วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 20:50  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กลุ่มพระอัครสาวก

กลุ่มพระอัครสาวก คือ กลุ่มของพระที่เคยเป็นศิษย์ของสัญชัยปริพาชก มีจำนวน ๒๕๒ รูป แต่ที่ปรากฏชื่อและได้รับยกย่องว่าเป็นอัครสาวก (สาวกผู้เลิศ) มี ๒ รูป คือ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ ฉะนั้น ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่เฉพาะเรื่องราวของพระสาวก ๒ รูปนี้เท่านั้น ซึ่งแต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษา ดังนี้

๏ สถานะเดิม

พระอัครสาวกเกิดในวรรณะพราหมณ์ พระสารีบุตร มีนามเดิมว่า อุปติสสะ เกิดที่หมู่บ้านอุปติสสะ เมืองนาลันทา บิดาเป็นนายบ้านมีนามว่า ‘วังคันตะ’ ส่วนมารดามีนามว่า ‘สารี’ ฝ่ายพระมหาโมคคัลลานะ มีนามเดิมว่า ‘โกลิตะ’ เกิดที่หมู่บ้านโกลิตะ เมืองนาลันทา บิดาเป็นนายบ้าน ส่วนมารดามีนามว่า ‘โมคคัลลี’ เมื่อเจริญวัยแล้วทั้ง ๒ ท่านได้ศึกษาจบศิลปวิทยา

๏ ชีวิตฆราวาส

โดยเหตุที่อุปติสสะและโกลิตะเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ซึ่งตระกูลของทั้ง ๒ ผูกสัมพันธ์กันมานานถึง ๗ ชั่วอายุคน ฉะนั้นจึงได้รับการเลี้ยงดูคล้ายๆ กัน ครั้นเติบโตเป็นหนุ่มบิดาของทั้ง ๒ ได้จัดหาเด็กหนุ่มวัยเดียวกันมาเป็นบริวารคนละ ๕๐๐ เวลาจะไปเล่นน้ำในแม่น้ำหรือจะไปหาความสำราญในอุทยาน อุปติสสะจะมีวอทองเป็นพาหนะนั่งไป ส่วนโกลิตะจะมีรถเทียมม้าอาชาไนยเป็นพาหนะพาไป โดยมีบริวารห้อมล้อมคนละ ๕๐๐ ดังกล่าวแล้ว

๏ การออกบวชและการบรรลุโสดาปัตติผล

อุปติสสะและโกลิตะออกบวชหลังจากชมมหรสพบนยอดเขาแล้ว เรื่องมีว่า ในเมืองราชคฤห์มีงานประจำปีอยู่อย่างหนึ่ง คือการแสดงมหรสพบนยอดเขา อันได้แก่การเล่นละครรวมทั้งการแสดงอื่นๆ แต่ละปีที่ผ่าน มามีผู้คนทั้งในเมืองราชคฤห์เองและจากต่างเมือง เดินทางไปชมกันเป็นจำนวนมาก อุปติสสะและโกลิตะก็อยู่ในจำนวนนั้นด้วย ในปีนี้ก็เช่นกัน อุปติสสะและโกลิตะได้ไปชมมหรสพด้วยกัน โดยบริวารได้จัดให้นั่งอยู่ด้วยกันเหมือนเช่นทุกปี

ตามปกติในปีก่อนๆ ขณะนั่งดูมหรสพอยู่นั้น อุปติสสะและโกลิตะก็เหมือนกับคนดูอื่นๆ กล่าวคือ มีความรู้สึกคล้อยตามบทบาทของตัวละคร ถึงตอนหัวเราะสนุกสนาน ก็หัวเราะสนุกสนาน ถึงตอนหดหู่ก็แสดงความรู้สึกหดหู่ ถึงตอนให้รางวัลก็จะให้รางวัล มาในปีนี้ทั้ง ๒ กลับมีกิริยาอาการและความรู้สึกไม่เหมือนเก่า ถึงตอนหัวเราะสนุกสนานก็ไม่หัวเราะสนุกสนาน ถึงตอนเศร้าโศกก็ไม่แสดงอารมณ์เศร้าโศก ถึงตอนจะให้รางวัลก็ไม่ให้รางวัล ตรงกันข้าม ทั้ง ๒ กลับแสดงอาการเฉยชา

ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจ ตัวละครที่กำลังแสดงอยู่นี้
อยู่ได้ไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็ต้องตายไปแล้ว
มีตัวละครใหม่มาแสดงแทน เราเองก็มาหลงดูอยู่ทำไม
ไฉนจึงไม่แสวงหาความหลุดพ้น

เมื่อต่างฝ่ายต่างคิดตรงกันอย่างนี้ในที่สุด โกลิตะได้ถามอุปติสสะซึ่งนั่งนิ่งอยู่ อุปติสสะตอบว่า

“เพื่อน เหตุที่ข้าพเจ้านั่งนิ่งก็เพราะมัวคิดอยู่ว่า เรามาดูละครที่ไร้สาระอยู่ทำไม”

โกลิตะรู้สึกพอใจในคำตอบของอุปติสสะเป็นอย่างมากเพราะหากจะให้ตนเองตอบก็จะต้องตอบออกมาในลักษณะนี้ ความเบื่อหน่ายในการดูละครส่งผลให้เกิด ความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาสติดตามมา ดังนั้น เมื่อละครเลิกแล้วอุปติสสะและโกลิตะจึงพร้อมด้วยบริวารคนละ ๒๕๐ ชวนกันออกบวชเป็นปริพาชกในสำนักของสัญชัยปริพาชก ซึ่งตั้งสำนักอยู่ในเมืองราชคฤห์ และกำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง

ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะเป็นคนฉลาด ศึกษาคำสอนของสัญชัยปริพาชกอยู่ไม่นานก็เจนจบ แต่ก็พบว่ายังไม่ใช่ คำสอนที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้ ทั้ง ๒ จึงชวนกันจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อพบปะสนทนากับนักบวชที่ทรงความรู้ อันจะทำให้เขาได้พ้นความทุกข์อย่างที่ต้องการ แต่แล้วก็ผิดหวัง เพราะสนทนากันแล้ว นักบวชเหล่านั้นก็ไม่สามารถชี้ทางแห่งความพ้นทุกข์ให้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ปริพาชกหนุ่มทั้ง ๒ จึงหันหน้าเข้าปรึกษากัน ในที่สุดก็ตกลงกันว่า “เรา ๒ คน หากใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกกันด้วย”

ช่วงเวลาที่อุปติสสะและโกลิตะออกไปบวชเป็นปริพาชก และกำลังแสวงหาโมกขธรรมอยู่นั้น เป็นช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและทรง สั่งสอนธรรมแล้วได้ ๑ พรรษา พระองค์ทรงมีพระสาวกอยู่ ๖๐ รูป ทั้งหมดล้วนสำเร็จพระอรหันต์ ซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรง ส่งพระอรหันตสาวกทั้ง ๖๐ รูปนั้นออกไปประกาศพระศาสนาตามเมืองต่างๆ และบรรดาพระอรหันตสาวกเหล่านั้นมีพระอัสสชิรวมอยู่ด้วย

พระอัสสชิเป็นพระอรหันตสาวกที่อยู่ในกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ เช้าวันหนึ่งท่านเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ระหว่างทางได้สวนทางกับปริพาชกอุปติสสะซึ่งกำลังเดินกลับสำนัก ทันทีที่เห็นพระเถระ ปริพาชกอุปติสสะก็เลื่อมใส เพราะพระเถระเดินด้วยอาการสำรวมเหลียวซ้ายแลขวาอย่างระมัดระวัง

“นักบวชแบบนี้เราไม่เคยเห็นมาก่อน” ปริพาชกอุปติสสะบอกตัวเอง “คงจะเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ที่เขาว่ามีอยู่ในโลกนี้”

ปริพาชกอุปติสสะตัดสินใจจะเข้าไปสนทนาด้วยจึงเดินตามไปห่างๆ ครั้นเห็นพระเถระแสดงท่าทีจะนั่งฉันอาหารจึงรีบเข้าไปแสดงความเอื้อเฟื้อ ด้วยการตั้งตั่งของตนที่นำติดตัวมาด้วยถวาย ขณะที่พระเถระกำลังฉันอาหารอยู่นั้นก็นั่งอยู่ไม่ไกล เพื่อคอยดูว่าท่านต้องการอะไร และเมื่อพระเถระฉันเสร็จแล้วก็นำคณโฑน้ำดื่มเข้าไปถวายให้ท่านได้ฉันและใช้ จากนั้นจึงได้นั่งรอ ครั้นเห็นว่าพระเถระพร้อมจะสนทนาด้วยแล้วจึงเข้าไปใกล้ๆ แล้วเริ่มสนทนา

ปริพาชกอุปติสะ : ผู้มีอายุ ท่านมีอินทรีย์ผ่องใส ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชเชิดชูใคร (เป็นศาสดา) ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร

พระอัสสชิ : ผู้มีอายุ มีพระสมณะผู้ยิ่งใหญ่อยู่พระองค์หนึ่ง พระองค์เป็นชาวศากยะ ออกบวชจากตระกูลกษัตริย์อันสูงส่ง อาตมาออกบวชเชิดชูพระสมณะผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นั้น (เป็นศาสดา) พระองค์ทรงเป็นพระศาสดาของอาตมา อาตมาชอบใจธรรมของพระองค์

ปริพาชกอุปติสสะ : พระศาสดาของท่านมีปกติตรัสสอนอย่างไร

พระอัสสชิ : ผู้มีอายุ อาตมาเป็นพระบวชใหม่ เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยของพระศาสดาได้ไม่นาน อาตมาจึงไม่สามารถพอที่จะบอกถึงคำสอนของพระศาสดาโดยพิสดารได้

ปริพาชกอุปติสสะ : ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าชื่ออุปติสสะ ขอท่านว่าไปตามเท่าที่สามารถ จะน้อยหรือมากไม่เป็นไร การทำความเข้าใจคำสอนเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าเอง

พระอัสสชิ เมื่อทำให้ปริพาชกอุปติสสะเข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าได้แล้ว จึงกล่าวธรรมความว่า

ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นไว้
และตรัสถึงความดับ (เหตุ) ไว้ด้วย
พระสมณะผู้ยิ่งใหญ่ มีปกติตรัสอย่างนี้


หลังจากพระอัสสชิกล่าวจบ ปริพาชกอุปติสสะเกิดความรู้แจ้งว่า “ทุกสิ่งเกิดขึ้นมาแล้ว มีอันต้องดับไปเป็นธรรมดา” แล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล ณ ที่นั้นเอง

ครั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว ปริพาชกอุปติสสะก็กำหนดไว้ว่า คุณวิเศษชั้นสูงกว่านี้ยังมีอยู่อีก ในขณะเดียวกันจิตก็น้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งพระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์ของตนเรียกว่า ‘พระสมณะผู้ยิ่งใหญ่’ และอยากเดินทางไปเฝ้า

“ข้าแต่อาจารย์’ ปริพาชกอุปติสสะเรียนถาม ‘บัดนี้พระศาสดาของเราประทับอยู่ที่ไหน”

“ที่เวฬุวัน” พระอัสสชิตอบ

เมื่อได้ยินคำว่า ‘เวฬุวัน’ ก็ระลึกได้ว่าเป็นป่าไผ่ของพระเจ้าพิมพิสารที่พระองค์เคยใช้เป็นอุทยาน ซึ่งมีสภาพเป็นป่าร่มรื่น เหมาะสมเป็นที่อยู่ของผู้สงบ

“ขอนิมนต์พระคุณเจ้าล่วงหน้าไปก่อนเถิด” ปริพาชกอุปติสสะแจ้งแก่พระอัสสชิ “ข้าพเจ้าจะตามไปเฝ้าพระศาสดาทีหลัง”

ครั้นพระอัสสชิจากไปแล้ว ปริพาชกอุปติสสะก็รีบเดินทางไปหาปริพาชกโกลิตะผู้เป็นเพื่อน ท่าทางของปริพาชกอุปติสสะที่กำลังเดินมา ซึ่งปริพาชกโกลิตะเห็นแต่ไกล ทำให้มั่นใจว่าวันนี้เพื่อนจะต้องมีข่าวดีมาบอก และยิ่งเมื่อปริพาชกอุปติสสะเข้ามาใกล้ สีหน้าและแววตาที่เอิบอิ่มด้วยปีติ ก็ยิ่งทำให้ปริพาชกโกลิตะเพิ่มความเชื่อมั่นขึ้นอีกว่า ข่าวดีนั้นจะต้องเป็นข่าวดีที่เกี่ยวกับการบรรลุธรรมอย่างที่ตกลงกันไว้อย่างแน่นอน

“อุปติสสะ” ปริพาชกโกลิตะทักขึ้นก่อน “ท่านได้บรรลุอมตธรรมแล้วหรือ”

“ใช่...โกลิตะ” ปริพาชกอุปติสสะตอบรับ “ข้าพเจ้าได้บรรลุอมตธรรมแล้ว”

จากนั้นปริพาชกอุปติสสะก็ได้บอกเนื้อความของอมตธรรมที่ตนได้บรรลุให้ปริพาชกโกลิตะฟัง ซึ่งเป็นอย่างเดียวกับที่พระอัสสชิบอกตน เนื้อความของอมตธรรมนั้นกินใจจนทำให้ปริพาชกโกลิตะกำหนดได้ว่า “ทุกสิ่งเกิดขึ้นมาแล้วมีอันต้องดับไปเป็นธรรมดา” บัดนี้ปริพาชกโกลิตะได้รู้แจ้งเช่นเดียวกับปริพาชกอุปติสสะได้รู้แจ้งแล้ว ปริพาชกหนุ่มทั้ง ๒ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันด้วยกัน

ปริพาชกโกลิตะชวนปริพาชกอุปติสสะ ให้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที แต่ก่อนที่จะไปนั้นปริพาชกอุปติสสะได้ชวนปริพาชกโกลิตะไปหาสัญชัยปริพาชก ผู้เป็นอาจารย์ก่อน โดยมุ่งหวังว่าจะชวนอาจารย์เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย ทั้งนี้ด้วยความหวังที่จะให้อาจารย์ได้บรรลุอมตธรรมอันเป็นธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

“ฉันขอบใจเธอทั้ง ๒ ที่หวังดี” สัญชัยปริพาชกเอ่ยขึ้น หลังจากได้ทราบความประสงค์ของศิษย์เอกที่มาหา “แต่ฉันก็ไปไหนไม่ได้หรอก และไม่คิดที่จะไปด้วย เพราะทุกวันนี้ฉันมีสภาพที่ไม่ต่างอะไรไปจากจระเข้ในตุ่มน้ำ จะกลับหัวกลับหางก็ลำบากเสียแล้ว”

คำพูดของสัญชัยปริพาชกเป็นการตัดบทโดยสิ้นเชิง ลาภสักการะและความยิ่งใหญ่ในฐานะเจ้าลัทธิ ทำให้สัญชัยปริพาชกไม่อาจลดฐานะของตนลงมาเป็นศิษย์ใครได้ แม้ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะจะพูดโน้มน้าวใจด้วยประการต่างๆ ก็ไม่สำเร็จ

“ท่านอาจารย์” ปริพาชกทั้ง ๒ พยายามเป็นครั้งสุดท้าย

“ขณะนี้ใครต่อใครต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้นนะ”

สัญชัยปริพาชกมองหน้าปริพาชกผู้เป็นศิษย์แล้วถามว่า

“ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”

“คนโง่มีมาก คนฉลาดมีน้อย”

“ถ้าอย่างนั้น ขอให้คนฉลาดจงไปหาพระสมณโคดม ส่วนคนโง่จงมาหาฉัน”

จากคำพูดประโยคสุดท้าย ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะก็แน่ใจว่าไม่สามารถโน้มน้าวให้อาจารย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกันได้ ดังนั้นจึงอำลาและพาปริพาชกบริวารจำนวน ๒๕๐ ที่พร้อมจะไปกับตนเดินทางไปวัดเวฬุวัน


๏ การออกบวช

วันและเวลาที่ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะ พาบริวารเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทอยู่ พระองค์ทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยพระญาณ จึงได้ตรัสบอกว่า “อุปติสสะกับโกลิตะกำลังมาหาตถาคต ทั้ง ๒ เป็นเพื่อนกัน เขาจะมาเป็นคู่อัครสาวกของตถาคต”

เมื่อตรัสบอกแล้วพระพุทธเจ้ายังทรงแสดงธรรมต่อไปเรื่อยๆ แม้ปริพาชกทั้ง ๒ จะพาปริพาชกบริวารมาถึงแล้วก็หาได้ทรงหยุดแสดงธรรมไม่ ทั้งนี้เป็นด้วยทรงเห็นว่าปริพาชกบริวารทั้ง ๒๕๐ นั้น ได้ฟังธรรมนี้แล้วจะได้บรรลุอรหัตผล ส่วนปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะยังคงเป็นพระโสดาบันอยู่เช่นเดิม


เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ปริพาชกบริวารปรารถนาเพียงแค่ได้บรรลุอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะ นอกจากจะปรารถนามาให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังปรารถนาเป็นพระอัครสาวก และได้ตำแหน่งเอตทัคคะอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนานั่นเอง โดยเหตุที่อุปนิสัยน้อมไปเพื่อทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่นั้น จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องผ่านการฝึกหัดที่ยากลำบาก ซึ่งทำให้ได้บรรลุผลสูงสุดคืออรหัตผลช้ากว่าปริพาชกบริวาร

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อบวชแล้วปริพาชกทั้ง ๒ ก็หาได้บรรลุอรหัตผลชักช้าแต่ประการใดไม่ กล่าวคือ ปริพาชกโกลิตะหลังบวชได้ ๗ วัน ก็ได้บรรลุอรหัตผล ส่วนปริพาชกอุปติสสะหลังบวชได้ ๑๕ วันก็ได้บรรลุอรหัตผล ซึ่งรายละเอียดจะได้กล่าวต่อไปในตอนว่าด้วยการบรรลุอรหัตผล

กล่าวถึงการบวชของปริพาชกทั้งหมดนั้น เมื่อปริพาชกบริวารได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะก็ได้นำปริพาชกบริวารเหล่านั้นกล่าวคำทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมดด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่างแต่ว่าเวลาที่ทรงบวชให้ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะนั้น พระองค์ตรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปโดยชอบเถิด”

เหมือนอย่างที่ตรัสแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ แต่เวลาที่ทรงบวชให้ปริพาชกบริวาร พระองค์ตรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”


๏ การบรรลุอรหัตผล

ภายหลังได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ปริพาชกอุปติสสะมีชื่อเรียกใหม่ว่า สารีบุตร (บุตรของนางสารี) ส่วนปริพาชกโกลิตะมีชื่อเรียกใหม่ว่า โมคคัลลานะ (ผู้มีเชื้อสายของนางโมคคัลลี) และต่อมามีชื่อเรียกเพิ่มเติมว่า มหาโมคคัลลานะ

พระมหาโมคคัลลานะ หลังบวชแล้วท่านได้ทูลลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ หมู่บ้านกัลลวาละ แคว้นมคธ ขณะบำเพ็ญสมณธรรมอยู่นั้น ท่านเกิดง่วงเหงาหาวนอนอย่างหนัก จนไม่สามารถบำเพ็ญเพียรได้ พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่ตลอดเวลา วันที่ ๘ จึงเสด็จมาสอนท่านให้หาทางแก้ง่วงด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

๑. เมื่อกำหนดนึกอย่างไรแล้วเกิดความง่วง ควรพิจารณาถึงการกำหนดนึกนั้นให้มาก

๒. หากยังไม่หายง่วง ควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรม ตามที่ได้ฟังได้ศึกษาจนขึ้นใจ

๓. หากยังไม่หายง่วง ควรท่องบ่นธรรมที่ได้ฟังได้ศึกษาโดยพิสดาร

๔. หากยังไม่หายง่วง ควรแยงช่องหูทั้ง ๒ ข้างและเอาฝ่ามือลูบตัว

๕. หากยังไม่หายง่วง ควรลุกขึ้นยืน เอาน้ำลูบตา แล้วเหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว

๖. หากยังไม่หายง่วง ควรกำหนดถึงแสงสว่าง ควรตั้งความสำคัญว่าเป็นกลางวันไว้ในจิตตลอดเวลา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน


๗. หากยังไม่หายง่วง ควรเดินจงกรมโดยมีสติกำหนด หมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน

๘. หากยังไม่หายง่วง ควรนอนแบบสีหไสยาคือนอนตะแคงข้างขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ หมายใจอยู่ว่าจะลุกขึ้น ครั้นตื่นแล้วให้รีบลุกขึ้นด้วยความตั้งใจว่า จะไม่หาความสุขจากการนอน จะไม่หาความสุขจากการเอนอิง จะไม่หาความสุขจากการเคลิ้มหลับ

พระมหาโมคคัลลานะได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนทันที พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเห็นว่าท่านหายง่วงจึงตรัสสอนเรื่องธาตุกัมมัฏฐาน โดยทรงแนะนำให้ท่านกำหนดพิจารณากายนี้แยกเป็นส่วนๆ ให้เห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย ซึ่งแต่ละส่วนนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ท่านเจริญสมถะสลับกับวิปัสสนาไปตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน และได้บรรลุอรหัตผลในวันนั้นเอง

ส่วนพระสารีบุตร หลังบวชแล้วท่านได้ทูลลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำสุกรขาตะ เชิงเขาคิชฌกูฏ เขตเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนั้นเอง วันที่จะได้บรรลุอรหัตผลพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดโดยประทับอยู่ในถ้ำนั้นกับท่าน ต่อมาปริพาชกทีฆนขะได้มาเฝ้าและทูลสนทนาด้วย

“พระสมณะโคดม” ปริพาชกทีฆนขะกล่าวขึ้น

“ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด”

“อัคคิเวสนะ” พระพุทธเจ้าตรัสเรียกเขาตามชื่อตระกูล “ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้นก็ไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้อง ไม่ชอบความเห็นนั้นด้วย”

พระพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะชี้ให้ปริพาชกทีฆนขะเห็นว่าเขามีความเห็นผิด จึงตรัสต่อไปถึงความเห็นของสมณพราหมณ์ ๓ จำพวก ซึ่งสรุปได้ว่า

สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า
สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา เราชอบใจหมด
สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า
สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจหมด
สมณพราหมณ์บางพวกมีความเห็นว่า
บางสิ่งควรแก่เรา เราชอบใจ
บางสิ่งไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ
ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกแรก
ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ยินดีในสิ่งต่างๆ
ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกหลัง
ใกล้ข้างความเกลียดชังสิ่งต่างๆ
ความเห็นของสมณพราหมณ์พวกสุดท้าย
ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ในของบางสิ่ง
ใกล้ข้างความเกลียดชังของบางสิ่ง
ผู้รู้พิจารณาเห็นว่า ถ้าเราจักถือมั่นความเห็นอย่างใด อย่างหนึ่งแล้ว
กล่าวว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นไม่จริง
ก็จะต้องพิจารณาจากคน ๒ พวกที่มีความเห็นไม่เหมือนกับตน
ครั้นถือผิดกันก็ต้องวิวาทกัน จากนั้นก็จะกลายเป็นความพิฆาตเขม่น
แล้วติดตามด้วยการเบียดเบียนกันต่างๆ นานา
ผู้รู้เห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละความเห็นนั้นเสียด้วย
และไม่ให้ความเห็นอย่างอื่นเกิดขึ้น


เมื่อทรงแสดงโทษของความถือมั่นอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงต่อไปถึงอุบายวิธีที่เป็นเหตุให้ไม่ถือมั่นว่า

อัคคิเวสสนะ กาย คือ รูป ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔
คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดมาจากบิดามารดา
เติบโตมาเพราะข้าวสุกและขนมสด ต้องคอยอบคอยรมกันกลิ่นเหม็น
และขัดสีอยู่เป็นนิตย์ มีอันจะต้องแตกดับไปเป็นธรรมดา
จึงควรที่จะพิจารณาให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง ทนได้ยาก
เป็นของถูกเสียดแทง เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร
เป็นของชำรุดทรุดโทรม ว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง
เมื่อพิจารณาเห็นได้อย่างนี้ ย่อมละความรักใคร่ กระวนกระวายในกามเสียได้
อัคคิเวสสนะ เวทนา (ความรู้สึก) มี ๓ อย่างคือ สุข ทุกข์ และอุเบกขา
เวทนา ๓ อย่างนี้เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน
คราวใด บุคคลเสวยสุขเวทนา คือรู้สึกเป็นสุข
คราวนั้น ก็ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาและอุเบกขาเวทนา
คราวใด เสวยทุกขเวทนาคือรู้สึกเป็นทุกข์
คราวนั้น ก็ไม่ได้เสวยสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา
คราวใด เสวยอุเบกขาเวทนาคือรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข
คราวนั้น ก็ไม่ได้เสวยสุขเวทนาและทุกขเวทนา
แต่ว่า เวทนาทั้ง ๓ นี้เป็นอย่างเดียวกันตรงที่ว่า ไม่เที่ยง
มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
มีความสิ้นไป เสื่อมไป สลายไป และดับไป เป็นธรรมดา


ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ปริพาชกทีฆนขะอยู่นั้น พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (ข้างหลัง) ท่านพิจารณาไปตามเนื้อความพระธรรมเทศนานั้นตลอดเวลา ครั้นจบพระธรรมเทศนาท่านก็ได้บรรลุอรหัตผลสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนปริพาชกทีฆนขะหลานของท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล

ท่านได้บรรลุอรหัตผลในวันที่ ๑๕ หลังบวช ซึ่งวันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓) เพราะหลังจากทรงแสดงธรรมโปรดให้ท่านได้บรรลุอรหัตผลแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏมายังวัดเวฬุวัน เพื่อทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในตอนบ่าย

๏ งานสำคัญ

พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ได้เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา โดยพระอัครสาวกทั้ง ๒ ได้ทำงานสัมพันธ์กัน ดังจะเห็นได้จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเสพ
จงคบหาสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด
ทั้ง ๒ รูปนี้เป็นภิกษุผู้เป็นบัณฑิต
อนุเคราะห์ผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์
สารีบุตร เปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิด
โมคคัลลานะ เปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว
สารีบุตร ย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล
โมคคัลลานะ ย่อมแนะนำในผลชั้นสูง


นอกจากนั้นแต่ละท่านยังได้มีผลงานเฉพาะตัวอีกมาก ซึ่งต่างล้วนเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาทั้งสิ้นคือ

พระสารีบุตร ได้เป็นอุปัชฌาย์บวชให้สามเณรหลายรูปด้วยกัน อาทิ สามเณรราหุล สามเณรสุขะ สามเณรสังกิจจะ สามเณรทัพพะ ต่อมายังได้โน้มน้าวใจให้น้องชายคือ พระจุนทะ พระอุปเสนะ พระเรวตะ และน้องสาว คือ จาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ออกบวชในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้เสนอแนะให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทเพื่อช่วยรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคง และยังได้ทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทำสังคายนา คือรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยอมรับและตรัสให้ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

ท่านได้แสดงตัวอย่างด้วยการจัดหลักธรรมไว้เป็นหมวดหมู่ กล่าวคือ ธรรมที่มี ๒ ข้อก็จัดไว้หมวดหนึ่ง จนถึงธรรม ๑๒ ข้อก็จัดไว้เป็นอีกหมวดหนึ่งต่างหาก และภายหลังพุทธปรินิพพาน พระมหากัสสปะได้ประชุมสงฆ์จัดทำปฐมสังคายนาก็ได้จัดทำ ตามแนวที่พระสารีบุตรเสนอไว้ นอกจากนั้นท่านยังได้สอนพระลกุณฑกภัททิยะให้ได้บรรลุอรหัตผล และได้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้พระราธะ ซึ่งพระลกุณฑกภัททิยะและพระราธะนี้ต่อมาได้รับยกย่องไว้ในเอตทัคคะ และจัดอยู่ในกลุ่มพระอสีติมหาสาวก

พระมหาโมคคัลลานะ ก็ได้เป็นอาจารย์ของหมู่คณะช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนาทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ ท่านแสดงฤทธิ์ปราบบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ จำนวนมากให้คลายเห็นผิด แล้วหันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อย่างเช่นที่เมืองราชคฤห์ ท่านได้แสดงฤทธิ์ปราบเศรษฐีมัจฉริยโกสิยะด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ บังหวนควันไฟ เดินจงกรมในอากาศ จนเขาเกิดความกลัวและยอมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ท้ายที่สุดก็ประกาศตนนับคือพระรัตนตรัย ท่านได้ปราบมารผู้มีความเห็นผิดด้วยวิธีการต่างๆ เช่นกัน จนมารยอมแพ้ นอกจากนั้นท่านยังได้ปราบนาคราชนันโทปนันทะ

อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า พระอัครสาวกทั้ง ๒ ทำงานสัมพันธ์กันอย่างได้ผล นั่นคือคราวที่พระเทวทัตประกาศแยกตนออกจากพระพุทธเจ้า แล้วพาพระวัชชีบุตรซึ่งเป็นศิษย์ของท่านไปอยู่ที่คยาสีสประเทศ พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้พระอัครสาวกทั้ง ๒ ไปแก้ปัญหา ผลปรากฏว่าท่านได้แสดงธรรมและพูดเกลี้ยกล่อมให้พระวัชชีบุตรกลับมาเข้าอยู่ในคณะสงฆ์ตามเดิม โดยปล่อยให้พระเทวทัตกับศิษย์ของท่านจำนวนหนึ่งอยู่กันอย่างโดดเดี่ยว

แม้พระอัครสาวกทั้ง ๒ จะเกิดในวันเดียวกัน แต่โดยที่พระสารีบุตรได้บรรลุโสดาปัตติผลก่อน และยังได้กล่าวธรรมให้พระมหาโมคคัลลานะได้บรรลุตามด้วย ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสยกย่องให้พระสารีบุตรเป็นพี่ ดังจะเห็นได้จากคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงแสดงอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้นอีก ๗ วันจะถึงมหาปวารณาออกพรรษา พระมหาโมคคัลลานะได้ขึ้นไปเฝ้าแล้วทูลถามว่าจะเสด็จลงจากเทวโลก ณ เมืองไหน พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า

“โมคคัลลานะ สารีบุตรพี่ชายเธออยู่ที่ไหน”

“จำพรรษาอยู่ที่เมืองสังกัสสะ พระเจ้าข้า”

เมื่อพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลให้ทรงทราบดังนั้น พระองค์จึงตรัสว่า พระองค์จักเสด็จลงจากเทวโลก ณ เมืองสังกัสสะนั้นแหละ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ บั้นปลายชีวิต

พระอัครสาวกทั้ง ๒ รูป มีชีวิตอยู่มาจนกระทั่งถึงระยะปัจฉิมโพธิกาล (ระยะเวลาใกล้สิ้นยุคพุทธกาล) หลักฐานบางแห่งว่า ทั้ง ๒ ท่านนิพพานก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๑ ปี คือนิพพาน ในปีที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๗๙ พรรษา

พระสารีบุตร นิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่บ้านของท่านเอง ด้วยโรคปักขันทิกาพาธ (ถ่ายจนเป็นเลือด) ดังมีเรื่องเล่าว่า

วันหนึ่ง ท่านเข้าผลสมาบัติอยู่ในที่พักกลางวันของท่านในวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ออกจากผลสมาบัติแล้วพิจารณาเห็นว่าพระอัครสาวกย่อมนิพพานก่อนพระพุทธเจ้า ดังนั้นท่านจึงได้ตรวจดูอายุสังขารของตนเองและเห็นว่าจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีก ๗ วันเท่านั้น ท่านได้พิจารณาต่อไปถึงสถานที่ที่จะไปนิพพาน ก็เห็นว่าควรจะไปนิพพานที่บ้านเกิด ทั้งนี้เพื่อจะได้โปรดโยมมารดาซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ให้ได้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเห็นด้วยว่าโยมมารดามีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้เมื่อได้ฟังธรรมที่ท่านแสดง

เมื่อปลงใจได้ดังนั้นแล้ว ท่านจึงแจ้งพระจุนทะผู้เป็นน้องชายให้ทราบ และบอกพระจุนทะให้แจ้งแก่บรรดาศิษย์ของท่านให้ทราบด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วท่านได้เก็บกวาดเสนาสนะ แล้วออกมายืนอยู่ที่หน้าเสนาสนะนั้น ท่านมองดูทุกสิ่งทุกอย่างเป็นครั้งสุดท้าย แล้วพาพระจุนทะและพระบริวาร ๕๐๐ รูปเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

“ข้าแต่พระบรมศาสดา” ท่านกราบทูล หลังจากกราบถวายบังคมแล้ว “อายุของข้าพระองค์ใกล้สิ้นแล้ว ข้าพระองค์ขอกราบพระบาทเป็นครั้งสุดท้าย เพราะนับจากนี้ไปอีก ๗ วัน ข้าพระองค์จะได้ทอดทิ้งร่างกาย ขอได้ทรงพระกรุณาอนุญาตให้ข้าพระองค์นิพพานด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า”

“สารีบุตร เธอจักไปนิพพานที่ไหน” พระพุทธเจ้าตรัสถาม

“ที่บ้านเกิด พระพุทธเจ้าข้า”

“สารีบุตร” พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพร้อมทั้งอนุญาต แล้วตรัสต่อไปว่า

“ต่อนี้ไปภิกษุทั้งหลายจะไม่ได้เห็นพระสาวกเช่นเธออีกแล้ว ขอเธอได้ช่วยอนุเคราะห์แสดงธรรมให้ภิกษุทั้งหลายฟังก่อนเถิด”

ท่านเข้าใจถึงพุทธประสงค์ได้ดี จึงลุกขึ้นถวายบังคมรับพระพุทธดำรัส แต่ก่อนที่จะแสดงธรรม ท่านได้เหาะขึ้นไปสูงได้ชั่วลำตาล ๑ แล้วกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ได้เหาะกลับขึ้นไปอีกแล้วกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าอีก ท่านทำอยู่อย่างนี้ถึง ๗ ครั้ง กล่าวคือ ท่านเหาะขึ้นไปสูงสุดถึง ๗ ชั่วลำตาล และในแต่ละชั่วลำตาลนั้นท่านได้เหาะกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าทุกครั้ง ขณะที่เหาะอยู่สูงถึง ๗ ชั่วลำตาลนั้นท่านได้แสดงฤทธิ์ต่างๆ มากกว่าร้อยแล้วจึงแสดงธรรม


ขณะที่แสดงธรรมอยู่นั้นท่านได้แสดงฤทธิ์ด้วย โดยบางครั้งทำให้คนเห็นตัวท่าน แต่บางครั้งก็ทำให้ไม่เห็น คงให้ได้ยินแต่เสียง หรือให้เห็นเพียงครึ่งตัว เสียงของท่านบางครั้งก็ได้ยินจากข้างบน บางครั้งก็ได้ยินจากเบื้องล่าง ท่านยังปรากฏกายให้เห็นเป็นรูปต่างๆ บางครั้งเป็นรูปพระจันทร์ บางครั้งเป็นรูปพระอาทิตย์ บางครั้งเป็นรูปภูเขา บางครั้งเป็นรูปมหาสมุทร บางครั้งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ บางครั้งเป็นท้าวเวสสุวรรณ บางครั้งเป็นพระอินทร์ บางครั้งเป็นท้าวมหาพรหม ครั้นแสดงฤทธิ์และแสดงธรรมถวายตามพุทธประสงค์แล้ว ท่านก็ได้เหาะกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้วเข้าไปประคองพระบาท พลางกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระบรมศาสดา ข้าพระองค์สู้สร้างบารมีมาช้านานนับได้ ๑ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ก็ด้วยตั้งใจจะได้ถวายบังคมพระบรมบาท”

จากนั้นท่านได้กราบถวายบังคมลา พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาส่งหน้าพระคันธกุฎี และตรัสบอกพระสาวกทั้งหลายในที่นั้นให้ไปส่งท่าน ครั้นถึงซุ้มประตูเชตวันมหาวิหาร ท่านบอกพระที่ตามมาส่งท่านให้กลับ พร้อมทั้งกล่าวสอนไม่ให้ประมาท


ท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเดินทางอยู่ ๗ วันก็ถึงอุปติสสคามบ้านเกิดของท่าน ที่เมืองนาลันทา แคว้นมคธ ท่านพร้อมด้วยคณะได้ยืนพักเหนื่อยอยู่ที่โคนต้นไทรใกล้ทางเข้าบ้านของท่าน และได้พบกับอุปเรวตะผู้เป็นหลานชาย จึงได้แจ้งความประสงค์ที่จะมาพักที่บ้านกับโยมมารดาให้หลานชายทราบ

ฝ่ายนางสารีโยมมารดาเมื่อได้ทราบว่า พระลูกชายพาพระบริวารมาเยี่ยม ก็รู้สึกดีใจเป็นกำลัง จึงสั่งคนงานในบ้านให้จัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ จัดที่พักและตามประทีปไว้พร้อมสรรพ และเมื่อได้ทราบว่าท่านประสงค์จะพักในห้องที่ท่านเกิด นางสารีก็จัดให้ตามประสงค์ แต่ในขณะเดียวกันก็สงสัยอยู่ว่า ทำไมพระลูกชายจึงได้พาพระบริวารมามากมายเพียงนี้ หรือว่ามาเพื่อจะสึก เมื่อท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเข้าพักในสถานที่ที่โยมมารดาให้คนจัดให้ตามประสงค์แล้ว

ตกดึกคืนนั้นเองท่านได้เกิดป่วยเป็นโรคปักขันธิกาพาธ (ถ่ายจนเป็นเลือด) อย่างปัจจุบันทันด่วน ท่านได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส พระจุนทะและพระบริวารได้ช่วยกันพยาบาลอย่างใกล้ชิด ฝ่ายโยมมารดาเห็นว่าท่านอาพาธหนัก จึงมาเฝ้าดูอาการด้วยความเป็นห่วง

ขณะนั้น เทวดาองค์สำคัญๆ ต่างมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านตามลำดับ คือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักข์ ท้าววิรุฬหก และท้าวเวสสุวรรณ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสุยามา ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นยามา ท้าวดุสิต ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดุสิต ท้าวสุนิมมิตะ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นนิมมานรดี และท้าวปรนิมมิตวสวัดดี ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี รวมทั้งท้าวมหาพรหมแห่งพรหมโลก ชั้นสุทธาวาสก็ได้มาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วย เทวดาและท้าวมหาพรหมนั้นแต่ละองค์ล้วนมีรัศมีเปล่งปลั่งงดงาม ต่างพากันมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วยความเป็นห่วงและด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

นางสารีเห็นเหตุการณ์นั้นตลอด เมื่ออาการของพระเถระค่อยบรรเทาลง นางได้เข้าไปหาและสนทนาด้วย โดยได้ถามถึงเทวดาองค์สำคัญๆ ที่มาเยี่ยมซึ่งนางไม่ทราบว่าเป็นใคร ท่านได้บอกให้โยมมารดา ได้ทราบตามลำดับจนกระทั่งถึงท้าวมหาพรหม

“อุปติสสะ” โยมมารดาเรียกชื่อเดิมของท่านด้วยความอัศจรรย์ใจ “นี่ลูกของแม่ใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ”

“ใช่...โยมแม่” ท่านตอบรับ

ทันใดนั้น โยมมารดาก็เกิดปีติอย่างใหญ่หลวง สีหน้าเอิบอิ่ม เมื่อได้ทราบว่าพระลูกชายยิ่งใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมที่ตนเคารพ

“อุปติสสะลูกชายของเรายิ่งใหญ่ขนาดนี้ แล้วพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาของลูกชายเราเล่าจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน”

นางสารีคิดไปถึงพระพุทธเจ้า พระเถระสังเกตดูโยมมารดาตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าจิตใจเริ่มอ่อนโยน เหมาะจะรับน้ำย้อมคือคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้ จึงเริ่มแสดงธรรมโปรด โดยพรรณนาถึงพระพุทธคุณนานาประการ อาทิว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ห่างไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โยมมารดาฟังแล้วเลื่อมใสยิ่งนัก และเมื่อจบพระธรรมเทศนา นางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

พระเถระได้ตอบแทนพระคุณโยมมารดาด้วยการตอบแทนที่ล้ำค่า คือให้พ้นจากความเห็นผิดที่มีมานานเสียได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ ส่วนโยมมารดารู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาที่ไม่ได้สัมผัสอมตธรรม จึงพูดกับท่านเป็นเชิงต่อว่า ว่า

“ลูกรัก ทำไมจึงเพิ่งมาให้อมตธรรมนี้แก่แม่เล่า”

หลังจากโยมมารดาได้ลากลับเข้าไปที่พักผ่อนแล้ว ท่านได้บอกพระจุนทะให้นิมนต์พระบริวารมาประชุมพร้อมกัน ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้สว่าง ท่านดูอิดโรยเต็มที แต่ถึงกระนั้นก็พยายามยันกายลุกขึ้นนั่ง โดยพระจุนทะคอยประคองอยู่ตลอดเวลา

“ท่านทั้งหลาย” พระเถระเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงแหบพร่า

“ผมกับท่านอยู่ด้วยกันมานานถึง ๔๔ ปี หากกายกรรมและวจีกรรมของผมอันใดไม่เป็นที่พอใจ ขอได้อภัยให้ผมด้วย”

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ” พระบริวารกล่าวตอบ “พวกกระผมติดตามท่านมานาน ยังมองไม่เห็นกายกรรมและวจีกรรมอันใดของท่านที่ไม่เหมาะสมเลย แต่พวกกระผมสิจะต้องขอให้ท่านได้โปรดยกโทษในกายกรรมและวจีกรรมที่ไม่สมควร”

ท่านกับพระบริวารต่างกล่าวคำขอขมากันและกันแล้ว แสงเงินแสงทองเริ่มจับขอบฟ้าแล้ว เช้าวันนั้นเบญจขันธ์อันอ่อนล้าของ พระเถระก็ดับลงอย่างสนิท ท่านนิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในห้องที่ท่านเกิด เทวดาและมนุษย์ได้พร้อมใจกันฌาปนกิจศพของท่านอย่างสมเกียรติ พระจุนทะนำผ้าขาวมาห่ออัฐิของท่านแล้วนำไปพร้อมทั้งบาตรและจีวร เพื่อมอบให้พระอานนท์นำไปถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงรับอัฐิของท่านแล้วโปรดให้สร้างสถูปบรรจุไว้ที่ใกล้ประตูเชตวันมหาวิหาร เพื่อให้พุทธบริษัทได้สักการะต่อไป

พระมหาโมคคัลลานะ นิพพานเมื่อวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ณ ถ้ำกาฬศิลา แคว้นมคธ หลังพระสารีบุตรนิพพานได้ ๑๕ วัน ดังมีเรื่องเล่าว่า


พรรษาที่จะนิพพานนั้น ท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำกาฬศิลา แคว้นมคธ เดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) คณะหนึ่งได้จ้างโจรก๊กหนึ่งให้ไปฆ่าท่าน เหตุที่เป็นดังนั้นเพราะเดียรถีย์ได้ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วต่างลงความเห็นว่า ทุกวันนี้พวกตนเสื่อมจากลาภสักการะ มีผู้นับถือน้อยลง เป็นเพราะผู้คนพากันหันไปเลื่อมใสพระสมณโคดมเป็นส่วนใหญ่ สาวกของพระสมณโคดมองค์สำคัญที่เป็นตัวการให้คนหันไปเลื่อมใสศาสดาของตนนั้น คือพระมหาโมคคัลลานะ เนื่องจากสาวกรูปนี้มีฤทธิ์ไปนรกสวรรค์ แล้วกลับมาเทศนาสั่งสอนจนคนเกิดศรัทธาเลื่อมใส หากไม่มีสาวกรูปนี้แล้วพระสมณโคดมก็หมดความหมาย ผู้คนก็จะหมดความเลื่อมใส แล้วพากันหันกลับมาเลื่อมใสพวกตนตามเคย ลาภสักการะก็จะมีมากเหมือนเก่า

ครั้นปรึกษาหารือกันแล้ว พวกเดียรถีย์ก็เรี่ยไรเงินจากผู้ที่ยังนับถือพวกตนอยู่ไปว่าจ้างโจรให้ไปฆ่าพระเถระ เวลานั้นเป็นช่วงระยะเวลาเข้าพรรษา พวกโจรได้พากันไปยังถ้ำกาฬศิลาซึ่งท่านจำพรรษาอยู่ ภายนอกถ้ำมีกุฏิหลังเล็กๆ อยู่หลังหนึ่ง ท่านพักอยู่ในกุฏิหลังนั้น และเมื่อได้ทราบว่ามีโจรมาล้อมกุฏิหมายจะฆ่าท่าน พระเถระก็เข้าฌานอธิษฐานจิตหายออกไปทางช่องลูกดาล พวกโจรไม่ทราบจึงเข้าไปค้น แต่ก็พลาดโอกาสไม่พบท่าน

วันต่อมาๆ พวกโจรก็ได้มาล้อมกุฏิของท่านอีก แต่ก็ไม่สามารถจับตัวท่านได้ เพราะท่านได้ใช้อำนาจฤทธิ์หายตัวไม่ยอมให้โจรจับได้ พวกโจรพยายามอยู่อย่างนี้ถึง ๒ เดือนเต็ม พวกเดียรถีย์รู้สึกเคียดแค้นหนักขึ้น จึงเร่งให้พวกโจรจัดการกับพระเถระให้ได้


วันหนึ่ง ท่านมาหวนพิจารณาถึงการที่พวกโจรพยายามตามฆ่าท่านว่าคงจะเนื่องมาจากกรรมเก่าที่ตามมาให้ผล ครั้นพิจารณาไปก็เห็นว่าชาติหนึ่งในอดีตชาติท่านได้ทำอนันตริยกรรม คือ ฆ่าบิดามารดาตามคำยุยงของภรรยา บาปกรรมครั้งนั้นส่งผลให้ท่านไปเกิดในอเวจีมหานรกอยู่เนิ่นนาน ได้รับทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส แม้จะพ้นจากอเวจีมหานรกแล้วแต่เศษของผลบาปกรรมก็ยังมีอยู่และตามให้ผลตลอดเวลา จนมาในชาติปัจจุบันแม้จะได้บรรลุอรหัตผลสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ผลของบาปกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่นั้นก็ยังตามอยู่ เมื่อเห็นเป็นดั่งนี้ท่านก็ไม่คิดหนีอีก พวกโจรจึงจับท่านได้และทุบตีอย่างเคียดแค้น ผลก็คือร่างกายของพระเถระแหลกเหลว กระดูกแหลกละเอียดเหลือเป็นชิ้นๆ ขนาดเท่าเม็ดข้าวสารหัก

เมื่อทุบจนหายแค้นแล้ว พวกโจรสำคัญว่าท่านมรณภาพจึงช่วยกันหามไปทิ้งไว้หลังพุ่มไม้แห่งหนึ่งใกล้ๆ ถ้ำกาฬศิลา นั้นแล้วหลบหนีไป

แม้จะได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส แต่พระเถระก็ยังไม่มรณภาพ ซึ่งเป็นธรรมดาของพระอัครสาวกหากยังไม่ได้ทูลลาพระพุทธเจ้าแล้วจะยังไม่นิพพานอย่างเด็ดขาด พระเถระยังคงมีสติมั่นคง ท่านเข้าฌานอธิษฐานจิตประสานกายให้ปกติดุจเดิมแล้วเหาะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน แคว้นมคธ เพื่อทูลลานิพพาน

พระพุทธเจ้าทรงขอให้ท่านแสดงธรรม และแสดงฤทธิ์อย่างที่ทรงขอให้พระสารีบุตรได้ทำ ท่านได้ทำตามพุทธประสงค์ จากนั้นได้ก้มลงกราบพระบาทของพระพุทธเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเหาะกลับไปยังถ้ำกาฬศิลา ท่านนิพพาน ณ ที่นั่นเมื่อวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ดังได้กล่าวมาแล้ว

พระอัครสาวกทั้ง ๒ ได้ทำงานร่วมกันตลอดอายุขัย ได้ช่วยให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว และเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติทุกวรรณะในสังคมอินเดียครั้งกระนั้น


๏ เอตทัคคะ-อดีตชาติ

พระสารีบุตร มีปัญญามาก สามารถแสดงธรรมได้ใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีปัญญามาก ดังพระพุทธดำรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสาวกของตถาคตที่มีปัญญามาก สารีบุตรนี้เป็นเลิศกว่าใครทั้งสิ้น”

พระมหาโมคคัลลานะ มีฤทธิ์มาก สามารถแสดงฤทธิ์ได้ใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านมีฤทธิ์มาก ดังพระพุทธดำรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสาวกของตถาคตที่มีฤทธิ์มาก โมคคัลลานะนี้เป็นเลิศกว่าใครทั้งสิ้น”

วันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานตำแหน่งเอตทัคคะ และตำแหน่งพระอัครสาวกให้แก่พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะนั้น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พระพุทธเจ้าทรงเลือกที่รักมักที่ชัง พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์มิได้เลือกที่รักมักที่ชังแต่ประการใด แต่ประทานให้ตามที่ทั้ง ๒ ท่าน ปรารถนามาแต่อดีตชาติ จากนั้นได้ตรัสเล่าเรื่องราวของพระอัครสาวกให้พระทั้งหลายฟัง นับถอยหลังจากนี้ไปได้ ๑ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป พระสารีบุตรเกิดเป็นพราหมณ์มหาศาลชื่อ ‘สรทะ’ ส่วนพระมหาโมคคัลลานะเกิดเป็นบุตรคหบดีมหาศาลชื่อ ‘สิริวัฑฒะ’ ทั้ง ๒ เป็นเพื่อนกันมาแต่เยาว์วัย

สรทะ เมื่อบิดาล่วงลับไปก็ได้ดูแลทรัพย์สมบัติแทน อยู่มาวันหนึ่งขณะอยู่ตามลำพังก็คิดถึงความเป็นไปของชีวิตในลักษณะต่างๆ แล้วสรุปได้ว่า

สรรพสัตว์และสรรพสิ่งต้องตายและแตกดับ
ไม่มีใครหรืออะไรจะรอดพ้นความตายและความแตกดับนั้นไปได้
เราก็เป็นหนึ่งในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งนั้น
ฉะนั้นเราจึงควรออกบวช แสวงหาความรอดพ้นจากความตาย และความแตกดับนั้นให้ได้

ครั้นคิดได้อย่างนี้จึงเดินทางไปหาสิริวัฑฒะ เล่าให้ทราบถึงความคิดของตนแล้วชวนสิริวัฑฒะให้ออกบวชด้วย เมื่อสิริวัฑฒะบอกว่ายังไม่พร้อมจะออกบวช สรทะก็ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ ครั้นกลับไปถึงบ้านก็ให้เปิดเรือนคลังเก็บรัตนะชนิดต่างๆ แล้วแจกจ่ายให้เป็นทานแก่คนทั่วไปพร้อมทั้งได้สละบ้านเรือนออกไปอยู่ป่า แล้วอธิษฐานจิตบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่านั้นเอง โดยมีบุตรพราหมณ์จากตระกูลต่างๆ ออกบวชตามจำนวน ๗๔,๐๐๐ คน

ฤาษีสรทะได้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรฝึกจิต จนในไม่ช้าก็ได้บรรลุอภิญญาและสมาบัติชั้นสูง จากนั้นได้สอนวิธีเพ่งกสิณให้แก่ฤาษีบริวาร จนฤาษีบริวารเหล่านั้นได้บรรลุอภิญญาและสมาบัติเช่นเดียวกับตน

ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าอโนมทัสสีเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เสด็จจาริกแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ไปตามสถานที่ต่างๆ วันหนึ่งทรงทราบด้วยพระญาณว่า ฤาษีสรทะพร้อมด้วยบริวารมีอุปนิสัยสามารถบรรลุธรรมได้จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปโปรด

พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีเสด็จไปแต่ลำพัง พระองค์ทรงมุ่งหวังที่จะให้ฤาษีสรทะเห็นเป็นอัศจรรย์และรู้ว่าพระองค์ คือพระพุทธเจ้า จึงทรงเหาะไปลงที่หน้าอาศรมของท่าน ให้ท่านเห็นกับตา ฤาษีสรทะมองดูนักบวชที่เหาะมาลงหน้าอาศรมของตนอยู่ไม่นาน ก็รู้ได้ตามมหาปุริสลักษณะว่า นักบวชรูปนี้ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าต่างหาก จึงลุกขึ้นถวายการต้อนรับโดยปูลาดอาสนะถวาย แล้วกราบทูลให้เสด็จมาประทับนั่ง ส่วนฤาษีสรทะเองก็นั่งเฝ้าอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล

พอดีเวลานั้นบรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์ที่ออกไปเก็บผลไม้พากันกลับมาถึง เห็นอาการนั่งของฤาษีสรทะผู้เป็นอาจารย์และนักบวชอาคันตุกะแล้วรู้สึกแปลกใจ

“ท่านอาจารย์” ฤาษีรูปหนึ่งพูดขึ้น “เมื่อก่อนพวกเราเที่ยวอวดใครต่อใครว่า ผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าอาจารย์ไม่มีอีกแล้ว แต่มาบัดนี้พวกเราเริ่มไม่แน่ใจ นักบวชรูปนี้เห็นจะยิ่งใหญ่กว่าท่านซินะ”

“พวกพ่อพูดอะไร” ฤาษีสรทะแสดงท่าขวยเขิน

“ทำไมเอาเขาพระสุเมรุมาเทียบกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด ขอพวกพ่ออย่าได้เอาเราซึ่งเท่ากับเมล็ดพันธุ์ผักกาด ไปเทียบกับพระพุทธเจ้า ผู้อุปมาเหมือนเขาพระสุเมรุเลย”


เมื่อได้ฟังคำชี้แจงอย่างนั้น บรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์ต่างยอมรับความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า จึงพร้อมกันหมอบกราบลงแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า จากนั้นฤาษีสรทะได้บอกบรรดาฤาษีเหล่านั้นให้ช่วยกันจัดผลไม้นำมาถวายพระพุทธเจ้า ท่านได้นำผลไม้ที่บรรดาศิษย์จัดมานั้นไปน้อมถวายพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง

หลังจากพระพุทธเจ้าอโนมทัสสีเสวยผลไม้แล้ว ฤาษีสรทะได้บอกบรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์ให้เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้าใกล้ๆ พร้อมกัน พระพุทธเจ้าทรงมองดูฤาษีสรทะ พลางส่งพระทัยไปถึงพระสาวกผู้เป็นอัครสาวกให้มาเฝ้าพระองค์ พร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวนมาก

ณ บัดนี้ พระอัครสาวกทั้ง ๒ ทราบพระพุทธดำริแล้ว ก็พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที ถวายบังคมแล้วก็ยืนเฝ้าอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล

ฤาษีสรทะเห็นพระมากันเป็นจำนวนมากก็เกิดกุศลจิต จึงบอกบรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์ให้นำดอกไม้มาทำเป็นอาสนะถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก บรรดาฤาษีผู้เป็นศิษย์เหล่านั้นก็เกิดกุศลจิตเช่นเดียวกับอาจารย์ จึงใช้อำนาจฤทธิ์นำดอกไม้หลายสีหลากกลิ่นมาจัดปูเป็นอาสนะดอกไม้ถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวกตามที่อาจารย์สั่ง และเมื่อการจัดอาสนะดอกไม้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ฤาษีสรทะได้ยืนประนมมือต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ได้โปรดประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีประทับนั่ง ตามที่ฤาษีสรทะกราบทูล จากนั้นพระอัครสาวกและพระอรหันตบริวารก็ได้นั่งบนอาสนะที่สมควรแก่ตนตามลำดับ

ตามปกติทานที่ถวายแก่พระที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติย่อมมีผลมาก พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงมีพระประสงค์จะให้ทานของฤาษีสรทะและศิษย์เป็นเช่นนั้น จึงทรงเข้านิโรธสมาบัติ ฝ่ายพระอัครสาวกและพระอรหันต์ที่เหลือทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงเข้านิโรธสมาบัติ จึงเข้าตาม ขณะที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกกำลังเข้านิโรธสมาบัติอยู่นั้น ฤาษีสรทะได้ยืนกั้นร่มดอกไม้ถวายตลอดเวลา ส่วนฤาษีผู้เป็นศิษย์ได้ยืนประนมมือเฝ้าพระพุทธเจ้าและพระสาวกตลอดเวลาด้วยเช่นกัน

พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงเข้านิโรธสมาบัติอยู่ ๗ วัน ครั้นออกแล้วได้รับสั่งให้พระนิสภเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวา กล่าวอนุโมทนาอาสนะดอกไม้ เพื่อให้ฤาษีสรทะและศิษย์ได้เกิดปีติโสมนัส เมื่อพระนิสภเถระกล่าวอนุโมทนาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระอโนมเถระ พระอัครสาวกเบื้องซ้าย แสดงธรรมต่อไป ฤาษีทั้งหลายได้ฟังพระอัครสาวกทั้ง ๒ กล่าวอนุโมทนา และแสดงธรรมแล้ว หาได้บรรลุธรรมแต่ประการใดไม่ คงเกิดแต่ปีติโสมนัสในทานและธรรมเท่านั้น

ความจริงแล้วพระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น เพราะฤาษีทั้งหมดเป็นพุทธเวไนยสัตว์ กล่าวคือ จะบรรลุธรรมได้ต้องได้ฟังจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น พระสาวกไม่ว่ารูปใดไม่สามารถสอนให้บรรลุธรรมได้ แต่ที่ทรงให้พระนิสภะกล่าวอนุโมทนา และทรงให้พระอโนมเถระกล่าวธรรมตามลำดับนั้น ก็โดยทรงมีพุทธประสงค์จะให้ฤาษีเหล่านั้นได้ฟังธรรมเป็นอุปนิสัยปัจจัย เพื่อให้ได้บรรลุธรรมคราวที่ได้ฟังธรรมจากพระองค์โดยตรง

โดยเหตุที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ฤาษีเหล่านั้นเป็นพุทธเวไนยสัตว์ ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงแสดงธรรมจบลง ฤาษีทั้งหมดยกเว้นฤาษีสรทะก็ได้บรรลุอรหัตผล ครั้นแล้วได้ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าอโนมทัสสีก็ทรงบวชให้ตามประสงค์ด้วยวิธีแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา

กล่าวถึงฤาษีสรทะ การที่ไม่ได้บรรลุมรรคผลขั้นใดนั้นเป็นเพราะความฟุ้งซ่าน กล่าวคือขณะที่นั่งฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่นั้น ใจก็คิดปรารถนาอยู่แต่การจะได้เป็นพระอัครสาวก โดยคิดอยู่ว่า “ทำอย่างไรเราจึงจะได้เป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือนอย่างที่พระนิสภเถระได้เป็นอยู่นี้”

และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบ ท่านก็เข้าไปกราบถวายบังคมแทบพระบาท แล้วเปล่งวาจาปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะและการเป็นพระอัครสาวก พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงตรวจดูด้วยพระญาณที่ล่วงรู้ถึงอนาคต (อนาคตังสญาณ) ก็ทรงทราบดีว่าความปรารถนาของฤาษีสรทะนั้นสำเร็จได้แน่ จึงตรัสพยากรณ์ว่า “จากนี้ไป ๑ อสงไขยกับอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัป เธอจักได้เป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าโคดม และจักมีชื่อว่า สารีบุตร”

จากนั้นพระองค์ได้ตรัสธรรมกถาประคับประคองศรัทธาของฤาษีสรทะให้กล้าแข็งยิ่งขึ้น และเมื่อทรงเห็นว่าประทับอยู่พอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ทรงพาพระสงฆ์ทั้งหมดเหาะกลับไปที่ประทับ

ฝ่ายฤาษีสรทะ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพาพระสาวกกลับไปแล้วก็หวนนึกถึงสิริวัฑฒะ บุตรคหบดีผู้เป็นเพื่อนเก่าจึงเดินทางไปหา

“เพื่อนรัก” ฤาษีสรทะเริ่มเล่า “บัดนี้พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ข้าพเจ้าได้เฝ้าพระองค์ และได้ตั้งจิตปรารถนาเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่าข้าพเจ้าจักได้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าโคดม ซึ่งจะเสด็จอุบัติขึ้นในอนาคต ข้าพเจ้ามาระลึกว่าตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องซ้ายยังไม่มีผู้ใดปรารถนา จึงคิดถึงท่านอยากให้ท่านตั้งจิตปรารถนาเพื่อไปเกิดด้วยกัน”

“ขอบคุณท่านสรทะ” สิริวัฑฒะกล่าวด้วยความสนใจ “ขอบคุณที่ท่านได้นำข่าวดีมาบอก แต่ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไร ขอให้ท่านโปรดแนะนำด้วย”

“ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก” ฤาษีสรทะแนะนำ

เมื่อสิริวัฑฒะตกลงใจที่จะถวายทานแล้ว ฤาษีสรทะก็รับไปนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกให้ ฝ่ายสิริวัฑฒะเมื่อฤาษีสรทะกลับแล้ว ก็ลงมือเตรียมรับเสด็จพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ ขั้นแรกให้คนเกลี่ยพื้นดินหน้าประตูบ้าน ซึ่งกว้างประมาณ ๘ กรีสให้เรียบเสมอกันก่อน แล้วให้โปรยข้าวตอกดอกไม้ลงบนพื้นที่เรียบเสมอนั้น จากนั้นให้ทำปะรำมุงด้วยดอกอุบลเขียว แล้วให้ปูลาดอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าและพระสาวกไว้พร้อมสรรพ สุดท้ายสั่งให้เตรียมอาหารและเครื่องสักการะไว้มากมาย

สิริวัฑฒะถวายมหาทานอยู่ ๗ วัน วันสุดท้ายถวายจีวรมีราคาแพงให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกครองด้วย แล้วได้ตั้งจิตปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะและการเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต พระพุทธเจ้าอโนมทัสสีทรงตรวจดูด้วยพระญาณที่ล่วงรู้ถึงอนาคตแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์เหมือนอย่างที่ทรงพยากรณ์แก่ฤาษีสรทะ


นับแต่นั้นมาสิริวัฑฒะได้ทำบุญสนับสนุนตลอดชีวิต ตายแล้วได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่ในสวรรค์ ส่วนฤาษีสรทะยังบำเพ็ญญาณสมาบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ มรณภาพแล้วได้ไปเกิดเป็นพรหมอยู่ในพรหมโลก ท่านทั้ง ๒ เวียนว่ายตายเกิดในสุคติภูมิจนถึงระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทั้ง ๒ ท่านได้มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์นายบ้านแห่งเมืองนาลันทา แคว้นมคธ และมีความผูกพันกัน ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะและตำแหน่งอัครสาวกดังกล่าวแล้ว

๏ วาจานุสรณ์

โดยเหตุที่พระอัครสาวกทั้ง ๒ เป็นกำลังสำคัญในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานถึง ๔๔ ปีนับแต่ปีที่บวช จึงมีถ้อยคำเตือนใจที่ทั้ง ๒ ท่านกล่าวไว้มากมาย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์

พระสารีบุตร เมื่อศึกษาดูแล้วจะพบว่าท่านกล่าวเกี่ยวกับเรื่องราวและในโอกาสต่างๆ กันดังนี้

เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของท่านขณะบำเพ็ญสมณธรรม ท่านกล่าวว่า

ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล สงบระงับ มีสติ คิดชอบ
เพ่งพินิจธรรมอยู่เป็นนิตย์ ไม่ประมาท
ยินดีอยู่กับการเจริญกรรมฐานในภายในตัวเอง
มีใจมั่นคงอย่างยิ่ง อยู่ผู้เดียว ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ภิกษุ

เกี่ยวกับการฉันอาหาร ท่านกล่าวว่า

ภิกษุฉันอาหาร จะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม
ไม่ควรฉันให้อิ่มจนแน่นท้อง ควรมีสติฉันแต่พอประมาณ
เมื่อรู้ว่าอีก ๔-๕ คำจะอิ่ม ควรงดเสียแล้วดื่มน้ำแทน
เพราะฉันเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว เพื่อความอยู่อย่างสบาย
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นต่อนิพพาน

เกี่ยวกับจีวรและที่อยู่อาศัย ท่านกล่าวว่า

การครองจีวรที่เหมาะสม ก็คือ
มุ่งประโยชน์ของมันเป็นหลัก
ส่วนกุฏิใดที่ภิกษุนั่งแล้วฝนตกรดเข่าทั้งสองข้างไม่ได้
กุฏินั้นนับว่าเพียงพอแล้ว
ที่จะให้ภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นต่อนิพพาน
อยู่ได้อย่างสบาย

เกี่ยวกับที่อยู่ของพระอรหันต์ ท่านกล่าวว่า

พระอรหันต์อยู่สถานที่ใด ไม่ว่าบ้านหรือป่า
ไม่ว่าที่ดอนหรือที่ลุ่ม สถานที่นั้นย่อมเป็นภูมิสถาน
อันน่ารื่นรมย์ไปโดยปริยาย
ป่าอันน่ารื่นรมย์ที่คนผู้แสวงหากามไม่ยินดี
แต่กลับเป็นที่ที่ท่านผู้ปราศจากตัณหาชื่นชม
เพราะท่านเหล่านั้นไม่แสวงหากามอันใดอีก

เกี่ยวกับการอบรมสั่งสอน ท่านกล่าวว่า

บุคคลควรเห็นท่านผู้มีปัญญาชี้โทษมักกล่าวข่มขี่
ให้เป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์
ควรคบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะว่า เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น
ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีชั่วเลย
ปราชญ์เองก็ควรแนะนำสั่งสอน ควรห้ามผู้อื่น
จากธรรมที่มิใช่ของคนดี แต่ผู้ที่แนะนำสั่งสอนเช่นนั้น
จะเป็นที่รักก็แต่เฉพาะของคนดีเท่านั้น
แต่คนชั่วจะไม่รักเขาเลย

เกี่ยวกับความชั่ว ท่านกล่าวว่า

ภิกษุผู้ไม่มีกิเลส แสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์
ย่อมมองเห็นความชั่วเพียงเท่าปลายขนทราย
ปรากฏเป็นของใหญ่เท่าก้อนเมฆในท้องฟ้า

เกี่ยวกับชีวิตและความตาย ท่านกล่าวว่า

ความเป็น ความตาย เราไม่ยินดี
เราจักละทิ้งร่างกายนี้ไปอย่างผู้มีสติสัมปชัญญะ
ความเป็น ความตาย เราไม่ยินดี
เรารอแต่ให้ถึงเวลา คล้ายลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงาน
ความตายนี้มีแน่ ไม่เวลาแก่ก็เวลาหนุ่ม
แต่ที่จะไม่ตายไม่มีหรอก

พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อศึกษาดูแล้วจะพบว่าท่านกล่าวเกี่ยวกับเรื่องราวและในโอกาสต่างๆ กันดังนี้

เกี่ยวกับธุดงควัตร ท่านกล่าวว่า

ภิกษุถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร
ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร มีจิตมั่นคง
จะกำจัดเสนาแห่งพระยามัจจุราชเสียได้
คล้ายช้างทำลายเรือนไม้อ้อ

เกี่ยวกับร่างกาย ท่านกล่าวสอนโสเภณีนางหนึ่งที่มาเล้าโลมท่านว่า

กระท่อมคือร่างกาย มีกระดูกเป็นโครงสร้าง
ฉาบด้วยเนื้อ ร้อยรัดด้วยเส้นเอ็น
เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียด
คนทั่วไปพากันยึดถือ
แต่สำหรับเราเป็นของน่ารังเกียจ
ร่างกายของเธอไม่ต่างอะไรกับถุงใส่อุจจาระ
มีหนังหุ้มห่อปกปิดไว้ เหมือนนางปีศาจ
มีผื่นขึ้นที่หน้าอก มีช่อง ๙ ช่องให้สิ่งสกปรกไหลออกเป็นนิตย์
ภิกษุ (อย่างเรา) ย่อมไม่เหลียวแลร่างกายของเธอ
เหมือนชายหนุ่มผู้รักความสะอาด
ย่อมหลบหลีกอุจจาระปัสสาวะเสียห่างไกล
สำหรับคนทั่วไป หากเขาได้เข้าใจร่างกายของเธอ
อย่างที่เราเข้าใจ ต่างจะพากันหลีกไกล
คล้ายชายหนุ่มผู้รักความสะอาด เห็นหลุมอุจจาระที่ฝนตกใส่
ย่อมหลบหลีกเสียไกล
อากาศ คือความว่างเปล่า ใครก็ตามที่หวังจะเอาขมิ้น
หรือน้ำย้อมอย่างอื่นไปย้อมอากาศ ย่อมเหนื่อยเปล่า
จิตของเราว่างเปล่าเหมือนกับอากาศ มั่นคงอยู่ภายในฉะนั้น
เธออย่ามาหวังความรักจากจิตที่ว่างเปล่านี้เลย
เพราะจะพบแต่ความปวดร้าว เช่นเดียวกับแมลงบินเข้ากองไฟ

เกี่ยวกับการนิพพานของพระสารีบุตร ท่านกล่าวว่า

เมื่อพระสารีบุตรเถระ
ผู้เพียบพร้อมด้วยธรรมมีศีลสังวร เป็นต้น นิพพานไปแล้ว
ก็เกิดเหตุน่าสะพึงกลัวขนพองสยองเกล้า
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง มีเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา
การดับสังขารเหล่านั้นเสียได้ เป็นสุข

เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของท่านเอง ท่านกล่าวว่า

สายฟ้าแลบแปลบปลาบเข้าไปตามช่องภูเขาเวภาระ
และช่องภูเขาปัณฑวะ (ทำให้เกิดแสงสว่าง)
ส่วนเราผู้เป็นโอรสของพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ไม่มีใครเปรียบ
เข้าสู่ช่องภูเขาแล้ว เจริญฌานอยู่อย่างมั่นคง

เกี่ยวกับมารที่ประทุษร้ายท่านและพระพุทธเจ้า ท่านกล่าวว่า

ภิกษุใด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
รู้กรรม และผลของกรรม อย่างชัดแจ้ง
ภิกษุใด แสดงยอดภูเขาสิเนรุ ชมพูทวีป และปุพพวิเทหทวีป
ให้มนุษย์ชาวอปรโคยานทวีป และชาวอุตตรกุรุทวีป
ได้เห็นด้วยวิโมกข์
มารผู้มีบาป ท่านเบียดเบียนภิกษุนั้น
จะต้องประสบทุกข์เป็นแน่แท้
ไฟไม่ได้คิดเลยว่าจะไหม้คนพาล
แต่คนพาลกลับเข้าไปหาไฟให้ไหม้ตนเอง ฉันใด
ท่านประทุษร้ายพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับเผาตนเอง
เหมือนคนพาลคนนั้น
มารผู้มุ่งแต่จะให้เขาตาย ท่านสั่งสมบาปมานาน
จึงแน่นอนว่าจะต้องประสบทุกข์
ฉะนั้น จงอย่าคิดร้ายต่อพระพุทธเจ้าและพระสาวกอีกต่อไปเลย


:b8: :b8: :b8:

:b39: ที่มา : :b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มิ.ย. 2022, 08:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
:b8: :b8: :b8: ผนังพระระเบียง วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร
เป็นรูปนูนของพระอสีติมหาสาวก ในท่ายืนประนมมือ
น่าจะมีวัดเดียวแห่งเดียวในประเทศไทย

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b44: พระอสีติมหาสาวก : ความรู้ทั่วไป
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62111

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระปัญจวัคคีย์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62110

:b44: พระอสีติมหาสาวก : พระนาลกะ-พระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62109

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มเพื่อนพระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62108

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชฎิล ๓ พี่น้อง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62107

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระอัครสาวก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62106

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62105

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62104

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62103

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระมาณพ ๑๖
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62102

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นวังสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62101

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62100

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระต่างแคว้น
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62099

:b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มิ.ย. 2022, 18:16 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


onion


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร