วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 22:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระนาลกะ-พระยสะ

พระนาลกะ

พระนาลกะ เป็นพระอสีติมหาสาวกที่พุทธบริษัทไม่ค่อยคุ้นนัก ท่านบวชหลังกลุ่มพระปัญจวัคคีย์เพียง ๗ วัน แต่หลังจากบรรลุอรหัตผลได้เพียง ๗ เดือนก็นิพพาน

๏ สถานะเดิม

พระนาลกะมีนามเดิมว่า ‘นาลกะ’ ท่านเกิดในวรรณะพราหมณ์ที่เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ

๏ ชีวิตฆราวาส

ท่านเป็นหลานของฤาษีอสิตะผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าสุทโธทนะ โดยโยมมารดาของท่านเป็นน้องสาวของฤาษีอสิตะนั้น ดังนั้น ตระกูลของท่านจึงถือได้ว่าเป็นตระกูลขุนนางที่ทรงเกียรติตระกูลหนึ่งในเมืองกบิลพัสดุ์

๏ การออกบวช

ท่านออกบวชเป็นฤาษีตั้งแต่อายุยังน้อยตามคำแนะนำของฤาษีอสิตะผู้เป็นลุง ที่เปี่ยมล้นด้วยความรักและปรารถนาดี ดังมีเรื่องเล่าว่า

หลังจากได้รับพระราชานุญาตจากพระเจ้าสุทโธทนะให้ออกบวช และได้บรรลุสมาบัติ ๘ พร้อมทั้งอภิญญา ๕ แล้ว ฤาษีอสิตะมักจะอาศัยอำนาจฤทธิ์หายตัวไปพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ อาทิ ป่าหิมพานต์ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

วันหนึ่ง ฤาษีอสิตะหายตัวไปพักผ่อน ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โดยนั่งเข้าฌานอยู่ในวิมานหลังหนึ่งที่เกิดขึ้นด้วยบุญของท่านเอง

หลังออกจากฌานแล้วท่านได้ยืนอยู่ที่ประตูวิมานและมองไปรอบๆ เห็นธงทิวของเทวดาปลิวไสวอยู่ตามท้องถนน ซึ่งกว้างใหญ่ ๖๐ โยชน์ ทั้งยังได้เห็นและได้ยินเสียงท้าวสักกะ (พระอินทร์) และเทวดาชาวสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่างฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรีปรบมือแสดงความ ยินดีสนุกสนานอยู่ท่ามกลางถนน พร้อมทั้งกล่าวสรรเสริญคุณของพระโพธิสัตว์ จึงถามด้วยความแปลกใจว่า

มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นหรือ ทวยเทพทังหลายถึงได้แสดงความยินดีกันเหลือเกิน ท่านทั้งหลายโบกสะบัดผ้าทิพย์กันทำไม อะไรทำให้ท่านขนพองสยองเกล้า

เทวดาทั้งหลายกล่าวตอบว่า

ท่านอสิตะ พระโพธิสัตว์อุบัติขึ้นแล้วในโลกมนุษย์ พระองค์ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีของเจ้าศากยะเมื่อสักครู่นี้เอง เหตุนี้แหละที่ทำให้เราทั้งหลายดีใจ

ท่านอสิตะ ท่านไม่ทราบหรือว่าพระโพธิสัตว์เป็นผู้สูงสุดในหมู่สัตว์ พระองค์จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จักประกาศธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ด้วยพุทธลีลาอันอาจหาญดุจพญาราชสีห์

คำตอบของเทวดาทำให้ฤาษีอสิตะไม่สามารถอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ต่อไปได้ ท่านรีบลงมาเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะทันที และทูลขอโอกาสเฝ้าพระราชกุมารด้วย

พระเจ้าสุทโธทนะทรงอนุญาตให้ตามที่ท่านประสงค์ ทรงรับสั่งให้พระอภิบาลอุ้มพระราชกุมารออกมาให้ท่านได้เฝ้าพระราชกุมารทรงมีพระฉวีวรรณงดงาม ฤาษีอสิตะเห็นแล้วก็ทราบได้ทันทีด้วยอำนาจอภิญญาว่า พระราชกุมารนี้คือพระโพธิสัตว์อย่างที่เทวดาบอกกล่าว จึงกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะว่า

พระราชกุมารนี้ไม่มีใครยิ่งใหญ่ไปกว่าได้ พระองค์ทรงสูงสุดในบรรดาสรรพสัตว์ทวิบท (สัตว์ ๒ เท้า) พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ครั้นกราบทูลแล้วฤาษีอสิตะก็ร้องไห้น้ำตาไหลพรากด้วยความเสียใจว่า ตนเองชราแล้ว มีอายุอยู่ไม่ทันได้เห็นพระราชกุมารตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อีกทั้งเสียใจว่าเมื่อตายแล้วก็จะไปเกิดเป็นอรูปพรหม ไม่มีรูปร่าง หมดโอกาสที่จะได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรม

ฤาษีอสิตะเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะและพระราชกุมาร พอสมควรแก่เวลาแล้วก็ทูลลากลับ ท่านนึกเสียดายเรื่องที่จะไม่ได้อยู่ทันพระราชกุมารได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา ท่านนึกถึงเด็กชาย ‘นาลกะ’ ลูกของน้องสาวขึ้นมาได้ และเห็นว่าหลานชายคนนี้มีอุปนิสัยน้อมไปในการออกบวช จึงไปหาน้องสาวเพื่อขออนุญาต นำหลานชายออกบวชเป็นฤาษีเช่นเดียวกับท่าน เมื่อน้องสาวอนุญาตแล้ว ท่านก็ได้ดำเนินการตามที่ประสงค์

วันหนึ่งขณะนั่งพักผ่อนอิริยาบถอยู่ด้วยกัน ฤาษีอสิตะได้บอกแก่ฤาษีนาลกะว่า

วันข้างหน้าหากได้ยินเสียงกล่าวว่าพระพุทธเจ้า ขอให้เข้าใจเถิดว่า พระราชกุมารเสด็จออกผนวช และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เจ้าจงไปเข้าเฝ้าและทูลถามเรื่องที่อยากรู้ และจงบวชเป็นสาวกของพระองค์เถิด

ฤาษีนาลกะรับคำด้วยความเคารพ ท่านรอคอยฟังเสียงว่า ‘พระพุทธเจ้า’ อยู่ตลอดเวลา จนมาเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากท่านบวช เป็นฤาษีแล้ว ๓๕ ปี ท่านก็ได้ยินเสียงเทวดาป่าวร้องอื้ออึงว่า

พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
พระองค์ทรงแสดงธรรมจักรแล้ว


ฤาษีนาลกะดีใจมากที่วันเวลาแห่งการรอคอยมาถึง ๗ วันหลังจากนั้นเมื่อพระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์เป็นหลานของฤาษีอสิตะ รอคอยเวลาที่จะได้เข้าเฝ้าพระองค์มานานแล้วถึง ๓๕ ปี บัดนี้จึงได้สมปรารถนา ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกข้อปฏิบัติของมุนี แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด เพื่อข้าพระองค์ผู้เป็น มุนีไม่มีเรือน เที่ยวเลี้ยงชีพด้วยภิกขาจาร จะได้ยึดถือปฏิบัติต่อไป


พระพุทธเจ้าทรงทราบอุปนิสัยของท่านดี จึงตรัสโมเนยยปฏิปทา (ข้อปฏิบัติของมุนี) ให้ท่านฟัง ความว่า

เธอจงทำใจให้มั่นคง วางตนให้เหมือนกันทั้งแก่คนที่ด่า และยกมือไหว้ ไม่มีความเย่อหยิ่ง (จงระลึกไว้เสมอว่า) รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทางกาย ไม่ต่างอะไรไปจากเปลวไฟในป่า (ย่อมไหม้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย)

มุนีทั้งหลายย่อมถูกนารีเล้าโลมให้หลงใหลด้วยอิตถีลีลาต่างๆ อาทิ การหัวเราะ การพูด และการร้องไห้ เธออย่าถูกเล้าโลมเหมือนอย่างนั้นเลย

มุนีต้องละกาม งดเว้นจากเมถุนธรรม

มุนีต้องรักสัตว์อื่นให้เหมือนรักตัวเอง โดยยกตนเป็นที่เปรียบว่า เราเป็นฉันใด สัตว์อื่นๆ ก็เป็นฉันนั้น


ความปรารถนาและความอยากได้จนเกินไป ทำให้ปุถุชนข้องอยู่ มุนีจงละความปรารถนาและความอยากได้เกินไปนั้นเสีย จงละความอยากไม่หยุดในเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเหตุให้ประกอบมิจฉาชีพ

มุนีต้องไม่เห็นแก่กิน บริโภคอาหารแต่พอประมาณ มักน้อย ต้องทำตนให้หายหิว หมดความอยาก ดับความเร่าร้อนให้ได้ทุกเมื่อ

มุนีเที่ยวภิกขาจารได้อาหารแล้วจงไปยังชายป่า นั่งบริโภคตามโคนต้นไม้ จากนั้นจงบำเพ็ญฌาน ใช้ชีวิตอยู่ในป่า รุ่งเช้า จึงค่อยเข้าหมู่บ้านเที่ยวภิกขาจาร ได้อาหารอย่างใดก็บริโภคอย่างนั้น ไม่หวังอาหารที่ยังไม่ได้ ขณะฉันอาหารไม่ควรพูด


มุนีจงทำใจให้ได้ว่า จะได้หรือไม่ได้ก็ดีทั้งนั้น เพราะทั้งการได้และไม่ได้ย่อมทำให้พ้นทุกข์ ขณะภิกขาจารมุนีแม้ไม่เป็นใบ้ ก็ควรทำตนให้เหมือนคนใบ้ ไม่ควรดูหมิ่นทานว่าเล็กน้อย ไม่ควรดูถูกบุคคลผู้ให้

ในการบำเพ็ญเพียรตามหลักที่มุนีปฏิบัติกันมา คือ ใช้ลิ้นกดเพดาน (กลั้นลมหายใจ) เดิน ยืน นั่ง นอน แต่ผู้เดียวในที่สงัด

นาลกะ เธอจงรู้ไว้เถิดว่า น้ำในแม่น้ำน้อย ในหนอง ในห้วย ย่อมไหลดัง แต่น้ำในแม่น้ำใหญ่ย่อมไหลเงียบ สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นย่อมมีเสียงดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นย่อม ไม่มีเสียงดัง คนโง่ ย่อมทำตนเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว ส่วนคนฉลาดย่อมทำตนเหมือนหม้อน้ำที่มีน้ำเต็มเพราะเป็นผู้สงบ

สมณะใดรู้อยู่ สำรวมตน รู้เหตุแห่งความเสื่อม และความทุกข์แล้ว ไม่พูดมาก สมณะนั้นแลได้ชื่อว่าเป็นมุนี ได้ชื่อว่าปฏิบัติตามปฏิปทาของมุนีได้อย่างเหมาะสม และได้ชื่อว่าได้บรรลุธรรมที่ทำให้เป็นมุนีแล้ว


๏ การบรรลุอรหัตผล

ฤาษีนาลกะได้ฟังข้อปฏิบัติของมุนีจากพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงได้ทูลขอบวชทันที ครั้นบวชแล้วก็ยึดถือปฏิบัติตามหลักมักน้อย ๓ ประการ คือ มักน้อยในการเห็น มักน้อยในการฟัง และมักน้อยในการถาม

มักน้อยในการเห็น พระนาลกะไม่ได้ปรารถนาอีกว่า เมื่อไปอยู่ป่าแล้วขอให้ได้พบพระพุทธเจ้าอีก

มักน้อยในการฟัง พระนาลกะไม่ได้ปรารถนาอีกว่า ขอให้ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าอีก

มักน้อยในการถาม พระนาลกะไม่ได้ปรารถนาอีกว่า ขอให้ได้ทูลถามถึงข้อปฏิบัติของมุนีอีก

พระนาลกะครั้นตั้งจิตยึดถือตามหลักมักน้อย ๓ ประการนี้แล้ว ก็ทูลลาพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่เชิงเขา ตามลำพัง ท่านปฏิบัติตามข้อปฏิบัติของ มุนีอย่างเคร่งครัด คือไม่อยู่ในป่าแห่งเดียวถึง ๒ วัน ไม่นั่งที่โคนต้นไม้ต้นเดียวกันถึง ๒ วัน ไม่บิณฑบาตที่บ้านเดียวถึง ๒ วัน ดังนั้นท่านจึงออกจากป่าโน้นไปยังป่านี้ ออกจากต้นไม้นี้ไปยังต้นไม้โน้น ท่านปฏิบัติโดยเคร่งครัดอย่างนี้ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตผล


๏ งานสำคัญ

ดังได้กล่าวแล้วว่า พระนาลกะบวชหลังกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ ๗ วัน ดังนั้น หากนับลำดับกันแล้ว ท่านก็เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้ารูปที่ ๖ และเป็นพระอรหันต์รูปที่ ๗ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์รูปแรก แต่ถึงคราวที่พระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนานั้นกลับไม่มีท่านรวมอยู่ในจำนวนนั้นด้วย ทั้งนี้คงเป็นด้วยเพราะท่านถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในข้อปฏิบัติของมุนีนั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ท่านเป็นอยู่อย่างอิสระ และไม่ทรงเรียกประชุมในคราวส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนา

โดยเหตุที่ท่านไม่มีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งนั้น และนิพพานเร็วกว่าพระสาวกรูปอื่นในยุคเดียวกัน จึงไม่มีงานสำคัญอันใดเหลือไว้ อันเป็นเหตุให้ชื่อท่านเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจนกลายเป็นชื่อที่แปลกตาสำหรับนักศึกษายุคปัจจุบัน


๏ บั้นปลายชีวิต

ตามปกติ โมเนยยปฏิปทา หรือข้อปฏิบัติของมุนีเพื่อความเป็นมุนีผู้นิ่งเงียบนั้น ถือได้ว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นอัตตกิลมถานุโยค คือทำตนเองให้ลำบาก แต่เพราะเหตุที่ผู้ปฏิบัติไม่ยึดติดใน สัสสตทิฎฐิและอุจเฉททิฏฐิ ตรงกันข้ามกลับมีความเข้าใจถูกต้องที่ปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจาก ความเกิด ความแก่ และความตาย พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ปฏิบัติ

เพราะเหตุที่โมเนยยปฏิปทาเป็นวิธีปฏิบัติแบบอัตตกิลมถานุโยคดังกล่าว จึงมีผลอย่างสำคัญต่อสุขภาพ กล่าวคือ ผู้ที่ปฏิบัติเคร่งครัดขั้นต้นหลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้ ๑๖ ปี ผู้ปฏิบัติเคร่งครัดขั้นกลางหลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ ปี ส่วนผู้ที่ปฏิบัติเคร่งครัดขั้นสูงสุด หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ เดือน

พระนาลกะปฏิบัติโมเนยยปฏิปทาอย่างเคร่งครัดขั้นสูงสุด เพราะฉะนั้นหลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านจึงมีชีวิตอยู่ได้เพียง ๗ เดือนเท่านั้น เนื่องจากร่างกายบอบช้ำหนักนั่นเอง

มีกล่าวไว้ว่าวันที่จะนิพพานนั้น ท่านรู้ตัวดีจึงสรงน้ำชำระกายแล้วครองผ้าอย่างเรียบร้อย ท่านยืนหันหน้าไปทางที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ซึ่งคาดว่าขณะนั้นพระพุทธเจ้าคงประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ จากนั้นท่านก็ก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วลุกขึ้นยืนพิงภูเขาหิงคุละ ประนมมือนิพพานด้วยอาการสงบ เมื่อทรงทราบว่าพระนาลกะนิพพานแล้ว พระพุทธเจ้าก็เสด็จมายังภูเขาหิงคุละพร้อมด้วยพระสาวกหลายรูป ครั้นรับสั่งให้ฌาปนกิจศพท่านแล้วก็ทรงรับสั่งให้นำอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ เพื่อให้พุทธบริษัทได้สักการะ


๏ เอตทัคคะ-อดีตชาติ

พระนาลกะมิได้รับแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ทั้งนี้เป็นด้วยท่านตั้งจิตปรารถนาเพียงเพื่อเป็นพระมหาสาวกเท่านั้น แต่มิได้ตั้งจิตปรารถนาเพื่อได้ตำแหน่งเอตทัคคะ ส่วนเรื่องราวในอดีตชาติของท่านมีกล่าวว่า ท่านได้พบพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ฟังธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้บรรลุอรหัตผลและเป็นพระมหาสาวก ซึ่งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระทรงพยากรณ์ว่า ท่านจะได้บวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านได้มาเกิดเป็นหลานของฤาษีอสิตะในเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผลดังกล่าวแล้ว และเป็นพระมหาสาวกรูปหนึ่งในศาสนาของพระองค์

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2022, 17:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


พระยสะ

๏ สถานะเดิม

พระยสะมีนามเดิมว่า ‘ยสะ’ เกิดในวรรณะไวศยะ ในตระกูลเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสี แคว้นกาสี

๏ ชีวิตฆราวาส

ยสะมีชีวิตฆราวาสที่สมบูรณ์พูนสุขทุกประการ ท่านอยู่ในปราสาท ๓ ฤดูมาแต่อายุย่างเข้าวัยหนุ่มเช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ โดยที่เมื่อถึงฤดูหนาวก็อยู่ในปราสาทประจำฤดูหนาว เมื่อถึงฤดูร้อนก็อยู่ในปราสาทประจำฤดูร้อน เมื่อถึงฤดูฝนก็อยู่ในปราสาทประจำฤดูฝน

ยสะแต่งงานแล้วกับหญิงสาวที่มีตระกูลเสมอกัน แต่ไม่ปรากฏชัดว่า ได้มีบุตรธิดาด้วยกันหรือไม่ สำหรับตัวท่านเองนั้นสันนิษฐานได้ว่าคงจะเป็นบุตรชายคนเดียวของตระกูล ทั้งนี้สังเกตได้จากการที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีปราสาทอยู่ใน ๓ ฤดูนั้นเป็นเครื่องบ่งบอกได้อย่างดีว่า บิดาของท่านมีฐานะอยู่ในระดับเศรษฐี ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องบ่งบอกถึงตัวท่านเองว่ามีความสำคัญต่อตระกูล และเป็นที่โปรดปรานของบิดามารดาเพียงใด นอกจากนั้นท่านยังมีเพื่อนวัยเดียวกันอยู่มากมาย

๏ การออกบวชและบรรลุธรรม

ยสะได้บวชในพระพุทธศาสนาในปีเดียวกับพระปัญจวัคคีย์ โดยออกบวชหลังพระปัญจวัคคีย์ไม่นาน ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน นั้นเอง พระไตรปิฎกเล่าถึงวันที่ท่านออกบวชไว้ว่า

เมื่อฤดูฝนมาถึงยสะได้มาอยู่ที่ปราสาทประจำฤดูนั้นพร้อมด้วยนางระบำจำนวนมาก ท่านมีความสุขอยู่ท่ามกลาง เสียงดนตรีขับกล่อม ชีวิตเป็นดังนี้เรื่อยมา จนอยู่มาในค่ำวันหนึ่งขณะที่บรรดานางระบำกำลังร่ายรำและบรรเลงดนตรีอยู่นั้น ท่านม่อยหลับไปก่อนแล้วมาตื่นขึ้นตอนใกล้รุ่ง ขณะนั้นบรรดานางระบำกำลังนอนหลับใหลไม่ได้สติ แสงสว่างจากประทีปที่ตามไว้ตลอดคืนทำ ให้ท่านมองเห็นภาพนางระบำนอนหลับได้ชัดเจน บางนางมีพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ข้างคอ บางนางมีเปิงมางตกอยู่ที่อก บางนางสยายผม บางนางนอนน้ำลายไหล บางนางนอนละเมอ ท่านเห็นภาพเหล่านี้แล้วมีความรู้สึกเหมือนเห็นซากศพอยู่ในป่าช้า จึงเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายขึ้นมาทันที

“ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” ท่านเปล่งอุทานกับตัวเองพลางสวมรอง เท้าเดินลงจากปราสาทตรงไปยังประตูใหญ่แล้วเลยออกไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

เวลานั้นพระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง พระองค์ทอดพระเนตรเห็นยสะกำลังเดินมาแต่ไกล ทรงทราบดีว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น จึงเสด็จลงจากที่จงกรมมาประทับนั่งบนอาสนะ ยสะเดินเข้ามาใกล้พระพุทธองค์ทุกขณะพลางเปล่งอุทาน “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”


“ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เชิญเถิด ยสะเชิญมาทางนี้ เราจักแสดงธรรมให้เธอฟัง” พระพุทธเจ้าตรัสตอบ พระดำรัสของพระพุทธเจ้าทำให้ยสะเกิดสะดุดใจ ท่านหยุดชะงัก รีบถอดรองเท้า แล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที

เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว พระพุทธเจ้าทรงยกอนุปุพพิกถาขึ้นแสดงให้ท่านฟัง อนุปุพพิกถาคือการแสดงธรรมไปตาม ลำดับธรรมที่แสดงให้ยสะฟังไปตามลำดับนั้น คือ ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ของการออกจากกาม โดยพระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าการให้ทานและการรักษาศีลเป็นความดีที่ฆราวาสทำได้ ซึ่งเมื่อทำแล้วก็ให้ผลเป็นการเกิดในสวรรค์หลังจากตาย และสวรรค์นั้นเป็นแดนที่พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณที่ดีเลิศ แต่ถึงอย่างไรเบญจกามคุณที่ดีเลิศนั้นก็ยังเป็นของต่ำช้าให้โทษ สู้การออกบวชไม่ได้

ยสะฟังธรรมพลางพิจารณาตามไปพลาง จิตที่วุ่นวายเริ่มสงบ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าขณะนี้ท่านมีจิตสงบปราศจากนิวรณ์ ผ่องใสเบิกบานเหมาะสมที่จะฟังธรรมขั้นสูงต่อไป จึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ ให้ฟัง หลังจากฟังธรรมเทศนาจบลง ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผลทันที โดยเกิดความรู้แจ้งว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา

ฝ่ายทางบ้านของยสะ ครั้นรุ่งเช้า เมื่อไม่เห็นยสะเศรษฐีได้ส่งคนออกติดตามไปตามที่ต่างๆ ส่วนเศรษฐีเองก็ได้ออกติดตามด้วย โดยเดินทางมาทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบรองเท้าของบุตรชายวางอยู่ก็จำได้เพราะเป็นรองเท้าทองคำ จึงตามเข้าไปยังที่ที่เขาเชื่อว่าบุตรชายจะอยู่ที่นั่น

พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีเดินมาทางพระองค์ จึงทรงรอต้อนรับอยู่ ครั้นเขาเข้ามาใกล้ พระองค์จึงทรงบันดาลด้วยฤทธิ์ให้บิดากับบุตรชายไม่เห็นกัน และเมื่อเศรษฐีทูลถามว่าเห็นบุตรชายของตนบ้างไหม พระองค์ตรัสตอบว่า เชิญนั่งลงเถิดคหบดี บางทีท่านนั่งอยู่ที่นี่จะได้เห็นบุตรชายท่านก็ได้

เศรษฐีรู้สึกโล่งใจเมื่อได้คำปลอบโยนจากพระพุทธเจ้า จึงถวายบังคมและนั่งลงด้วยอาการสงบ พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถาให้ฟัง จากนั้นทรงแสดงอริยสัจ ๔ ต่อ และเมื่อจบพระธรรมเทศนาเศรษฐีก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบันเช่นเดียวกับยสะบุตรชาย

ฝ่ายยสะ ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้บิดาฟังอยู่นั้น ท่านเองก็ได้พิจารณาตามกระแสพระธรรมเทศนาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจบพระธรรมเทศนาจิตของท่านก็คลายความถือมั่น หลุดพ้นไป จากอาสวะทั้งหลาย ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้นเอง

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงทราบว่ายสะได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ไม่มีสภาพจิตที่จะหวนกลับไปใช้ชีวิตแบบฆราวาสอีกต่อไป จึงทรงคลายฤทธิ์ให้ท่านกับบิดาได้เห็นกัน และครั้นได้เห็นกันแล้วเศรษฐีก็พูดชวนบุตรชายให้กลับบ้านไปอยู่กับมารดาและภรรยาดุจเดิม

ยสะไม่ตอบว่ากระไร ได้แต่ชำเลืองดูพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเข้าพระทัยถึงความรู้สึกของยสะได้ดี จึงตรัสบอกเศรษฐีว่า

“ท่านคหบดี บัดนี้ยสะได้เป็นพระอรหันต์แล้ว จึงไม่สมควรที่จะกลับไปครองเรือนอีกต่อไป”

เนื่องจากตนเองได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว เศรษฐีจึงเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกได้ดี ท่านมิได้รบเร้าอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็สรรเสริญว่า เป็นลาภของบุตรชายที่ได้บรรลุธรรมถึงขั้นอรหัตผล และก่อนกลับได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ไปเสวย พระกระยาหารที่บ้านของตนในวันพรุ่งนี้พร้อมด้วยยสะ

เมื่อเศรษฐีกลับไปแล้ว พระพุทธจ้าก็ทรงบวชให้ยสะตามที่ทูลขอ โดยตรัสว่า

“เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”

จบพระพุทธดำรัส ยสะก็ได้เป็นพระสมบูรณ์แบบในพระพุทธศาสนา และปรากฏชื่อว่า ‘พระยสะ’ นับแต่นั้นมา พระยสะบวชด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกับพระปัญจวัคคีย์ ต่างแต่ว่าท่านได้บรรลุอรหัตผลก่อนบวช ไม่ต้องบำเพ็ญเพียรเพื่อละกิเลสอีกต่อไป พระพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสในตอนท้ายว่า “เพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไปโดยชอบ” อย่างที่ตรัสแก่พระปัญจวัคคีย์

วันรุ่งขึ้นพระยสะได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปโปรดโยมมารดาและภรรยาเก่า ที่บ้านของท่าน พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้บุคคลทั้ง ๒ ฟังจนได้บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยเช่นกัน โยมบิดาของพระยสะได้เป็นอุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนา ส่วนโยมมารดาและภรรยาได้เป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนาเช่นกัน


๏ งานสำคัญ

พระยสะอยู่ในคณะพระธรรมจาริกรุ่นแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๖๐ รูป แต่น่าเสียดายที่ในคัมภีร์ไม่มีกล่าวถึงผลงานของท่านไว้ จึงทำให้เราไม่สามารถทราบได้ว่าท่านเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ที่ใด และมีผลสำเร็จเป็นอย่างไร รวมทั้งเรื่องราวชีวิตบั้นปลายของท่านก็ไม่มีบันทึกไว้ให้ทราบ

อย่างไรก็ตาม พระยสะก็ถือได้ว่าเป็นสาวกสำคัญรูปหนึ่งของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่การออกบวชของท่าน นอกจากทำให้โยมบิดามารดาและภรรยาเก่าได้เป็นอุบาสกอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนาดังกล่าวมาแล้ว ยังเป็นเหตุจูงใจให้บุตรเศรษฐีคนอื่นๆ อีก ๕๔ คน ซึ่งเป็นเพื่อนของท่านออกบวชตาม และได้บรรลุอรหัตผล ซึ่งต่อมาได้รวมอยู่ในคณะพระธรรมจาริกรุ่นแรกด้วย


๏ เอตทัคคะ-อดีตชาติ

พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแต่งตั้งพระยสะไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะท่านมิได้ตั้งจิตปรารถนาตำแหน่งเอตทัคคะไว้ ได้แต่ตั้งจิตปรารถนาเพื่อการบรรลุอรหัตผลเท่านั้น อรรถกถาธรรมบท และอรรถกถาเถรคาถา (ปรมัตถทีปนี) กล่าวถึงชีวิตในอดีตชาติของท่านช่วงที่พบพระพุทธเจ้าสุเมธะ พระพุทธเจ้าสิทธัตถะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะ ไว้ดังนี้

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสุเมธะนั้น ท่านเกิดเป็นพญานาคมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า วันหนึ่งได้นิมนต์ให้เสด็จมายังที่อยู่ของท่านพร้อมด้วยพระสาวก ท่านพร้อมทั้งบริวารได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก รวมทั้งได้ถวายผ้าไตรจีวรให้ครอง จากนั้นได้ตั้งจิตปรารถนาขอให้ได้บรรลุอรหัตผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล พระพุทธเจ้าสุเมธะทรงเห็นด้วยพระญาณว่า ความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงพยากรณ์ว่า

“ในอีก ๓๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์แล้ว จักได้บรรลุอรหัตผล”

ท่านฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าสิทธัตถะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสิทธัตถะนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองสุทัสสนะ และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้นำเอาแก้ว ๗ ประการไปบูชาต้นกรรณิกา อันเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านก็มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากถึงขั้นยอมสละเรือนออกบวชบำเพ็ญสมณธรรม จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนถึงพุทธันดรหนึ่ง

ในช่วงพุทธันดรนั้น ท่านได้เวียนว่ายตายเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์ มีอยู่ชาติหนึ่งท่านเกิดเป็นคนเก็บซากศพ โดยร่วมกับเพื่อน ๕๔ คน เที่ยวเก็บศพไม่มีญาติไปไว้หรือเผาในป่าช้า

วันหนึ่ง ท่านกับเพื่อนพบศพหญิงตายทั้งกลม จึงพร้อมใจกันนำไปเผาในป่าช้า ขณะที่กำลังเผาอยู่นั้นท่านเกิดอสุภสัญญา คือความรู้สึกว่าร่างกายไม่ใช่ของสวยงาม จึงเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง เพื่อนๆ พิจารณาตามที่ท่านเล่าแล้วได้อสุภสัญญาเช่นเดียวกัน นอกจากบอกเพื่อนๆ แล้ว ท่านยังกลับไปบอกบิดามารดาและภรรยาด้วย จนคนเหล่านั้นได้อสุภสัญญาขึ้นมาด้วย

ว่ากันว่าอสุภสัญญาแต่อดีตชาตินั้น ได้เป็นอุปนิสัยปัจจัยให้ท่านออกบวชในชาติปัจจุบัน กล่าวคือ อสุภสัญญาแต่อดีตชาติเกิดขึ้นกระตุ้นเตือนจิต ให้ท่านเห็นบรรดานางระบำที่นอนหลับใหลไม่ได้สติมีสภาพเหมือนซากศพในป่าช้า จึงทำให้ท่านเกิดความเบื่อหน่ายจนต้องออกบวชดังกล่าวแล้ว


๏ วาจานุสรณ์

พระยสะเป็นพระสาวกรูปแรกที่ได้บรรลุอรหัตผลขณะครองเพศฆราวาส และขณะครองเพศฆราวาสท่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกของท่านไว้ ความว่า

ทั้งๆ ที่เนื้อตัวยังหอมกรุ่นด้วยเครื่องลูบไล้
ทั้งๆ ที่ร่างกายยังงามพร้อมด้วยเครื่องประดับ
เราก็ได้บรรลุวิชชา ๓
เราทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้แล้ว


:b8: :b8: :b8:

:b39: ที่มา : :b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มิ.ย. 2022, 09:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
:b8: :b8: :b8: ผนังพระระเบียง วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร
เป็นรูปนูนของพระอสีติมหาสาวก ในท่ายืนประนมมือ
น่าจะมีวัดเดียวแห่งเดียวในประเทศไทย

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b44: พระอสีติมหาสาวก : ความรู้ทั่วไป
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62111

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระปัญจวัคคีย์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62110

:b44: พระอสีติมหาสาวก : พระนาลกะ-พระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62109

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มเพื่อนพระยสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62108

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชฎิล ๓ พี่น้อง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62107

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระอัครสาวก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62106

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นมคธ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62105

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นโกศล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62104

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นสักกะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62103

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระมาณพ ๑๖
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62102

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นวังสะ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62101

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62100

:b44: พระอสีติมหาสาวก : กลุ่มพระต่างแคว้น
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=62099

:b50: :b49: :b50: พระอสีติมหาสาวก
๘๐ พระอรหันตสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ศ.(พิเศษ) ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=18709

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 มิ.ย. 2022, 18:17 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2876


 ข้อมูลส่วนตัว


onion


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร