วันเวลาปัจจุบัน 24 เม.ย. 2024, 03:13  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ย. 2009, 17:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

น้อมเข้ามาในตน

เทศนาทั้งหมดก็ดี ครูบาอาจารย์เทศนาสอนสั่งก็ดี แล้วน้อมนำทำให้เป็นโอปนยิโก
การน้อมเข้ามาในตน ให้เห็นด้วยตน เห็นได้รู้ได้ด้วยนั้นจัดเป็นคุณธรรมสำหรับตัวเราเอง

พิจารณาในเรื่องนี้ เห็นเข้าใจในเรื่องนี้ รู้แจ้งเห็นจริง ก็นับครบจบกระบวนในธรรมนั้น ๆ

หาด้วยสติและสัมปชัญญะ


ธรรมทั้งหมดไม่มีความสงสัย ธรรมะของพระพุทธเจ้า
ทุกบทที่ตรัสมาแล้วไม่มีความสงสัยในผู้ปฏิบัติ
ถ้าผู้ปฏิบัติยังสงสัยในธรรมะ ก็เป็นเรื่องความสงสัยของผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องของธรรมะ

ตนสงสัยตนเองก็เป็นผู้แก้ ๆ ที่หัวใจ เพราะหัวใจเป็นสมบัติของแต่ละบุคคล
ที่พาเกิด พาตาย พาสร้าง พาสม พาวิบัติมาไม่รู้กี่อสงไขย ผู้อื่นมีแต่เพียงบอกเฉย ๆ

พวกศึกษาในศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา เริ่มตั้งแต่สามัญชนจนถึงพระอริยะเจ้า
ศึกษาเพื่อหลุดพ้น ศึกษาเพื่อความขัดเกลา อย่างกินข้าว
เด็กเห็นเขากินก็อยากจะกินแต่เจ้าตัวยังกินไม่เป็น

บางทีเห็นเขาสานตะกร้าก็อยากจะสาน แต่เวลาเราไปสานมันสานไม่เป็น
ดูเขาทำแล้วมันง่าย กล้วย หมู แต่ทำเข้าจริงก็ไม่เป็นอย่างที่คิด
ก็เหมือนเดินจงกรมภาวนา ดูเขาทำก็เหมือนจะง่าย

แต่พอทำเข้าจริง ๆ ไม่ได้ถึง ๓ นาที พุทโธ ๆ ก็หายต๋อมไป
ที่เขาว่า ๆ ทำกันทั้งวัน ไม่เห็นมันหาย แต่พอเราไปทำเข้า
พอไก่บินพลุ๊บ ! ตัวพุทโธ ๆ ก็วับไปกับไก่

เมื่อมันหายไปก็ต้องค้นหา ค้นหาด้วยหัวใจอันเป็นของส่วนบุคคล หาด้วยสติและสัมปชัญญะ
คนอื่นหาให้ไม่ได้ หายไปเพราะอะไร หายไปเพราะไม่รู้ หรือหายไปเพราะขาดสติ
ตัวเองเป็นผู้วินิจฉัย เป็นผู้ค้นหาจึงรู้ได้เอง เห็นได้ว่าหายไปยังไงขาดไปยังไง

ประกันไม่ให้บาปเกิดขึ้น

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องประกันหัวใจตนเอง ประกันบาป ประกันอกุศล
ประกันสิ่งที่มันผิดพลาด พุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทก็เพื่อประกัน ประกันไม่ให้บาปเกิดขึ้น

เงินร้อย ๆ ล้าน หรือเงินประกันชีวิตอีกหน่อยฟ้องร้องกัน เกิดขัดผลประโยชน์
พี่น้องฆ่ากัน ฆ่าเอาเงินประกัน มันประกันไม่ได้หรอก ! ชีวิต

แต่ศีลธรรมเหนือกว่าเงินประกัน เหนือกว่าหูตาขาแข้ง สว่างโลกนี้ สว่างโลกหน้า
เห็นโลกนี้ เห็นโลกหน้า เกิดขึ้นก็ยังประกันเราอีก ไม่ให้เกิดเป็นเปรตอสุรกายบ้าใบ้เสียจริต

ศีลธรรมประกันไม่ให้เป็นผี ไม่ให้เป็นเปรต ประกันไม่ให้ทุกข์ยาก ประกันทุกอย่างได้หมด

ไม่มีศีลธรรมจะไปนอน จะนั่งที่ไหน ก็เป็นไฟเผาผลาญตลอดเวลา กิเลสตัณหานี้
ไม่ใช่จะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ง่าย ๆ สร้างกิเลสตัณหา สร้างทุจริต
สร้างความชั่วแล้วให้คนอื่นไปแก้ ตนเองทำทำไมไม่ไปแก้ คนไหนสร้างคนนั้นละแก้

กุศลมูล


เรื่องต่าง ๆ ไม่ใช่ของทำได้ง่าย ๆ เพราะมูลฐานมันน้อย พระบางรูปหรือคนบางคน
พอได้สดับพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัส เพียงเล็กเพียงน้อย
คำสองคำท่านยังได้บรรลุโสดาอรหันต์ เพราะท่านได้สร้างสมบุญกุศลมามาก
มีกรรมเก่ากรรมใหม่อยู่นี่

แต่คนที่ไม่เคยสร้าง เอายังไงมันก็ไม่ได้ สร้างมาสร้างให้ มันรวยมันก็เป็นไปไม่ได้
เพราะกุศลมูลเก่ามันหมุนมาไม่ได้ แล้วพระพุทธเจ้าท่านเคยสร้างบารมีมากี่ภพ กี่ชาติ
กี่อสงไขย ที่ท่านเคยเล่าเอาไว้

เพราะพระองค์เคยผ่าน เคยก็เคยสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ
จึงนำมาตรัส นำมาเล่าเป็นตัวอย่าง เป็นหนทางดำเนินไปให้ถูกต้อง

อย่างพวกเราไม่มีเมื่อวาน ไม่มีตัวที่สร้างอันเป็นกุศลมูล กว่าจะได้เป็นคนฉลาด
ก็ไม่รู้เรียนมาสักเท่าไร่ ขีดเขียน ตัวงอตัวขอหัดฝึกฝน ศึกษามากี่ปีจนกว่าจะมาถึงวันนี้ได้

ก็ไม่ใช่ว่าบริบูรณ์ทุกอย่างมาแต่กำเนิด แต่เกิดจากวันวาน หรือ การฝึกฝน
อาศัยการคิด อาศัยการตรึก อาศัยการตรอง ประคับประคองจิต จึงจะเป็นตัวปัญญาได้
จึงจะเกิดกุศลมูลที่จะให้เกิดความสมบูรณ์พูลสุขได้

บุญญาบารมี

บุญญาบารมีของพระพุทธเจ้า และเหล่าสาวกมิใช่ว่าท่านสร้างเอาวันสองวันนี้
แต่ท่านสร้างเป็นอสงไขย กว่าจะได้เป็นมนุษย์ จะจนจะรวยมิใช่ว่ารวยทุกคน
ก็เพราะอำนาจบุญญาบารมีที่สร้างไว้ทั้งนั้น

สร้างบุญญาวาสนาบารมี


มนุษย์ตกนรกหมกไหม้ เพราะความเบียดเบียน เพราะความไม่เกรงกลัวต่อบาป
เพราะไม่ละอายต่อบาป เพราะไม่รู้จักกาล ไม่รู้จักเวลา การเกิดเป็นคนมิใช่เป็นได้ง่าย ๆ

บุญกรรมของมนุษย์แต่งให้มนุษย์เกิด จึงเป็นกัมมปัจจโย กรรมเป็นผู้ปรุงแต่ง ให้เป็นหญิง
เป็นชาย ขี้ริ้วขี้เหร่ ให้ยากจน และร่ำรวย

วิปากะปัจจโย เมื่อกรรมสร้างแล้ว ให้ผลแล้ว ทำให้มนุษย์หูหนวกตาบอด บ้าใบ้เสียจริต
อดอยากปากแห้ง ขาดศรัทธา ขาดปัญญา จะให้ตรัสรู้มรรคผล นิพพานก็ไม่ได้
เพราะนิสัยไม่มี วาสนาไม่มี

จึงให้ทุกคนสร้างนิสัย สร้างวาสนา สร้างปัญญา สร้างบารมี ดุจการปลูกผลหมากรากไม้
ไม่เป็นหมากเป็นผลในวันนี้ ก็จะเป็นในวันพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ หรือในวันต่อ ๆ ไป

การสร้างสมบุญญาวาสนาบารมีก็เหมือนกัน ไม่บรรลุรู้แจ้งแทงตลอดในวันนี้ ในชาตินี้
ก็จะเป็นอุปนิสัยเป็นปัจจัยในชาติหน้าภพต่อไป ๆ

------------------------------------------------------

หลักค้ำประกัน

กำหนดของพระพุทธศาสนามันก็มี มีที่ให้พวกเรากระทำกันอยู่ แต่ว่าบุญของเรา วาสนาของเรา
สติของเรา ปัญญาของเราจะเข้าถึงธรรมมั๊ย

ถ้าเข้าถึงธรรมก็แสดงว่าพวกเราได้ความสมประสงค์ เพราะพระพุทธเจ้าขีดเส้นมาให้เราว่า
การที่เราเข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั้น

ถ้าเรายังพร้อมอยู่แล้ว มีวาสนา มีปัญญา มีสติ มีศรัทธา มีขันติ มีสัจจะอะไรสมบูรณ์
ไม่ขาดตกบกพร่อง ท่านให้เดินกายานุปัสสนา เรียกว่า สติปัฏฐานสี่

สติปัฏฐานสี่นั้น ท่านขีดเส้นให้คนทุกคนที่เข้ามาอบรมในศาสนานี้
ถ้าภายในเจ็ดปีเป็นอย่างนาน สมบัติของพระอนาคามีน่ะ หวังได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าพระศาสนานั้นจะแล้งน้ำใจ และก็ไม่ใช่ให้ผู้ปฏิบัติเสียกาลเสียเวลามากมาย
เจ็ดปีนี่อย่างได้นี่ พวกเราก็คงจะไม่นานเกินคอย ถ้าหากเรามีวาสนา มีบารมีจริง ๆ

เพราะการเดินกายานุปัสสนานั้น ก็ให้มีสติ ขาดสติอย่างเดียว ทีนี้เรามาฝึกสติ
เพื่อให้ผลประโยชน์ อย่าให้มันเกินคอยอย่างได้สำเร็จพระอนาคามีนี่ก็นับว่า
เราไม่ต้องวิตกวิจารณ์อะไรอีกแล้ว

เกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่มนุษย์เราร้องห่มร้องไห้เสียใจก็ดี ทุกข์ ทน ทรมาน ด้วยโรค
ด้วยภัย ด้วยไข้ ด้วยเจ็บ สารพัดเรื่องก็ดี ก็ไม่ต้องมาวิตกวิจารณ์ในเรื่องพวกนี้

เจ็ดปีนี่ไม่เหลือเกินคอย แต่บางคนนี้ที่เข้ามาน่ะ มันเหลือเกินเจ็ดปีไปแล้ว
อย่างหลวงตาที่นั่งบรรยายอยู่นี่ ก็ไม่รู้กี่เจ็ดแล้ว ไอ้อำนาจสมบัติของพระอนาคามีก็ไม่ปรากฏ

ก็แสดงว่ามันวาสนา หรือว่าสติขาด หรือว่าปัญญาขาด หรือว่าอะไรที่มันไปหลงไหลอยู่ที่ไหน
จึงค่อยไม่ปรากฏในเรื่องที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ เพราะฉะนั้นกายานุปัสสนา จะดูที่ไหนก็ได้
แต่ให้เป็นกาย อย่าให้เหนือนอกกายไป

หนังเขาก็เรียกว่ากายเหมือนกัน เนื้อเขาก็เรียกว่ากายเหมือนกัน ผมเขาก็เรียกว่ากายเหมือนกัน
หนังเขาก็เรียกว่ากายเหมือนกัน เล็บก็เรียกว่ากายเหมือนกัน
อาหารใหม่อาหารเก่าก็เรียกว่ากายเหมือนกัน

กิริยานั่งลุก ก็ถือว่ากิริยาของกายเหมือนกัน จะก้าวขาไปสั้นหรือยาวก็ถือว่า
เป็นกิริยาของกายเหมือนกัน หลับตาลืมตาก็ถือเป็นกิริยาของกายเหมือนกัน
จะหายใจออกหายใจเข้าก็เป็นกิริยาของกายเหมือนกัน

เราจะเอาตรงไหนที่จะให้มันเกิด เราพิจารณาอะไรก็ได้ กิริยาของจิตเป็นจิตตานุปัสสนา แน่
เริ่มเบื้องต้นเริ่มกายานุปัสสนาก่อน

เพราะกายานุปัสสนานั้น เป็นส่วนที่หยาบที่จิตมันจะต้องฝึกได้ง่าย อบรมได้ง่าย
เมื่อเราฝึกสส่วนหยาบที่จิตมันจะต้องฝึกได้ง่าย อบรมได้ง่าย
เมื่อเราฝึกส่วนหยาบได้แล้ว ส่วนละเอียดก็ค่อยว่าไปตามเรื่องของมัน

เพราะฉะนั้นเราจะต้องมาพิจารณาในเรื่องของกายก่อน กายนั้นมันมีค่าอย่างหนึ่ง
เมื่อค่ามันมากโทษมันก็มหันต์เหมือนกัน ไม่มีอะไรหรอกที่จะมีแต่คุณอย่างเดียว ไม่มีในโลก

เพราะฉะนั้น เมื่อโทษมันมีมหันต์ก็คือ คนผู้มีความหวงแหนอยู่ในร่างกายนี้แหละ
เจ็บ ไข้ ได้ป่วย ปวดหัวตัวร้อน กลัวแต่เจ้าของจะตาย

ก็แสดงว่ากายานุปัสสนานั้นยังไม่ได้กำหนด ยังไม่ได้พิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้
ยังไม่ทันแตกออกเป็นธาตุเป็นขันธ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

พิจารณาไปถึงเล็บ ก็ให้เป็นเล็บนั้นเป็นอนัตตา มีสติว่ากำลังพิจารณาเล็บ
พิจารณาหนังก็ให้มีสติว่า นี่เรากำลังพิจารณาหนัง แล้วความเห็นของหนังนั่นอยู่ที่ไหน

จิตใจเราเห็นเป็นอะไร ถ้าเราเห็นว่า หนังนั่นสักว่าแต่หนัง ก็ไม่ใช่เป็นหญิงเป็นชาย
ไม่ใช่ เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ สักว่าแต่หนังเท่านั้น เรายังไม่ทันได้เอาไปทำอะไร
ตกลงหนังก็สักแต่ว่าหนัง

เมื่อเห็นหนังเข้าอย่างนี้ เป็นต้น จิตที่เคยรักใคร่ จิตที่เคยร้องไห้ ร้องห่ม กับหนังนี่
ถ้าเรามีสติอยู่ ไอ้ความงามของหนังก็คงจะไม่มีแล้ว แต่ถ้าขาดสติแล้ว
ความงามของหนังหรือความรู้ของหนังนั่น อาจจะไม่เกิดความอัศจรรย์

เพราะสติ คือเรากำหนดไปแล้ว จะไปพิจารณาอย่างอื่นซะ สติมันไม่อยู่กับหนังซะ
มันก็ไม่ใช่กายานุปัสสนา มันไม่แจ้ง มันไม่ได้ดำเนินการตามข้อตามความเป็นอยู่ของหนัง

พิจารณาไปเรื่อย ๆ เมื่อพิจารณาไปเรื่อย ๆ เป็นไปจนถึงกับความเจ็บปวดรวดร้าวของหนัง
มาจากอะไร เช่น หนังไปถูกแดด หนังไปถูกน้ำ รู้สึกเย็น รู้สึกร้อนเหล่านี้
ก็แสดงว่าความรู้สึกนั่นแหละ

เขาเรียกว่าเวทนาออกจากกายานุปัสสนา แล้วก็ไปเข้าเวทนา สัมผัสถูกต้อง
เช่น ถูกไฟอุ่น ถูกไฟร้อน ถูกน้ำเย็น ถูกนน้ำสบายใจ ร่าเริง หรือสัมผัสบางสิ่งบางอย่าง
เช่น ห่มผ้า หรืออะไรก็แล้วแต่ พัดลม ห้องแอร์ อะไรเป็นต้น มีความสบายกาย
สบายในความถูกต้องนั้น ก็ถือว่า เวทนา

เมื่อจิตมันเข้าสู่เวทนา ก็ให้มันรู้ว่าเวทนา ตั้งสติกำหนดจิตเอาไว้
อย่าให้จิตมันไปพิจารณาอย่างอื่น อย่าให้จิตมันไปหลับอยู่ในอารมณ์นั้น
อย่าให้จิตมันไปอยู่ที่นั่น อย่าให้จิตมันไปยับยั้งอยู่ตรงไหนตรงหนึ่ง

ตั้งสติเอาไว้ ค่อยฝึกไปเรื่อย ๆ ไม่เกินเจ็ดปี ถ้าเราไปถึงขั้นเจ็ดปีแล้ว เราได้ผลแล้วนะ
โลกอันนี้กับเราน่ะ เราอยู่คนละมุมกัน คนละเรื่องกัน

ความร้องไห้ ความรัก ความปรารถนา ความยินดียินร้ายก็ดี ความโศกเศร้าก็ดี
ความหวงแหนก็ดี อะไรต่าง ๆ มันก็ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับจิต ไม่ได้มารักมาใคร่
ไม่ได้มาปรารถนในสิ่งเหล่านี้ ก็อาศัยว่าสตินั้นแก่กล้าขึ้น

แต่ถ้าเราพิจารณาไปแล้ว สติมันลืมซะ พิจารณาฟัน สมมติง่าย ๆ
ก็ยังนับฟันไม่หมดทุกซี่ด้วยซ้ำไป จิตก็เลยไปหยุดซะ หรือไม่หยุดก็เรียกว่ามันไปอารมณ์อื่นซะ

ก็แสดงว่ากายานุปัสนานั้นมันไปไม่รอด ก็เรียกว่าความแก่กล้ามันยังไม่มี
ถ้ามันไม่มีแก่กล้าอย่างนี้แล้ว ไปกำหนดว่าเจ็ดปีจะสำเร็จพระอนาคามีนี่
คงจะไม่ได้ของเรายังไม่สมบูรณ์

ไม่ต้องไปหาที่อื่นหรอก ไปทำมาหากินอะไร นี่ในโลก นี่ของเรา ไม่รู้กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น
กี่แสนปีนี่มันจะได้ ไอ้ความร่ำรวยมั่งมีศรีสุขมาเลี้ยงปาก เลี้ยงท้องให้มันสุขมันเจริญกัน
สมบูรณ์พูนสุขจริง ๆ นั่น มันจะได้ไม๊

อันนี้ เราพิจารณากายานุปัสสนานี่ ถ้าเรามีความประสงค์หนักแน่นจริง ๆ เจ็ดปีนี่ผมคิดว่าดีกว่า
เราจะไปนั่งให้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันมาเสียบมาแทง หรือกิเลสตัณหา
อวิชชา มันมาครองงำ หรือปล่อยจิตปล่อยใจ ไปสู่อารมณ์อื่นให้มากขึ้น

ผลประโยชน์มันก็ไม่มีอะไร งั้นเราจะพิจารณาตรงไหนก็ได้ ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นมาถึงเข่าก็ได้
ตั้งแต่เข่ามาถึงต้นขาก็ได้ พิจารณาตั้งแต่หัวแม่มือมาถึงข้อมือก็ได้ แต่ให้มีสติ

ถ้าให้ดีจริง ๆ พิจารณาไปถึงไหน ก็ให้ถือว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคลเราเขา
ตั้งสติอยู่อย่างนั้น เห็นอะไรก็ให้เห็น ถือว่าไม่ใช่ตัวตนบุคคลเราเขา

เครื่องประกอบของมัน ย่างขาไปแต่ละย่างก็ไม่ได้อะไร เป็นอนัตตา หลับตาลงก็ไม่ได้อะไร
เป็นอนัตตา ลืมตาขึ้นก็ไม่ได้อะไรเป็นอนัตตา

อันนี้เป็นเรื่องของการฝึกสติ สติมาวิเนยยะโลเก อภิชฌาโทมนัสสัง กาเย กายา นุ ปัสสี วิหารติ นุ
แปลว่า น้อยหรือว่านำ หรือว่าตาม ปัสสีนั้นคือเรารู้ไปตามเหตุของมัน

อันนี้เป็นหลักของพระพุทธเจ้ายืนยันให้พวกเรา เราจะได้ทดสอบว่า
เรานั้นมีความขยันหมั่นเพียรเท่าไหร่ มีความสามารถน้อยมากเท่าไหร่ ทำยังไงเราถึงจะพบ

ทำยังไงถ้าเราได้สิ่งเหล่านี้มาแล้ว ถือว่าบุญนั้นสร้างมากี่ร้อย กี่พัน อสงไขยก็มารวมตรงนี้ล่ะ
ต่อนี้ไปก็ถือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเราเกือบจะจบ

ภาษาบ้าน ๆ เขาก็เรียกว่าจบปริญญาเอกไปแล้ว ไม่ใช่ปริญญาตรี ปริญญาโท
พระอนาคามีนั้นไม่กลับโลก ปรินิพพานหรือว่าดับขันธ์
แล้วก็ไปสู่พรหมโลกไม่กลับมาในโลกของเราอีกแล้ว

ก็ถือว่าพระนิพพานเป็นสมบัติของผู้มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ใช่ว่าจะเสียความขยันหมั่นเพียร
หรือก้าวไปเสีย ก้าวขานั่งลง เสียเวลาลุกขึ้น เสียเวลาไม่ใช่

แต่เดี๋ยวนี้มันอาจเสียเวลา เพราะเราขาดสติ ขาดความปลงลงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ธรรมะเหล่านั้นก็เลยยังไม่ขึ้นเป็นสมบัติของพวกเรา เมื่ออนัตตาเป็นสมบัติของพวกเรา
ความหลงมันก็ต้องมีลูบ ๆ คลำ ๆ อยู่นั่นแหละ

ก็ยังหวง ปวดหัว ตัวร้อน เจ็บหู เจ็บตา กลัวแต่เจ้าของจะไม่หาย กลัวแต่เจ้าของจะตาย
กลัวแต่เจ้าของจะป่วยจะไข้ อันนั้นก็เรียกว่ายังถืออยู่ ยังถือตนถือตัว ถือกายอยู่
วิปัสสนาที่ว่ากันน่ะ กายานุปัสสนาน่ะ ยังไม่ได้เอามาใช้ ชำระจิตใจพวกนี้เลย
ยังไม่ได้เอามาสร้างเป็นธรรมะเลย

ยังไม่ได้สร้างเป็นธรรมะ แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้มนุษย์เราพ้นหรือหลุดไปจากอาสวะพวกนี้
คงหาทางไม่ได้ในโลก เพราะฉะนั้นเราจะไปอยู่ที่ไหน

คำว่าวิปัสสนานั้น แจ้งทุกเวลา ไม่ว่า ยืน เดิน นั่งนอน สี่อิริยาบท มีสติพรั่งพร้อมอยู่ทุกอิริยาบท
ไม่ขาด ถ้าขาดเสียล่ะ แสดงว่าเราไม่ได้ฝึกเอาผลประโยชน์ในกิริยาเหล่านั้นมา

กิริยาของกายนี่เป็นสิ่งสำคัญ แต่ละเว้นไม่ใช่เล่น ตาก็หลับ ปากก็พูด ตาก็หลับ ๆ ลืม ๆ
ขาก็ยกไปยกมา มือแขนก็แกว่าง มันกิริยาของกายทั้งนั้น นอกจากนั้นความรู้สึกนึกคิด
ร้อน ๆ หนาว ๆ กลืนอาหาร เคี้ยวอาหารเป็นกิริยาของกาย

แต่ว่าผู้ที่จะเอาสติปัญญามาเป็นเรื่องเป็นธรรมให้เกิดครอบคลุมเรื่องพวกนี้ตลอด
ถ้าเราได้ครอบคลุมวันหนึ่ง ๆ ถึงจะไม่เต็มวันแต่ก็เชื่อมั่นในตัวเจ้าของเองว่าวันนี้ได้กำไรแล้ว

วันนี้ชีวิตเรามีค่าแล้ว เพราะไม่ได้เผลอเรอเหมือนตั้งแต่สมัยทุกวัน ทุกวันเราเผลอเรอมากกว่านี้
หรือชาติก่อน ๆ หรือวันก่อน ๆ ที่ยังไม่ได้ฝึก เรายังไม่ได้รู้เรื่องพวกนี้

แต่ทีนี้เรารู้เรื่องหมู่นี้เข้า ก็ถือว่าขยัน บางวันน่ะนั่งร้อยหน พันหน เรายังไม่ได้คิด
แต่พอมาหลาย ๆ วันเข้า นั่งลงทีสองทีเราคิดได้ ดื่มน้ำเข้าไปเราคิดได้
กินข้าวเข้าไปเราคิดได้ ย่างขาไปแต่ละย่างคิดได้ ทำอะไรคิดได้ทั้งนั้น

ถ้าแสดงว่าสติมาแล้วดีกว่าไม่ได้ฝึก ถึงจะไม่ได้สำเร็จโสดา สกิทาคา อนาคาก็ตาม
แต่ว่าก็ดีขึ้น แต่ถ้าเราฝึกให้ดียิ่งไปกว่านั้น เราก็พยายามเข้าไปกว่านั้นอีก

ไอ้ความหลุดไป หรือความมั่งคง ความดีงาม ความเห็นขึ้นเป็นสัมมาทิฐิก็มากเข้า
ความเห็นก็เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่องเข้า ไม่เกี่ยวกับความรักความใคร่
ไม่เกี่ยวกับกิเลสตัณหาอวิชชาเข้า

ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล เป็นวาสนา เป็นบารมีของแต่ละบุคคลที่มาฝึก
เพราะฉะนั้นจึงมาปรารภเรื่องว่านานเกินคอยมั๊ย

สิ่งอื่นน่ะเขาเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าเขา เขาแต่งงานกัน เขาหวังจะอยู่ร่วมกัน
แต่มันก็แยกทางกันไป ผู้นั้นตาย ผู้นี้ยัง เขาก็ยังมั่นใจถึงร้อยเปอร์เซ็นต์
บางคนน่ะว่าขอตายร่วมกัน ถึงยังไงก็ตามร่วมกัน ไม่ยอมเป็นอย่างอื่น อย่างนี้เป็นต้น

เขาก็ยังให้สัจจะ หรือให้ความจริงใจแก่กันและกันไว้ ทั้งเขาไม่ได้อะไรเขาไม่เกี่ยวข้องอะไรกับใคร
ร่างกายก็ไม่ใช่อะไรของใคร คนไหนสร้างมาก็เป็นสมบัติของคนคนนั้น

ถึงทำความประพฤติดีประพฤติชอบก็เป็นสมบัติของคนนั้น
เขาก็ยังไปมั่นใจว่ายังจะอยู่ครองเรือนกันไปจนตาย ไอ้เรานี่ก็เอากรรมฐาน เอาสติสัมปชัญญะ
เอาวิปัสสนาจะได้ดีกว่าไปขออยู่ร่วมกับคุณกับท่านตลอดตายนี่น่ะ

อยู่ไปแล้วจะไปได้อะไรตลอดตายนี่น่ะ ถ้าเราพิจารณาไปอย่างนี้ ยกเรื่องนี้ไปกับเรื่องนั้น
ความมั่นใจในเรื่องนี้ กับความมั่นใจกับเรื่องนั้น มันหนีกันคนละโลก

ยิ่งเราทำความบริสุทธิ์จิตใจของเรา ความเบื่อหน่ายในกามคุณเมถุนสังโยชน์ก็ดี
อะไรก็ดี สติก็มากขึ้น ศีลก็บริสุทธิ์เข้า สมาธิก็มากเข้า เพราะการพิจารณามีอารมณ์เดียว

พิจารณาตายก็มีแต่ตาย พิจารณาเกิดก็มีแต่เกิด พิจารณาหนังก็มีแต่หนัง พิจารณาเนื้อก็มีแต่เนื้อ
ก็เป็นอารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ที่เราปรารถนาเพื่อจะระงับโรค ระงับภัย
หรือว่าเกิดมาชาติไหนให้ร่ำรวยมันไม่มีไม่ติดต่อ

จิตไม่ต้องการไม่ปรารถนาในเรื่องนั้นเข้ามันก็ไมมีกิเลส ก็เรียกว่า จิตตานุปัสสนา
เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นวันนี้บรรยายธรรมะก็เห็นว่าสมควรแก่กาลและเวลาเพียงแค่นี้

----------------------------------------

หลักค้ำประกัน

พระครูสุวัณโณปมคุณ (หลวงพ่อคำพอง ติสฺโส)

วัดถ้ำกกดู่ ต.โนนหวาย อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 008255 - โดย คุณ : mayrin [ 13 มี.ค. 2546 ]

----------------------------------------

คัดลอกจาก: ติสสะเถรานุสรณ์

_/|__/|__/|_

มหาเถเร ปะมาเทนะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต

จากคุณ : mayrin [ 13 มี.ค. 2546 ]

ที่มา : ประตูสู่ธรรม


:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ย. 2009, 05:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุด้วยครับคุณลูกโป่ง

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron