ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ความสันโดษ : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=32232
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลูกโป่ง [ 31 พ.ค. 2010, 14:29 ]
หัวข้อกระทู้:  ความสันโดษ : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)

รูปภาพ

ความสันโดษ
พระธรรมเทศนา
โดย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)

ตีพิมพ์ในวารสารธรรมจักษุ
ปีที่ ๘๓ ฉบับที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๒

พุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และนักบวช ได้มาประชุมพร้อมกัน ณ ธรรมสวนมณฑลนี้
เพื่อประโยชน์จะฟังพระธรรมเทศนา และสมาทานอุโบสถศีลและเบญจเวรวิรัติ
ได้ทำวัตรสวดมนต์ และสมาทานศีลซึ่งเป็นบุพพกิจในเบื้องต้นสำเร็จแล้ว
ต่อไปนี้เป็นโอกาสที่จะฟังพระธรรมเทศนา
พึงตั้งใจฟังด้วยดีให้สำเร็จประโยชน์ของตนๆ เถิด


ด้วยว่าเราทั้งหลายได้เกิดมาเป็นมนุษย์ บุรุษสตรีพร้อมด้วยคุณสมบัติ
คือ บริบูรณ์ด้วยอวัยวะ พ้นอขณะสมัย คือพ้นจากใบ้บ้าบอดหนวกเสียจริต
และได้ประสบพบพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นลาภานุตตริยะอันอุดม
สมควรยิ่งนักที่จักปลูกศรัทธาความเชื่อ
ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาให้มั่นในขันธสันดาน
ด้วยอัตตภาพที่เราได้มาอันสมบูรณ์ด้วยอิตถีภาวะ ปุริสภาวะเช่นนี้
ควรเห็นว่าสำเร็จมาด้วย ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา
คือ อาศัยบุญหนหลังอุปถัมภ์แท้ เพราะได้มาอย่างนั้นเอง
เป็นการพ้นวิสัยที่ใครๆ จะตกแต่งเอาได้ตามความปรารถนา
ได้มาเองอย่างนั้นแล ได้ดีเสียด้วย น่ายินดี น่าภูมิใจ
สมควรแท้ที่จะตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ด้วยว่าได้อัตตภาพอันสมบูรณ์ชาตินี้ ก็เพระบุญชาติก่อนอุปถัมภ์
ชาติหน้าต่อไปก็ต้องอาศัยบุญชาตินี้อุปถัมภ์
เหตุนั้นควรแท้ที่จะดำริหาเหตุผลทำตนให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไปในเบื้องหน้า
เหตุผลก็อยู่ที่ ทาน ศีล ภาวนานี้เอง ควรกระทำให้เจริญขึ้นทุกหน้าที่


อัตตภาพที่เราได้มานี้ ถึงแม้จะสมบูรณ์ บริบูรณ์ อย่างไรก็ดี
ก็ตกอยู่ในฐานะอันไม่แน่นอน เพราะเป็นคติแห่งสังขาร
อันธรรมดาของสังขารทั้งหลายย่อมตกอยู่ในอำนาจแห่งความไม่ถาวร
แม้คำสอนก็มีอยู่ว่า สงฺขารา สสฺสตา นตฺถิ ขึ้นชื่อว่าสังขารแล้ว
จะหาความเที่ยงแท้ยั่งยืนไม่มี ดังนี้
แม้อัตตภาพของเราจักแข็งแรงมั่นคงอย่างไรก็ตาม
ก็คงตกอยู่ในอำนาจชรา พยาธิ มรณะ อยู่นั่นเอง
เมื่อรู้เรื่องแห่งอัตตภาพร่างกายอย่างนี้
ควรถือเอาโอกาส คือเวลาที่ ชรา พยาธิ ยังไม่มาถึง
ควรบำเพ็ญคุณงามความดีไว้เสียให้พอ
เมื่อเวลาชรา พยาธิมาถึงเข้า จะไม่ต้องทำความเสียใจ
ประพฤติได้อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นคนรักตน เป็นคนทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตน



บัดนี้ จักต่ออนุสนธิ์ในเรื่อง สัลเลขกถาในข้อที่ ๒ คือ สนฺตุฏฐิกถา สืบไป
สนฺตุฏฐิกถา แปลว่า ถ้อยคำอันปรารภถึงความสันโดษ
สันโดษแปลว่า ความยินดีแต่ในของซึ่งมีแห่งตน
ก็คือให้ยินดีในสมบัติของตน สมบัติภายในก็คืออัตตภาพร่างกายของตน
มีมาอย่างใด ได้มาอย่างใด จะสูงต่ำดำขาว
หรือเล็กใหญ่สั้นยาวอย่างไรก็ตาม ซึ่งเป็นของอันตนปต่งเอามาไม่ได้
ก็ให้ยินดีตามมีตามได้ นั้นแหละชื่อว่า สนฺตุฏฐิ ยินดีในของมีแห่งตน
สบาย เป็นมงคล ด้วยตามนัยมงคลสูตรว่า สนฺตุฏฐี จ กตญฺญุตา
ผู้ถือสนฺตุฏฐี และถือกตัญญู เป็นมงคลอันสูงสุด ดังนี้
ถือ สนฺตุฏฐี ในสมบัติภายนอก ถ้าเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา
ก็ให้สันโดษยินดีแต่ในปัจจัย ๔ ตามได้ตามมี
จะเป็นจีวรหรือบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัชอันใดก็ดี
มีประณีตหรือเลวทราม มีมากหรือน้อยก็ให้ทำความยินดีตามได้ตามมีอย่างนั้น
ถึงพุทธวจนะหรือศิลปวิทยาทั้งปวง
เมื่อศึกษาเล่าเรียนจนสุดความสามารถแล้ว ได้เท่าใด มีเท่าใด
ก็ให้ยินดีตามได้ตามมีเท่านั้น อย่างนี้ชื่อว่าถือ สนฺตุฏฐี



ผู้เป็นปะขาว ดาบส ชี พราหมณ์ก็ให้ถือเช่นนั้น ชื่อว่าถือ สนฺตุฏฐี
ผู้ครองเคหสถานก็ถือ สนฺตุฏฐีได้ คือให้ยินดีแต่สมบัติที่มีอยู่ของตน
จะมีมากมีน้อยไม่นิยม ป้องกันแต่ใจไม่ให้โลเลไปยินดีในสมบัติของผู้อื่น
ถึงสมบัติของผู้อื่นที่เราต้องการเราสามารถที่จะแลกเปลี่ยน ซื้อขายเอาได้
คือเป็นการไม่มีโทษ ก็ตกอยู่ในวงสนฺตุฏฐีนั้นเอง
ถ้าจะบรรยายตามวัตถุที่ควรถือสนฺตุฏฐี ไม่มีที่สิ้นสุด
ย่อความลงให้สั้นก็คือ ทำความพอนั้นเองคำที่ว่าพอนั้น
หมายความว่า พอเหมาะพอควรแก่ตน มิได้หมายความว่าพอแล้วไม่ต้องการอีก
ที่ว่าพอเหมาะพอควรแก่ตนนั้นหมายความว่า พอแก่ภาคภูมิของตน
พอแก่หน้าที่ของตน พอแก่ความสามารถของตน พอแก่วาสนาบุญของตน
คือว่าให้รู้จักตนและให้รู้จักประมาณของตน ให้รู้ว่าตนของเราเป็นคนเพียงชั้นนี้
ได้เพียงนี้ มีเพียงนี้ กินอยู่หลับนอนใช้สอยเพียงนี้พอสมควรแล้ว


สนฺตุฏฐีนี้ใช้ได้ทั้งชั้นสูงชั้นต่ำ ใช้ได้ทั้งคนมีคนจน
เป็นธรรมตัดกังวลในโลภเจตนา กันอิจฉาริษยาในลาภยศของคนอื่น
ไม่เพ้อ ไม่เย่อหยิ่งในลาภยศและความได้ความมีของตน
เป็นธรรมตัดกังวลความเดือดร้อนเสียได้ทุกหน้าที่
เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระบรมครูจึงทรงแสดงไว้ว่า
สนฺตุฏฐี ปรมํ ธนํ ความสันโดษเป็นทรัพย์อันประเสริฐ ดังนี้
อธิบายความว่า ผู้ถือ สันตุฏฐี คือ เป็นคนพอ เป็นมหาเศรษฐีอย่างเอก
ความสุขกายสบายจิตอยู่ที่ความพอเท่านั้น
สิ่งใดที่เราพอแล้ว สิ่งนั้นไม่นำความทุกข์ความเดือดร้อนใจมาให้เลย
ถ้าเราไม่พอในสิ่งใด ชื่อว่าเรายังจนอยู่ในสิ่งนั้น



ความไม่พอนั่นแหละชื่อว่าเป็นคนจน ความจนนั่นแหละเป็นเจ้าของโทษ
เป็นผู้นำความทุกข์ความร้อนมาให้โดยรอบข้าง ความจนทำความเศร้าใจ
ความจนทำความร้อนใจ ความจนทำให้เลือดลมผิวพรรณในร่างกายซูบซีด
เศร้าหมองไม่ผ่องใส ความจนทำให้เกิดโรคาอาพาธ
ความจนทอนอายุให้สั้น จะพรรณนาโทษแห่งความจนไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นโทษในความเป็นคนจนแล้ว
พึงทำตนให้เป็นคนมั่งคนมี เป็นมหาเศรษฐีเสีย
การเป็นมหาเศรษฐีก็ไม่ต้องลำบากถือสันตุฏฐี
คือทำตนให้เป็นคนพอเท่านั้น คือว่าเรามีเท่าไรก็พอเท่านั้น



การถือสันตุฏฐี พึงถือเอาความให้กว้าง อย่าถือเอาความแคบ
เป็นต้นว่า ผู้ทำราชการงานเมือง ผู้ทำการค้าขายนายห้าง
ผู้ทำนาทำสวน โดยที่สุดถึงผู้รับจ้าง ก็ให้รู้สึกว่า
การงานเหล่านั้นเป็นหน้าที่ของตน
จำเป็นแท้ที่ตนจะต้องทำความยินดี
ทำความพอใจในหน้าที่การงานนั้นๆ นับเข้าในสันตุฏฐีได้ทั้งนั้น
ให้ยกเว้นการงานที่เป็นไปกับด้วยโทษ ที่นักปราชญ์ติเตียนเสีย



ดังทำราชการก็ฉ้อราษฎร์บังหลวง
คือเบียดบังแอบแฝงราชการหาประโยชน์อันไม่ชอบใส่ตน
ผู้ค้าขายก็ค้าขายของที่ต้องห้าม ดังฝิ่นเถื่อนเหล้าเถื่อน
หรือขายสัตว์ที่มีชีวิตให้เขาไปฆ่ากิน หรือขายมนุษย์อันมีชาติเสมอกันเป็นต้น
ผู้ทำนาก็ขาดเมตตาแก่สัตว์พาหนะ ใช้ไม่มีประมาณ
เวลากิน เวลานอนก็ไม่ผ่อนผันเฆี่ยนตีเกินไปจนซูบจนผอม
เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอย่างเดียว ดังนายจ้างคิดฉ้อโกงลูกจ้างเป็นต้น
ผู้ทำสวนก็เช่นเดียวกัน โกงเอาที่ของเขาบ้าง โกงลูกจ้างบ้าง
ลักเอาพืชพันธุ์ของเขามาปลูกบ้างเป็นต้น
ผู้เป็นลูกจ้างก็คิดฉ้อโกงนายจ้าง มุ่งจะเอาแต่เงินค่าจ้าง
ส่วนงานของเขาทำให้เสื่อมทราบลงไป คือขี้ฉ้อเวลาบ้าง ขี้ฉ้อการงาน
คือความสามารถจะทำให้เขาได้มาก แกล้งบิดพลิ้วทำให้เขาแต่น้อย
หาแต่ความสุขใส่ตัว ทำให้นายจ้างเสียประโยชน์เป็นต้น
ประพฤติอาการที่ไม่ดีอย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ขาดสันตุฏฐี
คือขาดความยินดีต่อการงานในหน้าที่ของตน จัดเข้าในพวกเป็นคนจน
เป็นตัวอัปมงคลจะหาความสุขกายสบายจิตไม่ได้
ผู้มีความคิดและปัญญาควรหลีกเว้นความชั่วเหล่านี้เสีย
คือให้ยินดีแต่การงานที่ไม่มีโทษ จึงจะนับเข้าในวงของสันตุฏฐีได้


ในพวกเราที่เป็นพุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และนักบวช
ควรจะพากันยินดีในคุณธรรมอัน มีนามว่า สันตุฏฐี
คือให้ยินดีในของที่มีแห่งตน
ส่วนสมบัติภายในภายนอกก็ได้อธิบายมาแล้ว
ยังข้อปฏิบัติตนประพฤติให้เป็นอยู่ทุกวันนี้ สิ่งใดซึ่งเป็นของๆ ตน
เป็นหน้าที่ของตน ก็ให้ยินดีในสิ่งนั้น ดังพวกสัปบุรุษเป็นเจ้าของทาน
เป็นเจ้าของศีล เป็นเจ้าของภาวนา เป็นเจ้าของผู้ฟังพระธรรมเทศนา
ก็ให้ยินดีในทาน ในศีล ในภาวนา ในการฟังพระธรรมเทศนา
ซึ่งเป็นกิจของตน เป็นหน้าที่ของตน
ฝ่ายภิกษุสามเณรก็พึงเข้าใจว่า การรักษาสิกขาวินัย
การรักษากิจวัตร คือไหว้พระสวดมนต์ การศึกษาเล่าเรียน
เจริญสมถะ วิปัสสนาและการฟังพระธรรมเทศนาเป็นของๆ ตน
เมื่อรู้กิจเหล่านั้นเป็นของๆ ตนเช่นนั้น ก็ให้ทำความยินดีต่อกิจวัตรเหล่านั้น
คือ อย่าประมาท ตนทำกิจสิ่งใด
ทำหน้าที่สิ่งใดก็ให้ยินดีต่อกิจและหน้าที่สิ่งนั้น
ประพฤติอย่างนี้แลชื่อว่าถือสันตุฏฐี เป็นมงคลอันสูงสุด
การนำเอาถ้อยคำดังบรรยายมานี้ มาเล่าสู่กันฟังชื่อว่า สนฺตุฏฺฐิกถา
เป็นถ้อยคำอันนำมาซึ่งแระโยชน์แท้ ดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้



:b48: :b8: :b48:


:b44: รวมคำสอน “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47595

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26908

เจ้าของ:  ต้อยตีวิด [ 31 พ.ค. 2010, 14:50 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความสันโดษ (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท))

ขอโมทนาคะ :b8:

เจ้าของ:  วรานนท์ [ 31 พ.ค. 2010, 21:59 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความสันโดษ (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท))

รูปภาพ

:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุด้วยครับคุณลูกโป่ง smiley

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  Duangtip [ 21 มี.ค. 2019, 09:10 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความสันโดษ : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  AAAA [ 15 เม.ย. 2020, 08:35 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความสันโดษ : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  ดาราวรรณ [ 28 ม.ค. 2021, 13:16 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความสันโดษ : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)

Kiss

เจ้าของ:  sirinpho [ 02 เม.ย. 2021, 19:20 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความสันโดษ : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)

:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/