วันเวลาปัจจุบัน 27 เม.ย. 2024, 13:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 พ.ย. 2023, 14:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




ei_1699056271326-removebg-preview (1).png
ei_1699056271326-removebg-preview (1).png [ 238.58 KiB | เปิดดู 2983 ครั้ง ]
อานาปานสติ วิปัสสนาญาณ

พระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ ๙
อ.แนบ มหานีรานนท์


"ถ้าฌานใดที่ไม่เพ่งลักษณะ คือ ไม่อาศัยอารมณ์ นามรูปที่เป็นบาทของวิปัสสนาฌานนั้นก็เรียกว่า
อารัมมณูปนิชฌาน"

วิธีเจริญวิปัสสนาต่อจากอานาปานสติ

ภิกษุผู้มีจตุตถฌานหรือปัญจมฌานเกิดแล้ว เมื่อใคร่เจริญกรรมฐานโดยวิธี สัลลักขณา คือ วิปัสสนาและวิวัฏฏนา คือ มรรค แล้วบรรลุปาริสุทธิ คือ ผลในอานาปานสตินี้ต่อไป

ย่อมทําฌานนั้นให้ถึงความเป็นวสี ๕ อย่าง ดังกล่าวแล้ว เมื่อออกจาก ฌานสมาบัติแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า กรัชกาย และ จิต เป็นเหตุแห่งลมอัสสาสะ ปัสสาสะทั้งหลาย เหมือนเตาสูบของช่างทองถูกชักสูบอยู่ ลมอาศัยสูบและ ความพยายามที่ควรแก่การนั้นของบุรุษประกอบกัน ย่อมเข้า-ออกได้ฉันใด ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ก็อาศัยกายและจิต เข้า-ออกได้ ฉันนั้น

จากนั้น ย่อมกําหนดลมได้ว่า ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ และกายด้วยเป็น รูป จิตและเจตสิกที่ประกอบกัน เป็น นาม นี้ เป็นความสังเขปในการกําหนด นามรูป ครั้งกาหนดนามรูปได้อย่างนี้แล้ว ก็จะรู้ถึงปัจจัยของเขาว่า เกิดขึ้น เพราะเหตุไร ดับไปเพราะเหตุอะไร เมื่อหาเหตุได้แล้ว ก็จะข้ามความสงสัย ปรารภความเป็น ไปแห่ง นามรูป ในกาลทั้ง ๓ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตเสีย ได้

เมื่อข้ามความสงสัยได้แล้ว ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ โดยพิจารณาเป็นกลาป และละวิปัสสนูปกิเลส มีโอภาส เป็นต้น อันเกิดขึ้นในส่วนเบื้องต้นแห่ง อุทยัพพยญาณนั้นเสีย กําหนดนามรูปเป็นไตรลักษณ์ ด้วยปฏิปทาญาณ อันพ้นจากอุปกิเลสแล้ว ความเบื่อหน่ายคลายกําหนัดเพราะเห็นความดับไปสิ้นไป ของสังขาร เป็นทางให้เข้าถึงอริยมรรคจิต ๔ ตามลําดับให้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล ถึงที่สุดแห่งปัจจเวกขณญาณ

ในอานาปานสติ จตุกกะที่ ๒ คือ สําเหนียกว่า เราจักทําปีติให้เป็นสิ่ง ที่ตนรู้ชัด จากการหายใจเข้า หายใจออก

หมายความว่า ปีติ เป็นสิ่งที่ภิกษุรู้ชัดโดยอาการ ๒ คือ โดยอารมณ์ ได้แก่ ปีติ ที่เกิดพร้อมปฐมฌาน และ ทุติยฌาน โดยอสัมโมหะ ได้แก่ เมื่อ ออกจากฌานแล้ว พิจารณา ปีติ อันประกอบกับ ฌานนั้น โดยความสิ้นไปเสื่อมไป ปีติที่รู้ชัดโดยอสัมโมหะนี้ เพราะรู้แจ้งในวิเสสลักษณะ และ สามัญลักษณะของ ปีติ ขณะที่เห็นด้วยวิปัสสนาปัญญา

แม้บทที่ว่า สขุปฏิสํเวที จิตฺตสงฺขารปฏิสํ เวที คือ ความที่ภิกษุรู้ชัดซึ่งสุข เนื่องด้วยตติยฌาน มีสุขเป็นองค์ฌาน และความที่ภิกษุรู้ชัดซึ่งจิตตสังขาร ที่เนื่องด้วยฌานทั้ง ๔ ซึ่งมี เวทนาเป็นองค์ฌานตลอด พระบาลีในปฏิสัมภิทามรรคว่า สัญญา และ เวทนา เจตสิก ธรรมนั้นเนื่องกับจิต ชื่อว่า จิตตสังขาร ฉะนั้น จตุกกะนี้ จึงตรัสโดย เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน นั่นเอง

ในอานาปานสติ จตุกกะที่ ๓ คือ สําเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กําหนดรู้จิต หายใจเข้า หายใจออก ที่เนื่องด้วยฌานทั้ง ๔

สําเหนียกว่า จะเป็นผู้ยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า หายใจออก ความบันเทิงย่อมมีด้วยอาการ ๒ คือ

๑.) ด้วยอํานาจสมาธิ เมื่อเข้าฌานที่มีปีติเป็นองค์ฌาน ชื่อว่าบันเทิง ด้วยอํานาจสมาธิ
๒.) ด้วยอํานาจวิปัสสนา เมื่อออกจากฌาน มีปีติเป็นองค์ฌาน แล้ว พิจารณาปีติ โดยความเสื่อมไปสิ้นไป ทําปีติอันสัมปยุตด้วยฌานให้เป็นอารมณ์ ชื่อว่า ยังจิตให้บันเทิงขณะเห็นด้วยวิปัสสนา

สําเหนียกว่า เราจะดํารงจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า หายใจออก ด้วย อํานาจฌาน มีปฐมฌานเป็นต้นเมื่อออกจากฌานแล้วพิจารณา จิต อันสัมปยุต กับองค์ฌาน โดยความสิ้นไปเสื่อมไปอยู่ ขณิกจิตเตกัคคตา ความมีอารมณ์ เดียวแห่งจิต อันตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะความรู้ไตรลักษณ์ในขณะแห่ง วิปัสสนา ภิกษุดํารงจิตให้ตั้งเสมอในอารมณ์แม้ด้วยอํานาจขณิกจิตเตกัคคตา อันเกิดขึ้นนั้นก็ดี เรียกว่า สําเหนียกว่า เราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า หายใจออก

สําเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า หายใจออก หมายความว่า ภิกษุเปลื้องจิตจากนิวรณ์ทั้งหลายด้วยปฐมฌาน, เปลื้องจิตจากวิตกวิจารด้วย ทุติฌาน, เปลื้องจิตจากปีติด้วยตติยฌาน, เปลื้องจิตจากสุขด้วยจตุตถฌาน หรืออีกนัยหนึ่งเข้าฌานแล้ว ออกจากฌานแล้ว พิจารณาจิตที่สัมปยุตกับฌาน ด้วยความสิ้นไปเสื่อมไปในขณะแห่งวิปัสสนา เปลื้องจิตจากนิจสัญญา ด้วยอนิจจานุปัสสนา เปลื้องจิตจากสุขสัญญา ด้วยทุกขานุปัสสนา เปลื้องจากอัตตสัญญา ด้วยอนัตตานุปัสสนา จากนันทิ ด้วยนิพพิทานุปัสสนา จากราคะ ด้วย วิราคานุปัสสนา จากสมุทัย ด้วยนิโรธานุปัสสนา จากอาทาน ความยึดถือ ด้วย ปฏินิสสัคคานุปัสสนา เหล่านี้ เรียกว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า หายใจออก

พึงทราบ จตุกกะที่ ๓ นี้ ตรัสโดยเป็น จิตตานุปัสสนา
ในอานาปานสติ จตุกกะที่ ๔ สําเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยง หายใจเข้า หายใจออก

หมายความว่า ปัญจขันธ์เหล่านั้น มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ความที่มีแล้วกลับไม่มีแห่งปัญจขันธ์ ความไม่ตั้งอยู่ตามอาการนั้น สลายไป ดับไปทุกขณะ

อนิจจานุปัสสนา การพิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยง ในขันธ์ทั้งหลาย มี รูปขันธ์ เป็นต้น ด้วยอํานาจแห่ง อนิจจตา ภิกษุผู้พิจารณาเห็นอย่างนั้นในการ หายใจเข้า หายใจออกอยู่ ชื่อว่าสําเหนียกว่า เรา จักเป็นผู้พิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยง หายใจเข้า หายใจออก

สําเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความคลายไป หายใจเข้า หายใจออก

วิราคะ ชื่อว่า ความคลายออกมี ๒ อย่าง คือ

- ขยวิราคะ คือ ความสลายไปทุกขณะแห่งสังขารทั้งหลาย
- อัจจันตวิราคะ คือ ความคลายสุดยอด ได้แก่ พระนิพพาน

วิปัสสนา และ มรรค อันเป็นไปโดยอนุปัสสนา ๒ อย่างนี้ ชื่อว่า วิราคานุปัสสนา

เมื่อพระโยคาวจรผู้ประกอบด้วยวิราคานุปัสสนาทั้ง ๒ อย่างนั้น หายใจเข้า หายใจออกอยู่ ชื่อว่า สําเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความคลายไป หายใจเข้า หายใจออก แม้ในบทว่า นิโรธานุปสฺสี พิจารณาเห็นความดับ หายใจเข้า หายใจออก ก็ดุจนัยเดียวกันนี้

สําเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละทิ้ง หายใจเข้า หายใจออก ในบทว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสนา ปฏินิสสัคคะมี ๒ อย่าง คือ

๑.) ปริจจาคปฏินิสสัคคะ คือ สละเสียซึ่งกิเลส พร้อมทั้งขันธ์ คือวิบาก และอภิสังขาร คือกรรม ด้วยอํานาจ ตทังคปหาน

๒.) ปักขันทนปฏินิสสัคคะ คือ ความแล่นไปในพระนิพพานอันตรงกันข้ามกับกิเลส โดยความน้อมไปแห่งปัญญา โดยเห็นโทษในสังขตธรรม

ปฏินิสสัคคะ มี ๒ คือ สละเสียซึ่งกิเลส พร้อมทั้งขันธ์ คือวิบาก และ กรรมด้วยอํานาจสมุจเฉทปหาน และแล่นเข้าไปในพระนิพพาน

วิปัสสนาญาณ และมัคญาณทั้งสอง เรียกว่า อนุปัสสนา เพราะเห็น พระนิพพานภายหลังญาณก่อน ๆ มีโคตรภูญาณ เป็นต้น ภิกษุผู้ประกอบด้วย ปฏินิสลัคคานุปัสสนาทั้งสองนั้น หายใจเข้า และหายใจออกอยู่ ชื่อว่า สำเหนียกกว่าเราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นความสละทิ้ง หายใจเข้า หายใจออก

จตุกกะที่ ๔ นี้ ตรัสโดยวิปัสสนาล้วน ๆ ส่วนใน ๓ จตุกกะก่อน ตรัสโดย สมถะ และ วิปัสสนา เจือกัน

อานิสงส์ของอานาปานสติ

อานาปานสติ มีอานิสงส์มาก ในวิสุทธิมรรคอรรถกถา รวบรวมไว้ดังนี้ คือ

๑.) อานาปานสตินี้ ภิกษุพึงบําเพ็ญเพื่อตัดเสียซึ่งอกุศลวิตก มีกามวิตก เป็นต้น
๒.) อานาปานสติ เป็นมูลแห่งการทําวิชชา และวิมุติให้สมบูรณ์ได้
๓.) ทําความรู้ลมหายใจเข้า หายใจออกที่เป็นจริมกะ คือ ลมครั้งสุดท้าย ที่ดับลง

จริมกะ ลมครั้งสุดท้าย มี ๓ อย่าง

ก.) ภวจริมกะ สุดท้ายด้วยอํานาจแห่งภพ
ลมหายใจทั้งหลายย่อมเป็นไปในกามภพ หาเป็นไปในรูปภพ และ อรูปภพไม่ ลมเหล่านี้จึงชื่อว่า ภวจริมกะ
ข.) ฌานจริมกะ ลมสุดท้ายด้วยอํานาจแห่งฌาน
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ย่อมเป็นไปในฌานข้างต้นได้ หาเป็นไปในฌานที่ ๔ หรือ ฌานที่ ๕ (ตามจตุกนัย หรือ ปัญจกนัย) ชื่อว่า ฌานจริมกะ
ค.) จุติจริมกะ ลมหายใจที่เกิดพร้อมกับจิตขณะที่ ๑๖ ก่อนหน้าจุติจิต แล้วดับพร้อมกับจุติจิต เหล่านี้ ชื่อว่า จุติจริมกะ

อนึ่ง ผู้เจริญสติปัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง จนได้บรรลุเป็นพระอรหันตขีณาสพ ย่อมกําหนดรู้กาลเวลาแห่งอายุที่จักปรินิพพานได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่แน่นอน แต่สําหรับผู้เจริญอานาปานสติ มีวัตถุ ๑๖ นี้แล้ว ได้บรรลุเป็น พระอรหันต์ ย่อมกําหนดรู้กาลแห่งอายุ จักปรินิพพานได้ทั้งนั้น

ภิกษุผู้เจริญอานาปานสติ ได้บรรลุพระอรหันต์ ย่อมรู้ว่า บัดนี้อายุ สังขารของเราจักเป็น ไปได้เพียง ไม่เลยนี้ไป ดังนี้แล้ว ก็ทำกิจชำระร่างกาย และ การนุ่งห่ม เป็นต้น ตามธรรมดาของตน เมื่อเรียบร้อยแล้วก็หลับตาดับไป ดัง พระติสสเถระ วัดโกฏบรรพตวิหาร, พระมหาติสสเถระ วัดมหากรัญชิยวิหาร และพระเถระสองพี่น้องวัดจิตตลบรรพตวิหาร ฉะนั้น

"ยกขึ้นสู่วิปัสสนา"

ธรรมบรรยาย ส่วนหนึ่ง เรื่องวิสุทธิ ๗
โดย อ.แนบ มหานีรานนท์


แต่เวลาที่จะยกขึ้นสู่วิปัสสนานั้น ไม่ได้เพ่งอารมณ์ของสมถะกรรมฐาน เพราะอารมณ์เหล่านั้นเป็นบัญญัติธรรม ไม่มีสภาวะธรรมที่จะให้เห็นว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง หรือ อนัตตาได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงยกปีติขึ้นสู่วิปัสสนา เพระปีติเป็นนามธรรม เป็นนามขันธ์ เป็นสังขารขันธ์ ซึ่งสภาวะธรรมของนามรูป ย่อมเป็นไตรลักษณ์ และธรรมชาติของปีตินั้นจะเพ่งหรือไม่เพ่งก็มีการเกิดดับ แม้จิตที่เป็นสมาธิก็มีการเกิดดับ เมื่อ ปีติอาศัยจิตที่ได้ฌาณแล้ว ปีติก็เกิดดับอยู่เป็นธรรมดา เช่นเดียวกัน โดยการเกิดดับนั้นติดต่อกันรวดเร็วมาก
เมื่อยกปีติขึ้นเพ่งปีติอันเป็นนามธรรมที่มีความเกิดดับและสามารถพิสูจน์ได้ ปีตินั้นแหละก็จะแสดงความเกิดดับให้ปรากฏ แก่ผู้เพ่งได้เห็น เมื่อเห็นว่าปีติมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตาแล้ว จิตก็จะดำเนินไปในอารมณ์ของวิปัสสนาด้วยอำนาจแห่งการเพ่ง วิปลาสก็จะจับในอารมณ์นั้นไม่ได้ ก็จะถอนความยินดีความเพลิดเพลิน ในธรรมนั้นแล้วเรียกฌาน ( ที่มานัย ธรรมบท ภาค 2 / 68 ) ที่เพ่งในลักษณะอันใดอันหนึ่งใน ลักษณะทั้ง 3 นั้นว่า ลักขณูปนิชฌาน

ถ้าฌานใดที่ไม่เพ่งลักษณะ คือ ไม่อาศัยอารมณ์ นามรูปที่เป็นบาทของวิปัสสนาฌานนั้นก็เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน

พึงสังเกตว่า การยกเอาปีติขึ้นมาเพ่งนั้น หมายถึงพวกปฐมฌาน และ ทุติยฌาน ซึ่งปีติมีกำลังจึงยกปีติขึ้นสู่วิปัสสนา แต่ถ้าเป็นพวก ตติยฌาน หรือ จตุตถฌาน หรือ ปัญจมฌานแล้วปีติอ่อนและองค์ฌานวิตก วิจาร ปีติไปแล้ว ก็ต้องเอาเวทนา คือ สุขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนาขึ้นสู่อารมณ์ของวิปัสสนา ถ้าฌานใดที่เพ่งลักษณะหรือสมาธิใดที่เพ่งลักษณะสมาธินั้น ก็ชื่อว่า เป็นบาทของวิปัสสนา และเรียกสมาธินั้นว่า จิตตวิสุทธิ

อินทรียสังวรศีล ศีลข้อนี้เป็นความปริสุทธิ์ ในการสำรวมทวารทั้ง 6 ในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายถูกต้อง ใจรู้อารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้โดยการสำรวม ไม่ให้อภิชฌา และโทมนัส เข้าอาศัยได้ ฉะนั้นศีลข้อนี้จึงเป็นศีลบริสุทธิ์ เพราะว่าขณะเห็น ขณะได้ยินเป็นต้น กิเลส คือ ความรัก ความโกรธ ความหลง เข้าครอบงำไม่ได้

ศีลข้อนี้สำคัญมาก มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า
ศาสดาและพรหมจรรย์เหล่าอื่นไม่มี ไม่สำรวมอินทรีย์ ติเตียนการสำรวมอินทรีย์ว่าไม่จำเป็น ตา ซึ่งมีหน้าที่สำหรับเห็น หู มีหน้าที่ได้ยินก็เพื่อสำหรับได้ยิน เป็นต้น ไม่มีกิเลสอะไรที่จะต้องสำรวม สำรวมแต่ใจอย่างเดียวก็พอ แต่ว่า พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่า
การสำรวมอินทรีย์นี้ เป็นธรรมอันดี เป็นธรรมอันให้สำเร็จประโยชน์ ทรงติเตียนว่า
การไม่สำรวมอินทรีย์เป็นธรรมอันไม่ดี เป็นธรรมอันไม่สำเร็จประโยชน์
ความเห็นในเรื่องการสำรวมอินทรีย์ว่าไม่จำเป็นนี้ มีมามากแล้วจนถึงปัจจุบันโดยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเลย สำรวมใจอย่างเดียว ก็ชื่อว่าคลุมไปทั้งหมด เรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ( ที่มานัย.- ขุ. คาถาธรรมบท ยมกวรรค 25 / 11 /14 )
พวกที่ไม่สำรวมอินทรีย์ก็เหมือนกับคนที่มุงหลังคาไม่ดี เวลาฝนตกลงมาก็ย่อมจะหยดลงมารดถูกตัวได้ เหมือนกับกิเลสที่รั่วไหลเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็จะมารดจิตใจเสมอ และก็จะต้องคอยเช็ดน้ำฝนคือกิเลสเรื่อยไป

ถ้าหากว่าผู้มีการสำรวมอินทรีย์เป็นอันดีแล้วกิเลสก็ไม่รั่วไหลเข้ามารดใจได้ เช่น การเห็น การ
ได้ยิน เหล่านี้ กิเลสก็เข้าไม่ได้ เพราะฉะนั้น การสำรวมสังวรอินทรีย์ จึงชื่อว่า อินทรียสังวรศีล เป็นศีลที่บริสุทธิ์หมดจด

ศีลวิสุทธิข้อนี้ ชื่อว่า สติปัฏฐานเช่นเดียวกัน เพราะอะไร ? เพราะ อินทรียสังวร ก็เป็นการทำลายอภิชฌา และ โทมนัส ซึ่งสติปัฏฐานก็เป็นการทำลายอภิชฌา และ โทมนัสเหมือนกัน จึงกล่าวได้ว่าเป็นอย่างเดียวกัน

****** คือเป็นวิธีของสติปัฏฐานนั่นเอง******

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 80 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร