ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

นางมหาสุภัททา กับ นางจุลสุภัททา ลูกสาวของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50533
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  Duangtip [ 17 ก.ค. 2015, 18:19 ]
หัวข้อกระทู้:  นางมหาสุภัททา กับ นางจุลสุภัททา ลูกสาวของอนาถบิณฑิกเศรษฐี

นางมหาสุภัททา กับ นางจุลสุภัททา
ลูกสาวคนโตและคนรอง
ของ “ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี”
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
=================

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมีลูกสาวสามคน คือ มหาสุภัททา จุลสุภัททา และสุมนาเทวี

นางมหาสุภัททา กับ นางจุลสุภัททา เป็นลูกสาวคนโตและคนรองตามลำดับ สองคนนี้คัมภีร์พระพุทธศาสนาเล่าประวัติปะปนกัน จนแยกไม่ออกว่าใครเป็นสุภัททาผู้พี่ ใครเป็นสุภัททาผู้น้อง เพราะทั้งสองคนต่างก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และทั้งสองก็ได้แต่งงานกับสามีที่คู่ควรกัน และได้ไปอยู่ที่ตระกูลสามีตามประเพณีของชาวชมพูทวีป

ทั้งสองเป็นพระอริยบุคคลระดับพระโสดาบัน มีศรัทธาไม่คลอนแคลนในพระรัตนตรัย เมื่อเธอทั้งสองเป็นสาวิกาผู้แน่วแน่มั่นคง จึงไม่แปลกที่สามารถเปลี่ยนใจทั้งสามีและพ่อแม่สามี ให้ละทิ้งลัทธิคำสอนเดิมที่ตนเคยนับถือ หันมานับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต


ในตำราระดับอรรถกถาเล่าเรื่องของนางมหาสุภัททากับนางจุลสุภัททา ปนกันจนเป็นเรื่องคนเดียวกัน

เรื่องที่จะนำมาเล่าต่อไปนี้ ในคัมภีร์อรรถกถาแห่งอังคุตตรนิกายว่าเป็นเรื่องของพี่สาว (มหาสุภัททา) แต่ในอรรถกถาธรรมบท (อรรถกถาแห่งขุททกนิกาย) บอกว่าเป็นเรื่องของจุลสุภัททา

เรื่องมีดังนี้

สมัย
อนาถบิณฑิกเศรษฐียังหนุ่มแน่น มีสหายรักอยู่คนหนึ่ง ชาวเมืองอุคคนคร ทั้งสองคนรู้จักกันและได้เป็นสหายกัน เพราะเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์เดียวกัน ทั้งสองได้สัญญากันว่า เมื่อต่างคนต่างแต่งงานมีลูกมีเต้าแล้ว ถ้าใครมีลูกชายก็ขอให้หมั้นหมายกับลูกสาวของอีกฝ่ายหนึ่ง

หลังจากเรียนจบกลับมาบ้านเมืองของตน ทั้งสองต่างก็ได้เป็นเศรษฐี เป็นศักดิ์เป็นศรีแก่บ้านเมืองของตน

วันหนึ่ง อุคคเศรษฐี เดินทางไปด้วยเรื่องธุรกิจที่เมืองสาวัตถี ได้ทราบว่าสุทัตตะ (นามเดิมของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี) มีบุตรสาวถึงสามคน ตนมีลูกชายคนหนึ่ง จึงทวงสัญญาที่เคยให้กันไว้สมัยยังเป็นนักศึกษา

เศรษฐีจึงเรียกจุลสุภัททา (อรรถกถาอังคุตตรนิกายว่าเป็นมหาสุภัททาผู้พี่) บอกว่าพ่อได้หมั้นหมายเจ้าไว้กับลูกอุคคเศรษฐี ตั้งแต่ลูกยังไม่เกิด บัดนี้เขามาทวงสัญญาแล้ว ลูกจะต้องแต่งงานกับลูกชายเขา

ธรรมเนียมสมัยโน้น แน่นอนย่อม “คลุมถุงชน” เป็นปกติธรรมอยู่แล้ว ลูกสาวจำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพ่อแม่ งานแต่งงานอันใหญ่โตโอฬารก็เกิดขึ้น

สมัยโน้น ฝ่ายหญิงต้องไปอยู่กับตระกูลฝ่ายสามี พ่อแม่จึงให้โอวาทสอนแล้วสอนอีกว่า แต่งงานแล้วจะต้องปรนนิบัติพ่อผัวแม่ผัวและสามีอย่างไร โอวาท ๑๐ ข้อที่พ่อนางสุภัททาสอนนางนั่นแหละครับ เป็นโอวาที่พ่อแม่ทุกคนนำมาสอนลูก

โอวาท ๑๐ ข้อนั้น คือ
๑. ไฟในอย่านำออก (อย่านำเรื่องภายในครอบครัวไปนินทาให้คนข้างนอกฟัง)
๒. ไฟนอกอย่านำเข้า (อย่าเอาเรื่องของคนข้างนอกมานินทาให้ครอบครัวฟัง)
๓. จงให้คนที่ให้ (คนยืมของแล้วคืน มายืมอีกจงให้)
๔. อย่าให้คนไม่ให้ (คนที่ยืมของแล้วไม่คืน ภายหลังอย่าให้ยืมอีก)
๕. จงให้คนที่ไม่ให้ (ญาติพี่น้อง ถึงเขายืมแล้วไม่คืนก็ให้)
๖. นั่งให้เป็นสุข (นั่งในที่ไม่ต้องลุก คืออย่านั่งขวางทางคนอื่น)
๗. นอนให้เป็นสุข (อย่านอนขวางทางคนอื่น)
๘. กินให้เป็นสุข (ไม่กินในที่ที่ขวางทางคนอื่น)
๙. จงบูชาไฟ (ให้ปรนนิบัติพ่อสามี แม่สามี และสามีให้ดี)
๑๐. จงบูชาเทวดา (ให้ทานต่อสมณชีพราหมณ์)


เวลาพ่อจะส่งลูกสาวให้ไปอยู่กับตระกูลสามี พ่อได้ส่งกฎุมพี ๘ คน ไปเป็นหูเป็นตาช่วยดูแลลูกสาวด้วย ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับลูกสาว ก็ให้กฎุมพีทั้ง ๘ ช่วยวินิจฉัยด้วย คล้ายส่งที่ปรึกษาไปช่วยดูแลแทนนั้นแหละครับ


ว่ากันว่า ตระกูลสามีเป็น “มิจฉาทิฐิ” ในความหมายนี้ก็คือ พวกเขานับถือสมณชีพราหมณ์ลัทธิอื่น

นัยว่าตระกูลนี้นับถือพวกชีเปลือย
(ศาสนาเชน หรือนิครนถ์นาฏบุตร) ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในอินเดียสมัยโน้น


เวลามีงานมงคล พ่อสามีจะสั่งสอนให้ลูกสะใภ้มาไหว้สมณะที่เขาเคารพนับถือ นางก็ไม่ค่อยไป เมื่อบ่อยเข้าพ่อสามีก็หาว่าลูกสะใภ้หัวแข็ง ไม่เคารพต่อสามี มีความผิดมหันต์ถึงขั้นต้องส่งกลับตระกูลเดิม

ว่ากันว่า สตรีที่ตระกูลของสามีส่งกลับบ้าน นับว่าเป็นกาลกิณีใหญ่หลวง เป็นความอัปยศอย่างสุดประมาณ เผลอๆ พ่อแม่อาจไม่รับคืนบ้าน ขับไล่ไสส่งให้ไปอยู่ที่อื่นอีกต่างหาก

สุภัททาเธอเห็นว่า เรื่องจะไปกันใหญ่ จึงเล่าเรื่องให้กฎุมพี ๘ คนฟัง

กฎุมพีทั้ง ๘ จึงไปไกล่เกลี่ยไม่ให้เศรษฐีเอาเรื่อง เพราะนางไม่ผิด นางมีสิทธิ์นับถือศาสนาใดๆ ก็ได้ที่ตนเลื่อมใส ไม่ควรบังคับให้นับถือชีเปลือย


ภรรยาเศรษฐียังไม่วายบ่น ว่าลูกสะใภ้ฉันมันหัวแข็งและปากไม่ดี หาว่าพระของพวกฉันไม่มียางอาย อยากรู้นักว่า พระของนางดีเด่นแค่ไหน

สุภัททาจึงกล่าวโศลกพรรณนาคุณของพระของนางให้ฟัง ดังนี้ครับ

ท่านมีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ ยืนเดินเรียบร้อย มีจักษุทอดลงต่ำ พูดพอประมาณ สมณะของฉันเป็นเช่นนี้

กายกรรมหมดจด วจีกรรมหมดจด มโนกรรมก็หมดจด สมณะของฉันเป็นเช่นนี้

ท่านบริสุทธิ์ ไร้มลทิน ดุจสังข์ขัด และดุจมุกดามณี บริสุทธิ์ทั้งภายในและภายนอก ด้วยธรรมอันหมดจด สมณะของฉันเป็นเช่นนี้

ชาวโลกฟูเมื่อมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ ฟุบเมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ และนินทา

สมณะของฉันไม่ฟูหรือฟุบ ไม่ว่าจะมีลาภหรือเสื่อมลาภ มียศหรือเสื่อมยศ มีสรรเสริญหรือนินทา จิตใจท่านมั่นคง สมณะของฉันเป็นเช่นนี้


แม่สามีกล่าวว่า เธอจงแสดงสมณะของเธอให้ฉันดูเดี๋ยวนี้ นางรับว่า ได้ พรุ่งนี้ฉันจะนิมนต์พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารที่บ้านให้ดูเป็นขวัญตา ว่าแล้วนางก็ขึ้นบนปราสาทชั้นบน ผินหน้าไปทางพระเชตวัน กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ทำการบูชาด้วยดอกไม้ของหอมแล้วกราบทูลอาราธนาว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลูกสุภัททาขออาราธนาพระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขมาฉันภัตตาหารที่บ้านของลูกในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด”

เสร็จแล้วก็ซัดดอกมะลิไปในอากาศ ๘ กำ ดอกไม้นั้นลอยหายวับไปกับตาอย่างมหัศจรรย์ แล้วมาตกลงเบื้องพระบาทของพระพุทธองค์ที่พระเชตวัน ขณะทรงแสดงธรรมอยู่

หลังทรงแสดงธรรมเสร็จ อนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลอาราธนาให้เสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านท่าน พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ตถาคตรับนิมนต์สุภัททา บุตรสาวท่านแล้ว”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุภัททาบุตรสาวข้าพระองค์อยู่ถึงอุคคนคร ไกลลิบเลย นางมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์ได้อย่างไร”

ของพรรค์นี้ง่ายนิดเดียว นางสุภัททาเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ย่อมสามารถส่งกระแสจิตมานิมนต์พระพุทธองค์ได้ หรือแม้นางไม่ได้เป็นพระอริยะระดับใด พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นสัพพัญญูย่อมทรงทราบอยู่แล้ว พระองค์มิได้ตอบอนาถบิณฑิกเศรษฐีอย่างนี้ แต่ตรัสเป็นคาถา (โศลกประพันธ์) ว่า

สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล ดุจเขาหิมพานต์ อสัตบุรุษต่างหากแม้อยู่ไกลก็ไม่ปรากฏ ดุจลูกศรที่ยิงในเวลากลางคืน (มองไม่เห็น)

ว่ากันว่า วิสสุกรรมเทพบุตร นิรมิตเรือนยอดใหญ่โตให้พระพุทธองค์ประทับพร้อมภิกษุสงฆ์ แล้วเรือนยอดก็ลอยลิ่วๆ จากพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ไปยังอุคคนคร ปรากฏต่อสายตาครอบครัวอุคคเศรษฐี เป็นที่อัศจรรย์นัก

เศรษฐีเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เลยทิ้งศาสนาเดิม หันมานับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะพร้อมครอบครัว ถวายทานแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ๗ วันติดต่อกัน

เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับเมืองสาวัตถี พระองค์รับสั่งให้พระอนุรุทธะอยู่ก่อน เพื่ออนุเคราะห์นางสุภัททาและครอบครัวสามี


เรื่องที่เล่านี้ไม่รู้ว่าสุภัททาไหน มหาสุภัททาหรือจุลสุภัททา :b10: :b10:

เอาเป็นว่าสุภัททาบุตรสาวของเศรษฐีก็แล้วกัน



:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

=================

:b45: อุบาสิกา ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46456

เจ้าของ:  Duangtip [ 27 ก.พ. 2019, 14:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางมหาสุภัททา กับ นางจุลสุภัททา ลูกสาวของอนาถบิณฑิกเศรษฐ

:b44: สุทัตตะ อนาถบิณฑิกเศรษฐี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50333

:b44: นางสุมนาเทวี ลูกสาวคนเล็กของ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50617

:b44: นายกาละ ลูกชายคนโตของ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50642

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/