วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 04:52  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2009, 15:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ปัญญาหากิน กับ ปัญญาเหนือโลก
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก



มีผู้ให้ความหมายของ “ปัญญา” น่าฟังว่า ได้แก่ความรู้ทั่วถึงความรู้รอบทุกด้าน ถ้ารู้เพียงแง่ใดแง่หนึ่งไม่นับว่าเป็นปัญญา อย่างเช่นคนตาบอดดู (ความจริง คลำ) ช้าง แต่ละคนคลำถูกแต่ละส่วนของช้าง ก็คิดว่าตนรู้เกี่ยวกับช้างหมด แต่ความจริงก็รู้เพียงแง่เดียวเท่านั้นเอง ความรู้เรื่องช้างอย่างนี้ ยังไงๆ ก็ไม่นับว่าเป็น “ปัญญา” เขาเรียกว่าความโง่เสียมากกว่า ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ก็มีเรื่อง “ศากยกุมาร” ถกเถียงกันเกี่ยวกับกำเนิดของข้าวสุกว่าเกิดจากไหน

เจ้าชายองค์หนึ่ง กล่าวว่า ข้าวเกิดในยุ้งฉาง เพราะเคยเห็นแต่เขาโกยข้าวเข้ายุ้งฉาง

เจ้าชายองค์ที่สอง กล่าวว่า ข้าวเกิดในหม้อข้าว เพราะเคยเห็นเขาคดข้าวออกจากหม้อข้าวทุกวัน

เจ้าชายองค์ที่สาม บอกว่า ข้าวเกิดในจานข้าวมากกว่า เจ้าชายองค์นี้ไม่เคยเห็นข้าวอยู่ในฉาง หรือในหม้อเลย ตื่นบรรทมมาก็เห็นจานข้าวตั้งรอที่โต๊ะอาหารแล้ว เลยเข้าใจว่าข้าวสุกมีกำเนิดมาจากจานบนโต๊ะนี่เอง

อย่าได้คิดว่าเป็นนิทานตลกนะครับ คนที่เขาอยู่สบายไม่ต้องทำอะไรเลย มีคนทำให้หมดทุกอย่างยกเว้นอึกับฉี่เท่านั้นที่ต้องทำเอง (ถ้าคนอื่นทำแทนได้ก็คงทำให้แล้วล่ะ) คนประเภทนี้มีอยู่มากมายในโลก ว่าไปทำไมมี เด็กในกรุงเทพฯ นี่แหละ เกิดมาไม่เคยเห็นควาย จะว่าเขาโง่ก็ไม่ถนัด เพราะเขาไม่เคยเห็นนี่ครับ

ความรู้เพียงบางแง่ดังตัวอย่างที่ยกมานั้น ยังไม่นับว่าเป็น “ปัญญา” หรือความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ความรู้ที่เราเรียกว่าปัญญาต้องเป็นความรู้ทั่วถึง หรือตลอดทะลุปรุโปร่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างไม่มีข้อสงสัยเลย

ปัญญามีหลายระดับ ระดับพื้นๆ หมายเอาเพียงความรู้ที่เกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนดังพวกเราทำกันอยู่ ผู้รู้บางท่านเรียกปัญญาชนิดนี้ว่า “ปัญญาหากิน” คือเรียนเอาปริญญาไว้สำหรับไปสมัครงานหาเงินหาทองมาเลี้ยงชีพ ใครมีปัญญาชนิดนี้มากหรือมีปริญญาสูงๆ ระดับดอกเตอร์ ศาสตราจารย์ ก็มีทางหากินได้ง่ายและได้มาก แต่ถ้าใครเล่าเรียนมาน้อย ความรู้แค่หางอึ่ง ใบประกาศสักใบก็ไม่มีเหมือนเขา ก็หากินลำบากหน่อย

ทางพระเรียกปัญญาประเภทนี้ว่า “โลกียปัญญา” (ปัญญาระดับโลกๆ) ว่าตามจริงแล้วท่านอนุโลมเรียกเฉยๆ ท่านไม่นับเป็นปัญญาเสียด้วยซ้ำ เพราะยิ่งเรียนมาก ยิ่งมีปริญญามากก็ยิ่งโง่ คือรู้มากแต่โง่

“พูดอะไรไม่รู้ควัง เอ๊ยฟัง” บางท่านอาจแย้งดังนี้

พิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นตามที่พระท่านว่า แต่ก่อนเมื่อครั้งยังไม่จบปริญญาอะไรมาก็รู้สึกว่าถ่อมตน มีความรู้สึกว่าตนยังรู้น้อย ไม่รู้อะไรก็รู้จักซักถามคนอื่น ฟังคนอื่น แต่พอได้ดีกรีสูงขึ้นๆ เป็นบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต ชักมีความรู้สึกว่าตัวมีความรู้มาก คนอื่นโง่หมด เมื่อคิดได้ดังนี้ทิฐิมานะก็มากขึ้น ความถือตัวมากขึ้น ไม่ฟังใคร ต้องการแต่จะให้คนอื่นฟังตนพูดอย่างเดียว

สังเกตได้เวลาไปประชุมสัมมนาวิชาการวิชาเกินอะไรต่างๆ นั้น ท่านผู้รู้มากเหล่านี้จะเกาะติดไมโครโฟนไม่ยอมปล่อย อภิปรายฉอดๆ แสดงภูมิความรู้ให้คนอื่นอัศจรรย์ บางคนเรียนมาด้านเดียว แต่ก็สู่รู้ทุกสาขาวิชา คนพวกนี้เขาเรียกว่า “นักวิชาการแสนรู้” (ตั้งชื่อได้แสบนิ) ที่พระท่านว่ายิ่งรู้มากยิ่งโง่นั้น ก็เพราะความรู้ที่เล่าเรียนมานั้นมันเป็นม่านบังตาไม่ให้เข้าถึงความจริงแห่งโลกและชีวิต ทำให้เขาเกิดทิฐิมานะ ลุ่มหลงยึดติดอยู่กับความรู้ความเห็นผิดๆ คนพวกนี้เรียกว่า “ตุจฉโปฏฐิละ” (คนใบลานเปล่า)

สมัยพุทธกาลมีพระเจ้าสำนักรูปหนึ่งมีความรู้แตกฉานในพุทธวจนะมาก มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ใครๆ ก็ยกย่องว่าเป็นคัมภีร์เดินได้ ท่านก็เลยเกิดความหลงผิดว่าในพระศาสนานี้มีเราคนเดียวที่รู้มากที่สุด ยกเว้นพระศาสดา (ยังดีที่ยกให้พระศาสดาอยู่)

พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าท่านผู้นี้กำลังหลงผิด เวลาท่านไปเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ก็ตรัสปฏิสันถารด้วยคำพูดว่า “อ้อ ท่านใบลานเปล่ามาแล้วหรือ” เวลาท่านกราบลากลับ

ท่านพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า “ท่านใบลานเปล่าจะกลับหรือ”

เกจิอาจารย์เจ้าสำนัก (อ้อ คำว่าเกจิอาจารย์ สมัยก่อนหมายถึงผู้เป็นพหูสูตนะครับ มิใช่อาจารย์ปลุกเสกเหมือนปัจจุบันนี้) มาครุ่นคิดว่า เราก็มีความรู้มากมาย มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะแยะ ทำไมพระพุทธองค์ตรัสเรียกเราว่าใบลานเปล่า หรือว่าที่เรารู้นี้ไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริงอะไรเลย

นึกได้ดังนี้ทิฐิมานะก็ลดลง เพราะสำนึกว่าความรู้ที่ตนมีเป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น ตนเองมิได้สัมผัสแห่งการปฏิบัติเลย “ใบลานเปล่า” จริงๆ คราวนี้พบหน้าลูกศิษย์ลูกหาก็ยกมือไหว้ ขอเรียนปฏิบัติด้วย ทำเอาบรรดาศิษย์ตกใจไปตามๆ กัน ต่างก็พูดว่าพวกตนไม่อยู่ในฐานะที่จะสอนอาจารย์ได้ ท่านจึงไปหาเณรน้อยรูปหนึ่ง (นัยว่าเณรน้อยรูปนี้ไม่ใช่ธรรมดาเป็นเณรน้อยอรหันต์ด้วย) ขอเรียนวิธีการปฏิบัติธรรม เณรน้อยกล่าวว่า

“ท่านอาจารย์ ถ้าผมบอกให้ท่านทำอะไร ท่านจะทำตามไหม”

“นิมนต์ว่ามาเลยสามเณร ผมยินดีทำตามทุกอย่าง” พระนักวิชาการผู้ละพยศกล่าว

“ถ้าอย่างนั้น ขอให้อาจารย์เดินลงไปในน้ำ เดินไปเรื่อยๆ ช้าๆ จนกว่าผมจะบอกให้หยุด”

พระเถระเดินลงน้ำอย่างว่าง่าย ค่อยๆ เดินลึกลงไปจนจีวรเปียกน้ำยังไม่หยุด เณรน้อยร้องบอกว่า “หยุดแค่นั้นแหละ ท่านอาจารย์ นิมนต์ขึ้นมาได้”

เมื่อพระเถระขึ้นมายืนต่อหน้าด้วยจีวรเปียกชุ่มน้ำ เณรน้อยกล่าวสอนว่า

“มีจอมปลวกอยู่แห่งหนึ่ง มีรูอยู่ 6 รู เด็กเลี้ยงโคไล่เหี้ยเข้ารูจอมปลวกแล้วเอาใบไม้อุด 5 รู ปล่อยไว้รูหนึ่ง แล้วก็นั่งเฝ้าอยู่ตรงนั้น เหี้ยเมื่อหิวขึ้นมาก็คลานออกมาทางรู้ที่มิได้ปิด เด็กเลี้ยงโคจึงจับเหี้ยนั้นได้”

กล่าวมาถึงตรงนี้ เณรน้อยชำเลืองดูพระเถระแวบหนึ่ง แล้วกล่าวทำนองสั่งว่า “ท่านอาจารย์นำไปคิดซะ แล้วจะทราบว่า ควรทำอย่างไร”

เนื่องจากเป็นพระที่คงแก่เรียนอยู่แล้ว ได้ฟังวาทะอันคมคายของเณรน้อยอรหันต์ พระคุณเจ้าใบลานเปล่าก็รู้ทันทีว่า นี้คือวิธีการปฏิบัติฝึกฝนจิต จอมปลวกก็คือ ร่างกายเรา รู 6 รู ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ปิดไว้ 5 รู ก็คือ ปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย เปิดไว้หนึ่งรู ก็คือเปิดใจไว้ คอยกำหนดดูจิตใจให้ดี ระวังมิให้มันส่ายไปตามอำนาจความชอบชังและหลง พูดง่ายๆ ก็คือฝึกควบคุมจิตด้วยวิธีสมถวิปัสสนาและวิปัสสนาภาวนานั่นเอง

พระเถระดำเนินตามแนวทางที่เณรน้อยแนะนำ ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุอรหัต (อรหัต เป็นคำนามหมายถึงความเป็นอรหันต์ ที่ต้องวงเล็บก็เพราะเวลาผมเขียนว่า “ได้บรรลุอรหัต” มักจะแก้ให้ผมว่า “บรรลุอรหันต์” ทุกทีสิน่า)

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ต้องการชี้ว่า ความรู้ หรือปัญญา ที่ได้จากการเล่าเรียนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ นี้ ทางพระท่านไม่นับเป็นปัญญาแท้ เป็นเพียง “ความคงแก่เรียน” หรือความเป็นพหูสูตเท่านั้น ความรู้ชนิดนี้ยิ่งมีมากยิ่งทำให้เกิดมานะทิฐิมาก ถ้าไม่รู้จักควบคุมตัวเองด้วยแล้ว จะดูถูกคนอื่นว่าโง่เง่าอีกด้วย

ทางพระพุทธศาสนาถือว่าคนชนิดนี้เป็นคนโง่แท้ หาใช่บัณฑิตไม่ บัณฑิตนั้นมิได้วัดด้วยความคงแก่เรียน แต่วัดด้วยความประพฤติดีทางกาย วาจา และใจ ลด ละ กิเลสได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดไปโดยสิ้นเชิง

ปัญญาที่ทำให้คนเป็นบัณฑิตอย่างที่กล่าวมา มิใช่ได้ด้วยการเล่าเรียน หากเกิดจากการปฏิบัติฝึกฝนอบรมจิต เป็นประสบการณ์ตรง เป็นความสว่างโพลงภายในโดยเฉพาะ

ปัญญาชนิดนี้แหละที่ท่านเรียกว่า “โลกุตรปัญญา” (ปัญญาเหนือโลก) ประหลาดตรงที่ปัญญาเหนือโลกนี้ คนธรรมดาที่มีชีวิตไม่ซับซ้อน อยู่อย่างง่ายๆ กลับ “เข้าถึง” ได้ง่ายกว่า

ง่ายกว่าบัณฑิตมีใบปริญญาแขวนเต็มฝาบ้าน

วันดีคืนดีก็แสดงพลัง รอให้น้ำเลี้ยงไหลมาตามท่อ ซะอย่างนั้น (ฮา)



............................................................

หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10732

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร