ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

สุขที่พัฒนาให้ถึงได้
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=66&t=60485
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 21 มิ.ย. 2021, 13:30 ]
หัวข้อกระทู้:  สุขที่พัฒนาให้ถึงได้

ทบทวนความสุขที่คนสามารถพัฒนาไปถึงได้
เท่าที่ได้กล่าวมาในเรื่องความสุข เห็นควรสรุป ให้เห็นขั้นตอน และประเภท ชัดเจนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะได้ดังนี้

ก. เวทยิตสุข (สุขที่เป็นเวทนา หรือสุขที่มีการเสวยอารมณ์)

๑. กามสุข สุขเนื่องด้วยกาม สุขเกิดจากกามคุณ หรือสุขจากสิ่งเสพทางทั้ง ๕

๒. ฌานสุข สุขเนื่องด้วยฌาน หรือสุขที่เป็นวิบากแห่งฌาน
- สุขเนื่องด้วยรูปฌาน ๔ ขั้น
- สุขเนื่องด้วยอรูปฌาน ๔ ขั้น

ข. อเวทยิตสุข (สุขที่ไม่เป็นเวทนา หรือสุขที่ไม่มีการเสวยอารมณ์)

๓. นิโรธสมาบัติสุข สุขเนื่องด้วยนิโรธสมาบัติ คือการเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ

ข้างบนนี้ จัดตามหลักความสุข ๑๐ ขั้น ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

แต่ในที่นี้ จะขอจัดใหม่อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คล้ายกันมาก แต่ให้ความรู้สึกยืดหยุ่น หรือกว้างออกไปสักหน่อย โดยแบ่งเป็น ๓ ดังนี้

๑. กามสุข สุขเนื่องด้วยกาม
๒. ฌานสุข สุขเนื่องด้วยฌาน
๓. นิพพานสุข สุขเนื่องด้วย นิพพาน

กล่าวโดยสัมพันธ์กับบุคคลผู้เสพเสวยความสุขเหล่านี้ จะเป็นดังนี้

๑. กามสุข ผู้เสพ ได้แก่ มนุษย์ปุถุชน และอริยบุคคลชั้นโสดาบัน และ พระสกทาคามี

๒. ฌานสุข ผู้เข้าถึง ได้แก่ มนุษย์ปุถุชน และอริยะบุคคลทุกชั้น ตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์ เฉพาะท่านที่เจริญฌานชั้นนั้นๆ ได้แล้ว

๓. นิพพานสุข ผู้เข้าถึง ได้แก่ พระอริยบุคคลทั้งหลาย ตั้งแต่พระโสดาบัน จนถึงพระอรหันต์ (แต่ต้องแยกแยะออกไปอีก ถ้าเป็นผลสมาบัติสุข ก็ได้สำหรับผู้บรรลุผลขั้นนั้นๆ ถ้าเป็นนิโรธสมาบัติสุข ก็ได้เฉพาะพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่ได้สมาบัติ ๘ แล้ว)

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 21 มิ.ย. 2021, 13:55 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สุขที่พัฒนาให้ถึ.ได้

ถ้าจัดโดยถือบุคคลเป็นหลัก การเสวยความสุข จะมีวิสัยดังนี้

๑. มนุษย์ปุถุชน
อาจเสพกามสุข และเสวยฌานสุข

๒. อริยบุคคล ชั้นโสดาบัน และสกทาคามี อาจเสวยกามสุข ฌานสุข และนิพพานสุขประเภทผลสมาบัติสุข

๓. อริยบุคคล ชั้นอนาคามี และพระอรหันต์ อาจเสวยฌานสุข และนิพพานสุข ทั้งประเภทผลสมาบัติสุข และนิโรธสมาบัติสุข (ถ้าได้สมาบัติ ๘ แล้ว)

สิ่งสำคัญที่พึงย้ำไว้เป็นพิเศษในเรื่องความสุขนี้ มีอยู่ว่า พระพุทธศาสนาไม่สอนให้บุคคลทำการต่างๆ เพื่อเห็นแก่ความสุขก็จริง แต่ก็ยอมรับความจริงอยู่เสมอว่า ความสุขเป็นส่วนสาระสำคัญที่จำเป็นของจริยธรรม เป็นสิ่งที่ให้ความหมายแก่การประพฤติธรรม จะว่าเป็นหลักยึดหรือฐานค้ำชูของการประพฤติธรรม ก็ว่าได้

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะพูดในระดับที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรม ก็ตาม หรือในระดับจริยธรรมทั่วไป ก็ตาม ความสุขที่พระพุทธศาสนาพูดถึงนี้ หมายเอาความสุขที่เป็นพื้นฐานอยู่ภายในจิตใจ ซึ่งจิตใจสามารถสัมผัสได้เองทันทีทุกเวลาที่มันพร้อม ไม่ต้องอิงอาศัยกระบวนการรับรู้ที่ขึ้นต่ออารมณ์ของโลกภายนอก เป็นความสุขที่ทำให้ชีวิตนี้มีความเป็นอิสระในส่วนของมันได้

ความสำคัญและจำเป็นของความสุขสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม จะเห็นได้ดังที่กล่าวไว้แล้วตั้งแต่ต้น และควรจะนำเอาสาระมากล่าวย้ำไว้อีกว่า ผู้ปฏิบัติธรรมใด ถ้ายังไม่ประสบความสุขประณีตลึกซึ้งภายในที่ไม่อาศัยกาม ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าจะไม่เวียนกลับมาหากามอีก

แม้ท่านที่บวชเป็นบรรพชิตแล้ว ถ้าตราบใดยังไม่ได้สัมผัสความสุขประณีตลึกซึ้งภายใน ชนิดที่ไม่ต้องอาศัยอามิส ก็ยังไม่ปลอดภัยอยู่ตราบนั้น กิเลสจะสามารถเข้าครอบงำใจ อาจให้ครองพรหมจรรย์อยู่ไม่ได้

ท่านชักชวนแม้แต่ปุถุชน ให้พยายามสร้างสมความสุขชนิดนี้ไว้ หรือให้รู้จักความสุขอย่างนี้ไว้บ้าง เพราะนอกจากจะทำให้เขามีความสุขเพิ่มมากขึ้นจากกามสุขที่ตนมีอยู่แต่เดิม เป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่ชีวิตของตนแล้ว ยังทำให้ชีวิตมีทางออกในทางความสุข ที่จะไม่ต้องถูกบีบบังคับด้วยตัณหา ให้วิ่งพล่านร่านรนอย่างไม่มีขอบเขต จนก่อแต่ปัญหาต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งแก่ตนเองและแก่โลก

อาจพูดย้ำลงไปได้ทีเดียวว่า ถ้ามนุษย์ไม่ยอมหันมาทำความรู้จักกับความสุขฝ่ายนิรามิสไว้ และไม่เอาใจใส่ความสุขด้านนี้กันบ้างแล้ว การโลดแล่นทะยานหาแต่กามสุขอย่างเดียว จะนำมนุษย์ไปสู่ความมีชีวิตที่ผิวเผิน ประกอบด้วยความคับแค้นกระวนกระวายเบื่อหน่ายระทมทุกข์ภายในจิตใจ และการแข่งขันแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบ การเบียดเบียน ตลอดจนการทำลายล้างระหว่างกัน จนในที่สุดมนุษย์จะพาตนเองและโลกไปสู่ความพินาศ

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 21 มิ.ย. 2021, 17:48 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สุขที่พัฒนาให้ถึงได้

ในเมื่อ แม้แต่ปุถุชนผู้อยู่ท่ามกลางการแสวงหากามสุข ความสุขด้านในยังจำเป็นถึงอย่างนี้แล้ว ผู้ดำเนินชีวิตชนิดที่ปลีกออก หรือลด หรือเสียสละกามสุข ก็ยิ่งจำเป็นต้องเข้าถึงความสุขประเภทนี้มากขึ้นเป็นทวีคูณ

ไม่ต้องพูดถึงผู้ที่ออกบวช หรือท่านที่เรียกกันว่ามุ่งปฏิบัติธรรมชั้นสูง แม้แต่ผู้ที่บำเพ็ญตนเป็นนักเสียสละ ดำเนินชีวิตเพื่ออุดมคติ ก็จะต้องพยายามมีความสุขชั้นในนี้ให้ได้บ้าง มิฉะนั้น ความเสียสละ หรือความมีอุดมคตินั้น ก็จะขาดหลักประกันที่มั่นคง มีหวังที่จะพลาดหล่นจากอุดมคติ หมุนกลับลงมาหาระบบที่เป็นบาปร้ายได้อีก

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าจะเสียสละ ก็ต้องมีความสุขในการอยู่อย่างเสียสละด้วย ถ้าจะมีอุดมคติ ก็ต้องมีความสุขในความมีชีวิตตามอุดมคติด้วย

ในวงกว้างออกไป ก็ควรพูดว่า ถ้าทำให้คนรู้จักความสุขด้านในไม่ได้ ทำให้เห็นคุณค่าของความสุขด้านในนั้นไม่สำเร็จ การทะยานหากามสุขก็จะครอบงำมนุษย์ เป็นตัวกำหนดชะตากรรมของโลกโดยสิ้นเชิงอยู่ต่อไป ไม่ว่าศาสนาปรัชญา หรือนักจริยธรรม จะระดมกำลังกันสั่งสอนมนุษย์ว่าอย่างใด.

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/