ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

สามเณรนิรนาม สมัยพระโปฏฐิละ
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57884
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  Duangtip [ 28 ก.ค. 2019, 14:36 ]
หัวข้อกระทู้:  สามเณรนิรนาม สมัยพระโปฏฐิละ

สามเณรนิรนาม สมัยพระโปฏฐิละ
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
=========================

คราวนี้ถึงคิวสามเณรนิรนาม ไม่ทราบว่าชื่ออะไร รู้แต่ว่าอายุ 7 ขวบ แถมยังเป็นสามเณรอรหันต์อีกต่างหาก มีบทบาทในการ “ปราบพยศ” พระเถระพหูสูตรูปหนึ่งผู้หยิ่งผยองในความรู้ของตนเอง

พระเถระรูปนี้ชื่อว่า โปฏฐิละ แปลว่า ตำราหรือคัมภีร์


นัยว่าท่านคัมภีร์นี้มีอายุอยู่ร่วมสมัยพุทธกาลโน่นแน่ะครับ อรรถกถาธรรมบท เขียนเล่าไว้อย่างนั้น

แต่เปิดพระไตรปิฎกดูทำเนียบพระสาวกทั้งหลายแล้วไม่ปรากฏชื่อ

เปิดพจนานุกรมอสาธารณนาม หรือ Dictionary of Pali Proper Names รวบรวมโดย ดร.มาลาลาเสเกรา ก็ไม่มี

สงสัยผู้แต่ง (พระพุทธโฆษาจารย์) จะแต่งขึ้นมา โยงเรื่องราวไปถึงสมัยพุทธกาลมากกว่า

ท่านโปฏฐิละ เป็นผู้ทรงจำพุทธวจนะได้มาก เป็นอาจารย์ของภิกษุทั้งหลายจำนวนหลายร้อย (ว่ากันว่า 500 รูป) วันๆ ได้แต่สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา ไม่เคยคิดสั่งสอนตัวเองเลยว่า จะหาที่สิ้นสุดทุกข์แก่ตนได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าทรงมีพระพุทธประสงค์จะเตือนเธอ เวลาท่านไปเฝ้าพระพุทธองค์พร้อมภิกษุทั้งหลาย พระองค์จะตรัสกับท่านว่า “อ้อ คุณใบลานเปล่า นั่งสิ คุณใบลานเปล่า”

เวลาท่านกราบทูลลากลับ พระองค์ก็จะตรัสว่า “คุณใบลานเปล่า จะกลับแล้วหรือ” อะไรอย่างนี้เป็นต้น

ท่านโปฏฐิละ คิดว่า เราเป็นถึงอาจารย์ใหญ่ เชี่ยวชาญในพระพุทธวจนะบอกธรรมแก่พระสงฆ์ถึง 18 คณะใหญ่ ทำไมหนอ พระบรมศาสดายังตรัสเรียกเราว่า “ใบลานเปล่า”

นี่คงหมายความว่า เราได้แต่บอกได้แต่สอนคนอื่น ไม่ได้สอนตัวเองเลย ไม่เช่นนั้นพระองค์คงไม่ทรงเรียกเราอย่างนี้

ครับ เรียกว่า ได้สำนึกตัวขึ้นมา เพราะพระพุทธองค์ตรัสเตือน จะเรียกว่าโดยตรงก็ได้ โดยอ้อมก็ได้ พระองค์มิได้ตรัสตรงๆ แต่ถ้อยคำมันบ่งค่อนข้างชัด “ใบลานเปล่า” ใครฟังก็เข้าใจทันทีว่า มีแต่ใบลาน ไม่มีพระธรรมจารึกไว้เลย

คนที่หลงตัว มัวเมาว่าตนเก่ง ตนดี ก็ต้องมีผู้เตือนอย่างนี้แหละครับจึงจะสำนึกได้ จะรอให้เขาเตือนตนเองคงยาก

“แพรเยื่อไม้” นักเขียนเรื่องสั้นชั้นเยี่ยมรูปเดียวในวงการคณะสงฆ์ ผู้ล่วงลับไปแล้วได้แต่งเรื่อง “หลวงตา” เล่าถึงพระนักเทศน์เอกรูปหนึ่ง เทศน์เก่งมาก ไปเทศน์ที่ไหนญาติโยมตามไปฟังเป็นร้อยๆ แน่นศาลา ท่านจึงหลงตัว มัวเมาในความเด่นความดังของตน ไม่มีเวลาตรวจสอบจิตและสอนจิตตนเองแม้แต่น้อย

วันหนึ่งหลังจากเทศน์จบ หลวงตาก็ลงจากธรรมาสน์ กระหยิมยิ้มย่องว่าวันนี้ตนเทศน์ได้ยอดเยี่ยมจริงๆ มานั่งรอรับกัณฑ์เทศน์ ทายกผู้เฒ่าคนหนึ่งยกถาดกัณฑ์เทศน์ถวาย สายตาหลวงตาเหลือบไปเห็นขวานวางอยู่ในถาดด้วย จึงเอ่ยถามว่า “กัณฑ์เทศน์มีขวานด้วยหรือ โยม”

“ครับ ถวายขวานให้ท่านใช้ ขวานนี้ดีนะครับ คม ถากอะไรได้สารพัด เสียอย่างเดียว…” พูดแค่นี้ก็ทำท่าจะยกกัณฑ์เทศน์ถวาย

“เสียอะไร โยม” พระถามต่อ

“มันถากด้ามของมันไม่ได้ครับ”

หลวงตานั่งรถกลับวัด คิดถึงคำพูดของทายกไปตลอดทาง กว่าจะรู้ว่า ถูกโยมด่าก็ต่อเมื่อก้าวขึ้นบันไดกุฏินั้นแล

โยมเขาเตือนว่า ท่านก็ได้แต่ “ถาก” (สอน) คนอื่น ไม่ได้ “ถาก” ตนเองเลย แสบไหมละครับ

ท่านโปฏฐิละก็เช่นกัน เมื่อสำนึกตนได้ ก็บอกลาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย เข้าไปวัดป่าเพื่อขอปฏิบัติกรรมฐาน ไปกราบพระอาจารย์ผู้เฒ่ารูปหนึ่ง กล่าวว่า “ท่านอาจารย์ โปรดเป็นที่พึ่งของกระผมเถิด สอนธรรมให้ผมด้วยเถิด”

พระเถระกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรเช่นนั้น ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญพระพุทธวจนะ พวกเราได้รู้แนวการปฏิบัติก็เพราะท่านเป็นคนช่วยบอกช่วยสอน”

พระเถระนักปฏิบัติ 30 รูป ที่ท่านโปฏฐิละเข้าไปมอบตนเป็นศิษย์ ไม่ยอมรับ ต่างออกตัวไปตามๆ กัน ว่ากันว่า เพื่อขจัดทิฐิมานะของท่านให้หมดไป

พระนักปฏิบัติทั้งหลาย ดูเหมือนจะมองออกว่า คนระดับอาจารย์ใหญ่ มีลูกศิษย์ลูกหามากมายนั้น ทิฐิมานะย่อมฝังรากลึก เพื่อให้แน่ใจว่า หมดพยศจริงๆ จึงจะยินดีสอนกรรมฐานให้ ทางเดียวที่จะรู้ว่าหมดพยศจริงหรือไม่ คือส่งให้ไปหาสามเณร จึงส่งท่านไปยังสามเณรน้อยนิรนามรูปหนึ่ง ขณะกำลังนั่งสอยจีวรอยู่

ท่านโปฏฐิละเข้าไปหาสามเณรประคองอัญชลี (ยกมือไหว้) กล่าวว่า ท่านสัตบุรุษโปรดเป็นที่พึ่งให้ผมด้วย สอนธรรมให้ผมด้วย

สามเณรน้อยตกใจ ร้องว่า “ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรอย่างนั้นผมเป็นสามเณรมิบังอาจสอนอะไรให้แก่ท่านได้ ท่านเป็นถึงอาจารย์ใหญ่ระดับซาร์ศาสนา” (คงประมาณเดียวกับ “ซาร์เศรษฐกิจ” กระมัง ฮิฮิ)

“ได้โปรดเถิด พ่อเณร ผมไม่มีที่พึ่งอีกแล้ว” ซาร์ใหญ่อ้อนวอนอย่างน่าสงสาร

สามเณรน้อยกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ถ้าผมบอกให้ท่านอาจารย์ทำอะไรท่านอาจารย์ยินดีทำตามไหม” สามเณรน้อยยื่นเงื่อนไข

ความจริงสามเณรน้อยมิใช่ขี้ไก่ เป็นสามเณรอรหันต์ ย่อมรู้ว่าจะสอนนักวิชาการแสนรู้จะต้องทำอะไร

“ยินดีทำตามทุกอย่างครับ พ่อเณร” พระโปฏฐิละตอบ

“ท่านอาจารย์ เห็นสระน้ำข้างหน้าไหม”

“เห็นครับ”

“นิมนต์ท่านอาจารย์เดินลงไปยังสระน้ำนั้น ก้าวลงอย่างช้าๆ จนกว่าผมจะสั่งให้หยุด” อรหันต์น้อยสั่ง

พระเถระเดินลงสระน้ำอย่างว่าง่าย จนจีวรเปียกน้ำแล้วเดินลงไปตามลำดับ สามเณรน้อยเห็นพระเถระเอาจริง จึงสั่งให้หยุด ให้ขึ้นมา แล้วกล่าวสอนว่า

“ท่านอาจารย์ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ 6 ช่อง เหี้ยตัวหนึ่งวิ่งเข้าวิ่งออกตามช่องทั้ง 6 นั้นเสมอ บุคคลประสงค์จะจับเหี้ยตัวนั้น จึงอุดช่อง 5 ช่อง เปิดไว้เพียงช่องเดียว คอยเฝ้าอยู่ใกล้ช่องนั้น เมื่อเหี้ยออกช่องอื่นไม่ได้ ก็ออกมาทางช่องนั้น เขาก็จับเหี้ยตัวนั้นได้ตามประสงค์ เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้แหละ ท่านอาจารย์”

อรหันต์น้อยกล่าวเป็นปริศนาธรรม

พระเถระผู้พหูสูต ฟังแค่นี้ก็ “get” ทันที ร้องว่า I”ve got it อะไรทำนองนั้น ท่านโปฏฐิละเข้าใจอย่างไรหรือครับ ท่านเข้าใจว่า ในกายของเรานี้มีอายตนะ 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นดุจ “ช่อง” ให้จิตเราเข้า-ออกๆ อยู่เสมอด้วยความเคยชิน เป็นที่ตั้งใจแห่งรัก โลภ โกรธ หลง ผูกพันไว้กับทุกข์ตลอดเวลา เมื่อต้องการบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจ ก็ต้องปิด “ช่อง” (ทวาร) ทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เปิดไว้ช่องเดียว คือ จิต คอยเฝ้าดูจิตตลอดเวลา บังคับให้มันอยู่กับที่เป็นสมาธินานๆ ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อทำได้ดังนี้ก็จะสามารถทำจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ไม่ตกเป็นทาสให้กิเลสตัณหามันเสือกไสไปตามปรารถนาของมัน

พูดให้สั้นก็คือ พระเถระนึกได้แล้ว จะพ้นทุกข์ต้องฝึกฝนจิตของตนด้วยการปฏิบัติกรรมฐานนั่นแหละ จึงเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง แล้วก็ก้าวหน้าในการปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแผ่รัศมีไปตรงหน้าท่าน ขณะท่านนั่งสมาธิอยู่ ดังหนึ่งปรากฏพระวรกายตรงหน้า ตรัสคาถา (โศลก - อ่านว่า สะ-โหฺลก) สอนว่า

โยคา เว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย
เอตํ เทวธาปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ
ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ปญฺญา ปวฑฺฒติ


ปัญญาเกิดมีได้ เพราะตั้งใจพินิจ เสื่อมไป เพราะไม่ตั้งใจพินิจ
เมื่อรู้ทางเจริญ และทางเสื่อมของปัญญาแล้ว ควรทำตนโดยวิถีทางปัญญาจะเจริญ


พระดำรัสสั้นๆ นี้ กระจ่างแก่พระโปฏฐิละเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุพระอรหัต ถึงจุดหมายปลายทางแห่งชีวิตแล้ว


งานนี้ ไม่ขอบคุณสามเณรน้อย จะขอบคุณใครเล่าครับ เพราะสามเณรน้อยอรหันต์นี้เอง พระพหูสูตอย่างท่านโปฏฐิละจึงเดินถูกทาง จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาจากพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดในที่สุด

เสียดายเราไม่มีโอกาสรู้ว่า สามเณรน้อยรูปนี้คือใคร


:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล
เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


=========================

:b45: สามเณร ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46459

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/