วันเวลาปัจจุบัน 02 พ.ค. 2024, 22:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 พ.ค. 2021, 19:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สังขารในขันธ์ ๕ กับ สังขารในไตรลักษณ์
ในภาษาไทย มีตัวอย่างมากมายที่คำพูดหรือคำศัพท์เดียวกัน แต่มีความหมายต่างกัน
หลายอย่าง ที่ต่างกันเล็กน้อย ยังมีเค้าความหรือลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงหรือพอ
เทียบเคียงกันได้ ก็มี ที่ต่างกันห่างไกลจนไม่มีอะไรเทียบหรือโยงถึงกันเลย ก็มี เช่น
“กลอน” หมายถึงคำประพันธ์ประเภทหนึ่งก็ได้ หมายถึง ไม้ขัดหรือลูกสลักประตูหน้า
ต่าง ก็ได้ หมายถึง ลูกตุ้มที่ใช้เป็นอาวุธ ก็ได้

“เขา” ที่หมายถึงเนินอันสูงขึ้นไปบนพื้นดิน และ “เขา” ที่หมายถึงส่วนของกายมี
ลักษณะแข็ง ที่งอกออกมาจากหัวสัตว์บางพวก กล่าวได้ว่ามีลักษณะคล้ายกันอยู่
บ้าง แต่ “เขา” ที่เป็นสรรพนามบุรุษที่สาม กับ “เขา” ที่เป็นชื่อนกพวกหนึ่ง คงพูด
ได้ยากว่ามีอะไรใกล้เคียงหรือเทียบคล้ายกันได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เข้าใจความหมายนัยต่างๆ ของถ้อยคำดีแล้ว และได้ยินได้
ฟังได้ใช้อยู่จนเคยชิน เมื่อพบคำเช่นนั้น ที่มีผู้ใช้พูดใช้เขียนในข้อความต่างๆ ตาม
ปกติจะแยกได้ไม่ยากว่า คำนั้น ที่ใช้ในข้อความนั้น มีความหมายอย่างไร โดยมาก
จะเข้าใจได้ทันที ตัวอย่างเช่น “จะเย็บผ้าได้ ก็ต้องใช้เข็ม จะสร้างบ้านใหญ่ ท่าน
ให้ลงเข็ม” “เขาขึ้นเขาตามล่ากวางเพื่อเอาเขา” “หญิงชราไปในเรือเดินทะเล พอ
ได้ยินว่าจะพบลมใหญ่ ก็จะเป็นลม” “เขาหักพวงมาลัยหลบเด็กขายพวงมาลัย”
“อย่าทำล้อเล่น รถนี้มีแค่สองล้อ” “พอหนังจบ เขาก็รีบคว้ากระเป๋าหนังรุดไปที่ทำ
งาน” “ตายังตาดี แต่ฟันไม่ดี” “กาน้ำนั้นหากินในน้ำ กาน้ำนี้คนขายกาแฟใช้หากิน”
“เพราะเสียดสี จึงเสียสี” “ร่วงโรจไม่ร่วงโรย” ดังนี้ เป็นต้น

ในภาษาบาลีก็เช่นเดียวกัน มีศัพท์มากมายที่มีความหมายหลายนัย ผู้ได้เล่าเรียนดี
แล้ว แม้พบศัพท์เหล่านั้นที่ใช้ในความหมายหลายอย่างปะปนกันอยู่ ก็สามารถจับ
แยกและเข้าใจได้ทันที แต่ผู้ไม่คุ้นเคยหรือผู้แรกศึกษาอาจสับสนงุนงงหรือถึงกับ
เข้าใจผิดได้

ตัวอย่างคำจำพวกนี้ ที่มาจากภาษาบาลี เช่น “นาค” อาจหมายถึงสัตว์คล้ายงูแต่ตัว
ใหญ่มาก ก็ได้ หมายถึงช้างใหญ่เจนศึก ก็ได้ หมายถึงบุคคลผู้ประเสริฐ ก็ได้ “นิมิต”
ในทางพระวินัย หมายถึง วัตถุที่เป็นเครื่องหมายเขตที่ประชุมสงฆ์บ้าง หมายถึงอา
การแสวงหาลาภในทางที่ผิดด้วยวิธีขอเขาแบบเชิญชวนโดยนัย บ้าง แต่ในทางธรรม
ปฏิบัติ หมายถึงภาพที่เห็นในใจในการเจริญกรรมฐาน “นิกาย” หมายถึง หมวดตอน
ในพระไตรปิฎกส่วนพระสูตร ก็ได้ หมายถึง คณะนักบวชหรือกลุ่มศาสนิกที่แบ่งกัน
เป็นพวกๆ ก็ได้ “ปัจจัย” ในทางพระวินัย หมายถึงเครื่องอาศัยของชีวิต เช่น อาหาร
แต่ในทางธรรม หมายถึง เหตุ หรือเครื่องสนับสนุนให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น

ขอให้พิจารณาความหมายของคำศัพท์เดียวกัน ที่ต่างกันออกไป เมื่อใช้ในข้อความ
ต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ ภิกษุ “รู้รสด้วยลิ้น อร่อยก็ตาม ไม่อร่อยก็ตาม เธอไม่ปล่อย
ให้ความติดใจหรือความขัดใจเข้าครอบงำจิต ภิกษุนี้ชื่อว่าสำรวมอินทรีย์ คือลิ้น”
“อินทรีย์คือศรัทธา มีการยังธรรมทั้งหลายที่ประกอบอยู่ด้วยให้เข้าถึงภาวะผ่องใส
เป็นรส ประดุจดังสารส้ม หรือมีการวิ่งแล่นไปหาอารมณ์เป็นรส ภิกษุพึงเจริญอินทรีย์
คือศรัทธานั้น” คำว่า รส ก็ดี อินทรีย์ ก็ดี ในข้อความ ๒ ท่อนนี้ มีความหมายต่างกัน
ในข้อความแรก รส หมายถึงสิ่งที่รู้ด้วยลิ้น หรือสิ่งที่เป็นอารมณ์ของ ชิวหาวิญญาณ
อินทรีย์ หมายถึงสิ่งที่เป็นเจ้าการในการรับรู้อารมณ์ กล่าวคืออายตนะภายใน ส่วนใน
ข้อความหลัง รส หมายถึงกิจหรือหน้าที่อินทรีย์หมายถึงกุศลธรรมที่เป็นเจ้าการใน
การกำราบอกุศธรรมที่เป็นปฏิปักษ์

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2021, 04:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


“ภิกษุพึงกระทำโยคะ เพื่อบรรลุธรรมเป็นที่ปลอดภัยจากโยคะ” โยคะคำต้น หมายถึง
การประกอบความเพียรในการเจริญภานา คือฝึกฝนพัฒนาจิตปัญญา โยคะคำหลัง
หมายถึงธรรมคือกิเลสที่ประกอบคือเทียมหรือผูกมัดสัตว์ไว้กับใน

“ปุถุชนมองเห็นรูปบ้าง เวทนาบ้าง สัญญาบ้าง สังขารบ้าง วิญญาณบ้าง ว่าเป็นตน
แต่ขันธ์ทั้ง ๕ นั้น จะเป็นตนหาได้ไม่ เพราะสังขารทั้งหลายทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือไร้ตัวมิใช่ตนทั้งสิ้น” สังขาร คำแรกหมายถึงเพียงขันธ์หนึ่ง
ในบรรดา แต่สังขารคำหลังครอบคลุมความหมายของสังขารทั้งหมดที่เป็นไปตามไตรลักษณ์

คำเกี่ยวข้องที่ต้องการอธิบายในที่นี้คือ “สังขาร” แต่ที่ได้ยกตัวอย่างคำอื่นๆ มาแสดง
ไว้มากมายและได้บรรยายมาอย่างยืดยาว ก็เพื่อให้เห็นว่า คำพูดในภาษาไทยก็ตาม
ในภาษาก็ตาม ที่เป็นคำเดียวกัน แต่มีความหมายต่างกันเป็นสองอย่างบ้าง หลายอย่าง
บ้าง กว้างแคบกว่ากันบ้าง เป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกันบ้าง ตลอดจนตรงข้ามกันก็มีนั้น
มีอยู่มากมายและเป็นของสามัญ เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว มาเห็นคำว่าสังขารที่ท่านใช้ใน
ความหมายต่างๆ หลายนัย ก็จะไม่เห็นเป็นของแปลก และจะเข้าใจมองเห็นตามได้ง่าย

คำว่า “สังขาร” นั้น มีที่ใช้ในความหมายต่างๆ กันไม่น้อยกว่า ๔ นัย แต่เฉพาะที่ต้องการ
ให้เข้าใจในที่นี้ มี ๒ นัย คือ สังขารที่เป็นข้อหนึ่งในขันธ์ ๕ กับสังขารที่กล่าวถึงในไตร
ลักษณ์ เพราะสังขาร ๒ นัยนี้มาในหลักธรรมสำคัญ กล่าวอ้างกันบ่อย และมีความหมาย
คล้ายจะซ้อนกันอยู่ ทำให้ผู้ศึกษาสับสนได้ง่าย อีกทั้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรม
ที่กำลังอธิบายอยู่โดยตรง เบื้องแรกขอยกคำมาดูให้เห็นชัด

๑. สังขาร ในขันธ์ ๕: รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
๒. สังขาร ในไตรลักษณ์: สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวง
เป็นอนัตตาขอนำความหมายทั้ง ๒ นัยนั้นมาทบทวน โดยเข้าคู่เทียบให้เปรียบกันดู ดังนี้

๑. สังขาร ซึ่งเป็นข้อที่ ๔ ในขันธ์ ๕ หมายถึง สภาวะที่ปรุงแต่งจิต ให้ดี ให้ชั่ว ให้เป็น
กลาง ได้แก่ คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ
และการแสดงออกทางกาย วาจา ให้เป็นไปต่างๆ เป็นตัวการของการทำกรรม เรียกง่ายๆ
ว่า เครื่องปรุงของจิต เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา ปัญญา โมหะ โลภะ
โทสะ เป็นต้น (จำแนกไว้ ๕๐ อย่าง เรียกว่าเจตสิก ๕๐ ในจำนวนทั้งหมด ๕๒) ซึ่งทั้ง
หมดนั้นล้วนเป็นนามธรร มีอยู่ในใจทั้งสิ้น นอกเหนือจาก เวทนา สัญญา และวิญญาณ

๒. สังขาร ที่กล่าวถึงในไตรลักษณ์ หมายถึง สภาวะที่ถูกปรุงแต่ง คือ สภาวะที่เกิดจาก
เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นทุกอย่าง ประดามี ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรมก็ตาม เป็นด้าน
ร่างกายหรือจิตใจก็ตาม มีชีวิตหรือไร้ชีวิตก็ตาม อยู่ในจิตใจหรือเป็นวัตถุภายนอกก็ตาม
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังขตธรรม คือทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นแต่ นิพพาน

จะเห็นว่า “สังขาร” ในขันธ์ ๕ มีความหมายแคบกว่า “สังขาร” ในไตรลักษณ์ หรือเป็นส่วน
หนึ่งของสังขารในไตรลักษณ์นั่นเอง ความต่างกันและแคบกว่ากันนี้ เห็นได้ชัดทั้งโดยความ
หมายของศัพท์ (สัททัตถะ) และโดยองค์ธรรม

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2021, 04:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ก. โดยความหมายของศัพท์: “สังขาร” ในขันธ์ ๕ หมายถึง สภาวะที่ปรุงแต่งจิต
ตัวปรุงแต่งจิตใจ และการกระทำ ให้มีคุณภาพต่างๆ เครื่องปรุงของจิต หรือแปล
กันง่ายๆ ว่า ความคิดปรุงแต่ง ส่วน “สังขาร” ใน ไตรลักษณ์ หมายถึงสภาวะที่ถูก
ปรุงแต่ง คือ ถูกปัจจัยของมันปรุงแต่งขึ้นมา แปลง่ายๆ ว่า สิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุง
แต่ง สิ่งปรุงแต่งหรือของปรุงแต่ง

นอกจากความหมายจะต่างกันอย่างที่พอสังเกตเห็นได้อย่างนี้แล้ว ความหมายนั้น
ยังแคบกว่ากันด้วย กล่าวคือ สภาวะที่ปรุงแต่งจิต เครื่องปรุงของจิต หรือความคิด
ปรุงแต่ง (สังขารในขันธ์ ๕) นั้น ตัวของมันเอง ก็เป็นสภาวะที่ถูกปรุงแต่ง เป็นสิ่ง
ปรุงแต่ง หรือเป็นของปรุงแต่ง เพราะเกิดจากปัจจัยอย่างอื่นปรุงแต่งขึ้นมาอีกต่อ
หนึ่ง ทยอยกันไปเป็นทอดๆ จึงไม่พ้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังขารในความหมายอ
ย่างหลัง (ในไตรลักษณ์) คือ เป็นสภาวะที่ถูกปรุงแต่ง หรือเป็นของปรุงแต่งนั่นเอง
“สังขาร” ในขันธ์ ๕ จึงกินความหมายแคบกว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ส่วน “สังขาร”
ในไตรลักษณ์กินความหมายครอบคลุมทั้งหมด

ข. โดยองค์ธรรม: ถ้าแบ่งธรรมหรือสิ่งต่างๆ ออกเป็น ๒ อย่างคือ รูปธรรม กับ
นามธรรม และแบ่งนามธรรมซอยออกไปอีกเป็น ๔ อย่างคือ เวทนา สัญญา สังขาร
และ วิญญาณ จะเห็นว่า “สังขาร” ในขันธ์ ๕ เป็นนามธรรมอย่างเดียว และเป็นเพียง
ส่วนหนึ่งในสี่ส่วนของนามธรรมเท่านั้น แต่ “สังขาร” ในไตรลักษณ์ ครอบคลุมทั้ง
รูปธรรมและนามธรรม อนึ่ง รูปธรรมและนามธรรมที่กล่าวถึงนี้ เมื่อแยกออกไปก็คือ
ขันธ์ ๕ นั่นเอง

จะเห็นว่า สังขารในขันธ์ ๕ เป็นเพียงขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ (เป็นลำดับที่สี่) แต่สังขาร
ในไตรลักษณ์ครอบคลุมขันธ์ ๕ ทั้งหมด กล่าวคือ สังขาร (ในขันธ์ ๕) เป็นสังขาร
อย่างหนึ่ง (ในไตรลักษณ์) เช่นเดียวกับขันธ์อื่นๆ ทั้งสี่ขันธ์

นอกจากนั้น ธรรมหรือสิ่งต่างๆ ที่นำมาแบ่งในที่นี้ ก็คือสังขารธรรม ซึ่งก็เป็นไวพจน์
คืออีกชื่อหนึ่งของสังขาร (ในไตรลักษณ์) นั่นเอง จึงเห็นชัดเจนว่า สังขาร (ในขันธ์ ๕)
เป็นเพียงส่วนย่อยอย่างหนึ่งฝ่ายนามธรรมที่รวมอยู่ด้วยกันทั้งหมดภายในสังขาร
(ในไตรลักษณ์) เท่านั้นเอง

ฉะนั้น คำกล่าวที่ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง
วิญญาณไม่เที่ยง กับข้อความว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง จึงมีความหมายเท่าๆ กัน
หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ข้อความว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” เมื่อจะขยายออกไปให้ละ
เอียด ก็พูดใหม่ได้ว่า “รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง
วิญญาณไม่เที่ยง”

เพื่อกันความสับสน บางทีท่านใช้คำว่า “สังขารขันธ์” สำหรับคำว่าสังขารในขันธ์ ๕
ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในนามธรรม และใช้คำว่า สังขารที่เป็นสังขตธรรม หรือ
“สังขตสังขาร” หรือ “สังขาร” เดี่ยวๆ สำหรับสังขารในไตรลักษณ์ที่มีความหมาย
ครอบคลุมทั้งรูปธรรมและนามธรรม หรือขันธ์ ๕ ทั้งหมด

การที่ข้อธรรม ๒ อย่างนี้มาลงเป็นคำศัพท์เดียวกันว่า “สังขาร” ก็เพราะมีความหมาย
เหมือนกันว่า “ปรุงแต่ง” แต่มาต่างกันตรงที่ว่า อย่างแรกเป็น “ความคิดปรุงแต่ง”
อย่างหลังเป็น “สิ่งปรุงแต่ง หรือของปรุงแต่ง”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร