ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

คำถาม - คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ)
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=36317
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  ลูกโป่ง [ 19 ม.ค. 2011, 17:37 ]
หัวข้อกระทู้:  คำถาม - คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ)

รูปภาพ

คำถาม - คำตอบ
ปัญหาทางพระพุทธศาสนา

สุชีพ ปุญญานุภาพ

คัดลอกจาก...คำถาม - คำตอบ
ปัญหาทางพระพุทธศาสนา : สุชีพ ปุญญานุภาพ
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 009504
โดยคุณ : mayrin [19 ส.ค. 2546]

http://www.dharma-gateway.com/ubasok/su ... -03-01.htm



:b8: ที่ท่านสอนให้พึ่งตน และพึ่งธรรมตามความในมหาปรินิพพานสูตรนั้น
คือ พึ่งอย่างไร ? (ผู้ถาม : พุทธสาวก)


ที่ว่าให้พึ่งตน คือ ให้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่ต้องหวังให้ผู้อื่นปฏิบัติแทน
ส่วนให้พึ่งธรรมนั้น ท่านเปรียบว่า ในกลางมหาสมุทร เกาะย่อมเป็นที่พึ่งของผู้ประสบภัยได้
ควรอาศัยธรรมเป็นที่พึ่ง อย่าใช้อธรรมหรือสิ่งอื่นใดที่ไม่เป็นธรรมเป็นที่พึ่ง
ใจความรวม ก็คือ ให้พึ่งตัวเองและใช้คุณธรรมเป็นแนวปฏิบัติ
ซึ่งจะให้ความมั่นใจในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างถูกต้องดีงาม



:b8: คำว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ ปฏิบัติอย่างไร ? (ผู้ถาม : พุทธสาวก)

หมายความว่า ให้ปฏิบัติไปตามลำดับที่เรียกว่า อนุปุพพปฏิปทา
อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเปรียบเหมือนขึ้นบันไดทีละขั้น

เจ้าของ:  ลูกโป่ง [ 19 ม.ค. 2011, 17:38 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คำถาม – คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ)

:b8: พระดำรัสก่อนปรินิพพานของพระพุทธเจ้าที่ว่า
"โย โว อานนฺท ธมฺโม จ วินโย เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา"
หมายความว่าอย่างไร ? และมีผลอย่างไรในปัจจุบัน ? (ผู้ถาม : ส.สุจีรกุลกิจ)


พระดำรัสนี้แปลว่า

"ดูก่อนอานนท์ ! ธรรมและวินัยอันใดที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย
ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป"

พระดำรัสนี้แสดงว่า มิได้ทรงตั้งผู้ใดเป็นพระศาสดาแทนพระองค์
แต่ทรงตั้งพระธรรมวินัยเป็นศาสดาเมื่อทรงล่วงลับไป


หลักการนี้ ความจริงได้เคยทรงแสดงมาแล้วเมื่อตรัสกับพระวักกลิว่า
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม
อันเป็นการตัดปัญหาเรื่องบุคคลออกไป เหลือธรรมะเป็นจุดศูนย์กลาง
ผลดีของเรื่องนี้คือ ไม่มีปัญหาเรื่องใครแย่งกันเป็นพระศาสดา
และเป็นการเตือนให้ปฏิบัติธรรม
และตั้งพระธรรมไว้เป็นจุดรวมแห่งพระพุทธศาสนา

เจ้าของ:  ลูกโป่ง [ 19 ม.ค. 2011, 17:40 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คำถาม – คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ)

:b8: เหตุไฉนพระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงสรรเสริญปาฏิหาริย์อื่น
นอกจากอนุศาสนีปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายในปาฏิหาริย์ ๓
แต่ศาสนาอื่นเข้าเน้น miracle หรือปาฏิหาริย์
แล้วมีชาวพุทธเฮโลไปจนน่าฉงน
หากดูในแง่กำลังใจ เราหยิบเอาของเราเองมาใช้
จะเป็นการขัดกับพระพุทธบัญญัติไหม ? (ผู้ถาม : ส.สุจีรกุลกิจ)


ในบางพระสูตร เช่น เกวัฏฏสูตร ทรงสรรเสริญอนุศาสนีปาฏิหาริย์
เพื่อชี้แจงให้ชายหนุ่มผู้ปรารถนาดี
ซึ่งมาขอให้ทรงส่งพระสาวกผู้เชี่ยวชาญทางฤทธิ์ไปสั่งสอน
เพื่อดึงดูดให้มานับถือพระพุทธศาสนา

ทรงชี้แจงว่าการสั่งสอนได้เป็นอัศจรรย์ สำคัญมากกว่าแสดงฤทธิ์ (อิทธิปาฏิหาริย์)
เพราะคำสั่งสอนที่มีเหตุผล จะนำให้ประพฤติปฏิบัติได้เข้าถึงธรรมะ
อีกอย่างหนึ่งถ้าไปเน้นเรื่องฤทธิ์ และการดักใจทายใจเป็นสำคัญ
อาจจะมีผู้หลอกลวงเข้ามาทำความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา

แต่ในที่อื่นทรงสรรเสริญภิกษุผู้มีอภินิหารครบ ๓
คือ ฤทธิ์ อ่านใจได้ และสั่งสอนมีเหตุผล
ว่าเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา หรือเป็นทักขิเณยยบุคคล
รวมความว่ามิได้ทรงปฏิเสธอิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทสนาปฏิหาริย์
ทรงยกย่องทั้ง ๓ ปาฏิหาริย์ แต่ในบางกรณีจะไม่ทรงเน้นเรื่องฤทธิ์
ก็เพื่อต้องการให้เข้าถึงธรรมะอย่างมีเหตุผลโดยไม่ติดในฤทธิ์
จะได้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมีเหตุผล

เจ้าของ:  ลูกโป่ง [ 19 ม.ค. 2011, 17:42 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คำถาม – คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ)

:b8: อุเบกขาในพรหมวิหาร ต่างจากอุเบกขาในโพชฌงค์อย่างไร ?
(ผู้ถาม : อุทัย ภิรมย์รื่น)


พระอาจารย์ในประเทศไทยสอนสืบกันมาว่า
อุเบกขาโดยย่อมี ๓ อย่าง คือ

อุเบกขาเวทนา วางเฉยในอารมณ์
อุเบกขาพรหมวิหาร วางเฉยในสัตว์
อุเบกขาโพชฌงค์ วางเฉยในธรรม


วางเฉยในอารมณ์ หมายถึง ความรู้สึกกลางๆ
ในอารมณ์ที่ผ่านมาทางทวารทั้งหก ไม่สุขไม่ทุกข์

วางเฉยในสัตว์ หมายถึง ความรู้สึกปราศจากอคติในมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย

วางเฉยในธรรม หมายถึง การปฏิบัติธรรมจนจิตสงบเป็นสมาธิ
แล้วก็วางเฉยอย่างมีสติกำกับ เหมือนการขับรถขับเรือ
เมื่อรถหรือเรือไปตรงทางแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร
แต่จะคุมอยู่อย่างมีสติกำกับ อย่างนี้เรียกว่า อุเบกขาโพชฌงค์

เจ้าของ:  ลูกโป่ง [ 19 ม.ค. 2011, 17:44 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คำถาม – คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ)

:b8: อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ท่านแสดงไว้ ๔ เหตุ
ไฉนบางแห่งจึงว่ามี ๒ เท่านั้น ? (ผู้ถาม : ม.ส)


ความยึดมั่นถือมั่นหรืออุปาทานนั้น มี ๔ อย่าง คือ

๑. ความยึดมั่นในกาม เรียก กามุปาทาน

๒. ความยึดมั่นถือมั่นในทิฐิ เรียก ทิฏฐุปาทาน

๓. ความยึดมั่นถือมั่นในศีลและพรต
คือ ติดในการปฏิบัติแค่ศีลหรือการทำอะไรเป็นประจำ
เรียก สีลัพพตุปาทาน

๔. ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน หรือติดยึดอัตตา เรียก อัตตวาทุปาทาน


อุปาทานเต็มรูปมี ๔ อย่าง แต่เมื่อจัดข้อ ๒ คือ ความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ
กับข้อ ๓ ความยึดมั่นถือมั่นในศีลและพรต
กับข้อ ๔ ความยึดมั่นถือมั่นในวาทะว่า ตัวตนเข้าเป็นทิฏฐิความเห็นผิดด้วยกัน

จึงเท่ากับมีอุปาทานเพียง ๒ ข้อเท่านั้น
คือ ๑. กามุปาทาน ๒.ทิฏฐุปาทาน
ส่วนข้อ ๓ และ ๔ รวมลงในข้อ ๑ คือ กามุปาทานนั้นจัดเข้าในโลภะ

เจ้าของ:  ลูกโป่ง [ 19 ม.ค. 2011, 17:52 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คำถาม – คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ)

:b8: ทำนองเดียวกัน นิวรณ์ (ธรรมอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดี)
ท่านแสดงว่ามี ๕ แต่เหตุไฉนบางแห่งจึงว่ามี ๘ ประการ ? (ผู้ถาม : ม.ส)


นิวรณ์ หรือธรรมอันกั้นจิตมิให้บรรลุความดีหรือสมาธิ โดยทั่วไปมี ๕ คือ
๑. กามฉันท์ ๒. พยาบาท ๓. ถีนะมิทธะ ๔. อุทธัจจะ กุกกุจจะ และ ๕. วิจิกิจฉา
แต่โดยพิศดาร ท่านแสดงไว้ ๘
ก็เพราะแยกที่มาคู่กันเป็นแต่ละข้อ แล้วเพิ่มอวิชชาเข้าไปอีกข้อ ๑ จึงเป็น ๘ ดังนี้

๑. กามฉันท์ ความพอใจในกาม

๒. พยาบาท ความคิดปองร้าย

๓. ถีนะ ความหดหู่แห่งจิต

๔. มิทธะ ความง่วงงุน

๕. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน

๖. กุกกุจจะ ความรำคาญใจ

๗. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

๘. อวิชชา ความไม่รู้


คัดลอกจาก :
ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๗ ฉบับที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๖

เจ้าของ:  ลูกโป่ง [ 19 ม.ค. 2011, 17:54 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คำถาม – คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ)

:b8: ขอทราบทรรศนะทางพระพุทธศาสนาเรื่องปัญญาทั้งในแง่ทั่วไป
และในทางปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ? (ผู้ถาม : ไม่ประสงค์ออกนาม)


ปัญญาในแง่ทั่วไป ท่านแสดงไว้ดังนี้

กลุ่มที่ ๑
๑. ปัญญาเกิดจากการคิด - จินตามยปัญญา
๒. ปัญญาเกิดจากการฟังรวมทั้งการอ่าน การศึกษา - สุตมยปัญญา
๓. ปัญญาเกิดจากการอบรมหรือการลงมือกระทำ - ภาวนามยปัญญา

กลุ่มที่ ๒
๑. ความฉลาดในความเจริญแล้ว รู้จักสร้างความเจริญ - อายโกศล
๒. ความฉลาดในความเสื่อมแล้ว รู้จักหลีกเลี่ยงความเสื่อม - อปายโกศล
๓. ความฉลาดในอุบายหรือวิธีการต่างๆ
เพื่อให้เกิดความเจริญหลีกเลี่ยงความเสื่อม - อุปายโกศล

ปัญญาในทางปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ท่านแสดงไว้ดังนี้

กลุ่มที่ ๑
ปัญญาเห็นความเกิดดับอันทำให้ไม่หลงติด
เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ - อุทยัพพยปัญญา หรือวิปัสสนาญานข้อต้นๆ

กลุ่มที่ ๒
ปัญญาอันรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ ประการ
ซึ่งถือว่าเป็นปัญญาอย่างสูงที่ทำให้บรรลุมรรคผล
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ สัมมาทิฐิในอริยมรรค


:b44: รวมคำสอน “อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=49286

:b44: ประวัติและผลงาน “อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44661

เจ้าของ:  daoduan [ 04 ธ.ค. 2015, 10:21 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คำถาม - คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ)

ขออนุโมทนาสาธุค่ะ
Kiss :b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  อุบาสกน้อย [ 01 พ.ย. 2017, 13:58 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คำถาม - คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ)

ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 28 พ.ย. 2020, 18:42 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คำถาม - คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ)

Kiss
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  Duangtip [ 21 พ.ย. 2021, 13:08 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: คำถาม - คำตอบ ปัญหาทางพระพุทธศาสนา (สุชีพ ปุญญานุภาพ)

:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/