วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 22:13  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ค. 2012, 12:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


นางมัลลิกา ภริยาพันธุละเสนาบดี
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

=========================

มัลลิกา ที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ ท่าน คือ พระนางมัลลิกา ผู้เป็นพระมเหสีพระเจ้าปเสนทิโกศล กับ นางมัลลิกา ผู้เป็นภริยาของพันธุละเสนาบดี พระสหายสนิทของพระเจ้าปเสนทิโกศล

เรื่องของพระนางมัลลิกา ได้เคยนำมาเล่าขานสู่กันฟังไปแล้ว วันนี้มีถึงเรื่องของนางมัลลิกาอีกท่านที่เหลือ

นางมัลลิกา เป็นธิดาของมัลลกษัตริย์องค์หนึ่ง ได้สมรสกับ “พันธุละ” ซึ่งเป็นโอรสของมัลลกษัตริย์องค์หนึ่งเช่นเดียวกัน ทั้งสองเป็นชาวเมืองกุสินารา

พันธุละเป็นศิษย์สำนักทิศาปาโมกข์รุ่นเดียวกับปเสนทิโกศล แห่งแคว้นโกศล และมหาลิ แห่งแคว้นวัชชี เมื่อจบการศึกษา ต่างก็กลับยังมาตุภูมิ มหาลิแสดงศิลปวิทยาให้เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีชม แต่บังเอิญถูกผู้อิจฉาริษยาแกล้งจนได้รับอุบัติเหตุตาบอดสองข้าง ต่อมาได้เป็นที่ปรึกษาของเหล่าลิจฉวีกุมารทั้งหลาย

ส่วนพันธุละ เมื่อกลับมาตุภูมิแสดงศิลปวิทยาอวดชาวกุสินารา ถูกแกล้งเช่นเดียวกับมหาลิ แต่ไม่ถึงกับได้รับอุบัติเหตุ แต่ผลการแสดงศิลปวิทยาคราวนั้นไม่สำเร็จดังใจหวัง จึงตัดสินใจออกจากเมืองกุสินาราพร้อมภรรยา มาพึ่งใบบุญพระสหายเก่าที่เมืองสาวัตถี

พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงสถาปนาพันธุละในตำแหน่งเสนาบดี พันธุละก็รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าปเสนทิโกศลด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

นางมิลลิกาไม่มีบุตรมาเป็นเวลานาน จนพันธุละจะส่งตัวกลับมาตุภูมิ นางคิดว่าก่อนที่จะกลับไป ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อนดีกว่า จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์

พระองค์ตรัสถามว่าจะไปไหน นางกราบทูลว่า “จะกลับยังมาตุภูมิ เพราะไม่สามารถมีบุตรสืบสกุลได้”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ถ้าเธอจะกลับบ้านเพราะเหตุเพียงแค่นี้ เธอไม่ต้องกลับ”

นางคิดว่า เมื่อพระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้ แสดงว่าเราจะต้องมีบุตรแน่นอน จึงกลับไปบอกสามี พันธุละดีใจ ไม่คิดจะส่งภรรยากลับมาตุภูมิอีกต่อไป

ไม่นานนางก็ตั้งครรภ์ เกิดแพ้ท้อง อยากอาบและดื่มน้ำในสระโบกขรณี อันเป็นสระมงคลและหวงห้ามของกษัตริย์ลิจฉวีเมืองไพศาลี


พันธุละจึงอุ้มนางขึ้นรถม้า ห้อตะบึงเข้าไปยังเมืองไพศาลี ตรงไปยังสระโบกขรณี ถือแส้หวายหวดเหล่าทหารผู้อารักขาสระน้ำแตกกระจาย ตัดข่ายโลหะให้ภรรยาลงไปอาบและดื่มน้ำในสระแล้วก็อุ้มขึ้นรถม้ากลับ พวกลิจฉวีพอทราบว่าผู้บุกรุกเข้าใกล้สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ก็พากันติดตาม

มหาลิได้ยินเสียงรถและฝีเท้าม้าก็รู้ทันทีว่าเป็นพันธุละ สหายของตน จึงห้ามเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีไม่ให้ติดตาม เพราะจะเป็นอันตราย แต่พวกนั้นหาฟังไม่

พันธุละสั่งภรรยาว่า ถ้ารถม้าที่ตามมาปรากฏเป็นแนวเดียวกันเมื่อใดให้บอก เมื่อรถม้าปรากฏเป็นแนวเดียวกันแล้ว มัลลิการ้องบอกสามี

พันธุละจึงน้าวคันธนูปล่อยลูกศรออกไปด้วยความแรง ลูกศรออกจากแล่งด้วยความเร็วทะลุหัวใจของพวกลิจฉวีล้มลง สิ้นชีวิตพร้อมกัน


ต่อมา นางมัลลิกาให้กำเนิดบุตรชายฝาแฝดสิบหกครั้ง (รวมเป็น ๓๒ คน) บุตรทั้งหมดเจริญเติบโต เรียนศิลปวิทยาสำเร็จ และได้แต่งงานมีครอบครัวทุกคน และต่างก็รับราชการสนองคุณประเทศดุจบิดาของตน

อยู่มาวันหนึ่ง พันธุละเสนาบดีได้ทราบว่า เหล่าตุลาการวินิจฉัยด้วยความไม่ยุติธรรม จึงนั่งว่าคดีเสียเอง โดยให้ความยุติธรรมแก่เจ้าทุกข์ ทำให้ประชาชนแซ่ซ้องสาธุการไปทั่ว ความทราบถึงพระกรรณพระราชา พระองค์จึงทรงมอบหน้าที่วินิจฉัยคดีแก่พันธุละอีกตำแหน่งหนึ่ง

พวกตุลาการที่หลุดจากตำแหน่งก็หาทางเล่นงานพันธุละ เมื่อสบช่องโอกาสจึงกราบทูลยุยงพระราชาว่า พันธุละคิดการใหญ่ถึงขั้นก่อการกบฏ

แรกๆ พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงเชื่อ แต่เมื่อมีผู้เพ็ดทูลบ่อยเข้า จึงทรงคลางแคลงพระทัย หาอุบายกำจัดพันธุละ ให้พันธุละพร้อมบุตรชายทั้งหมดไปปราบโจรที่ชายแดน แล้วส่งทหารไปดักฆ่ากลางทางทั้งหมด


วันที่สามีและบุตรชายทั้ง ๓๒ คนถูกฆ่า นางมัลลิกากำลังถวายภัตตาหารแก่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งที่คฤหาสน์ของตน มีผู้นำจดหมายด่วนมาแจ้งข่าวร้าย

นางนิ่งอึ้งไปพักใหญ่ แต่ก็สู้อดกลั้นความเศร้าโศกไว้ เพราะกำลังทำบุญเลี้ยงพระอยู่ เหน็บจดหมายไว้ที่ชายพก แล้วสั่งให้ยกอาหารมาถวายพระ

สาวใช้ถือถาดเนยใสเข้ามา ทำถาดตกแตกต่อหน้าพระสารีบุตรเถระ พระเถระเจ้าจึงกล่าวเตือนว่า “ของที่แตกได้ก็แตกแล้ว ไม่ควรคิดอะไรมาก”

นางมัลลิกานำจดหมายออกจากชายพก แล้วกราบเรียนท่านว่า “ดิฉันได้ข่าวว่าสามีและบุตรชายทั้งหมดถูกฆ่าตายแล้ว ยังอุตส่าห์ข่มความโศกไว้ได้ เพียงถาดเนยใสแตกใบเดียว ดิฉันไม่คิดอะไรดอกเจ้าค่ะ”

พระสารีบุตรอัครสาวกเมื่อรู้ข่าว จึงเทศนาปลุกปลอบจิตนางมิลลิกาว่าชีวิตของสัตว์โลกนี้ไม่มีนิมิตหมาย (รู้ไม่ได้ว่าจะตายเมื่อใด ตายด้วยอาการอย่างไร ที่ไหน) ชีวิตนั้นสั้นนัก เป็นอยู่ลำบาก และประกอบด้วยทุกข์ จึงไม่ควรประมาท”


นางมิลลิกาเรียกสะใภ้ทั้ง ๓๒ คนมาแจ้งข่าวและให้โอวาทว่า สามีของพวกนางไม่มีความผิด แต่ได้รับผลกรรมแต่ชาติปางก่อน ไม่ควรเศร้าโศกเกินเหตุ

และที่สำคัญที่สุด ไม่ควรผูกอาฆาตพยาบาทต่อผู้กระทำ ไม่ว่าใครก็ตาม


จารบุรุษ (ผู้สอดแนม) ที่พระราชาส่งมาดูลาดเลา ได้นำความไปกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล ท้าวเธอจึงทรงทราบความจริงว่า พระองค์ได้ผิดต่อพระสหายและบุตรของเขาผู้ไม่มีความผิดเสียแล้ว ทรงเสียพระทัยมาก ทรงจัดพิธีศพพันธุละและบุตรทั้ง ๓๒ คนอย่างสมเกียรติ

ต่อมาก็ได้สถาปนา ทีฆการายนะ หลานคนเดียวของพันธุละในตำแหน่งเสนาบดีสืบแทนเพื่อ “ไถ่บาป” ของพระองค์

ทีฆการายนะไม่เคยลืมสิ่งที่ลุงและน้องๆ ของตนถูกกระทำ เมื่อสบโอกาสจึงยุยงพระราชโอรสของพระราชา (เจ้าชายวิฑูฑภะ) ยึดราชสมบัติ ขณะที่พระราชกำลังจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อกลับเข้าเมืองไม่ได้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงขึ้นม้าหนีไปหมายจะขอกำลังจากพระเจ้าหลาน “อชาตศัตรู” ให้มาช่วย แต่เมื่อเข้าเมืองราชคฤห์ไม่ได้ จึงนอนสิ้นพระชนม์อยู่หน้าประตูเมืองราชคฤห์นั้นเอง


นางมัลลิกาหลังจากเสียสามีและบุตรชาย จึงกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตพาบรรดาสะใภ้หม้ายกลับไปยังกุสินารา เมืองมาตุภูมิ

นางมัลลิกาเป็นตัวอย่างของสตรีที่เข้าถึงธรรม นางเป็นคนเข้าใจโลกและชีวิต รู้จักอดกลั้นในความทุกข์โศก เมื่อชีวิตกระทบกับความไม่แน่นอนอย่างรุนแรง นอกจากนั้น ยังเมตตากรุณาเป็นอย่างยิ่ง

สามีและลูกๆ ถูกฆ่าตายทั้งที่ไม่มีความผิดและรู้ว่าต้นเหตุมาจากใครก็ไม่ผูกพยาบาท ยังสอนสะใภ้ทั้งหลายไม่ให้พยาบาทอีกด้วย

นับว่าเป็นสตรีชาวพุทธตัวอย่างที่ดีคนหนึ่ง



:b8: คัดบางตอนมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


=========================

:b45: พระนางมัลลิกา พระนางเทวีผู้ชาญฉลาด
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7411

:b45: อุบาสิกา ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46456

:b44: “กุสินารา” อนุสรณ์สถานแห่งการปรินิพพาน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=50867


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2015, 16:47 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระนางมัลลิกา ที่มีบทบาทสำคัญในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ คน คนหนึ่งเป็นธิดาของนายมาลาการ (ช่างทำดอกไม้) ในเมืองสาวัตถี ต่อมาได้เป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระนางมัลลิกาอีกคนหนึ่งเป็นธิดาของมัลลกษัตริย์องค์หนึ่ง ในเมืองกุสินารา ภายหลังได้สมรสกับพันธุละเสนาบดี ซึ่งพระนางมัลลิกาที่จะศึกษาในที่นี้ หมายถึง พระนางผู้เป็นภรรยาของพันธุละเสนาบดี

พระนางมัลลิกา เป็นราชธิดาของมัลลกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ในเมืองกุสินาราแห่งแคว้นมัลละ พระนางเป็นหญิงเบญจกับยาณีที่มีความงามพร้อมทุกสัดส่วน คือ มีผมงาม ริมฝีปากงาม ฟันงาม ผิวพรรณงาม และวัยงาม

เมื่อเจริญวัย พระนางมัลลิกาก็ได้สมรสกับเสนาบดีพันธุละ โอรสของมัลลกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งในเมืองกุสินาราเช่นกัน จากนั้นได้พากันอพยพไปอยู่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เพื่อไปพึ่งบารมีพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เป็นพระสหายสนิท พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่า เสนาบดีพันธุละ พระสหายมีฝีมือในการทำสงคราม จึงโปรดแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีบัญชาการกองทัพ

เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประกาศพระศาสนา ณ แคว้นโกศล ทำให้ศาสนาได้แพร่หลายที่เมืองสาวัตถี ประชาชนพากันนับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ได้มีการสร้างวัดพระพุทธศาสนาขึ้น ๒ วัด คือ วัดเชตวัน สร้างถวายโดยอนาถบิณฑิกเศรษฐี และวัดบุพพาราม สร้างถวายโดยนางวิสาขา เสนาบดีพันธุละและพระนางมัลลิกาได้มีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้าและได้นับถือพระพุทธศาสนาจากวัดทั้งสองแห่งนี้

เสนาบดีพันธุละและพระนางมัลลิกาได้สมรสกันแล้วหลายปี แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน ตามธรรมเนียมอินเดียสมัยนั้นถืออย่างเคร่งครัดว่า ถ้าสตรีใดไม่มีบุตรกับสามี สตรีนั้นเป็นอัปมงคล เสนาบดีพันธุละจึงส่งพระนางมัลลิกากลับเมืองกุสินารา การส่งพระนางมัลลิกากลับนั้นเท่ากับไม่ยอมรับความเป็นภรรยาสามี

พระนางมัลลิกาจึงยอมกลับบ้านเมืองของตน ก่อนกลับให้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าที่เชตวัน พระพุทธเจ้าตรัสถาม ทรงทราบความจริงแล้วตรัสแก่พระนางมัลลิกาว่า

ไม่ต้องกลับไปบ้านหรอก กลับไปอยู่กับท่านเสนาบดีพันธุละเถิด

เสนาพันธุละได้เห็นพระนางมัลลิกากลับมา จึงถามว่า กลับมาทำไม เมื่อพระนางมัลลิกาเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังแล้ว เสนาพันธุละจึงรำพึงว่า พระพุทธเจ้าคงเห็นการณ์ไกลบางอย่าง จึงให้พระนางมัลลิกากลับ เสนาบดีพันธุละจึงรับพระนางมัลลิกาไว้เป็นชายาตามเดิม

ต่อมาไม่นานนัก พระนางมัลลิกาได้ตั้งครรภ์ เมื่อครบกำหนดแล้วคลอดบุตรแฝดเป็นชายทั้งคู่ เสนาบดีพันธุละกับพระนางมัลลิกาอยู่ร่วมกัน มีบุตรชายรวม ๓๒ คน ล้วนแฝดทั้งสิ้น เมื่อทุกคนเติบโตก็ได้รับการศึกษาเล่าเรียน และได้เข้ารับราชการทหารในกองทัพ


เสนาบดีพันธุละ เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นคนซื่อตรง จนได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าปเสนทิโกศลให้เป็นผู้มีหน้าที่ปราบปรามข้าราชการที่ทุจริต ซึ่งเสนาบดีพันธุละได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี เป็นที่เคารพเชื่อถือของประชาชนทั่วไป แต่การปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามข้าราชการที่ทุจริตคดโกงนี้ได้ทำให้เสนาบดีพันธุละมีศัตรูมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการที่สูญเสียผลประโยชน์และอำนาจ จึงได้ยุยงและใส่ความว่า เสนาบดีพันธุละคิดจะแย่งอำนาจราชบัลลังก์จากพระเจ้าปเสนทิโกศล

ครั้งแรกพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงไม่เชื่อ แต่หนักๆ เข้าก็มีพระทัยหวั่นไหว ทั้งนี้เพราะได้สังเกตเห็นความนับถือของประชาชนชาวเมืองที่มีต่อเสนาบดีพันธุละ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงให้คณะนายทหารวางแผนฆ่าเสนาบดีพันธุละ พร้อมกับบุตรชายทุกคนที่เป็นนายทหาร

พระนางมัลลิกาทรงทราบข่าวร้ายจากผู้ที่หวังดีที่แอบเขียนจดหมายส่งข่าวมาบอกว่า สามีและบุตรชายของนางทุกคนถูกฆ่าตาย ซึ่งในขณะนั้นพระนางมัลลิกากำลังทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน การทำบุญเลี้ยงพระในครั้งนั้น พระนางมัลลิกาได้นิมนต์พระสารีบุตรมาเป็นประธานสงฆ์ ขณะที่กำลังทำบุญเลี้ยงพระอยู่นั้น หญิงรับใช้ได้ยกถาดอาหารออกมาเพื่อจะถวายพระสารีบุตร แล้วหกล้ม ทำให้ถาดอาหารหลุดมือตกลงแตกกระจายต่อหน้าพระสารีบุตรและพระนางมัลลิกา พระสารีบุตรจึงกล่าวเป็นทำนองให้สติพระนางมัลลิกาว่า สิ่งของแตกสลายเป็นเรื่องธรรมดา มันแตกสลายไปแล้วก็ช่างเถอะ อย่าได้คิดเสียใจเลย

เมื่อพระนางมัลลิกาได้ยินพระสารีบุตรกล่าวดังนั้น ก็ได้หยิบจดหมายลับซึ่งแจ้งข่าวร้ายเกี่ยวกับการตายของสามีและลูกๆ ของนางออกมาอ่านให้พระสารีบุตรฟัง พร้อมกับกล่าวว่า สิ่งของที่แตกสลายนี้ดิฉันทำใจได้ ไม่คิดเสียใจแต่อย่างใด แม้แต่ข่าวร้าย คือ การตายของพระสวามีและลูกๆ ของดิฉันยังทำใจได้ไม่เสียใจเลย

เมื่อพระสารีบุตรพร้อมด้วยพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วได้กล่าวอนุโมนทาแก่พระนางมัลลิกาว่า ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ไม่มีเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ได้ ทั้งลำบาก ทั้งอายุสั้น ซ้ำเต็มไปด้วยความทุกข์

ภายหลังทำบุญเลี้ยงพระเสร็จแล้ว พระนางมัลลิกาได้เรียกลูกสะใภ้ทุกคนมา และเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง พร้อมกับสอนลูกสะใภ้ว่า พวกเจ้าอย่าได้พยาบาทอาฆาตพระเจ้าปเสนทิโกศล ขอให้คิดว่าบิดาและสามีของพวกเจ้าต้องตายครั้งนี้ไม่มีความผิด เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ตายเพราะถูกคำยุยง เนื่องมาจากความอาฆาตริษยา ขอให้คิดว่าบิดาและสามีของพวกเจ้าตายเพราะกรรมเก่าที่เคยทำมาก่อน ขอให้พวกเจ้าทุกคนอย่าได้โกรธและอาฆาต เพราะจะเป็นเวรติดตัวต่อไปอีก ขอให้อภัยแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล

เมื่อเสนาบดีพันธุละและบุตรชายทั้งหมดถูกฆ่าตายแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ส่งหน่วยสืบราชการลับติดตามความเคลื่อนไหวของพระนางมัลลิกาทุกฝีก้าว ทรงทราบเรื่องพระนางมัลลิกาทำบุญเลี้ยงพระ และเรื่องที่พระนางมัลลิกาประชุมลูกสะใภ้ที่บ้าน เพื่อให้อภัยแก่พระองค์ พระองค์ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก แต่ก็สายเสียแล้ว พระองค์จึงเสด็จไปที่บ้านของพระนางมัลลิกา แล้วทรงสารภาพว่าพระองค์เป็นฝ่ายผิด ขอให้พระนางมัลลิกายกโทษให้ พร้อมกับพระราชทานโอกาสแก่พระนางมัลลิกาว่าต้องการอะไรขอให้บอก จะพระราชทานให้ทุกอย่าง พระนางมัลลิกาจึงฉวยโอกาสขอพระราชทานอนุญาตกกลับไปเมืองกุสินารา บ้านเดิมของตน

พระเจ้าปเสนทิโกศลจำต้องพระราชทานโดยไม่เต็มพระทัยนัก แต่เพื่อชดเชยกับเรื่องนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้ทรงแต่งตั้งนายทหารผู้หนึ่งชื่อ ทีฆการายนะ ซึ่งเป็นหลานชายของเสนาบดีพันธุละขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่สืบแทนตำแหน่งของเสนาบดีพันธุละ

พระนางมัลลิกาและลูกสะใภ้ได้กลับมาอยู่ที่เมืองกุสินาราด้วยความผาสุก โดยวางใจตั้งมั่นอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองกุสินาราและเสด็จปรินิพพานที่นั้น พระนางมัลลิกาและลูกสะใภ้ก็ได้พากันไปนมัสการพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าด้วย พระนางมัลลิกาได้อยู่ที่เมืองกุสินาราด้วยความสุขจนสิ้นชีวิต

:b44: คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

เป็นสาวิกาที่ดีของพระพุทธเจ้า ข้อนี้เห็นได้ชัดจากกรณีที่พระนางมัลลิกาถูกสามีส่งกลับบ้านเกิด เพราะไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ ก็คิดถึงพระพุทธเจ้าก่อนอื่น นี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่า คนเรานั้นต้องมั่นคงในพระรัตนตรัย ก่อนจะทำอะไรก็ให้ “นึกถึงพระ” ก่อน แล้วโอกาสจะทำผิดพลาดย่อมมีน้อย หรือไม่มีเลย

เข้าใจโลกและชีวิต พระนางมีความเข้าใจธรรมดาของโลกและชีวิตเป็นอย่างดี คือเข้าใจว่าทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาติ เมื่อเข้าใจเช่นนี้ย่อมมีจิตปล่อยวาง ไม่ดีใจเกินไปเมื่อมีสุข ไม่เสียใจเกินไปเมื่อมีทุกข์ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อทราบว่าสามีและบุตรถูกฆ่า พระนางยังคงมีจิตใจมั่นคง ไม่แสดงอาการเศร้าโศกให้ปรากฏ

เป็นผู้ที่มีความอดทน จากตัวอย่างข้างต้นแสดงว่าพระนางมีขันติธรรมสูงยิ่ง เสมือนหนึ่งว่าไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น สู้อดกลั้นความเสียใจ ยังคงปฏิบัติหน้ที่คือการเลี้ยงภัตตาหารแด่พระสงฆ์ตามปกติ

เป็นผู้มีใจกว้าง มีความเมตตาสูงยิ่ง สามีและบุตรถูกฆ่าตายทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด พระนางแม้จะมีความเสียใจ เสียดาย แต่ก็ทำใจได้ ไม่ผูกอาฆาตพยาบาทผู้เป็นเหตุให้พวกเขาตาย และยังสั่งสอนให้สะใภ้ทั้ง ๓๒ คน ไม่ให้ผูกอาฆาตพยาบาทด้วย ให้ถือว่าเป็นผลกรรมของแต่ละคนที่ทำมา นับว่าเป็นผู้มีเมตตากรุณาแท้จริง น้อยคนจะทำได้อย่างนี้

เป็นภรรยาที่ดี แม้ถูกสามีส่งกลับมาตุภูมิเพราะหาว่าเป็นหมัน พระนางก็ยินดีปฏิบัติตาม ทั้งๆ ที่การที่สามีและภรรยาแต่งงานกันแล้วไม่มีบุตรนั้น ยังไม่แน่ว่าเป็นความบกพร่องของใคร อาจจะเป็นความบกพร่องของสามีก็ได้ แต่พระนางก็ยอมรับว่าตนบกพร่อง นับเป็นภรรยาที่ดีตามคติของชาวชมพูทวีปสมัยโบราณ ปัจจุบันคุณสมบัติข้อนี้ถึงเราจะไม่นำมาใช้ทั้งหมด ก็สามารถปรับใช้ได้ในประเด็นที่ว่า เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นในครอบครัว ภรรยาหรือสามีก็ไม่ควรโทษแต่ฝ่ายหนึ่งแต่อย่างเดียว ควรหันมาพิจารณาตนเองด้วยว่าตนเองก็อาจมีข้อบกพร่องอะไรที่ควรปรับปรุงบ้าง เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น



:b8: ที่มา : http://jiab007.wordpress.com/2011/04/01

=========================

:b45: พระนางมัลลิกา พระนางเทวีผู้ชาญฉลาด
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7411

:b45: อุบาสิกา ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46456


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2019, 09:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร