วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 17:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ค. 2021, 17:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


สัมมาสติ
คำจำกัดความ
สัมมาสติเป็นองค์มรรคข้อที่ ๒ ในหมวดสมาธิ จัดเข้าใน อธิจิตตสิกขา มีคำจำกัดความในพระสูตร ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสติ เป็นไฉน? นี้เรียกว่าสัมมาสติ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑) ตามเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ปลอดไร้อภิชฌา และโทมนัส ในโลก

๒) ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ปลอดไร้อภิชฌาและโทมนัสในโลก

๓) ตามเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ปลอดไร้อภิชฌาและโทมนัสในโลก

๔) ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ปลอดไร้อภิชฌาและโทมนัสในโลก

คำจำกัดความอีกแบบหนึ่ง ที่ปรากฏในคัมภีร์ อภิธรรมว่าดังนี้

“สัมมาสติ เป็นไฉน? สติ คือ การคอยระลึกถึงอยู่เนืองๆ การหวนระลึก (ก็ดี) สติ คือ ภาวะที่ระลึกได้
ภาวะที่ทรงจำไว้ ภาวะที่ไม่เลือนหาย ภาวะที่ไม่ลืม (ก็ดี) สติ คือ สติที่เป็นอินทรีย์ สติที่เป็นพละ
สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์มรรค นับเนื่องในมรรค นี้เรียกว่า สัมมาสติ”

สัมมาสติ ตามคำจำกัดความแบบพระสูตรนั้น ก็คือหลักธรรมที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง หัวข้อ
ทั้ง ๔ ของหลักธรรมหมวดนี้ มีชื่อเรียกสั้นๆ คือ

๑) กายานุปัสสนา (การพิจารณากาย, การตามดูรู้ทันกาย)

๒) เวทนานุปัสสนา (การพิจารณาเวทนา, การตามดูรู้ทันเวทนา)

๓) จิตตานุปัสสนา (การพิจารณาจิต, การตามดูรู้ทันจิต)

๔) ธัมมานุปัสสนา (การพิจารณาธรรมต่างๆ, การตามดูรู้ทันธรรม)

ก่อนจะพิจารณาความหมายของสัมมาสติ ตามหลัก สติปัฎฐาน ๔ นี้ เห็นว่า ควรทำความเข้าใจทั่วๆ
ไปเกี่ยวกับเรื่องสติไว้เป็นพื้นฐานก่อน

สติในฐานะอัปปมาทธรรม
“สติ” แปลกันง่ายๆ ว่า ความระลึกได้ เมื่อแปลอย่างนี้ ทำให้นึกเพ่งความหมายไปในแง่ของความจำ
ซึ่งก็เป็นการถูกต้องในด้านหนึ่ง แต่อาจไม่เต็มตามความหมายหลักที่เป็นจุดมุ่งสำคัญก็ได้ เพราะ
ถ้าพูดในแง่ปฏิเสธ สติ นอกจากหมายถึงความไม่ลืม ซึ่งตรงกับความหมายในทางอนุมัติข้างต้น
ที่ว่าความระลึกได้แล้ว ยังหมายถึง ความไม่เผลอ ไม่เลินเล่อ ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลื่อนลอยด้วย พูด
ง่ายๆ ว่า ใจอยู่ ไม่ใจหาย ไม่ใจลอย

ความหมายของสติ ในแง่ปฏิเสธเหล่านี้ เล็งไปถึงความหมายในเชิงอนุมัติว่า ความระมัดระวัง
ความตื่นตัวต่อหน้าที่ ความมีใจพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับสิ่งที่ทำ ภาวะที่พร้อมอยู่เสมอ
ในอาการคอยรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และตระหนักว่าควรปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ อย่างไร ซึ่งทำ
ให้เกิดเป็นการดูแล รักษา คุ้มครองไว้ได้

การทำหน้าที่ของสติ มักถูกเปรียบเทียบเหมือนกับนายประตู ที่คอยระวัง เฝ้าดูคนเข้าออกอยู่เสมอ
และคอยกำกับการ โดยปล่อยคนที่ควรเข้าออกให้เข้าออกได้ และคอยกันห้ามคนที่ไม่ควรเข้า
ไม่ให้เข้าไป คนที่ไม่ควรออก ไม่ให้ออกไป สติจึงเป็นธรรมสำคัญในทางจริยธรรมเป็นอย่างมาก
เพราะเป็นตัวควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นตัวคอยป้องกันยับยั้งตนเอง ทั้งที่จะไม่ให้หลงเพลิน
ไปตามความชั่ว และที่จะไม่ให้ความชั่วเล็ดลอดเข้าไปในจิตใจได้ พูดง่ายๆ ว่า ที่จะเตือนตนในการทำ
ความดี และไม่เปิดโอกาสแก่ความชั่ว

พุทธธรรมเน้นความสำคัญของสติเป็นอย่างมากในการปฏิบัติจริยธรรมทุกขั้น การดำเนินชีวิต
หรือการประพฤติปฏิบัติโดยมีสติกำกับอยู่เสมอนั้น มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “อัปปมาท” หรือความ
ไม่ประมาท

อัปปมาทนี้ เป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งสำหรับความก้าวหน้าในระบบจริยธรรม มีความหมายหลัก
เหมือนเป็นคำจำกัดความว่า การเป็นอยู่โดยไม่ขาดสติ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ค. 2021, 17:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ความหมายของ อัปปมาทที่ว่า “การเป็นอยู่โดยไม่ขาดสติ” นั้น ขยายความว่า การระมัด
ระวังอยู่เสมอ ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความเจริญ
ก้าวหน้า ตระหนักดีถึงสิ่งที่จะต้องทำ และต้องไม่ทำ ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ ไม่ปล่อย
ปละละเลย กระทำการด้วยความจริงจัง และพยายามเดินรุดหน้าอยู่ตลอดเวลา กล่าวได้ว่า
อัปมาทธรรม นี้ เป็นหลักความรู้สึกรับผิดชอบขั้นพื้นฐาน

ในแง่ความสำคัญ อัปปมาท จัดเป็นองค์ประกอบภายใน เช่นเดียวกับโยนิโสมนสิการ คู่กับหลัก
กัลยาณมิตร ที่เป็นองค์ประกอบภายนอก พุทธพจน์แสดงความสำคัญของอัปปมาทนี้
บางทีซ้ำกับโยนิโสมนสิการ เหตุผลก็คือ ธรรมทั้งสองอย่างนี้ มีความสำคัญเท่าเทียมกัน
แต่ต่างแง่กัน

โยนิโสมนสิการเป็นองค์ประกอบฝ่ายปัญญา เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้กระทำการ ส่วนอัปปมาท
เป็นองค์ประกอบฝ่ายจิต คือด้านสมาธิ เป็นตัวควบคุมและเร่งเร้าให้มีการใช้อุปกรณ์นั้น
และก้าวหน้าต่อไปเสมอ

ความสำคัญและขอบเขตการใช้อัปปมาทธรรม ในการปฏิบัติจริยธรรมขั้นต่างๆ จะเห็นได้จาก
พุทธพจน์ตัวอย่างต่อไปนี้

“ภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลาย ชนิดใดๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด
รอยเท้าช้าง เรียกว่า เป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น โดยความใหญ่ ฉันใด กุศลธรรมทั้ง
หลาย อย่างใดๆ ก็ตาม ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด
ความไม่ประมาท เรียกได้ว่า เป็นยอดของธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น”

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือ
ให้อกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป เหมือนความไม่ประมาทเลย เมื่อไม่ประมาทแล้ว กุศล
ธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป”

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ ...ที่เป็นไป
เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม เหมือนความไม่ประมาทเลย”

“โดยกำหนดว่าเป็นองค์ประกอบภายใน เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบอื่นแม้สักข้อหนึ่ง
ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เหมือนความไม่ประมาทเลย”

แม้ปัจฉิมวาจา คือพระดำรัสครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า เมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ก็เป็นพระดำรัสในเรื่องอัปปมาทธรรม ดังนี้

“สิ่งทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ย่อมมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยัง
ประโยชน์ที่มุ่งหมายให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท”

“เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็น บุพพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วย
ความไม่ประมาท ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรคแก่ภิกษุ ฉันนั้น...

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ค. 2021, 18:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมเอก ที่มีอุปการะมาก เพื่อการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค ก็คือความถึงพร้อมด้วย
ความไม่ประมาท...เราไม่เล็งเห็นถึงธรรมอื่นแม้สักอย่าง ที่เป็นเหตุให้อริยอัษฎางคิกมรรคซึ่ง
ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น หรืออริยอัษฎางคิกมรรคที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์
เหมือนอย่างความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทนี้เลย ภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงหวังสิ่งนี้ได้
คือ เธอจักเจริญ จักกระทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค”

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย ควรสร้างอัปปมาท โดยฐานะ ๔ คือ

(๑) จงละ กายทุจริต จงเจริญสุจริต และจงอย่าประมาทในการ (ทั้งสอง) นั้น

(๒) จงละ วจีทุจริต จงเจริญ วจีสุจริต และจงอย่าประมาทในการ (ทั้งสอง) นั้น

(๓) จงละ มโนทุจริต จงเจริญ มโนสุจริต และจงอย่าประมาทในการ (ทั้งสอง) นั้น

(๔) จงละ มิจฉาทิฏฐิ จงเจริญ สัมมาทิฎฐิ และจงอย่าประมาทในการ (ทั้งสอง) นั้น

ในเมื่อภิกษุละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ฯลฯ ละมิจฉาทิฏฐิ เจริญสัมมาทิฏฐิแล้ว เธอย่อม
ไม่หวาดกลัว ต่อความตายที่จะมีข้างหน้า”

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรสร้างอัปปมาท คือ การรักษาใจด้วยสติ โดยตนเอง ในฐานะ ๔ คือ

(๑) ...จิตของเรา อย่าติดใจ ในธรรมที่ชวนให้เกิดความติดใจ

(๒) ...จิตของเรา อย่าขัดเคือง ในธรรมที่ชวนให้เกิดความขัดเคือง

(๓) ...จิตของเรา อย่าหลง ในธรรมที่ชวนให้เกิดความหลง

(๔) ...จิตของเรา อย่ามัวเมา ในธรรมที่ชวนให้เกิดความมัวเมา

เมื่อจิตของภิกษุ ไม่ติดใจในธรรมที่ชวนให้เกิดความติดใจ เพราะปราศจากราคะแล้ว
ไม่ขัดเคือง...ไม่หลง...ไม่มัวเมาแล้ว เธอย่อมไม่หวาดเสียว ไม่หวั่นไหว ไม่ครั่นคร้าม ไม่สะดุ้ง
และไม่ (ต้อง) เชื่อถือ แม้แต่เพราะถ้อยคำของ สมณะ”

ถาม: “มีบ้างไหม ธรรมข้อเดียว ที่จะยึดเอาประโยชน์ไว้ได้ทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้ง ทิฏฐธัมมิกัตถะ
(ประโยชน์บัดนี้ หรือที่ตาเห็น) และ สัมปรายืกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้า หรือที่เลยตาเห็น)?”

ตอบ: “มี”

ถาม: “ธรรมนั้นคืออะไร?”

ตอบ: “ธรรมนั้น คือ ความไม่ประมาท”

“ดูกร มหาบพิตร ธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วนั้น สำหรับผู้มีกัลยาณมิตร มีกัลยาณสหาย
มี กัลยาณชน เป็นที่คบหา หาใช่สำหรับผู้มีปาปมิตร ผู้มีปาปสหาย ผู้มีปาปชนเป็นที่คบหาไม่...
ความมีกัลยาณมิตรนั้น เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว”

“เพราะเหตุนั้นแล มหาบพิตร พระองค์พึงทรงสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้มีกัลยาณมิตร
มีกัลยาณสหาย มีกัลยาณชนเป็นที่คบหา พระองค์ผู้ทรงมีกัลยาณมิตรนั้น จะต้องทรง
ดำเนินพระจริยาอาศัยธรรมข้อนี้อยู่ประการหนึ่ง คือ ความไม่ประมาท ในกุศลธรรมทั้งหลาย”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ค. 2021, 18:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อพระองค์ไม่ประมาท ดำเนินพระจริยาอาศัยความไม่ประมาทอยู่ พวกฝ่ายใน...เหล่า ขัตติย
บริวาร...ปวงเสนาข้าทหาร...ตลอดจนชาวนิคมชนบท ก็จะพากันคิดว่า พระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น
ผู้ไม่ประมาท ทรงดำเนินพระจริยาอาศัยความไม่ประมาท ถึงพวกเราก็จะเป็นผู้ไม่ประมาท
จะเป็นอยู่ด้วยอาศัยความไม่ประมาทด้วย”

“ดูกรมหาบพิตร เมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประมาท ทรงดำเนินพระจริยาอาศัยความไม่
ประมาทอยู่ แม้ตัวพระองค์เอง ก็เป็นอันได้รับการคุ้มครองรักษา แม้พวกฝ่ายใน ก็เป็นอันได้รับ
การคุ้มครองรักษา (ตลอดจน) แม้ยุ้งฉาง พระคลังหลวง ก็เป็นอันได้รับการคุ้มครองรักษา”

สติโดยคุณค่าทางสังคม
พุทธพจน์แสดงคุณค่าของสติในเสทกสูตรต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีแห่งหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงให้เห็น
ความหมายและคุณค่าในทางปฏิบัติ ที่ใกล้ชิดกัน ของอัปปมาท กับสติ ช่วยให้เข้าใจความหมาย
ของธรรมทั้งสองข้อนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น และในเวลาเดียวกัน จะแสดงให้เห็นท่าทีของพุทธธรรม
ต่อชีวิตในทางสังคม ยืนยันว่า พุทธธรรมมองเห็นชีวิตด้านในของบุคคล โดยสัมพันธ์กับคุณ
ค่าด้านนอก คือทางสังคมด้วย และถือว่า คุณทั้งสองด้านนี้เชื่อมโยงเนื่องถึงกัน ไม่แยกจากกัน
และสอดคล้อง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นักกายกรรม ยกลำไม้ไผ่ขึ้นตั้งแล้ว เรียกศิษย์มาบอกว่า มานี่แน่ะ
เธอ เธอไต่ไม้ไผ่ขึ้นไปแล้ว จง (เลี้ยงตัว) อยู่เหนือต้นคอของเรา”

“ศิษย์รับคำแล้ว ก็ไต่ลำไม้ไผ่ขึ้นไป ยืน (เลี้ยงตัว) อยู่บนต้นคอของอาจารย์

“คราวนั้น นักกายกรรม ได้พูดกับศิษย์ว่า ‘นี่แน่ะเธอ เธอจงรักษาฉันนะ ฉันก็จะรักษาเธอ เราทั้งสอง
ระวังรักษากันและกันไว้อย่างนี้ จักแสดงศิลปะได้ด้วย จักได้เงินด้วย และจักลงจากลำไม้ไผ่ได้โดยสวัสดีด้วย’

“ครั้นอาจารย์กล่าวดังนี้แล้ว ศิษย์จึงกล่าวบ้างว่า ‘ท่านอาจารย์ขอรับ จะทำอย่างนั้นไม่ได้
ท่านอาจารย์ (นั่นแหละ) จงรักษาตัวเองไว้ ผมก็จักรักษาตัวผมเอง เราทั้งสองต่างระวังรักษาตัว
ของเราไว้อย่างนี้ จักแสดงศิลปะได้ด้วย จักได้เงินด้วย และจักลงจากลำไม้ไผ่ได้โดยสวัสดีด้วย’

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า: “นั้นเป็นวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนั้น ดุจดังที่ศิษย์พูดกับอาจารย์ (นั่นเอง)
เมื่อคิดว่า ‘เราจะรักษาตัวเอง’ ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน (มีสติไว้) เมื่อคิดว่า ‘เราจะรักษาผู้อื่น’ ก็พึงต้อง
ใช้สติปัฏฐาน (เหมือนกัน)

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน

“เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น นั้นอย่างไร? ด้วยการหมั่นปฏิบัติ ด้วยการเจริญอบรม ด้วยการ
ทำให้มาก อย่างนี้แล เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น (ด้วย)”

“เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน นั้นอย่างไร? ด้วยขันติ ด้วยอวิหิงสา ด้วยความมีเมตตาจิต ด้วย
ความเอ็นดูกรุณา อย่างนี้แล เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน (ด้วย)”

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคิดว่า ‘เราจะรักษาตน’ ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน เมื่อคิดว่า ‘เราจะรักษาผู้อื่น’ ก็พึงต้อง
ใช้สติปัฏฐาน เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาคนอื่น เมื่อรักษาคนอื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2021, 06:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


บทบาทของสติในกระบวนการพัฒนาปัญญา หรือการกำจัดอาสวกิเลส
อัปปมาท คือความไม่ประมาทนั้น หมายถึงการมีชีวิตอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือการมีสติอยู่เสมอ
ในการครองชีวิต อัปปมาทเป็นตัวการทำให้ระมัดระวังตัว ป้องกันไม่ให้พลาดตกไปในทางชั่ว
หรือเสื่อม คอยยับยั้ง เตือนไม่ให้เพลิดเพลินมัวเมาลุ่มหลงสยบอยู่ คอยกระตุ้น ไม่ให้หยุดอยู่
กับที่ และคอยเร่งเร้าให้ขะมักเขม้นที่จะเดินรุดหน้าอยู่เรื่อยไป ทำให้สำนึกในหน้าที่อยู่เสมอ
โดยตระหนักถึงสิ่งควรทำและไม่ควรทำ ทำแล้วและยังมิได้ทำ และช่วยให้ทำการต่างๆ ด้วย
ความรอบคอบ จึงเป็นองค์ธรรมสำคัญยิ่งในระบบจริยธรรมดังได้กล่าวแล้ว

อย่างไรก็ดี ความสำคัญของอัปปมาทนั้น เห็นได้ว่า เป็นเรื่องจริยธรรมในวงกว้าง เกี่ยวกับ
ความประพฤติปฏิบัติทั่วๆ ไปของชีวิต กำหนดคร่าวๆ ตั้งแต่ระดับศีลถึงสมาธิ ในระดับนี้
สติทำหน้าที่แทรกแซงพัวพัน และพ่วงกันไปกับองค์ธรรมอื่นๆ เป็นอันมาก โดยเฉพาะ
จะมีวายามะหรือความเพียรควบอยู่ด้วยเสมอ

ครั้นจำกัดการพิจารณาแคบเข้ามา กล่าวเฉพาะการดำเนินของจิตในกระบวนการพัฒนา
ปัญญา หรือการใช้ปัญญาชำระล้างภายในดวงจิต อัปปมาท กลายเป็นตัววิ่งเต้น ที่คอยเร่ง
เร้าอยู่ในวงนอก

เมื่อถึงขั้นนี้ การพิจารณาจำกัดวงขอบเขตจำเพาะเข้ามา เป็นเรื่องกระบวนการทำงานใน
จิตใจ และแยกแยะรายละเอียดซอยถี่ออกวิเคราะห์เป็นขณะๆ ในระดับนี้เอง ที่สติ
ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ และเด่นชัด กลายเป็นตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญ ที่เรียกโดย
ชื่อของมันเอง

ความหมายที่แท้จำเพาะตัวของสติ อาจเข้าใจได้จากการพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของสติ
ในกรณีที่มีบทบาทของมันเอง แยกจากองค์ธรรมอื่นๆ อย่างเด่นชัด เช่น ในข้อปฏิบัติที่เรียก
ว่าสติปัฏฐาน เป็นต้น

ในกรณีเช่นนี้ พอจะสรุปการปฏิบัติหน้าที่ของ สติ ได้ ดังนี้

ลักษณะการทำงานโดยทั่วไปของสตินั้น คือ การไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอย ไม่ปล่อยอารมณ์
ให้ผ่านเรื่อยเปื่อยไป หรือไม่ปล่อยให้ความนึกคิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ แค่คอยเฝ้าระวัง
เหมือนจับตาดูอารมณ์ที่ผ่านมาแต่ละอย่าง มุ่งหน้าเข้าหาอารมณ์นั้นๆ เมื่อต้องการกำหนด
อารมณ์ใด ก็เข้าจับดูติดๆ ไป ไม่ยอมให้คลาดหาย คือนึกถึง หรือระลึกไว้เสมอ ไม่ยอมให้หลงลืม

มีคำเปรียบเทียบสติว่า เหมือนเสาหลัก เพราะปักแน่นในอารมณ์ หรือเหมือนนายประตู
เพราะเฝ้าอายตนะต่างๆ ที่เป็นทางรับอารมณ์ ตรวจดูอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาๆ ปทัฏฐานหรือ
เหตุใกล้ชิดที่จะให้เกิดสติ ก็คือ สัญญา (การกำหนดหมาย) ที่มั่นคง หรือสติปัฏฐานชนิดต่างๆ
ที่จะกล่าวต่อไป

พิจารณาในแง่จริยธรรม จะมองเห็นการปฏิบัติหน้าที่ของสติได้ทั้งในแง่ปฏิเสธ (negative)
และในแง่อนุมัติ (positive)

ในแง่ปฏิเสธ สติเป็นตัวป้องกัน ยับยั้งจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้ก้าวพลาด ไม่ให้ถลำลงในธรรม
ที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ยอมให้ความชั่วได้โอกาสเกิดขึ้นในจิต และไม่ยอมให้ใช้ความคิดผิดทาง

ในทางอนุมัติ สติเป็นตัวควบคุมตรวจตรากระแสการรับรู้ ความนึกคิด และพฤติกรรมทุก
อย่าง ให้อยู่ในแนวทางที่ต้องการ คอยกำกับจิตไว้กับอารมณ์ที่ต้องการ และจึงเป็นเครื่องมือ
สำหรับยึดหรือเกาะกุมอารมณ์อย่างใดๆ ดุจเอาวางไว้ข้างหน้าจิต เพื่อพิจารณาจัดการ
อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2021, 16:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ในทางปฏิบัติของพุทธธรรม เน้นความสำคัญของสติมาก อย่างที่กล่าวว่า สติจำปรารถนา
(คือต้องนำมาใช้) ในกรณีทั้งปวง และเปรียบสติเหมือนเกลือ ที่ต้องใช้ในกับข้าวทุกอย่าง
และเหมือนนายกรัฐมนตรีเกี่ยวข้องในราชการทุกอย่าง เป็นทั้งตัวการเหนี่ยวรั้งปรามจิต
และหนุนประคองจิต ตามควรแก่กรณี

เมื่อนำลักษณะการทำหน้าที่ของสติที่กล่าวแล้วนั้นมาพิจารณาประกอบ จะมองเห็น
ประโยชน์ที่มุ่งหมายของการปฏิบัติฝึกฝนในเรื่องสติ ดังนี้

๑. ควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่ต้องการ โดยตรวจตรากระบวนการรับรู้ และกระ
แสความคิด เลือกรับสิ่งที่ต้องการ กันออกไปซึ่งสิ่งที่ไม่ต้องการ ตรึงกระแสความคิด
ให้นิ่งเข้าที่ และทำให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย

๒. ทำให้ร่างกายและจิตใจ อยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าเป็นตัวของตัวเอง เพราะมีความ
โปร่งเบา ผ่อนคลาย เป็นสุขโดยสภาพของมันเอง พร้อมที่จะเผชิญความเป็นไปต่างๆ
และจัดการกับสิ่งทั้งหลายในโลกอย่างได้ผลดี

๓. ในภาวะจิตที่เป็นสมาธิ อาจใช้สติเหนี่ยวนำกระบวนการรับรู้ และกระแสความคิด ทำ
ขอบเขตการรับรู้และความคิดให้ขยายออกไปโดยมิติต่างๆ หรือให้เป็นไปต่างๆ ได้

๔. โดยการยึด หรือจับเอาอารมณ์ที่เป็นวัตถุแห่งการพิจารณา วางไว้ต่อหน้า
จึงทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญา ดำเนินไปได้ชัดเจนเต็มที่ เท่ากับเป็นฐานใน
การสร้างเสริมปัญญาให้เจริญบริบูรณ์

๕. ชำระพฤติกรรมต่างๆ ทุกอย่าง (ทั้ง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ) ให้บริสุทธิ์ อิสระ
ไม่เกลือกกลั้ว หรือเป็นไปด้วยอำนาจ ตัณหาอุปาทาน และร่วมกับสัมปชัญญะ ทำให้
พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นไปด้วยปัญญา หรือเหตุผลบริสุทธิ์ล้วนๆ

ประโยชน์ข้อที่ ๔ และ ๕ นั้น นับว่าเป็นจุดหมายขั้นสูง จะเข้าถึงได้ด้วยวิธีปฏิบัติที่กำหนด
ไว้เป็นพิเศษ ซึ่งตามคำจำกัดความในข้อสัมมาสตินี้ ก็ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔

สติปัฏฐานในฐานะสัมมาสติ

สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งของสติบ้าง การที่สติเข้าไปตั้งอยู่ คือมีสติกำกับอยู่บ้าง ฯลฯ ว่า
โดยหลักการก็คือ การใช้สติ หรือวิธีปฏิบัติเพื่อใช้สติให้บังเกิดผลดีที่สุด ดังความ
แห่งพุทธพจน์ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นมรรคาเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้น
โสกะและปริเทว ะเพื่อความอัสดงแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุโลกุตรมรรค เพื่อกระ
ทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน นี้คือสติปัฏฐาน ๔”

การเจริญสติปัฏฐานนี้ เป็นวิธีปฏิบัติธรรมที่นิยมกันมาก และยกย่องนับถือกันอย่างสูง
ถือว่ามีพร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนาในตัว ผู้ปฏิบัติอาจเจริญสมถะจนได้ฌาน อย่างที่
จะกล่าวถึงในเรื่องสัมมาสมาธิอันเป็นองค์มรรคข้อที่ ๘ ก่อนแล้ว จึงเจริญวิปัสสนา
ตามแนวสติปัฏฐานไปจนถึงที่สุดก็ได้ หรือจะอาศัยสมาธิเพียงขั้นต้นๆ เท่าที่จำ
เป็นมาประกอบ เจริญวิปัสสนาเป็นตัวนำตามแนวสติปัฏฐานนี้ ไปจนถึงที่สุดก็ได้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2021, 17:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


วิปัสสนาเป็นหลักปฏิบัติสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ได้ยินได้ฟังกันมาก พร้อมกับที่มีความเข้าใจ
ไขว้เขวอยู่มากเช่นเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจตามสมควร

จากการศึกษาคร่าวๆ ในเรื่องสติปัฏฐานต่อไปนี้ จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในความหมายของ
วิปัสสนาดีขึ้น ทั้งในแง่สาระสำคัญ ขอบเขตความกว้างขวาง และความยืดหยุ่นในการปฏิบัติ
ตลอดจนโอกาสที่จะฝึกฝนปฏิบัติ โดยสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตของคนทั่วไป ว่าเป็นไปได้
และมีประโยชน์เพียงใด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ ไม่ได้มุ่งศึกษาเรื่องวิปัสสนาโดยตรง คงมุ่งเพียงให้เข้าใจวิปัสสนา เท่าที่มอง
เห็นได้จากสาระสำคัญของสติปัฏฐานเท่านั้น

สติปัฏฐาน ๔ มีใจความโดยสังเขป คือ:

๑. กายานุปัสสนา การพิจารณากาย หรือตามดูรู้ทันกาย

๑.๑ อานาปานสติ คือ ไปในที่สงัด นั่งท่าสมาธิ ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก โดยอาการต่างๆ

๑.๒ กำหนดอิริยาบถ คือ เมื่อยืน เดิน นั่ง นอน หรือร่างกายอยู่ในอาการอย่างไรๆ ก็รู้ชัดในอาการ
ที่เป็นอยู่นั้นๆ

๑.๓ สัมปชัญญะ คือ มีสัมปชัญญะในการกระทำทุกอย่าง และความเคลื่อนไหวทุกอย่าง เช่น
การก้าวเดิน การเหลียวมอง การเหยียดมือ นุ่งห่มผ้า กิน ดื่ม เคี้ยว ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
การตื่น การหลับ การพูด การนิ่ง เป็นต้น

๑.๔ ปฏิกูลมนสิการ คือ พิจารณาร่างกายของตน ตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้า ซึ่งมีส่วนประกอบที่ไม่
สะอาดต่างๆ มากมาย มารวมๆ อยู่ด้วยกัน

๑.๕ ธาตุมนสิการ คือ พิจารณาร่างกายของตน โดยให้เห็นแยกประเภทเป็น แต่ละอย่างๆ

๑.๖ นวสีวถิกา คือ มองเห็นศพที่อยู่ในสภาพต่างๆ กัน โดยระยะเวลา ๙ ระยะ ตั้งแต่ตายใหม่ๆ
ไปจนถึงกระดูกผุ แล้วในแต่ละกรณีนั้น ให้ย้อนมานึกถึงร่างกายของตน ว่าก็จะต้องเป็นเช่นนั้น
เหมือนกัน

๒. เวทนานุปัสสนา การตามดูรู้ทันเวทนา คือ เมื่อเกิดความรู้สึกสุข ก็ดี ทุกข์ ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่
เป็นชนิดสามิส และนิรามิส ก็รู้ชัด ตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ

๓. จิตตานุปัสสนา การตามดูรู้ทันจิต คือ จิตของตนในขณะนั้นๆ เป็นอย่างไร เช่น มีราคะ ไม่มีราคะ
มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ หลุดพ้น ยังไม่หลุดพ้น ฯลฯ ก็รู้ชัด ตามที่
มันเป็นอยู่ในขณะนั้นๆ

๔. ธัมมานุปัสสนา การตามดูรู้ทันธรรม คือ

๔.๑ นิวรณ์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่า นิวรณ์ ๕ แต่ละอย่างๆ มีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
ได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้ว ละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร รู้ชัด ตามที่เป็น
ไปอยู่ในขณะนั้นๆ

๔.๒ ขันธ์ คือ กำหนดรู้ว่า ขันธ์ ๕ แต่ละอย่าง คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2021, 17:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


๔.๓ อายตนะ คือ รู้ชัดในอายตนะภายในภายนอกแต่ละอย่างๆ รู้ชัดในสัญโญชน์ที่เกิดขึ้น
เพราะอาศัยอายตนะนั้นๆ รู้ชัดว่าสัญโญชน์ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้ว ละเสีย
ได้อย่างไร ที่ละได้แล้ว ไม่เกิดขึ้นได้อีกต่อไปอย่างไร

๔.๔ โพชฌงค์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่า โพชฌงค์ ๗ แต่ละอย่างๆ มีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่
เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญเต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร

๔.๕ อริยสัจ คือ รู้ชัดอริยสัจ ๔ แต่ละอย่างๆ ตามความเป็นจริง ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร

ในตอนท้ายของทุกข้อที่กล่าวนี้ มีข้อความอย่างเดียวกันว่า

“ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย ภายใน (=ของตนเอง) อยู่บ้าง พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอก
(=ของคนอื่น) อยู่บ้าง พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกอยู่บ้าง พิจารณาเห็นธรรม
คือความเกิดขึ้นในกาย อยู่บ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมสิ้นไปในกาย อยู่บ้าง พิจารณา
เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไปในกาย อยู่บ้าง;

“ก็แล เธอมีสติดำรงต่อหน้าว่า “มีกายอยู่” เพียงแค่เพื่อความรู้ เพียงแค่เพื่อความระลึก แลเธอเป็นอยู่
อย่างไม่อิงอาศัย ไม่ถือมั่นสิ่งใดๆ ในโลก”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร