ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

สัมมาทิฏฐิ
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=60279
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 04:22 ]
หัวข้อกระทู้:  สัมมาทิฏฐิ

๑. สัมมาทิฏฐิ

ความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ


“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพพนิมิต
ฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตเพื่อการตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งอริยสัจ ๔ ประการ
ฉันนั้น; ภิกษุผู้มีสัมมาทิฏฐิย่อมเป็นอันหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักรู้ชัดตามเป็นจริงว่า ทุกข์
คือดังนี้...เหตุให้เกิดทุกข์ คือดังนี้...ความดับทุกข์ คือดังนี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ คือดังนี้”

“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์มรรคเหล่านั้น สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำอย่างไร?
(ด้วยสัมมาทิฏฐิ) จึงรู้จักมิจฉาทิฏฐิ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ
รู้จักมิจฉาสังกัปปะว่าเป็นมิฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะ ว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ รู้จัก
มิจฉาวาจา.. สัมมาวาจา..มิจฉากัมมันตะ..สัมมากัมมันตะ ฯลฯ”

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้าอย่างไร? เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้,
เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอชีวะ จึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ จึงพอเหมาะได้,
เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติ จึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้,
เมื่อมี สัมมาสมาธิ สัมมาญาณ จึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาญาณ สัมมาวิมุติ จึงพอเหมาะได้;

“โดยนัยดังนี้แล ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงกลายเป็นพระอรหันต์ ผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐”

“ข้อที่ภิกษุจักทำลาย อวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ทำให้แจ้งซึ่งนิพพานได้ ด้วยทิฎฐิที่
ตั้งไว้ชอบ ด้วยมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบ นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ นั่นเพราะเหตุใด?
ก็เพราะตั้งทิฏฐิไว้ชอบแล้ว”

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้ กุศลกรรม ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น
หรือกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเพิ่มพูนไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย”

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 04:52 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

คำจำกัดความของสัมมาทิฏฐิ

คำจำกัดความที่พบบ่อยที่สุด คือ ความรู้ในอริยสัจ ๔ ดังพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิ คืออะไร? ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ใน
ทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ”

คำจำกัดความนอกจากนี้ ได้แก่

รู้อกุศลและอกุศลมูล กับกุศล และกุศลมูล: “เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัด ซึ่งอกุศล...อกุศลมูล
...กุศล...และกุศลมูล ด้วยเหตุเพียงนี้ เธอชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง ประกอบด้วย
ความเลื่อมใสแน่วแน่ในธรรม เข้าถึงสัทธรรมนี้แล้ว”

เห็น: “ภิกษุเห็น............ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ
เมื่อเห็นชอบ ก็ย่อมหน่าย เพราะสิ้นเพลิน ก็สิ้นการย้อมติด เพราะสิ้นการย้อมติด ก็สิ้นเพลิน
เพราะสิ้นเพลินและย้อมติด จิตจึงหลุดพ้น เรียกว่า พ้นเด็ดขาดแล้ว”

“ภิกษุเห็นจักษุ...โสตะ...ฆานะ...ชิวหา...กาย...มโน...รูป..เสียง...กลิ่น...รส...
โผฏฐัพพ...ธัมมารมณ์ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ”

เห็นปฏิจสมุปบาท: คำจำกัดความแบบนี้ เป็นแบบที่มีมากแบบหนึ่ง และไม่จำเป็นต้องนำ
พุทธพจน์มาอ้าง เพราะเคยอ้างถึงมาแล้ว

พุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง แยกความหมายของสัมมาทิฏฐิ เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับที่เป็นสาสวะ
กับ ระดับ โลกุตระ

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน? เรากล่าวว่าสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ
ที่ยังมีอาสวะ ซึ่งจัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์ อย่างหนึ่ง กับ สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ
ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ และเป็น อย่างหนึ่ง”

“สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดอยู่ในฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์เป็นไฉน? คือความเห็นว่า
ทานที่ให้แล้วมีผล การบำเพ็ญทานมีผล การบูชามีผล กรรมที่ทำไว้ดีและชั่ว มีผล
มีวิบาก โลกนี้มี ปรโลกมี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ
ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้และปรโลกให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง มีอยู่ นี้แล
สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์”

“สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน? คือ องค์มรรค
อสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นตัวปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ ของผู้มีจิต
เป็นอริยะ มีจิตไร้อาสวะ มีอริยมรรคเป็นสมังคี ผู้กำลังเจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิ
ที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค”

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 05:05 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

ข้อควรทราบทั่วไปเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ

ทิฏฐิ หรือเขียนลดรูปเป็น ทิฐิ แปลว่า ความเห็น หมายรวมถึง ความเชื่อถือ ลัทธิ
ทฤษฎี ความเข้าใจตามนัยเหตุผล ข้อที่เข้ากับความเข้าใจของตน หลักการที่เห็นสม
ข้อที่ถูกใจ ข้อที่เชิดชูเอาไว้ ความใฝ่นิยม หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ค่านิยม รวมไป
ถึงอุดมการณ์ แนวทัศนะในการมองโลกและชีวิต ที่เรียกกันว่า โลกทัศน์และชีวทัศน์ต่างๆ
ตลอดจนทัศนคติพื้นฐาน ที่สืบเนื่องจากความเห็นความเข้าใจ และความใฝ่นิยมเหล่านั้น

ถ้าจะจัดเข้าเป็นพวกๆ ทิฏฐิ ก็คงมี ๒ ระดับ คือ ความเห็น ความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณค่า
ว่าดี ไม่ดี ควรจะเป็น ไม่ควรจะเป็น เป็นต้น อย่างหนึ่ง ความเห็น ความเข้าใจ เกี่ยวกับ
ความจริงว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เพระเหตุไร เป็นต้น อย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้ในเรื่อง
สัมมาทิฏฐิ ๒ ประเภท

ทิฏฐิ คือ ความเห็น ความเข้าใจ ความใฝ่นิยมยึดถือต่างๆ นั้น มีอิทธิพลครอบงำ และ
มีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตและสังคมของมนุษย์เป็นอย่างมาก

ในกรรมบถ ท่านจัดทิฏฐิเข้าเป็นมโนกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่สำคัญ มีผลมากมายร้ายแรงที่สุด
ยิ่งกว่ากายกรรม และ วจีกรรม เพราะเป็นตัวบันดาลกายกรรมและวจีกรรมอยู่เบื้องหลัง
อีกชั้นหนึ่ง สามารถนำชีวิต สังคม หรือมนุษยชาติทั้งหมดไปสู่ความเจริญงอกงามรุ่งเรือง
หลุดพ้น หรือนำไปสู่ความเสื่อม ความพินาศก็ได้

ดังจะมองเห็นได้ในชีวิตของบุคคล ทิฏฐิเป็นตัวชักจูง และกำหนดวิถีชีวิต ทั้งในด้านรับเข้า
และด้านแสดงออก กล่าวคือ จะมองเห็นโลกและชีวิตเป็นอย่างไร และจะปฏิบัติต่อโลก
และชีวิตนั้นอย่างไร เริ่มตั้งแต่จะแปลความหมายของประสบการณ์ที่รับรู้เข้ามาใหม่อย่างไร
จะตีค่า จะตัดสินวินิจฉัยว่าอย่างไร จะหันไปหาหรือเลือกรับสิ่งใด ส่วนใด ในแง่ใด จะเห็น
ด้วยหรือไม่ จะอยู่ฝ่ายใด แล้วชักนำแนวความคิด การพูดการกระทำที่จะสนองตอบโต้
แสดงปฏิกิริยาออกไปว่าจะเอาอย่างไร พูดหรือทำอย่างไร กับบุคคล สิ่ง สภาพแวดล้อม
หรือสถานการณ์นั้นๆ พร้อมทั้งสร้างเหตุผลประกอบสำหรับการที่จะพูดจะทำเช่นนั้น

กล่าวสั้นๆ ด้วยศัพท์ธรรมว่า ทิฏฐิปรุงแต่งชักนำองค์ธรรมต่างๆ ตั้งแต่สังกัปปะ คือความคิด
หรือความดำริเป็นต้นไป ให้เป็นมิจฉา หรือเป็นสัมมา ตามทิฏฐินั้นๆ

ในทางปฏิบัติ ความสำคัญของทิฏฐิมองเห็นได้ไม่ยาก เช่น เมื่อคนชอบความมั่งมี เ
ห็นว่าความพรั่งพร้อมทางวัตถุส่วนตัวเป็นจุดหมายของชีวิต เป็นเครื่องวัดความสำเร็จ
ของบุคคล และเป็นเครื่องหมายแห่งความภาคภูมิใจ เขาย่อมพยายามดิ้นรนขวนขวาย
เพื่อแสวงหาความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้น ไม่ว่าจะศึกษาเล่าเรียน หรือประกอบกิจการงาน
ก็ทำเพื่อจุดหมายนี้ และเมื่อมองดูคนอื่น เขาก็จะวัดจะตีค่าจะให้เกียรติคนนั้นๆ หรือไม่
โดยถือเอาความมั่งคั่งพรั่งพร้อมเป็นเกณฑ์

ยิ่งถ้าเขาขาดความใฝ่สุจริตด้วยแล้ว เขาก็จะแสวงหาความมั่งคั่ง โดยไม่เลือกวิธีว่า
เป็นไปโดยสุจริตชอบธรรมหรือไม่ และจะมองเห็นคนประพฤติสุจริตที่ยากไร้ว่า
เป็นคนเขลาครึทึ่มทื่อ หรือไร้เกียรติ

ถ้าเด็กเห็นว่า การมีอำนาจ เป็นความเก่ง เป็นความดี เขาก็จะมีท่าทีที่น้อมไปในทาง
แสดงอำนาจ ทำตัวยิ่งใหญ่ ชอบครอบงำข่มเหงรังแกผู้อื่น

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 05:17 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

ถ้าคนเห็นว่าบุญบาปไม่มีจริง เป็นเพียงคำขู่หลอกไว้ เขาย่อมไม่เอาใจใส่สิ่งที่สอนว่า
เป็นบุญ และไม่ระวังยั้งตัวในสิ่งที่ถือว่าเป็นบาป

เมื่อคนไม่เข้าใจซึ้งถึงสภาวะของโลกและชีวิตที่เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ถาวรอยู่โดยธรรมดา
เขาย่อมมีความยึดมั่นต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และบุคคลแวดล้อมมาก แล้วเกิดความ
หวั่นไหว หวั่นกลัว ทำการ และมีพฤติกรรมสะท้อนความทุกข์ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจ
ของความยึดมั่น หวั่นไหว หวาดกลัวนั้น ดังนี้เป็นต้น

ส่วนในด้านดี ก็พึงทราบโดยนัยตรงข้าม

ความเห็นที่ผิด เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ได้กล่าวแล้วว่า
ปัจจัยให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ได้แก่ ปรโตโฆสะ ที่ไม่ดีไม่งาม สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ชั่วร้าย
เฉพาะอย่างยิ่งปาปมิตร และ อโยนิโสมนสิการ คือการทำในใจโดยไม่แยบคาย ไม่รู้จักคิด
คิดไม่เป็น คิดไม่ถูกวิธี

ส่วนปัจจัยของสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปรโตโฆสะที่ดีงาม การหล่อหลอมกล่อมเกลาในทาง
ที่ถูกต้องจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี เฉพาะอย่างยิ่งกัลยาณมิตร หรือการเสวนา
สัตบุรุษ และ โยนิโสมนสิการ คือการทำในใจโดยแยบคาย รู้จักคิด คิดเป็น หรือคิดถูกวิธี

ในที่นี้ จะพูดถึงแต่สัมมาทิฏฐิเป็นหลัก เอามิจฉาทิฏฐิเป็นเรื่องแทรก

สัมมาทิฏฐิ แบ่งเป็น ๒ ประเภท หรือ ๒ ระดับ คือ

๑. โลกิยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบระดับโลกีย์ คือ
ยังเนื่องในโลก ขึ้นต่อโลก ได้แก่
ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตที่ถูกต้องตามหลักแห่งความดี
เป็นไปตามคลองธรรม หรือสอดคล้องกับศีลธรรม ดังตัวอย่างในพุทธพจน์ที่ยกมา
แสดงไว้แล้วข้างต้น

โดยทั่วไป สัมมาทิฏฐิประเภทนี้เกิดจาก ปรโตโฆสะ คือปัจจัยฝ่ายภายนอก หรือ
องค์ประกอบทางสังคม ด้วยอาศัยศรัทธาเป็นเครื่องเชื่อมโยงหรือชักนำ เฉพาะอย่างยิ่ง
เกิดจากการหล่อหลอมกล่อมเกลาของสังคม เช่น การอบรมสั่งสอนทางศีลธรรม
การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม เป็นต้น แม้สัมพันธ์กับโยนิโสมนสิการ ก็มักเป็น
โยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศล

ทิฏฐิระดับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่า เช่นว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด อะไรดีกว่า อะไรเลวกว่า
ควรจะเป็น ไม่ควรจะเป็น หรือว่าน่าเป็น ไม่น่าเป็น อย่างไร เป็นต้น ตลอดจนหลัก
ความเชื่อ หลักความเห็นต่างๆ ที่จะรักษาคุณค่าที่ดีงามถูกต้องไว้

เพราะเหตุที่เกิดจากการหล่อหลอมของสังคม มีการถ่ายทอดโดยปรโตโฆสะ
ทิฏฐิประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นหลักการ กฎเกณฑ์ มาตรฐาน ความเชื่อถือ
ชนิดที่มนุษย์ปรุงแต่ง สร้างสรรค์ หรือบัญญัติวางกันขึ้น เป็นของซ้อนเข้ามา
หรือต่างหากจากกฎธรรมดาของธรรมชาติอีกทีหนึ่ง และดังนั้น จึงมีลักษณะของ
ความเป็นโลกิยะ คือมีรายละเอียดข้อปลีกย่อยผิดแปลกแตกต่างกันออกไปตาม
กาลเทศะ เปลี่ยนแปลงได้ตามอิทธิพลของสภาพแวดล้อมและความเป็นไปของสังคม

ทิฏฐิจำพวกข้อถูกใจ ความใฝ่นิยม หรือค่านิยมทั้งหลาย ล้วนรวมอยู่ในทิฏฐิประเภทโลกิยะนี้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ารายละเอียดข้อปลีกย่อยของทิฏฐินี้จะเปลี่ยนแปลงต่างกันไปได้
ตามถิ่นฐานและกาลสมัย แต่ก็มีหลักกลางสำหรับวัดความเป็นสัมมาทิฏฐิ คือ ความสอด
คล้องกับหลักกรรม หรือกฎแห่งกรรม เพราะหลักกรรมเป็นกฎธรรมดา หรือหลักความจริง
ที่รองรับความเป็นไปแห่งพฤติกรรมทั้งหมดของมนุษย์

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 05:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

โดยนัยนี้ โลกิยสัมมาทิฏฐิจึงมีกฎธรรมชาติรองรับอยู่ หรือสอดคล้องกับความจริง
ของธรรมชาติ และด้วยเหตุนี้ บางครั้งท่านจึงจำกัดความหมายของโลกิยสัมมาทิฏฐิ
โดยระบุลงไปว่า ได้แก่ กัมมสกตาญาณ คือความรู้ว่าคนมีกรรมเป็นของตน
รู้ว่าคนเป็นเจ้าของการกระทำของตน จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น คือไ
ด้รับผลแห่งกรรมของตน ซึ่งเป็นความรู้เข้าใจที่สอดคล้องกับกฎแห่งกรรม หรือพูดได้ว่า
รู้เข้าใจถึงการที่พฤติกรรม และผลสืบเนื่องจากพฤติกรรมทั้งหลายของมนุษย์
เป็นไปตามกฎธรรมดาของความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย

โลกิยสัมมาทิฏฐินี้ จึงส่องถึงค่านิยมพื้นฐาน เช่น ความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน
ความใฝ่ผลสำเร็จที่เกิดจากการกระทำ หรือความเพียรพยายาม ความสามารถ และ
สติปัญญาของตนเอง ความรู้จักพึ่งตนเอง และการช่วยเหลือกันด้วยเรี่ยวแรงกำลัง
ของมนุษย์เอง เป็นต้น

พึงสังเกตด้วยว่า ความรู้เกี่ยวกับกรรมในระดับนี้ เป็นเพียง “ความรู้ถึงความที่
กรรมเป็นของตน” รู้ว่าแต่ละสัตว์แต่ละคนเป็นเจ้าของการกระทำของตน ที่จะทำ
ให้รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตนนั้น หรือรู้ว่ามนุษย์จะเป็นไปตามกฎแห่งกรรม
นั้น อยู่ในขั้นของความรู้เข้าใจที่สอดคล้องกับกฎแห่งกรรมเท่านั้น ยังมิใช่เป็นการรู้
เข้าใจตัวกฎ หรือหยั่งรู้ถึงความเป็นไปของเหตุปัจจัยนั้นโดยตรง ทั้งนี้เพราะความรู้
เข้าใจที่หยั่งถึงตัวกฎหรือเหตุปัจจัยโดยตรง ย่อมจัดเข้าในจำพวก โลกุตรสัมมาทิฏฐิ
ซึ่งเป็นข้อต่อไป

นอกจากนี้ อาจวัดความเป็นโลกิยสัมมาทิฏฐิด้วยวิธีพูดอย่างอื่นอีก เช่นว่า ได้แก่
ทิฏฐิชนิดที่เกื้อกูล เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม หรือว่าได้แก่ทิฏฐิชนิด
ที่ทำให้ก้าวหน้าไปในมรรคได้ คือ ส่งผลแก่องค์มรรคข้ออื่นๆ ได้ ตั้งแต่ช่วยให้เกิด
สัมมาสังกัปปะ เป็นต้น และในเมื่อเป็นความรู้ความเข้าใจที่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ตามธรรมดาของธรรมชาติ โลกิยสัมมาทิฏฐินี้ จึงอาจเชื่อมต่อให้ก้าวไปยัง
โลกุตรสัมมาทิฏฐิได้ด้วย

๒. โลกุตรสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบระดับโลกุตระ คือเหนือโลก ไม่ขึ้นต่อโลก
ได้แก่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริง หรือรู้เข้าใจ
ตามสภาวะของธรรมชาติ พูดง่ายๆ ว่า รู้เข้าใจธรรมชาตินั่นเอง

สัมมาทิฏฐิประเภทนี้ เกิดจาก โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายใน หรือปัจจัย
ภายในตัวบุคคล ปรโตโฆสะที่ดี หรือกัลยาณมิตร อาจช่วยได้เพียงด้วยการกระตุ้น
ให้บุคคลนั้นใช้โยนิโสมนสิการแล้วรู้เห็นเข้าใจเอง หมายความว่า สัมมาทิฏฐิประเภทนี้
ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงด้วยการรับฟังแล้วเชื่อตามคนอื่นด้วยศรัทธา เพราะต้องเป็น
การรู้จักที่ตัวสภาวะเอง ต้องเอาธรรมชาตินั่นเองเป็นข้อพิจารณาโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ โลกุตรสัมมาทิฏฐิจึงไม่เกี่ยวข้องกับหลักการ กฎเกณฑ์ ข้อยึดถือที่ปรุงแต่ง
หรือบัญญัติวางซ้อนเพิ่มขึ้นมาต่างหากจากธรรมดาของธรรมชาติ และจึงเป็นอิสระ
จากการหล่อหลอมของสังคม ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
เป็นการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเองแท้ๆ ซึ่งมีสภาวะและธรรมดาเสมอเหมือนกันทุกถิ่น
ฐานทุกกาลสมัย

โดยนัยนี้ สัมมาทิฏฐิประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นโลกุตระ คือ ไม่ขึ้นต่อกาล ไม่จำกัดสมัย
เป็นความรู้ความเข้าใจอย่างเดียวกัน จำเป็นสำหรับปรีชาญาณและความหลุดพ้นในทุกถิ่น
ทุกกาลเสมอเหมือนกัน

สัมมาทิฏฐิตามความหมายอย่างที่สองนี้ ที่ท่านจัดเป็นโลกุตระนั้น หมายเอาเฉพาะที่เป็น
ความรู้ความเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง ถึงขั้นเป็นมรรคเป็นผล ทำให้เป็นอริยบุคคลเท่านั้น

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 05:37 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

แต่กระนั้นก็ตาม สัมมาทิฏฐิที่เป็นมรรคเป็นผลนั้น ก็สืบเนื่องไปจากสัมมาทิฏฐิแบบเดียวกัน
ที่เป็นของปุถุชนนั่นเอง ดังนั้น จึงขอเรียกสัมมาทิฏฐิตามความหมายอย่างที่สองนี้ ในขั้นที่
เป็นของปุถุชนว่า สัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระ

พึงเห็นความสำคัญของสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตระ หรือแนวโลกุตระนี้ว่า เป็นธรรมที่มีผล
ลึกซึ้งกว่าโลกิยสัมมาทิฏฐิมาก สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพอย่าง
ที่เรียกว่าถอนรากถอนโคน

สัมมาทิฏฐิระดับนี้เท่านั้น จึงกำจัดกิเลสได้ มิใช่เพียงกด ข่ม หรือทับไว้ และทำให้เกิด
ความมั่นคงในคุณธรรมอย่างแท้จริง ไม่แกว่งไกวไหวโอนไปตามค่านิยมที่สังคมหล่อหลอม
เพราะมองความจริงผ่านทะลุเลยระดับสังคมไปถึงสภาวธรรมที่อยู่เบื้องหลังแล้ว จึงไม่
เต้นส่ายไปกับภาพปรุงแต่งในระดับสังคม

ความที่ว่าในตอนนี้ มีความหมายสำคัญในแง่ของการศึกษาด้วย เพราะจะเป็นข้อพิจารณา
เกี่ยวกับพัฒนาการของบุคคลว่าควรจะสัมพันธ์กับสังคมและธรรมชาติอย่างไร ควรได้รับ
อิทธิพล หรือได้รับประโยชน์จากสังคมและธรรมชาตินั้น แค่ไหนเพียงไร

อนึ่ง ดังที่ทราบอยู่แล้วว่า สัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระ เกิดจากโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการ
จึงมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งควรย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งว่า ตามปกติ พฤติกรรมของมนุษย์
ปุถุชนจะเป็นไปตามอำนาจของค่านิยม ที่เกิดจากการหล่อหลอมทางสังคม เช่น ละเว้น
การกระทำไม่ดีอย่างนั้น และกระทำการที่ดีอย่างนี้ ตามคำอบรมสั่งสอนบอกเล่าถ่ายทอด
เล่าเรียน หรือจดจำแบบอย่างมา ถ้าเมื่อใดปุถุชนไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของค่านิยมเช่นนั้น
เขาก็จะตกเป็นทาสของตัณหา ที่เรียกกันในสมัยใหม่ว่าอารมณ์ของตนเองแต่โยนิโสมนสิการ
ช่วยให้หลุดพ้นได้ ทั้งจากอิทธิพลของค่านิยมทางสังคม และจากความเป็นทาส
แห่งตัณหาหรืออารมณ์กิเลสของตนเอง ทำให้มีพฤติกรรมอิสระ ที่เป็นไปด้วยปัญญา

จึงอาจพูดสรุปได้ว่า ปุถุชนจะคิดจะทำการใดๆ ก็ตาม หากขาดโยนิโสมนสิการเสียแล้ว
ถ้าไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของค่านิยมจากภายนอก ก็ย่อมตกเป็นทาสแห่งตัณหาของตนเอง
เมื่อใดมีโลกุตรสัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้นเขาก็จะหลุดพ้นจากอำนาจปรุงแต่งของสังคมได้อย่างแท้จริง

เมื่อใดทิฏฐิกลายเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้นก็จัดเป็นปัญญา หรือไวพจน์คำหนึ่งของปัญญา
แม้ว่าในขั้นแรกเริ่ม สัมมาทิฏฐินั้นจะยังเป็นเพียงความเห็นหรือความเชื่ออยู่ ทั้งนี้เพราะ
ความเห็นหรือความเชื่อนั้นสอดคล้องกับความเป็นจริง มีความเข้าใจตามสภาวะหรือตาม
เหตุปัจจัยเป็นที่อ้างอิง เริ่มเดินหน้าออกจากอำนาจครอบงำของอวิชชาและตัณหา

ต่อจากนั้นไป แม้ว่าความเห็นหรือความเชื่อนั้นจะกลายเป็นความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจน
แจ่มแจ้งที่เรียกว่าญาณแล้ว ก็ยังคงเรียกด้วยชื่อเดิมว่าสัมมาทิฏฐิได้เรื่อยไป เพื่อสะดวก
ในการมองเห็นความเจริญเติบโตหรืองอกงามที่ต่อเนื่องกัน

โดยนัยนี้ สัมมาทิฏฐิจึงมีความหมายกว้างขวาง คลุมตั้งแต่ความเห็นและความเชื่อถือ
ที่ถูกต้อง ไปจนถึงความรู้ความเข้าใจตามสภาวะที่เป็นจริง

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 05:49 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิ กับการศึกษา
ในแง่ของการศึกษา กล่าวได้ว่า คนเริ่มมีการศึกษา เมื่อเขามีสัมมาทิฏฐิ บางท่าน
อาจมองในแง่จากภายนอกเข้าไปตามนัยแห่งไตรสิกขา โดยถือเอาศีลเป็นที่เริ่มต้น
แล้วกล่าวว่า การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนประพฤติสุจริต แต่คำกล่าวเช่นนี้ยังนับว่า
ไม่เข้าถึงตัวการศึกษา หรือแก่นแท้ของการศึกษา เพราะการฝึกปรือในขั้นศีลให้มีสุจริต
ก็ด้วยมุ่งสร้างสมนิสัยหรือความเคยชินในทางที่ดีงาม เป็นทางนำคนระดับเวไนย
ไปสู่การมองเห็นคุณค่าของความประพฤติสุจริตเช่นนั้น (นี้คือแง่ที่พฤติกรรมกลับเป็น
ฝ่ายปรุงแต่งค่านิยมได้ เช่นเดียวกับปัจจัยทางสังคมอย่างอื่นๆ)

เมื่อใดคนมองเห็นคุณค่า เกิดความเข้าใจซาบซึ้ง และใฝ่นิยมความสุจริต
เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เมื่อนั้นศีลหรือความประพฤติสุจริต จึงจะแน่นแฟ้นมั่นคงได้
(ตอนนี้ค่านิยมจะเป็นฝ่ายกำหนดพฤติกรรม) และเมื่อนั้นแหละจึงเรียก
ได้ว่าเขาเป็นผู้มีการศึกษา

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า การที่ฝึกปรือในไตรสิกขา เริ่มแต่ศีลไป ก็เพื่อฟักบ่มให้
องค์มรรคทั้งหลายเริ่มแต่สัมมาทิฏฐิเกิดขึ้น เมื่อใดองค์มรรคซึ่งมีสัมมาทิฏฐิ
เป็นตัวนำ บังเกิดขึ้นในบุคคล จึงจะนับได้ว่าเขามีการศึกษา เพราะนับแต่
บัดนั้นไป องค์ธรรมทั้งหลายในตัวบุคคลนั้น จึงจะเริ่มเข้าประจำทำหน้าที่
สอดประสานส่งทอดต่อกัน

สัมมาทิฏฐิ นอกจากจะทำให้ศีลหรือความประพฤติสุจริตนั้นมั่นคงจริงจังแล้ว
ยังช่วยให้การประพฤติศีลเป็นไปด้วยความจริงใจ ไม่เสแสร้ง และเป็นหลัก
ประกันให้ประพฤติได้ถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมายของศีล
ไม่ผิดพลาดกลายเป็น สีลพตปรามาสหรือถือปฏิบัติโดยงมงายเป็นต้นอีกด้วย

เมื่อใดมีสัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้นจึงวางใจในการปฏิบัติศีล หรือไว้ใจในความสุจริตนั้นได้
แต่ถ้ายังไม่มีสัมมาทิฏฐิตราบใด ก็ยังไม่อาจวางใจในศีลตราบนั้น

ถ้าแสดงความหมายอย่างผ่อนลงมา โดยถือเอาปัจจัยของสัมมาทิฏฐิเป็นหลัก
ก็อาจกล่าวว่า การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนเริ่มรู้จักคิด (โยนิโสมนสิการ) ความหมาย
อย่างนี้ก็นับได้ว่าถูกต้อง ด้วยเป็นการกล่าวแบบเล็งความถึงกัน เพราะเมื่อมี
โยนิโสมนสิการแล้ว ก็หวังได้ว่าสัมมาทิฏฐิจะเกิดตามมา

ดังจะเห็นได้ว่า แม้แต่การปฏิบัติระดับศีล เมื่อได้โยนิโสมนสิการช่วยนำพฤติกรรม
จึงจะทำให้การปฏิบัติดำเนินไปอย่างถูกต้องพอดี และเป็นการกระทำอย่างมีเป้าหมาย
ที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ ทั้งตนเองก็ได้ความเข้าใจ มีความมั่นใจ จิตเป็นกุศล โปร่งผ่องใส

ยกตัวอย่างเช่น ในการแต่งตัวให้สะอาดเรียบร้อย นอกจากคำนึงถึงคุณค่าเพื่อชีวิต
คือปกปิดและปกป้องร่างกายจากหนาวร้อนและความละอายเป็นต้นแล้ว โยนิโสมนสิการ
ยังช่วยให้คำนึงในทางเกื้อกูลแก่ผู้อื่นและแก่สังคมอีกด้วย เช่นทำใจว่า เราจะแต่ง
ตัวอย่างนี้ ให้สะอาดเรียบร้อยอย่างนี้ เพื่อความเป็นระเบียบดีงามของหมู่ของชุมชน
หรือของสังคม เรานุ่งห่มไม่ให้น่าเกลียดหรือน่ารังเกียจ ให้เรียบร้อยงดงามอย่างนี้
เพื่อรักษาจิตใจของคนอื่นที่เขาพบเห็น ให้เป็นกุศล ไม่เศร้าหมองขุ่นมัว
เพื่อช่วยเสริมบรรยากาศให้คนอื่นๆ มีจิตใจผ่องใส โน้มน้อมไปในความดีงาม

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 06:02 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

แต่ถ้าคิดขึ้นมาว่าจะอวดโก้ อวดฐานะ เอาเด่น จะข่มคนโน้นคนนี้ หรือจะล่อใจคน
ห้หลงใหลติดพัน หรือมีจิตคิดแง่งอนว่าจะทำตามใจฉัน ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง
ดังนี้เป็นต้น ก็กลายเป็นอโยนิโสมนสิการ อกุศลธรรม ก็เข้าครอบงำใจ จิตก็ปิด
ล้อมตัวเองให้คับแคบ ไม่โปร่งโล่ง ไม่ผ่องใส และพฤติกรรมในการแต่งกาย
ก็พร้อมที่จะวิปริตออกไปจากความถูกต้องพอดี ได้ทันที

เมื่อพูดถึงการศึกษา คนทั่วไปมักนึกถึงการเล่าเรียนความรู้สำหรับทำมาหาเลี้ยงชีพ
อันเป็นเรื่องของอาชีวะ และเป็นเรื่องระดับศีล

การศึกษาที่มุ่งสร้างแต่อาชีวะ โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นสัมมาชีวะ หรือมิจฉาชีวะ
ย่อมไม่มีสาธุชนใดเห็นชอบด้วย แต่การศึกษาที่มุ่งสร้างสัมมาอาชีวะเพียงอย่างเดียว
โดยไม่ใส่ใจสร้างสัมมาทิฏฐิ ก็ยังหาชื่อว่าเป็นการศึกษาที่ถูกต้องไม่ และน่าจะไม่
สำเร็จผลสมความมุ่งหมาย แม้แต่ที่จะให้เกิดสัมมาอาชีวะนั้นด้วย เพราะยังไม่เข้า
ถึงตัวการศึกษา อาจจะเป็นสัมมาอาชีวะแต่เพียงชื่อ ไม่ใช่สัมมาอาชีวะที่แท้ เพราะ
เป็นการฝึกหัดศีล โดยไม่ทำองค์มรรคให้เกิดขึ้น จึงยังผิวเผิน ฉาบฉวย ไม่หยั่งรากลง

ทางที่ถูก จะต้องปลูกฝังสัมมาทิฏฐิไว้เป็นรากฐานของสัมมาอาชีวะด้วย พูดง่ายๆ
ว่า จะให้ถือศีลโดยไม่มีความใฝ่นิยมศีล หรือให้ประพฤติสุจริตโดยไม่มีค่านิยมแห่ง
ความสุจริต ย่อมไม่เพียงพอ

ดังจะเห็นสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่มีอยู่ในสังคมบางถิ่นบางสมัย ความใฝ่นิยมทุจริต
เป็นไปอย่างแพร่หลาย ถึงกับคนจำนวนมากเห็นไปว่า การทำอะไรได้สำเร็จ หรือ
หาทรัพย์สินได้ด้วยวิธีหลอกลวงคดโกงฉลาดในการทุจริตหรือทำร้ายผู้อื่น เป็นความ
เก่งกล้าสามารถ สังคมนั้น แม้จะมีสภาพทั่วไปอุดมสมบูรณ์ แต่เต็มไปด้วยการทุจริต
และอาชญากรรม พร้อมกันนั้น ในอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งสภาพทั่วไปมีความอดอยากยาก
แค้นกว่าเป็นอันมาก กลับมีอาชญากรรมต่างๆ น้อย แม้แต่คนจนไร้ ก็ยอมเป็นขอทาน
ยิ่งกว่าจะลักขโมยทำการทุจริต (แต่ในสังคมที่ขาดความใฝ่สุจริต แม้แต่การขอทาน
คนก็ทำอย่างเป็นการทุจริต)

ความที่กล่าวในตอนนี้ มีความสำคัญถึงขั้นหลักการ ซึ่งควรจะเน้นไว้ เกี่ยวกับความสัมพันธ์
ระหว่างมรรคกับ ไตรสิกขา ซึ่งมองดูได้ที่สัมมาทิฏฐิ กับการฝึกอบรมศีล อันเป็นข้อแรก
ของหมวดธรรมแต่ละฝ่าย

ในตอนต้น ได้เคยกล่าวถึงความสัมพันธ์อย่างเป็นปัจจัยกัน ระหว่างศีล กับสัมมาทิฏฐิว่า
เมื่ออยู่ร่วมกันด้วยดีโดยสงบเรียบร้อย ใจก็ไม่ต้องคอยสะดุ้งหวาดระแวง เมื่อประพฤติดี
มีศีล ก็ไม่มีความเดือดร้อนวุ่นวายใจ ทำให้จิตสงบ เป็นสมาธิได้ เมื่อใจสงบแน่วแน่ผ่องใส
ก็ช่วยให้คิดคล่อง มองเห็นอะไรๆ ชัดเจน ไม่เอนเอียง มีความเข้าใจดี เกิดปัญญา
ถ้าปัญญานั้นรู้ตระหนักมองเห็นคุณค่าของความประพฤติดีมีศีล ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ
เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ คือเห็นถูก เข้าใจถูกต้อง ก็คิด แล้วพูด ทำ ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง เป็นศีลอีก

อีกตอนหนึ่ง ก็ได้กล่าวว่า การฝึกหัดศีล หรือฝึกอบรมความประพฤติ จะชื่อว่าเป็นการศึกษา
ก็ต่อเมื่อสามารถทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ อย่างน้อยตั้งแต่ขั้นซาบซึ้งในคุณค่าของศีล
หรือมีค่านิยมแห่งความสุจริตขึ้นไป

การฝึกอบรมความประพฤติที่จะให้มีผลเช่นนี้ ได้กล่าวมา ณ ที่นี้ ๒ อย่าง คือ

๑) การฝึกศีลที่อาศัยความเคยชินและศรัทธา เป็นวิธีที่เน้นหนักในด้านระเบียบวินัย
ได้แก่การจัดสรรสภาพแวดล้อมให้เป็นกรอบกำกับความประพฤติ และจัดระเบียบความ
เป็นอยู่ เช่น กิจวัตร เป็นต้น ให้กระชับ ฝึกคนปฏิบัติให้เกิดความคุ้นและเคยชินเป็นนิสัย
พร้อมนั้นก็สร้างเสริมศรัทธา โดยให้กัลยาณมิตรเช่นครูแนะนำชักจูงให้เห็นว่า
การประพฤติดี มีระเบียบวินัยเช่นนั้น มีประโยชน์ คุณค่าหรืออานิสงส์อย่างไร และอาจ
ให้ได้ยินได้เห็นบุคคลผู้มีความประพฤติดีงามน่าเลื่อมใสศรัทธา ที่มีความสุข
ความสำเร็จเป็นแบบอย่าง (เช่น ครูนั่นเอง) ประกอบไปด้วย

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 10:05 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

โดยวิธีนี้ ความซาบซึ้งในคุณค่าของความประพฤติดีงาม ความรักวินัย ความใฝ่นิยมศีล
ก็เกิดขึ้นได้ แม้จะไม่มีกัลยาณมิตรคอยชี้แจงประโยชน์ หรือได้เห็นแบบอย่างอะไรมากนัก
แต่ถ้าระเบียบวินัย หรือกรอบความประพฤตินั้น เป็นสิ่งที่เขาปรับตัวเข้าได้ เกิดความเคยชิน
เป็นนิสัยขึ้นมา ก็ดี เขาได้รับผลดีมองเห็นประโยชน์แก่ตนบ้าง ก็ดี เขาก็จะเกิดความใฝ่นิยม
และคิดหาเหตุผลเข้ากับความประพฤติดีมีระเบียบวินัยนั้นเอง

เมื่อพ้นจากขั้นประพฤติไปตามกรอบหรือตามบังคับ มาถึงขั้นเห็นคุณค่าใฝ่นิยมที่จะทำ
อย่างนั้นแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ นับได้ว่าเริ่มมีการศึกษา แม้ว่าจะเป็นสัมมาทิฏฐิ
ชนิดโลกีย์อย่างอ่อนเหลือเกิน และไม่สู้มั่นคงปลอดภัยนัก เพราะอาจกลายเป็นการปฏิบัติ
ด้วยความยึดมั่นงมงายเป็นสีลพตปรามาสได้ก็ตาม

๒) การฝึกศีลที่ใช้โยนิโสมนสิการกำกับ เป็นวิธีที่เน้นความเข้าใจในความหมาย
ของการกระทำ หรือการปฏิบัติทุกอย่าง คือปฏิบัติการด้วยโยนิโสมนสิการ หรือ
ใช้โยนิโสมนสิการนำ และคุมพฤติกรรม ดังตัวอย่างเรื่องการแต่งกายที่ได้กล่าวมาแล้ว

ตามวิธีนี้ กัลยาณมิตร เช่น ครู จะช่วยได้ โดยแนะแนวความคิดให้เห็นช่องทาง
พิจารณาและเข้าใจความหมายของพฤติกรรมนั้นๆ ไว้ก่อน แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติ
นักเรียนหรือผู้ปฏิบัตินั้น จะต้องทำใจพิจารณาเอาเองทุกคราวทุกกรณีไป

ตัวอย่างอื่นอีก เช่น ในการไหว้กราบแสดงความเคารพ ผู้กราบไหว้พระสงฆ์ หรือ
แสดงความเคารพผู้ใหญ่กว่า อาจทำใจให้เข้ากับความหมายที่ถูกต้องดีงามเป็น
กุศลของการกระทำในกรณีนั้นๆ และเวลานั้นๆ

ดังเช่นว่า เราขอกราบไหว้ เพื่อเป็นการฝึกตนให้เป็นคนอ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง
หรือเรากราบไหว้ เพื่อเชิดชูระเบียบเพื่อความดีงามของสังคม หรือเรากราบไหว้
เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการเทิดทูนธรรมที่ท่านผู้นั้นเป็นตัวแทนอยู่ หรือเรากราบ
ไหว้ ด้วยเมตตาหวังดีหวังประโยชน์แก่ท่านผู้นั้น เพื่อเป็นเครื่องช่วยระวังรักษา
ท่านให้ดำรงตนอยู่ในภาวะและฐานะที่ดีงามเหมาะสม หรืออย่างน้อยที่สุดว่า
เรากราบไหว้นี้ เป็นการจะประพฤติธรรมในส่วนของตัวเรา ให้ถูกต้อง ให้ดีงาม
ที่สุดของเราก็แล้วกัน ดังนี้เป็นต้น

ทางฝ่ายพระสงฆ์ ผู้ใหญ่ หรือครู ที่เป็นผู้จะได้รับความเคารพกราบไหว้ ก็อาจ
ทำใจเมื่อเขากราบไหว้เคารพตน เช่น นึกเป็นโอกาสที่ได้สำรวจตนว่า เรายัง
เป็นผู้มีคุณธรรมความประพฤติสมควรแก่การได้รับความเคารพกราบไหว้อยู่หรือ
ไม่ หรือนึกว่า ท่านผู้นี้อยู่ในฐานะที่เราพึงแนะนำได้ เขาไหว้กราบถูกต้องหรือ
ไม่อย่างไร เป็นโอกาสที่เราจะรู้ไว้ และค่อยนำมาแนะนำด้วยความหวังดีต่อไป
หรือมีใจอนุโมทนาว่า ท่านผู้นี้ คนผู้นี้ ช่างเป็นผู้มีคุณธรรมสูง รู้จักรักระเบียบ
ของสังคม รู้จักให้เกียรติเทิดทูนธรรม หรือทำใจว่า เอาเถิด ว่ากันไปตามสมมติ
ของโลก แล้วแต่จะทำอย่างไรให้โลกมันดี ก็เอา ดังนี้เป็นต้น

เมื่อทำใจด้วยโยนิโสมนสิการอย่างนี้ ก็จะมีความมั่นใจในการกระทำของตน
และจะไม่เกิดอกุศลกรรมเข้าครอบงำจิตด้วย เช่น ทางฝ่ายผู้กราบไหว้ ก็จะไม่
ต้องมาถือเทียบเขาเทียบเราด้วยกิเลสแห่งความยึดติดถือมั่นในตัวตนว่า เขา
มีดีอะไรเราจะต้องไหว้ เราดีกว่าเขาเสียอีก จะไหว้ทำไม ดังนี้เป็นต้น ทาง
ฝ่ายผู้จะได้รับการแสดงความเคารพ ก็จะไม่ต้องเกิดกิเลสคอยระแวง หรือ
โทมนัสน้อยใจแค้นเคือง เช่นว่า ทำไมคนนี้ไม่ไหว้เรา ทำไมคนนั้นไหว้
ด้วยอาการไม่ถูกใจเรา หรือลุ่มหลงลืมตัวว่า เรานี้เป็นผู้เลิศประเสริฐสูง
ผู้คนทั้งหลายพากันนอบนบกราบไหว้ ดังนี้เป็นต้น

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 10:16 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

ตัวอย่างที่ยกมานี้ ล้วนเป็นโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลธรรม และให้เกิดสัมมาทิฏฐิ
แบบโลกีย์เท่านั้น แต่ก็จะเห็นได้ว่า วิธีฝึกข้อ ๒ นี้ประณีตลึกซึ้งกว่าวิธีที่ ๑ สามารถ
ป้องกันผลเสีย คือการเกิดขึ้นของอกุศลธรรมที่จะเข้าแฝงซ้อนการปฏิบัติ ซึ่งวีธีที่หนึ่ง
ป้องกันไม่ได้ เป็นการปฏิบัติอย่างมั่นใจด้วยปัญญา ทำให้เกิดความเข้าใจเป็น
สัมมาทิฏฐิเพิ่มขึ้นเรื่อยไป พร้อมกันกับการฝึกศีล และปิดช่องที่จะกลายเป็นการ
ประพฤติปฏิบัติศีลด้วยความงมงาย ที่เรียกว่าสีลพตปรามาส

วิธีฝึกที่ถูกต้องตามแนวของมรรคอย่างแท้จริง คือวิธีที่ ๒ หากจะใช้วิธีที่ ๑ ควบ
ไปด้วย ก็น่าจะได้ผลดียิ่งขึ้น แต่จะใช้วิธีที่ ๑ อย่างเดียว นับว่ายังไม่เพียงพอ
สำหรับการศึกษาที่แท้ เพราะในการศึกษาที่ถูกต้อง ภายนอกเริ่มต้นด้วยการฝึก
ขั้นศีล แต่ภายในต้องใช้โยนิโสมนสิการสร้างปัญญา ให้เกิดสัมมาทิฏฐิพร้อมกัน
แต่แรกเรื่อยไป และเมื่อทำอย่างนี้ ก็เป็นการใช้โยนิโสมนสิการในทางปฏิบัติ
ซึ่งใช้ได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่รอเอาไว้พิจารณาความคิดอย่างเดียว

ที่ว่านั้น ไม่ใช่แต่ในขั้นศีลนี้เท่านั้น แม้ในขั้นสมาธิ และขั้นปัญญาแท้ๆ ก็จะต้อง
ใช้โยนิโสมนสิการอย่างนี้เรื่อยไป สัมมาทิฏฐิ และองค์มรรคทั้งหลายภายใน จึง
จะเจริญแก่กล้าพรั่งพร้อมยิ่งขึ้นได้

โดยนัยนี้ ก็จะมองเห็นความเจริญขององค์มรรค ที่ควบไปกับการฝึกไตรสิกขา
กล่าวคือ เมื่อมองจากข้างนอก หรือมองตามขั้นตอนใหญ่ ก็จะเห็นการฝึกอบรม
ตามลำดับขั้นของไตรสิกขา เป็นศีล สมาธิ และปัญญา แต่เมื่อมองเข้าไปข้างใน
ดูที่รายละเอียดของการทำงาน ก็จะเห็นองค์มรรคทั้งหลายเดินไขว่ทำหน้าที่กันอยู่
หรือว่าบุคคลนั้นกำลังเดินตามมรรคอยู่ตลอดเวลา

ตามมรรคด้วย นี้คือความหมายของความที่ว่า เป็นการประสานขานรับกัน ทั้งระบบ
ฝึกคนจากข้างนอก และระบบก้าวหน้าขององค์ธรรมที่อยู่ข้างใน

มองลึกลงไปอีกถึงพัฒนาการของบุคคล เมื่อพิจารณาตามหลักเท่าที่กล่าวมาแล้ว
จะเห็นได้ว่า ถ้าปล่อยให้มนุษย์เจริญเติบโตอย่างเป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่อาศัย
ปัจจัยทางสังคมเข้าช่วยเสียเลย ก็จะมีเพียงอัจฉริยมนุษย์ไม่กี่คน ที่จะสามารถ
ใช้โยนิโสมนสิการโดยลำพังตัว นำตนเข้าถึงชีวิตที่ดีงามสูงสุด

ในทางตรงข้าม การปล่อยให้มนุษย์เจริญเติบโตขึ้น ด้วยการหล่อหลอมของปัจจัย
ต่างๆ ทางสังคมอย่างเดียว ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาเข้าถึงความดีงามสูงสุด
ที่เขาเองสามารถเข้าถึงได้

โดยนัยนี้ อาจกล่าวว่า แนวทางพัฒนาบุคคล ๒ แบบต่อไปนี้ เป็นวิธีการสุดโต่ง
ที่ผิดพลาด คือ
๑) การพัฒนา โดยปล่อยให้เป็นไปเองอย่างเสรีตามธรรมชาติ
๒) การพัฒนา ตามความปรุงแต่งต้องการของสังคม
การพัฒนาตามธรรมชาติเท่านั้น ไม่เพียงพอ จะต้องพัฒนาด้วยความเข้าใจสภาวะ
ของธรรมชาติ ที่จะทำให้วางใจวางท่าทีสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างถูกต้องได้ผลดีด้วย

ในทำนองเดียวกัน การพัฒนาตามความต้องการของสังคมเท่านั้น ก็ไม่เพียงพอ
จะต้องพัฒนาด้วยความรู้เท่าทันที่จะให้สามารถหลุดพ้นจากอำนาจปรุงแต่งของสังคมได้ด้วย

การพัฒนาที่สมบูรณ์ จะต้องเกี่ยวข้องทั้งกับธรรมชาติ และกับสังคม ทั้งนี้
เพราะมนุษย์เกิดขึ้นได้ก็ด้วยอาศัยทั้งธรรมชาติ และมนุษย์อื่น เมื่อเป็นอยู่
ก็ต้องเกี่ยวข้องทั้งกับธรรมชาติและกับมนุษย์อื่น

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 10:23 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

จึงอาจกล่าวถึงการพัฒนาบุคคลที่ถูกต้องสมบูรณ์ว่า เป็นพัฒนาการด้วยความรู้
ความเข้าใจ ที่ทำให้เจริญเติบโตขึ้นอย่างเกื้อกูลแก่สังคม และอย่างเป็นกันเอง
กับธรรมชาติ พร้อมกับได้ทั้งสังคมและธรรมชาติเป็นที่หล่อเลี้ยงให้ชีวิตงอกงาม
เอิบอิ่มเบิกบาน มีความดีงาม และความเกษมศานติ์

เมื่อคนจะอยู่ร่วมกันด้วยดี แม้เพียงสองคน ก็ต้องมีขีดขั้นและความรู้จักควบคุม
ยับยั้งในทางพฤติกรรม เมื่ออยู่กันหลายคน ก็ถึงกับต้องมีข้อกำหนด หรือข้อ
ตกลงทางความประพฤติ ว่าอะไรพึงเว้น อะไรพึงทำ ที่ไหนเมื่อใด เพื่อให้ทุก
อย่างเป็นไปอย่างสอดคล้อง ทุกคนได้รับประโยชน์ด้วยกัน (แม้แต่บุคคลผู้เดียว
ก็ยังมีความต้องการต่างๆ ของตนเองที่ขัดกัน ซึ่งทำให้ต้องมีการวางระเบียบวินัย
สำหรับตนเองเพื่อฝึกการดำเนินชีวิตให้ได้ผลดี)

คนหลายคน จากทุกทิศ ขับรถมาเผชิญกันที่สี่แยก แต่ละคนเร่งรีบจะชิงไปก่อน
จึงติดอยู่ด้วยกัน ไปไม่ได้สักคน ทั้งยุ่ง ทั้งเสียเวลา ทั้งจะวิวาทกัน แต่เมื่อยอมกัน
จัดระเบียบ ด้วยความรู้ความเข้าใจ ก็ไปได้โดยสวัสดีทุกคน ด้วยเหตุนี้ หมู่ชนคือ
สังคม จึงต้องมีระเบียบ นอกเหนือจากสิ่งที่เรียกว่าระเบียบแท้ๆ แล้ว ก็ยังมีระบบ
แบบแผน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และสถาบันทั้งหลายในทางสังคม
รวมถึงศิลปวิทยาการต่างๆ ที่ถ่ายทอดสืบกันมา ซึ่งมีผลรวมที่ทำให้สังคมหนึ่งๆ
เกิดมีรูปร่างของตนขึ้น

ปัจจัยต่างๆ ทางสังคม ปรุงแต่งสังคมแล้ว ก็ปรุงแต่งบุคคลให้มีคุณสมบัติสอด
คล้องกลมกลืนกับสังคมนั้นด้วย แต่ในเวลาเดียวกัน บุคคลทั้งหลายนั่นเอง ก็เป็น
ตัวปรุงแต่งปัจจัยต่างๆ ทางสังคม สังคมกับบุคคลจึงปรุงแต่งซึ่งกันและกัน

แต่เมื่อสังคมมีรูปร่างชัดเจนแล้ว ก็มักมีลักษณะแน่นอนตายตัว ทำให้บุคคลมักกลาย
เป็นฝ่ายถูกสังคมปรุงแต่งเอาไว้สนองความต้องการของสังคมฝ่ายเดียว

แต่ความจริงนั้น บุคคลมิใช่เพื่อสังคมฝ่ายเดียว สังคมก็เพื่อบุคคลด้วย และว่ากัน
ในขั้นพื้นฐาน สังคมมีขึ้น เพื่อช่วยให้ชีวิตอยู่กันอย่างดีงาม และสามารถบรรลุ
ความดีงามที่สูงขึ้นไปด้วยซ้ำ

เมื่อมองในแง่นี้ สังคมเป็นปัจจัยอุดหนุนเพียงส่วนหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอที่จะให้มนุษย์
บรรลุชีวิตที่ดีงาม เพราะสังคมเริ่มตั้งต้น หรือถือกำเนิดขึ้น จากการมีระเบียบที่จะให้
คนอยู่ร่วมกันด้วยดี แต่เมื่อเขาอยู่ร่วมกันด้วยดีแล้ว ชีวิตของเขายังมีสิ่งดีงามที่จะพึง
เข้าถึงนอกเหนือจากนั้นอีก

กว้างออกไป สังคมเป็นเพียงส่วนหนึ่ง หรือภาคหนึ่ง ของสิ่งที่ชีวิตจะต้องเกี่ยวข้อง
นอกเหนือจากสังคมแล้ว ก็ยังมีธรรมชาติอีก และสิ่งดีงามสูงสุดนั้น ชีวิตจะได้ ต่อเมื่อ
เข้าถึงธรรมชาติ เพราะว่าโดยสภาวะของชีวิตเองแล้ว ธรรมชาติเป็นพื้นเดิม สังคม
เป็นเพียงส่วนอุ้มชู ซึ่งอาจช่วยให้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดเป็นกันเองกับธรรมชาติก็ได้ หรือ
อาจบิดเบนปิดบังให้เหินห่างจากธรรมชาติก็ได้

อย่างไรก็ตาม สังคมแม้ที่มีรูปร่างชัดเจนอยู่ตัวแล้ว ก็มิใช่จะเป็นฝ่ายปรุงแต่งหล่อ
หลอมบุคคลได้ฝ่ายเดียวเสมอไป ถ้าบุคคลใช้โยนิโสมนสิการ ก็สามารถหลุดพ้น
จากอำนาจปรุงแต่งของสังคมได้

โยนิโสมนสิการนั้น ทำให้บุคคลก้าวข้าม หรือมองทะลุ เลยสังคมไปถึงความจริง
อันไม่จำกัดกาลของธรรมชาติ ที่อยู่เบื้องหลังสังคมอีกชั้นหนึ่ง

เมื่อมีโยนิโสมนสิการแล้ว บุคคลก็สามารถหลุดพ้นจากอำนาจปรุงแต่งของสังคมด้วย
สามารถบรรลุความดีงามที่สูงขึ้นไปอีกด้วย และสามารถหวนกลับมาทำการปรุง
แต่งสังคมอย่างมีสติได้อีกด้วย

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 10:29 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

หลักการในเรื่องที่ว่ามานี้ ก็คือ มนุษย์จำต้องมีระเบียบ เพื่อความอยู่ร่วมกันด้วยดี
สังคมจึงต้องมีวินัยและให้บุคคลมีศีล ที่จะประพฤติตามวินัยของสังคม

อย่างไรก็ตาม ระเบียบวินัยอาจกลายเป็นเพียงเครื่องมือจำกัดเสรีภาพของคน
หรือถึงกับถูกเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือทำคนให้เป็นทาสของระบบก็ได้ ถ้าระเบียบ
วินัยนั้น เป็นสักว่าข้อห้ามข้อบังคับที่ถือปฏิบัติตามๆ กันไปอย่างมืดบอด หรืออาจ
เกิดผลร้ายอย่างอื่นอีก หากให้ปฏิบัติด้วยการบีบบังคับ หรือด้วยคำหลอกลวง

แต่ในเวลาเดียวกัน การแสดงออกที่เรียกว่ากระทำด้วยเสรีภาพ ก็อาจเป็นเพียง
ปฏิกิริยาที่ระบายออก ไปภายนอก ของความมีจิตใจที่ตกเป็นทาสของกิเลสและ
ความทุกข์ภายในตนเอง อาจพูดซ้อนว่า เป็นเสรีภาพในการแสดงความเป็นทาส
เสรีภาพในการที่จะเป็นทาส หรือการยอมให้คนเป็นทาสกันได้อย่างเสรี ซึ่งเสรีภาพ
เช่นนี้ มักหมายถึง เสรีภาพในการที่จะทำผู้อื่นให้เป็นทาสด้วยในรูปใดรูปหนึ่ง
ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

ในเวลาเดียวกันนั่นเอง สำหรับคนที่มีจิตใจเป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลสและ
ความทุกข์ ถ้าถูกปล่อยให้มีโอกาสและเสรีภาพที่จะใช้ปัญญาอย่างบริสุทธิ์ปราศจาก
การเคลือบแฝงใดๆ อย่างที่เรียกว่าเป็นอยู่ด้วยปัญญา ย่อมไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใดๆ
เกี่ยวกับระเบียบวินัย เพราะความมีระเบียบวินัยมีพร้อมอยู่ในตัวของผู้นั้นแล้ว และยิ่ง
กว่านั้นไปอีก ก็คือ เขาพร้อมที่จะปฏิบัติตามระเบียบวินัยอะไรก็ได้ ที่มองเห็นว่าเป็น
ไปเพื่อความดีงาม เพื่อประโยชน์ของมนุษย์

จุดบรรจบของเรื่องนี้คงมีว่า ระเบียบวินัยเป็นสิ่งดีงาม ในเมื่อกำหนดวางและปฏิบัติ
ด้วยความรู้ความเข้าใจความหมายและความมุ่งหมายอย่างถูกต้อง กล่าวคือ ศีล
จะต้องประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ

ดังนั้น การฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัย จะต้องให้เป็นไปพร้อมด้วยการสร้างความเข้าใจ
ให้เห็นคุณค่าของวินัย และความจำเป็นที่ต้องมีระเบียบ

เมื่อจะวางระเบียบ ข้อกำหนด กฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้น พึงให้สมาชิกรู้เข้าใจประโยชน์
และเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ไม่รู้สึกว่าถูกห้าม ถูกสั่ง ถูกบังคับ เป็นอยู่อย่าง
มืดบอด แม้ระบบ แบบแผน วัฒนธรรมประเพณีและสถาบันต่างๆ ที่มีอยู่แล้วของ
สังคม ก็พึงให้สมาชิกรุ่นใหม่แต่ละรุ่น ได้เรียนรู้เข้าใจคุณค่าโดยถูกต้อง

พร้อมกันนั้น ก็ฝึกให้เรียนรู้เข้าใจสภาวธรรม ให้รู้จักมองโลกและชีวิตตามความเป็นจริง
ตามธรรมชาติ ที่จะให้หลุดพ้นจากอำนาจปรุงแต่งหล่อหลอมของสังคม และเข้าถึงความ
ดีงามสูงขึ้นไป ที่สังคมไม่อาจอำนวยให้ได้

แล้วข้อที่สำคัญยิ่ง ก็คือ สังคมนั้นพึงเป็นสังคมที่เป็นกัลยาณมิตร หรืออย่างน้อย
เป็นที่มีกัลยาณมิตรอันพอจะหาได้ สำหรับจะมาช่วยฝึกช่วยแนะโยนิโสมนสิการ
ในเรื่องที่ได้กล่าวมานี้

มีความจริงที่แตกต่างกันอันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ระหว่างสังคม กับธรรมชาติ
ซึ่งมนุษย์ควรจะเข้าใจโดยฝึกอบรมให้เรียนรู้ตั้งแต่ยังเด็ก กล่าวคือ ธรรมชาติเป็น
ไปตามธรรมนิยาม แต่สังคมมนุษย์เป็นไปตามกรรมนิยามด้วย

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 10:42 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

แง่ที่เด็กควรเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือ เด็กควรได้รับการปฏิบัติด้วยเมตตา แต่การ
แสดงเมตตานั้น นอกจากจะเป็นการแสดงความรักความปรารถนาดีเพื่อประโยชน์
ทางจิตใจของเด็กโดยตรง เช่น ความอบอุ่นใจเฉพาะหน้า และความมีสุขภาพจิตที่ดี
ในระยะยาวแล้ว ควรมีเป้าหมายทางปัญญาด้วย คือ ให้นำไปสู่ความเข้าใจซาบซึ้ง
ในความมีเจตนาดีงาม ความมีน้ำใจหรือความตั้งใจดีต่อกันระหว่างมนุษย์

ความเข้าใจซาบซึ้งเช่นนี้ เกิดขึ้นได้ ด้วยการเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
ถ้าหากผู้ใหญ่รู้จักปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างฉลาด เด็กจะเกิดความรู้ความเข้าใจว่า มนุษย์
นี้แตกต่างจากธรรมชาติ มนุษย์มีจิตใจ มนุษย์มีเจตนา มีความจงใจตั้งใจที่จะจัดการ
หันเหการกระทำของตนได้ จะจงใจทำต่อกันในทางร้ายก็ได้ ในทางดีก็ได้ แม่เลี้ยงลูก
มิใช่ทำตามสัญชาตญาณของธรรมชาติเท่านั้น แต่แม่มีความรักความหวังดี มีการเลือก
ตัดสินใจด้วยเมตตาที่เป็นคุณธรรมของมนุษย์ด้วย

ถ้ามนุษย์มีเจตนาดี ทำต่อกันด้วยความปรารถนาดี ก็จะทำให้เกิดความสุขและเป็น
ประโยชน์อย่างมาก ต่างจากธรรมชาติที่เป็นกลางๆ ไม่มีจิตใจ ไม่มีความคิดร้าย หรือคิดดี

ความเป็นไปของธรรมชาตินั้น บางคราวก็อ่อนโยนละมุนละไม อำนวยประโยชน์ ทำให้
มนุษย์พอใจและมีความสุข บางคราวก็ร้ายรุนแรง เป็นโทษ ก่อความทุกข์แก่มนุษย์
แต่จะเป็นไปทางใดก็ตาม ธรรมชาติก็ไม่มีเจตนา ธรรมชาติไม่ได้คิดกลั่นแกล้งมนุษย์
แต่ธรรมชาติเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน และถึงอย่างไร ธรรมชาติก็เป็นที่พึ่งพาอาศัย
ของมนุษย์ เราจึงควรรักธรรมชาติและปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยความรู้ความเข้าใจตามเหตุตามปัจจัย

อนึ่ง ชีวิตของมนุษย์นั้น ตามสภาวะของธรรมดา ก็มีทุกข์ซึ่งถูกธรรมชาติที่ไม่มีเจตนา
คอยบีบคั้นมากอยู่แล้ว มนุษย์เราซึ่งมีเจตนาหันเหการกระทำของตนได้ จึงไม่ควรมา
เบียดเบียนเพิ่มทุกข์แก่กันและกันอีก เราควรใช้เจตนานั้น ในทางช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ผ่อนเบาบรรเทาทุกข์กัน มีเมตตากรุณา กระทำต่อกันด้วยความรักความปรารถนาดี
มีความตั้งใจดีต่อกัน

อย่างไรก็ตาม การแสดงความรักความปรารถนาดีต่อเด็กนั้น จะต้องระวังไม่ให้ก้าว
เลยจากเมตตากลายไปเป็นการพะนอตัณหาของเด็ก เพราะถ้ากลายเป็นการพะนอ
ตัณหาเสียแล้ว เด็กก็จะไม่เกิดความซาบซึ้งในคุณค่าแห่งเจตนาที่ดีของมนุษย์ คือ
ไม่เกิดความตระหนักว่า การกระทำนั้นเป็นไปด้วยเมตตา ด้วยความปรารถนาดีต่อกัน
โดยมนุษย์จงใจทำ และก็จะไม่เกิดความเข้าใจถึงความเป็นกลางของธรรมชาติ

ถ้าเป็นเช่นนี้ นอกจากจะเสียผลในด้านการปลูกฝังเมตตาธรรม และความรู้จักรับ
ผิดชอบต่อตนเองแล้ว ยังทำให้เด็กเสื่อมเสียคุณภาพจิต เพาะเลี้ยงอกุศลธรรมต่างๆ
เช่น ความเห็นแก่ตัว ความเอาแต่ใจตัว ความอ่อนแอ ความโลภ และความอิจฉาริษยา
เป็นต้น ให้เพิ่มขึ้นด้วย

วิธีที่จะป้องกันไม่ให้เลยไปเป็นการพะนอตัณหา ก็คือ การให้เด็กรู้ขอบเขต ระหว่าง
การที่มนุษย์จะกระทำต่อกันด้วยความรักความปรารถนาดีได้ กับการที่จะต้องเป็นไป
ตามเหตุผลของธรรมชาติ

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า พึงระวังไม่ให้มีการแสดงเมตตาอย่างผิดๆ ที่กลายเป็นการขัดขวาง
หรือทำลายความรู้เท่าทันความเป็นจริงแห่งธรรมดา

ในทางปฏิบัติ ก็คือ จะต้อง ใช้พรหมวิหารให้ครบทั้ง ๔ ข้อ คือ นอกจากมีความรัก
ความปรารถนาดีด้วยเมตตา เป็นหลักยืนพื้นอยู่แล้ว ก็มีกรุณาสงสารช่วยเหลือ
เมื่อเด็กได้รับทุกข์ แสดงความยอมรับหรือชื่นชมยินดีเมื่อเด็กได้ความสุขหรือ
ทำการสำเร็จโดยชอบธรรมหรือโดยเหตุโดยผล (มุฑิตา) และรู้จักวางทีเฉยเฝ้าดู
หรือวางใจเป็นกลางเมื่อเด็กทำการตามแนวเหตุผลกำลังรับผิดชอบตนเองได้อยู่
หรือเมื่อมีเหตุที่เด็กควรได้รับผิดชอบต่อผลแห่งการกระทำของตน (อุเบกขา)

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 10:50 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สัมมาทิฏฐิ

โดยเฉพาะข้อสุดท้าย คืออุเบกขานี่แหละ เป็นองค์ธรรมจำเพาะสำหรับป้องกัน
ไม่ให้เมตตากลายเป็นเครื่องปิดกั้นบดบังปัญญา

ท่ามกลางธรรมชาติที่เกื้อกูลบ้าง ไม่เกื้อกูลบ้างนั้น ชีวิตมนุษย์ไม่มีความมั่นคง
มนุษย์ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด แสวงหาเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต หลีกหนี
และกำจัดสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์

เมื่อไม่รู้สภาวะที่แท้จริงของธรรมชาติ ก็ยึดมั่นต่อสิ่งที่ตนใฝ่เพื่อสนองความอยาก
ทุ่มเทคุณค่าให้แก่สิ่งเหล่านั้น มองเห็นโลกเป็นแดนที่จะทะยานหาสิ่งเสพ เป็นที่
ให้ความสุขและทุกสิ่งที่ปรารถนา มองเห็นตนในฐานเป็นผู้ครอบครองเสพเสวยโลก
มองเห็นผู้อื่นเป็นตัวขัดขวางหรือผู้แย่งชิง ทำให้เกิดความหวงแหน ความชิงชัง
ความเกลียดกลัว การเหยียดหยามดูถูก การแข่งขันแย่งชิง การเบียดเบียน
และการครอบงำกันระหว่างมนุษย์

ยิ่งกว่านั้น เมื่อการไม่เป็นไปสมปรารถนา หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นภายหลัง
ก็เกิดความทุกข์อย่างรุนแรง

ครั้นมีกัลยาณมิตรช่วยชักจูง ฝึกให้เห็นคุณค่าของเมตตาธรรม ท่าทีต่อเพื่อนมนุษย์
และต่อธรรมชาติก็ดีขึ้น แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงสัมมาทิฏฐิระดับโลกีย์

ถ้าจะให้ลึกซึ้งและมั่นคงแน่นแฟ้นแท้จริง ก็ต้องฝึกให้เกิดสัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระด้วย
โดยให้เข้าใจสภาวะที่แท้จริงของโลกและชีวิตว่า ล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย
โลกธรรมทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ถาวร ไม่มีแก่นสารที่เป็นของมันเอง และที่จะให้ดำรงอยู่
ได้โดยตัวของมันเอง ไม่อาจจะเข้าไปครอบครองเอาไว้ได้จริง และไม่สามารถให้
ความหมายแท้จริงแก่ชีวิต

แม้ถึงชีวิตของเราเอง ก็มิใช่มีตัวตนที่จะเข้าไปครอบครองอะไรเอาไว้ได้จริงจัง ชีวิตเรา
ชีวิตเขา ก็เป็นไปตามกฎธรรมดาอย่างเดียวกัน มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนร่วม
เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งสิ้น ต่างก็รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน และชีวิตทั้งหลายที่
เป็นอยู่ได้ ก็ต้องสัมพันธ์พึ่งอาศัยกันด้วย

ความรู้ความเข้าใจถึงสภาวะเช่นนี้ จะต้องมีเป็นพื้นฐานไว้บ้าง แม้แต่ในเด็กๆ เพื่อ
ให้รู้จักวางใจ วางท่าทีต่อโลก ต่อชีวิต และต่อเพื่อนมนุษย์ได้ถูกต้อง ทำให้จัดระบบ
การตีค่าทางความคิดใหม่ โดยเปลี่ยนจากใช้ตัณหา หันมาใช้ปัญญาเป็นเครื่องวัดค่า
รู้ว่าอะไรเป็นคุณค่าแท้จริงสำหรับชีวิต ที่ควรแก่ฉันทะ รู้จักทำจิตใจให้เป็นอิสระเบิกบาน
ผ่อนคลายหายทุกข์ได้แยบคายขึ้น และเป็นวิธีบรรเทาความโลภ โกรธ หลง ลดการ
แย่งชิงเบียดเบียนและลดปัญหาทางศีลธรรม ชนิดที่มีฐานมั่นคงอยู่ภายใน

เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเจริญสู่จุดหมาย ด้วยการอุดหนุนขององค์ประกอบ
ต่างๆ ดังที่ตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิ อันองค์ประกอบ ๕ อย่างคอยหนุน (อนุเคราะห์)
ย่อมมี เจโตวิมุต และปัญญาวิมุติ เป็นผลานิสงส์ องค์ประกอบ ๕ อย่างนั้น คือ

(๑) ศีล (ความประพฤติดีงามเกื้อกูล พฤติกรรมไม่ขัดแย้งเบียดเบียน)
(๒) สุตะ (ความรู้จากการสดับ เล่าเรียน อ่านตำรา การแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติม)
(๓) สากัจฉา (การสนทนา ถกเถียง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบค้นความรู้)
(๔) สมถะ (ความสงบ การทำใจให้สงบ การไม่มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ)
(๕) วิปัสสนา (การใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาวะของมัน คือตามเป็นจริง)”

โดยสรุป สัมมาทิฏฐิ ก็คือ ความเห็นที่ตรงตามสภาวะ คือ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง
การที่สัมมาทิฏฐิจะเจริญขึ้น ย่อมต้องอาศัยโยนิโสมนสิการเรื่อยไป เพราะโยนิโสมนสิการ
ช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน หรือมองเห็นเฉพาะผลรวมที่ปรากฏ แต่ช่วยให้มอง
แบบสืบค้นแยกแยะ ทั้งในแง่การวิเคราะห์ส่วนประกอบที่มาประชุมกันเข้า และในแง่การ
สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย ทำให้ไม่ถูกลวง ไม่ถูกปั่นถูกเชิด ไม่ถูกจูงไปหรือยั่วยุได้ ด้วย
ปรากฏการณ์ทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และคตินิยมต่างๆ จนเกิดเป็นปัญหาทั้ง
แก่ตนและผู้อื่น แต่ทำให้มีสติสัมปชัญญะ เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง คิดตัดสินและ
กระทำการต่างๆ ด้วยปัญญา

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/