วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2015, 09:11 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปายาสิราชันย์
นักคิดนักปรัชญาผู้หลงผิด

:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

=========================

เหตุการณ์เกิดหลังพุทธปรินิพพานประมาณกี่ปีก็ไม่บอก คัมภีร์พระพุทธศาสนาก็อย่างนี้แหละครับ มุ่งแสดงแต่สัจธรรม ไม่สนใจ “บริบท” แห่งกาลเวลาและสถานที่ ปล่อยให้ผู้ศึกษาค้นคว้าหาเอาเอง เรื่องราวของปายาสิราชันย์ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ส่วนสุตตันตปิฎกทีฆนิกาย ชื่อว่า ปายาสิราชัญญาสูตร

พระเจ้าปายาสิ ครองเมืองเสตัพยะ เมืองขึ้นของแคว้นโกศล ของมหาราชพระนามว่า ปเสนทิโกศล พระเจ้าปายาสิเป็นมัจฉาทิฐิ คือมีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าชาติก่อนชาติหน้าไม่มี บุญบาปไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี

เนื่องจากปายาสิเป็นนักคิด นักปรัชญา กว่าจะตกลงปลงใจยึดมั่นในความคิดเห็นเช่นนี้ก็นาน มิใช่อยู่ๆ ก็สรุปเอาเอง พระองค์ได้ทำการค้นคว้าทดลองตามกรรมวิธีของพระองค์หลายอย่าง แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า บุญบาปไม่มีจริง นรกสวรรค์ไม่มีจริง พวกสมณพราหมณ์สอนเรื่องเหล่านี้เพื่อตัวพวกเขาเองมากกว่า คือ สอนคนให้ทำบุญทำทาน ก็เพื่อพวกเขาจะได้รับประทานกินอยู่สบาย แล้วก็หลอกให้ผู้โง่เขลานำเอาของไปให้เพื่อหวังสุคติโลกสวรรค์


ปายาสิได้ทดลองอะไรบ้าง เอาไว้ให้ปายาสิท่านได้เล่าเองในภายหลัง ตอนนี้มาพูดถึงเหตุการณ์ทั่วไปก่อน

เมื่อพระองค์มีความเชื่ออย่างนี้ แล้วก็ไปรุกรานพวกสมณชีพราหมณ์ทั้งหลาย ว่าพวกท่านเหล่านั้นกำลังหลอกลวงประชาชนผู้โง่เขลา เมื่อสมณชีพราหมณ์ทั้งหลายได้โต้ตอบว่ามิได้หลอกลวงแต่ประการใด เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นไปได้จริง แต่เนื่องจากท่านเหล่านั้นไม่มีปฏิภาณปัญญาพอจะโต้ตอบหักล้างความคิดเห็นของปายาสิได้ จึงพากันถอยไปเป็นส่วนมาก

ปายาสิราชันย์ ก็ยิ่งได้ใจ ประกาศท้าโต้วาทะกับนักปราชญ์คนใดก็ได้ในโลก อย่างว่าแหละครับ เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือปายาสิยังมีพระคุณเจ้ากุมารกัสสปะ


กุมารกัสสปะ เป็นนามของพระเถระอดีตสามเณรน้อย และอดีตโอรสบุญธรรมของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีความเป็นมาย่อๆ ว่า นางภิกษุณีนิรนามรูปหนึ่งตั้งครรภ์ก่อนมาบวช ครั้นบวชแล้วก็คลอดบุตร พระเทวทัตผู้ดูแลภิกษุณีรูปนั้นอยู่ไล่ท่านสึกหาว่าต้องปาราชิก

พระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระอุบาลีเถระเป็นประธานสอบสวน ปรากฏว่าภิกษุณีบริสุทธิ์ เมื่อคลอดบุตรออกมา พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบเรื่อง จึงทรงนำไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ขนานนามว่า กุมารกัสสปะ

หนูน้อยกุมารกัสสปะบวชเป็นสามเณรแต่อายุยังน้อย อยู่ในพระพุทธศาสนาเรื่อยมาจนเป็นภิกษุ เป็นผู้คงแก่เรียน มีปฏิสัมภิทาญาณแตกฉานในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ในเอตทัคคะ (ความเป็นเลิศ) ทางด้านเป็นพระธรรมกถึก แสดงธรรมได้อย่างวิจิตรพิสดาร


พระกุมารกัสสปะทราบเรื่องราวของพระเจ้าปายาสิ จึงไปพบเพื่อเตือนให้ละความเห็นผิดนั้น ปายาสิหรือจะยอมง่ายๆ ขอท้าโต้วาทะกับท่าน บอกว่า ถ้าพระเถระสามารถหาเหตุผลมาหักล้างความเห็นของเขา ทำให้เขายอมรับได้จะนับถือเป็นอาจารย์

และแล้วการโต้วาทะกันก็เกิดขึ้น

พระเถระถามว่า “เพราะเหตุใด มหาบพิตรจึงมีความเชื่อว่าบุญบาปไม่มี สวรรค์นรกไม่มี”

ปายาสิตรัสว่า “โยมได้ทดลองอยู่หลายครั้ง จนแน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มี”

กุมารกัสสปะ “ทดลองอย่างไร”

ปายาสิ “โยมเคยบอกให้คนที่ทำชั่วมากที่สุด ที่พวกสมณพราหมณ์สอนว่า ตายแล้วจะตกไปนรกแน่นอน สั่งเขาว่าถ้าตายไปตกนรกจริง ก็ให้กลับมาบอก เขาก็รับปาก แต่จนป่านนี้เขายังไม่มาบอกเลย แสดงว่าเขาไม่ได้ไปตกนรกจริง”

กุมารกัสสปะ “มหาบพิตร สมมติว่านักโทษที่ต้องโทษเด็ดขาด ถูกสั่งประหารชีวิต เขาจะขอว่า ขอให้ปล่อยเขาไปสั่งเสียลูกเมียสักสามสี่วันก่อนเถอะ แล้วเขาจะกลับมาให้ประหาร จะได้ไหม”

ปายาสิ “ไม่ได้สิ พระคุณเจ้า นักโทษเด็ดขาดไม่ได้รับอิสรภาพขนาดนั้น เกรงว่าเขาจะหนีไปเสีย ทางการจึงไม่อนุญาต”

กุมารกัสสปะ “เช่นเดียวกัน นักโทษเด็ดขาด ไม่ได้รับอิสรภาพแม้เพียงชั่วคราว สัตว์ตายไปเกิดในนรกก็ไม่มีอิสรภาพไปไหนมาไหนได้ ถึงแม้เขาจะไม่ลืมสัญญาที่ให้ไว้กับพระองค์ เขาก็ไม่สามารถมาบอกได้”

ปายาสิ “เรื่องนี้พอฟังขึ้น แต่โยมก็สั่งให้คนที่มีศีลมีธรรมที่พวกสมณพราหมณ์บอกว่า ตายแล้วต้องไปเกิดบนสวรรค์แน่นอน สั่งให้เขามาบอกบ้าง แต่เขาก็ไม่มาบอก เขาไม่ถูกกักกันอะไรมิใช่หรือ ทำไมจึงไม่มาบอกเล่า”

กุมารกัสสปะ “มีอยู่สองเหตุผล ประการที่หนึ่ง วันเวลาของมนุษย์และเทวดาไม่เท่ากัน วันหนึ่งของบนสวรรค์เท่ากับร้อยปีของมนุษย์ ถึงแม้คนผู้นั้นไม่ลืมสัญญากว่าจะกลับมาบอกมหาบพิตรก็กลายเป็นเถ้าถ่านไปนานแล้ว

อีกประการหนึ่ง
ผู้ที่ไปเกิดเป็นเทวดาแล้วย่อมไม่ปรารถนาจะกลับมายังโลกมนุษย์อีก เพราะมนุษย์โลกน่ารังเกียจ ดุจคนตกหลุมคูถเน่าเหม็น คนช่วยให้ขึ้นมาอาบน้ำชำระกายให้สะอาด ประพรมด้วยน้ำหอมอย่างดี จะให้เขากระโดดลงไปในหลุมคูถอีก เขาย่อมไม่ปรารถนาจะลงไป ฉะนั้นแล”

ปายาสิ “โยมยังไม่เชื่ออยู่ดีที่ว่าคนเราตายไปแล้วไปเกิดใหม่ โยมก็ทดลองแล้ว ไม่เห็นเป็นตามที่พวกสมณพราหมณ์สอนกันเลย”

กุมารกัสสปะ “มหาบพิตรทรงทดลองอย่างไร”

ปายาสิ “โยมสั่งให้เอาโจรลงไปในหม้อใหญ่ๆ ทั้งเป็น ปิดฝาแล้วเอาหนังรัดให้แน่น เอาดินเหนียวฉาบให้มิดชิด ยกขึ้นเตาจุดไฟเผา เมื่อรู้ว่าตายแล้วก็ยกลงกะเทาะดินออก เปิดฝาค่อยๆ เฝ้าดูเพื่อจะดูว่า “ชีวะ” (วิญญาณ) มันออกทางไหนก็ไม่เห็นมีอะไรออกไป จึงสรุปได้ว่าโลกอื่นไม่มีแน่นอน

กุมารกัสสปะ “เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เวลามหาบพิตรบรรทมหลับในตอนกลางวัน มีมหาดเล็กนั่งเฝ้าอยู่ พระองค์ทรงพระสุบินนิมิต (ฝัน) ในกลางวัน ว่า พระองค์เสด็จไปเที่ยวป่าบ้าง เที่ยวชมรมณียสถานต่างๆ บ้าง มหาดเล็กที่นั่งเฝ้าอยู่เห็น “ชีวะ” ของพระองค์ออกไปทางไหนไหม”

ปายาสิ “ไม่เห็นพระคุณเจ้า”

กุมารกัสสปะ “นี่ขนาดมหาบพิตรยังทรงมีพระชนม์อยู่ ชีวะออกจากร่างทางไหนมหาดเล็กยังไม่เห็นเลย ไฉนจะเห็น “ชีวะ” ของคนตายแล้วเล่า”

ปายาสิ “โยมยังทดลองอีกนะพระคุณเจ้า สั่งให้ชั่งน้ำหนักนักโทษประหาร แล้วก็ประหารโดยเอาเชือกรัดคอ พอเขาตายแล้วก็ชั่งน้ำหนักอีกครั้ง ปรากฏว่าศพน้ำหนักมากกว่าเมื่อเขายังมีชีวิตอีก ไหนว่าตายแล้ว ชีวะ (วิญญาณ) ออกจากร่างไง ทำไมจึงหนักกว่าตอนมีชีวิตเล่า”

กุมารกัสสปะ “มหาบพิตร เหล็กที่เผาไฟร้อนย่อมเบากว่าเหล็กเย็นๆ ฉันใด ร่างกายของคนเป็นสิ่งที่มีจิตวิญญาณ มีเตโชธาตุ ปฐวีธาตุ วาโยธาตุ อาโปธาตุ ย่อมเบากว่าศพ ฉันนั้น”

แม้ว่าพระเถระจะยกตรรกะหรือเหตุผลมาหักล้างอย่างไร ปายาสิราชันย์ยังไม่ยอมรับ ยังคงเสนอ “ผลงานวิจัย” ของพระองค์อยู่ต่อไป มีโปรเจ็กต์ใดบ้างมาว่ากันต่อไปครับ น่าสนใจทีเดียว

พระเจ้าปายาสิ รายงานให้พระกุมารกัสสปะทราบว่า พระองค์ทรงทดลองอีกวิธีหนึ่ง เพื่อพิสูจน์ว่าตายแล้วเกิดจริงหรือไม่ โดยสั่งให้ประหารนักโทษประหาร โดยไม่ให้กระทบกระทั่งผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก เพื่อจะดูว่า “ชีวะ” (วิญญาณ) ออกจากร่างทางไหน เมื่อโจรตายแล้วก็ให้จับพลิกคว่ำหงายดู ให้นอนตะแคง จับห้อยหัวลง ฯลฯ ก็ไม่เห็นช่องไหนที่ชีวะหรือวิญญาณออกจากร่างไป

นี่แสดงว่า ตายแล้วไม่ไปเกิดใหม่จริง เพราะไม่เห็นมีอะไรออกจากร่างไปเกิดใหม่


พระกุมารกัสสปะอธิบายเปรียบเทียบให้ฟังว่า บุรุษผู้หนึ่งเป่าสังข์เสียงไพเราะ ชาวบ้านนอกได้ยินก็มารุมถามว่าเสียงอะไร เขาบอกว่าเสียงสังข์ ชาวบ้านถามว่าเสียงออกมาจากทางไหน บุรุษนั้นตอบว่าออกมาจากสังข์ ชาวบ้านจึงจับสังข์มาพลิกไปมาเพื่อให้สังข์เปล่งเสียง สังข์ก็ไม่เปล่งเสียงอะไร ฉันใด ชีวะ ถ้ามันออกจากร่างจริง ก็ไม่สามารถเห็นได้ด้วยประสาทสัมผัส ฉันนั้น

หมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า ความจริงความคิดที่ว่าร่างกายแตกดับแล้ว วิญญาณออกจากร่างไปเกิดใหม่นั้น เป็นความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา พระเจ้าปายาสิเชื่อตามที่สมณพราหมณ์สมัยนั้นสอนกัน จึงพยายามทดลองว่า คนเราเมื่อตายไปชีวะ หรือวิญญาณมันออกไปทางไหน เมื่อหาไม่พบ จึงมีความเข้าใจว่าไม่มีการตายเกิด

พระกุมารกัสสปะยกอุปมาอุปไมยให้ฟังว่า ถึงแม้ (สมมติว่า) วิญญาณมันออกจากร่างจริง วิญญาณมันไม่มีรูปร่าง มันจะมีร่องรอยแห่งการไปมาได้อย่างไร ดุจเสียงสังข์ที่ออกจากสังข์ก็รู้แต่เพียงว่ามันออกไป แต่มันออกไปทางไหนย่อมบอกไม่ได้ ฉันนั้น

การยกเหตุผลมาชี้แจงนี้ เป็นเหตุผลทางตรรกะที่พอฟังแล้วเข้าใจได้ทันที แต่มิได้หมายความว่า พระพุทธศาสนาสอนการตายเกิดแบบนี้ อันนี้พึงคำนึงในเรื่องนี้ให้ดีนะครับ

ปายาสิราชันย์ยังไม่ยอม ยังอ้างผลงานวิจัยต่อไปว่า เคยสั่งให้ชำแหละร่างของโจรทีละชิ้นๆ อย่างละเอียด เพื่อดูว่าชีวะมันอยู่ที่ไหนก็ไม่พบ แสดงว่าโลกอื่นไม่มีจริง ที่ว่าตายแล้วชีวะไปเกิดในโลกใหม่ย่อมเป็นไปไม่ได้


:b39: พระกุมารกัสสปะกล่าวว่า “อาตมาภาพจะยกเรื่องราวให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง”

มีฤๅษีตนหนึ่งเป็นผู้นับถือการบูชาไฟในป่า มีลูกศิษย์เป็นเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง วันหนึ่งฤๅษีจะไปธุระข้างนอกอาศรม สั่งลูกศิษย์ให้ดูแลไฟอย่างดี อย่าให้ดับ ถ้าไฟดับก็ให้ก่อขึ้นมาใหม่

ฤๅษีคล้อยหลังไปไม่นาน เด็กมัวแต่เล่นเพลินไฟก็ดับ เด็กน้อยจึงเอาไม้สีไฟสองอันมาสีกัน สีอย่างไรก็ไม่มีไฟเกิดขึ้น วันก่อนเห็นหลวงพ่อเอาไม้สีกันทำไมไฟมันจึงมี วันนี้ทำไมไม่มี

เขาคิดแล้วจึงเอามีดมาผ่าไม้สีไฟออกเป็นสองซี่ สามซี่ สี่ซี่ จนกระทั่งสับเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก็ไม่มีไฟ จึงเอาโขลกกับครกจนละเอียดเป็นผงโปรยลงดินก็ไม่มีไฟเกิดขึ้น เขาจึงก่อไฟไม่ได้

ฤๅษีกลับมา เมื่อเห็นว่าเขาเป็นเด็กโง่ ไม่รู้จักวิธีหาไฟที่ถูกต้อง จึงนำไม้สีไฟก่อไฟให้ดู ฉันใดก็ดี การที่มหาบพิตรหาชีวะเพื่อพิสูจน์โลกหน้าเท่าที่ทำมานี้ผิดวิธี แสวงหาอย่างไรก็ไม่มีทางทราบข้อเท็จจริง เพราะมันผิดมาแต่ต้นแล้ว

ผิดมาแต่เมื่อใด ก็ผิดมาแต่แรกเริ่มที่คิดว่าคนเราเมื่อตายแล้ว ชีวะหรือวิญญาณมันออกจากร่างไปเกิดใหม่ ผิดมาตั้งแต่เข้าใจว่า ชีวะหรือวิญญาณ เป็นสิ่งกายสิทธิ์ที่อมตะสิงอยู่ในร่างกาย เมื่อร่างกายแตกดับก็ออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ เหมือนเดินออกจากบ้านที่ถูกไฟไหม้ ฉะนั้น

ความเชื่ออย่างนี้ผิด เมื่อเชื่อผิด เวลาหาวิธีพิสูจน์มันก็พิสูจน์ผิดวิธี เมื่อพิสูจน์ผิดวิธี คำตอบที่ได้ก็ย่อมผิด ดุจดังปายาสิราชันย์กระทำมานั้นแล


พระกุมารกัสสปะได้ชี้แจงให้พระเจ้าปายาสิทรงเข้าใจว่า ความเห็นที่ถูกต้องคืออะไร ให้ละความเห็นผิดแต่เก่าก่อนเสีย ปายาสิท่านก็เห็นด้วยที่จะสละทิฐิดั้งเดิมหันมานับถือพระพุทธศาสนา แต่ติดที่พระองค์เองเป็นคนดังในสังคม จึงบอกขัดข้องพระองค์ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลและพระราชาแคว้นอื่นก็ทรงทราบว่าโยมมีความเห็นดังกล่าวมา ครั้นจะสละความเห็นนั้นเสีย ก็ถูกตำหนิติเตียนว่าไม่มีจุดยืน

พระกุมารกัสสปะจึงอุปมาให้ฟัง ๔ ข้อดังนี้

๑. กองเกวียนสองกอง กองละประมาณ ๕๐๐ เล่มเกวียน ออกเดินทางผ่านที่กันดาร พวกที่ไปก่อนได้รับคำบอกเล่าจากคนที่สวนมาว่า ข้างหน้าน้ำและหญ้าบริบูรณ์ จึงทิ้งหญ้าและน้ำหมด ปรากฏว่าโคต้องอดอยากและล้มตายจำนวนมาก ส่วนพวกที่ไปคราวหลังไม่เชื่อคำหลอกของคนที่สวนทางมา จึงบรรลุถึงที่หมายโดยปลอดภัย

๒. ชายเลี้ยงหมูคนหนึ่ง ห่อเอาขี้หมูแห้งนึกว่าเป็นอาหารหมู เทินศีรษะกลับบ้าน พอฝนตกขี้หมูละลายไหลย้อยลงบนร่างกายของคนนั้น แม้คนเขาจะบอกว่าเทินขี้หมูไปทำไม เขาเถียงว่าเป็นอาหารหมูต่างหากไม่ใช่ขี้หมู

๓. นักเลงสกาสองคน คนหนึ่งพอเห็นท่าจะแพ้ ก็อมลูกสกาที่จะทำให้แพ้เสีย คนที่สองเอาอย่างบ้าง แต่บังเอิญอมลูกสกาที่มีพิษแล้วเสียชีวิต

๔. บุรุษสองคนเดินทางไกลด้วยกัน ผ่านไปพบป่าน ก็หอบป่านเดินไป ไปพบผ้าที่ทอจากป่าน พบผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก ตะกั่ว เงิน ทอง ตามลำดับ คนแรกก็ทิ้งของมีค่าน้อย ถือเอาทองอันมีค่ามากกว่ากลับบ้าน แต่อีกคนเห็นว่าหอบป่านมาไกลแล้ว ก็ไม่ยอมทิ้ง และไม่ยอมเอาสิ่งอื่น

ทั้งสองกลับไปถึงบ้าน คนแรกได้รับความชื่นชมจากญาติพี่น้อง คนที่สองถูกคนในครอบครัวตำหนิว่า โง่เขลา ไม่รู้จักทิ้งของไร้ค่า ถือเอาของมีค่า


พระกุมารกัสสปะยกขึ้นมาเล่าก็กล่าวต่อว่า พระองค์ก็เช่นเดียวกับคนทั้งสี่นั้นแหละ ไม่รู้จักทิ้งความเห็นผิดเป็นโทษ ความเห็นผิดที่จะสร้างความเดือดร้อนแก่พระองค์เองและคนอื่น ยึดถือเอาความเห็นถูกที่มีประโยชน์ ในที่สุดปายาสิราชันย์ก็ยินยอม ประกาศตนเป็นอุบาสกถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

พระเจ้าปายาสิเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ เมื่อมาศึกษาพระพุทธธรรมอย่างถ่องแท้แล้ว ย่อมเป็นกำลังในการประกาศศาสนาไม่น้อยทีเดียว แม้คัมภีร์จะไม่บอกไว้ว่าหลังจากเป็นพุทธมามกะแล้ว พระเจ้าปายาสิทำอะไรบ้างก็ตาม



:b8: คัดบางตอนมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


=========================

:b45: พระกุมารกัสสปเถระ
เอตทัคคะในทางผู้แสดงธรรมได้วิจิตร

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7589

:b45: อุตตรมาณพ ผู้เตือนปายาสิราชันย์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50490

:b45: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2018, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร