วันเวลาปัจจุบัน 27 เม.ย. 2024, 22:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ธ.ค. 2020, 06:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


#นิพพาน ๔๖ ศัพท์ (พร้อมความหมาย)

๑. โมกฺข (มุจ โมจเน+อ) นิพพาน, โมกขธรรม, สถานที่อาศัยหลุดพ้น, ธรรมเครื่องหลุดพ้น.
- สถานที่อาศัยหลุดพ้น ชื่อว่า โมกขะ
- ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากราคะเป็นต้น ชื่อว่า โมกขะ
- ธรรมที่หลุดพ้นจากสภาพที่ต่ำ และปานกลาง ชื่อว่า โมกขะ

๒. นิโรธ (นิ+รุธ โรธนาวรเณ สุ+ณ) นิพพาน, นิโรธ, นิโรธธรรม, ความดับ.
- สภาวธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลสมีราคะเป็นต้น ชื่อว่า นิโรธะ (ที่ดับราคะเป็นต้น)
- ธรรมที่ไม่มีกิเลส ชื่อว่า นิโรธะ (ธรรมที่ปราศจากกิเลส)

๓. นิพฺพาน (นิ+วาน) นิพพาน, สภาวธรรมที่พ้นจากตัณหา, ความดับตัณหา.
- สภาพที่ดับสนิทเพราะหลุดพ้นจากตัณหาที่เรียกว่าว นะ หรือธรรมเครื่องดับไฟคือราคะเป็นต้น ชื่อว่า นิพพานะ
(ชื่อว่า นิพพานเพราะไม่มีตัณหา)

๔. ทีป (ทีป ทิตฺติยํ+ณ) นิพพาน, ทีปธรรม, ธรรมเป็นที่พึ่งพิง.
- นิพพานเป็นที่พึ่งของสัตว์ผู้ถูกห้วงน้ำในสงสารพัดพาไปดุจเกาะเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ผู้ถูกกระแสคลื่นพัดพาไป จึงชื่อว่า ทีปะ
- นิพพาน ชื่อว่า ทีปะ เพราะทำบุคคลผู้หมดกิเลสให้เป็นเหมือนประทีปดับ
ท่านกล่าวรับรองไว้ว่า “ผู้มีปัญญาย่อมดับกิเลสดุจประทีปนี้ดับไป”
- นิพพานที่สว่างในญาณจักษุของพระอริยบุคคลเท่านั้น ชื่อว่า ทีปะ

๕. ตณฺหกฺขย (ตณฺหาสทฺทูปปท+ขี ขเย+อ) นิพพาน, ธรรมทีสิ้นตัณหา.
- ชื่อว่า ตัณหักขยะ เพราะเป็นเหตุสิ้นไปแห่งตัณหา
- ความสิ้นไปแห่งตัณหา ชื่อว่า ตัณหักขยะ.
- นิพพานเป็นที่สิ้นตัณหา จึงชื่อว่า ตัณหักขยะ.
- นิพพาน ชื่อว่า ตัณหักขยะ เพราะมีความสิ้นตัณหาเป็นเหตุ.

๖. ปร (ปร) นิพพาน, ปรธรรม, ธรรมอันประเสริฐสุด.
- นิพพานชื่อว่าประ เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อราคะเป็นต้น หรือเพราะมีอรรถประเสริฐสุด

๗. ตาณ (ตา รกฺขเณ+ยุ) นิพพาน, ธรรมเครื่องรักษา, ตาณธรรม, ธรรมเครื่องต้านทาน.
- นิพพานปกป้องบุคคลให้พ้นจากอบายเป็นต้น จึงชื่อว่า ตาณะ
(นิพพานชื่อว่าตาณะ เพราะอรรถว่าต้านทาน)

๘. เลณ (ลี นิลียเน+ยุ) นิพพาน, เลณธรรม, ธรรมเป็นที่หลบซ่อน หรือหลีกจากภัยในสงสาร.
- นิพพานเป็นที่หลีกเร้นจากความกลัวคือภัยจากสงสาร จึงชื่อว่า เลณะ.
- นิพพาน ชื่อว่า เลณะ เพราะอรรถว่า เป็นที่หลีกเร้น.

๙. อรูป (น+รูป) นิพพาน, ธรรมที่ไม่มีรูปร่างสัณฐาน, อรูปธรรม.
- นิพพานไม่มีรูปร่างสัณฐานว่ายาวและสั้นเป็นต้น จึงชื่อว่า อรูปะ

๑๐. สนฺต (สมุอุปสเม+ต) นิพพาน, สันตธรรม, ธรรมเครื่องสงบ.
- นิพพานมีอรรถว่าสงบ จึงชื่อว่า สันตะ.
- นิพพาน ชื่อว่า สันตะ เพราะกระทำให้ราคะเป็นต้นสงบลงได้

๑๑. สจฺจ (สต สาตจฺเจ+จ) นิพพาน, สัจธรรม.
- นิพพานเป็นปรมัตถสัจจะ จึงชื่อว่า สัจจะ.
- นิพพาน ชื่อว่า สัจจะ เพราะเป็นเหตุสิ้นไปแห่งราคะ
- นิพพาน ชื่อว่า สัจจะ เพราะเป็นธรรมไม่ผิดจากความเป็นจริง
- นิพพาน ชื่อว่า สัจจะ เพราะเป็นธรรมที่นับเนื่องในสัจจะ ๔
- นิพพานที่เบียดเบียนทุกข์ ชื่อว่า สัจจะ

๑๒. อนาลย (น+อาลย) นิพพาน, ธรรมที่ปราศจากตัณหา, อนาลยธรรม, ธรรมที่ไม่มีอาลัย.
- เพราะนิพพานไม่มีความอาลัยในกาม จึงชื่อว่า อนาลยะ
- นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีตัณหา จึงชื่อว่า อนาลยะ

๑๓. อสงฺขต (น+สํ+กร กรเณ+ต) นิพพาน, อสังขตธรรม, ธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง.
- นิพพานไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง และเว้นจากลักษณะที่ถูกปรุงแต่ง จึงชื่อว่าอสังขตะ.
- นิพพานไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง จึงชื่อว่าอสังขตะ

๑๔. สิว (สิ เสวายํ+ว) นิพพาน, สิวธรรม, ธรรมอันเกษม, ธรรมอันควรเสพ.
- เพราะนิพพานมีอรรถว่าเป็นธรรมอันเกษม จึงชื่อว่า สิวะ.
- นิพพานกระทำความเกษมให้ ชื่อว่า สิวะ
- เพราะนิพพานเป็นธรรมที่ผู้กลัวภัยในสงสารพึงเสพ จึงชื่อว่า สิวะ.
- นิพพานที่ยังบุคคลให้เข้าไปสงบ ชื่อว่า สิวะ

๑๕. อมต (น+มร ปาณ จาเค+ต) นิพพาน, แดนอมตะ, อมตธรรม, สภาพที่พ้นจากความตาย.
- เพราะไม่มีความตายนิพพาน จึงชื่อว่า อมตะ.
- นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีความตาย จึงชื่อว่า อมตะ.
- นิพพานที่บุคคลเข้าถึงแล้วไม่มีความตาย ชื่อว่า อมตะ

๑๖. สุทุทฺทส (สุ+ทุ+ทิส เปกฺขเณ+อ) นิพพาน, ธรรมที่ปุถุชนมองไม่เห็น, ธรรมที่เห็นได้ยากยิ่ง.
- เพราะนิพพานเป็นธรรมที่เห็นได้ยากยิ่ง จึงชื่อว่า สุทุททสะ

๑๗. ปรายณ (ปรสทฺทูปปท+อิ คติมฺหิ+ยุ) นิพพาน, ปรายณธรรม, ธรรมที่พระอริยะรู้.
- นิพพานอันพระอริยเจ้าผู้ประเสริฐพึงเข้าถึง ชื่อว่าปรายณะ
- ธรรมอื่นจากสงสารธรรมที่พระอริยเจ้าพึงรู้ ชื่อว่าปรายณะ
- ธรรมเป็นที่ดำรงอยู่แห่งพระอริยบุคคล ชื่อว่าปรายณะ.
- การไปถึงแล้วดำรงอยู่ ชื่อว่าปรายณะ

๑๘. สรณ (สร หึสายํ+ยุ) นิพพาน, สรณธรรม.
- นิพพาน เป็นเครื่องกำจัดกิเลสแต่ละระดับของมรรค ๔ ชื่อว่า สรณะ.
- หรือมรรค ๔ เป็น เครื่องกำจัดกิเลสโดยเฉพาะ ชื่อว่า สรณะ.
- หรือธรรมอันเป็นที่อาศัยอยู่ของพระอริยะ ชื่อว่า สรณะ.
- นิพพาน ชื่อว่า สรณะ เพราะมีอรรถว่ากำจัดภัยทำลายภัยให้พินาศไป

๑๙. อนีติก (น+อีติ+ก) นิพพาน, อนีติกธรรม.
- นิพพาน ชื่อว่า อนีติกะ เพราะปราศจากทุกข์.
- นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีความชั่วร้ายที่เป็นอันตราย และเป็นกับดัก จึงชื่อว่า อนีติกะ
- หรือ นิพพาน ชื่อว่า อนีติกะ เพราะไม่มีตัณหา ที่ชื่อนีติ อันนำสัตว์ไปสู่สงสาร

๒๐. อนาสว (น+อาสว) นิพพาน, อนาสวธรรม, ธรรมที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ.
- นิพพาน ชื่อว่า อนาสวะ เพราะไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
- เพราะนิพพานไม่มีอาสวะ ๔ อย่าง จึงชื่อว่า อนาสวะ.
(อาสวะ ๔ ได้แก่ ๑.กามาสวะ อาสวะคือกาม, ๒.ภวาสวะ อาสวะคือภพ, ๓.ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ, ๔.อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา)

๒๑. ธุว (ธุเถริเย+ว) นิพพาน, ธุวธรรม, ธรรมอันมั่นคง.
- เพราะมีอรรถว่ามั่นคง นิพพาน จึงชื่อว่า ธุวะ.
- นิพพาน ชื่อว่า ธุวะ เพราะมีความหมายว่ามั่นคง
- หรือไปสู่ความเป็นมัคคารมณ์ จึงชื่อว่า ธุวะ
- ทางที่พวกเธอผู้ต้องการหลุดพ้นจากชรา และมรณะ พึงดำเนินไป ชื่อว่า ธุวะ ได้แก่ นิพพาน.
- ธรรมที่มั่นคง ชื่อว่า ธุวะ
(นิพพานเป็นธรรมอันมั่นคง ถาวร เที่ยงแท้ เพราะไม่มีการเกิดขึ้น และ เสื่อมไป)

๒๒. อนิทสฺสน (น+นิ+ทิส เปกฺขเณ+ยุ) นิพพาน, อนิทัสสนธรรม, ธรรมที่มองไม่เห็นด้วยตา.
- เพราะนิพพานเป็นธรรมที่มองไม่เห็นด้วยจักขุวิญญาณ จึงชื่อว่า อนิทัสสนะ.
-นิพพาน ชื่อว่า อนิทัสสนะ เพราะเป็นสภาพที่มองไม่เห็น.
- นิพพาน เป็นธรรมที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา จึงชื่อว่า อนิทัสสนะ

๒๓. อกต (น+กร กรเณ+ต) นิพพาน, อกตธรรม, ธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง.
- นิพพาน มีชื่อว่า อกตะ เพราะเป็นธรรมที่ไม่ถูกสร้างขึ้นโดยปัจจัย

๒๔. อปโลกิต (น+ป+ลุช นสฺสเน+อิ+ต) นิพพาน, อปโลกิตธรรม.
- นิพพาน ถึงความเป็นธรรมไม่เลือนหายเพราะมีอยู่ตลอดกาล หรือนิพพานเป็นธรรมที่ปรากฏอยู่โดยสภาพไม่เสื่อมนั้นชื่อว่า อปโลกิตะ.
- ธรรมที่ปรากฏอยู่โดยสภาวะของโลก ชื่อว่า โลกิตะ, นิพพาน ชื่อว่า อปโลกิตะ เพราะปราศจากธรรมที่ปรากฏอยู่โดยสภาวะของโลก
- เพราะนิพพาน เป็นธรรมไม่เสื่อม จึงชื่อว่า อปโลกิตะ.

๒๕. นิปุณ (นิ+ปุ โสเธ+ยุ) นิพพาน, นิปุณธรรม, ธรรมที่ละเอียดอ่อน.
- เพราะมีอรรถว่าละเอียดอ่อน นิพพาน จึงชื่อว่า นิปุณะ
- นิพพานเป็นเครื่องชำระกิเลสของมรรค ๔ ให้หมดจด จึงชื่อว่า นิปุณะ.

๒๖. อนนฺต (น+อนฺต) นิพพาน, ธรรมที่ไม่พินาศ, อนันตธรรม.
- นิพพานไม่มีความเสื่อมสลายไปตลอดกาล จึงชื่อว่าอนันตะ
- นิพพานเรียกว่าอนันตะ เพราะไม่มีที่สุดและไม่มีการกำหนดขอบเขต

๒๗. อกฺขร (น+ขร วินาเส+อ, น+ขี ขเย+อร) นิพพาน, อักขรธรรม, ธรรมที่ไม่เสื่อมสลาย.
- ธรรมที่เสื่อมไป ชื่อว่า ขระ ได้แก่ สังขตธรรม,
- นิพพาน เป็นธรรม ที่ไม่มี ความเสื่อมเหล่านั้น จึงชื่อว่า อักขระ,
- นิพพาน ชื่อว่า อักขระ เพราะเป็นปฏิปักษ์ ต่อสังขตธรรมคือสิ่งที่เสื่อม

๒๘. ทุกฺขกฺขย (ทุกฺข+ขย) นิพพาน, ทุกขักขยธรรม, ธรรมเป็นเหตุสิ้นทุกข์.
- นิพพานชื่อว่าทุกขักขยะ เพราะเป็นเหตุสิ้นทุกข์ทั้งปวง

๒๙. อพฺยาพชฺฌ, อพฺยาปชฺฌ, อพฺยาปชฺช (น+พฺยาพชฺฌ) นิพพาน, ธรรมที่ทุกข์เบียดเบียนไม่ได้, ธรรมที่ไม่มีความพินาศ.
- ธรรมที่เบียดเบียน ชื่อว่า พยาพาธะ
- นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีทุกขสัจนั้น จึงชื่อว่า อัพยาพัชฌะ
- นิพพาน ชื่อว่า อัพยาปัชฌะ เพราะไม่มีความเบียดเบียน.

๓๐. วิวฏฺฏ (วิ+วฏฺฏ) นิพพาน, วิวัฏฏธรรม.
- นิพพาน ชื่อว่า วิวัฏฏะ เพราะไม่มีกิเลสวัฏกัมมวัฏ และ วิปากวัฏ.

๓๑. เขม (ขี ขเย+ม) นิพพาน, เขมธรรม, แดนเกษม, สถานที่ไม่มีภัย, ธรรมอันเป็นเครื่องดับราคัคคิเป็นต้น.
- นิพพาน ชื่อว่า เขมะ เพราะปราศจากภัย หรือเป็นที่สิ้นไฟราคะเป็นต้น จึงชื่อว่า เขมะ
- นิพพาน ชื่อว่า เขมะ เพราะไม่มีอันตราย

๓๒. เกวล (เกว วิสํโยเค+อล) นิพพาน, เกวลธรรม, ธรรมที่ไม่มีสังขารปรุงแต่ง.
- นิพพาน ชื่อว่า เกวละ เพราะไม่ประกอบด้วยสังขารธรรมเครื่องปรุงแต่ง.

๓๓. อปวคฺค (อป+วชฺช วชฺชเน+อ) นิพพาน, อปวัคคธรรม, ธรรมที่เว้นจากสังขารปรุงแต่ง.
- นิพพานที่เว้นจากสังขาร ชื่อว่า อปวัคคะ

๓๔. วิราค (วิ+รญฺช ราเค+อ) นิพพาน, วิราคธรรม, ธรรมอันปราศจากราคะ.
- นิพพาน ที่ปราศจากราคะ ชื่อว่า วิราคะ
- นิพพาน เป็นที่สำรอกออกจากกิเลส ชื่อว่า วิราคะ.
- ธรรมที่สงบสังขารทั้งปวงสลัดออกซึ่งอุปธิทั้งปวงสิ้นตัณหาคลายกำหนัดดับสนิทปราศจากตัณหา.
- เพราะนิพพานเป็นปัจจัยให้บรรลุซึ่งความปราศจากราคะ จึงชื่อว่า วิราคะ.
- เพราะนิพพานเป็นเหตุแห่งความสิ้นราคะเป็นต้น จึงชื่อว่า วิราคะ

๓๕. ปณีต (ป+นี ปาปุณเน+ต) นิพพาน, ธรรมที่เป็นประธาน.
- นิพพานถึงความเป็น ธรรมอันเป็นประธาน จึงชื่อว่า ปณีตะ
- นิพพาน ชื่อว่า ปณีตะ เพราะมีอรรถว่า ประเสริฐสุด

๓๖. อจฺจุต (น+จุ จวเน+ต) นิพพาน, อัจจุตธรรม, ธรรมที่ไม่มีจุติของพระอรหันต์.
- นิพพานที่พระอริยบุคคลถึงแล้ว ไม่มีการเคลื่อนไปเป็นอย่างอื่นชื่อว่าอัจจุตะ
- ท่านบรรลุอมตบทอันปราศจากตัณหาแล้ว ไม่เคลื่อนไปหรือ.

๓๗. ปท (ปท คติมฺหิ+อ) นิพพาน, ปทธรรม, ธรรมที่พระอริยะบรรลุ.
- นิพพานชื่อว่าปทะ เพราะพระอริยเจ้าบรรลุ.

๓๘. โยคกฺเขม (โยคสทฺทูปปท+ขี ขเย+ม) นิพพาน, ธรรมเครื่องช่วยให้สิ้นโยคะ.
- นิพพานเป็นเครื่องสิ้นโยคะทั้ง ๔ (คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา) ชื่อว่าโยคักเขมะ

๓๙. ปาร (ปาร สมตฺถิยํ+อ) นิพพาน, ปารธรรม, ธรรมที่สามารถสงบความเร่าร้อนเพราะทุกข์ในสงสาร,
ธรรมที่ไม่เป็นซี่ล้อแห่งสังสารวัฏ.
- นิพพานสามารถดับความเร่าร้อน คือทุกข์ในสงสาร จึงชื่อ ปาระ
- นิพพานทำให้ความเร่าร้อน คือ ทุกข์ในสงสารสงบลงได้ไม่เป็นซี่ล้อแห่งสังสารวัฏ จึงชื่อว่า ปาระ.
- นิพพาน ชื่อว่า ปาระ เพราะมีอรรถตรงข้ามกับวัฏฏะ.

๔๐. มุตฺติ (มุจ โมจเน+ติ) นิพพาน, มุตติธรรม, ธรรมอันหลุดพ้นจากกิเลส.
- เพราะนิพพานหลุดพ้นจากกิเลสพ้นจากสรีระ และอินทรีย์(ไม่มีตัวตน) จึงชื่อว่า มุตติ
- นิพพาน เป็นธรรมที่พ้นจากภพทั้ง ๓ จึงชื่อว่า มุตติ

๔๑. สนฺติ (สมุ อุปสเม+ติ) นิพพาน, สันติธรรม, ธรรมที่สงบจากกิเลส.
- เพราะนิพพานเป็นธรรมที่สงบจากกิเลส จึงชื่อว่า สันติ.

๔๒. วิสุทฺธิ (วิ+สุธ โสเจยฺเย+ติ) นิพพาน, วิสุทธิธรรม, ธรรมอันหมดจดจากมลทินมีราคะเป็นต้น.
- นิพพานยังสัตว์ให้หมดจดจากมลทินมีราคะเป็นต้น จึงชื่อว่า วิสุทธิ
- วิสุทฺธิ คือ นิพพานอันเว้นจากมลทินทั้งปวงมีความบริสุทธิ์อย่างเดียว

๔๓. วิมุตฺติ (วิ+มุจ โมจเน+ติ) นิพพาน, วิมุตติธรรม, ธรรมที่พ้นจากสังขาร.
- เพราะพ้นจากสังขารทั้งปวงนิพพาน จึงชื่อว่า วิมุตติ

๔๔. อสงฺขตธาตุ (น+สงฺขต+ธาตุ) นิพพาน, อสังขตธาตุ, ธาตุที่ไม่ถูกสร้างขึ้นโดยเหตุปัจจัย, ธาตุที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะความสงบ.
- นิพพาน คือ ธาตุที่เป็นเพียงอสังขตะ(ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง) เพราะไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่ชีวิต หรือ เพราะทรงไว้ซึ่งลักษณะความสงบจึง ชื่อว่า อสังขตธาตุ

๔๕. สุทฺธิ (สุธ โสเจยฺเย+ติ) นิพพาน, สุทธิธรรม, ธรรมเครื่องชำระมลทินมีราคะเป็นต้น.
- นิพพานชำระสัตว์จากมลทินมีราคะเป็นต้น จึงชื่อว่าสุทธิ.
- เพราะนิพพานเป็นธรรมที่บริสุทธิ์โดยปรมัตถ์ จึงชื่อว่า สุทธิ
- นิพพานชื่อว่าสุทธิ เพราะหมดจดที่สุด

๔๖. นิพฺพุติ (นิ+วุ อาวรเณ+ติ) นิพพาน, นิพพุติธรรม, ธรรมที่ออกจากตัณหา, ธรรมที่ปราศจากตัณหาเครื่องกั้นให้ติดอยู่ในสงสาร.
- ตัณหาร้อยสัตว์ไว้ เพราะไม่ให้ออกไปจากสงสาร จึงชื่อว่าวุติ, ได้แก่ตัวตัณหา,นิพพานชื่อว่านิพพุติ เพราะออกจากตัณหานั้น.

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ม.ค. 2021, 18:49 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 74 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร