ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=46862
หน้า 13 จากทั้งหมด 17

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 28 ก.ค. 2014, 06:39 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อบายมุข

อบายมุข แปลว่า ทางแห่งความฉิหาย ทางแห่งความเสื่อม
คือสาเหตุให้ถึงความวิบัติเสียหาย ให้ถึงความเสื่อมเสีย มี ๒ หมวด คือ

อบายมุข ๔ ได้แก่ เที่ยวผู้หญิง ดื่มสุรา เล่นการพนัน และคบคนชั่วเป็นมิตร

อบายมุข ๖ ได้แก่ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน เที่ยวดูการละเล่น เล่นการพนัน
คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้านทำการงาน

อบายมุขทั้งหมดนี้ หากประพฤติเข้าแล้วก็เป็นเหตุเข้าถึงความฉิบหาย
ให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สิน แก่เกียรติยศชื่อเสียง
หรือแก่ชีวิตร่างกายได้เหมือนกันทุกข้อ

ไฟล์แนป:
Beggar-Poeple-PNG-Image.png
Beggar-Poeple-PNG-Image.png [ 267.25 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 28 ก.ค. 2014, 07:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อบายภูมิ

อบายภูมิ แปลว่า ปราศจากความเจริญ อบายภูมิ คือ ถิ่นที่สัตว์จะไปถือกำเนิด
อยู่อาศัยอันปราศจากความเจริญ มี ๔ ภูมิ ( เดรัจฉาน , เปรต , อสุรกาย , นรก )

อบายภูมิ หมายถึง ภูมิหรือดินแดนที่เกิดปราศจากความเจริญ
เป็นภูมิที่มีแต่ความทุกข์ทรมาน เป็นที่เกิดของผู้ที่ทำบาปกรรมไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ผลแห่งบาปกรรมนั้นจะส่งเขาไปเกิดในอบายภูมิหลังจากเขาตายแล้ว

อบายภูมิ มี ๔ คือ

นรก เป็นที่เกิดของคนที่มากด้วยโทสะชอบฆ่าฟัน ชอบทำร้ายผู้อื่น
เปรต เป็นที่เกิดของคนที่มากด้วยโลภะ ชอบฉ้อโกง ลักขโมย เบียดบังทรัพย์
อสุรกาย เป็นที่เกิดของคนที่มากด้วยโลภะ
ดิรัจฉาน เป็นที่เกิดของคนที่มากด้วยโมหะ หลงงมงาย อกตัญญู เห็นผิด

ไฟล์แนป:
person-diving-png-7.png
person-diving-png-7.png [ 809.71 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 29 ก.ค. 2014, 06:36 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อนุสสติ

อนุสสติ แปลว่า การระลึกถึงเนืองๆ หรือ อารมณ์ที่ควรระลึกถึงเนืองๆ
เป็นอารมณ์สมถกรรมฐานเพื่อทำใจให้สงบ จากนิวรณ๋์ ๕

อนุสติ มี ๑๐ คือ อารมณ์ดีงามที่ควรระลึกถึงเนืองๆ
ได้แก่ ๑.พุทธานุสติ ๒.ธัมมานุสติ ๓.สังฆานุสติ ๔.สีลานุสติ ๕.จาคานุสติ
๖.เทวตานุสติ ๗.มรณสติ ๘.กายคตาสติ ๙.อานาปานสติ ๑๐.อุปสมานุสติ

การบำเพ็ญอนุสสติ คือ ตั้งสติกำหนดถึงอารมณ์ ๑๐ อย่างๆใดอย่างหนึ่ง
มีคุณของพระพุทธเจ้าเป็นต้นนั้นให้เป็นอารมณ์ โดยกำหนดนึกถึงคำบริกรรม
ภาวนาว่า พุทโธ เป็นต้น สติจดจ่ออยู่กับอารมณ์นั้นจนจิตสงบเป็นสมาธิแนบแน่น
นิ่งอยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้น เมื่อจิตสงบแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดปิติ เกิดความสุข เป็นต้น

ไฟล์แนป:
Beggar-Poeple-PNG.png
Beggar-Poeple-PNG.png [ 339.85 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 29 ก.ค. 2014, 06:43 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

อปจายนะ – อปจายนมัย

อปจายนะ แปลว่า การถ่อมตน หมายถึงถึง ความเป็นผู้มีสัมมาคารวะอ่อนน้อม
ถ่อมตนการแสดงความเคารพนับถือยำเกรงต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ
ด้วยความจริงใจ ไม่หน้าไหว้หลังหลอก ไม่แสดงอาการกระด้างแข็งข้อด้วยทิฐิมานะ

ผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ คือ ผู้ใหญ่ ๓ ประเภท
ได้แก่ ผู้ใหญ่โดยชาติกำเนิด คือ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ผู้ใหญ่โดยวัย คือผู้สูงอายุ
และผู้ใหญ่โดยคุณ คือผู้ที่ประกอบด้วยเมตตากรุณาไม่มีอคติ

อปจายนะ เป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า อปจายนมัย
แปลว่า บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

อปจายนมัย ย่อมส่งผลให้ผู้ปฏิบัติได้รับการยกย่องสรรเสริญจากคนทั่วไป
ได้รับความรักความเอ็นดูจากผู้ใหญ่

ไฟล์แนป:
468 (1).png
468 (1).png [ 87.23 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 29 ก.ค. 2014, 06:48 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

อภินิหาร - ปาฏิหาริย์

อภินิหาร แปลว่า การนำไปฝังไว้ คือฝังความตั้งใจความปรารถนาไว้
ใช้หมายถึงอำนาจหรือพลังเหนือปกติธรรมดาแห่งความดีและบารมีที่สั่งสมไว้
เช่นใช้ว่า บุญญาภินิหาร หมายถึงอำนาจบุญบารมี

ปาฏิหาริย์ หมายถึง ความอัศจรรย์ สิ่งที่นำอัศจรรย์ ซึ่งพ้นวิสัยของมนุษย์ธรรมดา

ปาฏิหาริย์ มี ๓ อย่างคือ

๑. อิทธิปาฏิหาริย์ คือ มีฤทธิ์น่าอัศจรรย์
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ คือ คือทายใจคนได้น่าอัศจรรย์
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ มีคำสอนน่าอัศจรรย์

อภินิหาร เกิดขึ้นเองด้วยบุญบารมี
ปาฏิหาริย์ เกิดขึ้นด้วยการกระทำของคนโดยตรงต่างกันดังนี้

ไฟล์แนป:
tumblr_ozzmbpZAkW1wtg8hyo1_500.png
tumblr_ozzmbpZAkW1wtg8hyo1_500.png [ 150.33 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 29 ก.ค. 2014, 06:53 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อริยทรัพย์

อริยทรัพย์ แปลว่า ทรัพย์อันประเสริฐทรัพย์ของผู้เป็นอริยะ
จัดเป็นทรัพย์ภายใน ไม่ใช่ทรัพย์ภายนอกเหมือนทรัพย์สินเงินทอง

อริยทรัพย์ มี ๗ ประการ คือ

๑. ศรัทธา ความเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
๒. ศีล การรักษากายวาจาใจเรียบร้อย
๓. หิริ ความละอายแก่ใจที่จะทำชั่ว
๔. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อผลของการทำชั่ว
๕. พาหุสัจจะ ความเป็นคนแก่เรียน
๖. จาคะ ความเสียสละ แบ่งปัน
๗. ปัญญา ความฉลาดรู้บาปบุญคุณโทษ

(ดูรายละเอียดในเรื่องนั้นๆ ประกอบ)

ไฟล์แนป:
indian-man-png-2.png
indian-man-png-2.png [ 239.43 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 30 ก.ค. 2014, 06:09 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อริยบุคคล

อริยบุคคล แปลว่า บุคคลผู้ประเสริฐ ผู้ไกลจากข้าศึก ผู้หักกำล้อสังสารวัฏได้แล้ว
อริยบุคคล แบ่งตามประเภทใหญ่ได้มี ๒ ประเภทคือ
๑. พระเสขะ คือพระผู้ที่ต้องศึกษาไตรสิกขาอยู่ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพิ่มขึ้นอีกต่อไป
๒. พระอเสขะ คือพระผู้ได้ศึกษาสำดร็จแล้ว เสร็จกิจการศึกษาแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีก

พระอริยบุคคลแบ่งตามประเภทบุคคลมี ๔ ประเภทคือ
พระโสดาบัน
พระสกิทาคามี
พระอนาคามี
พระอรหันต์

พระอริยบุคคลยังแบ่งย่อยเป็น ๘ ประเภท จัดเป็น ๘ คู่ได้อีก
คู่ที่ ๑. พระโสดาปัตติมรรค....พระโสดาปัตติผล
คู่ที่ ๒. พระสกิทาคามิมรรค....พระสกิทาคามิผล
คู่ที่ ๓. พระอนาคามิมรรค.....พระอนาคามิผล
คู่ที่ ๔. พระอรหันตมรรค.......พระอรหันตผล

ไฟล์แนป:
gandhiji-walking-png-.png
gandhiji-walking-png-.png [ 127.21 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 30 ก.ค. 2014, 06:20 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อริยมรรค

มรรค แปลว่า ทางอันประเสริฐ เป็นทางของพระอริยะ ทางที่ทำให้เป็นพระอริยะ
ในที่นี้ หมายถึง ทางเดินของใจ เป็นการเดินออกจากความทุกข์
ไปสู่ความเป็นอิสระหลุดพ้นจากทุกข์ซึ่งมนุษย์ และเวไนยสัตว์ทั้งหลายหลงยึดถือ
และประกอบขึ้นใส่ตนด้วยอำนาจของอวิชา คือ ความไม่รู้ ซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘
หนทางดำเนินไปที่ประกอบพร้อมเพรียงกันเกี่ยวพันกันทุกข้อ ซึ่งย่อลงมาก็คือ

สติปัฏฐาน ๔ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย

๑. สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ คือ ทำการงานชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ
๖. สัมมาวายามะ คือ มีความเพียรชอบ
๗. สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ คือ ตั้งใจชอบ

ไฟล์แนป:
mahatma-gandhi-full-size.png
mahatma-gandhi-full-size.png [ 310.11 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 30 ก.ค. 2014, 06:35 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อริยสัจ

อริยสัจ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ
หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ

อริยสัจจ เป็นธรรมหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็นหลักสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา
ซึ่งถือว่าเป็นหลักแห่งความจริง และนำผู้เข้าถึงให้บรรลุถึงความเป็นพระอริยะได้

อริยสัจ มี ๔ คือ

๑. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ
๒. ทุกขสมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ
กามตัณหา ภวตัณหา และ วิภวตัณหา
๓. ทุกขนิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์
ได้แก่ มรรคอันมีองค์ประกอบอยู่ ๘ ประการ

อริยสัจ ๔ นี้ เรียกสั้น ๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

ไฟล์แนป:
tumblr_pfklpzGGoX1wtg8hyo1_500 (1).png
tumblr_pfklpzGGoX1wtg8hyo1_500 (1).png [ 234.8 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 01 ส.ค. 2014, 06:04 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อวิหิงสา

อวิหิงสา แปลว่า ความไม่เบียดเบียนให้ผู้อื่นลำบาก
คือไม่ก่อทุกข์ยากให้แก่มนุษย์และสัตว์ เพื่อความบันเทิงใจของตน
คือไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น ไม่เก็บภาษีขูดรีด หรือไม่ใช้แรงงานเกินควร
รวมไปถึงไม่หลงระเริงอำนาจ ไม่หาเหตุเบียดเบียนลงโทษทางอาญา
แก่ผู้อื่นเพราะความอาฆาตมาดร้ายและเกลียดชัง

อวิหิงสา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อหิงสา ที่มหาตมะ คานธี รัฐบุรุษของอินเดีย
นำไปใช้เป็นหลักสันติวิธี ทำให้โลกอยู่ด้วยกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงอวิหิงสาด้วยกรุณาและธรรม
เป็นส่วนเบื้องต้นแห่งกรุณา อวิหิงสาคือความไม่เบียดเบียน

ลักษณะนิสัยของผู้มีอวิงสา คือเป็นผู้มีความกรุณา ชอบเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่
ทนไม่ได้ที่เห็นผู้อื่นได้รับความลำบากเดือดร้อน ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์
คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์

อวิหิงสาเป็นหลักธรรมคู่กับอักโกธะ ความไม่โกรธ หรือ อโทสะ
ความไม่มีจิตคิดประทุษร้าย ไม่อาฆาตพยาบาท ซึ่งได้แก่เมตตาความรัก
ไมตรี เยื่อใยต่อกัน ปรารถนาให้มีความสุข อวิหิงสาเป็นธรรมข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรม

ไฟล์แนป:
tumblr_pfklzbko2j1wtg8hyo1_500 (1).png
tumblr_pfklzbko2j1wtg8hyo1_500 (1).png [ 321.98 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 02 ส.ค. 2014, 05:49 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อวิโรธนะ

อวิโรธนะ แปลว่า การไม่ทำผิดครรลองครองธรรม ระเบียบประเพณีอันดีงาม
ยึดความยุติธรรม หนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก
ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใด ๆ
ทั้งในทางนิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักปกครอง หรือในเรื่องขนบธรรมเนียม
ประเพณีที่ดีงาม ก็ไม่ประพฤติ ให้ผิดทำนองคลองธรรม

กล่าวคือ ให้ทำอะไรด้วยความถูกต้อง มิใช่ด้วยความถูกใจคือ การที่ทรงตั้งอยู่
ในขัตติยราชประเพณี ไม่ทรงประพฤติผิดจากพระราชจริยานุวัตร นิติศาสตร์ ราชศาสตร์
ไม่ทรงประพฤติให้คลาดจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ยกย่องคนที่มีความชอบ
จะเห็นได้ว่า หลักธรรมทั้ง ๑๐ ข้อ หรือทศพิธราชธรรม นี้ มิใช่ข้อปฏิบัติที่ยาก
จนเกินความสามารถของคนธรรมดาสามัญที่จะทำตามได้ หลาย ๆ ข้อ

ก็เป็นสิ่งที่เราปฏิบัติอยู่แล้ว จะโดยรู้ตัวไม่ก็ตาม แต่หากเรามีความตั้งใจจริง
หลักธรรมดังกล่าวก็จะเป็นทุนที่ช่วยหนุนนำให้เราได้พัฒนาชีวิตไปสู่ความดีงาม
ความมั่นคง และความสำเร็จที่เราปรารถนาทุกประก

ไฟล์แนป:
tumblr_pfklu6lNS71wtg8hyo1_500.png
tumblr_pfklu6lNS71wtg8hyo1_500.png [ 390.67 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 02 ส.ค. 2014, 05:58 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อวิชชา

อวิชชา แปลว่า ความไม่รู้แจ้ง คือ ความไม่รู้ความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ
โดยถูกต้องแจ่มแจ้ง มิได้หมายถึงความไม่รู้ศิลปะวิชาการต่างๆ หรือไม่รู้ร้อนรู้หนาวเป็นต้น

อวิชชา ความไม่รู้ในอริยสัจ มี ๔ อย่าง

๑. ไม่รู้ในทุกข์ ได้แก่ไม่รู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นตัวทุกข์
เช่นไม่รู้ความเกิด ความแก่ ความตาย ความผิดหวัง เป็นตัวทุกข์

๒. ไม่รู้ในเหตุเกิดทุกข์ ได้แก่ไม่รู้ว่าทุกข์นั้นเกิดมาจากตัณหาในจิตของตนเอง
มิใช่เกิดจากผีสาง เทวดา มิใช่เกิดจากการบันดาล

๓. ไม่รู้ในความดับทุกข์ ได้แก่ความไม่รู้ว่าทุกข์นั้นเมื่อเกิดแล้วสามารถดับได้
โดยการกำจัดตัณหาให้หมดไป

๔. ไม่รู้ในข้อปฏิบัติสำหรับดับทุกข์ ได้แก่ไม่รู้ว่าทุกข์นั้นจะดับสนิทได้ด้วยมรรค 8
มีสัมมาทิฐิเป็นต้น มิใช่ดับได้ด้วยการวิงวอนขอร้องให้คนอื่นช่วย

ไฟล์แนป:
tumblr_pfkkw2s11k1wtg8hyo1_500.png
tumblr_pfkkw2s11k1wtg8hyo1_500.png [ 240.86 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 03 ส.ค. 2014, 06:31 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อสุภกรรมฐาน

อสุภกรรมฐาน แปลว่า ฐานเป็นที่ตั้งกำหนดอสุภะเป็นอารมณ์
กรรมฐานที่พิจารณาให้เห็นว่าเป็นของไม่งาม

อสุภ หมายถึง หมายถึงซากศพที่อยู่ในสภาพต่างๆ เช่น ศพที่ขึ้นอืด
ศพที่มีหนองไหลเยิ้ม ศพที่ขาดครึ่งตัว ศพที่หัวขาด แขนขาขาด
ศพที่เหลือแต่กระดูก เป็นของน่าเกลียด โสโครก

อสุภกรรมฐาน เป็นเครื่องกำจัดราคะ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย
คลายรักยึดถือร่างกาย คลายความหลงรูป หลงสวย หลงงามลงได้

ไฟล์แนป:
tumblr_pfklsaohHi1wtg8hyo1_500 (1).png
tumblr_pfklsaohHi1wtg8hyo1_500 (1).png [ 223.98 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 03 ส.ค. 2014, 06:37 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อกตัญญู

อกตัญญู แปลว่า ผู้ไม่รู้สึกถึงบุญคุณที่ผู้อื่นทำแก่ตน ผู้ไม่มีความกตัญญู
เป็นผู้ที่ไม่รู้จักคุณ ของผู้ที่เคยอุปการะแก่ตน เช่น ให้อาหาร ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

อกตัญญู คือ เนรคุณ ทรยศ หักหลัง ไม่ซื่อสัตย์ ผู้ระลึกไม่ได้ว่าใครเคยทำดี
เคยช่วยเหลือเกื้อกูลตนมา ผู้ลืมบุญคุณของคนอื่นที่ทำแก่ตนมา ผู้ไม่ยอมรับบุญคุณ
ของใครทั้งนั้น เรียกว่า คนอกตัญญู มีลักษณะตรงข้ามกับคนกตัญญู

อกตัญญู มีลักษณะลบหลู่บุญคุณคน ไม่ปรารถนาที่จะตอบแทนความดีของใคร
ชอบลืมเรื่องที่เขาเคยทำเคยช่วยเหลือตนมา แต่ก็ไม่มีความรู้สึกอิ่มที่จะรับจากคนอื่นอีก
หากยังมีช่องทางจะได้จากเขาอีกก็จะพอใจ หากเห็นว่าหมดโอกาสแล้วก็จะตีจากไปทันที
หรือไม่ก็แสดงกิริยาพูดจาให้ร้ายต่างๆ ท่านจึงว่า

"แม้จะยกแผ่นดินทั้งหมดให้แก่คนอกตัญญูก็จะให้เขายินดีพอใจไม่ได้"

ไฟล์แนป:
tumblr_pfkkzqajnd1wtg8hyo1_500.png
tumblr_pfkkzqajnd1wtg8hyo1_500.png [ 234.38 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 03 ส.ค. 2014, 06:53 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ภาษาธรรม จัดเป็นหมวดๆ

เรื่อง อกาลิโก

อกาลิโก แปลว่า ไม่ประกอบด้วยกาล ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา ไม่ขึ้นอยู่กับสมัยใด
คือใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ฉะนั้นจึงไม่ขึ้นกับกาลและเวลา

อกาลิโก หมายความว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติ
โดยไม่จำกัดกาลเวลา ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลทุกเมื่อทุกโอกาส ให้ผลตามลำดับ
แห่งการปฏิบัติ คือได้บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น ได้บรรลุถึงระดับใหนก็ให้ผลในระดับเมื่อนั้น
ทั้งความจริงความแท้แห่งพระธรรมนี้ไม่มีกำหนดอายุกาล จริงแท้อยู่ตลอดกาล
จริงแท้อย่างนั้นทุกยุคทุกสมัย ด้วยเหตุนี้ พระธรรมจึงได้ชื่อว่า อกาลิโก (ไม่ขึ้นกับกาล)

อกาลิโก ตามความหมายของพระอภิธรรม อกาลิโก หมายถึง ธรรมที่ให้ผลไม่ประกอบด้วยกาล
หรือไม่ต้องรอกาลเวลาที่ได้รับผลแห่งธรรม ได้แก่ มรรคจิต ๔ และผลจิต ๔ เนื่องจาก
มรรคจิตซึ่งเป็นกุศลชาติ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว หรือเมื่อบรรลุมรรคแล้ว อริยผลของกุศลนี้
ได้แก่ ผลจิต อันเป็นวิบากชาตินั้นไม่ต้องรอเวลา ไม่มีระหว่างคั่น จะให้ผลในทันทีทันใด
จึงเรียกว่า อกาลิกธรรม ซึ่งเมื่อมรรคจิตเกิด ผลจิตจะเกิดติดต่อกันเป็น อนันตรปัจจัย

ไฟล์แนป:
1400701-desicutout-cutout-people-from-india-indian-people-png-292_450_preview.png
1400701-desicutout-cutout-people-from-india-indian-people-png-292_450_preview.png [ 118.47 KiB | เปิดดู 1094 ครั้ง ]

หน้า 13 จากทั้งหมด 17 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/