วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 07:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 13 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2021, 19:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




buddhist-monk-png-2.png
buddhist-monk-png-2.png [ 146.06 KiB | เปิดดู 779 ครั้ง ]
กรรม กับ อนัตตา ขัดกันหรือไม่?

ปัญหาหนึ่งซึ่งแม้จะมีผู้ถามขึ้นเพียงบางครั้งบางคราว แต่เป็นความสงสัยที่ค้างอยู่ในใจผู้เริ่ม
ศึกษาพระศาสนาจำนวนไม่น้อย คือ เรื่องที่ว่า หลักกรรมกับอนัตตาขัดกันหรือไม่? ถ้าทุกสิ่ง
ทุกอย่างเป็นอนัตตา คนเราทั้งกายและใจเป็นอนัตตา กรรมจะมีได้อย่างไร? ใครจะเป็นผู้ทำ
กรรม? ใครจะรับผลกรรม?

ความสงสัยในเรื่องนี้ มิใช่มีแต่ในบัดนี้ แม้ในครั้งพุทธกาลก็ได้มีแล้ว ดังเรื่องว่า

ภิกษุรูปหนึ่งได้เกิดความคิดสงสัยขึ้นว่า

“ทราบกันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน เป็นอนัตตา, แล้วดังนี้ กรรมทั้งหลายที่อนัต
ตาทำ จักถูกต้องตัวได้อย่างไร?”

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงหยั่งทราบความคิดสงสัยของภิกษุนั้น จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่คนเขลาบางคนในธรรมวินัยนี้ มีใจตกอยู่ในอวิชชา ถูกตัณหาครอบงำ
อาจสำคัญว่า คำสอนของป็นสิ่งที่พึงคิดไกลล้ำเลยไปได้ว่า ‘ทราบกันว่า รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา, แล้วดังนี้ กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จักถูกต้องตัวได้อย่างไร?’;

“เธอทั้งหลาย อันเราแนะนำอย่างถี่ถ้วนด้วยการทวนถาม ในข้อธรรมทั้งหลาย ในเรื่องราวทั้งหลาย
แล้ว จะสำคัญเห็นเป็นไฉน: รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?” “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า” “เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?” “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า” “สิ่งใดไม่เที่ยง,สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข?”
“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า” “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา, ควรหรือจะ
มองเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา, นั่นเป็นเรา, นั่นตัวตนของเรา?’” “ไม่ควรเห็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า”

“เพราะเหตุนั้นแล รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ฯลฯ ก็เป็นแค่รูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ,นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เธอทั้งหลายพึง
มองเห็นตามที่มันเป็น ด้วยสัมมาปัญญาอย่างนี้; อริยะสาวกผู้ได้เรียนรู้ มองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหาย
ติดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ ย่อมหลุดพ้นฯลฯ กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ย่อม
ไม่มี”

ก่อนที่จะวิจารณ์ความตามบาลีที่อ้างข้างต้น หรือพูดถึงเหตุผลต่างๆ ต่อไป ขอให้พิจารณาข้อ
เปรียบเทียบต่อไปนี้

สมมติว่า ขณะนี้ ทั้งผู้อ่านและผู้เขียนกำลังยืนมองกระแสน้ำสายหนึ่งอยู่ กระแสน้ำไหลผ่านที่
ราบเป็นส่วนมาก จึงไหลเอื่อยๆ ไม่เชี่ยว ดินที่กระแสน้ำไหลผ่านส่วนมากเป็นดินสีแดง กระแส
น้ำสายนี้จึงมีสีค่อนข้างแดง นอกจากนั้น กระแสน้ำยังไหลผ่านถิ่นที่มีประชาชนอยู่หนาแน่น
หลายแห่ง คนได้ทิ้งขยะและของเสียต่างๆ ลงในลำน้ำเป็นอันมากตลอดเวลา ทำให้น้ำสกปรก
ยิ่งในระยะหลังนี้ มีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งมากขึ้น และปล่อยน้ำเสียลงในน้ำทุกวัน ทำให้เกิด
เป็นพิษ ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ จึงมีปลา กุ้ง เป็นต้น ไม่ชุม

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2021, 19:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สรุปแล้ว กระแสน้ำที่เรากำลังมองดูอยู่นี้ สีค่อนข้างแดง สกปรก เจือปนด้วยน้ำพิษมาก มีสัตว์น้ำไม่
ชุม ไหลเอื่อยๆ ช้าๆ ผ่านที่นั้นที่นั้น ทั้งหมดนี้รวมกันเข้าเป็นลักษณะจำเพาะของกระแสน้ำนี้
ซึ่งลักษณะบางอย่างก็เหมือนกระแสน้ำโน้น บางอย่างเหมือนกระแสน้ำนั้น บางอย่างเหมือนกระ
แสน้ำนู้น ฯลฯ แต่รวมทั้งหมดแล้วไม่เหมือนกระแสน้ำอื่นใด

ต่อมา มีผู้บอกเราว่า กระแสน้ำสายนี้ชื่อแม่น้ำท่าวัง เขาบอกว่า กระแสน้ำของแม่น้ำท่าวังเป็นอย่าง
นั้นๆ บางคนบอกว่าแม่น้ำท่าวังมีน้ำสกปรก ปลาไม่ชุม บางคนบอกว่า กระแสน้ำของแม่น้ำท่าวัง
ไม่ไหลเชี่ยว และเป็นอย่างนั้นๆ บางคนว่า แม่น้ำท่าวังไหลผ่านถิ่นที่มีดินสีแดงมาก จึงมีน้ำสีค่อน
ข้างแดง

เราเกิดความรู้สึกเป็นข้อสังเกตขึ้นมาว่า ความจริง กระแสน้ำที่เรามองดูอยู่ ก็มีภาวะสมบูรณ์ในตัว
ตามสภาพของมันอยู่แล้ว มันมีลักษณะต่างๆ เช่น ไหลช้า มีสีแดง สกปรก เป็นต้น ก็เพราะมันเกิด
จากองค์ประกอบและความเป็นไปต่างๆ ที่เป็นเหตุเป็นผลอันทำให้มันต้องเป็นเช่นนั้น เช่น เมื่อ
กระแสน้ำกระทบละลายดินแดง ก็เกิดผลขึ้นแก่กระแสน้ำนั้นให้มีสีแดง เป็นต้น ความเป็นไปต่างๆ
ของมัน มีผลต่อมันอยู่ในตัวเอง

ยิ่งกว่านั้น ขณะที่เรามองอยู่นั้น กระแสน้ำก็ไหลผ่านไปเรื่อยๆ น้ำที่เราเห็นตรงหน้าเมื่อแรกมอง
กับเวลาต่อมา ก็ไม่ใช่น้ำเดียวกัน และน้ำที่เห็นตอนต่อๆ มา กับตอนท้ายที่เราจะเลิกมอง ก็ไม่ใช่
น้ำเดียวกัน แต่กระนั้นมันก็มีลักษณะจำเพาะที่เรียกได้ว่าเป็นอย่างเดิม เพราะองค์ประกอบต่างๆ
ที่รวมเข้าเป็นกระแสน้ำนั้นยังคง
เหมือนๆ เดิม แต่มีคนบอกเราว่า แม่น้ำนี้ชื่อแม่น้ำท่าวัง ยิ่งกว่านั้นยังบอกว่า แม่น้ำท่าวังมีกระแสน้ำ
ไม่เชี่ยว น้ำของแม่น้ำท่าวังสกปรก ปลาน้อย เรามองไม่เห็นว่าจะมีแม่น้ำท่าวังอยู่ที่ไหนต่างหาก หรือ
นอกจากกระแสน้ำที่เรามองอยู่นั้น เรามองไม่เห็นตัวแม่น้ำท่าวังไหนที่มาเป็นเจ้าของกระแสน้ำที่ไหล
อยู่นั้น

ยิ่งกว่านั้น เขาบอกว่า แม่น้ำท่าวังไหลผ่านละลายดินแดง ทำให้มันมีน้ำสีค่อนข้างแดง คล้ายกับว่า
แม่น้ำท่าวังไปทำอะไรให้กับดินแดง มันจึงได้รับผลถูกเขาลงโทษให้มีน้ำสีแดง เราเห็นอยู่ชัดๆ
ว่า กระแสน้ำที่เรามองอยู่นั้น มีความเป็นไป เป็นกระบวนการแห่งเหตุและผลพร้อมอยู่ในตัวของมัน
น้ำที่ไหลมากระทบเข้ากับดินแดง ดินแดงละลายผสมกับน้ำเป็นเหตุ ผลก็เกิดขึ้นคือกระแสน้ำจึงมี
สีค่อนข้างแดง ไม่เห็นจะมีใครมาเป็นผู้ทำหรือเป็นผู้รับผลนั้นอีก

ยิ่งกว่านั้น เราไม่เห็นตัวแม่น้ำท่าวังเป็นชิ้นเป็นอันอยู่ที่ไหนได้เลย กระแสน้ำที่ไหลผ่านหน้าเรา
ไปแล้ว ก็ไหลผ่านไปเลย น้ำเก่าที่เราเห็น ก็ไม่มีอยู่ที่นั่นแล้ว มีแต่น้ำใหม่มาแทนที่เรื่อยไป เรากำ
หนดกระแสน้ำนั้นได้ ด้วยองค์ประกอบ อาการ และความเป็นไปต่างๆ ที่ประมวลกันขึ้นให้ปรากฏ
ลักษณะอันจะถือเอาได้เช่นนั้นเท่านั้นเอง และถ้ามีตัวตนของแม่น้ำท่าวังเป็นชิ้นเป็นอันแน่นอน
ตายตัวอยู่ กระแสน้ำก็คงจะเป็นไปตามองค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้
และในขั้นสุดท้าย เราเห็นว่า แม่น้ำท่าวังนั่นแหละเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็น เราพูดถึงกระแสน้ำนั้น
ได้เต็มตามกระบวนการของมัน โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับแม่น้ำท่าวังเลย ว่าให้ถูกแล้ว แม่น้ำท่าวังไม่
มีอยู่เลยด้วยซ้ำไป เราเห็นชัดเลยว่า ไม่มี ไม่ต้องมี และไม่อาจจะมีอะไรๆ มาเป็นตัวตนที่เรียกว่า
แม่น้ำท่าวัง หรือมีแม่น้ำท่าวังที่ไหนมาเป็นตัวตนเป็น อัตตาที่จะเป็นเจ้าของเป็นเจ้ากี้เจ้าการกำกับ
สั่งการแก่กระแสน้ำนั้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2021, 19:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อมาอีกนาน เราเดินทางไปถึงตำบลอื่น เราพบชาวตำบลนั้นหลายคน คราวหนึ่งเราอยากจะเล่า
ให้เขาฟังเกี่ยวกับเรื่องกระแสน้ำที่เราได้มองดูคราวก่อนนั้น แล้วเราก็เกิดความติดขัดขึ้นมาทันที
เราไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรดี เขาจึงจะเข้าใจตามที่เราต้องการจะบอกเขาได้ เรานึกขึ้นมาได้ถึงคำ
ที่เคยมีคนบอกเราว่ากระแสน้ำสายนั้นชื่อแม่น้ำท่าวัง จากนั้นเราก็สามารถเล่าให้ชาวบ้านฟังอย่าง
สะดวกคล่องแคล่ว และเขาก็ฟังด้วยความเข้าใจและสนใจเป็นอย่างดี เราพูดด้วยว่า แม่น้ำท่าวัง
มีน้ำสกปรก มีปลาน้อย กระแสน้ำของแม่น้ำท่าวังไหลช้า แม่น้ำท่าวังไหลไปกระทบดินแดง ทำ
ให้มันมีสีค่อนข้างแดง

ในเวลานั้น เราเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยว่า แม่น้ำท่าวัง และบทบาทของมันตามที่เราเล่านั้น
เป็นเพียงถ้อยคำสมมติเพื่อสะดวกในการติดต่อสื่อสารกันในโลก แม่น้ำท่าวังและบทบาทของ
มันตามคำสมมติเหล่านี้ จะมีขึ้นมาหรือไม่มี และเราจะใช้มันหรือไม่ก็ตามที จะไม่มีผลกระทบต่อ
กระแสน้ำนั้นเลย กระแสน้ำนั้นก็คงเป็นกระบวนการแห่งกระแสที่ไหลเนื่องไปตามองค์ประกอบและ
เหตุปัจจัยของมันอยู่นั่นเอง เราแยกได้ระหว่างสมมติกับสภาวะที่เป็นจริง บัดนี้ เราทั้งเข้าใจ และสา
มารถใช้ถ้อยคำเหล่านั้นพูดด้วยความสบายใจ

ที่สมมติเรียกกันว่าคน ว่านาย ก. คุณ ข. เรา เขา นั้น โดยสภาวะที่แท้ก็คือ กระบวนธรรมที่ไหลเนื่อง
เป็นกระแสสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย มีองค์ประกอบต่างๆ มาสัมพันธ์กันอยู่มากมาย มีความเป็น
ไปปรากฏให้เห็นได้นานัปการ สุดแต่เหตุปัจจัยทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในกระบวนธรรม
นั้นเอง และทั้งที่เนื่องด้วยภายนอก

เมื่อมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างหนึ่งเกิดเป็นเหตุขึ้นแล้ว ก็ย่อมก่อให้เกิดผลเป็นความเปลี่ยนแปลง
ขึ้นในกระบวนธรรมนั้น สิ่งที่เรียกว่ากรรม และ วิบาก นั้น ก็คือความเป็นไปตามทางแห่งเหตุและ
ผลที่เกิดขึ้นในกระบวนธรรมที่กล่าวนื้ ซึ่งมีความสำเร็จพร้อมอยู่ในตัวกระบวนธรรมนั้นเอง โดยไม่
ต้องอาศัยตัวสมมติ เช่นว่า นาย ก. นาย ข. เรา เขา นายสิบ นายพัน มารับสมอ้างเป็นเจ้าของ เป็นผู้
ทำ หรือเป็นผู้รับผลแต่ประการใด

อันนี้เป็นส่วนตัวสภาวะความจริง อันเป็นไปอยู่ตามธรรมดาของมัน แต่เพื่อความสะดวกในการสื่อ
สารให้เข้าใจกันในหมู่ชาวโลก จะใช้พูดตามสมมติก็ได้ โดยตั้งชื่อให้แก่กระบวนธรรมที่ไหลเวียน
อยู่นั้นว่า นาย ก. นาย ข. จมื่น หัวหมู่ เป็นต้น เมื่อรับสมมติเข้าแล้ว ก็ต้องยอมรับสมอ้าง เป็นเจ้า
ของ เป็นผู้ทำ และผู้ถูกทำไปตามเรื่อง แต่ถึงจะสมมติหรือไม่สมมติ จะรับสมอ้างหรือไม่รับ กระ
บวนธรรมที่เป็นตัวสภาวะความจริงก็เป็นไปอยู่ตามกฎธรรมดา ตามเหตุปัจจัยของมันนั่นเอง ข้อสำ
คัญก็คือ จะต้องรู้เท่าทัน แยกสมมติกับตัวสภาวะออกจากกันได้ ของอันเดียวกันนั่นแหละ เมื่อใดจะ
พูดถึงสภาวะ ก็พูดไปตามสภาวะ เมื่อใดจะใช้สมมติ ก็พูดไปตามสมมติ อย่าไขว้เขว อย่าสับสนปะ
ปนกัน และต้องมีความเข้าใจสภาวะเป็นความรู้เท่าทันรองรับยืนเป็นพื้นอยู่

ทั้งตัวสภาวะ และสมมติ เป็นสิ่งจำเป็น ตัวสภาวะ (นิยมเรียกกันว่า) เป็นเรื่องของธรรมชาติ ส่วนสม
มติเป็นเรื่องของประโยชน์ในทางปฏิบัติสำหรับความเป็นอยู่ของมนุษย์ แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะมนุษย์
เอาสภาวะกับสมมติมาสับสนกัน คือ เข้าไปยึดเอาตัวสภาวะ จะให้เป็นตามสมมติ จึงเกิดวุ่นวายขึ้น
ตัวสภาวะไม่วุ่น เพราะมันเป็นไปอย่างนั้นเอง ตามปกติธรรมดา ไม่เกี่ยวกับใครจะไปยึดหรือไม่ มนุษย์
เป็นผู้วุ่นไปฝ่ายเดียว และเพราะมันไม่วุ่นด้วย มนุษย์จึงยิ่งวุ่นวายใหญ่ เพราะขัดความปรารถนา ถูกบีบ
คั้น จึงเกิดเป็นปัญหาแก่มนุษย์เอง

ตามเรื่องในที่ยกมาอ้างข้างต้น เห็นได้ชัดว่าภิกษุที่เกิดความสงสัยนั้น เอาความรู้เกี่ยวกับสภาวะ
ตามที่ตนฟังมาเรียนมา ไปสับสนกับสมมติที่ตนยึดถืออยู่ จึงเกิดความงุนงง ตามข้อสงสัยของเธอ ถ้า
คงศัพท์สำคัญไว้ตามเดิมจะแปลว่า “กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จะถูกต้องอัตตาได้อย่างไร?” ท่อน
แรก เธอพูดตามความรู้เกี่ยวกับตัวสภาวะ ท่อนหลังเธอพูดตามสมมติที่เธอยึดถืออยู่เอง จึงขัดกันเป็น
ธรรมดา

เท่าที่กล่าวมา เป็นอันสรุปได้ว่า

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2021, 21:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


- หลักอนัตตากับกรรม ไม่ขัดกันเลย ตรงข้าม อนัตตากลับสนับสนุนกรรม เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา กรรมจึงมีได้ เมื่อกระบวนธรรมดำเนินไป องค์ประกอบทุกอย่างต้องเกิดดับเข้าสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันไป กระแสสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยจึงจะดำเนินไปได้ ไม่ใช่มีอะไรมาเป็นตัวเที่ยงคงที่ ลอยทื่อกั้นขวางอยู่กลางกระแส จะไปไหนก็ไม่ไป จะเป็นไปอย่างไร ก็ไม่เป็นไป ถ้ามีอัตตา กรรมก็ไม่มี เพราะอัตตาไม่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีอะไรเข้าถึงเนื้อตัวมัน อะไรจะเกิดขึ้น ก็ไม่มีผลให้เนื้อตัวอัตตาเปลี่ยนแปลงไป ในที่สุดก็จะต้องแยกคนออกเป็นสองชั้น อย่างลัทธิสัสสตทิฏฐิบางพวก ที่ว่าคนทำกรรม รับผลกรรมกันไป อยู่แค่ชั้นนอก ส่วนแก่นแท้หรืออัตตาอยู่ภายในเที่ยง คงที่ ถึงอะไรจะเป็นไปอย่างไร อัตตาก็คงเดิม ไม่ถูกกระทบกระเทือน

- ที่เราทำกรรม และรับผลกรรมกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ทำและรับผลกรรมกันอยู่ โดยไม่ต้องมีตัวผู้ทำกรรมและไม่มีคนรับกรรมอยู่แล้ว ในสิ่งทั้งหลายที่ประชุมกันอยู่และดำเนินไปเป็นกระบวนธรรมนั้น ต้องพิจารณาในแง่ที่ว่า มีอะไรบ้างเข้าไปเป็นปัจจัย อะไรไปสัมพันธ์กับอะไร แล้วมีผลอะไรเกิดขึ้นในกระบวนธรรมนั้น ทำให้กระบวนธรรมนั้นผันแปรเป็นไปอย่างไรๆ เมื่อมีเหตุที่เรียกว่าการกระทำเกิดขึ้นเป็นปัจจัยแล้ว ก็ย่อมมีผลที่เรียกว่าวิบากเกิดขึ้นในกระบวนธรรมนั้นเอง เรียกว่ามีการกระทำ และมีผลการกระทำเกิดขึ้น โดยไม่ต้องมีเจ้าของกรรม ที่มาเป็นผู้ทำกรรมและเป็นผู้รับผลกรรมนั้นอีกชั้นหนึ่ง

กรรมคือความเป็นไปตามเหตุและผลในกระบวนธรรมนั้น อันต่างหากจากสมมติที่เราเอาไปสวมใส่ครอบให้มัน เมื่อตกลงจะสมมติเรียกกระบวนธรรมที่ดำเนินอยู่นั้นว่า เป็น นาย ก. นาย ข. ก็ย่อมมีนาย ก. นาย ข. ที่เป็นเจ้าของกรรม เป็นผู้ทำกรรม และรับผลกรรม แต่กระบวนธรรมที่เป็นตัวสภาวะ ก็ดำเนินไปตามปกติของมัน เป็นเหตุเป็นผลพร้อมอยู่ในตัวโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องอาศัยนาย ก. นาย ข. จึงจะมีเหตุมีผลเกิดขึ้น

เมื่อจะพูดในแง่กระบวนธรรม ว่าดำเนินไปอย่างไร ด้วยเหตุปัจจัยอะไร เป็นผลอย่างไร ก็พูดไป หรือจะพูดในแง่ว่านาย ก. นาย ข. ทำกรรมนั้นแล้ว รับผลกรรมอย่างนี้ ก็พูดไป เมื่อพูดในแง่สมมติ ก็ให้รู้ว่ากำลังพูดในแง่สมมติ เมื่อพูดในแง่สภาวะหรือปรมัตถ์ ก็ให้รู้ว่ากำลังพูดในแง่สภาวะ เมื่อรู้เท่าทันความเป็นจริง และความมุ่งหมายในการพูดแบบนั้นๆ ไม่เข้าไปยึดติดถือมั่น ไม่เอามาปะปนกัน ก็เป็นอันใช้ได้

- ไม่ต้องพูดถึงมนุษย์ซึ่งเป็นประชุมแห่งเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนลึกซึ้งมาก เพราะมีองค์ประกอบฝ่ายจิตใจร่วมอยู่ด้วย แม้แต่พวกรูปธรรมที่มีองค์ประกอบฝ่ายวัตถุอย่างเดียว เช่นอย่างเรื่องแม่น้ำท่าวังที่กล่าวข้างต้น คนจำนวนมากก็ยังติดในสมมติ ยึดมั่นเอาเป็นตัวเป็นตนจริงจังไปได้, สำหรับองค์ประกอบฝ่ายจิตใจนั้น ละเอียดลึกซึ้งมาก แม้แต่ความเป็นอนิจจัง บางคนก็มองไม่เห็น เช่น เคยมีบางคนกล่าวแย้งว่า “ใครว่าสัญญาไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไม่คงที่, สัญญาต้องนับว่าเป็นของเที่ยง เพราะมันเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อใด ก็เป็นสัญญาทุกครั้ง คงที่ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง” คำแย้งนี้บางคนอาจเห็นคล้อยไปตามได้ แต่ถ้าเปลี่ยนข้อความนี้มาใช้กับวัตถุหรือรูปธรรม อาจมองเห็นข้อถูกข้อผิดได้ง่ายและชัดเจนขึ้น คำแย้งข้างต้นนั้น เหมือนกันกับที่พูดว่า “ใครว่าร่างกายไม่เที่ยง, ร่างกายเป็นของเที่ยงแท้ คงที่ เพราะร่างกายเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไรก็เป็นร่างกายอยู่นั่นเอง ไม่เปลี่ยนแปลง” ข้อความสุดท้ายนี้มองเห็นแง่ผิดง่ายกว่า แต่ความจริง ก็ผิดด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน กล่าวคือ เป็นความสับสนระหว่างสัญญา กับบัญญัติว่าสัญญา และร่างกาย กับบัญญัติว่าร่างกาย จะอธิบายว่าสัญญาและร่างกาย เป็นของเที่ยง คงที่ แต่เหตุผลที่แสดงกลายเป็นพูดว่า บัญญัติว่าสัญญา และบัญญัติว่าร่างกาย เที่ยงแท้คงที่

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2021, 21:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


- การศึกษาหลักกรรม โดยจับเอาที่สมมติ จะทำให้ได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นเหตุเป็นผลในช่วงกว้างเกินไป เช่น จับเอาว่า นาย ก. ทำกรรมชื่อนี้ ในวันนี้ ต่อมาอีกสิบปี เขาได้รับผลกรรมชั่วนั้น ความเป็นเหตุเป็นผลที่อธิบาย มักจะเป็นแบบก้าวเดียว ข้ามเวลา ๑๐ ปี ดังนั้น จึงยากที่จะให้มองเห็นความสัมพันธ์ในทางเหตุผลได้ละเอียดชัดเจน เพราะไม่มองเห็นกระแสเหตุปัจจัยที่เป็นไปต่อเนื่องโดยตลอด; การศึกษากระบวนธรรมตามสภาวะ จึงจะช่วยให้มองเห็นกระแสความสัมพันธ์นั้นได้ละเอียดตลอดสายว่า ความหมายของการได้รับผลนั้น ที่แท้จริงคืออะไร และเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?

นาย ก. มีเรื่องวิวาทกับเพื่อนบ้าน และได้ทำร้ายเพื่อนบ้านนั้นถึงแก่ความตาย เขาหวาดกลัวการจับกุมของเจ้าหน้าที่และการแก้แค้นของญาติพวกพ้องของผู้ตาย เที่ยวหลบซ่อนตัว ต่อมาเขาถูกจับได้และถูกลงโทษ

แม้ภายหลังพ้นโทษออกมาแล้ว นาย ก. ก็ยังมีความเดือดร้อนใจในการก่อกรรมชั่ว ถูกภาพของคนตายหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ หาความสุขความเย็นใจไม่ได้เลย หน้าตาท่าทางของเขาเปลี่ยนไป กลายเป็นหม่นหมองร้อนรนหวาดระแวงและอมทุกข์

ภาวะจิตใจเช่นนี้ ประกอบกับปัจจัยอย่างอื่น เช่นความมีร่างกายแข็งแรง ได้มีผลสืบเนื่องต่อมา โดยทำให้เขากลายเป็นคนฉุนเฉียว โมโหร้าย รุนแรง และเมื่อเวลายาวนานผ่านไป บุคลิกภาพของเขาก็เปลี่ยนไปเป็นคนมีลักษณะหยาบคาย เหี้ยมเกรียม ชอบกลบเกลื่อนความทุกข์ด้วยการแสดงอำนาจ ทั้งเป็นภัยต่อสังคม และตัวเขาเองก็หาความสุขทางสังคมที่แท้จริงไม่ได้

เรื่องที่เล่ามานี้ ถ้าจะพูดให้สั้นก็ว่า นาย ก. ทำกรรมชั่ว และได้รับผลของกรรมชั่วนั้น การพูดอย่างนี้เป็นไปตามภาษาสามัญ ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย เรียกว่าพูดตามสมมติ เป็นวิธีการสื่อสารในระหว่างมนุษย์ ช่วยให้เกิดความสะดวกในการที่จะทำความเข้าใจต่อกัน แต่เป็นการพูดถึงเพียงภาพที่ปรากฏออกมาภายนอก หรือผลรวมหยาบๆ ของเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องซับซ้อนอยู่ภายใน ไม่เข้าถึงเนื้อหาภายในที่สัมพันธ์สืบทอดกันตามสภาวะของธรรมชาติ

แต่ถ้าพูดโดยปรมัตถ์ หรือตามสภาวะของธรรมชาติเองแท้ๆ ก็จะพูดได้ถึงเนื้อในของความเป็นไปทั้งหมดที่เรียกว่ากระบวนธรรม เช่นบอกว่า ในกระบวนธรรมแห่ง ขันธ์ ๕ ชุดนี้ จิตประกอบด้วยความโกรธเกิดขึ้น มีการปรุงแต่งตามความโกรธนั้น จนแสดงออกเป็นการกระทำ มีกรรมเกิดขึ้น จิตที่มีการปรุงแต่งอย่างนั้นเริ่มแปรคุณภาพไป มีคุณสมบัติร้ายๆ เช่น ความระแวง หวาดกลัว และความคิดร้ายเกิดมากขึ้น จิตปรุงแต่งอย่างนั้นบ่อยๆ เกิดการสั่งสมคุณสมบัติร้ายๆ จนเป็นลักษณะประจำ และคุณสมบัติร้ายๆ นั้นๆ ก็เป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ยิ่งกว่านั้น การกระทบทางกายจากภายนอกเกิดขึ้น ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ทุกขเวทนาเกิดขึ้นๆ

การพูดตามสภาวะอย่างนี้ มีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์โดยไม่ต้องเอ่ยอ้างถึง นาย ก. หรือตัวตนใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวกระบวนการจึงมีแต่เพียงองค์ธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น และสัมพันธ์เป็นปัจจัยสืบทอดกันมา มีการกระทำและมีผลของการกระทำ โดยไม่ต้องมีผู้ทำและผู้รับผลของการกระทำ

ไม่ว่าจะพูดตามสภาวะอย่างนี้ หรือพูดตามสมมติอย่างข้างต้น เนื้อหาของสภาพที่เป็นจริงก็มีเท่ากัน ไม่ขาดไม่เกินกว่ากัน เพียงแต่ว่า การพูดตามสภาวะ เป็นการพูดถึงแต่ตัวความจริงล้วนๆ โดยไม่พอกเพิ่มถ้อยคำหรือภาพสมมติซ้อนขึ้นมาบนตัวความจริงนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะอธิบายถึงเพียงนี้แล้ว บางคนก็ยังไม่อาจเข้าใจ จึงคงจะต้องเล่าเป็นนิทานว่า

ทิดผ่องไปคุยธรรมะกับท่านพระครูที่วัด ตอนหนึ่งทิดผ่องถามว่า
“เอ! หลวงพ่อครับ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่เป็นของใครๆ ไม่มีตัวผู้ทำกรรม ไม่มีตัวผู้รับผลของกรรม ถ้าอย่างนั้น ผมจะไปฆ่าใคร ตีหัวใคร หรือทำอะไรๆ ใครก็ได้สิครับ เพราะไม่มีใครทำกรรม แล้วผมก็ไม่ต้องได้รับผลกรรม”

พอทิดผ่องพูดขาดคำ ไม้เท้าในมือของท่านพระครู ซึ่งท่านฉวยขึ้นมาจากข้างที่นั่งเมื่อไรทิดผ่องไม่ทันสังเกตเห็น ก็ฟาดลงมาอย่างรวดเร็ว จนเขายกแขนขึ้นรับแทบไม่ทัน ปลายไม้เท้าถูกกลางต้นแขนพอหนุ่ยๆ แดงๆ ทิดผ่องคลำแขนป้อย

“หลวงพ่อ! ทำไมทำกับผมอย่างนี้ล่ะ?” ทิดผ่องพูดเสียงกร้าว แสดงอาการว่ากำลังข่มความโกรธ

“อ้าว! เป็นไงล่ะ?” ท่านพระครูถามลอยๆ

“ก็หลวงพ่อตีผม ผมเจ็บนี่” ทิดผ่องตอบเสียงเครียด หน้านิ่ว

“กรรมมีอยู่ ผู้ทำกรรมไม่มี ผลกรรมมีอยู่ ผู้รับผลของกรรมไม่มี เวทนามีอยู่ ผู้เสวยเวทนาไม่มี ความเจ็บมีอยู่ ผู้เจ็บไม่มี”

ท่านพระครูพูดเปรยๆ ปรับเสียงช้าๆ อย่างทำนองเทศน์ และว่าต่อไปอีก “ผู้ใดแสวงหาประโยชน์ ในทางเห็นแก่ตัวจากอนัตตา ผู้นั้นไม่พ้นจากอัตตา; ผู้ใดยึดมั่นอนัตตา ผู้นั้นแลคือผู้ยึดมั่นอัตตา เขาหารู้จักอนัตตาไม่; ผู้ใดยึดถือว่าผู้ทำกรรมไม่มี ผู้นั้นย่อมไม่พ้นจากความยึดมั่นว่าผู้เจ็บมี เขาหารู้แจ้งไม่ว่า ผู้ทำกรรมก็ไม่มี และผู้เจ็บก็ไม่มี”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถ้ารักจะพูดว่าไม่มีผู้ทำกรรม ก็ต้องเลิกพูดด้วยว่าผมเจ็บ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2021, 05:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


คุณค่าทางจริยธรรม
กล่าวโดยสรุป คุณค่าที่ต้องการในทางจริยธรรมของหลักกรรมมีดังนี้

๑) ให้เป็นผู้หนักแน่นในเหตุผล รู้จักมองเห็นการกระทำ และผลการกระทำ ตามแนวทางของเหตุปัจจัย ไม่เชื่อสิ่งงมงาย ตื่นข่าว เช่น เรื่องแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น

๒) ให้เห็นว่าผลสำเร็จที่ตนต้องการ จุดหมายที่ปรารถนาจะเข้าถึง จะสำเร็จได้ด้วยการลงมือทำ

- จึงต้องพึ่งตน และทำความเพียรพยายาม

- ไม่รอคอยโชคชะตา หรือหวังผลด้วยการอ้อนวอนเซ่นสรวงต่อปัจจัยภายนอก

๓) ให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองที่จะงดเว้นจากกรรมชั่ว และรับผิดชอบต่อผู้อื่น ด้วยการกระทำความดีต่อเขา

๔) ให้ถือว่า บุคคลมีสิทธิโดยธรรมชาติที่จะทำการต่างๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุง สร้างเสริมตนเองให้ดีขึ้นไป โดยเท่าเทียมกัน สามารถทำตนให้เลวลงหรือให้ดีขึ้น ให้ประเสริฐจนถึงยิ่งกว่าเทวดาและพรหมได้ทุกๆ คน

๕) ให้ถือว่าคุณธรรม ความสามารถ ความประพฤติปฏิบัติ เป็นเครื่องวัดความทรามหรือประเสริฐของมนุษย์ ไม่ให้มีการแบ่งแยกโดยชาติ ชั้น วรรณะ

๖) ในแง่กรรมเก่า ให้ถือเป็นบทเรียน และรู้จักพิจารณาเข้าใจตนเองตามเหตุผล ไม่คอยเพ่งโทษแต่ผู้อื่น มองเห็นพื้นฐานของตนเองที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุง และวางแผนสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ถูกต้อง

๗) ให้ความหวังในอนาคตสำหรับสามัญชนทั่วไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2021, 05:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


คุณค่าเหล่านี้ พึงพิจารณาตามพุทธพจน์ดังต่อไปนี้

ความหมายทั่วไป เช่น:
“ภิกษุทั้งหลาย เจตนา เรากล่าวว่าคือ กรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงกระทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ”

“สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งพาอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้ทรามและประณีต”

“บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำดี ย่อมได้ดี ผู้ทำชั่ว ย่อมได้ชั่ว”

“บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลมีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ย่อมเสพผลของกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นแล ทำไว้เป็นดี”

“คนพาลมีปัญญาทราม ทำกับตนเองเหมือนเป็นศัตรู ย่อมทำกรรมชั่วอันให้ผลเผ็ดร้อน บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมเดือดร้อนภายหลัง มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ เสวยผลแห่งกรรมใด กรรมนั้นทำแล้วไม่ดีเลย”

“บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง เสวยผลแห่งกรรมใด ด้วยหัวใจแช่มชื่นเบิกบาน กรรมนั้นทำไว้เป็นดี บุคคลรู้กรรมใดว่าเป็นประโยชน์แก่ตน ควรรีบลงมือกระทำกรรมนั้นทีเดียว”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2021, 05:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ความเป็นคนมีเหตุผล ไม่เชื่อถืองมงาย เช่น:

“คนพาลมีกรรมดำ ถึงจะแล่นไปยัง (แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ คือ) แม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระนรชนผู้มีเวร ผู้ทำกรรมหยาบช้า ผู้มีกรรมชั่วนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย (แต่) ผัคคุณฤกษ์ (ฤกษ์ดีเยี่ยม) ย่อมสำเร็จทุกเมื่อ แก่บุคคลผู้บริสุทธิ์ อุโบสถก็สำเร็จทุกเมื่อแก่ผู้บริสุทธิ์ วัตร ของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานสะอาด ย่อมสำเร็จผลทุกเมื่อ

“ดูกร พรามณ์ ท่านจงอาบตนในคำสอนของเรานี้เถิด จงสร้างความเกษมแก่สัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ทำอทินนาทาน เป็นผู้มีศรัทธา หาความตระหนี่มิได้ไซร้ ท่านจะต้องไปท่าน้ำคยาทำไม แม้น้ำดื่มของท่าน ก็เป็นแม่น้ำคยาแล้ว”

“ถ้าแม้นบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ (ชำระบาป) กบ เต่า นาค จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่น้ำ ก็จะพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน...ถ้าแม่น้ำเหล่านี้พึงนำเอาที่ท่านทำไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ แม่น้ำเหล่านี้ก็พึงนำเอาบุญของท่านไปได้ด้วย”

“ความสะอาดจะมีเพราะน้ำ (ศักดิ์สิทธิ์) ที่คนจำนวนมากพากันไปอาบก็หาไม่ ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม ผู้นั้นจึงจะเป็นผู้สะอาด เป็นพรามณ์”

“ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ อันเป็นดุจคูกั้นเสียได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก”

“ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนเขลาผู้คอยนับอยู่ ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้”

“บุคคลประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้น ได้ชื่อว่า เป็นฤกษ์ดี มงคลดี เป็นเช้าดี อรุณดี เป็นขณะดี ยามดี และเป็นอันได้ทำบูชาดีแล้วแด่บรรดาท่านผู้พรหมจารีชน

“แม้กายกรรมของเขา ก็เป็นสิทธิโชค วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค ประณิธานของเขาก็เป็นสิทธิโชค ครั้นกระทำกรรมทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้ว เขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2021, 06:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


การลงมือทำ ไม่รอคอยความหวังจากการอ้อนวอนปรารถนา เช่น:

“ไม่ควรหวนละห้อยถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่พึงเพ้อฝันสิ่งที่ยังไม่มา สิ่งใดเป็นอดีต สิ่งนั้นก็ผ่านไปแล้ว สิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นก็ยังไม่ถึง ส่วนผู้ใดเห็นประจักษ์ชัดสิ่งที่เป็นปัจจุบัน อันเป็นของแน่นอน ไม่คลอนแคลน ขอให้ผู้นั้น ครั้นเข้าใจชัดแล้ว พึงเร่งขวนขวายปฏิบัติให้ลุล่วงไปในที่นั้นๆ

“เร่งทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครเล่าพึงรู้ว่าจะตายในวันพรุ่ง เพราะว่า สำหรับพระยามัจจราช เจ้าทัพใหญ่นั้น เราทั้งหลายไม่มีทางผัดเพี้ยนเลย

“ผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้นั้นแท้ พระสันตมุนีทรงขนานนามว่า ถึงอยู่ราตรีเดียวก็ประเสริฐ”

“ดูกร คฤหบดี ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นของได้ยากในโลก คือ
อายุ...วรรณะ...สุข...ยศ...สวรรค์ ธรรม ๕ ประการนี้...เราไม่กล่าวว่าจะพึงได้มาเพราะการอ้อนวอน หรือเพราะการตั้งปรารถนา ถ้าการได้ธรรมทั้ง ๕ นี้ จะมีได้ เพราะการอ้อนวอน หรือเพราะการตั้งปรารถนาแล้วไซร้ ใครในโลกนี้ จะพึงเสื่อมจากอะไร

“ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุ (ยืน) ไม่พึงอ้อนวอนหรือมัวเพลิดเพลินกับอายุ เพราะการอยากได้อายุนั้นเลย อริยสาวกผู้ปรารถนาอายุ พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติที่จะเป็นไปเพื่ออายุ เพราะข้อปฏิบัติอันเป็นไปเพื่ออายุที่ปฏิบัติแล้วนั่นแหละ จึงจะเป็นไปเพื่อการได้อายุ อริยสาวกนั้นย่อมเป็นผู้ได้อายุ ไม่ว่าจะเป็นของทิพย์ หรือของมนุษย์...ผู้ปรารถนาวรรณะ...สุข...ยศ...สวรรค์ ก็พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติที่จะเป็นไปเพื่อวรรณะ...สุข...ยศ...สวรรค์..

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่หมั่นประกอบความเพียรในการฝึกอบรมจิต ถึงจะมีความปรารถนาว่า ‘ขอให้จิตของเราหลุดพ้นจากอาสวะเถิด’ ดังนี้ จิตของเธอจะหลุดพ้นไปจากอาสวะได้ ก็หาไม่...เหมือนไข่ไก่ ๘ ฟอง ก็ตาม ๑๐ ฟอง ก็ตาม ๑๒ ฟอง ก็ตาม ที่แม่ไก่ไม่นอนทับ ไม่กก ไม่ฟัก ถึงแม้แม่ไก่จะมีความปรารถนาว่า ‘ขอให้ลูกของเราใช้ปลายเล็บหรือจะงอยปาก ทำลายเปลือกไข่ออกมาโดยสวัสดีเถิด’ ดังนี้ ลูกไก่จะใช้ปลายเล็บ หรือจะงอยปาก ทำลายเปลือกไข่ออกมาได้ ก็หาไม่”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2021, 06:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


การไม่ถือชาติชั้นวรรณะ ถือความประพฤติเป็นประมาณ เช่น:

“ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นชาวนา มิใช่พรามณ์ ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยศิลปะต่างๆ ผู้นั้นเป็นศิลปิน มิใช่พราหมณ์ ผู้ใดอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นพ่อค้า มิใช่พราหมณ์ ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้ผู้อื่น ผู้นั้นเป็นคนรับใช้ มิใช่พราหมณ์ ผู้ใดอาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร มิใช่พราหมณ์ ฯลฯ ผู้ใดปกครองบ้านเมือง ผู้นั้นเป็นราชา มิใช่พราหมณ์

“เรามิได้เรียกคนเป็นพราหมณ์ตามที่เกิดมาจากท้องมารดา ผู้นั้นยังมีกิเลส เป็นแค่สักว่า โภวาที (ธรรมเนียมพราหมณ์เรียกทักทายคนอื่นว่า “โภ”) เราเรียกคนที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความถือมั่นต่างหาก ว่าเป็นพราหมณ์

“อันนามและโคตรที่กำหนดตั้งกันไว้นี้เป็นสักว่าโวหารในโลกเพราะเกิดมีขึ้นตามคำเรียกขานที่กำหนดตั้งกันไว้ในคราวนั้นๆ ตามทิฎฐิอันนอนเนื่องอยู่ในหทัยสิ้นกาลนานของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้ สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้ก็พร่ำกล่าวว่าคนเป็นพราหมณ์เพราะชาติ (กำเนิด) แต่บุคคลจะเป็นพราหมณ์เพราะชาติ ก็หาไม่ จะมิใช่พราหมณ์เพราะชาติก็หาไม่ จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรม (การงานอาชีพที่ทำ ) ไม่ใช่พราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นศิลปินก็เพราะกรรม เป็นพ่อค้าก็เพราะกรรม เป็นคนรับใช้ก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นราชาก็เพราะกรรม

“บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็น ปฏิจจสมปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรมนั้นแจ้งชัดตามความเป็นจริงว่าโลกเป็นไปด้วยกรรม หมู่สัตว์เป็นไปด้วยกรรม สัตว์ทั้งหลายถูกผูกยึดกันไว้ด้วยกรรมเหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไปฉะนั้น”

“ดูกรพราหมณ์ เราจะเรียกคนว่าประเสริฐ เพราะความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงก็หาไม่ เราจะเรียกคนว่าต่ำทรามเพราะความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงก็หาไม่ เราจะเรียกคนว่าประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีวรรณะใหญ่โตก็หาไม่ เราจะเรียกคนว่าต่ำทรามเพราะความเป็นผู้มีวรรณะใหญ่โตก็หาไม่ เราจะเรียกคนว่าประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีโภคะมากมายก็หามิได้ เราจะเรียกคนว่าต่ำทรามเพราะความเป็นผู้มีโภคะมากก็หามิได้

“แท้จริงบุคคลบางคน แม้เกิดในตระกูลสูง ก็ยังเป็นผู้ชอบเข่นฆ่าลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดคำเพ้อเจ้อ เป็นคนละโมบ คิดเบียดเบียน เป็น มิจฉาทิฏฐิ” “บุคคลไม่เป็นคนถ่อยทรามเพราะชาติ ไม่เป็น พรามณ์ เพราะชาติ (กำเนิด) แต่เป็นคนถ่อยทรามเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม (การกระทำ ความประพฤติ)”

“ วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พรามณ์ แพศย์ ศูทร ออกบวชใน ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย นับว่าเป็นสมณศากยบุตรทั้งสิ้น”

“บรรดาวรรณะทั้งสี่นี้ ผู้ใดเป็นภิกษุ สิ้นกิเลสาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ตนจะต้องทำสำเร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว ลุถึงประโยชน์ตนแล้ว หมดเครื่องผูกมัดไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ผู้นั้นแล เรียกได้ว่าเป็นผู้เลิศกว่าวรรณะทั้งหมดนั้น”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2021, 06:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


การพึ่งตนเอง เช่น:
“การเพียรพยายาม เป็นหน้าที่ที่ท่านทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทาง”

“ตนนั่นแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ ด้วยตนที่ฝึกไว้ดีแล้วนั่นแหละ จะได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก”

“ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน คนอื่นทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้”

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงมีตนเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึงเลย จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2021, 06:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อเตือนใจเพื่ออนาคต

“หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักได้รับผลของกรรมนั้น”

“ถ้าท่านกลัวทุกข์ ก็อย่าทำกรรมชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ถ้าท่านจักทำ หรือทำอยู่ ซึ่งกรรมชั่ว ถึงแม้จะเหาะหนีไป ก็ย่อมไม่พ้นจากความทุกข์ได้เลย”

“ธัญชาติ ทรัพย์สิน เงินทอง หรือสิ่งของที่หวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอยู่ ทาส กรรมกร คนงาน คนอาศัย พาเอาไปไม่ได้ทั้งสิ้น จะต้องถูกละทิ้งไว้ทั้งหมด

“แต่บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั้นแหละเป็นของของเขาและเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป อนึ่ง กรรมนั้นย่อมติดตามเขาไปเหมือนดังเงาที่ติดตามตน

“ฉะนั้น บุคคลควรทำความดี สั่งสมสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ภายหน้า ความดีทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ในปรโลก”  

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ค. 2022, 13:50 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 13 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 51 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร