วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:26  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2019, 08:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


สามเณรสา
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

เล่าเรื่องสามเณรทั้งในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาลมาหลายรูปแล้ว บัดนี้ขอพูดถึงสามเณรในประเทศไทยสักสามรูป

ในประวัติศาสตร์การศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศสยาม มีสามเณรผู้สอบผ่านจนจบชั้นสูงสุดแต่อายุยังน้อยเป็นรูปแรกในสมัยรัชกาลที่สาม

สามเณรรูปนั้นเป็นชาวเมืองนนท์ นามว่า สามเณรสา บวชสามเณรที่วัดใหม่บางขุนเทียน จ.นนทบุรี

ก่อนจะไปไกล ขอเรียนเพิ่มเติมตรงนี้หน่อย สมัยก่อนโน้นพระท่านเรียนพระไตรปิฎกกัน แบ่งชั้นเรียนเป็นสามชั้น คือ บาเรียนตรีเรียนพระสุตตันตปิฎก บาเรียนโทเรียนพระวินัยปิฎก และบาเรียนเอกเรียนพระอภิธรรมปิฎก

ต่อมาในรัชกาลที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ขยายออกเป็นเก้าชั้นเรียกว่า “ประโยค” หลักสูตรเปลี่ยนจากใช้พระไตรปิฎกโดยตรงมาเป็นอรรถกถา (หนังสืออธิบายพระไตรปิฎก)

ประมาณสองหรือสามปี จะจัดสอบไล่ครั้งหนึ่ง ผู้สมัครสอบจะต้องเข้าแปลข้อความที่คณะกรรมการกำหนดให้ อันเรียกว่า “ประโยค” ใครสอบผ่านได้กี่ตอน ก็เรียกว่าสอบได้เท่านั้นเท่านี้ประโยค จนกระทั่งจบเก้าประโยคอันเป็นชั้นสูงสุด

ผู้สอบผ่านตั้งแต่สามประโยคขึ้นไปเรียกว่า มหาบาเรียน (ต่อมาเรียกมหาเปรียญ)

การสอบสมัยนั้นสอบ “แปลปาก” คือ แปลปากเปล่าให้คณะกรรมการฟัง ผู้ที่สอบได้เพียงหนึ่งหรือสองประโยค สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ทรงถวายอุปถัมภ์เป็นการให้กำลังใจว่าให้พยายามต่อไป จะได้เป็นเปรียญแน่นอน

ท่านที่สอบได้สองหรือสามประโยคเหล่านี้จึงเรียกว่า “เปรียญวังหน้า”

ต่อมาในรัชกาลที่หก ได้เปลี่ยนระบบการสอบปากเปล่าเป็นสอบข้อเขียน และกำหนดให้สอบได้ปีละครั้ง จึงไม่มีสามเณรสอบได้เปรียญเก้าประโยคมาเป็นเวลานาน เพราะอายุมักเกินยี่สิบปีบริบูรณ์ก่อน

นี่คือความเป็นมาย่อๆ ของประวัติการสอบพระปริยัติธรรม กลับมาพูดถึงสามเณรสา เข้าแปลบาลีครั้งแรกสอบได้สองประโยค ได้เป็น “เปรียญวังหน้า”

ต่อมาสามเณรสาได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระวชิรญาณภิกขุ (พระเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทววงศ์) เมื่อครั้งทรงผนวชอยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) จนอายุ ๑๘ ปี จึงเข้าแปลบาลีอีกครั้งหนึ่ง

คราวนี้สามเณรสาแปลคราวเดียวผ่านถึงเก้าประโยค อายุยังไม่ครบบวชเสียด้วยซ้ำ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การศึกษาพระปริยัติธรรมในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๒ สามเณรสาอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ได้รับการอุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์ คือ เป็นนาคหลวงในรัชกาลที่สาม บวชได้ ๖ พรรษา ก็ได้เป็นพระราชาคณะที่ พระอมรโมลี

ครั้นสิ้นรัชกาลที่สาม พระเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงสละเพศบรรพชิตขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอมรโมลีหรือพระมหาสา ปุสฺโส ขอลาสิกขาไปรับราชการด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ทรงโปรดให้สึก เพราะทรงเห็นว่าจะเป็นกำลังของพระศาสนาอย่างดี

แต่อย่างว่าแหละครับ “ฝนจะตก ลูกจะออก ขี้จะแตก พระจะสึก ใครจะห้ามได้” คำพังเพยเขาว่าอย่างนั้น มหาสาก็ดื้อสึกจนได้

ประวัติศาสตร์กระซิบเล่าว่า ในหลวงรับสั่งให้เอามหาสาขัง ให้เอาผ้าไตรไปวางไว้ข้างๆ รับสั่งว่าเลือกเอา จะเอาคุกหรือผ้าไตร ใครมันจะอยากติดคุกเล่าครับ (ประวัติศาสตร์กระซิบบางฉบับว่า ถูกโบยด้วย) มหาสาก็เลยตัดสินใจเลือกเอาผ้าไตร ในหลวงก็โปรดเกล้าฯ ให้กลับไปอุปสมบทใหม่ คราวนี้ได้ฉายาว่า ปุสฺสเทโว

ขอเรียนว่า “ประวัติศาสตร์กระซิบ” ที่ผมพูดถึง (ออกบ่อย) นี้ ไม่มีบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เล่าขานสืบต่อกันมา จึงควรใช้วิจารณญาณในการฟัง อย่าเพิ่งเชื่อและอย่าเพิ่งปฏิเสธ ฟังๆ ไว้แหละดี มันดีด้วย

ท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาจารย์ (เกษม อํสุการี) วัดมหาธาตุ สมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ ไปเป็นพระธรรมทูตที่วัดพุทธปทีป ประเทศอังกฤษ ท่านพูดกับผมว่า “เธอรู้ไหม ฉันนี่แหละเป็นเชื้อสายของมหาสา สังฆราชหลังลาย ฉันเป็นชาวเมืองนนท์) ว่าแล้วท่านก็เล่าประวัติสมเด็จพระสังฆราชสาอย่างละเอียด ชนิดที่ผมไม่เคยได้อ่านพบที่ไหนเลย ผมเรียนถามท่านว่า ทำไมหลวงพ่อเรียกพระองค์ว่า “สังฆราชหลังลาย”

“อ้าว ตอนถูกจับขังคุกนั้น ไม่ได้ขังเฉยๆ ถูกโบยหลังด้วย ไม่งั้น มหาสาคงไม่ตัดสินใจไปบวชอีก” ท่านว่าอย่างนั้น

พระมหาสาอยากทดสอบความรู้ภาษาบาลีของตนอีก จึงเข้าแปลอีกครั้ง ปรากฏว่าแปลครั้งเดียวก็ผ่านฉลุยถึงเก้าประโยค จึงเป็นที่ฮือฮา เรียกขานว่า “พระมหาสิบแปดประโยค” เป็นรูปแรกและรูปเดียวในประวัติศาสตร์การศึกษาพระพุทธศาสนา

เมื่ออุปสมบทได้ ๗ พรรษา ก็ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ “พระสาสนโสภณ” (แปลว่าผู้งดงามในพระศาสนา) พระราชทินนามนี้แปลก มีคำว่า “สา” อันเป็นนามเดิมของท่านด้วย นับว่าเป็นนามที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้แม้ว่าท่านจะได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นเพียงใดก็ตามยังคงเป็นตำแหน่งในพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จฯ ที่ “พระธรรมวโรดม” ก็ยังคงนาม “พระสาสนโสภณ” อยู่ คือเป็น “พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม”

ตั้งแต่อุปสมบทครั้งหลัง ท่านอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ตลอดจนเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พ.ศ.๒๔๓๖ ก็ได้รับสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงดำรงตำแหน่งสังฆบิดรอยู่เป็นเวลา ๖ ปี ก็สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ สิริรวมพระชนมายุ ๘๗ พรรษา

ตรงนี้ถ้า “สิริ” รวมตัวเลขผิดก็ขออภัยด้วยนะครับ เพราะ “สิริ” เธอไม่มีเครื่องคิดเลข ด้วยเคยมีเรื่องขัน ท่านผู้หนึ่งอ่านประวัติคนตาย บอกวันเดือนปีเกิดและวันตายเสร็จ แล้วรวมอายุผิด โดยเขียนว่า “สิริรวมอายุ ๗๒ ปี” ท่านผู้นั้นเห็นว่ารวมผิด ควรเป็น ๗๓ ด้วยความปรารถนาดีจึงเขียนไปบอกเจ้าภาพว่า

ช่วยกรุณาบอก “คุณสิริ” ด้วย ว่ารวมอายุคนตายผิด

สมเด็จพระสังฆราช อดีตสามเณรสารูปนี้มีสติปัญญาเฉียบแหลมอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นถ้าอยู่ในเพศบรรพชิตจะเป็นกำลังสำคัญในการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จึงไม่ทรงโปรดฯ ให้สึกไปรับราชการ จึงหาทางผลักดันให้กลับมาบวชใหม่จนได้ ท่านได้แต่งหนังสือพุทธประวัติและปฐมสมโพธิ สำนวนใหม่ สำนวนภาษากระชับอ่านเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป

ยุคที่อดีตสามเณรสาบวชเรียนอยู่นั้น เป็นยุคทองแห่งภาษาบาลีก็ว่าได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอาจารย์ของสามเณรสา ทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีมาก ทรงได้พระราชนิพนธ์บทสวดมนต์ตำรา เช่น ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์สังเขป ความเรียงภาษาบาลีพุทธศาสนสุภาษิต เป็นภาษาบาลีเสมอ ดังคาถาพระราชนิพนธ์พระนามและพระราชทานพรแก่พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอทั้งหลายก็เป็นฉันท์ภาษาบาลี ทรงประดิษฐ์คิดคำใหม่ๆ ชนิดที่ไม่มีในอดีตอีกด้วย

รวมถึงคาถาขอขมาเป็นภาษาบาลีที่ชาวบ้านเรียกว่า “คำลาตาย” ก็ทรงเป็นภาษาบาลีได้ลึกซึ้งและไพเราะยิ่ง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ “ปัญญาอัคคภิกขุ” สัทธิวิหาริกในพระเจ้าฟ้ามงกุฎฯ พระอุปัชฌาย์ของอดีตสามเณรสาก็ทรงดำเนินตามรอยยุคลบาท โดยทรงนิพนธ์เรื่อง “สุคตวิทัตถิวิธาน” (วินิจฉัยเรื่องคืบพระสุคต) เป็นภาษาบาลี นับเป็นวรรณคดีบาลีที่ดีเยี่ยมเรื่องหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ เสียดายว่าไม่มีใครรู้จัก

พุทธศาสนสุภาษิตหลายบท ที่คนส่วนมากนึกว่าเป็นพุทธวจนะ เพราะเนื้อหาเป็นธรรมะถูกต้องดีงาม แต่ที่จริงเป็นผลงานของ “อาจารย์และศิษย์” สำคัญสามท่านคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชสา เช่น โลโก ปตฺถมฺภิกา เมตฺตา=เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก เป็นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ

รกฺเขยฺย อตฺตโน สาธุ ลวณํโสณตํ ยถา=พึงรักษาความดีของตน ดุจเกลือรักษาความเค็ม สุภาษิตบทนี้อดีตสามเณรสาเป็นผู้แต่งครับ

ตราบใดที่เกลือยังเค็มอยู่ ขอให้เรารักษาความดีให้ดีตราบนั้น มิได้หมายความว่าให้ “เค็ม” เหมือนเกลือนะขอรับ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร