วันเวลาปัจจุบัน 28 เม.ย. 2024, 14:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2009, 13:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 10
สมาชิก ระดับ 10
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 ก.พ. 2009, 02:06
โพสต์: 811

อายุ: 0
ที่อยู่: มหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว


คนรวยมากๆนั้น
ถ้าเราตัดสินด้วยตาเปล่า
จะรู้สึกเหมือนพวกเขามีทุกอย่าง
เท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะอยากมี
ไม่ว่าจะเป็นรถคันยาว คฤหาสน์หลังโต
หรือกระทั่งเกียรติยศและอิทธิพล
ที่มากพอจะเปลี่ยนอะไรในวงกว้าง
ภายในชั่ววันเดียวที่พวกเขาต้องการ

แต่ความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาล่ะ?
ผมเคยอ่านสัมภาษณ์
แล้วก็เคยพบตัวจริงมา
สะท้อนให้เห็นว่าในส่วนลึกยังรู้สึกขาด
เท่าที่ผมรวบรวมแบบแปลกๆไว้ ก็เช่น


๑) บางคนขาดความรู้สึกปลอดภัย
วันๆต้องเปลี่ยนเส้นทางเข้าออกจากที่ทำงาน
เพราะกลัวพี่น้องด้วยกันจะส่งมือปืนมายิง


๒) บางคนขาดความรู้สึกว่าตัวเองมีค่า
เพราะเจอแต่ลูกน้องคนสนิทที่ปั้นมากับมือ
แย่งเก้าอี้ แย่งอำนาจ หรือรวมหัวกันด่าทอในห้องประชุม
และน่าเศร้าที่หลายคนในนั้นกระเด็นจากบัลลังก์จนได้


๓) บางคนขาดความรู้สึกว่ามีครอบครัว แม้จะมีลูกเมีย
รายหนึ่งแบ่งสมบัติให้ลูกไปเกือบหมด
ของตัวเองเหลือพอทำธุรกิจได้ต่อไป
แต่วันดีคืนดีธุรกิจเกิดปัญหา ใกล้ล้มละลาย
เขาเรียกลูกชายหญิงสามคนมาขอเงินบางส่วนคืน
เพื่อจะเอาไปประทังหนี้ที่ต้องจ่ายเดี๋ยวนั้น
แต่ลูกทั้งสามปฏิเสธ และบอกว่ามันเป็นปัญหาของพ่อ
พ่อก่อปัญหาแล้วไม่ควรทำให้พวกเราเดือดร้อน
เขามึนงงและไม่เชื่อหูตัวเอง
แต่จากนั้นสองปีเขาก็กู้วิกฤตได้ด้วยตนเอง
ทว่าเมื่อมีใครถามถึงลูกๆของเขา
เขาจะทำหน้าเฉยชา นัยน์ตาว่างเปล่า
และถามกลับว่า "ลูกไหน? ผมไม่เคยมีลูก"


๔) บางคนขาดความรู้สึกว่าตัวเอง "มี"
เพราะถ้ามีจริง ทำไมถึงรู้สึกว่าไม่มีอะไรเลย
บางคนต้องวิ่งไปขอความสุข
ขอความรู้สึกว่า "มี" จากใครบางคน
ที่ดูภายนอกเหมือน "ไม่มี" ในสายตาคนทั่วไป
ซึ่งก็ได้แก่พระสงฆ์องค์เจ้า
ผู้สละเรือน สละสมบัติ สละกรรมสิทธิ์ทุกอย่างทางโลก
เหลือเพียงผ้าพันกายกันอุจาด
กับที่อยู่อาศัยซึ่งชาวบ้านลงขันกันสร้างเป็นของกลางของสงฆ์
และอาหารแต่ละมื้อที่ชาวบ้านใส่บาตรให้ตามกำลัง


คนที่มีอะไรทุกอย่าง
แต่กลับรู้สึกว่าไม่มีอะไรสักอย่าง
ต้องเร่ขอความมีไปทั่วทุกทิศ
กับคนที่ไม่มีอะไรสักอย่าง
แต่กลับรู้สึกว่ามีครบทุกอย่าง
แถมเป็นฝ่ายแจกความมีให้กับใครต่อใครที่เข้ามาหา
สะท้อนให้เห็นว่าคนเรามีหรือไม่มี
ไม่ใช่เรื่องของการครอบครองวัตถุภายนอก
แต่เป็นเรื่องของการครอบครองสมบัติภายใน
ถ้าใครเข้าใจ และสามารถเข้าถึงได้
ก็ย่อมเป็นคน "มั่งมี" ที่ฉายชัดออกมา
ให้คนอื่นรู้สึกอยาก "ขอแบ่ง" บ้าง

ความมั่งมี หรือทรัพย์อันเป็นภายใน เป็นอย่างไร?
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธนสูตรที่ ๒
ใจความสรุปว่าท่านถือเหล่าอริยเจ้า
เป็นพวกที่มีทรัพย์จริง ไม่อาจเรียกว่ายากจนเลย
เพราะเป็นของติดตัว เป็นของทำลายไม่ได้
สะสมแล้วไม่อาจเป็นผู้มีใจแห้ง
และเป็นเครื่องยืนยันอย่างเป็นแก่นสาร
ว่าชีวิตของพวกท่านคุ้มค่าแล้ว

ทรัพย์อันเป็นภายในดังกล่าวนี้
แม้เหล่าอริยเจ้าก็มีไม่เท่ากัน
มากบ้างน้อยบ้างตามบารมีที่สั่งสมมา
และแม้ยังเป็นปุถุชน
ก็อาจมีทรัพย์เช่นเดียวกันนี้ได้
เพียงแต่อาจจะไม่คงทนถาวรเหมือนเหล่าอริยเจ้า
ผู้บรรลุธรรมแล้ว เที่ยงที่จะถึงนิพพานแน่แล้ว
มีอัธยาศัยในการสละมายาลวงตาแน่แล้ว

มาฟังที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับทรัพย์ภายในกันครับ


๑) ศรัทธา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา
คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต
ว่าด้วยการบำเพ็ญเพียรโดยชอบ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จึงเป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศรัทธา


๒) ศีล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
เป็นผู้เว้นขาดจากการผิดประเวณี
เป็นผู้เว้นขาดจากการโป้ปด
และเป็นผู้เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือศีล


๓) ความละอายต่อบาป
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีความละอาย
คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ละอายต่อการแปดเปื้อนด้วยอกุศลธรรมอันลามก
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือหิริ


๔) ความสะดุ้งกลัวต่อบาป
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว
คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
สะดุ้งกลัวต่อการแปดเปื้อนด้วยอกุศลธรรมอันลามก
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือโอตตัปปะ


๕) ความรู้อันเป็นสัทธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ทรงจำความรู้อันเป็นสัมมาทิฏฐิไว้มาก
ทรงไว้คล่องปาก ขึ้นใจ
แทงตลอดโดยดีด้วยความเข้าใจในธรรมทั้งหลาย
อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
แสดงการประพฤติธรรมได้ตลอดสาย
ทั้งในส่วนของศัพท์แสงและความเข้าใจ
บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือสุตะ


๖) น้ำใจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน
สละได้แม้การครองเรือน
มีอาการปล่อยแล้ว
มีฝ่ามืออันชุ่มด้วยความยินดีในการสละ ควรแก่การขอ
ปลาบปลื้มในทานและการจำแนกทาน
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือจาคะ


๗) ปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มีปัญญา คือ
ประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดความเกิดและความดับ
เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
นี้เรียกว่า ทรัพย์คือปัญญา


ข้าวของภายนอกจะบอกว่าคุณรวยหรือจนไม่สำคัญ
ถ้ามีอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้
พระพุทธเจ้าตรัสรับรองไว้เลยว่าจะรู้สึก "ไม่จน"
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นง่าย
นั่นคือถ้าคุณเป็นผู้มีศีล
คุณย่อมไม่เพ่งเล็งอยากได้ของใครด้วยอาการแห่งขโมย
ตราบใดไม่เป็นขโมย
ตราบนั้นคุณย่อมไม่รู้สึกว่าตัวเองยากจนกระทั่งสิ้นท่า


และถ้าคุณเป็นนักให้ทาน ชอบสละออก
คุณย่อมรู้สึกว่าตนเองมีพอจะให้
และในระดับของพระ
ที่ใจถึงขนาดสละเรือนได้แล้ว
แน่พอจะยกทรัพย์ทั้งหมดของตนให้คนอื่นได้แล้ว
จะมีอะไรอีกเล่าที่ให้ไม่ได้?


พอถึงจุดที่สามารถทิ้งอาการกระเสือกระสนเอาเข้าตัว
ธรรมชาติของใจคือจะเกิดความรู้สึก "พอ"
และความพอ ความไม่อยากเอาเพิ่มนั่นแหละ
คือความรู้สึกของเศรษฐีที่แท้จริง!


คัดลอกจาก : นิตยสารธรรมะใกล้ตัวฉบับที่ ๗๐ พฤหัสบดีที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๒‏

.....................................................
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มันถูกต้องอยู่แล้ว มีแต่ความเห็นของเราเท่านั้นที่ผิด (หลวงพ่อชา สุภัทโท)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2009, 17:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อริยทรัพย์ ๗

อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ ทรัพย์คือคุณธรรมประจำใจ อย่างประเสริฐ

๑. ศรัทธา ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในหลักที่ถือและในการดีที่ทำ

๒. ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติถูกต้องดีงาม

๓. หิริ ความละอายใจต่อการทำชั่ว

๔. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว

๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก

๖. จาคะ
ความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

๗. ปัญญา ความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด
คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้คิด รู้พิจารณาและรู้ที่จะจัดทำ

อริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐอยู่ภายในจิตใจ ดีกว่าทรัพย์ ภายนอก
เพราะไม่มีผู้ใดแย่งชิง ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ ทำใจให้ไม่อ้างว้างยากจน
และเป็นทุนสร้างทรัพย์ภายนอกได้ด้วย

ธรรม ๗ นี้ เรียกอีกอย่างว่า พหุการธรรม หรือ ธรรม มีอุปการะมาก
เพราะเป็นกำลังหนุนช่วยส่งเสริมในการบำเพ็ญ
คุณธรรมต่างๆ ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
ให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์
เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์มากย่อมสามารถใช้จ่าย
ทรัพย์เลี้ยงตนเลี้ยงผู้อื่นให้มีความสุข
และบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ได้ เป็นอันมาก

รูปภาพ

จาก...พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)

"ผู้มีอริยทรัพย์ย่อมไม่ยากจน" สมดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ใน
ธนสูตรที่ ๑ (องฺ. สตฺตก. ๒๓/๕/๕)


:b8: :b8: :b8:

สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณ ariyachon

ธรรมะสวัสดีค่ะ

รูปภาพ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 126 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร