ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

โรคกรรมหรือโรคกาย (ท่าน ว.วชิรเมธี)
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=34545
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลูกโป่ง [ 17 ก.ย. 2010, 17:12 ]
หัวข้อกระทู้:  โรคกรรมหรือโรคกาย (ท่าน ว.วชิรเมธี)

รูปภาพ

โรคกรรมหรือโรคกาย

เรื่องโดย ท่าน ว.วชิรเมธี


:b48: ขณะนี้หนูป่วยเป็นโรคที่วินิจฉัยชัดเจนไม่ได้ว่าเป็นโรคอะไร
เดือนนี้เป็นเดือนที่สิบแล้วค่ะ



ช่วงสามเดือนแรกที่เป็น หนูไปโรงพยาบาลอาทิตย์ละ ๒-๓ ครั้ง
บางครั้งก็มากกว่า เพื่อตรวจหาอาการ ทั้งทางสูติฯ ทางเดินอาหาร
แต่ก็ไม่พบอะไรผิดปกติ จนคุณหมอทางเดินอาหารแนะนำให้ไปพบแพทย์ทางด้าน Pain
เพราะหนูปวดบริเวณช่องท้องด้านล่างค่ะ
สุดท้ายคุณหมอสรุปว่าเป็นโรค Visceral Hyperalgesia
ซึ่งเป็นการปวดเรื้อรังจากปลายประสาท


ช่วงแรกที่ป่วย หนูไม่ได้คิดอะไร นอกจากเมื่อไรจะหาย
เพราะมันทรมานและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมากค่ะ
สุดท้ายไปดูดวงเขาบอกว่าอาการของหนูจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ดีขึ้น
ไม่แย่ลงหนูเลยกลับมานั่งคิดว่า ที่ตัวเองต้องเป็นแบบนี้คงเป็นเพราะกรรมที่หนูก่อขึ้นมาเอง


หนูเคยทำแท้ง 2 ครั้งค่ะ ครั้งแรกตอนอายุ 17 กับแฟนคนแรก
ด้วยความที่ยังเด็กจึงไม่ระวังเท่าที่ควร ตอนนั้นรู้อย่างเดียวว่า จะให้พ่อแม่รู้ไม่ได้
สำหรับแฟนเองก็ไม่ได้มีความคิดแม้กระทั่งว่าจะแต่งงานกัน
ถึงแม้หนูจะแอบหวังว่า เขาจะรับผิดชอบ แต่ลึกๆ ก็รู้ว่าเขาไม่ต้องการ
สุดท้ายจึงเลิกกัน เพราะหนูทนอยู่กับความรู้สึกผิดไม่ได้


ส่วนครั้งที่สองตอนหนูอายุประมาณ 22-23 กับแฟนที่เป็นคนไต้หวัน
คราวนี้หนูยอมรับค่ะว่าประมาท เพราะช่วงที่ยังไม่รู้ว่าท้องก็ทานยาไปเยอะเหมือนกัน
บวกกับความรู้สึกว่าเราไม่ได้รักผู้ชายคนนี้และไม่พร้อมจะสร้างครอบครัวกับเขา
แม้ว่าแฟนคนนี้มีความคิดที่จะแต่งงานกับหนู
แต่เขาเองก็กลัวและไม่กล้าบอกพ่อแม่หนูด้วย ทำให้หนูตัดสินใจเอาเด็กออก


หนูค่อนข้างมั่นใจว่าโรคที่หนูประสบอยู่เกิดจากกรรมที่หนูได้ทำไป
ถึงแม้หนูจะเกิดมาในครอบครัวที่สบาย อบอุ่น
แต่หนูก็ได้ทำในสิ่งที่หนูจะต้องรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต
รวมถึงเมื่อหนูได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว หนูก็คงต้องชดใช้กรรมต่อในภพภูมิอื่น


ตลอดหลายปีที่ปีที่ผ่านมา หนูอธิษฐานแผ่ส่วนบุญ
ขออโหสิกรรมให้กับดวงวิญญาณที่เป็นลูกของหนูทั้งสองดวง
ในทุกครั้งที่เข้าวัดทำบุญขณะเดียวกัน หนูก็จะทำบุญทำทานให้เด็กๆ ในทุกวันเกิด
แต่กระนั้นหนูก็ทราบดีว่าอาจจะยังไม่เพียงพอ
หนูเคยลงไปเข้าคอร์สนั่งสมาธิสามวันสองคืน ยอมรับค่ะว่าหนูไม่ถนัด
หรือจะเรียกว่าไม่ชอบเลยก็ได้ หนูเลยพยายามทำบุญด้วยวิธีอื่นๆ ให้ได้มากที่สุดค่ะ


หนูอ่านบทความเรื่อง “พุทธศาสนากับการุณยฆาต” ของท่าน ว.
ใน secret หน้าปกคุณวอลเตอร์ ลี
เลยทำให้หนูอยากเรียนขอคำแนะนำที่จะทำให้หนูได้ชดใช้กรรมที่หนูทำ
หนูทราบค่ะว่าเป็นบาปมหันต์
แต่หนูขอแค่ให้ได้ชดใช้กรรม ผ่อนหนักเป็นเบา และดีขึ้นจากโรคภัยที่หนูเป็น


อีกหนึ่งเรื่องที่หนูเป็นกังวล คือหนูกำลังจะแต่งงานปลายปีนี้
หนูกลัวมากค่ะว่า ถ้าหนูท้อง ลูกของหนูจะไม่ปกติ เพราะกรรมของหนู
หนูไม่อยากให้กรรมที่หนูทำต้องไปตกกับลูกของหนูและครอบครัวค่ะ
หนูกราบขอคำแนะนำด้วยค่ะ


:b44: ความจริงความเป็นไปในชีวิตของคนเรา
ขึ้นอยู่กับกฎธรรมชาติ (ธรรมนิยาย) หลายกฎ
แต่กฎที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราโดยตรงมีอยู่สองกฎ
นั่นก็คือ จิตนิยาม (กฎการทำงานของจิต) และกรรมนิยาม (กฎแห่งกรรม)
แต่ด้วยความที่ไม่รู้จักกฎธรรมชาติข้ออื่นๆ
ว่ามีส่วนกำหนดวิถีชีวิตของเราด้วยเหมือนกัน
เวลาเกิดมีปัญหาอะไรในชีวิตขึ้นมาเราจึงมักสรุปเอาอย่างง่ายๆ
ว่าเป็นเพราะ “กฎแห่งกรรม” เพียงอย่างเดียวทั้งๆที่ในความเป็นจริง
ความเป็นไปในวิถีชีวิตของคนเราอาจเป็นผลมากจากกฎธรรมชาติข้ออื่นๆ ด้วยก็ได้


ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะวินิจฉันกันว่าเรื่องของคุณเป็นผลของกฎแห่งกรรมหรือเปล่า
เราก็ควรจะมารู้จักกฎธรรมชาติข้ออื่นๆ ด้วย


กฎธรรมชาติที่มีผลต่อวิถีชีวิตของคนเรามีอยู่ด้วยกัน 5 กฎ
เรียกว่า “นิยาม” ประกอบด้วย



:b41: 1. อุตุนิยาม
คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยสภาพแวดล้อมและสภาพดินฟ้าอากาศ
ซึ่งมักส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนเราในแง่ใดแง่หนึ่ง
เช่น คนอีสานมักมีนิสัยสู้ชีวิตมากกว่าคนภาคเหนือ เพราะอีสานมีความกันดาร
ในขณะที่ภาคเหนือมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรมากกว่า
หรือคนภาคใต้มีความคิด ทางการเมืองมากกว่าคนทุกภาค
เพราะสภาพแวดล้อมที่ถูกกดขี่หรือถูกระทำมีมากกว่าคนภาคอื่น
หรือชาวยุโรปมีนิสัยรักการอ่ามากกว่าคนเอเชีย
เพราะยุโรปมีอากาศหนาวที่ยาวนานเขาจึงขลุกอยู่ในบ้าน
และนั่นเปิดโอกาสให้ได้อ่านมาก เพราะมีเวลาอยู่ในที่ร่มมากกว่าคนทางเอเชีย
ตัวอย่างเหล่านี้คือผลของสิ่งแวดล้อม ที่มีส่วนเข้ามากำหนดวิถีชีวิตของเราแต่ละคน


:b41: 2. พีชนิยาม
คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยการสืบต่อพันธุกรรม
คือ โครงสร้างทางกายภาพที่เราได้รับมาจากพ่อแม่
เช่น ร่างกาย ผิวพรรณ หน้าตา เพศสภาพ (ชายหรือหญิง)
ระบบการทำงานของอวัยวะ รวมทั้งโรคบางโรคที่ติดต่อได้ทางพันธุกรรม
ซึ่งสามารถส่งผ่านจากพ่อหรือแม่สู่ลูกเป็นต้น


:b41: 3. จิตนิยาม
คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยการทำงานของจิต เช่นกระบวนการคิด การจำ การรับรู้
การตอบสนองต่อโลกและปรากฏการณ์ การเก็บกดปมปัญหา การตื่นรู้ เป็นต้น


:b41: 4. กรรมนิยาม
คือ กฎธรรมชาติว่าด้วยการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา
และผลของการกระทำนั้นๆ ซึ่งเป็นไปในลักษณะหว่านพืชเช่นใดได้ผลเช่นนั้น


:b41: 5. ธรรมนิยาม
คือ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมทุกสรรพสิ่งในโลก ( Cosmic Law )
ในลักษณะสรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน
เกี่ยวเนื่องกันในลักษณะห่วงโซ่แห่งความสัมพันธ์
ทำให้เราได้ตระหนักรู้ว่า
ไม่มีสิ่งใดในโลกดำรงอยู่อย่างเอกเทศโดยไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยมกับสิ่งใดเลย


กฎธรรมชาติทั้ง ๕ นี้ หนูควรรู้เอาไว้เป็นความเข้าใจพื้นฐานว่า
ชีวิตของเราใช่จะเป็นไปตามกฏแห่งกรรมเท่านั้น ยังมีกฎอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วย
เมื่อรู้ความจริงอย่างนี้แล้ว
ในทางปฏิบัติ หนูก็จะสามารถดูแลตัวเองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
เช่น บางทีผลของโรคอาจเกิดจากกฏพีชนิยาม
ซึ่งเป็นเรื่องความผิดปกติของร่างกายหรือ พันธุกรรมก็เป็นได้
ถ้ามองในแง่นี้ หนูก็จะไม่ทิ้งการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันแต่ขณะเดียวกัน
ก็อาจเป็นผลของกรรมด้วยก็เป็นได้
ซึ่งหากมองแง่นี้หนูก็จะได้กลัวบาปกลัวกรรม ไม่เผลอทำผิดซ้ำซาก


แต่ถ้าหนูฟังธงลงไปว่า โรคที่เกิดกับฉันเป็นผลของกรรมแน่ๆ
หนูก็จะ (เข้าใจผิดๆเพียงแง่เดียว) แล้วมุ่งไปที่การแก้กรรม
และติดจมอยู่กับ “อดีตกรรม” ไม่รู้จบสิ้น จะแก้ก็ไม่ได้
เพราะมันเป็นความผิดในอดีต จึงต้องทนอยู่กับ “ความรู้สึกผิด” วันแล้ววันเล่า
นี่แหละที่กล่าวกันว่า “ปล่อยให้อดีตมากรีดปัจจุบัน” แต่ครั้นไม่เชื่อกรรมเลย
หนูก็จะมุ่งรักษาแบบสมัยใหม่อย่างเดียว
แต่ยิ่งรักษากลับพบว่าไม่ดีขึ้นชีวิตก็มองไม่เห็นทางออกอีกเช่นกัน



ทางสายกลางในเรื่องนี้ก็คือ ความป่วยของหนูมีสิทธิ์เป็นไปได้ที่ว่า
อาจจะเป็นผลของทั้ง “กรรม” และ “กาย” มาบรรจบกัน
ดังนั้นในทางกายก็ควรให้หมอดูแลรักษาไปตามกรรมวิธีของแพทย์
ส่วนใจ (ที่หมกมุ่นกับความรู้สึกผิด)
หนูก็ต้องรักษาด้วยการหาธรรมะมาเยียวยาด้วยตัวเอง


โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรบอกตัวเองว่า
ในฐานะที่เป็นปุถุชน ทุกคนมีสิทธิ์พลาดกันได้
แต่เราต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่ปล่อยให้เกิดซ้ำอีก
และควรฝึกการเจริญสติให้มาก เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่เหนือกรรม
ด้วยการไม่หลุดเข้าไปในความคิดฟุ้งซ่าน
เพราะในความคิดฟุ้งซ่าน กรรมเก่าจะมีบทบาทมาก


ด้วยเหตุนี้จึงควรระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันไว้เสมอ เมื่อหยุดความคิดฟุ้งซ่านได้
หนูจะพบความสุขในปัจจุบันขณะ และไม่ท้อแท้กับการสู้ชีวิตใหม่ในวันต่อๆ ไป
อนึ่ง หากยังรู้สึกผิดอยู่บ่อยๆ ก็ควรแก้ไขด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศล
และให้ชีวิตเป็นทางแก่สรรพสัตว์ ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้พอสมควร



ที่มา... http://www.kanlayanatam.com/sara/sara224.htm

:b48: :b8: :b48:


:b44: รวมคำสอน “พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ท่าน ว.วชิรเมธี)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38561

:b44: ประวัติและผลงาน “ท่าน ว.วชิรเมธี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=31140

เจ้าของ:  หุบเขาไร้รัก [ 17 ก.ย. 2010, 19:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: โรคกรรมหรือโรคกาย (ท่าน ว.วชิรเมธี)

สาธุ ค่ะ :b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  ฟ้าใสใส [ 19 ก.ค. 2011, 23:19 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: โรคกรรมหรือโรคกาย (ท่าน ว.วชิรเมธี)

:b44: กราบอนุโมทนาบุญกับท่านผู้เจริญในธรรม ธรรมรักษา เทวดาคุ้มครองนะเจ้าค่ะ :b8: :b8: :b8: :b20:

ไฟล์แนป:
Lotus810.jpg
Lotus810.jpg [ 7.16 KiB | เปิดดู 4314 ครั้ง ]

เจ้าของ:  saovapa [ 23 ก.ย. 2011, 16:44 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: โรคกรรมหรือโรคกาย (ท่าน ว.วชิรเมธี)

:b8: :b8: :b8:

ไฟล์แนป:
ARNUMOTANAMI.JPG
ARNUMOTANAMI.JPG [ 33.32 KiB | เปิดดู 4110 ครั้ง ]

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/