ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ครหทิน อุบาสกอดีตเดียรถีย์
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50489
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  Duangtip [ 10 ก.ค. 2015, 21:58 ]
หัวข้อกระทู้:  ครหทิน อุบาสกอดีตเดียรถีย์

ครหทิน อุบาสกอดีตเดียรถีย์
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
=========================

อดีตเดียรถีย์ที่หันมาเป็นชาวพุทธ มีหลายท่านที่น่าพูดถึง อย่างน้อยก็ ๓ ท่านแหละครับเท่าที่นึกออกในขณะนี้ ท่านแรกชื่อว่า ครหทิน

ครหทิน เป็นชาวสาวัตถี เป็นคนมั่งคั่ง มีเพื่อนซี้คนหนึ่งชื่อ สิริคุปต์ นับถือคนละศาสนา โดยครหทินนับถือศาสนาเชนของมหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) ซึ่งเป็นศาสนาที่เคร่งครัดมาก ขนาดไม่ยอมนุ่งผ้าเอาเลย เขาถือว่าสมบัติพัสถานเป็นที่มาแห่งความยึดมั่นถือมั่น แม้กระทั่งเสื้อผ้าก็เป็นเหตุให้เกิดกิเลสได้ เมื่อประกาศตนว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็ไม่ควรมีแม้กระทั่งผ้านุ่งห่ม เปลือยมันซะเลย ว่าอย่างนั้นเถอะครับ

พวกนี้ก็จะพูด (ค่อนขอด) ลัทธิศาสนาอื่นว่า ไม่เคร่งเท่าตน ปากบอกว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ก็ยังนุ่งห่มอยู่ ยึดติดในพัสตราภรณ์อยู่ เรียกว่าไม่ปล่อยวางจริงว่าถึงขนาดนั้น

ศาสนาชีเปลือยนี้ ต่อมาได้มีนิกายเพิ่มเข้ามาอีกนิกายหนึ่ง เรียกว่า เศวตามพร (เสตัมพร) พวกนี้อนุญาตให้นุ่งขาวห่มขาวได้ ไม่ต้องเปลือยกายอวดของดีต่อผู้คน พวกที่เปลือยกายเรียกว่า ทิคัมพร แปลว่า ผู้นุ่งทิศ หมายถึงนุ่งลมห่มฟ้า นั้นแหละครับ

ครหทินเลื่อมใสในพวกชีเปลือย พยายามโน้มน้าวจิตใจให้สิริคุปต์เพื่อนกันไปเลื่อมใสด้วย มีโอกาสทีไรก็จะพรรณนาถึงความเก่งกาจของอาจารย์ของตนให้สิริคุปต์ฟัง สิริคุปต์ไม่ขัดคอ แต่ก็ไม่ปฏิเสธออกนอกหน้า เพียงแต่ฟังๆ ไว้

จะไม่ให้สิริคุปต์เฉยอย่างไร เพราะสิริคุปต์เธอเป็นอุบาสกนับถือพระพุทธเจ้าอย่างมั่นคง เธอคิดว่าเธอได้มาถูกทางแล้ว เรื่องอะไรจะเดินออกนอกทางตามคำชวนของสาวกเดียรถีรย์เล่า

ว่ากันว่า ที่ครหทินเฝ้าชักชวนสิริคุปต์นั้น เพราะครูอาจารย์แกสั่งให้ทำ ด้วยวาดหวังผลข้างหน้าว่า ถ้าดึงคนอย่างสิริคุปต์เข้ามาสู่ศาสนาเชนอีกคน จะมีอุบาสกผู้อุปถัมภ์พระศาสนาอย่างเข้มแข็งอีกแรงหนึ่ง เพราะสิริคุปต์ก็ร่ำรวยมหาศาลไม่แพ้ครหทิน

เมื่อถูกชักชวนบ่อยๆ เข้า สิริคุปต์จึงได้ถามว่า ที่เพื่อนอยากให้เราไปนับถือศาสนาของเพื่อน เราอยากทราบว่าศาสดาของเพื่อนนั้นมีดีอย่างไร

ครหทินตอบว่า เพื่อนอย่าถามอย่างนี้เลย ศาสดาจารย์ของเราเป็นสัพพัญญูย่อมรู้ทุกอย่างไม่เฉพาะแต่พระศาสดาเท่านั้น พระสาวกอื่นๆ ก็รู้หมดทุกอย่างเช่นกัน

สิริคุปต์ต้องการทดสอบอะไรบางอย่าง จึงทำท่าเลื่อมใส กล่าวว่า “ถ้าพระของเพื่อนเก่งปานนั้น ก็น่าจะเลื่อมใสนะ การทำบุญทำทานกับพระผู้เก่งปานนี้คงได้บุญมาก ถ้าเช่นนั้น เพื่อนช่วยนิมนต์ท่านเหล่านั้นมาฉันภัตตาหารที่บ้านเราได้ไหม”

“ได้สิเพื่อน”

ครหทินรับปากด้วยความดีใจ รีบไปสำนักของพวกนิครนถ์ รายงานให้อาจารย์ของตนทราบว่า “ภารกิจที่ให้ไปเกลี้ยกล่อมสิริคุปต์ของกระผมสำเร็จแล้ว บัดนี้เธอให้ผมมานิมนต์พระคุณเจ้าไปฉันภัตตาหารที่บ้านเขา”

พระคุณเจ้าทั้งหลายก็ดีใจที่จะได้สาวกใหม่ จึงนัดหมายเวลาว่าง เพื่อไปรับอาหารบิณฑบาตที่บ้านสิริคุปต์

ข้างฝ่ายสิริคุปต์ก็สั่งให้ขุดหลุมกว้างใหญ่ระหว่างเรือนสองหลังใส่คูถไว้ข้างล่าง ปิดหลุมใหญ่นั้นไว้ ให้ตั้งตั่งสำหรับนั่งไว้บนเชือกที่ขึงต่อกันบนปากหลุมปูลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดี อำพรางตาไม่ให้มองเห็นหลุมคูถข้างล่าง กะว่าพอพวกเขานั่งพร้อมกัน หัวจะได้คะมำลงในหลุม

:b39: พอได้เวลานัด เหล่าเดียรถีย์ก็พากันมายังคฤหาสน์ของสิริคุปต์ ติดตามด้วยครหทิน พอท่านเหล่านั้นมาถึง สิริคุปต์ ก็ยืนประคองอัญชลีอธิษฐานในใจว่า

“ศิษย์ของท่านบอกว่า ท่านรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ข้าพเจ้าจึงอยากทดสอบว่าเป็นจริงหรือไม่ ถ้าท่านเป็นสัพพัญญูจริงๆ ก็จะรู้ว่าข้างล่างอาสนะนี้เป็นหลุมคูถ และภัตตาหารที่ตั้งไว้มุมบ้านที่แลเห็นอยู่ข้างหน้านั้นไม่ใช่ของจริงเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น เมื่อท่านรู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าได้ขึ้นไปนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ แต่ถ้าท่านยังขึ้นไปแสดงว่าท่านไม่ได้เป็นสัพพัญญูจริง ขออย่าได้ถือโทษข้าพเจ้าเลย”

เหล่าเดียรถีย์เห็นสิริคุปต์ยืนประคองอัญชลีนิ่งอยู่เป็นเวลานาน นึกว่าสิริคุปต์คงตื้นตันใจที่จะได้เป็นสาวกของพวกตน พระผู้เป็นหัวหน้าจึงพูดว่า อุบาสกนิมนต์พระขึ้นนั่งบนอาสนะเถิด

สิริคุปต์กล่าวอย่างนอบน้อมว่า ขอพระคุณเจ้าจงขึ้นไปยืนพร้อมกัน แล้วนั่งลงพร้อมกันเถอะ พระคุณเจ้าทั้งหลายก็ขึ้นไปยืนพร้อมกัน แล้วนั่งลงพร้อมกัน พอก้นหย่อนลงนั่งบนอาสนะเท่านั้น พระคุณเจ้าทั้งหลายก็หัวคะมำตกลงสู่หลุมคูถพร้อมกัน พากันตะเกียกตะกายขึ้นจากหลุม หนีกลับไปยังสำนักของตน

ข้าวก็ไม่ได้ฉัน แถมสิริคุปต์ยังพูดให้อับอายอีกว่า “ไหนว่าพวกท่านเป็นสัพพัญญูรู้หมดทุกอย่าง หลุมคูถอยู่ข้างหลังยังไม่รู้เลย ตกไปในหลุม ช่วยไม่ได้ฮะๆๆๆๆ”

คนที่โกรธมากคือ ครหทิน หาว่าเพื่อนจงใจกลั่นแกล้งพระของตน จึงนำเรื่องฟ้องพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาสั่งให้สอบสวนข้อเท็จจริง ในที่สุดก็ตัดสินว่าสิริคุปต์ไม่ผิด

มิตรภาพของคนทั้งสองหมางเมินไปพักหนึ่ง วันหนึ่งครหทินมาคืนดีด้วยบอกเพื่อนว่า เรื่องที่แล้วไปแล้วก็ให้ลืมเสีย ขอให้เราเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม สิริคุปต์ก็เห็นด้วย


วันหนึ่งครหทินบอกว่า อยากถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์บ้าง ขอให้สิริคุปต์ช่วยจัดการอาราธนาพระองค์ให้ด้วย ครหทินไม่เลื่อมใสจริงดอกครับ แกวางแผนแก้แค้นแทนพระของเขา จะดิสเครดิตของพระพุทธเจ้าศาสดาของสิริคุปต์บ้าง ทีใครทีมันให้มันรู้ซะบ้างไผเป็นไผ

แต่ไผจะเป็นไผ เดี๋ยวรู้กัน

สิริคุปต์ไปกราบอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านครหทิน พระพุทธองค์ทรงทราบแผนการของครหทิน แต่ก็ทรงรับนิมนต์เพราะทรงเห็นอุปนิสัยของเขาว่า สมควรโปรดให้บรรลุธรรมได้

สิริคุปต์ไปแจ้งแก่สหาย พร้อมทั้งแนะให้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉันสำหรับพระให้พร้อม (ที่ต้องบอกก็เพราะครหทินใช่ชาวพุทธ ยังไม่รู้ธรรมเนียมพุทธ ครหทินก็บอกว่าจะจัดการตามที่เพื่อนบอกทุกประการ)

แต่เอาจริงไม่จัดอะไรสักอย่าง ไพล่ไปทำอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือสั่งให้คนขุดหลุมลึก แล้วเอาถ่านไฟร้อนๆ ใส่ไว้ ข้างบนก็เอากระดานปิด แล้วปูเสื่อลำแพนทับไว้ให้มองเห็น จัดที่นั่งสำหรับพระพุทธองค์และพระสงฆ์ไว้ที่ศาลาอีกหลังหนึ่ง หลังหลุมถ่านเพลิง กะว่าเมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์เดินเหยียบแผ่นกระดานเพื่อขึ้นไปบนศาลา ก็จะตกหลุมถ่านเพลิงก่อน ไม่ตายก็คางเหลืองละ ว่ากันถึงปานนั้นเชียว

ก็คนมันจะแก้แค้นนี่ครับ พระคุณเจ้าอาจารย์ของเขาถูกสิริคุปต์ศิษย์พระตถาคตทำเจ็บแสบมาก่อนนี่ ทำไมจะไม่แค้นเล่า

:b39: เมื่อพระพุทธองค์เสด็จพุทธดำเนินมาถึงหน้าบ้านของครหทิน เสด็จด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครหทิน อธิษฐานในใจว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิริคุปต์สาวกของพระองค์บอกว่า พระองค์ทรงรู้อดีตและอนาคต ถ้ารู้จริง จงรู้ว่าระหว่างทางไปศาลาโน้นมีหลุมถ่านเพลิงอยู่ข้างล่าง ใครเข้าไปแล้วจะตกหลุมถ่านเพลิง และของเคี้ยวของฉันก็ไม่มีในบ้านนี้ ถ้าพระองค์ทรงทราบก็อย่าเสด็จเข้าไป ถ้าหากไม่ทราบก็ทรงเสด็จเข้าไปเถิด ข้าพระองค์จะได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าอาจารย์ของสิริคุปต์มิได้ญาณหยั่งรู้อย่างที่โอ้อวดกัน”


อธิษฐานเสร็จ ก็กราบทูลให้พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปก่อน แล้วให้พระภิกษุรูปอื่นๆ เข้าตามไปทีละรูป (แกวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ถ้าเข้าไปพร้อมกัน เมื่อเห็นองค์หนึ่งตกหลุมก่อน ที่เหลือก็จะไม่มีใครเข้าไปนั่งอาสนะ)

พระพุทธองค์เสด็จเข้าไป ทันทีที่พระบาทประทับลงบนเสื่อลำแพนที่ปูทับหลุมถ่านเพลิง ดอกบัวเท่าล้อเกวียนก็ผุดขึ้นท่ามกลางถ่านเพลิง รอรับพระบาททุกย่างก้าว พอถึงอาสนะที่จัดไว้แล้ว ก็ประทับนั่งอย่างสง่าสงบ

เมื่อเห็นดังนั้น ความเร่าร้อนก็เกิดแก่ครหทิน เขาหันไปอ้อนวอนสิริคุปต์ สหายของเขาว่า โอ สิริคุปต์เพื่อนรัก จงช่วยผมด้วย ผมแย่แล้ว

“แย่อะไรกันเพื่อน เพื่อนกำลังถวายภัตตาหารแก่พระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์มิใช่หรือ”

“นั่นแหละแย่แล้วๆ” เขาร้องอย่างน่าเวทนา

“ข้าพเจ้ามิเตรียมอาหารไว้ถวายพระแม้แต่น้อย ข้าพเจ้าขุดหลุมถ่านเพลิงเพื่อหลอกให้พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ตกลงไป”

“โอ เพื่อน ทำอย่างนี้ทำไม กรรมหนักแล้วเพื่อนเอ๋ย” สิริคุปต์ร้องขึ้นบ้าง

“ก็คราวก่อนเพื่อทำกับอาจารย์ของเรา เราก็หวังแก้แค้นเพื่อนบ้างสิ” ครหทินพูด

“อ้าว แล้วที่เพื่อนบอกว่าเตรียมข้าวปลาอาหารไว้เต็มตุ่ม ตั้งเรียงรายไว้หลังบ้านมิใช่หรือ”

“นั่นก็เป็นเท็จเช่นกัน ตุ่มเปล่าทั้งนั้น” เขาครางอย่างน่าสงสาร

“แล้วจะเอาอาหารที่ไหนถวายพระพุทธองค์”

สิริคุปต์เดินไปเปิดฝาตุ่มดูเพื่อแน่ใจ เขาก็ประหลาดใจเป็นล้นพ้น ตุ่มเปล่าที่ว่านั้นเต็มไปด้วยข้าวยาคู ส่งกลิ่นฉุยน่ารับประทานเสียนี่กระไร เปิดอีกตุ่มหนึ่งเป็นข้าวสวยเพิ่งหุงเสร็จใหม่ๆ เปิดอีกตุ่ม เป็นพยัญชนะ (กับ) และของขบเคี้ยว เป็นต้น ล้นหลาม

อย่าว่าพระสงฆ์ ๕๐๐ รูปเลย เลี้ยงคนเป็นพันก็ไม่หมด ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยพุทธานุภาพ

ครหทินก็เคยคิดอกุศลต่อพระพุทธองค์และพระศาสนาก็ “หมอบราบคาบแก้ว” ขนลุกซู่ด้วยปีติปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง เขา “อังคาส” (เลี้ยงอาหาร) พระพุทธองค์และภิกษุด้วยใจเบิกบาน

เสร็จภัตกิจ พระพุทธองค์ตรัสคาถาธรรมแก่ครหทินและประชาชนที่มาร่วมในงานว่า “ดอกบัวกลิ่นหอมเกิดจากกองขยะริมทางใหญ่ เป็นที่ชอบใจของคนฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมไพโรจน์ ล่วงปุถุชนทั้งหลายผู้เป็นดุจกองขยะฉันนั้น”

ความหมายก็คือ ปุถุชนเป็นดุจกองขยะที่สกปรกเน่าเหม็น สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นดุจดอกบัวที่เกิดจากกองขยะ

จบพระธรรมเทศนา สิริคุปต์ กับ ครหทินบรรลุโสดาปัตติผล ครหทินถวายตนเป็นสาวกพระพุทธองค์ ถือไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

ทั้งสองสหายได้เป็นอุบาสกอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันตราบจนสิ้นชีวิต



:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


=========================

:b45: อุบาสก ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46457

เจ้าของ:  น้องพลอย [ 17 ต.ค. 2018, 19:00 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ครหทิน อุบาสกอดีตเดียรถีย์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก

:b8: :b8: :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/