วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2019, 10:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


พระราธเถระ
เอตทัคคะในทางผู้มีปฏิภาณแจ่มแจ้ง

การที่ท่านพระราธเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้มีปฏิภาณแจ่มแจ้ง นั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ คือพระมหาสาวกองค์นั้น ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏในเรื่องการเป็นผู้มีปฏิภาณแจ่มแจ้ง และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังนี้

๐ บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

นับจากภัทรกัปนี้ถอยไปแสนกัป พระพิชิตมารพระนามว่า ปทุมุตระ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ครั้งนั้น ท่านได้มาเกิดเป็นพราหมณ์ชาวพระนครหงสวดี ครั้นเติบใหญ่ ได้เล่าเรียนจนจบไตรเพทแล้ว วันหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคในพระวิหาร ได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้มีปฏิภาณ แล้วได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ครั้งนั้นท่านได้บำเพ็ญมหาทาน และได้ทำการสักการบูชาแด่พระศาสดาพร้อมทั้งพระสงฆ์อย่างโอฬาร แล้วหมอบศีรษะลงแทบพระบาท กราบทูลตั้งความปรารถนาจะตั้งอยู่ในฐานันดรเช่นภิกษุรูปนั้นบ้างในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคต

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านว่า ท่านจงเป็นผู้มีความสุขมีอายุยืนเถิด ปณิธานความปรารถนาของท่านจงสำเร็จเถิด สักการะที่ท่านทำในเรากับพระสงฆ์ ก็จงมีผลไพบูลย์ยิ่งเถิด

ในกัปที่แสนนับจากกัปนี้ พระศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดมซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พราหมณ์นี้ จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้นเป็นสาวกของพระศาสดา มีนามชื่อว่าราธะ พระนายกจักทรงแต่งตั้งท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณ

ท่านได้สดับพุทธพยากรณ์นั้นแล้วก็ยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตาบำรุงพระพิชิตมารในกาลนั้นตลอดชีวิต เพราะท่านเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา และด้วยกรรมที่ท่านได้ทำไว้ดี แล้วนั้น อีกทั้งด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เมื่อท่านละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓๐๐ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง และเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณนานับมิได้ เพราะกรรมนั้นนำไปท่านจึงเป็นผู้ถึงความสุขในทุกภพ

๐ บุรพกรรมในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า

ในกัปที่ ๙๑ แต่กัปนี้ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ท่านก็มีโอกาสได้ทำกุศลแด่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นโดยวันหนึ่ง ท่านเห็นพระศาสดาเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตอยู่ในถนน ก็บังเกิดมีมีใจเลื่อมใส จึงได้ถวายผลมะม่วงอันมีรสหวาน แด่พระผู้มีพระภาค.ด้วยบุญกรรมนั้น เมื่อท่านละร่างมนุษย์แล้ว ท่านจึงไปบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยว เวียนไปมาอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

๐ กำเนิดเป็นราธพราหมณ์ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ครั้งพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านถือปฏิสนธิในสกุลพราหมณ์ ที่ยากจนขาดเครื่องนุ่งห่ม และอาหาร ในกรุงราชคฤห์ บิดามารดาขนานนาม ว่าราธมาณพ เจริญวัยแล้ว อยู่ครองเรือน ครั้งหนึ่งท่านได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่งแก่ท่านพระสารีบุตร ต่อมาในเวลาแก่ตัวลง ถูกลูกเมียลบหลู่ เขาคิดว่าเราเป็นผู้ที่ลูกเมียไม่ต้องการ เราจักเลี้ยงชีพอยู่ในสำนักของภิกษุทั้งหลาย แล้วไปสู่วิหาร ดายหญ้า กวาดบริเวณวัด ถวายวัตถุมีน้ำล้างหน้าเป็นต้น อยู่ในวัดแล้ว แม้ภิกษุทั้งหลายในวัดนั้นก็ได้สงเคราะห์เธอแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ปรารถนาจะให้บวช ด้วยเห็นว่า เป็นคนแก่ เป็นพราหมณ์แก่เฒ่า ไม่สามารถจะบำเพ็ญวัตรปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้นครั้งนั้น ท่านผู้เป็นคนยากเข็ญจึงเป็นผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง

๐ ราธพราหมณ์มีอุปนิสัยพระอรหัต

ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์นั้นในพระญาณแล้ว ทรงเห็น อุปนิสสยสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยอุปนิสสัยแห่งพระอรหันต์ของท่าน ครั้นในเวลาเย็นจึงเสด็จเที่ยวจาริกไปในบริเวณวัด เสด็จไปสู่ที่อยู่ของ พราหมณ์แล้วตรัสถามว่า พราหมณ์ เธอเที่ยวทำอะไรอยู่ ? ท่านกราบทูลว่า ข้าพระองค์ทำวัตรปฏิบัติแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ พระเจ้าข้า

พระศาสดา เธอได้การสงเคราะห์จากสำนักของภิกษุเหล่านั้น หรือ ?

พราหมณ์ ได้พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้แต่เพียงอาหาร แต่ท่านไม่ให้ข้าพระองค์บวช ด้วยเห็นว่าข้าพระองค์แก่แล้ว

๐ พระสารีบุตรเป็นผู้กตัญญูกตเวที

พระศาสดารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสถามความนั้นแล้ว จากนั้นทรงถามว่า ภิกษุทั้งหลาย มีใครๆ ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้ มีอยู่บ้างหรือ ? พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า ข้าพระองค์ระลึกได้ เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ พราหมณ์นี้ได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง แก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้ เมื่อพระศาสดาตรัสว่า ดีละๆ สารีบุตร เธอเป็นคนกตัญญู เธอจงบวชให้พราหมณ์นี้ พราหมณ์นี้ต่อไปจักเป็นผู้ควรบูชา

ในครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงให้ ราธพราหมณ์บรรพชาแล้วให้อุปสมบทอีก โดยวิธีที่เรียกว่า ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา โดยทรงประกาศยกเลิกการอุปสมบทด้วยวิธีไตรสรณคมน์ ที่พระองค์ทรงอนุญาตไว้แต่เดิมแล้ว ทรงกำหนดวิธีโดยให้ภิกษุประชุมให้ครบองค์กำหนด ในเขตชุมนุมซึ่งเรียกว่า สีมา กล่าววาจาประกาศเรื่องความที่จะรับคนผู้จะบวชนั้นเข้าหมู่ โดยความยินยอมของภิกษุทั้งปวงผู้เข้าประชุมเป็นสงฆ์นั้น ในครั้งนั้นพระสารีบุตรเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรก และพระราธะเป็นภิกษุผู้ได้รับการอุปสมบทด้วยวิธีนี้เป็นรูปแรก และการอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมนี้ได้ถือปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

๐ พราหมณ์บวชแล้วเป็นคนว่าง่าย

เมื่อท่านพระสารีบุตรเถระบวชให้ราธพราหมณ์แล้ว ท่านก็คิดว่า พระศาสดาทรงให้พราหมณ์ผู้นี้บวชด้วยความเอื้อเฟื้อ ไม่สมควรดูแลพราหมณ์ผู้นี้ด้วยความไม่เอื้อเฟื้อ จึงพาพระราธเถระไปอยู่ที่ใกล้หมู่บ้าน

ณ ที่นั้น เนื่องจากท่านเป็นพระบวชใหม่ ท่านจึงไม่ค่อยได้รับบิณฑบาต ท่านพระสารีบุตรเห็นดังนั้น จึงให้พระราธะนั้นเป็นปัจฉาสมณะ (ภิกษุผู้ติดตาม) ของท่าน พระสารีบุตรเถระได้ให้ที่อยู่ที่ท่านได้แม้เป็นที่ดีเลิศ ให้บิณฑบาตอันประณีตที่ท่านได้ แก่พระราธะนั้น ในเวลานั้นท่านพระราธเถระได้เสนาสนะอันสบาย และโภชนะอันประณีต

พระสารีบุตรเถระพาท่านหลีกไปสู่ที่จาริกแล้ว กล่าวพร่ำสอนท่านเนืองๆ ว่า “สิ่งนี้ คุณควรทำ สิ่งนี้ คุณไม่ควรทำ” เป็นต้น ท่านราธเถระได้เป็นผู้ว่าง่าย มีปกติรับเอาโอวาทโดยเคารพแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อท่านปฏิบัติตามคำที่พระเถระพร่ำสอนอยู่ รับกรรมฐานในสำนักท่านเถระ

๐ พระเถระบรรลุพระอรหัต

วันหนึ่งท่านพระราธะ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลรู้เห็นอย่างไรจึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ราธะ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้

อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่านั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวของเรา

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขาร เหล่าใดเหล่าหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือใกล้

อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

ดูกรราธะ บุคคลรู้เห็นอย่างนี้แล จึงไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้และในสรรพนิมิตภายนอก ฯลฯ


ท่านพระราธะพิจารณาตามธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสสั่งสอน ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัตได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

ต่อมาพระเถระจึงพาท่านไปสู่สำนักพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกะท่านแล้ว ตรัสว่า “สารีบุตร ศิษย์ของเธอเป็นผู้ว่าง่ายแลหรือ ?”

พระเถระ อย่างนั้น พระเจ้าข้า เธอเป็นผู้ว่าง่ายเหลือเกิน เมื่อโทษไรๆ ที่ข้าพระองค์แม้กล่าวสอนอยู่ ไม่เคยโกรธเลย

พระศาสดา สารีบุตร เธอเมื่อได้ศิษย์เช่นนี้ จะพึงรับศิษย์ได้ประมาณเท่าไร ?

พระเถระ ข้าพระองค์พึงรับได้มากทีเดียว พระเจ้าข้า

๐ พวกภิกษุสรรเสริญพระสารีบุตรและพระราธะ

ภายหลังวันหนึ่ง พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า ได้ยินว่า พระสารีบุตรเถระเป็นผู้กตัญญูกตเวที ระลึกถึงผู้อุปการะแม้เพียงภิกษาทัพพีหนึ่ง ท่านก็บวชให้พราหมณ์ผู้ตกยากนั้นแล้ว แม้พระราธเถระเองก็เป็นผู้อดทนต่อโอวาท ท่านย่อมเป็นผู้ควรแก่การให้โอวาทเหมือนกันแล้ว

๐ ภิกษุควรเป็นผู้ว่าง่ายอย่างพระราธะ

พระศาสดาทรงปรารภพระราธเถระ ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุควรเป็นผู้ว่าง่ายเหมือนราธะ แม้อาจารย์ชี้โทษกล่าวสอนอยู่ ก็ไม่ควรโกรธ อนึ่ง ควรเห็นบุคคลผู้ให้โอวาท เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ให้ฉะนั้น” ดังนี้ เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าวนิคคหะ ชี้โทษ ว่าเป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้
พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น ซึ่งเป็นบัณฑิต (เพราะว่า)
เมื่อคบท่านผู้เช่นนั้น มีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มีโทษที่ลามก


๐ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

เมื่อท่านได้บรรลุธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ เนื่องเพราะท่านเป็นผู้เพลิดเพลิน เที่ยววนเวียนไปมาอยู่ในสำนักของพระบรมศาสดาสดับพระพุทธดำรัสโดยเคารพ อันเป็นเหตุให้มีความเข้าใจพระธรรมเทศนาของพระศาสดาอย่างแจ่มแจ้ง แท้จริง พระธรรมเทศนาใหม่ๆ ของพระทศพล อาศัยความปรากฏขึ้นแห่งปฏิภาณอันแจ่มแจ้งของพระเถระ อันเป็นเหตุให้ท่านแสดงซ้ำซึ่งพระธรรมเทศนาของพระศาสดาได้ทันที ฉะนั้น ต่อมา พระศาสดาเมื่อกำลังทรง สถาปนาพระเถระทั้งหลายไว้ในตำแหน่งทั้งหลายตามลำดับ จึงทรงสถาปนาท่านพระราธเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่า ภิกษุสาวกผู้ประกอบด้วยปฏิภาณ แล

๐ พระเถระเป็นพระอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคและพระสารีบุตร

ท่านได้เคยเป็นพุทธอุปัฏฐากอยู่ระยะหนึ่ง ในสมัย ๒๐ ปีแรก ต้นพุทธกาล เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ บางคราว พระนาคสมาละถือบาตรและจีวรตามเสด็จ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ.บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวจุนทสมณเทส บางคราวพระสาคตะ บางคราวพระเมฆิยะ

พระอรรถกถาจารย์ได้เล่าถึงความไม่เหมาะสมของพระอุปัฏฐากบางองค์ ซึ่งเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงปรารภพุทธอุปัฏฐากประจำ ซึ่งต่อมาก็คือพระอานนท์เถระ ซึ่งเป็นพุทธอุปัฏฐากต่อมาจนตลอดพระชนม์ชีพ ไว้ดังนี้

บรรดาพระอุปัฏฐากไม่ประจำเหล่านั้น ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเดินทางไกลกับพระนาคสมาลเถระ ถึงทางสองแพร่ง พระเถระลงจากทางทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จะไปทางนี้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านว่า มาเถิดภิกษุ เราจะไปกันทางนี้ พระเถระทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ทรงถือทางพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะไปทางนี้ แล้วเริ่มจะวางบาตรจีวรลง ที่พื้นดิน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เอามาสิภิกษุ ทรงรับบาตรจีวรแล้วเสด็จดำเนินไป

เมื่อภิกษุรูปนั้นเดินทางไปตามลำพัง พวกโจรก็ชิงบาตรจีวรและตีศีรษะแตก ท่านคิดว่า บัดนี้ก็มีแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งของเราได้ ไม่มีผู้อื่นเลย แล้วมายังสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งที่โลหิตไหล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า นี่อะไรกันล่ะภิกษุ ก็ทูลเรื่องราวถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปลอบว่า อย่าคิดเลย ภิกษุ เราห้ามเธอ ก็เพราะเหตุอันนั้นนั่นแหละ

อนึ่ง ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังบ้านชันตุคาม ใกล้ปาจีนวังสมฤคทายวัน กับพระเมฆิยเถระ แม้ในที่นั้น พระเมฆิยะเที่ยวบิณฑบาตไปในชันตุคาม พบสวนมะม่วงน่าเลื่อมใส ริมฝั่งแม่น้ำ ก็ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าขอพระองค์โปรดรับบาตรจีวรของพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะทำสมณธรรม ที่ป่ามะม่วงนั้น แม้ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามสามครั้งก็ยังไป ถูกอกุศลวิตกเข้าครอบงำ ก็กลับมาทูลเรื่องราวถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านว่า เรากำหนดถึงเหตุของเธออันนี้แหละ จึงห้าม แล้วเสด็จดำเนินไปยังกรุงสาวัตถีตามลำดับ


:b8: :b8: :b8: ที่มา : พระราธเถระ (เอตทัคคะ)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7522


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2019, 10:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


พระราธเถระ : พระผู้เฒ่าผู้ว่าง่าย
ศ.พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

หลวงพ่อพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) อาจารย์ของผมไม่ยอมบวชให้คนแก่ที่เข้ามาบวชเป็น “พระหลวงตา” เพราะท่านนั้นเคยมีประสบการณ์อันเจ็บแสบเกี่ยวกับหลวงตา

เมื่อครั้งที่ท่านได้รักษากฐินพระราชทาน ในทุกๆ ปี พระทุกรูปต้องลงรับกฐิน โบสถ์คับแคบไม่พอที่จะจุพระ ท่านจึงให้เฉพาะพระเปรียญมานั่งรับกฐิน พระที่เหลือค่อยลงมาอนุโมทนาภายหลัง

หลวงตาทั้งหลายนึกว่าพวกตนจะได้รับกฐินกะเขา (ได้ซองปัจจัยตามธรรมเนียมทุกปี) ก็โกรธ หาว่าสมภารใหม่เป็นใครมาจากไหน ฉันเคยรับทุกปี (นี่หว่า) พอถึงวันประชุมซ้อมรับกฐิน บรรดาหลวงตาก็พากันยกม็อบมาต่อว่าต่อขาน กว่าจะชี้แจงกันเข้าใจก็เล่นเอาเหนื่อย

ท่านจึงไม่ยอมบวชให้ผู้สูงอายุมาแต่บัดนั้น เหตุผลของท่านก็คือ พระแก่นั้นว่ายากสอนยาก

แล้วยกพระพุทธวจนะมาประกอบว่า “พระแก่ว่าง่ายหายาก พระแก่มักน้อยในปัจจัยสี่หายาก พระแก่เป็นพหูสูตหายาก พระแก่สำรวมในพระปาติโมกข์หายาก พระแก่ไม่คลุกคลีด้วยหมู่หายาก พระแก่ไม่สะสมหายาก..”


ผมไปเปิดคัมภีร์พระไตรปิฎกดู อ้อ จริงดังท่านว่า มีพุทธวจนะตรัสตำหนิพระแก่หรือหลวงตาไว้มากพอดู วันนี้ขอเล่าเรื่องพระแก่ว่าง่ายสักรูป ถือว่ายกเว้นครับ


พระราธเถระ ท่านผู้นี้เกิดมาในสกุลพราหมณ์ มีครอบครัว ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวจนอยู่ดีมีสุข เมื่อแก่ตัวรู้ว่าสังขารร่างกายสู้งานไม่ไหว เพราะเรี่ยวแรงลดน้อยถอยลงไปแถมลูกเมียก็แสดงความรังเกียจ ไม่ค่อยดูแลด้วย ก็เลยนึกน้อยใจ หนีครอบครัวมาอาศัยพระอยู่ ช่วยรับใช้พระ เช่น ปัดกวาดลานวัด ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ให้ ต้มน้ำร้อนให้พระ เป็นต้น อาศัยข้าวก้นบาตรยังชีพไปวันๆ

พราหมณ์เฒ่าปรารถนาอยากบวช ขอพระบวชพระท่านก็ไม่ยอมบวชให้หาว่าแก่ไป จะบำเพ็ญกิจสมณะอะไรไหว จึงเฉยเสีย พราหมณ์เฒ่าก็ไม่ท้อถอยตั้งใจปรนนิบัติพระสงฆ์อย่างดี เผื่อว่าท่านจะเห็นใจ อนุญาตให้บวชบ้าง

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพระญาณ ค่อนรุ่งวันหนึ่ง พราหมณ์เฒ่าปรากฏในข่ายคือ พระญาณของพระองค์ พระองค์ทรงทราบว่าพราหมณ์เฒ่ามีอุปนิสัยสมควรที่จะโปรดให้บรรลุธรรมได้ จึงเสด็จไปยังสถานที่ที่ราธพราหมณ์อยู่ ตรัสถามว่า “พราหมณ์ เธอมาทำอะไรอยู่ที่นี่”

“มารับใช้พระสงฆ์พระเจ้าข้า” พราหมณ์เฒ่ากราบทูล

“เธอต้องการอะไร จึงมารับใช้พระสงฆ์”

“ต้องการบวชเป็นภิกษุ พระเจ้าข้า แต่พระสงฆ์ท่านไม่บวชให้” พราหมณ์กราบทูล

พระพุทธองค์จึงทรงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ในวันหนึ่ง ตรัสถามว่า มีใครรู้จักพราหมณ์ชื่อ ราธะ บ้างไหม

พระสารีบุตรกราบทูลว่า ท่านรู้จัก ราธพราหมณ์คนนี้เคยใส่บาตรท่านด้วยข้าวทัพพีหนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สารีบุตร เธอเป็นคนกตัญญูรู้อุปการคุณที่คนอื่นกระทำ เธอนั้นแหละจงจัดการให้ราธพราหมณ์อุปสมบท เท่ากับทรงให้พระสารีบุตรรับรอง

เมื่อมีผู้รับรอง การอุปสมบทของราธพราหมณ์ก็เป็นไปโดยง่าย พระสารีบุตรก็รับหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์บวชให้ราธพราหมณ์ด้วย “ญัตติจตุตถกัมมวาจาอุปสมบท” (การบวชด้วยการสวดประกาศสี่ครั้ง รวมทั้งญัตติหรือข้อเสนอ) นับว่าราธพราหมณ์เป็นคนแรกที่ได้รับบวชด้วยวิธีนี้

ก่อนหน้านี้ การบวช พระพุทธเจ้าทรงทำเอง และทรงอนุญาตให้สงฆ์บวชด้วยการถึงสรณคมน์ (ติสรณคมนูปสัมปทา) ในบางครั้ง การบวชด้วยญัตติจตุตถกัมมวาจานี้ พระสงฆ์เป็นผู้ประกอบพิธี มีอุปัชฌาย์ มีคู่สวด มีพระอันดับ ดังที่เราทราบกันในปัจจุบัน

เมื่อบวชแล้วพระราธะได้รับพระพุทธโอวาทสั้นๆ ว่า “ราธะขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นมาร เธอจงละความกำหนัดยินดีในขันธ์ ๕ นั้นเสีย จะได้ไม่ตกอยู่ในอำนาจของมาร”

ท่านได้ติดตามพระสารีบุตรผู้เป็นอุปัชฌาย์ไปยังที่อยู่แห่งหนึ่งใกล้ๆ หมู่บ้านที่มีอาหารบิณฑบาตไม่ขาดแคลน ตั้งอยู่ในโอวาทของพระอุปัชฌาย์ โดยเคารพฝึกปฏิบัติอย่างเข้มงวด ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต

วันหนึ่งพระสารีบุตรพาท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงตรัสถามว่า “สารีบุตร สัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ของเธอเป็นอย่างไรบ้าง

“ว่านอนสอนง่ายดี พระพุทธเจ้าข้า แม้ถูกตำหนิแรงๆ ก็ไม่โกรธ ทำตามโอวาทอุปัชฌาย์อย่างดี”

“สารีบุตร ถ้าสัทธิวิหาริกเป็นอย่างราธะนี้ เธอจะรับสักกี่รูป”

“รับได้จำนวนมาก พระเจ้าข้า”

นี้แสดงว่าหน้าที่อุปัชฌาย์ที่ดีนั้นเป็นภาระหนัก ถ้ามีศิษย์หัวดื้อสักคนสองคนพูดปากเปียกปากแฉะคนเดียวก็เหนื่อยแล้ว แต่ถ้าศิษย์ว่านอนสอนง่าย สอนอะไรก็ปฏิบัติตามด้วยดี จะมีสักร้อยคนก็ยินดีรับสอน ดังกรณีพระราธะนี้

เป็นอันว่าพระราธะลบคำพูดที่ว่า “พระแก่ว่าง่ายหายาก” ได้โดยสิ้นเชิง

ท่านได้รับยกย่องชมเชยทั่วไปว่า เป็นพระแก่ที่น่ารัก ว่านอนสอนง่าย เป็นพระแก่ที่ทรงคุณความรู้ เป็นพหูสูตที่ขยันขันแข็ง อุปัชฌาย์คือพระสารีบุตร ก็ได้รับความชื่นชมโดยทั่วไป ว่าเป็นพระเถระที่มีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศมาก่อนแล้ว โดยที่เวลานอนก็หันศีรษะไปทิศทางที่พระอัสสชิ พระอาจารย์ของท่านอยู่ ท่านรับรองราธพราหมณ์บวช และให้ความอุปการะช่วยเหลือเธอจนบรรลุพระอรหัต เกียรติคุณด้านกตัญญูกตเวทิตาธรรมของท่านก็ยิ่งปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น

เล่าเรื่องพระราธะรูปเดียวก็จริง แต่เราผู้อ่านได้คุณธรรมที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่สำคัญถึง ๒ ข้อด้วยกัน คือ โสวจัสสตา (ความเป็นคนว่าง่าย) และกตัญญูกตเวทิตา (ความรู้คุณและตอบแทนคุณ)

ข้อแรก จากปฏิปทาของพระราธะผู้ศิษย์ ข้อที่สอง จากปฏิปทาของพระสารีบุตรผู้อุปัชฌาย์ ศิษย์อาจารย์คู่นี้ เป็นแบบอย่างแห่งการปฏิบัติตนให้เป็นอุดมมงคลที่เราพุทธศาสนิกชนพึงดำเนินตามเป็นอย่างยิ่ง



:b8: :b8: :b8: ที่มา : หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b44: สำนักวัดทองนพคุณ-พระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=25870


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ต.ค. 2019, 12:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


พระราธะ
ภิกษุที่อุปสมบทด้วยพระสงฆ์รูปแรก

ที่จริงต้องพูดว่า ภิกษุสงฆ์อุปสมบทให้ด้วย “ญัตติจตุตถกรรมวาจา” เป็นรูปแรก จึงจะถูก เพราะการบวชโดยพระสงฆ์เป็นผู้กระทำให้ ก่อนหน้านั้นมีมาแล้ว แต่เป็นการบวชโดยวิธีอื่น

สมัยต้นๆ พระพุทธเจ้าทรงทำหน้าที่รับผู้เข้ามาบวชด้วยพระองค์เอง การรับเข้าไม่มีพิธีรีตองอะไร เพียงตรัสสั้นๆ (ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหัต) ว่า “จงมาเป็นภิกษุ เพื่อทำที่สิ้นสุดทุกข์เถิด” (เอหิ ภิกฺขุ ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย) และ (ถ้าเป็นพระอรหันต์ หลังฟังธรรมจบ) ว่า “จงมาเป็นภิกษุเถิด” (เอหิ ภิกฺขุ) วิธีบวชแบบนี้เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (การอุปสมบทด้วยตรัสว่าเอหิภิกขุ)

ต่อมามีกรณีเจ้าชายราหุลอายุประมาณ 7-8 ขวบ มาขอ “ทายัชชะ” (แปลกันว่าขุมทรัพย์) พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์จะประทานอริยทรัพย์ให้ จึงมีพุทธบัญชาให้พระสารีบุตรทำการบวชแก่เจ้าชายราหุล วิธีบวชแบบนี้เรียกว่า “ติสรณคมนูปสัมปทา” (การอุปสมบทด้วยการรับไตรสรณคมน์)

การบวชแบบนี้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์นำไปบวชให้แก่กุลบุตรผู้มาขอบวชด้วย ต่อมาการบวชแบบนี้นำมาใช้สำหรับการบวชสามเณรเท่านั้น

ต่อมามีพราหมณ์สูงวัยคนหนึ่งมาขออาศัยพระอยู่ เกิดอยากบวชขึ้นมา พระพุทธเจ้าจึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์จัดการบวชให้

พราหมณ์คนนี้ชื่อ ราธะ ตะแกมิใช่คนสิ้นไร้ไม้ตอก หากเป็นคหบดีชาวเมืองราชคฤห์ มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย แกมีบุตรหลายคน เมื่อบุตรเจริญเติบโตก็จัดการให้มีเหย้ามีเรือนกันหมดทุกคน แรกๆ บุตรภรรยาก็ดูแลดี ต่อมา พวกเขาไม่สนใจไยดีเท่าที่ควร จึงน้อยใจตามประสาคนแก่ จึงไปขออยู่ที่วัด อาศัยข้าวก้นบาตรจากพระยังชีพ แกก็ช่วยปัดกวาดบริเวณวัด ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ปรนนิบัติพระตามกำลังสามารถ

พราหมณ์อาวุโส (ผมพยายามเลี่ยงคำว่า แก่ เพราะคนวัยผู้เขียนคอลัมน์นี้ไม่ค่อยชอบฟัง) อยากบวชขอบวช พระท่านไม่ยอมบวชให้หาว่าแก่ไป (เอาเข้าจนได้ ฮิฮิ) จะบำเพ็ญสมณกิจไม่ไหว จึงเฉยเสีย พราหมณ์ก็ไม่ท้อถอย ตั้งใจปรนนิบัติพระสงฆ์อย่างดี เผื่อท่านจะเห็นใจอนุญาตให้บวชบ้าง

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกที่จะไปโปรดด้วยพระญาณ ในค่อนรุ่งวันหนึ่ง พราหมณ์ปรากฏในข่ายคือพระญาณ พระองค์ทรงทราบว่าพราหมณ์คนนี้มีอุปนิสัยสมควรที่จะโปรดให้บรรลุธรรมได้ จึงเสด็จไปยังสถานที่แกอยู่ ตรัสถามว่า ราธะ เธอมาทำอะไรอยู่ที่นี่

“มารับใช้พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าข้า”

“เธอต้องการอะไร จึงมารับใช้พระสงฆ์”

“ต้องการอุปสมบท พระพุทธเจ้าข้า แต่พระสงฆ์ไม่บวชให้”

พระพุทธเจ้า จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ในวันหนึ่ง ตรัสถามว่า มีใครรู้จักราธพราหมณ์คนนี้บ้างไหม

พระสารีบุตรกราบทูลว่า ท่านรู้จัก ราธพราหมณ์คนนี้เคยใส่บาตรท่านทัพพีหนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สารีบุตรเธอรู้อุปการคุณที่คนอื่นกระทำ เธอนั้นแหละจงจัดการให้ราธพราหมณ์อุปสมบท เท่ากับทรงให้พระสารีบุตรรับรองให้พราหมณ์บวช ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา

เมื่อมีผู้รับรอง การอุปสมบทของราธพราหมณ์ก็เป็นไปโดยง่าย พระสารีบุตรรับหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์บวชให้ด้วย “ญัตติจตุตถกรรม”

การบวชแบบนี้ ต้องมีอุปัชฌาย์ มีกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) มีอนุสาวนาจารย์ (ผู้ให้อนุศาสน์หรือสั่งสอน) มีพระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นคณะปูรกะ (พระสงฆ์ร่วมทำพิธี ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “พระอันดับ”)

ในการบวชนี้ จะต้องมีการซักถามว่ามีคุณสมบัติครบบวชไหม แล้วท่านจะเสนอประชุมสงฆ์ (ข้อเสนอว่า ท่านผู้นี้อยากบวช ได้ซักถามแล้ว มีคุณสมบัติครบถ้วน พระสงฆ์เห็นอย่างไร จะให้บวชไหม) ข้อเสนอนี้เรียกว่า “ญัตติ”

เมื่อพระสงฆ์ไม่มีใครคัดค้าน พระคู่สวดก็จะสวดกรรมวาจา (สวดทำพิธีกรรม) 3 ครั้ง เป็นอันว่าเสร็จพิธีการบวชโดยพระสงฆ์

สวดกรรมวาจา 3 ครั้ง กับ ญัตติ 1 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้งพอดี จึงเรียกการบวชแบบนี้ว่า ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา แปลตามตัวอักษรว่า “การอุปสมบทด้วยกรรมวาจาอันมีญัตติเป็นที่สี่” หมายความว่า สวดทำพิธีสามครั้ง รวมกับข้อเสนอ (ญัตติ) ครั้งหนึ่ง เป็นสี่

การบวชด้วยวิธีนี้ พระสงฆ์กระทำแก่พระราธะเป็นรูปแรก ด้วยประการฉะนี้แล หลังจากมีพิธีบวชแบบนี้เกิดขึ้น การบวชแบบให้รับไตรสรณคมน์ที่ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์กระทำมาก่อนหน้านี้ได้ยกเลิก ให้เอามาใช้สำหรับการบวชสามเณรเท่านั้น ในเวลาต่อมา

ต่ออีกนิด พระหลวงตารูปนี้ เป็นคนว่านอนสอนง่ายมาก จนได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทางเป็นผู้ว่าง่าย ไม่ถือตัวว่าเป็นผู้อาวุโส มีประสบการณ์ มีความรู้มาก

พูดสั้นๆ ว่า ไม่ใช่คนประเภทตวาดคนอื่นแว้ดๆ ว่า “รู้น้อย อย่าพูดมาก” ว่าอย่างนั้นเถอะ



:b8: ที่มา : สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47962

:b45: :b45: ภิกษุ ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46461


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร