วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 23:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2015, 09:09 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระเจ้าสุทโธทนะ สมเด็จพระพุทธบิดา
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
=========================

พระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสีหนุ และพระนางกัญจนา กษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ เมืองเล็กๆ อยู่ที่เชิงเขาหิมาลัย ชมพูทวีป กษัตริย์แห่งสองนครพี่น้องกัน คือ กษัตริย์ศากยวงศ์ และกษัตริย์โกลิยวงศ์ ตั้งเมืองอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำสายหนึ่ง ชื่อ โรหิณี

ทั้งสองพระนครยังชีพด้วยเกษตรกรรมเป็นหลัก เพราะฉะนั้นพระนามของเจ้านายในราชวงศ์ โดยเฉพาะราชวงศ์ศากยะจะลงท้ายด้วยคำว่า “โอทนะ” เป็นส่วนใหญ่ เช่น สุทโธทนะ (ข้าวบริสุทธิ์) อมิโตทนะ (ข้าวนับไม่ถ้วน) โธโตทนะ (ข้าวขัดแล้ว) สุกโกทนะ (ข้าวขาว)

พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงมีพระอัครมเหสีพระนามว่า มายา หรือ สิริมหามายา มีพระราชโอรสพระนามว่า สิทธัตถะ

หลังจากพระราชโอรสประสูติได้ ๗ วัน พระนางสิริมหามายาก็สวรรคต พระเจ้าสุทโธทนะได้สถาปนา พระนางปชาบดีโคตมี พระกนิษฐาของพระนางสิริมหามายาขึ้นเป็นพระอัครมเหสีสืบแทน

เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในความเลี้ยงดูของพระ “น้านาง” จนเติบใหญ่ และมีพระอนุชาและพระกนิษฐาอันประสูติแต่พระน้านาง ๒ พระองค์ คือ เจ้าชายนันทะ และ เจ้าหญิงรูปนันทา


โหราจารย์ทำนายพระลักษณะและอนาคตของเจ้าชายสิทธัตถะว่า ถ้าอยู่ในเพศผู้ครองเรือน ก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีกฤดาภินิหารเป็นที่ยำเกรงของแคว้นน้อยใหญ่ ถ้าเสด็จออกผนวชก็จะได้เป็นพระศาสดาเอกในโลก เผยแพร่สัจธรรมที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน

โดยเฉพาะโหรผู้มีอายุน้อยที่สุดในคณะนามว่า โกณฑัญญะ ทำนายด้วยความมั่นใจว่าเจ้าชายจะเสด็จออกบวช และจะได้เป็นพระศาสดาแน่นอน พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะมิให้เจ้าชายเกิดความคิดเบื่อหน่ายในการครองเรือนถึงกับสละโลก จึงทรงปรนเปรอพระราชโอรสด้วยความสุขสนุกบันเทิงต่างๆ เช่น สร้างปราสาทสามหลังสวยหรูสำหรับประทับสามฤดู พยายามไม่ให้เจ้าชายได้ทอดพระเนตรเห็นภาพที่ไม่น่าดู เช่น ความทุกข์ยากของประชาชนพลเมือง อันจักกระตุ้นให้พระราชโอรสเกิดความสลดพระทัยแล้วเสด็จออกผนวช


จึงเกิดมีสิ่งที่เรียกกันบัดนี้ว่า การ “เคลียร์พื้นที่” เมื่อจะทรงอนุญาตให้พระราชโอรสออกไปนอกประตูวัง ก็จะทรงรับสั่งให้ “เคลียร์พื้นที่” ให้หมด ไม่ให้ภาพอันจะก่อให้เกิดความสลดสังเวชพระทัยเกิดขึ้น ให้ทอดพระเนตรเห็นแต่ภาพอันสวยๆ งามๆ

การณ์ก็เป็นไปด้วยดี แต่วันดีคืนดีเจ้าชายก็ได้ทอดพระเนตรเห็นภาพแห่งความเป็นจริงจนได้ เมื่อพระองค์พร้อมด้วยมหาดเล็กสนิท นามว่า ฉันนะ ลอบออกไปนอกพระราชวัง ได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะตามลำดับ คง “หนีเที่ยว” หลายครั้ง จึงได้เห็นสิ่งเหล่านั้น มิใช่เห็นทีเดียวครบ ๔ อย่าง

เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสลดพระทัยว่า คนเราเกิดมาทุกคนย่อมแก่ เจ็บ และตายอยู่อย่างนี้ ตราบเท่าที่ยังไม่ตัดวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ โลกนี้จึงเป็นทุกข์อย่างแท้จริง

เมื่อ “ได้คิด” ขึ้นมาอย่างนี้ ก็คิดเปรียบเทียบว่าสรรพสิ่งย่อมมีคู่กัน เมื่อมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ดุจเดียวกับมีมืดก็มีสว่าง มีร้อนก็มีเย็น ฉะนั้น ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะผู้สงบ ก็ทรงคิดว่าการดำเนินวิถีชีวิตอย่างท่านผู้นี้น่าจะเป็นทางพ้นจากความทุกข์นี้ได้ จึงตัดสินพระทัยเสด็จผนวช จวบกับได้รับทราบข่าวการประสูติของพระโอรสน้อย ก็ยิ่งต้องรีบตัดสินพระทัยแน่วแน่จะออกผนวชให้ได้ เพราะถ้ารอช้า ความรักความผูกพันในพระโอรสจะมีมากขึ้น ไม่สามารถปลีกพระองค์ออกไปได้

ดังได้ทรงเปล่งอุทานทันทีที่ได้สดับข่าวนี้ว่า “บ่วง (ราหุล) เกิดแล้ว พันธนาการเกิดแล้ว” อันเป็นที่มาของพระนามแห่งพระโอรส

:b10: :b10: คำถามที่คนสมัยนี้มักจะถามก็คือ เจ้าชายสิทธัตถะทิ้ง “ลูกเมีย” ออกบวชเพื่อหาความสำเร็จส่วนตน ทั้งๆ ที่พระโอรสก็เพิ่งประสูติ ดูเป็นการเห็นแก่ตัว บางท่านก็ว่าแรงขนาดว่า เจ้าชายสิทธัตถะไม่รับผิดชอบครอบครัว อะไรไปโน่น ก็ใคร่ตอบสั้นๆ ดังนี้

๑. ต้องไม่ลืมว่า เจ้าชายสิทธัตถะมิใช่คนธรรมดาอย่างพวกเรา ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ เป็น “นิตยโพธิสัตว์” (พระโพธิสัตว์ผู้แน่นอนว่าจะต้องตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) ทรงบำเพ็ญบารมีจนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

๒. พระโพธิสัตว์ได้ตั้งปณิธานไว้ว่า จะช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากห้วงแห่งทุกข์ คือ การเวียนว่ายตายเกิด แต่การจะช่วยสัตว์ทั้งหลายได้ พระองค์ต้องทำตนให้พร้อมที่จะช่วยได้ การบำเพ็ญบารมีนั้น คือ การเตรียมความพร้อมในเบื้องต้น

๓. จากนั้นพระโพธิสัตว์ก็จะต้องทำความเพียร เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจึงจะเรียกว่าพร้อมโดยสมบูรณ์ ที่จะช่วยสัตว์โลกได้ ถ้าหากพระโพธิสัตว์ไม่เสด็จออกผนวช ภาระหน้าที่นี้ก็ยังไม่ได้กระทำ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเสด็จออกผนวช

๔. การเสด็จออกผนวชของพระองค์นั้น แทนที่จะคิดอย่างปุถุชนผู้โง่เขลา ควรจะพิจารณาด้วยเหตุผลของวิญญูชนว่า เป็นการเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ เป็นพระมหากรุณาอย่างใหญ่หลวง และเป็นความรับผิดชอบอย่างยิ่งใหญ่

๕. ถ้าหากพระองค์ไม่เสด็จออกผนวช พระองค์ก็ช่วยได้เฉพาะ “ลูกเมีย” ของพระองค์และบ้านเมืองของพระองค์เท่านั้น แต่เมื่อเสด็จออกผนวชเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์มิเพียงแต่ช่วยบ้านเมืองของพระองค์เท่านั้น หากทรงช่วยโลกและคนทั้งโลกอีกด้วย อย่างนี้จะว่าเป็นการเห็นแก่ตัว หรือไม่รับผิดชอบครอบครัวกระไรได้


ลองคิดให้ดีให้ลึกแล้วจะเห็นว่า การเสด็จออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะเป็นกิจกรรมของผู้เสียสละอย่างใหญ่หลวง และของผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยพระกรุณายิ่งใหญ่เพียงใด

และที่พวกเราได้มีบุญวาสนาได้สืบทอดพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์มาจนบัดนี้ มิใช่เพราะมหากรุณานั้นดอกหรือครับ


:b39: ข้อคิดอีกประการหนึ่งก็คือ ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะจึงเพิ่งจะทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คน (คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ) เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ก่อนหน้านั้นไม่เห็นหรือ

คำตอบก็คือ ก่อนหน้านั้นก็เห็นด้วยตาเนื้อธรรมดา ไม่ได้เห็นด้วยตาใน (คือปัญญา) เห็นก็เท่ากับไม่เห็น แต่เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระองค์ก็ได้ “เห็นด้วยปัญญา”


ความจริงจะเขียนเรื่องพระเจ้าสุทโธทนะ ไปๆ มาๆ กลายเป็นพุทธประวัติจนได้ ทั้งนี้ ก็เพราะพุทธประวัติบางตอนมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เช่น เหตุการณ์เสด็จออกผนวช ที่กล่าวมาข้างต้น แม้กระทั่งการกระทำของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ที่พระราชทานชายาและพระโอรส เด็กรุ่นใหม่บอกว่า “รับไม่ได้” ก็น่าจะนำมาพูดกันเพื่อความเข้าใจ หาไม่พวกเราจะบาปหนาที่ไปกล่าวหาพระโพธิสัตว์ด้วยความโง่เขลาของเราเอง :b5:

หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช พระเจ้าสุทโธทนะทรงเสียพระทัยมาก เพราะทรงหวังจะให้พระราชโอรสครองราชย์เป็นเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่

ด้วยความรักความห่วงใยในพระราชโอรส พระองค์ก็ทรงส่งคนไปติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวตลอด

เมื่อทรงทราบว่าพระราชโอรสได้ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ส่งคณะทูตไปอัญเชิญเสด็จนิวัติพระนครครั้งแล้วครั้งเล่า ว่ากันว่าทำถึง ๙ คณะ แต่ก็ไม่มีคณะไหนสำเร็จ

ครั้งสุดท้ายพระองค์ทรงส่งกาฬุทายี อำมาตย์ผู้เป็นสหชาติกับพระพุทธองค์ เพื่ออัญเชิญเสด็จเมืองมาตุภูมิให้จงได้ กาฬุกายีกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตบวชก่อนแล้วจะอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้ามาให้จงได้ ก็ได้รับพระราชทานอนุญาต

คราวนี้พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาของพระกาฬุทายี เพราะทรงเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรแล้วที่จะเสด็จนิวัติพระนครมาตุภูมิ เพื่อโปรดพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จออกจากพระนครราชคฤห์ไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ ไปประทับอยู่ที่สวนไทร (นิโครธาราม) นอกพระนคร

พระเจ้าสุทโธทนะและบรรดาพระประยูรญาติต่างก็มาเฝ้าพระพุทธองค์ พระญาติผู้ใหญ่บางพวกมีทิฐิมานะอยู่ แสดงความกระด้างกระเดื่อง ไม่ถวายบังคม เพราะถือว่าเจ้าชายสิทธัตถะเป็นผู้อ่อนชนมายุพรรษากว่าตน

พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้ฝนเม็ดหยาบสีแดงเรื่อตกลงท่ามกลางมหาสันนิบาต อันเรียกว่า “ฝนโบกขรพรรษ” สร้างความประหลาดมหัศจรรย์แก่มหาสันนิบาตเป็นอย่างยิ่ง คือ ใครใคร่จะเปียกจึงเปียก ใครไม่อยากให้เปียกก็ไม่เปียก พระพุทธองค์ทรงแสดงมหาเวสสันดรชาดกแก่ประชุมพระประยูรญาติ

ถ้าอยากให้ยาวก็ต้องสรุปเนื้อหาของพระเวสสันดรชาดก และวิเคราะห์ประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อความกระจ่างดีบ่ครับ

มหาเวสสันดรชาดกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ที่ประชุมพระประยูรญาติหลังจากฝนโบกขรพรรษได้ตกลงมา เป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์นามว่า เวสสันดร ผู้บำเพ็ญทานบารมีอันเป็นบารมีสุดท้ายในสิบบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาในชาติต่างๆ พร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโอกาสต่อไป

เรื่องราวย่อๆ (ดังชาวพุทธไทยส่วนมากทราบกันดีแล้ว) มีว่า

พระโพธิสัตว์ ถือกำเนิดเป็นพระราชโอรสพระเจ้าสัญชัย และพระนางผุสดีแห่งนครสีพี มีพระนามว่า เวสสันดร (ว่ากันว่าประสูติที่ตรอกพ่อค้า ขณะพระราชมารดาเสด็จประพาสพระนคร) เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ก็ได้อภิเษกสมรสกับพระนางมัทที (หรือมัทรี) เจ้าหญิงแห่งแคว้นมัททะ มีพระโอรสและพระธิดา คือ เจ้าชายชาลี กับ เจ้าหญิงกัณหา

พระเวสสันดรได้บริจาคช้างปัจจัยนาค อันเป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง แก่พราหมณ์แคว้นกลิงคะ ชาวเมืองสีพีไม่พอใจ พากันไปร้องเรียนพระเจ้ากรุงสีพี พระราชบิดา จำต้องทำตามมติของมหาชนให้พระเวสสันดรออกไปจากเมือง

ก่อนจากไป พระเวสสันดรทูลขอโอกาสบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ อันเรียกว่า “สัตตสดกมหาทาน” (คือ ให้ของอย่างละ ๗๐๐ เป็นทาน)

พระเวสสันดรพร้อมทั้งพระชายาและพระโอรสธิดาทั้งสอง เดินทางไปอยู่ ณ เขาวงกต ในป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญภาวนา ณ ปากทางเข้าไปยังนิเวศสถานของพระเวสสันดร มีพรานเจตบุตรได้เฝ้าอารักขาอยู่ เป็นพระราชบัญชาของพระเจ้าเจตราชนคร ใครไปใครมาจะต้องผ่านด่านนี้ก่อน

มีพราหมณ์เฒ่า นามว่า ชูชก ถูกเมียสาวให้ไปหาทาสมารับใช้ เดินทางมาเพื่อจะไปขอเจ้าชายชาลีและเจ้าหญิงกัณหาจากพระเวสสันดรเป็นไปทาส ด้วยรู้ว่าพระเวสสันดรเป็นคนใจบุญ คงจะพระราชทานให้แน่

ผ่านด่านนายพรานเจตบุตรไปได้ด้วยเล่ห์อุบาย ออกปากขอพระโอรสและพระธิดาจากพระเวสสันดรขณะพระนางมัทรีไม่อยู่

ทั้งสองกุมารเมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงพากันหนีไปหลบซ่อนอยู่ในสระ พระเวสสันดรต้องมากล่อมให้เข้าใจจุดมุ่งหมายที่พระราชทานพระโอรสและพระธิดาให้แก่พราหมณ์เพื่อพระโพธิญาณ และจะได้ช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากสังสารทุกข์ มิใช่เพราะไม่รัก “ลูก” ชาลีและกัณหาก็เข้าใจ จึงยินยอมไปกับพราหมณ์

ชูชกพากุมารและกุมารีทั้งสองไปยังเมืองสีพี ด้วยมุ่งหมายจะได้ค่าไถ่มหาศาลจากพระเจ้ากรุงสีพี พระเจ้ากรุงสีพีไถ่พระเจ้าหลานทั้งสองพระองค์ เลี้ยงดูปูเสื่อพราหมณ์เฒ่าอย่างอิ่มหนำสำราญ อิ่มมากจน “ท้องแตก” (อาหารไม่ย่อย) ตาย

หลังจากพระราชทานพระโอรสและพระธิดาแก่ชูชกแล้ว ก็ปรากฏพราหมณ์เฒ่าอีกคนหนึ่งในทันใด เอ่ยปากขอพระนางมัทรี จึงออกปากให้แก่พราหมณ์ ทันทีทันใดนั้นพราหมณ์เฒ่าก็ได้กลายร่างเป็นท้าวสักกเทวราช แจ้งแก่พระโพธิสัตว์ว่ามาลองใจพระเวสสันดร และรู้แล้วว่าพระเวสสันดรนั้นมีพระทัยกว้างขวาง บริจาคได้แม้กระทั่งพระชายาจริงๆ แล้วก็มอบคืนพระชายาดังเดิม

ฝ่ายพระเจ้ากรุงสีพี เมื่อไถ่พระราชนัดดาทั้งสองแล้ว ก็ทรงสำนึกว่าตนได้ทำความลำบากแก่พระราชโอรสและพระราชสุณิสา (สะใภ้) มาก จึงรับสั่งให้เตรียมกระบวนช้าง กระบวนม้า ออกเดินทางไปยังเขาวงกต เพื่อรับทั้งสองพระองค์กลับเมือง

เมื่อทั้งหกพระองค์พบกันอีกครั้งก็สวมกอดกัน ทรงกันแสงพิลาปพิไรจนกระทั่งสิ้นสมประดี

ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมาต้องพระวรกายทั้งหกพระองค์ก็ได้สติฟื้นคืนมา จากนั้นพระเจ้ากรุงสีพีก็ตรัสบอกพระราชโอรสให้ “ลาพรต” พาพระชายาเสด็จนิวัติพระนครสีพีดังเดิม

มหาเวสสันดรชาดกได้สรุปมีเพียงเท่านี้ พระเวสสันดรโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญทานบารมีอย่างอุกฤษฏ์ คือ บริจาคพระชายาและพระโอรสพระธิดาอันเป็นที่รักยิ่งให้เป็นทาน อันเรียกว่า ปรมัตถบารมี (บารมีชั้นยอด)

บารมีทั้งสิบประการ เรียกว่า พุทธการกธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า หรือธรรมที่นำให้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ) ความเป็นพระพุทธเจ้าจะไม่สำเร็จถ้าบารมีทั้งสิบประการไม่สมบูรณ์ถึงขั้น “ปรมัตถบารมี” ดังกล่าว

:b10: การที่พระเวสสันดรโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทานบารมีถึงขั้นอุกฤษฏ์ บริจาคลูกเมียเป็นทานถูกวิพากษ์ตัดสินโดยคนยุคปัจจุบันต่างๆ นานา เช่น พระเวสสันดรใจร้าย เห็นแก่ตัว พระเวสสันดรไม่เอาไหน ไม่รับผิดชอบชีวิตครอบครัว พระเวสสันดรคบไม่ได้ :b5: :b5:

พฤติกรรมของพระเวสสันดรควรประณามมากกว่าที่จะเอามาเป็นแบบอย่าง อะไรไปโน่น ชักเลยเถิดไปกันใหญ่

ผมอาจแก้ข้อกังขา (หรือข้อกล่าวหา) ไม่ได้ดีนัก แต่ก่อนอื่นใคร่อยากให้ผู้ที่มองอย่างนี้ได้ตระหนักสักนิดว่า

๑. เราอย่าเอาความรู้สึกของปุถุชนผู้หนาด้วยกิเลสอย่างเราๆ ไปตัดสินการกระทำของพระเวสสันดร

๒. เราอย่าลืมว่าเหตุการณ์ที่กล่าวในคัมภีร์มิได้เกิดขึ้นในยุคสังคมบริโภคที่ผู้คน “คลั่งวัตถุ” กันเป็นบ้าเป็นหลัง “บริบท” ทางสังคม มันย่อมแตกต่างจากสมัยนี้มาก

๓. อย่าลืมว่า การกระทำทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการกระทำของ “พระโพธิสัตว์” ผู้มีจุดมุ่งหมายแตกต่างจากปุถุชนทั่วไป


ทีนี้ลองพิจารณาดูว่า พระเวสสันดรท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ตั้งปณิธานเพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าถามว่าตรัสรู้ไปทำไม ตอบว่าเพื่อจะได้ไปช่วยสรรพสัตว์ผู้ตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ในสังสารวัฎให้พ้นจากความทุกข์

พูดให้สั้นคือเพื่อจะได้ช่วยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นสุดยอดความทุกข์ในโลก

ดูจากจุดนี้เป็นจุดแรกจะเห็นได้ว่า พระเวสสันดรโพธิสัตว์มิได้เห็นแก่ตัว ตรงกันข้าม กลับเป็นคนมีจิตใจกว้างขวาง เห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นอย่างยิ่ง

เพราะท่านต้องการไปช่วยคนให้พ้นทุกข์

และการจะช่วยให้สำเร็จ ก็ต้องได้บรรลุโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าก่อน การบำเพ็ญบารมีนี้ เป็นขั้นตอนของการเตรียมพร้อมเพื่อให้ได้บรรลุทานอันอุกฤษฏ์ เป็นหนึ่งในธรรมที่ต้องบำเพ็ญเพื่อให้ได้โพธิญาณนั้น

ถ้าไม่บริจาคลูกเมีย บารมีก็ไม่สมบูรณ์ ไม่มีทางเป็นพระพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้นเพราะโพธิสัตว์จึงบริจาคลูกเมียเป็นทาน

เมื่อบริจาคลูกเมียเป็นทานแล้ว ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระโพธิสัตว์ก็สามารถช่วยเหลือไม่เฉพาะลูกเมียของตน หากได้ช่วยเหลือคนทั้งโลก

การกระทำอย่างนี้แทนที่จะเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ตน กลับเป็นการเห็นแก่โลกทั้งโลก เพราะหลังจากนั้นมา พระเวสสันดรโพธิสัตว์ก็ได้กลายมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศสัจธรรม ช่วยปลดเปลื้องสัตว์โลกจากความทุกข์มากต่อมากและได้ฝากคำสั่งสอนเป็นประทีปส่องนำทางชีวิตของชาวโลกทั้งหลายจนบัดนี้


ถ้าพระเวสสันดรไม่บริจาคลูกเมียในคราวนั้นพระเวสสันดรก็สามารถช่วยได้เฉพาะลูกเมียของท่าน เมื่อกลับมาครองเมืองสีพีแล้ว ก็ช่วยเหลือชาวเมืองสีพี สิ้นพระชนม์แล้วก็จมหายไปตามกาลเวลา

ถ้าอย่างนี้จะเรียกว่า พระเวสสันดรเป็นคนเห็นแก่ตน เห็นแก่ลูกเมีย และเห็นแก่บ้านเมืองของตนก็สมควรอยู่ แต่นี้พระเวสสันดรท่านไม่ทำอย่างนั้นเลย แล้วจะมากล่าวหาท่านเห็นแก่ตัวอย่างไร

อนึ่ง ทุกขั้นตอนของการกระทำนั้น พระโพธิสัตว์ทำด้วยปัญญา พินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ และเปี่ยมด้วยความรักต่อลูกเมียทั้งนั้น


:b39: ขอต่อจาก...ที่พูดถึงพระเวสสันดร เป็นคนเห็นแก่ตัว ว่าทำไมพระเวสสันดรจึงบริจาคทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนมีไม่ว่าใครจะมาขอลูกก็ให้ มาขอเมียก็ให้ พระองค์ทรงขยายความว่า

๑. ทรงชี้แจงให้ลูกทั้งสองเข้าใจว่า การกระทำของพ่อมิใช่เพราะไม่รักลูก หากทำด้วยความรักลูกสุดชีวิต เพราะมุ่งหวังโพธิญาณเพื่อจะได้ช่วยโลกทั้งมวล จึงต้องบริจาคลูกเป็นทาน

และท้ายที่สุดลูกทั้งสองก็เข้าใจเจตนาของพ่อ จึงยินยอมเป็น “สำเภาทอง” เพื่อนำส่งให้พ่อข้ามฟากในที่สุด

การบริจาคทานของพระเวสสันดร เป็นการบริจาคที่บริสุทธิ์ เพราะทั้งผู้ให้ (พ่อ) และผู้ถูกให้ (ลูกทั้งสอง) ศรัทธาในจุดหมายอันสูงสุดและยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย


๒. นอกจากนี้พระเวสสันดรวางแผนให้พราหมณ์นำลูกทั้งสองไปให้ “ปู่” อย่างผู้มีปัญญายิ่ง ที่ท่านตั้งค่าไถ่ลูกทั้งสองไว้สูงมาก (ชาลีค่าตัวทองลิ่ม กัณหาค่าตัวทองร้อยลิ่ม และทาสทาสี และสิ่งมีค่าอื่นๆ อีกอย่างละร้อย) ก็เพราะเล็งเห็นว่า คนที่มีทรัพย์มากมายไถ่ลูกได้ก็มีแต่พระเจ้ากรุงสีพี พระราชบิดาเท่านั้น และชูชกเป็นคนโลภอยากได้เงินมากๆ ก็ต้องพาสองกุมารกุมารีไปกรุงสีพีแน่นอน ซึ่งก็เป็นไปตามคาด

การกระทำนี้ก็ด้วยความรักความเมตตาที่มีต่อลูกทั้งสองนั้นเอง ส่งลูกกลับไปอยู่เมือง เพื่อความสุขสบาย แทนที่จะให้ลำบากอยู่กับตนในป่า

๓. พอให้ลูกเป็นทาน ปุบปับก็มีพราหมณ์แก่ท่าทางใจดี สะอาดสะอ้าน โผล่เข้ามาจากไหนไม่ทันสังเกต ออกปากขอพระชายา พระโพธิสัตว์นึกในใจอยู่แล้วว่า คงมิใช่คนธรรมดา จึงออกปากให้ชายาโดยมิลังเล

ทันทีที่หลั่งน้ำลงบนหัตถ์ของพราหมณ์เฒ่า พราหมณ์เฒ่าก็กลับร่างเป็นพระอินทร์ กล่าวอนุโมทนาในการทำทานอุกฤษฏ์ครั้งนี้ และขอให้บรรลุสัมโพธิญาณตามที่มั่นหมาย จริงดังที่สังหรณ์ใจ ในที่สุดพระอินทร์ก็มาช่วยเป็น “สำเภาทอง” ส่งพระโพธิสัตว์ข้ามฝั่งอีกคนหนึ่ง ดุจเดียวกับสองกุมารกุมารี

ทำไมคนสมัยนี้มองไม่เห็นความเสียสละยิ่งใหญ่ กรุณาอันยิ่งใหญ่ของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ต่อสัตว์โลกทั้งปวง มองไม่เห็นว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับพระโพธิสัตว์ต่างเป็น “สำเภาทอง” ช่วยหนุนนำให้พระเวสสันดรได้บรรลุถึงฝั่ง แล้วจะได้มาช่วยสรรพสัตว์ที่กำลังจมน้ำให้ข้ามฝั่งกันโดยปลอดภัย หรือว่าคนเราสมัยนี้ใจแคบ มองใกล้ “ใฝ่ต่ำ” (ดังที่ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์เปรยไว้) กันไปหมดแล้ว จึงปรากฏคำกล่าวหาเสียๆ หายๆ ดังข้างต้น

พระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์ หลังจากจากไปหลายปี พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาทรงดีพระทัยมาก ตระเตรียมภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก

รุ่งเช้าของวันที่มาถึง พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์จำนวนมากเสด็จออกบิณฑบาตในเมือง ประชาชนต่างแห่แหนไปชมเพราะไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนี้มาก่อน

บ้างก็ว่าพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์กำลังจะเดินขอทาน บ้างก็ว่าคงไม่ใช่ดอกท่านเหล่านั้นคงเดินชมเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระเจ้าสิทธัตถะมิได้เห็นเมืองหลวงมาเป็นเวลานานแล้ว คงทรงอยากทอดพระเนตรเมืองหลวง ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

พระเจ้าสุทโธทนะ ทันทีที่เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินไปตามถนน มีบาตรในพระหัตถ์ก็ทรงเข้าพระทัยทันทีว่าจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก “ขอทาน” ทรงเสียพระทัยมากที่พระราชโอรสของพระองค์ทรง “ลดฐานะ” ลงมาถึงเพียงนี้ สู้อดกลั้นโทมนัสไว้

เมื่อพระองค์เสวยภัตตาหารเสร็จจะตรัสอนุโมทนา พระพุทธบิดาก็ทรงต่อว่าพระราชโอรสทันที

“ทำไมลูกถึงทำอย่างนี้”

“มหาบพิตร ตถาคตทำอะไรหรือ” พระพุทธดำรัสตรัสถาม

“ก็เที่ยวขอทานน่ะสิ พ่ออายชาวเมืองเหลือเกิน ที่พระราชโอรสของพระราชาเที่ยวขอทานชาวบ้านกิน แล้วนี่พ่อจะเอาหน้าไว้ที่ไหน”

“มหาบพิตร การออกบิณฑบาตมิใช่การขอทาน เป็นการโปรดเวไนยสัตว์ ตถาคตทำตามจารีตแห่งวงศ์ของตน”

“ลูกเอ๋ย วงศ์ของเราไม่เคยมีจารีตอย่างนี้นะ”

“หามิได้ มหาบพิตรมิใช่วงศ์ของพระองค์ หากแต่เป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีมาเช่นนี้แต่อดีตกาลแล้ว”

พระพุทธองค์ตรัสอธิบายต่อไปว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์หลังจากตรัสรู้แล้วก็ออกไปโปรดสัตว์ สั่งสอนเวไนยนิกรตามหัวเมืองต่างๆ การออกบิณฑบาตเป็นโอกาสหนึ่งที่จะได้สอนธรรมแก่ประชาชน

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสพระคาถา (โศลกบรรยายธรรม) บทหนึ่งว่า

• บรรพชิตไม่พึงดูแคลนก้อนข้าวที่ตนพึงยินรับจากชาวบ้าน
• บุคคลพึงประพฤติธรรมให้ดี
• ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า
• บุคคลพึงประพฤติธรรมให้ดี ไม่พึงประพฤติทุจริต
• ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า

หลังจากพระธรรมเทศนาสั้นๆ นี้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะทรงบรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น มีพระราชศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย

พอถึงวันที่สาม มีพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายนันทะ กับพระนางชนบทกัลยาณี เจ้าภาพอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารพร้อมภิกษุสงฆ์ เสร็จพิธีแล้วเจ้าชายนันทะอุ้มบาตรตามเสด็จ ขณะที่นางชนบทกัลยาณีพระชายากำชับว่า เจ้าพี่ส่งเสด็จพระศาสดาแล้ว ให้รีบกลับมาเร็วๆ นะ เจ้าชายนันทะไม่กล้ากราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงรับบาตร จึงตามเสด็จไปจนถึงที่พำนัก คือ นิโครธาราม นอกพระนคร พอไปถึง พระพุทธองค์ตรัสกับเจ้าชายนันทะว่า “นันทะ เธออยากบวชไหม”

ด้วยความเคารพในพระพุทธองค์อย่างยิ่ง เจ้าชายนันทะไม่กล้าปฏิเสธ จึงกราบทูลว่า “อยากบวชพระเจ้าข้า”

เท่านั้นแหละครับ เจ้าชายผู้ซึ่งเพิ่งผ่านพิธีอภิเษกสมรสมาหยกๆ เรียกแบบภาษาชาวบ้านยังไม่ได้ส่งตัวเข้าเรือนหอเสียด้วยซ้ำ ก็หลายสภาพเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

ว่ากันว่าหลังจากบวชแล้ว พระภิกษุนันทะไม่มีกิจิตกะใจปฏิบัติธรรม เพราะได้แต่หวนรำลึกถึงพระชายาที่จากมา พระพุทธองค์จึงทรงใช้กุศโลบายสอนให้เธอฝึกกรรมฐาน (โดยมิได้บอกว่าเป็นกรรมฐาน) ในที่สุดเธอก็ตัดอาลัยในความรักชายาได้บรรลุถึงพระอรหัตผล) ...(รายละเอียดไว้เล่าภายหลังเมื่อมีโอกาส)

วันที่เจ็ด ก็เกิดเหตุการณ์อีกเหตุการณ์หนึ่ง พระนางโสธราพิมพาทรงกระซิบบอกกับราหุลว่า “เสด็จพ่อของเจ้ากลับมาพระนครกบิลพัสดุ์แล้ว เวลาเช้าเสด็จพ่อจะเข้ามาในเมือง ขอให้ลูกจงไปขอความเป็นทายาท”

บาลีว่า ทายัชชะ แปลว่า ขุมทรัพย์บ้าง ความเป็นทายาทบ้าง

นัยแรกอธิบายว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จะมีขุมทรัพย์ปรากฏขึ้นเป็นคู่บุญบารมี พอเมื่อพระองค์เสด็จออกผนวช ขุมทรัพย์นั้นได้หายไป พระนางยโสธราจึงบอกให้โอรสไปขอขุมทรัพย์นั้น

นัยที่สองอธิบายว่า เจ้าชายสิทธัตถะเป็นรัชทายาท มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา เมื่อเสด็จออกผนวช ก็ไม่แน่ว่าจะทรงสละราชสมบัติจริงหรือไม่ พระนางยโสธราพิมพา จึงกระซิบให้ลูกน้อยไปขอจากเสด็จพ่อ เพื่อยืนยันว่า ถ้าเสด็จพ่อไม่เอาสมบัติแล้ว ก็ขอมอบให้โอรสก็แล้วกัน

เจ้าชายน้อยเห็นเสด็จพ่อดำเนินไปตามถนนนำหน้าพระสงฆ์จำนวนมาก ก็ตามไปข้างหลัง พลางกล่าวขอว่า “สมณะ ขอขุมทรัพย์ สมณะ ขอขุมทรัพย์” เมื่อพระพุทธองค์ไม่ตรัสอะไร ราหุลกุมารจึงตามไปจนถึงนิโครธารามที่ประทับนอกเมือง ไปถึงพระองค์ทรงดำริว่า ทรัพย์ภายนอกนั้นไม่จีรัง อย่ากระนั้นเลย เราจะให้ทรัพย์ภายใน (อริยทรัพย์) ดีกว่า ว่าแล้วก็ตรัสให้พระสารีบุตรบวชให้ราหุลกุมาร พระเถระกราบทูลถามว่า จะให้บวชวิธีไหน เพราะที่แล้วมามีแต่คนอายุมากแล้ว บวชเด็กอายุ ๗ ขวบยังไม่เคยมี

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ให้บวชด้วยการรับสรณคมน์ (ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง) ก็พอ”

เป็นอันว่าราหุลกุมารได้กลายเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระพุทธบิดาทรงเสียพระทัยมากที่พระเจ้าหลานเธอบวช จึงทูลขอพรจากพระพุทธองค์ว่า ต่อไปภายหน้าจะบวชให้ใคร ขอให้พ่อแม่เขาอนุญาตเสียก่อน

พระพุทธองค์ทรงรับพรนั้น ตั้งแต่นั้นมาใครจะบวชต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่เสียก่อน

การเสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์ของพระพุทธเจ้า ได้อำนวยประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ศากยวงศ์ บ้างก็ได้บรรลุอริยมรรค อริยผล ตามอุปนิสัยปัจจัยที่แต่ละคนได้สั่งสมมา บ้างก็เลื่อมใสออกบวชตามพระพุทธองค์จำนวนมาก อาทิ เจ้าชายอนุรุทธ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภคุ เจ้าชายพิมพิละ เจ้าชายมหานาม เจ้าชายเทวทัตแห่งโลกิยวงศ์ ก็เป็นอีกพระองค์หนึ่งที่ออกบวชตามพระพุทธองค์ด้วยศรัทธา น่าเสียดายว่า ภายหลังกลับถูกความอยากใหญ่ครอบงำ กระทำผิดต่อพระพุทธเจ้าจนถูกแผ่นดินสูบในที่สุด

ตำนานมิได้บอกไว้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์เสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์กี่ครั้ง เชื่อว่าคงไม่ต่ำกว่าห้าครั้ง

ครั้งหนึ่งเสด็จมาห้ามสงครามแย่งน้ำกันระหว่างพระญาติฝ่ายโกลิยวงศ์และฝ่ายศากยวงศ์ จนชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูป “ปางห้ามพระญาติ” ไว้เป็นอนุสรณ์ในการสงเคราะห์พระประยูรญาติครั้งนั้น

ตำนานกล่าวว่า พระพุทธบิดานั้น หลังจากสดับพระธรรมเทศนาสั้นๆ ข้างต้นได้บรรลุโสดาปัตติผล จากนั้นก็ได้สดับพระธรรมเทศนาอีก (ไม่บอกว่าเรื่องอะไร) ก็บรรลุสกิทาคามิผล ท้ายสุดได้สดับมหาธัมมปาลชาดก ได้บรรลุอนาคามิผล

ในบั้นปลายแห่งชีวิต สมเด็จพระพุทธบิดา ทรงพระประชวรหนัก ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่กรุงไพศาลี แคว้นวัชชี พระพุทธองค์ทรงทราบข่าว พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง เสด็จไปเยี่ยม ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้พระพุทธบิดาฟัง หลังจากจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะบิดาก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ในเพศผู้ครองเรือนนั้นแล แล้ว “ดับสนิท” ในเวลาต่อมา

พระพุทธองค์ทรงถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธบิดาแล้ว ได้เสด็จกลับไปยังเมืองไพศาลีตามเดิม

พระเจ้าสุทโธทนะทรงปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้พระราชโอรสขึ้นครองราชย์เพราะได้รับคำทำนายว่า ถ้าได้ครองราชย์สมบัติเจ้าชายสิทธัตถะจะกลายเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ อันเป็นความปรารถนาของผู้ครองนครทั่วไป แต่เมื่อพระราชโอรสของพระองค์เสด็จออกผนวช กลายเป็นพระพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลกแล้ว พระองค์ก็ทรงพอพระทัย และทรงเห็นประโยชน์จากการเสด็จออกผนวชของพระราชโอรส จึงทรงอนุญาตให้เจ้าชายในศากยวงศ์หลายองค์ออกบวชเพื่อสืบทอดพระศาสนา

ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ ก็ได้ลิ้มรสพระธรรมสูงขึ้นตามลำดับ จนบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต เป็นพระอรหันตขีณาสพ นับว่าได้ประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรมโดยสมบูรณ์



:b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


=========================

:b45: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ส.ค. 2019, 12:58 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระเจ้าสุทโธทนะ

๐ พระราชพิธีมงคลราชาภิเษกสมรส

พระพุทธศาสนามีแหล่งกำเนิดอยู่ในดินแดนที่รู้จักกันในครั้งพุทธกาลว่า “ชมพูทวีป” อันได้แก่ทวีปที่มีลักษณะสัณฐาณคล้ายใบชมพูหรือใบหว้า ในปัจจุบัน ชมพูทวีปมีฐานะเป็นเพียงอนุทวีป (Subcontinent) แห่งเอเชียใต้ ประกอบด้วยดินแดนของประเทศอินเดีย ปากีสถาน เนปาล และบังคลาเทศ แต่ในครั้งพุทธกาลภาคพื้นชมพูทวีปถูกแบ่งเป็นประเทศใหญ่น้อย ซึ่งเรียกกันว่ารัฐหรือแคว้นจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๑ แคว้น เฉพาะแคว้นมหาอำนาจในสมัยนั้นมี ๔ แคว้นคือ มคธ โกศล วังสะ และอวันตี

เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ในภูมิภาคด้านเหนือของชมพูทวีป อันเป็นดินแดนรอยต่อระหว่างอินเดียและเนปาลในปัจจุบัน ตอนที่เป็นมณฑลอูธ (Oudh) และมณฑลพิหารเหนือ (North Behar) นั้น มีแคว้นน้อยๆ ของชนเชื้อชาติต่างๆ ตั้งอยู่ด้วยกันหลายแคว้น แต่ละแคว้นมีพระราชาของตนๆ เป็นผู้ปกครองบ้าง มีคณะบุคคลที่นับเนื่องในราชสกุลเป็นผู้ปกครองบ้าง

ในบรรดาแคว้นเล็กๆ เหล่านั้น มีแคว้นเล็กแคว้นหนึ่งตั้งอยู่ตรงพื้นที่ทางทิศเหนือของจังหวัดโครักขปุระ (Gorakhapore) ในปัจจุบัน ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำรัปตี (Rapti) ชื่อว่า สักกชนบท เป็นดินแดนของชนชาติผู้เรียกตนเองว่า ศากยะ พระราชาผู้ปกครองแคว้นนี้ในครั้งนั้นมีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสีหหนุ ราชสำนักของพระองค์ตั้งอยู่ในเมืองหลวงชื่อว่า กรุงกบิลพัสดุ์

สมเด็จพระเจ้าสีหหนุ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ ปรารถนาจะราชาภิเษกพระเจ้าสุทโธทนะมกุฎราชกุมาร ซึ่งมีวัฒนาการได้ ๑๖ พรรษา ไว้ในเศวตราชาฉัตรสืบสิริราชสมบัติแทนพระองค์ จึงทรงส่งพราหมณาจารย์ผู้รอบรู้ในสตรีลักษณ์ไปสืบแสวงหานางรัตนกัญญา จนได้ประสพพระนางสิริมหามายาราชกุมารี พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอัญชนา กษัตริย์แห่งกรุงเทวทหะ มีพระสิริวิลาศต้องตามนารีลักษณ์ ไม่มีผู้เทียบเท่า

เมื่อพระเจ้าสีหหนุทรงรับราชบรรณาการจากกษัตริย์แห่งเทวทหนคร ก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก โปรดให้ทำการวิวาหมงคล และดำรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์ ตกแต่งมรรคาตั้งแต่กรุงกบิลพัสดุจนถึงเทวทหนคร ประดับด้วยอลังการ ให้พวกกษัตริย์ศากยวงศ์ ประทับกุญชรชาติ พระเจ้าสุทโธทนะราชโอรส ประทับช้างต้นเศวตไอยรา แวดล้อมด้วยกษัตริย์จำนวนมากเป็นบริวาร พลม้า พลเดินเท้าถือธนูเป็นจำนวนมากแห่ไปเบื้องหน้า พร้อมทั้งสรรพเสบียงอาหารสู่ ณ อโศกอุทยาน

วิวาหมงคลปริวัตต์ พระราชพิธีมงคลราชาภิเษกสมรส พระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา ได้จัดขึ้นที่อโศกราชอุทยาน แห่งเทวทหนคร พระนางสิริมหามายาทรงเครื่องแล้ว ก็เสด็จไปสู่ราชอุทยาน พร้อมด้วยหมู่ขัตติยกัญญาบริวารเป็นจำนวนมาก พระเจ้าชนาธิราช พระราชบิดา กับพระนางสุนันทาเทวี พระราชชนนี เสด็จตามขบวนไปด้วย ประชาชนพลเมืองก็มาห้อมล้อมมหาวิวาหมงคลมณฑปอยู่โดยรอบ

ทรงยับยั้งอยู่ในมณฑปโรงราชพิธี มีการมหรสพครบถ้วนไตรมาสแล้ว จึงได้เสด็จกลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสีหหนุจึงประกอบพระราชพิธีมงคลราชาภิเษก พระเจ้าสุทโธทนะขึ้นครองราชสมบัติแทนพระองค์ พระองค์มีชื่อโคตรหรือสกุลว่า โคตมะ บางครั้งจึงมีผู้เรียกพระเจ้าสุทโธทนะด้วยพระนามเต็มว่า พระเจ้าสุทโธนะ โคตมะ

พระเจ้าสุทโธทนะก็เสวยราชสมบัติสืบสันติวงศ์ กับพระนางสิริมหามายา พระอัครมเหสี ทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ร่วมกันมาด้วยความผาสุก จนกระทั่งพระเทวีทรงมีพระครรภ์ เมื่อพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระสวามีให้แปรพระราชฐาน ไปประทับที่กรุงเทวทหะเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ก็เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมสมัยนั้น พระเทวีเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ในเวลาเช้าของวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

เมื่อขบวนเสด็จผ่านมาถึงสวนลุมพินี อันตั้งอยู่กึ่งกลางทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะต่อกัน พระนางทรงมีพระประสงค์จะประพาสอุทยาน ข้าราชบริพารจึงเชิญเสด็จแวะไปประทับพักผ่อนอิริยาบถใต้สาละ ขณะประทับอยู่ที่สวนลุมพินีนั้น พระนางได้ประสูติพระโอรสภายใต้ต้นสาละ เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทราบข่าวประสูติ จึงตรัสสั่งให้เชิญเสด็จพระนางพร้อมด้วยพระราชกุมาร กลับคืนกรุงกบิลพัสดุ์โดยด่วน

ข่าวประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบส ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย ดาบสท่านนี้มีความคุ้นเคยกับราชสำนักของพระเจ้าสุทโธทนะ พอทราบข่าวประสูติของพระราชกุมาร ดาบสจึงลงจากเขาเข้าไปเยี่ยมเยียนราชสำนัก ท่านมีความรู้เกี่ยวกับการทำนายมหาปุริสลักษณะ พอเป็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า นี่คือผู้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวพยากรณ์ว่า

“พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย” แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมล้นด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส

เมื่อพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้ประกอบพิธีเฉลิมฉลองรับขวัญและขนานพระนาม โดยเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนผู้เชี่ยวชาญไตรเพทมาบริโภคโภชนาหาร ที่ประชุมของพราหมณ์ได้ถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า “สมประสงค์” กล่าวคือพระราชกุมารจะทรงปรารถนาสิ่งใด ก็จะได้สิ่งนั้นตามความปรารถนา

คนส่วนมากมักเรียกพระองค์ตามชื่อโคตรว่า “โคตมะ” ต่อจากนั้นพราหมณ์ ๘ คนผู้รู้การทำนายลักษณะได้ตรวจสอบลักษณะของพระกุมารแล้ว พบว่าพระกุมารมีลักษณ์มหาบุรุษ ๓๒ ประการ จึงให้คำทำนายชีวิตในอนาคตของพระกุมาร พราหมณ์ ๗ คนทำนายว่าพระสิทธัตถราชกุมารนี้ ถ้าอยู่ครองเพศฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าออกผนวชจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาเอกของโลก แต่พราหมณ์คนที่ ๘ ชื่อว่า โกณฑัญญะ ให้คำทำนายยืนยันหนักแน่นเป็นคติเดียวว่า พระกุมารจะต้องออกผนวชและตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในวันที่ ๗ นับแต่วันประสูติ พระนางมหามายาเทวีผู้เป็นพระชนนีของพระกุมารได้ทิวงคต ทั้งนี้เพราะ “มารดาของพระโพธิสัตว์มีอายุน้อยนัก เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน มารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทิวงคตไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต” นับแต่นั้นมาพระสิทธัตถราชกุมารจึงอยู่ในความดูแลของพระนางมหาปชสบดีโคตมี พระน้านางของพระองค์ ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะสืบต่อมา

ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์ทรงผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง ๖ ปี จนที่สุดทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ ทรงประทับที่โพธิมณฑสถาน ๗ สัปดาห์ ประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงกระทำการอนุเคราะห์โลก

เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงสดับข่าวว่า พระบรมศาสดาเสด็จมายังกรุงราชคฤห์ จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์กาฬุทายี พร้อมบริวาร ๑,๐๐๐ คน (ทูตคณะที่ ๑๐) ไปนิมนต์พระบรมศาสดามายังนครกบิลพัสดุ์ให้ได้ ดังนั้น อำมาตย์กาฬุทายีจึงไปยังกรุงราชคฤห์ ครั้นเมื่อไปถึงพอดีเป็นเวลาพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรม จึงยืนฟังธรรมอยู่ข้างท้ายบริษัทพร้อมด้วยบริวาร เมื่อจบพระธรรมเทศนาหมู่อำมาตย์นั้นทั้งหมดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมทั้งปฏิสัมภิทา และกราบทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ พระบรมศาสดาก็ได้ประทานให้เป็นภิกษุด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (วิธีอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าประทานด้วยพระองค์เอง ด้วยการเปล่งพระวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” วิธีนี้ทรงประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นบุคคลแรก)

ครั้นเวลาได้ล่วงไป ๗-๘ วัน ในวันเพ็ญเดือน ๔ พระกาฬุทายีเถระเห็นเป็นเวลาอันสมควรจึงได้กราบทูลวิงวอนอาราธนาพระบรมศาสดาให้ทรงเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งพระบรมศาสดาก็ทรงรับอาราธนานั้น

รูปภาพ

๐ พระบรมศาสดาเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์

ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว ทรงเสด็จไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมคธ จนแพร่หลายแล้ว จึงได้เสด็จมาโปรดพระราชบิดาและพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงประทับอยู่ที่นิโครธารามซึ่งพระประยูรญาติสร้างถวาย ในวันรุ่งขึ้นเวลาเช้าทรงปฏิบัติพุทธกิจ เสด็จเข้าไปรับบิณฑบาตในพระนครกบิลพัสดุ์

เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบว่าพระบรมศาสดาเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์จึงทรงเสียพระทัย ด้วยทรงเห็นว่าการเสด็จพุทธดำเนินโปรดสัตว์ตามถนนหลวงนั้นเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ อันจะทำให้ชาวเมืองดูหมิ่นดูแคลนว่าเหล่าพระประยูรญาติ และพระราชบิดาตั้งข้อรังเกียจมิได้อุปถัมภ์ จึงรีบเสด็จพระดำเนินมาหยุดอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา แล้วกราบทูลตัดพ้อว่า “ไฉนพระองค์จึงทรงทำให้หม่อมฉันได้รับความอัปยศ โดยเที่ยวบิณฑบาตเช่นนี้”

พระบรมศาสดาจึงทรงอรรถาธิบายว่า “การเที่ยวบิณฑบาตเป็นจารีตประเพณีของตถาคตและพระภิกษุสงฆ์ที่สืบสายพุทธวงศ์ชั่วนิรันดร”

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว จึงแสดงพระธรรมเทศนา “อริยวังสิกสูตร” ในระหว่างถนน โดยพระอิริยาบถยืนถือบาตรอยู่ ณ ที่นั้น แม้พระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงประทับยืนฟังพระโอวาท เมื่อจบพระธรรมเทศนาอันวิจิตร พระราชบิดาก็สำเร็จพระโสดาปัตติผล แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์สาวกให้เสด็จไปรับบิณฑบาต ณ พระราชนิเวศน์

ครั้นวันรุ่งขึ้น เสด็จเข้าไปรับบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ เมื่อพระบรมศาสดาเสร็จภัตกิจแล้ว ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยอาศัยการพรรณนาพระคุณของราหุลมารดา ตรัส “จันทกินนรชาดก” โปรดพระราชบิดาและพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระมาตุจฉา (พระน้านาง) เมื่อจบพระธรรมเทศนาพระราชบิดาก็ดำรงอยู่ในสกทาคามีผล ส่วนพระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

ในวันที่ ๔ แห่งการเสด็จโปรดพระประยูรญาตินั้นเอง พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในพระตำหนักของ นันทกุมาร เนื่องด้วยนันทกุมารจะอภิเษกสมรสกับนางชนปทกัลยาณีในวันนั้น หลังจากพระบรมศาสดาเสร็จภัตตกิจแล้ว ทรงประทานบาตรในหัตถ์ของนันทกุมาร ตรัสอวยพรเพื่อเป็นมงคลแล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จพระดำเนินกลับไป โดยมิได้ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมาร ฝ่ายนันทกุมารนั้นด้วยความเคารพในพระบรมศาสดาเป็นอย่างยิ่ง จึงมิกล้ากราบทูลให้พระองค์ทรงรับบาตรคืนไป ฉะนั้น ท่านจึงต้องทนฝืนพระทัยถือบาตรตามเสด็จไปเรื่อยจนถึงนิโครธาราม

เมื่อเสด็จถึงพระคันธกุฏี พระผู้มีพระภาคจึงทรงรับบาตรคืนแล้วตรัสแก่นันทกุมารว่า “นันทะ เธอจงบรรพชาเถิด” สำหรับนันทกุมารนั้น เรื่องการบวชไม่มีอยู่ในความคิดเลยแม้สักนิดหนึ่ง ภายในดวงจิตคิดคำนึงถึงแต่ถ้อยคำและพระพักตร์ของนางชนปทกัลยาณีที่มาร้องสั่งเตือน ให้รีบเสด็จกลับ แต่เพราะความเคารพยำเกรงในพระบรมศาสดาเป็นยิ่งนัก ไม่สามารถจะขัดพระบัญชาได้ จึงจำใจรับพระพุทธฏีกาบวชในวันนั้น

รูปภาพ

๐ สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา

ครั้นล่วงถึงวันที่ ๗ แห่งการเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ พระนางพิมพาราชเทวีประดับตกแต่งองค์ราหุลกุมาร ราชโอรสด้วยอาภรณ์อันวิจิตรแล้วตรัสว่า

“พ่อราหุลลูกรัก พ่อจงไปดูพระสมณะผู้มีผิวพรรณผ่องใส รูปดุจท่านท้าวมหาพรหม แวดล้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเป็นจำนวนมาก พระสมณะองค์นั้นคือพระบิดาของเจ้า พระองค์มีขุมทรัพย์มหาศาลอันสุดจะคณนา นับแต่พระบิดาของเจ้าออกผนวช เจ้าก็เหมือนหมดหวังในราชสมบัติ เจ้าจงไปกราบถวายบังคมพระบิดา แล้วกราบทูลขอทรัพย์สมบัตินั้น ในฐานะเป็นทายาทสืบสันติวงศ์ต่อพระองค์เถิด”

ราหุลกุมารเสด็จเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามพระดำรัสของพระมารดา กราบถวายบังคมแล้ว ทอดพระเนตรดูพระสัพพัญญู ได้บังเกิดความรักในพระบิดา ทรงปราโมทย์โสมนัสตรัสชมว่า “ร่มเงาของพระองค์เย็นสดชื่นยิ่งนัก พระพักตร์ของพระองค์สดใสสุดประมาณ” ดังนี้แล้วก็ตรัสเรื่องอื่นๆ ต่อไป โดยมิได้กราบทูลขอทรัพย์สมบัติ

เมื่อพระพุทธองค์ทรงกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสอนุโมทนา เสด็จกลับสู่นิโครธาราม ส่วนราหุลกุมารก็เสด็จติดตามไปจนถึงพระอาราม มิมีผู้ใดจะสามารถกราบทูลทัดทานได้ เมื่อสบโอกาสจึงกราบทูลขอทรัพย์สมบัติ อันเป็นสิ่งที่รัชทายาทผู้สืบราชสันติวงศ์จะพึงได้รับ

พระบรมศาสดาได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงดำริว่า “ราหุลกุมารปรารถนาทรัพย์สมบัติอันเป็นของพระบิดา ถ้าตถาคตจะให้ราชสมบัติซึ่งเป็น ‘ทรัพย์ธรรมดา’ หรือทรัพย์ภายนอกแก่เธอแล้ว ก็จะเป็นสิ่งชักนำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสาร เป็นไปด้วยความคับแค้นและจมอยู่ในกองทุกข์ ด้วยเป็นสิ่งหาสาระแม้สักนิดหนึ่งก็หามีไม่ อย่ากระนั้นเลยตถาคตจะมอบ ‘อริยทรัพย์’ หรือทรัพย์ภายในอันเป็นสิ่งที่มั่นคงถาวรและประเสริฐสุดในพระพุทธศาสนานี้แก่เธอ ซึ่งจะทำให้เธอเป็นโลกุตรทายาท สืบสกุลในพุทธวงศ์นี้สืบไป”

ครั้นแล้วทรงมีพระดำรัสสั่งให้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร จัดการบรรพชาให้แก่ราหุลกุมารในวันนั้น ด้วยวิธีไตรสรณคมน์ สามเณรราหุลจึงได้ชื่อว่า เป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา

๐ พระเจ้าสุทโธทนะทูลขอพระพุทธานุญาต

เมื่อพระเจ้าสุทโธนะทรงทราบว่าราหุลกุมารบรรพชาแล้ว ทรงโทมนัสเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะโหรทั้งหลายได้ทำนายพระโพธิสัตว์ว่า จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเช่นใด ก็ได้ทำนายทั้งพระนันทะและพระราหุลว่า จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเช่นนั้นเหมือนกัน ครั้งนั้นพระราชาทรงเกิดพระปีติโสมนัสด้วยหวังพระทัยว่า เราจักได้ชมจักรพรรดิสิริของบุตรเรา และได้ทรงถึงความหมดหวังอย่างใหญ่หลวง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผนวชเสีย จึงทรงตั้งความหวังไว้ที่ว่า เราจักได้ชมจักรพรรดิสิริของพ่อนันทะ แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงนำพระนันทะให้ผนวชเสียอีก ทำให้ทรงผิดหวังเป็นคำรบสอง แต่อย่างไรก็ตาม ยังทรงตั้งความหวังไว้กับพระเจ้าหลานเธอ คือ พ่อราหุล และแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงนำพระราหุลนั้นให้ผนวชเสียอีก บัดนี้ จึงหมดสิ้นผู้จะสืบสายรัชทายาท กุลวงศ์บัดนี้ขาดสายเสียแล้ว

ฉะนั้น พระเจ้าสุทโธนะได้ทรงดำริว่า “แม้ว่าเราจะเป็นพุทธมามกะ ธัมมมามกะ สังฆมามกะ ก็ตาม แต่ถ้าหากปล่อยไว้เช่นนี้ อีกไม่นานบรรดาราชกุมารในศากยสกุล ก็จะถูกนำไปบวชเสียจนหมดสิ้น อนึ่ง ความทุกข์โทมนัสอย่างนี้ก็จะเกิดแก่บิดามารดาในสกุลอื่นๆ ด้วยเหตุที่บุตรและหลานทั้งหลายของตนออกบวช จนหมดสิ้นผู้จะสืบสายสกุล”

ในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระบรมศาสดาทรงกระทำภัตกิจในพระราชนิเวศน์ พระเจ้าสุทโธนะจึงรีบเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระราชาประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า “เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงผนวชแล้ว ความทุกข์ล้นพ้นได้บังเกิดแก่หม่อมฉัน เมื่อพ่อนันทะผนวชก็เช่นเดียวกัน เมื่อพ่อราหุลผนวช ความทุกข์ยิ่งมีประมาณมากล้น พระพุทธเจ้าข้า”

พระเจ้าสุทโธนะจึงกราบทูลขอประทานพระพุทธานุญาตว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับต่อแต่นี้ไป ถ้ากุลบุตรผู้ใดประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนา หากมารดาบิดายังมิยินยอมพร้อมใจกัน อนุญาตให้บวชแล้ว ขอได้โปรดงดเสีย อย่าได้บวชให้แก่กุลบุตรผู้นั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”

พระบรมศาสดาได้ประทานพระพุทธานุญาตตามที่พระพุทธบิดากราบทูลขอแล้ว ถวายพระพรลา พาพระนันทะและสามเณรราหุล พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ เสด็จกลับสู่มหานครราชคฤห์

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงนำเอาเรื่องนี้เป็นเหตุในการแสดงธรรม แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต ภิกษุไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวชต้องอาบัติทุกกฎ”

รูปภาพ

๐ พระเจ้าสุทโธทนะประชวร

ในปีที่ ๕ นับตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมา กำหนดเวลานี้ว่าตามปฐมสมโพธิ พระพุทธเจ้าเสด็จพระทับอยู่ที่ป่ามหาวัน ใกล้กรุงไพศาลี ได้ทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาทรงพระประชวรหนักด้วยพระโรคชรา ทรงปรารถนาจะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ตลอดถึงพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเจ้าศากยะ และพระญาติอีกหลายรูปที่เสด็จออกบวชตามพระพุทธเจ้า เช่น พระอานนท์ พระนันทะ และสามเณรราหุลผู้เป็นหลาน

พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งพระอานนท์ให้แจ้งข่าวพระสงฆ์ ถึงเรื่องที่พระองค์จะเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์อีกวาระหนึ่ง

ธรรมเนียมการเสด็จจาริกทางไกลของพระพุทธเจ้ามีอยู่อย่างหนึ่งคือ ก่อนเสด็จจะรับสั่งพระสงฆ์ที่อยู่ใกล้ชิดให้บอกข่าวพระสงฆ์ทั้งมวลว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จทางไกล ที่นั่น ที่นี่ เวลานั้น เวลานี้ พระสงฆ์รูปใดจะตามเสด็จก็จะได้เตรียมข้าวของอัฐบริขารไว้พร้อม

การเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ของพระพุทธเจ้า เพื่อทรงเยี่ยมและพยาบาลพระพุทธบิดาที่ทรงประชวรครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้าย

เมื่อเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ ได้เสด็จเข้าเยี่ยมพระพุทธบิดา ซึ่งมีพระอาการเพียบหนักแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาด้วยเรื่องความเป็นอนิจจังของสังขาร ปฐมสมโพธิบันทึกพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า

“ดูกร มหาบพิตร อันว่าชีวิตแห่งมนุษย์ทั้งหลายนี้ น้อยนักดำรงอยู่ โดยพลันมิได้ยั่งยืนอยู่ช้า คุรุวนา ดุจสายฟ้าแลบอันปรากฏมิได้นาน.....”

พระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งทรงสำเร็จอนาคามีผลอยู่ก่อนแล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนาตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ได้สำเร็จอรหันต์ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ หลังจากนั้นอีก ๗ วัน ก็สิ้นพระชนม์ด้วยความสงบ

พระพุทธเจ้าเสด็จสรงน้ำพระศพพระพุทธบิดา และถวายพระเพลิง พร้อมด้วยพระสงฆ์ พระประยูรญาติ ชาวศากยะทั้งมวล จนเสร็จสิ้นอย่างสมพระเกียรติ


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...พระเจ้าสุทโธทนะ (อุบาสก)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7009


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร