วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 12:00  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2010, 17:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รัก เมตตา ต่อตน : หนทางสู่ทางสงบที่แท้จริง

โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


จิตของคนเราดูแล้วหลากหลายแตกต่างกันราวฟ้าดิน
ชีวิตของคนแก่เฒ่ากับคนหนุ่มสาว คนรวยเป็นมหาเศรษฐีกับยาจก
คนเก่งระดับดอกเตอร์กับคนไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
คนดีที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หรืออาชญากรชั่วร้ายที่มีคนสาปแช่ง
ไม่ว่าคนเราจะมีสถานะภายนอกแตกต่างกันมากเพียงใด
ไม่ว่าคนเราจะนับถือศาสนาใด ผิวขาว ผิวดำ เชื้อชาติไหน พูดภาษาใดก็ตาม
แต่ธรรมชาติของจิตสำหรับมนุษย์เราทุกคนที่มีความเหมือนกัน คือ ประภัสสร
สะอาด สงบ ผ่องใสก็มีอยู่แต่ดั้งเดิม เหมือนน้ำใสสะอาดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ


ลมหายใจยาวๆ เป็นปฐมพยาบาลทางจิตใจ
ธรรมชาติของจิตแต่ดั้งเดิมนั้น ประภัสสร บริสุทธิ์ ผ่องใสโดยธรรมชาติ
แต่จิตเศร้าหมองเพราะอุปกิเลสครอบงำจิต
โลกธรรมฝ่ายน่าปรารถนา มีลาภ มียศ สรรเสริญ สุข ทำให้เกิดอารมณ์พอใจ ยินดี
โลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
ทำให้เกิดอารมณ์ไม่พอใจ ยินร้าย
อารมณ์พอใจ ไม่พอใจ ยินดี ยินร้าย ขี้เกียจ ขี้ฟุ้งซ่าน
ขี้น้อยใจ ขี้อิจฉา ขี้โกรธ ขี้กลัว เหล่านี้เป็นอาการของโรคทางใจ


ทุกข์ ไม่สบายใจเกิดขึ้นเมื่อไร
เราควรมีความเห็นถูกต้องว่า ความไม่สบายใจ ทุกข์ใจนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
เพราะธรรมชาติของจิตที่แท้จริงนั้น ผ่องใส ทุกข์ไม่สบายใจเกิดขึ้น ก็ให้รักษาด้วยการ
"หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ"


เมื่อมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วถึง ลมหายใจเข้ายาว ลมหายใจออกยาวแล้ว
อารมณ์พอใจ ไม่พอใจ ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นการรักษาสุขภาพใจดีของเรา
เป็นปฐมพยาบาลให้แก่จิตใจของเรา


หายใจสั้น เมื่อกระหายร้อน กระสับกระส่าย ไม่สงบ
เมื่อเจ็บไข้ ป่วย เป็นโรค เมื่อเหนื่อย เมื่ออารมณ์หงุดหงิด โกรธ
เมื่อใจร้อน ตื่นเต้น เพราะกลัว ดีใจ เสียใจ


หายใจยาว เมื่อกายได้พักผ่อน
เมื่อกายสงบเย็น เป็นปกติ สุขภาพแข็งแรง
เมื่ออารมณ์ดี เมื่อใจดี ใจสบาย


พยายามแก้ไขตนเอง

เมื่อเราสังเกตดูจิตใจ ความคิดของตนองแล้ว
จะเห็นว่าจิตใจของเราคิดแต่เรื่องของคนอื่นเป็นส่วนใหญ่ ว่าเขาดี เขาไม่ดี น่ารัก น่าชัง


คิดเรื่องคนอื่นมากกว่า 90% คิดเรื่องของตนเองน้อยกว่า 10%
อยากจะให้คนอื่นละความชั่วที่ไม่ถูกใจเรา อยากจะให้คนอื่นทำจิตใจให้บริสุทธิ์
เพื่อจะไม่กระทบเรา แต่จิตใจของเรากลับปล่อยให้ขุ่นมัว เศร้าหมอง เครียด ฟุ้งซ่าน


"โทษคนอื่นเห็นเป็นภูเขา โทษของเราแลไม่เห็นเท่าเส้นผม
ตดคนอื่นเหม็นเหลือทน ตดของตนถึงเหม็นไม่เป็นไร"


สนใจ เอาใจใส่ ดูตนเองเพิ่มขึ้น มากขึ้น จนดูตนเอง 90% ดูคนอื่น 10%
เราดูคนอื่นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง
เห็นตนเองในคนอื่น และเห็นคนอื่นในตัวเอง
เพราะไม่มากก็น้อย เราก็เหมือนๆกับคนอื่น
เป็นการเจริญสติ สัมปชัญญะ ทำให้มีเมตตากรุณา
ตำหนิ ติเตียนคนอื่น ดูหมิ่น ดูถูกคนอื่น น้อยลง
ตำหนิติเตียนตนด้วยสติปัญญา แก้ไขพัฒนาตน มากขึ้น
ความคิดที่จะแก้ไขปรับปรุงตนเองนี้ เป็นกุศลกรรม
เมื่อสำรวจตนเองแล้ว พบว่ามีข้อที่คิดว่าน่าจะแก้ไข
ให้ตั้งใจทุกวัน พยายามแก้ไขอยู่อย่างนั้น
ผิดพลาดเป็นร้อยเป็นพันครั้งก็ช่างมัน
พยายามคิดตั้งใจจะแก้ไขอยู่อย่างนั้นก็ใช้ได้


ความโกรธ

ความโกรธ เกิดขึ้นจาก


เขาพูดจริงโดยหวังดีต่อเรา แต่ไม่ถูกใจเรา ------เราโกรธ
เขาพูดธรรมดา แต่ไม่ถูกใจเรา ------เราโกรธ
เขาไม่พูด ไม่ถูกใจเรา ------เราโกรธ
เราคิดว่าเขานินทาเรา (ที่จริงเขาไม่ได้นินทาเรา) ------เราโกรธ
เขาว่าเรานินทาเขา (แต่เราไม่ได้นินทาเขา) ------เราโกรธ
เราเข้าใจผิดว่าเขาทำผิด (ทั้งๆที่เขาทำดี) ------เราโกรธ
เขาเข้าใจผิดว่าเราทำผิด (ทั้งๆที่เราทำดี) ------เราโกรธ
เขาหน้าบึ้ง ใจไม่ดี เรารู้สึกว่าเขาไม่พอใจเรา ------เราโกรธ


ความโกรธเปรียบเหมือนอาหารไม่อร่อย
หากมีใครนำมาให้เราแล้วเราไม่รับ ผู้ที่นำมาให้ก็จะต้องรับกลับไปเอง
ความโกรธก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขาโกรธเรา แล้วเราเฉยๆก็เท่ากับเขาโกรธตัวเอง
หากเราโกรธตอบ ก็เหมือนกินอาหารไม่อร่อยนั้นด้วยกัน


ความรักต่อตัวเอง เมตตาต่อตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ
มนุษย์เรา คนเรานี้ ไม่มีเมตตาแก่ตัวเอง ปัญหาต่างๆเกิดขึ้น
ทั้งปัญหาส่วนตัว ปัญหาสังคม ปัญหาของประเทศชาติที่เรามองเห็นอยู่
ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกโกรธ รู้สึกอาฆาตพยาบาท
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจาก เราไม่มีเมตตา ไม่มีความรักตัวเอง
ถ้าเรามีเมตตา มีความรักตัวเอง ปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น และน้อยลง
อดีตอยู่อย่างไร ปัจจุบันก็ยังอยู่อย่างนี้ เพียงเท่านี้
ความรักต่อตัวเองก็หมายถึง ทำจิตใจของตัวเองให้สบาย มีความสุข ในทุกสถานการณ์
ธรรมชาติของจิตของเราทุกคนเป็นประภัสสร ผ่องใสโดยธรรมชาติ
แต่ว่ามีกิเลส อนิจจัง ความไม่รู้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
เมื่อจิตใจของเรายังมีกิเลสแล้ว ความรู้สึกต่างๆที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจก็เกิดขึ้น
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปฏิกูลทางจิตใจ ความไม่สบายใจเกิดขึ้นจากภายในจิตใจของเรา
ปัญหาภายนอกตั้งแต่ขั้นกายก็ดี หรือว่ามีเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์ที่ไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ สิ้นเหล่านี้ก็เพียงแต่กระตุ้นจิตใจ ให้เกิดความทุกข์
ชีวิตของเราเป็นทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
"ชีวิตเป็นทุกข์ ความแก่ของตัวเอง หรือของสิ่งรอบตัว
ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์"
ทุกวันนี้เราจำเป็นต้องอยู่กับคนที่ไม่ชอบใจ ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ
ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ต่างคนต่างรีบ ใช้อารมณ์ ใช้วาจา
ใช้ความรุนแรงต่างๆ คนที่ไม่ชอบใจ สิ่งที่ไม่ชอบใจก็มีมากในชีวิต
ตรงกันข้ามก็มีอยู่ การต้องพลัดพรากจากคนที่เรารัก สิ่งที่เรารัก หรือไม่สมปรารถนาในชีวิต
ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความไม่สบายใจ เป็นทุกข์ใจ
แต่เราต้องเข้าใจว่า ความไม่สบายใจนี้ เกิดขึ้นจากภายในจิตใจของเรา
ไม่ใช่เกิดขึ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากกัน
เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ดี หรือเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายก็ดี
เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ก็เกิดอยู่กับทุกคนเช่นกัน
ถึงอย่างไรก็ตามความจริงของชีวิตก็เป็นเช่นนี้
ลองสังเกตดูว่าเรารักตัวเองมากแค่ไหน เรามีเมตตาต่อตัวเองมากน้อยขนาดไหน
จิตของเราผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่ความรู้สึกที่ไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย
ซึ่งเป็นข้อเสียของเราเกิดจากจิตใจ ถ้าเรายังรักตัวเอง ก็ต้องจัดการสิ่งเหล่านี้
ก่อนที่จะเดินทางจากชาตินี้ อย่างน้อยก็ต้องรู้จักว่าเรามีเมตตา
ทำจิตใจให้สบาย มีความสุข มีความพอใจ


ตั้งสติ หายใจออกยาวๆสบายๆ หายใจเข้า ปล่อยตามธรรมชาติ
หายใจออกยาวๆสบายๆ เพื่อคลายความรู้สึกที่ไม่ดีออกไปพร้อมกับลมหายใจออก หายใจเข้า
ปล่อยตามปกติ ให้ลมหายใจเข้า ช้าๆ ลึกๆ พอสมควร หายใจออก
ตั้งใจให้เป็นลมหายใจยาวๆสบายๆ เมื่อทำซ้ำๆอยู่เช่นนี้ ก็จะรู้สึกสบายกาย สบายใจ
เกิดความสงบเย็นใจ แล้วก็เกิดความละอายต่ออารมณ์โกรธ
จนกระทั่งความโกรธไม่กล้าโผล่หน้ามาให้เห็นอีก


เราลองนึกดูว่า น้ำ กับน้ำแข็ง เมื่อเราต้องการน้ำ ในขณะที่เรามีเพียงแต่น้ำแข็ง
ให้คิดเสียว่าน้ำกับน้ำแข็งเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อได้น้ำแข็งก็ควรดีใจ
และบอกตนเองว่า ทำอย่างไรจึงจะละลายน้ำแข็งได้
เราต้องหาความร้อน เพื่อให้มีความอบอุ่น และน้ำแข็งก็จะละลาย และกลายเป็นน้ำ
ความไม่สบายใจ ความสบายใจ ก็เหมือนน้ำแข็งกับน้ำ
แต่ถ้าเราเจอ เรามีสิ่งที่ไม่สบายใจ ก็ดีใจได้ ที่มองเห็นความไม่สบายใจชัดเจน
และมองเห็นความสบายใจชัดเจน


ประวัติพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
(ที่มา : นิตยสารเอสไควร์ กุมภาพันธ์ 2552)


พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เป็นชาวญี่ปุ่น
เป็นสัทธิวิหาริกรุ่นแรกของพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
ชาติภูมิเป็นชาวจังหวัดอีวาเต้ ประเทศญี่ปุ่น
เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2494 จบไฮสคูลสาขาเคมี


ออกเดินทางค้นหาความหมายของชีวิตทั่วโลกตั้งแต่อายุ 18 ปี
จนตัดสินใจบวชเป็นพระภิกษุที่เมืองไทย
ท่านคือพระนักปฏิบัติเผยแผ่ธรรมะด้วยภาษาเข้าใจง่าย
หนังสือของท่านหลายๆ เล่มล้วนเข้าถึงความทุกข์ของคนในปัจจุบันได้ตรงจุดที่สุด


พระอาจารย์มิตซูโอะเล่าถึงเส้นทางของตัวเองก่อนจะเดินทางมาเมืองไทยว่า
หลังเดินทางออกจากญี่ปุ่น เป้าหมายแรกคือปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่ไม่สำเร็จ
ปีนต่อไม่ไหว เพราะหนาวและยากลำบากมาก


จากนั้นเดินทางไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งได้ไปพุทธคยา ในอินเดีย
ได้เรียนรู้เรื่องราวของพระพุทธเจ้า ทำให้ได้คิดว่า
การที่เราออกเดินทางไกลเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตนั้น
แท้จริงแล้วเป็นแค่ปัจจัยภายนอก สิ่งที่เราแสวงหานั้นอยู่ไม่ไกลเลย
แท้จริงมันอยู่ที่จิตใจของเราเอง


พระอาจารย์มิตซูโอะ เริ่มต้นศึกษาพุทธศาสนาจากการนั่งสมาธิ
และเล่นโยคะกับโยคีที่อินเดียประมาณ 2 ปี อยู่ไปอยู่มามีปัญหาเรื่องวีซ่า
พอดีมีเพื่อนฝรั่งเศสบอกว่าให้ลองไปปฏิบัติธรรมที่เมืองไทย
เพราะไม่ยุ่งยากเท่าอินเดียก็เลยมาบวชที่เมืองไทย


"มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ" คือชื่อเดิมในภาษาญี่ปุ่น หลังบวชเป็นพระภิกษุ
หลวงพ่อชา (หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)
พระอุปัชฌาย์ตั้งฉายาให้ว่า "คเวสโก" (อ่าน คะ-เว-สะ-โก) แปลว่า "ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง"


ขณะที่หลวงปู่ชาเรียกลูกศิษย์ผู้นี้ว่า "สี่บาทห้าสิบ"
เพราะวันแรกที่ไปฝากตัว หลวงพ่อท่านถามชื่อ พระอาจารย์ก็ตอบไปว่า "ชิบาฮาชิ"
ออกเสียงคล้ายๆ คนพูดไทยไม่ชัดว่า "สี่บาทห้าสิบ"


ช่วงบวชแรกๆ หลวงพ่อบอกว่าพบอุปสรรคมากมาย
คิดว่าจะได้นั่งสมาธิกับเล่นโยคะเหมือนตอนที่อยู่ในอินเดียก็ไม่ได้ทำ


เพราะต้องตื่นตี 3 บิณฑบาต สวดมนต์ ภาษาไทยก็ไม่รู้เรื่อง


"กว่าจะได้นั่งสมาธิหรือเล่นโยคะก็เหนื่อยเสียแล้ว
คิดจะสึกกลับญี่ปุ่นอยู่หลายหน แต่เมื่อปฏิบัติไปก็เริ่มมีความอดทนมากขึ้น


รู้ว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ"


ที่มา...มติชน
คัดลอกจาก...
http://www.phrathai.net/node/2995

:b48: :b8: :b48:


แก้ไขล่าสุดโดย ลูกโป่ง เมื่อ 12 ต.ค. 2010, 17:58, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ย. 2010, 17:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 13:34
โพสต์: 1654

งานอดิเรก: ฟังเพลง และฟังธรรมตามกาลเวลา
สิ่งที่ชื่นชอบ: อภัยทาน
อายุ: 39
ที่อยู่: กรุงเทพมหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว




Lotus105.jpg
Lotus105.jpg [ 3.36 KiB | เปิดดู 2535 ครั้ง ]
:b41: ธรรมประจำใจอันประเสริฐ (พรหมวิหาร 4 ) :b41:

ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ , ธรรมประจำใจอันประเสริฐ , หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์ , ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ

เมตตา ความรัก ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
กรุณา ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือนร้อนของปวงสัตว์
มุทิตา ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรก้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือ มีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมควรกับความรับผิดชอบของตน
ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม

พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม , ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม , ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม , หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่

พรหมวิหาร 4 เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัปปมัญญา 4 เพราะแผ่สม่ำเสมอโดยทั่วไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่มีจำกัดขอบเขต

พรหมวิหารมีในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ด้วยสังคหวัตถุ เป็นต้น

อนึ่งในการที่จะเข้าใจและปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ให้ถูกต้อง พึงทราบรายละเอียดบางอย่างโดยเฉพาะสมบัติ และวิบัติ ของธรรม 4 ประการนั้น ดังนี้

ก. ความหมายโดยวิเคราะห์ศัพท์
1. เมตตา = (มีน้ำใจ) เยื่อใยใฝ่ประโยชน์สุขแก่คนสัตว์ทั้งหลาย หรือน้ำใจปรารถนาประโยชน์สุขที่เป็นไปต่อมิตร
2. กรุณา = ทำความสะเทือนใจแก่สาธุชน เมื่อคนอื่นประสบทุกข์ หรือถ่ายถอนทำทุกข์ของผู้อื่นให้หมดไป หรือแผ่ใจไปรับรู้ต่อสัตว์ทั้งหลายที่ประสบทุกข์
3. มุทิตา = โมทนายินต่อผู้ประกอบด้วยสมบัติหรือผลดีนั้นๆ
4. อุเบกขา = คอยมองดูอยู่ โดยละความขวนขวายว่าสัตว์หลายจงอย่าผูกเวรกัน เป็นต้น และโดยเข้าถึงความเป็นกลาง


ข. ลักษณะ หน้าที่หรือกิจ (รส) ผลปรากฏ (ปัจจุปัฏฐาน) และปทัสถาน (เหตุใกล้)
1. เมตตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นอยู่เป็นปกติ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเกื้อกูลแก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา
ผลปรากฎ = กำจัดความอาฆาตแค้นเคืองให้ปราศไป
ปทัสถาน = เห็นภาวะที่น่าเจริญใจของคนสัตว์ทั้งหลาย

2. กรุณา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นตกทุกข์เดือนร้อน)
ลักษณะ = ไม่นิ่งดูดาย/ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของคนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา
ผลปรากฎ = ไม่เบียดเบียน/อวิหิงสา
ปทัสถาน = เห็นภาวะไร้ที่พึ่ง/สภาพน่าอนาถของคนสัตว์ทั้งหลายที่ถูกทุกข์ครอบงำ

3.มุทิตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นมีสุขสำเร็จหรือทำอะไรก้าวไปด้วยดี)
ลักษณะ = พลอยยินดี/ยินดีด้วย
หน้าที่ = ไม่ริษยา/เป็นปฏิปักษ์ต่อความริษยา
ผลปรากฎ = ขจัดความริษยา ความไม่ยินดีหรือความทนไม่ได้ต่อความสุขสำเร็จของผู้อื่น
ปทัสถาน = เห็นสมบัติ/ความสำเร็จของคนสัตว์ทั้งหลาย
อุเบกขา = (ในสถานการณ์รักษาธรรมตามความรับผิดชอบต่อกรรมที่เขาทำ)
ลักษณะ = เป็นไปด้วยอาการเป็นกลางต่อคนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = มองเห็นความเสมอภาคกันในสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฎ = ระงับความขัดเคืองเสียใจและความคล้อยตามดีใจ
ปทัสถาน = มองเห็นภาวะที่ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมของตน ว่าสัตว์ทั้งหลายจักได้สุข พ้นทุกข์ ไม่เสื่อมจากสมบัติที่ได้ที่ถึง ตามใจชอบได้อย่างไร

ค. สมบัติ (ความสมบูรณ์หรือความสัมฤทธิ์ผล) และวิบัติ (ความล้มเหลว หรือการปฏิบัติผิดพลาด ไม่สำเร็จผล)
1. เมตตา : สมบัติ = สงบหายไร้ความแค้นเคืองไม่พอใจ
วิบัติ = เกิดเสน่หา
2. กรุณา : สมบัติ = สงบหายไร้วิหิงสา
วิบัติ = เกิดความโศกเศร้า
3. มุทิตา : สมบัติ = สงบหายไร้ความริษยา
วิบัติ = เกิดความสนุกสนาน
4. อุเบกขา : สมบัติ = สงบหายไม่มีความยินดียินร้าย
วิบัติ = เกิดความเฉยด้วยไม่รู้ (เฉยโง่ เฉยเมย เฉยเมิน)

ง. ข้าศึก คือ อกุศลซึ่งเป็นศัตรูคู่ปรับที่จะทำลายหรือทำธรรมนั้นๆ ให้เสียไป
1. เมตตา : ข้าศึกใกล้ = ราคะ
ข้าศึกไกล = เกิดเสน่หา
2.กรุณา : ข้าศึกใกล้ = โทมนัส คือ ความโศกเศร้าเสียใจ
ข้าศึกไกล = วิหิงสา
3. มุทิตา : ข้าศึกใกล้ = โสมนัส (เช่นดีใจว่าตนจะพลอยได้รับผลประโยชน์)
ข้าศึกไกล = อรติ คือ ความไม่ยินดี ไม่ใยดี ริษยา
4. อุเบกขา : ข้าศึกใกล้ = อัญญารุเบกขา (เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยโง่ เฉยเมย)
ข้าศึกษไกล = ราคะ (ความใคร่) และปฏิฆะ (ความเคือง) หรือชอบใจและขัดใจ

จ. ตัวอย่างมาตราฐาน ที่แสดงความหมายของพรหมวิหารได้ชัดเจน ซึ่งคัมภีร์ทั้งหลายมักยกขึ้นอ้าง
1. เมื่อลูกยังเล็กเป็นเด็กเยาว์วัย
แม่ - เมตตา รักใคร่เอาใจใส่ ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต
2. เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย
แม่ - กรุณา ห่วงใยปกป้องรักษา หาทางบำบัดแก้ไข
3. เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า
แม่ - มุทิตา พลอยปลาบปลื้มใจ หวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน
4. เมื่อลูกรับผิดชอบกิจหน้าที่ของตนขวนขวายอยู่ด้วยดี
แม่ - อุเบกขา มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู

พึงทราบด้วยว่า ฉันทะ คือ กัตตุกัมยตาฉันทะ (ความอยากจะทำให้ดี หรือ ความต้องการที่จะทำให้คนสัตว์ทั้งหลายดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง เช่น อยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์เป็นต้น) เป็นจุดตั้งต้น (อาทิ) ของพรหมวิหารทั้ง 4 นี้ การข่มระงับกิเลส (เช่นนิวรณ์) ได้ เป็นท่ามกลาง สมาธิถึงขั้นอัปปนา (คือ ภาวะจิตที่มั่นคงเรียบรื่นสงบสนิทดีที่สุด) เป็นที่จบ ของพรหมวิหารทั้ง 4 นั้น

กราบอนุโมทนาบุญกับท่านผู้เจริญในธรรมและกัลยาณมิตรทุกท่านค่ะ

.....................................................
ธรรมอำนวยพร
ขอให้.....มีจิตที่รู้ ที่ตื่น ที่เบิกบาน (พุทธะ)
ขอให้.....ทำการงานด้วยความสุข (อิทธิบาทสี่)
ขอให้.....ขจัดทุกข์ได้ด้วยปัญญา (อริยสัจสี่)
ขอให้.....มีดวงตาที่เห็นความจริง (ไตรลักษณ์)
ขอให้.....เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยไตรสิกขา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา)
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ย. 2010, 18:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ฟ้าใสใส เขียน:
:b41: ธรรมประจำใจอันประเสริฐ (พรหมวิหาร 4 ) :b41:

ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ , ธรรมประจำใจอันประเสริฐ , หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์ , ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ ...


ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ผู้แต่ง พระธรรมปิฎก สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2546 หน้า 124

:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ย. 2010, 04:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 02:43
โพสต์: 4467

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

อนุโมทนาจ๊ะ..น้องลูกโป่ง

.....................................................
แบ่งปันกันกิน,รักษาศีล คือ กาย วาจา
เจริญสมาธิภาวนา, กาย- วาจา-ใจอ่อนน้อม
ยอมตนรับใช้, แบ่งให้ความดี
มีใจอนุโมทนา, ใฝ่หาฟังธรรม
นำแสดงออกไม่ได้เว้น, ทำความเห็นให้ถูกต้อง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 66 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร