วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 05:34  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.ค. 2015, 18:38 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ในพรรษาที่ ๑๗ ขณะประทับจำพรรษาที่วัดพระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์
พระพุทธองค์โปรดอภัยราชกุมาร

:b50: :b49: :b50:

อภัยราชกุมาร
พระบิดาแห่งนายแพทย์ประจำพระพุทธองค์
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
====================

นายแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ว่านี้นามว่า ชีวกโกมารภัจจ์ ได้เขียนประวัติของท่านต่างหากออกไปแล้ว อภัยราชกุมาร เป็นเพียงพระบิดาเลี้ยงเท่านั้น แต่ชีวกโกมารภัจจ์ก็นับถือท่านมาก

อภัยราชกุมารเองประวัติความเป็นมาก็ไม่กระจ่างชัด ที่ว่าเป็นพระราชโอรส
พระเจ้าพิมพิสาร แห่งมคธรัฐ ก็ว่ากันไปอย่างนั้นเอง บิดาบังเกิดเกล้าเป็นใครมีใครรู้ นอกจากนางปทุมวดี พระมารดาของท่าน

ปทุมวดีนั้นเป็นนาง “นครโสเภณี” แห่งเมืองอุชเชนี (หรืออุชชายินี) แคว้นอวันตี เมืองนี้ดูเหมือนจะเป็นต้นคิดให้มีนางนครโสเภณี โดยเลือกสาวงามที่ฉลาดในศิลปะการฟ้อนรำไว้บำเรอชาย โดยเฉพาะแขกบ้านแขกเมืองผู้ทรงเกียรติ มีค่าจ้างรางวัลพระราชทานเป็นพิเศษ (มีเงินเดือนพร้อมโบนัส ว่าอย่างนั้นเถิด)

ข่าวที่ว่า นางนครโสเภณีเมืองอวันตีนั้นสวยงามมาก โด่งดังไปถึงนครราชคฤห์ กษัตริย์หนุ่มเจ้าสำราญ นามว่า พิมพิสาร จึงได้เสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ด้วยความช่วยเหลือของปุโรหิต สงสัยจะแอบไปแล้วก็ติดใจนางปทุมวดี ได้อภิรมย์กันหลายครั้ง และตอนเสด็จกลับบ้านเมือง ก็ไม่รู้ดอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา

จนกระทั่งเด็กน้อยคนหนึ่งถือกำเนิดมา ผู้เป็นแม่คือ ปทุมวดี ได้เลี้ยงดูอย่างดี

เมื่อกุมารน้อยอายุได้ ๗ พรรษา แม่ก็ส่งไปพระราชสำนัก พระนครราชคฤห์ พร้อมมอบแหวนวงหนึ่งให้ลูกชายไปสำแดงแก่กษัตริย์หนุ่ม

กษัตริย์หนุ่มพระนาม พิมพิสาร ทอดพระเนตรเห็นธำมรงค์ก็ทรงจำได้ สอบถามได้ความว่า กุมารน้อยนี้ได้แหวนมาจากแม่ของตน จึงยอมรับว่ากุมารน้อยนั้นที่แท้ก็คือพระราชโอรสของพระองค์เองอันเกิดแด่นางปทุมวดีนั้นเอง โดยมิต้องพิสูจน์ดีเอ็นเอแต่อย่างใด

อภัยราชกุมาร เจริญเติบโตในพระราชสำนักเป็นผู้เก่งกล้าในการรบมาก จนครั้งหนึ่งเกิดกบฏขึ้นที่ชายแดนแคว้นมคธ พระราชบิดาส่งอภัยราชกุมารไปปราบจนราบคาบ มีความดีความชอบมาก ได้รับพระราชทานหญิงนักฟ้อนแสนสวยไว้ให้บำเรอความสุขด้วย

แต่ท้าวเธอก็สุขได้ไม่นาน ต้องเศร้าโศกเสียพระทัยสุดซึ้ง เมื่อนางได้สิ้นชีวิต จุดนี้เองเป็นหัวเลี้ยวสำคัญของชีวิตเจ้าชายอภัย ซึ่งจะเล่าภายหลัง


แรกเริ่มเดิมที อภัยราชกุมาร เป็นศิษย์ของนิครนถ์นาฏบุตร หรือศาสดามหาวีระของพวกศาสนาเชน ได้ศึกษาคำสอนของพวกนิครนถ์นาฏบุตรจนเชี่ยวชาญ

วันหนึ่งนึกอยากลองดีกับพระพุทธองค์ ตั้งประเด็นปัญหาไปซักพระพุทธองค์ โดยคิดว่าพระพุทธเจ้าของชาวพุทธคงต้องจนปัญญาแน่ๆ

ปัญหานั้นก็คือ จะถามพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าเคยตรัสคำที่ไม่เป็นที่ชอบใจคนอื่นบ้างไหม ถ้าพระองค์ตรัสตอบว่าเคย ก็จะรุกต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นพระพุทธเจ้าจะวิเศษไปกว่าสามัญชนอย่างไร ในเมื่อสามัญชนก็พูดคำเช่นนั้นเหมือนกัน

แต่ถ้าพระองค์ตรัสไม่เคยตรัสคำเช่นนั้นเลย ก็จะรุกฆาตว่า แล้วทำไมพระเทวทัตจึงโกรธพระพุทธองค์เล่า มิใช่เพราะพระพุทธองค์พูดคำแรงๆ ที่พระเทวทัตไม่ชอบใจหรือ

“โดนรุกฆาตเช่นนี้ พระพุทธเจ้าของชาวพุทธคงต้องจนมุมแน่” อภัยราชกุมารคิด ขอประทานอภัย เรื่องมันมิได้ง่ายอย่างนั้นดอก

พระพุทธองค์มิใช่คนธรรมดาที่คนอย่างอภัยราชกุมารผู้มีปัญญาแค่ “หางอึ่ง” จะเอาชนะได้ พอไปถามพระองค์จริงๆ เข้า พระองค์มิได้ตอบทันทีทันควันอย่างที่คนถามคิดเลย

พระองค์ตรัสว่าปัญหาเช่นนี้ตอบแง่เดียวมิได้ ต้องแยกประเด็นตอบ คำที่ไม่เป็นที่พอใจคนอื่น บางครั้งพระองค์ก็ตรัส ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและกาลเวลา แล้วทรงอธิบายให้ฟังโดยละเอียด อภัยราชกุมารเลื่อมใสมาก จึงประกาศตนนับถือพระพุทธองค์เป็นสรณะ

เรียกว่าเปลี่ยนศาสนากันเลยทีเดียว

จากนั้นมาวันหนึ่ง อภัยราชกุมารเดินทางขึ้นเขาคิชฌกูฏไปเฝ้าพระพุทธองค์ ทรงสดับพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับเหตุแห่งความไม่รู้ ไม่เห็น (นิวรณ์) และเหตุแห่งความรู้ ความเห็น (โพชฌงค์ ๗) ถึงอุทานว่า ขึ้นเขามาเหนื่อยๆ พอได้ฟังพระธรรมเทศนาอันจับใจเช่นนี้ถึงกับหายเหนื่อยสนิททีเดียว ว่ากันว่า อภัยราชกุมารบรรลุธรรม (โสดาปัตติผล) เพราะพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้

:b39: หลักฐานอีกแห่งหนึ่งคือ อรรถกถาธรรมบทภาค ๖ เล่าว่า อภัยราชกุมารบรรลุโสดาปัตติผลหลังจากเกิดเหตุการณ์หญิงนักฟ้อนสิ้นชีวิต คือเมื่อได้รับพระราชทานหญิงนักฟ้อนจากพระราชบิดา แล้วก็ทรงสำราญอยู่กับนางฟ้อนรำของนางตลอด ๗ วัน มิได้เสด็จออกมานอกพระราชมนเทียรเลย

พอถึงวันที่ ๘ เสด็จออกไปสรงสนานแล้ว แล้วเสด็จออกไปยังพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรการฟ้อนรำอยู่ ทันใดนั้นนางนักฟ้อนซึ่งตรากตรำงานมาตลอดสัปดาห์ก็ล้มลงสิ้นชีวิตยังความเศร้าโศกให้เกิดแก่เจ้าชายอภัยเป็นอย่างยิ่ง จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมสั้นๆ เตือนสติว่า สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันตระการตาดุจราชรถที่พวกคนเขาหมกมุ่นอยู่ แต่ผู้รู้หาติดข้องอยู่ไม่ ก็คงจะตรัสชี้แจงอีกมากแต่พระคัมภีร์ว่า พระพุทธองค์ตรัสสั้นๆ แค่นี้

หลังจากฟังพุทธโอวาท อภัยราชกุมารก็บรรลุโสดาปัตติผล ว่าอย่างนั้น จะบรรลุธรรมเพราะเหตุการณ์ครั้งไหนก็ช่างเถิด เอาเป็นว่าในที่สุดเจ้าชายก็ได้เป็นพระโสดาบันก็แล้วกัน :b12:


ไม่มีหลักฐานว่าอภัยราชกุมารอภิเษกสมรสกับใคร แต่ปรากฏว่าพระองค์มีพระโอรสพระองค์หนึ่งที่ทรงรักมาก ครั้งหนึ่งทรงอุ้มพระโอรสมาเฝ้าพระพุทธจ้า เมื่อคราวอาราธนาพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหารในวัง อภัยราชกุมารทูลถามปัญหาบางข้อ พระพุทธองค์ทรงยกเอาโอรสน้อยขึ้นมาเป็นอุปมาประกอบคำอธิบาย (ตรงนี้อยากให้สังเกตเทคนิควิธีการสอนธรรมของพระพุทธองค์ พระองค์ทรงใช้ “สื่อ” ในการสอนธรรมได้อย่างดี พ่ออุ้มลูกมาหา เอาลูกเขานั่นแหละเป็น “สื่อสอนธรรม” ให้เข้าใจยิ่งขึ้น ไม่จำต้องเสียเวลาหาสื่ออื่นไกลตัว)

แต่โอรสที่มีชื่อเสียงโด่งดังในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ก็คือ ชีวกโกมารภัจจ์ ท่านผู้นี้เป็นโอรสบุญธรรมของเจ้าชายอภัยราชกุมาร น่าประหลาดว่า มีชะตากรรมเดียวกันกับพระบิดา คือ เป็นลูกนางโสเภณีด้วยกัน โดยที่ชีวกโกมารภัจจ์เป็นบุตรนางสาลวดี นางนครโสเภณี แห่งเมืองราชคฤห์ ถูกให้นำมาทิ้งไว้หน้าวังหลังคลอด เจ้าชายอภัยราชกุมารเสด็จมาพบเข้า จึงเก็บไปเลี้ยง และขนานนามว่า ชีวก (เพราะขณะพบนั้นตรัสถามว่า เด็กยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า “ยังมีชีวิตอยู่” คำว่ามีชีวิตอยู่คือ “ชีวก” ส่วนคำว่า “โกมารภัจจ์นั้นหมายถึงได้รับการเลี้ยงดูดุจพระโอรสของพระองค์จริงๆ)


ประวัติของหมอชีวกโกมารภัจจ์โดยละเอียด ได้เขียนไว้ต่างหากแล้ว ไม่จำต้องเขียนซ้ำอีก ผู้สนใจโปรดหาอ่านเอาเองเทอญ

อภัยราชกุมารหลังจากเป็นพุทธศาสนิกแล้ว เอาใจใส่ทำบุญกุศลตามแบบอย่างชาวพุทธและเป็นชาวพุทธที่ดี คือ สนใจศึกษาธรรม ทูลถามปัญหาธรรมกับพระพุทธองค์เนืองๆ

ความดีอย่างหนึ่งของอภัยราชกุมาร ก็คือทรงให้ความอุปถัมภ์เลี้ยงดูเด็กน้อยที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด นามว่า ชีวกโกมารภัจจ์ เมื่อชีวกสำเร็จการศึกษากลับมา ก็ให้กำลังใจและสนับสนุนให้ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระเจ้าพิมพิสาร จนในที่สุดมีบุญวาสนาได้เป็นแพทย์ประจำพระพุทธองค์

ทั้งหมดนี้อภัยราชกุมาร ผู้พระบิดาย่อมมีส่วนอยู่มิใช่น้อยเลย



:b8: :b8: :b8: คัดเนื้อหามาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


====================

:b45: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457

:b45: พระปทุมวดีเถรี (พระอภัยมาตาเถรี)
มารดาของอภัยราชกุมาร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50329

:b45: หมอชีวกโกมารภัจจ์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57759


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 พ.ค. 2022, 10:54 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร