วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 16:06  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2019, 04:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




Tree-PNG.png
Tree-PNG.png [ 357.45 KiB | เปิดดู 441 ครั้ง ]
มโนวิญญาณธาตุที่เป็นกิริยาจิต (หสิตุปปาทจิต)
จิตดวงนี้ในพระบาลีว่า มโนวิญญาณธาตุ อุปฺปนฺนา โหติ ฯลฯ โสมนสฺสสหคตา
(มโนวิญญาณเป็นกิริยา ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่ผลของกรรม ประกอบด้วยโสมนัส เกิดขึ้นแล้ว)
เป็นจิตเฉพาะพระขีณาสพไม่ทั่วไปแก่บุคคลอื่น ย่อมมีได้ในทวารทั้ง ๖ กล่าวคือ

- ทางจักขุทวาร พระขีณาสพเห็นสถานที่อันสมควรแก่การเพียรปฏิบัติย่อมย่อมโสมนัสด้วยจิตนี้
- ทางโสตทวาร ท่านถึงสถานที่แจกภัณฑะมีความโสมนัสเกิดขึ้นด้วยจิตนี้ว่า
ตัณหาอันเป็นความโลภมากนี้เราถูกขจัดแล้ว ในเมื่อบุคคลละโมบจำนวนมากยังส่งเสริมอยู่
- ทางฆานะทวาร เมื่อท่านบูชาพระเจดีย์ด้วยของหอมหรือดอกไม้อยู่ก็เกิดการโสมนัสขึ้นด้วยจิตนี้
- ทางชิวหาทวาร ท่านได้รับบิณฑบาตที่ถึงพร้อมด้วยรสแล้วแบ่งปันฉันอยู่
ก็มีความโสมนัสเกิดขึ้นด้วยจิตนี้ว่า เราบำเพ็ญสารณียธรรม (ธรรมที่ควรระลึกถึง) แล้ว
- ทางกายทวาร ท่านบำเพ็ญอภิสมาจารอยู่ ก็มีความโสมนัสเกิดขึ้นด้วยจิตนี้ว่า
วัตรทางกายของเราครบถ้วนแล้ว

หสิตุปปาทจิตย่อมมีได้ทางปัญจทวารอย่างนี้ก่อน พระขีณาสพย่อมได้ทางปัญจทวารอย่างนี้ก่อน

-แต่ทางมโนทวาร หสิตุปปาทจิต(ของพระขีณาสพ)ย่อมเกิดขึ้นปรารภอดีตและอนาคต กล่าวคือ
พระตถาคตทรงระลึกถึงเหตุที่ได้กระทำไว้ในครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นโชติปาละ ท้าวมฆเทวราช
และกัณหดาบสเป็นต้น จึงทรงกระทำการแย้มให้ปรากฏ อนึ่ง การระลึกนั้นเป็นน่าที่ของบุพเพนิวาสญาณ
และจิตดวงนี้ย่อมเกิดขึ้นร่าเริงในเวลาสิ้นสุดแห่งความเป็นไปของญาณทั้งสองเหล่านั้น

(คัมภีร์อนุฎีกา(เล่ม ๑ หน้า ๑๗๑-๗๒)อธิบายว่า พระขีณาสพเห็นสถานที่อันสมควรแก่การเพียรปฏิบัติ
ย่อมมีความโสมนัสเกิดขึ้นด้วยหสิตุปปาทจิต แต่ยังไม่ยิ้ม เพราะจิตที่เกิดทางมโนทวารก็ให้เกิดวิญญัติรูป
คือการยิ้มไม่ได้ ดังนั้น ในคัมภีร์อรรถกถาจารย์จึงกล่าวถึงการเกิดความโสมนัสของพระขีณาสพทางปัญจทวาร
เมื่อถึงมโนทวารจึงกล่าวได้ว่า ทรงกระทำการแย้มให้ปรากฏ(สิตํ ปาตฺวากาสิ)ในเวลานั้นได้เกิดอตีตังสญาณ
หรืออนาคตังสญาณแล้วจึงเกิดหสิตุปปาทจิตที่ไม่ประกอบญาณ ดังนั้น จึงนับว่ากายกรรมเป็นต้นของ
พระองค์มีพระญาณเป็นเบื้องหน้าคล้อยตามพระญาณ)

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2022, 05:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สาระน่ารู้ของหสิตุปปาทจิต

ถาม หสิตุปปาทจิต เป็นจิตยิ้มของพระอรหันต์ ตลอดถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เหตุใดจึงจัดเป็นอโสภณจิต?
ตอบ อโสภณจิต หมายความเพียงว่า เป็นจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกประกอบ ไม่ใช่หมายความว่า
เป็นจิตชั่วไปทั้งหมด เพราะถ้าหมายเป็นจิตชั่ว ก็จะเหมาะสมแต่เฉพาะอกุศลจิตเท่านั้น
แม้อกุศลวิบากก็เป็นแต่เพียงผลของจิตชั่วเท่านั้น ไม่ใช่เป็นจิตชั่วโดยตนเอง อกุศลวิบากจิตนี้
แม้พระอรหันต์ก็ยังต้องประสบอยู่ ดังนั้นหสิตุปปาทจิตจึงหมายเพียงเป็นจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิก
ประกอบเท่านั้นอาการความเบิกบานใจด้วยการยิ้ม และการหัวเราะ มี ๖ อย่าง ตามประเภท
บุคคลดังนี้ คือ
๑.อุปหสิตะ การหัวเราะจนน้ำตาไหล เป็นของปุถุชน
๒.อปหสิตะ การหัวเราะจนไหวทั้งกาย เป็นของปุถุชน
๓.อติหสิตะ การหัวเราะตื้นมีเสียงดัง เป็นของปุถุชน และของพระโสดาบัน พระสกทาคามี
๔.วิหสิตะ การหัวเราะลึกมีเสียงเบา เป็นของปุถุชน และของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี
๕.หสิตะ การยิ้มเพียงเห็นไรฟัน เป็นของปุถุชน และของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์
๖.สิตะ การยิ้มของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะที่อิ่มเอิบเปล่งปลั่ง เหตุเพราะทรงละวาสนา
(ความคุ้นเคยที่กิเลสสะสมไว้)ได้(ในนิสสยะอักษรธรรมล้านช้างกล่าวว่าปุถุชนที่ทำยิ้มและหัวเราะเหมือนพระอริยะได้ดี คือข้อ ๓-๕ นั้นหมายเอาพระโพธิสัตย์ที่มีบารมีศีลสังวรดี)
ถาม การยิ้มทั้ง ๖ อย่างของบุคคลต่างๆกันนั้น บุคคลใดยิ้มหัวเราะด้วยจิตใด?
ตอบ ปุถุชนยิ้มหัวเราะด้วยจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง คือ โลภโสมนัสสสหคตจิต ๔ ดวง
มหากุศลโสมนัสสสหคตจิต ๔ ดวง รวม ๘ ดวง พระเสกขบุคคลยิ้มหัวเราะด้วยจิต ๖ ดวง
ดวงใดดวงหนี่ง คือ โลภโสมนัสสสทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๒ ดวง มหากุศลโสมนัสสสหคตจิต ๔ ดวง
รวม ๖ ดวง พระอรหันต์ยิ้มด้วยจิต ๕ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง คือ หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง
มหากิริยาโสมนัสสสหคตจิต ๔ ดวง รวมเป็น ๕ ดวง
ถาม การยิ้มหัวเราะของบุคคลต่างๆ ย่อมกระทบถึงกายวิญญัตติรูป จิตที่ใช้ในการยิ้มหัวเราะจึงน่า
จะเป็นสเหตุกจิต จิตอี่นๆล้วนเป็นสเหตุกจิต ไม่สังสัย เว้นแต่หสิตุปปาทจิต ซึ่งเป็นอเหตุกจิต
จะใช้ในการยิ้มได้อย่างไร?
ตอบ สเหตุกจิตหมายความว่าเป็นจิตที่มีกำลังมาก สามารถยึดอารมณ์ได้มั่นคง หสิตุปปาทจิต
เป็นจิตยิ้มที่ไม่ประสงค์จะยึดมั่นในอารมณ์ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นสเหตุกจิต
ถาม โสมนัสสมหากิริยาจิต ก็มีความยึดมั่นในอารมณ์เช่นนั้นหรือ?
ตอบ หามิได้ มหากิริยาจิตเป็นจิตรับกามารมณ์(เว้นแต่ขณะที่ทำหน้าที่ปัจจเวกขณะญาณ)
ในขณะที่มหากิริยาจิตเกิดรับกามารมณ์ ฉฬังคุเปกขาก็เกิดร่วมด้วย การรับกามารมณ์ของ
พระอรหันต์จึงสักแต่ว่ารับไปไม่ได้ติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆ
ถาม การยิ้มของพระอรหันต์ก็มีโสมนัสสมหากิริยาจิตอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องมีหสิตุปปาทจิต
สำหรับยิ้มเป็นพิเศษอีกต่างหาก?
ตอบ มหากิริยาโสมนัสสจิต ตามปกติมีอารมณ์เป็น โอฬาริกอารมณ์(อารมณ์หยาบ)เว้นแต่
ขณะทำหน้าที่ปัจจเวกขณะ จึงจะมีอารมณ์เป็นอโนฬาริกอารมณ์(อารมณ์ละเอียดปราณีต)
ส่วนหสิตุปปาทจิต มีอารมณ์เป็นอโนฬาริกอารมณ์อย่างเดียว เช่นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา
เห็นสัตว์บางเหล่าต้องทนทุกขเวทนา ด้วยผลแห่งกรรมของตน เช่นเปรตที่ไฟกำลังไหม้อยู่
หรือเห็นสัตว์บางเหล่าที่จะต้องรับกรรมของตนในอนาคตกาล เช่นเห็นเทวดาและนางฟ้า
กำลังหลงระเริงด้วยกามคุณอารมณ์เป็นต้น ท่านก็รู้ว่าฐานะอย่างนั้นย่อมไม่มีแก่ท่านแล้ว
หสิตุปปาทจิตก็เกิดขึ้น ส่วนพระอรหันต์ผู้ไม่ได้อภิญญา เมื่อท่านได้เห็นเหล่าพระภิกษุปุถุชน
กล่าวคำเยื้อแย่งอาหารกันเป็นต้นว่า จงให้เราและอุปัชฌาย์อาจารย์ของเราก่อนเถิด ท่านก็รู้ว่า
ฐานะที่กิเลสครอบงำอย่างนั้นไม่มีแก่ท่านแล้ว หสิตุปปาทก็เกิดขึ้น(นิสสยะอักษรธรรมล้านช้าง)

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.พ. 2022, 03:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


หสิตุปปาทจิต ยิ้มของพระอรหันต์
พระอภิธัมมัตถสังคหะปริเฉท ๑ จิตปรมัตถ์ กล่าวว่า ปกติจิตที่เกิดขึ้นส่วนมากต้องประกอบด้วยเหตุ ไม่เหตุบาปก็เหตุบุญ เหตุบาปหรืออกุศลเหตุ ได้แก่ โลภเหตุ โทสเหตุ และโมหเหตุ ส่วนเหตุบุญหรือกุศลเหตุ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ รวมกันแล้วมี ๖ เหตุ เรียกว่า "สเหตุกจิต" (สะ เห ตุ กะ จิต) หรือจิตที่มีเหตุ
การมีเหตุที่เข้าประกอบกันกับจิต ๖ เหตุนี้เขาเรียกว่า "สมปยุตเหตุ" แปลว่า "จิตเกิดเมื่อไหร่ เหตุก็เกิดเมื่อนั้น"
แต่มีจิตอีกพวกหนึ่ง เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เรียกว่า "อเหตุกจิต" (อะ เห ตุ กะ จิต) คือไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ ที่กล่าว และ เป็นจิตที่ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป มีอยู่ ๑๘ ดวง คือ
อกุศลวิปากจิต ๗ ดวง
อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวง
อเหตุกกริยาจิต ๓ ดวง
อกุศลวิปากจิต ๗ ดวง เป็นจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรมทำไว้แต่ในอดีต ไม่สูญหายไปไหน แต่คอยโอกาสเพื่อสนอง เพื่อให้ได้รับอกุศลวิปากจิต ๗ ดวง มีการเห็นแต่สิ่งไม่ดี ได้ยินแต่เสียงไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี รู้รสไม่ดี ถูกต้องสัมผัสไม่ดี อันผลเป็นให้จิตต้องรับรู้อารมณ์ในทางที่ไม่ดี ๗ ประการด้วยกัน (เป็นผลในปวติกาล ไม่ครบองค์กรรมบท ไม่ส่งผลในปฏิสนธิกาล เช่นเจตนาฆ่าสัตว์แต่สัตว์ไม่ตาย แต่มาส่งผลในปวติกาลหลังเกิด)
อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ ดวง ตรงข้ามกับแบบแรก คือบุญที่ทำไว้ในอดีต ไม่สูญหาย แต่มีกำลังอ่อน เป็นกุศลกรรมชนิดปรารภอกุศลเป็นมูลเดิม หรือกุศลกรรมชนิดที่มีอกุศลตามเป็นบริวาร (ส่งผลในปวติกาล กำลังกุศลอ่อน มีอกุศลเป็นบริวารล้อมหน้าล้อมหลัง หรือเบียดเบียน ไม่ส่งผลในปฏิสนธิกาล)
แต่ที่ตั้งใจกล่าวถึงเรื่องนี้คือ อเหตุกกริยาจิต ๓
อเหตุกกริยาจิต ๓ เป็นจิตที่ไม่ได้เป็นผลของบุญหรือบาปคือไม่ใช่วิปากจิต และก็ไม่ได้อาศัยเกิดขึ้นเพราะเหตุบุญหรือบาป คือจิตที่ไม่ใช่จิตที่เป็นบุญเป็นบาป แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นตามหน้าที่การงานของตนเท่านั้น คือ ทำหน้าที่
ก. เปิดทวารทั้ง ๖ ให้อารมณ์ที่ปรากฎอยู่เฉพาะหน้าได้ผ่านเข้ามากระทบจิตในการรับอารมณ์ใหม่ และทำหน้าที่ตัดสินปัญจารมณ์
ข. เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มของพระอรหันต์ เพราะประสบกับอนิฏฐารมณ์ ซึ่งสักแต่ว่าเป็น "กริยาของจิต" ซึ่งจะทำหน้าที่การงานในการรับอารมณ์เช่นนั้น
อเหตุกกริยาจิตมี ๓ ดวงคือ
๑. อุเปกฺขาสหคตํ ปญฺจทวาราวชฺชนจิตฺตํ คือจิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เพื่อพิจารณาอารมณ์ที่มากระทบทางปัญจทวาร (หู ตา จมูก ลิ้น ผิวสัมผัส)
๒. อุเปกฺขาสหคตํ มโนทวาราวชฺชนจิตฺตํ คือจิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ เพื่อพิจารณาอารมณ์ทางมโนทวาร (ใจ)
๓. โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปฺปาทจิตฺตํ คือจิตที่เกิดจากการยิ้มของพระอรหันต์ ที่เกิดขึ้นเพราะการเห็นเปรตที่ต้องทุกข์ทรมานเพราะความอดอยาก หรือ เห็นเทพยดาหรือนางฟ้าที่กำลังได้รับทุกข์อยู่ เพราะไปย้อนนึกถึงอดีตชาติที่ตนเคยเป็นมนุษย์ เคยเกิดการพลัดพรากจากความรัก อันเป็นการเห็นด้วยอภิญญาจิต (เห็นทางใจ) ที่เป็นไปพร้อมด้วยการพิจารณาว่า สภาพเช่นนี้จะไม่ปรากฎแก่ท่านอีกต่อไปแล้ว ท่านพ้นจากความเวียนเกิดเวียนตายแล้ว เป็นการพิจารณาด้วยมหากริยาญาณสัมปยุตจิตก่อน เมื่อพิจารณาแล้ว หสิตุปปาทจิตจึงเกิดขึ้น ดังปรากฎในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา (ที่อ้างต่อไปนี้เป็นฎีกานะครับ)
"หสิตุปฺปาทจิตฺเตน ปน ปวตฺติยามานํ ปิ เสตํ สติกรณํ ปุพฺเพนิวาสอนาคตํส สพฺพญุญุตญาณานํ อนุวตฺตกตา ญาณานุ ปริวตฺตํ เยวาติฯ"
แปลว่า : การยิ้มของพระอรหันต์เหล่านั้น แม้เป็นอยู่ด้วยหสิตุปปาทจิต ก็ชื่อว่าเป็นไปตามบุพเพนิวาสานุสติญาณ อนาคตตังสญาณ สัพพัญญุตญาณฯ
หมายความว่า : เมื่ออภิญญาจิตเห็นสัตว์เหล่านั้นแล้ว มหากริยาจิตก็พิจารณาว่าสภาพเช่นนั้นไม่มีแก่ท่านแล้ว หสิตุปปาทจิตจึงเกิด ทั้งนี้เพราะอภิญญาจิตย่อมเกิดขณะเดียวเท่านั้นต่อไปจึงเป็นหน้าที่ของมหากริยาจิตเป็นผู้พิจารณา และพิจารณาแล้วก็เสพอารมณ์ด้วยหสิตุปปาทจิต จึงทำให้อาการยิ้มชนิดที่เป็นสิตะ และหสิตะปรากฎขึ้นมา
ตอนเรียนจดบันทึกไว้ว่า การเห็นสัตว์ที่ยังตกอยู่ในบ่วงทุกข์ แล้วพระอรหันต์ท่านมีการยิ้มนั้นเป็นกริยาจิต ไม่ใช่เสพชวนะขึ้นวิถีว่าพอใจหรือเย้ยหยั่น การกระทำของพระอรหันต์นั้นไม่เป็นบาป ไม่เป็นบุญ เพราะสิ้นอาสวะกิเลสแล้ว แต่อย่างไรก็ตามพระอรหันต์ที่ยังไม่ตายก็ยังคงต้องรับวิบาก ตัวอย่างเช่นองค์คุลีมาร เมื่อได้อรหัตผล บวชเป็นภิกษุแล้ว เวลาไปบิณบาตก็ยังถูกด่าทอขว้างปา
การยิ้มและการหัวเราะ มี คัมภีร์อลังการจำแนกไว้ ๖ อย่างคือ (อ้างถึงคัมภีร์ไม่ใช่อภิธรรม)
๑. สิตะ ยิ้มอยู่ในหน้าไม่เห็นไรฟัน เป็นกริยายิ้มของพระพุทธเจ้า
๒. หสิตะ ยิ้มพอเห็นไรฟัน เป็นการยิ้มที่เกิดจากจิตของพระอรหันต์ ไม่มีเหตุบุญหรือบาป แต่ถ้า ยิ้มเป็นของ พระอนาคามี สกทาคามี โสดาบัน หรือปุถุชน อันนี้มีเหตุบุญบาป
๓. วหสิตะ การหัวเราะมีเสียงเบาๆ เกิดได้จากจิตของ ปุถุชน พระอนาคามี สกทาคามี โสดาบัน
๔. อติหสิตะ หัวเราะเสียงดังมาก มีได้ใน ปุถุชน พระโสดา สกทาคามี
๕. อปหสิตะ หัวเราะจนไหวโยกทั้งตัว มีเฉพาะปุถุชน
๖. อุปหสิตะ หัวเราะจนน้ำตาไหล มีเฉพาะปุถุชนเท่านั้น
การยิ้มและการหัวเราะทั้ง ๖ อย่าง ยิ้มสิตะ กับ หสิตะเฉพาะของพระอรหันต์ เป็นจิตที่ทำให้เกิดการยิ้มโดยไม่ประสงค์จะยึดมั่นในอารมณ์เหมือนจิตที่เกิดการหัวเราะอื่นๆ จิตนี้จึงมีกำลังน้อย จึงเป็นอเหตุกจิต ไม่เหมือนพวกหัวเราะ จิตพวกนั้นมีกำลังมาก และสามารถยึดอารมณ์ไว้มั่นคง จนเป็นเหตุให้ถึงกับหัวเราะในลักษณะต่างๆ จึงเป็น สเหตุกจิต
สวดมนต์ภาวนาบูชาพระ ขณะกระทำไม่มีโอกาสได้ทำผิดศีล ๕ ถือว่าเป็นบุญกริยาอย่างหนึ่ง การได้มองเห็นใบหน้าหรือยิ้ม "หสิตุปปาทจิต" ของพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นวิบากของเราที่เราเคยสร้างสะสมมา ทำให้ได้เห็นแต่สิ่งดีๆ ไม่เป็นโทษ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร