ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

สังขารทั้งปวงกับธรรมทั้งปวง
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=60283
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 16:49 ]
หัวข้อกระทู้:  สังขารทั้งปวงกับธรรมทั้งปวง

ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง สังขารทั้งปวง กับ ธรรมทั้งปวง

ผู้ศึกษาจะสังเกตเห็นว่า ในข้อ ๑ และข้อ ๒ ท่านกล่าวถึงสังขารทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง
และเป็นทุกข์แต่ในข้อ ๓ ท่านกล่าวถึงธรรมทั้งปวงว่า เป็นอนัตตา คือ ไร้ตัว หรือมิ
ใช่ตน การใช้คำที่ต่างกันเช่นนี้ แสดงว่ามีความแตกต่างกันบางอย่างระหว่างหลัก
ที่ ๑ และที่ ๒ คือ อนิจจตา และทุกขตา กับหลักที่ ๓ คือ อนัตตา และความแตก
ต่างกันนี้จะเห็นได้ชัด ต่อเมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า “สังขาร” และคำว่า “ธรรม”

“ธรรม” เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี
ทั้งที่มีได้และได้มี ตลอดกระทั่งความไม่มี ที่เป็นคู่กับความมีนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใคร
ก็ตามกล่าวถึง คิดถึง หรือรู้ถึง ทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งที่ดีและที่ชั่ว ทั้งที่
เป็นสามัญวิสัยและเหนือสามัญวิสัย รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น

ถ้าจะให้ “ธรรม” มีความหมายแคบเข้า หรือจำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เติมคำขยาย
ประกอบลงไปเพื่อจำกัดความให้อยู่ในขอบเขตที่ต้องการ หรือจำแนกแยกธรรมนั้นแบ่ง
ประเภทออกไป แล้วเลือกเอาส่วนหรือแง่ด้านแห่งความหมายที่ต้องการ หรือมิฉะนั้นก็
ใช้คำว่าธรรมคำเดียวเดี่ยวโดดเต็มรูปของมันตามเดิมนั่นแหละ แต่ตกลงหรือหมายรู้ร่วม
กันไว้ว่า เมื่อใช้ในลักษณะนั้นๆ ในกรณีนั้น หรือในความแวดล้อมอย่างนั้นๆ จะให้มีความ
หมายเฉพาะในแนวความ หรือในขอบเขตว่าอย่างนั้นๆ เช่น เมื่อมาคู่กับ อธรรมหรือใช้
เกี่ยวกับความประพฤติที่ดี ที่ชั่วของบุคคล หมายถึง บุญ หรือคุณธรรมคือความดี เมื่อ
มากับคำว่าอัตถะ หรืออรรถ หมายถึงตัวหลัก หลักการ หรือเหตุ เมื่อใช้สำหรับการเล่า
เรียน หมายถึง ปริยัติ พุทธพจน์ หรือคำสั่งสอน ดังนี้เป็นต้น

“ธรรม” ที่กล่าวถึงในหลักอนัตตตา แห่งไตรลักษณ์นี้ ท่านใช้ในความหมายที่กว้างที่สุด
เต็มที่ สุดขอบเขตของศัพท์ คือ หมายถึง สภาวะหรือสภาพทุกอย่าง ไม่มีขีดขั้นจำกัด
ธรรมในความหมายเช่นนี้ จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อแยกแยะแจกแจงแบ่งประเภทออก
ไป เช่น จำแนกเป็นรู ปธรรมและนามธรรม บ้าง โลกียธรรมและโลกุตรธรรม บ้าง สังขต
ธรรม และอสังขตธรรม บ้าง และกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม (สภาวะที่เป็น
กลางๆ) บ้าง ธรรมที่จำแนกเป็นชุดเหล่านี้ แต่ละชุดครอบคลุมความหมายของธรรมได้
หมดสิ้นทั้งนั้น แต่ชุดที่ตรงกับแง่ที่ควรศึกษาในที่นี้คือ ชุด สังขตธรรม และอสังขตธรรม

ธรรมทั้งหลายทั้งปวง แยกประเภทได้เป็น ๒ อย่าง คือ

๑. สังขตธรรม ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่มีปัจจัย สภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น สิ่งที่ปัจจัยประกอบเข้า หรือสิ่งที่ปรากฏ
และเป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสังขาร ซึ่งมีรากศัพท์และคำแปล
เหมือนกัน หมายถึง สภาวะทุกอย่าง ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม
ทั้งที่เป็นโลกียะและ และโลกุตรั ทั้งที่ดี ที่ชั่ว และที่เป็นกลางๆ ทั้งหมด เว้นแต่ พระนิพพาน

๒. อสังขตธรรม ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีปัจจัย หรือสภาวะที่ไม่เกิดจาก
ปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิสังขาร ซึ่งแปลว่า
สภาวะปลอดสังขาร หรือสภาวะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง หมายถึง พระนิพพาน

ไฟล์แนป:
White-Clouds-Transparent-Images.png
White-Clouds-Transparent-Images.png [ 132.67 KiB | เปิดดู 575 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 13 พ.ค. 2021, 17:38 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สังขารทั้งปวงกับธรรมทั้งปวง

โดยนัยนี้ จะเห็นชัดว่า สังขาร คือ สังขตธรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรม แต่ธรรมกิน
ความหมายกว้างกว่า มีทั้งสังขารและนอกเหนือจากสังขาร คือทั้งสังขตธรรมและอสัง
ขตธรรม ทั้งสังขารและวิสังขาร หรือทั้งสังขารและนิพพาน เมื่อนำเอาหลักนี้มาช่วยใน
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ไตรลักษณ์ จึงสามารถมองเห็นขอบเขตความหมายในหลัก
สองข้อต้นคือ อนิจจตาและทุกขตา ว่าต่างจากข้อสุดท้ายคืออย่างไร โดยสรุปได้ดังนี้

สังขาร คือ สังขตธรรมทั้งปวง ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ ตามหลักข้อ ๑ และข้อ ๒ แห่ง
ไตรลักษณ์ (และเป็นอนัตตาด้วยตามหลักข้อ ๓) แต่อสังขตธรรม หรือวิสังขาร คือ
นิพพาน ไม่ขึ้นต่อภาวะเช่นนี้

ธรรมทั้งปวง คือ ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม ทั้งสังขารและมิใช่สังขาร คือสภาวะ
ทุกอย่างทั้งหมดทั้งสิ้น รวมทั้งนิพพาน เป็นอนัตตา คือไร้ตัว มิใช่ตน

อนัตตตาเท่านั้น เป็นลักษณะร่วมที่มีทั้งในสังขตธรรมและอสังขตธรรม ส่วนอนิจจตา
และทุกขตาเป็นลักษณะที่มีเฉพาะในสังขตธรรม ซึ่งทำให้ต่างจากอสังขตธรรม ใน
พระบาลีบางแห่งจึงมีพุทธพจน์แสดงลักษณะของสังขตธรรมและอสังขตธรรมไว้
เรียกว่า สังขตลักษณะ และอสังขตลักษณะ ใจความว่า

สังขตลักษณะ คือ เครื่องหมายที่ทำให้กำหนดรู้ หรือเครื่องกำหนดหมายให้รู้ว่า
เป็นสังขตะ (ว่าเป็นสภาวะที่มีปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น) ของสังขตธรรม
มี ๓ อย่าง คือ

๑. ความเกิดขึ้น ปรากฏ
๒. ความแตกดับหรือความสลาย ปรากฏ
๓. เมื่อดำรงอยู่ ความผันแปร ปรากฏ

ส่วน อสังขตลักษณะ คือ เครื่องหมายที่ทำให้กำหนดรู้ หรือเครื่องกำหนดหมายให้รู้ว่า
เป็นอสังขตะ (ว่ามิใช่สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันทำขึ้นแต่งขึ้น) ของอสังขตธรรม
ก็มี ๓ อย่าง คือ

๑. ไม่ปรากฏความเกิด
๒. ไม่ปรากฏความสลาย
๓. เมื่อดำรงอยู่ ไม่ปรากฏความผันแปร

รวมความมาย้ำอีกครั้งหนี่งให้ชัดขึ้นอีกว่า อสังขตธรรม หรือวิสังขาร คือนิพพาน พ้นจาก
ภาวะไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นอนัตตา ไร้ตัว มิใช่ตน ส่วนธรรมอื่นนอกจากนั้น คือ
สังขารหรือสังขตธรรมทั้งหมด ทั้งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ดังความในบาลีแห่ง
วินัยปิฎกผูกเป็นคาถายืนยันไว้ว่า

สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขตธรรมทั้งปวงเป็นทุกข์และเป็น อนัตตา นิพพานและบัญญัติ
เป็นอนัตตา วินิจฉัยมีอยู่ดังนี้”

ไฟล์แนป:
Clouds-Aesthetic-Transparent-Image.png
Clouds-Aesthetic-Transparent-Image.png [ 88.91 KiB | เปิดดู 575 ครั้ง ]

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/