ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ความปล่อยวาง : ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43941
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  Hanako [ 28 พ.ย. 2012, 08:20 ]
หัวข้อกระทู้:  ความปล่อยวาง : ท่านพ่อลี ธมฺมธโร


รูปภาพ

โอวาทธรรม
ของ
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)

วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

แสดงพระธรรมเทศนาเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๙๖
ณ วัดป่าคลองกุ้ง ต.ตลาด อ.เมือง จ.จันทบุรี


:b42: :b42:

"ความปล่อยวาง" จุดสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม
ก็คือทรงสอนให้ปล่อยวาง ไม่ยึดถือ
คนรู้มากก็ปล่อยได้มาก รู้น้อยก็ปล่อยได้น้อย


ขั้นแรก ทรงสอนให้ "บริจาคทาน" เพื่อเป็นอุบายอันหนึ่งที่จะให้ปล่อยวางให้ได้
ต่อมาก็ "จาคะ" คือ ความเสียสละ แต่เป็นขั้นที่สูงกว่าการให้ทาน
และยังมีขั้นละเอียดที่สูงขึ้นไปอีก เช่น "การละอุปธิ" คือ ค้นจนเห็นแล้วจึงสละ

"ทาน" หมายถึง การสละวัตถุ ถ้าเราไม่สละมันก็จะปล่อยได้ยาก
คือ วัตถุส่วนใหญ่ที่เราไม่ได้ให้ก็ยังยึดสิทธิ์อยู่ว่าเป็นของเรา
ถ้าสละแล้วก็หมดสิทธิ์ ของสิ่งใดที่เรายึดอยู่ย่อมให้โทษ
ประการที่ ๑ ให้โทษแก่ตัวเราเอง
ประการที่ ๒ ให้โทษแก่ผู้ที่มาลักเอาวัตถุของเราไป
ประการที่ ๓ เมื่อลักไปแล้ว เขาก็ยึดสิทธิ์ว่าเป็นของเขาอีก
พระพุทธเจ้าทรงเห็นโทษดังนี้ จึงทรงสอนให้ทำทาน สละเสียซึ่งวัตถุสิ่งของ

ถ้าใครเป็นผู้เคยชินอยู่ในการสละย่อมมีอานิสงส์ ดังนี้
๑. เป็นผู้มีเพื่อนฝูงมาก
๒. ทานที่ตนได้บริจาคไปนั้นให้ผลเป็น ๒ ชนิด คือผลปัจจุบันและอนาคต
ผู้นั้นจะเป็นคนที่มีผู้เชื่อถือไว้วางใจ มีความเบาใจ
ไม่มีห่วงกังวลในวัตถุสิ่งของต่างๆ อันตนได้บริจาคไปแล้ว
ผลข้างหน้าก็คงได้อย่างเดียวกัน ตัวอย่างเช่น
เรามีข้าวอยู่ถังเดียว ถ้านำไปหว่านในนา เราจะได้ข้าวตั้ง ๑๐ ถัง
บุญกุศลที่ก่อสร้างชาตินี้ก็เช่นเดียวกัน ย่อมได้ล้นตัว
ผู้มีปัญญาย่อมมองเห็นดังนี้

"จาคะ" เป็นบันไดขึ้นที่ ๒ มีความหมาย ๒ ชนิด
สำหรับทานนั้น คนบ้าเขาก็ให้ทานได้ ไม่พิถีพิถัน
ส่วน "จาคะ" เป็นการให้ของบัณฑิต
ย่อมขาดไปด้วยกันพร้อมกับการให้ โดยไม่ยึดสิทธิ์เลย
เห็นวัตถุเป็นของกลาง ไม่ใช่ของเราของเขา
ถ้าเห็นว่าเป็นของเรา ก็ "กามสุขัลลิกานุโยค"
ถ้าเห็นเป็นของเขาก็เป็น "อัตตกิลมถานุโยค"
เพราะเราเกิดมาก็ไม่ได้นำอะไรมา ไปก็ไม่ต้องมีอะไรไป จะมีอะไรเป็นของเรา?
ต้องขาดจากใจเสียก่อนจึงจะเรียกว่า "จาคะ"

อย่างที่ ๓ เรียกว่า "การสละในอกในใจ"
เราจะให้หรือไม่ให้ก็ตาม เราสละทุกวัน ของที่มีอยู่ก็สละ ไม่มีก็สละ
เหมือนคนกินอาหารแล้วต้องล้างปากล้างมือทุกวัน
จึงจะเป็นคนสะอาดอยู่เสมอ ไม่ยอมให้สิ่งต่างๆ มาเป็นข้าศึกแก่ตัว
คือ "มัจฉริยะ" (ความตระหนี่ ความหวง)
ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ เรียกว่า เรากินแล้วไม่ล้างปากล้างมือ
เป็นผู้ไม่สะอาด เป็นผู้หลับไม่ตื่น
แต่การสละอย่างนี้ทำได้เป็นบางครั้งบางคราว

ส่วนขั้นสูงเรียกว่า "วิราคธรรม"
เราถูกมัดถูกตีถูกขันด้วยตะปู แก้ยาก
ต้องอาศัยปัญญา คือวิชาชั้นสูง เรียก "ภาวนามยปัญญา"
จึงจะถอนหรือคลายพวกปมเหล่านี้ได้

"จาคะ" ต้องอาศัยปัญญาซึ่งเกิดจากวิชาชั้นสูงคือภาวนานี้
เป็น วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน จึงจะเข้าสู่ "วิราคธรรม"
เป็นธรรมที่มีรสอร่อย ถ้าใครไม่เข้าถึงก็เท่ากับได้กินแต่เปลือก
ไม่รู้รสเนื้อผลไม้นั้น ส่วนอร่อยมันอยู่ลึก

"อุปธิกิเลส" ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
ถ้าใครมีปัจจัตตัง ก็รับผิดชอบในตัวเองได้เหมือนลุนิติภาวะ
ถ้าเราทำจิตเข้าถึงปฐมญาณ ก็คลายนิวรณ์ไป ๕ ตัว
คนเราทุกวันนี้เหมือนเด็กไม่รู้ภาษา ให้กินปลาก็กินทั้งก้าง
ให้กินไก่ก็กินทั้งกระดูก เพราะไม่มี "วิปัสสนาญาณ"
ปัญญานั้นกล้ายิ่งกว่าแสงไฟ แหลมยิ่งกว่าหอก เนื้อก็กินได้ แกลบรำก็กินได้
กินได้ทุกสิ่งทุกอย่าง บดละเอียดหมด เพราะมีปัญญา

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ดีเลวกินได้ทั้งหมดไม่เลือก ใช้ได้ทุกอย่าง
เขาว่าดีก็เป็นบุญ เขาติก็เป็นบุญ แม้ที่สุดจนร่างกายเจ็บอย่างสาหัส
ก็สบายใจเพราะมีเครื่องต้น เครื่องบด เครื่องนวดพร้อม
"ตะปู" ได้แก่ อุทาทานขันธ์ทั้ง ๕
"เมฆหมอก" คือ อวิชชาก็คลาย
"เชือก ๓ เปลาะ" คือ รักผัว รักลูก รักสมบัติ
"โซ่ ๘ เส้น" ได้แก่ โลกธรรม ๘ ก็หลุดหมด

คนโง่เห็นการติดคุกตะรางเป็นความสบาย
ไม่อยากออกก็ทำความทุจริตเพิ่มขึ้นอีก
คนโง่ก็เหมือนกับนักโทษที่ไม่อยากออกจากคุกเพราะเห็นว่าโลกเป็นสุข

ผู้มีปัญญาทำตัวเหมือนนกกระทา
ต้องตื่นออกจากโลก พินิจพิจารณาหาทางที่จะหลุดพ้น
โซก็จะหลุดไปทีละเปลาะๆ


คนโง่เห็นโซ่เป็นทองคำประดับตัว
แท้จริงโลกธรรม ๘ นี้เป็นเหมือนโซ่ที่เขาผูกมัดไว้
ล้วนเป็นเครื่องผูกรัดทำจิตใจของเราให้เศร้าหมองหมดทั้งสิ้น
ถ้าเป็นนักโทษก็ขนาด ๘ หุนทีเดียว

เมื่อโซ ๘ เส้นนี้ผูกใครเข้าแล้วก็ไปไหนไม่รอด
เพราะกลัวจะเสื่อมลาภ กลัวจะเสื่อมยศ กลัวทุกข์ กลัวนินทา
คนติดสุขจะมาวัดก็มาไม่ได้ คนกลัวนินทาก็มาวัดไม่ได้

พระพุทธเจ้าทรงเห็นพวกเราเหมือนกับ "ลิงที่ติดโซ่"
ถ้าใครไม่เข้าถึง "วิปัสสนาญาณ" ก็จะติดโซ่อยู่ ไม่เข้าถึง "วิราคธรรม" ได้

ขั้นแรก ละชั่ว ทำดี
ขั้นสอง ละชั่ว ละดี
ขั้นสาม ละหมด ทั้งชั่วทั้งดี
เพราะมันเป็น "สังขาร" ไม่มีอะไรแน่นอน


ทำดีแต่ไม่ให้ติด ต้องละด้วยความฉลาด
ไม่ใช่ละแบบฉิบหาย คือไม่ทำดีเลย
แม้แต่ความคิด ความเห็นก็ไม่ยึด จะยึดอะไรกับวัตถุ
ทำดีก็คิดว่า ทำให้สัตว์โลก หามาได้ก็ให้ลูกให้หลาน
ทำให้สมบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างแต่ไม่ยึด เพราะเป็นสังขาร ไม่เที่ยง
ใจของเราก็จะแจ่มใสเหมือนรัตนะ

เสียงติ เสียงชม ใครยึดก็เท่ากับคนโง่
กินลมปากน้ำลายของเขา ทำถูก เขาว่าถูกก็มี ผิดก็มี
ทำผิด เขาว่าถูกก็มี ผิดก็มี
ดีหรือชั่วมันก็เป็น "สังขาร" ทั้งสิ้น

ความแก่ เจ็บ ตาย เป็น "ดอกไม้ของพญามาร"
ที่นำมาบูชาพระศาสนา ความสุข เป็นความหลอกลวง

:b48: :b48: :b48:

คัดลอกจากหนังสือ : แนวทางวิปัสสนา-กัมมัฎฐาน ๑
พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม

โดย ชมรมกัลยาณธรรม
ลี ธมฺมธโร. แนวทางวิปัสสนา-กัมมัฎฐาน ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑.
กรุงเทพฯ : ขุมทองอุตสาหกรรมการพิมพ์, ๒๕๕๒. หน้า ๘๙-๙๓

เจ้าของ:  eragon_joe [ 28 พ.ย. 2012, 12:44 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความปล่อยวาง : ท่านพ่อลี ธมฺมธโร

:b8:

นำธรรมเพราะ ๆ มาฝากเสมอ

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  วิริยะ [ 05 ธ.ค. 2012, 19:14 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความปล่อยวาง : ท่านพ่อลี ธมฺมธโร

Hanako เขียน:


ทำดีแต่ไม่ให้ติด ต้องละด้วยความฉลาด
ไม่ใช่ละแบบฉิบหาย คือไม่ทำดีเลย
แม้แต่ความคิด ความเห็นก็ไม่ยึด จะยึดอะไรกับวัตถุ
ทำดีก็คิดว่า ทำให้สัตว์โลก หามาได้ก็ให้ลูกให้หลาน
ทำให้สมบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างแต่ไม่ยึด เพราะเป็นสังขาร ไม่เที่ยง
ใจของเราก็จะแจ่มใสเหมือนรัตนะ


:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/