ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ตอบ..ปัญหาธรรม (ดร.สนอง วรอุไร)
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=31664
หน้า 2 จากทั้งหมด 102

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 00:58 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม โดย.ดร.สนอง วรอุไร

ขอให้ท่านพระอาจารย์อธิบายถึงวัฎของขันธ์ 5 ซึ่งมี วิบาก กิเลส กรรม อยู่ในวัฎของขันธ์ 5 นี้

คำตอบ
ผู้ที่ศึกษาวิชาพุทธศาสตร์ สมมติเรียกร่างกายของคนที่ยังมีชีวิตว่าประกอบด้วยขันธ์ 5 คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ทั้ง 5 ขันธ์นี้เรียกย่อว่า รูปและนาม หรือจะเรียกว่าร่างกายกับจิต (จิตใจ) ก็ได้ ส่วนคำว่าวัฎ (วัฏฏะ) แปลว่า วนเวียนด้วยกำลังของกิเลส กรรมและวิบาก คำว่ากิเลสหมายถึงสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง กรรมหมายถึงการกระทำ ถ้าทำสิ่งที่เศร้าหมอง (กิเลส) เช่นฆ่าสัตว์ ลักขโมย ประพฤติผิดลูกเมีย พูดเท็จ จะนำมาซึ่งผลที่ผู้กระทำต้องได้รับเรียกว่า วิบากไม่ดี (อกุศลวิบาก) ทำให้ใจเป็นทุกข์
ตัวอย่างที่ 1 วัยรุ่นบางคนอยากมีโทรศัพท์มือถือ (กิเลสเกิด) จึงไปลักขโมยหรือจี้ปล้นเอาโทรศัพท์มาเป็นของตัว (กรรมเกิด) ถูกตำรวจจับได้ทำให้สูญเสียอิสรภาพ ได้รับผลไม่ดี (อกุศลวิบากเกิด) เมื่อได้รับผลของกรรมแล้วกิเลสก็เกิดขึ้นอีก แล้วทำกรรมอีก แล้วเสวยผลของกรรมอีกวนเวียนอย่างนี่ไม่สิ้นสุด ทั้งนี้เป็นเหตุมาจากใจที่มีความอยากได้จึงสั่งให้ร่างกาย ทำตามสิ่งที่ใจต้องการ ผลสุดท้ายเกิดทุกข์ตามมาไม่สิ้นสุดเป็นวงจรแห่งทุกข์
ตัวอย่างที่ 2 ไปจี้ปล้นโทรศัพท์เขา แต่ตำรวจจับไม่ได้ตัวเองได้โทรศัพท์มาใช้สมใจอยาก เกิดเป็นสุขเวทนา ทำให้ใจฮึกเหิมอยากได้รุนแรงยิ่งขึ้น จึงทำกรรมไม่ดีซ้ำอีก ตำรวจจับไม่ได้อีก อกุศลกรรมนี้ฝังอยู่ในใจ ตายแล้วจิตออกจากร่างแต่เป็นจิตเศร้าหมอง ต้องไปปฏิสนธิ (เกิด) เป็นสัตว์ในอบายภูมิ (อกุศลวิบาก) ผลสุดท้ายเกิดทุกข์ตามมา เป็นวงจรแห่งทุกข์

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 00:59 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม โดย.ดร.สนอง วรอุไร

ถ้ามีบุญน้อยจะเจริญวิปัสสนาได้หรือไม่ (เพราะเราไม่รู้ว่าบุญเรามีน้อยหรือมาก)

คำตอบ
เจริญวิปัสสนาได้ แต่ได้ผลช้าต้องใช้เวลาปฏิบัติยาวนานที่เป็นเช่นนี้เพราะกำลังของบุญมีน้อย จึงทำให้การปฏิบัติกรรมฐานเนิ่นช้า
ถ้าประสงค์เจริญวิปัสสนาได้รวดเร็ว ต้องนำตัวเองประพฤติปฏิบัติสิ่งที่เป็นบุญให้มากขึ้น (บุญกิริยาวัตถุ 10) ใกล้ชิดบัณฑิตในทางธรรม คบหากัลยาณมิตร เลือกนาบุญดี ๆ ทำ คือทำบุญด้วยการใช้ปัญญาพิจารณา มากกว่าใช้ศรัทธา

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 01:00 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม โดย.ดร.สนอง วรอุไร

ดิฉันเป็นคนมีหนี้มาก ซึ่งเป็นหนี้มาจากการทำการค้าในอดีต (หนี้จากครอบครัวที่ทำการค้าร่วมกันในอดีต) ขณะนี้ดิฉันได้พยายามทำงานเพื่อชำระหนี้ แต่รู้สึกว่าดิฉันไม่ค่อยได้ทำบุญ สิ่งนี้จะทำให้ดิฉันทำสิ่งใดไม่ราบรื่นหรือไม่

คำตอบ
ที่ถามมาเข้าใจว่าเป็นหนี้ทางวัตถุ (หนี้ทางรูปธรรม) ส่วนหนี้เวร หนี้กรรม หนี้บุญคุณ เป็นหนี้ทางนามธรรม เป็นหนี้ใด ๆ เมื่อมีเหตุปัจจัยลงตัว (ถึงเวลาใช้หนี้) ก็ต้องชดใช้
ตัวอย่าง ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีชายผู้หนึ่งทำอาชีพเลี้ยงสัตว์มีชีวิตส่งขายเพื่อฆ่า ทำอาชีพนี้ระยะแรกรุ่งเรืองดี ไม่ทรัพย์เป็นกอบเป็นกำสมกับการลงทุนลงแรงที่เหนื่อยยาก (บุญเก่าส่งผล) ทำอาชีพนี้อยู่หลายปี บุญเก่าหมด และอกุศลกรรมที่เกิดจากอาชีพเบียดเบียน(มิจฉาอาชีวะ) ให้ผลเป็นสิ้นเนื้อประดาตัวและเป็นหนี้จึงเลิกอาชีพดังกล่าว กลับมาสั่งสมบุญใหม่ด้วยการับจ้างทำอาหารแจกเป็นทาน ให้กับผู้ที่มาในงานออกนิโรธกรรมขอพระสงฆ์ กุศลกรรมแบบนี้ทำให้ใจเป็นสุขมากขึ้น ส่วนหนี้เก่าก็ใช้คืนไปเท่าที่ทำได้ แม้จะเป็นหนี้ทางวัตถุแต่ใจเป็นสุขนับว่าโชคดี ทุกคนที่เกิดมาไม่มีใครไม่เป็นหนี้ เป็นหนี้น้อยก็สุขมากเป็นหนี้มากก็สุขน้อย ไม่เป็นหนี้เลยก็ไม่ทุกข์
สรุปคือว่าถ้าเป็นหนี้มาก ควรจะทำบุญให้มาก ใจจะได้มีความสุขมาก พระพุทธเจ้าเป็นหนี้พระเทวทัต พระโมคคัลลานเป็นหนี้แม่ที่ถูกทุบตาย พระองคุลีมาลเป็นหนี้คนที่ถูกฆ่าตายแต่ทั้งสามท่านมีความสุขด้วยการมีจิตเป็นอิสระจากเจ้าหนี้ทั้งหลาย

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 01:01 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม โดย.ดร.สนอง วรอุไร

ดิฉันเคยมีลูกสาวคนเล็กอายุ 15 ปี หูข้างขวาไม่ได้ยินรักษาไปหลายทางหาหมอ ฝั่งเข็มต่อมาไปหาอาจารย์หมอว่าไม่มีทานได้ยินเพราะไม่มีเส้นประสาทหู ดิฉันอยากถามว่าจะทำบุญอย่างไรถึงจะมีอานิสงส์เจอหมอที่รักษาหูให้ได้ยิน

คำตอบ
คำว่าเคยมี แสดงว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ก็ไม่จำเป็นหาหมอไปรักษา โรคทุกชนิดเกิดจากการกระทำที่ไม่ดีของตัวเอง บางโรครักษาง่ายเช่น โรคขาดอาหาร ถ้ากินอาหารให้ถูกส่วนก็หายได้ โรคท้องร่วงกินยาฆ่าเชื้อโรคก็หายได้ โรคที่เกิดจากพันธุกรรมผิดปกติรักษาไม่หาย เช่นตาบอด ตาบอดสี ประสาทหูเสื่อม ประสาทหูเสื่อมยังสามารถใช่เครื่องช่วยฟังได้ ประสาทหูไม่มีแก้ไขไม่ได้เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถต่อระบบประสาทรับเสียงที่หูได้ วิธีดีที่สุดช่วยตัวเอง เมื่อหูเนื้อหูหนังใช้ไม่ได้ เปลี่ยนไปใช้หูทิพย์ (ทิพพโสต) แทนด้วยการฝึกจิตให้มีสติสูงสุด จนจิตนิ่งเป็นฌาน 1-4 ได้ ถอนจิตออกจากฌาน ก็สามารถเกิดอภิญญา (ทิพพโสต) ได้ วิธีนี้ดีที่สุดทำได้แต่ยากหน่อย

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 01:02 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม โดย.ดร.สนอง วรอุไร

ผู้ที่ตายพร้อม ๆ กันมาก ๆ จากภัยธรรมชาติผู้คนตายจำนวนมากทำกรรมอะไรร่วมกันมา

คำตอบ
การตายร่วมกันจำนวนมาก เหตุเกิดจากการร่วมกันทำบาปมากเช่น ฆ่าสัตว์มาก เบียดเบียนชีวิตของสัตว์มาก แต่ร่วมกันทำบุญน้อย
ส่วนภัยธรรมชาติเกิดจากธรรมชาติถูกทำลายมากถูกเบียดเบียนมาก ธรรมชาติต้องปรับตัวเองให้กลับสู่สมดุลอย่างรุนแรงและรวดเร็ว สัตว์บุคคลที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการปรับสมดุล หากมีบาปมากมีบุญน้อย ต้องรับอกุศลวิบากรุนแรง หากมีบุญมากกว่าบาป ก็ได้รับอกุศลวิบากน้อย ถ้าไม่ได้ทำบาปดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่ต้องนำตัวเข้าไปรับอกุศลวิบากจากภัยที่กล่าวถึง

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 01:07 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม

วิญญาณผู้ตายยังอยู่ที่บริเวณที่ตาย จะช่วยให้ไปเกิดทำอย่างไร

คำตอบ
การตายมี 2 แบบ ตายตามอายุขัย เมื่อจิตออกจากร่าง (ตาย) จิตจะไปปฏิสนธิ (เกิด) ในร่างใหม่ ร่างใหม่มีอายุขัยเหมือนร่างเดิมแต่ยาวนานไม่เท่ากัน ตามภพที่ไปเกิด เช่นไปเกิดเป็นเทวดาก็อายุยืนกว่าเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าไปเกิดเป็นพรหมก็อายุยืนกว่า เทวดาเขาไปเกิดตามกรรมของเขา การเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม ถือว่าเป็นการเกิดในภพที่ดี ถ้าหากต้องการช่วยเขาให้ไปเกิดใหม่ในภพที่ดียิ่งขึ้น ก็สามารถทำได้ถ้าตัวเองมีศักยภาพสูงพอ เช่น พระสารีบุตร ไปโปรดแม่ที่เป็นมนุษย์มิจฉาทิฏฐิ ให้เป็นสัมมาทิฎฐิ ได้บรรลุความเป็นโสดาบัน ตายแล้วไปเกิดภพใหม่ดีกว่าเดิม พระพุทธเจ้าเสด็จไปดาวดึงส์เพื่อโปรดมารดา (สิริมหามายาเทพบุตร) ให้เป็นเทวดามีสัมมาทิฎฐิ ได้เป็นเทวดาโสดาบันพระเจ้าพิมพิสาร ถวายอาหารพระ ผ้าสำหรับสงฆ์ วัดเวฬุวัน แด่พระพุทธเจ้าแล้วกรวดน้ำส่งผลบุญไปให้ญาติที่เกิดเป็นเปรตบุญกุศลที่อุทิศให้ ส่งผลให้เปรตมีอาหารทิพย์บริโภค มีเสื้อผ้าสวมใส่ และไปเกิดเป็นเทวดามีวิมานอยู่อาศัย

ส่วนการตายก่อนอายุขัย เช่นอายุขัยของร่างใหม่ กรรมกำหนดไว้ว่าใช่ได้แค่ 50 ปี แต่ด้วยอกุศลกรรมตัดรอนให้ตายเมื่อร่างมีอายุใช้งานไปได้ 20 ปี การตายแบบนี้เรียกว่าตายก่อนอายุขัย ตายอย่างนี้ไม่ได้ไปเกิดใหม่ แต่จิตจะหลุดออกจากร่าง ไปอยู่ในรูปของกายละเอียด ที่มีรูปลักษณะเหมือนเดิมก่อนตาย ชาวโลกสมมติเรียกรูปแบบนี้ว่า สัมภเวสีเช่นใส่เสื้อลายเดินข้างถนน ถูกรถชนตาย รูปที่เป็นสัมภเวสีจะมีหน้าตาเหมือนเดิม ใส่เสื้อลายเหมือนเดิม สัมภเวสีที่ยกตัวอย่างยังไปเกิดในภพใหม่ไม่ได้ ต้องรออีก 30 ปีตามกฎธรรมชาติ จึงจะไปเกิดในร่างใหม่ภพใหม่ได้ อย่างนี้ช่วยให้ไปเกิดใหม่ไม่ได้ แต่ช่วยให้มีอาหารทิพย์กินได้ ช่วยให้มีบ้านอยู่ได้ ด้วยการตั้งศาลให้อยู่ หรือย้ายจากข้างถนนให้ไปอยู่ในที่ดีกว่านั้นได้ แต่ยังคงสภาพสัมภเวสี ยังเปลี่ยนภพใหม่ไม่ได้

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 01:10 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม

ขอกราบเรียนท่านอาจารย์ถามเรื่องในการทำบุญใส่บาตรแล้วในวันนั้นเราลืมกรวดน้ำอุทิศร่วมกุศลแต่เรามากรวดน้ำในวันต่อไปจะทำได้ไหมค่ะ

คำตอบ
ถ้าจิตยังระลึกถึงทานที่เราทำไว้ก่อนได้ เราก็อุทิศบุญกุศลที่เกิดขึ้นนั้นได้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือน วันนี้ตั้งใจจะโทรศัพท์ไปหาเพื่อนแต่โอกาสไม่เปิด วันถัดไปยังไม่ลืมและมีโอกาส เราก็โทรหาเพื่อนได้

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 01:10 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม

การที่เราเอาเอกสารส่วนตัวเช่นบัตรประชาชนมาถ่ายเอกสารขององศ์กรอยากทราบว่าผิดศีลหรือเปล่าถ้าผิดมากหรือน้อยค่ะ

คำตอบ
ถ้าองค์กรที่ทำงานอยู่นั้น ต้องการให้แนบสำเนาบัตรประจำตัวเพื่อใช้ในงานขององค์กร ถือว่าไม่ผิดศีล ถ้าถ่ายเอกสารแล้วเราเอาไปใช้ส่วนตัว ที่ไม่เกี่ยวกับงานขององค์กร ถือว่าผิดศีลข้ออทินนา
ถามว่าผิดศีลมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของอกุศลกรรมที่ทำ ถ่ายเอกสารหนังสือทั้งเล่มแต่เป็นหนังสือส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับงานขององค์กร ก็ผิดศีลข้ออทินนามากกว่าถ่ายบัตรฯไปใช้ที่อื่น

เจ้าของ:  ทักทาย [ 14 พ.ค. 2010, 01:16 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม

อนุโมทนาค่ะ :b8:

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 01:23 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม

คำว่า “โมทนา” กับ “อนุโมทนา” ต่างกันอย่างไร เพราะเคยทำบุญแล้วมีบางท่านกล่าวว่า ขออนุโมทนา กับ โมทนาสาธุ ค่ะ

คำตอบ
คำว่า “โมทนา” กับ “อนุโมทนา” เขียนต่างกันแต่ความหมายเป็นแนวทางเดียวกัน คือเป็นคำกล่าวแสดงความยินดี บางท่านกล่าว “โมทนาสาธุ” คือดีแล้วยินดีด้วย

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 01:24 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม

การสร้างกุฏิให้พระปฏิบัติธรรม เป็นปฏิปทาสาธารณะหรือไม่

คำตอบ
คำว่าสาธารณะหมายถึงสำหรับคนทั่วไป การสร้างกุฎิเจาะจงถวายพระรูปใดรูปหนึ่งไม่เรียก ปฏิปทาสาธารณะส่วนการสร้างกุฏิถวายไว้กับหมู่พระสงฆ์ สงฆ์ใดมาใช้ประโยชน์ก็ได้อย่างนี้เรียกว่าเป็นปฏิปทาสาธารณะ ได้อานิสงส์มากกว่าอย่างแรก

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 01:26 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม

การทำสังฆทานที่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร มีอะไรบ้าง (ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าการทำบุญสังฆทานที่ถูกต้องทำ 5 ชุด นิมนต์พระรับสังฆทาน 5 องค์ สมัยนี้เห็นทำ 1 ชุด พระรับ 1 องค์ ก็ใช้ได้แล้วอยากทราบว่าที่ถูกต้องจะทำเช่นไร)


คำตอบ
คำว่าสังฆทานหมายถึงทานที่ถวายแก่หมู่สงฆ์ ไม่จำเพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ภิกษุรูปใดเกิดความขาดแคลนสามารถนำทานที่รับไว้เป็นส่วนกลาง ไปบริโภคใช้สอยได้
ภิกษุรับทานจากฆราวาสแล้วนำไปเก็บไว้ใช้ส่วนตัวไม่จัดว่าเป็นสังฆทาน แต่ถ้าภิกษุผู้รับทานนั้นทำใจไว้ว่าท่านรับในนามของหมู่สงฆ์ เมื่อรับแล้วนำไปไว้เป็นส่วนกลาง ก็จัดได้ว่าเป็นสังฆทาน
ส่วนที่บอกว่าต้องทำสังฆทาน 5 ชุด นิมนต์พระ 5 รูป มารับสังฆทาน นั้นเป็นเพียงสมมุตินิยมของคนที่เชื่อแบบนั้น

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 01:27 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม

อยากทราบว่าเวลาเราตักบาตรพระตอนเช้า เวลาหยิบอาหารใส่บาตรแก่ผู้ที่เราต้องการให้เขาเหล่านั้นจะมารับบุญนั้นทันทีหรือไร โดยที่เราไม่ได้กรวดน้ำจะได้หรือไม่

คำตอบ
เวลาหยิบอาหารใส่บาตรพระ เมื่ออาหารหลุดจากมือลงสู่ก้นบาตรเมื่อใด ถือว่าทานที่ทำนั้นสำเร็จแล้ว บุญกุศลได้เกิดขึ้นแล้ว เจ้าของบุญคิดว่าจะอุทิศให้แต่ยังไม่ได้บอกให้ผู้ล่วงลับจะยังไม่ได้รับ ถ้าบอกว่าให้เมื่อใดผู้ล่วงลับจะได้รับทันทีไม่ว่าจะกรวดน้ำหรือไม่กรวดน้ำก็ตาม ทั้งนี้ผู้ล่วงลับ ต้องอยู่ในสถานะที่จะรับบุญกุศลนั้นได้

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 01:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม

ถ้าผู้มีพระคุณ ไม่สนใจปฏิบัติ จะทำอย่างไรคะ เพื่อให้มีบุญคิดไปภพหน้าบ้าง จะทำบุญแทนได้ไหม

คำตอบ
การทำบุญเพื่อให้มีผลบุญติดตามไปภพหน้า ถ้าไม่สนใจปฏิบัติ แต่ทำบุญอย่างอื่น (ดูบุญกิริยาวัตถุ 10) ก็มีบุญได้ ทำบุญแทนกันได้ แต่ผู้นั้นต้องอนุโมทนาบุญด้วย

เจ้าของ:  ธรรมบุตร [ 14 พ.ค. 2010, 01:32 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ตอบ..ปัญหาธรรม

บุญ ๑๐ วิธี

ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ) คือ

๑. ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย) การให้ทานเป็นการช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ความคับแคน ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไปก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคลหรือชุมชนโดยส่วนรวม

๒. รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลมัย) เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิกความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่นเป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงามและพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ

๓. เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย) การภาวนาเป็นการพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น

๔. อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรมรวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกันทั้งในความคิด ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ (อปจายนมัย)

๕. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกาย เพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ (ไวยาวัจจมัย)

๖. เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงานก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ (ปัตติทานมัย)

๗. ยอมรับและยินดีในการทำความดี หรือทำบุญของผู้อื่น การชื่นชมยินดีหรืออนุโมทนาไม่อิจฉาหรือระแวงสงสัยในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ (ปัตตานุโมทนามัย)

๘. ฟังธรรม บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมสวนมัย)

๙. แสดงธรรม ให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีกับผู้อื่น แสดงธรรมนำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงามก็เป็นบุญ (ธรรมเทศนามัย)

๑๐. ทำความเห็นให้ถูกต้องและเหมาะสม มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญ ถือเป็นบุญด้วยเช่นกัน (ทิฏฐุชุกรรม)

ทิฏฐุชุกรรมหรือสัมมาทัศนะ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิดและทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลถูกทาง

หน้า 2 จากทั้งหมด 102 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/