วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 21:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 มี.ค. 2009, 15:11
โพสต์: 240

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สาระธรรมบรรยาย พระสว่าง ติกขวีโร
เรื่อง“เราจะสามารถปรับสติปัฏฐานที่เราฝึกแล้ว ไปใช้ได้อย่างไร”
วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓
ณ ห้องปฏิบัติธรรม ชั้น ๔ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ


ขอความนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสัจธรรม
และเหล่าอริยสงฆ์เจ้าทั้งหลาย
ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแด่ญาติโยม ผู้ใคร่ต่อการฟังธรรมทุกๆท่าน นั่งตามสบาย

วันนี้ก็พวกเราทั้งหลายได้ปรารภเรื่องของการบำเพ็ญบุญในบุญกริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
เราเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น การที่ได้มีโอกาสสั่งสมบุญเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าภพภูมิอื่น
ถ้าเราไปเกิดเป็นอะไรสูงกว่ามนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม
เราที่จะมีโอกาสสั่งสมบุญกุศล เป็นเรื่องที่ยาก ถ้าต่ำกว่ามนุษย์เป็นสัตว์เดรัจฉาน
ต่ำกว่าสัตว์เดรัจฉานคือเปรต ต่ำกว่าเปรตคืออสูรกาย และต่ำกว่าอสูรกายคือสัตว์นรก
เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่มีโอกาสที่เป็นมนุษย์ สามารถที่จะประกอบ
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการให้บริบูรณ์ได้จึงถือว่าโชคดีไหม
โอกาสมีแต่พวกเราทั้งหลายจะเปิดโอกาสให้ตัวเองหรือเปล่า อันนี้ต่างหากที่สำคัญ
และเมื่อเปิดโอกาสแล้วเราจะสามารถรักษาโอกาสอันนี้ให้คงที่ อันนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
เหมือนยุวพุทธฯ สร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมยากไหม...ใครว่ายาก...ใครว่าง่าย....
ถือว่ายากกว่าจะสำเร็จลุล่วงไปได้ สร้างแล้วระหว่างสร้างกับการรักษาอันไหนยากกว่ากัน
เราจะรักษากุศลให้คงที่เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ที่อาจารย์บอกว่าเราจะสามารถปรับหัวข้อที่ว่า

เราจะสามารถปรับสติปัฏฐานที่เราฝึกแล้วไปใช้ได้อย่างไร ตรงนี้สำคัญ
เวลาปฏิบัติยากไหม....ยากนะกว่าจะเข้าใจในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ
แต่เมื่อปฏิบัติไปแล้วจะสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงๆ ยากกว่าวิธีปฏิบัติเสียอีก
เพราะฉะนั้นใครที่สามารถปรับไปใช้ในชีวิตจริงๆเป็น คนนั้นจะอยู่ในสังคม
ในโลกมนุษย์โดยหาความสุขได้ แต่เมื่อประพฤติปฏิบัติไปแล้ว
เราก็ไม่รู้จักปรับไปใช้ ประโยชน์น้อยมาก เพราะอะไร เพราะในช่วงของการประพฤติปฏิบัติ
ปีหนึ่งเราให้เวลาในการปฏิบัติกี่ครั้ง ในการสร้างกุศลกี่ครั้ง
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราให้ต่อการปฏิบัติก็น้อย ที่นี้หลังจากการประพฤติปฏิบัติไปแล้ว
ชีวิตตรงนั้นมีมากไหม ถ้าเราปรับใช้ตรงนั้นเป็น ตรงนั้นต่างหากที่สำคัญ
เอาที่นี้สมมุติฐานในการที่จะเกิดอกุศลอยู่ตรงไหน เราต้องเข้าใจก่อนว่า
สมมุติฐานในการเกิดกุศล และเกิดอกุศลอยู่ตรงไหน หนีพ้นไหมทางตา
อกุศลเกิดได้ไหม กุศลเกิดได้ไหม ทางหู เกิดได้ไหม ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ
หนีพ้นไหม...หนีไม่พ้น เพราะฉะนั้นแหล่งที่เกิดก็มีแค่ตรงนี้ ทั้งกุศลอกุศล
เพราะฉะนั้นแหล่งที่จะเกิดกุศลก็อยู่ตรงนี้แหล่งที่จะเกิดอกุศลก็อยู่ตรงนี้

กิเลสทั้งหลายที่ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารก็อยู่ตรงนี้...
ระยะทางยาวสำหรับคนที่เมื่อยล้า กาลเวลายาวสำหรับคนที่รอคอย ร
าตรียาวสำหรับคนที่นอนไม่หลับ วัฏฏสงสารยาวสำหรับคนไม่รู้อริยสัจธรรมตามความเป็นจริง
โยมอ่านตรงนั้นเข้าใจไหม ระยะทางยาวสำหรับคนที่เมื่อยล้า
เวลาที่เราเมื่อยล้ายาวไหมสำหรับคนที่จะเดินต่อไป ยาว...จะเดินต่อไหมมันยาวเหลือเกิน
แม้แต่ก้าวหนึ่งก็รู้สึกว่ามันยาว เวลาก็เหมือนกัน ถ้าเรารอคอยอะไรมันยาวเหลือเกิน
ราตรีช่วงไหนที่เรานอนไม่หลับยาวไหม...ส่วนวัฏฏสงสารยาวสำหรับใคร...
คนไม่รู้อริยสัจธรรมตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้นตรงกันข้าม ถ้าเรารู้อริยสัจธรรมตามความเป็นจริง วัฏฏะยาวหรือสั้น
ที่นี้ตรงไหนคืออริยสัจ เราจะแสวงหาความจริงคืออริยสัจแสวงหาที่ตรงไหน...
แสวงหาที่ตัวเรา กว้างศอก ยาววา หนาคืบ หรือเรียกอีกอย่างว่ากายกับจิต
แสวงหาอย่างนี้ หนีพ้นไหม...แสวงหาอริยสัจก็แสวงหาตัวนี้
การที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารก็อาศัยตรงนี้ พ้นจากวัฏฏะทุกข์ก็อาศัยตรงนี้
แต่พวกเราอยากแสวงหากันไหม...อริยสัจสี่มีอะไร ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
มีแค่นี้ที่นี้ ตรงไหนเป็นตัวทุกข์ คือกายกับใจ รูปกับนามหรือขันธ์ ๕
ในบรรดาขันธ์ ๕ อะไรเป็นสัจจะ...เป็นทุกข์สัจจะ เพราะฉะนั้นเราไม่รู้ทุกข์อริยสัจแล้ว
ไม่สามารถล้างอริยสัจ ไม่สามารถเจริญมรรคสัจ ไม่สามารถจะทำสมุทัยสัจให้ดับ
และไม่สามารถทำนิโรคสัจให้แจ้ง ตรงนี้ทำให้วัฏฏะยาว

ที่นี้เพียงแค่รู้ว่าอริยสัจตามความเป็นจริง วัฏฏะมันสั้นได้อย่างไร...
รู้แล้วเข้าใจ รู้มีกี่ลักษณะ...รู้แบบวิญญาณ รู้แบบสัญญา รู้แบบปัญญา
เพราะฉะนั้นรู้แบบไหนที่ทำให้วัฏฏะสั้น เพราะฉะนั้นปัญญามีหลายระดับ
สุตตปัญญา จิตตามะยะปัญญา ภาวนามะยะปัญญา ตัวไหนที่ทำให้สั้น...
ที่นี้ปัญญาที่เข้าไปตั้งในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ปัญญาชนิดไหนในสติปัฏฐานสี่
สุตตะ หรือจิตตา หรือภาวนา ปัญญาชนิดไหน...ที่จะสามารถทำวัฏฏะให้สั้น...
ภาวนามะยะปัญญา สุตตะเราเรียนขนาดไหนก็ตามสมัยหนึ่งบวชเรียนมากไหม
สามารถจบพระไตรปิกฏไม่ใช่เรียนแค่แขนงใดแขนงหนึ่ง พระสูตรหรือพระอภิธรรม
วัฏฏะสั้นได้ไหม...ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรียนพระสูตรแล้วต้องนำมาภาวนา
เรียนพระวินัยก็ต้องเอามาเกื้อต่อภาวนา เรียนพระอภิธรรมก็ต้องเอื้อต่อภาวนา
ถ้าไม่เอื้อต่อภาวนาวัฏฏะจะสั้นได้ไหม...ไม่ได้ บางคนเรียนแต่ใช้ไม่เป็น
เพราะฉะนั้นการเรียนท่านบอกว่าเหมือนคนที่จับงูที่หาง จับที่หัว จับตรงกลาง แล้วแต่จะจับ
ถ้าเราจับไม่เป็นงูก็จะฉกเรา ฉะนั้นเราเรียนปริยัติแล้วต้องนำมาประพฤติปฏิบัติจึงจะเกิดประโยชน์
เพราะฉะนั้นตัวภาวนามะยะปัญญาเกิดจากการเจริญ เรียนแล้วเอาไปทำอีกครั้งหนึ่ง ให้มันเกิดขึ้น
ดีขึ้น เจริญขึ้น พัฒนาขึ้น เพราะฉะนั้นวิธีเจริญทำไง...เดี๋ยวจะได้ลงมือ

เวลาที่เราเจริญ เราก็รู้อยู่ว่าสมมุติฐานของกุศล อกุศลมันเกิดที่ตรงไหน
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ระหว่างตัวนี้เขาเรียกอย่างหนึ่งว่า อายะตะนะ
อายะตะนะมีเท่าไหร่มีอยู่ ๖ รวมทั้งภายในภายนอก ภายในมี ๖ ภายนอกมี ๖ รวมเป็น ๑๒
ระหว่าง ๑๒ กระบวนการของอายะตะนะ เรียกอย่างหนึ่งว่าเครื่องต่อ ต่อระหว่างกรรมในอดีต
ส่งผลมาในปัจจุบันเป็นวิบาก และวิบากในปัจจุบันเป็นเหตุให้สร้างกรรมที่จะส่งผลเป็นวิบากไปในอนาคต
เพราะฉะนั้นระหว่างวิบากในอดีตต่อในปัจจุบัน ผลของกรรมในอดีตส่งเป็นวิบากในปัจจุบัน
วิบากในปัจจุบันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สร้างกรรม แล้วเป็นปัจจัยให้เป็นวิบากในอนาคต
ตรงนี้งงไหม...เวลาที่โยมเห็น เห็นมีดีอย่างเดียวหรือเปล่า ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส ถูกต้อง สัมผัส คิดนึกทางใจ
ทั้งดีและไม่ดีที่เราประสบ นั่นเป็นผลของกรรมในอดีต แต่เวลาที่เราเห็นสิ่งไม่ดีเราโทษใคร
ได้ยินเสียงที่ไม่ดีเราโทษใคร โทษบุคคล บุคคลนั้นมาด่าฉัน มาว่าฉัน มาทำให้ฉันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ไม่โทษอะไร ไม่เข้าไปหาความจริงกับผลที่เกิดขึ้นเป็นผลจากอะไร เป็นผลของกรรมในอดีต
ซึ่งใครสร้างเอาไว้...เราสร้างเอาไว้ เพราะฉะนั้นเราสร้างเอาไว้ผลจึงออกมาเป็นผลของกรรมเรียกว่า วิบาก
ทีนี้พอเกิดขึ้นอย่างนั้นเราหยุดได้ไหม ไม่ได้ พอวิบากดีเกิดขึ้นทำไง เกิดความยินดี พอใจ เป็นอะไร...เป็นโลภะ
ที่นี้เกิดวิบากที่ไม่ดีเกิดขึ้น เกิดความไม่พอใจ วิบากที่เป็นกลางๆเกิดขึ้น ไม่รู้เท่าทันก็อวิชชา หรือโมหะ
โทสะเกิดพร้อมเลย แต่ถ้าเรามีสติตั้งระลึกรู้ดูสภาพตอนนั้นเห็นตามความเป็นจริง
พอเราไม่รู้ เกิดกระบวนการพอใจไม่พอใจ แล้วสร้างกรรมต่อ...ตอนแรกกรรมเป็นมโนกรรม

สมมุติว่าเราถูกเขาด่าว่า ตำหนิ เป็นผลของกรรมของเราแต่เป็นกรรมของคนที่สร้างใหม่
ถ้าเจตนาของเขาไม่ดี ตอนนั้นเป็นอกุศลกรรมของเขาและเป็นผลกรรมของเรา เรียกอย่างหนึ่งว่าวิบาก
เพราะฉะนั้นตัวนี้แหละเป็นตัวที่สำคัญ เมื่อตัวจะต่อเป็นอย่างนี้ ตัวจะตัดอยู่ตรงไหน...ก็อยู่ตรงนี้แหละอยู่ฐานนี้
ฐานเดียวกัน แต่เราเอากิเลสเข้าไปตั้ง อะไรเกิด...ตัวกู ของกูก็เกิด แต่ถ้าเราเอาตัวสติเข้าไปตั้งอะไรเกิด...
ตัวปัญญาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเห็นหรือยังว่าตัวไหนเป็นตัวตัดตัวไหนเป็นตัวต่อ ต่อ หมายถึง ต่อวัฏฏะสงสารให้ยาว
ที่ว่ากาลเวลายาวสำหรับคนที่รอ ส่วนวัฏฏะสงสารยาวสำหรับคนไม่รู้อริยสัจจะธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นเสียงที่ปรากฏเป็นอริยสัจไหม...เป็นอริยสัจ เป็นทุกขะอริยสัจ
แม้แต่สภาพที่ได้ยินเป็นอริยสัจเป็นทุกขะอริยสัจ งั้นถ้าเรารู้ตามเท่าทันความเป็นจริงตัดหรือต่อ..
แต่ถ้าเราไม่รู้ต่อหรือตัด...เห็นหรือยังแล้วใครเป็นคนต่อใครเป็นคนตัด...เราเป็นคนต่อเราเป็นคนตัด
และจะโทษใครถ้าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐาน ขณะที่เราเดินจงกรม เรานั่งสมาธิ
หรือกำหนดอริยาบถย่อย เราตัดหรือต่อ ช่วงขณะที่เราเข้ากรรมฐาน ๗ วัน ๑๐ วัน ๑๕ วัน

แต่ในชีวิตจริงๆ ล่ะ เรามีโอกาสที่ต่อหรือมีโอกาสที่ตัด ที่บอกว่า
การประพฤติปฏิบัติมันไม่เท่าไหร่หรอก แต่การที่จะรักษานำไปใช้ในชีวิตจริงๆ เป็นเรื่องที่ยากกว่านั้น
เพราะใครที่สามารถทำได้ ชีวิตของบุคคลนั้นมีคุณค่ามาก เพราะฉะนั้นถ้าเรารักตัวเราถามตรงนี้
ใครที่มาตรงนี้ที่ไม่รักตัวเองมีไหม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสยืนยันไหม...นัททิอัตตะสมังเตมัง ความรักอื่นเสมอด้วยตนไม่มี
เพราะฉะนั้น เรารักตัวเราเมื่อเรารักตัวเรา เราเจริญกุศลทำให้ใคร ถ้าเราไม่ทำให้เราแล้วใครจะทำให้เรา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแปลในความหมายของไทยว่า
ดูก่อนผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสารทั้งหลาย เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏะสงสารทั้งหลายชื่อว่าเป็นภิกษุไหม...
เพราะฉะนั้นคำว่าภิกษุทั้งหลายหมายถึง ผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสารทั้งหลาย ถ้าโยมเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร
ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุ เธอจงมีตนเป็นที่พึ่งมีตนเป็นที่ระลึก อย่าเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่เถิด
เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่ระลึก อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่เถิด เพราะฉะนั้นตนเป็นที่พึ่ง
ที่พึ่งได้อย่างไร และอีกอย่างเขาบอกว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
เมื่อตนมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้โดยยาก เพราะฉะนั้นเราเจริญสติปัฏฐานชื่อว่าฝึกตน
เอากาย เอาเวทนา เอาจิต เอาธรรมอยู่ในสติปัฏฐานสี่ เอาเป็นที่พึ่งได้
ขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นรู้รส กายถูกต้องสัมผัส คิดนึกทางใจ มันเป็นที่พึ่งได้อย่างไร...
สภาพตอนนั้นเป็นนั้นเป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่เป็นปัจจัยให้ ที่พึ่งเกิดได้ ที่พึ่งคืออะไร...
ขณะตอนนั้นสติเกิดไหม...สมาธิเกิดไหม...ปัญญาเกิดไหม...
ปัญญาเห็นไปตามลักษณะตามความเป็นจริง ชื่อว่าที่พึ่งที่ได้โดยยาก
การเจริญวิปัสสนากว่าจะได้ยาก บางคนที่นั่งปวดหนอๆ กว่าจะได้นาน บางทีสู้กับปวดไม่ได้
บางทีจิตเบื่อจิตหงุดหงิด ท้อ เราใช้ไม่เป็น พอใช้ไม่เป็นเราต่อหรือตัด ถ้าเราใช้เป็นจะตัด ตัดอะไร...
ตัดวัฏฏะเพราะขณะที่เราเบื่อเกิดหงุดหงิดอะไรเกิดขึ้น...อกุศลต่อไหม...
มันมีวัฏฏะที่จะต้องไปมี ๗ ทาง ทางหนึ่งไปสัตว์นรก ทางสองเปรตอสูรกาย ทางที่สามสัตว์เดรฉาน
ทางที่สี่มนุษย์ ทางที่ห้าเทวดา ทางที่หกพรหม ทางที่เจ็ดนิพพาน เพราะฉะนั้นทางที่ต่อมีอยู่ ๖ ทาง
ทางที่ตัดมีอยู่ ๑ ทางรวมเป็น ๗ ทาง ทางไปมีอยู่ ๗ ทาง เพราะฉะนั้นเห็นหรือยังว่าทางที่ดีมี ๓ ทาง
ทางไม่ดีมี ๓ ทาง แล้วอีก ๑ ทางไปไหน...ทางนี้คือทางที่พ้นจากดีและไม่ดี เรียกว่าทางไปนิพพาน
ดียังมีทุกข์ ไม่ดีก็อยู่ในวัฏฏะ อีกอันหนึ่งพ้นจากวัฏฏะ คือ พ้นจากดีและไม่ดี
เพราะฉะนั้นทางที่ไป ต้องมีเหตุและปัจจัย

โยมจะเห็นว่าวันๆ หนึ่งโยมกำลังเดินทางเส้นนี้กันมาก ตื่นขึ้นมาเรามีความโกรธไหม...
วันหนึ่งเราไม่มีความโกรธเลยมีไหม...เวลาเดินทางใครใช้ให้เดิน เราเดินของเราเอง
เพราะฉะนั้นเดินทางสายแรกคือไปนรก เราโกรธครั้งหนึ่งๆ คือใกล้ปากนรกแล้ว ใครที่เกิดความโลภ
อิจฉาริษยา เห็นเขาได้ดีกว่าเราไม่ได้ไปเป็นเปรต ทั้งโลภ ทั้งโกรธ เราเจริญสองทางนี้มามาก
ก้าวหนึ่งก็จะไปนรก ก้าวหนึ่งก็จะไปเป็นเปรต อสูรกาย เดินง่าย พอสภาพที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก
ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น เราไม่มีสติรู้เท่าทันทิศทาง ทางนั้นไปไหน ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ทางไปเป็นมนุษย์ล่ะ...จะเห็นว่าเกิดง่ายหรือยาก ต้องอยู่ในกุศล ๑๐ ประการ ไม่ฆ่าสัตว์
มีใครบ้างที่เกิดมาไม่ฆ่าสัตว์เลย...ไม่เคยลักทรัพย์ ไม่เคยประพฤติผิดในกาม ไม่เคยพูดโกหก
ไม่เคยพูดคำหยาบ ไม่เคยพูดส่อเสียด ไม่เคยพูดเพ้อเจ้อ ไม่เคยโลภอยากได้ของเขา
ไม่เคยพยาบาทปองร้ายเขา เห็นถูกต้องตามครรลองครองธรรม ระหว่างทาง ๓ สายแรก
กับสายที่ ๔ เราเดินทางไหนมาก... เวลาที่ประสบกับสิ่งที่เราจะทำสิ่งอกุศล
เราจะเกิดความละอายมันเกิดเอง กลัวต่อบาปอกุศลที่ไม่กล้าทำบาปนั้น มีไหม....
แล้วมีทุกครั้งที่ประสบตรงนั้นอันนี้เรียกว่ามี หิริโอตัปปะ อยู่ในใจ ถ้าใครมีตรงนั้นเป็นปัจจัยให้ไปไหน...
ไปเป็นเทวดา ทีนี้ปัจจัยที่เกิดเป็นพรหมต้องเจริญในสมถะหรือทำสมาธิหรือเจริญเมตตา
เมตตาอานิสงส์อันสุดท้ายว่า ตายด้วยอำนาจของเมตตา ทำให้เกิดเป็นพรหม
ข้อสุดท้ายหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย มนุษย์รัก อมนุษย์รัก เทวดารักษา
ไม่ตายด้วยไฟศาสตรายาพิษ ทำให้สมาธิจิตตั้งมั่นได้เร็ว ทำให้ผิวพรรณผ่องใส
ตายด้วยอำนาจของเมตตา ทำให้เกิดเป็นพรหม

มาว่าตามอาจารย์ อานิสงส์ของการแผ่เมตตา ๑๑ ประการคือ
๑.หลับเป็นสุข
๒.ตื่นเป็นสุข
๓.ไม่ฝันร้าย
๔.มนุษย์รัก
๕.อมนุษย์รัก
๖.เทวดารักษา
๗.ไม่ตายด้วยไฟศาสตรายาพิษ
๘.ทำให้สมาธิจิตตั้งมั่นได้เร็ว
๙.ทำให้ผิวพรรณผ่องใส
๑๐.ไม่หลงตาย
๑๑.ตายด้วยอำนาจของเมตตาทำให้เกิดเป็นพรหม

ที่นี้จะเห็นได้ว่า ถ้าใจของเรามันคุ้ยเคยในเรื่องอกุศล เวลาที่จิตจะดับ
มันไหลไปตามอำนาจของอกุศล แต่ถ้าจิตของเราคุ้นเคยในเรื่องกุศลมันก็ไหลไปตามอำนาจของกุศล
ที่เขาบอกว่า จิตเตสังขะริเข ทุกขคติ ปาติกังขา เมื่อจิตเศร้าหมองทุกขคติเป็นที่หวัง
จิตเตอสังขะริเข สุขคติปาติกังขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมองสุขคติเป็นที่หวัง
เห็นหรือยังเวลาที่จิตของเราขณะนี้มันคุ้นเคยกับตัวเรา ลองชั่งดูว่ามันหนักในเรื่องกุศลหรืออกุศล
ถนัดไปในเรื่องอกุศลระวังให้ดีระหว่างที่จิตของเราจะดับ

มีอะไรที่จะไปห้ามได้อะไรจะห้ามอกุศลได้นอกจากกุศลเท่านั้น ที่มีกำลังเหนือกว่า
เวลาที่เราจะห้ามใคร ถ้าคนนั้นมีอำนาจมีกำลังเหนือกว่าห้ามไม่ได้ นี่คือธรรมชาติ
กุศลเหมือนกันถ้าเราทำอกุศลที่ไม่หนักถ้ากุศลมีกำลังเหนือกว่าเป็นครุกรรมที่หนัก
ก็สามารถห้ามอกุศลอื่นได้ ตัวอย่าง องค์คุลีมารฆ่าคนมา ตอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม
องคุลีมารได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ขณะที่ฆ่าคน อกุศลเกิดผลก็เป็นอกุศลบาปรออยู่แน่นอน
แต่พอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม เราหยุดแล้วแต่เธอนั่นแหละยังไม่หยุด
เสียงที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรม แล้วองคุลีมารน้อมใจไปตามกระแสพระธรรมนั้น พิจารณามาที่ตัวเรา
พระพุทธเจ้าอธิบายว่า หยุดในที่นี้มุ่งหมายจากหยุดจากอกุศล แต่กุศลไม่หยุด น้อมไปเท่านั้น
มรรคกุศลเกิดขึ้นตรงนั้น ห้ามอกุศลเข้ามา ไม่มีโอกาสที่จะไปอบาย จากที่รออยู่ที่จะไปอบาย
มรรคกุศลเกิดขึ้นห้ามอกุศลทั้งปวงตรงนั้น อกุศลทั้งหมดระงับ มีกำลังที่อ่อน เหมือนเรามีเจ้านาย
สมมุติว่าเราจะทำสิ่งที่ไม่ดี เจ้านายบอกอย่านะห้ามทำอย่างนี้ พอได้ยินรู้สึกอย่างไร...
นี่เป็นครุกรรมไหม...มรรคกุศลที่จะทำให้ไปอบายไม่ทันแล้ว หมดกำลังอยู่แค่นั้น
แต่อันหนึ่งกำลังกุศลอื่นห้ามไม่ได้ เช่น พระเจ้าอชาติศัตรูฆ่าคนเพียงคนเดียว คือพระเจ้าพิมพิสาร
แต่พระเจ้าพิมพิสารเป็นบิดา ฉะนั้นกรรมตรงนั้นเป็นครุกรรม กรรมที่หนัก กุศลอื่นที่หนักกว่านั้นไม่มีอีก
เพราะฉะนั้นกรรมที่เป็นกุศลอื่นจึงห้ามไม่ได้ พระเจ้าอชาติศัตรู หากตายไปไหน....
กรรมที่ทำมันหนักเหมือนกับคนที่มีอิทธิพลระดับเจ้าพ่อ ใครมามีอำนาจเหนือเขาไม่ได้ สู้เขาไม่ได้

เพราะฉะนั้นที่บอกว่า วัฎฎะสงสารยาวสำหรับคนไม่รู้อริยสัจสี่ ตามความเป็นจริงก็คือ
ตัวอวิชชาหรือตัวโมหะ ทีนี้ตัวรู้อริยสัจเกิดขึ้น วัฏฏะก็จะสั้นลงๆ สั้นในระดับกำลังของปัญญา
ที่เข้าไปทำลายตัววัฏฏะตรงนั้น เพราะว่าการที่ทำให้สั้นก็คือ สั้นโดยชั่วขณะ สั้นโดยเด็ดขาด
อย่างพระโสดาบัน สั้นโดยเด็ดขาด จะต้องเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ แต่ปุถุชนที่ประพฤติปฏิบัติไป
อย่างน้อยคือวัฏฏะสั้นลงๆ แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวเราเอง
เพราะฉะนั้นปัญญาที่ทำให้วัฏฏะสั้นลงนั้นคือภาวนามยปัญญา ที่เรามีโอกาสได้กระทำตรงนี้
ทำให้เกิด ทำให้มี ทำให้เจริญขึ้นแต่ละขณะๆ วัฏฏะก็จะสั้นลง ถ้าเราทำตรงนี้เป็น
และเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันเช่น เวลาตาเห็น ก็กำหนดว่า เห็นหนอ เวลาได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส
ถูกต้อง สัมผัส คิดนึกทางใจ ก็ให้เอาสติไปตั้งอยู่ที่ตรงนั้น เห็นตามความเป็นจริง นั่นแหละจะทำให้วัฏฏะสั้น
และสายสุดท้ายก็คือนิพพานให้มาดูตัวเรานี่แหละ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ
แต่ละหนอๆที่เรากำหนดเป็นปัจจัยให้เราไปสู่พระนิพพาน ให้เราทำวัฏฏะให้สั้นลง แล้วไปนิพานกัน
คำว่าไปนิพพานเป็นปัจจัย บางคนบอกว่าประพฤติปฏิบัติตั้งนานแล้ว ยังไม่เห็นไปถึงไหน ก็ต้องดูที่ตัวเรา
เราสร้างเหตุปัจจัยบริบูรณ์หรือยัง ถ้าอุปมาก็เหมือนถูเช็ดครั้งหนึ่ง ถามว่าสะอาดแล้วหรือยัง...
จะสะอาดในส่วนที่ถู ถ้าเราถูครึ่งหนึ่งสะอาดยัง...ถ้าเราจะให้สะอาดยิ่งๆ ขึ้นไปทำไง...
ก็ขยันถู ถูเป็นเหตุ ผลคือสะอาด เพราะหากเราทำเหตุให้บริบูรณ์ ผลออกมาก็บริบูรณ์
เพราะฉะนั้นเวลาที่เจริญวิปัสสนาเรากำหนดครั้งหนึ่งๆ กุศลเกิดเท่ากำลังกุศล ณ ตอนนั้น
ถ้าเราไม่กำหนดเลย ก็ไม่มีโอกาสที่กุศลจะเกิด หากเราอยากให้กุศลเกิดการพัฒนาก็ต้องกำหนดบ่อยๆ
ไม่ใช่แค่ในห้องกรรมฐานเท่านั้น ขณะเห็น ขณะได้ยิน รู้รส ถูกต้อง สัมผัส นึกคิดทางใจ
ก็ต้องเอาสติไปตั้งตรงนั้น เป็นกุศลเจริญอกุศลหมดไป ไม่มีโอกาสที่จะเกิด ฐานๆ เดียวให้ทั้งกุศลเกิด
อกุศลเกิด ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเปิดโอกาสให้อะไรเกิด

ต่อไปก็จะเปิดโอกาสให้เราประพฤติปฏิบัติ.....................
.......(พระอาจารย์แนะนำให้ปฏิบัติภาวนา).........


--------------------------------------------------------------------------------------------

สาธุ....ขออนุโมทนากับทุกท่านที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2010, 23:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณkaveebsc

ธรรมใดๆก็ไร้ค่า ถ้าไม่ทำ

:b48: ธรรมรักษาค่ะ :b48:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร