft-open-sea-171537071.jpg [ 74.29 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 20 มิ.ย. 2014, 06:01 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่่อง วจีกรรม

วจีกรรม หมายถึง การกระทำทำทางวาจา ทำกรรมด้วยวาจา ด้วยคำพุด
ไม่ว่าจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว จัดเป็นวจีกรรมเหมือนกัน
มนุษย์เราทุกคนยกเว้นคนเป็นใบ้ ย่อมสื่อสารกันด้วยคำพูดคำจา
การพูดพุทธศาสนาถือเป็นการกระทำ "กรรม" อย่างหนึ่ง
ที่เป็นได้ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม

วจีกรรมทางชั่ว มี ๔ อย่าง คือ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
เรียกอีกอย่างว่าวจีทุจริต (แปลว่าประพฤติชั่วด้วยวาจา)

วจีกรรมทางดี มี ๔ อย่าง คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วจีสุจริต (แปลว่าประพฤติชอบด้วยวาจา)

ไฟล์แนป:
jetty-6926347_960_720.png
jetty-6926347_960_720.png [ 196.32 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 21 มิ.ย. 2014, 06:30 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง วัฏฏะ

วัฏฏะ แปลว่า หมุน วน หรือ วงจร หมายถึง องค์ธรรมที่หมุนวนเป็นวงจร
ที่เรียกว่า สังสารวัฏฏ์ คือการเวียนว่ายตายเกิด
ตามหลักธรรมในพุทธศาสนา วัฏฏะมีหลักใหญ่ มี ๓ อย่างคือ
๑. กิเลสวัฏฏะ กิเลสที่เป็นวงจร ได้แก่อวิชชา ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุให้ทำกรรม
๒. กรรมวัฏฏะ กรรมที่เป็นวงจร ได้แก่ สังขารอันเป็นตัวทำกรรมที่ส่งผลให้เกิดวิบาก
๓. วิบากวัฏฏะ วิบากที่เป็นวงจร ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ ทุกข โทมนัสเป็นต้น เป็นผลมาจากการทำกรรม

อัน หมายความว่า กิเลสก็เป็นเหตุให้ทำกรรม
กิเลสจึงเป็นเหตุ กรรมจึงเป็นผลของกิเลสและกรรมนั้นเอง
ก็เป็นตัวเหตุ ให้เกิดวิบากคือผล กรรมจึงเป็นเหตุ วิบากจึงเป็นผล
และวิบากนั้นเอง ก็เป็นตัวเหตุ ก่อกิเลสขึ้นอีก
เมื่อเป็นดังนี้ วิบากนั้นก็เป็นเหตุ กิเลสก็เป็นผลของวิบาก

เพราะฉะนั้นกิเลส กรรม วิบาก จึงวนอยู่ดั่งนี้ ก็โดยที่บุคคลนี้เอง
หรือจิตนี้เองที่วนอยู่ในกิเลส กรรม วิบาก แล้วก็กลับเป็นเหตุก่อกิเลส กรรม วิบากขึ้นอีก
สัตว์และบุคคลจึงวนเวียนอยู่ใน กิเลส กรรม วิบาก ทั้ง ๓ นี้ เป็น วัฏฏะ

ไฟล์แนป:
6696137_preview.png
6696137_preview.png [ 462.12 KiB | เปิดดู 835 ครั้ง ]

หน้า 8 จากทั้งหมด 17 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/