วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 10:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 41 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ย. 2011, 22:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


จัมเปยยกจริยาที่ ๓
ว่าด้วยจริยาวัตรของจัมเปยยกนาคราช


อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นพระยานาคชื่อจัมเปยยกะมีฤทธิ์มาก แม้ในกาลนั้น เราเป็นผู้ประพฤติธรรมเพียบพร้อมด้วยศีลวัตร หมองูได้จับเราผู้ประพฤติธรรม รักษาอุโบสถให้เล่นรำอยู่ที่ใกล้ประตูพระราชวัง หมองูนั้นคิดเอาสีเช่นใด คือ สีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง เราย่อมเปลี่ยนไปตามจิตของเขา แปลงกายให้เหมือนที่เขาคิดเราได้ทำน้ำให้เป็นบกบ้าง ได้ทำบกให้เป็นน้ำ ถ้าแหละเราโกรธเคืองต่อหมองูนั้น ก็พึงทำเขาให้เป็นเถ้าโดยฉับพลัน ถ้าเราจักเป็นไปตามอำนาจจิตเราก็จักเสื่อมจากศีล เมื่อเราเสื่อมจากศีลประโยชน์อันสูงสุดจะไม่สำเร็จ กายของเรานี้จงแตกไป จงกระจัดกระจายอยู่ ณ ที่นี้ เหมือนแกลบกระจัดกระจายอยู่ก็ตามเถิด เราจะไม่ทำลายศีล ฉะนี้แล.

จบจัมเปยยกจริยาที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๑๓


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 30 ม.ค. 2014, 00:04, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ย. 2011, 00:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


จูฬโพธิจริยาที่ ๔
ว่าด้วยจริยาวัตรของจูฬโพธิปริพาชก


อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นปริพาชกชื่อจูฬโพธิ มีศีลงามเราเห็นภพโดยเป็นสิ่งน่ากลัว จึงออกบวชเป็นดาบส นางพราหมณีผู้มีผิวพรรณดังทองคำ ซึ่งเป็นภรรยาของเราแม้นางก็มิได้อาลัยในวัฏฏะ ออกบวชเป็นตาปสินี เราทั้งสองไม่มีความอาลัย ตัดพวกพ้องขาดไม่ห่วงใยในตระกูลและหมู่ญาติเที่ยวไปยังบ้านและนิคม มาถึงยังพระนครพาราณสี เราทั้งสองอยู่ ณ ที่นั้น มีปัญญาไม่เกี่ยวข้องในตระกูลและคณะ เราทั้งสองอยู่ในพระราชอุทยานอันไม่เกลื่อนกล่นสงัดเสียง พระราชาเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยานได้ทอดพระเนตรเห็นนางพราหมณี จึงเสด็จเข้ามาหาเราแล้วตรัสถามว่า นางพราหมณีคนนี้เป็นอะไรกับท่าน เป็นภริยาของใครเมื่อพระราชาตรัสถามอย่างนี้เราได้ทูลแก่พระองค์ดังนี้ว่า นางพราหมณีนี้มิใช่ภริยาของอาตภาพ เป็นผู้ประพฤติธรรมร่วมกันเป็นผู้มีคำสอนร่วมกัน พระราชาทรงกำหนัดหนักหน่วงในนางพราหมณีนั้นจึงรับสั่งให้พวกราชบุรุษจับ ทรงบีบคั้นด้วยกำลังสั่งให้นำเข้าไปยังภายในพระนคร เมื่อภริยาเก่าของเราเกิดร่วมกันมีคำสอนร่วมกัน ถูกฉุดคร่าไปความโกรธพึงเกิดแก่เรา เราระลึกถึงศีลวัตรได้พร้อมกับความโกรธที่เกิดขึ้น เราข่มความโกรธได้ ณ ที่นั้นเอง ไม่ให้มันเจริญขึ้นไปอีก ถ้าใครๆ พึงเอาหอกอันคมกริบแทงนางพราหมณีนั้น เราก็ไม่พึงทำลายศีลของเราเลย เพราะเหตุแห่งโพธิญาณเท่านั้นเราจักเกลียดนางพราหมณีนั้นก็หามิได้ และเราจะไม่มีกำลังก็หามิได้ เพราะพระสัมพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา ฉะนั้นเราจึงรักษาศีลไว้ ฉะนี้แล.

จบจูฬโพธิจริยาที่ ๔
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๑๔


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ย. 2011, 00:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


มหิสราชจริยาที่ ๕
ว่าด้วยจริยาวัตรของพระยากระบือ


อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นกระบือ เที่ยวอยู่ในป่าใหญ่มีกายอ้วนพี มีกำลังมากใหญ่โต ดูหน้ากลัวพิลึก ประเทศไรๆ ในป่าใหญ่นี้อันเป็นที่อยู่ของฝูงกระบือ มีอยู่ที่เงื้อมเขาก็ดี ที่ซอกห้วยธารเขาก็ดี ที่โคนไม้ก็ดีที่ใกล้บึงก็ดี เราเที่ยวไปในที่นั้นๆ เมื่อเราเที่ยวไปในป่าใหญ่ ได้เห็นสถานที่อันเจริญเราจึงเข้าไปสู่ที่นั้น แล้วยืนพักอยู่และนอนอยู่ ครั้งนั้น ลิงป่าผู้ลามก หลุกหลิก ลอกแลกมา ณ ที่นั้นถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดเราที่คอที่หน้าผาก ที่คิ้ว ย่อมเบียดเบียนเราวันหนึ่งครั้งหนึ่ง วันที่ ๒ วันที่ ๓ แม้วันที่ ๔ ก็วันละครั้ง เราจึงเป็นผู้อันลิงนั้นเบียดเบียนตลอดกาลทั้งปวง เทวดาเห็นเราถูกลิงเบียดเบียน ได้กล่าวกะเราดังนี้ว่า ท่านจงยังลิงลามกตัวนี้ให้ฉิบหายตายโหงเสีย ด้วยเขาและกีบเถิด เมื่อเทวดากล่าวอย่างนี้ในครั้งนั้นแล้ว เราได้ตอบเทวดานั้นว่าเหตุไร ท่านจะให้เราเปื้อนซากศพอันลามกไม่เจริญเล่า ถ้าเราพึงโกรธต่อลิงนั้น เราก็พึงเป็นผู้เลวกว่ามัน ศีลของเราก็จะพึงแตก และวิญญูชนทั้งหลายก็จะพึงติเตียนเรา เราเป็นผู้บริสุทธิ์ ตายเสียยังประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ที่น่าละอายอีก อย่างไรเราจักเบียดเบียนผู้อื่นแม้เพราะเหตุแห่งชีวิต บุคคลผู้มีปัญญา อดกลั้นคำดูหมิ่นในเพราะของคนเลวคนปานกลางและคนชั้นสูง ย่อมได้อย่างนี้ตามใจปรารถนา ฉะนี้แล.

จบมหิสราชจริยาที่ ๕
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๑๕


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2011, 17:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


๖. รุรุราชจริยา
ว่าด้วยจริยาของพญาเนื้อชื่อรุรุ

อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นพญาเนื้อชื่อรุรุ มีขนสีเหลืองคล้ายทองคำที่หลอมดีแล้ว ประกอบด้วยศีลอันบริสุทธิ์ยิ่ง เราเข้าไปอาศัยอยู่ ณ ประเทศที่น่ารื่นรมย์ใจเป็นรมณียสถาน สงัดเงียบปราศจากมนุษย์ เป็นที่ยินดีแห่งใจใกล้ฝั่งแม่น้ำ ครั้งนั้น บุรุษถูกเจ้าหนี้เบียดเบียนจึงโดดลงในแม่น้ำ ในกระแสน้ำข้างเหนือ ด้วยคิดว่า เราจะเป็นหรือตายก็ตามเถอะ เขาถูกกระแสน้ำพัดไปในแม่น้ำใหญ่ตลอดคืนตลอดวัน ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนาลอยไปท่ามกลางแม่น้ำคงคา เราได้ยินเสียงของเขาผู้ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนาแล้ว ไปยืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำถามว่า ท่านเป็นคนเช่นไร เขาถูกเราถามแล้ว ได้แจ้งเหตุของตนในกาลนั้นว่า ข้าพเจ้ากลัว สะดุ้งต่อพวกเจ้าหนี้แล้ว จึงโดดลงยังมหานที เราทำความกรุณาแก่เขา สละชีวิตของตนว่ายน้ำไปนำเขามาในเวลากลางคืนข้างแรม เรารู้กาลที่เขาสบายใจแล้ว ได้กล่าวแก่เขาดังนี้ว่า ข้าพเจ้าจะขอพรกะท่านสักข้อหนึ่ง คือท่านอย่าบอกใครว่า ข้าพเจ้าอยู่ ณ ที่นี้ เขาไปยังนครแล้ว พระราชาตรัสถาม มีความต้องการทรัพย์จึงกราบทูล เรากราบทูลเหตุการณ์ทุกอย่างแก่พระราชา พระราชาทรงสดับคำของเราแล้วทรงสอดศรจะยิงบุรุษนั้น ตรัสว่า “เราจักฆ่าอนารยชน ผู้ประทุษร้ายมิตรเสียในที่นี้แหละ” เราตามรักษาคนผู้ประทุษร้ายมิตรนั้น ได้มอบตัวของเราถวายว่า ข้าแต่มหาราช ขอได้ทรงโปรดก่อนเถิดพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะทำตามพระราชประสงค์ของพระองค์ เราตามรักษาศีลของเรา ไม่ใช่ตามรักษาชีวิตของเราเพราะในกาลนั้น เราเป็นผู้รักษาศีลเพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น

รุรุราชจริยาที่ ๖ จบ
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2011, 17:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


มาตังคจริยาที่ ๗
ว่าด้วยจริยาวัตรของมาตังคชฏิล


อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นชฏิล มีความเพียรอันแรงกล้า มีนามชื่อว่ามาตังคะ เป็นผู้มีศีล มีจิตมั่นคงดี เราและพราหมณ์คนหนึ่งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา เราอยู่ข้างเหนือ พราหมณ์อยู่ข้างใต้ พราหมณ์เที่ยวไปตามริมฝั่ง ได้เห็นอาศรมของเราข้างเหนือน้ำบริภาษเราในที่นั้น แล้วแช่งให้เราศีรษะแตกถ้าเราพึงโกรธต่อพราหมณ์นั้น ถ้าเราไม่คุ้มครองศีล เราแลดูพราหมณ์นั้นแล้ว พึงทำให้เป็นดังเถ้าได้ ครั้งนั้นพราหมณ์นั้นโกรธเคืองมีใจประทุษร้าย แช่งเรามุ่งหมายจะให้ศีรษะแตก คำแช่งนั้นจะตกลงบนศีรษะของเขาเอง เราช่วยเปลื้องเขาให้พ้นโดยควร เราตามรักษาศีลของเรา มิใช่เรารักษาชีวิตของเราเพราะในกาลนั้น เราเป็นผู้มีศีลเพราะเหตุแห่งโพธิญาณนั่นเอง ฉะนี้แล.

จบมาตังคจริยาที่ ๗
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๑๘


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ย. 2011, 00:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมเทวปุตตจริยาที่ ๘
ว่าด้วยจริยาวัตรของธรรมเทพบุตร

อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นเทพบุตรชื่อว่าธัมโม มีอานุภาพมากมีฤทธิ์มาก บริวารมากเป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลกทั้งปวง เราชักชวนให้มหาชนสมาทานกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เที่ยวไปยังบ้านและนิคม
มีมิตรสหาย มีบริวารชน ในกาลนั้น เทพบุตรลามก เป็นผู้ตระหนี่แสดงอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ แม้เทพบุตรนั้น ก็เที่ยวไปในแผ่นดินนี้ มีมิตรสหาย มีบริวารชน เราทั้งสอง คือ ธรรมวาทีเทพบุตรและอธรรมวาทีเทพบุตร เป็นข้าศึกแก่กัน เราทั้งสองนั่งรถสวนทางกันมา ชนรถของกันและกันที่แอกรถ การทะเลาะวิวาทอันพึงกลัวย่อมเป็นไปแก่เทพบุตรทั้งสองผู้ประกอบด้วยกัลยาณธรรมและบาปธรรม มหาสงครามปรากฏแล้ว เพื่อต้องการจะให้กันและกันหลีกทาง ถ้าเราพึงโกรธเคืองอธรรมเทพบุตรนั้น ถ้าเราพึงทำลายตบะคุณเราพึงทำอธรรมเทพบุตรนั้นพร้อมทั้งบริวารให้เป็นดุจธุลีได้ แต่เพื่อจะรักษาศีลไว้ เราจึงระงับความปรารถนาแห่งใจเสียพร้อมทั้งบริษัท ได้หลีกทางให้แก่อธรรมวาทีเทพบุตร พร้อมกับเมื่อเราหลีกจากทาง ทำการระงับจิตได้ แผ่นดินได้ให้ช่องแก่อธรรมเทพบุตรในขณะนั้น ฉะนี้แล.

จบธรรมเทวปุตตจริยาที่ ๘
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๑๘


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2011, 02:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ชยทิสจริยาที่ ๙
ว่าด้วยพระจริยาวัตรของพระเจ้าชยทิส


พระราชาทรงพระนามว่าชัยทิศ ทรงประกอบด้วยศีลคุณเสวยสมบัติในพระนครอันประเสริฐชื่อกัปปิลาเป็นนครอุดมในปัญจาลรัฐ เราเป็นโอรสของพระราชาพระองค์นั้น มีธรรมอันสดับแล้ว มีศีลงาม
มีพระนามว่าอลีนสัตตกุมารมีคุณสงเคราะห์บริวารชนทุกเมื่อ พระบิดาของเราเสด็จไปประพาศเนื้อ ได้ทรงพบพระยาโปริสาท พระยาโปริสาทนั้นได้จับพระบิดาของเราแล้วกล่าวว่า ท่านเป็นอาหารของเราอย่าดิ้นรน พระบิดาของเราทรงสดับคำของพระยาโปริสาทนั้นทรงกลัวสะดุ้งหวาดหวั่น พระองค์มีพระเพลาแข็งกระด้างเพราะทอดพระเนตรเห็นพระยาโปริสาท พระยาโปริสาทรับเอาเนื้อแล้วปล่อยไปโดยบังคับให้กลับมาอีก พระราชบิดา พระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์ แล้วตรัสเรียกเรามาว่าพ่อลูกชาย จงปกครองราชสมบัติอย่าประมาทปกครองนครนี้ พระยาโปริสาทบังคับเราให้เรากลับไปหาอีก เราถวายบังคมพระมารดาพระบิดาแล้ว ตกแต่งร่างกายสพายธนูเหน็บ พระแสงขรรค์ ออกไปหาพระยาโปริสาท (เราคิดว่า) พระยาโปริสาทเห็นมีมือถืออาวุธ บางทีจักสะดุ้งกลัว แต่เพราะเมื่อเราทำความสะดุ้งกลัวแก่พระยาโปริสาท ศีลของเราจะเศร้าหมอง เพราะเรากลัวศีลจะขาดจึงไม่นำสิ่งที่น่าเกลียด (อาวุธ) เข้าไปใกล้พระยาโปริสาทนั้น เรามีเมตตาจิต กล่าวคำเป็นประโยชน์ ได้กล่าวคำนี้ว่า ท่านจงเอาแก่นไม้มาก่อไฟให้เป็นกองใหญ่ เราจะโดดเข้าไฟ ท่านผู้เป็นพระปิตุจฉาทราบเวลาว่าเราสุกดีแล้วจงกินเถิด เราไม่ได้รักษาชีวิตของเราเพราะเหตุแห่งพระบิดาผู้ทรงศีล เราได้ให้พระยาโปริสาทผู้ฆ่าสัตว์เป็นปรกติทุกเมื่อนั้นบวชแล้ว ฉะนี้แล.

จบชยทิสจริยาที่ ๙
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๑๙


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2011, 02:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


สังขปาลจริยาที่ ๑๐
ว่าด้วยจริยาวัตรของสังขปาลนาคราช


อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นพระยานาคชื่อสังขปาละมีฤทธิ์มากมีเขี้ยวเป็นอาวุธ มีพิษแรงกล้า มีลิ้นสองแฉกเป็นใหญ่กว่านาคทั้งหลาย เราอธิษฐานอุโบสถมีองค์ ๔ ประการว่า ผู้ใดมีกิจด้วยผิวหนัง
ก็ดี เนื้อก็ดี เอ็นก็ดี กระดูกก็ดี ของเราผู้นั้นจงนำเอาอวัยวะที่เราให้แล้วนี้ไปเถิด แล้วสำเร็จการอยู่ ณ สถานที่ใกล้ทางใหญ่สี่แยก อันเกลื่อนกล่นด้วยหมู่ชนต่างๆ พวกบุตรของนายพรานเป็นคนดุร้ายหยาบช้าไม่มีกรุณา ได้เห็นเราแล้วมีมือถือไม้พลองตะบองสั้นกรูกันเข้ามาหาเรา ณ ที่นั้น พวกบุตรนายพรานเอาหอกแทงเราที่จมูกที่หาง ที่กระดูกสันหลัง แล้วเอาหวายร้อยหามเราไป ถ้าเราปรารถนาก็พึงยังมหาปฐพีอันมีสมุทรสาครเป็นที่สุด พร้อมทั้งป่าทั้งภูเขาให้ไหม้ด้วยลมจมูกในที่นั้นๆ แต่เราไม่โกรธเคืองพวกนายพรานแม้จะแทงด้วยหลาว แม้จะทุบตีด้วยหอก นี้เป็นศีลบารมีของเราฉะนี้แล.

จบสังขปาลจริยาที่ ๑๐
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๒๐


แก้ไขล่าสุดโดย ปฤษฎี เมื่อ 30 ม.ค. 2014, 00:04, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2011, 02:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


รวมจริยาที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สีลวจริยา๒. ภูริทัตตจริยา๓. จัมเปยยกจริยา
๔. จูฬโพธิจริยา๕. มหิสจริยา ๖. รุรุมิคจริยา
๗. มาตังคจริยา๘. ธรรมเทวปุตตจริยา ๙. ชยทิสจริยา
๑๐. สังขปาลจริยา จริยาทั้งหมดนี้เป็นกำลังของศีล เป็นบริขารของศีล เราได้สละชีวิต
ตามรักษาศีล เราผู้เป็นสังขปาลนาคราช ได้มอบชีวิตให้แก่คนใดคนหนึ่ง แม้ตลอดกาลทุกเมื่อ
เหตุนั้น จริยานั้นจึงเป็นศีลบารมี ฉะนี้แล.
จบสีลบารมีนิทเทส


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ก.ย. 2011, 02:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


การบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเป็นต้น
ยุธัญชยจริยาที่ ๑
ว่าด้วยพระจริยาวัตรของยุธัญชยกุมาร


ในกาลเมื่อเราเป็นพระราชโอรส (ของพระเจ้าสัพพทัตตราช) นามว่ายุธัญชัย มีบริวารยศหาประมาณมิได้ สลดใจเพราะได้เห็นหยาดน้ำค้างอันเหือดแห้งเพราะแสงพระอาทิตย์ เราทำความเป็นอนิจจังนั้น
แลให้เป็นปุเรจาริก พอกพูนความสังเวช เราถวายบังคมพระมารดาและพระบิดาแล้ว ทูลขอบรรพชา มหาชนพร้อมทั้งชาวนิคมทั้งชาวจังหวัด ประนมอัญชลีอ้อนวอนเรา พระบิดาตรัสว่า วันนี้ เจ้าจงปกครองแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลเถิด ลูก เมื่อมหาชนพร้อมทั้งพระราชบิดา นางสนม ชาวนิคม และชาวแว่นแคว้น ร้องไห้ร่ำไร ควรสงสาร เราไม่ห่วงใยสละไปแล้วเราสละราชสมบัติในแผ่นดิน หมู่ญาติ บริวารชน และยศศักดิ์ทั้งสิ้นได้ไม่คิดถึงเลย เพราะเหตุแห่งโพธิญาณ เราจะเกลียดพระมารดาพระบิดาก็หามิได้ เราจะ
เกลียดยศศักดิ์อันยิ่งใหญ่ก็หามิได้ แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา ฉะนั้น เราจึงสละราชสมบัติ ฉะนี้แล.

จบยุธัญชยจริยาที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๒๑


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ต.ค. 2011, 05:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


๒. โสมนัสสจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระโสมนัสสกุมาร


อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลที่เราเป็นบุตรสุดที่รักพระมารดาและพระบิดารักใคร่ เอ็นดู ปรากฏนามว่าโสมนัสอยู่ในกรุงอินทปัตถ์ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม มีกัลยาณธรรม มีปฏิภาณ เคารพนบนอบต่อบุคคลผู้เจริญ มีหิริ และฉลาดในสังคหธรรม ครั้งนั้น มีดาบสโกงผู้หนึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระราชาพระองค์นั้นดาบสนั้นทำสวนและปลูกไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับเลี้ยงชีวิต เราได้เห็นดาบสโกงนั้น เหมือนกองแกลบที่ไม่มีข้าวสาร เหมือนไม้เป็นโพรงข้างใน เหมือนต้นกล้วยหาแก่นมิได้ ดาบสโกงผู้นี้ ไม่มีธรรมของสัตบุรุษ ปราศจากความเป็นสมณะ ละหิริและธรรมฝ่ายขาว เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงชีวิต ปัจจันตชนบทกำเริบขึ้น เพราะโจรเที่ยวอยู่ในดง พระบิดาของเรา เมื่อจะเสด็จไปปราบความกำเริบนั้น ตรัสสั่งเราว่า พ่ออย่าประมาทในชฎิล ผู้มีตบะแก่กล้านะลูก พ่อจงอนุวัตรตามความปรารถนา ด้วยว่าชฎิลนั้นเป็นผู้ให้ความสำเร็จ ความปรารถนาทั้งปวง เราไปสู่ที่บำรุงชฎิลนั้นแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า คหบดี ท่านสบายดีหรือ หรือว่าท่านจะให้นำอะไรมา เหตุนั้น ดาบสโกงนั้นอาศัยมานะจึงโกรธเราว่า เราจะให้พระราชาประหารท่านเสียในวันนี้ พระราชาทรงปราบปรามปัจจันตชนบทสงบราบคาบแล้ว ได้ตรัสถามชฎิลโกงว่า พระผู้เป็นเจ้าสบายดีหรือสักการสัมมานะยังเป็นไปแก่พระผู้เป็นเจ้าหรือชฎิลชั่วนั้นกราบทูลพระราชา โดยประการที่กุมารนั้นจะพึงถูกทำให้พินาศเสีย พระเจ้าแผ่นดินทรงสดับคำของชฎิลโกงนั้น แล้วทรงบังคับว่า จงตัดศีรษะเสียในที่นั้นนั่นแหละ จงบั่นออกเป็น ๔ ท่อน ประจานไว้ที่ถนน นั่นเป็นตัวอย่างที่เบียดเบียนชฎิล พวกโจรฆาต(ผู้ฆ่าโจร)ผู้มีใจดุร้ายหยาบคาย ไม่มีความกรุณาเหล่านั้น ผู้ได้รับพระราชโองการไปที่นั้น เมื่อเรานั่งอยู่บนพระเพลาของพระมารดา ก็ฉุดคร่านำเราไป เราได้กล่าวแก่เขาเหล่านั้น ซึ่งกำลังผูกมัดอย่างมั่นคงนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงพาเราไปเฝ้าพระราชาโดยเร็ว ราชกิจของเรามีอยู่ เขาเหล่านั้น พาเราไปเฝ้าพระราชาผู้ชั่ว คบแต่คนชั่ว เราไปเฝ้าพระราชาแล้ว ทูลให้ทรงเข้าพระทัยและนำมาสู่อำนาจของเรา พระบิดาขอให้เราอดโทษ ณ ที่นั้น ได้พระราชทานสมบัติอันยิ่งใหญ่แก่เรา เรานั้นทำลายความมืดมนแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต ราชสมบัติจะเป็นที่น่ารังเกียจของเราก็หาไม่ กามโภคะจะเป็นสิ่งที่เราพึงรังเกียจก็หาไม่ แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเราเพราะฉะนั้น เราจึงสละราชสมบัติ ฉะนี้แล

จบโสมนัสสจริยา
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๒๒ ฉบับมหาจุฬาฯ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ต.ค. 2011, 05:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


อโยฆรจริยาที่ ๓
ว่าด้วยพระจริยาวัตรของอโยฆรกุมาร


อีกเรื่องหนึ่งในกาลเมื่อเราเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากาสีเจริญวัยในเรือนเหล็ก มีนามชื่อว่าอโยฆระ พระบิดาตรัสว่าเจ้าได้ความทุกข์ตั้งแต่เกิดมา เขาเลี้ยงไว้ในที่แคบลูกเอ๋ย วันนี้จงปกครองแผ่นดินทั้งสิ้น พร้อมทั้งแว่นแคว้น พร้อมทั้งชาวนิคมและบริวารชนนี้เถิด เราถวายบังคมจอมกษัตริย์แล้วประคองอัญชลี ได้ทูลดังนี้ว่า บรรดาสัตว์ในแผ่นดินบางพวกต่ำช้า บางพวกอุกฤษฏ์ บางพวกปานกลาง สัตว์ทั้งหมดนั้นไม่มีอารักขา เจริญอยู่ในเรือนของตนพร้อมด้วยหมู่ญาติ การเลี้ยงดูข้าพระบาทในที่อันคับแคบนี้ไม่มีใครเหมือนในโลก ข้าพระบาทเติบโตอยู่ในเรือนเหล็ก เหมือนพระจันทร์พระอาทิตย์ไม่มีรัศมี ข้าพระบาทประสูติจากพระครรภ์พระมารดาอันเต็มไปด้วยซากศพเน่าแล้ว ยังถูกใส่ (ขัง) ไว้ในเรือนเหล็ก ซึ่งมีทุกข์ร้ายกว่านั้นอีก ข้าพระบาทได้รับความทุกข์ร้ายอย่างยิ่งเช่นนี้แล้ว ถ้ายังยินดีในราชสมบัติ ก็จะเป็นผู้เลวทราม กว่าคนเลวทรามไป ข้าพระบาทเป็นผู้เหนื่อยหน่ายในกาย ไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ ข้าพระบาทจะแสวงหาธรรมเครื่องดับ ซึ่งเป็นที่ที่มัจจุราชพึงย่ำยีข้าพระบาทไม่ได้ เราคิดอย่างนี้แล้ว เมื่อมหาชนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ ได้ตัดเครื่องผูกเสียแล้วเข้าไปยังป่าใหญ่ เหมือนช้าง ฉะนั้น เราจะเกลียดพระมารดาพระบิดาก็หาไม่ จะเกลียดยศศักดิ์อันใหญ่หลวงก็หามิได้ แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา ฉะนั้น เราจึงสละราชสมบัติ ฉะนี้แล.

จบอโยฆรจริยาที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๒๓


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ต.ค. 2011, 05:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


ภิงสจริยาที่ ๔
ว่าด้วยจริยาวัตรของภิงสพราหมณ์


อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราอยู่ในพระนครกาสีอันประเสริฐสุด น้องหญิงชาย ๗ คน เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลเราเป็นพี่ใหญ่ของน้องหญิงชายเหล่านั้นประกอบด้วยหิริและธรรมขาว เราเห็นภพโดยความเป็นภัย จึงยินดีอย่างยิ่งในเนกขัมมะ พวกสหายร่วมใจของเรา ที่มารดาและบิดาส่งมาแล้วเชื้อเชิญเราด้วยกามทั้งหลายว่าเชิญท่านดำรงศ์สกุลเถิด คำใดที่สหายเหล่านั้นกล่าวแล้วเป็นเครื่องนำสุขมาให้ในธรรมของคฤหัสถ์ คำเหล่านั้นเป็นเหมือนคำหยาบเสมอด้วยผาลอันร้อน ได้มีแก่เรา ในกาลนั้น สหายเหล่านั้นได้ถามเราผู้ห้ามอยู่ถึงความปรารถนาของเราว่า ท่านปรารถนาอะไรเล่าเพื่อน ถ้าท่านไม่บริโภคกาม เราผู้ใคร่ประโยชน์แก่ตนได้กล่าวแก่สหายผู้แสวงหาประโยชน์เหล่านั้นว่า เราไม่ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ เรายินดีอย่างยิ่งในเนกขัมมะสหายเหล่านั้นฟังคำเราแล้วได้บอกแก่มารดาและบิดา มารดาและบิดาได้กล่าวอย่างนี้ว่า แม้ว่าเราทั้งสองจะบวช พ่อเรา มารดาบิดาทั้งสอง และน้องหญิงชายทั้ง ๗ ของเราสละทิ้งทรัพย์นับไม่ถ้วน เข้าไปยังป่าใหญ่ ฉะนี้แล.

จบภิงสจริยา ๔
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๒๔


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ต.ค. 2011, 05:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


โสณนันทปัณฑิตจริยาที่ ๕
ว่าด้วยจริยาวัตรของโสณนันทบัณฑิต


อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเกิดในตระกูลมหาศาลอันประเสริฐสุดอยู่ในพระนครพรหมวัทธนะ ในกาลนั้น เราเห็นสัตว์โลกเป็นผู้ถูกความมืดครอบงำ จิตของเราเบื่อหน่ายจากภพ เหมือนช้างถูกสับด้วยขอสลดใจ ฉะนั้น เราเห็นความลามกต่างๆ อย่างนี้ จึงคิดอย่างนี้ในกาลนั้นว่าเมื่อไร เราจึงจะออกไปจากเรือนแล้วเข้าป่าได้ แม้ในกาลนั้น พวกญาติก็เชื้อเชิญเราด้วยกามโภคะทั้งหลาย เราได้บอกความพอใจแม้แก่เขาเหล่านั้นว่า อย่าเชื้อเชิญเราด้วยสิ่งเหล่านั้นเลย น้องชายของเราเป็นบัณฑิตชื่อว่านันทะ แม้เขาก็ศึกษาตามเรา ชอบใจบรรพชา แม้ในกาลนั้น เราคือโสณบัณฑิต นันทบัณฑิต และมารดาบิดาทั้งสองของเราก็ละทิ้งโภคสมบัติทั้งหลายแล้วเข้าป่าใหญ่ ฉะนี้แล.

จบโสณนันทปัณฑิตจริยาที่ ๕
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๒๕


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2011, 21:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 19:56
โพสต์: 1798


 ข้อมูลส่วนตัว


มูคผักขจริยาที่ ๖
ว่าด้วยพระจริยาวัตรของมูคผักขกุมาร

อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากาสี ชนทั้งหลายเรียกเราโดยชื่อว่ามูคผักขกุมารบ้าง เตมิยกุมารบ้างในกาลนั้น พระสนมนางในหมื่นหกพัน ไม่มีพระราชโอรส โดยวันคืนล่วงไปๆ เราบังเกิดผู้เดียว พระบิดารับสั่งให้ตั้งเศวตฉัตร ให้เลี้ยงดูเราผู้เป็นบุตรสุดที่รัก อันได้ด้วยยากเป็นอภิชาตบุตร ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง บนที่นอน ในกาลนั้น เรานอนอยู่บนที่นอนอันอ่อนนุ่ม ตื่นขึ้นแล้วได้เห็นเศวตฉัตรอันเป็นเหตุให้เราไปสู่นรกความสะดุ้งหวาดกลัวเกิดขึ้นแล้วแก่เรา พร้อมกับได้เห็นฉัตร เราถึงความวินิจฉัยว่า เมื่อไรหนอ เราจึงจะเปลื้องธุลีนี้ได้ เทพธิดาผู้เป็นสาโลหิตของเรามาก่อน ผู้ใคร่ประโยชน์ต่อเรา นางเห็นเราผู้ประกอบไปด้วยทุกข์ จึงแนะนำให้เราประกอบในเหตุ ๓ ประการ ว่าท่านจงอย่าแสดงความเป็นบัณฑิต จงแสดงความเป็นคนโง่แก่ชนทั้งปวง ชนทั้งหมดนั้นก็จะดูหมิ่นท่าน ประโยชน์จักมีแก่ท่านด้วยอาการอย่างนี้ เมื่อเทพธิดากล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวดังนี้ว่า ดูก่อนนางเทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำที่ท่านกล่าวกะเราฉะนั้น ท่านเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์ เป็นผู้ใคร่ความเกื้อกูลแก่ข้าพเจ้า แม่เทพธิดา ครั้นเราได้ฟังคำของเทพธิดานั้นแล้ว เหมือนดังได้พบฝั่งในสาคร ร่าเริงดีใจ ได้อธิษฐานองค์ ๓ ประการ คือ เราเป็นคนใบ้ เป็นคนหูหนวก เป็นคนง่อยเปลี้ยเว้นจากคติ เราอธิฐานองค์ ๓ ประการนี้อยู่ ๑๖ ปี ครั้งนั้น เสนาบดีเป็นต้นตรวจดูมือเท้า ลิ้นและช่องหูของเราแล้ว เห็นความไม่บกพร่องของเรา ติเตียนว่าเป็นคนกาฬกิณี ทีนั้นชาวชนบท เสนาบดี และปุโรหิตทั้งปวงร่วมใจกันทั้งหมด พลอยดีใจการที่รับสั่งให้นำไปทิ้ง เรานั้นได้ฟังความประสงค์ของเสนาบดีเป็นต้นนั้นแล้ว ร่าเริงดีใจว่า เราประพฤติตบะมาเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นจะสำเร็จแก่เรา ราชบุรุษทั้งหลายอาบน้ำให้เรา ไล้ทาด้วยของหอม สวมราชมงกุฏราชาภิเษกแล้ว มีฉัตรที่บุคคลถือไว้ให้ทำประทักษิณพระนครดำรงเศวตฉัตรอยู่ ๗ วัน พอดวงอาทิตย์ขึ้นนายสารถีอุ้มเราขึ้นรถ เข้าไปยังป่า นายสารถีหยุดรถไว้ ณ โอกาสหนึ่งปล่อยรถเทียมม้าพอพ้นมือ ก็ขุดหลุมเพื่อจะฝังเราเสียในแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ทรงคุกคามการอธิษฐาน ที่เราอธิษฐานไว้ด้วยเหตุต่างๆ แต่เราก็ไม่ทำลายการอธิษฐานนั้น เพราะเหตุแห่งโพธิญาณนั่นเอง เราจะเกลียดพระมารดาพระบิดาก็หามิได้ เราจะเกลียดตนเองก็หามิได้ แต่พระสัญพัญญุตญาณ เป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้นแหละ เราจึงอธิษฐานองค์ ๓ ประการนี้ เราอธิษฐานองค์ ๓ ประการนี้อยู่ ๑๖ ปี ผู้เสมอด้วยอธิษฐานของเราไม่มี นี่เป็นอธิษฐานบารมีของเรา ฉะนี้แล.

จบมูคผักขจริยาที่ ๖
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก หัวข้อที่ ๒๖


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 41 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 63 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร