วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 20:35  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2021, 15:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ความสุขที่สมบูรณ์ ดูอย่างไร

ทีนี้ก็มาถึงลักษณะของความสุขอย่างสูงสุด ซึ่งตามหลักพระพุทธศาสนา พูดสรุปรวบรัดทีเดียว ก็คือ “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หรือเป็นความสุขที่สูงสุด

ตอนนี้ เมื่อพัฒนาความสุขมาจนแตะหรืออ้างอิงพาดพิงถึงความสุขอย่างสูงสุดแล้ว ก็ควรจะรู้ว่า ความสุขสูงสุดมีลักษณะอย่างไร เผื่อจะเอาไว้ใช้ตรวจสอบความสุขของเราว่าเข้าในแนวทางที่ถูกต้องไหม มีทางที่จะพัฒนาดีขึ้นไปได้ไหม

อย่างน้อยก็จะได้ใช้เป็นแนวในการปรับปรุงความสุขของเราให้มีคุณภาพดีขึ้น มีคุณให้มาก มีโทษให้น้อย แล้วตัวเราเองก็จะปฏิบัติต่อความสุขที่มีอยู่ได้ถูกได้ดีขึ้นด้วย

ลักษณะง่ายๆ ของความสุขอย่างสูงสุด หรือความสุขสมบูรณ์ ที่พอจะปรากฏออกมาให้พูดถึงได้ ก็คือ
๑. เป็น สุขตลอดเวลา ไม่ต้องหา เป็นคุณสมบัติประจำ มีอยู่กับตัว
๒. เป็น สุขอิสระ ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออะไรๆ เช่น ไม่อาศัยสิ่งเสพ
๓. เป็นสุขล้วน บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีทุกข์แฝงหรือค้างคาเหลืออยู่เลย

เพื่อให้คล่องปาก อาจพูดเปลี่ยนลำดับว่า สุขอิสระ-สุขล้วน-สุขตลอดเวลา

ข้อแรก ความสุขอย่างสูงสุดนั้น มีอยู่ในตัวตลอดเวลา เพราะเป็นคุณสมบัติของชีวิตไปแล้ว เป็นของประจำตัว เมื่อมีอยู่ข้างในของตัวเอง มีอยู่กับตัวแล้ว ก็ไม่ต้องหา

เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า จะเสด็จไปไหน จะจาริกรอนแรมไปกลางป่า บนเขา มีคน หรือไม่มีใคร อย่างไร ก็มีความสุข เพราะความสุขเป็นคุณสมบัติอยู่ข้างใน ไม่ต้องหาแล้ว

ข้อสอง เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออะไรๆ เป็นสุขที่อยู่กับตัวเอง จึงเป็นอิสระ เป็นไทแก่ตัว ตรงข้ามกับกามสุขที่เป็นสุขแบบพึ่งพาเต็มที่ แล้วปัญหาทั้งหลายก็เกิดขึ้นมาเพราะการที่ต้องพึ่งพากาม ต้องพึ่งพาวัตถุนี่แหละ

กามสุข หรืออามิสสุขนั้น (เรียกให้สะดวกลิ้นไทยว่า “อามิสสุข” ก็ได้) เป็นสุขที่ขึ้นต่อสิ่งเสพ อาศัยของรักของชอบข้างนอก ไม่เป็นอิสระกับตัวเอง

อย่าง รูป รส กลิ่น เสียง ของสัมผัสทั้งหลาย เราต้องขึ้นกับมันทั้งนั้น คือจะมีสุขได้ ก็ต้องพึ่งมัน ต้องอาศัยมัน ต้องไปเที่ยวหาเอามา และครอบครองไว้ ต้องคอยดูแลให้ดี ต้องคุ้มครองป้องกัน หวงแหนหนักเหนื่อยกับมัน ตัวเองก็ไม่เป็นอิสระ แล้วก็ทำให้ขัดแย้งกัน ต้องแย่งชิงกับคนอื่น เป็นเหตุให้เบียดเบียนกัน

แต่เมื่อเราพัฒนาความสุขที่เป็นอิสระขึ้นมาได้ ตัวเองก็มีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพา แล้วก็ไม่ต้องแย่งชิงเบียดเบียนกัน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2021, 16:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อสาม เป็นความสุขที่สมบูรณ์ ลักษณะที่สมบูรณ์ก็คือ ไม่มีทุกข์แฝง ไม่มีอะไรรบกวน หรือค้างคาระคาย

คนในโลกจำนวนมากบอกว่าเขามีความสุข แต่ลึกลงไป ยังมีทุกข์หรือมีเหตุแห่งทุกข์แฝงอยู่ เช่น มีกังวล หวั่นใจ หวาด ระแวง ห่วง ค้างคา ระคายใจ บ้างก็มีอาการเหงา หงอย อ้างว้าง ว้าเหว่ บอกว่ามีความสุข แต่เสวยสุขเหล่านั้นไม่โล่ง ไม่โปร่ง ไม่ได้สุขเต็มที่

ทีนี้ พอหมดเหตุแห่งทุกข์ในตัวแล้ว ก็มีความสุขสมบูรณ์เต็มที่ ไม่มีทุกข์อะไรจะเหลือจะแฝง ที่จะมารบกวนระคายใจ จะเสวยสุขอื่นอะไร ก็ได้ความสุขนั้นเต็มที่ เป็นความสุขอยู่แล้วในตัวด้วย และทำให้พร้อมที่จะเสวยสุขอื่นอย่างเต็มอิ่มด้วย

เหมือนอย่างพระอรหันต์ ซึ่งมีสุขประเภทสมบูรณ์นี้ อย่างที่ว่ามีความสุขอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นคุณสมบัติอยู่ในตัว ทั้งที่สุขอยู่แล้วนี้ พร้อมกันนั้นท่านก็เสวยความสุขอย่างอื่นด้วยตามปรารถนา และได้ความสุขจากภาวะแห่งความสุขอันนั้นเต็มที่

ดังเช่น พระอรหันต์อยู่ว่างๆ ไม่มีกิจอะไรจะพึงทำ ท่านก็เข้าฌาน ๔ เสวยฌานสุข เรียกว่าเอาฌาน ๔ เป็น ทิฏฐธรรมสุขวิหาร แปลว่า เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และในเวลาที่เสวยฌานสุขนั้น ท่านก็สุขเต็มที่จากฌาน เพราะไม่มีอะไรแฝงระคายในใจ

ต่างจากพวกมนุษย์ปุถุชนที่ยังมีเชื้อแห่งทุกข์แฝงอยู่ในใจ ถึงได้ฌานเข้าฌานอะไร ก็ยังมีเชื้อทุกข์แฝงอยู่ข้างใน ไม่โล่งไม่โปร่งแท้ นี่แหละเป็นความแตกต่างอันหนึ่ง

ย้ำอีกทีว่า สุขสูงสุดนี้ ทั้งสมบูรณ์เป็นความสุขในตัวด้วย และทำให้มีความพร้อมที่จะเสวยสุขอื่นได้เต็มที่ด้วย เมื่อเป็นผู้พร้อมอย่างนี้แล้ว จะเสวยสุขอะไรก็ได้

ลองดูในมาคัณฑิยสูตร ที่เคยพูดถึงมาแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเราไม่บรรลุสุขที่สูงอันประณีตนี้ เราก็รับประกันตัวไม่ได้ว่าเราจะไม่หวนกลับมาหากามสุข แต่เพราะเราได้เข้าถึงความสุขที่ประณีตนี้แล้ว ก็เลยไม่มีความคิดที่จะเสพเสวยกามสุขนั้น นี่คืออย่างไร

ถ้าจะอุปมา ก็เหมือนกับผู้ใหญ่มาเห็นเด็กเล่นขายของ ก็ไม่รู้สึกลงมาว่าทำอย่างนั้นจะมีความสุข ที่ไม่เสวยสุขนั้น ไม่ใช่เพราะว่าทำไม่ได้ แต่เพราะมีความสุขที่ยิ่งกว่านั้น เลยไปแล้ว จิตใจก็เป็นไปเอง มันเป็นพัฒนาการในทางความสุข ตามภาวะของจิตใจที่จะเป็นไปอย่างนั้น
แต่ทั้งนี้ ท่านมีความพร้อมที่จะเสวยสุขได้เต็มที่ อย่างไม่มีอะไรค้างคาระคายเคืองใดๆ ทั้งสิ้น จึงเป็นสุขที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์

ก็เลยเท่ากับสรุปอีกทีหนึ่งว่า ทั้งสุขตลอดเวลา เพราะว่ามีสุขประจำอยู่ในตัว และจะเสวยสุขอะไรอีกก็ได้แล้วแต่ปรารถนาได้เต็มที่ เพียงแต่ว่าถ้าจะไม่เสวยสุขอย่างไหน ก็เพราะพ้นเลยความปรารถนา และมีสุขอย่างอื่นที่จะเลือกซึ่งเหนือกว่า เป็นเรื่องของพัฒนาการทางความสุขที่จะเป็นไปอย่างนั้นเอง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 18 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร