วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ธ.ค. 2022, 10:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม
พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

รูปภาพ

บัดนี้จะได้แสดงพระธรรมเทศนา
พรรณนาศาสนธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อประดับสติปัญญา แด่ท่านเจ้าภาพและพุทธศาสนิกชน
ซึ่งในวันนี้ท่านทั้งหลายได้พร้อมใจกันมา
ประกอบการกุศลบำเพ็ญศพของท่านผู้วายชนม์
ซึ่งท่านผู้วายชนม์ตั้งอยู่ในฐานะผู้เป็นบิดา
ผู้ที่เป็นบิดาย่อมเป็นบุพการีชนผู้ซึ่งทำอุปการะก่อน
ซึ่งบิดาเป็นผู้ทำอุปการะก่อนอย่างไร
ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำมากล่าว
และท่านผู้ซึ่งสำนึกบุญคุณของผู้มีพระคุณ
ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีก็ไม่จำเป็นจะต้องนำมากล่าว
เพราะว่าธรรมะทั้งหลายซึ่งเป็นหลักสูตรและวิชาการ เราได้ยินได้ฟังกันมามาก

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านทั้งหลายเป็นผู้อยู่ในเมืองใหญ่ๆ
เช่น พระนคร เป็นแหล่งการศึกษาทั้งสายโลกและสายธรรม
เมื่อเป็นเช่นนั้นเรื่องวิชาความรู้เกี่ยวกับเรื่องวิชาการต่างๆ
ท่านทั้งหลายย่อมมีความรู้ความเข้าใจชัดเจนเป็นอย่างดี
และจะบอกกล่าวเพียงแค่ว่า
ธรรมะที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก
กล่าวกันว่าถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
ธรรมะทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์
ถ้าเราจะตั้งใจเรียนให้มันจบ จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็ไม่สามารถจะเรียนจบได้
เรารู้กันเพียงเล็กๆ น้อยๆ ตามความสามารถที่เราจะเรียนรู้กัน
ธรรมะทั้งนั้นทั้งนี้ในเมื่อประมวลลงโดยหลักการย่อๆ ก็มีอยู่เพียง ๒ อย่าง

๑) ธรรมะอันเป็นอารมณ์ เป็นเครื่องรู้ของจิต
๒) ธรรมะอันเป็นกฎหรือระเบียบ
เพื่อปรับปรุงกาย วาจา และใจของเราให้มีสภาพดียิ่งขึ้น


ธรรมะอันเป็นสภาวธรรมนั้น หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้
นับตั้งแต่พื้นแผ่นดิน ฟ้า อากาศ สิ่งที่มีชีวิตจิตใจ และไม่มีชีวิตจิตใจ
ถ้ามองเข้ามาใกล้ๆ ตัวเรา ธรรมะอันเป็นสภาวธรรม ก็คือกายกับใจของเราเอง
รวมทั้งสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่เรามีความเกี่ยวข้องอยู่
เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทรัพย์สมบัติทั้งหลายบรรดามี
สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสภาวธรรม
คือเป็นอารมณ์ เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ

ส่วนธรรมะที่เป็นคำสอนหรือเป็นกฎระเบียบที่จะมากล่อมเกลาสภาวธรรม
คือ กายกับใจ ให้มีสภาพดียิ่งขึ้น
มีหลักใหญ่ๆ ที่จะประมวลมากล่าวอยู่ใน ๓ หลัก คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
เรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา เราก็ได้ยินได้ฟังกันมามากแล้ว
จึงไม่จำเป็นต้องนำมาอธิบาย
เราเคยได้ยินคำสอนของพระพุทธเจ้าในข้อที่ว่า
“พระองค์สอนให้เราละความชั่ว ประพฤติความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด”
ทีนี้พื้นฐานที่เราจะยึดเป็นหลักละความชั่วนั้นคืออะไร
พื้นฐานที่เราจะละความชั่ว เอาด้วยความตั้งใจ คือตั้งใจที่จะละ

สำหรับคฤหัสถ์ชาวบ้านทั้งหลาย ถ้าใครจะตั้งใจละความชั่ว
ให้ยึดหลักศีล ๕ ประการเป็นหลักปฏิบัติ
เว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน การข่มเหง การรังแก การคิดอิจฉาริษยา
อันนี้คือหลักของศีล ๕ และเป็นหลักแห่งการละความชั่ว
ตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละความชั่ว
ถ้าใครตั้งใจละความชั่วตามหลักของศีล ๕ ประการนี้ได้โดยเด็ดขาด
ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นการละความชั่วตามพุทธพจน์ที่ทรงสอน
จำเป็นอย่างไรที่เราจึงต้องละความชั่วทั้ง ๕ ประการ
เพราะความชั่วทั้ง ๕ ประการ นอกจากจะเป็นการละความชั่วแล้ว
ยังเป็นการปรับพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์
มนุษย์ที่มีความสมบูรณ์โดยคุณธรรม จะต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์สะอาด

ในเมื่อพูดมาถึงตรงนี้ ท่านผู้ฟังอาจมีความหนักใจ
เวลาที่เราอยู่ในสังคม บางสิ่งบางอย่างเราจะต้องจำเป็นละเมิดกฎของศีล ๕ ประการ
พระท่านมาสอนให้เราถือศีล ๕ รักษาศีล ๕
และให้ละความชั่วตามกฎของศีล ๕ ย่อมเป็นการหนักใจ
ในปัญหาข้อนี้ ถ้าหากว่าใครไม่สามารถที่จะละความชั่วตามกฎของศีล ๕
กว้างขวางไปจนกระทั่งถึงสัตว์เดรัจฉานด้วย
ขอให้เราตั้งปณิธานเอาไว้เพียงแค่ว่า “ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ฉันจะไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน
ไม่ข่มเหง ไม่รังแก และไม่คิดอิจฉาบังเบียด”
เอากันเพียงแค่นี้
ศีล ๕ ก็เป็นหลักธรรมประกันความปลอดภัยของสังคม ทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข
แต่ถ้าใครจะมีความมุ่งหมายที่จะประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จมรรคผลนิพพาน
เราจะต้องทำศีล ๕ ให้บริสุทธิ์สะอาด
แม้ในวงการของสัตว์เดรัจฉานสิ่งที่มีชีวิตมีร่างกายทั้งปวง
เราจะไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหง ไม่รังแก
โดยที่สุดแม้แต่ไข่มดดำ มดแดง เรางดเว้นโดยเด็ดขาด
อันนี้เป็นศีล ๕ ในระดับของผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพาน
อันนี้คือการทำ คือการละความชั่วตามพุทธพจน์
ตามความหมายที่กล่าวในเบื้องต้น

ทีนี้เพื่อให้ความดีหรือเจตนาที่จะละความชั่วให้มีหลักฐานมั่นคงลงไป
พระองค์จึงสอนให้เราบำเพ็ญสมาธิ
จำเป็นด้วยหรือที่เราต้องบำเพ็ญสมาธิหรือฝึกสมาธิ
ถ้าใครมีความข้องใจ สงสัยว่าจำเป็นด้วยหรือที่เราต้องทำสมาธิ
คำตอบก็คือว่าเราได้ทำสมาธิมาแล้ว ทำสมาธิมาแล้ว
โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจว่าเราจะฝึกสมาธิ
ท่านผู้ฟังลองคิดดูซิว่า ถ้าหากท่านไม่มีสมาธิ เรียนจบปริญญามาได้อย่างไร
เมื่อไม่มีสมาธิทำงานใหญ่โตสำเร็จได้อย่างไร
ไม่มีสมาธิปกครองคนเป็นจำนวนพัน จำนวนหมื่น จำนวนแสน จำนวนล้านได้อย่างไร
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่อาศัยพลังของสมาธิทั้งนั้น

เพื่อจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ท่านมองเห็นได้ชัดเจน
ในขณะใดที่ท่านใช้ความคิดหนัก
ท่านมีจิตใจจดจ่ออยู่กับความคิดหรือในสิ่งที่ท่านคิด
เมื่อท่านคิดด้วยความตั้งใจอย่างจริงจัง
ในบางครั้งเผลอๆ จิตของท่านมีอาการเคลิ้มลงไป
แล้วสิ่งที่ท่านคิดนั้นผุดขึ้นมาเป็นคำตอบตามที่ท่านต้องการ
เคยมีบ้างไหม ถ้าหากว่าใครเคยมีบ้างแล้ว
ได้ชื่อว่าผู้นั้นเคยใช้สมาธิให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันมาแล้ว
อันนี้คือเหตุผลที่เราทุกคนจะต้องทำสมาธิ


การทำสมาธิไม่เฉพาะจะมีในหลักพระพุทธศาสนาเท่านั้น
ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติเกิดขึ้นในโลก
พวกฤๅษีชีไพรเขาทำสมาธิกันมาอย่างโชกโชน
แม้แต่พระพุทธเจ้าของเราเมื่อเสด็จออกทรงผนวช
ทีแรกก็ยังได้ไปศึกษาและเรียนสมาธิในสำนักของอุทกดาบส อาฬารดาบส
จนกระทั่งเรียนจบหลักสูตรของท่านทั้งสอง
แล้วทำสมาธิได้อย่างดีวิเศษดียิ่งกว่าอาจารย์เสียอีก
จนกระทั่งอาจารย์เกิดความเชื่อมั่นในสมรรถภาพของพระพุทธองค์
แล้วอาราธนาท่านให้อยู่เป็นอาจารย์สอนในสำนักนั้นต่อไป

โดยวิสัยของผู้ที่บำเพ็ญบารมีเพื่อความสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
ย่อมมีพระสติปัญญา พระปรีชาเฉลียวฉลาดเฉียบแหลม
พระองค์จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ในเมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิ
ตั้งแต่ฌานชั้นที่ ๑ จนถึงฌานชั้นที่ ๘ เรียกว่าได้สมาบัติ ๘
ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิในฌานในสมาบัติ
ความรู้สึกภายในจิตก็ไม่มีกิเลสและอารมณ์
เพราะพวกพราหมณ์ทั้งหลาย พวกฤๅษีทั้งหลายในสมัยนั้น
สติปัญญาของเขายังอ่อน เมื่อเขาทำสมาธิจนสำเร็จฌานสมาบัติ
เขาจึงถือว่าเขาสำเร็จพระนิพพานแล้ว

แต่วิสัยของพุทธภูมิไม่เป็นเช่นนั้น
โดยที่พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงพิจารณาว่า
เมื่อเราทำจิตให้สงบละเอียดจนรู้สึกว่าไม่มีกิเลสและอารมณ์
ก็ดูเหมือนว่าไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มีแต่ความสบายอย่างเดียว
แต่เมื่อจิตถอนออกมาจากฌานมาสัมผัสรู้ว่ามีกาย
ความยินดียินร้ายในอารมณ์ที่ได้พบเห็น
ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังมีอยู่เช่นเคย
พระองค์ได้สันนิษฐานว่าพระองค์ยังไม่สำเร็จพระพุทธเจ้า
จำเป็นเราจะต้องแสวงหาวิธีการที่จะบำเพ็ญตนให้ได้ตรัสรู้ต่อไปอีก
ศาสดาจารย์ผู้สอนสมาธิภาวนาในสมัยนั้นที่มีภูมิความรู้อย่างสูงสุด
ก็คืออาฬารดาบสและอุทกดาบส
ในเมื่อพระองค์พิจารณาและมองหาอาจารย์
ที่จะเป็นผู้พร่ำสอนพระองค์ต่อไป ไม่มีเหลืออีกแล้ว
ดังนั้นพระองค์จึงตั้งปณิธานแน่วแน่
ว่าจะทรงแสวงหาหนทางตรัสรู้โดยลำพังพระองค์เอง
เมื่อพระองค์ทรงแสวงหาการตรัสรู้โดยลำพังพระองค์เอง ซึ่งไม่มีใครชี้แนะแนวทาง
แต่อาศัยการทดสอบจิตและอารมณ์ของตนเองโดยลำพังพระองค์เอง
พระองค์ก็ได้รู้แนวทางที่จะปฏิบัติเพื่อให้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หลักการที่พระองค์ทรงยึดเป็นหลักปฏิบัติ
ก็คือว่าทำ “จิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก”
พระองค์ทำลมอานาปานสติให้เป็นสิ่งรู้ของจิต
แล้วเอาสติไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ ทำให้พระองค์รู้ธรรมะของจริงปรากฏขึ้นว่า
“สิ่งที่มีร่างกายและชีวิตนี้ ความเป็นอยู่อยู่ที่ลมหายใจ
ถ้าลมหายใจอันนี้ เข้าไปแล้วไม่ออกมาต้องตาย
เมื่อออกไปแล้วไม่กลับเข้ามาอีกก็ต้องตาย”

พระองค์จึงทรงทำพระสติรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
ทำให้พระองค์ต้องรู้ความหยาบความละเอียดของลมหายใจ
และรู้ความเปลี่ยนแปลงของลมหายใจ
ในขณะใดที่พระองค์ไม่ได้ดูลมหายใจ
พระองค์ก็กำหนดดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตของพระองค์
สิ่งใดเกิดขึ้นพระองค์ก็รู้ รู้ด้วยวิธีการทำสติกำหนดจิต
กำหนดคอยรู้ คอยจ้องดูอารมณ์ที่เกิดดับกับจิต

ในเมื่อสติสัมปชัญญะของพระองค์มีความเข้มแข็งขึ้น
สามารถที่จะประคับประคองจิตใจ
ให้มีความรู้ซึ้งเห็นจริงในความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์
ในสภาวะที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เมื่อรู้ว่าอารมณ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
อารมณ์อันใดที่จิตของพระองค์ยังยึดถืออยู่ เมื่ออารมณ์สิ่งนั้นเกิดขึ้น
ก็มายุแหย่ให้จิตของพระองค์เกิดความยินดีเกิดความยินร้าย
ความทุกข์ก็ปรากฏขึ้นภายในจิต ทุกข์ที่ปรากฏขึ้นภายในจิตของพระองค์
พระองค์ก็กำหนดว่านี่คือทุกข์อริยสัจ เป็นทุกข์จริงๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในเมื่อรู้ว่าเป็นทุกข์จริงๆ พระองค์ก็สาวหาสาเหตุทุกข์ที่มันเกิดมาจากเหตุอะไร
ทุกข์อันนี้มันเกิดมาจากตัณหา
ตัณหาเกิดมาจากไหน เกิดมาจากความยินดีและความยินร้าย
ความยินดีเป็นกามตัณหา ความยินร้ายเป็นวิภวตัณหา
ความยึดมั่นถือมั่นในความยินดียินร้ายทั้ง ๒ อย่างเป็นภวตัณหา
ในเมื่อจิตมีภวตัณหา มันก็ย่อมมีความทุกข์เกิดขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้พระองค์รู้ซึ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔
ที่เราเคยได้ยินได้ฟังและมีปัญหาถามกันว่า
ที่ว่าพระองค์ตรัสรู้เองโดยชอบนั้น คือตรัสรู้ธรรมอะไร
เราก็จะได้คำตอบว่า คือตรัสรู้ในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
อันนี้เป็นภูมิธรรมที่พระองค์ค้นคว้าพบและตรัสรู้เองโดยชอบ

เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว เผยแผ่พระธรรมประกาศธรรม
ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว ยังประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้ฟัง
ซึ่งมีภิกษุเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ
เป็นผู้รับฟังธรรมแล้วปฏิบัติตาม
ได้สำเร็จมรรคผลตามเยี่ยงอย่างพระพุทธองค์ ไปเป็นสักขีพยานแห่งการตรัสรู้
ว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้แล้วเป็นนิยยานิกธรรม
สามารถนำผู้ปฏิบัติให้บรรลุถึงความพ้นทุกข์ได้ จึงเป็นที่พอใจในการตรัสรู้
เป็นอันว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เองโดยชอบ

ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้เองโดยชอบ
เราจะประมวลแยกประเภทออกแล้วได้ ๒ ประการดังที่กล่าวมาแล้ว
คือเป็นสภาวธรรม ได้แก่ กายกับใจ
และสิ่งสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เราประสบอยู่เป็นชีวิตประจำวัน
และกฎคือระเบียบที่กล่อมเกลาสภาวธรรมคือกายกับใจของเราให้มีสภาพดียิ่งขึ้น


ในเมื่อได้พูดถึงหลักแห่งการทำความดีให้มั่นคงลงไป ด้วยวิธีการทำสมาธิแล้ว
บัดนี้เรามาพูดถึงวิธีการทำสมาธิ
สมาธิเป็นอุบายวิธีที่จะน้อมนำเอาธรรมะมาให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันของเรา
เราพอที่จะประมวลหลักแห่งการปฏิบัติในหลักใหญ่ๆ ได้ ๓ ประการ คือ
๑. หลักแห่งการบริกรรมภาวนา
๒. หลักแห่งการค้นคิดพิจารณา
๓. หลักแห่งการทำสติ กำหนดตามรู้ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทานดื่ม ทำ พูด คิด

หลักการปฏิบัติสมาธิแม้จะมีมากมายในคัมภีร์พระไตรปิฎก
ในเมื่อสรุปรวมลงแล้วก็อยู่ในหลัก ๓ ประการ ดังที่กล่าวมานี้ จะว่าด้วย
๑. หลักแห่งการบริกรรมภาวนา
การบริกรรมภาวนาก็มีด้วยกันหลายแบบหลายอย่าง
บางท่านก็สอนให้ภาวนาพุทโธ
บางท่านก็สอนให้ภาวนายุบหนอพองหนอ
บางท่านก็สอนให้ภาวนาสัมมาอรหัง
ทั้ง ๓ แบบนี้เป็นสิ่งที่พุทธบริษัทมีความข้องใจ
แต่ความจริงทั้ง ๓ แบบนี้ เมื่อภาวนาแล้วจุดมุ่งหมายก็เพื่อมุ่งให้จิตสงบเป็นสมาธิ
มีสติปัญญาสามารถที่จะพิจารณาสภาวธรรม
ให้รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ ผลลัพธ์ก็ไปลงสู่จุดเดียวกัน
ใครภาวนาก็อาศัยหลักการ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
แต่เนื่องด้วยผู้เทศน์มีความชำนิชำนาญในการภาวนาพุทโธ
จึงจะนำเอาวิธีการภาวนาพุทโธมากล่าว

การภาวนาพุทโธ ถ้าว่ากันด้วยวิธีการ
ก่อนอื่นเราจะต้องไหว้พระสวดมนต์เจริญเมตตาพรหมวิหาร
แล้วมานั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย
ตั้งกายให้ตรง มือขวาทับมือซ้าย ดำรงสติให้มั่น
แล้วน้อมนึกถึงคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ด้วยบทพระบาลีว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ ถึง ๓ ครั้ง
ต่อจากนั้นผู้ภาวนากำหนดจิตทำสติ น้อมจิตใจเชื่อลงไปว่า
พระพุทธเจ้าก็อยู่ในจิต พระธรรมก็อยู่ในจิต พระสงฆ์ก็อยู่ในจิต
เราจะสำรวมเอาจิตดวงเดียวเท่านั้น
แล้วตั้งหน้าตั้งตาบริกรรมภาวนาพุทโธไว้ในใจ
นึกพุทโธด้วยความเบาใจ อย่าให้มีความข่มใจ อย่าให้มีการบังคับใจ
เพียงแต่ประคองใจให้นึกพุทโธ พุทโธ อยู่ตลอดเวลาเท่านั้น

ในขณะที่ภาวนาอยู่ จิตจะสงบหรือไม่สงบเราไม่ควรคิด
จิตจะรู้จะเห็นอะไรหรือไม่ เราไม่ควรคิด
หน้าที่ของเรามีแต่นึกบริกรรมภาวนาพุทโธอยู่เพียงอย่างเดียว
ในเมื่อท่านพยายามที่จะฝึกหัดให้คล่องตัวจนชำนิชำนาญ
จนกระทั่งจิตของท่านนึกภาวนาพุทโธเองโดยอัตโนมัติ
คำว่าภาวนาเองโดยอัตโนมัติ คือจิตนึกถึงพุทโธโดยความไม่ได้ตั้งใจ
ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
จิตจะนึกพุทโธอยู่ตลอดเวลาทั้งหลับทั้งตื่น
เมื่อจิตของท่านนึกพุทโธอยู่ตลอดเวลาไม่รู้จักหยุดยั้ง
ก็แสดงว่าท่านผู้ภาวนาได้องค์ฌานที่ ๑ กับองค์ฌานที่ ๒ คือ วิตกกับวิจาร

ถ้าจะมีปัญหาว่าเพียงแค่จิตนึกพุทโธอยู่ไม่หยุด
ความสงบของจิตไม่มีปรากฏการณ์เกิดขึ้น
ความมีปีติและความสุขก็ไม่มี ความเป็นหนึ่งของจิตก็ไม่มี
แล้วเราจะได้ประโยชน์อะไรจากการนึกพุทโธอยู่ไม่หยุด
โดยธรรมชาติของจิต ในเมื่อมีสิ่งรู้ สติมีสิ่งระลึก
แม้จิตยังไม่สงบ เราจะได้พลังงานทางสติเพิ่มขึ้นทุกที
โดยอุบายวิธีนี้เป็นการฝึกหัดสติสัมปชัญญะให้มีความเข้มแข็งขึ้น
ในเมื่อสติสัมปชัญญะมีความเข้มแข็งขึ้น โอกาสที่จิตจะมีความสงบ
ได้ปีติ ได้ความสุข ได้ความเป็นหนึ่งนั้น ย่อมเกิดมีขึ้นได้


ปัญหาสำคัญขอให้ท่านพยายามทำติดต่อกัน ทำเนืองๆ ทำให้มาก
ทำให้ชำนิชำนาญ ทำให้คล่องตัว จนกระทั่งจิตของท่านนึกพุทโธเอง
ถ้าหากจิตของท่านอยู่กับพุทโธตลอดกาล
ความกังวลในเรื่องความวุ่นวายต่างๆ มันก็จะลดน้อยลง
เพราะจิตของท่านมีที่อยู่คือพุทโธ
ในเมื่อจิตมายึดมั่นอยู่กับพุทโธเพียงอย่างเดียว
ท่านก็ย่อมปล่อยวางสิ่งวุ่นวายทั้งหลายลงได้
อย่างน้อยก็ทำให้ความตึงเครียดในชีวิตประจำวันผ่อนคลายลงไป
อันนี้คือผลที่จะพึงเกิดขึ้นจากการภาวนาพุทโธในเบื้องต้น อันนี้เป็นหลักที่ ๑


๒. หลักแห่งการใช้ความคิด
ในคัมภีร์หมายถึงว่าการพิจารณา มีการพิจารณากายคตาสติเป็นต้น
หรือมีการพิจารณามหาสติปัฏฐาน ๔ แต่ถ้าสมมุติว่าเราไม่มีเวลา
หรือไม่มีภูมิความรู้ที่จะเอาภูมิของมหาสติปัฏฐาน ๔ หรือกายคตาสติมาพิจารณา
เราจะเอาสิ่งอื่นมาพิจารณาบ้างไม่ได้หรือ
เช่น อย่างเราเรียนรู้วิชาทางโลกมา จบมาด้วยวิชาอันใด
แล้วก็น้อมเอาวิชาอันนั้นมาเป็นอารมณ์พิจารณา
เช่นอย่างผู้ที่เรียนจบมาทางวิทยาศาสตร์ นึกถึงวิทยาศาสตร์
ตั้งปัญหาถามตัวเองว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร
แล้วก็หาคำตอบไปเรื่อย ก็สามารถที่จะทำให้จิตสงบเป็นสมาธิได้
เพราะสิ่งที่เราคิดเป็นสิ่งรู้ของจิต เมื่อเราทำสติกำหนดรู้อยู่กับสิ่งที่จิตมันรู้
ก็เป็นการทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก
เป็นอุบายแห่งการภาวนาเหมือนกัน อันนี้เป็นหลักที่ ๒
ไม่ว่าท่านจะคิดอะไร ทำสติสัมปชัญญะให้มันรู้ชัดในสิ่งที่ท่านคิดนั้น
ในเมื่อท่านทำฝึกหัดบ่อยๆ ทำให้มากๆ
พลังของจิตในทางสติสัมปชัญญะจะเพิ่มขึ้นทุกที
ในเมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะเป็นเจตสิกบรรจุอยู่ในจิต
จิตก็สามารถที่จะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้
เป็นสมาธิแบบที่มีวิตก วิจาร มีปีติ สุข เอกัคคตา
ทั้ง ๒ หลักการนี้เราอาจใช้เวลานั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง
หรือนอนกำหนดจิตพิจารณาบ้าง


๓. กำหนดรู้ลงที่จิต
ทำสติรู้ไว้ที่จิต แล้วทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
ไม่ว่าเราจะก้าวไปทางไหน มีสติ เดินเรารู้ นั่งเรารู้ ยืนเรารู้ นอนเรารู้
ดื่ม ทำ พูด คิด เรารู้ ทำสติรู้เพียงอย่างเดียว การปฏิบัติโดยวิธีนี้ฝึกจนคล่องตัว
พยายามทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อยู่ทุกลมหายใจ
ในเมื่อเราฝึกจนคล่องตัวแล้ว ในชั้นต้นๆ เราอาจตั้งใจกำหนดจิตตามรู้
แต่เมื่อเราฝึกจนคล่องตัวแล้วสติของเราจะทำหน้าที่ของตัวเอง
การปฏิบัติแบบนี้เราอาจไม่ไปนึกว่าก้าวเดินหนอก็ได้
เพราะเมื่อเวลาเราเดิน จิตเราย่อมรู้เพราะจิตเป็นผู้สั่ง
เวลาเรายืน จิตของเราย่อมรู้เพราะจิตเป็นผู้สั่ง
เวลาเรานอน จิตย่อมรู้เพราะจิตของเราเป็นผู้สั่ง
เวลาเรานั่ง จิตเราย่อมรู้เพราะจิตของเราเป็นผู้สั่ง
การรับประทาน ดื่ม ทำ พูด จิตเขาก็ย่อมรู้เพราะเขาเป็นผู้สั่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดที่เกิดขึ้น จิตเขาย่อมรู้เพราะเขาเป็นผู้คิดเสียเอง


วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับแบบนี้
เราทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เพียงแค่นี้
แต่ขอท่านผู้ฟังอย่าได้นึกว่าเป็นของง่าย
การทำสติตามรู้ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
ถ้าใครฝึกได้จะได้สมาธิ ได้พลังทางสมาธิทางสติ
มาสนับสนุนการงานอันเกี่ยวเนื่องด้วยชีวิตประจำวันของเราได้เป็นอย่างดี

และอีกอย่างหนึ่ง ปัญหาขัดข้องในการบำเพ็ญสมาธิจะไม่มี
ในเมื่อเราตั้งใจปฏิบัติตามแบบที่ ๓ นี้
คือทำสติกำหนดตามรู้ การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
ทำทุกลมหายใจ ไม่ว่าเราจะก้าวไปทางไหน ทำอะไร คิดอะไร พูดอะไร ทำสติลูกเดียว
ในขณะที่เราทำงานอยู่ในสำนักงาน เราทำสติลูกเดียว
เขียนหนังสือรู้ว่าเขียน อ่านรู้ว่าอ่าน คิดรู้ว่าคิด พูดรู้ว่าพูด
ทำสติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แล้วเราจะสามารถทำสติให้เป็นสมาธิ
ให้เกิดมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา และได้ฌานอย่างที่พระท่านสอนได้เหมือนกัน

ทีนี้ปัญหามีอยู่ว่าสมาธิอย่างแท้จริงจะไปเกิดขึ้นเวลาไหน
โดยวิสัยของผู้ฝึกหัดทำสติตามรู้
การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด อยู่ทุกลมหายใจ
เวลาเขานอนลงไป เขาต้องทำสติรู้อยู่กับการนอน
เมื่อมีความคิดเกิดขึ้น เขาจะต้องทำสติรู้กับความคิดที่เกิดขึ้น
เขาจะกำหนดตามรู้ความคิดของเขาไปจนกว่าจะนอนหลับ
ทีนี้พอหลับลงไปแล้วแทนที่จะหลับมืดอย่างธรรมดา
จิตกลับจะสงบนิ่ง ว่าง สว่างโพลงขึ้นมา
ผู้นั้นจะรู้สึกว่าตนเองนอนไม่หลับตลอดคืน
ถ้าหากว่ามีปัญหาอันใดเกี่ยวกับวิชาความรู้และการงาน
จิตเขาจะนำไปพิจารณาค้นคว้าแก้ปัญหานั้นๆ ในขณะนอนหลับ
มีลักษณะเหมือนกับนอนหลับแล้วฝันไป
อันนี้คือผลที่จะพึงเกิดขึ้นจากการทำสมาธิแบบนี้

และการทำสมาธิแบบนี้ เป็นวิธีการฝึกจิตให้มีพลังงาน
เพื่อเราจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตประจำวัน
เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของจิตใจ
เราสามารถจะมีสติปัญญาแก้ไขได้
เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องชีวิตประจำวัน เราจะสามารถแก้ไขได้
เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการงาน เราจะสามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้
อันนี้เป็นวิธีการฝึกสมาธิเพื่อให้มีจิตมั่นคง คือมีสมาธิ มีสติปัญญา
สามารถที่จะรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน

ในวันนี้ได้แสดงธรรมะพอเป็นคติเตือนใจ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา
ส่วนการปฏิบัติจะเกิดผลอย่างไรนั้น
ขอฝากให้ท่านผู้สนใจในการปฏิบัติได้ทดสอบพิจารณาเอาเอง
เมื่อมีปัญหาอันใดเกิดขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้จิตของเรามีความสบาย
ความปลอดโปร่ง และมีสติปัญญาสามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ
หรือมีสติรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับชีวิตประจำวันได้
ก็เป็นอันว่าการภาวนาหรือทำสมาธิของท่านได้ผลเป็นที่พอใจ

ในท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจแห่งการให้ธรรมเป็นทาน
ถ้าหากจะเกิดประโยชน์แด่ท่านผู้ฟังบ้าง
ก็ขออุทิศส่วนกุศลให้แด่วิญญาณของท่านผู้วายชนม์
ขอให้ท่านผู้วายชนม์รู้แล้วจงอนุโมทนา สำเร็จคติตามที่ตนปรารถนา
แม้ท่านเจ้าภาพและพุทธบริษัททั้งหลายจะปรารถนาสิ่งใด
ก็ขอให้สำเร็จตามใจที่ปรารถนาโดยทั่วกันทุกท่าน
โดยระยะดังเทศนามาก็สมควรแก่กาลเวลา เอวังก็มีอยู่ประการฉะนี้



:b8: :b8: :b8: หนังสือ หลวงพ่อสอนธรรม
ธรรมเทศนา โดย พระภาวนาพิศาลเถร (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่เรามองข้าม หน้า ๒-๑๒


• ประวัติและปฏิปทา “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=50583

• รวมคำสอน “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=40915

• ประมวลภาพ “หลวงพ่อพุธ ฐานิโย” วัดป่าสาลวัน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=28489

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ส.ค. 2023, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2024, 09:32 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 25 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร