วันเวลาปัจจุบัน 28 เม.ย. 2024, 07:56  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ค. 2021, 04:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ความหมายของโยนิโสมนสิการ

ว่าโดยรูปศัพท์ โยนิโสมนสิการ ประกอบด้วย โยนิโส กับ มนสิการ โยนิโส มาจาก โยนิ ซึ่งแปลว่า เหตุ ต้นเค้า แหล่งเกิด ปัญญา อุบาย วิธี ทาง ส่วน มนสิการ แปลว่า การทำในใจ การคิด คำนึง นึกถึง ใส่ใจ พิจารณา เมื่อรวมเข้าเป็นโยนิโสมนสิการ ท่านแปลสืบๆ กันมาว่า การทำในใจโดยแยบคาย การทำในใจโดยแยบคายนี้ มีความหมายแค่ไหนเพียงใด คัมภีร์ชั้นอรรถกถาและฎีกาได้ไขความไว้ โดยวิธีแสดงไวพจน์ให้เห็นความหมายแยกเป็นแง่ๆ ดังต่อไปนี้

๑. อุบายมนสิการ แปลว่า คิดหรือพิจารณาโดยอุบาย คือคิดอย่างมีวิธี หรือคิดถูกวิธี หมายถึง คิดถูกวิธีที่จะให้เข้าถึงความจริง สอดคล้องเข้าแนวกับสัจจะ ทำให้หยั่งรู้สภาวลักษณะและสามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย

๒. ปถมนสิการ แปลว่า คิดเป็นทาง หรือคิดถูกทาง คือคิดได้ต่อเนื่องเป็นลำดับ จัดลำดับได้ หรือมีลำดับ มีขั้นตอน แล่นไปเป็นแถวเป็นแนว หมายถึง ความคิดเป็นระเบียบ ตามแนวเหตุผล เป็นต้น ไม่ยุ่งเหยิงสับสน ไม่ใช่ประเดี๋ยววกเวียนติดพันเรื่องนี้ ที่นี้ เดี๋ยวเตลิดออกไปเรื่องนั้น ที่โน้น หรือกระโดดไปกระโดดมา ต่อเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ ทั้งนี้รวมทั้งความสามารถที่จะชักความนึกคิดเข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง

๓. การณมนสิการ แปลว่า คิดตามเหตุ คิดค้นเหตุ คิดตามเหตุผล หรือคิดอย่างมีเหตุผล หมายถึงการคิดสืบค้นตามแนวความสัมพันธ์สืบทอดกันแห่งเหตุปัจจัย พิจารณาสืบสาวหาสาเหตุ ให้เข้าใจถึงต้นเค้า หรือแหล่งที่มา ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาตามลำดับ

๔. อุปปาทกมนสิการ แปลว่า คิดให้เกิดผล คือใช้ความคิดให้เกิดผลที่พึงประสงค์ เล็งถึงการคิดอย่างมีเป้าหมาย ท่านหมายถึง การคิดการพิจารณาที่ทำให้เกิดกุศลธรรม เช่น ปลุกเร้าให้เกิดความเพียร การรู้จักคิดในทางที่ทำให้หายหวาดกลัว ให้หายโกรธ การพิจารณาที่ทำให้มีสติ หรือทำให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคง เป็นต้น

ไขความทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นเพียงการแสดงลักษณะด้านต่างๆ ของความคิดที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ อาจมีลักษณะครบทีเดียวทั้ง ๔ ข้อ หรือเกือบครบทั้งหมดนั้น หากจะเขียนลักษณะทั้ง ๔ ข้อนั้นสั้นๆ คงได้ความว่า คิดถูกวิธี คิดมีระเบียบ คิดมีเหตุผล คิดเร้ากุศล

แต่ถ้าจะสรุปเป็นคำจำกัดความ ก็เห็นได้ว่าทำยากสักหน่อย มักจับเอาไปได้แต่บางแง่บางด้าน ไม่ครอบคลุมทั้งหมด หรือไม่ก็ต้องเขียนบรรยายยืดยาว เหมือนอย่างที่เขียนไว้ในตอนเริ่มต้นของบทนี้

อย่างไรก็ตาม มีลักษณะเด่นบางอย่างของความคิดแบบนี้ ที่อาจถือเป็นตัวแทนของลักษณะอื่นๆ ได้ ดังที่ได้เคยแปลโดยนัยไว้ว่า ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด การคิดเป็น การคิดตรงตามสภาวะและเหตุปัจจัย การคิดสืบค้นถึงต้นเค้า เป็นต้น หรือถ้าเข้าใจความหมายดีแล้ว จะถือตามคำแปลสืบๆ กันมาว่า “การทำในใจโดยแยบคาย” ก็ได้

ได้กล่าวแล้วในตอนก่อนๆ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างโยนิโสมนสิการที่เป็นองค์ประกอบภายในนี้ กับปรโตโฆสะดีงาม หรือกัลยาณมิตร ที่เป็นองค์ประกอบภายนอก ในตอนนี้ พึงสังเกตให้ละเอียดลงไปอีกว่า ถ้าบุคคลคิดเองไม่เป็น คือไม่รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ กัลยาณมิตรจึงอาศัยศรัทธาเข้ามาช่วยเหลือ

จะเห็นได้ว่า สำหรับลักษณะ ๓ ด้านแรกของโยนิโสมนสิการ กัลยาณมิตรช่วยได้เพียงชี้แนะส่องนำให้เห็นช่อง แต่ตัวบุคคลผู้นั้นจะต้องคิดพิจารณาเข้าใจด้วยตนเอง เมื่อถึงขั้นเข้าใจจริง ศรัทธาจะทำให้ไม่ได้ ดังนั้น ขอบเขตของศรัทธาจึงจำกัดมากสำหรับการช่วยโยนิโสมนสิการในลักษณะ ๓ ด้านนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ค. 2021, 04:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


แต่สำหรับลักษณะที่ ๔ ศรัทธาแสดงบทบาทได้แรงกล้า เช่น คนบางคนเป็นคนอ่อนแอ มักหดหู่ ท้อถอย หรือชอบคิดเรื่องเหลวไหล เรื่องเสียหายต่างๆ ถ้ากัลยาณมิตรสร้างศรัทธาได้สำเร็จ ก็จะช่วยคนเช่นนี้ได้มาก อาจพูดเร้าใจ ปลุกใจ ให้กำลังใจ และชักจูงด้วยวิธีต่างๆ อย่างได้ผล

ในทางกลับกัน คนบางคนมีโยนิโสมนสิการเป็นปกติ รู้จักคิดด้วยตนเอง เมื่อมีเหตุให้หดหู่ท้อถอย หรือเศร้าเสียใจ เขาก็คิดแก้ไข ปลุกใจของเขาเองได้สำเร็จเป็นอย่างดี

ส่วนในด้านตรงข้าม ถ้าได้ปาปมิตร หรือมีอโยนิโสมนสิการ แม้แต่อยู่ในสถานการณ์ที่ดีงาม ประสบสิ่งดีงาม ก็ยังคิดให้เป็นไปในทางร้าย และก่อให้เกิดกรรมร้ายได้ เช่น คนร้ายเห็นที่ร่มรื่นสงัด เป็นที่เหมาะแก่การกระทำชั่ว หรือเตรียมกระทำอาชญากรรม คนบางคนขี้ระแวง เห็นคนอื่นยิ้ม ก็คอยจะคิดว่าเขาเยาะเย้ยดูหมิ่น

ถ้าปล่อยให้กระแสความคิดเดินไปเช่นนั้นอยู่บ่อยๆ อโยนิโสมนสิการก็จะกลายเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชนิดนั้นๆ ให้กล้าแข็งยิ่งขึ้น เช่น คนที่คอยสั่งสมความคิดมองแง่ร้าย คอยเห็นคนอื่นเป็นศัตรู คนที่เสพคุ้นกับความหวาดระแวงว่าคนอื่นจะคิดร้ายจนสะดุ้งผวากลายเป็นโรคประสาท

วัตถุแห่งความคิดอย่างเดียวกัน แต่ใช้โยนิโสมนสิการ กับอโยนิโสมนสิการ ย่อมให้ผลต่อชีวิตจิตใจและพฤติกรรมไปคนละอย่าง เช่น คนหนึ่งคำนึงถึงความตายด้วยอโยนิโสมนสิการ ก็เกิดความหวาดหวั่น หดหู่ ท้อถอย ไม่อยากทำอะไรๆ หรือฟุ้งซ่าน คิดวุ่นวาย อีกคนหนึ่ง คำนึงถึงความตายด้วยโยนิโสมนสิการ กลับทำให้เกิดความสำนึกในการที่จะละเว้นความชั่ว ใจสงบ เกิดความไม่ประมาท กระตือรือร้น เร่งทำสิ่งดีงาม

ในด้านการหยั่งรู้สภาวธรรม โยนิโสมนสิการไม่ใช่ตัวปัญญาเอง แต่เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา คือให้เกิด สัมมาทิฏฐิ

คัมภีร์มิลินทปัญหาแสดงความแตกต่าง ระหว่างโยนิโสมนสิการ กับปัญญา ว่า

- ประการแรก สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย เช่น แพะ แกะ วัว ควาย อูฐ ลา มีมนสิการ (มนสิการ แต่ไม่เป็นโยนิโส) แต่ไม่มีปัญญา

- ประการที่สอง มนสิการมีลักษณะคำนึงพิจารณา ส่วนปัญญามีลักษณะตัดขาด มนสิการรวบจับความคิดมาเสนอ ทำให้ปัญญาทำงานกำจัดกิเลสได้ เหมือนมือซ้ายรวบจับเอารวงข้าวไว้ ให้มือขวาที่ถือเคียวเกี่ยวตัดได้สำเร็จ

ถ้ามองในแง่นี้ โยนิโสมนสิการ ก็คือ มนสิการชนิดที่ทำให้เกิดการใช้ปัญญา พร้อมกับทำให้ปัญญานั้นเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ค. 2021, 04:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




13_624.png
13_624.png [ 18.58 KiB | เปิดดู 1463 ครั้ง ]
คัมภีร์ปัญจสูทนี กล่าวถึง อโยนิโสมนสิการว่า เป็นมูลแห่งวัฏฏะ ทำให้ว่ายวนอยู่ในทุกข์ หรือสะสมหมักหมมปัญหา และชี้แจงว่า เมื่ออโยนิโสมนสิการเจริญงอกงามขึ้น ก็พอกพูนอวิชชา และภวตัณหา

- เมื่อ อวิชชา เกิดขึ้น ก็เข้าสู่กระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาท เริ่มแต่อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร เป็นต้นไป จนเกิดกองทุกข์ครบถ้วนบริบูรณ์

- แม้เมื่อ ตัณหา เกิดขึ้น ก็เข้าสู่กระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกัน เริ่มแต่ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดส่งต่อตามลำดับ นำไปสู่ความเกิดพร้อมแห่งกองทุกข์

ส่วน โยนิโสมนสิการ เป็นมูลแห่งวิวัฏฏ์ ทำให้พ้นจากวังวนแห่งทุกข์ ถึงภาวะไร้ปัญหา หรือแก้ปัญหาได้ เพราะเมื่อโยนิโสมนสิการเกิดขึ้น ก็นำไปสู่การปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า สัมมาทิฏฐิก็คือวิชชานั่นเอง เมื่อวิชชาเกิดขึ้น อวิชชาก็ดับไป เมื่ออวิชชาดับ กระบวนธรรมนิโรธวารแห่งปฏิจจสมุปบาท ก็ดำเนินไป นำสู่ความดับทุกข์ เขียนให้ดูง่ายให้ดูภาพประกอบด้านบนดังนี้

วัฏฏะ มีอโยนิโสมนสิการเป็นมูล (วังวนแห่งทุกข์ หรือวงจรปัญหา เกิดจากอโยนิโสมนสิการ)


วิวัฏฏะ มีโยนิโสมนสิการเป็นมูล (ภาวะปลอดทุกข์ หรือแก้ปัญหาได้ เกิดจากโยนิโสมนสิการ)

โยนิโสมนสิการ → มรรคภาวนา: สัมมาทิฏฐิ= วิชชา→ อวิชชาดับ→ สังขารดับ ฯลฯ = ทุกข์ดับ

ถ้ามองในแง่ขอบเขต โยนิโสมนสิการก็กินความกว้าง ครอบคลุมตั้งแต่การคิดนึกอยู่ในแนวทางของศีลธรรม การคิดตามหลักความดีงาม และหลักความจริงต่างๆ ที่ตนได้ศึกษา หรือรับการอบรมสั่งสอนมา มีความรู้ความเข้าใจดีอยู่แล้ว เช่น คิดในทางที่จะเป็นมิตร คิดรักคิดปรารถนาดีมีเมตตา คิดในทางที่จะให้หรือช่วยเหลือเกื้อกูล คิดในทางที่จะเข้มแข็งทำการจริงจังไม่ย่อท้อ เป็นต้น ซึ่งไม่ต้องใช้ปัญญาลึกซึ้งอะไร ตลอดขึ้นไปจนถึงการคิดแยกแยะองค์ประกอบ และสืบสาวหาเหตุปัจจัย ที่ต้องใช้ปัญญาละเอียดประณีต

เนื่องด้วยโยนิโสมนสิการมีขอบเขตกว้างอย่างนี้ คนปกติทุกคนจึงสามารถใช้โยนิโสมนสิการได้ โดยเฉพาะโยนิโสมนสิการแบบง่ายๆ นั้น เพียงแต่คอยชักกระแสความคิดให้เข้ามาเดินในแนวทางดีงาม ที่เรียนรู้ไว้ก่อนแล้ว หรือที่คุ้นอยู่แล้วเท่านั้นเอง และสำหรับโยนิโสมนสิการแบบนี้ ซึ่งตามปกติเป็นระดับที่ช่วยให้เกิด โลกิยสัมมาทิฏฐิ ศรัทธาซึ่งเกิดจากปัจจัยฝ่ายปรโตโฆสะ เช่น การศึกษาอบรม วัฒนธรรมประเพณี และกัลยาณมิตรอื่นๆ จะมีอิทธิพลได้มาก

ที่กล่าวอย่างนั้นก็เพราะว่า ศรัทธาเป็นศูนย์รวมที่ยึดเหนี่ยวของจิต และเป็นพลังพร้อมอยู่ภายใน พอคนรับรู้อารมณ์ หรือประสบสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง กระแสความคิดก็จะถูกแรงแห่งศรัทธาดึงให้แล่นไปตามแนวทางของศรัทธานั้น เสมือนว่าศรัทธาขุดร่องสำหรับให้กระแสความคิดไหลไว้ก่อนแล้ว

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ค. 2021, 05:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ดังนั้น ท่านจึงแสดงหลักว่า ศรัทธา (ที่ถูกต้อง) เป็นอาหารหล่อเลี้ยงโยนิโสมนสิการ เพราะ ปรโตโฆสะที่เป็นกัลยาณมิตร อาศัยศรัทธานั้นเป็นทางเดิน สามารถช่วยเพิ่มเติมเสริมความรู้ความเข้าใจ และชี้แนะส่องนำความคิดได้มากขึ้นโดยลำดับ เช่น ด้วยการปรึกษาหารือ สอบถามข้อติดขัดสงสัย เป็นต้น

โยนิโสมนสิการของคนผู้นั้น เมื่อใช้อยู่บ่อยๆ และได้อาหารหล่อเลี้ยงเสริมอยู่เรื่อยๆ ก็เดินได้คล่องและก้าวไกลยิ่งขึ้น ทำให้ปัญญางอกงามยิ่งขึ้น ครั้นพิจารณาเห็นความจริง รู้ว่าคำแนะนำสั่งสอนนั้นถูกต้องดีงาม เป็นประโยชน์จริง ก็ยิ่งมั่นใจ เกิดศรัทธามากขึ้น โยนิโสมนสิการก็กลับเป็นปัจจัยส่งเสริมศรัทธา ชวนให้ตั้งใจศึกษายิ่งขึ้น จนในที่สุด โยนิโสมนสิการของตนเอง ก็นำบุคคลผู้นั้นไปสู่ความรู้แจ้งและความหลุดพ้นได้

ที่ว่านี้คือ ปฏิปทาที่อาศัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประสานกัน และนี้คือความหมายอย่างหนึ่งของคำว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน และการมีตนเป็นที่พึ่ง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ท่านไม่ได้ปฏิเสธปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกและศรัทธามีความสำคัญมาก แต่ตัวตัดสินอยู่ภายใน คือ โยนิโสมนสิการ

ผู้ใดใช้โยนิโสมนสิการได้ดี การอาศัยปัจจัยภายนอกก็น้อยลงตามอัตรา ผู้ใดไม่ใช้โยนิโสมนสิการเลย กัลยาณมิตรใดๆ ก็ไม่อาจช่วยได้สำเร็จ

สติเป็นองค์ธรรมสำคัญ มีอุปการะมาก จำเป็นต้องใช้ในกิจทุกอย่าง ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่มักมีปัญหาว่า ทำอย่างไรจะให้สติเกิดขึ้นทันเวลาที่ต้องใช้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำอย่างไรจะให้คงอยู่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่หลุดลอยขาดหายไปเสีย

ในเรื่องนี้ ทางธรรมแสดงหลักไว้ว่า โยนิโสมนสิการเป็นอาหารหล่อเลี้ยงสติ ช่วยให้สติที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ช่วยให้สติที่เกิดขึ้นแล้ว เกิดต่อเนื่องไปอีก

คนที่มีความคิดเป็นระเบียบ ความคิดแล่นเรื่อย ได้เรื่องได้ราว เดินเป็นแถวเป็นแนว ย่อมคุมเอาสติไว้ใช้ได้เรื่อย แต่คนที่คิดอะไรไม่เป็น หรือในเวลาที่ความคิดไม่เดิน ไม่มีจุด ไม่มีหลัก สติก็จะพลัดหายอยู่เรื่อย รักษาไว้ไม่อยู่ เพราะตามสภาวะแท้จริง เราจะไปรักษา ไปกักไปกดดึงเอาสติไว้ ย่อมไม่เป็นการถูกต้อง และทำไม่ได้ ที่ถูกต้องคือ ต้องหล่อเลี้ยงมันไว้ หมายความว่า สร้างปัจจัยให้มันอยู่ เมื่อมีปัจจัยให้มันเกิด มันก็เกิด เป็นเรื่องของกระบวนธรรม เป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย จึงต้องทำตามเหตุปัจจัย

ถ้ามองในแง่การทำหน้าที่ โยนิโสมนสิการก็คือความคิดที่สกัดอวิชชาตัณหา หรือการคิดเพื่อสกัดตัดหน้าอวิชชาและตัณหา (พูดแง่บวกว่า ปลุกเร้าปัญญาและกุศลธรรม) กล่าวคือ เมื่อมีการรับรู้อารมณ์ หรือที่เรียกว่าได้รับประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ตามปกติ กระบวนความคิดก็จะแล่นต่อไปทันที

ตอนนี้ คือจุด หรือขั้นตอนของการช่วงชิงบทบาทกัน

- ถ้าอวิชชาตัณหาเข้ามาชิงเอาความคิดไปได้ก่อน ความคิดต่อจากนั้น ก็เป็นกระบวนธรรมของอวิชชาตัณหา ประกอบด้วยการปรุงแต่งของสังขารตามอำนาจความชอบใจ ไม่ชอบใจ และภาพความคิดที่ยึดถือ

- แต่ถ้าโยนิโสมนสิการเข้ามาสกัดตัดหน้าอวิชชาตัณหาได้ ก็จะชักความคิดเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง คือเกิดกระบวนความคิดปลอดอวิชชาตัณหา เป็นกระบวนธรรมแห่งญาณทัสสนะ หรือกระบวนธรรมแห่งวิชชาวิมุตติแทน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.ค. 2021, 05:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สำหรับปุถุชนทั่วไป ตามปกติ พอได้รับรู้อารมณ์แล้ว ความคิดก็มักเดินไปตามกระบวนธรรมแห่งอวิชชาตัณหา คือเอาความชอบใจไม่ชอบใจต่ออารมณ์ที่รับรู้นั้น หรือเอาภาพความคิดที่ยึดถือไว้แล้วมาเทียบทาบ เป็นจุดก่อตัวที่จะปรุงแต่งความคิดเกี่ยวกับอารมณ์หรือประสบการณ์นั้นต่อไป เรียกว่าเป็นกระบวนธรรมแห่งอวิชชาตัณหา ทั้งนี้เพราะได้สั่งสมความเคยชินไว้อย่างนั้น

การมองและการคิดตามแนวของอวิชชาตัณหานี้ เป็นการมองสิ่งทั้งหลายตามที่อยากให้มันเป็น หรือไม่อยากให้มันเป็น เป็นการคิดตามอำนาจความติดใจหรือขัดใจ

การคิดแบบนี้ นอกจากทำให้ไม่มองเห็นตามความเป็นจริง เกิดความเอนเอียงไปตามความชอบความชัง ทำให้เข้าใจผิดหลงผิด หรือได้ภาพที่บิดเบือนแล้ว ยังทำให้เกิดความขุ่นมัว เศร้าหมอง ความเหี่ยวแห้ง อ้างว้าง ว้าเหว่ หวั่นหวาด ความสมหวัง ผิดหวัง ความกดดัน ความคับข้องใจต่างๆ ซึ่งรวมเรียกว่าความทุกข์ตามมาด้วย

ส่วนโยนิโสมนสิการ เป็นการมองตามความเป็นจริง หรือมองตามเหตุ ไม่ใช่มองตามอวิชชาตัณหา พูดอีกอย่างหนึ่งว่า มองตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมัน ไม่ใช่มองตามที่เราอยากให้มันเป็น หรือไม่อยากให้มันเป็น

ปุถุชนพอรับรู้อะไร ความคิดก็จะพรวดเข้าสู่ความชอบใจไม่ชอบใจทันที โยนิโสมนสิการทำหน้าที่เข้าสกัดหรือตัดหน้าในตอนนี้ ชิงเอาบทบาทไปเสีย แล้วเป็นตัวนำกระบวนความคิดบริสุทธิ์ที่พิจารณาตามสภาวะตามเหตุปัจจัย คิดเป็นทางไปอย่างมีลำดับ ทำให้เข้าใจความจริง ทำให้เกิดกุศลธรรม อย่างน้อยก็ทำให้วางใจวางท่าทีและปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ได้เหมาะสมดีที่สุดในคราวนั้นๆ

พูดอย่างภาพพจน์ว่า โยนิโสมนสิการทำให้คนเป็นผู้ใช้ความคิด คือเป็นเจ้า หรือเป็นนายของความคิด เอาความคิดมารับใช้ช่วยแก้ไขปัญหา ให้คนอยู่สุขสบาย ตรงข้ามกับอโยนิโสมนสิการ ซึ่งทำให้คนกลายเป็นทาสของความคิด ถูกความคิดปลุกปั่นจับเชิดให้เป็นไปต่างๆ ชักลากไปหาความเดือดร้อนวุ่นวาย หรือถูกความคิดนั้นเองบีบคั้นให้ได้รับความทุกข์ทรมานต่างๆ อย่างไม่เป็นตัวของตัวเอง

พึงสังเกตด้วยว่า ในกระบวนความคิดที่มีโยนิโสมนสิการเช่นนี้ สติสัมปชัญญะจะเข้ามาร่วมทำงานอยู่ด้วยเองโดยตลอด เพราะโยนิโสมนสิการเป็นอาหารคอยหล่อเลี้ยงมันอยู่เรื่อยๆ

รวมความแง่นี้ว่า โยนิโสมนสิการ คือความคิดที่สกัดอวิชชาตัณหา อวิชชาและตัณหานั้นมาด้วยกันเสมอ แต่บางครั้งอวิชชาแสดงบทบาทเด่น ตัณหาเป็นตัวแฝง บางครั้งตัณหาเด่น อวิชชาเป็นตัวแฝง

เมื่อเข้าใจความจริงอย่างนี้แล้ว เราอาจแบ่งความหมายของโยนิโสมนสิการออกไปเป็น ๒ อย่าง เพื่อความสะดวกในการศึกษา ตามบทบาทของอวิชชาและตัณหานั้นว่า โยนิโสมนสิการ คือ ความคิดที่สกัดอวิชชา และ ความคิดที่สกัดตัณหาและพึงทราบลักษณะความคิดตามอวิชชา-ตัณหา ดังนี้

๑. เมื่อ อวิชชา เป็นตัวเด่น ความคิดมีลักษณะติดตันวกวนอยู่ที่แง่หนึ่งตอนหนึ่งอย่างพร่ามัว ขาดความสัมพันธ์ ไม่รู้ทางไป หรือไม่ก็ฟุ้งซ่านสับสน ไม่เป็นระเบียบ ปรุงแต่งอย่างไร้เหตุผล เช่น ภาพในความคิดของคนหวาดกลัว

๒. เมื่อ ตัณหา เป็นตัวเด่น ความคิดมีลักษณะโน้มเอียงไปตามความยินดียินร้าย ความชอบใจไม่ชอบใจ หรือความติดใจขัดใจ ติดพันครุ่นอยู่กับสิ่งที่ชอบหรือชังนั้น และปรุงแต่งความคิดไปตามความชอบความชัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดลึกลงไปอีกในด้านสภาวะ อวิชชาเป็นฐานก่อตัวของตัณหา และตัณหาเป็นตัวเสริมกำลังให้แก่อวิชชา ดังนั้น ถ้าจะกำจัดความชั่วร้ายให้สิ้นเชิง ก็จะต้องกำจัดให้ถึงอวิชชา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 83 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร