วันเวลาปัจจุบัน 28 เม.ย. 2024, 23:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 20 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 17:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ความสุข
เป็นสิ่งที่หาได้ง่าย
สำหรับผู้มักน้อย สันโดษ
และมีความเพียร



ความสุขที่หาได้ง่าย


ด้วยอาศัยความมักน้อย สันโดษ และความเพียรพยายาม สม่ำเสมอ
เป็นไปติดต่อ ไม่ท้อถอยง่าย ความสุขมีแล้วตั้งแต่บัดนั้น
เมื่อประสบความสำเร็จและพอใจในความสำเร็จนั้น
จะเล็กน้อยปานใดก็ตาม ความสุขก็เพิ่มพูนขึ้นอีก
ความสุขจึงเป็นสิ่งหาได้ง่ายสำหรับผู้มักน้อย สันโดษ และมีความเพียร


ตามธรรมดาคนเราย่อมได้รับสิ่งที่ตนควรได้อยู่เสมอ
แต่ความทะยานอยากของเรา วิ่งออกหน้าอยู่เรื่อยเหมือนกัน
จึงรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความสำเร็จ



เมื่อหญิงเจ้าของเรือนคนหนึ่งปฏิเสธการถวายอาหารแก่พระเถระด้วยการพูด ว่า
"นิมนต์โปรดข้างหน้าเถิด"
ท่านสวนทางกับชายเจ้าของบ้าน เมื่อถูกถาม ว่าได้อะไรบ้าง
ท่านตอบว่า "ได้"
ความหมายของท่านคือได้คำว่า "นิมนต์ โปรดข้างหน้าเถิด"


ผู้มักน้อย ย่อมรู้สึก ว่า "ได้" ในสิ่งที่คนอื่นๆรู้สึกว่าไม่ได้อะไร
เหมือนคนใส่รองเท้านุ่มๆ แม้จะเดินบนพื้นขรุขระและแข็ง
ก็รู้สึกว่าพื้นนั้นนุ่มเดินสบาย ผู้สันโดษย่อมเป็นเจ้าแห่งความสุข
เมื่ออยู่คนเดียวนานๆ รู้สึกเหงาก็ทำใจให้รู้สึกยินดีในการอยู่คนเดียวนั้น
ความสุขก็เกิดขึ้นได้ มนุษย์เราสุขทุกข์อยู่ที่เราคิดเองเสียเป็นส่วนมาก
ความหนักอกหนักใจ หงุดหงิด ฟุ้งซ่านอันปรารภตนบ้าง ปรารภผู้อื่นบ้าง
เป็นสิ่งทำลายความสงบสุขของดวงจิต
บางทีมันเหมือนหินก้อนเล็กๆห้อยอยู่ที่ใจ ปลดไม่ออก
บอกใครๆได้แต่เขาช่วยปลดให้เราไม่ได้ เราต้องปลดออกเอง



ยิ่งอยู่ในโลกไปนานวัน
ใคร่ครวญพิจารณาความเป็นไปของมวลมนุษย์ในโลกมากเข้า
ยิ่งสลดสังเวช ระทดระทวยใจว่า
เหตุไฉนมนุษย์เราจึงต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในโลกถึงป่านนี้
ทั้งๆที่ความสุขก็หาได้ไม่ยาก
หากพวกเขาเพียงแต่ลดความทะยานอยากลง
มุ่งหน้าสู่สันติธรรมให้มากขึ้นแทนการมุ่งแสวงหาอามิส
อันเป็นสิ่งหลอกลวงให้เดินวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ


เมื่อไรมนุษย์เราหมุนกลับมาหาสันติธรรม
แทนการวิ่งเข้าหาวัตถุธรรมอันฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น
เมื่อนั้นเขาจะได้พบกับสันติสุขอันแท้จริงและยั่งยืน



ขอขอบใจคณะศิษย์ผู้ขวนขวายในกิจที่ชอบ
ช่วยทำให้หนังสือเล่มนี้ออกมาได้อย่าง ที่เห็นอยู่นี้
ขออวยพรให้คณะศิษย์มีความสุขสมบูรณ์โดยธรรม
ขอท่านผู้อ่าน ซึ่งถือว่าเป็นผู้สนับสนุนกิจการนี้ให้ยั่งยืน
พึงบรรลุถึงสันติธรรม ดำรงธรรม
และพึงช่วยกันส่องแสงธรรมให้สว่างรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไป


ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง
วศิน อินทสระ
2 ธันวาคม 2545

รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 17:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b48: 1.ความมักน้อย (อัปปิจฉกถา) และความสันโดษ (สันตุฏฐิกถา)


สวัสดี ครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพทุกท่าน ทุกวันอังคารเวลาประมาณ 2 ทุ่ม เศษๆ
ผม-วศิน อินทสระ จะมาพบกับท่านผู้ฟังในรายการวิเคราะห์ธรรม
ของมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย


ผมจะวิเคราะห์ธรรมไปตามตัวอักษร คราวนี้จะมาถึงธรรมอีกข้อหนึ่ง
ที่เป็นตัว ก. ไก่ คือ กถาวัตถุ

กถาวัตถุนี่แปลว่า ถ้อยคำที่ควรพูด
ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้ 10 ประการด้วยกัน คือ

ประการที่ 1 อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ควรจะพูดกันในเรื่องความมักน้อย ความปรารถนาน้อย

ประการที่ 2 คือถ้อยคำที่ชักนำกันให้มีความสันโดษ

ประการที่ 3 คือถ้อยคำที่ชักนำกันให้มีความสงัดกาย สงัดใจ

ประการที่ 4 คือถ้อยคำที่ชักนำไม่ให้มีการคลุกคลีด้วยหมู่

ประการที่ 5 คือถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร

ประการที่ 6 คือถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล

ประการที่ 7 คือถ้อยคำที่ชักนำให้ทำจิตให้มั่นคง หรือ ที่เรียกว่าให้เป็นสมาธิ

ประการที่ 8 คือถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา เรียกปัญญากถา

ประการที่ 9 คือถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลส เรียกวิมุตติกถา

ประการที่ 10 คือถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดความรู้ความเห็นในการที่หลุดพ้นจากกิเลส
วิมุตติญาณทัสสนะกถา


รวมเป็นกถาวัตถุ 10 ผมจะได้วิเคราะห์ กถาวัตถุ 10 นี้ โดยย่อบ้าง
โดยละเอียดบ้างเป็นบางหัวข้อ เท่าที่เวลาจะอำนวยให้พูดได้

รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 18:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ความมักน้อย

เริ่มจากข้อที่ 1 อัปปิจฉกถา
ถ้อยคำที่ชักนำหรือชักชวนกันให้มีความปรารถนาน้อย หรือมักน้อย
ความมักน้อยก็ตรงข้ามกับความมักมาก
ความมักมากท่านใช้คำ ว่ามหิจฉตา คือ ความมักมาก
คนที่เป็นคนมักมากเรียกมหิจโฉ คนมักน้อยเรียก ว่า อัปปิจโฉ
ในที่นี้ อัปปิจฉกถา อปแปลว่าน้อย ปิจฉะแปลว่าต้องการ
ไป สนธิกันก็เป็น อัปปิจฉะ แปลว่ามีความต้องการน้อย
มีความปรารถนาน้อย กถา ก็แปลว่าถ้อยคำ


ในวงสนทนา ไม่ว่าจะเป็นวงสนทนาของ พระสงฆ์
หรือวงสนทนาของชาวบ้าน ถ้าเผื่อเรามาชักชวนกันพูดถึงความมักน้อยนี้บ้าง
ก็ช่วยให้จิตใจเราสบาย ไม่ต้องการอะไรมาก


ความต้องการแต่น้อย หรือความปรารถนาน้อย
ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีมาก หรือ สมบูรณ์หรือเพียงพอ
แต่ถ้าเรามีความปรารถนามากเท่าไหร่ มันก็รู้สึกว่าไม่เพียงพอ
ความปรารถนาน้อยทำให้เรามีจิตใจสุขสำราญ



สมมุติว่า แม้เราจะเดินอยู่บนก้อนหิน หรือเดินอยู่บนกรวด
แต่ถ้าเผื่อว่าเรามี รองเท้าที่พื้นรองเท้านุ่มๆ
เราเดินอยู่บนก้อนกรวดเราก็รู้สึกว่าเราเดิน อยู่บนพื้นที่นุ่ม
แต่ถ้าพื้นรองเท้าแข็งกระด้างหนา ถึงเราเดินบนพื้นหญ้าที่นุ่ม
ก็รู้สึกว่ามันกระด้างแข็ง เพราะฉะนั้น อยู่ที่พื้นความต้องการของเรา
จะให้ความสุขหรือความทุกข์แก่เรา
ก็อยู่ที่เราต้องการมากหรือน้อย
ถ้าเราเป็นคนที่มีความต้องการน้อย
ความต้องการของเราเป็นศูนย์
เราได้มา 1 ก็ถือว่าเราได้เยอะแล้ว
ได้ 2 ก็ยิ่งมากใหญ่ ได้ 5 ก็ได้เยอะ แล้ว


แต่ถ้าความต้องการของเราเป็น 100 ได้มา 90 ก็ ยังรู้สึกว่ายังน้อยอยู่
ได้มา 80 ก็ยิ่งน้อยใหญ่ ยิ่งได้มา 10 ก็ยิ่ง น้อยเหลือเกิน
แต่อีกคนหนึ่ง ความต้องการเขาเป็นศูนย์
แม้เขาได้มา เพียง 5 เพียง 10 เขาก็รู้สึกว่าได้มากแล้ว



เพราะฉะนั้น คนที่มีความปรารถนาน้อย มีความต้องการแต่น้อย
จึงเป็นคนไม่ขาดแคลน มั่งคั่ง คือ สิ่งที่มีอยู่มันเหลือความต้องการ
ไม่ต้องการอะไรมากกว่านี้ เมื่อเราไม่ต้องการ สิ่งที่มีน้อยก็เหมือนมีมาก
แต่ถ้าเรา ต้องการมาก สิ่งที่มีมาก ก็เหมือนมีน้อย


เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปสนองความต้องการ
ต้องการเร่งเร้าให้เกิดความอยาก อยากแล้วก็สนองความอยาก
ต้องการแล้วสนองความต้องการอย่างนี้
กับการที่เราดับ ความต้องการมากมายนั้นเสีย
แล้วก็ต้องการแต่น้อย เราก็จะมีความสุขสบายมากกว่าเยอะเลย


ยิ่งในสมัยนี้ การทำงานท่านให้เงินเดือนน้อย
เราก็คิดว่าท่านให้เงินเดือนน้อยดีกว่าท่านไม่ให้เลย
ท่านลดเงินเดือนบ้างก็ดีกว่าท่านไล่ออก
ถ้าเรามีความต้องการอย่างนี้ เราก็จะเป็นเจ้าแห่งความสุขสำราญ
มีความสุขอยู่ได้ในหลายเรื่องหลายประการ



พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสุตันตปิฎก เล่ม 20
อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ความมักมากเป็นเหตุให้อกุศลเกิดขึ้น ทำให้กุศลเสื่อมไป
ส่วนความมักน้อยเป็นเหตุให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ทำให้อกุศลธรรมเสื่อมไป



ในเรื่องนี้ ความมักมากท่านได้ไขความว่า มหาโลโภ ก็คือโลภจัด
หนากว่าความไม่สันโดษเสียอีก หนักหนากว่าความไม่สันโดษ
เพราะความไม่สันโดษ ท่านใช้ คำว่าโลโภเฉยๆ ไม่มีคำว่ามหานำหน้า
ลองนึกเอาเองก็ได้ว่า คนโลภจัด กระหายอย่างแรง
ก็จะกระเสือกกระสนอย่างไม่คำนึงถึงศีลธรรม หรือผิดชอบชั่วดีแต่ประการใด
เมื่อใดความมักมาก ที่เรียก มหิจฉตาเกิดขึ้น บาปอื่นๆก็จะเกิดตามมา
เช่น ความริษยา ความโอ้อวด เล่ห์กระเท่ห์ คือ มายาต่างๆ
ตลอดถึงการประกาศคุณงามความดีของตนที่ไม่มีอยู่จริง
ซึ่งเป็นการหลอกลวงเป็นการโกหก
สิ่งเหล่านี้ก็จะตามมาด้วย เพราะว่า ไม่รู้จักพอ


เพราะฉะนั้น ท่านโบราณาจารย์ท่านจึง กล่าวไว้ว่า
ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ มหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำฉันใด
บุคคลผู้ มักมากก็ฉันนั้น ให้ปัจจัยเท่าไหร่ๆก็ไม่รู้จักพอใจ
ส่วนคนมักน้อย หรือ ความมักน้อย
จะมีลักษณะตรงกันข้ามกับความมักมาก
ปาปิจฉตา นี้อาจจะแปลตามตัว
ก็คือผู้ที่มีความปรารถนาน้อย ต้องการแต่น้อย


ในอรรถกถา อังคุตตรนิกาย
ท่านได้จำแนกบุคคลที่มีความปรารถนาน้อยเป็น 4 อย่าง คือ

1. เป็นผู้ปรารถนาน้อยในปัจจัย 4 ปจฺจยอปฺปิจฺโฉ

2. เป็นผู้ปรารถนาน้อยในธุดงคคุณ เรียกว่า ธุตงฺคอปฺปิจฺโฉ

3. เป็นผู้ปรารถนาน้อยในปริยัติ เรียกว่า ปริยตฺติอปฺปิจฺโฉ คือการศึกษาเล่าเรียน

4. เป็นผู้ปรารถนาน้อยในธรรมที่บรรลุ เรียกว่า อธิคมอปฺปิจฺโฉ



อันนี้มีความที่ค่อนข้างจะละเอียดลึกซึ้งอยู่สักหน่อย
ถ้าฟังเผินๆ อย่างนี้ อาจจะเข้าใจผิดได้
ต้องอาศัยคำอธิบาย จึงจะเข้าใจได้ถูกต้อง
และไม่ผิดจากความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้า
และพระโบราณาจารย์ทั้งหลาย ที่ได้แนะนำ
พร่ำสอนศิลปะแห่งการดำรงชีวิตแก่พวกเรา



1. เป็นผู้ปรารถนาน้อยในปัจจัย 4 ปจฺจยอปฺปิจฺโฉ

ท่านสอนให้รู้กำลังของผู้ให้ เรียกว่าทายก
และรู้กำลังของไทยธรรม คือของที่จะให้


ท่านอธิบายว่า แม้ไทยธรรมคือของที่เขาจะให้มาก
แต่ถ้าทายกต้องการจะให้แต่น้อย ก็พึงรับแต่น้อย
อย่างนี้เรียกว่ารู้จักกำลังของผู้ให้คือทายก


ถ้าไทยธรรมมีน้อย แต่ทายกต้องการจะให้มาก พึงรับแต่น้อย
อย่างนี้เรียกว่า รู้จักกำลังของไทยธรรม คือของที่เขาจะให้


ถ้าไทยธรรมมีมาก ทายกจะให้มาก
ผู้รับคะเนกำลังและความพอควรแก่ตน รับแต่พอประมาณ


นี่ก็เป็นสิ่งที่ดีมาก คือรู้กำลังของผู้ให้ รู้กำลังของของที่เราจะให้
ถ้า มีมากทั้งสองอย่าง ก็ให้รู้จักประมาณตัว
คะเนกำลังของตัว พอควรแก่กำลัง ของตัว และรับแต่พอประมาณ


ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือ คฤหัสถ์ หากว่าเป็นคนมักน้อยไม่โลภ
ก็จะเป็นคนน่าเคารพนับถือ น่ารัก น่าพอใจ น่าคบ
ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเป็นคนไม่เห็นแก่ได้
บางคนนอกจาก ไม่เห็นแก่ได้แล้ว ก็ยังเป็นคนเห็นแก่ให้ คือชอบที่จะให้



มีเรื่องขำๆอยู่เรื่องหนึ่ง มี ก. กับ ข. สองคนตายไป ไปเจอยมบาลเข้า
พญายม บอกว่าให้ไปเกิดใหม่เป็นมนุษย์
แต่มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ คนหนึ่งให้
เป็นคนที่คิดแต่จะให้ คือให้เป็นคนชอบที่จะให้
อีกคนก็เป็นคนที่จะได้รับ จากผู้อื่น ให้เลือกเอาว่าจะไปเกิดเป็นอะไร
คนหนึ่งก็รีบรับทันทีเลยว่าจะ ไปเกิดเป็นผู้ที่จะได้รับจากผู้อื่น
เป็นผู้สะดวกและมีบุญที่จะได้รับจากผู้อื่น


พญายมก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้น ให้ไปเกิดเป็น ขอทาน
แล้วถาม ข. ว่าจะเอาอย่างไหน ข. ก็คุกเข่านิ่งอยู่ ไม่พูดว่า อะไร
พญายมก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้น ให้ไปเกิดเป็นคนร่ำรวย
จะได้เป็นคนให้แก่คนที่ต้องการจะเกิดมารับ



นี่เป็นนิทานสนุกๆ ขำๆ แต่ก็เป็นคติสอนให้เรารู้ว่าคนที่คิดแต่จะรับจากผู้อื่นนั้น
ก็เป็นเหมือนกับขอทาน ส่วนคนที่จะให้ก็เหมือนกับร่ำรวย
หรืออย่างน้อยก็พยายาม ขวนขวายให้เป็นคนมีเพื่อจะได้ให้แก่ผู้อื่นได้


เพราะฉะนั้น คนที่มักน้อย ก็จะเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ได้
ถ้าจะรับจากคนอื่น ก็พยายามที่จะรับแต่น้อย ไม่ต้องการมาก



ผมขอแวะนิดหนึ่ง เมื่อผมพูดถึงไทยธรรม
ถ้าท่านทั้งหลายดูโทรทัศน์หรือฟัง วิทยุ
บางทีถ้ามีข่าวออกมาว่า
"เจ้าภาพได้ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ก็อนุโมทนา"
นี่ก็คือของที่จะให้ เขาเตรียมไว้ แล้ว เรียกว่าไทยธรรม
ถ้าพูดหรือเขียนว่าไทยทานนั้นไม่ถูกในที่นี้


แต่ความจริง ไทยทานก็แปลได้เหมือนกัน แปลว่าการให้สิ่งที่ควรให้
แต่ถ้า ไทยธรรมก็แปลว่าสิ่งที่ควรให้
เพราะฉะนั้นในที่นี้ถ้าเป็นจตุปัจจัย ต่อ ด้วยไทยธรรม ไม่ใช่ไทยทาน

รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 18:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


2. เป็นผู้ปรารถนาน้อยในธุดงคคุณ

ธุดงค์ แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลส
ในพุทธศาสนานี้ท่านบัญญัติธุดงค์เอา ไว้ 13 ข้อ
แต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงบังคับ ภิกษุรูปใดสมัครใจจะถือข้อใดก็ได้
ผู้ใดจะไม่ถือก็ไม่ต้องถือ ไม่ได้บังคับ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติโดยสมัครใจ


ท่านอธิบายว่า ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าเป็นผู้สมาทานธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่ง
แปลอีกทีหนึ่งว่า ไม่ต้องการจะอวดใคร
ท่านเล่าประกอบเอาไว้ว่า มีพระเถระรูปหนึ่งคือ มหากุมารกัสสป
เป็นผู้ถือ ธุดงค์ข้อที่อยู่ป่าช้าเป็นวัตร วัตรหมายความว่าเป็นประจำ



ภิกษุอื่นๆสักรูปเดียว ก็ไม่รู้เลยว่าท่านถือธุดงค์ข้อนี้
เพราะท่านปิด ไม่ต้องการอวด
บางคราวท่านก็อุทานออกมาด้วยความเบิกบานใจในคุณธรรมของท่านว่า


เราอยู่ในป่าช้าถึง 10 ปี ไม่มีใครรู้สักคนเดียว
เราเป็นโสสานิก แปลว่าผู้อยู่ในป่าช้าชั้นยอดทีเดียว


มีพระเถระพี่น้องกัน 2 รูป แยกกัน
พระเถระผู้เป็นพี่ถือธุดงค์ข้อฉันหนเดียว ในวันหนึ่ง เอกาสนิกังคธุดงค์
เมื่อลุกจากที่นั่งแล้ว ใครจะถวายของอีกก็ จะไม่รับในวันนั้น


วันหนึ่งพระเถระผู้น้องไปหาพี่ นำน้ำอ้อยงบ คือน้ำอ้อยที่เป็นแว่นเป็นแผ่นก้อน
ที่โยมอุปัฏฐากถวาย ถือติดมือไปด้วย ขอร้องให้พระพี่ชายฉัน
บังเอิญเวลานั้นพระที่เป็นพี่ฉัน เสร็จแล้ว
บ้วนปากแล้วพระพี่ชายจึงปฏิเสธไม่ฉัน
พระน้องชายก็ถามว่า ท่านถือธุดงค์ข้อเอกาสนิกังคะหรือ
เพียงเท่านี้ พระเถระผู้พี่ประสงค์จะปกปิดธุดงค์ของตัว
จึงบอกพระน้องชายว่า ถ้าอย่างนั้นเอาน้ำอ้อยงบมาเถิด
แล้วท่านก็ยอมฉันน้ำอ้อยงบนั้น บ้วนปากแล้วก็อธิษฐานธุดงค์ใหม่


เห็นไหมครับ พระเถระโบราณท่านปฏิบัติกันอย่างไร
ความจริงท่านถือธุดงค์ข้อนี้ มาเป็นเวลาถึง 50 ปีแล้ว และปกปิดเสมอมา
ท่านไม่ต้องการจะโอ้อวด ฝ่ายคฤหัสถ์ก็เหมือนกัน มีคุณธรรมอะไร อย่างไร
ปฏิบัติข้อวัตรอะไร อย่างไร ไม่จำเป็นที่จะต้องโอ้อวดกับใคร
เพราะบางทีเมื่อโอ้อวดแล้วก็ฟุ้งซ่าน
ทำคุณธรรมเหล่านั้นให้เสื่อมไปโดยง่าย


ส่วนมากผู้ปฏิบัติจริงๆ ก็มักจะปกปิดกัน ไม่ต้องการจะให้ใครรู้
ไปปฏิบัติอย่างไร มีคุณธรรมอย่างไร ให้ผู้ที่พบเห็นดูเอาเอง


รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 18:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


3. เป็นผู้ปรารถนาน้อยในปริยัติ

คือ ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าตนเป็นพหูสูตร มีความรู้มาก ในอรรถกถา
ท่านยกตัวอย่าง สาเกตติสสะเถระ
ท่านเป็นพหูสูตร แต่ก็ไม่ต้องการจะให้ใครรู้
จะเรียนหรือจะถามอะไรท่าน ท่านก็ว่าไม่มีเวลา
จนภิกษุทั้งหลายคงจะ รำคาญ
จึงถามท่านว่า เมื่อไหร่ท่านจะมีเวลาตายสักที
ท่านก็เลยละหมู่คณะ ไปอยู่ในที่แห่งหนึ่ง คงจะเป็นเรื่องที่ลังกานะครับ
ในพรรษานั้นได้ทำ อุปการะมากแก่พระทั้งหลายทั้งปวง
ทั้งพระใหม่ พระปานกลาง และพระเถระ
ถึงวันมหาปวารณา คือ วันออกพรรษาได้แสดงธรรม
เป็นที่จับอกจับใจของพระเณรและชาวบ้านยิ่งนัก


เรื่องทำนองนี้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ทรง ตำหนิ แล้วแต่อัธยาศัย
ถ้าหากผู้ใดมีความรู้แล้วช่วยกันบอกคนอื่นต่อๆ ไป ก็ดี เป็นประโยชน์
พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงสรรเสริญให้ช่วยกันให้ธรรมทาน
ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงยกย่องว่าเลิศกว่าทานอื่นๆทั้งปวง


ในเรื่องมักน้อยในปริยัติ ในสิ่งที่ได้เรียนได้รู้
บางท่านก็มีปริญญาเยอะ แต่ก็ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าตัวได้ปริญญาอะไรบ้าง
ฉะนั้นในการเขียน ชื่อ ในการพิมพ์นามบัตร
ท่านก็จะไม่บอกวุฒิอะไร มีแต่ชื่อที่อยู่ เพื่อต้องการจะปกปิดปริยัติของตัว
ไม่ต้องการจะโอ้อวดการเรียนรู้หรืออะไร ต่างๆ
เวลาเขียนหนังสือก็ไม่จำเป็นต้องลงวุฒิว่าได้อะไรมีอะไร
ลงแต่ชื่อ ไปเฉยๆ ทำนองนี้
คือ สาระที่ทำนั้นสำคัญกว่าวุฒิปริญญาต่างๆ
ที่จะห้อยท้ายหลังชื่อมายาวเหยียด
ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าพระโบราณาจารย์ของเรา
ได้ทำตัวอย่างมาให้ดูแล้ว ก็ควรจะดำเนินตามอย่างนั้น
แสดงให้เห็น เป็นผู้ที่รู้จักขัดเกลาจิตใจ
รู้จักว่าควรจะทำอย่างไร ควรจะเว้นอย่างไร

รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 18:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


4. เป็นผู้ปรารถนาน้อยในอธิคม ได้แก่ธรรมที่บรรลุ

อันนี้ไม่ได้หมายความว่าบรรลุโสดาบันแล้วพอแค่นั้น
พระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญ อย่างนั้น แต่ว่าต้องการจะปกปิดคุณที่ได้บรรลุ
เช่น เป็นโสดาบัน แล้ว เป็นอรหันต์แล้ว
ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าเป็นโสดาบันหรือเป็น อรหันต์
คือให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือคบหาสมาคมนั้นดูเอาเอง


มีพระเถระรูปหนึ่งเป็นพระอรหันต์ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
แต่ท่านประพฤติปอนมากเลย ปอนคือคร่ำคร่า
บาตรและจีวรของท่านคร่ำคร่าราคาน้อย
วันฉลองวิหาร ของพระเจ้าอโศกนั้นท่านอยู่ในฐานะสังฆเถระ คือ เป็นหัวหน้า
แต่คนทั้งหลาย เห็นท่านคร่ำคร่าเหลือเกิน จึงบอกให้ท่านออกไปข้างนอกเสีย


แต่ท่านก็มีความปรารถนาดี อยากจะสงเคราะห์พระเจ้าอโศกจึงดำดินลงไป
แล้วก็ไปผุดตรงที่เขากำลังถวายบิณฑบาตแก่พระสังฆเถระอยู่
ท่านเป็นพระมหาขีณาสพถึงอย่างนี้
ยังไม่อยากจะให้ใครรู้ว่าเป็นอรหันต์
อย่างนี้เรียกว่ามักน้อยใน อธิคม คือในสิ่งที่ได้บรรลุ


เพราะฉะนั้นการที่ได้บรรลุอะไรแล้วไปอวด
พระพุทธเจ้าท่านปรับอาบัติ แม้จะได้จริง
ถ้าเผื่อไม่ ได้จริง โอ้อวด ก็ยิ่งปรับอาบัติหนักถึงปาราชิกเลยทีเดียว


ชาวบ้านก็ควรจะงดๆประหยัดในเรื่องนี้กันบ้าง
ไม่โอ้อวดในสิ่งที่ตัวได้บรรลุ

ผมได้ทราบมาว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อม ราชวงศ์ชื่น นพวงศ์) วัดบวรนิเวศ ท่านล่วงลับไปหลายปีแล้ว
เมื่อยังทรงพระ ชนม์อยู่ก็มีความมักน้อยในความเป็นพระสังฆราช
ไม่ประสงค์จะให้ใครรู้ว่า พระองค์เป็นพระสังฆราช


บางทีคนมาหาท่านที่วัด บวรฯ มาเจอท่านถามว่าพระสังฆราชอยู่ที่ไหน
ท่านบอกอยู่กุฏิโน้น ไม่ได้บอกว่าท่านเป็น
สักพักหนึ่งท่านก็ไปที่นั่น แล้วคนก็รู้ว่า อ๋อ คนที่ เจอกันที่ลานวัดนั่นเอง


สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี มีคนไปกราบไปหาท่าน
ท่านถามมาทำไม ก็บอกว่ามากราบสมเด็จ
ท่านบอกว่าโน่น สมเด็จอยู่ที่โน่น ท่านชี้ไปที่พัดที่อยู่ใน ตู้
สมเด็จอยู่ที่โน่น นี่ไม่ใช่สมเด็จ นี่ขรัวโต
ท่านว่าอย่าง นั้น นี่ท่านก็มักน้อยในยศศักดิ์


ผมขอแถมอีกนิดหนึ่ง คนที่จะทำความดีอยู่ได้เสมอต้นเสมอปลาย
ก็เพราะว่าเป็นคนที่มักน้อย และจะทำได้ตลอดไป
แต่ถ้าไม่มักน้อย ก็จะทำได้ไม่ตลอด
เพราะต้องการจะทำความดีอวดคนอย่างเดียว
อะไรที่คนไม่เห็นหรือไม่เห็นผลทันใจ ก็จะไม่อยากจะทำ
แต่คนมักน้อยกลับตรงกันข้าม
คือ เมื่อจะทำความดีก็ไม่ต้องการให้ ใครรู้หรือเห็น
ส่วนผลที่จะได้หรือไม่ก็ไม่เดือดร้อน พอใจอยู่แต่ว่าได้ทำ
ความดีแล้วก็พอใจอยู่แต่ในเรื่องที่ได้ทำความดี
ใครจะรู้จะเห็นหรือไม่ก็ ช่างเถอะ ไม่เป็นไร


รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 18:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุกับคุณลูกโป่งด้วยครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 18:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


กถาวัตถุข้อที่ 2 สันตุฏฐิกถา

แปลว่าถ้อยคำที่ควรสนทนากัน เกี่ยวกับเรื่องสันโดษ


ถ้าจะตั้งคำถามก่อนว่า สันโดษกับมักน้อยต่างกันอย่างไร
ก็จะมีคำตอบโดยย่อว่า


มักน้อยก็เอาแต่น้อย รับแต่น้อย พอใจแต่น้อย
ถึงเขาจะให้มาก มีโอกาสจะได้มาก ก็เอาแต่น้อย ตามความสมควรแก่ตน



สันโดษก็จะมีอยู่ 3 ระดับด้วยกัน คือ


1. พอใจตามที่ได้ ได้มาเท่าไหร่ก็พอใจเท่านั้น
แต่ว่าต้องได้มาโดยสุจริต ถ้า ได้มาโดยทุจริตก็เป็นการเสียสันโดษแล้ว

อันนี้ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่าง มักน้อยกับสันโดษ
อย่างพ่อแม่จะให้เงินลูก ให้ 1,000 ลูกก็ รับ 1,000
ให้ 2,000 ลูกก็รับ 2,000 ให้ 3,000 ลูกก็รับ 3,000 เท่าที่ได้
แต่ถ้ามักน้อยจะไม่ใช่อย่างนี้
คือเห็นว่า 3,000 มากไปสำหรับ ตัว ไม่รู้จะเอาไปใช้อะไร ก็ว่ารับมากไป
ขอแค่ 1,500 เห็นว่าพอแล้ว สำหรับตัว เป็นคนไม่มักมาก
นี่ก็เรียกมักน้อย ต่างกันอย่างนี้


2. พอใจตามกำลัง คือมีกำลังเท่าไหร่
เท่าที่เราจะทำได้ก็พอใจเท่านั้นตามกำลังของเรา

คนเรามีกำลังไม่เท่ากัน บางคนเขาก็มีกำลังมาก
เขาก็มีโอกาสที่จะ แสวงหาอะไรได้มาก
บางคนมีกำลังน้อย เราดูกำลังของเราแล้ว
เรามีกำลังเท่า นี้ ได้เท่านี้ ก็ดีแล้วสำหรับเราที่มีกำลังเท่านี้
นี่ก็เรียกว่า ยินดี สันโดษตามกำลัง พอใจตามกำลังของเรา


ถ้าเผื่อ ไม่พอใจตามกำลัง
แล้วมันจะหันไปในทางทุจริตอยากจะได้เท่าคนอื่น
เห็นคนอื่นเขาได้มากก็อยากจะได้เท่าคนอื่น
ไม่นึกถึงกำลังของตัวเอง



ท่านลองนึกดู นักเรียนที่ทุจริตในการสอบก็เพราะว่าขาดสันโดษข้อนี้
ทุจริตจนเคยตัวตั้งแต่เริ่มเรียนหนังสือมาก็ทุจริตมาเรื่อย
อกุศลกรรมมันหนาแน่นขึ้น ทุกวันทุกปี พอปีสุดท้ายจะสำเร็จอยู่แล้ว
ปีที่ผ่านมาเขาจับไม่ได้ ไล่ไม่ทันก็พ้นไป
ปีสุดท้ายกรรมการสอบจับได้ ถูกไล่ออก น่าเสียดายเวลา
กำลัง เงินทองที่เสียไปในการศึกษาเล่าเรียน สูญไปเปล่า
นอกจากนี้ ก็มีประวัติด่างพร้อยติดตัวไปด้วย


ถ้าเผื่อว่าเขา รู้จักสันโดษตามกำลังของตน
คือว่ามีกำลังสติปัญญาเท่าไหร่ ก็สอบไปเท่านั้น ไม่ทุจริตในการสอบ
ตั้งใจให้มั่นคงแน่วแน่ มีปัญญาเท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น
ผลร้ายก็จะไม่เกิดขึ้นในชีวิต
เขาก็จะอาศัยความเพียรพยายามของตนเอง
จะนำตนไปถึงความสำเร็จในชีวิตได้
เขาก็จะพยายามทุกอย่างจนสุดกำลังความสามารถ
คนอย่างนี้ไม่ตกอับ ไม่ตกต่ำ
แม้จะพลาดพลั้งไปบ้าง ก็เป็นธรรมดาของชีวิตก็จะกลับตั้งตัวขึ้นได้ใหม่



ลองนึกดูว่าพวกสัตว์มันตกหลุมตกบ่อแล้ว
ก็ยังตะเกียกตะกายขึ้นมาเพื่อจะขึ้นจากหลุมจากบ่อจนสุดความสามารถของมัน


มนุษย์เรามีคุณสมบัติเหนือกว่าสัตว์อื่นๆเป็นจำนวนมาก
ทำไมจะไม่พยายามเพื่อจะเอา ชนะอุปสรรคของชีวิต
เมื่อได้พยายามจนสุดความสามารถแล้ว
แม้จะไม่ สำเร็จ ก็จะไม่มีใครติเตียนเราได้


คนที่ไม่พยายามตามกำลังของตัว
พวกนี้แหละที่จะถูกติเตียนว่าเป็นคนเกียจคร้าน
ไม่ใช้ความพยายามให้เต็มกำลังของตัว



เพราะฉะนั้น ข้อนี้ท่านก็สอนให้เราสันโดษตามกำลังของตน
กำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังความรู้
กำลังสติปัญญาของเรามีเท่าไหร่ เราก็ทำไปตามนั้น



3. พอใจตามสมควร หรือตามความเหมาะสมแก่ตัว
ท่านเรียกว่า ยถาสารุ ปปสันโดษ หมายความว่า อะไรที่ไม่สมควรแก่เรา
ก็ไม่ฟุ้งซ่านอยากได้สิ่งที่ ไม่สมควรแก่ตน


เรื่องนี้ต้องใช้ปัญญาหน่อย ตรองด้วยตนเองว่าอะไรควรแก่ตน
อะไรไม่ควรแก่ตน จะไปรับสิ่งที่ไม่สมควรแก่ตนเข้า
ก็จะนำภัยมาให้แก่ตัว เดือดร้อนภายหลังได้


แม้สิ่งที่สมควรแล้วท่านก็ยังสอนให้รู้จักประมาณ
เช่นอาหาร อาหารที่ควรกินไม่เป็น ของแสลง
แต่ท่านก็ให้รู้จักประมาณในการบริโภค
วาจาที่ควรพูดก็ต้องพูดแต่ พอประมาณ
ไม่พูดมากเกินไปจนเขารำคาญ ไม่พูดเกินเวลา อะไรทำนองนี้


รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 19:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สันโดษในการรับ

นอกจากสันโดษในการแสวงหา คือแสวงหาแต่ในทางสุจริตแล้ว
ท่านก็ยังสอนให้สันโดษในการรับอีกด้วย
แม้จะมีผู้ให้ ก็ไม่รับให้เกินประมาณจนน่าเกลียด
และยังแสดงอุปนิสัยของผู้โลภจัด


ท่านได้กล่าวไว้ว่า อติโล โภ ปปาปโก ความโลภจัดเป็นความเลวทรามอย่างหนึ่ง
แล้วก็ไม่รับของผิดกฎหมาย ไม่รับสินบน เรื่องการรับสินบนเรื่องคอร์รัปชั่นต่างๆ
ซึ่งใครๆก็ รู้อยู่ว่าเป็นของไม่สมควร แต่ก็ยังรับกันอยู่
ยังมีเรื่องมีราวกันอยู่ ให้หนังสือพิมพ์ลง ให้วิทยุไปออก
ให้โทรทัศน์ไปออกเป็นข่าวอื้อฉาว กันอยู่บ่อยๆ



สันโดษในการบริโภคใช้สอย

ท่าน สอนให้สันโดษในการบริโภคใช้สอย บริโภคปัจจัย 4 แต่พอประมาณ
ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป คือ ในสังคมของเรานี้
ปัจจัย 4 ก็มีอยู่จำกัด ถ้าเผื่อ หลายๆคนหรือคนจำนวนมาก
บริโภคไม่รู้จักประมาณ มันหมดไปสิ้นไป อีกหน่อยก็ไม่มีอะไรจะใช้
ไม่มีอะไรจะกิน รุ่นลูกรุ่นหลานทรัพยากรก็จะสิ้นไป
จนเขาไม่มีจะใช้ไม่มีจะกิน เขาก็จะตำหนิบรรพบุรุษได้ว่า อยู่กันอย่างไร
พัฒนาบ้านเมืองกันมาอย่างไร กินกันจนหมดไม่เหลือไว้ให้พวกเขาบ้างเลย


สันโดษไม่ใช่ความเกียจคร้าน

มีคนเข้าใจผิดอีกอันหนึ่งว่า ความสันโดษนี่เป็นการไม่ทำอะไร
หรือพวกเกียจคร้าน ความจริงไม่ใช่
สันโดษไม่ใช่พวกเดียวกับเกียจคร้าน หรือการไม่ทำอะไร


ในพระสูตรหลายแห่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนสันโดษ
และ มีความเพียรไว้ในที่แห่งเดียวกัน เช่น ในนาถกรณธรรมสูตร
สูตรที่ว่าด้วย การทำที่พึ่งหรือพึ่งตัวเอง และลักษณะตัดสินธรรมวินัย 8 ประการ
ว่าอะไร เป็นธรรมเป็นวินัย อะไรไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย
ท่านก็สอนเรื่องสันโดษเอาไว้ และสอนเรื่องความเพียรด้วยควบกันไป


ความสันโดษกับการพัฒนาสังคม

สังคมใดไม่มีสันโดษ สังคมนั้นก็เต็มไปด้วยความทุจริตคดโกง
ดีหรือเปล่า สันโดษ นี่เป็นตัวปราบคอร์รัปชั่นที่สำคัญ
เราจะไปปราบคอร์รัปชั่นกันโดยปลายเหตุ ก็ยาก
ถ้าเผื่อสอนให้คนสันโดษ ทำความสันโดษให้เกิดขึ้นในสังคม
ให้คนของเราสันโดษ คอร์รัปชั่นมันจะไม่มี


หัวใจของคนที่มีสันโดษเท่านั้น จึงจะเหมาะสำหรับปลูกฝังคุณธรรมอื่นๆ
สังคมจะพัฒนาไป ได้โดยยาก ถ้าคนของเราขาดสันโดษ
คนส่วนมากเข้าใจผิดคิดว่าถ้ามีสันโดษแล้ว ก็จะไม่พัฒนา
หรือทำให้การพัฒนาเป็นไปได้โดยยาก



คนที่มีความสันโดษจะ Active อยู่เสมอ เกียจคร้านไม่เป็น
ทำงานได้สม่ำเสมอ ตลอดวัน เพราะว่าเขาต้องการผลแต่น้อย
เขาทำเหตุมากคนที่มีสันโดษก็จะทำ ความดีได้ยั่งยืน ไม่จืดจาง
ทำความดีด้วยความสุจริต ความสันโดษจะหล่อ เลี้ยงจิตใจอยู่



มองในทางที่เกิดขึ้นในทางร้าย จากการไม่สันโดษ
ผมก็จะยกตัวอย่างที่พอมองเห็นได้ในปัจจุบัน
พวกขโมย พวกฉกชิง วิ่งราว ก็เป็นเพราะขาดคุณธรรมคือความสันโดษ
สังคมก็ต้องวุ่นวาย บางทีก็ ต้องฆ่ากัน
เพราะเหตุที่ว่าไม่พอใจในสิ่งที่สมควรแก่ตน
คนที่มีความรัก แล้วคนอื่นปฏิเสธไม่รัก ก็ไปฆ่าเขา ไปทำร้ายเขา
ก็ไม่เห็นดี อะไร ในกรณีอย่างนั้น ถ้าจะไปฆ่าคนอื่น
หรือไปฆ่าคนที่เรารักในทำนอง นั้น ฆ่าตัวเองเสียยังดีกว่า มันหมดเรื่อง
และก็ไม่เป็นปัญหากับใครมากนัก ไม่เดือดร้อนเท่าไหร่
แต่เพราะว่าคิดอย่างนี้ไม่เป็นแล้วก็ไปทำร้ายคนอื่น ก็เลยเดือดร้อน
สังคมเดือดร้อนเพราะคนพวกนี้เพียงไร พวกนี้เอาแต่ อารมณ์ เห็นกันอยู่แล้ว


เมื่อเป็นอย่างนี้ ทั้ง ปัจเจกชน ทั้งสังคมก็ต้องสะดุ้งหวาดหวั่น
เพราะมนุษย์ที่ไม่สันโดษ การลงทุนทางเศรษฐกิจ
ในลักษณะที่สูญเปล่า เยอะแยะไปหมดเลย
เช่น การสร้างรั้ว บ้าน ไม่ต้องมีก็ได้ถ้าไม่มีขโมย
การทำเหล็กดัด คนเราเวลานี้ใน กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
บ้านเมืองที่เป็นชุมชน มีคนอยู่กันมากๆ
สร้างบ้านแล้วก็ต้องทำเหล็กดัด มีลูกกุญแจหลายๆชั้น ต้องซื้ออย่างแพง


ถ้าไม่มีขโมย พวกขโมยนี้เป็นพวกไม่สันโดษ
ไม่พอใจในสิ่งของที่เป็นของของตน สิ่งเหล่านี้จะมีไว้ทำไม
แพงนะครับ ไม่ใช่ถูกๆ ถ้าเราคิดไปทั่วประเทศ
เราต้องลงทุนไปกับสิ่งเหล่านี้ตั้งเท่าไหร่
เครื่องมือในการป้องกันขโมยเยอะแยะไปหมดเลย
แล้วก็ต้องปราบปรามกันไปอีก คนหนุ่มในกรมตำรวจ
มาเที่ยวตามผู้ร้ายเสียไม่รู้เท่าไหร่


การทำสิ่งเหล่านี้ ก็เพื่อป้องกันทรัพย์สินให้ปลอดภัยจากคนไม่สันโดษ
ปีหนึ่งไม่ใช่น้อยทีเดียว แผ่นดินต้องเสียงบประมาณให้กรมตำรวจ
กรมราชทัณฑ์ เพราะคนพวกนี้ปีละเท่าไหร่ คุกก็ไม่พอขังคนแล้ว
ทราบข่าวว่าคนล้นคุก คนมากไปเท่าตัวสองเท่าตัว ล้นไปหมดเลย


ถ้าสำนวนพระพุทธเจ้าก็คล้ายๆว่า ไปยัดเยียดกันอยู่ในนรก
เพราะเหตุที่ว่าไม่สำรวมตน ไม่สันโดษ
ไม่มีความอดทน ไม่มีการฝึกตน



ถ้าไม่มีขโมย ไม่มีการเบียดเบียนกัน คนในสังคมมีคุณธรรมดี
การพัฒนาบ้านเมือง การพัฒนาสังคมก็เป็นไปโดยเรียบร้อย
รวดเร็วเพราะไม่มีอุปสรรค ไม่มีปัญหา
เราเสียเวลาไปกับการแก้ปัญหานี่ไม่รู้เท่าไหร่
รัฐบาลแต่ละรัฐบาล ขึ้นมาก็แก้ปัญหา มีแต่ปัญหา แล้วก็แก้ปัญหา
แก้ปัญหายังไม่หมดเลย ไม่ มีเวลาที่จะเดินก้าวหน้าไปได้
สังคมเราพัฒนาไปไม่ได้เพราะมันมีปัญหาเยอะแยะไปหมดเลย
การไม่มีปัญหานั่นแหละ จะทำให้เราพัฒนาไปได้


เพราะฉะนั้น ข้อหลักธรรมเรื่องสันโดษ มันจะช่วยแก้ไปได้เยอะเลย
แต่ว่าคนเราก็ ไม่ค่อยเข้าใจ และไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ และเข้าใจผิดเสียอีกด้วย


การพัฒนาประเทศหรือสังคม ปัจจัยที่สำคัญก็คือคนหรือทรัพยากรบุคคล
เราฝึกคน ของเราให้มีคุณธรรม มีสันโดษเป็นพื้นฐาน
เราก็จะได้ทรัพยากรบุคคลที่ดีมาก และการพัฒนามันก็ไปได้อย่างรวดเร็ว
สังคมของเราเวลานี้ เรากำลังขาด ทรัพยากรบุคคลอย่างมากเลย
เรามีคนดีไม่ค่อยพอในทุกๆวงการ
ถ้าเราไม่สามารถ ผลิตคนดีขึ้นให้เพียงพอแก่ความต้องการแล้ว
แม้ทรัพยากรอย่างอื่นจะมีมาก เพียงไร จะมีเพียงพอ
ก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาสังคมไปได้
ยิ่งกว่านั้นก็จะ กลายเป็นผลร้ายเสียอีก
ทรัพยากรเหล่านั้น จะถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนชั่ว
มาทำลายสังคมให้ทรุดโทรมย่อยยับ



จิตใจของคนใน สังคมนั่นแหละคือลักษณะที่แท้จริงของสังคมนั้น
การสร้างคนให้เป็นคนดีมี ประโยชน์แก่สังคม
เป็นงานหนัก ทำได้ยากมาก
ถ้าเปรียบการสร้างคน เหมือนกับการปลูกสร้างสิ่งอื่น บ้านเรือนหรือต้นไม้
คุณธรรมคือสันโดษจะเหมือน การปรับพื้นให้เรียบร้อยเหมาะสมกับการปลูกสร้างนั้นๆ


คุณธรรม ทั้งหลายจะงอกงามในหัวใจของคนที่มีสันโดษ
ขอให้เรารู้จักสันโดษกันให้ดี
ถ้าสร้างคนได้สำเร็จจะมีผลยั่งยืนกว่าการสร้างสิ่งอื่น
เพราะว่าจะมีการสืบต่อเชื้อสายส่งทอดกันไปตามลำดับ
ที่เราเรียกว่าเชื้อไม่ทิ้งแถว หรือลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น



การช่วยกันสร้างเยาวชนให้มีธรรม จะมีความหมายเท่ากับ
การสร้างอนาคตของชาติให้รุ่งเรืองดีงาม
แรกทีเดียวเราจะต้องสอนเขาให้รู้จักสันโดษเสียก่อน
ให้เขาประพฤติอยู่ในธรรม คือสันโดษ และความเพียรพยายาม
คือทั้งสองตัวนี้จะต้องควบคู่กันไป


ความพยายามที่ไม่มีสันโดษควบคุม จะเกินพอดี
คือมันจะมีความพยายามมากเกินไป บางทีก็ออกนอกทาง
คือเกินเหตุ หรือทำอะไรเกินเหตุ ไม่พอดี
เพราะฉะนั้น จำเป็นจะต้องเอาสันโดษมาควบคุมเอาไว้ก็จะนำไปในทางที่ไม่ผิด
ถ้า ไม่มีสันโดษแล้วมันจะนำไปในทางที่ผิดได้ง่าย
ล่อแหลมเป็นอันตรายได้มากที เดียว คล้ายๆกับรถที่วิ่งดีแต่ห้ามล้อไม่ดี
เกิดเบรกแตกขึ้นเมื่อไหร่ จะ วิ่งเลยขีดไปชนนั่นชนนี่
บังคับให้หยุดไม่ได้ มันจะวุ่นวายกันไปใหญ่เลย


เพราะฉะนั้น เมื่อมีคุณภาพดีแล้ว
เบรกต้องดีด้วย หยุดได้ในที่ที่ต้องการจะหยุด
ไม่ใช่วิ่งไปได้อย่างเดียว แล้วก็หยุดไม่เป็น
อันนั้นเป็นอันตราย มากกว่ารถที่วิ่งไม่ได้


ท่านจะสังเกตต่อไปได้ว่า ใน หมู่ผู้ใหญ่การแก่งแย่งแข่งดีกันในหมู่ผู้ใหญ่
จนถึงต้องทำลายล้างกัน ใส่ร้ายป้ายสีกัน การทุจริต การมิจฉาชีพต่างๆ
ที่ระบาดอยู่ในสังคมของเรานี้
จนถึงกับทำให้เรารู้สึกว่ามันเกิดสังคมพิการขึ้น และวุ่นวายกันไปหมด เลย


ภาษาทางสังคมเรียก ว่า Social disorganization สังคมพิการ
ก็เพราะหัวใจของคนเราพิการไป ก่อน มันขาดสันโดษ มุ่งเอาแต่จะได้
ไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดีอย่างไร ความเห็นแก่ตัวของคนมีอำนาจ
การกอบโกยฉวยโอกาสของพ่อค้า นักธุรกิจ
ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนส่วนมาก


ความ เร่าร้อนใจ เพราะโลภจัดไม่รู้จักพอ เท่าไหร่ก็ไม่พอ
กลายเป็นการมัวเมาในวัตถุ ทะเยอทะยานจนเกินกำลังความสามารถของตัว
ได้มาโดยสุจริตไม่ทันใจ ก็ ต้องลงมือประกอบการทุจริตต่างๆ
เพื่อสนองความอยากที่มันเผาลนจิตใจอยู่ ดำเนินชีวิตอย่างไร้เหตุผล
เพราะความโลภเข้ามาบดบังดวงตาคือปัญญาเสีย
เห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ
จึงทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตลงไป เพื่อแสวงหาสิ่งที่ไม่เป็นสาระ
ซึ่งตนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสาระ


อันนี้น่าเสียดาย เพราะว่า ขาดสันโดษนั่นเอง
ทำให้เสียโอกาส จับฉวยเอาแต่สิ่งที่ไม่เป็นสาระ
ว่าเป็น สาระในชีวิต เพราะความไม่รู้นี่เอง


รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2009, 19:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


คุณค่าที่แท้จริงของชีวิต

คนเราส่วนมากได้ละเลยคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต
ภาษาทางปรัชญาท่านเรียก ว่า Intrinsic Value คือ คุณค่าภายใน
คุณค่าที่แท้จริงของชีวิต และพะวง
หลงใหลอยู่กับคุณค่าอันรอง หรือคุณค่าภายนอก
คุณค่าปลอมของชีวิตที่เรียก ว่า Extrinsic Value


ถ้าจะถามว่าอะไรคือคุณค่าที่ แท้จริงของชีวิต
คำตอบก็คือ คุณธรรมหรือคุณงามความดี
จิตใจที่ได้รับ การอบรมให้ผ่องแผ้ว อุปนิสัยที่ดีงาม
ความกล้าหาญ และความซื่อสัตย์ นี่ คือคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต



ส่วนชื่อเสียง เกียรติยศ ความมั่งคั่งร่ำรวย
ลาภยศที่ระคนอยู่ด้วยบาปในสังคม ความยิ่งใหญ่ในวงศ์ตระกูล
ความสุขที่เจือด้วยความเพลิดเพลินใน อารมณ์ที่น่าใคร่ต่างๆ
ล้วนแต่เป็นคุณค่าปลอมของชีวิตทั้งนั้น


เป็นที่น่าเสียดายว่าคนส่วนมาก
พากันหลงใหลใฝ่ฝันอยากได้คุณค่าปลอมของชีวิต มากกว่าคุณค่าจริง
ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งมาจากไม่รู้ เพราะว่าไม่ได้ศึกษา หรือขาดผู้แนะนำที่ดี
หรือเพราะอุปนิสัยของเขาไม่เพียงพอที่จะรู้คุณค่าที่แท้จริงของชีวิตได้
ซึ่งเราจะต้องแนะนำพร่ำสอน ทำตัวอย่างให้ดู เป็นอยู่ ให้เห็น




คุณธรรมเป็นสิ่งที่สอนกันได้


คุณธรรม เป็นสิ่งที่สอนกันได้
และคุณธรรมนั้นหมายถึงความเลอเลิศของอุปนิสัยที่เรา
จะต้องปลูกฝังกัน สั่งสอนกัน แต่ต้องอาศัยเวลาหน่อย
ต้องทำด้วยความอดทน และใจเย็น


ผมขอเรียนว่า จิตใจของผู้ใดก็ตามที่ได้รับการหล่อหลอมด้วยคุณธรรมแล้ว
มีคุณธรรมหยั่งลงในจิตใจดีแล้ว
ถ้าเผื่อใครมาทำลายรื้อถอนคุณธรรมของบุคคลผู้นั้น
โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ก็จะเป็นบาปหนักทีเดียว


ผมขอยืนยันไว้ในที่นี้ว่า สันโดษเป็น คุณธรรมที่ประเสริฐ
เป็นไปเพื่อความสุขความสงบของชีวิต ทั้งแก่ปัจเจกชน
ทั้งแก่สังคมและประเทศชาติ
สันโดษไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาสังคมแม้แต่น้อย
และไม่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาตนด้วย
เพราะเราจะต้องมีความเพียร พยายามควบคุมอยู่ตลอดเวลา


ความไม่สันโดษต่างหากที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาชีวิตในการพัฒนาสังคม


นี่เป็นสันโดษที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของฆราวาส เกี่ยวข้องกับชีวิตของสังคม




ความสันโดษของสมณะ


ต่อไปจะพูดถึงความสันโดษของสมณะหรือนักบวช
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเหมือนกันในสมัยนี้
เพราะได้ยินเสียงพูดเสียงตำหนิกันอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ว่า
สมณะใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือย แบบหรูหรา
แบบไม่ใช่ชีวิตของสมณะที่ควรจะเป็น


ถ้าจะกล่าวถึงสิ่งที่จำเป็นของสมณะของนักบวช
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบวชในพุทธศาสนา ท่านกล่าวว่า


ภิกษุหรือพระเฉพาะที่มีบริขาร 8 ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่สันโดษอย่างยิ่ง
บริขาร 8 มีไตรจีวร คือผ้า 3 ผืน สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีด โกน
ประคดเอวหรือผ้ารัดเอว ที่กรองน้ำ นี่เป็นบริขาร 8 เป็นสิ่งที่จำเป็น
นอกจากนี้ที่จำเป็นที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับบางท่าน
ถ้าเผื่อมีความจำ เป็นจะเพิ่มขึ้นบ้างท่านก็ไม่ตำหนิ
แต่ถ้าไม่จำเป็น และเพิ่มขึ้นมาก ท่านก็ตำหนิว่าเสียสันโดษ


สิ่งที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นตามความจำเป็น เช่น


1. เครื่องลาดสำหรับเสนาสนะที่อาศัย เช่น พรม เสื่อ
หรืออย่างอื่นที่ใช้ประโยชน์ในทำนองเดียวกัน


2. เครื่องรักษาความปลอดภัย เช่น กุญแจ


3. ผ้าอาสนะหรือผ้ารองนั่ง จะทำด้วยพรมหรือเสื่อหรือหนังก็ได้
แต่เว้นหนังสัตว์ ที่ดุร้ายหรือที่ประชาชนรังเกียจ
เช่นหนังเสือ หนังจระเข้ เป็นต้น


4. เครื่องช่วยพยุงกายสำหรับภิกษุชรา เช่น ไม้เท้า


5. เครื่องช่วยอย่างอื่น เช่น น้ำมันสำหรับใช้ทาตัว
เมื่อหน้าหนาวหน้าร้อน หน้าหนาวผิวแห้งใช้น้ำมันได้
หน้าร้อนผิวแตกก็ใช้น้ำมันทาได้ ถ้ามีความจำเป็น


6. ร่มและรองเท้า


บางแห่งท่านกล่าวว่า ภิกษุผู้มีบริขาร 8 ท่านไปไหนท่านก็ใช้วิธีห่อมีด
คือมีด โกน บางครั้งก็ใช้คำว่ามีดน้อย ห่อมีดและเข็มไว้ในผ้ากรองน้ำ
แล้วเก็บ ไว้ในบาตร คล้องบาตรบนบ่า นุ่งห่มแต่จีวรและประคดเอว
ก็ไปไหนได้ตามสบาย เหมือนนกโผผินบินไป
มีแต่เพียงปีกสองข้าง ไม่ต้องกลับมาเอาอะไรอีก


ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว


มีคำอธิบายมากมายเรื่องสันโดษเกี่ยวกับเรื่องนักบวช
ผมจะนำมาเล่าให้ท่านฟังเฉพาะบางเรื่อง


ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับจีวร รับสันโดษ 3 อย่าง
ที่กล่าวมาแล้วก็ใช้ ได้เหมือนกัน สำหรับพระและฆราวาส
ที่ว่าสันโดษตามที่ได้ สันโดษตามกำลัง สันโดษตามสมควร
ทีนี้จะพูดไปแปลออกไปที่ว่าเกี่ยวกับจีวร สันโดษในการตรึก
คือคิดแสวงหาจีวรในกาลที่เหมาะสม คิดแสวงหาจีวรโดยบริสุทธิ์
ไม่ให้ความคิดที่เศร้าหมองเกิดขึ้นในการแสวงหาจีวร


ท่านยกตัวอย่าง ภิกษุรูปหนึ่งที่ท่านมีความสันโดษในการแสวงหาในการตรึก
ท่านเล่าไว้อย่างนี้


ภิกษุรูปหนึ่งถือผ้าบังสุกุล หรือใช้จีวรเฉพาะที่ได้จากการบังสุกุล
ไม่รับจีวร ที่ทายกถวาย วันหนึ่งท่านไหว้เจดีย์ที่เจติยบรรพตแล้ว
ท่านคิดว่าจีวรของ เราเก่านักแล้ว เราจะได้จีวรในที่มีภิกษุมาก
ท่านก็ไปยังมหาวิหาร พบเถระ ผู้ใหญ่
ก็ขอพักอาศัยอยู่ที่มหาวิหารกับพระเถระผู้ใหญ่


วันรุ่งขึ้น ก็ถือบาตรและจีวรมายังสำนักของพระมหาเถระ
เพื่อชวนพระมหาเถระไปเป็นเพื่อน พระมหาเถระถามว่ามีธุระอะไร
ท่านบอกว่า จะไปที่ประตูเรือน พระมหาเถระบอกว่าท่านเองก็จะไปเหมือนกัน


ทั้งสองจึงไปบิณฑบาต ไปยืนอยู่ที่ประตูของมหาโพธิ์
เป็นท่วงทำนองว่า ท่านชวนผู้ใหญ่ไปเป็นเพื่อน
ไปยืนที่ประตูมหาโพธิ์แล้วจะได้จีวรที่ชอบใจ จากผู้ใจบุญทั้งหลาย


เมื่อคิดดังนี้ ก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า
ความคิดของเราไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว ท่านจึงกลับ


ในวันรุ่งขึ้น ก็ไปสู่ที่อีกแห่งหนึ่ง ในวันรุ่งขึ้นก็ไปทีอีกแห่งหนึ่ง
พอรู้สึกตัวว่าความคิดของตัวไม่บริสุทธิ์ ก็กลับทุกแห่งไป


ใน วันที่ 4 ก็ไปหาพระมหาเถระอีก
พระมหาเถระคิดว่าการตรึกของภิกษุนี้คงไม่บริสุทธิ์เป็นแน่แท้
ถามปัญหาหลายข้อกับภิกษุนั้น แล้วก็พากันไปสู่ละแวกบ้าน


คืนนั้นเอง มีคนคนหนึ่งเป็นโรคท้องร่วงอย่างแรง
ถ่ายรดผ้านุ่งของตัว แล้วทิ้งผ้านุ่งนั้นไว้ที่กองหยากเยื่อ
พระเถระ เห็นผ้านั้นกองอยู่ มีแมลงวันหัวเขียวตอมอยู่
จึงประคองอัญชลีขึ้น เมื่อพระมหาเถระถามว่า
ทำไมจึงประคองอัญชลีแก่กอง หยากเยื่อ จึงตอบว่า


ท่านผู้เจริญ กระผมไม่ใช่ประคองอัญชลี แก่กองหยากเยื่อ
แต่กระผมประคองอัญชลี น้อมนมัสการพระทศพล
คือพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระบิดา ผู้ทรงสลัดสัตว์เล็ก สัตว์น้อย
แล้วถือเอาผ้าบังสุกุลที่เขาห่อสรีระหญิงทาสคนหนึ่ง
แล้วทิ้ง ไว้ในป่าช้า ทรงนำผ้านั้นมาใช้
ทรงกระทำกรรม (สิ่ง) ที่บุคคลทำได้ยากยิ่ง แล้ว


คือเคยมีเรื่องว่าพระพุทธเจ้าเคยทำอย่างนี้มา
ภิกษุพอเห็นเรื่องคล้ายๆทำนองเดียวกัน
เลยน้อมนมัสการพระพุทธเจ้า ว่า พระพุทธเจ้าทำได้ เราก็ควรจะทำได้


พระมหาเถระ คิดว่า ความตรึกของภิกษุนี้บริสุทธิ์จริงๆ
ภิกษุผู้ถือบังสุกุลเป็น วัตร คือถือเป็นประจำ ยืนอยู่ ณ ที่นั้นเอง
เจริญวิปัสสนาบรรลุผล 3 คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล
แล้วถือเอาผ้าผืนนั้นไปทำ จีวร
แล้วก็ไปสู่วิหารแห่งหนึ่ง ได้บรรลุอรหัตผล ซึ่งเป็นผลที่ 4


ท่านสันโดษในจีวร ในการตรึก เพียงแต่คิดอย่างนี้
ท่านก็รู้ว่าท่านคิดผิดหรือ คิดถูก ท่านคิดที่เป็นกุศลหรืออกุศล
ท่านคิดสมควรหรือไม่สมควรแก่ท่านผู้ ประพฤติสันโดษ


พูดถึงเรื่องการ บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช คือ ยาแก้โรค
ก็มีความสันโดษในการตรึก คือ การคิด
และในการแสวงหาในการรับ เป็นต้น
ในทำนองเดียวกันกับสันโดษในเรื่อง จีวรนี้เหมือนกัน



สันนิธิปริวัชนสันโดษ

ขอกล่าวให้พิสดารออกไปอีกนิดหนึ่ง
มีสันโดษอีกหลายอย่างที่ควรทราบในที่นี้ สำหรับผู้บวช
ท่านเรียกว่า สันนิธิปริวัชนสันโดษ
คือ สันโดษในการเว้นจาก การสะสมและไม่สะสม
คือเมื่อได้จีวรหรือบิณฑบาตมา ก็ไม่สะสมไว้มาก
เก็บไว้แต่เพียงพอใช้เท่านั้น
เมื่อจะสละให้ภิกษุหรือสามเณร ก็สละให้โดยไม่เห็นแก่หน้า คือไม่มีอคติ
ตั้งอยู่ในสาราณียธรรมคือธรรมที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
คือมีเมตตากรุณาแก่ผู้ควรสงเคราะห์ การสละให้โดยวิธีนี้
ท่านเรียกว่าวิวัชนสันโดษ
สันโดษในการเสียสละหรือสละโดยไม่เห็นแก่หน้าทำโดยเสมอภาค
ประพฤติสาราณียธรรมด้วยเมตตากรุณาแก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์


ปัตตปฏิคาหสันโดษ

อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า ปัตตปฏิคาหสันโดษ
แปลว่าสันโดษในการรับแต่พอประมาณ
อันนี้ผมได้กล่าวไว้บ้างแล้วในเรื่องความปรารถนาน้อย
หรือความมักน้อยว่า ถ้าเผื่อไทยธรรมของเขามีมาก
แต่เขาปรารถนาจะให้แต่น้อย ก็ควรรับแต่น้อย
ฉะนั้นจะไม่กล่าวซ้ำในที่นี้อีก


โลลุปปวิวัชนสันโดษ

การเว้นจากความลำเอียง เว้นการเลือกไปเฉพาะตระกูลที่มั่งคั่งเท่านั้น
แต่ไป บิณฑบาตตามลำดับที่ถึงเข้า เรียกว่า โลลุปปวิวัชนสันโดษ
คือสันโดษในการ บิณฑบาตที่ไปตามลำดับ ไม่เว้น
ไม่เลือกเฉพาะตระกูลที่มั่งคั่ง



อุปการสันโดษ


การระลึกถึงปัจจัย 4 ที่ว่า เราได้อาศัยปัจจัย 4 นี่แล้ว
จึงสามารถบำเพ็ญความดี นำตนออกจากทุกข์ได้ เรียกว่า อุปการสันโดษ


ปริมาณสันโดษ


การไม่รับบาตรที่ทายกบรรจุอาหาร จนเต็มบาตรแล้วนำมาถวาย
แต่เมื่ออนุปสัมบัน คือลูกศิษย์มีอยู่ พึงให้อนุปสัมบันนั้นรับแทน
เมื่ออนุปสัมบันไม่มี พึงให้ทายกนำไป
ส่วนตนรับแต่เฉพาะของที่พอนำไปโดยสะดวกเท่านั้น
เรียกว่า ปริมาณสันโดษ คือสันโดษด้วยการรู้จักประมาณ


การฉัน

การที่ภิกษุฉันอาหารและระลึกอยู่เสมอว่าเพื่อจะบรรเทาความหิว
เพื่อจะอนุเคราะห์พรหมจรรย์หรือระบบการบำเพ็ญคุณงามความดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมาย ถึงศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อออกจากทุกข์
ท่านเรียกว่าบริโภคสันโดษ สันโดษในเวลาบริโภค


ชาวบ้านก็ใช้ได้ ทำได้เหมือนกันใน ทำนองเดียวกันนี้
เพราะฉะนั้น สำหรับภิกษุสามเณร เวลาจะฉันอาหารท่านให้ ปัจจเวก
แปลว่า พิจารณาว่าอาหารนี้เราบริโภคไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อเมา
หรือเพื่อให้ร่างกายสวยงามเปล่งปลั่ง
แต่เพื่อจะให้ร่างกายนี้เป็นไปได้ จะได้ทำคุณงามความดี


การที่ไม่เก็บอาหารไว้ฉันให้เกินวันไป ให้ล่วงวันไป
ท่านเรียกว่า สันนิธิปริวัชนสันโดษ ได้กล่าวมาบ้างแล้ว


ความสันโดษที่ภิกษุควรพิจารณา


ผมจะพูดถึงเรื่องความสันโดษ ที่ภิกษุควรจะสำรวม
หรือควรจะพิจารณาในเรื่องของความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง
ท่านยกตัวอย่างเอาไว้ในตำราว่า


มีภิกษุรูปหนึ่งท่านชอบขนมที่ทำด้วยแป้ง
มารดาของท่านก็ต้องการจะทดลองการปฏิบัติของท่าน
ตั้งใจไว้ว่าถ้าเผื่อบุตรของเรารู้จักประมาณในการรับเรา
ก็จะถวายขนมตลอดพรรษา 3 เดือน


ในวันเข้าพรรษา มารดา ของท่านจึงถวายขนมอันหนึ่งก่อน
เมื่อถวายท่านก็ฉันหมด แล้วก็ถวายอีก อัน ที่ 2 อันที่ 3
ก็ปรากฏว่าภิกษุรูปนั้นฉันหมด ไม่ได้ห้ามโยมเลยว่า
พอแล้วโยม เอาแต่ฉันอย่างเดียว
มารดาก็รู้ว่าบุตรของเราเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
คิดว่าขนมที่ตั้งใจจะถวายตลอด 3 เดือน
บุตรของเราได้ฉันหมด แล้วในวันนี้ ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ถวายอีกเลย


นี่ คือคนมักมาก ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักประมาณจะเสื่อมจากลาภ
อันที่จริงก็ ควรจะยั่งยืน เขาตั้งใจจะถวายตลอดพรรษา
แต่ว่า ได้เห็นกิริยาอาการที่ฉัน ไม่รู้จักประมาณแล้ว
เขาก็เลยหมดศรัทธาที่จะถวาย
แม้แต่มารดาไม่ต้องพูด ถึงคนอื่น ก็จะยิ่งหนักขึ้นไปอีก


มีอีกเรื่องหนึ่ง ที่ท่านเล่าเอาไว้ คือเรื่องพระเจ้าติสสะมหาราช
ทรงถวายทานแก่ภิกษุที่ เจติยบรรพตทุกวัน
ชาวชนบททั้งหลายกราบทูลว่า ไฉนมหาราชจึงถวายทานอยู่ที่แห่งเดียว
ไม่ถวายแก่ภิกษุในที่อื่นบ้าง


พอในวัน ที่ 2 พระเจ้าติสสะมหาราช
ก็รับสั่งให้ถวายทานแก่สงฆ์ทั่วอนุราชบุรี
ไม่มีภิกษุรูปใดรู้ประมาณในการรับเลย
ของเคี้ยวของฉันที่ภิกษุรูปหนึ่งรับไว้ นั้น
ต้องให้คนยกถึง 2-3 คน ทีเดียว


วันรุ่งขึ้น พระเจ้าติสสะสั่งให้นิมนต์ภิกษุสงฆ์ที่เจติยรรพตวิหาร
มาฉันในพระราชวัง เมื่อภิกษุเหล่านั้นมาถึงพระราชวัง
พระราชาก็ตรัสว่า ขอพระคุณ เจ้าทั้งหลายให้บาตร
ภิกษุก็ถวายพระพรว่า อย่าเลยมหาบพิตร
ภิกษุทั้งหลาย จะรับอาหารโดยประมาณของตน
คือ ถ้าหากว่าให้บาตรไป คงจะบรรจุอาหารจนเต็มบาตร
หากบาตรอยู่ที่ภิกษุ เมื่อทายกนำมาถวาย
ท่านจะกำหนดประมาณของตนและ ห้ามเสียได้
เมื่อเห็นว่าเขาจะถวายมากเกินไป


เมื่อเป็นดังนี้ ภิกษุทั้งหลายก็มิได้มอบให้ไป
เมื่อรับอาหารก็รับแต่พอประมาณของตนเท่านั้น


พระราชารับสั่งว่า ดูเถิดท่านทั้งหลาย
เมื่อวานนี้ ภิกษุสักรูปหนึ่งก็ไม่มี ที่จะประมาณในการรับ
ของมากมายไม่มีอะไรเหลือเลย
แต่มาวันนี้ ท่านรับเอา แต่น้อย ของยังเหลือมากมาย
พระราชาทรงพระทัยในภิกษุเจติยบรรพตวิหาร
เพราะ ท่านเหล่านั้นรู้จักประมาณในการรับ
ไม่ทรงพอพระทัยภิกษุนอกจากนี้ที่ไม่รู้จักประมาณ


เรื่องทั้งสองเรื่องนี้ ท่านบอกว่า ปรากฏอยู่ใน ขุทกวิภังค์
อรรถกถาสัมโมหวิโมทนี ซึ่งเป็นอรรถกถาที่พระพุทธ โฆษาจารย์
ได้แต่งที่ลังกา เรียกว่า กถาวิภังคปกรณ์
เป็นการอธิบายพระ อภิธรรมส่วนที่ว่าด้วยวิภังค์


มีอรรถกถาอีกเล่ม หนึ่ง ที่พระพุทธโฆษาจารย์แต่งสมัยที่อยู่อินเดีย
ก่อนที่จะไปอยู่ลังกา คืออัฏฐสาลินี อันนี้อรรถกถาสังคณีของอภิธรรม
แสดงว่าเรื่องเหล่า นี้เกิดขึ้นที่ลังกาสมัย อรรถกถา
รวมความว่า อัฏฐสาลินี เป็น อรรถกถาของคัมภีร์สังคณี สัมโมหวิโนทนี
เป็นอรรถกถาของคัมภีร์วิภังค์



ภิกษุณี

อุบาสก คนหนึ่งในเมืองสาวัตถี
บอกอนุญาตถวายกระเทียมแก่ภิกษุณีแล้ว ก็สั่งคนรักษาไร่กระเทียมไว้ว่า
ถ้าภิกษุณีมาให้ถวายกระเทียมแก่ท่านคน ละ 2-3 จุก


ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุณีชื่อถูรนันทา แปล ว่านันทาหยาบ
พร้อมกับบริวารไปไร่กระเทียม พวกเธอเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณ
ได้ขนเอากระเทียมไปเป็นจำนวนมาก
คนเฝ้าไร่กระเทียมติเตียนภิกษุณีพวกนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนี้
สอนภิกษุทั้งหลายว่า ขึ้นชื่อว่าคนมักมาก
ย่อมไม่เป็นที่รักที่พอใจของใครเลย
แม้แต่มารดาบังเกิดเกล้าก็ยังไม่ อาจทำให้เลื่อมใสได้ คนอื่นไม่ต้องพูดถึง
พวกเขาจะทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส ไม่ให้เลื่อมใส
ทำคนที่เลื่อมใสแล้วให้เสื่อมความเลื่อมใสลงไป
และไม่อาจทำลาภที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
รักษาลาภที่เกิดขึ้นแล้วให้มั่นคง
ส่วนผู้ที่มักน้อยสันโดษ ก็ก่อให้เกิดผลตรงกันข้าม


พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องอดีตของภิกษุณี ถูรนันทาว่า
ภิกษุณีถูรนันทาไม่ใช่มักมากเพียงในกาลนี้เท่านั้น
แม้ในกาลก่อนก็มักมากแล้วเหมือนกัน แล้วก็ตรัสเล่าเรื่องในอดีตกาล


พราหมณ์คนหนึ่งในกรุงพารา ณาสีตายแล้วเกิดเป็นหงส์ทอง
ระลึกชาติได้เห็นภรรยาและธิดากำลังลำบาก รับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีพอยู่
ไปยังบ้านเดิมด้วยรักบุตรและภรรยา สลัดขนปีกให้ขน หนึ่งแล้วก็จากไป
นางพราหมณีและธิดา ได้นำขนปีกที่เป็นทองนั้นไปขายเลี้ยงชีพ
หงส์ทองได้ไปที่บ้านนั้นเสมอๆ
และทุกครั้งที่ไปก็สลัดขนปีกไว้ให้ จนครอบครัวนั้นมั่งคั่งขึ้น


ต่อมาวันหนึ่ง นางพราหมณี ได้พูดกับธิดาว่า
ธรรมดาสัตว์เดรัจฉานจิตใจไม่แน่นอน ต่อไปอาจไม่มาก็ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อมาอีกก็ช่วยกันจับแล้วถอนขนให้หมดเลย
ธิดานั้นไม่เป็นคนมักมาก
ก็ห้ามว่า อย่าทำอย่างนั้นเลย แต่มารดาไม่เชื่อ


เมื่อหงส์ทองมา ก็ได้จับและถอนขนปีกออกจนหมด
ขนที่นางถอนออกมาแล้ว กลายเป็นขนธรรมดา
เพราะเหตุที่ว่านางได้ถือเอาโดยพลการ ไม่ได้รับความยินยอมของหงส์
หงส์ไม่สามารถจะบินได้ นางพราหมณีก็ได้ขังเอาไว้ในตุ่มใหญ่
แต่ขนที่งอกมาใหม่ก็ไม่ได้เป็นขนทองอีกเลย เป็นขนนกธรรมดานี่เอง


นางพราหมณีให้ข้าวให้น้ำเพื่อให้ขนเป็นทอง มันก็ไม่เป็น
เมื่อขนปีกงอกดีแล้วหงส์ก็บินจากไป


นางพราหมณีก็เสื่อมจากลาภที่ตนควรจะได้อย่างสม่ำเสมอ
เพราะความมักมากของตัว


เรื่องนี้เป็นนิทาน ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องทำนองนี้ก็แล้วแต่
แต่จริงๆใน สังคมมนุษย์ของเราก็มีอยู่เป็นอันมาก
ที่มีลักษณะคล้ายๆกับนาง พราหมณี
ต้องประสบความวิบัติขัดข้องเพราะความมักมากของตัวเอง
ต้องการจะ ได้มากเกินไป เกินเหตุ เลยเสื่อมไปหมดเลย
สุภาษิตไทยบอกว่าโลภนักมักลาภ หาย ก็เข้าลักษณะนี้


ถ้าเป็นคนมักน้อยสันโดษ ก็จะเลี้ยงชีพไปได้ตลอดชีวิต
นี่พูดถึงนางพราหมณีนะครับ



พระพุทธเจ้าได้ทรงนำอดีตนิทานเรื่องนี้มา
แล้วก็ตรัสว่า ถูรนันทาสมัยนี้ ก็ คือพราหมณีสมัยนั้น
สมัยก่อนนางถูรนันทาก็อาศัยความมักมากของตน
เสื่อมจากทองมาแล้ว มาบัดนี้ก็เสื่อมจากกระเทียม
เพราะความมักมากเหมือนกัน


ภิกษุหรือภิกษุณีแม้จะได้ปัจจัยมากก็ควรประมาณในการรับ
เมื่อได้น้อยก็ควรสันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ ไม่ควรเป็นคนมักมาก



คนหลอกลวง


คนที่เป็นคนมักมาก มีปรารถนาชั่วอยู่เสมอ
เช่นเป็นผู้ไม่มีศีลไม่มีศรัทธา
ก็ปรารถนาให้คนทั้งหลายทราบอยู่เสมอว่าตนเป็นผู้มีศีลมีศรัทธา
ปรารถนาความยกย่องในคุณที่ไม่มีในตน อันนี้ก็จัดว่าเป็นคนหลอกลวง
นักพรตหรือนักบวชที่เป็นคนหลอกลวง
แม้เป็นผู้ไม่มีศรัทธาก็แสดงตัวว่า มีศรัทธาเสียเหลือเกิน ไม่เป็นขีณาสพ
คือเป็นคนไม่สิ้นกิเลส มีกิเลสอยู่มากมาย
ก็แสดงอาการดุจดังว่าเป็นขีณาสพ คือเป็นผู้ไม่มีกิเลส
ทำสิ่ง ต่างๆเพียงเพื่อตบตาคน เพื่อหลอกลวงคน
ดังพระอรหันต์ตุ่ม พระอรหันต์ย่ามใจ มีเรื่องเล่าอยู่ 2 เรื่องนะครับ



พระอรหันต์ตุ่ม

คนโกหกผู้หนึ่งฝังตุ่มไว้ในห้อง เมื่อคนมาหาก็เข้าไปหลบซ่อนเสียในตุ่ม
มนุษย์ทั้งหลายเข้าไปในห้องไม่เห็น
ก็ออกมาถามลูกศิษย์ว่าพระคุณเจ้าไปไหน ในห้องไม่มี
พวกศิษย์ก็บอกว่าท่านอยู่ในห้องนั่นแหละ ไม่ได้ไปไหน เลย


พวกมนุษย์ก็เข้าไปในห้องอีกครั้งหนึ่ง
ขณะนั้น คนลวงก็ออกมาจากตุ่มแล้ว
(เขาฝังตุ่มไว้ในห้องได้ เพราะเป็นกระท่อมดิน)
ก็เห็นพระคุณเจ้านั่งอยู่บนตั่ง ก็ว่าพระคุณเจ้าเมื่อสักครู่นี้เอง
พวกข้าพเจ้าเข้ามาไม่เห็นพระคุณเจ้าจึงออกไป ท่านไปไหน


คนหลอกลวงก็แสดงอาการดุจดังขีณาสพ คือผู้สิ้นกิเลส
บอกว่าสมณะทั้งหลายย่อมจะไปสู่ที่อันตนปรารถนา



อรหันต์ย่านไทร


มี อีกเรื่องหนึ่ง มีสมณะหลอกลวงอีกผู้หนึ่ง อยู่ในบรรณศาลา
ใกล้ภูเขาลูก หนึ่ง ข้างหลังบรรณศาลาก็มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง
ย่านของมันก็ยื่นออกไป ไกล ปลายไปจรดดินแห่งหนึ่ง
มนุษย์ทั้งหลายไปหาตามทางเดิน ถึงบรรณศาลาก็ นิมนต์
คนโกหกเขาก็ลงทางย่านไทร

รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 13:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b48: 2. ความสงบ (ปวิเวกกถา)

“ถ้าเราอยู่กับความวิเวกได้
อยู่กับความสงบสงัดได้
เราจะมีความสุขอย่างยิ่ง”



ความสงบ

สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพทุกท่าน
นี่คือเสียงธรรมจากมหาวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัย
รายการนี้เป็นรายการวิเคราะห์ธรรม ซึ่งดำเนินรายการโดย
ผม - วศิน อินทสระ ผมจะมาพบกับท่านผู้ฟังทุกวันอังคาร
เวลายี่สิบนาฬิกา เศษๆ ทางสถานีวิทยุพล.ม.2 963
รายการนี้ได้ดำเนินมาครบ 2 เดือนพอดี ครั้ง นี้เป็นครั้งที่ 9
เพราะว่าเดือนนี้มี 5 ครั้ง
ผมได้พูดถึงเรื่องกตัญญู กตเวที มาเป็นเรื่องแรก
เรื่องต่อมา เป็นเรื่องของความมักน้อย ความสันโดษ
เกี่ยวกับกถาวัตถุ ผมจะพูดธรรมะตามตัวอักษร
วันนี้ยังเป็น อักษร ก.อยู่ ตอนนี้พูดเรื่องกถาวัตถุ 10
พูดมาได้ 2 ข้อแล้ว คืออัปปิจ ฉกถา
ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย มักน้อย
และสันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำกันให้มีความสันโดษ
ยินดีในทางสุจริต ยินดีตามที่ได้ ตามที่มี
ตามที่เป็น ตามกำลัง ตามสมควร
วันนี้จะเริ่มหัวข้อใหม่ เป็นกถา ที่ 3 ของกถาวัตถุ คือปวิเวกกถา
ปวิเวกก็คือวิเวกนั่นเอง


ผม ได้พูดอยู่เสมอกับใครต่อใครที่เขารู้สึกเหงา รู้สึกว้าเหว่
รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ค่อยได้
บอกว่าที่จริงแล้วความวิเวก ความสงัด เป็นสหายที่ ประเสริฐของเรา
ถ้าเราอยู่กับความวิเวกได้ อยู่กับความสงบสงัดได้
เราจะมีความสุขอย่างยิ่ง หรือว่าอยู่ได้ในสถานการณ์ทุกอย่าง
แม้จะอยู่ในที่วุ่นวายบ้าง แต่ถ้าจิตใจของเราไม่ค่อยวุ่นวาย ก็อยู่ได้
ถ้าอยู่ในที่วิเวก ในที่สงบสงัด ถ้าอยู่คนเดียวได้
นึกถึงพระที่ท่านอยู่ในป่ารูปเดียว ท่านอยู่ได้อย่างไร
ท่ามกลางความเงียบสงัด ท่ามกลางสิงสาราสัตว์ต่างๆ ท่านอยู่ได้


บางทีเราอยู่บ้าน อยู่คนเดียว อยู่ในที่ซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ติดๆกันเยอะแยะ
แต่บางคนก็อยู่คนเดียวไม่ค่อยได้ เพราะไม่คุ้นกับความวิเวก


ที่จริงความวิเวก เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เรามาก
อย่างที่ท่านพูดถึงวิเวก 3 ก่อนที่จิตจะสงบ เราก็ได้กายวิเวกก่อน



กายวิเวก คือความสงัดทางกาย
ร่างกายที่ตัวเราได้อยู่ในที่ที่สงบสงัด ไม่มีสิ่งรบกวน
ไม่มีสิ่งที่จะมาทำให้วุ่นวายหรือไม่คลุกคลีกันจนวุ่นวาย
อย่างนี้ก็ได้ความสงัดทางกายในการปฏิบัติธรรม หรือในการศึกษาเล่าเรียน



เด็กๆ ที่จะเรียนหนังสือ ก็ต้องการความเงียบ
ถ้ามีเสียงมารบกวน เสียงนี่เป็นอันตรายกับความสงบ
เด็กก็รู้สึกไม่สบายที่จะดูหนังสือหรือทำงานให้เป็นสมาธิ
ฉะนั้นเวลาที่จะทำงานให้ประณีตก็ต้องการความวิเวก
ความสงบ และ สบาย นี่คือกายวิเวก
ได้เสนาสนะที่เหมาะสม ที่จะทำสิ่งนั้นๆ เรียกว่า ให้เสนาสนะสัปปายะ


คำว่าสบายในภาษาไทย ก็มาจาก สัปปายะในภาษาบาลีนี่เอง
สัปปายะไม่ได้หมายความว่าสบาย สบายแล้วก็นอน ไม่ใช่อย่างนั้น
แต่หมายความว่ามันเหมาะสม เป็นสถานที่ เป็นเสนาสนะ ที่เหมาะสม
ในการที่จะทำกิจที่กำลังทำอยู่เวลานั้น อย่างนี้ก็เรียกว่าเสนาสนะสัปปายะ



คนที่จะศึกษาเล่าเรียน คนที่จะทำงานให้ ได้ดี
คนที่จะทำสมาธิวิปัสสนา คนที่จะทำจิตใจให้สงบ
ถ้าได้เสนาสนะที่ดี เป็นสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้ง่ายขึ้นดีขึ้น นี่ก็ได้กายวิเวก


เมื่อได้จิตวิเวก ความสงบจิต ความสงัดจิต อันนี้ความหมายโดยธรรมสามัญ
โดย ปริยายเบื้องต่ำ ก็คือจิตสงบพอที่จะทำอะไรได้
ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถูกนิวรณ์ รบกวนมากน


แต่ถ้าปริยายเบื้องสูง ท่านก็หมาย ถึงสมาธิในระดับฌาน
ได้ฌานในระดับต่างๆ จิตสงบดิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว
ท่านเรียกว่าฌาน มีอีกวิเวกหนึ่ง คือ อุปธิวิเวก
อุปธิในที่นี้ หมายถึงกิเลส สงัดจากกิเลส
หมายความว่า จิตใจห่างจากกิเลส พ้นจาก กิเลส
ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ซึ่งตัดกิเลสได้เด็ดขาดเป็นเรื่องๆ ไป
เป็นข้อๆไป จนตัดได้หมดสิ้น ห่างไกลจากกิเลส เป็นอุปธิวิเวก



นี่คือความหมายของวิเวก หรือปวิเวก ปวิเวกกถา
เราชักนำกันให้พอใจในความสงบสงัด
ไม่พอใจในการคลุกคลีโดยไร้ความหมาย หรือไร้ประโยชน์
คลุกคลีกันเกินเหตุ คลุกคลีกันโดยไม่จำเป็น
ซึ่งในหัวข้อต่อไปคือหัวข้อที่ 4 อสังสัค คกถา
คือ พูดจาชักนำกันในการที่จะไม่ให้คลุกคลี
ด้วยหมู่คณะกันเกินเหตุ หรือ ไม่จำเป็น


หัวข้อที่ผมจะขยายในที่นี้ จะขยายตามแนวของพระสูตร
ซึ่งเห็นว่าดีมาก เรียกว่าวิวิตตสูตร เป็นวิเวก 3 ของภิกษุ



คำ ว่าภิกษุ ท่านผู้ฟังโปรดทราบว่า พระพุทธเจ้าเวลาแสดงธรรม
ท่านกล่าวถึง ภิกษุ แต่โดยใจความจริงแล้วหมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหมด
อันนี้ผมไม่ได้ พูดเอาเองนะครับ เป็นนัยอรรถกถา
เช่น ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร ท่านอธิบายถึงคำว่าภิกษุ
ขยายความเป็นว่า หมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหมด
คือ ใครปฏิบัติในสติปัฏฐานนี้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าเป็นภิกษุ
ภิกษุในความหมายว่า ผู้ทุบ ผู้ทำลายกิเลส ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ
ภิกษุตามความหมายโดยความ หมายที่แท้จริง ไม่ใช่โดยรูปแบบ

ภิกษุทั่วๆไปก็มี ภิกษุโดยรูปแบบบ้าง ภิกษุในความหมายที่แท้จริงบ้าง
บางท่านก็มีทั้ง สองอย่าง คือ ท่านมีรูปแบบเป็นนักบวช นักพรต เป็นภิกษุ
และท่านมีความหมายจริงๆ ด้วย คือท่านเป็นผู้มีปฏิปทาในการทุบกิเลส
ทำลายกิเลส เห็นภัยในสังสารวัฏ


ในวิวิตตสูตร คัมภีร์อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 533
พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า

1. ภิกษุเป็นผู้มีศีล ละความทุศีล สงัดหรือห่างไกลจากความเป็นผู้ทุศีลนั้น
2. เป็นสัมมาทิฏฐิ ละมิจฉาทิฏฐิ เป็นผู้ห่างไกลจากมิจฉาทิฏฐินั้น
3. เป็นผู้สิ้นอาสวะ ละอาสวะได้ ห่างไกลจากอาสวะนั้น

นี่คือปวิเวก ความสงัดของผู้ปฏิบัติ
ผู้เช่นนี้แหละพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นผู้ถึงความเป็นเลิศ
ถึงสาระอันบริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในธรรมอันเป็น สาระ

เปรียบเหมือนคหบดีชาวนา เมื่อข้าวสาลีในนาสุกดี แล้ว
เก็บเกี่ยว ขนเข้าลาน นวด เอาฟางออก
รวมข้าวเปลือกไว้เป็น กอง ฝัดข้าว
ซ้อมข้าวเอาแกลบออก เหลือแต่ส่วนที่เลิศ


คือเม็ดข้าวสาร สะอาดหมดจด เป็นสิ่งมีแก่นสาร
คือมีสาระในที่จะหุงและบริโภค


ผมจะขอขยายความในแต่ละข้อต่อไป


ข้อ 1 คือ ห่างไกลจากความทุศีล ทุศีลคือไร้ศีล ไม่มีศีล
แล้วก็มาเป็นผู้มีศีลมีธรรม

การมีศีลมีธรรมนั้นทำให้รู้สึกว่าปลอดภัย
ไม่ต้องระแวงว่าใครจะทำร้าย หรือใครจะโจทก์ท้วง
ชี้หน้าตำหนิในข้อบกพร่องเกี่ยวกับศีลหรือความประพฤติ
ทำให้โปร่งใจไม่อึดอัด ไม่กังวลหรือระแวงผู้อื่นจนเกินเหตุ
เพราะว่ามองไม่เห็นข้อบกพร่องของตน


ท่านจะสังเกต ว่าคนที่มีความบกพร่องหรือคนที่ทำความผิด
พอเดินไปผ่านกลุ่มคน ถ้าเห็นเขา ซุบซิบกัน
ก็รู้สึกระแวงว่าเขาจะว่าตัวหรือเปล่า เพราะว่ามีผิดอะไรอยู่
แต่ถ้าคนที่ไม่มีความผิด ใครจะพูดอะไร ก็ไม่รู้สึกอะไร
เพราะว่า ไม่ระแวงไม่นึกถึงความผิดของตัว ไม่กลัว

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงอานิสงส์ของความเป็นผู้มีศีลเอาไว้ 5 อย่าง คือ

ข้อ 1. ได้โภคะมาก ไม่เสื่อมจากโภคะที่ได้แล้ว


อามิส โภคะ คือโภคะอย่างที่ชาวบ้านรู้ๆกันอย่างโภคทรัพย์ สินทรัพย์
คนที่มีศีล จะได้โภคะมาก ไม่เสื่อมจากโภคะที่ได้แล้ว
เพราะว่าเขาเว้นอบายมุข ตั้งตนอยู่ในสัมมาอาชีวะ
ก็ไม่เสื่อมจากโภคะที่ได้แล้ว
รักษาโภคะไว้ได้แล้วก็มีโอกาสจะได้โภคะมากด้วย
เพราะความเป็นผู้มีศีลนั่นเอง เพราะฉะนั้น ในอานิสงส์ของศีล
ท่านก็บอกว่า สีเล นะ โภคะ สัมปทา
เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยโภคะก็เพราะมีศีล


ท่าน คิดอย่างนี้ก็ได้ บางคนมีความผิดแรงๆ
แล้วก็ต้องต่อสู้ในโรงในศาล ต้องเสียทรัพย์ไปตั้งเท่าไหร่
บางทีต้องไปติดคุกเป็นเวลานานๆ บางคน ก็ติดตลอดชีวิตเพราะฆ่าเขาตาย
เพราะไปล่วงศีลข้อที่ 1 ปาณาติบาต โภคะที่เคยหาได้ก็หาไม่ได้แล้ว
ที่มีอยู่แล้วก็รักษาไม่ได้ มันก็เสื่อมไปจน หมด หมดเนื้อหมดตัว


เมื่อตอนเย็น ผมฟังพระ เทศน์ สถานีวิทยุ 01 มีนบุรี
พระท่านเล่าถึงเรื่องคนคนหนึ่งขี้เมา มีชีวิตอยู่ก็เล่นการพนันบ้าง เมาบ้าง
เย็นลงมาก็ชวนกันกินเหล้าเมายา ใครชวนไปทำบุญให้ทานที่ไหนก็ไม่ไป


วันหนึ่ง ก็นั่งกิน เหล้ากันอยู่ ก็หัวเราะกันไป
หงายหลังตกลงไปจากชั้นบนลงไปชั้นล่าง
ต่างจังหวัดเขาปลูกบ้านใต้ถุนสูง ตกลงไปใต้ถุน ปรากฏว่าตาย


พอดีลูกสะใภ้มีท้องอยู่ ก็ปรากฏว่ามาเกิดเป็นลูกของลูกสะใภ้


ท่านเล่าต่อไปว่า ตั้งแต่เด็กคนนี้เกิดมา แม่ไม่มีนมให้เด็กกิน
ตามธรรมชาติ แม่ต้องมีนมให้ลูกกิน แต่นี่ไม่มี ต้องไปขอนมคนอื่นให้ลูกกิน
เพราะไม่ได้ทำบุญทำทานอะไรเอาไว้ ก็แปลกดี


เล่าแค่นี้ก่อนนะ ครับ นี่ยกตัวอย่างมาให้ฟังว่า
คนมีศีลจะทำให้เป็นคนที่ได้โภคะ ทั้งรักษาโภคะที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสื่อม
เพราะเว้นอบายมุขได้ทั้งหมด
เว้นอบายมุขได้อย่างเดียวก็ป้องกันความเสื่อมได้เยอะแล้ว
ต่อไปก็มี แต่ทำความดี พัฒนาขึ้นไปไม่มีส่วนลบ
ไม่มีส่วนที่ทำให้เสื่อม ทำความดี ได้เท่าไหร่มันก็เท่านั้น
ไม่มีส่วนที่จะมาติดลบ พระพุทธเจ้าก็บอกแล้วว่า
อบายมุขมันเป็นปากทางของความเสื่อม


ข้อ 2. ชื่อเสียงเกียรติคุณอันดี ย่อมฟุ้งขจรไปว่าเป็นคนมีศีลมีธรรม
น่าไว้วางใจ ไม่เป็นที่หวาดระแวงของใครๆ


ท่าน ดูสิครับ เวลานี้คนเขาหวาดระแวงกันเท่าไหร่
คดีข่มขืน คดีฉุดคร่า อนาจาร คดีทำร้ายเจ้าทรัพย์
คดีเยอะแยะไปหมด เพราะคนไม่มีศีล ทำให้คนไม่ไว้วางใจกัน
เดินไปในที่เปลี่ยวๆ หมามันเดินตามไปข้างหลัง
คนยังรู้สึกสบายใจกว่าคนเดินตาม
คนที่ไม่รู้จักกัน ไม่รู้จะทำอะไรเราหรือเปล่า
เด็กๆผู้หญิงสมัยนี้น่าสงสารแค่ไหน
ท่านลองนึกดู ต้องระแวงภัยมากมาย ทำอย่างไรให้ผู้ชายทั้งหลาย
ทำตัวให้รู้สึกว่าไม่มีภัยจากเรา ให้ใคร เขาคบเราได้สนิทใจ
เราเป็นผู้มีศีลมีธรรม เย็นใจได้ ไว้ใจ ได้
ศีล (ศี-ละ) แปลว่าเย็นก็ได้ เย็นจากเรา ไม่ต้องกลัวว่าจะมีภัยจากเรา


ถ้าทำได้อย่างนี้ บ้านเมืองก็ดี เจริญ สังคม นั้นก็เจริญ
ผมเองก็ใฝ่ฝันในเรื่องพวกนี้มาก พยายามคุยกันสอนกัน
ทั้งเขียนหนังสือ ทั้งพูดออกอากาศ ก็อยากจะให้สังคมเราดีขึ้น
คือการที่คนไม่ไว้วางใจกัน มันเสียศักดิ์ศรีของมนุษย์
มนุษย์จะต้องกู้ศักดิ์ศรีของ มนุษย์เรื่องนี้ขึ้นมา
มนุษย์ควรจะต้องไว้วางใจมนุษย์ได้


แต่มนุษย์ที่ไม่ดี มันทำให้เป็นตัวอย่าง ให้คนไม่ไว้วางใจ
เราก็เห็นใจเขา เพราะว่ามันมีคดีตัวอย่างที่ไม่น่าไว้วางใจอยู่มาก
แม้จะมีคนที่น่าไว้วางใจ เขาก็ระแวงไว้ก่อน


ถ้าท่านขับรถไป เจอผู้หญิงคนหนึ่งยืนอุ้มลูกตัวเล็กๆอยู่กลางแดด
ท่าทางเหมือนจะไปโรงพยาบาลไป หาหมอ คอยรถเมล์อยู่ ขี้ฝุ่นก็เยอะ
โดยเฉพาะที่เมืองนนท์นี่ ขี้ฝุ่น เต็มเมืองเลยเดี๋ยวนี้
ยังสร้างกันไม่เสร็จเลยถนนหนทาง ไม่ทราบเมื่อไหร่ จะเสร็จ
ใครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ช่วยดูๆหน่อยนะครับ


ถ้าท่านเจอผู้หญิงอย่างนั้น แล้วจะแวะรับเขาไปส่ง
เขาไม่ยอมหรอกครับ แม้จะมีผู้ชายยืนอยู่ด้วย
จะเป็นน้องหรือเป็นสามีก็ตาม ไม่ยอมไปกับท่านหรอก
เพราะเขาไม่ไว้วางใจ ถึงท่านจะมีเจตนาบริสุทธิ์สักเท่าไหร่
มันเป็นการปิดกั้นโอกาสที่จะทำความดี


คนที่ทำความเสียเอาไว้ ทำให้มนุษย์ขาดความไว้วางใจมนุษย์
มันทำให้คนที่เขาเป็นคนดี เสียโอกาสที่จะทำความดี


อานิสงส์ ข้อที่ 2 นี้ จึงบอกว่าชื่อเสียงหรือเกียรติคุณอันดีย่อมฟุ้งขจรไป
ว่า เป็นคนดี มีศีลธรรมน่าไว้วางใจ ไม่เป็นที่หวาดระแวงของใครๆ


ถ้าตรงกันข้าม ก็คือชื่อเสียงที่เสียก็ย่อมฟุ้งขจรไปว่า
เป็นคนไม่มีศีลไม่มีธรรม ไม่น่าไว้วางใจ
เป็นที่หวาดระแวงของคนทั้งหลาย


อานิสงส์ 2 ข้อนี้ตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องชมเชยคหบดีคนหนึ่ง
ซึ่งเป็นสาวกของพระองค์และเป็นอนาคามีด้วยว่า


สทฺโธ สีเลน สมฺปนโน ยโสโภคสมปฺปิโต ยํ ยํ ปเทสํ ภชติ ตตฺถ ตตฺเถว ปูชิโต

บุคคล ผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมเป็นผู้มียศคือเกียรติ
หมายถึง เกียรติยศ และพรั่งพร้อมด้วยโภคะ
ท่านไปที่ใดๆ ก็ย่อมได้รับการบูชาในที่ นั้นๆ ทุกแห่งไป


นี่เป็นอานิสงส์ของการเป็นผู้มีศีลดี
ท่านจึงบอกว่าให้เป็นผู้มีศีลธรรมดี ถึงจะมีความสุข



ข้อ 3. เป็นผู้แกล้วกล้า อาจหาญ ไม่เก้อเขินในประชุมชน
มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เพราะมั่นใจในคุณธรรมของตน



ข้อ 4. เมื่อตนสิ้นชีพ จะมีสติสัมปชัญญะคุ้มครองตนได้ ไม่หลงตน


ข้อ 5. เมื่อสิ้นชีพแล้ว ไปสู่สุคติ คือภพภูมิที่ดี ไม่ต้อง ไปอบายภูมิ


ข้อ 2 การละมิจฉาทิฏฐิ ห่างไกลจากมิจฉาทิฏฐิ เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ

มิจฉาทิฏฐิ พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นยอดโทษ ใช้พระพุทธพจน์ว่า
มิจฉาทิฏฐิปรมา นิ ภิกฺขเว วชฺชานิ
ภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีความเห็นผิดเป็นอย่างยิ่ง
หมายความว่า บรรดาโทษทั้งหลาย
มิจฉาทิฏฐิเป็นโทษที่มาก หรือเป็น ยอดโทษ
เพราะว่าเป็นต้นเค้าของมิจฉาทิฏฐิอื่นๆมากมาย


เช่น เมื่อ มีมิจฉาทิฏฐิแล้ว มิจฉาวาจาก็จะตามมา
คือเขาพูดสิ่งใดตามความเห็นผิด คำพูดของเขาก็เป็นมิจฉาวาจา
เขาไปกระทำสิ่งใดเพราะความเห็นผิดเป็นเหตุ
การกระทำของเขาก็เป็นมิจฉากัมมันตะ
เขาไปประกอบอาชีพที่ผิดก็เป็นมิจฉาอาชีวะ
เขาไปใช้ความพยายามผิดเป็นมิจฉาวายามะ
ตั้งสติผิดเป็นมิจฉาสติ ตั้งใจมั่น ผิดเป็นมิจฉาสมาธิ
มันก็จะเป็นมิจฉาไปหมดเลยทั้งกระบวน
เพราะฉะนั้น มิจฉา ทิฏฐิจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นยอดโทษ


ในทางกลับกัน สัมมาทิฏฐินี่ก็เป็นยอดคุณ
เพราะว่าเมื่อได้สัมมาทิฏฐิแล้ว
คุณธรรมอื่นๆหรือสิ่งอื่นๆที่เป็นประโยชน์ก็จะตามมา
เช่น สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา เป็นต้น

เหตุเกิดของมิจฉาทิฏฐิ มี 2 อย่าง คือ

1. ปรโต โฆษะ คือได้ยินได้ฟังสิ่งที่ไม่ดีอยู่บ่อยๆ เนืองๆ

2. อโยนิโส มนสิการ ขาดความคิดที่ถูกต้องแยบคาย
คิดไม่เป็น คิดไม่ลึกซึ้ง คิดตื้นๆ คิดไม่รอบ
คิดอย่างไม่ฉลาด ก็ทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิขึ้นมา

ดังนั้น เหตุเกิดก็มี 2 อย่าง คือสิ่งแวดล้อมภายนอก
อาจจะเป็นตัว บุคคล เป็นสำนึก เป็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆใกล้ตัวไกลตัวก็แล้วแต่
และอีกสิ่ง หนึ่งก็คือการคิดไปไม่รอบคอบของตัวเอง


สัมมาทิฏฐิ จะ ตรงข้าม เป็นยอดคุณ
ผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จะเกิดมาเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่โลก
เพราะว่าสามารถนำบุคคลเข้าสู่คลองแห่งศีลธรรม ทำให้ความดียั่งยืน อยู่ในโลก

เหตุเกิดของสัมมาทิฏฐิ ก็มี 2 อย่างเหมือนกัน คือ

ข้อ 1. ได้ยินได้ฟังสิ่งที่ดีๆจากครูบาอาจารย์ จากสำนัก
จากกัลยาณมิตร จากใครที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นตัวจูงใจ

ข้อ 2. อาศัยตัวเองที่เป็นคนคิดเป็น เรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ



ถ้าในสังคมของเรา คนพยายามละมิจฉาทิฏฐิกันให้มาก
คือเห็นตรงตามความเป็นจริง อะไรชั่วก็เห็นเป็นชั่ว อะไรดีก็เห็นเป็นดี
อะไรนำไปสู่ความทุกข์ ความเดือดร้อน
ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความทุกข์ความเดือดร้อน
อะไรที่นำไปสู่ความสุขความเจริญ
ก็เห็นถูกต้องว่านำไปสู่ความสุขความเจริญ เห็นอบายมุขเป็นสิ่งควรเว้น
เห็นบุญกุศล เห็นคุณงามความดีเป็นสิ่งควรทำ
เห็นธรรมะเป็นสิ่งควรฟัง ดังนี้เป็นต้น
สังคมของเราก็จะห่างไกลจากมิจฉาทิฏฐิ แล้วก็จะกลับเป็นสังคมสัมมาทิฏฐิ

การบริโภคใช้สอย การทำสิ่งที่ไม่จำเป็นก็จะถูกตัดไป
เราจะเหลืออยู่เฉพาะสิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิต การใช้จ่ายก็ไม่มากนัก
เพราะว่าคนมีความเห็นถูกต้อง ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร
สัมมาทิฏฐิมีประโยชน์อย่างนี้


รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 14:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ข้อ 3 การละอาสวะ ละอาสวะได้แล้วห่างไกลจากอาสวะ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ

อาสวะคือ กิเลสที่หมักดองอยู่ในจิตหรือในสันดาน
เหมือนสิ่งที่หมักดอง ทำให้ผู้ดื่มกันมึนเมา
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ 4 ประการ คือ

1. กามาสวะ กิเลสเครื่องหมักดองจิตคือกาม
หมายถึงกามคุณ ไม่ใช่กามารมณ์อย่างเดียว

2. ทิฏฐาสวะ กิเลสเครื่องหมักดองจิตคือ ทิฏฐิ

3. ภวาสวะ กิเลสเครื่องหมักดองจิตคือความมีความเป็น หรือความติดในภพ

4. อวิชชาสวะ กิเลสเครื่องหมักดองจิตคืออวิชชา



ผมจะพูดรายละเอียดของทั้ง 4 ข้อนี้


1. กามาสวะ

กาม ตามตัวก็แปลว่าความใคร่ หรือวัตถุที่ใคร่ก็ได้
ถ้าวัตถุที่ใคร่ก็เรียกว่าวัตถุกาม มี 2 อย่าง คือ


กิเลสกาม หมายถึงความใคร่ความกำหนัดพอใจในรูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่มาถูกต้องกาย และธรรมารมณ์
คือเรื่องราวต่างๆที่จิตใจชอบ อันนี้เป็น ตัวกิเลสที่อยู่ภายใน


วัตถุกาม หรือกามวัตถุ หมายถึงสิ่งเร้าภายนอก
มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ น่าปรารถนา



ถ้าเราสังเกตจะพบว่า มนุษย์และสัตว์โลกในชั้นกามาวจร
ซึ่งแปลว่าท่องเที่ยวอยู่ในกาม กามในที่นี้ไม่ได้หมายถึง กามคุณ
กามารมณ์อย่างเดียว กามารมณ์นั้นคือ Sensual เกี่ยวกับทางเพศ
กามคุณมันจะรวมทั้ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
มันเป็น Sensual เกี่ยวกับ Sense ทั้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น
ซึ่งก็หมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่า ปรารถนา น่าพอใจ


เทวดา มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน ก็อยู่ในชั้นกามาวจรท่องเที่ยวอยู่ในอารมณ์
ที่เกี่ยวกับกาม ติดใจในกาม ติดในรสของกาม ครึกครื้นในกาม
ถูกกามดักจิตเอาไว้ และผูกมัดเอาไว้ ก็หลงเหยื่อคือกาม จึงติดเบ็ดดิ้นไม่หลุด
ตนเองต้องตกเป็นเหยื่อและตกเป็นทาสของโลก
ที่บุคคลผู้นั้นหลงเหยื่อของมันนั่นเอง



รูปเป็นต้นนี้เป็นวัตถุกาม ที่จริงก็เป็นมายาที่ซับซ้อนยากที่โลกียชนจะรู้เท่าทันได้
เพราะโดยปกติปุถุชน หรือโลกียชนจะมองอะไรก็มองเพียงด้านนอก
และเพ่งเล็งแต่เรื่องว่าพอใจหรือไม่พอใจ ชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น
อะไรที่ตัวชอบก็ว่าดี อะไรที่ตัวไม่ชอบก็ว่าไม่ดี
คือตัดสินสิ่งต่างๆ ตามความชอบหรือไม่ชอบของตัว


เพราะฉะนั้น จึงมองไม่เห็นทะลุ ถึงความจริงได้
จิตใจของคนส่วนมากจึงถูกเคลือบหรือห่อหุ้มไว้ด้วยความใคร่
ความปรารถนา ความกำหนัดขัดเคือง และลุ่มหลง
จนแสงสว่าง คือปัญญาสาดส่องเข้าไปไม่ถึง
จึงยึดติดอยู่กับเปลือกนอกหรือสิ่งสมุมติ เท่าที่มองเห็น
และยึดถือเป็นจริงเป็นจัง เห็นว่าเป็นตนบ้าง เป็นของตนบ้าง


ถ้า พิจารณาให้ดี ก็จะมองเห็นได้ชัดเจนว่าอะไรเป็นสิ่งสมมุติ
อะไรเป็นสิ่งแท้จริง แต่บางทีเปลือกมันห่อหุ้มไว้หลายชั้น หนาแน่น
ก็เลยทำให้คนที่มี ปัญญาจักษุน้อย มองไม่เห็น
และถลำเข้าไปในทุกข์ต่างๆมากมาย



บางทีความทุกข์ที่สุขุม ก็ต้องใช้ปัญญาที่สุขุมจึงจะมองเห็นได้
ปลาที่มีก้างละเอียด ฝังอยู่ในเนื้อ ไม่เหมือนปลาที่ก้างอยู่ต่างหาก
เนื้ออยู่ต่างหาก เนื้อหุ้มก้างอยู่ พอแกะเนื้อออกมาก็เห็นก้าง
แต่ว่าปลาบางชนิด มันจะมีก้างฝังอยู่ในเนื้อ ถ้าเผื่อมองไม่ดีก็จะไม่เห็น
ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนที่มีปัญญาจักษุน้อย มีธุลีในจักษุมาก
มองไม่เห็นความทุกข์ที่สุขุม หลงยึดเอาว่าเป็นสุข


เพราะฉะนั้น ในทางพุทธ ศาสนาจึงบอกว่า สิ่งที่ปุถุชนเห็นเป็นสุขนั้น
พระอริยะเห็นเป็น ทุกข์ สิ่งที่พระอริยะเจ้าเห็นเป็นความทุกข์
ปุถุชนเห็นเป็นความสุข สวนทางกันอยู่


เมื่อวัตถุกามที่บุคคลยึดติดอยู่นั้นแปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น
ไม่เป็นไปตามที่เขาปรารถนา เขาก็ทุกข์ร้อน โศกเศร้าร่ำไรรำพัน
อย่างที่ไม่อาจที่จะหักห้ามใจได้
เพราะว่าได้ทุ่มตัวลงไปเพื่อสิ่งนั้นหมดเลยทีเดียว


เมื่อโทษของ กามคุณปรากฏให้เห็นชัดเจนเช่นนั้น
เขาก็ยังมองไม่เห็นว่านั่นเป็นโทษของ กามคุณ ไม่เคยสำเหนียกรู้
ก็หมกมุ่นพัวพันแสวงหาความพอใจอยู่แต่กับอัสสาทะ
แปลว่า รสที่น่าพอใจของสิ่งนั้น ซึ่งมันเป็นเพียงเล็กน้อย
เป็นของเล็กน้อย เขาไม่ได้ตระหนักถึงโทษอันมากมายของสิ่งนั้น
ของกามคุณนั้น ไม่ต้องกล่าวถึงว่า
จิตใจใฝ่หาที่จะออกไปเสียจากกามคุณ เป็นกามาสวะ


ปุถุชน หรือโลกียชน จึงหมดตนอยู่กับกามคุณ รู้จักแต่รสของกามคุณ
แสวงหาและปรน เปรอตนและผู้อื่นด้วยกามคุณ
ต้องการยิ่งๆขึ้นไป นี่คือกามาสวะ กิเลสที่ หมักดองคือกาม


มีนิทานชาดกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงถึง เรื่องสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง
อาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำใกล้ป่าแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นก็มีช้างแก่ตัวหนึ่ง
ล้มตายลงที่ฝั่งแม่น้ำ สุนัขจิ้งจอก เที่ยวหากิน พบซากช้าง
ดีใจว่านี่คือเหยื่อชิ้นใหญ่อันโอชะของเรา มันก็กัดที่งวง
รู้สึกเหมือนกัดที่งอนไถ จึงรู้ว่าตรงนี้ไม่ควรกิน
มันก็ไปกัด ที่งา รู้สึกเหมือนกัดเสา จึงรู้ว่าตรงนี้ก็ไม่ควรกิน
กัดตรงนั้นตรงนี้ เรื่อยไป ก็รู้ว่าไม่ควรกิน จนกระทั่งไปถึงเวจมรรค
คือทวารหนัก ของช้าง ก็รู้สึกว่านุ่มดีน่ากิน
จึงตกลงใจกัดเนื้อที่ทวารจนเป็นโพรง แล้วก็เข้าไปในท้อง
ในลำไส้ ปอด มันกัดกินตับ หัวใจ เป็น ต้น
พอกระหายน้ำก็กินเลือดของช้าง


ตรงนี้ผมเองก็สงสัยว่า ช้างตายมานานเท่าไหร่
ตายแล้วมันจะมีเลือดให้กินหรืออย่างไร ตรงนี้ก็ลองพิจารณาดู


แล้วมันก็นอนในท้องช้างนั่นแหละ สุนัขจิ้งจอกก็คิดว่า
ซากช้างนี้เป็นเหมือน เรือนของมัน เป็นที่อยู่สบาย
เมื่ออยากกินอาหารก็มีเนื้ออย่างเพียงพอ
เราจะไม่ไปที่อื่น เราจะอาศัยกินอยู่ที่นี่แหละ


บังเอิญฤดูแล้งมาถึง ซากช้างก็หดตัวเหี่ยวแห้งลง เพราะแดดลมบ้าง
ช่องทวารที่ สุนัขจิ้งจอกเข้าไปก็ปิดลง ภายในท้องช้างก็มืดมิด
เนื้อช้างก็เหี่ยวแห้ง ลง เลือดก็แห้งไปด้วย
สุนัขจิ้งจอกตัวนั้นก็ไม่มีทางออก เกิดความกลัวเป็นกำลัง
จึงซมซานไปกัดทางนั้นทางนี้ หาทางออกวุ่นวายไปหมด ทุกข์หนัก


ล่วง มา 2-3 วัน เกิดฝนตกใหญ่ ซากนั้นก็ชุ่มไปด้วยน้ำฝน จึงพองขึ้น
ก็มีสัน ฐานปกติ ทวารของช้างก็เปิดออก
สุนัขจิ้งจอกเห็นช่องนั้น คิดอย่างดีใจว่า คราวนี้เราก็มีทางออกแล้ว
ถอยหลังไปจนบั้นท้ายของมันไปชนหัวช้าง
แล้วก็วิ่งปราดไปเอาหัวชนเวจมรรคของช้างออกไปได้
ขนของมันหลุดไปหมดเลย ถลอกติดอยู่กับเวจมรรคของช้าง


สุนัขจิ้งจอกมองดูตัวเอง แล้วก็เกิดความสะดุ้งหวาดหวั่น
เพราะเห็นกายของมันที่ไม่มีขน วิ่งไปหน่อยหนึ่งแล้วก็นั่งลง
รำพึงว่า ความทุกข์เกิดแก่เราครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะสิ่งอื่น
แต่เป็นเพราะความโลภของเรานั่นเอง ความโลภนี่ โลภในการกิน
ก็ถือเป็นความโลภเหมือนกัน เราจะไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของความโลภอีกต่อไป
ขึ้นชื่อว่าซากช้าง จะไม่ยอมเข้าไปอีกเป็นอันขาด


สุนัขจิ้งจอกก็หนีไปจากที่นั่นทันที ไม่เคยเหลียวดูซากช้างใดๆอีกเลย
แล้วก็ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของความโลภอีก
เพราะเข็ดหลาบต่อความทรมานที่มีความโลภเป็นเหตุเป็นปัจจัย


พระพุทธเจ้าท่านตรัสเล่า เพื่อภิกษุทั้งหลายที่ไม่สำรวมในเรื่องนี้ก็แจ่มแจ้งอยู่แล้ว
ขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า


บัณฑิตเมื่อได้รับบทเรียนที่ดีสักครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะจำได้ตลอดไป
คือไม่ทำผิดในเรื่องเดียวกันเป็นซ้ำสอง
แต่ว่าคนพาลแม้จะได้รับบทเรียนครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ไม่หลาบจำ คล้ายๆม้าเลว
แม้จะถูกแทงด้วยปฏักเลือดไหลครั้งแล้ว ครั้งเล่า ก็ยังทำผิดซ้ำๆอยู่นั่นเอง
แต่บัณฑิตเหมือนม้าดี เพียงแต่ สารถียกปฏักขึ้น
เห็นเงาปฏักก็เรียนรู้ว่าสารถีจะให้ตนทำอะไร



บางคนเห็นผู้อื่นมีความทุกข์ ก็เฉยๆไม่รู้สึกอะไร
เมื่อตัวเองมีความทุกข์ นั่นแหละ จึงหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อทุกข์
บางคนพอเห็นคนอื่นมีทุกข์ แม้ความทุกข์นั้นยังมาไม่ถึงตัว ก็หวาดเสียว
สะดุ้งต่อความทุกข์ หาทางที่จะ พ้นจากความทุกข์


ความจริงในชีวิตของคนเรา ความสุขมี เพียงเล็กน้อย
มิหนำซ้ำสุขที่เล็กน้อย ยังเจืออยู่ด้วยทุกข์เสียอีก เรียกว่าเป็นสุขล่อทุกข์
คือเอาสุขมาล่อเล็กน้อย เพื่อให้ติดสุขนั้น
แล้วก็พบกับความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ คล้ายๆปลาหลงเหยื่อที่พรานเบ็ด
เกี่ยวเอาไว้ที่ปลายเบ็ดก็ติดเบ็ด



ความโลภเป็นปัจจัย สำคัญแห่งความทุกข์ที่ยืดเยื้อ
ความโลภมาจากความโลภในอาหาร ในปัจจัย 4
ความโลภในเรื่องลาภสักการะ โลภในชื่อเสียง ในเกียรติยศ
โลภในความมีความเป็น เมื่อมีความโลภก็มีความดิ้นรน
เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัว อยากให้เป็นให้มี ก็ไปติดร่างแหของความทุกข์
ซึ่งมีความโลภนั่นเองเป็น เป้าหมายเอาไว้ข้างหน้า


พราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการที่ จะลดทุกข์ หรือพ้นทุกข์
ก็ต้องพยายามลดความโลภลงในทุกสิ่งทุกอย่าง
แม้จะเป็นในเรื่องกามคุณ ในลาภยศชื่อเสียง เป็นอยู่ด้วยความสงบ
พอใจในความ สงบ ก็จะหาความสุขสงบได้
ง่ายกว่า และดีกว่า ประณีตกว่าตั้งเยอะ



นี่เป็นเรื่องนิทานชาดกที่พระพุทธเจ้าตรัสให้ภิกษุทั้งหลาย
ที่ปรารภเรื่อง ภิกษุขาดความสำรวม มีความตรึกในกาม ในพยาบาท
ในความเบียดเบียน และทรง เตือนภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง


นี่เกี่ยวกับเรื่องกามาสวะ อาสวะคือกามที่เป็นที่ติดที่ผูกพันของบุคคลทั้งหลาย

รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 14:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


2. ทิฏฐาสวะ

เรื่องทิฏฐิตามตัว ก็แปลว่าความเห็น
ถ้าจะให้เป็นดีหรือชั่วก็ให้เติมสัมมาหรือ มิจฉาเข้ามา
ในที่นี้พระพุทธองค์ทรงหมายถึงให้ละเว้นมิจฉาทิฏฐิ
ให้สมาทาน อยู่ในสัมมาทิฏฐิ



มนุษย์เรานอกจากจะตกอยู่ในบ่วงกามที่ รัดรึงสัตว์ทั้งหลายอยู่แล้ว
ยังจะมีบ่วงหรืออาสวะอื่นๆอยู่อีกหลายอย่าง
เช่น ในที่นี้ก็คือทิฏฐิ หรือทรรศนะ หรือความเห็น
โดยเฉพาะ อย่างยิ่งคือความเห็นผิด


โดยปกติมนุษย์เรามีความเห็น หรือความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งประจำตัว
ถือว่าเป็นธงของตน ปักใจว่าความ เห็นหรือความเชื่อของเขาเป็นความจริง
เมื่อต่างคนต่างก็ปักใจเช่นนั้น ต่างก็จะยืนยันความเห็นของตนว่าถูกต้อง
ก็จะมีการทุ่มเถียงกัน โดยไม่ได้พิสูจน์ความจริงว่า
ความเห็นของตนตรงกับความเป็นจริงหรือไม่


อันที่จริงคนเราถ้ายังไม่มีญาณทัสสนะที่ถูกต้องถ่องแท้ คือ ยังไม่มีความรู้
ความเห็นที่แน่นอนด้วยตนเองแล้วความรู้ของเราที่ได้มาจากความเชื่อ
และเหตุผลแวดล้อมในตรรกหรือที่เรียกว่า Reasoning
เราก็ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น ในความเห็นมากเกินไป
ควรถือไว้แต่เพียงหลวมๆ เพื่อจะได้เปิดใจให้กว้าง
เพื่อจะได้รับความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย
คือไม่ควรจะยึดถือสิ่งใดไว้อย่างมากเกินไป หรือแน่นเกินไป
ที่เรียกในภาษาธรรมะว่า สัจจาภินิเวส คือยึดมั่นด้วยอุปาทาน
เคยถือกันมาอย่างไรก็ถือกันไปอย่างนั้น โดยไม่ได้ทดสอบใหม่
ว่าตอนนี้ความจริงได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างไร


แต่คนส่วนมากก็มักจะถืออย่างเคยถือกันมา
ถ้าผิดก็ผิดกันต่อไป ถ้าถูกก็โชคดีไป ถ้าถือไว้อย่างสมาทาน
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ถือไว้อย่างสมาทาน
คือให้ถือไว้เพราะมีปัญญาเห็นเหตุผลแจ่มกระจ่างแล้ว
ก็จะเป็นแบบสัจจานุรักษ์ รักษาไว้เฉพาะส่วนที่เป็นจริง



เวลานี้กำลังอยู่ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ถ้าท่านเปิดวิทยุฟัง
ท่านก็จะได้ยินเรื่องสงกรานต์ กันแทบจะทุกรายการทุกสถานี
เรื่องที่เขาเล่ากันเป็นตำนานสงกรานต์ ก็คือ เรื่องธรรมบาลกุมาร
เรื่องท้าวมหาพรหม เรื่องเศรษฐีที่ไปขอลูกจากต้นไทร
เรื่องนางสงกรานต์ ถืออะไรมาบนอะไรต่างๆ


นิทานเรื่องนี้เป็นนิทานของฮินดู เขาเล่ากันไว้ตามประเพณีนิยมของฮินดู
เราซึ่ง เป็นชาวพุทธ ได้เคยทดสอบไหมว่าเรื่องนี้เป็นความจริงแค่ไหนอย่างไร
ควรจะ รักษาไว้ คือ เรื่องสงกรานต์นี่รักษาไว้ได้
ความหมายที่ว่าเป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่่แต่โบราณของเรา
ให้มีการรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นการแสดงกตัญญูกตเวที
และความอ่อนน้อมถ่อมตนต่างๆ ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ดีงาม


แต่ตำนานสงกรานต์ที่เล่ากันมาแต่โบราณนั้น และ ก็มาถึงเรื่องนางสงกรานต์
เรื่องท้าวมหาพรหมถูกตัดศีรษะ ถ้าโยนลงในทะเล น้ำก็จะแห้ง
โยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะไม่ตก
นางสงกรานต์ลูกสาวก็เลยต้องถือเศียรของพ่อเอาไว้แล้วเวียนเขาพระสุเมรุ
วันนี้จะคงไว้ต่อไปหรือจะตัดออกได้ลองนึกดู
นี่เป็นเรื่องที่ถือกันมาแต่โบราณ ผมเสนอเอาไว้ลองคิดดู เป็นความเห็นอันหนึ่ง
มันเป็นสัจจาภินิเวสหรือเป็นสัจจานุรักษ์


ถ้าเป็นสัจจาภินิเวสก็คือ ยึดถือไว้ตามที่เคยถือกันมา ถือกันมาอย่างไร
ก็ถือกันไปอย่างนั้น ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ต้องคิดอะไร
ถ้าถือแบบสมาทาน ถือแบบสัจจานุรักษ์ คือรักษาไว้ เฉพาะสิ่งที่เป็นจริง
แบบที่พระ พุทธเจ้าท่านเป็น พระพุทธเจ้าท่านปฏิเสธสัจจาภินิเวส
และส่งเสริมสัจจานุรักษ์ รักษาไว้เฉพาะสิ่งที่เป็นจริง



นักวิทยาศาสตร์ จะเป็นสัจจานุรักษ์ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ถูกทิ้งไป
เรื่องแล้ว เรื่องเล่า ทฤษฎีแล้วทฤษฎีเล่า ตั้งแต่สมัยโบราณมา
เมื่อเขาค้นพบใหม่ว่า อันนี้ถูกกว่า อันนี้ดีกว่า
ที่เขาเคยเชื่อถือกันมาแต่โบราณนั้นไม่ถูกเสียแล้ว
อย่างนี้เขาก็ทิ้งทฤษฎีเก่า และมาถือทฤษฎีใหม่ซึ่งเขาคิดว่า
ถูกกว่านั้นเป็นสัจจานุรักษ์ เป็นแบบวิทยาศาสตร์


ถ้าถืออีกแบบหนึ่งก็ถือกันต่อไป พอหลายอย่างเข้า
ไม่รู้อะไรเป็นอะไรก็รุงรังไปหมดเลย
อย่างที่ผมเคยเล่าบ่อยๆ เวลาออกอากาศบ้าง เวลาสอนหนังสือบ้าง
ที่ชาย 2 คนออกไปทำมาหากิน คนหนึ่งไปเจอปอ ก็เอาปอ ไปเจอเหล็ก
ก็แบกเหล็กไปด้วย เจอเงินก็แบกเงินไปด้วย เจอทองก็แบกทองไปด้วย
คือเอาไปหมดทุกอย่าง รุงรังไปหมดเลย
และของที่ดีที่สุดคือทองก็ได้ไปนิดหน่อย


แต่อีกคนที่ไปด้วยกัน เขาเจอของดีกว่า มีคุณค่าดีกว่า เขาก็ทิ้งของเก่า
เจอเชือกปอก็เอาไปก่อน เจอเหล็กดีกว่าปอก็ทิ้งปอ
ไปเจอเงินก็ทิ้ง เหล็กเอาเงิน ไปเจอทองก็ทิ้งเงินเอาทอง
ได้ทองไปเต็มที่เลย อย่างอื่นทิ้งหมด


คิดดูว่าอย่างไหนดีกว่าใน 2 คนนี้ คนหนึ่งว่า ถือมานานแล้ว
ทิ้งก็เสียดาย เลยถือต่อไป
อีกคนหนึ่งก็พิจารณาคุณค่า อะไรดีที่สุดก็ถือเอาสิ่งนั้น
คนไหนฉลาดกว่าคนไหนดีกว่า


เพราะฉะนั้น เรื่องทิฏฐิ เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตคน
คนมีทิฏฐิอย่างไร มีความเห็นอย่างไร
ก็มีชีวิตไปอย่างนั้นตามความเห็นของเขา
มันเป็นทรรศนะ เป็นทฤษฎี ภาษาบาลีใช้ว่าทิฏฐิ
ภาษาอังกฤษใช้ว่า Theory เป็นความเห็นอย่าง หนึ่ง


ถ้าจะมีผู้สงสัยว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย
ในเรื่องกรรมและผลของกรรม ดังนั้นใช่หรือไม่
ถ้าคนที่ปักใจเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเรียกว่าศรัทธา
มั่นลงไปในสิ่งนั้นจะเป็น การไม่ถูกต้องหรือ


คำตอบคือ ศรัทธาที่ศาสนาต้องการ ต้องเป็นศรัทธาที่ตรองด้วยปัญญาแล้ว
ไม่ใช่ความเชื่องมงายอย่างที่บาง ศาสนาหรือบางลัทธิเชื่อ


ศรัทธาในพุทธศาสนาไม่ควรจะเป็น สิ่งที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า
Fate หรือ Believe ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น
แต่ ควรจะเป็นลักษณะ Confidence ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าคือมั่นใจ
เชื่อมั่นในตน เอง เกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่า Conviction
คือได้ทดสอบพิสูจน์มาพอแล้ว เมื่อต้องการจะทดสอบพิสูจน์เมื่อใดก็ได้
และผลก็จะออกมาเป็นเช่นเดียวกัน


เรื่อง fate เชื่อโดยไม่ต้องพิสูจน์ เชื่อกันมาอย่างไร
ก็เชื่อกันไปอย่างนั้น ไม่ต้องพิสูจน์ก็ได้


เชื่อแบบ Believe เชื่อแบบไม่ต้องตั้งคำถาม
เป็นเพียงความรู้สึกว่าน่าจะเป็นจริง หรือไม่เป็นจริงเท่านั้น


แต่ ถ้าเป็น Confidence ก็เป็นความมั่นใจแบบที่ไม่ต้องมีผู้อื่นเป็นปัจจัย
คือ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ที่ท่านกล่าวในภาษาทางศาสนาว่า
อปรปัจจโย สัตถุสาสะ เน คือไม่ต้องมีผู้อื่นเป็นปัจจัยในคำสอนของพระศาสดา
เพราะว่าได้รู้เอง ได้เห็นเอง แจ่มแจ้งด้วยตนเองแล้ว
ศรัทธาเช่นนี้เป็นสิ่งที่มั่นคง ไม่คลอนแคลน เพราะว่าได้เห็นเองแล้ว



ตัวอย่างที่ยกให้ฟัง บ่อยๆก็คือ ถ้าใครสักคนหนึ่งเอาขอใส่ถุงไว้
แล้วบอกว่าในถุงนั้นมีเพชร หรือทอง ขอให้เรารักษาไว้
มันจะเป็นประโยชน์แก่เราในภายหน้า ถ้าเราเชื่อ และรักษามันไว้ด้วยชีวิต
ก็แปลว่าเราเชื่อบุคคลผู้บอกนั้น เราไว้ใจว่าเขาจะไม่หลอกเรา


แต่น่าจะมีบางคราวที่เราลังเลสงสัย ว่าจะมีเพชรหรือมีทองอยู่จริงหรือเปล่า
เราไม่ค่อยมั่นใจนัก นี่คือลักษณะของศรัทธาที่ขาดปัญญา หรือญาณ
ถ้ามีใครมายืนยันกับเราว่า เขาเห็นว่าตอนที่ใส่ลงไปนั้นไม่ใช่เพชรไม่ใช่ทอง
เป็นก้อนกรวดก้อนดิน จากนั้นเราอาจจะ ลังเลและอาจจะเชื่อคนที่มาบอกใหม่ก็ได้


แต่ว่าถ้าเราเปิดถุงออกดู ได้เห็นด้วยตาตนเองแล้วว่า
ในถุงนั้นมีเพชรมีทองแน่ๆเลย เราก็จะมั่นใจ ความเชื่อของเราจะมั่นคง
นี่คือศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาหรือ ประกอบด้วยญาณ
เป็นญาณสัมปยุต สัมปยุตด้วยญาณด้วยความรู้


อีกตัวอย่างหนึ่งที่พอมองเห็นได้คือ ภาชนะที่คว่ำอยู่ มีของอยู่ใต้ภาชนะที่คว่ำนั้น
เรามองไม่เห็นว่าเป็นอะไร ถ้าเจ้าของเขาบอกเรา เราเชื่อตามผู้บอก
แต่ไม่ค่อยมั่นใจนัก แต่ถ้าเราหงายภาชนะนั้นขึ้น ก็จะเห็นว่ามันเป็น
อะไรเราไม่จำเป็นต้องเชื่อผู้บอกก็ได้ เราเชื่อตาของเราได้แล้ว
นี่คือ ความเชื่อที่ประกอบด้วยความรู้


พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ ให้เป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง ผู้ฟังมักจะพอใจแล้วกล่าวชมเชยว่า
แจ่มแจ้งจริงพระเจ้าข้า เหมือนหงาย ของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด เหมือนบอกทางให้แก่ผู้หลงทาง
เหมือนส่องไฟในที่มืด ให้คนมีจักษุได้เห็นทุกข์ อย่างนี้เป็นต้น


เพราะฉะนั้น ความเชื่อเฉยๆ ทิฏฐิที่เกี่ยวกับความเชื่อเฉยๆ มันยังมีปัญหา
เมื่อเรายังไม่เห็นแจ้งว่าอะไรเป็นอะไร
พอเราได้เห็นเองเสียแล้ว ความเชื่อก็ไม่มีปัญหาอีกต่อไป


พระธรรมของพระ พุทธเจ้าเน้นไปที่สันทิฏฐิโก คือให้เห็นเอง
ให้เห็นได้ในปัจจุบัน เรียกให้มาดูได้ เป็นเอหิปัสสิโก
เหมือนเรามีเพชรมีทองอยู่ในมือ และแบมือออก
เพชรก็จะลอยเด่น ส่องแสงแวววาววูบวาบ


เพราะ ฉะนั้น ศรัทธาที่ปราศจากปัญญา กับศรัทธาที่มีปัญญา
ความเห็นที่ประกอบ ด้วยปัญญา กับความเห็นที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา
จึงมีลักษณะที่ผิดกันมากทีเดียว



ฉะนั้น ต้องพยายามที่จะส่งเสริมความเห็นที่มีปัญญา
ความเห็นหรือทิฏฐิให้ประกอบด้วยปัญญามากขึ้น
สังคมของเราก็ยังมี ความเชื่อต่างๆ ที่เป็นสัจจาภินิเวสอยู่เป็นอันมาก
ไม่ได้เป็นสัจจานุรักษ์ ฉะนั้นพยายามให้ทุกคนเห็นชัดเจนด้วยตัวเอง
ยกเว้นคนตาบอด ก็จะมองอะไรไม่เห็น
แม้จะมีแสงสว่างก็มองไม่เห็น
ต้องพยายามทำตาให้ดี และมีแสงสว่างด้วย



บางคราวก็จะมีพวกพราหมณ์มาเฝ้าพระ พุทธเจ้า
พวกพราหมณ์เขาก็จะมีความเชื่อในคัมภีร์พระเวชของเขาที่นำสืบๆกันมาอย่างมั่นคง
ข้อความที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวชนั้น เขาก็เชื่อว่าจริง อย่างไม่มีปัญหา
ไม่ตั้งปัญหา เขากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า คัมภีร์พราหมณ์
ที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งรับช่วงกันมาหลายชั่วอายุคน
พวกพราหมณ์ถือว่าเป็นจริง โดยไม่มีเงื่อนไข และก็สรุปว่านี้เท่านั้นเป็นจริง
ความเห็นอื่นที่ขัด แย้งกับคัมภีร์นี้เป็นของเท็จทั้งหมด
คือถือสัจจาภินิเวส อิทเม ว สจฺจํ โมฆมญฺ ํ นี้เท่านั้นเป็นจริง
อย่างอื่นเป็นเท็จทั้งหมด ใน เรื่องนี้พระโคดมมีความเห็นอย่างไร


พระพุทธเจ้าท่านตรัสถามว่า ที่ยืนยันว่านี้เท่านั้นเป็นจริง
อย่างอื่นเป็นเท็จ ทั้งหมดนั้น มีพราหมณ์คนใดคนหนึ่งที่อยู่ในที่นี้บ้างไหม
ที่พอจะกล่าวยืน ยันได้ว่า ตนได้เป็นผู้รู้เห็นเอง พราหมณ์คนหนึ่งทูลตอบว่าไม่มี


ถามต่อไปว่า อาจารย์ของพราหมณ์
อาจารย์ของอาจารย์และพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์อื่นๆ
นับถอยหลังไปสัก 7 ชั่วคน เคยรู้เห็นด้วยตนเองบ้างหรือไม่
พราหมณ์ ก็ตอบว่าไม่มีเหมือนกันทั้งหมดเป็นความเชื่อ
ที่เชื่อและถือสืบๆกันมาเท่า นั้น


พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนตาบอด
ที่จูงมือเดินตามกันเป็นแถวๆ กลางแถวเป็นอย่างไรหัวแถว เป็นอย่างไร
หางแถวก็เป็นอย่างนั้น ล้วนแต่ไม่รู้ไม่เห็นทั้งสิ้น
ไม่มีใครเคยรู้เคยเห็นทั้งสิ้น


พระพุทธเจ้าจึงตรัสต่อไป ว่า ผู้ฉลาดต้องรักษาสัจจะ หรือสัจจานุรักษ์
หรือสัจจานุรักขี หรือสัจจา นุลักขณา เป็น Protect- ion of the thrust
ไม่ควรด่วนสรุปโดยเหตุเพียงแค่เชื่อกันมาเท่านั้น
ว่าสิ่งนี่เท่านั้นเป็นจริง อย่างอื่นเป็นเท็จทั้งหมด
เขาควรจะพูดเพียงว่านี้เป็นความเชื่อของเขา
และไม่ควรจะพูดว่าสิ่งนี้ เขาเชื่อ และถ้าจะเป็นไปได้ก็ควรพูดว่า
สิ่งที่เขาเชื่อเท่านั้น เป็นความจริง
ไม่ควรจะพูดว่าสิ่งที่เขาเชื่อเท่านั้นเป็นความจริง อย่างอื่นเป็นเท็จทั้งหมด


แต่ควรจะพูดเพียงว่า นี่คือเป็นความเชื่อของเขา
แต่จะจริงเท็จแค่ไหนยังไม่รู้ ยังไม่ได้ทดสอบ ยังไม่ได้ พิสูจน์
ถ้าถามความเชื่อ เขาก็เชื่ออย่างนี้ แต่ไม่ใช่ไปปฏิเสธสิ่งอื่น
ไม่ต้องพูดถึงความเห็นหรือความเชื่อที่ผิด ซึ่งควรจะสละละทิ้งไม่ควร จะยึดถือไว้


แม้ความเห็นที่ถูก พระพุทธเจ้าก็ทรงสอน ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นเกินไป
ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรมเปรียบ
เหมือนเรือหรือแพสำหรับไว้ข้ามฝั่ง
ไม่เพียงแต่อธรรมเท่านั้นที่ต้องละ แม้ธรรมก็ต้องละด้วย


อันนี้อธิบายโดยย่อว่า คนที่ใช้เรือหรือแพข้ามฝั่ง
เมื่อถึงฝั่งแล้ว ทำอย่างไรถึงจะถูกต้อง เขาควรจะแบกแพหรือเรือขึ้นไปด้วยไหม
หรือควรจะจอดเรือหรือแพเอาไว้ที่ท่าน้ำ แล้วตัวเองก็เดินไปให้สบาย
หรือควรจะทำอย่างไร ทางที่ถูกหรือทางที่ชอบ ทางที่ดี
หรือผู้ปฏิบัติชอบในเรือหรือแพนั้นเขาควรจะจอดเรือหรือแพเอาไว้
ไม่ต้องแบกเอาไปด้วย



เพราะฉะนั้น เรื่องทิฏฐิ นี่ผมพูด เรื่องทิฏฐิอย่างเดียวนะครับ
ยังไม่ได้พูดเรื่องสัมมาหรือมิจฉาอะไร แม้ แต่ทิฏฐิ
หรือความเห็นก็ควรจะถือไว้หลวมๆ จะไปถืออะไรให้ยึดมั่นเกินไปจน
เป็นทิฏฐุปาทาน คือความยึดมั่นในทิฏฐิ เป็นอุปาทานอย่างหนึ่ง
ใน อุปาทาน 4 ในพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงให้ถอนและให้ละ
กามุปาทาน ทิฏฐุ ปาทาน ความยึดมั่นในทิฏฐิ


บางคนยึดมั่นในสิ่งหนึ่ง ใครไปกระทบในสิ่งนั้นเขาไม่ได้กระทบเข้าก็เดือดร้อน
ดิ้นเลย ก็ อย่าไปยึดมั่นอะไรมากเกินไป
ไม่ถือไว้ด้วยสัจจาภินิเวส แต่ถือไว้ด้วย สมาทาน ถือด้วยเหตุผล
ด้วยความคิดที่ถูกต้อง มีโยนิโสมนสิการ


ในระดับสูง พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนว่า ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นแม้ในธรรม
ดังที่ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายเราแสดงธรรมเปรียบเหมือนเรือหรือแพ
เพื่อข้ามฝั่ง ไม่เพียงแต่อธรรมเท่านั้นที่ต้องละ แม้ธรรมก็ต้องละเสียด้วย


เรื่องอกุศลธรรมนั้นต้องละอยู่แล้ว แต่กุศลธรรมหรือความดีต่างๆ
ในขั้นสามัญท่านสอนให้ บำเพ็ญไปก่อน
เหมือนกับอาศัยเรือสำหรับข้ามฝั่ง แต่ในระดับสูง ในขั้นสุดท้าย
ท่านสอนให้ละธรรมและอธรรม
ไม่ยึดมั่นในธรรมทั้งปวง นั่นเป็นการปฏิบัติชอบต่อธรรม


เพราะว่าตามหลักพุทธศาสนาในระดับสูง
พุทธสาวกจะต้องละเครื่องข้องทั้งปวง ทั้งที่เป็นบุญและเป็นบาป
ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า เรากล่าวเรียกบุคคลผู้ละเครื่องข้องทั้งสองได้
คือ ทั้งบุญและบาป โยธ ปุญฺญญฺจ ปาป จ อุโภ สงฺคํ อุปจฺจคา
ข้ามเครื่องข้อง ทั้งสองเสียได้ คือทั้งบุญและบาป
อโสกํ วิรชํ สุทฺธํ ตมหํ พฺรูมิ พฺรา หฺมณํ เรียกบุคคลผู้เช่นนั้น ซึ่งเป็นผู้ไม่โศก
และปราศจากธุลีเป็นผู้ บริสุทธิ์ว่าเป็นผู้ประเสริฐ
คือว่าก็หลุดพ้นไปเสียจากสิ่งที่ชื่อว่าทั้ง ดีทั้งชั่ว
ท่านใช้คำว่า สพฺพธิ วิมุตโต


รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 14:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


มีตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งคือว่า คนกินยาจนหายโรคแล้ว
ก็ควรจะละยานั้นเอาไว้ หรือเก็บไว้ให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นต่อไป
ไม่ควรจะกินยานั้นต่อไป นี่คือการปฏิบัติที่ถูกต้อง


บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมจึงให้ละดีเสียด้วย
มีคุณบทหรือ สิ่งที่เรียกแทน พระอรหันต์อยู่ชื่อหนึ่งว่า ปุปาปปหีโน
แปลว่าผู้ละได้แล้วทั้ง บุญและบาป คือความชั่ว
มันเป็นสิ่งหยาบที่คนต้องละ ผลของมันปรากฏ เป็นความทุกข์ความเดือดร้อน
เป็นความทุกข์ที่เปิดเผย


แต่สำหรับความดี ถ้าไปติดในดี มันจะมีความทุกข์อีกแบบหนึ่ง
คือคนชั่วก็เป็น ทุกข์อย่างคนชั่ว ความชั่วก็ให้ทุกข์แบบความชั่ว
คนดีหรือความดีก็จะให้ ทุกข์แบบคนดี หรือให้ทุกข์แบบความดี


ความทุกข์มันพูด ออกมาตรงๆ แต่ความสุขซึ่งมาจากความดี
หรือมาจากอะไรก็แล้วแต่ มันมีเล่ห์เหลี่ยม มีอะไรลับๆอยู่
คนที่ไม่กำหนดให้ดี หรือไม่ทำความเข้าใจให้ดีก็ จะไม่เห็นโทษของสิ่งนั้น
เพราะว่านิยมกันว่ามันเป็นสิ่งดี


ยกตัวอย่างเช่น คนมีลูก 2 คน คนหนึ่งเป็นคนชั่ว คนหนึ่งเป็นคนดี
ท่านลอง นึกดูคนที่เป็นพ่อเป็นแม่คนชั่วก็ให้ความทุกข์แบบคนชั่ว
ลูกที่ชั่วก็ให้ ทุกข์แบบลูกที่ชั่ว ลูกที่ดีก็ให้ความชื่นใจอยู่บ้างพอสมควร
แต่ว่ามันก็ ยังมีความทุกข์แบบคนดีอยู่
เช่น ให้ความผูกพัน ให้ความรู้สึกกังวล ให้ความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย
สมมุติว่าเขาตายไปหรือพิการไป ลองนึกดูว่าพ่อแม่ที่มีลูกดีนั้นจะเศร้าโศกเพียงใด
หรือเขาไปเที่ยวไปเจออุบัติเหตุแล้วก็ตายไป
ยิ่งดีมากเท่าไหร่พ่อแม่ก็ยิ่งมีความทุกข์ความโศกมาก
นี่ก็เรียกว่าให้ ทุกข์แบบคนดี


นั่นเป็นความทุกข์ที่ซ่อนเร้น ไม่เปิดเผย
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช้ปัญญาที่สุขุม ก็จะไม่เห็น
ธรรมดาสิ่งเหล่า นี้เป็นความทุกข์ที่สุขุม
ความทุกข์ที่สุขุมก็ต้องใช้ปัญญาที่สุขุมจึงจะสามารถมองเห็นได้
ถ้าเผื่อปัญญาหยาบๆก็มองไม่เห็น


นี่เป็นเหตุผลที่พระพุทธเจ้าท่านให้ละทั้งดีและชั่ว ไม่ติดทั้งดีและชั่ว
แต่ว่าในเบื้องต้นก็ให้อาศัยดีไปก่อน คล้ายๆอาศัยเรือข้ามฝั่ง
อาศัยยาเพื่อหายโรค อาศัยไปก่อน
ถ้าเผื่อยังไม่ถึงฝั่ง ยังไม่หายโรค ก็อย่าเพิ่ง ทิ้งยา อย่าเพิ่งทิ้งเรือ
เพราะมีอันตรายเยอะถ้าเผื่อทิ้งเสีย


หวังว่าท่านผู้ฟังคงจะเข้าใจ บางทีท่านกล่าวว่าทั้งชั่วทั้งดี
ล้วนแต่เป็น สิ่งที่ไม่น่ารัก อันนี้ต้องพูดกันในระดับสูงแล้ว
ไม่ใช่พูดกันในระดับ สามัญ เพราะธรรมะจะมี 2 ระดับ
คือระดับสามัญกับระดับสูง ถ้าเราไม่เข้าใจ เรื่องนี้ก็จะเอามาตีกัน


เพราะฉะนั้น ต้องแยกให้ถูกว่า ตอนนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องอะไร
ถ้าพูดในระดับสามัญก็ต้องพูดแบบสามัญ แบบสมมุติ สมมุติสัจจะ
แต่ถ้าในระดับปรมัตถสัจจะ ก็ต้องพูดกัน ตัดสิน
วินิจฉัยกัน โดยหลักของปรมัตถสัจจะ เช่น


ระดับสมมุติ เราก็พูดถึงคนนั้นคนนี้คนโน้นดีอย่างนั้นดีอย่างโน้น
คนนี้ไม่ดี คนนั้นไม่ดี เราก็พูดกันไปที่ในระดับหนึ่ง ระดับจริยธรรม


แต่พอไปถึงระดับปรมัตถ์แล้ว ก็ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน
ไม่มีเรา เขา มีแต่ธาตุ มีแต่อายตนะ มีแต่ขันธ์ 5 อย่างนี้ ก็ไม่ตีกัน
เพราะเราแยกออกได้ว่านี่คือระดับนี้


แต่ถ้าเราพูดถึงใครคนหนึ่งอยู่ สรรเสริญเขาอยู่
แล้วก็มีใครสักคนมาพูดว่า โอ๊ย พูดไปทำไม ไม่มี สัตว์
บุคคล ตัวตน เราเขา มีแต่บัญญัติ
อย่างนั้นก็เรียกว่าพูดคนละระดับกัน ก็คงไม่รู้เรื่องกันจนได้


เรื่องความเห็นหรือความเชื่อ ก็ควรจะให้อยู่ในฐานะของความเห็นความเชื่อ
ไม่ควรยืนยันว่า เป็นความจริง ควรแยกจากกันได้
หมายความว่านอกจากความเห็นความเชื่อนั้น
จะเกิดจากญาณทัสสนะหรือประสบการณ์ตรงของตนแล้ว
แม้ประสบการณ์ตรงของ ตนเองนั้นเองก็ควรจะทดสอบบ่อยๆ
ว่ายังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือเปล่า หรือว่า ความจริงได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างไร
เพราะว่าความจริงที่เกี่ยวกับโลกียธรรม
หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สังขตธรรม จะเปลี่ยนอยู่เสมอ


ด้วยเหตุนี้ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ถึงได้มีทฤษฎีใหม่
แทนทฤฎีเก่าอยู่เรื่อยๆ ไป เพราะในระดับโลกียธรรมหรือสังขตธรรม
สิ่งที่แท้จริงคือความเปลี่ยนแปลง ความจริงก็คือความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง


ในตรรกศาสตร์พุทธศาสนาได้บอกว่า
ความจริงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คือไม่เที่ยง นั่นเอง
ความไม่เที่ยงนั่นแหละคือความเที่ยง นอกจากนั้นก็เปลี่ยนแปลงไป
สุภาษิตทางวิทยาศาสตร์ก็ มี
Nothing Persists Save Change.
Change is One Thing That Permanent.
ไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่ถาวร ไม่มีสิ่งใดเที่ยง นอกจากความเปลี่ยนแปลง
ความเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวเท่านั้นที่เที่ยงอยู่


เพราะฉะนั้น ต้องทดสอบอยู่เสมอ อะไรเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างไร
ถ้าสมมุติมีใครคน หนึ่งพูดว่า นางสาว ก.เป็นคนสวย
ถ้านางสาว ก.สวยเมื่อ 50 ปีก่อน มาถึงเวลานี้เขาคงจะไม่สวยแล้ว
นั่นคืออิทธิพลของความเปลี่ยนแปลงที่ทำคนสวยให้ไม่สวย อย่างนี้เป็นต้น
หรือดอกไม้ดอกหนึ่ง เราบอกว่าสวย ต้องถามว่าสวยเมื่อไหร่
ถ้าสวยเมื่อปีก่อน มาปีนี้มันคงไม่สวยแล้ว คงร่วงโรยไปหมดแล้ว
นี่คือสัจจะที่เกี่ยว กับเรื่องความไม่เที่ยง


แต่มีอยู่เรื่อง หนึ่ง คือทิฏฐิของคนละได้ยาก ทิฏฐาสวะ
อาสวะคือทิฏฐิ เป็นสิ่งที่ละได้ยาก หรือยากพอๆกับเรื่องกาม
หรือ อาจละได้ยากกว่ากามเสียอีก เพราะว่า อยู่ลึก ทิฏฐิอยู่ลึกสละได้ยาก
กามนั้นอยู่ตื้นและใครๆก็เห็นโทษได้ง่ายกว่า แต่ทิฏฐิอยู่ลึก
และมีคนสนับสนุนด้วย มีกองเชียร์ แม้จะมีทิฏฐิที่ผิด แต่ก็มีคนที่มีอัธยาศัย
มีอุปนิสัยอย่างเดียวกันนั่นแหละสนับสนุนอยู่ ก็ต้องเห็นอย่างนั้นต่อไป


พวกศาสดาเจ้าลัทธิทั้งหลายทั้งในอดีตทั้งในปัจจุบัน
จึงละทิฏฐิของตัวได้ยากมากเลย ศาสดามีทิฏฐิอย่างใด
พวกสาวกก็มีทิฏฐิอย่างนั้น
ไม่อย่างนั้นแล้วจะเป็นศาสดาเป็นสาวกกันได้อย่างไร
พวกสาวกก็จะเคารพนับถือ บูชาและยำเกรงศาสดาของตน
ถือทิฏฐิ เช่นเดียวกับพระศาสดา ทั้งนี้ก็ด้วยเห็นอานิสงส์ 2 อย่าง คือ

1. อานิสงส์ในชาตินี้ คือจะได้ลาภสักการะและได้ชื่อเสียง
ว่าเป็นผู้เคารพเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระศาสดาของตน


2. อานิสงส์ในชาติหน้า ว่าจะได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ
และความบริสุทธิ์หมดจดได้ในภายหน้า ก็ด้วยทิฏฐิอันนี้


นี่คืออานิสงส์ 2 อย่างที่ทำให้คนถือทิฏฐิ 2 อย่างนั้นอยู่ ต้องระวังกันอย่างมาก



คงจะเป็นเหตุดังกล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า
บ่วงคือทิฏฐิ ที่ ใช้คำว่า ทิฏฐินิเวศ เป็นสิ่งที่ละได้ยาก
การตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ที่ยึดมั่นไว้แล้วก็ละได้ยาก
เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีบ่วงคือทิฏฐิอยู่
บุคคล ก็ย่อมจะสละธรรมบ้าง ยึดเอาธรรมไว้บ้าง


ค่อนข้างจะฟัง ยากสักหน่อยนะครับ บ่วงคือทิฏฐิที่ละได้ยาก
การตกลงใจในธรรมทั้งหลายที่ ยึดมั่นไว้แล้ว ก็ละได้ยาก
คือเขาตกลงใจว่าอันนี้เป็นอย่างนี้ เมื่อยึด มั่นแล้วก็ละได้ยาก
เมื่อยังมีบ่วงถือทิฏฐิอยู่ บุคคลก็สละธรรมบ้าง และ ยึดเอาธรรมไว้บ้าง


ที่ว่าสละธรรมบ้าง ยึดเอาธรรมไว้บ้าง ตรงนี้ขออธิบายนิดหนึ่ง
สละธรรมจะมีได้ด้วยเหตุ 2 อย่าง คือ

1. สละ เพราะความเห็นของผู้อื่น เพราะการตัดสินของผู้อื่น
คือได้ยินผู้อื่นพูด ตัดสินว่า ศาสดาคนนั้น ครูคนนั้น
เจ้าลัทธิคนนั้น ไม่เป็น สัพพัญญู ธรรมของท่านไม่ดี
หมู่คณะของท่านก็ไม่ได้ปฏิบัติชอบ มรรคาของท่านก็ไม่นำออกจากทุกข์ได้จริง
นี่คนอื่นเขาพูดแล้วก็เชื่อ เชื่อคนอื่นก็ สละธรรมที่ยึดถือนั้นได้

2. สละธรรม เพราะไม่สำเร็จ ประโยชน์เอง
คือปฏิบัติตามแล้วก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ทั้งศีลทั้งวัตร
ปฏิบัติตามศีลวันใด วัตรวันใดที่ศาสดานั้นสอนเอาไว้ ก็ไม่ได้ผล
ไม่ได้ประโยชน์ ไม่เห็นผล ก็ละทิ้งไป
แต่บางคนทั้งๆที่เห็นอย่างนั้น ก็ยัง คงยังถือพระศาสดา
และธรรมของศาสดานั้นต่อไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งแล้ว
แต่เหตุที่เขาจะเห็นไปหรืออ้างมา


ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งในปายาสิราชัญญสูตร


พระเจ้าปายาสิทรงเห็นอย่างเหนียวแน่นว่า ชาติก่อนชาติหน้าไม่มี
คนเราเกิดมา เพียงชาติเดียว ตายแล้วสูญ
ก็ได้สนทนาโต้ตอบกับพระกุมารกัสสป จนยอมรับ นับถือพระกุมารกัสสป
ยอมรับว่าความเห็นของพระกุมารกัสสปที่ว่า ชาติก่อน ชาติหน้ามี
สัตว์ทั้งหลายถ้ายังมีกิเลสอยู่ย่อมท่องเที่ยวในวัฏสงสาร
แต่ไม่กล้าประกาศว่าความคิดเห็นของตนนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
เพราะใครๆก็รู้ กันหมดแล้วว่า พระเจ้าปายาสิมีความเห็นอย่างไร
ท่านมีความเห็นตรงกันข้าม กับพระกุมารกัสสปมานานแล้ว
จะสละทิฏฐิเดิมไปถือทิฏฐิใหม่ก็จะเป็นการเสียหน้า
จึงขอประกาศตนถืออย่างเดิมไปก่อน แม้จะผิดก็ตาม


พระกุมารกัสสปอุปมาหลายข้อ เช่น ชายคนหนึ่งเลี้ยงหมู หาอาหารหมู
วันหนึ่งไปเจออุจจาระแห้งของคนเข้า
เข้าใจว่าเป็นอาหารหมูจึงเก็บใส่กระสอบแบกกลับบ้าน
กลางทางฝนตก ผ้าเปียกโชกอุจจาระไหล


พระกุมารกัสสปต้องการเตือนพระเจ้าปายาสิว่าจะทรงแบกทิฏฐิชั่วไว้ทำไมกัน
โยนทิ้งไปเสียเถอะ ดังนี้เป็นต้น
พระเจ้าปายาสิก็ทรงยอมทำตามคำสอนของพระกุมารกัสสป
แสดงพระองค์เป็นอุบาสกนับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต


นี่เรื่องของทิฏฐิ

คนที่มีทิฏฐิผิดบางคนจะไม่ยอมรับความจริง

ทั้งๆที่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร ขอเล่าเรื่องสั้นๆเรื่องหนึ่ง


มีคนหนึ่งเป็นคนมั่งมี ต่อมาก็ยากจนลง
ก็ไปแจกใบปลิวอยู่ข้างถนนเพื่อทำมาหากิน
ท่านหลวงวิจิตรวาทการ ท่านเป็นนักปราชญ์คนหนึ่งของเมืองไทย
ท่านไปพบ เข้าแล้วท่านก็ยินดี เข้าไปทักทายว่ารู้จักทำมาหากินและยินดีมาก
ส่งเสริมเขา เขาบอกว่าตัวเขาเองไม่เป็นไร เขาอยู่ได้
ช่วยเด็กเขาหน่อย ทำนองนั้น ที่จริงถ้าเผื่อเขาไม่มีทิฏฐิ
ยอมรับความจริงว่าเวลานี้ลำบากแล้ว ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ก็น่ารักดี
ไม่เห็นจะมีใครว่าอะไร แต่ว่ากลับมีทิฏฐิ ว่าตัวเองไม่เป็นไร คงจะละอาย


คนเราส่วนมาก กลัวที่จะ ถูกพูดถึงว่าเป็นคนจน
แต่ไม่กลัวทุจริต ไม่กลัวบาป และเห็นคนนอนกินไม่ทำอะไรเป็นสิ่งประเสริฐ
เป็นคนมีบุญ อันนี้ก็ทิฏฐิผิดเหมือนกัน
คนที่มีความ เห็นผิด โดยธรรมดาก็จะดำเนินชีวิตไปในทางที่ผิดอยู่เสมอ


รูปภาพรูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 14:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ผมขอพูดต่อเรื่องความสามัคคี คนที่จะสามัคคีกันได้ นี่ก็มาจากทิฏฐิเหมือนกัน

ทางพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงให้ไว้ว่า

1. สีลสามัญญตา คือมีศีลเสมอกัน


คนที่จะสามัคคีกันได้ อยู่กันอยู่เย็นเป็นสุข หรือเป็นเพื่อนกันได้
เป็นมิตรกันได้ เป็นอะไรต่ออะไรกันได้โดยสนิทสนมกลมเกลียว
มันต้องมาจากสีลสามัญญตา มีความประพฤติเสมอกัน
มีความประพฤติดีด้วยกัน ไม่ใช่คนหนึ่งประพฤติดี
คนหนึ่งประพฤติชั่ว มันก็อยู่กันไม่ได้

2. ทิฏฐิสามัญญตา ความเสมอกันในด้านทิฏฐิ หรือความเห็น

หลัก 2 ประการ นี้ เป็นเหตุของความสามัคคี
ถ้าทิฏฐิไปคนละอย่าง อะไรๆก็เห็นไม่ตรงกันไปหมด
ก็ขาดทิฏฐิสามัญญตาความเสมอกันในทิฏฐิไม่มี ก็ขัดแย้งกัน
เกิด conflict ตลอดเวลา นานๆเข้ามันก็พอกพูนไปคนละทาง
แต่ถ้ามีทิฏฐิเสมอกัน เรื่องอะไรๆมันก็คุยกันได้
มีสัมมาทิฏฐิด้วยกัน มีความเห็นตรงกัน ทำนองนี้


เมื่อทิฏฐิสามัญญตา ความเสมอกันในเรื่อง ทิฏฐิ ก็นำมาซึ่งความสามัคคี
ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดแตกแยก มีการแบ่งแยกซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสังคม
ในที่ทำงาน ทุกหนทุกแห่ง แม้ในครัวเรือนเอง
ถ้า ขาด 2 อย่างนี้แล้ว ก็สามัคคีกันได้ยาก


3. ภวาสวะ อาสวะคือภพหรือความเป็นต่างๆ

ภพ แบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ กามภพ และอุปปัตติภพ

กามภพ หมาย ถึง เจตจำนงที่จะเกิดใหม่
หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษ ว่า The Will To Be Born
คือในจิตใจของคนเราจะมีเชื้ออยู่อันหนึ่งที่อยากจะ เกิดใหม่
แต่เกิดให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ที่บ่นๆกันว่าเบื่อๆ เมื่อไหร่ นั้น
คือไม่ใช่เบื่อจริง ไม่ใช่เป็นนิพพิทาซึ่งเป็นธรรมะข้อหนึ่งซึ่งเป็นไป
เพื่อวิราคะ คือความคลาย แต่เบื่อของคนส่วนมากมันเป็นวิภาวตัณหา
หรือเป็น อัฏฏิยนา ความอึดอัดขัดข้อง
แต่ถ้าได้ในสิ่งที่ต้องการ และไปเกิด ไปอยู่ไป ได้สิ่งที่ตัวต้องการ
ก็ยังอยากจะเกิดอีก นี่คือ The Will To Be Born หรือ ภวตัณหาก็ได้


อุปปัตติภพ คือแหล่งที่เกิดของสัตว์ ซึ่ง
ท่านแบ่งเอาไว้ 3 ภพด้วยกันเรียกว่า กามภพ
หมายถึงอบายภูมิ 4 และ มนุษย์ 1 และเทวดา 6 ชั้น ก็รวมเป็น 11

รูปภพ ได้แก่ ภพที่เป็นที่เกิดของรูปพรหม มี 16 ชั้น

อรูปภพ ได้แก่ ภพที่เกิดของอรูปพรหม มี 4 ชั้น

รวมทั้งหมด 31 ภูมิ ที่สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยวอยู่


พระอรหันต์ไม่มีภพอีกต่อไป ท่านจึงเรียกว่า พระอรหันต์เป็นผู้สิ้นชาติสิ้นภพไม่ต้องเกิดอีก


สิ้นชาติในภาษาธรรมดาไม่ดีนะครับ คือไม่มีชาติ
เป็นคนที่ทำอะไรเหลวแหลกกันจนล่มจม ชาติล่มจมหรือสิ้นชาติไม่ดี


แต่ในภาษาธรรมะสิ้นชาติดีครับ คือไม่ต้องเกิดอีก
ท่านจึงมักจะลงท้ายว่า ขีณา ชาติ มีชาติสิ้นแล้วคือสิ้นชาติ
นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ภพใหม่ไม่มีแก่เรา สิ้นภพ ไม่ต้องเกิดอีก


ภพที่หมายถึงในที่นี้ ที่เรียกว่า ภวาสวะ หมายเอากามภพหรือภวตัณหา
คือความยินดี ความพอใจ ความติดใจ
ความอยากในความมีความเป็น หรือในภพใดภพหนึ่ง
เพื่อเสวยสุขให้เต็มปรารถนา เป็นสังขารอย่างหนึ่ง
หรือว่าเป็นความคิดปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น การอธิบายภวาสวะ
อาสวะคือภพในที่นี้จึงอธิบายไปในแนวของความ รู้สึกนึกคิด
อธิบายคู่กันไปกับภวตัณหา หรือสังขาร เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายขึ้น
ก็พูดภวาสวะกับภวตัณหา ควบกันไปหรือเป็นสังขาร
คือสังขารใน ขันธ์ 5 สังขารแปลว่าปรุงแต่ง
สังขารภายใน สังขารที่เป็นนามธรรมไม่ใช่เป็น รูปธรรม


ตามปกติคนธรรมดา ย่อมจะมีความอยากมากบ้าง น้อยบ้าง
ส่วนมากก็มีความอยากกันมากมายไม่มีที่สิ้นสุด
อย่างที่พระพุทธเจ้าท่าน ตรัสว่า แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี
นัตถิ ตัณหา สมานะที คือแม่น้ำยังรู้จักเต็ม แต่ตัณหาของคนไม่รู้จักเต็ม
มันจึงเกิดขึ้นมากมายก่ายกองตามสิ่งเร้า
ที่เร้าให้อยาก ยิ่งมีสิ่งเร้ามากก็ยิ่งอยากมาก



มีสิ่งหนึ่งที่คนเราอยากกันมากเหมือนกัน ก็คืออยากเป็น
ที่เรียกว่าภวตัณหา พออยาก เป็นมากๆเข้า
มันก็สะสมหมักหมมเป็นภวาสวะ อาสวะมันเป็นสิ่งที่หมักดอง หมักหมม
อยากได้ตำแหน่งใหญ่โต อยากมีอำนาจเป็นหัวหน้าคน
เพราะพอได้เป็นแล้ว ก็สามารถจะสนองความต้องการอื่นๆได้มาก
สามารถจะตามใจตัวเองได้มาก
สามารถจะกำหนดสิ่งต่างๆได้เท่าที่ต้องการเท่าที่อำนาจของตนมีอยู่


อำนาจเป็นสิ่งที่หวานจ๋อยอย่างหนึ่งของมนุษย์
ซึ่งเมื่อใครได้แตะต้องลิ้มรสเข้า แล้วก็ไม่อยากจะปล่อย ไม่อยากจะวาง
ท่านดูอำนาจทางการเมืองก็จะเห็นคนที่
ได้อำนาจทางการเมืองแล้ว น้อยคนนักที่จะปล่อยที่จะวาง
ส่วนมากก็จะเกาะติด แน่นอยู่กับอำนาจทางการเมือง
อำนาจทางราชการก็คล้ายๆกัน


เพราะฉะนั้น ก็มีการต่อสู้ แย่งชิงอำนาจกันมีอยู่ทั่วไปทุกประเทศ ทุกเมือง
หรือ แม้ในกลุ่มคนเล็กๆเพียงไม่กี่คน เช่น ในหมู่บ้าน กำนันผู้ใหญ่บ้าน
หรือแม้ในครอบครัวเอง ถ้าอยู่กันมากๆก็จะมีการแย่งชิงในครอบครัวกัน


ในสมัยโบราณ ครอบครัวก็จะเป็นครอบครัวใหญ่
มักจะมีผู้หญิงเป็นจำนวนหลายๆ คน อาจจะมีผู้ชายคนเดียว ในกลุ่มผู้หญิง
ก็จะแย่งชิงอำนาจกัน ใครจะได้ครองความเป็นใหญ่ในครอบครัว
นี่ก็เป็นภวตัณหาทั้งนั้นแหละ ภวตัณหาหรือภวาสวะ


มีนักปราชญ์ทางรัฐศาสตร์อยู่คนหนึ่งคือ ลอร์ด แอ็กตัน ชาวอังกฤษ
ได้กล่าวคำ ที่นักรัฐศาสตร์มักจะอ้างถึงอยู่เสมอว่า
อำนาจทำให้คนเสีย อำนาจสูงสุดทำให้ คนเสียได้มากที่สุด
Absolute Power Corrupts Absolutly
เพราะฉะนั้น ในการบ ริหารการปกครอง
ท่านจึงมีการถ่วงดุลอำนาจกันไว้
เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่าย หนึ่งมีอำนาจมากเกินไป



ไม่ต้องกล่าวถึงในหมู่ชาวบ้านธรรมดา
แม้ในหมู่พระสงฆ์ในวัด ก็มีการมีเรื่องอำนาจ มีความเป็นใหญ่
มีการต้องการอำนาจ ตอนที่ยังไม่ได้อำนาจ
ยังไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโตก็ยังเป็นพระดีๆ อยู่
ได้เป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมามีอำนาจมากขึ้น
บางทีก็เสียพระไปก็มี คือไม่ รู้จักระวังเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้


ที่จริงแล้ว ตอนแรกๆ มนุษย์เราต้องการเพียงจะมีชีวิตอยู่
และมีปัจจัยพอจะดำรงชีวิตอยู่ได้ เรียก ว่าเดิมทีก็เป็น The Will To Live
ต่อมาก็ต้องการเป็นอะไรต่ออะไรสักอย่างหนึ่ง
แล้วก็ต้องการอำนาจ The Will To Be ต้องการเป็นนั่นเป็นนี่
คนนั้นเขา เป็นนั่นเป็นนี่ ก็ต้องการจะเป็นอะไรต่ออะไรขึ้นมา เป็นภวตัณหา
เป็นภวา สวะ The Will To Power ต้องการอำนาจโดยลำดับ
ต้องการการยกย่องสรรเสริญ
ต้องการความนิยมชมชอบจากคนทั้งหลาย ต้องการสิ่งเหล่านี้


ถ้าได้รับการควบคุมโดยถูกต้อง โดยชอบธรรม
ก็ทำให้คนประพฤติจริยธรรมที่ดีได้เหมือนกัน
เพราะว่าต้องการผลที่ดี จึงตั้งตนอยู่ในทางที่ชอบตามทำนองคลองธรรม
และได้รับผลดีทางสังคมสมความปรารถนาเหมือนกัน



ในแง่ของโลกุตตรธรรม ความต้องการเหล่านี้เป็นเหยื่อของกิเลส
กิเลสนั้นก็เป็น ส่าเชื้อของความทุกข์ เพราะโอกาสที่คนเราผู้ที่หวังแล้ว
จะไม่ได้ตามที่หวัง นั้น มีมากกว่าได้ตามที่หวัง
คือสิ่งที่เราหวังเอาไว้ ส่วนมากเราไม่ได้ตามที่หวัง

การไม่ได้ดังที่หวังก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง
ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงเอาไว้ในอริยสัจ
ข้อทุกข์ที่เรียกว่า อิฉาวิฆาตะ หรืออิจฉิตาลาภะ
คือที่พระท่านสวดหรือชาวบ้านสวดมนต์กันอยู่ว่า
ยัม ปิตฉัง น ลภติ ตัมปิทุกขัง
ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นตามปรารถนา
เอามาใช้เป็นศัพท์ทางธรรมะ เรียกว่า อิฉาวิฆาตะ
คือพลาดจากสิ่งที่ปรารถนา หรือ อิจฉิตาลาภะ
อิจฉิตะ บวกด้วย อลาภะ คือไม่ได้ตามที่ต้องการ
ไม่ได้ตามที่หวัง ก็เป็นการเพิ่มเชื้อของความทะยานอยากขึ้นไปอีก


เมื่อเพิ่มเชื้อความทะยานอยาก มันก็เผามากขึ้น
ต้องเที่ยววิ่งเพื่อจะดับความ ทะยานอยากอันนั้น
ดับมันได้ก็ดี ดับไม่ได้ก็โดนมันเผาเรื่อยไป


เมื่อเป็นอย่างนี้ แนวปฏิบัติสำหรับผู้ที่มุ่งสู่โลกุตตรธรรม
ก็คือการทำเหตุโดย ไม่หวังผล แม้จะหวังผลก็ไม่ใช่เป็นลาภเป็นยศ
หรือสรรเสริญสุขอย่างที่คนทั่วไปหวัง แต่ว่าเป็นผลคือความสิ้นอาสวะ
สิ้นภวาสวะ อาสวะคือภพ
เพราะว่า ตราบใดที่ยังมีภพก็ยังมีทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นภพไหนใน 3 ภพ



ถ้าปรารถนาผลคือสิ้นอาสวะ สิ้นภพก็เป็นการดับกิเลส
และเพลิงทุกข์โดยสิ้นเชิง หรือผลคือความสงบเย็นแห่งใจ
เมื่อหวังผลเช่นนี้ ก็จะได้รับผลแล้ว ตั้งแต่ลงมือทำหรือคิดจะทำ
คือว่ามุ่งทำแต่เหตุที่ดี ส่วนผลนั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเหตุที่จะบันดาล
เราไม่ทำตัวเป็นผู้บันดาลผลเสียเอง


คล้ายๆ เราปลูกต้นไม้เอาไว้ มีหน้าที่สำหรับรดน้ำพรวนดิน
กำจัดศัตรูพืช ล้อมรั้ว ป้องกันสัตว์ที่จะมาเบียดเบียนพืช
การออกดอกออกผลให้ร่มเงา
เป็นหน้าที่ของต้นไม้ที่มันจะทำหน้าที่ของมันเอง


ถ้าทำได้อย่างนี้ ความทุกข์ความกังวลใจเกี่ยวกับผล
ที่เป็นลาภ เป็นยศ เป็นสรรเสริญ ซึ่งคนส่วนใหญ่พากันรอคอย
จะไม่กล้ำกรายบุคคลผู้นั้น เขาจะดำเนินชีวิตมาถึงจุดสูงอันหนึ่ง
ซึ่งเป็นจุดที่พึงปรารถนามาก คือการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่
และ ทำเหตุโดยไม่หวังผล เป็นโลกียธรรม
หรือโลกียวัตถุ ซึ่งคนส่วนมากหวังกันอยู่


ในภาษาอังกฤษ มีคำหนึ่งว่า Doing Without Doer
มีแต่การกระทำ แต่ไม่มีผู้ทำ


สุภาษิต ทางพุทธศาสนามีคำหนึ่งว่า ทุกขเมวหิ นโคจิ ทุกขิโต
ความทุกข์มีอยู่แต่ผู้ ทุกข์ไม่มี การโก น กิริยา ว วิชฺชติ
การกระทำมีอยู่ แต่ผู้ทำไม่มี
อตฺถิ นิพฺพุติ น นิพฺพุโต ปุมา ความดับมีอยู่ แต่ผู้ดับไม่มี
มคฺคม ตฺถิ คมโก น วิชฺชติ ทางมีอยู่ แต่ผู้เดินไม่มี


นี่คือ บุคคลดึงเอาตัวตนออกไปเสีย เหลือแต่การกระทำ
หรือ Doing Without Doer มีการกระทำโดยไม่มีผู้กระทำ
ยกผลแห่งการกระทำนั้นให้แก่ธรรมชาติ ให้แก่มวลชน ให้แก่โลก
โดยไม่ดึงผลแห่งการกระทำนั้นเข้ามาสู่ตัว


คนที่เป็นเช่นนี้ จะไม่มีการบ่นว่าทำดีไม่ได้ดี
เพราะว่าเขาทำดีแล้วเขา ปล่อยความดีจะให้ผลเมื่อไหร่ อย่างไร
ก็สุดแล้วแต่เหตุที่กระทำ จะไม่บ่น ว่าทำดีไม่ได้ดี
เพราะว่าความดีที่เขาทำนั้นจะไปตกอยู่ที่ใครก็แล้วแต่
มันต้องเกิดผลดี เพราะการกระทำดีอย่างแน่นอน


คนที่เป็น เช่นนี้ จึงเป็นผู้ที่ทวนกระแสโลกได้ และยืนอยู่เหนือโลก
แม้จะอยู่ในโลก ก็ไม่ติดโลก คล้ายๆเป็นคนที่อยู่เหนือโลก
กระแสที่ปั่นป่วนของโลกท่วมทับไม่ถึง
ท่านผู้เช่นนั้นจึงได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริง


ทั้งนี้ก็เพราะมีความสามารถในการกำจัดภวาสวะนั่นเอง
ภวาสวะก็คือความอยากเป็น ความอยากมี
เมื่ออิสระจากภวาสวะแล้วก็เป็นผู้สงัดจากภวาสวะ
เป็นปวิเวก อันหนึ่ง ปวิเวกคือความสงัด


เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ชักชวนกันให้เข้าใจว่า
การปลีกออกจากภวาสวะมีคุณอย่างไร ดีอย่างไร
เป็นความสงบสุขแก่จิตใจอย่างไร


นี่ โดยธรรมดา เมื่อคนเราทำความดี ก็จะมุ่งผลดี
การทำความดีเป็นกุศลนั้น มันทำให้เกิดความสุข
การทำชั่วมีผลทำให้เป็นความทุกข์



แต่ในระดับสูงแล้ว ท่านก็บอกให้ทิ้งไปทั้งบุญทั้งบาป ทั้งดีทั้งชั่ว


เพราะว่าสำหรับท่านผู้มีจิตใจสูงในระดับนั้นแล้ว
จะมองเห็นว่าทั้งสุขทั้งทุกข์ เป็นของไม่เที่ยง
มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
ที่ในโลกธรรมสูตร ได้กล่าวถึง ว่า อนิจโจ ทุกโข วิปรินามธัมโม
ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา



ถ้าเวลาที่มีความสุข ก็หวั่นไปถึงความทุกข์
ท่านสังเกตดูว่าคนที่หวั่นใจในเรื่องความทุกข์
หรือกลัวต่อความทุกข์มากที่สุดก็คือ คนที่กำลังมีความสุขนั่นเอง
คือมีความหวาดหวั่นกลัวความทุกข์
เช่นนั้นจะตกไป สูญไป หายไป จะปราศจากตนไปเสีย


เมื่อมีความสุขอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาแล้ว
ก็มีความหวัง ความใคร่ ความต้องการ ที่จะให้มีความสุขเช่นนั้นอีก
และรอคอยผลแห่งการกระทำ ตลอดเวลาที่รอคอยอยู่นั้น
ก็มีความกระวนกระวาย ว่าเมื่อไหร่ผลจะมี เมื่อไหร่ผลจะเกิด
ทุกครั้งที่ เกิดความต้องการ ความทุกข์ความทรมานใจก็เกิดตามขึ้นมา

มีสุภาษิตทางจริยศาสตร์อยู่อันหนึ่ง
A Felling of Want is Always Painful
ความรู้สึกต้องการนั้นเป็นความทุกข์เสมอ


เพราะฉะนั้นท่านที่พ้นไปเสียจากภวาสวะ
จึงมีความโปร่งเบาและมีความสุข ไม่มีความดิ้นรน ไม่มีความหวัง
ไม่ต้องหวังสิ่งใด ความหวังเป็นธรรมดาของโลกียชน
ตราบเท่าที่ยังเป็นโลกียชน ติดในโลกียธรรม
ก็ย่อมจะมีความหวังบ้างเป็นธรรมดา
แต่ท่านที่พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้แล้ว
ก็มีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องหวัง อะไรจะเกิดมันเกิดเอง


นอกจากนี้ ท่านก็ได้มากำหนด รู้ความจริงว่า
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสังขาร เคยได้รับความสุขอย่าง ไร
คนก็อยากจะแสวงหาความสุขเช่นนั้นอีก
เพื่อจะให้ได้ความสุขเช่นนั้นอีก
แต่ว่าโอกาสที่จะได้ความสุขเช่นนั้นอีก มันก็มีน้อย
เมื่อไม่ได้ก็เป็น ทุกข์ เพราะฉะนั้น ก็ไม่หวังเสียเลย
อยู่อย่างไม่ต้องหวัง อะไรที่จะเกิด ขึ้นอะไรที่จะได้ มันได้เอง
อันนี้พูดคนละระดับกันแล้วนะครับ


ถ้าในระดับโลกียธรรม ท่านก็สอนให้หวัง
หวังและก็ดำเนิน อะไรไปเพื่อให้สมหวัง
แต่ในขณะนั้น มันก็ต้องมีความทุกข์ติดตามไปด้วยตลอดเวลา
แต่ถ้าเผื่อ ก้าวขึ้นสู่ระดับหนึ่ง หรือก้าวขึ้น สู่โลกุตตรธรรมแล้ว
ต้องการจะสงัดจาก ภวาสวะ มันก็จะมีชีวิตสดชื่นอีกแบบหนึ่ง
ไม่ใช่แบบของโลกียชนที่ติดในโลกีย ธรรมทั่วไป


รูปภาพรูปภาพ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 20 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 140 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร