ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

สมเด็จอาจ อาสโภ (พระพิมลธรรม) กับ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=59027
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  สาวิกาน้อย [ 10 มิ.ย. 2020, 20:18 ]
หัวข้อกระทู้:  สมเด็จอาจ อาสโภ (พระพิมลธรรม) กับ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) หรือ พระพิมลธรรม
กับ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
เขียนโดย...ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รูปภาพ

ขณะนั่งทำงานอยู่ที่ห้องประชาสัมพันธ์งานบวชสามเณร ๘๔,๐๐๐ รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ที่ตึกรัฐสภา ฟ้าฝนกระหน่ำลงอย่างหนัก เราอยู่ข้างใน ไม่ทราบว่าตกหนักหรือไม่เพียงใด จู่ๆ ก็ได้ยินเสียง “พรึบ” ไฟฟ้าดับทั้งตึก ผมกำลังให้สัมภาษณ์วิทยุคลื่นหนึ่งอยู่ โทรศัพท์ถูกตัดหายไปเฉยๆ สนทนาค้างไว้แค่นั้น ก็ไม่นึกว่าจะเป็น “ลาง” อะไรดอกครับ เพราะหน้านี้เป็นหน้าฝน ฝนก็ต้องตกเป็นธรรมดา

สักพักลูกศิษย์หลวงพ่อปัญญานันทะคนหนึ่งเข้ามากระซิบว่า มีข่าวเศร้าคือ หลวงพ่อปัญญานันทะถึงแก่มรณภาพแล้วในเช้านี้ (วันพุธที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๐) ผมถามว่าเวลาเท่าไหร่ ท่านผู้นั้นบอกเวลา ผมก็ขนลุก เวลาตรงกับที่เกิดปรากฏการณ์ไฟฟ้าดับ โทรศัพท์ทุกสายทำงานไม่ได้ นี่ก็มิได้ว่าเป็นลางอะไร เพราะผมเป็นชาวพุทธที่ยึดมั่นในพระรัตนตรัย ไม่ค่อยสนใจเครื่องราง ไสยเวท ไสยศาสตร์อะไร

ได้ยินข่าวหลวงพ่อถึงแก่มรณภาพ ผมถึงกับอึ้งไปพักใหญ่ พระพุทธบุตรผู้เป็น “ประทีปส่องทางชีวิต” แก่ชาวพุทธทั้งปวง ร่วงผล็อยไปอีกรูปแล้วตามกาลเวลา รู้สึกอาลัยอาวรณ์ในการจากไปของพระเดชพระคุณท่าน วันนี้ช่างเป็นวันแห่งความเศร้าสร้อยอีกวันหนึ่งจริงๆ

ผมมิได้เป็นศิษย์ของหลวงพ่อแต่ก็เป็นโดยอัตโนมัติ มิได้ไปมาหาสู่ท่านก็ใกล้ชิดสนิททางใจ จะว่าไปแล้วผมติดตามงานของหลวงพ่อตั้งแต่ผมเป็นสามเณรเล็กๆ ตอนนั้นมาจากต่างจังหวัดมาอยู่ที่วัดทองนพคุณ อายุอานามก็ราว ๑๕-๑๖

เข้ามาเมืองกรุงไม่ทันไร ก็ได้รับทราบชื่อเสียงของหลวงพ่อปัญญานันทะ รู้ว่าท่านเป็นนักแสดงธรรมชั้นยอด ก็พยายามตามไปฟัง ส่วนมากท่านจะมาแสดงปาฐกถาที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ค่อนข้างบ่อย เพราะมหาวิทยาลัยสงฆ์ (มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย) มักจะนิมนต์ท่านมาปาฐกถาในโอกาสสำคัญๆ เป็นประจำ

ผมเข้าใจว่า หลวงพ่อปัญญามีความผูกพันกับวัดมหาธาตุมาก ท่านเคารพนับถือ “หลวงพ่ออาจ” (พระพิมลธรรม ต่อมาคือสมเด็จพระพุฒาจารย์) มาก ทุกครั้งที่เข้ามากรุงเทพมหานคร หลวงพ่อปัญญานันทะจะมาพักที่วัดมหาธาตุเป็นประจำ

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมเผด็จการครองเมือง แกเป็นโรคคอมมิวนิสต์ขึ้นสมอง มีผู้ที่อิจฉาริษยาหลวงพ่ออาจเป่าหูว่า “พระรูปนี้ (หลวงพ่ออาจ) มีพฤติกรรมนิยมคอมมิวนิสต์...” จอมเผด็จการก็หูผึ่งสั่งจับท่านไปสอบสวน ขณะเดียวกันการยุแยงตะแคงรั่วจากหมู่มาร มีทั้งมารหัวดำและมารหัวเกลี้ยง ก็เริ่มขบวนการทำลายเป็นขั้นเป็นตอน มีเป้าหมายว่า “จะเอาพระพิมลธรรมมาเป็นหลวงตาอาจ จะเอาหลวงตาอาจมาเป็นทิดอาจ และเป็นอาชญากรอาจในที่สุด”

ข่าวแผนอุบาทว์รู้ถึงหูหลวงพ่ออาจ ท่านหัวเราะชอบใจ คงคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่นานทุกอย่างก็ดำเนินไปตามแผน ท้ายที่สุดหลวงพ่ออาจก็ถูกจับสึก ขังคุกสันติบาล (ดีหน่อยไม่ยัดเข้าคุกบางขวาง)

มิตรแท้พิสูจน์ได้เมื่อยามประสบอันตราย ใครต่อใคร ไม่ว่าพระว่าโยมต่างหลบกันหมด แม้กระทั่งศิษย์วัดมหาธาตุที่เป็นผู้สนิทจอมพลจอมเผด็จการ ยังบอกปัดไม่ช่วยเหลือเมื่อมีผู้ไปขอร้องให้บอกความเป็นจริงแก่ท่านจอมพล เพราะท่านจอมพลย่อมฟัง “กุนซือ” ของท่านมากกว่าคนอื่น ท่านผู้นั้นพูดว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ผมช่วยไม่ได้”

แต่พระเถระที่ยืนหยัดอยู่ข้างหลวงพ่ออาจคือ หลวงพ่อปัญญานันทะ ท่านวิพากษ์วิจารณ์จอมเผด็จการโดยไม่เกรงกลัว ทำเอาลูกศิษย์ลูกหาใจหวิวๆ ไปตามกัน


นี่คือความประทับใจที่ผมมีต่อหลวงพ่อปัญญานันทะ และหลวงพ่ออาจ ทั้งๆ ที่ทั้งสองรูปนั้นผมก็ไม่ใกล้ชิดเป็นการส่วนตัว แต่ก็ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับทั้งสองรูปเสมอมาจากศิษย์ใกล้ชิดท่าน

ในฝ่ายหลวงพ่ออาจ ผมก็ได้ “พี่สมพร ประวรรณากร” พี่ชายของผมมาเล่าให้ฟังเรื่อย เพราะท่านผู้นี้ซาบซึ้งในจริยาของหลวงพ่ออาจมาก

ส่วนท่านปัญญานันทะนั้น ผมก็เก็บข้อมูลจากหนังสือประวัติของท่านที่ศิษย์ใกล้ชิดเขียนเล่าไว้บ้าง จากปาฐกถาที่ท่านแสดงที่เขาพิมพ์เป็นเล่มบ้าง

ไม่รู้สิครับทำไมพระผู้ใหญ่ทั้งสองรูปนี้แจ่มกระจ่างในใจผมเหลือเกิน และภาพมักปรากฏพร้อมๆ กันด้วย

รูปหนึ่งเป็นพระนักปกครองผู้มีเทคนิควิธีในการปกครองสงฆ์ มองการณ์ไกล คาดการณ์ทุกอย่างล่วงหน้าได้เป็นช็อตๆ น่าอัศจรรย์ แถมความรู้ในพระธรรมลึกซึ้ง มีประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำการเพื่อความเจริญแก่พระศาสนาชนิดที่คนอื่นตามไม่ทัน

อีกรูปหนึ่งเป็นนักเผยแผ่ชั้นยอด หาผู้เสมอเหมือนได้ยาก เรียกตามสำนวน “หลวงตาแพรเยื่อไม้” ว่า “อะไหล่ที่หาไม่ได้” สิ้นท่านแล้วกี่ปีกี่ชาติจะหาพระพุทธสาวก “ใจเพชร” เช่นนี้ คงยาก ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ทุกถ้อยคำ ทุกประโยคที่พรั่งพรูจากปากท่าน สละสลวย ไพเราะ ยังกับเจียระไนเรียบร้อยแล้ว รื่นหู ชูใจ ก่อเกิดปีติปราโมทย์ทุกครั้งที่ผมนั่งฟังปาฐกถาของท่าน ผมฟังไปก็อัศจรรย์ใจไปด้วย “พระอะไรช่างพูดเก่ง พูดดีอะไรปานนั้น”


“ญาติโยมทั้งหลาย บัดนี้ได้เวลาฟังปาฐกถาธรรมแล้ว...” เสียงเจื้อยแจ้วนี้ พรั่งพรูไม่ขาดสายจนกระทั่งจบ ไม่มีกระแอมกระไอ ไม่มีหยุดพัก ไม่มีแม้แต่จะหยุดดื่มน้ำแก้กระหาย

ท่านยังคงยืนนิ่ง พูดแสดงธรรมอยู่ในอิริยาบถเดิม ตั้งแต่ต้นจนจบ

ผู้ฟังนั่งฟังไปหัวร่อไปด้วยความสนุกสนาน ทั้งๆ ที่ท่านมิได้แสดงสีหน้าตลกอะไรเลย

ท่านตลกในเนื้อหา ตลกหน้าตายครับ ตลกในเนื้อหา ชนิดที่ชาร์ลี แชปปลิน ก็ทำไม่ได้ เพราะชาร์ลีเคลื่อนไหวกายประกอบด้วย

แต่ในความสนุกสนานก่อปีติปราโมทย์แก่ผู้ฟังนั้น บางครั้งก็สะดุดกึก ตรึงผู้ฟังได้เช่นกัน

จำได้ว่า ครั้งหนึ่งท่านวิพากษ์แฟชั่นทันสมัยราคาแพงชนิดหนึ่ง “คนเรานี่ก็แปลก เสื้อผ้าสวยงาม ติดรูปสวยๆ ไม่นิยมใช้ กลับไปใช้รูปสัตว์จิ้งจกติดหน้าอก ถือเป็นของโก้...” (ความจริงเสื้อตราจระเข้แต่ตัวมันเล็ก หลวงพ่อมองเป็นจิ้งจก ดีที่ไม่มองเป็นตัวเงินตัวทอง !)

หลวงพ่อเป็นชาวพัทลุง บวชตอนหนุ่มแล้ว เล่าเรียนบาลีสอบได้เปรียญ ๔ ประโยค (ถ้าจำไม่ผิด) ได้แค่นี้ก็มีความรู้สึกว่า ความรู้ปริยัติเพียงประโยค ๔ พอแปลบาลีได้ ก็เพียงพอเป็นเครื่องมือค้นคว้าพระไตรปิฎก นำธรรมะมาย่อขยายให้ญาติโยมแล้ว

ในช่วงหนุ่มๆ ท่านเป็นหนึ่งในพระเณร (เณรดูเหมือนจะมีท่านเดียวคือ กรุณา กุศลาสัย) ได้ธุดงค์ตามพระอิตาเลียนนาม “โลกนาถ” มุ่งสู่อินเดีย แต่ท่านไปถึงพม่าก็กลับ คงมีแต่กรุณา กุศลาสัย ติดสอยห้อยตามไปผจญภัยในภารตประเทศ หลวงพ่อพุทธทาสถูกพระโลกนาถชวนด้วย แต่ท่านปฏิเสธ มาบอกความในใจภายหลังว่า “ไม่เลื่อมใส เพราะพระฝรั่งรูปนี้ตั้งชื่อเหมือนพระพุทธเจ้า (นามโลกนาถ เป็นพระนามพระพุทธเจ้า)”

เข้าใจว่าในระหว่างนั้นแหละ หลวงพ่อปัญญานันทะได้ไปปักหลักแสดงธรรมแข่งหนังอยู่ที่เชียงใหม่ แรกๆ ก็มีผู้มายืนฟังสี่ห้าคน แล้วก็เพิ่มขึ้นๆ เป็นร้อย จนกระทั่ง “โรงหนังแทบต้องปิด” เพราะคนมาฟังพระเทศน์หมด สถานที่บรรยายธรรมรกๆ ก็เป็นโรงมุงใบตอง ต่อมาเป็นพุทธสถานเชียงใหม่ โดยมีท่านผู้ใจบุญคือ เจ้าชื่น สิโรรส ให้ความอุปถัมภ์ช่วยเหลือ (ข้อมูลนี้ไม่มีใครเล่าให้ฟัง ไม่เคยอ่านจากที่ไหนเป็นเรื่องเป็นราว เขียนไปตามความรับรู้มัวๆ ผิดถูกขออภัยผู้รู้ด้วย)

หลวงพ่อปัญญานันทะเป็นพระแท้ พระที่ยืนหยัดอยู่กับจุดยืนของพระพุทธเจ้า เทิดทูนพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะที่พึ่งแท้จริง ไม่ไขว้เขว และก็พร่ำสอนประชาชนให้ยืนอยู่จุดนี้ ปาฐกถาส่วนมากของท่านจะชี้ให้ทำลายความโง่ งมงาย ยึดติดในที่พึ่งภายนอก เช่น เครื่องรางของขลัง ไม่ว่าเหรียญพระเหรียญเทพ ที่คนบ้ากันหัวปักหัวปำอยู่ในปัจจุบันนี้ ท่านจะวิพากษ์วิจารณ์ตลอด ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมว่างั้นเถอะ ท่านถือว่าหน้าที่ของพระคือ “ชี้ทางสวรรค์ให้ชาวบ้าน” ทางสวรรค์ก็คือ แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง อยู่ในศีลในธรรม ไม่งมงายในสิ่งไร้สาระ

ผมได้ฟังท่านอาวุโสท่านหนึ่งคือ อาจารย์พิชัย วาศนาส่ง เล่าว่า ครั้งหนึ่งไปหาหลวงพ่อปัญญานันทะ ตอนลากลับ ท่านกล่าวว่า “คุณพิชัย อาตมาไม่ใช่พระขลัง พระหรือเหรียญอะไรอาตมาก็ไม่มีให้เหมือนพระรูปอื่น อาตมาขอมอบสิ่งหนึ่งให้คุณพิชัยแขวนไว้ตลอดชีวิต”

อาจารย์พิชัยมองดูมือหลวงพ่อ สงสัยว่าท่านจะหยิบอะไรให้ แต่ก็ไม่มี ท่านกล่าวต่อไปว่า

“คือสัมมาทิฐิ (ความเห็นถูกต้อง)” นี้แหละจะเป็นประทีปนำทางชีวิตให้เจริญรุ่งเรือง ไม่เดินผิดทาง

อาจารย์พิชัยยกมือท่วมศีรษะ น้อมรับ “สัมมาทิฐิ” จากหลวงพ่อ “แขวนไว้ที่ใจ” ตลอดมาจนบัดนี้ แล้วอาจารย์ก็พูดกับผมว่า “หลวงพ่อสัมมาทิฐิได้ช่วยให้ผมอยู่รอดอยู่เย็นมาจนบัดนี้” (สาธุ) นี่คือเทคนิคการสอนธรรมของหลวงพ่อ ถ้าหลวงพ่อจะแจกพระอยู่บ้าง ก็คงเป็น “พระสัมมาทิฐิ” นี้เอง พระอื่น เหรียญอื่นท่านแจกไม่เป็นครับ

สิ่งหนึ่งที่น่าจะชื่นชม นอกจากความสามารถในการถ่ายทอดพระธรรมด้วยภาษาง่ายๆ หาตัวจับยาก ก็คือการประยุกต์พิธีกรรมทางศาสนาให้กะทัดรัด ประหยัด และได้ประโยชน์ เช่น

พิธีศพ ท่านให้มีพระสวดศพเพียงจบเดียว แทนสี่จบดังปฏิบัติกันทั่วไป เอาเวลาที่เหลือฟังเทศน์ ให้เจ้าภาพและผู้มาร่วมพิธีศพได้มรณสติ ได้คติเตือนใจกลับบ้าน “มาเผาผีที่วัดแล้ว ให้เผาผีที่ใจด้วย อย่านำผีกลับบ้าน” ท่านจะสอนทำนองนี้เสมอ

ชาวพุทธไทยทำอะไรก็ตามประเพณี ตามธรรมเนียม เสียจนเคยชิน แม้กระทั่งรับศีล ฟังธรรม ก็รับเป็นพิธี ฟังเป็นพิธี ทำๆ ไปอย่างนั้นแหละ “สาระแห่งพิธีทางศาสนา” จริงๆ อยู่ที่ไหนไม่รู้ ทำไปจนตายก็ไม่ได้อะไร เพราะทำพอเป็นพิธี

ไหนๆ ก็เลิกพิธีกรรมไม่ได้ ก็ให้ประยุกต์พิธีกรรมให้ได้ประโยชน์มากที่สุด นี่คือความตั้งใจของหลวงพ่อ น่าเสียดายว่า ความคิดริเริ่มอย่างนี้ ไม่ได้รับสนองจากคณะสงฆ์ทั่วไป จึงยังคงมีทำอยู่เฉพาะวัดชลประทานฯ และวัดในสาขาเท่านั้น

สมัยก่อนญาติโยมไปไหว้สังเวชนียสถานที่อินเดีย พากันโกยดินติดตัวมา (สมัยก่อนเขายังไม่ห้าม) ญาติโยมไทยก็ไปขุดเอาดินกุฏิพระสีวลี (ผู้มีลาภมาก) บ้าง ดินใต้ต้นโพธิ์ตรัสรู้บ้าง หลวงพ่อมองดูด้วยความสงสาร เปรยๆ ว่า “โยม เอาดิน ก็ได้แค่ดินนั่นแหละ"

“มาถึงแดนพุทธภูมิแล้ว น่าจะเอาของเบาๆ กว่านี้นะ”

“อะไร พระคุณท่าน ?”

“ความว่างไงโยม เบาจะตายไป”

คิดถึงหลวงพ่อจริงๆ ครับ คงจะต้องเขียนต่ออีกหลายตอน

ผมทราบว่า หลวงพ่อปัญญานันทะได้เดินทางร่วมกับคณะของหลวงพ่ออาจ (พระพิมลธรรม ต่อมาคือสมเด็จพระพุฒาจารย์) ไปเผยแผ่ธรรมที่ประเทศยุโรปและอเมริกา และร่วมประชุมกับ ขบวนการฟื้นฟูศีลธรรมโลก (M.R.A.) ขบวนการเอ็มอาร์เอที่ว่านี้ เป็นขบวนการฟื้นฟูศีลธรรม เขาเชิญผู้นำทางศาสนาทั่วโลก จัดประชุมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ การไปประชุมครั้งนั้นของหลวงพ่ออาจได้รับความสำเร็จมาก เป็นที่รับรู้กันทั่วไป พุทธศาสนาในเมืองไทยเป็นที่รับรู้ระดับโลก จึงไม่แปลกใจว่าทำไมชื่อเสียงหลวงพ่ออาจจึงดังเป็นพลุ และไม่แปลกที่เป็นที่อิจฉาริษยาของคนบางคนบางกลุ่มในวงการพุทธในบ้านเรา ดังเจ้าของหน้าห้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เขียนกระแหนะกระแหนพระพิมลธรรม (สมณศักดิ์หลวงพ่ออาจสมัยนั้น) แทบทุกวัน ความเป็นพหูสูตสามารถกระแหนะกระแหนลึกซึ้ง ด้วยการแปลงพุทธภาษิตว่า

เอมฺอาเอน ชิเน โกธํ เอมฺอาเอนํ สาธุนา ชิเน
พึงชนะความโกรธด้วยเอ็มอาร์เอ พึงชนะเอ็มอาร์เอด้วยความดี


มาถึงตอนนี้ อาจารย์เสฐียร พันธรังษี ศิษย์วัดมหาธาตุ ขณะนั้นเขียนอยู่หนังสือพิมพ์ชาวไทย ประกาศท้า ถ้าจะหาเรื่องกันขนาดนี้ให้บอกมา “จะเจอกันที่ไหน เมื่อไหร่” ก็ได้

หลวงพ่อกลับไม่สะทกสะท้าน ขอบคุณผ่านหนังสือพิมพ์ว่า “ขอบคุณ คุณชายที่ช่วยโฆษณาวัดมหาธาตุให้ โดยไม่ต้องจ้างโฆษณา” โดนไม้นี้ เล่นเอาคุณชายเป็นง่อยไปเลย

เมื่อกระบวนการทำลายหลวงพ่ออาจดำเนินไปจนถึงที่สุด หลวงพ่อปัญญานันทะผู้ร่วมไปประกาศพระพุทธศาสนากับหลวงพ่อก็พลอยฟ้าพลอยฝนด้วย ถึงไม่ถูกกล่าวหาเหมือนหลวงพ่ออาจ แต่ “ถูกแขวน” ไปพักหนึ่ง สมณศักดิ์ไม่ขึ้นเลย ในขณะที่พระเล็กพระน้อยได้เลื่อนเป็นพระผู้ใหญ่ไปตามๆ กัน

มีหลายท่านทักว่า ทำไมทางคณะสงฆ์ไม่เลื่อนสมณศักดิ์ให้พุทธทาสภิกขุ และปัญญานันทะบ้าง คำตอบที่ทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังแทบล้มทั้งยืนก็คือ

“ไม่มีผลงาน...”

ผลงานเป็นรูปธรรม เช่นสร้างโบสถ์ สร้างศาลาไม่มี ว่างั้นเถอะ ส่วนผลงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เทศน์จนคอแหบคอแห้ง หรือเขียนหนังสือแทบมือหงิก (อย่างท่านพุทธทาส) ท่านหาว่ามิใช่ผลงานประมาณนั้น (ข้อหาทำนองนี้ เกิดขึ้นกับเจ้าคุณประยุทธ์ หรือพระพรหมคุณาภรณ์ หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เช่นกัน ถูกหาว่าไม่เห็นทำอะไร ได้แต่เขียนหนังสือ !) เพราะมีความคิดเห็นว่างานมิใช่งาน มิใช่งานคืองาน เช่นนี้นี่เอง สมณศักดิ์ของหลวงพ่อจึงกระท่อนกระแท่น จากพระราชาคณะสามัญ “พระปัญญานันทมุนี” (พ.ศ.๒๔๙๙) จนเลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราช ก็กินเวลาตั้ง ๑๔ ปี (เป็นพระราชนันทมุนี พ.ศ.๒๕๑๔)


ทั้งหมดนี้เพียงบ่นให้ผู้อ่านได้ทราบเท่านั้นเอง เพราะเรื่องข้อมูลเก่าๆ และลึกซึ้งปานนี้ น้อยคนจะทราบ บังเอิญผมเป็นคนเก่า (และแก่) ทราบข้อมูลดี จึงนำมาเล่าให้ฟัง

ความจริงพระแท้ท่านมิได้สนใจในยศศักดิ์อัครฐานดอกครับ จะให้หรือไม่ให้ท่านก็มิได้เดือดร้อน ท่านเห็นไม่ต่างอะไรกับ “ยศช้าง ขุนนางพระ” แต่เป็นหน้าที่ของคนอื่นที่เห็นคุณค่าจะพึงถวายให้ท่าน ทั้งนี้ เพื่อยกย่องเชิดชูคนให้เอง (ว่ารู้จักยกย่องคนดี !)

เขียนมาถึงตรงนี้ นึกถึงนิทานเซนขึ้นมาได้ โยมคนหนึ่งหอบเงินไปถวายพระอาจารย์เซนเพื่อบำรุงวัด บอกว่าขอถวายเงินพันหนึ่ง (ไม่รู้พันเยน หรือพันอะไร) พระท่านก็เฉย โยมจึงย้ำอีกว่า “ตั้งพันเชียวนะ” ท่านก็ยังเฉย โยมก็ชักฉุนร้องว่า "เงินที่ถวายนี่ไม่ใช่หามาง่ายๆ นะ”

พระถามว่า “แล้วจะให้อาตมาทำอย่างไร”

“อย่างน้อยก็ขอบคุณบ้างซิ” โยมชักฉุน

“เรื่องอะไร คนให้นั่นแหละควรขอบคุณคนรับ ฉันรับให้ก็บุญแล้ว !”

หลวงพ่อปัญญานันทะท่านไม่เคยถือยศถือศักดิ์แม่แต่น้อย ดูภาพถ่ายของท่านในโอกาสต่างๆ ก็ดี หนังสือประมวลภาพของท่านก็ดี ไม่ปรากฏว่ามีรูปท่านถ่ายกับพัดยศเลย ทราบว่าพัดยศท่านรับพระราชทานแล้ว ก็ทิ้งไว้กุฏิวัดมหาธาตุตั้งแต่บัดนั้น

จากนั้นก็มุ่งหน้าทำงานสั่งสอนประชาชนต่อไป ประกาศนโยบายประกาศธรรม ต่อไปไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก

ท่านพุทธทาส มีปณิธาน ๓ ข้อ ส่วนหลวงพ่อปัญญานันทะ มีนโยบายประกาศธรรม ๒ ข้อ ดังนี้

“ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ข้าพเจ้ารักและบูชาพุทธธรรมมาก เพราะซาบซึ้งในรสสัจธรรมเป็นอย่างดีว่า พระธรรมให้ผลแก่ชีวิตของข้าพเจ้าอย่างไร จึงขอพูดถึงนโยบายในการประกาศธรรมว่า ข้าพเจ้ามีความมุ่งหมายในการทำงานเพื่ออะไร ท่านจักไม่ต้องสงสัยกันต่อไปอีกว่า ข้าพเจ้าเป็นพระประเภทใด ข้าพเจ้ามีนโยบายแน่วแน่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แม้เหตุการณ์ของประเทศชาติจะผันผวนไปอย่างใด ใครจะมาครองเมืองก็ตามที ข้าพเจ้าจะทำตามนโยบายของข้าพเจ้าเสมอ ไม่มีอะไรจะมาเปลี่ยนใจของข้าพเจ้า จากความเชื่อและการกระทำ ข้าพเจ้ายอมตายเสียดีกว่าที่จะพูดหรือกระทำอันผิดๆ ความประสงค์ของพระพุทธองค์ ผู้ซึ่งข้าพเจ้าได้มอบกายถวายชีวิตเป็นธรรมพลีแล้ว

ความมุ่งหมายของข้าพเจ้า จึงอยู่ในกฎเกณฑ์ ๒ ประการ คือ

๑. เพื่อประกาศความจริงที่พระองค์ทรงประกาศไว้

๒. เพื่อทำลายความเห็นผิด และการกระทำผิดๆ ในหมู่พี่น้องชาวพุทธทั้งหลายให้หมดไป ตามพุทธธรรมที่พระบรมศาสดาแสดงไว้”


เพียงสองประการนี้ก็มากมายใหญ่ยิ่งแล้ว ทำจนตายก็ไม่หมด ไม่หมดจริงๆ เห็นรายการทีวี “คนค้นฅน” เข้าใจว่าเป็นรายการล่าสุด ได้ยินหลวงพ่อตอบผู้สัมภาษณ์ว่า “ยิ่งอายุเหลือน้อย ยิ่งต้องทำงาน ตายแล้วทำไม่ได้”

เห็นภาพท่านถูกหามขึ้นรถไปบรรยายธรรมกรมประชาสัมพันธ์ โดยเพิ่งรู้ว่าร่างกายท่านมีเข็มฉีดยาฝังอยู่ด้วย เห็นแล้วน้ำตาไหล ถึงขนาดนี้แล้วหลวงพ่อยังทำงานรับใช้พระศาสนาไม่เห็นแก่ชีวิต ขณะเดียวกันมโนภาพผมก็สะท้อนภาพของผู้ที่เป็นตัวแทนพระศาสนาอีกจำนวนมากเพิกเฉยต่ออนาคตพระพุทธศาสนา บ้างก็มีพฤติกรรมย่ำยีพระศาสนาทั้งโดยเจตนาและด้วยความโง่เขลารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ภาพที่ว่านี้รวมถึงพนักงานผู้มีหน้าที่รับใช้งานพระศาสนาบางกลุ่มบางคนด้วย อย่างช่วยไม่ได้

สมควรสวดพุทธพจน์บทว่า “อนิจฺจา วต สงฺขารา” จริงๆ ครับ

จริงอยู่พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงประกาศแล้ว แม้จะสรุปให้กะทัดรัด สั้นสุดว่า มี ๒ ประการ คือ (๑) ความทุกข์ และ (๒) การดับทุกข์ แค่นั้น แต่เอาเข้าจริงแล้วมิใช่เรื่องเล็ก การจะชี้ให้คนทั่วไปเห็นว่านี่คือความทุกข์ไม่ใช่ของง่าย แม้ว่าเขาคนนั้นกำลังอยู่ในวังวนของความทุกข์ เขายังไม่รู้ว่าตนกำลังทุกข์ เขายังคิดว่าเป็นสุขเสียอีก ไม่ต่างกับหนอนอ้วน ดำผุดดำว่ายอยู่ในหลุมอาจม เทวดามาชวนไปอยู่สวรรค์ ก็ไม่ยอมไป เพราะรู้ว่าบนสวรรค์นั้นต้องเนรมิตเอาอาหารหรือสิ่งที่ต้องการจึงจะได้ เหนื่อยเปล่าๆ สู้อยู่ที่หลุมคูนี่ดีกว่า ไม่ต้องเสียกำลังเนรมิต ถึงเวลาพระคุณเจ้าก็จะมาเนรมิตให้เอง !

ยิ่งภารกิจทำลายความโง่งมงายของคนยิ่งต้องออกแรงมาก ภาพหลวงพ่อต่อสู้กับความโง่งมงาย หรือความยึดติดของผู้คน ผุดขึ้นในสมองของผมชัดเจน จากการเป็นแฟนพันธุ์แท้ติดตามไปฟังปาฐกถาสมัยผมเป็นเณรน้อย ยังจำคำพูดบางประโยคก้องหู ไม่นึกว่าจะมีโอกาสเขียนถึง เช่นประโยคว่า

“เทวดา (พระภูมิ) เป็นเทวดาชั้นต่ำ แค่บ้านอยู่ยังไม่มีปัญญาสร้าง ต้องให้คนเมตตาสร้างให้ สร้างบ้านให้เขาแล้ว เขาควรมากราบไหว้คนสร้างให้ นี่อะไร คนยังมานั่งไหว้เขาปลกๆ ดูแล้วมันน่าหัวเราะ...”

ในยุคที่หลวงพ่อเทศนาต่อต้านศาลพระภูมินั้น มีพระคุณเจ้าบางท่านพูดทำนองขำๆ ว่า “ยิ่งหลวงพ่อปัญญาฯ ต่อต้านมาก ศาลพระภูมิยิ่งงอกขึ้นเป็นดอกเห็ด”

ทำไมไม่คิดในมุมกลับว่า ขนาดต่อต้าน ขนาดพูดให้เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ถูกไม่ต้อง มันยังงอกป่านนี้ ถ้าไม่พูดไม่เตือนเสียเลย จะงอกขนาดไหน

กิจกรรมแจกเครื่องรางของขลังก็เช่นกัน มีปฏิบัติกันทั่วไปในหมู่ศิษย์พระตถาคต (ความจริงมิบังควรใช้คำนี้เรียกตนเองด้วยซ้ำ) ไปไหนก็แจกแต่เหรียญแต่พระ บางทีก็แจกไม่ดูคนรับก็มี

ผมเองเป็นคนไม่นิยมพระเครื่อง แต่ไปไหว้พระคุณเจ้าที่ไหนก็ควักเหรียญควักพระให้ จะไม่รับก็เกรงใจ ถ้ามีพระพุทธบุตรอย่างหลวงพ่อมากๆ ก็น่าจะดี ญาติโยมจะได้ไม่ต้องแบกต้องหอบเครื่องรางของขลังให้หนัก

แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือหลวงพ่อปัญญาฯ ยังมีฤๅษีเสริฐ ฤๅษีเสริฐ เป็นนามหลวงพ่อประเสริฐ อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยสาวัตถี ใกล้พระเชตวันมหาวิหาร เมืองอินเดีย ท่านเป็นพระมีเชื้อเขมร อยู่อินเดียมานาน ญาติโยมไปไหว้พระที่อินเดีย จะพากันไปเยี่ยมวัด ทำบุญทำทานตามปกติของชาวพุทธทั่วไป คราวหนึ่งคณะแสวงบุญพากันไปทอดผ้าป่าที่วัดหลวงพ่อฤๅษีเสริฐ เสร็จพิธีถวายผ้าป่า หลวงพ่อฤๅษีก็ล้วงย่ามนำพระ (ที่นำมาจากเมืองไทย) มาแจกญาติโยมคนละองค์สององค์

หลวงพ่อปัญญานันทะไปด้วยครานั้น ทนไม่ได้ ก็พูดตามนิสัยคนตรงของท่าน ที่ไม่อยากเห็นพระทำนอกเรื่องเกินไป จึงพูดว่า “มาถึงอินเดียแล้ว ยังมาแจกพระแจกเหรียญอยู่อีก” ทำนองว่าไม่ละอายใจบ้าง อยู่ใกล้ๆ สถานที่พระพุทธองค์เคยประทับอย่างนี้ ญาติโยมต่างเงียบ

ทันใดนั้นหลวงพ่อฤๅษีก็ชี้หน้าหลวงพ่อปัญญานันทะ ว่า “หยุดนะ ที่นี่ใครใหญ่”

ได้ผล หลวงพ่อปัญญาฯ เป็นฝ่ายเงียบ เงียบกริบยิ่งกว่าญาติโยมอีก หลายคนสงสัยว่า หลวงพ่อยอมฤๅษีเสริฐง่ายๆ ได้อย่างไร

“เขาพูดถูก วัดของเขา เราจะใหญ่แข่งเขาได้ยังไง” หลวงพ่อปัญญาฯ พูดพลางหัวเราะ

ครับ เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือหลวงพ่อปัญญานันทะยังมีฤๅษีเสริฐ !



:b8: ที่มา : คิดถึงหลวงพ่อปัญญานันทะ (อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=20706

:b44: รวมคำสอน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38913

:b44: ประวัติและผลงาน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44336

:b50: :b49: การถอดและการคืนสมณศักดิ์ของ ๒ พระมหาเถระ
พระพิมลธรรม (อาจ) และพระศาสนโศภน (ปลอด)
กับ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด)-สมเด็จพระสังฆราช (จวน)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=57293

เจ้าของ:  Duangtip [ 05 ก.ย. 2022, 18:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สมเด็จอาจ อาสโภ (พระพิมลธรรม) กับ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  sirinpho [ 29 ม.ค. 2023, 18:29 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สมเด็จอาจ อาสโภ (พระพิมลธรรม) กับ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  ดาราวรรณ [ 08 เม.ย. 2023, 10:23 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สมเด็จอาจ อาสโภ (พระพิมลธรรม) กับ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

Kiss :b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 07 ก.ค. 2023, 12:57 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: สมเด็จอาจ อาสโภ (พระพิมลธรรม) กับ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

Kiss

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/