วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 04:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

เ รี ย น เ พื่ อ รู้......รู้ เ พื่ อ ว า ง
พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ (ฌอน ชิเวอร์ตัน Shaun Chiverton)
วัดป่านานาชาติ ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


แสดงธรรมเทศนา ณ เสถียรธรรมสถาน
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕


ขอเจริญพรแม่ชีทุก ๆ รูป
วันนี้อาตมาได้รับนิมนต์มาให้ข้อคิดในเรื่อง
ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสถาบันแม่ชี

แต่เนื่องจากว่าอาตมาเป็นพระวัดป่า
มักจะไม่ค่อยได้เทศน์ตามหัวข้อที่เขาจัดไว้ พูดไปเรื่อยเปื่อยตามมีตามได้

ฉะนั้นถ้าอาตามพูดจบแล้ว
ยังมีอะไรสงสัยหรือยังไม่ได้พูดในเรื่องที่แม่ชีต้องการฟัง
ก็เชิญถามปัญหาข้อข้องใจได้

ที่จริงเรื่องการพัฒนาสถาบันแม่ชีนั้น
ต้องถามเสียก่อนว่า สถาบันคืออะไร
อาตมาเห็นว่าสถาบันก็คือพวกแม่ชีนั่นเอง
ไม่มีสถาบันนอกเหนือจากแม่ชี ซึ่งเป็นส่วนประกอบของมัน

เพราะฉะนั้นการพัฒนาสถาบันแม่ชี
คือการพัฒนาแม่ชีแต่ละรูปที่อยู่ในสถาบันแล้วเราจะพัฒนาแม่ชีอย่างไร

พระพุทธองค์ทรงให้โครงสร้างในการพัฒนามนุษย์เรา
หลายรูปแบบหลายอย่าง เช่นที่ง่าย ๆ ก็เรื่อง


ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรืออริยมรรค ๘


วันนี้อาตมาขอเริ่มด้วยเรื่อง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ปริยัติธรรม คือหลักการต่าง ๆ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างชีวิตที่ดีงาม
เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติที่จะได้ผล
ต้องมีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ หรือความเข้าใจอย่างถูกต้องเป็นพื้นฐาน

ถ้าเราไม่เข้าใจในเป้าหมายของการปฏิบัติ
หรือไม่เข้าใจในวิธีการที่จะเข้าถึงเป้าหมาย
ก็ยากที่จะปฏิบัติอย่างถูกต้องได้ผล


พระพุทธองค์จึงทรงสรรเสริญ พหูสูต คือผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก
ผู้ที่ได้จดจำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
และสาวกสงฆ์ของท่านไว้มากได้จำไว้เป็นข้อมูล
แล้วได้ใช้เป็นเครื่องอุดหนุนการปฏิบัติ

เพราะในระบบปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธนั้น
ธรรมแต่ละข้อไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นอิสระจากข้ออื่น
ธรรมะต่าง ๆ เกี่ยวเนื่องอิงอาศัยกันหมด แยกออกจากกันไม่ได้
ปริยัติต้องเป็นไปเพื่อปฏิบัติ ปฏิบัติต้องเป็นไปเพื่อปฏิเวธ


ถ้าเรียนปริยัติเพียงเพื่อสั่งสมความรู้อย่างเดียว
ก็อาจจะมีประโยชน์ในการสอนคนอื่นบ้าง
แต่ว่าผลเสียก็คืออาจจะทำให้จิตใจรกรุงรัง เกิดความถือตัว ถือตน
หรือแทนที่จะเพิ่มศรัทธาและกำลังใจในการพัฒนาตัวเอง
กลับเป็นสิ่งเพิ่มวิจิกิจฉาความสงสัย


ใครเคยเรียนมามากมักจะสงสัยมาก
แต่ละสำนักสอนไม่เหมือนกัน

เอ! ที่สำนักนั้นบอกว่าอย่างนั้น ที่สำนักนี้บอกว่าอย่างนี้
ความหมายเหมือนกันหรือเปล่า ยังไงถูกยังไงผิด
สงสัยเรื่อย สงสัยมากก็ไม่เป็นอันทำอะไรเลย
ไม่กล้าเพราะไม่แน่ใจว่าถูก กลัวผิด

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ความสงสัยจึงเป็นนิวรณ์ เป็นกิเลสที่น่ากลัว
ทำให้เรารู้สึกว่าได้หลงทางในที่อัตคัดกันดาร

อย่างไรก็ตาม การเรียนการศึกษามีผลดีตรงที่ว่าทำให้เรามีหลักการ
มีมาตรฐานที่เป็นกลาง
ซึ่งเราสามารถใช้ตรวจสอบการประพฤติปฏิบัติของเรา


เช่นเราอาจเอาหมวดธรรมต่าง ๆ เช่น

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ เป็นต้น
มาดูแต่ละข้อว่าเรามีแล้วหรือยัง
หรือเอาหมวดธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล
เช่น อุปกิเลส ๑๖ มาพิจารณาตัวเองว่ามีหรือเปล่า
อย่างนี้เรียกว่า การใช้ปริยัติเพื่อการปฏิบัติ


เพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาตัวเอง
เป็นอุบายแก้ความเคยชินที่จะเข้าข้างตัวเองและเกิดจุดบอด
แต่ต้องระวังเหมือนกัน ดุรายชื่อแล้วรู้สึกกลุ้มใจ
โอย เราแย่จริง ๆ กิเลสหมวดนั้นมีทุกตัวเลย ไม่ไหว
อย่างนี้จะเป็นการบั่นทอนกำลังใจมากกว่า ต้องใช้ปัญญา

ในการปฏิบัติเบื้องต้น
ท่านเน้นที่การทำทิฏฐิคือความเห็นให้ตรง
หมายถึงการสร้างสัมมาทิฏฐิ
ซึ่งต้องอาศัยการค่อย ๆ ล้างความเชื่อเก่า
ล้างความคิดเห็นเก่า ล้างค่านิยม ทัศนคติ
ล้างท่าทีต่อชีวิตและโลก
ที่ยังประกอบด้วยกิเลสตัณหาออกจากจิตใจ

แล้วย้อมใหม่ด้วยสิ่งที่เกื้อกูลต่อการพ้นทุกข์
ฝึกหยิบใช้คำสั่งสอนของพระพุทธองค์
ในลักษณะเป็นเครื่องมือพิจารณาชีวิตของตน
เครื่องมือแก้ปัญหามี่เกิดขึ้น
สร้างประโยชน์ตนและสร้างประโยชน์คนอื่นให้สมบูรณ์


ถ้าเราไม่ปฏิบัติ ไม่เอาธรรมะไปใช้
แต่ศึกษาธรรมะในรูปของทฤษฎี
หรือปรัชญาคำสอนในพระไตรปิฎก
อาจดูแห้งแล้งหรือจืดชืดไม่น่าสนใจ
แต่เมื่อเราหัดใช้คำสอนเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน
ความหมายและความอัศจรรย์ของธรรมะจะเด่นขึ้นมา


เราจะซาบซึ้งในธรรมะแต่ละหมวดหรือแต่ละข้อ
ผลที่เห็นชัดก็คือ แทนที่จะมองชีวิตการบวชเป็นโครงงานของ ฉัน
ฉันต้องการอย่างนั้น ฉันต้องการอย่างนี้ อยู่ที่นี่ฉันสุข ฉันสบาย
อยู่ที่โน่นฉันไม่มีความสุข ฉันไม่สบาย ฉันอยากจะไป ฉันอยากจะอยู่ ฯลฯ
ความคิดผิด (อโยนิโสมนสิการ) อย่างนี้
จะเริ่มเปลี่ยนเป็นความคิดแยบคาย (โยนิโสมนสิการ)

การเอาตัว ฉัน เป็นศูนย์กลางของจักรวาล
แล้วเอาความสุขหรือความมั่นคงของสิ่งนี้
เป็นเครื่องตัดสินว่าจะทำ หรือไม่ทำอะไร
เป็นความเคยชินที่นำเราไปสู่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
ทำให้ความคิดเห็น เป้าหมายชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างเศร้าหมองไปหมด

ในการประพฤติปฏิบัติเราต้องฝึกคิดในทาง
ที่ทำให้บาปอกุศลธรรมในใจน้อยลง และ กุศลธรรมเพิ่มขึ้น
ด้วยการเอาความจริงเป็นหลักใน การเจริญสัมมาทิฏฐิ


ท่านให้ใช้หมวดธรรมที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้ให้
แทนที่จะมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเราเป็นของเรา
ก็ให้พยายามมองประสบการณ์ตรงว่าเป็นธาตุ เป็นขันธ์ เป็นอายตนะ

ไม่ใช่ว่าอ่านหนังสือแล้วรู้ว่า ธาตุ ๔ คืออะไร ธาตุ ๖ คืออะไร
ปัญจขันธ์คืออะไร อายตนะภายใน อายตนะภายนอกคืออะไร
จำได้แล้วหลงคิดวาหน้าที่ต่อหมวดธรรมเหล่านั้นจบอยู่แค่นั้น

นั่นเป็นปริยัติเพื่อปริยัติ น่าสนใจ แต่เอาตัวไม่รอดหรอก

ส่วนปริยัติเพื่อปฏิบัตินั้นมุ่งใช้เครื่องมือ
คือคำสอน เรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะมาพิจารณาตัวเอง
เพื่อจะได้ขจัดความหลงงมงายในเรื่องอัตตาตัวตนให้หมดสิ้นไป


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


เราใช้คำว่า ฉัน ตลอดเวลา
แต่น้อยคนที่สังเกตว่า คำศัพท์คำเดียวนี้


หมายถึงสิ่งหลายสิ่งหลายอย่าง
เช่นเราอาจจะบ่นว่า ฉันเหนื่อย
ผู้เรียนปริยัติเพื่อปฏิบัติจะทราบว่า
ที่แท้เราหมายความว่าร่างกายเหนื่อย ไม่ใช่ตัวฉันที่ไหนเหนื่อย

ในกรณีนี้ คำว่า ฉัน หมายถึงร่างกาย
หมายถึงรูป รูปเหนื่อย หรือสมมติว่า
เราอุทานว่า วันนี้ฉันมีความสุขเหลือเกิน

ที่จริงนั่นหมายความว่า
สุขเวทนาเกิดขึ้นมาก และเกิดขึ้นอย่างรุนแรง

คำว่า ฉันจำได้ หมายความว่ามีสัญญาเกิดขึ้นแล้ว
ฉันคิดว่า ฉันเกรงว่า ฉันชอบ ฉันไม่ชอบ
ฉันเกลียด ฉันอิจฉา ฉันนั่น ฉันนี่
เหล่านี้เป็นเรื่องของสังขาร ฉันเห็น ฉันได้ยิน
ฉันได้กลิ่น ฉันได้รส ฉันได้สัมผัส ก็เป็นเรื่องของวิญญาณ

เพราะฉะนั้น ปัญจขันธ์ ไม่ใช่ปรัชญาชั้นสูงทางพุทธศาสนา
ไม่ใช่เรื่องลึกลับ หากเป็นเรื่องง่าย ๆ ธรรมดา ๆ
เป็นประสบการณ์ตรงในชีวิตประจำวันของเราทุกคน

น่าคิดว่าถ้าพระพุทธองค์ไม่ได้สอนเรื่องปัญจขันธ์
เราคงไม่มีทางที่จะพิจารณาอย่างนี้ได้
ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาความคิดในด้านนี้เลย

แต่เพราะท่านทรงสอนเอาไว้
เราจึงทราบว่า สิ่งที่เราเรียกว่า ฉัน นั้น
จริงแล้ว มีแต่รูป มีแต่เวทนา มีแต่สัญญา มีแต่สังขาร มีแต่วิญญาณ
คำว่า ฉัน ก็คือคำที่เราสมมติเอาเอง บัญญัติเอาเอง
เพื่อความสะดวกในการสื่อสาร


เช่นตอนนั่งที่นี่ อาตมามีเรื่องจะสนทนากับแม่ชีรูปใดรูปหนึ่ง
อาตมาเรียก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โน่น มานี่หน่อย
แม่ชีจะไม่ทราบเลยว่าหมายถึงใคร

แต่พอมีชื่อแล้ว อาตมาก็เรียกตามชื่อได้
แม่ชีนิรทุกข์มานี่หน่อย แม่ชีรูปนั้นก็จะได้มาหา
ชื่อมันจึงมีความสำคัญ มีประโยชน์ในการสื่อสาร

แต่ถ้าพูดตามหลักสัจธรรม สิ่งที่มีจริง เป็นจริง
ก็มีแต่ รูป มีแต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้นเอง


ดังนั้น ในการพัฒนาสถาบันแม่ชีหรือพัฒนาแม่ชี
ต้องพัฒนาในเรื่องทฤษฎีหรือในด้านปริยัติ
ต้องพัฒนาในระดับสัมมาทิฏฐิก่อนอื่น ให้มีแผนที่ที่ชัดเจน
สำหรับใช้ในการเดินทางในประเทศที่เราไม่เคยได้ไปมาก่อน
โชคดีว่ามีผู้ใหญ่ที่เคยเดินทางมาก่อนเรา
ได้บอกทางไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้อย่างตรงที่สุด
เราไม่ต้องเสียเวลาเข้าซอกเข้าซอย
พาหุสัจจะจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีที่พึ่ง

เราขาดสัมมาทิฏฐิข้อเดียว ปฏิบัติเท่าไหร่ เราอาจจะไม่ได้ผล

หลวงพ่อชาบอกว่า

เหมือนกับตักปลาในหนองที่ไม่มีปลา
จะขยันหมั่นเพียรเท่าไหร่
ถ้าไม่มีปลาอยู่ในที่นั้น ความเพียรก็จะเป็นหมัน


ในทำนองเดียวกัน เพียงแต่นั่งสมาธิภาวนาอย่างเดียว
โดยไม่ปรับความคิดเห็นก็ไม่พอ


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ที่วัดอาตมา มีปะขาวคนหนึ่ง เดี๋ยวนี้เขาจากไปแล้ว นั่งสมาธิเก่งมาก
แต่ละวันนั่งหลายชั่วโมง แล้วก็นั่งสมาธิ เดินจงกรม
ทำความเพียรมาหลายปีแล้ว แต่ไม่ค่อยได้ผล
หน้าบูดหน้าเบี้ยว ไม่เบิกบานเลย ไม่ค่อยมีเพื่อน
ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะเขามีมิจฉาทิฐิหลายอย่าง

เช่น เขาเชื่อว่า ความโกรธเป็นสิ่งที่ดี
เหตุผลก็คือว่า ตอนที่อยู่ที่บ้าน เขาเกิดความรู้สึกโกรธ
ไม่พอใจกับความไม่ยุติธรรมของสังคม
ความไร้แก่นสารสาระของชีวิตในสังคม

ทำให้เขาได้ออกจากบ้าน แสวงหาสัจธรรม
เขาจึงเห็นว่าความโกรธมีอานิสงส์ต่อเขามาก
ถ้าเขาไม่โกรธก็ไม่ได้เข้าวัด

เขาบอกว่า เวลาเขาทำอะไร ขี้เกียจขี้คร้าน
แต่ถ้าเขาโกรธเรื่องอะไรสักอย่าง
เขาบอกว่ามีชีวิตชีวาขึ้นทันที
แล้วเขาสามารถใช้พลังของความโกรธนั้นในการเจริญภาวนา
โกรธใครแล้วทำให้คนนั้นเป็นทุกข์
ปะขาวบอกว่านั่นเป็นเรื่องของคนนั้น ไม่ใช่เรื่องของผม

ผมเป็นธรรมชาติ ผมทำอะไรเป็นธรรมชาติ
ความโกรธก็เป็นธรรมชาติ
คนอื่นเขาจะสรรเสริญก็สักแต่ว่าสรรเสริญ
นินทาก็สักแต่ว่านินทาผมเป็นธรรมชาติ ปะขาวว่าอย่างนั้น

อาตมาค้านว่า เอ๊ะ! เรื่องธรรมชาตินี้ไม่ใช่ของดีเสมอไป
เด็กเล็ก ๆ เขาอยากขี้ที่ไหน ก็ขี้ที่นั่น อยากจะเยี่ยวที่ไหน ก็เยี่ยวที่นั่น
ธรรมชาติของเด็กน้อยเป็นอย่างนั้น แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ดี

ถ้าจะให้มนุษย์เราเป็นธรรมชาติจริง ๆ ก็คงจะแย่มากนะ
ถ้าเราไม่ฝึกเข้าห้องน้ำ สังคมมนุษย์คงจะเหม็นมาก
ขึ้นรถยนต์หรือนั่งในที่ทำงานคงจะต้องดูดออกซิเจนตลอด
เพราะเราได้ฝืนธรรมชาติอันนี้แหละ เราจึงมีสังคมที่เรียบร้อยได้

อย่าไปอ้างธรรมชาติมาแก้ตัวอย่างนี้เลย
ธรรมชาติที่ดีก็มี ธรรมชาติที่ไม่ดีก็มี

ผู้มีปัญญาจะรู้ว่าสิ่งใดควรบำเพ็ญ สิ่งใดควรงดเว้น

ความโกรธเป็นกิเลส เป็นอุปสรรคสำคัญต่อชีวิตที่ดีงาม
ต้องพยายามระงับไว้

แต่ปะขาวคนนั้นเสียดายธรรมชาติชั่วของเขา
ในที่สุดต้องจากวัดไป


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทุกวันนี้ชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยอ้างธรรมชาติ
เอาคำนี้มาใช้เพื่อฉีดยาชาห้ามความละอาย

“มันเป็นธรรมชาติ อะไรมี่เป็นธรรมชาติจะไปอายมันทำไม
เก็บกดสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เดี๋ยวจะเป็นโรคประสาท”


เขาว่าอย่างนั้น ซึ่งเป็นมิจฉาทิฐิอย่างหนึ่ง
พอพฤติกรรมมีทฤษฎีรองรับแล้ว
มันแก้ไขยากเพราะจิตใจจะแข็งกระด้าง


เงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งใน การสร้างสัมมาทิฏฐิ
จึงอยู่ที่ ความอ่อนน้อมถ่อมตน
ต้องเป็นคนว่านอนสอนง่าย อย่าแข็งกระด้าง
อย่าถือตัวถือตน เชื่อมั่นในตัวเองเท่าไรก็ให้ถือหลักว่า
เราอาจจะผิดก็ได้ เราอาจจะผิดก็ได้
เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนควรจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
บริกรรมว่า เราอาจจะผิดก็ได้ เราอาจจะผิดก็ได้
จะได้ค่อยละลายความสำคัญตัวลง


ท่านให้รู้จักศึกษาจากทุกคนที่อยู่รอบข้าง
ไม่ใช่ว่าเรียนรู้จากผู้ใหญ่หรืออาจารย์อย่างเดียว
ผู้อาบน้ำร้อนทีหลัง บวชทีหลังไม่อยากฟังเลย
เพราะรู้สึกว่าถ้าเปลี่ยนความคิดตามคนที่บวชทีหลัง
จะเสียศักดิ์ศรี จะเป็นการเสียหน้า
นั่นท่านเรียกว่ามิจฉาทิฐิเหมือนกัน

แข็งกระด้างเหมือนเสือโคร่ง
ต้องฝึกให้อ่อนโยนเหมือนแมวบ้าน

แมวกับเสือโคร่งก็อยู่ในตระกูลเดียวกัน เป็นญาติกัน
แต่มันมีนิสัยใจคอต่างกันลิบ

ขอให้เป็นแมว อย่าให้เป็นเสือเลย
ขอให้อ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะแก้ไขตัวเองอยู่เสมอ
ไม่ว่าใครเป็นผู้เสนอความคิดเห็น ก็ขอให้เราพร้อมที่จะรับฟัง


เพราะอะไร?

เพราะต้องเป็น ธัมมกาโม เป็นคนรักธรรม
รักธรรมมากกว่ารักหน้าของตัวเอง
อันนี้ก็ทำไม่ได้ อันนั้นก็รับไม่ได้
เพราะอะไร เพราะกลัวจะเสียหน้า
อันนี้ก็รับได้ อันนี้ก็ยอมได้ เพราะอะไร

เพราะเรารักธรรม ถ้าไม่ทำ ไม่ยอมมันจะเสียธรรม
แล้วเราจะเอายังไง จะเสียหน้าหรือจะเสียธรรม
แต่เสียหน้าดีกว่าเสียธรรม ให้เรารักธรรม


เราทุกคนมีสัญชาตญาณที่จะรักอยู่แล้ว
แต่ไม่ต้องรักใคร รักธรรมะแล้วก็รักวินัย
ให้มีความเคารพความภูมิใจในฐานะของตัวเองในเพศสมณะขาว คือแม่ชี

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่มีแค่สองเพศ
คือเพศชายและเพศหญิง
แต่ภาษาไทยเป็นภาษาที่ละเอียด มีสามเพศ
คือเพศชาย เพศหญิง และเพศสมณะ

พวกเราบวชแล้ว ไม่ใช่ผู้ชายเสียแล้ว ไม่ใช่ผู้หญิงเสียแล้ว
เราอยู่ในเพศสมณะ

แม่ชีจะเป็นนักบวชโดยนิตินัยหรือไม่ก็ช่างมันเถอะ
เป็นแล้วหรือเป็นไปได้แล้วโดยพฤตินัย
คือการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งมีศีลเป็นรากฐาน
จงรักษาศีลของตนเหมือนอย่างรักษาตา

ผู้ที่เห็นอานิสงส์ของศีลชัดเจนแล้ว
ถือคติกันว่า ตายดีกว่าเสียศีล ต้องเอาจริงเอาจังถึงขนาดนั้น
ขอให้มี หิริ มีโอตตัปปะ ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป
มีขันติความอดทนก็ปลอดภัยแล้ว


ในตำราวิสุทธิมรรคท่านบอกว่า
ความละอายต่อบาปของนักปราชญ์ หรือผู้ปฏิบัติ
เปรียบเหมือนกับความละอายที่คนทั่วไปมีต่อการถ่ายอุจจาระกลางตลาด
มีความรู้สึกต่อบาปกรรมอย่างนั้นเลย
รู้สึกว่าการแพ้กิเลสน่าอับอายขายหน้าจริง ๆ
ความเกรงกลัวต่อบาป หรือต่อผลของการกระทำ
ท่านเปรียบเทียบกับความกลัวงูอสรพิษ

ให้สังเกตว่าในขณะมี่จิตเป็นอกุศล
จะมีตัวมารที่ชักชวนสนับสนุน

“ไปเถอะ ทำเถอะ ทำเลย ไม่เป็นไร ช่างมันเถอะ”

มารตัวนี้เรียกว่า อหิริ อโนตัปปะ

เมื่อตัวสติมากระซิบว่า

“ไม่ดีนะ ไม่ถูกนะ บาปนะ หยุด หยุด หยุด”

ฝ่ายอหิริ อโนตัปปะ บอกว่า

“ไม่เป็นไร บ่เป็นหยัง ทำไปเถอะ”

อย่างนี้ไม่ต้องเกรงใจมันเลย ต้องยืนยันว่า

“มันเป็นไร ทำไม่ได้ ไม่ทำเป็นอันขาด”

ต้องรู้จักหยุด ต้องมีระเบียบ มีวินัย
ต้องรู้จักห้ามใจเจ้าของ ห้ามจิตตัวเอง
ผู้ที่ห้ามจิตตัวเองได้ จะเป็นผู้สง่าผ่าเผย
ห้ามจิตของตัวเองไม่ได้ ไปที่ไหนก็อันตราย

เพราะอะไร เพราะไม่ว่าไปที่ไหน
จะต้องเจอสิ่งมายั่วยุให้เราโลภ เราโกรธ เราหลง อยู่บ่อย ๆ
ถ้าเราไม่มีวิชาป้องกันตัวนี่จะพ่ายแพ้


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ท่านให้มีศีล ซึ่งมีตัว หิริ โอตตัปะ สนับสนุน
มีความอดทน มีการบังคับตัวเองได้ มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม


ทีนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังพูดอะไรอยู่ เรากำลังคิดอะไรอยู่
มีประโยชน์ไหม เป็นบุญไหม เป็นบาปไหม
สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ สิ่งที่เรากำลังพูดอยู่ สิ่งที่เรากำลังคิดอยู่
มันตรงกับเป้าหมายชีวิตของเราหรือเปล่า

มันเป็นไปเพื่อการปล่อยวางกิเลสหรือไม่
เป็นการลดอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง
หรือเป็นการเพิ่มความโลภ ความโกรธ ความหลงให้มีอำนาจมากขึ้น
คอยสำรวจตรวจตราตัวเองอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เผลอไม่ได้

การเจริญ สมณสัญญา
เป็นเครื่องอุปกรณ์ที่สำคัญในการทำให้ศีลของเราละเอียดและมั่นคง


สมณสัญญา คือสัญญาหรือการระลึกอยู่ในการเป็นนักบวช
ถึงแม้ว่าการกระทำไม่ผิดศีล ๘
นั่นก็ยังไม่ได้หมายความว่าใช้ได้เสมอไป
เช่นการยกตนข่มท่านก็ไม่ผิดศีล ตามหลักในตำรา


จึงต้องพิจารณาว่า การกระทำอย่างนี้เหมาะกับนักบวชไหม
เหมาะกับสมณะไหม เหมาะแก่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานไหม
สิ่งใดไม่เหมาะ เรางดเว้นในสิ่งนั้นดีกว่า


ผู้มีศีลแล้วจะเคารพนับถือตัวเอง
ไปที่ไหนก็ไม่ต้องระแวง ไปที่ไหนก็ไม่ต้องกลัว
จิตใจไม่เดือดร้อน ไม่วุ่นวาย

สำหรับเรื่อง ศีล นั้น
ขอให้เราระวังให้มากในด้านวาจา การพูดการคุย
ปากบางคน (ขออภัยนะ) เหมือนเอ็มสิบหก
ปากเหมือนท่อไอเสียของรถยนต์ก็มี
ไม่ใช่กิเลสของพวกฆราวาสอย่างเดียว
นักบวชบางองค์ก็ไม่เบาเหมือนกัน


อย่าเป็นแม่ชีท่อไอเสีย
ถึงแม้ว่าผ้าครองสังขารของเราขาวสะอาด
นั่นเป็นเรื่องวัตถุภายนอก

อย่าให้มีของสกปรกเปรอะเปื้อนออกจากปากเลย
ให้มันขาวหมด ขาวกายด้วย ขาววาจาด้วย ขาวใจด้วย
เรื่องการนินทาลับหลังนี่ อย่าให้มีเลยนะ

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


น่าสังเกตว่าในพระวินัย
พระพุทธองค์ให้ความสำคัญ
แก่ความสามัคคีของสงฆ์มากจริง ๆ
จนกระทั่งท่านทรงอนุญาตว่าบางสิกขาบท
รักษาแล้วทำให้ความสามัคคีของสงฆ์แตกไป ไม่ต้องรักษาก็ได้


เป็นอันว่าในบางกรณีท่านทรงยกความสามัคคีของสงฆ์ขึ้นเหนือพระวินัยเลย
ความสามัคคีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการประพฤติปฏิบัติ
ไม่มีสิ่งใดนอกตัวที่จะเอื้ออำนวยต่อการประพฤติปฏิบัติ
เท่าสงฆ์หรือหมู่คณะที่สมานสามัคคี ที่ให้กำลังใจแก่กัน

การรักษาศีลเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างสามัคคี
สร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติธรรม

ที่อาตมาได้เคยเห็นมาทั้งในฝ่ายพระและฝ่ายแม่ชี
สิ่งที่จะทำลายหรือบั่นทอนความสามัคคีของหมู่คณะที่ง่ายที่สุด
คือการพูดการนินทา ระวังคำพูดให้มาก นี่เป็นเรื่องของศีล


เรื่องต่อไปก็คือเรื่อง อินทรีย์สังวร
ธรรมข้อนี้พระพุทธองค์ทรงย้ำมากทีเดียว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ให้สำรวม ให้ระวัง ต้องได้ทั้ง ๒ อย่างนะ ทั้งสำรวม ทั้งระวัง


หลวงพ่อชาเคยเล่าถึงพระเถระองค์หนึ่งที่มาเยี่ยมวัดหนองป่าพง
พรรษามากกว่าหลวงพ่อ
ตอนเช้าท่านนำพระไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน
องค์นี้สำรวมมาก แต่ไม่ระวัง เดินไปเรื่อย ๆ สำรวมมาก
ในที่สุดเดินเข้าคอกหมู มัวแต่สำรวมแต่ไม่ระวัง

ต้องได้ทั้ง ๒ ข้อ สำคัญที่ตา

ตานี่ให้ระวังเป็นพิเศษ ตากับหู

ออกไปข้างนอก นอกวัดให้ระวังตา
ไม่ต้องดูนั่นดูนี่ก็ได้
ไม่ดูมันไม่ตายหรอก ไม่เป็นไร
เราไม่ขับรถเองหลับตาก็ได้
นั่งในรถไม่ต้องดูอะไรก็ได้ เดี๋ยวมันจะกลายเป็นคราบอยู่ในใจ
จะมีอะไรค้างอยู่ในใจ เป็นอุปสรรคต่อการทำความสงบต่อไป

ถ้าจะดูก็ดูเพื่อให้เป็นธรรมะ
เช่น มองเห็นใครไม่นึกชมหรือติแต่แผ่เมตตา
ขอให้เขามีความสุข


รูปก็เป็นอาหารชนิดหนึ่ง เสียง กลิ่น รส สัมผัส
มันก็เป็นอาหารทั้งนั้น


เหมือนกับกาหารที่เป็นคำข้าว
ถ้าไม่สะอาด พอเราทานเข้าไป
มันก็จะมีผลเสียต่อสุขภาพ เราจะป่วย
อาหารคือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็เหมือนกัน

ถ้ารับมาโดยไม่มีการกลั่นกรอง โดยไม่มีการระมัดระวัง
มันจะเป็นการรับของสกปรกเข้ามาสู่ใจ
ใจจะป่วย ใจจะไม่สบาย เพราะฉะนั้น
ให้เราระวังอินทรีย์ เป็นผู้สำรวมระวัง


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ต่อไปก็ขอให้เราเป็นคนหมั่นฝึกสมาธิภาวนา
พระพุทธองค์เคยตรัสถึงเหตุที่พระพุทธศาสนาอาจเสื่อมไปในอนาคต
สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ความไม่เคารพ


ไม่เคารพต่อพระพุทธ ไม่เคารพต่อพระธรรม ไม่เคารพต่อพระสงฆ์
ไม่เคารพต่อสิกขา ไม่เคารพต่อสมาธิภาวนา
ไม่เคารพต่อการปฏิสันถารต้อนรับ


ท่านยกเรื่องสมาธิขึ้นมาเป็นเรื่องโดยเฉพาะต่างหากจากไตรสิกขา
ท่านให้ความสำคัญมาก

ทำไมเราต้องเน้นที่สมาธิมาก ๆ มีเหตุผลหลายประการ
ประการหลักที่สำคัญที่สุด คือ

ปัญญาซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลส มีความสงบเป็นบ่อเกิด
จิตที่ขาดความสงบไม่มีปัญญา
มีก็แค่ในระดับความคิดสามัญ
ซึ่งเป็นปัญญาที่สู้กิเลสไม่ได้


พอกิเลสเกิดขึ้น ปัญญาประเภทนั้นหายหน้าไปเลย
สู้กระแสตัณหาไม่ได้ พลังไม่พอ
สมาธิเป็นฐานของปัญญาอันเฉียบแหลม
ที่สามารถเห็นความเป็นจริงของความจริง

เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น ทะลุปรุโปร่งในความไม่เที่ยง
ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของสิ่งทั้งหลาย
จนเกิดความเบื่อหน่ายในการที่จะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น
มีผลคือการปล่อยวางความเป็นอิสระ ความสุขที่แท้จริง


แต่ในระหว่างที่เราปฏิบัติยังไม่ถึงขั้นนั้น
สมาธิมีบทบาทหรือมีความสำคัญอยู่อีกประเด็นหนึ่ง
คือมนุษย์ทุกคนมีสัญชาตญาณที่ต้องการความสุข
เราขาดความสุขไม่ได้เลย ไม่ว่าเราเป็นใครที่ไหนขาดไม่ได้

เราเป็นนักบวชก็ไม่พ้น
ถ้าเราไม่มีความสุขในชีวิตพรหมจรรย์ เราคงจะอยู่ไม่ได้นาน
คือไม่มีเครื่องกั้นสึกเลย

ความสุขเป็นเครื่องกันสึกที่ดีที่สุดนักบวชที่มีความสุขจะไม่คิดสึกเลย
นักบวชที่คิดสึกคือผู้ที่ไม่มีความสุข
หรือที่หวังว่าสึกแล้วจะมีความสุขมากนั้น

ผู้ที่มีจิตสงบ ผู้ที่ฝึกสมาธิภาวนาเป็นประจำย่อมมีความสุข
เมื่อมีความสุขแล้วก็พอใจ อิ่มใจ
แล้วผู้ที่อิ่มใจแล้วจะไปหาความสุขที่อื่นทำไม่
การที่มนุษย์ของหลงใหลมัวเมาในความสุขทางเนื้อหนัง
ก็เพราะเราขาดความสุขภายใน


สำหรับนักบวชเรานั้น มีความสุขภายในแล้ว
เราก็จะอยู่ได้นาน มีความหวังอยู่ตลอดรอดฝั่ง

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


มีครูบาอาจารย์ของอาตมาองค์หนึ่ง
เคยให้ข้อคิดที่อาตมารู้สึกว่ามีประโยชน์มาก
คือท่านเคยพูดอยู่เป็นประจำว่า

“เรื่องมรรคผลนิพพานนี่ไม่ต้องอธิษฐานก็ได้นะ
สร้างเหตุสร้างปัจจัยไปเรื่อย ๆ มันจะเป็นเอง
ต้องอธิษฐานอย่างเดียว
คืออธิษฐานขอให้ข้าพเจ้าได้ตายในผ้าเหลืองเถอะ แค่นี้ก็พอแล้ว”


อาตมาว่าดีนะ คือถึงจะยากมันก็ไม่เหลือวิสัยของใคร
แต่ถ้าอธิษฐานว่า จะต้องถึงมรรคผลนิพพานให้ได้ภายใน ๗ ปี
หรือ ๗ เดือน หรือ ๗ วัน อะไรทำนองนี้ จะเครียดอึดอัดใจมาก

ท่านว่าเอาแค่ให้เราตายในผ้าเหลืองก็พอแล้ว ทำได้

สำหรับแม่ชีต้องเปลี่ยนเป็นว่า ขอให้เราตายในผ้าขาว แม่ชีก็ทำได้
ลองนึกจินตนาการภาพว่าเรากำลังจะตาย
หมดแรงแล้ว ลืมตาดูผ้าขาว คลำศีรษะโล้น แหมจะปีติขนาดไหน
สบาย ตายได้เลย ภูมิใจ ถ้ายังไม่หมดกิเลสก็ต้องไปที่ดีแน่ ๆ

เพราะฉะนั้นเราเป็นแม่ชี อย่าเป็นแม่ชีชั่วคราวดีไหม ให้เป็นแม่ชีถาวร
เราจะพัฒนาสถาบันแม่ชีจริง ๆ นะ แม่ชีชั่วคราวใช้ไม่ค่อยได้
พลังน้อย คนนั้นสึก คนนี้สึก งานก็ไม่ต่อเนื่อง
การพัฒนาก็กระท่อนกระแท่น

การบวชไม่ใช่เรื่องเล่น
อย่าไปบวชเล่นเดี๋ยวเป็นบาป
บวชเอาจริงเอาจัง ให้มันตายเสีย
ไม่ได้หมายความว่าซังกะตายนะ
หมายถึงการตายจากกิเลสตัณหาทุกวัน
คือตายทางใจ ตายแบบนี้ยังไม่สำเร็จ
อย่างน้อยที่สุดให้ตายจากโลกฆราวาส สิ้นลมปราณในผ้าขาว


คือเป็นนักบวชนี่ ศีลบริสุทธิ์แล้ว
แย่ที่สุดก็ยังดีกว่าเป็นโยมนะ
จริงนะ แย่ที่สุดของนักบวชผู้ทรงศีล
ก็ยังสูงกว่าดีที่สุดของโยม

จำไว้ เพราะอะไร เพราะเป็นลูกพระตถาคต
คือเป็นนักบวช ถ้าศีลเรายังไม่ขาด ยังบริสุทธิ์
เราก็ยังมีโอกาสดีที่จะพัฒนาตัวเอง
ยังมีโอกาสดีที่จะเข้าถึงมรรคผลนิพพาน
เพราะวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการดับกิเลสอย่างเต็มที่


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


เรื่องนี้อย่าไปมองตัวเองในแง่ร้ายว่า
เรามีบุญน้อย วาสนาน้อย เราทำไม่ได้
คิดอย่างนั้นก็คือยังตกอยู่ในบ่วงแห่งมาร
เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความคิดผิด

โชคดีว่าเรามีตัวอย่างที่ดีที่จะค้านความคิดนี้ได้

พระองคุลีมาล ฆ่าคน ๙๙ คน ท่านก็ยังบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้
เวลาเรากลุ้มใจท้อแท้ว่าไม่ไหวแล้ว
บุญเราน้อย วาสนาเราน้อยเหลือเกิน
กรรมเก่าอะไรหนอมาขัดขวางอยู่เรื่อย
แหม เราน่าสงสารเหลือเกิน ตรงนี้แหละที่ต้องหยุด

หยุดแล้วถามตัวเองว่า

เคยฆ่าคนถึง ๙๙๙ คนไหม ก็คงไม่เคยหรอกนะ
ถ้าอย่างนั้นแสดงว่ายังมีหวัง ยังมีหนทางต่อไป


สมมตินะ สมมติว่าเกิดกลัดกลุ้มใจมาก ๆ
คิดว่าเราเป็นคนมืดจริง ๆ มืดแปดด้าน
จะทำอย่างไรดี สึกดีไหมหนอ
หรือจะ หยุด! ตั้งต้นใหม่ ไม่สึกหรอก มืดแปดด้านก็ไม่เป็นไร
เราจะพัฒนาให้มันมืดเจ็ดด้านเสียก่อน

เมื่อมันมืดเจ็ดด้านแล้ว ก็จะให้มันมืดหกด้านต่อไป
มืดหกด้านก็สว่างสองด้านแล้ว

ทำไปเรื่อย ๆ เราค่อยสลัดความมืด
ความสว่างก็จะเกิดขึ้นทดแทน เป็นเองของมัน
อย่าเชื่อมารเลย เชื่อพระพุทธองค์ดีกว่า
หมั่นพัฒนาจิตด้วยสมาธิ ภาวนา จะได้มีความสุข


หลวงพ่อชาเคยให้คำแนะนำแก่นักบวชว่า

มาบวชที่นี่นะ ไม่ต้องเป็นใครพิเศษ
ให้อยู่แบบตาสีตาสาธรรมดา ๆ เป็นคำแนะนำที่ดีมาก
ใครถามว่าเราบวชเป็นแม่ชีทำไม
เราบอกเขาอย่างนั้นดีไหม
บอกว่าบวชเพราะอยากอยู่เป็นตาสีตาสาธรรมดา
การไม่อยากเป็นใคร ไม่อยากมีอะไร
ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากเป็นอะไร
อยู่แบบธรรมดา ๆ นี่เป็นทางไปสู่ความสงบ
เมื่อเรามีอะไรแล้ว เป็นอะไรแล้ว จะทุกข์ทันทีเลย

หลวงพ่อชา บอกว่า อย่าเป็นอะไรเลย
พระก็ไม่ต้องเป็น แม่ชีก็ไม่ต้องเป็น
อะไร ๆ ก็ไม่ต้องเป็นทั้งนั้น เป็นอะไรแล้วก็หนัก
ทำแต่หน้าที่ของเราให้ดีที่สุดที่เราทำได้ในและขณะก็พอแล้ว


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ในสมัยนี้ พุทธศาสนาอยู่ในสภาพอ่อนแอ มีปัญหามากมาย
ฉะนั้น นักบวชหญิงต้องมาช่วยนักบวชชายแก้ปัญหาอีกแรงหนึ่ง

ผู้ชายไม่ไหวเสียแล้ว ต้องช่วยกัน ช่วยกันทำงาน
ช่วยตัวเองและช่วยคนอื่น ช่วยเป็นร่มเย็นแก่สังคม
ช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ ชีวิตอย่างนี้น่าภูมิใจ

ที่จริงชีวิตของนักบวชต้องมีทั้งให้ ทั้งได้จึงจะสมบูรณ์
เหมือนกับลมหายใจต้องมีทั้งเข้าทั้งออก ถึงจะสมบูรณ์


ไปอยู่วัดไหน สำนักไหน อย่าไปคิดแต่เพียงว่า
เราจะได้อะไรจากสถานที่นี้
ไม่ใช่ว่าไปอยู่สักพักหนึ่งแล้ว เออ ไม่อยู่เสียแล้ว
มาอยู่ที่นี่ไม่เห็นได้อะไรเลย ไปดีกว่า

อย่าไปมองแบบผู้บริโภควิจารณ์สินค้า
ควรถามตัวเองว่า เรามาอยู่ที่นี่ เราได้ให้อะไรไว้กับสถานที่นี้บ้าง
อย่าไปคิดแต่ว่าเราได้อะไรบ้าง
ต้องถามตัวเองว่า เราให้อะไรบ้าง


โดยปกติแล้วถ้าเราให้ เราก็ได้
คิดแต่จะได้อย่างเดียวก็ไม่ค่อยจะได้

ขอให้เข้าใจว่า ไปที่ไหนก็ตาม
ไม่มีที่ไหนสมบูรณ์ทุกอย่าง ไปที่ไหนมันก็ไม่ perfect
ถ้าคิดแต่อยากอยู่ในวัดหรือสำนักที่ดีที่สุด
สำนักในความฝัน จะทุกข์มาก
เพราะว่าทุกแห่งจะต้องมีบางสิ่งบางอย่าง
หรืออะไรสักอย่างที่ไม่ดี หรือไม่เป็นที่พอใจ


ถ้ายึดติดในภาพว่ามันควรเป็นอย่างไร

เราจะหงุดหงิดและรำคาญกับความเป็นจริงตลอดเวลา
จะไปสถานที่สวยที่สุด ดีที่สุด
มันจะต้องมีอะไรสักอย่างที่ไม่สวย ที่ไม่ดีที่สุด
วัฏสงสารมันเป็นอย่างนี้เอง
สถานที่นี้ก็เหมือนกัน สวย แต่ว่า….. สวยมาก

แต่ว่า….. โลกนี้ต้องมีคำว่า แต่ว่า พ่วงพันอยู่เสมอ

ที่นี่ดี แต่ว่ายังมีเสียงจากถนนรบกวนบ้าง

อาตมาเคยมาพักที่เรือนไทยโน่น
สวยมากแต่ว่ายุงเยอะ ตัวโต ๆทั้งนั้น
อะไรที่มันดีทุกอย่างไม่มีในโลก

นักปราชญ์ทราบความจริงข้อนี้แล้วย่อมไม่โกรธ
แต่ท่านค่อย ๆ แก้ในสิ่งที่แก้ได้
ส่วนที่แก้ไม่ได้จริง ๆ ท่านก็ปล่อยวาง


สำนักไหนมีความเคารพต่อวินัย
มีการสนับสนุนในด้านสมาธิและปัญญาอย่างถูกต้อง น่าจะดีพอ


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


เราเป็นนักบวช ต้องฝึกให้เป็นคนไม่หวังอะไร
วัตถุก็ไม่ต้องหวัง ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมันจะมาเอง
ให้ทุกสิ่งทุกอย่างพอดีพอใช้ อย่ากังวลเรื่องนี้
ฝึกเป็นคนสันโดษ


การเป็นผู้สันโดษมักน้อยนี่สำคัญมาก
แม่ชีได้เปรียบพระมากในข้อนี้
เพราะว่ามีเอกลาภน้อย
ญาติโยมเอาเงินเอาทองเอาของมาถวายน้อย

แม่ชีจึงมีโอกาสที่จะอยู่แบบมักน้อยสันโดษได้มากกว่าพระ
ของมีพิษมีภัยที่ชวนให้หลงมีน้อยกว่า


ทุกวันนี้ทางฝ่ายพระเสียเพราะเอกลาภ
วินัยซึ่งเป็นเครื่องป้องกันอันตราย
ท่านก็ไม่ค่อยเอื้อเฟื้อ เลยวุ่นวาย
มองดูแล้วไม่ต้องไปว่าท่านหรอก

แต่ถือว่าเป็นคติเตือนใจให้กลัวเอกลาภ
ให้มีทรัพย์สมบัติน้อยที่สุด ให้เรียบง่ายที่สุด


อะไรง่าย ๆ นี่แหละสงบ ลองเปิดย่ามตัวเองดู
มีอะไรบ้างไหมที่เราทิ้งได้หรือควรทิ้ง
มีอะไรบ้างไหมที่เราให้คนอื่นไปจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่เราใช้เอง

เข้าไปในกุฏิตรวจดูเสนาสนะของเรา
มีอะไรไหมที่เราไม่ได้ใช้วันนี้ มีอะไรที่เราจะให้คนอื่นได้ไหม

ถ้าเราเป็นแม่ชีบวชใหม่ มีของดี
ลองคิดว่า เออ เราพึ่งบวชใหม่ ใช้ของดี ๆ ไม่เหมาะเท่าไหร่
เราเอาไปให้ผู้ใหญ่ใช้ดีไหม พิจารณาอย่างนี้เราก็ได้บุญ

ถ้าเรามุ่งที่จะให้ ให้ให้ตลอด พอเป็นผู้ใหญ่แล้ว
มีแต่คนให้ ให้แก่เราก็ได้ คือได้ทีหลังตอนที่จิตไม่อยากได้เสียแล้ว


แต่ถ้าเรายังอยากได้ ต้องให้ต้องสละเพื่อขัดเกลากิเลส
พยายามลดปัจจัยสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง
ให้มันพอดีแก่ความต้องการในการประพฤติปฏิบัติเรียกว่าเป็น สัปปายะ
สัปปายะ คือสบาย มันสบาย
เพราะว่าพอดีแก่การอำนวยประโยชน์ต่อชีวิตพรหมจรรย์


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ฉะนั้น วันนี้อาตมาได้มีโอกาสมาให้ข้อคิด
เกี่ยวกับการพัฒนาสถาบันแม่ชีบ้างเล็กน้อย

และสุดท้ายนี้

ขอให้ย้ำว่า ระบบการฝึกอบรมของเราเป็นวงกลมหรือองค์รวม
ขอให้แม่ชีทุกรูปตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ
เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์สัตว์ทั้งปวง

และขอให้ความสำคัญที่ตัวปัญญา

ถ้าหากว่าเรามีปัญญา รู้จักคิด รู้จักพิจารณาว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่แน่
ชอบก็ไม่แน่ ไม่ชอบก็ไม่แน่
รักก็ไม่แน่ ชังก็ไม่แน่
อยากไปก็ไม่แน่ อยากอยู่ก็ไม่แน่
ดีก็ไม่แน่ ชั่วก็ไม่แน่

เอาแต่คำว่า ไม่แน่ มาบริกรรม
มาใช้เป็นเครื่องมือพิจารณาชีวิตของตัวเอง
ปัญญาจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ


การมองเห็นความไม่เที่ยงจะแจ่มแจ้ง
ฝึกสมาธิภาวนาทุกวัน เจริญสติทุกอิริยาบท
จิตจะพร้อมที่จะเกิดปัญญาอยู่ตลอดเวลา


จะมองอะไร จะมองไม่เหมือนคนอื่นเขา
และจะมองบางสิ่งบางอย่างที่คนอื่นเขามองข้ามหรือมองไม่เห็น
มองแล้วจะเกิดความสลดสังเวชในชีวิตที่เป็นทุกข์
และเกิด นิพพิทา ความเบื่อหน่ายในทุกข์ที่ลึกซึ้ง
เกิดความรู้ความเข้าใจในสัจจธรรม
เพราะจิตพร้อมที่จะรู้อยู่แล้ว พร้อมที่จะเห็นอยู่แล้ว


เนื่องจากได้รับการพัฒนาทางศีล
สมาธิเรียบร้อยแล้ว
วันนี้การแสดงธรรมคงจะพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติลงเพียงแค่นี้ เอวัง

:b8: :b8: :b8:

(ที่มา : “เรียนเพื่อรู้ รู้เพื่อวาง” โดย ชยสาโรภิกขุ (ฌอน ชิเวอร์ตัน Shaun Chiverton)
วัดป่านานาชาติ ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี :
ธรรมเทศนา ณ เสถียรธรรมสถาน วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕)

http://www.dharma-gateway.com/monk/prea ... /cs-08.htm

:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38509

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=22230


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2020, 10:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 16 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร